องค์คุณของผู้ปฏิบัติธรรม

องค์คุณของผู้ปฏิบัติธรรม

โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

———————

          ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย  การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย

          ที่ว่ายากเพราะเราไม่รู้วิธีปฏิบัติ แล้วก็ปฏิบัติไม่ถูกต้อง ก็ถือว่าการปฏิบัตินั้นดำเนินไปได้ยาก หรือบางทีดำเนินไปไม่ได้เสียเลย

          บางทีในขณะที่ปฏิบัติอยู่นั้น บางอย่างมันไม่พร้อม หรือบางครั้งเกิดความเห็นแก่ตัวมากเกินไป ทุกสิ่งทุกอย่าง ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เดินจงกรม นั่งสมาธิ ความเห็นแก่ตัวมันมากเกินไป คือโลภะมันมากเกินไป ถ้าอย่างนี้ก็ดำเนินไปได้ช้า

          หรือบางที เวลาประพฤติปฏิบัติ โทสะมันมากเกินไป ได้ยินเสียงก็หงุดหงิด ได้ยินคนนั้นพูดก็หงุดหงิด ได้เห็นผู้นั้นทำอย่างนี้ๆ ก็หงุดหงิด มันหงุดหงิดอยู่ตลอด มันเกิดความหงุดหงิด ไม่พอใจอยู่ในอารมณ์ตลอดเวลา การปฏิบัติก็ทำได้ยาก

          หรือบางทีขาดสติ คือสติมันไม่พอ สติไม่สมบูรณ์ เวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัส อะไรนานาประการ เราไม่มีสติกำหนด ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ อย่างนี้ก็ถือว่าทำได้ยาก การประพฤติปฏิบัตินี่ก็ทำได้ยาก เช่นว่า เวลาเราเดินไปตามวัดนี่ เราเดินไป ที่โน้นที่นี้ ห้องน้ำ ห้องสุขา อะไร เราไม่ได้กำหนดไปเลย

          ขวาซ้ายๆ หรือว่า พุทโธๆ ไป เราไม่ได้กำหนดเลยเดินไปตามธรรมชาติ ปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างไปตามธรรมชาติ อย่างนี้ก็เรียกว่า ทำไม่ถูก บางทีเราจะพูด จะคุย เราจะพูดกับคนโน้น เราจะคุยกับบุคคลนี้ เราจะพูดกับพระรูปนั้นพระรูปนี้ เราไม่มีสติ หรือไม่กำหนดเสียก่อนว่า เราจะพูด เราจะพูดอะไร เราจะพูดเรื่องอะไร การพูดอย่างนี้ดีมั้ย เราไม่ได้คิดอยากพูด ก็พูดเลย อันนี้เรียกว่าขาดสติ

          เวลาเราเดินมาฉันเช้าฉันเพลก็เหมือนกัน มาตามถนน เราไม่รู้ว่ากำหนดหรือไม่กำหนดว่า ขวาซ้ายๆ มา บางทีเราไม่ได้กำหนด บางทีเดินกันไป พูดกันไป คุยกันไป เฮกันไป  เรื่องที่พูดที่คุย  บางทีก็มีสาระ  บางทีก็ไม่มีสาระ อย่างนี้ก็เรียกว่า การปฏิบัติของเราไม่ถูก

          บางทีทั้งเดินทั้งพูด ก็ถือว่าทำไม่ถูก ขาดสติ เวลาเราเหยียดเท้า เหยียดแขน คู้แขน เหยียดขา คู้ขา เราจะหลับจะนอน อะไรทำนองนี้ เราไม่ได้กำหนด ปล่อยสติให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ ถ้าทำอย่างนี้ก็ถือว่า การปฏิบัติของเรายังไม่ถูกต้องสมควร ถือว่าทำให้การปฏิบัติของเรานั้นยาก โอกาสที่จะรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งสภาวธรรม คือสังขารเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันดำเนินไปได้ช้า ท่านทั้งหลายอย่าคิดว่าไม่สำคัญนะ

          การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ เราต้องการสติมากที่สุด ถ้าผู้ใดมีสติมาก แล้วก็มีความเพียรสมบูรณ์ ผู้นั้นสามารถปฏิบัติผ่านไปได้เร็ว บางทีปฏิบัติเช้านี้ก็ได้เช้านี้ บางทีปฏิบัติพรุ่งนี้ ก็ได้พรุ่งนี้

          ส่วนมากเท่าที่หลวงพ่อสังเกต ผู้ที่เคยศึกษาเล่าเรียนเคยปฏิบัติมาก่อน เวลามาประพฤติปฏิบัติ ๔-๕ วันผ่านไปแล้ว การปฏิบัติผ่านไปแล้วรอบหนึ่งก็มี ๗ วันผ่านไปสองรอบก็มี เหตุนั้น ก็พึงสังวรระวังไว้ให้มากๆ เราทั้งหลายคิดเสมอว่า เรามีปากก็ถือว่าคล้ายกับคนใบ้ พูดไม่เป็น มีปากก็ทำคล้ายกับคนใบ้ มีร่างกายแข็งแรงก็ทำเหมือนกับคนเปลี้ยคนง่อย เราอยู่กับสติ มีสติอยู่ตลอดเวลา

