กรรม
(เทศน์ที่วัดไชยชนะ วันที่ ๘ เม.ย. ๕๖)
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง แม้ปรินิพพานนานแล้ว พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ด้วยเศียรเกล้า ขอความสุขสวัสดีจงมีแก่ญาติโยมสาธุชนผู้สนใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมทุกท่านทุกคน ณ โอกาสบัดนี้
ต่อไปก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายได้รับฟังพระธรรมเทศนา เกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติธรรม ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายได้นั่งสมาธิฟังธรรม ถือว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมของคณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยม ก็ได้ล่วงเลยผ่านวันผ่านคืนมา ก็ถือว่าจวนเจียนที่เราจะได้อัพภานกรรมแล้ว พรุ่งนี้ก็จะเป็นการฟังแว่นธรรม หรือว่าฟังญาณ ๑๖ ปฏิปทาแห่งวิปัสสนาญาณ หรือว่าขั้นลำดับแห่งญาณในการประพฤติปฏิบัติของแต่ละรูปแต่ละท่านเป็นอย่างไร พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชปริยัติยากรท่านได้แสดงธรรมไว้ในแผ่นซีดีบันทึก ให้พวกเราทั้งหลาย ได้เป็นแสงสว่างส่องทางในการประพฤติปฏิบัติธรรม ก็จะได้เปิดแว่นธรรมให้คณะครูบาอาจารย์ได้รับฟังในวันพรุ่งนี้ ส่วนวันนี้ก็ถือว่าเป็นวันแรมที่พวกเราทั้งหลายจะได้ฟังในภาคการประพฤติปฏิบัติ
การประพฤติปฏิบัติธรรมของคณะครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมมา คืนนี้ก็เป็นราตรีที่ ๘ ผ่านมาแล้ว ๘ วัน กับคืนนี้เป็นคืนที่ ๘ เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมก็ถือว่าล่วงมาผ่านมาพอสมควร ถ้าเราตั้งใจจริง ประพฤติปฏิบัติจริงผลของการประพฤติปฏิบัตินั้นก็เกิดขึ้นพอสมควร การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นสิ่งที่เราจะขาดเสียมิได้ เราต้องทำความเข้าใจในเรื่องกรรม ถ้าเราไม่เข้าใจในเรื่องกรรมแล้วการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น บางครั้งก็น้อยเนื้อต่ำใจ บางครั้งก็ดีอกดีใจเกินไป บางครั้งก็ไม่พอใจ บางครั้งก็ชอบใจ บางครั้งก็ชัง อารมณ์ต่างๆ บางครั้งก็ชอบสภาวะ บางครั้งก็ชังสภาวะ บางครั้งก็ดีใจในสภาวะ บางครั้งก็เสียใจในสภาวะ อันนี้บุคคลผู้ไม่รู้กรรม คือไม่รู้ผลของกรรม หรือว่าไม่เข้าใจในเรื่องกรรม เวลามาประพฤติปฏิบัติธรรม เกิดอารมณ์โน้นขึ้นมา เกิดอารมณ์นี้ขึ้นมาสภาวะธรรมต่างๆ เกิดขึ้นมา บ้างก็ดีใจ บ้างก็เสียใจหรือเอาไปเปรียบเทียบกับอารมณ์ของบุคคลอื่น เราไม่เหมือนเขา เขาไม่เหมือนเราอะไรทำนองนี้ อันนี้เรียกว่าเราไม่เข้าใจเรื่องกรรม
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ใน ฉักกนิบาต อังคุตตรนิกาย ใจความตอนหนึ่งว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กรรมเป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นิทานสัมภวะแห่งกรรมเป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เวมัตตตาแห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลทั้งหลายควรทราบ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิบากแห่งกรรมเป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กรรมนิโรธ เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ” อันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสในเรื่องแห่งกรรมในลักษณะอย่างนี้
ที่พระองค์ทรงตรัสว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กรรมเป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ คือกรรมที่พระองค์ทรงตรัสให้พวกเราทั้งหลายนั้นได้ทราบ กรรมนั้นก็คือการกระทำ การกระทำทางกาย การกระทำทางวาจา การกระทำทางใจ กรรมนั้นก็ถือว่าเป็นกลางๆ กรรมก็คือการกระทำ การกระทำก็คือการกระทำทางไตรทวาร คือการกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจ แต่ถ้าการกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจที่เป็นบาป เป็นสิ่งที่ลามก เป็นสิ่งที่ยังสรรพสัตว์ทั้งหลายให้เร่าร้อน เรียกว่าปาปธรรม ธรรมที่ยังสรรพสัตว์ทั้งหลายให้เดือดร้อน ธรรมที่มีสภาพที่ลามก ธรรมที่ยังสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในอบายภูมิ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เรียกว่า ปาปธรรม เรียกว่าธรรมที่ลามก
