อริยสัจ ๔
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
วันนี้ จะได้นำเรื่อง อริยสัจ ๔ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป
คำว่า อริยสัจ แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ หมายความได้ ๓ อย่าง คือ
๑. หมายความว่า ความจริงทั้ง ๔ ข้อนี้ เป็นธรรมะที่พระอริยเจ้าค้นพบ ไม่ใช่ค้นพบโดยปุถุชน จึงเรียกว่า อริยสัจ
๒. หมายความว่า ความจริงทั้ง ๔ ข้อนี้ เป็นกฎของการปฏิบัติ ซึ่งถ้าผู้ใดปฏิบัติให้สมบูรณ์แล้ว ผู้นั้นจะเป็นอริยชน จึงเรียกว่า อริยสัจ
๓. หมายความว่า ธรรมะคือความจริงในโลกนี้มีอยู่เป็นอันมาก แล้วมีอยู่ในศาสนาต่างๆ แต่ความจริงเหล่านั้นเป็นเพียงสามัญสัจจะ คือความจริงสามัญธรรมดา ส่วนความจริง ๔ ข้อนี้ เป็นความจริงขั้นสูงสุด เหนือสามัญสัจจะ จึงเรียกว่า อริยสัจ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้ที่ประเสริฐกว่าชนทั้งหลาย กล่าวความจริงทั้งหลายว่า สัจจะ ย่อมมี ๒ ประเภท คือ
๑. สมมติสัจจะ ความจริงที่ชาวโลกเขาสมมุติกัน
๒. ปรมัตถสัจจะ ความจริงที่เป็นปรมัตถ์ ความจริงที่เหนือกว่าความจริงทั้งปวง
สมมติสัจจะ ความจริงที่ชาวโลกเขาสมมุติกันนั้น เป็นความจริงที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ความจริงที่ชาวโลกเขาสมมติกันนั้นเป็นอย่างไร เช่น สมมติกันว่า ผู้นี้เป็นพ่อ ผู้นี้เป็นแม่ ผู้นี้เป็นพระอุปัชฌาย์ ผู้นี้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ผู้นี้เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เป็นสัทธิวิหาริก เป็นอันเตวาสิก หรือว่า ผู้นี้มีสมณศักดิ์เป็นพระครูชื่อนั้นชื่อนี้ แต่ความจริงทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมานี้ เป็นความจริงที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
สมมติว่า ในขณะที่เขาให้ชื่อเราว่า สมปอง พอเขาเรียกว่า สมปอง เราก็ขานรับทันที แต่ชื่อว่า สมปอง นี้ เราอาจเปลี่ยนได้ อาจจะเปลี่ยนเป็น สมฤดี ก็ดี สมประสงค์ ก็ได้ มันเปลี่ยนไปได้ เพราะว่ามันเป็นความจริงที่ชาวโลกเขาสมมติกันขึ้น เป็นความจริงพื้นๆ สามัญธรรมดา จึงสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงไปได้
แต่สำหรับ ปรมัตถสัจจะ ความจริงขั้นสูงสุดยอด เป็นความจริงแท้ ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ มีอยู่อย่างไรก็เป็นอยู่อย่างนั้นตลอดไป เช่นว่ารูปอย่างนี้ เราจะเปลี่ยนไปเป็นนามก็ไม่ได้ นามนี้เราจะเปลี่ยนมาเป็นรูปก็ไม่ได้ เวทนาจะเปลี่ยนเป็นสัญญาก็เปลี่ยนไม่ได้ สัญญาความจำได้หมายรู้ ก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้
สังขารความปรุงแต่งจิต หรือวิญญาณความคิดอารมณ์นี้ก็เหมือนกัน จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นก็เปลี่ยนไม่ได้ เมื่อมีธรรมชาติอยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้นตลอดไป ความจริงเหล่าใดที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้ เราเรียกว่าเป็นปรมัตถสัจจะ
ปรมัตถสัจจะนี้ เป็นธรรมที่พระอริยเจ้าได้รู้แล้ว ได้ทำให้แจ้งแล้ว ซึ่งเป็นสภาพความจริงที่พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมรู้ ย่อมเห็น เรียกว่า อริยสัจ ตามที่เทศนาไว้มี ๔ ประการ คือ
