ความมุ่งหมายของการฟังธรรม
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
วันนี้ หลวงพ่อจะนำเรื่อง ความมุ่งหมายของการฟังธรรม มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป
ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย จำเป็นหรือที่พวกเราทั้งหลายจะต้องฟังธรรมะประกอบการปฏิบัติทุกๆ วัน บางท่านก็เห็นว่าไม่จำเป็น เพราะว่าการฟังธรรมะนั้น อาจจะเป็นอุปาทาน ทำให้ติดในทางปริยัติมากเกินไป ทำให้การปฏิบัตินี้ลดหย่อนผ่อนลงไปเช่นนี้ก็มี
แต่บางท่านก็เห็นว่า ควรที่จะฟังทุกวัน ถ้าวันไหนไม่ได้ฟังธรรม วันนั้นจะรู้สึกว่าหมดกำลังใจ หรือทำให้การปฏิบัตินี้กร่อยลงไป ไม่กระฉับกระเฉง อาจจะคิดอย่างนี้ก็มี
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็มีทั้งดีและไม่ดีรวมกัน คือการฟังทุกวัน ถ้าเราฟังให้เป็นก็เกิดประโยชน์เหมือนกัน ถ้าเราฟังไม่เป็นก็ไม่เกิดประโยชน์ ถ้าไม่มีการฟังการบรรยายธรรมะเลย แต่เราตั้งอกตั้งใจรู้หลักการรู้วิธีการ ได้ศึกษาปริยัติมามากพอสมควร ทำให้การปฏิบัติของเรานี้ได้ผลเหมือนกัน ขอทำความเข้าใจเพียงเท่านี้
สำหรับความมุ่งหมายของการฟังธรรมนั้น มีอยู่หลายสิ่งหลายประการ แต่จะนำมาบรรยายประกอบการปฏิบัติธรรมของท่านทั้งหลายในวันนี้ เพียง ๔ ประการ คือ ๑. ฟังเพื่อเอาความรู้ ๒. ฟังเพื่อเอาบุญ ๓. ฟังเพื่อเป็นอุปนิสัย ๔. ฟังเพื่อนำไปปฏิบัติ มีอธิบายดังนี้
๑. ฟังเพื่อเอาความรู้ คือการฟังนี้ทำให้เกิดความรู้เกิดความฉลาดขึ้นมา ความรู้จะเกิดขึ้นแก่เรานั้นมีอยู่ ๓ ทางคือ
๑) สุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการฟัง เรียกว่า สุตาญาณ คือความรู้ที่เกิดขึ้นทางหู เราได้ยินทางหู เมื่อได้ยินได้ฟังก็เกิดความรู้ขึ้นมา เกิดความจำได้ขึ้นมา ความรู้ขั้นนี้ ยังอยู่ในขั้นสัญญา คือเป็นแต่เพียงจำได้
๒) จินตมยปัญญา ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการคิด คือเราฟังแล้วนำมาคิดอีกทอดหนึ่ง สมมติว่าเราได้ยินท่านเทศน์ว่า รูปนามขันธ์ ๕ นี้เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงต้องดับไป เป็นทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ ต้องดับไป เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ต้องดับไป
เราฟังแล้ว ก็นำมาคิดต่ออีกว่า รูปนามนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จริงหรือ เราคิดไปๆ ก็เกิดความรู้ขึ้นมา ความรู้อย่างนี้เรียกว่า จินตมยปัญญา หรือจินตาญาณ
ความรู้ขั้นนี้ เป็นความรู้ที่กระตุ้นเตือนจิตของเราให้มีอุตสาหะในการที่จะประพฤติปฏิบัติต่อไป เช่น เราได้ฟังธรรมว่า ถ้าหากว่าผู้ใดเป็นผู้มีความโกรธเป็นเรือนใจ หรือว่าเป็นผู้มากไปด้วยความโกรธ อยู่ในโลกนี้ก็ตกนรกแล้ว ถ้าตายจากโลกนี้ไปก็ไปตกนรกอีก เพราะว่า นรก แปลว่าผู้มีความร้อนใจเหมือนไฟเผา ถ้าผู้ใดมีความร้อนใจเหมือนไฟเผา หรือว่ามีความร้อนใจด้วยอำนาจของโทสะ อยู่ในมนุษย์นี้ก็ตกนรกแล้ว ตายแล้วก็ไปตกนรกจริงๆ
ผู้ใดมีความโลภประจำขันธสันดาน เป็นผู้มากไปด้วยโลภะคือความโลภ ไม่รู้จักพอ อยากได้ทรัพย์สมบัติของคนอื่นมาเป็นของตนในทางทุจริต ผู้มีจิตคิดเช่นนี้ อยู่ในโลกนี้ก็เป็นเปรตแล้ว ตายแล้วก็ไปเกิดเป็นเปรต
ถ้าผู้ใดมีความกลัว หมายความว่า มีความโลภแล้วยังไม่พอ ก็เกิดความกลัวขึ้นมา เช่นว่า เราไปโกหกพกลม ต้มตุ๋นเขาไม่สำเร็จ กลัวจะประพฤติทุจริตไม่สำเร็จ กลัวขโมยของเขาไม่สำเร็จ หรือทำอะไรในทางทุจริตมาแล้ว ก็กลัวว่าจะถูกปรับไหมใส่โทษ จองจำพันธนาการติดคุกติดตะราง ผู้ที่มีความกลัวเป็นเรือนใจอย่างนี้ หรือฝังอยู่ในจิตใจเช่นนี้ อยู่ในโลกนี้ก็เป็นอสุรกายแล้ว ตายแล้วก็ไปเกิดเป็นอสุรกาย
ถ้าผู้ใด มีใจมากไปด้วยโมหะ มืดมนอนธการ ไม่รู้จักผิดชอบ ชั่วดี บาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ไม่รู้จักประโยชน์โลกนี้ ไม่รู้จักประโยชน์โลกหน้า ไม่รู้จักประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน ลืมคุณท่านผู้มีพระคุณ ไม่รู้จักคุณพ่อคุณแม่เป็นต้น ผู้มีจิตประกอบไปด้วยโมหะเช่นนี้ อยู่ในโลกนี้ก็เป็นสัตว์เดรัจฉานแล้ว ใจเกิดในภูมิของสัตว์เดรัจฉานแล้ว เมื่อจุติจากอัตภาพนี้แล้วไป ก็ไปบังเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน
