การปฏิบัติธรรมให้ได้ผล

การปฏิบัติธรรมให้ได้ผล


          ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง แม้ปรินิพพานไปนานแล้ว พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ด้วยเศียรเกล้า ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผลจงบังเกิดมีแก่ญาติโยมสาธุชนทุกท่านทุกคน ณ โอกาสบัดนี้

          ต่อไปก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายได้ตั้งใจฟังธรรม การฟังธรรมนั้นก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมผู้ใฝ่ในศีลในธรรม ในการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นได้นั่งสมาธิฟัง เพราะว่าการฟังธรรมให้เกิดประโยชน์ในการปฏิบัติธรรมนั้น เราถือว่าการฟังธรรมนั้นเป็นการปฏิบัติธรรมไปด้วย

          ในครั้งพุทธกาล การที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงแสดงธรรมนั้น สาวกทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุ หรือภิกษุณี ตลอดถึงอุบาสก อุบาสิกา ได้รู้ธรรม ได้บรรลุธรรมในขณะที่ฟังธรรมเป็นจำนวนมาก

          ท่านกล่าวว่า แม้แต่เทวดาทั้งหลายทั้งปวงที่ไปสดับรับฟังในการที่พระองค์ทรงแสดงธรรมแต่ละครั้ง แต่ละคราว ไม่ว่าจะเป็นการประชุมที่พระองค์ทรงแสดงมหาสมัยสูตรก็ตาม พระองค์ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรก็ตาม นอกจากจะเป็นภิกษุได้บรรลุธรรมแล้วก็ยังมีทวยเทพนิกรเจ้าทั้งหลายนั้นได้บรรลุธรรมเป็นจำนวนมาก ก็เกิดขึ้นมาจากการฟังธรรม

          เพราะฉะนั้นก็ขอให้พวกเราทั้งหลายนั้นได้ฟังธรรมด้วยปัญญา ฟังธรรมไปด้วยมีสติพิจารณาความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของเสียงที่มันกระทบที่โสตประสาทคือ หูของเราไปด้วย ก็จะเกิดทั้งศีล ก็จะเกิดทั้งสมาธิ ก็จะเกิดทั้งวิปัสสนา ก็จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ เพราะฉะนั้นก็ขอให้ตั้งใจฟังด้วยความเคารพ

          ก็ขออนุโมทนาสาธุการที่เจ้าคณะตำบล พระครูสุวรรณธัมมาภรณ์ ซึ่งเป็นประธานสงฆ์จัดงานประพฤติปฏิบัติธรรม ถือว่าเป็นศิษยานุศิษย์วัดเก่าเครือข่ายของวัดพิชโสภาราม ก็ถือว่าเป็นศิษยานุศิษย์ร่วมอาราม ได้นิมนต์กราบเรียนหลวงตา คือ พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระครูภาวนากิจจาทร ได้มาเป็นประธาน ในการชี้แนะแนวทางการปฏิบัติให้เกิดขึ้นแก่คณะครูบาอาจารย์ตลอดญาติโยมทั้งหลายทั้งปวง ที่มาประพฤติปฏิบัติธรรม

          เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเป็นของละเอียด เป็นของประณีต เป็นของสุขุม เป็นของลุ่มลึก ต้องอาศัยครูบาอาจารย์นั้นเป็นผู้ชี้ อาศัยคณะครูบาอาจารย์นั้นเป็นผู้แนะ เป็นผู้นำ เป็นผู้กล่าว เป็นผู้พร่ำสอนอยู่ตลอดเวลา การประพฤติปฏิบัติธรรมของเรานั้นจึงจะโน้มเอียง จึงจะหมุนไปตามวิถีแห่งการปฏิบัติที่ถูกต้อง

          แต่ถ้าเราทำการประพฤติปฏิบัติโดยขาดครูบาอาจารย์แล้ว การประพฤติปฏิบัตินั้นให้ผลได้ยากมาก แม้แต่พระสารีบุตรผู้มีปัญญามาก ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุธรรมโดยลำพังตนเอง ต้องอาศัยพระอัสสชิเถระ ได้กล่าวธรรมบทใดบทหนึ่งจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุธรรมาภิสมัยสำเร็จเป็นพระโสดาบัน

          เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่อพระศาสนาล่วงกาลผ่านวัยมาอยู่ในกลางพุทธกาล พระพุทธศาสนาของเรานั้นท่านกล่าวว่าจะตั้งอยู่ได้ ๕,๐๐๐ ปี ในขณะนี้พุทธศาสนาของเราก็ล่วงเลยมาได้ ๒,๕๕๖ ปี ก็ถือว่าเรายังอยู่ในระหว่างกลางของพระพุทธศาสนา ท่านกล่าวว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นยังได้ผลอยู่ การประพฤติปฏิบัติธรรมของพุทธศาสนิกชนนั้นยังเจริญรุ่งเรืองอยู่

          ผู้ใคร่ในการให้ทาน บุคคลนั้นก็ขวนขวายในการให้ทานเพราะว่าภิกษุก็มีจำนวนมาก

          ผู้ใคร่ในการรักษาศีลบุคคลนั้นก็รักษาศีล เพราะวัดวาอารามต่างๆ ก็เป็นที่ให้เรานั้นเข้าไปบำเพ็ญพรต บำเพ็ญธรรม รักษาศีลอยู่มากมาย

          ผู้ใดใคร่เจริญสมถะ เจริญสมาธิ บุคคลนั้นก็ไปสู่สำนักที่ท่านเจริญสมถะสอนสมาธิ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สมาธินั้นเกิดขึ้นแก่จิตใจของญาติโยม แก่คณะครูบาอาจารย์ผู้ใฝ่ในสมถะกรรมฐาน

          ผู้ใดใฝ่ในวิปัสสนาญาณ ต้องการบรรลุมรรคผลนิพพาน พ้นไปจากความทุกข์ ความโศก ความลำบากต่างๆ ก็ไปสู่สำนักของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ก็สามารถที่จะบรรลุเป็นพระโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี หรือบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ อันนี้ก็ถือว่าเป็นยุคเจริญของพระศาสนาเหมือนกัน

          แต่ถ้าเรามองในมุมกลับ พระศาสนาของเราก็เสื่อมเหมือนกัน เรียกว่าทุกวันนี้เป็นยุคโลกาภิวัตน์ เป็นยุคที่วัตถุนิยมนั้นเรืองอำนาจ เราจะไปไหนๆ ก็มีแต่วัตถุเป็นสิ่งที่ยั่วตา ยั่วใจ เป็นสิ่งที่ทำให้เรานั้นเพลิดเพลินไปตามอำนาจของวัตถุ จะเป็นรถก็มีแต่คันสวยๆ จะเป็นบ้านก็มีแต่บ้านที่งามๆ โอ่โถงใหญ่สะดวกสบาย พร้อมแอร์ พร้อมทุกสิ่งทุกอย่าง ทำให้คนที่ได้สัมผัสกับสิ่งเหล่านั้นแล้วเคลิบเคลิ้ม หลงใหล มัวเมา ยากที่จะยกจิตยกใจออกจากวัตถุอันเป็นที่นิยมของคนทั้งหลายทั้งปวงได้