๑. ทุกขอริยสัจ คือเป็นทุกข์จริงๆ เช่น ความไม่สบายกายไม่สบายใจ เป็นสภาวะที่ทนได้ยาก
๒. ทุกขสมุทัยอริยสัจ เหตุให้เกิดทุกข์จริงๆ ได้แก่ ตัณหา ๓ ประการคือ กามตัณหา ความทะยานอยากอย่างแรงกล้าในกาม ๑ ภวตัณหา ความทะยานอยากในความอยากมีอยากเป็น ๑ วิภวตัณหา ความทะยานอยากในความไม่อยากมีไม่อยากเป็น ๑
ตัณหาทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นสิ่งให้เกิดทุกข์ และตัวสมุทัยนี้เอง เป็นจุดแยกของศาสนาพุทธกับศาสนาอื่น
ขอให้นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้จำไว้ว่า ศาสนาของเรากับศาสนาของลัทธิอื่นๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ แยกกันที่ตรงไหน มีคำสอนที่แยกกันที่ตรงไหน
และอีกอย่างหนึ่ง อะไรเป็นกฎบัตรของศาสนา คือศาสนาทุกศาสนาต้องมีกฎบัตรของศาสนา เหมือนกันกับกฎบัตรของสหประชาชาติ ผู้ที่ร่วมเป็นสมาชิกสหประชาชาติต้องปฏิบัติตามกฎบัตรนี้ หรือว่าพวกค่ายคอมมิวนิสต์อย่างนี้ เขาก็มีกฎบัตรของเขาเหมือนกัน ตลอดถึงศาสนาต่างๆในโลกนี้ก็มีกฎบัตรในศาสนา
กฎบัตรของศาสนาก็เหมือนกันกับรัฐธรรมนูญ แต่ละประเทศนั้นต้องมีรัฐธรรมนูญ จึงจะมีกฎหมายขึ้นมาได้ และกฎหมายแต่ละมาตราที่ตราขึ้นมาใช้นั้น ต้องไม่ขัดกันกับรัฐธรรมนูญ จึงจะใช้ได้ ถ้าขัดกันกับรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ถือว่าเป็นโมฆะ ใช้ไม่ได้ ข้อนี้ฉันใด
อริยสัจทั้ง ๔ ประการ นี้ถือว่าเป็นกฎบัตรของศาสนาพุทธ และ สมุทัยอริยสัจ นี้เอง เป็นจุดแยกศาสนาพุทธของเรากับศาสนาอื่น เพราะเหตุไร เพราะว่า ศาสนาที่มีอยู่ในโลกนี้ แบ่งเป็น ๒ ประการ คือ
๑) ศาสนาที่เรียกว่า เทวนิยม
๒) ศาสนาที่ถือ กรรมนิยม
ศาสนาทุกศาสนาในโลกนี้ ยกเว้นพุทธศาสนา เป็นฝ่าย เทวนิยม คือถือว่าความทุกข์ทั้งมวลที่คนเราหรือสัตว์ทั้งหลายได้รับอยู่ทุกวันนี้ ถือว่าเกิดจากพระเจ้าผู้สร้างโลกบันดาลให้เป็นไปบ้าง เกิดจากพระเจ้าบนสวรรค์บันดาลให้เป็นไปบ้าง เป็นเพราะเทวดาบ้าง เป็นเพราะพระพรหมบ้าง เป็นเพราะพระภูมิเจ้าที่บ้าง เป็นเพราะภูตผีปีศาจบ้าง เป็นเพราะยักษ์มารบ้าง หรือเป็นเพราะสิ่งนั้นสิ่งนี้มาทำให้เกิดความลำบาก มาทำให้เกิดความทุกข์
ศาสนาต่างๆเป็นอย่างนี้ และสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาแล้วนี้ก็ยังมีอยู่ในศาสนาพุทธของเรา และชาวบ้านของเราแต่ละบ้านนั้นก็ยังมีความยึดถืออยู่อย่างนี้ เพราะว่า ความยึดถืออย่างนี้ ยึดถือมาก่อนศาสนาพุทธของเราจะเกิดขึ้นมาในโลก เช่น บางครั้งเจ็บไข้ได้ป่วยมา หาว่าผีไท้มาให้โทษบ้าง หาว่าผีแถนมาให้โทษบ้าง บางทีก็ถือว่าผีปู่ย่าตายาย ผีพ่อผีแม่มาให้โทษบ้าง บางทีถือว่าผีไร่ผีนามาให้โทษบ้าง ผีปู่ตามาให้โทษบ้าง นี้แหละเรียกว่าเป็นฝ่าย เทวนิยม ถือว่าความทุกข์ที่ได้รับนั้นเกิดจากเหตุภายนอกเป็นสิ่งที่มาให้ร้าย
สำหรับ พุทธศาสนา ของเรานี้ ถือว่าความทุกข์ต่างๆนั้นเกิดขึ้นมาจากกรรมที่ตนได้กระทำไว้ ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน กรรมทั้งหลายที่ทำลงไปนั้น ถ้าเป็นกรรมดีก็เป็นเหตุให้เกิดสุข ถ้าเป็นกรรมชั่วก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์