ฟังเช่นนี้แล้วก็นำมาคิดอีกทอดหนึ่ง เมื่อมาคิดไปๆ ก็เกิดความรู้ขึ้นมาว่าเป็นจริง ตามที่ท่านเทศน์จริงๆ เกิดความรู้ขึ้นมาเช่นนี้ ฉุกคิดขึ้นมาเช่นนี้ ความรู้ขั้นนี้แหละเป็นแรงกระตุ้นเตือนใจของเรา ให้เรานั้นมีความอุตสาหะในการที่จะประพฤติปฏิบัติ มีความอุตสาหะที่จะละความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดไปจากขันธสันดานของเรา นี้เรียกว่า จินตมยปัญญา
๓) ภาวนามยปัญญา หรือภาวนาญาณ เป็นความรู้ที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อเราเจริญวิปัสสนา มีสติสัมปชัญญะ มีความเพียร พร้อมด้วยองค์คุณทั้ง ๓ อย่างนี้แล้ว ก็จะเกิดความรู้ขึ้นมาถึง ๑๖ ประการคือ
(๑) นามรูปปริเฉทญาณ ปัญญาที่พิจารณาแยกรูปแยกนามออกจากกันได้
(๒) ปัจจยปริคคหญาณ ปัญญาที่พิจารณาเห็นเหตุเห็นปัจจัยของรูปนาม
(๓) สัมมสนญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นรูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยจินตาญาณ
(๔) อุทยัพพยญาณ ปัญญาที่พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและดับไปของรูปนาม
(๕) ภังคญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นเฉพาะความดับไปของรูปนาม
(๖) ภยตูปัฏฐานญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นรูปนามเป็นของน่ากลัว
(๗) อาทีนวญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม
(๘) นิพพิทาญาณ ปัญญาที่พิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนามแล้วเกิดความเบื่อหน่าย
(๙) มุญจิตุกัมยตาญาณ ปัญญาที่พิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม เกิดความเบื่อหน่าย อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นไปจากรูปนาม
(๑๐) ปฏิสังขาญาณ ปัญญาที่พิจารณาหาทางหลุดพ้นไปจากรูปจากนาม จิตใจเข้มแข้ง ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ยอมสู้ตาย มุ่งหวังจะเอามรรคผลพระนิพพานให้ได้
(๑๑) สังขารุเปกขาญาณ ปัญญาที่วางเฉยต่อรูปนาม
(๑๒) สัจจานุโลมิกญาณ ปัญญาที่พิจารณาเห็นอริยสัจทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เตรียมตัวเข้าสู่มรรคผลพระนิพพาน โดยอาการ ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง
(๑๓) โคตรภูญาณ ปัญญาที่ตัดขาดจากโคตรปุถุชนเข้าสู่โคตรของพระอริยเจ้า คือพระโสดาบัน หน่วงเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์
(๑๔) มัคคญาณ ปัญญาที่ตัดกิเลสขาดเป็นสมุจเฉทปหาน
(๑๕) ผลญาณ ปัญญาที่สืบเนื่องมาจากมรรค เสวยผลกำไรที่มรรคปหานกิเลสไว้แล้ว
(๑๖) ปัจจเวกขณญาณ ปัญญาพิจารณามรรค ผล พระนิพพาน กิเลสที่ละแล้ว และยังเหลืออยู่
ปัญญาทั้ง ๑๖ ขั้นนี้ จะเกิดเฉพาะผู้ที่เจริญวิปัสสนาภาวนาเท่านั้น เมื่อใดเราเจริญวิปัสสนาภาวนา ทำให้ถูกต้องตามหลักวิชาการแล้ว ก็จะเกิดปัญญาทั้ง ๑๖ ขั้นนี้ขึ้นมาทันที เมื่อปัญญาทั้ง ๑๖ ขั้นเกิดขึ้นมาครั้งที่หนึ่ง เราก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ดังตัวอย่างพระสารีบุตร
ท่านพระสารีบุตร เมื่อครั้งยังเป็นอุปติสสะมาณพ ไปพบกับพระอัสสชิ เห็นอิริยาบถของพระอัสสชิเรียบร้อยน่าเลื่อมใส ใคร่จะถามถึงครูอาจารย์ที่เป็นผู้สอน แต่ไม่กล้าที่จะถามในขณะที่ท่านกำลังเดินเที่ยวภิกขาจารอยู่
เมื่อท่าน (พระเถระ) กลับ จึงเดินสะกดรอยตามไป หลังจาก (พระเถระ) เสร็จจากฉันบิณฑบาตแล้ว ท่านอุปติสสะหรือพระสารีบุตรนี้ก็เข้าไปถามว่า ท่านขอรับ อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก ท่านบวชจำเพาะใคร ใครเป็นศาสดาเป็นครูสอนของท่าน ศาสดาของท่านสอนอย่างไร
พระอัสสชิเถระก็ตอบว่า ผู้มีอายุ ก็เราบวชเฉพาะพระสมณะโคดม ซึ่งออกบวชจากศากยสกุล ท่านนั้นแลเป็นศาสดาของเรา เราชอบใจธรรมะของท่าน
แล้วท่านอุปติสสะก็ถามว่า ครูของท่านสอนว่าอย่างไร
ท่านผู้มีอายุ เราเพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยใหม่ๆ ไม่สามารถที่จะแสดงพระสัทธรรมเทศนาให้ท่านฟังโดยพิสดารได้ เราจะกล่าวแต่หัวข้อ
ท่านผู้เจริญ ท่านไม่จำเป็นต้องกล่าวให้มากเลย ท่านกล่าวเฉพาะหัวข้อเถิด ข้าพเจ้าต้องการเฉพาะหัวข้อ
ท่านพระอัสสชิก็แสดงธรรมให้อุปติสสะมาณพฟังว่า
เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุํ ตถาคโต
ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้นและความดับไปแห่งธรรมเหล่านั้น (วิ. ๔ /๖๕ /๗๔)
อุปติสสะมาณพก็ได้ดวงตาเห็นธรรมทันที ได้เกิดปัญญาขึ้นมาทันทีว่า ในพระศาสนานี้สอนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อจะเกิดก็เพราะมีเหตุเกิดก่อน เมื่อจะดับก็เพราะเหตุดับก่อน ก็ได้ดวงตาเห็นธรรมว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นก็มีความดับไปเป็นธรรมดา ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน
นี้แลท่านทั้งหลาย ความรู้ที่กล่าวมานี้ จะเกิดขึ้นเฉพาะผู้เจริญวิปัสสนาภาวนาเท่านั้น และก็ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ความรู้ที่เกิดขึ้นแก่เรานั้น เป็นความรู้ชนิดไหนเกิดขึ้นจึงถือว่าได้บรรลุอริยมรรคอริยผล
คือถ้ามีความรู้เกิดขึ้นเพราะการฟัง เป็นสุตาญาณนี้ก็จัดว่ายังไม่เป็นการบรรลุ แต่ถ้าความรู้ประเภทใดเกิดขึ้นแก่เราแล้วสามารถที่จะเปลี่ยนจิตใจของเราได้ คือความรู้ประเภทนี้ เมื่อเกิดขึ้นมา ความโลภ ความโกรธ ความหลงหมดไป จิตใจก็เปลี่ยนไปเป็นคนละคน เหมือนกลับหน้ามือเป็นหลังมือ
เมื่อก่อนนั้นเป็นปุถุชนอยู่ แต่ถ้าความรู้ประเภทนี้เกิดขึ้นมาแล้วความเป็นปุถุชนนั้นหมดไปสูญไป ความเป็นอริยบุคคลนั้นเกิดขึ้นมาทันที
สรุปเอาสั้นๆ ว่า ความรู้ที่เกิดขึ้นแก่เรา ที่ท่านว่าบรรลุๆ นั้น ก็คือเมื่อความรู้ประเภทนี้เกิดขึ้นมาแล้ว ความโลภ ความโกรธ ความหลงหมดไป นิสัยก็เปลี่ยนไปเป็นคนละคน เหมือนกลับหน้ามือเป็นหลังมือ ถ้าความรู้ประเภทนี้เกิดขึ้นมาเมื่อใด ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้จำไว้เถิดว่า เราได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว อันนี้เป็นประเภทที่ ๑
๒. ฟังเพื่อเอาบุญ การฟังธรรมนี้ได้บุญอย่างไร ได้บุญอย่างนี้คือ ในขณะที่เราฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่นี้ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ ของเราบริสุทธิ์ดี เป็นศีลแล้ว ศีลนี้เป็นศีลในองค์มรรค เป็นศีลที่จะทำให้เราได้บรรลุอริยมรรคอริยผล
แต่ศีลที่พากันสมาทานอยู่ทุกวันนี้ ยังไม่ได้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานเลย เรียกว่าเป็นปกติศีล มีบัญญัติเป็นอารมณ์ เช่น เราไม่ฆ่าไก่ ก็มีไก่เป็นอารมณ์ ไม่ฆ่าปลา ก็มีปลาเป็นอารมณ์ ไม่ดื่มสุราเมรัย ก็มีสุราเมรัยเป็นอารมณ์ นั้นยังเป็นปกติศีลอยู่ ยังไม่สามารถที่จะทำให้ได้บรรลุมรรคผล
แต่ศีลที่เกิดขึ้นแก่เราในขณะที่เจริญกัมมัฏฐาน สมมติว่าท่านทั้งหลายนั่งฟังการบรรยายธรรมอยู่ในขณะนี้ ก็กำหนดไปด้วยว่า ได้ยินหนอๆ หรือว่า พุทโธๆ หรือว่า รู้หนอๆ คำใดคำหนึ่ง กำหนดตามไปอย่างนี้ ศีลที่เกิดขึ้นแก่เราในขณะนี้ เป็นปรมัตถศีล มีรูปนามเป็นอารมณ์ เป็นศีลในองค์มรรค เป็นศีลที่จะให้เราได้บรรลุอริยมรรคอริยผล
ในขณะที่เราฟังการบรรยายธรรมอยู่นั้น จิตใจของเราจดจ่อ ไม่เผลอจากธรรมะที่บรรยายนั้น เป็นสมาธิ คือเป็นขณิกสมาธิ สมาธิขั้นนี้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว สามารถที่จะเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่ง ในขณะที่เราฟังธรรมอยู่นั้น ถ้าเกิดความรู้ขึ้นมา หมดความสงสัย มีความเข้าใจ จิตใจของเราเกิดปีติ มีความผ่องใส มีความเห็นถูกนั้นเป็นปัญญา การฟังเทศน์ฟังธรรมได้บุญอย่างไร มีอุทาหรณ์ที่ท่านกล่าวไว้ในมงคลทีปนีว่า
มีแม่ไก่ตัวหนึ่ง ได้ฟังพระท่านสอนธรรมะอยู่ที่โรงธรรมสภาศาลา ในขณะที่พระสอนธรรมนั้น แม่ไก่ตัวนั้นก็เงี่ยหูฟังธรรมไปด้วยความดีใจ เพลิดเพลินไปกับเสียงพระสอนธรรม บังเอิญในขณะนั้นมีเหยี่ยวตัวหนึ่งบินผ่านมาเห็นแม่ไก่ตัวนั้นแล้วก็บินโฉบลงมาฉวยเอาคอไก่ตัวนั้นตายไป และในขณะที่แม่ไก่ตัวนั้นจะตาย เผอิญได้เห็นพระธิดาของพระราชากำลังเสด็จเลียบพระนคร
เมื่อจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ก็ไปบังเกิดเป็นพระธิดาของกษัตริย์ในพระนครนั้น เพราะเหตุไร แม่ไก่แท้ๆ จึงสามารถไปเกิดเป็นคน เป็นธิดาพระมหากษัตริย์ได้ ก็เพราะค่าที่แม่ไก่ตัวนั้นมีความปลื้มปีติใจในการที่พระท่านสอนธรรมะ และมีความดีใจที่ได้ฟังพระท่านสอนธรรมะนั้น ค่าที่มีความดีใจในธรรมะที่ตนฟังอยู่นั้นแหละ เป็นกรรม เป็นกรรมนิมิต เป็นคตินิมิต เกิดเป็นธิดาของพระมหากษัตริย์