          ถ้าการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่ในลักษณะอย่างนี้ รูปนาม ขันธ์ ๕ ปรากฏขึ้นชัด วิปัสสนาญาณก็จะแก่กล้าเร็ว เราก็จะสามารถที่จะผ่านการประพฤติปฏิบัติไปได้เร็ว ที่ว่ามันง่ายก็เหมือนดังกล่าวมา

          ผู้ปฏิบัติง่ายก็หมายความว่า ผู้นั้นเคยสร้างสมอบรมบารมีมาแล้ว สติก็สมบูรณ์ ความเพียรก็แก่กล้า สมาธิก็ดี ศรัทธาก็สมบูรณ์ มีศรัทธาคือความเชื่อความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยเต็มเปี่ยม มีความเชื่อความเลื่อมใสในเรื่องโลกนี้โลกหน้า ตลอดถึงความเชื่อเรื่องมรรคผลนิพพาน เชื่อเรื่องกรรม เรื่องพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เรามีความเชื่ออย่างสมบูรณ์

          เมื่อมีความเชื่อโดยสมบูรณ์ ก็เป็นเหตุให้เกิดปีติ เมื่อเกิดปีติแล้ว ก็หมายความว่าเราได้อาหารใจแล้ว เมื่อได้อาหารใจแล้ว เราก็สามารถเดินทางได้ เท่าที่หลวงพ่อสังเกต บางรูปปฏิบัติวันนี้ ผ่านไปวันนี้ก็มี บางรูปก็ ๒ วัน บางรูปก็ ๓ วัน บางรูปก็ ๕ วัน บางรูปก็ ๗ วัน ก็ผ่านการปฏิบัติไปได้

          นี้เห็นว่าการประพฤติปฏิบัติง่าย ก็เหมือนอย่างที่หลวงพ่อกล่าวมาแล้วข้างต้นคือ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยบารมี เคยสร้างสมอบรมบารมีมาสมบูรณ์แล้ว การประพฤติปฏิบัติดำเนินไปตามวิถีทางที่ครูบาอาจารย์แนะนำให้ ผู้ใดที่ตั้งอยู่ในองค์คุณสมบัติดังกล่าวมาแล้วนี้ ผู้นั้นก็สามารถที่จะบรรลุสามัญผลตามบุญญาธิการที่ได้สั่งสมอบรมไว้

          ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ที่กล่าวมาแล้วนี้ บางท่านที่เป็นผู้บวชใหม่ก็ดี หรือเคยบวชมานานแล้วก็ดี บางคนถ้าพูดเรื่องมรรคเรื่องผลก็คัดค้าน บางคนก็พูดว่า หลวงพ่อ สมัยนี้ไม่มีพระอริยบุคคลแล้ว มรรค ผล นิพพาน ไม่มีแล้ว พูดอย่างนี้ก็มีนะ ที่มาหาหลวงพ่อ บางทีไปบรรยายธรรมในหน่วยปฏิบัตินั้นบ้าง หน่วยนี้บ้าง

          บางทีญาติโยมก็สนทนากันว่า สมัยนี้พระอริยบุคคลไม่มีแล้ว สมัยนี้มรรคผลพระนิพพานไม่มีแล้ว เพียงแต่เราอยู่ๆไป ทำกันไป อยู่กันไปเท่านั้น เพียงแต่ศึกษาเล่าเรียน แต่ว่ามรรค ผล พระนิพพาน ไม่มีแล้ว บางทีเคยชี้หน้าหลวงพ่อ เวลาขึ้นหอธรรมะ (ธรรมาสน์) ชี้หน้าหลวงพ่อว่า ท่านจะมาเทศน์ทำไม สมัยนี้มรรคผลนิพพานไม่มี

          หลวงพ่อก็ไม่ได้พูดว่ากระไร แต่ถึงเวลาบรรยายธรรมะ ถึงเวลาเทศน์ หลวงพ่อก็พูดไปตามธรรมดาๆ ค่อยๆโปรดเขาไป มันไปด้วยกันนั่นแหละ พอดีหลังจากบรรยายธรรมะแล้ว เทศน์แล้ว บางคนก็คลานเข้ามาขอขมาโทษ บางคนก็ไม่คัดค้านอีก ไม่มีกระแสคัดค้านอีก มันเป็นอย่างนี้ท่านทั้งหลาย

          แต่หลวงพ่อก็พูดไปในแนวเดียวกันว่า ญาติโยมทั้งหลาย หรือว่าท่านทั้งหลาย เรื่องมรรค เรื่องผล เรื่องนิพพานนี้ แม้จะมีหรือไม่มี หลวงพ่อก็จะสอนอยู่อย่างนี้ และก็จะปฏิบัติอยู่อย่างนี้ หากว่าปฏิบัติตลอดชีวิตแล้วไม่ได้อะไร ก็คงไม่ขาดทุน คุณความดีที่เกิดจากการปฏิบัติ ก็ต้องมีไม่มากก็น้อย