          เพราะฉะนั้นในยุคปัจจุบันนี้ จึงเป็นยุคที่วัตถุครอบงำจิตใจของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้ตกอยู่ในอำนาจของวัตถุ สรรพสัตว์ทั้งหลายจะดิ้นรนด้วยการยกจิตใจออกจากวัตถุเหล่านั้นถือว่าเป็นการยาก เพราะอะไร เพราะว่าธรรมะที่จะมายกจิตยกใจของสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นเป็นธรรมะที่เบาเกินไป เป็นธรรมะที่ตื้นเกินไป เป็นธรรมะที่ไม่ละเอียดอ่อนเกินไป ไม่สัมปยุตไปด้วยสมถะ ไม่สัมปยุตไปด้วยวิปัสสนาญาณ ไม่สัมปยุตด้วยมรรค ด้วยผลแล้ว โอกาสที่จะยกจิตยกใจสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ออกจากวัตถุนั้นก็ยาก

          เพราะฉะนั้นเมื่อเรากล่าวถึงความเสื่อมของศาสนาก็คือ คนทั้งหลายทั้งปวงนั้นหมกมุ่น มัวเมา อยู่ในอารมณ์ของวัตถุนิยมเป็นส่วนมาก เพราะฉะนั้นคณะครูบาอาจารย์ ญาติโยมทั้งหลายที่ได้มาประพฤติวัตรปฏิบัติธรรม คณะครูบาอาจารย์มีพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระครูภาวนากิจจาทร พระอาจารย์พระครูสุวรรณธัมมาภรณ์ ซึ่งเป็นประธานสงฆ์ในที่นี้ก็ได้พากันจัดประพฤติปฏิบัติธรรม ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่นำประโยชน์ นำความสุขมาแก่วัดของเรา มาแก่หมู่บ้านของเรา ตำบลของเรา อำเภอของเรา จังหวัดของเรา นำความเจริญมาแก่ญาติ แก่โยม แก่พระ แก่เณร เป็นความตั้งมั่นของพระสัทธรรม เป็นความตั้งมั่นของพระศาสนา เป็นการยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ชุมชน ทั้งที่เป็นประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า หรือประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน ก็เกิดขึ้นมาจากการประพฤติปฏิบัติธรรม

          เพราะการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเป็นแก่นของพระศาสนา การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเป็นฝั่งที่สรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นกำลังแหวกว่ายสายธารอยู่ในห้วงมหรรณพภพสงสารนั้น กำลังปรารถนาความสุข ความสุขใดที่สรรพสัตว์ทั้งหลายปรารถนา ความสุขที่แท้จริงนั้นก็คือพระนิพพาน ความสุขที่เป็นของมนุษย์ก็เป็นความสุขที่เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา ความสุขที่เป็นของเทวดาของทิพย์ ก็เป็นความสุขที่เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา ความสุขที่เป็นของพรหมก็เป็นความสุขที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

          สรุปแล้วว่าความสุขในกามโลกทั้งหลายทั้งปวง ทั้งอรูปโลก และรูปโลก ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ตกอยู่ใน อนิจจัง คือความไม่เที่ยง ทุกขัง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่มีตัวไม่มีตนที่แน่นอน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็เสื่อมสลายไป เพราะฉะนั้นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นจึงตกอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์

          ญาติโยมทั้งหลายทั้งปวงพยายามที่จะไขว่คว้าพ้นไปจากความทุกข์ทั้งปวง แต่ว่าการไขว่คว้านั้น เป็นการไขว่คว้าคล้ายๆ กับว่าบรรเทา เราหิวข้าวก็หาอาหารมาทานก็บรรเทาความหิวไป เราทุกข์เราร้อนเราก็เอาแอร์มาเปิด เอาพัดลมมาเปิดมันก็บรรเทาความร้อนไป พรุ่งนี้ก็ร้อนอีก พรุ่งนี้ก็เปิดแอร์อีก มะรืนนี้ก็ร้อนอีกมะรืนนี้เราก็เปิดแอร์อีก วันต่อๆ ไปก็ร้อนอีกเราก็จะร้อนอยู่ในลักษณะอย่างนี้ แล้วก็บรรเทาอยู่ในลักษณะอย่างนี้ อันนี้เรียกว่าความเป็นอยู่ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ตกอยู่ในอารมณ์ในลักษณะอย่างนี้

          เรากระทบความโกรธ เราก็เสียใจ บางครั้งก็เกิดความโกรธ กำหมัด กัดฟัน ตีรัน ฟันแทง ชกต่อยกัน แต่เมื่อเราได้รับอารมณ์ที่ชอบใจ เราก็หัวเราะ ยิ้ม ร่าเริง เบิกบาน คล้ายๆ กับว่าความทุกข์ ความโศกนั้นมันหายไป นี้เรียกว่าความเป็นจริงของสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นตกอยู่ในอารมณ์ในลักษณะอย่างนี้ เรียกว่าตกอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์

          เพราะฉะนั้นการจัดให้มีการประพฤติปฏิบัติธรรม จึงถือว่าเป็นการที่จะผลักดันญาติโยมทั้งหลายนั้นให้พ้นไปจากความทุกข์ ยกจิต ยกใจ ของญาติโยม ของคณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายทั้งปวงนั้นให้พ้นไปจากเปลือก โคลนตม ทั้งหลายทั้งปวงให้ขึ้นสู่ฝั่ง คือ พระนิพพาน

          เปลือกโคลนตม ก็คือ กามารมณ์ ทั้งที่เป็นของเทวดาและของมนุษย์ทั้งหลายทั้งปวง เปลือกตมคือความยินดีใน รูปฌาน และอรูปฌานต่างๆ อันนี้ก็ถือว่าเป็นเปลือกตม แต่ถ้าเราสามารถยกจิตยกใจของเราให้ขึ้นสู่อำนาจของวิปัสสนาญาณ เจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น ก็ถือว่าเรานั้นขึ้นสู่ทางมรรคมีองค์ ๘ เรียกว่าทางสายกลาง ถ้าเราเพียรด้วยการเดินจงกรม นั่งภาวนา ไม่ย่อท้อ ไม่ท้อถอยในการประพฤติปฏิบัติธรรม เราก็คงถึงซึ่งพระนิพพานไม่ช้าก็เร็วตามบุญวาสนาบารมีของเรา