เมื่อเกิดเป็นธิดาพระมหากษัตริย์แล้ว เจริญวัยขึ้นมา ออกบวชเจริญสมถกัมมัฏฐาน ได้ฌานโลกีย์ จุติจากอัตภาพนั้นแล้วก็ไปเกิดในพรหมโลก จุติจากพรหมโลกมาเป็นลูกเศรษฐี จุติจากลูกเศรษฐีมาเกิดเป็นลูกสุกรบ้าน
เห็นพระพุทธเจ้าแล้วมีความยินดี ด้วยความยินดีที่เห็นพระพุทธเจ้านั้น จุติจากลูกสุกรบ้านนั้นจึงไปบังเกิดเป็นธิดาของกษัตริย์ จุติจากธิดาของกษัตริย์มาเกิดในบ้านคามวาสี จุติจากบ้านคามวาสีมาเกิดเป็นลูกพ่อค้า จุติจากความเป็นลูกพ่อค้ามาเกิดเป็นลูกนายสำเภา จุติจากความเป็นลูกของนายสำเภามาเกิดที่เมืองอนุราธบุรี เป็นธิดาของกุฎุมพีในเมืองอนุราธบุรีชื่อว่า สุมนา เมื่อนางเจริญวัยขึ้นมาได้เป็นภรรยาของอำมาตย์ในเมืองอนุราธบุรีนั้น
วันหนึ่ง ท่านอุตตระเถระพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ไปบิณฑบาตด้วยกัน เห็นนางจึงกล่าวกะภิกษุรูปหนึ่งว่า ท่านขอรับ ลูกสุกรบ้านมาเกิดที่นี้อีกแล้ว พอนางได้ฟังท่านพระเถระกล่าวว่าตนนั้นเป็นลูกสุกรบ้าน ก็เกิดความสังเวชสลดใจจึงไปลาสามีออกบวช เมื่อสามีอนุญาตแล้วก็ออกบวช ได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ไม่ช้าไม่นานก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาน
นี้แลท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การฟังเทศน์ฟังธรรมนั้นได้บุญได้อานิสงส์ ดังกล่าวมาแล้วนี้
นอกจากนี้ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องกบฟังธรรม มีกบตัวหนึ่ง อาศัยอยู่ที่ริมสระโบกขรณี วันหนึ่ง ในขณะที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่เหล่าพุทธบริษัททั้งหลาย กบตัวนั้นพอได้ยินเสียงแสดงธรรมของพระพุทธองค์ก็เกิดความดีใจเงี่ยหูฟังธรรมไปๆ
ในขณะนั้น มีคนเลี้ยงโคผ่านมาโดยที่ไม่ได้พิจารณา ไม้เท้าที่ถืออยู่ก็ไปถูกกบตัวนั้นตาย เมื่อกบตัวนั้นตายไปแล้วก็ไปบังเกิดในเทวโลก ชื่อว่า มัณฑุกเทพบุตร แปลว่า เทพบุตรกบ เทพบุตรนั้นก็พิจารณาว่า สมบัติอันเป็นทิพย์ทั้งปวงนี้ เราได้เพราะบุญอะไรหนอแล อนุสรณ์ย้อนระลึกถึงหนหลังถึงอดีตกาลที่ผ่านมาก็ทราบได้ว่า ไม่ได้ทำบุญทำทานอะไรไว้เลย เพียงแต่ว่าเมื่อครู่นี้ได้ฟังเทศน์ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดง ด้วยความดีใจ แต่บังเอิญถูกคนเลี้ยงโคฆ่าตาย จึงได้มาเกิดเป็นเทพบุตรในที่นี้ ด้วยบุญเพราะความเลื่อมใสในพระสัทธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแท้ๆ
นึกถึงพระคุณขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ลงมาเฝ้ากราบแทบเบื้องยุคลบาทขององค์สมเด็จพระบรมโลกนาถอยู่ พระองค์ได้ตรัสว่า โก เม วนฺทติ ปาทานิ ใครหนอไหว้เท้าเราอยู่เดี๋ยวนี้
พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์เมื่อครู่นี้ เป็นกบอยู่ริมสระโบกขรณี ได้ฟังสมเด็จพ่อเทศน์ด้วยความดีใจ แต่บังเอิญถูกพวกคนเลี้ยงโคฆ่าตาย จึงได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรนึกถึงพระคุณของสมเด็จพ่อ จึงได้ลงมาเฝ้า เพื่อสมเด็จพ่อจะได้เทศน์โปรด
พระองค์ก็ทรงแสดงพระสัทธรรมเทศนาให้ฟัง เทพบุตรนั้นก็ส่งใจไปตามกระแสพระสัทธรรมเทศนา ที่พระองค์ทรงแสดงนั้น ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน นี้แลท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การฟังเทศน์ฟังธรรมได้ผลได้อานิสงส์ ดังกล่าวมาแล้ว นี้เป็นประการที่ ๒
๓. ฟังเพื่อเป็นอุปนิสัย การฟังเทศน์ฟังธรรมเป็นอุปนิสัยได้อย่างนี้ คือ สมมติว่าท่านทั้งหลาย นับตั้งแต่วันแรกที่เราได้เข้าปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เราได้ฟังธรรมไปหลายเรื่องแล้ว เมื่อฟังแล้วเราก็จำได้ การจำได้นั่นแหละเป็นอุปนิสัยแล้ว
ถ้าวันหน้า เดือนหน้า ปีหน้า เราบังเอิญได้ไปฟังธรรมะเรื่องนั้นๆ อีก เราก็จำได้ทันทีว่า ธรรมะเรื่องนี้มีความหมายอย่างนี้ๆ เหตุนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนที่พระองค์จะทรงแสดงพระธรรมเทศนา พระองค์ต้องตรวจดูอุปนิสัยของผู้ฟังก่อนว่า ผู้นี้บุคคลนี้ เมื่อก่อนโน้นเขาได้ทำบุญทำทานไว้อย่างไร จะแสดงพระสัทธรรมเทศนาเรื่องอะไรจึงจะเกิดประโยชน์โสตถิผลแก่เขา
