สิ่งที่วิปัสสนาควรทำ

สิ่งที่วิปัสสนาควรทำ

           ๑. สติ กำหนดให้ทันปัจจุบันธรรม

           ๒. สติปัฏฐาน ๔

           ๓. สัมมัปปธาน ๔

           ๔. อิทธิบาท ๔

           ๕. อินทรีย์ ๕

           ๖. พละ ๕

           ๗. โพชฌงค์ ๗

           ๘. มรรคมีองค์ ๘

สติปัฏฐาน ๔
(ที่ตั้งแห่งสติ ๔ ประการ)

           ๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ให้มีสติกำหนดพิจารณารู้กายเป็นอารมณ์ว่า กายนี้สักว่ากาย จนรู้แจ้งชัดด้วยวิปัสสนาปัญญาว่า กายนี้สักแต่ว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขาเรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ฐานเป็นที่ตั้งแห่งสติอันเป็นเครื่องตามพิจารณาให้เห็นกายในกาย)

           ๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ให้มีสติกำหนดพิจารณารู้เวทนาทั้งสุข ทุกข์ และไม่สุขไม่ทุกข์ เป็นอารมณ์ว่า เวทนานี้สักว่าเวทนา จนรู้แจ้งชัดด้วยวิปัสสนาปัญญาว่า เวทนานี้สักว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เรียกว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ฐานเป็นที่ตั้งแห่งสติอันเป็นเครื่องตามพิจารณาให้เห็นเวทนาในเวทนา)

           ๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ให้มีสติกำหนดพิจารณารู้อาการของจิตที่เศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว จิตมีราคะ จิตมีโทสะ จิตมีโมหะ จิตปราศจากราคะ จิตปราศจากโทสะ จิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ จิตถึงความเป็นใหญ่ เป็นต้น จนรู้แจ้งชัดด้วยวิปัสสนาปัญญาว่า จิตสักแต่ว่าจิต ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เรียกว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ฐานเป็นที่ตั้งแห่งสติ อันเป็นเครื่องตามพิจารณาให้เห็นจิตในจิต)

           ๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือให้มีสติกำหนดพิจารณารู้ธรรมที่เป็นกุศล หรืออกุศล อันบังเกิดขึ้นกับจิตเป็นอารมณ์ จนรู้แจ้งชัดด้วยวิปัสสนาปัญญาว่า ธรรมนี้สักว่าธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เรียกว่า ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ฐานเป็นที่ตั้งแห่งสติ อันเป็นเครื่องตามพิจารณาให้เห็นธรรมในธรรม)

สัมมัปปธาน ๔
(ความเพียรที่เป็นประธาน ๔ ประการ)

           ๑. สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน คือ ให้มีสติระวังทวารทั้ง ๖

           ๒. ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป คือให้เพียรระวังไม่ให้วิตกทั้ง ๓ เกิดขึ้น

           ๓. ภาวนาปธาน เพียรเจริญกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดมีขึ้น คือมีสติไม่ประมาท เช่น บำเพ็ญสติสัมโพชฌงค์ เป็นต้น

           ๔. อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อมไป คือให้ตามรักษากรรมฐานไว้ไม่ให้เสื่อม เช่น ตามรักษาอัฏฐิกสัญญากรรมฐาน ตามรักษาขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ วิปัสสนาญาณ เป็นต้น ไม่ให้เสื่อมไป

อิทธิบาท ๔
(คุณเครื่องให้สำเร็จความประสงค์ ๔ ประการ)

           ๑. ฉันทะ ความพอใจในการปฏิบัติในสิ่งนั้นๆ

           ๒. วิริยะ ความเพียรในการปฏิบัติ

           ๓. จิตตะ เอาใจใส่จดจ่อในการปฏิบัติ

           ๔. วิมังสา ฉลาดในการปฏิบัติ

อินทรีย์ ๕
(ความเป็นใหญ่ ๕ ประการ)

           ๑. สัทธินทรีย์ อินทรีย์ (ความเป็นใหญ่) คือ ศรัทธา

           ๒. วิริยินทรีย์ อินทรีย์ คือ ความเพียร เช่น ความเพียรรู้ รูป นาม

           ๓. สตินทรีย์ อินทรีย์ คือ สติ ความระลึกได้ทัน รูป นาม

           ๔. สมาธินทรีย์ อินทรีย์ คือ สมาธิ ความตั้งใจมั่นในการที่จะรู้แจ้งรูป นาม

           ๕. ปัญญินทรีย์ อินทรีย์ คือ ปัญญา ความรอบรู้ในรูป นาม

พละ ๕
(กำลัง ๕ ประการ)

           ๑. สัทธาพละ กำลัง คือ ศรัทธา

           ๒. วิริยพละ กำลัง คือ ความเพียร

           ๓. สติพละ กำลัง คือ สติ

           ๔. สมาธิพละ กำลัง คือ สมาธิ

           ๕. ปัญญาพละ กำลัง คือ ปัญญา

โพชฌงค์ ๗
(องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ ๗ ประการ)