          เพราะฉะนั้นญาติโยมที่มาประพฤติปฏิบัติธรรม บางคนบางท่านก็บำเพ็ญบารมีมามาก มาเดินจงกรม มานั่งสมาธิไม่มากก็อาจจะเกิดสมาธิ สมาบัติ อาจจะเกิดวิปัสสนาญาณ อาจจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน

          คณะครูบาอาจารย์หรือญาติโยมบางท่านบำเพ็ญบารมีมาไม่มาก หรือปานกลาง ก็ต้องประพฤติปฏิบัติธรรมใช้ความเพียร ใช้ความอดทน ใช้ความบากบั่นปานกลางจึงจะจิตใจสงบ จึงจะเกิดวิปัสสนาญาณ จึงจะรู้เท่ารู้ทันรูปนาม จึงจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน

          แต่ถ้าคณะครูบาอาจารย์บางรูป ญาติโยมบางท่านบางคนบำเพ็ญบารมีมาน้อย มาประพฤติปฏิบัติร่วมกันกับคณะครูบาอาจารย์ ญาติโยมแล้ว เห็นคนอื่นเขาได้สมาธิ เห็นคนอื่นเขาได้เกิดอารมณ์ เกิดรูป เกิดเสียง เกิดโอภาส เกิดแสงสว่าง เกิดปีติ เกิดนิมิตต่างๆ ปรากฏขึ้นมาก็มองดูแล้วว่า คนอื่นนั้นทำไมเขาทำได้ แต่เรานั้นทำไมจึงทำไม่ได้

          เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น เป็นของเฉพาะตน เป็นปัจจัตตัง เราจะเอาคนอื่นมาเปรียบเทียบกับตนเอง ด้วยการเปรียบเทียบผลของการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นไม่ได้ เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเป็นของของตน เป็นบุญ เป็นบารมี เป็นความดี เป็นศรัทธา เป็นความเพียร เป็นสติ เป็นสมาธิ เป็นปัญญาของแต่ละท่านแต่ละคน

          เพราะฉะนั้นก็ขอให้ญาติโยมนั้นตั้งใจในการประพฤติปฏิบัติธรรม ตราบใดที่พวกเราทั้งหลายยังมีความโกรธ ยังมีความโลภ ยังมีความหลง ยังมีมานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อยู่ในจิตในใจแล้วจะกล่าวว่าความทุกข์ไม่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้นเป็นอันไม่มี

          ที่ใดมีความโกรธ ทุกข์ก็อยู่ตรงนั้น ที่ใดมีความโลภ ความทุกข์ก็อยู่ตรงนั้น ที่ใดมีความหลง ความทุกข์ก็อยู่ตรงนั้น ที่ใดมีมานะ มีทิฏฐิ มีตัณหา มีอุปาทาน ที่นั้นก็มีความทุกข์ เพราะว่าความทุกข์นั้นเป็นเงาของกิเลส คือ ความโกรธ ความโลภ ความหลง มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา อยู่ที่ใดเงาคือ ความทุกข์ก็ปรากฏอยู่ในที่นั้น เราจะเดินไปที่ไหนก็ตาม เงานั้นก็ติดตามตัวเราไป ทุกฝีก้าว เราจะนั่งเงามันก็นั่งด้วย เราจะเดินเงามันก็เดินด้วย เราจะยืนเงามันก็จะยืนด้วย เราจะพูดจาปราศรัยต่างๆ เงามันก็เจรจาปราศรัยไปด้วย หลอก ล้อ เลียน กิริยาอาการของเราเหมือนทุกสิ่งทุกประการ ทุกข์ก็เหมือนกัน ครอบงำติดตามบุคคลนั้นอยู่ตลอดเวลา

          เพราะฉะนั้นก็ขอให้พวกเราทั้งหลายได้พยายามกระตือรือร้นในการประพฤติปฏิบัติ การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นบางรูปบางท่าน ญาติโยมบางคนอาจจะเกิดความสงสัยว่า การประพฤติปฏิบัติธรรมที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระครูภาวนากิจจาทร ซึ่งเป็นผู้อำนวยการ พระครูสุวรรณธัมมาภรณ์ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานการประพฤติปฏิบัติธรรม พาสอนเดินจงกรม “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” หรือบริกรรมว่า “พองหนอ” “ยุบหนอ” มันเป็นหนทางตรงหรือเปล่าหนอ มันเป็นมัชฌิมาปฏิปทา มันเป็นทางสายกลาง มรรคมีองค์ ๘ เราประพฤติปฏิบัติธรรมตามเส้นทางนี้ เราจะได้สมาธิ สมาบัติหรือเปล่าหนอ เราจะยังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นหรือเปล่าหนอ นามรูปปริจเฉทญาณ ปัจจยปริคคหญาณ สัมมสนญาณ อุทยัพพยญาณ ภังคญาณเป็นต้น จะบังเกิดขึ้นแก่จิตแก่ใจของเราหรือเปล่าหนอ การบรรลุมรรคผลนิพพานเป็นพระโสดาบัน ความเป็นพระสกทาคามี ความเป็นพระอนาคามี หรือว่าความเป็นพระอรหันต์นั้น จะปรากฏขึ้นแก่เราหรือเปล่าหนอ คณะครูบาอาจารย์บางรูป ญาติโยมบางท่านบางคน ก็อาจจะเกิดความเคลือบแคลงสงสัย

          ถ้าเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในลักษณะอย่างนี้ เราก็กำหนดไปที่ต้นจิตของเรา คือ หทัยวัตถุ คือ หัวใจของเรา กำหนดลงไปตรงนั้นกำหนดว่า “คิดหนอๆ” หรือว่า “สงสัยหนอๆ” ก็จะบรรเทาความสงสัยลงได้ เพราะอะไร เพราะการกำหนดความสงสัยให้สิ้นไปนั้น ต้องกำหนดด้วยสติทันปัจจุบันธรรม ถ้าเรามีสติทันปัจจุบันธรรม ความสงสัยนั้นก็เป็นอันตั้งอยู่ไม่ได้ ต้องอันตรธานและสิ้นไปจากจิตจากใจของเรา อันนี้ญาติโยมบางท่าน คณะครูบาอาจารย์บางรูป อาจจะเกิดความสงสัยในลักษณะอย่างนี้

          แต่ว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นมันมีหลายรูปแบบ คำสอนที่คณะครูบาอาจารย์แต่ละรูปแต่ละท่านนำมาแนะนำพร่ำสอนก็มีอาการต่างกันไป แต่เป้าหมายก็เหมือนกัน คือได้สมาธิ สมาบัติ วิปัสสนาญาณ หรือการบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นเป็นเป้าหมาย แต่โวหาร การพูด สำนวน หรือว่าการสื่อความหมายนั้นอาจจะแตกต่าง หรือว่าทำให้ผู้ฟังนั้นเข้าจิตเข้าใจง่ายหรือยากนั้นต่างกัน