เมื่อพระองค์ทรงทราบแล้วจึงทรงได้นำเอาธรรมะเรื่องนั้นมาเทศน์มาแสดงให้ฟัง เมื่อฟังแล้วก็ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลทันที เพราะเหตุไรจึงได้บรรลุ ก็เพราะว่าธรรมะเรื่องนั้น ได้เคยฟังมาแล้วแต่ภพก่อนชาติก่อน ได้บำเพ็ญไว้เป็นอุปนิสัยปัจจัยแล้ว
การฟังเทศน์จะเป็นอุปนิสัยปัจจัยอย่างไรนั้น จะยกเรื่องที่ท่านกล่าวไว้ในธรรมบท ขุททกนิกาย มาเป็นอุทาหรณ์ มีเรื่องเล่าไว้ว่า
ในศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้า มีงูเหลือมใหญ่ตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในโพรงไม้ใกล้โรงธรรมสภาศาลา วันหนึ่ง ได้ฟังพระท่านได้สาธยายธรรมะเรื่อง อายตนกถา งูเหลือมใหญ่ตัวนั้น ก็เงี่ยหูฟังด้วยความดีอกดีใจ ค่าที่ฟังธรรมะด้วยความดีอกดีใจนั่นแล จุติจากอัตภาพนั้นแล้วก็ไปบังเกิดในเทวโลก
สํสรนฺโต ท่องเที่ยวไปๆ มาๆ เมื่อถึงศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานี้ จุติลงมาเกิดในเมืองมนุษย์ ในตระกูลพราหมณ์ในเมืองปาฏลีบุตร เมื่อเจริญวัยขึ้นมา ได้ออกบวชเป็นนักบวชนอกศาสนาชื่อโสณาชีวก เจริญสมถกัมมัฏฐานจนได้อภิญญาโลกีย์ พระเจ้าวินทุสารผู้ครองราชสมบัติได้ถวายพระองค์เป็นตระกูลอุปัฏฐาก
วันหนึ่ง พระมเหสีของพระองค์ทรงครรภ์ เกิดอาการแพ้ท้องขึ้นมา คือพระนางอยากเหยียบพระจันทร์ด้วยพระบาทเบื้องหนึ่ง อยากเหยียบพระอาทิตย์ด้วยพระบาทอีกเบื้องหนึ่ง อยากเสวยหมู่ดาวนักขัตฤกษ์ รากดิน ไม้ใหญ่ พอดีพระเจ้าวินทุสารทรงทราบเช่นนั้นก็ทรงดีพระทัย จัดทำพิธีกรรมเพื่อให้พระนางหายแพ้ท้อง คือทรงตรัสสั่งให้คนทั้งหลายทำขนมเบื้องเป็น ๒ แผ่นใหญ่
เมื่อทำเสร็จแล้วก็นำไปถวายพระนางแล้วบอกว่า นี้เป็นพระอาทิตย์ นี้เป็นพระจันทร์ เสร็จแล้วก็ให้คนทั้งหลายทำขนมต้มที่มีสีดังดาว และทำขนมแดกงาซึ่งมีลักษณะเหมือนเหง้าไม้และรากดินที่จะเสวย เมื่อทำเสร็จแล้วก็ให้คนทั้งหลายกวาดหน้าพระลานหลวง แล้วเอาเสื่อลำแพนมาเจาะเป็นรูๆ แล้วเอาขนมยัดใส่ตามช่องนั้นๆ นำถวายพระนางให้ทรงเสวย เมื่อเสวยแล้ว อาการแพ้ท้องนั้นก็หายไป
วันหนึ่ง พระเจ้าวินทุสารมีพระประสงค์อยากทราบว่า เพราะเหตุไร พระมเหสีจึงมีอาการแพ้ท้องอย่างนี้ จึงตรัสถามโสณาชีวก โสณาชีวกก็ถวายพระพรแก่พระราชาว่า พระราชกุมาร ที่อยู่ในพระครรภ์ของพระมเหสีนี้ จะเป็นผู้มีบุญญาวาสนาบารมี เมื่อเจริญวัยขึ้นมาแล้ว จะขึ้นครองราชสมบัติ จะครอบงำพระยาทั้งหลายทั้ง ๑๐๑ พระองค์ จะมีอำนาจแผ่ไปทั้งเบื้องบนและท่ามกลางได้ถึง ๑ โยชน์
เมื่อโสณาชีวกพยากรณ์แล้ว ก็ออกจากเมืองปาฏลีบุตรไปไกลถึง ๑ โยชน์ เพื่อให้พ้นจากอำนาจของพระราชกุมาร เมื่อถ้วนทศมาสแล้ว พระนางก็ประสูติพระราชโอรส ได้ทรงขนานพระนามโอรสว่า อโศกราชกุมาร เมื่อพระกุมารเจริญวัยขึ้นมา ได้ครองราชย์สมบัติแทนพระราชบิดา
อยู่มาวันหนึ่ง พระมารดาได้เล่าเรื่องทั้งหมดนั้นให้พระกุมารฟัง อโศกราชกุมารมีความประสงค์อยากจะทำการบูชาโสณาชีวก จึงสั่งให้คนทั้งหลายเอาคานทองไปเชิญเอาโสณาชีวกมาสู่พระราชวัง เมื่อโสณาชีวกรับแล้วก็ขึ้นสู่คานทอง คนทั้งหลายก็หามมาตามมรรคา แต่บังเอิญหนทางที่มานั้นต้องผ่านวัดแห่งหนึ่งของท่านพระอัสสคุตต์เถระ พระอัสสคุตต์เถระนั้นเป็นพระอรหันต์อภิญญาที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรม
บรรดาสัตว์ป่าทั้งหลายจึงมาอาศัยวัดท่านอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อโสณาชีวกไปถึงวัดของท่านแล้วก็ลงจากคานหามเดินเข้าไปภายในวัด แล้วก็เกิดความฉงนสนเท่ห์ว่า สัตว์เหล่านี้มาอยู่รวมกันที่นี้ได้อย่างไรเป็นจำนวนมากมายถึงขนาดนี้ แล้วต่างตัวต่างก็เป็นมิตรกัน เช่น พวกสุนัขจิ้งจอก ราชสีห์ พวกเสือ อย่างนี้ ตามปกติมันจะเป็นศัตรูกัน แต่ในที่นี้เป็นมิตรกันได้อย่างไร มีความสงสัย แล้วก็เข้าไปถามท่านพระอัสสคุตต์เถระว่า
ท่านขอรับ สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ชื่ออะไร มาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร
แทนที่ท่านพระอัสสคุตต์เถระจะตอบในทันทีก็หาไม่ ท่านได้ใช้ปัญญาของท่านที่ได้บำเพ็ญมาแล้ว ระลึกถึงอดีตกาลที่ผ่านมา ว่าเมื่อก่อนโน้น โสณาชีวกนี้ได้เคยทำบุญทำทานไว้อย่างไร ให้คำตอบอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์แก่ชีวกนี้