แต่ถ้าเรากระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจที่ถูกต้อง มีการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนาในลักษณะอย่างนี้เรียกว่า เป็นกรรมที่เป็นบุญ เป็นกรรมที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดบุญเกิดกุศลขึ้นมา เรียกว่า กุศลกรรม กรรมที่ทำแล้วทำให้เราเกิดความฉลาด กรรมที่ทำแล้วทำให้เกิดความรุ่งเรือง เกิดความเจริญ เกิดความโชติช่วงชัชวาลเกิดเดชเกิดบารมี เกิดคุณงามความดีก็เรียกว่ากุศลกรรม ทำแล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มาเกิดเป็นมนุษย์ ไปเกิดบนสวรรค์ ไปเกิดบนพรหมโลก เข้าถึงซึ่งพระนิพพานได้ก็เพราะอาศัยกุศลกรรม กรรมเป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบให้เรารู้ว่ากรรมที่เราทำแต่ละวันๆ ตื่นขึ้นมากรรมที่เราทำทางกาย กรรมที่เราทำทางวาจา กรรมที่เราทำทางใจนั้นเป็นบุญหรือเป็นบาป เป็นสิ่งที่ลามกหรือเป็นสิ่งที่เจริญ อันนี้ให้เราผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมตลอดถึงลูกๆ ทั้งหลายที่มาประพฤติปฏิบัติธรรม ให้เข้าใจในเรื่องการกระทำ เพราะว่ากายก็ดี วาจาก็ดี ใจก็ดีนั้น เป็นไม้กายสิทธิ์ก็ได้ เป็นสิ่งที่ตั้งแห่งบุญก็ได้ เป็นสิ่งที่ตั้งแห่งบาปก็ได้ เป็นที่เกิดแห่งบุญ เป็นที่เกิดแห่งบาปก็ได้ เป็นที่นำไปสู่นรก สู่เปรต สู่อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานก็ได้ กายของเรานี้เป็นที่นำไปสู่ความเป็นมนุษย์ สู่สวรรค์ สู่พรหมโลก หรือว่าสู่นิพพานก็ได้ ก็อยู่ที่กาย อยู่ที่วาจา อยู่ที่ใจ
กรรมคือการกระทำ ทางกาย ทางวาจา ทางใจนี้ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม นักปราชญ์ผู้มีความรู้ก็ควรที่จะต้องมีความละเอียดในการกระทำทางกาย วาจา ว่าสิ่งที่เรากระทำลงไปนั้นเป็นบุญหรือเป็นบาป มีโทษหรือมีประโยชน์ อันนี้เราควรพิจารณาให้ลึกซึ้งลงไปเราจึงจะเข้าใจว่าการกระทำคือกรรมนั้นเป็นสิ่งที่เราควรรู้ เพราะเรารู้แล้วเราจะเว้นจากสิ่งที่เป็นบาปเราจะกระทำในสิ่งที่เป็นบุญ เหมือนบุคคลผู้มีตาดีเว้นทางที่มีอสรพิษ เว้นทางที่เป็นตมเป็นโคลน เว้นทางที่มีโจรผู้ร้ายซ่องสุม อันนี้เรียกว่าคนมีตาดีย่อมเลือกเดินทางที่สะดวกสบายฉันใด บุคคลผู้รู้เรื่องกรรมแล้วควรจะเว้นจากกรรมชั่วแล้วกระทำแต่กรรมดี เพราะบุคคลทำกรรมเช่นไรย่อมได้ผลเช่นนั้น ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า
ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ
กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ
บุคคลหว่านพืชเช่นไร ย่อมได้รับผลเช่นนั้น บุคคลทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี บุคคลทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว
ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมต้องพยายามสำเหนียกการกระทำทางกาย วาจา ใจของเราว่าตื่นเช้าขึ้นมา กาย วาจา ใจ ของเราเป็นบุญหรือเป็นบาป อันนี้เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงตรัสให้เรานั้นต้องทำความเข้าใจ หรือต้องทราบในเรื่องกรรม
ประการที่สอง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นิทานสัมภวะแห่งกรรม คือเหตุเกิดแห่งกรรมนั้น เป็นสิ่งที่บุคคลทั้งหลายควรทราบ ว่าเหตุเกิดแห่งกรรมนั้นมันเกิดขึ้นมาเพราะอะไร”
ที่เราได้ศึกษาว่า เพราะมีอวิชชาจึงมีวิญญาณ เพราะมีวิญญาณจึงมีสังขาร เพราะมีสังขารจึงมีนามรูป เพราะมีนามรูปจึงมีสฬายตนะ เพราะมีสฬายตนะจึงมีผัสสะ เพราะมีผัสสะจึงมีเวทนา เพราะมีเวทนาจึงมีตัณหา เพราะมีตัณหาจึงมีอุปาทาน เพราะมีอุปาทานจึงมีภพ เพราะมีภพจึงมีชาติ เพราะมีชาติจึงมีความแก่คือชรา เพราะมีความแก่จึงมีพยาธิคือความเจ็บ เพราะมีพยาธิคือความเจ็บก็มีมรณะคือความตาย เพราะมีมรณะคือความตายก็มีความโสกะคือความโศก ปริเทวะก็คือความคร่ำครวญอุปายาสคือความคับแค้นแน่นใจปรากฏตามมา อันนี้ลักษณะของสิ่งที่มันเกิดขึ้นเนื่องด้วยกัน เพราะฉะนั้นเหตุเป็นแดนเกิดแห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ
เมื่อเราได้ศึกษาตามหลักของปฏิจจสมุปบาท หรือว่าเราศึกษาดูว่า เพราะมีอวิชชาจึงมีวิญญาณ เพราะมีวิญญาณจึงมีสังขาร เพราะมีสังขารจึงมีนามรูป เพราะมีนามรูปจึงสฬายตนะ เพราะสฬายตนะจึงมีผัสสะ เพราะมีผัสสะจึงมีเวทนา นี้เพราะสฬายตนะ สฬายตนะคืออะไร สฬายตนะก็คือ อายตนะภายนอกภายในนี้แหละ เพราะมีตาจึงมีรูปจึงมีวิญญาณเรียกว่าจักขุวิญญาณความรู้ในรูป เพราะมีหูจึงมีเสียงแล้วก็เกิดโสตวิญญาณ ความรู้ในเสียงนั้นปรากฏขึ้นมา เพราะมีจมูกจึงมีฆานวิญาณ เมื่อมีจมูกก็ย่อมมีกลิ่น เมื่อกลิ่นมันกระทบจมูกก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มีฆานวิญญาณ ความรู้ทางจมูกมันเกิดขึ้นมา อันนี้เรียกว่ามีตาจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มีรูป แล้วก็มีความรู้ในเรื่องที่ตากระทบรูปเกิดความรู้ขึ้น หูเราได้ยินเสียง เมื่อหูกระทบเสียงขึ้นมาก็เกิดโสตวิญญาณ ความรู้ทางหู ว่าเสียงนั้นเพราะ เสียงนั้นไม่เพราะ เสียงผู้หญิงหรือเสียงผู้ชาย เกิดความรู้อย่างนี้ขึ้นมา เมื่อจมูกของเราดมกลิ่นจะเป็นกลิ่นเหม็นก็ดี กลิ่นหอมก็ดี ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดฆานวิญญาณ ความรู้ทางจมูก เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้รู้กลิ่นนั้นขึ้นมา หรือว่าขณะที่ลิ้นของเราลิ้มรสก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดชิวหาวิญญาณ ความรู้ในเรื่องรสขึ้นมา ว่ารสเผ็ด รสเปรี้ยว รสเค็ม รสหวานต่างๆ เกิดขึ้นมา สิ่งเหล่านี้จึงถือว่าเป็นเหตุเกิดแห่งกรรม