ยกอุปมาง่ายๆว่า การเกิดเป็นคนนี้ มันเป็นทุกข์ ก่อนจะเกิดมาเป็นคน ก็ต้องมีตัณหาเสียก่อน คือความทะยานอยากเกิดขึ้นมาเป็นคน เมื่ออยากเกิดเป็นคนแล้ว ก็ลงมือสร้างบุญสร้างกรรม เพื่อจะให้ได้มาเกิดเป็นคน เสร็จแล้วบุญกรรมนั้นก็อำนวยให้เกิดมาเป็นคน เมื่อเกิดมาเป็นคนแล้ว ท่านทั้งหลายลองคิดดูว่า การเกิดขึ้นมาเป็นคนนี้เป็นอย่างไร เป็นทุกข์ไหม
เกิดมาเป็นคนแล้วก็เป็นทุกข์ หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน อาบเหงื่อต่างน้ำ หาเช้ากินค่ำ ลำบากอยู่ตลอดเวลา มีความทุกข์ ความเกิด ความแก่ ความตาย ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจก็เป็นทุกข์ เหตุนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ตัณหาเป็นเหตุแห่งทุกข์
ทีนี้ บางทีสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นมาแล้ว เห็นว่าการเกิดเป็นมนุษย์นี้เป็นทุกข์ การไปเกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดานั้นเป็นสุข เพราะมีทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของทิพย์ มีปราสาทอันเป็นทิพย์ มีเครื่องทรงอันเป็นทิพย์ มีอาภรณ์อันเป็นทิพย์ ก็ลงมือสร้างบุญสร้างกรรมที่เป็นกามาวจรกุศล กามาวจรกุศลนั้นก็อำนวยให้เกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดา แล้วแทนที่จะได้รับความสุข ก็ยังได้รับความทุกข์อยู่ เพราะการไปเกิดเป็นเทวดาก็ยังมีการแย่งลูกแย่งเมียกันอยู่ มีการตายอยู่ ก็ถือว่ายังเป็นทุกข์
บางทีก็อยากไปเกิดเป็นพระพรหมอยู่ในพรหมโลก เมื่ออยากไปเกิดเป็นพรหม เพราะเห็นว่าเกิดเป็นมนุษย์เป็นเทวดาก็ยังมีความทุกข์อยู่ สู้การไปเกิดเป็นพรหมไม่ได้ ก็ลงมือสร้างบุญสร้างกรรมบำเพ็ญรูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล กุศลนั้นก็อำนวยให้ไปเกิดเป็นพระพรหม
เมื่อไปเกิดเป็นพระพรหมแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะมีความสุขตลอดไป ยังมีการจุติมีการตายอยู่ ยังไม่พ้นจากอบายภูมิ บางทีหมดบุญกุศลที่ตนสร้างสมอบรมไว้ เกิดความประมาทขึ้นมา ก็อาจไปเกิดในอบายภูมิได้ ดังนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงตรัสว่า ความทุกข์ที่สัตว์ทั้งหลายได้รับอยู่ในโลก เกิดจากตัณหา ๓ ประการนี้เป็นเหตุ
๓. ทุกขนิโรธอริยสัจ ดับทุกข์จริงๆ ได้แก่ ดับตัณหาทั้ง ๓ ประการนั้นได้โดยสิ้นเชิง
๔. ทุกขนิโรธคามินีอริยสัจ ทางดับทุกข์จริงๆ ได้แก่ อริยมรรค ๘ หรือที่เรียกว่า อัฏฐังคิกมรรค
ทุกข์ มีหน้าที่ให้รู้ เอามรรคมารู้
สมุทัย มีหน้าที่ให้ละ เอามรรคมาละ
นิโรธ มีหน้าที่ทำให้แจ้ง เอามรรคมาทำให้แจ้ง
มรรค มีหน้าที่ทำให้เจริญ เอามรรคมาเจริญมรรคเอง
ทุกขสัจ สมุทัยสัจ มรรคสัจ เว้นสัจจะวิมุตติ เป็นโลกิยสัจจะ นิโรธสัจเป็นโลกุตตรสัจจะ
อริยสัจทั้ง ๔ นี้ คือ ปรมัตถธรรม นั่นเอง
เอาสภาวะของปรมัตถธรรมมาเป็นดังนี้ คือ
ทุกขสัจ คือ โลกิยจิต ๘๑ เจตสิก ๕๑ เว้นโลภรูป ๒๘
สมุทัยสัจ ได้แก่ โลภเจตสิก ๑ ดวง
นิโรธสัจ ได้แก่ พระนิพพาน
มรรคสัจ ได้แก่ เจตสิกอันเป็นองค์มรรค ๘ ดวง