เมื่อระลึกไปๆ ท่านก็ทราบด้วยปัญญาญาณของท่านว่า เมื่อครั้งศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ชีวกนี้ได้เป็นงูเหลือมใหญ่อยู่ในโพรงไม้ ได้ฟังพระท่านสาธยายซึ่ง อายตนกถา หากว่าเราพูดเรื่องอายตนะแล้ว โสณาชีวกนี้จะเกิดหิริโอตตัปปะ เกิดความเลื่อมใส และจะบรรลุคุณอันใหญ่หลวง
เมื่อท่านทราบเช่นนี้แล้วก็ตอบโสณาชีวกว่า ดูก่อนโสณาชีวก สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ชื่อ อายตนะ พอโสณาชีวกได้ฟังว่า สัตว์เหล่านี้ชื่อ อายตนะ เท่านั้น ก็เกิดหิริโอตตัปปะ มีความละอายบาป มีความสะดุ้งกลัวต่อบาปขึ้นมาทันที นั่งยองๆ จะกราบพระเถระ ท่านก็โยนผ้าอาบน้ำให้ แล้วก็กราบท่านขอบวชในสำนักของท่าน เมื่อบวชแล้วก็ได้เจริญวิปัสสนา สำเร็จเป็นพระอรหันต์
นี้แล ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การฟังเทศน์ฟังธรรมนั้นเป็นอุปนิสัยปัจจัยดังกล่าวมา เหตุนั้น การประพฤติปฏิบัติธรรมหรือว่าการทำบุญทำทานต่างๆ นั้น พวกเราจึงนิยมการฟังธรรม เช่นทำบุญขึ้นบ้านใหม่ หรือว่าจัดงานมงคลที่ไหนขึ้นมา หากว่างานมงคลนั้นๆ ไม่มีการเทศน์ ไม่มีการบรรยายธรรมะ งานจะกร่อยขึ้นมาทันที จืดชืดไม่มีรสไม่มีชาดขึ้นมา
พวกเราทั้งหลายจึงได้ถือเป็นประเพณี คือเมื่อมีงานมงคลที่ไหน ตลอดถึงงานศพก็ตาม จึงมีการฟังธรรมเพื่อเป็นอุปนิสัย ส่งต่อกันไปตามลำดับๆ จนกว่าจะได้บรรลุอมตธรรม การฟังธรรมเพื่อเป็นอุปนิสัยดังกล่าวมานี้เป็นประการที่ ๓
๔. ฟังเพื่อนำไปปฏิบัติ โดยจำแนกออกเป็น ๒ คือ
๑) ฟังแล้วจำไว้ เมื่อมีโอกาสจะได้นำมาปฏิบัติ
๒) ถ้าเป็นนักปฏิบัติธรรมชั้นสูง เราฟังในขณะนี้แล้วก็ปฏิบัติในขณะนี้ทันที เหมือนดังท่านทั้งหลายที่นั่งฟังการบรรยายธรรมอยู่ในขณะนี้
ท่านทั้งหลายที่นั่งฟังการบรรยายธรรมอยู่ในขณะนี้ ถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมชั้นสูง คือเจริญวิปัสสนาภาวนา เมื่อเป็นเช่นนี้ ในขณะที่เราฟังธรรมอยู่นี้ ก็ปฏิบัติในขณะนี้ได้เลยทันที เพราะเหตุไรจึงว่าอย่างนี้ เพราะว่าการปฏิบัติพระวิปัสสนากรรมฐานนั้น เราเอารูป เอานามเป็นอารมณ์
ในขณะที่ฟังการบรรยายธรรมะอยู่ในขณะนี้ รูปนามเกิดพร้อมหมดแล้ว คือเสียงที่หลวงพ่อบรรยายธรรมะอยู่นี้ก็เป็นรูป หูของท่านทั้งหลายเป็นรูป ใจของท่านทั้งหลายที่รู้ธรรมะนี้ก็เป็นนาม รูปนามเกิดขึ้นพร้อมกันหมดแล้ว เหตุนั้นเมื่อท่านทั้งหลายฟังไปๆ กำหนดไปๆ ว่าได้ยินหนอๆ หรือว่ารู้หนอๆ หรือว่าพุทโธๆ ตามไป ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมไปด้วย เมื่อเราฟังไป หากว่ามัคคจิตผลจิตเกิดขึ้นก็ได้บรรลุ หากว่าอัปปนาสมาธิเกิดขึ้นในลำดับฌานวิถี ก็เป็นสมาบัติไปทันที
การฟังเทศน์ฟังธรรมนั้น เราได้บรรลุอริยมรรคอริยผลอย่างไร เราทั้งหลายได้ศึกษามาแล้ว เช่นว่า เราได้ศึกษามาในเรื่องพุทธประวัติ เราก็จะเห็นว่าพวกปัญจวัคคีย์ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันก็ดี ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ก็ดี ก็เพราะการฟังธรรม
พระยสะพร้อมทั้งบิดามารดา และสหายทั้ง ๕๕ คน ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันหรือพระอรหันต์ ก็เพราะการฟังธรรม พระเจ้าพิมพิสารกับทั้งบริวารจำนวน ๑๑ หมื่น (๑๑ นหุต) ได้บรรลุธรรมาภิสมัย ก็เพราะการฟังธรรมทั้งนั้น
ข้อนี้เพื่อเป็นตัวอย่างอุทาหรณ์ให้เด่นชัดขึ้น จึงจะได้นำเรื่องของ พาหิยทารุจีริยะ มาแสดง
มีเรื่องเล่าไว้ว่า มีตระกูลอยู่ตระกูลหนึ่งมีบุตรชายอยู่คนหนึ่งชื่อว่า พาหิยะ เมื่อเขาเจริญวัยขึ้นมา บิดาก็ได้ตายไป พาหิยะนั้นอยู่กับมารดาเรื่อยมา วันหนึ่งเขาอยากไปกับพวกพ่อค้าสำเภาจึงไปลามารดา แต่มารดาไม่อนุญาต ถึงมารดาไม่อนุญาตเขาก็หาฟังไม่ ได้ไปกับพวกพ่อค้าสำเภาทั้งหลาย
เมื่อเรือสำเภาแล่นไปกลางทะเลเป็นเวลา ๗ วัน เรือก็ได้อับปางจมลงในมหาสมุทร บรรดาคนทั้งหลายที่อยู่ในเรือนั้นก็ต่างว่ายน้ำเอาตัวรอด บางคนก็เป็นอาหารของพวกปลาพวกเต่าไป บ้างก็จมน้ำตาย แต่บังเอิญพาหิยะนี้ได้กระดานแผ่นหนึ่ง อาศัยแหวกว่ายไปในมหาสมุทรนั้น เครื่องนุ่งห่มก็หลุดลุ่ยไปหมด
เขาได้ล่องลอยตามกระแสน้ำได้ ๗ วันก็ถึงฝั่ง ขึ้นไปบนบ้านแห่งหนึ่ง และบ้านที่เขาขึ้นไปนั้นเป็นบ้านที่นับถือผู้ที่ไม่นุ่งไม่ห่มว่าเป็นพระอรหันต์ พอพาหิยะเข้าไปเท่านั้น ประชาชนทั้งหลายก็พากันมากราบไหว้ว่า พระคุณเจ้าของเรามาแล้ว พระอรหันต์ของพวกเรามาแล้ว ต่างก็พากันมากราบไหว้สักการะบูชา นำจตุปัจจัยไทยธรรมมาถวาย