อย่างเช่นตาของเราเห็นรูป ถ้าชอบใจอย่างเช่นเห็นพระพุทธ เห็นพระธรรม เห็นพระสงฆ์ เห็นการไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เราชอบใจก็เป็นบุญเป็นกุศลขึ้นมา แต่เมื่อเราเห็นการกินเหล้าเมาสุรา การเล่นการพนัน เราชอบใจในการเล่นไพ่ อย่างนี้ก็ถือว่าเป็นการที่มีความชอบที่ผิด เป็นความชอบที่หลง ถ้าบุคคลใดตายไปในความชอบคือการกินเหล้า ในการเล่นการพนัน บุคคลนั้นก็ไปสู่อบายภูมิ เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ยังจิตให้เศร้าหมอง ยังจิตให้หลงใหล ยังจิตให้หมกมุ่นในสิ่งเหล่านั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า นิทานสัมภวะแห่งกรรม เหตุเป็นแดนเกิดแห่งกรรมอันบุคคลควรทราบ
เหตุเกิดแห่งกรรมที่เรากระทำ เหตุเกิดที่แท้จริงก็เกิดที่ตา เกิดขึ้นที่หู เกิดขึ้นที่จมูก เกิดขึ้นที่ลิ้น เกิดขึ้นที่กาย เกิดขึ้นที่ใจของเรานี้เอง บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจของเรา บาปเกิดขึ้นที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจของเรา คือขณะที่ตาเห็นรูป รูปมากระทบที่ตานี้แหละเป็นเหตุเกิดแห่งบาปแห่งบุญ ถ้าเรากำหนดว่า “เห็นหนอๆ” ก็เป็นบุญขึ้นมา แต่ถ้าเราเห็นรูปแล้วเกิดความไม่พอใจก็เป็นบาปขึ้นมา เราเห็นรูปที่เป็นอริข้าศึก เป็นคนที่เขามาด่าเรา มาว่าเรา มาโกงเรา ถ้าเราเห็นแล้วเราก็เกิดความไม่พอใจขึ้นมาอันนี้เรียกว่าเป็นบาปเพราะการเห็น การเห็นของเรานั้นเป็นอกุศลทำให้อกุศลของเรานั้นเผาไหม้จิตใจของเราให้เดือดร้อน ให้วุ่นวาย
แต่ถ้าเราเห็น จะเป็นรูปหญิงรูปชายรูปชอบใจไม่ชอบใจเรากำหนดว่า “เห็นหนอๆ” ไม่ปรุงแต่งในรูปที่เราเห็น รูปนั้นก็เป็นบุญ เป็นกุศล เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นวิปัสสนา เป็นมรรค เป็นผล เป็นพระนิพพานได้ เหตุเกิดแห่งบาปก็ดี เหตุเกิดแห่งบุญ เหตุเกิดแห่งศีล แห่งสมาธิ แห่งปัญญา มันเกิดขึ้นตรงนี้ ตรงที่อายตนะสัมผัสรูปต่างๆ หูได้ยินเสียงต่างๆ จมูกได้ดมกลิ่นต่างๆ ลิ้นได้ลิ้มรสต่างๆ กายได้ถูกต้องสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็งต่างๆ ตลอดถึงใจของเราได้สัมผัสอารมณ์ที่เป็นอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมา ตรงนี้เป็นเหตุเกิดแห่งบาป เป็นเหตุเกิดแห่งบุญ เราทั้งหลายท่องเที่ยวไปในมหรรณพภพสงสาร ก็เพราะเรานั้นไม่ฉลาดในการที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้ดมกลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรสนี้
สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่คณะครูบาอาจารย์ผู้พร่ำสอนธรรมะนั้น ได้พยายามให้คณะญาติโยมตลอดถึงคณะครูบาอาจารย์นั้นเพียรกำหนด จะยืนก็ให้รู้ว่าตนเองยืน จะเดินก็ให้รู้ว่าตนเองเดิน จะนั่งก็ให้รู้ว่าตนเองนั่ง จะก้าวก็รู้ว่าตนเองก้าว จะถอยหลังก็รู้ว่าตนเองถอยหลัง จะนุ่งสบงห่มจีวรก็รู้ว่าตนเองกำลังนุ่งสบงห่มจีวร จะยืนจะเดินจะนอนจะนั่งจะกินจะดื่มจะพูดจะคิดจะทำกิจอะไรอยู่ หรือว่านิ่งอยู่ก็ตาม ต้องรู้เท่ารู้ทันอาการนั้นๆ เพื่ออะไร เพื่อที่จะไม่ให้เรานั้นเกิดความหลง ให้กายของเราเป็นบุญ ให้วาจาของเราเป็นบุญ ให้ใจของเราเป็นบุญ เมื่อคณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่อย่างนี้ กายของเราก็จะเริ่มบริสุทธิ์ขึ้นไปตามลำดับ วาจาของเราก็จะเริ่มบริสุทธิ์ขึ้นไปตามลำดับ ใจของเราก็จะเริ่มบริสุทธิ์ขึ้นไปตามลำดับ
เหมือนกับเราเทน้ำอันสะอาดลงในแก้วน้ำที่สกปรก มีแก้วใบหนึ่งที่มีน้ำสกปรกสีดำ แต่ว่าเราเทน้ำที่ใสสะอาด เทลงไปในแก้วนั้น เทลงไปวันแล้ววันเล่า น้ำที่ใสๆ นั้นก็ไปขับไล่น้ำที่ดำนั้นออกมา เราก็เทไปเรื่อย น้ำที่ดำก็จางออกไป เทลงไปน้ำที่ดำก็จางออกไป เทวันแล้ววันเล่า อาทิตย์แล้วอาทิตย์เล่า เดือนแล้วเดือนเล่า น้ำที่เคยดำในแก้วนั้นก็จะเริ่มใสขึ้นๆ เมื่อใสขึ้นไปตามลำดับความดำก็หมดไปจากน้ำนั้น น้ำนั้นก็เป็นน้ำที่บริสุทธิ์ น้ำนั้นก็เป็นน้ำที่ประภัสสร ข้อนี้ฉันใดบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่อสำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา บาปธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่สามารถไหลเข้าสู่กาย ไม่สามารถไหลเข้าสู่วาจา ไม่สามารถไหลเข้าสู่ใจได้ จิตใจของบุคคลนั้น วาจาของบุคคลนั้น กายของบุคคลนั้นก็ ใสขึ้นสะอาดขึ้นๆ ในที่สุดก็จะกล่าวว่าเป็นผู้มีความบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจได้ การประพฤติปฏิบัติธรรมก็จะดำเนินไปเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน
เหตุเกิดแห่งกรรมต่างๆ ก็คือตากระทบรูป หูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่นเป็นต้นนี้ การประพฤติปฏิบัติธรรมเราจึงต้องมีการสำรวมให้รู้ว่าอายตนะทั้ง ๖ นี้แหละเป็นเหตุแห่งกรรมทั้งหลายทั้งปวง ทั้งกรรมดี ทั้งกรรมชั่ว เราจะให้ทานรักษาศีลไหว้พระทำวัตรสวดมนต์เจริญภาวนาก็อาศัย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรานี้แหละเป็นผู้พาทำ เราจะทำบาป ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกามต่างๆ ไปจุดบ้านเผาเมือง ก่อวินาศกรรม อันธพาลอะไรต่างๆ เราก็อาศัยกาย อาศัยตา อาศัยหู อาศัยจมูก อาศัยลิ้น อาศัยใจของเรานี้แหละเป็นตัวเผาบ้านเผาเมืองทำอันธพาลต่างๆ เพราะฉะนั้นเหตุเกิดแห่งกรรมนั้นก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์นี้แหละ เป็นเหตุเกิดแห่งกรรมดี กรรมชั่วทั้งหลายทั้งปวง
แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสว่า เวมัตตตาแห่งกรรม คือ ความมีประมาณต่างๆ แห่งกรรมเป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ คือ เราต้องรู้ว่ากรรมแต่ละอย่างที่เรากำลังกระทำ เรากำลังพูด เรากำลังคิดนี้มีประมาณเท่าไร อย่างเช่นเราให้ทาน การให้ทานนั้นส่งผลให้เราอย่างไร เราให้ทานที่เป็น ปาฏิปุคคลิกทาน ทานเฉพาะบุคคลให้ผลอย่างไร เราให้ทานที่เป็นสังฆทานมีผลอย่างไร เราให้ทานแก่สัตว์เดรัจฉานมีผลอย่างไร เราให้ทานแก่ผู้มีศีลมีอานิสงส์อย่างไร เราให้ทานแก่บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมที่ได้สมาธิเป็นอย่างไร ให้ทานแก่บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อความเป็นพระโสดาบันให้ผล มีผลอย่างไร เราให้ทานแก่บุคคลผู้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เพื่อบรรลุเป็นพระสกทาคามี มีผลอย่างไร นี้เราต้องศึกษาเราต้องทำความเข้าใจ เราให้ทานแก่พระสกทาคามีผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุเป็นพระอนาคามี แล้วอานิสงส์มันเป็นอย่างไรนี้เราต้องรู้ เราให้ทานแก่พระอนาคามีผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์มีอานิสงส์อย่างไร ถ้าเราศึกษาประมาณแห่งกรรมเราก็จะเกิดความศรัทธา เกิดความเลื่อมใสในการกระทำกรรมต่างๆ
แต่ว่าถ้าเรารักษาศีลจะมีผลมากกว่าการให้ทานไหม เราต้องรู้ประมาณแห่งการรักษาศีล อานิสงส์ของการรักษาศีล เราเจริญวิปัสสนากรรมฐานเราต้องรู้ประมาณแห่งกรรมของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ว่าการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น โบราณท่านกล่าวไว้ว่า เจริญภาวนาชั่วช้างพัดหู งูแลบลิ้น ไก่ตบปีก บุคคลนั้นปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าก็ยังจะได้เป็นพระพุทธเจ้า บุคคลนั้นปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าก็ได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า บุคคลนั้นปรารถนาเป็นพระเจ้าจักรพรรดิก็ดี เป็นพระราชาผู้เรืองอำนาจก็ดี เป็นเศรษฐีต่างๆ ถ้าผู้นั้นปฏิบัติชั่วช้างพัดหู งูแลบลิ้น ไก่ตบปีกอานิสงส์นั้นก็ได้สำเร็จตามที่ตนปรารถนา นี้เราต้องรู้ประมาณแห่งกรรมที่เรากำลังประพฤติอยู่ เรากำลังกระทำอยู่ว่าประมาณแห่งกรรมที่เรากระทำนั้นมีผลดีอย่างไร ถ้าเรากระทำในสิ่งที่มันดี มันเลิศ มันประเสริฐ แต่ถ้าเราประมาทเรากระทำกรรมไม่ดี อย่างเช่นทำบาป เช่นเราทำอนันตริยกรรมมีมาตุฆาต ฆ่ามารดา ปิตุฆาต ฆ่าบิดา อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์ โลหิตุปบาท ทำพุทธเจ้าให้เกิดอาการพระโลหิตห้อขึ้นที่ตรงใดตรงหนึ่ง สังฆเภท ยังสงฆ์ให้แตกกัน นี้เราต้องรู้ประมาณว่า ผู้ใดเป็นพุทธบริษัทแล้วกระทำกรรมทั้ง ๕ อย่างนี้บุคคลนั้นก็จะไม่เจริญ เรียกว่าถ้าผู้ใดทำอนันตริยกรรมคือฆ่ามารดาของตนเอง ฆ่าบิดาของตนเอง จะประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างไรๆ ก็ไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งข้างหน้าอยู่กับเราเดี๋ยวนี้ แสดงธรรมให้เราฟังอยู่เดี๋ยวนี้ แต่ถ้าเราทำอนันตริยกรรมแล้วก็หมดโอกาสที่จะบรรลุมรรคผลนิพพาน
