วัดพิชโสภาราม

ขอเชิญร่วมปฏิบัติธรรมบำเพ็ญบารมีเนื่องในวันชาตกาลครบ ๘๐ ปี พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

แก่นของพระศาสนา

แก่นของพระศาสนา

พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)

(เทศน์ที่ ที่พักสงฆ์บ้านโคกสว่าง)

            ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง แม้ปรินิพพานไปนานแล้ว พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ ด้วยเศียรเกล้า ขอโอกาสคณะสงฆ์ ขอโอกาสพระเถรานุเถระ ขอโอกาสเพื่อนสหธรรมมิก และก็ขอความเจริญในธรรมจงมีแก่ญาติโยม สาธุชนผู้สนใจในการประพฤติปฏิบัติทุกรูปทุกท่าน ณ โอกาสบัดนี้

            ก่อนอื่นก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลาย ได้นั่งสมาธิฟังธรรม เป็นการเคารพในพระธรรม เมื่อเรานั่งสมาธิฟังธรรมแล้ว ก็ควรที่จะสลัดความง่วงเหงาหาวนอนออกไปจากดวงจิตทำจิตใจของเราให้เกิดความกระปรี้กระเปร่า กระฉับกระเฉง เกิดความร่าเริง เกิดความบันเทิงในการฟังธรรม เรียกว่าเรากำจัดนิวรณ์ธรรม อันเป็นเครื่องกั้นแห่งบุญไม่ให้เข้าไปสู่จิตสู่ใจ คือกามฉันทะ ความยินดีในกาม หรือว่าความพยาบาท ความผูกอาฆาตพยาบาท ความโกรธ ความไม่พอใจต่างๆ ออกไปจากดวงจิตดวงใจของเรา พยายามทำความง่วงเหงาหาวนอน ความเซื่องซึม ให้หมดไปจากจิตจากใจ แล้วก็พยายามทำความฟุ้งซ่าน ให้ออกไปจากจิตใจของเรา ทำจิตใจของเราให้สงบตั้งมั่น มีกายสงบ มีจิตสงบ มีวิตกวิจารณ์อันระงับ

            อันนี้ก็ถือว่าเป็นเบื้องต้นแห่งการฟังธรรม เรียกว่าเราทำร่างกายของเรานั้นให้เป็นภาชนะทอง ทำจิตใจของเราให้เป็นภาชนะทองรองรับเอาพระธรรม คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ขออนุโมทนาสาธุการ ขอสดุดีท่านพระอาจารย์เดือนเด่น ท่านพระอาจารย์สำเริง ตลอดถึงท่านพระอาจารย์รุ่งโรจน์ ตลอดถึงทีมงานวัดพิชโสภารามที่ได้ดำเนินการประพฤติปฏิบัติธรรมมาตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย เพราะว่าการจัดการประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เป็นสิ่งที่มีอุปสรรคปัญหามากมายหลายประการ ทั้งอุปสรรคภายนอก ทั้งอุปสรรคภายใน ก็ล้วนแต่จะต้องมาเป็นสิ่งที่ทดสอบบารมีในการประพฤติปฏิบัติธรรมให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นไป เพราะการจัดการประพฤติปฏิบัติธรรม ก็เหมือนกับเราตั้งกองทัพธรรม เมื่อกองทัพธรรมของเรามีน้อย คล้ายๆ ว่ามีรูปหนึ่ง สองรูป การที่เราจะมีกำลังไปเข่นฆ่าอริ ข้าศึกต่างๆ คือกิเลสทั้งหลายทั้งปวงนั้น มันก็ทำได้ลำบาก แต่ถ้าเรามีกองทัพใหญ่เป็นกองร้อยเป็นกองพัน เป็นกองพลต่างๆ เราก็สามารถที่จะไปปราบ อริ ข้าศึกต่างๆ ได้ง่าย กองทัพธรรมของเราก็เหมือนกัน ถ้าเราเกาะกลุ่มสามัคคีกัน ไม่แตกร้าว สามัคคีกัน เรียกว่า ต่างฝ่ายต่างช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กองทัพธรรมมาปรากฏขึ้น ที่อำเภอคำชะอีหรือจังหวัดมุกดาหารของเราได้

            เมื่อกองทัพธรรมปรากฏเจริญเติบโตขึ้นมาแต่ก่อนโน้น ญาติโยมทั้งหลายไม่เคยนั่งสมาธิ ไม่เคยไหว้พระทำวัตรสวดมนต์แปล ไม่เคยได้สวดทำวัตรซึ่งมีทำนองทำให้จิตใจอ่อนโยน เยือกเย็น แต่เมื่อมีการประพฤติปฏิบัติธรรมแล้ว พวกเราทั้งหลายก็ได้สวดมนต์ ทำวัตร มีจิตใจอ่อนโยน มีจิตใจเยือกเย็น อันนี้ก็ถือว่าเป็นผลของการที่พวกเราทั้งหลายได้มาร่วมกันจัดการประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่อเราสวดมนต์ที่ไหน ที่นั้นก็เป็นที่มงคล ความเป็นอัปมงคลทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็ไม่เกิดขึ้น ทวยเทพนิกรเจ้าทั้งหลายก็อนุโมทนาสาธุการ ภูต ผี ปีศาจ ก็เกรงใจ ไม่กล้าที่จะทำร้ายบุคคลผู้ไหว้พระทำวัตรสวดมนต์ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นเหตุนำมาซึ่งความสุขกาย สบายใจ ก็มีความเจริญรุ่งเรือง ทั้งสุขภาพทั้งร่างกายและก็การประพฤติปฏิบัติธรรมแต่ก่อนโน้น เราไม่เคยนั่งสมาธิ เราไม่เคยเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เราก็ได้มานั่งสมาธิ บุคคลใดที่ไม่เคยนั่งสมาธิบุคคลนั้นก็ไม่สามารถที่จะรับรู้รสของพระธรรมได้

            เหมือนกับทัพพี ไม่รู้รสแกง เราจะแกงอาหาร เราจะทำอาหารอร่อยขนาดไหนก็ตาม เราจะปรุงแกง ปรุงผัด ปรุงต้ม ปรุงยำ อร่อยขนาดไหนก็ตาม ทัพพีย่อมไม่รู้รสแกงข้อนี้ฉันใด บุคคลผู้ไม่ประพฤติปฏิบัติธรรม ก็จะไม่รู้รสของพระธรรมฉันนั้นเหมือนกัน แต่ก่อนโน้นญาติโยมที่ไม่เคยประพฤติปฏิบัติธรรม ก็จะศรัทธาพระพุทธศาสนาได้ประมาณหนึ่ง ถ้าเราให้ทาน เรารักษาศีล เราก็เข้าถึงพระพุทธศาสนาประมาณหนึ่ง ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ถ้าบุคคลใดสมบูรณ์ไปด้วยลาภ สักการะ คือ ผลทานมันปรากฏขึ้นมา บุคคลนั้นก็เป็นผู้แค่เข้าถึง กิ่งและใบของพระศาสนาเท่านั้นเอง