พาหิยะก็คิดว่า การไม่นุ่งไม่ห่มนี้ เขาถือว่าเป็นพระอรหันต์ อย่ากระนั้นเลย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราจะไม่นุ่งไม่ห่มละ ก็เที่ยวเตร่ไปๆ มาๆ แสดงตนเป็นอรหันต์
ร้อนถึงพระพรหมบนพรหมโลก ซึ่งเมื่อก่อนได้เคยปฏิบัติธรรมร่วมกัน ได้เป็นพระอนาคามีแล้วไปบังเกิดอยู่ในพรหมโลก ลงมาบอกว่า ดูก่อนพาหิยะทารุจีริยะ เพศที่เธอถืออยู่นี้ ไม่ใช่เพศของพระอรหันต์ เป็นอเจลกะเปลือย เป็นนักบวชนอกพระพุทธศาสนา โน้นพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เกิดขึ้นแล้วในโลก อยู่ที่เมืองสาวัตถี
พอพาหิยะได้ฟังดังนั้นก็เกิดความละอายขึ้นมาในจิตใจ เกิดความสลดสังเวชในจิตใจ จึงได้ออกวิ่งทันที วิ่งตลอดทั้งคืน พอดีรุ่งเช้าก็ไปถึงกรุงสาวัตถี ซึ่งเป็นเวลาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกเที่ยวภิกขาจาร
พาหิยะนั้น กำลังเหนื่อยกระหืดกระหอบอยู่นั้นเอง ก็เข้าไปกราบแทบพระยุคลบาทของพระพุทธองค์แล้วกราบทูลว่า ขอพระองค์จงได้ทรงแสดงพระสัทธรรมเทศนาให้ข้าพระองค์ได้ฟังด้วยเถิด
พระองค์ตรัสว่า ดูก่อนพาหิยะ ขณะนี้เราตถาคตกำลังเที่ยวบิณฑบาต เมื่อตถาคตกลับจากบิณฑบาตเสียก่อนแล้วจึงค่อยฟัง
พระพุทธเจ้าข้า ถ้าอย่างนั้น ข้าพระองค์อาจจะตายก่อน หรือมิฉะนั้น พระองค์อาจจะปรินิพพานเสียก่อนก็ได้
พระองค์จึงตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น เธอจงตั้งใจฟังให้ดี แล้วพระองค์จึงทรงแสดงพระธรรมเทศนาว่า “ดูก่อนพาหิยะทารุจีริยะ เห็นก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน” พาหิยะก็ได้กำหนดตามไปว่า เห็นหนอๆ ได้ยินหนอๆ สองคำเท่านั้นแหละ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายพาหิยะก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ พระองค์ทรงยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายทาง ขิปปาภิญญา คือ ตรัสรู้เร็ว
นี้แลท่านทั้งหลาย การฟังเทศน์ฟังธรรมนั้นได้บรรลุอริยมรรคอริยผลอย่างนี้ เมื่อพาหิยะได้ฟังธรรมได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วก็ไปแสวงหาผ้าเพื่อจะมาขอบวช ขณะนั้น นางยักษิณีซึ่งเป็นเจ้ากรรมนายเวร ได้ก่อกรรมทำเข็ญไว้แก่กันในปางก่อน ได้ผูกพยาบาทอาฆาตจองเวรกันไว้ ได้แปลงร่างเป็นแม่โคมาคอยอยู่ก่อนแล้ว พอพาหิยะเดินผ่านมา ก็กระโดดเข้าขวิดทันที พาหิยะก็ปรินิพพานในที่นั้น
และในวันนั้นเอง พวกภิกษุก็ได้สนทนากันในโรงธรรมสภาศาลาว่า ท่านทั้งหลาย พาหิยะได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้ว ได้เที่ยวแสวงหาผ้าเพื่อจะมาบวช แต่ได้ถูกแม่โคขวิดตาย เมื่อตายแล้วเขาจะไปเกิดในที่ไหน
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบแล้ว จึงได้เสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายได้สนทนากันด้วยเรื่องอะไร
พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์สนทนากันด้วยเรื่องของพาหิยะว่า เขาตายแล้วจะไปเกิดในที่ไหน
พระองค์ได้ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุตรของเราปรินิพพานแล้ว อันนี้เป็นเรื่องในอดีต
ต่อไปนี้ เราวกเข้ามาในเรื่องปัจจุบันกัน คือในปัจจุบันนี้ ผู้ที่ได้สมาธิ สมาบัติ มรรคผล พระนิพพานในขณะฟังนี้ ก็มีเป็นจำนวนมากเหมือนกัน จะขอยกเอาบุคคลแรกที่หลวงพ่อได้ประสบการณ์มา
คือมีโยมคนหนึ่งมาถามหลวงพ่อว่า ท่านอาจารย์ เมื่อก่อนนั้นการฟังเทศน์ฟังธรรมนั้นท่านฟังกันอย่างไรจึงได้บรรลุอริยมรรคอริยผล หลวงพ่อก็ได้เล่าให้ฟังเหมือนกับที่บรรยายให้ท่านฟังนี้แหละ พอดีโยมคนนั้นกลับไปบ้าน
วันนั้น เป็นเดือนสิบเพ็งบุญสลากภัต พระท่านเทศน์เรื่องปฐมสมโพธิกถา โยมคนนั้นก็สมาทานอุโบสถศีล รับประทานอาหารเช้าเสร็จแล้วก็นั่งฟังธรรม กำหนดไปๆ ไม่ช้าไม่นานก็ได้สมาธิ นั่งสงบจิตใจขาดความรู้สึกอยู่นั้น พอดีออกจากสมาธิมา พระสงฆ์สามเณรตลอดถึงผู้รักษาอุโบสถศีลด้วยกันก็ฉันภัตตาหาร รับประทานอาหาร ให้พรเสร็จแล้ว เป็นเวลาตั้ง ๓ ชั่วโมงเศษๆ ถ้าเราฟังเป็นก็ได้อย่างนี้