เหมือนกับพระเจ้าอชาตศัตรูประหารชีวิตของพระเจ้าพิมพิสารทำอนันตริยกรรม ฆ่าบิดาของตนเอง แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมวิจิตรพิสดารไพเราะจับใจขนาดไหนก็ตาม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ถ้าอชาตศัตรูกุมารนี้ไม่ปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสาร เราตถาคตแสดงธรรมจบลงไป พระเจ้าอชาตศัตรูก็จะได้บรรลุเป็นพระโสดาบันในอาสนะเดียว คือฟังธรรมแป๊ปเดียวก็สำเร็จเป็นพระโสดาบันได้ แต่พระเจ้าอชาตศัตรูได้ปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารแล้วจึงไม่สามารถบรรลุคุณธรรมอะไรได้ เพราะการทำปิตุฆาต ฆ่าบิดานั้นเป็นครุกรรม ครุกรรมนั้นย่อมให้ผลกก่อนกรรมอื่น เรียกว่ากรรมอื่นๆ ที่เราเคยทำมาให้ทานรักษาศีลไหว้พระทำวัตรสวดมนต์ แต่เมื่อเรามาทำครุกรรมแล้ว การไหว้พระทำวัตรสวดมนต์นั้นเป็นอันตกไป กรรมคือการฆ่าบิดานั้นย่อมให้ผลก่อน
ท่านอุปมาอุปไมยเหมือนการทิ้งก้อนหินลงในน้ำ ก้อนหินก้อนหนึ่งก้อนเท่าหัว ก้อนหินอีกก้อนหนึ่งก้อนเท่านิ้วก้อย คิดดูสิว่าเราทิ้ง เรายืนที่จุดเดียวกันบนสะพานแล้วทิ้งลงน้ำ ก้อนหินเท่าหัวกับก้อนหินเท่านิ้วก้อย อะไรจะตกลงสู่แม่น้ำก่อนกัน ก้อนหินก้อนใหญ่ที่มีน้ำหนักใหญ่ย่อมตกลงไปสู่แม่น้ำก่อนข้อนี้ฉันใดบาปใหญ่กรรมใหญ่ที่เราฆ่าบิดา กรรมอื่นๆ ทั้งหลายทั้งปวงก็ไม่สามารถให้ผลได้ บาปใหญ่นี้ก็จะหล่นทับจิตใจของเราเผาจิตเผาใจของเราให้แห้ง ให้เดือดร้อน ให้วุ่นวาย หาความเจริญในชีวิตไม่ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ผู้ใดที่ทำอนันตริยกรรมแล้วบวชไม่ได้
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสถึงขนาดนั้น เป็นผู้บาปกรรมแม้แต่พระธรรมวินัยก็ไม่รับ พระธรรมวินัยก็ยังชักสะพานเสียไม่ข้องเกี่ยวข้องแวะกับบุคคลเช่นนั้น เรียกว่าเป็นบาปหนัก หรือเราฆ่าพระอรหันต์ในลักษณะอย่างนี้ก็บาปมาก หรือว่าเราไม่ทำพระอรหันต์ให้สิ้นชีพเป็นแต่อริยุปวาท อริยุปวาทนั้นคือ การจาบจ้วงพระอริยบุคคล การกล่าวใส่ร้ายพระอริยบุคคล เราจะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นพระอริยบุคคล ใครเป็นพระโสดาบัน ใครเป็นพระสกทาคามี ใครเป็นพระอนาคามี ใครเป็นพระอรหันต์เราจะรู้ได้อย่างไร เราไม่สามารถที่จะรู้ได้ด้วยการเห็น ด้วยการได้ยิน แต่เรารู้ได้ด้วยการอยู่ด้วยกันนานๆ ฟังเทศน์ ฟังธรรม คุยสนทนาธรรมไปเรื่อยๆ เราก็สามารถที่จะรู้ท่านเหล่านั้นได้ นี้ถ้าเราไปทำไม่ดีกับท่านมันก็เป็นบาป เป็นอกุศลกรรม เป็นครุกรรม แต่ถ้าเราทำในสิ่งที่ดีกับท่าน อย่างเช่นพระอรหันต์นั้นเราใส่บาตร ถ้าเราใส่บาตรท่าน ท่านกล่าวว่า ถ้าผู้ใดได้ใส่บาตรพระอรหันต์เพียงครั้งเดียว บุคคลนั้นก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิเป็นแสนกัป บุคคลที่ใส่บาตรพระอรหันต์เพียงครั้งเดียว ปรารถนาเป็นเศรษฐีก็จะได้เป็นเศรษฐี ปรารถนาเป็นพระราชาก็จะได้เป็นพระราชา ปรารถนาเป็นพระเจ้าจักรพรรดิก็จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิเพราะการใส่บาตรพระอรหันต์เพียงครั้งเดียว หรือปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าก็จะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเพราะอานิสงส์ของการใส่บาตรพระอรหันต์เพียงครั้งเดียว หรือว่าเราปรารถนาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สามารถสำเร็จได้ด้วยอานิสงส์ของการใส่บาตรของพระอรหันต์เพียงครั้งเดียว อันนี้เรียกว่าอานิสงส์มันกว้างใหญ่ไพศาล พระพุทธเจ้าพระองค์จึงตรัสว่า ให้รู้เวมัตตตาแห่งกรรม รู้ประมาณต่างๆ แห่งกรรม ว่ากรรมแต่ละอย่างนั้นให้ผลมากน้อยต่างกันอย่างไร เราก็จะได้เกิดฉันทะ ความพอใจ เกิดความรื่นเริงบันเทิงใจในการทำบุญทำกุศล
การที่เราทั้งหลายมาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเราต้องรู้ประมาณแห่งกรรม หรือเราไม่ฆ่าพระอรหันต์แต่ว่าเรานั้นทำสังฆเภท ยุยงให้สงฆ์แตกร้าวสามัคคีกัน เข้าไปวัดเหนือก็ดี เข้าไปวัดใต้ก็ดี เข้าไปวัดกลางก็ดี เข้าไปแล้วก็ไปยุพระ เข้าไปแล้วก็ทะเลาะกับพระ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สงฆ์ทั้งหลายทั้งปวงไม่ลงอุโบสถร่วมกัน สงฆ์ทะเลาะกัน แตกกัน เพราะความที่เราไปพูดคนโน้นดี คนนี้ไม่ดีก็ทำให้สงฆ์แตกร้าวกันไม่ลงอุโบสถร่วมกัน ถ้าสงฆ์ไม่ลงอุโบสถร่วมกันประกาศท่ามกลางสงฆ์ว่า พวกเราทั้งหลายประมาณ ๒๐ รูป ๓๐ รูป หรือว่าพวกเราทั้งหลาย ๕ รูปจะไม่ขอร่วมลงอุโบสถร่วมกับภิกษุผู้อยู่ฝั่งโน้นที่ไม่ชอบตามพระธรรมวินัยทั้งหมดนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป นี้ถ้าสงฆ์ประกาศต่อสงฆ์ในลักษณะอย่างนี้แล้ว ได้ชื่อว่าอนันตริยกรรมนั้นให้ผลเต็มที่แล้ว บุคคลนั้นก็ไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ จะบวชปฏิบัติธรรมอย่างไรๆ ก็บวชไม่ขึ้น จะสึกขาลาเพศออกไปประกอบการงานต่างๆ ก็ไม่มีความเจริญ มีแต่แห้ง มีแต่ทุกข์ มีแต่โทษ มีแต่ความเผาผลาญแห่งกรรม คือร้อนใจ ร้อนรุ่มกลุ้มใจกระวนกระวายอยู่ตลอดเวลา เพราะอะไร เพราะครุกรรมมีผลอันน่ากลัวเหลือเกิน นี้ถ้าผู้ใดพิจารณาประมาณแห่งกรรมในลักษณะอย่างนี้บุคคลนั้นก็จะเว้นจากบาปธรรมทั้งหลายทั้งปวงแล้วก็ประพฤติแต่ในสิ่งที่ดีถูกต้อง