อริยสัจทั้ง ๔ นี้ เมื่อย่อลงมา ได้แก่ รูปธรรมกับนามธรรม คือ
ทุกขสัจ เป็นทั้งรูปธรรม เป็นทั้งนามธรรม ได้ ๒ อย่าง
สมุทัยสัจ คือ ตัณหา ๓ ประการ เป็นนามธรรมอย่างเดียว
นิโรธสัจ คือ ความดับรูปนาม จัดเป็นนามธรรม
มรรคสัจ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา จัดเป็นนามธรรม
โลกุตตรจิต ๘ อันเป็นสัจจวิมุตติ คือพ้นจากสัจจะ จัดเป็นนามธรรม คำว่า โลกุตตรจิต ๘ นี้ ได้แก่ โสดาปัตติมัคคจิต ๑ โสดาปัตติผลจิต ๑ สกทาคามิมัคคจิต ๑ สกทาคามิผลจิต ๑ อนาคามิมัคคจิต ๑ อนาคามิผลจิต ๑ อรหัตตมัคคจิต ๑ อรหัตตผลจิต ๑
สรุปว่า อริยสัจ ๔ ก็คือรูปธรรมนามธรรม การที่เราตั้งสติให้ทันปัจจุบัน จนเห็นรูปนามเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง ทนได้ยาก อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป ขณะที่เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดับไปๆ พร้อมอริยสัจทั้ง ๔ ก็ชื่อว่าได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ข้อศึกษาโดยย่อมีเท่านี้
ที่กล่าวไปทั้งหมดนั้นอาจเข้าใจยากอยู่ ขอสรุปมาสั้นๆ ในแนวของการปฏิบัติล้วนๆ คือ
อริยสัจทั้ง ๔ เกิดขึ้นจากร่างกายอันยาววาหนาคืบของเรานี้ เกิดขึ้นที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ ก็ได้
เกิดขึ้นได้อย่างไร?
สมมติว่า อริยสัจ ๔ นี้เกิดทางตา ในขณะที่เราเห็นรูป วินาทีแรกที่ตาเห็นรูป นี่คือตัวสมุทัย อันเป็นตัวเหตุ เมื่อมีเหตุก็มีผล คือรูปนั้นปรากฏชัดเจนขึ้นตามลำดับๆ จนเรารู้ชัดว่า อันนี้เป็นรูปของผู้หญิง เป็นรูปของผู้ชาย เป็นรูปของอะไร อันนี้เป็นตัวทุกขสัจ อาการที่รูปพร้อมความรู้สึกของเราดับไป นี้เป็นตัวนิโรธสัจ ปัญญาที่ทราบชัดตั้งแต่เราเริ่มเห็นรูป เห็นรูปชัดเจนแจ่มแจ้งจนกระทั่งรูปพร้อมทั้งความรู้สึกดับไป เป็นมรรคสัจ
เวลาหูได้ยินเสียงก็เหมือนกัน อริยสัจ ๔ เกิดขึ้นทางหู วินาทีแรกที่หูได้ยินเสียง เป็นตัวสมุทัย คือตัวเหตุ เมื่อได้ยินเสียงนั้น เสียงชัดเจนยิ่งขึ้น ทราบได้ว่านี้เป็นเสียงของอะไร เสียงผู้หญิงหรือเสียงผู้ชาย เสียงของเทปหรือวิทยุ เราทราบชัดขึ้นมา นี้เป็นตัวทุกขสัจ อาการที่เสียงพร้อมทั้งความรู้สึกดับไป เป็นนิโรธสัจ ปัญญาที่ทราบชัดตั้งแต่เริ่มได้ยินเสียง จนกระทั่งเสียงพร้อมด้วยความรู้สึกของเราดับไป เป็นมรรคสัจ
เวลาจมูกได้กลิ่น อริยสัจเกิดขึ้นที่จมูก วินาทีแรกที่จมูกได้กลิ่น เป็นสมุทัย อาการที่กลิ่นปรากฏชัดเจนแจ่มแจ้งยิ่งๆขึ้นจนสามารถรู้ได้ว่า อันนี้เป็นกลิ่นของอะไร เป็นกลิ่นหอมหรือเหม็น มาจากไหน นี้เป็นตัวทุกขสัจ อาการที่กลิ่นพร้อมกับความรู้สึกของเราดับไป เป็นตัวนิโรธสัจ ปัญญาที่ทราบชัดตั้งแต่เริ่มได้กลิ่น จนถึงกลิ่นพร้อมกับความรู้สึกของเราดับไป เป็นมรรคสัจ
เวลาลิ้มรสก็เหมือนกัน อริยสัจเกิดที่ลิ้น วินาทีแรกที่ลิ้นได้รส เป็นตัวสมุทัย อาการที่รสปรากฏชัดเจนจนทราบว่าเป็นรสอะไร เปรี้ยวหรือหวาน เกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นตัวทุกขสัจ อาการที่รสนั้นพร้อมกับความรู้สึกของเราดับไป เป็นนิโรธสัจ ปัญญาที่ทราบชัดตั้งแต่รสเกิดขึ้น จนถึงรสพร้อมทั้งความรู้สึกนั้นดับ เป็นมรรคสัจ
เวลากายของเราถูกสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็งก็เหมือนกัน วินาทีแรกที่มีการกระทบกับอาการเย็นร้อนอ่อนแข็ง เป็นตัวสมุทัย อาการที่เย็นร้อนอ่อนแข็งนั้นปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้นตามลำดับๆ จนรู้ว่าอาการกระทบนี้มันมาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นตัวทุกขสัจ อาการที่กระทบกับเย็นร้อนอ่อนแข็ง พร้อมด้วยความรู้สึกของเราดับไป เป็นนิโรธสัจ ปัญญาที่ทราบชัดตั้งแต่ได้กระทบสัมผัส จนถึงอาการกระทบสัมผัสกับเย็นร้อนอ่อนแข็ง พร้อมด้วยความรู้สึกดับไป เป็นมรรคสัจ
อริยสัจ ๔ เกิดทางใจ วินาทีแรกที่ใจรู้อารมณ์หรือคิดอารมณ์ เป็นสมุทัย อารมณ์นั้นปรากฏชัดเจนแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น เป็นทุกขสัจ อารมณ์พร้อมด้วยความรู้สึกของเราดับไป เป็นนิโรธสัจ ปัญญาที่ทราบชัดตั้งแต่แรกที่ใจรู้อารมณ์หรือคิดอารมณ์ จนอารมณ์พร้อมด้วยความรู้สึกนั้นดับไป เป็นมรรคสัจ
ทีนี้ใกล้เข้ามา ในอาการที่เรากำหนด เช่นว่า เรากำหนดอาการยืน อาการอยากเดิน อาการขวาย่าง อาการซ้ายย่าง อาการนั่ง อาการนอน อริยสัจ ๔ เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น และในขณะที่เรากำหนดอาการพองอาการยุบ อริยสัจ ๔ ก็เกิดขึ้นได้ เช่น เรากำหนดอาการพองว่า พุทโธๆ หรือพองหนอ หรือว่ารู้หนอ คำใดคำหนึ่ง วินาทีแรกที่ท้องของเราพองขึ้นมาเส้นขนหนึ่ง สองเส้นขน สามเส้นขน อย่างนี้เป็นตัวสมุทัย อาการที่ท้องของเราพองสูงขึ้นๆ จวนๆ จะดับ เป็นทุกขสัจ อาการพองพร้อมกับความรู้สึกของเราดับไป เป็นนิโรธสัจ ปัญญาที่ทราบชัดตั้งแต่เริ่มพองจนถึงอาการพองพร้อมกับความรู้สึกของเราดับไป เป็นมรรคสัจ
อริยสัจ ๔ เกิดขึ้นในขณะที่เรากำหนดอาการยุบ วินาทีแรกที่ท้องของเรายุบลงไปเส้นขนหนึ่ง สองเส้นขน เป็นต้น เป็นสมุทัย อาการยุบนี้แจ่มแจ้งขึ้นตามลำดับ จนจวนๆอาการยุบนั้นจะดับลง เป็นทุกขสัจ คือมันทนอยู่ไม่ได้ เมื่อยุบลงไปก็ยุบลงเรื่อยๆ อาการยุบพร้อมกับความรู้สึกของเราดับไป เป็นนิโรธสัจ ปัญญาที่ทราบชัดตั้งแต่เริ่มยุบ ตลอดถึงอาการยุบพร้อมกับความรู้สึกของเราดับไป เป็นมรรคสัจ
ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย อริยสัจ ๔ นั้น เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดขึ้นในขณะที่เรากำหนดอาการพองอาการยุบ ได้ทั้งนั้น เหตุนั้น เวลาบรรลุอริยมรรคอริยผล ก็บรรลุได้ทุกโอกาส คือบรรลุในขณะที่ตาเห็นรูปก็ได้ ในขณะที่หูได้ยินเสียงก็ได้ หรือบรรลุในขณะที่จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ใจรู้ธรรมารมณ์ ก็ได้ ในขณะที่เรากำหนดอาการพองอาการยุบก็บรรลุได้
คือหมายความว่า เวลาจะบรรลุอริยมรรคอริยผล ก็บรรลุที่ร่างกายอันยาววาหนาคืบของเรานี้ มิใช่ว่าเราจะไปบรรลุที่อื่น เวลาประพฤติปฏิบัติธรรม ใครที่เฝ้าเหม่อมองคิดว่า เมื่อไรหนอพระพุทธเจ้าจะมาโปรด เมื่อไรหนอพระอรหันต์จะมาโปรด เมื่อไรหนอเทพเจ้าบนสวรรค์ผู้มีฤทธิ์มากจะมาโปรดให้ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล
ถ้ามัวแต่คิดอย่างนั้น ก็หมายความว่าปฏิบัติผิดทาง เพราะว่าผู้มีฤทธิ์มีอำนาจมากสักปานใดก็ตาม มาดลบันดาลให้เราบรรลุนั้นไม่ได้ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของแห่งธรรมของศาสนานี้ ก็ยังไม่สามารถที่จะบันดาลให้ได้
พระองค์เป็นแต่ผู้ชี้แนะแนวทางให้ประพฤติปฏิบัติตามเท่านั้น ส่วนความเพียรนั้นเราต้องทำเอาเอง แต่มีข้อแม้อยู่ว่า เวลาจะบรรลุอริยมรรคอริยผลนั้น ต้องเห็นอริยสัจ ๔ และอริยสัจ ๔ นั้นต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน จึงจะใช้ได้ ถ้าเกิดไม่พร้อมกัน ก็ใช้ไม่ได้
อีกอย่างหนึ่ง ที่ว่าอริยสัจเกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือเกิดที่เรากำหนดอาการพองอาการยุบก็ได้นี้ หมายความว่า ถ้าเรามีสติกำหนด อริยสัจ ๔ จึงจะเกิด ถ้าเราไม่มีสติกำหนด อริยสัจ ๔ ไม่เกิด ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า เมื่ออริยสัจ ๔ มันเกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราก็ได้ ที่อาการพองอาการยุบก็ได้ อริยสัจ ๔ อยู่ที่ตัวเรานี้แล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติพระกัมมัฏฐานให้ลำบาก
ถ้าคิดอย่างนี้ เรียกว่าคิดผิด ไม่ถูกทาง อุปมาเหมือนกันกับเรามีนาอยู่ เราก็รู้ว่านานี้เราเอาข้าวไปปลูกมันก็งอกขึ้นมา เมื่อมันผลิดอกออกผลเราก็เก็บเกี่ยวได้มาไว้รับประทาน แต่ถ้าหากว่าเราไม่เอาข้าวไปหว่าน ไม่เอาข้าวไปปลูกแล้ว มันก็เกิดขึ้นมาไม่ได้ ข้อนี้ฉันใด
ที่ว่าอริยสัจ ๔ เกิดอยู่ในร่างกายอันยาววาหนาคืบของเราก็เหมือนกัน เราเรียนเรารู้อยู่ว่า อริยสัจ ๔ เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดที่อาการพองอาการยุบ แต่เราไม่มีสติกำหนด ไม่ใช้ความเพียรในการปฏิบัติ ไม่เอาสติไปกำหนด อริยสัจ ๔ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ และอริยสัจ ๔ นี้ต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน จึงจะถือว่าเป็นการบรรลุ
อุปมาเหมือนกันกับเราจุดเทียน จะมีลักษณะ ๔ ประการเกิดขึ้นพร้อมกัน คือ ๑. ขี้ผึ้งหมดไป ๒. ไส้เทียนหมดไป ๓. แสงสว่างเกิดขึ้น ๔. ความมืดหายไป
ลักษณะทั้ง ๔ ประการนี้ต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน ฉันใด อริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นี้ต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน ฉันนั้น จึงจะถือได้ว่าบรรลุอริยมรรคอริยผล และในขณะที่อริยสัจทั้ง ๔ เกิดนั้น ก็ต้องมีพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดพร้อม จึงถือว่าเป็นการบรรลุ
สรุปแล้วว่า ร่างกายอันยาววาหนาคืบของเรานี้ เป็นก้อนอริยสัจทั้งก้อน เหตุใดจึงว่าเช่นนั้น สมมุติว่า
๑. ทุกขอริยสัจ เป็นทุกข์จริงๆ อะไรเป็นทุกข์ ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ใครเป็นผู้เกิด ใครเป็นผู้แก่ ใครเป็นผู้ตาย เราเองเป็นผู้เกิด ผู้แก่ ผู้ตาย เหตุนั้น ทุกขอริยสัจ จึงรวมอยู่ที่ร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้