            แต่ถ้าบุคคลใด เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล มีศีลสุตาธิคุณ มีศีลบริสุทธิ์หมดจดบริบูรณ์ บุคคลนั้นก็เพียงแต่เข้าถึงสะเก็ด ของพระศาสนาเท่านั้นเอง แต่ถ้าบุคคลใดเป็นผู้เจริญด้วยสมาธิ หรือว่าเจริญด้วยปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน บุคคลนั้นก็เพียงแต่เข้าถึงเปลือกของพระศาสนาเท่านั้นเอง แต่ถ้าบุคคลใดเป็นผู้เจริญวิปัสสนาญาณ หรือว่าเป็นผู้เจริญด้วยความรู้ มีอภิญญาเป็นต้น บุคคลนั้นก็ชื่อว่าเข้าถึงกระพี้ของพระศาสนาเท่านั้นเอง เรียกว่าถึงมีฤทธิ์มีเดชมีวิปัสสนาญาณ แต่ยังไม่ได้บรรลุมรคผลนิพพาน พระองค์ก็ทรงตรัสว่าถึงกระพี้พระศาสนาเท่านั้นเอง

            แต่ถ้าบุคคลใดมีใจหลุดพ้นด้วยเจโตวิมุติ ด้วยปัญญาวิมุติ กิเลสไม่กำเริบอีก บุคคลนั้นชื่อว่าเข้าถึงแก่นของพระศาสนา เพราะฉะนั้นพระศาสนาของเรานั้น ละเอียดไปตามลำดับ ละเอียดไปตามลำดับ เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ที่จะพิสูจน์พระศาสนา หรือว่าบุคคลผู้ที่จะทำพระศาสนาให้ตั้งมั่นเจริญรุ่งเรืองนั้น ก็ต้องสมบูรณ์ ไปด้วยทั้งการให้ทาน สมบูรณ์ไปด้วยทั้งการรักษาศีล สมบูรณ์ไปด้วยการเจริญสมาธิ สมบูรณ์ไปด้วยการเจริญวิปัสสนา สมบูรณ์ไปด้วยการบรรลุมรรคผลนิพพาน จึงจะทำพระศาสนาให้ตั้งมั่น ถาวรสืบต่อไป อันนี้เป็นหลักคำสอนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ให้พวกเราทั้งหลายพิจารณา เพราะฉะนั้นการที่เราทั้งหลายได้จัดงานประพฤติปฏิบัติธรรม จึงถือว่ากองทัพธรรมแผ่มาถึงบ้านโคกสว่าง นำความสุข นำความเจริญ นำความร่มเย็นแห่งกาย แห่งจิต ปรากฏมีขึ้นที่บ้านของเรา

            เพราะฉะนั้นบ้านของเรามีการประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วก็ขอให้มาประพฤติปฏิบัติธรรม เรียกว่าให้เราได้รู้ซึ้งการประพฤติปฏิบัติธรรม บ้านของเราก็จะเป็นบ้านที่แสนสุข อำเภอแสนสุข จังหวัดแสนสุข เกิดขึ้นมาเพราะความร่มเย็นแห่งจิตแห่งใจของบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม อันนี้เป็นอานิสงส์ของการประพฤติปฏิบัติธรรม แต่ว่าเราจะประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างไร จึงจะสามารถได้ผลของการประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าเราไม่เคยรู้เรื่องการประพฤติปฏิบัติธรรม ยังไม่เคยปรากฏผลแห่งการประพฤติปฏิบัติธรรม ยังไม่รู้เรื่องของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ยังไม่รู้เรื่องการบรรลุมรรคผลนิพพาน การปฏิบัติธรรมนั้นมันเป็นสิ่งที่ลี้ลับ

            การปฏิบัติธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ซ่อนเร้น เป็นสิ่งที่ถูกปกปิดด้วยอำนาจของอวิชชาของเรา คล้ายๆ ว่าเรามองเห็นท้องฟ้า คิดว่าท้องฟ้านั้นมันไกลกัน เราก็สามารถที่จะมองเห็น แต่เราไม่สามารถที่จะมองเห็นโลกุตตรธรรม หรือว่าไม่สามารถที่จะมองเห็นโลกุตตรภูมิ ว่าการบรรลุมรรคผลนิพพานเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคาคามี เป็นพระอรหันต์ บรรลุยังไงหนอ การที่จะทำจิตสงบให้เป็นสมาธิ เราทำจิตให้สงบเป็นสมาธิได้อย่างไรหนอ นี้เราไม่สามารถที่จะอุปมาอุปไมย ไม่สามารถที่จะประมาณได้ แต่ท้องฟ้าก็ดี ดวงดาวก็ดี เราก็สามารถที่จะมองเห็นได้ เพราะฉะนั้นท้องฟ้าว่าไกลเราก็ยังมองเห็น แต่ว่าปฏิปทาแห่งการบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นไกลยิ่งไปกว่านั้นอีก เพราะฉะนั้นจึงถือว่าเป็นสิ่งที่ปกปิด เป็นสิ่งที่ซ่อนเร้น

            พระศาสนาที่ประเทศไทยของเรา แนวทางการประพฤติปฏิบัติธรรมก็มีมากมาย บางสำนักก็บริกรรม ยุบหนอ พองหนอ บางสำนักก็บริกรรม พุทโธ หายใจเข้า พุทธ หายใจออก โธ บางสำนักก็หายใจเข้า พุทโธ หายใจออก พุทโธ บางสำนักก็บริกรรม สัมมาอะระหัง บางสำนักก็บริกรรม นะมะพะธะ บางสำนักก็บริกรรม ก้าวเป็นรูป รู้เป็นนาม บางสำนักก็ไม่บริกรรมอะไร มีแต่สติกำหนดรู้ เป็นต้น อันนี้เป็นความหลากหลายแห่งคณะครูบาอาจารย์ที่นำมาสอน พระสงฆ์สามเณรตลอดถึงญาติโยมทั้งหลาย สำนักไหนถูก สำนักไหนผิด เรียกว่า ถูกทั้งนั้น บางสำนักก็ถูกแบบสมถะ บางสำนักก็ถูกแบบวิปัสสนากรรมฐาน

            แต่ว่าการที่เราจะประพฤติปฏิบัติให้ได้ผลนั้น เราต้องเอาพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเปรียบเทียบ หรือว่ามาเป็นแนวทางแห่งการประพฤติปฏิบัติ เราจึงจะรู้ผลของการประพฤติปฏิบัติ เรียกว่าเราต้องเข้าไปหาสำนักของครูบาอาจารย์ ผู้ที่ท่านเคยรู้ เคยเห็น เคยแจ้ง เคยสัมผัสในธรรมแล้ว ก็ถือว่าเป็นทางตรง เพราะฉะนั้นในสมัยหนึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงมีภิกษุมากมายแวดล้อมพระองค์ พระองค์จะจาริก สัญจร ไปที่ใด หมู่ภิกษุเป็นร้อยบ้าง สองร้อยบ้าง เป็นสามร้อยบ้าง สี่ร้อยบ้าง เป็นห้าร้อยบ้าง ย่อมเดินตามรอยเบื้องยุคลบาทของพระศาสดา พระองค์จะจาริกไปเมืองสาวัตถีก็ดี พระองค์จะจาริกไปเมืองราชคฤห์ก็ดี หรือว่าพระองค์จะจาริกไปเมืองนาลันทา เมืองไพสาลี เมืองเวสาลี ต่างๆ เรียกว่าสาวกทั้งหลายทั้งปวง ภิกษุทั้งหลายก็เดินตามพระองค์ไป เพื่อที่จะได้ฟังธรรมจากพระองค์    