          แต่กระผมก็จะขอนำเอาธรรมะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ ในพระไตรปิฎกว่า ประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างไรหนอ จึงจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ก็จะนำมาอธิบายให้คณะครูบาอาจารย์ได้เอาไปเทียบเคียง เอาไปเปรียบเทียบ หรือเอาไปศึกษา หรือเอาไปพิจารณา เผื่อจะเป็นประโยชน์ในการประพฤติปฏิบัติ เผื่อจะเป็นประโยชน์ซึ่งการแทงตลอดซึ่งการบรรลุมรรคผลนิพพาน

          ที่กระผมจะนำธรรมะมากล่าว ท่านกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกตอนหนึ่ง จำความได้ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุ มีธรรมอย่างหนึ่งคือ อานาปานสติสมาธิ ดูก่อนภิกษุ อานาปานสติสมาธิอันภิกษุใดเจริญให้มากแล้ว อันภิกษุใดทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้สมบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ อันภิกษุใด เจริญให้มากแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้สมบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ อันภิกษุใดเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชา และวิมุตนั้นให้สมบูรณ์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันเป็นฝ่ายแห่งวิชชานั้นมีอยู่ ๒ ประการ คือ สมถะ และวิปัสสนา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมถะอันภิกษุใดเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมอบรมจิต จิตที่ถูกสมถะอบรมแล้ว ย่อมละราคะได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิปัสสนาอันภิกษุใดอบรมแล้ว วิปัสสนาก็จะอบรมปัญญา เมื่อปัญญา อันวิปัสสนาอบรมแล้ว ย่อมละอวิชชาได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะสำรอกราคะจึงชื่อว่า เจโตวิมุติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะละอวิชชาได้ จึงชื่อว่า ปัญญาวิมุติ” นี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ในพระไตรปิฎก เท่าที่กระผมจำมาได้ ก็นำมาให้คณะครูบาอาจารย์ได้สดับรับฟัง

          ในสิ่งที่พระองค์ทรงตรัสว่า “ธรรมคือ อานาปานสติสมาธิ อันภิกษุทำให้มากแล้ว อันภิกษุทำให้เจริญแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ นั้นให้สมบูรณ์” อานาปานสติสมาธิคืออะไร คณะครูบาอาจารย์บางรูปที่เคยศึกษาเล่าเรียนนักธรรมเอก หรือว่าเปรียญธรรมต่างๆ เคยอ่านพระไตรปิฎก ก็อาจจะเข้าใจต่างๆ กัน อานาปานสติสมาธิก็คือ การกำหนดลมหายใจเข้าออก จนเกิดสมาธิ จิตใจตั้งมั่นขึ้นมา

          แต่ว่าการกำหนดลมหายใจเข้าออกนั้นท่านแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน

          ส่วนที่ ๑ ก็คือ กำหนดที่ต้นลม เรียกว่าปลายจมูก

          ส่วนที่ ๒ ก็คือกำหนดที่กลางลม คือ หทัย คือตรงที่หัวใจของเรา

          ส่วนที่ ๓ คือ สุดลม ก็คืออาการพอง อาการยุบ สุดลมก็คือสุดท้องของเราก็อยู่ที่เหนือสะดือ ประมาณ ๒ นิ้ว

          เวลาเราหายใจเข้าท้องมันพองขึ้นมา อันนี้เรียกว่า วาโยโผฏฐัพพรูป รูปที่อาศัยการกระทบของลมเกิดขึ้นมา เวลาเราหายใจออกท้องมันยุบลงไปอันนี้เรียกว่า ลมมันออกไป เราหายใจออกท้องมันแวบลงไป ท้องเรายุบลงไปอันนี้ก็เกิดขึ้นมาเพราะลมออก แต่ว่าท้องมันพองขึ้นมาก็เพราะลมมันกระทบขึ้น ลมมันเข้าไปท้องมันก็พองขึ้นมา เรียกว่าเรากำหนดที่สุดพอง ต้นลมเรากำหนดที่สุดลม

          เพราะฉะนั้นการที่เรากำหนดอาการพอง อาการยุบ ก็เหมือนกับเรากำหนด อานาปานสติ ทำไมจึงกล่าวว่าการกำหนดอาการพอง อาการยุบ เป็นการกำหนดอานาปานสติสมาธิด้วย ก็เพราะว่าบุคคลผู้มีบารมีในทางสมถกรรมฐาน เมื่อกำหนดอาการพอง อาการยุบ “พองหนอ” “ยุบหนอ” ธรรมดาจิตใจของบุคคลนั้นก็เกิดปีติ เกิดปัสสัทธิ แล้วก็เกิดเป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เกิดขึ้นมาได้ ทั้งๆ ที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” พยายามที่จะเห็นต้นพอง กลางพอง สุดพอง พยายามที่จะเห็นต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ

          แต่ในขณะนั้นบารมีแห่งสมถกรรมฐานของเราปรากฏรุ่งเรือง ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นมองไม่เห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของรูปนาม มองเห็นแต่อาการมันพองขึ้น ยุบลง ทำให้จิตใจของเราแน่แน่ว วิถีจิตของเราก็ดิ่งลงไปสู่อำนาจสมาธิ จิตของเราจะทิ้งอารมณ์ทางตา จิตของเราจะทิ้งอารมณ์ทางหู จิตของเราจะทิ้งอารมณ์ทางกาย จิตใจของเราจะทิ้งอารมณ์ทางวาจา ทางใจของเรา มันจะละเอียดเข้าๆ

          กายของเราเคยสัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง อย่างสัมผัสได้รู้ รับรู้เท่าทัน กายของเราก็จะเริ่มตัด ความเย็น ร้อน อ่อน แข็งออก คือ รู้สักแต่ว่ารู้ บางครั้งอาการสัมผัสนั้นก็จะน้อยลงไป เบาลงไป เหมือนลมไม่กระทบ เหมือนความร้อน ความเย็นไม่ปรากฏแก่ร่างกายของเรา หูของเราเคยได้ยินเสียงชัดเจน หูของเรามันก็จะตัดเสียงออกไป ความรู้สึกมันก็จะละเอียดลงไปๆๆ ในลักษณะอย่างนี้เป็นลักษณะของสมาธิมันดิ่งตัวลงไป      

          หรือว่าในขณะที่เรากำหนดลมหายใจเข้าออก ลมหายใจมันหยาบแต่ก่อนนั้นมันก็ค่อยละเอียดลงไปๆ จนลมหายใจนั้นมันเบา มันนิ่ง มันละเอียดอ่อน เหมือนลมมันไม่ไหลเข้า ไม่ไหลออก เหมือนเราไม่มีลมหายใจเข้าออก อันนี้ก็เป็นความละเอียดแห่งสมาธิที่มันปรากฏขึ้นมา