๒. สมุทัย คือ ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ตัณหาคือความทะยานอยากอย่างแรงกล้า อยากไปเกิดเป็นมนุษย์ อยากเกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดา อยากไปเกิดเป็นพระพรหมในพรหมโลก หรืออยากเป็นนั้นเป็นนี้ อยากไม่เป็นนั้นเป็นนี้ ใครเป็นผู้อยาก เราเองเป็นผู้อยาก เหตุนั้น สมุทัยสัจจึงรวมอยู่ที่ร่างกายนี้
๓. นิโรธ คือ ความดับทุกข์ ได้แก่ พระนิพพาน ความดับทุกข์นั้น คือการดับตัณหาทั้ง ๓ ประการ ใครเป็นผู้ดับ เราเองเป็นผู้ดับ ไม่มีใครมาดับให้ได้ เหตุนั้น นิโรธสัจจึงรวมอยู่ที่ร่างกายนี้
๔. มรรค คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ การปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา การปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา นี้ ใครเป็นผู้ปฏิบัติ เราเองเป็นผู้ปฏิบัติ เหตุนั้น มรรคสัจก็จึงรวมอยู่ที่สกนธ์ร่างกายนี้
ร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ เป็นก้อนอริยสัจ เป็นก้อนธรรมะล้วนๆ เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายได้ใช้โยนิโสมนสิการ ใคร่ครวญ ตริตรอง พิจารณา ใช้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ สอดส่องธรรม ให้เห็นร่างกายนี้ประกอบไปด้วยอริยสัจทั้ง ๔ และตั้งอยู่ในกฎของพระไตรลักษณ์อันเป็นสามัญลักษณะ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วดับไป ทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป
เมื่อใด เราพิจารณาร่างกายอันยาววาหนาคืบ เห็นว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในขณะเดียวกัน อริยสัจ ๔ ก็เกิดขึ้นพร้อมๆกัน ในขณะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายก็ถือว่าได้บรรลุอริยมรรคอริยผล
ท่านทั้งหลาย ธรรมะที่ได้นำมาบรรยายนี้ เราฟังดูแล้วเหมือนกันกับง่ายนิดเดียวเท่านั้น ที่จริงมันก็เป็นของง่ายเหมือนกัน คือง่ายอยู่ที่รู้วิธีปฏิบัติ แต่ยากอยู่ที่ไม่รู้วิธีปฏิบัติ ถ้าเรารู้วิธีปฏิบัติแล้ว และพยายามตั้งอกตั้งใจปฏิบัติจริงๆ มีศรัทธาความเชื่อมั่นจริงๆ หลวงพ่อว่าไม่เหลือวิสัยที่ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายจะได้บรรลุสามัญผล
เพราะอริยสัจ ๔ ก็อยู่ที่สกนธ์ร่างกายนี้ทั้งหมด แต่เรามองไม่เห็น เหมือนกันกับเส้นผมบังภูเขา เพราะเหตุไร? เพราะโมหะคือความมืดบอด หรืออวิชชาความโง่ความหลง มาบังจักษุคือปัญญาของเราไว้ ไม่ให้มองเห็นอริยสัจ ๔ เหมือนกันกับขนตาของเรา ขนตาของเรามันอยู่ใกล้ตามากที่สุด แต่เรามองไม่เห็น ข้อนี้ฉันใด
อริยสัจ ๔ มันอยู่ใกล้ตัวเรา อยู่ที่ตัวเรา แต่เราก็มองไม่เห็น เพราะโมหะมันบังไว้ ดังนี้เราต้องเพิก ต้องกำจัดโมหะออกไป ด้วยการใช้สติไปทำลายโมหะ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจอะไรๆ ต้องมีสติกำกับเสมอ เพื่อเป็นการฝึกสติให้มีพลัง มีอานุภาพ
เมื่อใดสติของเรามีพลังมีอานุภาพแล้ว สติตัวนี้ก็จะไปทำลายโมหะหรือกำจัดโมหะทันที เมื่อใดเรากำจัดโมหะที่ปิดบังอริยสัจ ๔ และพระไตรลักษณ์ได้แล้ว เราก็จะเห็นอริยสัจทั้ง ๔ พร้อมด้วยพระไตรลักษณ์ เมื่อเราเห็นอริยสัจ ๔ พร้อมด้วยพระไตรลักษณ์ ก็ได้ชื่อว่า เราได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว
ต่อไปก็ขอเตือนสติท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย
๑. ก็ในการปฏิบัติธรรมนี้ หากว่าไม่จำเป็น ขอร้องอย่าฉันหนเดียว โดยเฉพาะท่านที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร โรคประสาท โรคความดันสูงอย่างนี้ ขอร้องเป็นพิเศษ อย่าฉันหนเดียว ให้ฉันสองหน แต่ว่าเราฉันไม่มากไม่เป็นไร เพราะว่า ถ้าเราฉันหนเดียว จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้โรคเหล่านั้นกำเริบขึ้นมา
อีกอย่างหนึ่ง ก็จะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เวลาเราฉันเสร็จ แทนที่จิตใจจะได้ร่าเริงเบิกบาน กระฉับกระเฉงในการประพฤติปฏิบัติ ฉันเข้าไปแล้วทำให้ง่วงนอนและอยากนอน การปฏิบัติก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เหตุนั้น เราฉันสองหนแต่ฉันอย่าให้เต็มที่ไม่เป็นไร เว้นแต่ท่านผู้ใดอ้วนเกินไป การประพฤติปฏิบัติอืดอาดยืดยาดไม่เดินหน้า นั่งก็ไม่สะดวกไม่สบาย อย่างนี้ท่านจะฉันหนเดียวก็ได้ ไม่เป็นไร
๒. อย่าให้เกิดอาการตึงเครียด คือถ้าอาการตึงเครียดเกิดขึ้นมา จะทำให้คิดมาก นั่งอยู่ ๕ นาที คิดไปร้อยเรื่องพันเรื่อง เมื่อเราไม่ระงับ ไม่กำหนด ปล่อยให้ความตึงเครียดเกิดขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้เสียสติ เป็นบ้าได้ ดังนั้น เมื่อความตึงเครียดเกิดขึ้นมา ให้ไปสรงน้ำแล้วทำจิตใจให้สบาย จึงค่อยมาเดินจงกรมนั่งสมาธิ อย่าให้เกิดความตึงเครียดขึ้น
๓. อย่าให้หย่อนยานเกินไป คือนอกเวลาเดินจงกรมนั่งสมาธิ จะไปไหนๆ ขอให้กำหนด เราจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆก็ตาม ก็ขอให้รู้ทันทุกขณะ และในเวลาทำกิจอะไรๆ ก็พยายามทำให้เป็นอารมณ์เดียว เช่น ในขณะเดินเราก็ตั้งใจเดิน
ถ้าเราจะครองผ้าหรือห่มจีวรอย่างนี้ ก็หยุดห่มเสียก่อน ห่มจีวรเสร็จจึงค่อยไป ถ้าเราทั้งเดินด้วยทั้งห่มด้วย ก็ชื่อว่าเรามี ๒ อารมณ์ ๓ อารมณ์แล้ว ฉะนั้น จะทำอะไรๆ ก็ขอให้เป็นอารมณ์เดียว ถ้าแปรงฟันก็ตั้งใจแปรงฟัน ถ้าสรงน้ำก็ตั้งใจสรงน้ำ อย่าทำขณะเดียว ๒ อย่าง จิตกำหนดไม่ทัน
๔. ชั่วโมงที่ผ่านการปฏิบัติ (เวลาบรรลุผล) มากที่สุด เท่าที่หลวงพ่อได้สอนลูกศิษย์ลูกหามา ส่วนมากจะเป็นตั้งแต่ ๔ ทุ่มไปจนถึงตี ๒ จะผ่านการปฏิบัติได้มากที่สุด เหตุนั้น ท่านทั้งหลาย หลังจากตีระฆังนอนตอน ๔ ทุ่มแล้ว ก็ให้เดินจงกรมนั่งสมาธิต่อไปอีกพอสมควร แล้วจึงค่อยนอน เพราะช่วงนั้นจะทำให้ผ่านการปฏิบัติได้มากกว่าเวลาอื่น แต่เวลาอื่นก็มีอยู่ ภาคเช้าก็ดีหรือกลางวันก็ดี ก็มีอยู่ แต่ไม่มากเท่าช่วง ๔ ทุ่มไปถึงตี ๒ นี้ ผ่านกันมากที่สุด
๕. ขอร้องเป็นพิเศษ อย่าพูดอย่าคุยกันในชั่วโมงปฏิบัติ ที่เพื่อนๆปฏิบัติเดินจงกรมนั่งสมาธิ เราไปคุยกันก็ทำให้รบกวนผู้ที่ปฏิบัติ และเป็นเหตุให้ไม่พอใจกันขึ้นมา และเวลาฉันภัตตาหารก็เหมือนกัน ขอให้กำหนด อย่าปล่อยไปตามธรรมชาติ เพราะว่า เวลาฉันภัตตาหารนี้ บาปเกิดขึ้นได้มาก บางทีทะเลาะกันในเวลาฉันภัตตาหารนี้ก็มี
ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่ได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง อริยสัจ ๔ มาบรรยายนี้ ก็คิดว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.