            ในสมัยหนึ่ง พระองค์เห็นภิกษุทั้งหลายเดินตามติดชิดใกล้พระองค์เป็นจำนวนมาก แต่ภิกษุทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น ไม่สำรวมกาย ไม่สำรวมวาจา ไม่สำรวมใจ มีจิตใจวิตกกังวลไปถึงกามคุณต่างๆ เรียกว่ามีจิตใจฟุ้งซ่าน แต่เดินตามเบื้องยุคลบาทพระศาสดา ใกล้ชิดติดกับพระองค์แต่มีจิตใจไม่บริสุทธิ์ พระองค์ก็ตรัสกับภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายที่จับชายผ้าสังฆาฏิ ของเราตถาคตอยู่ เดินตามติดๆ เราตถาคตทุกก้าวย่าง ก็ไม่ชื่อว่าเห็นเราตถาคต ชื่อว่าห่างไกลเราตถาคต บุคคลใด ภิกษุใดที่ชื่อว่าเป็นผู้มีจิตละโมบ มีจิตใจละโมบโลภมาก มีความยินดีในกามอย่างมาก มีความดำริอันเป็นโทษ มีความดำริอันผิด ไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ ไม่มีจิตใจตั้งมั่น ไม่สำรวมกาย ไม่สำรวมวาจา ไม่สำรวมใจ ไม่สำรวมตาหูจมูกลิ้นกายใจ ถึงภิกษุนั้นจะเดินตามเรา ตถาคต ก็ชื่อว่าห่างไกลเราตถาคต เพราะเหตุไร ?

            เพราะว่าภิกษุนั้นไม่เห็นธรรม ผู้ใดไม่เห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าไม่เห็นเรา อันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัส เพราะฉะนั้นเมื่อเราพิจารณาตามพระธรรมคำสั่งสอนว่า ผู้มีจิตใจละโมบ มีจิตใจโลภมาก บุคคลผู้มีจิตใจละโมบ คือมีจิตใจโลภมากเวลามาประพฤติปฏิบัติธรรมก็ห่วง ไม่ว่าห่วงการงาน ห่วงเงินห่วงทอง ว่าเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วเสียเวลาหาเงิน ถ้าเราไม่มาประพฤติปฏิบัติธรรม วันนี้เราอาจจะมีกำไร หนึ่งร้อย บางครั้งวันนี้เราอาจจะได้กำไร สองร้อย สามร้อย ห้าร้อย พัน สองพัน หมื่น สองหมื่น อะไรทำนองนี้ ก็เสียดาย สิ่งที่ตนเองจะได้ อันนี้เรียกว่าคนโลภมาก หรือถ้ามาประพฤติปฏิบัติธรรม มุ่งปฏิบัติธรรมจริงๆ ก็เกิดความโลภ อยากได้สมาธิ อยากได้เกินกว่าความจำเป็น อยากได้บรรลุมรรคผลนิพพานเกินความจำเป็น

            บางครั้งก็เกิดความโลภ อยากจะเป็นผู้มีหูทิพย์ มีตาทิพย์ อยากจะรู้วาระจิตของบุคคลอื่น อยากจะแสดงฤทธิ์ได้ อยากจะมีอิทธิวิธีต่างๆ อยากจะระลึกชาติหนหลัง หรือว่า อยากจะหมดกิเลสตัณหาราคะทั้งหลายทั้งปวง อันนี้เกิดความโลภมากขึ้นมาเกินพอดี ทั้งๆ ที่ตนเองเพิ่งมาประพฤติปฏิบัติ ถ้าบุคคลใดมีจิตใจละโมบในลักษณะอย่างนี้ มาประพฤติปฏิบัติก็อยากจะได้หูทิพย์ อยากจะได้ตาทิพย์ อยากจะเห็นเทวดา อยากจะเห็นภูตผีปิศาจที่อยู่รอบบริเวณตัวตนของเรา ว่าที่วัดป่าสำนักสงฆ์โคกสว่างนี้ มีผีมีวิญญาณมากน้อยขนาดไหนหนอ อยากพิจารณา อยากรู้ อยากเห็น อยากสัมผัสดู เพื่อที่จะไปเล่าให้ญาติโยม ไปบอกญาติพี่น้องของเขาว่า คนนี้ยังไม่ไปเกิด คนนี้ไปเกิดแล้ว คนนี้ไม่ไปเกิด อะไรทำนองนี้ เรียกว่าอยากจะรู้ขึ้นมา อยากจะเป็นผู้วิเศษขึ้นมา

            ถ้าในลักษณะอย่างนี้ก็ถือว่า เราทิ้งปัจจุบันธรรมแล้ว เราไม่ได้กำหนดที่อาการพอง อาการยุบ เราไม่ได้กำหนดที่อาการขวาย่าง ซ้ายย่าง ปัจจุบันธรรมไม่เกิด การประพฤติปฏิบัติธรรม มันก็ไม่เกิดขึ้นมา เมื่อสมาธิมันไม่เกิด ผลของการปฏิบัติคือวิปัสสนาญาณก็ไม่เกิด อันนี้เพราะอะไร เพราะว่าเรานั้นเหม่อลอยไปตามความละโมบของเรา หรือว่าถ้าสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นมา ตามที่เราต้องการ สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาตามเราปรารถนา บางครั้งก็เกิดมานะทิฏฐิเข้าแทรก ก็อาจจะเกิดการหลงผิด เกิดจิตวิปลาส หลงใหลในสิ่งที่ตนเองเห็น ในสิ่งที่ตนเองได้ยิน ในสิ่งที่ตนเองสัมผัสก็ได้ อันนี้ก็เรียกว่าบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติด้วยความละโมบ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การประพฤติปฏิบัตินั้นไม่ได้ผล หรือว่าเพี้ยนไปจากการบรรลุมรรคผล นิพพาน

            เพราะฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์จึงตรัสว่า บุคคลผู้ละโมบ ชื่อว่าห่างไกลจากการเห็นธรรม เรียกว่าห่างไกลจากพระองค์ แล้วพระองค์ทรงตรัสคำต่อมาว่า บุคคลใดเป็นผู้ยินดีในกามอย่างมาก คือมีจิตใจยึดมั่นในรสของกามมาก บุคคลนั้นชื่อว่าห่างไกลเราตถาคต คล้ายๆ ว่าบุคคลใดมาประพฤติปฏิบัติธรรม มีความพอใจในรูปเกินไป มีความพอใจในเสียงเกินไป มีความพอใจในกลิ่นในรส ในสัมผัส ในอารมณ์ต่างๆ มากเกินไป หรือว่ามากเกินพอดี ไม่ว่าบุคคลผู้มีราคะกล้า มีความกำหนัดกล้า เวลามาประพฤติปฏิบัติจิตใจจะหมกมุ่น มัวเมา ลุ่มหลง อยู่กับสิ่งเหล่านี้ คล้ายๆ ว่าเห็นรูปก็เห็นด้วยความสวย เห็นด้วยความงาม เมื่อเราเห็นรูปเป็นของสวย เป็นของงาม เราก็เห็นรูปนั้นเป็นนิจจัง คือเป็นของเที่ยง เห็นรูปนั้นเป็นสุขัง เป็นสุข เห็นรูปนั้นเป็นตัวเป็นตนเป็นอัตตาขึ้นมา เราก็เกิดอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น เกิดความผูกพัน เกิดความเหนี่ยวรั้ง เกิดความสัมพันธ์ในรูปนั้นขึ้นมา