          เพราะฉะนั้นเมื่อบุคคลใดมีบารมีแห่งสมถะ คือ สมาธิแล้ว เมื่อเราภาวนา “พองหนอ” “ยุบหนอ” กำหนดปลายลมนี้แหละ กำหนดสุดลมนี้แหละ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิได้ เรียกว่าอานาปานสมาธิ

          เพราะฉะนั้นญาติโยม คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่มาร่วมกันประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าพวกเราทั้งหลายตั้งใจกำหนด ตั้งใจมีสติตามคณะครูบาอาจารย์แนะนำพร่ำสอน ท่านบอกเดินให้ครบ ๓๐ นาที เราก็เดินให้ครบ ๓๐ นาที ท่านบอกให้เราเดิน ๑ ชั่วโมง เราก็เดิน ๑ ชั่วโมง

          ในขณะที่เดินนั้นเราต้องสำรวมจิต ระวังใจของเราให้แน่วแน่ อยู่กับอาการยก อาการย่าง อาการเหยียบ อาการถูกต้องสัมผัสต่างๆ ไม่จำเป็นไม่เหลียวซ้าย ไม่แลขวา ไม่จำเป็นไม่ก้ม ไม่เงย ไม่พูดจาปราศรัยให้มีสติจดจ่ออยู่กับอาการเดิน ให้มันเห็นรูปนามเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปชัดเจน เว้นไว้แต่เผลอ ให้เราตั้งสติอย่างนี้ ผลของการประพฤติปฏิบัติมันก็จะเกิดขึ้นมาเองตามบุญวาสนาบารมี

          เวลาเรานั่งภาวนาก็เหมือนกัน เราพยายามตัดความกังวล ความเคลือบแคลง ความสงสัย ความฟุ้งซ่าน ความรำคาญ ความปรุงแต่งในอดีต ในอนาคตทั้งหลายทั้งปวงให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจของเรา ทำใจของเราให้เป็นกลาง ทำใจของเราให้นิ่ง ทำใจของเราให้ว่าง ทำใจของเราให้โปร่งใส ทำใจของเราให้สบายๆ เราก็กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” ไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยอุปนิสัยดั้งเดิมที่เราสั่งสมมานั้นแหละก็จะให้ผล

          ถ้าอุปนิสัยแห่งสมถกรรมฐานมีมาก วิถีจิตมันก็จะน้อมไปในลักษณะของฌาน แต่ถ้าอุปนิสัยของเราไปในทางวิปัสสนาญาณ มันก็จะพิจารณาเห็นรูป เห็นนาม ว่าอันนี้เป็นรูป อันนี้เป็นนาม อันนี้เป็นปัจจัยของรูป ของนาม อันนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็พิจารณาไปตามวิถีจิต บุญบารมีขอแต่ละท่าน แต่ละคน

          เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น เราแข่งกันไม่ได้ แข่งกันได้เฉพาะความเพียร แข่งกันได้แต่การประพฤติปฏิบัติ แต่เราจะแข่งผลของการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นแข่งไม่ได้ เหมือนกับเราไปหาปลา เหมือนกับเราไปค้าไปขาย บางคนก็ได้มากบางคนก็ได้น้อย เรามาประพฤติปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน

          เพราะฉะนั้นก็ขอให้ญาติโยมทั้งหลายนั้นจงพยายามทำสมาธินั้นให้เกิดขึ้นมา ถ้าผู้ใดมาประพฤติปฏิบัติธรรมเจริญอานาปานสติสมาธิสมบูรณ์แล้ว การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นแสนสบาย ความเจ็บ ความปวด ความเหนื่อย ความล้า ความเอือมระอา ความท้อถอยต่างๆ จะไม่เกิดขึ้นในจิตใจของผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม แต่ถ้าผู้ใดมีสมาธิน้อย ความเจ็บก็ดี ความปวดก็ดี ความเหนื่อยก็ดี ความเมื่อย ความล้า ความเอือมระอา ความท้อ ความถอยต่างๆ ก็จะปรากฏขึ้นแก่บุคคลนั้น

          แต่ถ้าผู้ใดมีสมาธิแล้ว สิ่งเหล่านี้ทั้งหลายทั้งปวงนั้นไม่ปรากฏขึ้นมา จิตใจจะชุ่มฉ่ำอยู่กับปีติ จิตใจจะชุ่มฉ่ำอยู่กับอารมณ์ของสมาธิ จิตใจจะชุ่มฉ่ำ ไม่มีความโกรธ ไม่มีความโลภ ไม่มีความอิจฉา ไม่มีความริษยา เพราะอะไร เพราะในขณะนั้นจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ จิตที่เป็นสมาธิ ไม่ว่าจิตของเด็ก ไม่ว่าจิตของผู้หญิง ผู้ชาย พระ เณร เถร ชี ถ้าเป็นสมาธิแล้วจิตของบุคคลนั้นจะไม่มีความโกรธ ไม่มีความโลภ ไม่มีความหลง ไม่มีความอิจฉา ริษยา จะอยู่ด้วยกัน จะกระทบกระทั่งอย่างไร จิตใจก็อยู่ในอารมณ์ของสมาธิท่านเรียกว่าจิตที่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ ปราศจากนิวรณ์ธรรม คือกามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ วิจิกิจฉาต่างๆ อันนี้ถ้าจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้วก็เป็นอย่างนั้น

          เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นก็แสนสะดวก แสนสบาย อกุศลธรรม คือบาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงก็ไม่เกิดขึ้นแก่จิตใจของผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม อยู่ด้วยกันแสนสบาย อยู่ด้วยกันแสนสะดวก อยู่ด้วยกันก็เกิดความรัก เกิดความเข้าใจกัน

          บางท่านบางคนเห็นเราไม่พูดไม่จาไม่ปราศรัยก็คิดว่า มีมานะ มีทิฏฐิ มีตัณหา อะไรต่างๆ แต่ถ้าจิตใจของบุคคลนั้นเคยเข้าสมาธิ เคยดื่มด่ำด้วยสมาธิ เคยรับรู้รสของสมาธิแล้วก็จะเข้าใจว่า การทำจิตให้เป็นสมาธินั้น เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นคล่องแคล่วว่องไว เราเคยนอน ๔ ทุ่ม ถ้าไม่นอน ๔ ทุ่มแล้วก็โงกง่วง นั่งสัปหงกไปมา ตาก็สลึมสลือ สติก็เลื่อนลอย กำหนดไม่ทันปัจจุบันธรรม แต่ถ้าพอถึง ๔ ทุ่ม เราเข้าสมาธิแพบไป พอรู้สึกตัวขึ้นมาตาใสสว่างเหมือนเรานอนมาแล้ว ๓ เดือน ๔ เดือน เหมือนเรานอนมาแล้วเป็น ๑ ปี การเดินจงกรมนั่งภาวนาก็ทำความเพียรให้ต่อไปอีก โดยที่ไม่เหน็ดเหนื่อย เมื่อย ล้า อันนี้เป็นพลังของสมาธิ