          อุปมาเหมือนกันกับเราปลูกพริก จะมีผลหรือไม่มีผล เราก็ปลูก เมื่อเราปลูก เราพรวนดินใส่ปุ๋ยรดน้ำ กำจัดศัตรูพืชอยู่อย่างนี้ๆแล้ว หากว่ามันไม่มีผล ก็จะได้เห็นกันไปว่ามันจะเป็นอย่างไร เราก็จะดูกันไป เราปลูกต้นมะพร้าวก็ดี ต้นมะม่วงก็ดี ส้มเขียวหวานก็ดี เงาะก็ดี ทุเรียนก็ดี มังคุดก็ดี น้อยหน่าก็ดี หลวงพ่อว่า มันจะผลิดอกออกผลก็ตาม หรือจะไม่ผลิดอกออกผลก็ตาม หลวงพ่อก็จะสอนอยู่อย่างนี้ และแนะนำให้คนทั้งหลายปฏิบัติอยู่อย่างนี้

          ถ้าเราทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ หากว่าผลไม้นั้นไม่ออกลูกมาก็ให้มันเห็นไป บางทีครูบาอาจารย์ท่านต่อว่า บางทีก็ต่อต้าน บางทีครูบาอาจารย์ชั้นผู้ใหญ่ก็เคยต่อต้านว่า มันไม่มี มรรค ผล นิพพานไม่มี พระอริยบุคคลไม่มี (ผมก็เลยถามว่า) หลวงพ่อ ที่พูดมาอย่างนี้ หลวงพ่อเคยปฏิบัติมาหรือยัง ปฏิบัติมามากน้อยแค่ไหนเพียงไร อึ้งเลย ไม่ตอบ ส่วนมากจะไม่ตอบ

          หากว่าสมัยนี้มรรคผลพระนิพพานไม่มี พระอริยบุคคลไม่มี เมื่อเห็นว่าไม่มีแล้ว หลวงพ่อจะไม่แนะนำสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหา พระสงฆ์ สามเณร ให้ปฏิบัติหรือ จะไม่สอนให้เขาปฏิบัติหรือ จะไม่แนะนำให้เขาทำหรือ อยู่ๆ พอถึงวันแล้วมันก็จะได้มรรคผลนิพพานเองอย่างนั้นหรือ ส่วนมากเวลาหลวงพ่อพูดอย่างนี้ ท่านก็ไม่พูด นี่แหละท่านทั้งหลาย ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเครื่องแก้ความเห็นผิดของชาวพุทธทั้งหลาย

          ส่วนมากจะเป็นอย่างนี้ โยมที่จะนำกฐินมาถวายปีนี้แหละ มาครั้งไรๆ เขาก็พูด แต่หลวงพ่อก็คิดว่าจะเทศน์โปรดเขาอยู่ แต่เมื่อไรหนอจึงจะมีโอกาสเทศน์โปรด เพราะเหตุใด จึงจะเทศน์โปรด เพราะว่าเขาจะนำกฐินมาที่วัด เมื่อจะนำมาถวายที่วัด แต่ผู้เป็นเจ้าภาพยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ เขารู้จักแต่ทำบุญแหละ แต่เขาไม่รู้จักบุญ เขามาพูดกับหลวงพ่อว่า หลวงพ่อไม่ต้องห่วงไม่ต้องพูดกันล่ะ เรื่องมรรคผลพระนิพพาน สมัยนี้ไม่มีแล้ว พระอริยบุคคลไม่มีแล้ว หลวงพ่อก็คิดว่าจะตอบเขาอยู่หลายๆครั้ง แต่ว่ายังไม่มีโอกาส นี้ล่ะเรื่องอย่างนี้มันเป็นไปได้

          สรุปแล้วว่า การประพฤติปฏิบัตินั้น จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย คือมันง่ายที่รู้วิธีปฏิบัติ รู้หลักการในการประพฤติปฏิบัติ มีสติ มีความเพียร มีสมาธิ มีศรัทธา มีปัญญาสมบูรณ์ มีบารมีที่สร้างสมอบรมมาสมบูรณ์แล้ว ก็เป็นเหตุให้การปฏิบัตินั้นปฏิบัติง่าย

          แต่ผู้ที่ว่าปฏิบัติยาก ก็หมายความว่า ไม่รู้วิธีการปฏิบัติ และการประพฤติปฏิบัตินั้น ไม่ดำเนินไปตามวิถีที่ถูกต้อง ถือว่ามันเป็นการทำให้ยาก กล่าวมาถึงนี้ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า หลวงพ่อ สมัยนี้ก็ล่วงมานานแล้ว พระศาสนานับตั้งแต่พระพุทธเจ้าปรินิพพานล่วงมาถึงป่านนี้ นานถึง ๒๕๔๓ ปีแล้ว พระอริยบุคคลจะยังมีอยู่ในโลกหรือไม่ อาจจะคิดอย่างนี้

