หนอ
(วัดดอนป่าช้าบ้านคำหว้า ๒๓ พ.ย. ๕๒)
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ขอโอกาสคณะสงฆ์ ขอความเจริญในธรรมจงมีแก่ญาติโยมผู้สนใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมทุกท่าน วันนี้ก็ถือว่าเป็นวันที่ ๔ ของการประพฤติปฏิบัติธรรม ที่วัดป่าช้าคำหว้า อำเภอตาลสุม จังหวัดอุบล ซึ่งวันนี้ก็ถือว่าคณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้ขึ้นมานัตกัน ธรรมดามานัตนั้นท่านไม่ได้เผื่อเหนือตกใต้ ท่านให้อยู่ ๖ ราตรี คือคณะครูบาอาจารย์ที่มาขึ้นมานัตประพฤติวุฏฐานวิธีนี้ ต้องอยู่มานัตถึง ๖ ราตรี จะขาดไม่ได้แต่ว่าเกินนั้นได้ แต่คณะครูบาอาจารย์ที่จะปรกกรรมให้พวกเรานั้นมีเวลาจำกัด ๖ ราตรี เพราะฉะนั้นก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ได้รักษาตัวของตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัย อย่าให้ขาดตกบกพร่อง
วัตรของมานัตนั้นเพิ่มขึ้นจากปริวาสอยู่ ๑ ข้อ คือวัตร (วัตตเภท) ของปริวาสนั้นคือ
๑. สหวาโส อยู่ร่วมชายคากับบุคคลผู้เป็นปกติที่เป็นผู้ที่ไม่ได้เข้าปริวาส อันนี้เข้าร่วมชายคาไม่ได้
๒. วิปปวาโส คืออยู่ปราศจากเขตที่ท่านได้กำหนดกฏเกณฑ์ไว้ว่า มีเขตถึงไหนถึงไหนนั้นเราออกไปไม่ได้ ถ้าพระปริวาสจะออกไปนั้นต้องมีภิกษุรูปหนึ่งออกไปเป็นเพื่อน แต่ว่ามานัตต์นั้นจะออกไปต้องมีภิกษุอย่างน้อย ๔ รูปออกไปเป็นเพื่อน วัตรนั้นถึงจะไม่ขาดไม่พร่อง
๓. อนาโรจนา คือ ไม่บอกแก่ภิกษุที่ยังไม่ได้บอก ส่วนปริวาสนั้นบอกแก่ภิกษุเพียงครั้งเดียวหรือว่าหลังอุโบสถ ๑๕ วันบอกครั้งหนึ่ง อันนี้ก็ถือว่าใช้ได้ แต่ว่ามานัตต์นั้นต้องบอกทุกวัน ลูกกรรมผู้เป็นมานัตตจริกะ ทุกรูปต้องบอกทุกวันภิกษุผู้เป็นปกติก็ต้องรับบอกทุกวันขาดไม่ได้ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขาดก็ถือว่าเสียหาย ถ้าลูกกรรมรูปใดรูปหนึ่งขาด ลูกกรรมนั้นก็บกพร่องเฉพาะบุคคล แต่ถ้าคณะอาจารย์กรรมขาดรูปเดียวก็ทำให้คณะสงฆ์ทั้งหมดที่มาประพฤติวุฏฐานวิธีนั้นพร่อง เพราะฉะนั้นอาจารย์กรรมนั้นต้องมีความรับผิดชอบสูงกว่าผู้ที่เป็นลูกกรรม ลูกกรรมใครขาดตกบกพร่องก็เป็นส่วนของบุคคลนั้นไป แต่อาจารย์กรรมนั้นต้องมีความกระตือรือร้น มีความเอาใจใส่เป็นพิเศษถ้าขาดตกบกพร่องไปก็ทำให้คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายนั้นพลอยบกพร่องไปด้วย เพราะฉะนั้นอนาโรจนานั้นเราต้องบอกทุกวัน