          เพราะฉะนั้นสมาธินั้นเป็นสิ่งที่พวกเราทั้งหลายถ้ายังไม่เกิดนั้น ต้องทำให้เกิด เมื่อเกิดแล้วต้องรักษา พยายามทำให้มาก พยายามทำให้มีในการประพฤติปฏิบัติธรรมในขันธสันดานของเรา เพราะการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นขาดไม่ได้ก็คือ สมาธิ

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า อานาปานสมาธิ ผู้ใดทำให้บริบูรณ์แล้ว ทำให้มากแล้ว เป็นเหตุให้สติปัฏฐาน ๔ สมบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ คืออะไร สติปัฏฐาน ๔ ก็คือ กรรมฐานที่คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายทั้งปวงกำลังประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่นี้แหละ เดินจงกรม นั่งภาวนา “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” “ก้าวหนอ” “คู้หนอ” “ยืนหนอ” “นั่งหนอ” “เหยียดหนอ” อะไรทำนองนี้ก็ถือว่าเป็นการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ท่านกล่าวว่ามีอยู่ ๔ ประการ คือ กายานุปัสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน แล้วก็ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน อาศัยสติตามพิจารณาเห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม

          คณะครูบาอาจารย์จะก้าวก็รู้ว่าตนเองก้าว จะยืนก็รู้ว่าตนเองยืน จะเดินก็รู้ว่าตนเองเดิน จะนั่งก็ต้องรู้ว่าตนเองนั่ง เรียกว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ให้พิจารณาดูตั้งแต่พื้นเท้าถึงปลายผม จากปลายผมถึงพื้นเท้า ให้พิจารณาดูอาการของรูปที่มันเกิดขึ้น ของนามที่มันเกิดขึ้นแล้วก็ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป

          อย่างเช่นกายของเราก้าวไป กายนั้นเป็นรูป ใจรู้อาการก้าวไปนั้นเป็นนาม รูปนามมันเกิดขึ้นอย่างไร รูปนามมันตั้งอยู่อย่างไร รูปนามมันดับไปอย่างไร อันนี้เรียกว่าเราเจริญสติปัฏฐาน ๔

          ถ้าผู้ใดมีอานาปานสติสมบูรณ์แล้วสติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้นก็จะสมบูรณ์ได้ง่าย ถ้าผู้ใดกำหนดกายให้ชัดเจน กายนั้นถือว่าเป็นกรรมฐานที่หยาบ ผู้ใดที่ภาวนาไม่ค่อยได้ผล ท่านให้เรานั้นใช้กรรมฐานที่หยาบ

          อย่างเช่นผู้ใดที่เป็นเจ้าราคะ เวลามาประพฤติปฏิบัติธรรมกำลังเดินจงกรมนั่งภาวนาก็เกิดราคะครอบงำ เกิดจิตคิดไปปรุงแต่งถึงรูปที่สวยๆ ถึงกลิ่นที่หอมๆ ถึงอารมณ์ที่น่ารักน่าปรารถนาต่างๆ สิ่งเหล่านี้ก็คือราคะ ความกำหนัด ความย้อมใจ ทำให้จิตใจของเราเคลิบเคลิ้ม หลงใหล มัวเมา หมกมุ่น อยู่กับสิ่งเหล่านั้นก็จัดเป็นราคะ

          ผู้ใดเป็นประเภทที่เป็นเจ้าราคะในลักษณะอย่างนี้แล้วบุคคลนั้นก็เจริญกรรมฐานที่เป็นหยาบๆ ก็คือเพ่งกายของเรา ให้รู้ว่ากายของเรานั้นประกอบไปด้วยอาการ ๓๒ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ม้าม ตับ หัวใจ ลำไส้น้อย ลำไส้ใหญ่ อาหารใหม่ อาหารเก่า น้ำเสลด น้ำดี น้ำเหลือง น้ำหนอง ไล่ไปจนถึงน้ำในกะโหลกสมองศีรษะของเรา อันนี้เรียกว่าเราพิจารณาอาการที่มันหยาบๆ บรรเทาจิตที่ดื้อ จิตที่คด จิตที่โกง จิตที่กำหนัดของเรานั้นให้หายพยศ

          จิตมีราคะเรียกว่าจิตพยศ จิตผู้ใดเกิดราคะครอบงำ จิตของบุคคลนั้นชื่อว่าจิตพยศ เราจะห้ามไม่ให้จิตพยศนั้น เราจะเอาน้ำมาห้าม เอาไฟมาห้าม เอาอะไรมาห้ามไม่ได้ เราก็ต้องเอาสติของเรานี้แหละเป็นเครื่องห้าม เอากรรมฐานของเรานี้แหละเป็นเครื่องห้าม

          กรรมฐานที่จะห้ามราคะได้ดี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัส ให้เราพิจารณาดูความปฏิกูลของร่างกาย ให้พิจารณาว่าร่างกายของเราประกอบไปด้วยอาการ ๓๒ อาการ ๓๒ นั้นก็มีความเปลี่ยนแปลงอย่างเช่นผม วัยหนุ่มก็เป็นอีกแบบหนึ่ง วัยแก่ผมก็เปลี่ยนจากดำกลายเป็นขาว เป็นลักษณะของความเปลี่ยนแปลงของผม

          ตา ตาเด็กเป็นอีกแบบหนึ่ง ตาวัยรุ่นเป็นอีกแบบหนึ่ง ตาคนเฒ่าคนแก่ก็ฝ้าฟางเป็นอีกแบบหนึ่ง ฟันก็เหมือนกัน ฟันของเด็กก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ฟันของคนหนุ่มก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ฟันของคนแก่ก็โยกก็คลอนก็ปวด บางครั้งก็ร่วง หล่น อันนี้ลักษณะของความไม่เที่ยง ของสังขาร รูป นาม

          เมื่อเราพิจารณาดูในลักษณะอย่างนี้ เราก็จะบรรเทาราคะได้ เราก็จะเกิดจิตใจสำนึกว่า เราจะมามัวเมากับรูปที่มีอันต้องแก่เป็นธรรมดาไปทำไม เราจะมามัวเมาอยู่กับรูปที่จะต้องมีการเจ็บการแก่แล้วก็การตายทำไม เราจะมามัวเมาหลงใหลอยู่กับรูปที่มีการเปลี่ยนแปลง มีความแก่ มีความเจ็บ มีความตายเป็นที่สุดทำไม เกิดปัญญาขึ้นมา บางครั้งก็บรรเทาราคะนั้นได้