          หากว่าท่านทั้งหลายมีความสงสัยอย่างนี้ หลวงพ่อจะขอน้อมนำเอาธรรมะที่ท่านได้กล่าวไว้ในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ภาค ๓ ท่านกล่าวไว้ว่า      

          ๑.    ปฏิสมฺภิทปฺปตฺเตหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ พันปีที่หนึ่ง  เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้ปฏิสัมภิทา ๔ หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึง ๑ พันปี ในช่วง ๑ พันปีนี้ ผู้ใดมาเจริญพระกัมมัฏฐานให้สมบูรณ์แล้ว ก็สามารถที่จะได้บรรลุ และสามารถที่จะได้ปฏิสัมภิทา ๔ คือ

          ๑)    ธัมมปฏิสัมภิทา แตกฉานในธรรม

          ๒)   อัตถปฏิสัมภิทา แตกฉานในอรรถ

          ๓)    ปฏิภาณปฏิสัมภิทา แตกฉานในปฏิภาณ

          ๔)    นิรุตติปฏิสัมภิทา แตกฉานในนิรุตติคือภาษา สามารถพูดธรรมะที่ลึกซึ้ง สุขุม คัมภีรภาพ ให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่ายๆ

          ปฏิสัมภิทา ๔ นี้ สามารถที่จะเกิดได้

          ๒.    ฉฬภิญฺเญหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ พันปีที่ ๒ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึง ๒ พันปี ในช่วง ๒ พันปีนี้ ถ้าผู้ใดมาเจริญพระกัมมัฏฐาน ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลหรือสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็สามารถจะยังอภิญญา ๖ ประการให้เกิดขึ้นได้

          อภิญญา ๖ ประการนั้น คือ

          ๑)    อิทธิวิธิ         แสดงฤทธิ์ได้

          ๒)   ทิพพโสตะ    ได้หูทิพย์

          ๓)    ทิพพจักขุ     ได้ตาทิพย์

          ๔)    ปรจิตตวิชานนะ      สามารถที่จะรู้วาระจิตของผู้อื่น

          ๕)    ปุพเพนิวาสานุสติญาณ มีปัญญาระลึกชาติหนหลังได้

          ๖)    อาสวักขยญาณ       รู้จักทำอาสวะให้หมดไปจากขันธสันดาน

          อภิญญาทั้ง ๖ ประการนี้ สามารถที่จะเกิดขึ้นได้

          แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หมายความว่า ผู้นั้นได้สร้างสมอบรมบารมีมาแล้วแต่ภพก่อนชาติก่อน เมื่อภพก่อนชาติก่อนได้สร้างสมอบรมบารมี ให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนา ได้อธิษฐานจิตไว้แล้วว่า สาธุ ด้วยบุญที่ข้าพเจ้าบำเพ็ญครั้งนี้ ขอให้ข้าพเจ้าได้ตาทิพย์ หรือว่าได้หูทิพย์ หรือว่าแสดงฤทธิ์ได้ หรือให้รู้วาระจิตของผู้อื่น หรือให้ระลึกชาติหนหลังได้ หรือว่าให้ข้าพเจ้ารู้วิธีหรือหลักการทำลายอาสวะกิเลสให้หมดไปจากขันธสันดาน อธิษฐานไว้แล้วอย่างนี้

          เมื่อเราอธิษฐานไว้แล้วแต่ภพก่อนชาติก่อน ในภพนี้ชาตินี้มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เมื่อปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว ก็สามารถยังอภิญญาทั้ง ๖ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเราไม่เคยอธิษฐานจิตไว้เลย ก็ไม่มีโอกาสที่จะเกิด

          ๓.    เตวิชฺเชหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ พันปีที่ ๓ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้วิชชา ๓คือหมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึง ๓ พันปี ในช่วง ๓ พันปีนี้ ถ้าผู้ใดได้มาเจริญพระกัมมัฏฐาน ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว ก็สามารถที่จะยังวิชชา ๓ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เกิดขึ้นได้

          วิชชา ๓ ประการนั้น คือ

          ๑)    ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ปัญญาระลึกชาติหนหลังได้

          ๒)   จุตูปปาตญาณ รู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นและสัตว์อื่น ว่าผู้นี้เขามาจากไหนมาเกิดที่นี้ ตายแล้วไปเกิดในที่ไหน สามารถที่จะรู้ได้

          ๓)    อาสวักขยญาณ ปัญญารู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป

          ๔.    สุกฺขวิปสฺสเกหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ พันปีที่ ๔ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้สุกขวิปัสสกะ หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึง ๔ พันปีในช่วง ๔ พันปีนี้ ถ้าหากว่าผู้ใดมาเจริญพระกัมมัฏฐาน บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว ก็สามารถทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดานได้