            แต่ถ้าเราไม่สามารถที่จะทำความยินดีในกามนั้น ให้ลดน้อยลง เราจะเห็นรูปเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตาได้อย่างไร จิตใจเราก็ไม่สามารถที่จะเอาฝ้า คือความรึงรัดในรูปนั้น ออกไปจากดวงจิตของเราได้ ดวงจิตของเราก็จะมืดมน อนธการ สมาธิไม่เกิด วิปัสสนาญาณไม่เจริญ การบรรลุมรรคผลนิพพานก็เกิดมีไม่ได้ จะรู้เห็นมรรคเห็นผลไม่ได้ เพราะฉะนั้น เวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรม ท่านจึงให้เรากำหนด เวลาเห็นรูปก็กำหนด “เห็นหนอ เห็นหนอ” ถ้าเราจะพอใจในรูป เราก็กำหนดว่า “พอใจหนอ พอใจหนอ” กำหนดลงไปที่ใจของเรา ถ้าเราอยากได้รูปเราก็ต้องกำหนดที่ใจของเรา “อยากได้รูปหนอ อยากได้รูปหนอ” หรือ “อยากได้หนอ” เราก็กำหนดที่ใจของเรา ไม่ให้ความอยากได้นั้นปรากฏ เป็นสายใย สายโยง ให้เกิดตัณหาเพิ่มขึ้นไปอีก เรียกว่าเราตัดไฟแต่ต้นลม กำหนด อย่าให้เกิดกิเลสพอกพูนขึ้นไปอีก การประพฤติปฏิบัติธรรมของเราก็จะเจริญรุ่งเรืองขึ้นไป

            เพราะฉะนั้นพระองค์จึงตรัสว่า ถ้าบุคคลใดยึดมั่นในรูปเกินไป บุคคลนั้นก็จะไม่เห็นรูปเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา คล้ายๆ ว่า เราจะมีอายุยืนเป็นร้อยปี เป็นหลายร้อยปี หรือว่าเป็นพันปี แต่ที่ไหนได้เรามีชีวิตอยู่เพียงแค่ครู่เดียว หรือว่ามีอยู่เพียงแว้บเดียว ร้อยปีของเมืองมนุษย์ เป็นหนึ่งวัน หนึ่งคืน ของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ร้อยปีในเมืองมนุษย์ของเราเป็นแค่หนึ่งวันของเทวดาชั้นดาวดึงส์ สองร้อยปีของเมืองมนุษย์ เป็นหนึ่งวันหนึ่งคืนของสวรรค์ชั้นยามา สามร้อยปีของเมืองมนุษย์ของเรา เป็นหนึ่งวันหนึ่งคืนของสวรรค์ชั้นดุสิต สี่ร้อยปีของเมืองมนุษย์ เป็นหนึ่งวันหนึ่งคืนของสวรรค์ชั้นนิมมานรดี เรียกว่าสูงขึ้นไปเรื่อยๆ

            หนึ่งวันหนึ่งคืนของเรานั้นก็แค่แว้บเดียว คล้ายๆ ว่าถ้ามนุษย์เกิดขึ้นมาแล้วถ้าประมาท มัวเมา หลงใหล อยู่ด้วยการไม่สร้างสมอบรมคุณงามความดี ไม่รู้จักการให้ทาน ไม่รู้จักการรักษาศีล ไม่รู้จักการเจริญภาวนา ตายไปแล้วก็จะไม่มีที่พึ่ง ตายไปแล้วก็จะไม่มีบุญเป็นที่พึ่ง ทำให้เกิดความสุข ตายไปแล้วก็ต้องไปเกิดในนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน อันนี้เรียกว่า บุคคลผู้ประมาท เวลามาประพฤติปฏิบัติธรรม ก็ไม่เห็นรูปเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงเป็นของที่ปกปิด ให้คนทั้งหลายทั้งปวงนั้น ยินดีในโลก เสียงก็เหมือนกัน กลิ่นก็เหมือนกัน รสก็เหมือนกัน การสัมผัสอารมณ์ต่างๆ ก็เหมือนกัน เป็นสิ่งที่ผูกสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงไว้ เรียกว่าบ่วงคือเหล็กก็ดี บ่วงคือขื่อคาก็ดี บ่วงคือเชือกก็ดี

            องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า เครื่องผูกเหล่านี้ไม่ใช่เครื่องผูกที่มั่นคงถาวร ไม่ใช่เครื่องผูกที่น่ากลัว แต่เครื่องผูกที่น่ากลัวนั้นไม่มีรูปร่าง เรียกว่าไม่มีรูปร่างให้ปรากฏ แต่ผูกสรรพสัตว์ไว้ในทุกภพทุกชาติ ก็คือรูป คือเสียง คือกลิ่น คือรส คือสัมผัส คือธรรมารมณ์ นี้แหละ เป็นเครื่องผูกคล้องจิตใจของสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ยินดี ในการเวียนว่ายตายเกิด ถึงเราจะเวียนว่ายตายเกิด ทนทุกข์ทรมานมากขนาดไหนก็ตาม เราก็ไม่รู้เข็ดรู้หลาบ ไม่รู้เข็ดรู้จำ เพราะอะไร ?

            เพราะว่าเรายินดีในรูปในเสียง เหมือนกับเด็กที่พ่อแม่ตี ได้รับความเจ็บปวด แต่ได้รับคำปลอบโยนจากผู้เป็นพ่อเป็นแม่ด้วยน้ำคำเพียงนิดหน่อย หรือด้วยขนมเพียงนิดหน่อยก็ทำให้เด็กนั้นหายความเจ็บความปวด แล้วก็วิ่งหาพ่อแม่ ข้อนี้ฉันใด บุคคลผู้ได้รับความทุกข์ จากความโกรธก็ดี จากความโลภก็ดี จากความผิดหวังก็ดี เราก็ไม่เข็ดไม่จำ เราก็อยากได้อารมณ์นั้นอีก วิ่งหาอารมณ์นั้นอยู่ต่อไป เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ถ้าบุคคลใดมีความติดใจในรูปในเสียงในกลิ่นในรส บุคคลนั้นจะประพฤติปฏิบัติธรรม รู้ธรรมนั้นลำบาก เรียกว่าห่างไกลเราตถาคต

            และพระองค์ทรงตรัสต่อไปอีกว่า บุคคลผู้มีความดำริอันผิด เรียกว่าดำริอันมีโทษ บุคคลนั้นก็ชื่อว่าไกลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกัน คือในขณะที่เราประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ท่านให้เราอุปมาอุปไมย เหมือนกันกับเหี้ยที่มันวิ่งเข้าไปในรู แต่ว่าเหี้ยนั้นมันมีรูออกอยู่ ๖ รู แต่เราก็ปิดเสีย ๕ รู เหลือไว้รูเดียว แล้วเราก็ขุดรูนั้นตาม ขุดไปเรื่อยๆ ขุดไปเรื่อยๆ แล้วเราก็จะเจอเหี้ยเอง เรียกว่าเราจะจับเหี้ยนั้นได้ ข้อนี้ฉันใด อุปมานี้ฉันใด เวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเหมือนกัน ท่านให้เราปิดหู ๒ ข้าง ปิดตา ๒ ข้าง แล้วก็ทำให้เรานั้นมีสติอยู่ที่อารมณ์เดียว ถ้าเราตั้งสติไว้ที่ปลายจมูก เราก็กำหนด “พุทโธ พุทโธ” ไป