           ๑. สติสัมโพชฌงค์ (องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ คือ สติ) คือในขณะนั้นจิตมีสติระลึกอยู่ได้ว่า ตนกำลังปฏิบัติอย่างไร เช่น ตนกำลังเพ่งกสิณ ตนกำลังบริกรรม ตนกำลังกำหนดลมหายใจ ระลึกถึงวัตรของตนได้อยู่ ไม่เผลอ ไม่ประมาท ไม่หลับ เป็นต้น

           ๒. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ (องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ คือ ธัมมวิจัย) คือ ในขณะนั้นปัญญาหรือวิจรณญาณก็ทำงานอยู่ หมายความว่าได้ใช้ปัญญาธรรมารมณ์ที่เกิดแก่ใจ ให้เห็นตามพระไตรลักษณ์อยู่ มิใช่มัวคิดเพลิดเพลินไป ทางอื่น หรือหลับไป หรือไม่ได้ทำอะไรเลย

           ๓. วิริยสัมโพชฌงค์ (องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ คือวิริยะ) คือ ความเพียรพยายามในการใช้ปัญญาพิจารณา ซึ่งเรียกว่า วิปัสสนานั้นจิตไม่ซบเซาไม่เกียจคร้านท้อแท้

           ๔. ปีติสัมโพชฌงค์ (องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ คือ ปีติ) คือ ความเอิบอิ่มใจในการเจริญวิปัสสนา เป็นความเอิบอิ่มใจที่ไม่อิงอามิสไม่ข้องเกี่ยวกับกามารมณ์ คือไม่มีความติดพันในลาภยศ หรือ อิฏฐารมณ์ใดๆ แต่เป็นความเอิบอิ่มแห่งจิตอันบริสุทธิ์แท้

           ๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ (องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ คือ ปัสสัทธิ) ได้แก่ความสงบระงับ คือในขณะนั้นได้เกิดความสงบระงับทั้งกายและจิต ไม่มีอาการกระวนกระวายด้วยอำนาจแห่งกิเลสตัณหาใดๆ เลย

           ๖. สมาธิสัมโพชฌงค์ (องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ คือ สมาธิ) ได้แก่ความตั้งมั่นแห่งจิต คือในขณะนั้นจิตหยุดนิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียวไม่วอกแวก ไม่หลุกหลิก หากมั่นอยู่ในอารมณ์ของวิปัสสนาญาณแท้

           ๗. อุเบกขาสัมโพชฌงค์ (องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้คืออุเบกขา) ได้แก่ความวางเฉยของจิต คือ จิตในขณะนั้นตั้งอยู่ในอารมณ์แห่งอุเบกขา ไม่เอนเอียงไปข้างอิฏฐารมณ์ (อารมณ์อันน่าปรารถนา) ไม่เอนเอียงไปข้างอนิฏฐารมณ์ (อารมณ์อันไม่น่าปรารถนา) แต่มีความวางเฉย ดุจยานพาหนะที่แล่นไปบนทางราบเรียบได้ที่ดีแล้ว สารถีก็วางเฉยในการควบคุมได้

           จากโพชฌงค์ ๗ นี้ เราจะเห็นได้ว่า จิตจะเข้าสู่จุดตรัสรู้มีอาการอย่างไร และการตรัสรู้ที่แท้จริงนั้น ไม่ใช่ความฝัน ไม่ใช่ผีเข้าเจ้าทรง ไม่ใช่คาดคะเนนึกเดาเอาเอง และไม่มีความทะเยอทะยานใดๆ ทั้งสิ้นฯ

มรรคมีองค์ ๘
(หนทางอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ)

           ๑. สัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ได้แก่ เห็นอริยสัจ ๔

           ๒. สัมมาสังกัปปะ คือ ความดำริชอบ ได้แก่ ดำริจะออกจากกาม ดำริในการไม่พยาบาท ดำริในการไม่เบียดเบียน

           ๓. สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ ได้แก่ เว้นจากวจีทุจริต ๔

           ๔. สัมมากัมมันตะ คือ การทำงานชอบ ได้แก่ เว้นจากกายทุจริต ๓

           ๕. สัมมาอาชีวะ คือ เลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ เว้นจากการเลี้ยงชีพที่ผิด

           ๖. สัมมาวายามะ คือ ความเพียรชอบ ได้แก่เพียรในที่ ๔ สถาน (สัมมัปปธาน ๔)

           ๗. สัมมาสติ คือ ความระลึกชอบ ได้แก่ ระลึกในสติปัฏฐานทั้ง ๔

           ๘. สัมมาสมาธิ คือ ความตั้งใจมั่นชอบ ได้แก่ เจริญฌาน ๔ ให้เกิดขึ้น

           ในองค์ทั้ง ๘ นั้น ความเห็นชอบ ความดำริชอบ จัดเข้าในปัญญาสิกขา วาจาชอบ การงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ จัดเข้าในสีลสิกขา ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ จัดเข้าในจิตตสิกขา