และก็มีโยมคนหนึ่งชื่อว่า โยมแดง วันนั้นไปฟังเทศน์ตอน ๔ โมงเย็น ตามปกติในพรรษาได้ตีระฆังสัญญาณเพื่อฟังธรรมตอนค่ำ โยมแดงนั้นก็มาฟังธรรม ประนมมือฟังธรรมไปๆ เกิดปีติ มีอาการสั่นๆ ขึ้นมา พระผู้เทศน์ก็บอกว่าเอามือลงๆ เอามือขวาทับมือซ้าย ตั้งตัวให้ตรงดำรงสติให้มั่น ตั้งสติไว้ที่หู กำหนดว่า พุทโธๆ ตามไป โยมคนนั้นก็กำหนดตามไปๆ ไม่ช้าไม่นานจิตก็สงบเป็นสมาธิ นั่งสมาธิขาดความรู้สึกอยู่นั้นเป็นเวลา ๓ ชั่วโมง ออกจากสมาธิแล้ว พระสงฆ์สามเณรต้องไปส่งที่บ้าน
นี้แลท่านทั้งหลาย การฟังเทศน์ฟังธรรมนั้น ถ้าว่าเราฟังเป็นก็สามารถที่จะได้สมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพานในขณะนั้น อันนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ในสำนักนี้ก็เหมือนกัน ทุกปีๆ ที่มีการจัดปริวาสปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ผู้ที่ได้สมาธิ หรือบรรลุอริยมรรคอริยผลในขณะที่ฟังเทศน์ฟังธรรมนี้มีเป็นจำนวนมาก แต่มีพิเศษอยู่ปีหนึ่ง คือปี พ.ศ. ๒๕๒๔
วันนั้น ก่อนจะบรรยายธรรมก็เตือนสติให้กำหนดในเวลาฟังเทศน์ และธรรมะที่บรรยายก็กัณฑ์เดียวกันนี้ พอดีบรรยายธรรมจบ พระสงฆ์ทั้งหลายที่ไม่ได้สมาธิ ที่คลายจากสมาธิ ก็พากันกราบพระแล้วลุกไป ทางคณะปะขาวแม่ชีก็เหมือนกัน ผู้ที่นั่งอยู่ก็มีเป็นจำนวนมาก ผู้ที่ลุกไปแล้วก็มี แต่ทางบรรดาลูกเณรทั้งหลาย เห็นนั่งกันเต็มเพียบ ไม่กระดุกกระดิก ไม่ไหวติง
ก็นึกในใจว่า เอ วันนี้เป็นอะไรหนอ บรรดาลูกเณรทั้งหลายจึงน่ารักเหลือเกิน ทุกวัน เวลาฟังเทศน์นั้นต้องคุยกัน กระดุกกระดิก คนนั้นผลักคนนี้ คนนี้หยิกคนนั้น แต่วันนี้ไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อหลวงพ่อบรรยายเสร็จกราบพระแล้วก็เดินไปสำรวจลูกเณร ที่ไหนได้ท่านทั้งหลาย บรรดาลูกเณรจำนวน ๓๕ รูปนั้น เข้าสมาธิไปหมดแล้ว จนครูบาอาจารย์พระเจ้าพระสงฆ์ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า โอ้โฮ มันเป็นไปได้ถึงขนาดนี้เชียวหรือ
แต่ถึงอย่างไรก็ดี มันก็เป็นไปแล้ว แม้จะไปสอนกัมมัฏฐานที่ไหนก็ดี ทุกปีๆ ที่สอนกัมมัฏฐานนั้นจะมีผู้ได้สมาธิเวลาฟังนี้เป็นจำนวนมาก เช่น ปีที่กลับมาจากบ้านนาตาลใต้ มีเวลาว่างอยู่ ๑๐ กว่าวันก็มาจัดที่วัด
บรรดาลูกสาวน้อยทั้งหลายที่พากันมาปฏิบัติธรรมมาฟังการบรรยายธรรมตอนค่ำ ก็พากันนั่งข้างหน้าหลวงพ่อ หลวงพ่อบอกว่า ให้ตั้งอกตั้งใจนั่งสมาธิฟังให้ดี วันนั้นเป็นวันแรก บรรยายธรรมประมาณ ๔๕ นาที ท่านทั้งหลายเพียง ๔๕ นาทีเท่านั้น บรรดาลูกสาวน้อยทั้งหลายอายุ ๙ ปีก็มี ๑๐ ปี ๑๑ ปี ๑๒ ปี ๑๓ ปีก็มี ได้สมาธิไปตั้ง ๑๒ คน ไม่ถึงชั่วโมงเลย ๔๕ นาทีเท่านั้น ได้สมาธิถึง ๑๒ คน
นี้แลท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การฟังเทศน์ฟังธรรมนั้น ได้บุญได้อานิสงส์ เป็นอุปนิสัยปัจจัย สามารถที่จะได้สมาธิ ได้สมาบัติ หรือบรรลุมรรค ผล พระนิพพาน ในขณะที่เราฟังอยู่นี้ถ้าเราฟังเป็น
แต่มีข้อแม้อยู่ว่า สมาธิที่เกิดขึ้นนั้น เราจะจัดเป็นการบรรลุหรือไม่ได้บรรลุ เราแยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ
ถ้าอัปปนาสมาธิเกิดในลำดับของฌานชวนะวิถี สมาธินั้นก็เป็นฌาน เป็นสมาบัติไป ยังเป็นโลกิยสมาบัติอยู่
แต่หากว่าอัปปนาสมาธิที่เกิดขึ้นแก่เราในขณะนั่งฟังนั้นเกิดขั้นในลำดับมัคควิถี อัปปนาสมาธิที่ได้นั้นก็เป็นอริยมรรคอริยผล
เมื่ออัปปนาสมาธิเกิดในลำดับของมัคควิถีครั้งที่ ๑ ก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว
เราฟังธรรมต่อไปๆ อีก อัปปนาสมาธิเกิดขึ้นมาในลำดับของมัคควิถีครั้งที่ ๒ ก็ได้เป็นพระสกทาคามีแล้ว
เราฟังไปๆ ฟังต่อไปอีก อัปปนาสมาธิเกิดขึ้นในลำดับของมัคควิถีอีกครั้งที่ ๓ ก็ได้บรรลุเป็นพระอนาคามีแล้ว
เราก็ฟังไปๆ อีก อัปปนาสมาธิเกิดขึ้นในลำดับของมัคควิถีอีกครั้งที่ ๔ ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว
การบรรลุเป็นพระอรหันต์ อาจใช้เวลาไม่ถึง ๕ นาที หรือเพียง ๕ นาที ๑๐ นาที ๒๐ นาที ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปฏิปทาและชวนวิถี จึงเป็นอันว่าการฟังเทศน์ฟังธรรมนั้นได้บุญได้อานิสงส์ ดังที่ได้บรรยายมาฉะนี้ เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้บรรยายธรรมะเรื่อง ความมุ่งหมายของการฟังธรรม มา ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.