            แต่ถ้าเราตั้งสติไว้ที่อาการพอง อาการยุบเราก็มีสติไว้ที่ช่องทางเดียว หรือว่า ปิดตา ปิดหู ปิดปาก ทุกสิ่งทุกอย่าง อายตนะทั้งหลายทั้งปวงนั้นนิ่ง มีแต่อารมณ์เดียว กิเลสมันจะเข้าไปไม่ได้ คล้ายๆ ว่า เหี้ยมันจะออกมาทางไหนเราก็รู้ เมื่อเรามีอารมณ์เดียว เป็นเอกัคคตา สมาธิมันเกิดขึ้นมา กิเลสมันเกิดขึ้นมาไม่ได้ จิตใจของเราก็ขาวสะอาด เมื่อจิตใจของเราขาวสะอาด จิตใจของเราก็จะเกิดปีติความปราโมทย์ขึ้นมา เมื่อปีติความปราโมทย์มันเกิดขึ้นมา ความสงบกาย สงบจิต คือปัสสัทธิมันก็ปรากฏขึ้นมา สมาธิความตั้งใจมั่นมันเกิดขึ้นมา วิปัสสนาญาณ การรู้ การเห็น ตามความเป็นจริงมันก็ปรากฏขึ้นมา อันนี้เป็นหลักของการประพฤติปฏิบัติธรรม ที่เราเห็นกันอยู่ง่ายๆ

            บุคคลใดจะประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น เวลามาประพฤติปฏิบัติธรรม ต้องคอยระวัง อย่าให้จิตของเรานั้นคิดผิด อย่าให้จิตใจของเราเกิดความโกรธ อย่าให้จิตใจของเราเกิดความโลภ อย่าให้จิตใจของเราเกิดความหลง อย่าให้จิตใจของเราเกิดมานะทิฏฐิ ตัณหา อุปปาทานต่างๆ ให้เรากำหนดอยู่เป็นประจำ เวลาเห็นรูปก็กำหนด “เห็นหนอ” เวลาได้ยินเสียงก็กำหนด “ได้ยินหนอ” เวลาดมกลิ่นก็กำหนดว่า “กลิ่นหนอ” เวลาเราจะเดินไปไหนมาไหนก็มีอาการกำหนด ให้ทันทุกอิริยาบถ อันนี้เรียกว่าเราประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานจริงๆ ถ้าเราทำได้ในลักษณะอย่างนี้ เรามาประพฤติปฏิบัติธรรมเพียง ๓๐ นาที เรามาเดินจงกรมเพียงชั่วโมงเดียว เราก็ได้อานิสงส์นั้นมากมาย

            บางครั้งเราบวชมา ๕  ปี บวชมา ๑๐ ปี บวชมา ๒๐ ปี แต่เราไม่เคยเดินจงกรม ไม่เคยมีจิตใจตั้งมั่นเป็นสมาธิ เรามาเดินจงกรมเพียง ๓๐ นาที เรามีจิตใจตั้งมั่น เราอาจจะเกิดสมาธิ อาจจะเกิดปีติ อาจจะได้รับความสุขมากกว่าเราบวชมา ๑๐ ปี ๒๐ ปีก็ดี เหมือนกับหลวงปู่คำข่อง หลวงปู่คำข่องที่มาจากประเทศลาว ข้ามมาจากประเทศลาว มาประพฤติปฏิบัติธรรมที่วัดพิชโสภารามปี พ.ศ. ๒๕๓๒ –๒๕๓๓ ท่านมาประพฤติปฏิบัติธรรม ก็เลยถามว่า “หลวงปู่ หลวงปู่บวชนานหรือยัง”  ท่านก็ว่า “บวชมาประมาณ ๔๐ กว่าพรรษาแล้ว ?” “ได้ ๔๐ กว่าพรรษาก็แสดงว่าอายุ ๖๐ กว่าปีแล้ว แต่ว่าหลวงปู่เคยประพฤติปฏิบัติธรรมไหม ?” “หลวงปู่ไม่เคยประพฤติปฏิบัติธรรมสักที ไม่รู้ว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมมันเป็นอย่างไร ได้ยินข่าวว่าสำนักนี้สอนกรรมฐานก็เลยมาประพฤติปฏิบัติธรรม”  แต่เมื่อหลวงปู่มาแล้ว หลวงปู่ก็ไม่ประมาท เดินจงกรม ถึงจะไม่ถนัดก็เอามือเท้ากำแพง เดินไป เพราะความชราภาพของร่างกาย เดินไปขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอไป ไม่นานหลวงปู่ก็ได้สมาธิ เมื่อหลวงปู่ได้สมาธิแล้วก็เกิดจิตใจสงบ แล้วก็เกิดความสุขขึ้นมา

            เวลาหลวงปู่นั่ง อย่างน้อยก็ ๓ ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ ที่หลวงปู่ท่านนั่ง ส่วนมากก็นั่ง ๖ ชั่วโมง วันหนึ่งก็เกิดความสงสัยว่าหลวงปู่ทำไมไม่เดินจงกรม ก็เดินไปดู ขณะที่เดินไปดูได้ยินเสียงหลวงปู่ครางออกมาด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ คล้ายๆ ว่ามีความสุข มีความสุขออกมา คล้ายๆ ว่า “สุขหนอ สุขหนอ” ขึ้นมา เรียกว่า ไม่เคยประพฤติปฏิบัติธรรมมา ๔๐ กว่าปี ถ้าบุคคลใด มาประพฤติปฏิบัติธรรม ตั้งใจจริง ประพฤติปฏิบัติจริงก็สามารถที่จะเห็นผลได้ และหลวงปู่ท่านก็ประพฤติปฏิบัติธรรม สามารถที่จะนั่งได้ถึง ๑๒ ชั่วโมง นี้ก็ถือว่าเป็นความศรัทธาของหลวงปู่ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ท่านมาประพฤติปฏิบัติธรรม ๒ ปีซ้อน เรียกว่าได้รับความพอใจแล้วก็กลับไปอยู่ที่ประเทศลาว นี่ก็ถือว่าเป็นผลของการประพฤติปฏิบัติธรรม

            การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น เราต้องพยายามกำหนด ให้ทันปัจจุบันธรรม ถ้าผู้ใดกำหนดทันปัจจุบันธรรม จะเป็นเด็กก็ดี จะเป็นผู้หญิง ผู้ชายก็ดี หรือว่าจะเป็นพระ เป็นเณรก็ดี ก็สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ เหมือนกับเราเห็นนางวิสาขา ซึ่งมีอายุแค่ ๗ ปีก็สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ สังกิจจะสามเณรก็มีอายุแค่ ๗ ปี หรือว่าพระสีวลีเถระของเรานั้น บรรลุมรรคผลนิพพานในขณะที่ปลงผม เรียกว่าพระสีวลีนั้นเป็นผู้ที่ทำบาปไว้มาก ในชาติปางก่อนโน้น ยกทัพไปปิดเมือง เรียกว่ายกทัพไปเป็นพระราชา ยกทัพไปปราบอริข้าศึก ขณะที่ยกทัพไปแล้ว อริข้าศึกนั้นก็ปิดประตูไว้ เมื่อปิดประตูไว้ ไม่สามารถที่เข้าไปตีเมืองได้ก็ล้อมเมือง