๔. อูเน คเณ จรณํ คือ ประพฤติในคณะสงฆ์อันพร่อง ในที่นี้คณะสงฆ์ของเราก็มีอยู่ ๒๐ กว่ารูป เราต้องประพฤติวัตรในคณะสงฆ์ ๔ รูป ถือว่าเป็นสงฆ์ ถ้าบุคคลเดียวก็ถือว่าเป็นบุคคล ถ้า ๒ รูปก็ถือว่าเป็นคณะ ถ้า ๓ รูปก็ถือว่าเป็นคณะ ถ้า ๔ รูปขึ้นไปถือว่าเป็นสงฆ์ เพราะฉะนั้นต้องมีสงฆ์ดูแล ถ้าเราขึ้นมานัตโดยที่ไม่มีสงฆ์ดูแล เรียกว่าประพฤติในคณะสงฆ์อันพร่อง เพราะฉะนั้นขอให้คณะครูบาอาจารย์ได้ประพฤติวัตรให้มีคณะสงฆ์นี้ก็ถือว่าสมบูรณ์ อันนี้เป็นเรื่องของปริวาส ต่อไปก็จะขอกล่าวธรรมมะพื้นๆ ให้คณะครูบาอาจารย์ได้สดับรับฟัง
วันนี้จะได้น้อมนำความหมายของคำว่า “หนอ” มากล่าวให้คณะครูบาอาจารย์ได้สดับรับฟัง คณะครูบาอาจารย์หลายรูป คุยกันอย่างโน้นคุยกันอย่างนี้ ว่าคำว่า “หนอ” นี้มาจากไหนหนอ ประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วจะได้บรรลุมรรคผลนิพพานหรือเปล่า เราพูดคำว่า “หนอ” บริกรรม “พองหนอ” “ยุบหนอ” “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” นี้ไม่รู้ว่าเอามาจากไหน เราประพฤติปฏิบัติตามพองหนอยุบหนอ แล้วได้บรรลุมรรคผลนิพพานหรือไม่บางรูปบางท่านก็สงสัย
บางรูปบางท่านก็ว่า “หนอ” นี้มาจากประเทศพม่าไม่ใช่เป็นของประเทศไทยเราไปเอาของพม่ามา บางรูปบางท่านอาจจะว่าอย่างนั้น แต่ว่าคำว่า “หนอ” นั้นเป็นภาษาอะไร เป็นภาษาไทย หรือว่าเป็นภาษาพม่า หรือว่าเป็นภาษาบาลี คำว่า “หนอ” นั้นก็ถือว่าเป็นภาษาไทย “ห” นำ “น” สระ “อ” อ่านว่า “หนอ” นั้นเป็นภาษาไทย ไม่ใช่เป็นภาษาพม่า ไม่ใช่เป็นภาษาบาลี แต่ว่าเป็นภาษาไทย และ “หนอ” นั้นเป็นพระธรรมคำสั่งสอนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้หรือไม่
คำว่า “หนอ” นั้นถือว่าเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงตรัสไว้ ตัวอย่างที่ท่านกล่าวไว้ในตอนที่พระองค์ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรว่า “อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ” โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ อันนี้เป็นคำที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ ในเมื่อพระองค์ทรงไปโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แคว้นพาราณสี เรียกว่าเป็นคำตรัสจากพระองค์ เรียกว่าเป็นคำที่พระองค์ทรงตรัสออกจากพระโอษฐ์
และพระองค์ทรงตรัสในเรื่องของจุลกาล มหากาล แล้วก็มัชฌิมกาลที่ปรากฏอยู่ในธรรมบทที่เราเรียน ในเปรียญธรรมประโยค ๑-๒ ประโยค ๓ ประโยค ๔ ประโยค ๕ ประโยค ๖ อันนี้เราเรียนธรรมบท ที่พระองค์ทรงตรัสว่า “อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน” “อนิจจา วต สังขารา สังขารไม่เที่ยงหนอ” อันนี้ก็ถือว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสเรื่อง “หนอ” ให้มหากาลได้ฟัง ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มหากาลนั้นได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔
แล้วก็พระองค์ทรงแสดงไว้ในธรรมบทเหมือนกัน ซึ่งแสดงให้แก่พระปูติคัตตติสสเถระฟังว่า “อจิรํ วตยํ กาโย ปฐวึ อธิเสสฺสติ” เป็นต้น “ไม่นานหนอกายนี้จักนอนทับซึ่งแผ่นดิน” อันนี้ถือว่าเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงตรัสไว้
แล้วคำว่า “หนอ” นั้นแปลว่าอย่างไร เมื่อเรารู้ว่าเป็นคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรามาทำความเข้าใจว่า “หนอ” นั้นแปลว่าอย่างไร “หนอ” นั้นเป็นภาษาไทย ถ้าแปลเป็นภาษาบาลีนั้นแปลว่า วัฏฏะ ก็ได้ ถ้าแปลโดยอรรถท่านแปลได้หลายอย่าง อย่างเช่น หนอ แปลว่า วัฏฏะ ก็ได้ หนอ แปลว่า สลดใจ ก็ได้ แปลว่า สังเวชใจ ก็ได้ หนอแปลว่า วิตก แปลว่า กังวล ก็ได้ หนอ แปลว่า รำพึง ก็ได้ หนอ แปลว่า แน่แท้ ก็ได้ หนอ แปลว่า เบิกบานใจ ก็ได้ หนอ แปลว่า ร่าเริง ก็ได้ หนอ แปลว่า ชุ่มฉ่ำใจ ก็ได้ หนอแปลว่า สงบทุกด้าน ก็ได้ หรือว่า หนอ แปลว่า ถึงเดี๋ยวนี้ หรือว่า ถึงปัจจุบันนี้ ก็ได้ นี้ท่านแปลไว้โดยอรรถได้หลายอย่าง เพราะว่าบาลีมีนัยเป็นร้อย คนมีความรู้น้อยว่าแปลไม่ถูกอะไรทำนองนี้ อันนี้ท่านแปลโดยอรรถ
แต่ที่จะนำมากล่าวให้คณะครูบาอาจารย์ได้ฟัง หนอ นั้นเพื่อที่ให้เข้ากับการประพฤติปฏิบัติธรรม แปลว่า ยังสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ข้ามพ้นซึ่งวัฏฏสงสาร ดังวิเคราะห์ที่ท่านกล่าวไว้ว่า “วฏฺฏสํสารํ ตาเรตีติ วโต ธมฺโม” ซึ่งแปลเป็นใจความว่า “ธรรมชาติใดที่ยังสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ข้ามซึ่งวัฏฏสงสาร ธรรมชาตินั้นชื่อว่า หนอ ชื่อวะโต หรือว่า หนอ เพราะฉะนั้นธรรมใดที่ยังสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ข้ามซึ่งวัฏฏสงสาร ธรรมนั้นจึงชื่อว่า หนอ เพราะฉะนั้นคำว่า “หนอ” นั้น แปลว่ายังสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นให้ข้ามซึ่งห้วงมหรรณพภพสงสาร
วัฏฏสงสารนั้นคืออย่างไร ? ญาติโยมอาจจะสงสัย ข้ามวัฏฏสงสารข้ามอย่างไร วัฏฏสงสารนั้น ภาษาบาลีนั้นแบ่งออกเป็นอีก ๒ ศัพท์ วฏฺฏ (วัฏฏะ) แปลว่า “วน” แปลว่า “หมุน” แปลว่า “กลิ้ง” แปลว่า “กลับไปกลับมา” สงสาร มาจากคำว่า สํสาร (สังสาระ) แปลว่า “แล่นไป” แปลว่า “ท่องเที่ยวไป” เมื่อต่อกันเข้าก็แปลว่าท่องเที่ยวไปโดยที่ไม่รู้จักจบสิ้น เรียกว่าหมุนวนเวียนไป กลับไปกลับมา เหมือนกับมดแดงที่มันไต่ขอบโต๊ะ ไต่แล้วก็หมุนเวียนไปหมุนเวียนมา เหมือนตาบอดพายเรือในหนอง เหมือนปลาที่มันแหวกว่ายอยู่ในสระที่มันไม่กว้างใหญ่ จะแหวกว่ายทั้งวันทั้งเดือนทั้งปี ก็อยู่ในสระนั้นแหละไม่ได้ไปไหน อันนี้เรียกว่าหมุนวนเวียนกันไปในลักษณะอย่างนี้