          แต่ว่าไม่สามารถที่จะยังปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ วิชชา ๓ ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานได้ หมายความว่า ปฏิสัมภิทา ๔ ก็ดี อภิญญา ๖ ก็ดี วิชชา ๓ ก็ดี ไม่สามารถที่จะเกิดได้ เป็นแต่เพียงว่าสามารถทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดานท่านผู้นี้เรียกว่า เป็นพระอรหันต์ขีณาสพประเภท สุกขวิปัสสกะ

          ๕.    ปาฏิโมกฺเขหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ พันปีที่ ๕ เป็นยุคของพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีหมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึง ๕ พันปี ในช่วง ๕ พันปีนี้ แม้ว่าผู้ใดมาทำกัมมัฏฐาน จะทำความเพียรมากสักปานใดก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ เป็นแต่เพียงสามารถบรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี ได้เท่านั้น

          อันนี้(คือ)หลักฐานที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์ สุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกายปาฏิกวรรค ภาค ๓ ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ เมื่อกล่าวมาถึงนี้ ท่านทั้งหลายจะตัดสินอย่างไรก็แล้วแต่ท่านทั้งหลายจะตัดสินเอา

          แต่ขอร้องอย่างเดียวว่า  หากว่าเราประพฤติปฏิบัติยังไม่ถึงที่ ขอร้องว่า ท่านทั้งหลายอย่าเข้าใจว่า มรรคผลพระนิพพานนั้นไม่มี คือบางสิ่งบางอย่าง ถ้าเรายังไม่รู้ เราจะปฏิเสธเสียเลยว่าไม่มี ก็ไม่ได้ เราต้องประพฤติปฏิบัติ ต้องเอาตัวของเราไปพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่า มีหรือไม่ เราค่อยว่ากันทีหลัง

          แต่ถ้าหากว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ปฏิบัติแล้วไม่มี ไม่ได้ ไม่ถึง ก็ขออย่าได้เข้าใจว่า มันไม่มี เพราะว่าบางสิ่งบางอย่าง มันก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัย ถ้าบารมีของเราไม่พร้อม มันก็อาจจะไม่เกิด

          เหตุนั้น เราอย่าไปคัดค้านว่า มันไม่มีอย่างนั้น ไม่มีอย่างนี้ กัมมัฏฐานที่ประพฤติปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้ กำหนดอยู่ทุกวันนี้ เราไม่เอา เช่นว่า กำหนดพองหนอ ยุบหนอ หรือว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ หรือปวดหนอ เจ็บหนอ คิดหนอ ร้อนหนอ เย็นหนอ อะไรทำนองนี้

          คำบริกรรมหรือคำภาวนานี้ เราไม่เอา เช่น ท่านทั้งหลายกำหนดอยู่ทุกวันๆ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ พองหนอ ยุบหนอ นี่เราไม่เอา เราภาวนาเพื่อรอการเกิดขึ้นของอริยมรรคอริยผลเท่านั้น หรือว่าเราภาวนาเพื่อรอการเกิดขึ้นของสมาธิสมาบัติ เมื่อสมาธิ สมาบัติ อริยมรรคอริยผล เกิดขึ้นมาแล้ว คำบริกรรมหรือคำภาวนานี้เราสลัดทิ้ง ไม่เอาแล้ว อุปมาเหมือนกับว่า เราข้ามแม่น้ำโขง เราต้องอาศัยเรือไปยังฝั่งโน้น เมื่อถึงฝั่งแล้วเราก็สลัดเรือทิ้ง เราก็ขึ้นไปบนฝั่งที่เราต้องการ ข้อนี้ฉันใด

          เราทั้งหลายผู้มาประพฤติปฏิบัติ เมื่อได้สมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน เกิดขึ้นมาแล้ว สิ่งนี้เราก็สลัดไป อุปมาเหมือนกับเราจะดื่มเครื่องดื่ม สมมติว่า เครื่องดื่ม เป็นพวกโค้ก สไปรท์ เป๊ปซี่ แฟนต้า อะไรทำนองนี้ เวลาที่เราไปซื้อเราก็ซื้อมาทั้งขวด เมื่อซื้อมาแล้ว เราก็เปิดดื่มเฉพาะน้ำของมัน พวกขวดเราก็ทิ้งไป ข้อนี้ฉันใด เราภาวนาหรือบริกรรมกันอยู่ทุกวันนี้ เราภาวนาหรือบริกรรมก็เพื่อรอการเกิดขึ้นของสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน ต่างหาก

          แม้แต่อาการที่เราภาวนา พองหนอ ยุบหนอ อยู่นี้ เมื่อภาวนามันได้ที่แล้ว มันก็จะทิ้งไปทันที เรียกว่าในขณะที่ทุกสิ่งทุกอย่างมันสมบูรณ์อยู่ เราก็กำหนดพองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ ไปเรื่อย เมื่อภาวนาไปๆ จิตของเราก็จะผ่านบริกรรมเข้าสู่อุปจาระ