            เมื่อล้อมเมืองอยู่ในลักษณะอย่างนั้นแหละ อริข้าศึกนั้นก็ทำอุโมงค์ลับออกมาเอาอาหารอยู่ข้างนอก ไปเลี้ยงคนในกำแพง เจ้าเมืองก็ไม่สามารถที่จะตี รบเอาเมืองนั้นได้ จนเวลานั้นมันสิ้นไป ๗ ปี ๗ เดือน ก็ยังไม่สามารถที่จะรบเอาเมืองนั้นได้ ก็เลยส่งสารมาหาพระราชมารดาของตนเองว่า ปิดเมืองไว้ ๗ ปี ๗ เดือนแล้ว ก็ยังไม่สามารถตีเมืองได้ พระมารดาก็เลยว่า บุตรของเราโง่เหลือเกิน ธรรมดาถ้าปิดนานถึงขนาดนั้น ถ้าไม่มีเสบียงไปหล่อเลี้ยงแล้ว คนไม่สามารถที่หิวจะอยู่ได้ เพราะฉะนั้นต้องมีทางลับทางใดทางหนึ่ง ที่มาขนเสบียงข้างนอกไปหล่อเลี้ยงคนในกำแพง ก็เลยสั่งให้ลูกของตนเองนั้นตรวจตรา สำรวจดูให้ดีว่ามีที่ไหนบ้าง ก็เลยไปพบ เมื่อไปพบก็ปิดอุโมงค์ อยู่ ๗ วัน เมื่อปิดอุโมงค์ ๗ วัน คนในเมืองนั้นขาดอาหาร ขาดน้ำ ไม่สามารถที่จะต่อกรได้ก็ยอมแพ้ เพราะว่าปิดประตูอยู่ ปิดเมืองถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน จึงสามารถที่จะรบเอาเมืองนั้นได้

            พอวิบากกรรมมันให้ผล ก็ทำให้ท่านนั้นต้องไปตกนรกหมกไหม้สิ้นกาลนาน เมื่อพ้นจากนรกแล้ว มารดาผู้เป็นแม่ในสมัยนั้นก็มาเกิดเป็นมารดาของท่าน ท่านก็ไปเกิดอยู่ในท้องของมารดา อยู่ในท้องของมารดาตั้ง ๗ ปี ทำให้มารดาต้องทนทุกข์ทรมาน ก็เพราะอยู่ในท้องของมารดา ๗ ปี ๗ เดือน แล้วก็ขวางช่องคลอดของมารดาอยู่ ๗ วัน เรียกว่าท่านได้รับความทุกข์ เหมือนกับอยู่ในอุสสุทนรก มีความร้อนเป็นกำลัง มีความเจ็บมีความปวด เรียกว่ามีความทุกข์ทรมานเหมือนกับอยู่ในอุสสุทนรก พอท่านคลอดออกจากท้องของมารดาแล้ว ท่านก็พิจารณาถึงความทุกข์ ที่ท่านอยู่ในท้องของมารดา ก็อ้อนวอนมารดานั้นบวช ขอบวช มารดานั้นก็ให้บวช เมื่อมารดาให้บวชแล้วก็ปลงผม ขณะที่เอามีดโกนถูกหัวครั้งแรกนั้นแหละ ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน มีดโกนถูกหัวครั้งที่ ๒ ก็ได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี มีดโกนถูกหัวครั้งที่ ๓ ก็ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี มีดโกนถูกหัวครั้งที่ ๔ ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ บรรลุเป็นพระอรหันต์ในขณะที่เป็นเณร ๗  ปี เพราะฉะนั้นการบรรลุมรรคผลนิพพาน ถ้าบุคคลใดเป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เห็นความเกิด เห็นความแก่ เห็นความเจ็บ เห็นความตาย เห็นร่างกายเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตาแล้วก็สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงตรัสว่า บุคคลใดไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ บุคคลนั้นก็ชื่อว่าห่างไกลจากพระพุทธเจ้า หรือว่าห่างไกลจากการบรรลุมรรคผลนิพพาน

            เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น มีอะไรเป็นธรรม มีอะไรเป็นยอด ยอดของการประพฤติปฏิบัติธรรม หรือว่าธรรมที่จะทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานนั้นก็คือ สติ กับสัมปชัญญะ ถ้าบุคคลใดอยากจะบรรลุธรรม อยากจะเป็นผู้บริบูรณ์ในธรรม บุคคลนั้นต้องพยายามเจริญสติให้มาก เจริญสัมปชัญญะให้สมบูรณ์ ถ้าบุคคลใดมีสติ มีสัมปชัญญะสมบูรณ์แล้ว จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะกิน จะดื่ม จะพูด จะคิด จะทำกิจอะไรก็ตาม มีสติระลึกได้ มีสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา บุคคลนั้นก็สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ อันนี้เป็นหลักสำคัญ เราจะบริกรรมพุทโธ ยุบหนอ พองหนอ สัมมาอะระหัง นะมะพะธะ อันนั้นเป็นเพียงแต่กลอุบาย

            แต่สิ่งที่จะทำให้เราได้บรรลุมรรคผลนิพพาน อยู่ที่สติกับสัมปชัญญะ เราจะไม่บริกรรมพุทโธ เราจะไม่บริกรรมยุบหนอ พองหนอ หรือไม่บริกรรมอะไรก็ได้ แต่ขอให้เรานั้นมีสติ มีสัมปชัญญะ กำหนด ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำกิจอะไรก็ตาม เรามีสติระลึกได้ มีสัมปชัญญะรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา เราก็สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ สติ สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ สัมปชัญญะ

            เพราะฉะนั้นบุคคลผู้มีสติ มีสัมปชัญญะนั้นจึงถือว่า เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง มรรคปฏิปทามีองค์แปดประการ ก็จะเกิดขึ้น ถ้าบุคคลใดขาดสติ มรรคมีองค์แปดนั้นก็ไม่เกิด ถึงเราจะเดินจงกรมทั้งวัน นั่งภาวนาทั้งวัน ก็ไม่ชื่อว่าเรานั้นเจริญ มรรคมีองค์แปด แต่ถ้าเรามีสติ มีสัมปชัญญะ มรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบก็ดี จนถึงสัมมาสมาธิ ก็เกิดขึ้นมาในสติสัมปชัญญะนั้นแหละ เรียกว่าสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ก็เกิดขึ้นในขณะนั้น ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี ก็เกิดขึ้นมาในขณะนั้น พระสูตรก็ดี พระอภิธรรมก็ดี พระวินัยก็ดี ก็รวมอยู่ในสติสัมปชัญญะนั้นเอง