วัฏฏสงสารนั้นอะไรเป็นเหตุให้หมุนเวียน อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นหมุนเวียน ท่านกล่าวว่า กิเลส กรรม แล้วก็วิบาก กิเลสก็คือ ราคะ โทสะ โมหะ นี้แหละ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คนทั้งหลายนั้นต้องหมุนเวียนกันไปในวัฏฏสงสาร คือเมื่อกิเลสเกิดขึ้นมาแล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คนนั้นทำกรรมไม่ดี ท่านกล่าวไว้ว่ากิเลสคือ ราคะ โทสะ โมหะ อันนี้เป็นตัวใหญ่ ส่วนตัวที่ย่อยลงไปก็คือ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อวิชชา อุปาทานต่างๆ โดยเป็นข้อย่อยลงไปอีก กิเลสนั้นเป็นเหตุที่ทำให้คนนั้นหมุนเวียน คือเมื่อกิเลสเกิดขึ้นมาแล้วทำให้คนนั้นเป็นไปต่างๆ คนดีก็กลับเป็นคนชั่วได้ คนชั่วก็กลายเป็นคนชั่วยิ่งๆ ขึ้นไปได้
ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่ามีเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นที่ จ.สมุทรปราการ มีโยมคนหนึ่งมีครอบครัวอยู่ด้วยกัน มีลูก ๒ คน ลูกชายคนหนึ่งลูกหญิงคนหนึ่ง มีภรรยา อยู่ต่อมาไม่นาน ภรรยาก็ไปทำชู้ สามีก็เกิดความไม่อยู่เย็นเป็นสุข เกิดความหวาดระแวงเกิดความกลุ้มอกกลุ้มใจ วันๆ ก็ไปกินเหล้า กินเหล้าเพื่อดับความกลุ้ม วันหนึ่งกินเหล้ากลับมาแล้วก็เกิดโมโห ก็ไปทุบตีลูกสาวซึ่งกำลังเป็นสาว ลูกชายเห็นก็เกิดจิตใจสงสารน้องก็ไปห้าม แล้วก็ถูกพ่อนั้นผลักล้มลงแล้วพ่อก็เอาตีนเหยียบหน้าอกลูกชาย ลูกชายซึ่งเป็นหนุ่มอายุประมาณ ๑๘-๑๙ ปี เกิดความโกรธพ่อขึ้นมาจับมีดปลายแหลมไล่แทงพ่อของตัวเอง พ่อเมาเหล้าวิ่งหนีไม่ทันถูกลูกแทง มีดปลายแหลมเสียบที่กลางหลังตายอย่างน่าอนาถ
อันนี้มันเกิดขึ้นมาเพราะอะไร เพราะอำนาจของกิเลส ทำไมพ่อจึงไปกินเหล้า ก็เพราะว่าพ่อเกิดความกลุ้มใจ เกิดความอยาก อยากดับความกลุ้ม ความอยากนั้นก็เป็นกิเลส ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปกินเหล้าเมายา ส่วนภรรยานั้นทำไมถึงไปทำชู้ ก็เพราะว่าตัณหา ตัณหาก็เป็นกิเลส ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทำชู้สู่สมทำให้สามีต้องเสียอกเสียใจ ส่วนลูกชายทำไมถึงไปฆ่าพ่อ ก็เพราะว่าลูกชายนั้นเกิดความโกรธขึ้นมา ความโกรธเป็นอะไร ความโกรธก็เป็นกิเลส กิเลสก็เป็นปัจจัยให้ฆ่าพ่อ