          แต่บางรูปบางท่านเป็นประเภท โทสะ เกิดความหงุดหงิด เกิดความรำคาญ เพื่อนพูดนิดพูหน่อยก็เกิดความไม่พอใจ กระทบกระทั่ง เสียดสี ทิ่มแทงกันด้วยวาจา อาศัยวาจาเป็นหอกเป็นดาบทิ่มแทงบุคคลอื่น ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่า คนเจ้าโทสะ คนประเภทนี้เราต้องเจริญกรรมฐานอย่างไร จึงจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คนที่เป็นโทสะนั้นเบาลง เราต้องใช้กรรมฐานข้อใด

          ขอให้เรานั้นพิจารณาว่า การที่เรานั้นเกิดโทสะขึ้นมา โทสะนั้นมีโทษมาก โทษเสมอด้วยโทสะนั้นไม่มี ดังที่พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า นตฺถิ โทสสโม กลิ โทษเสมอด้วยโทสะนั้นไม่มี เมื่อโทสะครอบงำแล้ว บางครั้งบางคราวอาจจะเถียงครูบาอาจารย์ก็ได้ อาจจะลบหลู่คุณครูบาอาจารย์ก็ได้ บางครั้งอาจจะตบตีพ่อแม่ ประหารผู้มีพระคุณ ผู้เป็นมารดาของตนเองทำให้สิ้นชีพไปวายชนม์ตายไปก็มี

          เหมือนกับกล่องข้าวน้อยฆ่าแม่ เกิดโทสะขึ้นมาก็ฆ่าแม่ทั้งๆ ที่แม่นั้นเป็นผู้บังเกิดเกล้า เป็นคนที่คลอดเราออกมาเบ่งเราออกมาอุ้มท้องอยู่ตั้ง ๙ เดือน ทนทุกข์ทรมานเพราะลูก แต่ลูกนั้นอกตัญญู เพราะอะไร เพราะโทสะ โทสะนั้นเป็นอกตัญญูธรรม บังคับจิตใจของบุคคลนั้นให้ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ เป็นคนเนรคุณเพราะโทสะ เพราะฉะนั้นเมื่อเราพิจารณาโทษในลักษณะอย่างนี้แล้วก็จะทำให้จิตใจของเรานั้นเย็น

          หรือว่าเราพิจารณาว่า โทสะนั้นเป็นอสรพิษ ถ้าจิตใจของเราหยาบมากเกินไป สมาธิไม่เกิด วิปัสสนาญาณไม่เกิด บรรลุมรรคผลนิพพานไม่เกิด เราก็ไม่มีโอกาสที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานเพราะ โทสะนั้นเป็นสิ่งขัดขวาง

          หรือเราตายด้วยอำนาจของโทสะ เราก็ต้องไปเกิดในนรก เพราะว่าโทสะนั้นมีธาตุร้อน มีชาติดุร้าย นรกนั้นก็มีสภาวะที่ร้อน มีสภาวะที่ดุร้าย นายนิรยบาลทั้งหลายทั้งปวง ย่อมประหัตประหาน ย่อมทรมานสัตว์นรกทั้งหลายทั้งปวงนั้นให้สาสมกับความโกรธกับบาปกรรมที่เขาได้สร้างสมอบรมไว้ตั้งแต่ในมนุษย์ เพราะฉะนั้นถ้าเราพิจารณาธรรมทั้งหลายทั้งปวงในลักษณะอย่างนี้แล้ว ก็อาจจะทำให้ใจของเราทั้งหลายนั้นมันเย็นลงไป

          หรือว่าเราพิจารณาดูว่า เราเป็นพระ เราเป็นเณร เราเป็นปะขาว แม่ชี ญาติโยมทั้งหลายทั้งปวงมากราบมาไหว้ นำอาหารมาถวายเราเช้าก็มา ถวายเพลก็มาถวาย เย็นก็มาถวายน้ำปานะ ถวายไม่ถวายเปล่าๆ ทั้งกราบทั้งไหว้ ทั้งถวายจตุปัจจัยไทยธรรมต่างๆ มีอายุปูนแม่ มีอายุปูนพ่อ มีผมขาว มีคนนับหน้าถือตา เป็นถึงตำรวจ เป็นถึงนายอำเภอ เป็นถึงผู้ว่า เป็นถึงนายกรัฐมนตรี เป็นถึงเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ก็ยังมากราบเราอยู่ เรานี้ประเสริฐเพราะอะไรหนอ เราประเสริฐเพราะอะไร นี้ให้เราพิจารณา เราประเสริฐเพราะมีศีล เราประเสริฐเพราะมีธรรม เราประเสริฐเพราะประพฤติปฏิบัติธรรม แต่ถ้าเราโกรธมันจะสมกับบุคคลทั้งหลายทั้งปวงมากราบมาไหว้เราหรือเปล่า ถ้าเราพิจารณาในลักษณะอย่างนี้ก็จะเกิดปัญญาขึ้นมา เราก็จะเว้นจากความโกรธทั้งหลายทั้งปวงนั้นได้

          หรือว่าบุคคลใดที่เป็นประเภทโมหะ ชอบหลง ชอบลืม ชอบมัวเมาในรูป เสียง กลิ่น รส ในสัมผัสมากเกินไป ในลักษณะอย่างนี้ก็พยายามเจริญสติให้มาก สตินั้นเป็นตัวละโมหะ ถ้าเรามีสติทันปัจจุบันธรรมบ่อยๆ ความหลงความลืมมันไม่เกิดขึ้นมาในจิตใจของเรา โมหะมันจะค่อยสิ้นไปสูญไป ในที่สุดจิตใจของเรามันสะอาด เหนี่ยวรั้งเอามรรคเอาผลเอาพระนิพพานแล้ว โมหะทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็จะเบาบางแล้วก็อันตรธานไปจากจิตจากใจของเรา

          ถ้าเราเจริญสมาธิให้มากแล้ว การเจริญสติปัฏฐาน ๔ ก็จะสมบูรณ์ จะเป็นเวทนานุปัสสนาก็ดี จิตตานุปัสสนาก็ดี ธัมมานุปัสสนาก็ดี ก็จะสมบูรณ์ ขอให้เรานั้นมีสติพิจารณาดูว่าอารมณ์ใดที่ปรากฏชัด เราก็กำหนดอารมณ์นั้นแหละ

          อย่างเช่นเวทนามันปรากฏชัด เราก็ปล่อยอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง แล้วก็มากำหนดตรงที่เวทนา จะเป็นเวทนาที่เป็นสุข หรือ เวทนาที่เป็นทุกข์ หรือเวทนาที่เป็นอุเบกขาก็ดี ที่มันเป็นกลางๆ ก็ดี แต่มันปรากฏชัดเราต้องปล่อยอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงมากำหนดเวทนาที่เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรืออุเบกขากลางๆ

          ทำไมเราจึงต้องทำอย่างนั้น เพราะอารมณ์ใดปรากฏชัด อารมณ์ชื่อว่าเป็นยอดของอารมณ์ เป็นยอดของสภาวะ ทำไมจึงชื่อว่าเป็นยอดของอารมณ์ เป็นยอดของสภาวะ เพราะสิ่งเหล่านั้นจะทำให้เกิดอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดพระไตรลักษณ์ขึ้นมา พระไตรลักษณ์เกิดขึ้นมาเพราะอารมณ์ที่ชัดเจน อารมณ์ใดที่ไม่ชัดเจน เราไปกำหนดแล้ว พระไตรลักษณ์อันเป็นอาการสัมปยุตด้วยวิปัสสนาญาณนั้นจะไม่ปรากฏขึ้นมา ถ้าอารมณ์ใดชัดเจน เราไปกำหนดอารมณ์นั้นแหละ พระไตรลักษณ์ก็จะปรากฏขึ้นมา พระไตรลักษณ์ที่สัมปยุตไปด้วยวิปัสสนาญาณมันเกิดขึ้นมาแล้ว ก็จะหน่วงเหนี่ยวเอาอนุโลมญาณ โคตรภูญาณ และมรรคญาณให้ปรากฏขึ้นมาในจิตในใจของผู้ประพฤติปฏิบัติ ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมก็จะได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน สกิทา อนาคา หรือเป็นพระอรหันต์ตามความมุ่งมาตรปรารถนาของตน

          หรือว่าจิตก็เหมือนกัน ถ้าจิตของเรามันปรากฏชัด จะเป็นจิตที่มีความโกรธก็ดี จะเป็นจิตที่มีความโลภก็ดี จะเป็นจิตที่มีราคะก็ดี ความหลงก็ดี บางรูปบางท่าน ญาติโยมบางคนมากราบอาจารย์ มากราบกระผม ว่า “อาจารย์ โยมลางานมาตั้ง ๙ วัน มาประพฤติปฏิบัติธรรมไม่มีอะไรเลย มีแต่ราคะ มีแต่ความโกรธ มีแต่ความโลภเต็มหัวใจอยู่ เสียทีลางานมา ๙ วันไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย”

          ก็ได้กล่าวธรรมะให้ญาติโยมสดับรับฟังว่า “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า อาศัยความโกรธละความโกรธ อาศัยความโลภละความโลภ อาศัยราคะละราคะ อาศัยมานะละมานะ อาศัยทิฏฐิละทิฏฐิ”

          เราอาศัยความโกรธละความโกรธอย่างไร เวลาความโกรธเกิดขึ้นมาเราก็กำหนดลงไปที่จิตใจของเรา “โกรธหนอๆ” เห็นความโกรธเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อาการที่เห็นความโกรธเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปที่จิตของเรานี้แหละ เป็นธรรมะ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อนิจจังทุกขังอนัตตาที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะนี้แหละ เป็นธรรมะที่จะนำเราให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เมื่อเราบรรลุมรรคผลนิพพานแล้วก็ทิ้งความโกรธไปเอง พอมรรคมันเกิดความโกรธมันก็ดับไปเองของมัน นี้เป็นลักษณะอาศัยความโกรธละความโกรธ

          อาศัยความโลภละความโลภก็เหมือนกัน ขณะที่เราโลภอยากได้ของคนอื่นเขา ในทางที่ไม่ชอบเราก็กำหนด “โลภหนอๆ” “อยากได้หนอๆ” ถ้าเราเห็นจิตที่มันเกิดความโลภตั้งอยู่ดับไป ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดมรรคเกิดผลเกิดพระนิพพานได้ เรียกว่าอาศัยความโกรธละความโกรธ อาศัยความโลภละความโลภ

          หรือในเรื่องธรรมก็เหมือนกัน ธัมมานุปัสสนานี้แหละ ถ้าเราพิจารณาธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นสังขารธรรมก็ตาม จะเป็นรูปธรรมก็ตาม เวทนาธรรมก็ตาม สัญญาธรรมก็ตาม สังขารธรรมก็ตาม เราพิจารณารูปธรรมหรือนามธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ประกอบไปด้วยความเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นเกิดขึ้นมาได้

          เพราะฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ถ้าผู้ใดทำอานาปานสติสมาธิให้สมบูรณ์แล้ว ก็จะยังสติปัฏฐาน ๔ ให้สมบูรณ์ ผู้ใดยังสติปัฏฐาน ๔ ให้สมบูรณ์แล้วก็ยังโพชฌงค์ ๗ ให้สมบูรณ์ ผู้ใดยังโพชฌงค์ ๗ ให้สมบูรณ์ผู้นั้นก็ยังวิชชาและวิมุติความหลุดพ้นนั้นให้สมบูรณ์

          เพราะฉะนั้นวันนี้กระผมได้กล่าวธรรมก็เป็นเวลา ๑ ชั่วโมงยังไม่จบ ยังเหลืออธิบายสติปัฏฐาน ยังเหลืออธิบายโพชฌงค์ ๗ แล้วก็ยังเหลืออธิบายวิมุติความหลุดพ้น ยังเหลืออธิบายสมถะ แล้วก็วิปัสสนา แล้วก็ยังเหลืออธิบายว่าเพราะสำรอกราคะจึงชื่อว่าเจโตวิมุติ เพราะละอวิชชาได้จึงชื่อว่าปัญญาวิมุติ ก็ขอจบการอธิบายธรรมแต่เพียงเท่านี้

          ในท้ายที่สุดนี้ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายทั้งปวง ทั้งที่เป็นอาจารย์กรรมก็ดี ทั้งที่เป็นลูกกรรมก็ดี ทั้งที่เป็นญาติโยมก็ดี ผู้ใฝ่ในศีลในธรรมในการประพฤติปฏิบัติธรรมทุกท่านทุกคน ก็ขอให้อานุภาพแห่งบุญกุศลทั้งหลายทั้งปวง ที่คณะครูบาอาจารย์ ญาติโยมได้บำเพ็ญมาแล้วขอให้บารมีทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นจงได้มารวมกันเป็นตบะ เป็นเดชะ เป็นพลวปัจจัย ส่งเสริมให้ท่านทั้งหลายเป็นผู้มีสุขภาพพลนามัยเข้มแข็ง ปราศจากโรค ปราศจากภัย ปราศจากเคราะห์เข็ญ ปราศจากเวรภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวง ขอให้ญาติโยม คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายจงเป็นผู้มีกุศลจิตสถิตย์มั่นในพระสัทธรรม สามารถที่จะนำตนของตนให้พ้นไปจากความทุกข์ ถึงสันติสุข กล่าวคือ มรรคผลนิพพานในอนาคตกาลอันไม่ช้าไม่นานนี้ด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.