            การที่เรามาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น สิ่งที่ขาดเสียไม่ได้ ก็คือสติ สัมปชัญญะ พระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงตรัสว่า บุคคลใดที่มีจิตหมุนไปผิด เมื่อมีจิตหมุนไปผิดแล้วก็จะชื่อว่าไม่เห็นเราตถาคต คือบุคคลใดเวลามาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วเกิดปีติขึ้นมา ก็หลงอำนาจของปีติ คิดว่าเรานั้นดีกว่าบุคคลอื่น ภิกษุอื่นไม่มีปีติเหมือนกันกับเรา เรานี้ได้ปีติ ก็เกิดความลำพอง เกิดทิฏฐิ ยกตนข่มบุคคลอื่น หรือเรานั้นมีปัสสัทธิ มีความสงบกาย สงบจิต สามารถแสดงธรรมได้คล่องแคล่ว ว่องไว สามารถที่จะแต่งกาพย์แต่งกลอน สามารถที่จะพูดอะไรได้

            อันนี้ด้วยอำนาจแห่งความสงบ แห่งกายแห่งจิต ก็ยกตนข่มท่าน ว่าเราได้สมาธิ เราได้สมาธิก็เอาไปยกตนข่มท่าน คิดว่าบุคคลอื่นไม่ได้สมาธิเหมือนกันกับเรา เราได้สมาธิ เรานั่งได้ ๓ ชั่วโมง เรานั่งได้ ๖ ชั่วโมง เรานั่งได้ ๒๔ ชั่วโมง คนอื่นนั่งไม่ได้เหมือนกันกับเรา ก็ยกตนข่มท่าน เรียกว่ามีจิตหมุนไปผิด หรือบางรูปบางท่านนั่งไปแล้วก็เห็นนิมิตต่างๆ บางคนบางท่านไปประพฤติปฏิบัติธรรมที่วัดพิชโสภาราม เวลานั่งตอนกลางคืนสงบลงไปก็เห็น พวกเปรต พวกวิญญาณต่างๆ ก็คิดว่าตนเองนั้นดีกว่าบุคคลอื่น เรียกว่าเวลานั้นก็นั่งไป แล้วก็เห็นเปรต ว่าเปรตมันมีรูปร่างลักษณะอย่างนี้ บางคนก็ได้ยินเสียง เสียงเปรตเวลามันโหยหวนแล้วมันเป็นอย่างไรก็มาพูด ว่าคนโน้นไม่เห็นแต่ว่าเราเห็น หรือว่าวันพระก็ดีวันโกนก็ดี เปรตอสุรกายใหญ่มันปรากฏ วันธรรมดานี้ก็เป็นเสียงเปรตอีกประการหนึ่ง แต่ว่าพอถึงวันพระวันโกน เปรตใหญ่ หรือว่าอสุรกายใหญ่ มันปรากฏขึ้นมา เสียงก็เป็นเสียงที่น่าสะพรึงกลัว ตัวก็เป็นตัวที่ใหญ่สูง น่าเกลียดน่ากลัวอะไรทำนองนี้ อันนี้ก็มาข่มกันคนโน้นเห็นคนนี้ไม่เห็น ในที่สุดก็ไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ก็ได้แต่เห็นนิมิตอะไรต่างๆ

            เหมือนกับภิกษุบางรูปที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมไปแล้ว นั่งไปก็เห็นแต่นิมิตที่ปรากฏขึ้นมา เห็นวิมานของเทวดา เห็นสวนดอกไม้ปรากฏขึ้นมาก็เพลิน แป๊ปเดียว ๑ ชั่วโมง แป๊ปเดียวไม่นานเหมือนกับเรานั่ง ๕ นาที เมื่อเวลาเราเพลินด้วยอำนาจของนิมิตต่างๆ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้วิปัสสนาญาณมันไม่เกิด เพราะอะไร เพราะว่าความลุ่มหลง ทำให้จิตใจของเรานั้นไม่อยู่ในปัจจุบันธรรม ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เหม่อลอยไปตามอำนาจของนิมิต มันก็ไม่เกิดขึ้นมา บางรูปบางท่านมีจิตหมุนไปผิด คิดว่าอยากจะเกิดฤทธิ์เกิดเดชก็ไปเพ่งไฟ ไปเพ่งน้ำ ไปเพ่งแสงสว่างอาโลโก ไปเพ่งกสิณ ในลักษณะอย่างนี้ เพื่อที่ให้เกิดฤทธิ์เกิดเดช ไม่สนใจในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน มีจิตใจหมุนไปด้วยอำนาจของตัณหา ความทะเยอทะยานอยากในลักษณะอย่างนี้ การประพฤติปฏิบัติธรรมของเราก็ไม่ได้ผล

            เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่าถ้าจิตของผู้ใดหมุนไปผิดบุคคลนั้นก็ห่างไกลจากการประพฤติปฏิบัติธรรม หรือว่าไม่ได้ผลในการประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้นเราจึงกำหนดจิตของเราให้ดี การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว ใจเป็นผู้แต่งกายเป็นผู้กระทำ เพราะฉะนั้นใจของเรานั้นเป็นใหญ่ “มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา” เป็นต้น เพราะว่าใจของเรานั้นเป็นหัวหน้า ใจของเราเป็นใหญ่ ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นสำเร็จด้วยใจ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เจตนาหัง ภิกขเว กัมมัง วทามิ” ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าเจตนานั้นเป็นตัวกรรม

            ไม่ว่าเราจะทำความชั่วทางกายทางวาจา ก็เพราะว่าใจของเรานี้แหละเป็นเหตุ เพราะฉะนั้นอย่าให้จิตใจของเรานี้หมุนไปผิด เราต้องกำหนดจิตใจของเราให้ดี เวลามาประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าบุคคลใดกำหนดจิตของตนเองไม่ถูก กำหนดจิตของตนเองไม่ได้ แล้วก็บอกจิตของตนเองไม่ได้ รั้งจิตของตนเองไม่อยู่ รู้ไม่ทันจิตใจของตนเองแล้ว การประพฤติปฏิบัติธรรมของตนเองนั้นจะได้ผลช้ามาก แต่ถ้าบุคคลใดสามารถกำหนดจิตของตนเองได้ โกรธก็รู้ว่าตนเองโกรธ ไม่โกรธก็รู้ว่าตนเองไม่โกรธ ดีใจก็รู้ว่าตนเองดีใจ เสียใจก็รู้ว่าตนเองเสียใจ ตนเองมีราคะก็รู้ว่าตนเองมีราคะ ตนเองไม่มีราคะก็รู้ว่าตนเองไม่มีราคะ เรามีความหลงก็รู้ว่าเรามีความหลง เราไม่มีความหลงเราก็รู้ว่าไม่มีความหลง จิตใจของเรามีสมาธิก็รู้ว่าเรามีสมาธิ จิตใจของเราไม่มีสมาธิเราก็รู้ว่าจิตใจของเราไม่มีสมาธิ จิตใจของเราฟุ้งซ่านเราก็รู้ว่าจิตใจของเราฟุ้งซ่าน จิตใจของเราไม่ฟุ้งซ่านเราก็รู้ว่าจิตใจของเราไม่ฟุ้งซ่าน คือต้องกำหนด ถ้ามันฟุ้งซ่านก็ “ฟุ้งซ่านหนอ” “ฟุ้งซ่านหนอ” “โกรธหนอ” “โกรธหนอ” “ไม่พอใจหนอ” “ไม่พอใจหนอ” คือในลักษณะที่เรารู้ทันขบวนการของจิตของเรา