          เมื่อเข้าสู่อุปจาระ มันเฉียดฌานเข้าไป เฉียดมรรคเข้าไป เมื่อใดวิถีจิตของเรามันถึง มันเดินเข้าไปจนถึงฌาน คำบริกรรม มันก็ทิ้งไปเลย หรือเมื่อถึงมรรคแล้วก็ทิ้งไปเลย

          เมื่อใดที่เราภาวนาไปตามลำดับ เมื่อวิถีจิตของเรามันถึงฌานถึงมรรคแล้ว คำบริกรรมอยู่ในขณะนี้ ทิ้งไปเลย คำบริกรรมเราก็ไม่รู้เลย จำไม่ได้ มันก็หายไปเลย ทิ้งไปเลย จิตของเราก็มีแต่สมาธิรักษาอยู่ตลอดเวลา เพราะในขณะเข้าสู่ฌานธรรมนี้ จิตก็ไม่รู้ หูก็ไม่ได้ยินเสียง รูปนาม ขันธ์ ๕ มันดับไปแล้ว เมื่อถึงมรรค การดับมันก็ยิ่งละเอียดขึ้นไปๆ รูปนาม ขันธ์อะไรมันก็ดับไปหมด

          ต่อไป องค์คุณของผู้ปฏิบัติ

          ท่านผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย แม้ว่าเราต้องการดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ก็จริงอยู่ หรือการปฏิบัติของเรานี้ เพื่อต้องการจะทำให้ได้ฌาน ได้มรรค ผล นิพพาน เพื่อละกิเลสตัณหา บาปกรรมทั้งหลายทั้งปวง ให้สิ้นไปสูญไปจากขันธสันดาน แต่ว่าเราต้องมีองค์คุณสมบัติจึงจะดำเนินไปได้ ถ้าขาดองค์คุณสมบัติ ก็ไม่สามารถผ่านไปได้

          องค์คุณสมบัติของผู้ปฏิบัตินั้นคือ

          ๑.    มีสติ หมายความว่า เราจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะกิน จะดื่ม จะคิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม อย่าขาดสติ มีสติกำหนดอยู่ตลอดเวลา มองซ้าย แลขวา เดินหน้า ถอยหลัง นุ่งสบง ทรงจีวร หรือเครื่องนุ่งห่มอะไรก็ตาม ให้เรามีสติอยู่ตลอดเวลา

          หรือว่า ในขณะที่เรานั่งบริกรรมอยู่ พองหนอ ยุบหนอ อยู่นี้ บางทีเรานั่งไปๆ มันเกิดเผลอไปหลับไปอย่างนี้ เราก็ต้องมีสติให้ทันปัจจุบันว่า มันหลับตอนท้องพอง หรือหลับไปตอนท้องยุบ ในขณะที่เรานั่งอยู่ตรงๆนั่นแหละ หากว่าเรามีอาการคล้ายๆว่ามันจะหลับ ง่วงๆ ก็ปล่อยให้มันหลับไปเลย

          แต่ว่าเราต้องมีสติจำให้ได้ว่า เรานั่งหลับไปตอนไหน เรากำหนดพองหนอหรือยุบหนอ พยายามจำให้ได้ หรือว่าเวลาเรานอน เรานอนกำหนด พองหนอ ยุบหนอ นอนหนอ เราพยายามจำให้ได้ว่า เราจะนอนหลับไปตอนพองหนอ ยุบหนอ หรือว่ากำหนดว่า ถูกหนอ ก็พยายามจำให้ได้ หรือว่าเวลาเราภาวนาอยู่ว่า ปวดหนอๆ อาการปวดของเรามันหายไปเมื่อไหร่

          พอกำหนดมาถึงตรงนี้ มันหายไปเลยอาการปวด พยายามจำให้ได้ หรือเวลาเราคิดอย่างนี้ เรากำหนดว่า คิดหนอๆ ให้เรารู้ว่า ความคิดมันเกิดขึ้นในขณะใด ความคิดมันดับไปขณะใด กำหนดให้ทันปัจจุบัน อย่างนี้เรียกว่า มีสติ ประการที่หนึ่ง

          ๒.    มีสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม คือทุกสิ่งทุกอย่าง ให้มีสัมปชัญญะ รู้ตัวตลอดเวลา สมมติว่า เราจะเหยียดแขนอย่างนี้ เราคิดซะก่อน สติมันคิดซะก่อนว่าจะเหยียด และเมื่อเราคิดว่า เราจะเหยียด แล้วก็เหยียดไป ในขณะที่เหยียดไปนั้น มีสัมปชัญญะกำหนดไป เหยียดหนอๆ มีสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา

          สรุปแล้วว่า ยืน เดิน นั่ง นอน พูด คิด ทำกิจใดๆก็ตาม ให้มีสัมปชัญญะความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา

          ๓.    มีความเพียร วิริยะความพากเพียรในการเจริญพระกัมมัฏฐาน คือ

                 ๑)    มีฉันทะ พอใจในการเจริญพระกัมมัฏฐาน

                 ๒)   มีวิริยะ แข็งใจเจริญกัมมัฏฐาน

          แม้เจริญพระกัมมัฏฐานนี้ มันจะลำบากเหนื่อยยากสักปานใด เราก็ยอมตายเอาดาบหน้า ขาขาดเอาคางเกาะไป หากว่าเรายังไม่บรรลุมรรคผลพระนิพพาน จะไม่ลดละการปฏิบัติเป็นเด็ดขาด ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ เอาชีวิตเป็นเดิมพัน เอาชีวิตแลก ยอมตายเอาดาบหน้า จนสามารถได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ มรรคผล พระนิพพาน ตามเจตนาที่เราตั้งไว้

          ๓)    มีจิตตะ ตั้งใจในการเจริญพระกัมมัฏฐาน ไม่เหลาะแหละ ไม่เหลวไหล แล้วก็ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติจริงๆ แล้วก็อยากได้จริงๆ อยากถึงจริงๆ อยากรู้จริงๆ คนเราเมื่อมีจิตใจตั้งมั่น คิดจะเอาอะไรมันก็สามารถที่จะทำได้

          เราตั้งใจว่า เราจะเรียนให้จบชั้น ม.๑ หรือ ม.๒, ม.๓, ม.๔, ม.๕, ม.๖ มันก็สามารถที่จะทำได้ หากว่าเราตั้งใจที่จะเรียนให้มันจบ ถ้าว่าคนที่จิตใจไม่ตั้งมั่น ทุกสิ่งทุกอย่าง การงานที่ทำ คำที่พูด สิ่งที่คิด มันก็ไม่สามารถที่จะสำเร็จได้ เหตุฉะนั้น เราผู้เป็นนักปฏิบัติต้องมีจิตตะ ตั้งใจปฏิบัติจริงๆ อย่าถอยหลัง

          ๔)    มีวิมังสา ฉลาดในการปฏิบัติ ทุกสิ่งทุกอย่าง เวลาปฏิบัติมันต้องใช้ปัญญา ผู้ที่จะให้ทานก็ต้องประกอบด้วยปัญญา ผู้ที่จะรักษาศีลก็ต้องประกอบด้วยปัญญา ผู้ที่เจริญภาวนาก็ต้องอาศัยปัญญา ผู้ที่เจริญสมถะก็ต้องอาศัยปัญญา ผู้ที่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานก็ต้องอาศัยปัญญา ถ้าขาดปัญญาแล้วก็ไม่สามารถที่จะปฏิบัติให้ถึงฝั่งได้

          แต่เมื่อใดเรามีปัญญา เราอาศัยปัญญาพิจารณาอยู่ตลอดเวลา การปฏิบัติวันนี้ ทำไมมันเป็นอย่างนี้หนอ การปฏิบัติทำไมมันไม่ก้าวหน้าหนอ การปฏิบัติทำไมมันถอยหลัง การปฏิบัติทำไมมันจึงเป็นอย่างนี้ ทำไมมันจึงง่วงนอน ทำไมมันเกียจคร้าน

          เราใคร่ครวญตริตรองพิจารณา มันจะเห็นข้อแก้ไขทันทีว่า เออ วันนี้เราเดินอย่างนี้ เรานั่งอย่างนี้ เราภาวนาอย่างนี้ พูดอย่างนี้ คุยอย่างนี้ ทำอย่างนี้ ผลสุดท้ายก็ทำให้การปฏิบัติของเราไม่ได้ผล ก็จะได้แก้ไข

          เมื่อใด นักปฏิบัติตั้งอยู่ในองค์คุณของการปฏิบัติอย่างนี้ การปฏิบัติก็สามารถที่จะได้ผลตามเจตนารมณ์ที่เราตั้งไว้

          ต่อไปก็ขอเตือนสติท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

          ๑.    อย่าทำอิริยาบถให้ผิดปกติ เช่น เดินแขนแข็งๆไว้ เหมือนกับคนยกแขนไม่ได้ เดินก็เดินช้าๆ ในเวลาฉันเช้า เพื่อนๆก็ฉันไปก่อนแล้ว นี้เรียกว่า ทำอิริยาบถให้ผิดปกติ เวลาเดินก็ไม่เดินตามปกติ นั่งก็ไม่นั่งตามปกติ นอนก็ไม่นอนตามปกติ คือหมายความว่า การกระทำทุกสิ่งทุกอย่าง มันทะแม่งๆ พูดง่ายๆว่า คล้ายกับแกล้ง หรือว่าเป็นการดัดจริต แทนที่เราจะปล่อยให้มันไปตามธรรมชาติที่มีอยู่อย่างนี้ๆ กลับไม่ให้เป็นไปตามธรรมชาติ เรียกว่าดัดจริต ภาษาทุกวันนี้เขาเรียกว่า ดัดจริต