หรือประมาณกรรมในการจาบจ้วงพระอริยบุคคล เหมือนนางจิญจมาณวิกา ที่ใส่ร้ายว่าท้องกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันนี้ไม่ได้ฆ่าพระอรหันต์ ไม่ได้ทำโลหิตุปบาท แต่ว่าจาบจ้วง ใส่ร้าย ป้ายสี กล่าวตู่บุคคลผู้มีคุณอันเลิศ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้รับบาปหนักเหมือนกัน แผ่นดินที่หนา ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ไม่สามารถที่จะรองรับนางผู้กล่าวร้ายใส่ร้ายพระพุทธเจ้าได้ หรือว่าแผ่นดินที่หนา ๘๔,๐๐๐ โยชน์ สามารถรองรับตึกเป็นร้อยชั้น สองร้อยชั้น สามารถรองรับแผ่นน้ำทั้งหลายทั้งปวง ทะเลสาบทั้งหลายทั้งปวง สามารถที่จะรองรับคนในพื้นโลกนี้ได้หมดทุกคน หรือว่าแผ่นดินสามารถที่จะรองรับสรรพสิ่งทั้งปวงได้ แต่เมื่อบุคคลทำกรรมหนักเรียกว่าทำครุกรรม คือ จาบจ้วงพระพุทธเจ้าว่าท้องกับพระพุทธเจ้าในลักษณะอย่างนี้ แผ่นดินที่หนา ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ไม่สามารถที่จะรองรับบุคคลที่ทำกรรมหนักเหล่านั้นได้ ต้องแยกออกทำให้บุคคลผู้ทำกรรมหนักนั้นต้องตกลงไป จมลงไปในแผ่นดิน แล้วก็ไปเกิดในอเวจีมหานรก นี่คิดดูแผ่นดินหนาตั้ง ๘๔,๐๐๐ โยชน์ยังไม่สามารถรองรับบุคคลผู้ทำกรรมหนัก คือจาบจ้วงพระอริยบุคคลมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น เพราะฉะนั้น เราควรที่จะรู้เวมัตตตาแห่งกรรม คือ รู้ประมาณว่ากรรมแต่ละอย่างๆ ต่างๆ กันให้ผลต่างกันอย่างไร เราจะได้กลัว เราจะได้หลบจะได้หลีกเราจะได้บำเพ็ญบารมียิ่งๆ ขึ้นไป
อย่างประมาณแห่งกรรมของบุคคลที่ได้สมาธิ มีมหัคคตาจิต เป็นจิตที่เป็นหนึ่ง เป็นจิตที่เป็นใหญ่ บุคคลทำบุญกับบุคคลผู้มีมหัคคตาจิตก็ได้บุญมาก เรียกว่าได้บุญทันตาเห็นผู้ใดมาอุปถัมภ์อุปฐากพระสงฆ์สามเณร ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีสมาธิสมาบัติ มีมรรคมีผลอันตนได้บรรลุแล้ว บุคคลนั้นมักจะได้ลาภลอยบุญกุศลจะเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้นได้ไว บางครั้งทำตอนเช้าเกิดตอนบ่ายก็มี บางครั้งทำตอนเย็นเกิดตอนเช้าก็มี ผลบุญมันเกิดขึ้นไวในลักษณะอย่างนี้ เพราะอะไร เพราะบุคคลผู้มาประพฤติฏิบัติธรรมได้สมาธิสมาบัติ ได้วิปัสสนาญาณ ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน จิตของบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นมหัคคตาจิต บุคคลผู้ทำบุญกับบุคคลผู้มีมหัคคตาจิต ผลบุญนั้นย่อมให้ผลภายในระยะอันสั้น ได้ผลในปัจจุบันธรรม
แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลทั้งหลายพึงทราบผลวิบากแห่งกรรม ผลวิบากแห่งกรรมนั้นเราควรที่จะทราบ เพราะอะไร เพราะเราเป็นชาวพุทธ เรานับถือพุทธศาสนาไม่ทราบผลวิบากแห่งกรรมเราก็จะเสียความเป็นพุทธศาสนิกชน อายศาสนาอื่น เป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องพุทธศาสนาน้อยเกินไปก็ไม่สามารถที่จะทำนุบำรุงค้ำจุนพระศาสนาได้ถูกต้องแม่นยำได้ เพราะปัญญาคือความรู้ในพุทธศาสนาน้อยเกินไป ท่านจึงกล่าวว่า บุคคลควรรู้ผลของกรรมหรือว่าวิบากของกรรม ว่าเราทำดีคือการให้ทาน เราทำทานนี้ได้บุญไหม บางครั้งเราทำทานนิดหน่อย อย่างเช่นเราทำทานแค่ข้าวทัพพีเดียวเราจะได้บุญหรือเปล่าหนอ เราทำด้วยความศรัทธา ด้วยความเลื่อมใส เราจะได้บุญหรือเปล่าหนอ นี้บางคนบางท่านอาจจะคิด แต่เมื่อเรามาพิจารณาว่าการทำบุญด้วยศรัทธาด้วยความเลื่อมใสในบุคคลผู้มีคุณธรรม เหมือนกับเทพบุตรชื่อว่า อังกุรเทพบุตร ที่ทำบุญกับพระอนุรุทธะที่ออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ เทพบุตรได้ทำบุญกับพระอนุรุทธะตายไปแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์ เทวดาทั้งหลายทั้งปวงที่นั่งต่อหน้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเทวดาที่มีศักดิ์ใหญ่มาแล้วเทวดาที่มีศักดิ์น้อยก็ต้องถอยร่นลงไป แต่อังกุรเทพบุตรซึ่งถวายข้าวเพียงทัพพีเดียวนั่งต่อหน้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยไม่สะทกสะท้าน เทพบุตรเทพธิดาใหญ่ขนาดไหนมาก็ตามก็นั่งอยู่กับที่ ด้วยอานิสงส์ของการถวายข้าวเพียงทัพพีเดียวแก่บุคคลผู้ออกจากนิโรธสมาบัติผลแห่งกรรมมันก็ยิ่งใหญ่ไพศาลถึงขนาดนี้