เมื่อกิเลสเกิดขึ้นมาแล้ว สามีก็เป็นต่างๆ กิเลสเมื่อเกิดขึ้นกับภรรยาแล้วภรรยาก็เป็นต่างๆ ไปทำชู้สู่สม เมื่อกิเลสเกิดขึ้นกับลูกชาย ลูกชายก็เป็นต่างๆ สามารถฆ่าบิดามารดาเป็นอนันตริยกรรม เป็นปิตุฆาต ฆ่าบิดา เวลาตายไปแล้วก็ต้องตกนรกหมกไหม้เกิดในอเวจีมหานรก อันนี้เพราะอะไร เพราะอำนาจของกิเลส แล้วเราจะโทษใคร เราจะโทษสามีว่าเป็นคนกินเหล้ามาก่อเรื่อง หรือว่าเราจะไปโทษภรรยาว่าไปทำชู้สู่สม หรือว่าเราจะต้องโทษลูกชายว่าทำไมถึงไปฆ่าพ่อ เมื่อเราสรุปความแล้วก็คือกิเลส กิเลสเป็นเหตุให้บุคคลทั้งหลายทั้งปวงทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราต้องโทษกิเลส คือโทษวัฏฏสงสาร เรียกว่าเป็นกรรมของกิเลส เป็นกรรมของวัฏฏสงสาร พระอรหันต์หรือว่าผู้ที่มีคุณธรรมต่างๆ ถือว่าเป็นโทษของวัฏฏสงสาร เมื่อมีกิเลสเกิดขึ้นมาแล้วจึงทำกรรม อย่างเช่นสามีเกิดกิเลสขึ้นมาแล้วก็ทำกรรมไม่ดี ภรรยาเกิดกิเลสขึ้นมาแล้วก็ทำกรรมไม่ดี ลูกชายเกิดกิเลสขึ้นมาแล้วก็ทำกรรมไม่ดี
ถ้าเรากล่าวถึงความหมายของกรรมจริงๆ นั้น กรรมนั้นท่านหมายถึงภพ หมายถึงสังขารการปรุงแต่ง ความปรุงแต่งก็คือเจตนานั่นเอง ถ้าบุคคลใดมีเจตนาดี ก็ทำกรรมดี อย่างเช่นขุดบ่อน้ำ สร้างโบสถ์ สร้างศาลา สร้างวิหาร ทำบุญ ทำทาน ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนา นี้ถ้าเรามาทำบุญทำทานรักษาศีล สร้างโบสถ์ สร้างวิหาร สร้างศาลานี้ก็ถือว่าเราทำกามาวจรบุญแล้ว เรียกว่าจิตใจของเราเป็นบุญแล้ว
แต่ถ้าเรามีเจตนาที่จะเอา กาย วาจา ใจของเรานั้นมาเจริญสมถะกรรมฐานจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานขึ้นมา ก็ถือว่าเป็นรูปาวจรบุญแล้ว เป็นรูปาวจรกุศลแล้วแต่ถ้าเราเอามาเจริญอรูปฌาน นับตั้งแต่ อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน จนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ก็ถือว่าเป็นอรูปาวจรกุศลแล้ว เรียกว่าเป็นอรูปาวจรบุญแล้ว ตายแล้วก็ต้องไปเกิดในอรูปพรหม แต่ถ้าเอากาย วาจา ของเรานั้นมาทำการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ก็ถือว่าเป็นโลกุตรบุญ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นพ้นไปจากโลก พ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิด เพราะฉะนั้นกรรมนั้นก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีก็มี