          ถ้าลักษณะนี้เกิดขึ้น ท่านทั้งหลายพึงสังวรให้ดี ต่อไปอย่าทำอีก เพราะจะทำให้คนอื่นจับผิดเรา บางทีจะหาว่าเราเสียจริตไปแล้ว เสียสติไปแล้ว หรือวิปลาสไปแล้ว อะไรทำนองนี้ เขาจะจับผิดเรา แทนที่จะให้คนอื่นมาปฏิบัติ เขาก็จะไม่มา ผลสุดท้ายเขาก็จะคลายความเลื่อมใส ไม่อยากมาประพฤติปฏิบัติ เกรงว่าถ้าไปประพฤติปฏิบัติแล้วจะเป็นบ้าอย่างนั้น เป็นบ้าอย่างนี้

          เหมือนกันกับที่เคยไปเรียนปฏิบัติมา หลวงพ่อก็ไปสำนักพ้นอเวจีพ้นนรก สำนักปฏิบัติธรรมเหนือนรก พากันปฏิบัติเพื่อจะละสังขารไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ก่อนจะปฏิบัติก็ให้พระรูปอื่นเอาเชือกมัดติดกับเก้าอี้ รูปนั้นก็มัด รูปนี้ก็มัด ทางหน้าห้องก็ให้พระใส่กุญแจไว้ ล็อกกุญแจไว้ ข้าวน้ำก็อด ไม่กิน ผลสุดท้ายก็ถึงแก่มรณกรรมไป

          อันนี้แหละท่านทั้งหลาย เรียกว่า มันทำไม่ถูก เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างอย่าให้ผิดปกติ ให้เป็นไปตามปกติ แต่สำคัญหน้าที่ของเราคือต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

          ๒.   อย่าให้ความต้องการเกิดขึ้น สมมติว่า เราเดินจงกรม บางทีมันเกิดความต้องการขึ้นมาว่า เราจะเดินจงกรมให้ดีที่สุด เราจะเดินจงกรมให้ได้สมาธิ ให้ได้ฌาน ในขณะที่เดินจงกรมอยู่นี้ หรือว่าเราจะให้มรรคผลนิพพานมันเกิดในขณะที่เดินจงกรมอยู่อย่างนี้ หรือเราจะเดินจงกรมให้วิปัสสนาญาณมันเกิดขึ้น อย่างนี้เรียกว่า ปล่อยให้ความต้องการเกิดขึ้น

          ถ้าเราคิดอย่างนี้แล้วปฏิบัติอย่างนี้ก็เกิดโทษ ถ้าหากว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเกิดตามที่เราคิดไว้ ก็เป็นเหตุให้เกิดโลภะ เกิดวิสมโลภะว่า เราสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว อย่างนั้นอย่างนี้ เกิดความเห็นผิดขึ้นมา

          ถ้าว่ามันไม่เกิดตามที่คิดไว้ มันก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด โกสัชชะ ความเกียจคร้าน ไม่อยากประพฤติปฏิบัติอีกต่อไป เห็นว่าการปฏิบัติมันก็ได้แค่นี้ล่ะ ไม่มีอะไรก้าวหน้า เลยไม่อยากประพฤติปฏิบัติ

          ๓.    อย่าเครียด คำว่า เครียด ในที่นี้หมายความว่า ตึงเครียด อย่าให้เกิดความเครียด ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจอะไรก็ตาม ขออย่าให้เกิดความเครียด คนเราถ้าเกิดความเครียดแล้ว เราจะเห็นทันที คือคิดมาก ความอยากได้ก็เกินประมาณ เมื่อคิดมาก เวลานอนก็นอนไม่หลับ ผลสุดท้ายก็เป็นโรคประสาท เข้าโรงพยาบาลประสาท ผู้ปฏิบัติอย่างนี้เรียกว่า อาการเครียดมันเกิดขึ้นมาแล้ว เลยเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คิดมาก นอนไม่หลับ ทานอาหารไม่ค่อยได้ ผลสุดท้ายก็เป็นโรคประสาท

          ๔.    อย่าอยากเป็นผู้วิเศษ ถ้าผู้ใดอยากเป็นผู้วิเศษ เช่นว่า อยากมีหูทิพย์ตาทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้ รู้การเกิดหรือการตายของบุคคลหรือสัตว์อื่น อะไรทำนองนี้ ถ้าผู้ใดคิดหนักๆ เรื่องอย่างนี้ ผู้นั้นร้อยทั้งร้อยที่มาประพฤติปฏิบัติ ส่วนมาก เป็นบ้า ผู้ใดมาปฏิบัติอยากได้อย่างนี้ หรือมีอะไรเกิดขึ้นก็คิดว่า เราได้คุณวิเศษแล้วอย่างนี้ๆ ส่วนมากเป็นบ้า ไม่บ้ามากก็บ้าน้อย

          เหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงสังวรระวังให้มากๆ อย่าให้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงดังที่กล่าวมาแล้วเกิดขึ้น เวลาประพฤติปฏิบัติกัมมัฏฐาน          เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะมาบรรยายถวายความรู้แก่ท่านครูบาอาจารย์ ศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย ตลอดทั้งคณะแม่ชี ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.