เหมือนกับแม่นางมัลลิกาอัครมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล นางมัลลิกานั้นเป็นคนยากจนเก็บผักหักฟืนไปขายเลี้ยงชีวิตตัวเอง วันหนึ่งนางก็เก็บผักหักฟืนไปตามป่าตามประสาของหญิงสาวชาวบ้าน ร้องรำฮำเพลงไปตามความสนุกสนานของหญิงสาวชาวบ้าน ในขณะนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลออกรบกับพระเจ้าอชาตศัตรูแพ้พระเจ้าอชาตศัตรูแตกทัพหนีมา เมื่อหนีมาก็ขี่ม้ากับทหารติดตามมาไม่มาก มาได้ยินเสียงนางมัลลิกาขับร้องเพลงอยู่นั้นก็เอานางนั้นไปเป็นอัครมเหสี แต่งตั้งให้เป็นอัครมเหสี แต่เมื่อเราทราบประวัติของนางมัลลิกาแล้วเราก็เข้าใจว่านางมัลลิกานั้นตอนเช้าๆ ก่อนที่จะได้เป็นอัครมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศลนั้น นางมัลลิกาได้ถวายปิ้งรำให้แก่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อถวายปิ้งรำให้แก่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้นางมัลลิกานั้นได้สำเร็จเป็นอัครมเหสี อันนี้ก็ถือว่าเป็นความรู้วิบากแห่งกรรมที่เรากระทำกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ เราก็จะเกิดบุญเกิดกุศลเกิดฉันทะในการสร้างคุณงามความดีว่าวิบากที่เรากระทำนั้นถ้าเราทำบุญก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บุญมาก อันนี้ก็ถือว่าเราควรที่จะรู้วิบากต่างๆ ทั้งที่ฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดีว่าเราทำกรรมอย่างนี้แล้วผลมันจะติดตามมาอย่างไร เราทำกรรมดีอย่างนี้แล้วผลจะติดตามมาอย่างไร นี้เราต้องเป็นผู้ฉลาด ต้องเป็นผู้แยบยลในวิบาก ในผลแห่งกรรม ในการกระทำที่เรากระทำทั้งที่เป็นฝ่ายดีและไม่ดี เราจึงจะสามารถที่จะรักษาศรัทธา รักษาการประพฤติปฏิบัติของเราให้คงเส้นคงวา เราต้องศึกษาวิบาก
อย่างเช่นบุคคลที่ตายไปแล้วไปเกิดเป็นเปรต เพราะอะไร นี้ถ้าเราพิจารณาตามหลัก มีเปรตตัวหนึ่งท่านกล่าวไว้ในธรรมบท ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ท่านกล่าวไว้ว่าเปรตตัวนั้นมีหัวเป็นหมูมีตัวเป็นคนแล้วก็มีหางงอกออกจากปาก แต่หางที่งอกออกจากปากนั้นเป็นหางที่เน่า แล้วก็มีหมู่หนอนเจาะชอนไชที่ปากของเปรตหมูนั้น แล้วหางที่เน่านั้นส่งกลิ่นเหม็นฟุ้งตลอดเวลา ท่านกล่าวประวัติของเปรตหัวสุกรผู้มีหางเน่างอกออกจากปากและก็มีหนอนชอนไชนั้นว่า แต่ก่อนโน้นเป็นบุตรของเศรษฐีเป็นกุมาริกาแต่ว่าเป็นคนด่าบุคคลผู้มีศีล ด่าพระ ด่าเณร ด่าปะขาว แม่ชี พูดอย่างโน้นพูดอย่างนี้ ทำให้พระเณรผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมต้องเดือดร้อน ตายไปแล้วก็ไปเกิดในนรกพ้นจากนรกมาก็เป็นเปรตในลักษณะอย่างนี้
แล้วท่านกล่าวว่ามีเปรตจำพวกหนึ่ง เป็นเปรตที่อดอาหารและอดน้ำ เวลาอดน้ำนั้นจะไปสู่หนองน้ำที่ใหญ่ขนาดไหนก็ตาม เมื่อเปรตเหล่านั้นเดินลงไปสู่หนองน้ำนั้น น้ำทีเต็มสุดลูกหูลูกตานั้นก็จะหายแวบไปด้วยอานุภาพบาปกรรมที่เปรตเหล่านั้นได้ทำไว้ น้ำที่มีมากเต็มมหาสมุทรนั้นหายไปก็เหลือแต่ทราย ทรายนั้นก็ลุกเป็นเปลวเพลิงเผาไหม้เปรตเหล่านั้นให้เดือดร้อนวุ่นวายเกิดความทุกข์ทรมานต่อไป เมื่อเรามาอ่านดูประวัติของเปรตเหล่านั้น เปรตเหล่านั้นท่านกล่าวไว้ว่า แต่ก่อนโน้นหนองน้ำสาธารณะก็ดี หนองน้ำของตนก็ดี บ่อน้ำของตนก็ดีก็หวงตระหนี่เอาลวดหนามไปล้อมไว้ เอาไม้หนามไปล้อมไว้ปักลงดินไม่ให้คนทั้งหลายทั้งปวงมาดื่มมากินได้ บาปกรรมเหล่านั้นก็ทำให้บุคคลนั้นไปตกนรก พ้นจากนรกมาแล้วก็เป็นเปรตอดน้ำในลักษณะอย่างนี้ เป็นบาปกรรมถ้าเราศึกษาแล้วเราก็จะรู้ว่าเราทำกรรมอย่างนี้มันจะให้ผลอย่างไร เราก็จะเกิดความกลัวแล้วก็เว้นจากกรรมทั้งหลายทั้งปวง แต่ถ้าเราไม่ศึกษาเราก็ไม่รู้
อย่างเช่นพระเทวทัตท่านกล่าวว่าทำอนันตริยกรรม ทำโลหิตุปบาท ยังสงฆ์ให้แตกกัน พอตายไปแล้วก็ไปเกิดในนรกชื่อว่าอเวจีมหานรก ท่านกล่าวว่าพระเทวทัตนั้นยืนทำบาป เมื่อยืนทำบาปแล้วผู้ใดกระทำบาปอิริยาบถใดก็จะไปเกิดในอเวจีมหานรกด้วยอิริยาบถนั้น พระเทวทัตยืนทำบาปก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปเสวยกรรมในนรกนั้นด้วยอาการที่ยืน ยืนอยู่ในหลุมสี่เหลี่ยมที่เป็นเปลวเพลิงลุกโชติช่วง ท่านกล่าวว่าหัวของพระเทวทัตเข้าไปในแผ่นทองแดงที่ร้อนนั้นแหละครึ่งหนึ่งถึงหู หัวสวมเข้าไปในแผ่นทองแดงที่ลุกเป็นเปลวเพลิงนั้นถึงหู มือทั้งสองข้างเข้าไปถึงข้อมือ เข้าไปในแผ่นทองแดงทั้งสองข้างที่มีเปลวเพลิงลุกโชติช่วงชัชวาลมา แล้วก็เท้านั้นจมลงไปในแผ่นทองแดงถึงข้อเท้าทั้งสองยืนทนทุกข์ทรมานอยู่อย่างนั้น แล้วก็มีหอกเท่ากับต้นตาลนั้นแทงเข้ากับศีรษะทะลุลงทวาร ทะลุเข้าไปในแผ่นทองแดง แล้วก็มีหอกเท่ากับลำตาลแทงจากข้างหน้าทะลุข้างหลัง แล้วก็เข้าไปในแผ่นทองแดง หอกนั้นก็ลุกเป็นเปลวเพลิงเผาพระเทวทัตให้เกิดความเดือดร้อนอยู่ในลักษณะอย่างนั้น อันนี้เป็นลักษณะของบาปกรรมที่บุคคลทำ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์จึงตรัสว่า วิบากแห่งกรรมนั้นเราควรศึกษา เราควรทำความเข้าใจ เราควรรู้ทั้งที่เป็นฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี
แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสในเรื่องกรรมนิโรธ คือความดับไม่เหลือแห่งกรรม ก็คือความสิ้นไป ความหมดไป ความสูญไป เหมือนไฟไม่มีเชื้อ คล้ายๆ กับว่าเรามีกองฟืนรถหนึ่งแต่เราก็จุดไฟเผากองฟืนนั้นไฟก็ไหม้ไปๆๆ ไฟลุก ไฟไหม้ไป เมื่อไหม้ไปแล้วฟืนมันหมดแล้วอยากจะให้ไฟมันลุกต่อมันก็ไม่ลุกไฟนั้นมันก็ดับ ทำไมไฟจึงดับ ก็เพราะว่าไม่มีฟืนเป็นเชื้อ อันนี้เรียกว่ากรรมนิโรธก็คือความดับโดยที่หาเชื้อไม่ได้
เพราะฉะนั้นกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดก็ดี หรือว่าการเวียนว่ายตายเกิดในห้วงมหรรณพภพสงสาร ถ้าเราสามารถยังมรรค ๔ ผล ๔ นิพพานให้เกิดขึ้นมาแล้ว เราก็จะต้องหมดเชื้อหมดใย เชื้อแห่งการเวียนว่ายตายเกิดคืออะไร คือความโกรธ คือความโลภ คือความหลง คือราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดนี้แหละ เป็นเชื้อแห่งการเวียนว่ายตายเกิด กรรมนิโรธคือการดับแห่งกรรมโดยเป็นที่หาเชื้อมิได้ ก็คือการดับด้วยอำนาจของมรรคญาณ ผลญาณ อันนี้เรียกว่ากรรมนิโรธ
แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ เรียกว่าปฏิปทาแห่งการพ้นทุกข์ ปฏิปทาแห่งการดับโดยที่ไม่เหลือเชื้อนั้น เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ ปฏิปทาแห่งการดับโดยไม่เหลือนั้นก็คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐานเหมือนคณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายทั้งปวงกำลังประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่นี้แหละ กำลังเดินจงกรม นั่งภาวนา ทนหิว ทนร้อน ทนหนาว ทนยุงกัด ทนความง่วงเหงาหาวนอน ทนความเกียจคร้าน ทนความท้อแท้ เกียจคร้านขนาดไหนก็ต้องเดิน เบื่อหน่ายขนาดไหนก็ต้องทำ นี้ในลักษณะปฏิปทาแห่งความดับไม่มีเชื้อ
คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลาย คณะญาติโยมทั้งหลายกำลังประพฤติปฏิบัติธรรมอันบุคคลควรทราบ คือเราทั้งหลายทั้งปวงควรรู้ปฏิปทาแห่งความพ้นทุกข์ แห่งความดับทุกข์ ก็คือปฏิปทาแห่งการประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่อคณะครูบาอาจารย์ญาติโยมทั้งหลายรู้ในลักษณะอย่างนี้แล้ว เราเลิกจากการประพฤติปฏิบัติกลับไปวัดวาอาราม กลับไปบ้านกลับไปช่องอะไรต่างๆ เราก็สามารถประพฤติปฏิบัติธรรมดำเนินไปเรื่อย เมื่อเราดำเนินตามปฏิปทาที่คณะครูบาอาจารย์พาดำเนินอยู่นี้ ในเมื่อใดสติของเรามันสมบูรณ์ สมาธิของเราสมบูรณ์ วิปัสสนาญาณของเราสมบูรณ์ บารมีของเรามันสมบูรณ์แก่กล้าขึ้นมาแล้วเราก็คงจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่เดือนใดก็เดือนหนึ่ง ไม่ปีใดก็ปีหนึ่งอย่างแน่นอน อันนี้เป็นปฏิปทาที่เราท่านทั้งหลายก็ทราบแล้วว่าประพฤติปฏิบัติธรรมมาในลักษณะอย่างนี้ เป็นปฏิปทาที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชปริยัตยากรได้พาประพฤติปฏิบัติธรรมมาสามสิบกว่าปี คนทั้งหลายทั้งปวงที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมก็ได้สมาธิสมาบัติ ได้วิปัสสนาญาณ ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เป็นเครื่องการันตีปฏิปทาแห่งความพ้นทุกข์ว่า ถ้าเราประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างนี้แล้วสามารถที่จะดับความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงได้ ถึงซึ่งสันติสุขกล่าวคือพระนิพพานอันเป็นแดนสงบ อันเป็นแดนแห่งความสุขอย่างพิเศษ นิพพานํ ปรมํ สุขํ นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
เท่าที่อาตมภาพได้กล่าวธรรมะมาก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ในท้ายที่สุดนี้ ด้วยอานุภาพของพระพุทธเจ้าทั้งปวง ด้วยอานุภาพของพระธรรมทั้งปวง ด้วยอานุภาพของพระสงฆ์ทั้งปวง ด้วยอานุภาพของคุณงามความดีที่คณะครูบาอาจารย์และญาติโยมทั้งหลายทั้งปวงได้บำเพ็ญมาดีแล้ว ก็ขอให้บารมีทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นจงได้มารวมกันเป็นตบะ เป็นเดชะ เป็นพลวปัจจัย ส่งเสริมให้คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายทั้งปวงตลอดถึงญาติโยมทุกท่านทุกคนจงได้บรรลุมรรคผลนิพพานสมความมุ่งมาตรปรารถนาด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.