            ถ้าบุคคลใดมีสติทันปัจจุบันธรรมอย่างนี้ การประพฤติปฏิบัติธรรมของบุคคลนั้นไม่ไกล หรือว่าไม่เกินเอื้อม ไม่เกินวิสัย บุคคลนั้นสามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ และองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงตรัสว่า ถ้าบุคคลใดเป็นผู้ไม่สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ บุคคลนั้นชื่อว่าไกลจากพระพุทธเจ้า เรียกว่าไม่เห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นการสำรวม ตาหูจมูกลิ้นกายใจนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ตอนสุดท้าย ก็หมายความว่าเป็นไม้ตาย ถ้าเราอยากจะบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นเราต้องสำรวมตาให้ได้ สำรวมหู สำรวมจมูก สำรวมลิ้น สำรวมกาย สำรวมใจให้ได้ อันนี้ถือว่าเป็นช่องของบุญ เป็นช่องของบาป เป็นทางเดินของบุญ เป็นทางเดินของบาป บุคคลใดมีตามีหูมีจมูกมีลิ้นมีกายมีใจ จะทำบาปได้ทุกอย่าง นับตั้งแต่ฆ่าพ่อฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ทำโลหิตุปบาท ทำสงฆ์ให้แตกกัน ก็อาศัยกาย อาศัยวาจา อาศัยใจ อาศัยตาหูจมูกลิ้นกายใจนี้แหละทำ เรียกว่าทำบาปตั้งแต่ต่ำจนถึงสูง เหมือนกับพระเทวทัต ก็อาศัยกายวาจาใจนี้ทำ เวลาเราทำบุญก็เหมือนกัน ใจของเราเป็นตัวคิด แต่ว่ากายของเราเป็นตัวให้ทาน เราอยากให้ทานแต่เราก็ให้ทานไม่ได้ นอกจากกายของเราจะไปหาข้าว หาไทยธรรมต่างๆ มาทำทาน

            กายวาจาใจของเรานั้นถือว่าเป็นทางเดินของบุญของบาป เราอยากรักษาศีลก็อาศัยกายของเรา อาศัยวาจาของเรารักษาศีล เราอยากจะเจริญภาวนาก็ต้องอาศัยกาย อาศัยวาจา อาศัยใจของเรา เพราะฉะนั้น กายวาจาใจของเรานั้นถือว่าเป็นทางเดินของบุญ ทางเดินของบาป ถ้าผู้ใดใช้กายวาจาใจไปทำบาป ผู้นั้นชื่อว่าขาดทั้งทุน สูญทั้งกำไร เพราะว่าการที่จะมาเกิดเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนานั้นเป็นของหายาก เมื่อได้ของยากแล้วเราก็เอากายวาจาใจ ที่ได้ของยากนั้นไปทำบาป ตายไปแล้วก็ต้องตกนรกหมกไหม้ เกิดในนรกเปรตอสุรกายสัตว์เดรัจฉาน แต่ถ้าเราเอากายของเรามาทำบุญ ก็เหมือนกับว่าเรามาค้าแล้วเราได้กำไร ภพชาติของเราก็ละเอียดประณีตขึ้นไป ชาตินี้เรามันจน แต่ว่าเราทำบุญทำทานเกิดภพหน้าชาติหน้าเราก็เป็นคนร่ำรวย มีโภชนาอุดมสมบูรณ์ ชาตินี้เรามีรูปร่างไม่สดสวยงดงาม มีโรคภัยไข้เจ็บเราก็รักษาศีลให้ดี ชาติหน้าเราก็เป็นคนสดสวยงดงาม ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ชาตินี้เราไม่มีสติปัญญาดี เพราะไม่เคยเจริญภาวนา เราก็มาเจริญภาวนา เกิดภพหน้าชาติหน้าเรายังไม่หมดกิเลส เราก็เป็นผู้มีสติดีมีปัญญาเฉลียวฉลาด ชาติกวี อันนี้ก็เป็นเพราะอะไร เพราะว่าเราสร้างเหตุ เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถทำกายวาจาใจของเราให้เป็นบุญมันก็เป็นบุญ ทำกายวาจาใจของเราให้เป็นบาปมันก็เป็นบาป

            เรียกว่าบุญบาปมันเกิดขึ้นจากตรงนี้เอง แต่ถ้าเราอยากได้บรรลุมรรคผลนิพพานเราก็เอากายวาจาใจของเรานี้แหละเจริญสติสัมปชัญญะให้ดี เรียกว่ามรรคผลนิพพาน พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี หรือว่าเป็นพระอรหันต์นั้น เกิดขึ้นที่กายที่ใจของเรานี้แหละ บรรลุที่กายแล้วก็บรรลุที่ใจของเรานั้นเอง ไม่ใช่ที่อื่น เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเราต้องสำรวม ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ดังนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงตรัสว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดสำรวมกายเป็นการดี ผู้ใดสำรวมวาจาเป็นการดี ผู้ใดสำรวมใจเป็นการดี ดูก่อนภิกษุทั้งหลายผู้ใดสำรวมได้ทุกทาง ผู้นั้นจะพ้นจากบ่วงแห่งมาร นี้ถือว่าเป็นหนทางแห่งการประพฤติปฏิบัติ เพราะฉะนั้นเมื่อพระองค์ทรงตรัสอย่างนั้นแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์จึงตรัสต่อไปว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดเป็นผู้มีจิตใจไม่ละโมบ มีจิตใจไม่ติดอยู่ในกามคุณ มีจิตใจไม่หมุนไปผิด เป็นผู้สมบูรณ์ไปด้วยสติ เป็นผู้สมบูรณ์ไปด้วยสัมปชัญญะ เป็นผู้มีจิตใจตั้งมั่น เป็นผู้มีจิตใจไม่หมุนไปผิด แล้วก็เป็นผู้สำรวมตาหูจมูกลิ้นกายใจ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถึงภิกษุนั้นจะอยู่ไกลเราตั้ง ๑๐๐ โยชน์ อยู่ไกลเราตั้ง ๑,๐๐๐ โยชน์ อยู่ไกลเราตั้ง ๑๐๐,๐๐๐ โยชน์ ภิกษุนั้นชื่อว่าอยู่ใกล้เราตถาคต เพราะเหตุไร เพราะว่าภิกษุนั้นเห็นธรรม ดูก่อนภิกษุทั้งหลายผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นชื่อว่าเห็นตถาคต อันนี้แหละบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม ถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานไปแล้ว แต่เราก็สามารถที่จะค้นพบ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้นวันนี้อาตมภาพ ได้กล่าวธรรมประกอบการประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อจะเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา

            ในท้ายที่สุดนี้ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายที่มาร่วมกันประพฤติปฏิบัติธรรม ขอให้จงเป็นผู้ที่มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ ธรรมสารสมบัติ ขอให้โชคลาภร่ำรวย มั่งมีศรีสุข ขอให้เงินไหลนอง ขอให้ทองไหลมา ขอให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากอุปสรรคอันตรายทั้งหลายทั้งปวง ความคิดสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่เป็นไปด้วยชอบ ประกอบไปด้วยกุศลธรรมแล้ว ขอความคิดนั้นความปรารถนานั้นจงพลันสำเร็จ จงพลันสำเร็จ ในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ จงทุกรูปทุกท่านด้วยกัน เทอญ.