แต่ถ้าจิตใจของเราถูกปรุงแต่งด้วยอำนาจของกิเลส ดังเรื่องที่กล่าวมาข้างต้น ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราไปเกิดในอบายภูมิ หรือว่าไปเกิดในนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน อย่างใดอย่างหนึ่งตามอำนาจของกรรม นี้เรียกว่ากรรมนั้นถ้าบุคคลใดถูกปรุงแต่งด้วยเจตนาที่ดีก็ไปทำในส่วนที่เป็นบุญกุศล ส่วนบุคคลที่ถูกปรุงแต่งด้วยบาปกรรม หรือว่าถูกปรุงแต่งไปด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็ไปทำบาปกรรมนานาประการดังเรื่องที่กล่าวมา
เมื่อเราเกิดกิเลสแล้วเราก็ทำกรรมดีบ้าง ทำชั่วบ้าง เมื่อทำกรรมดีบ้างชั่วบ้างก็เกิดวิบาก วิบากแปลว่าอะไร วิบากแปลว่า เป็นเครื่องไหลออก คือบุคคลทำความดี ความดีนั้นก็ไหลออก บุคคลที่ทำความดีนั้นแหละก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้อานิสงส์ของความดีนั้นไหลออกมาไม่รู้จักจบสิ้น เหมือนกับน้ำซึมบ่อ น้ำซึมบ่อนั้นถึงเราจะไปตักมันก็ซึมออกมาอยู่เป็นประจำ บุญที่บุคคลทำนี้แหละเป็นวิบากเครื่องไหลออก อย่างเช่นที่เราทำบุญทำทานได้มาเกิดเป็นมนุษย์ เราก็มีความร่ำรวย ไม่ต้องถือกระเบื้องขอทาน ไม่ต้องถือกะลาขอข้าว ไม่ต้องลำบาก ไม่ต้องหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน ไม่ต้องปากกัดตีนถีบ เราอยู่เฉยๆ เราก็มีเงินมีทอง มีข้าวของใช้ เกิดอยู่ในตระกูลที่อุดมสมบูรณ์ มีพ่อแม่มีเงินมีทองมีฐานะดี อันนี้เรียกว่าอานิสงส์ของทานมันไหลออกมา
หรือว่าบุคคลใดเกิดขึ้นมาแล้วมีรูปร่างหน้าตาสดสวยงดงาม เพราะอะไร ก็เพราะบุคคลนั้นรักษาศีลมาแต่ก่อน เมื่อบุคคลใดรักษาศีลมาแต่ก่อนวิบากแห่งการรักษาศีลก็ไหลออกมา ไหลออกมาทางตาทำให้ตางาม ไหลออกมาทางคิ้วทำให้คิ้วงาม ไหลออกมาทางจมูกทำให้จมูกโด่งสวยงาม ทำให้ผิวพรรณสดสวยงดงาม พูดจาไพเราะเป็นที่ตราตรึงจิตใจของบุคคลอื่นผู้ได้พบเห็น อันนี้เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะวิบากเป็นเครื่องไหลออกคือการรักษาศีล
ส่วนบุคคลใดเป็นคนที่ทำบาปทำกรรม ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตแต่ภพก่อนชาติก่อน เวลามาเกิดเป็นมนุษย์เศษบาปกรรมเหล่านั้นก็จะเป็นเครื่องไหลออกแห่งอกุศลกรรม ทำให้บุคคลนั้นต้องเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ป่วยเป็นโรคนั้นก็ป่วยเป็นโรคนี้ บางครั้งเกิดขึ้นมา พิกลพิการ หูหนวก ตาบอด แข้งขาไม่ปกติ หรือว่าเกิดขึ้นมาแล้วก็เป็นคนกำพร้ากำพลอยอะไรทำนองนี้ แล้วก็อายุสั้นพลันตาย อันนี้ก็ถือว่าเป็นเครื่องไหลออกของวิบากกรรมที่มันให้ผล
แต่ถ้าบุคคลใดมีการเจริญภาวนาแต่ภพก่อนชาติก่อน พอมาถึงภพนี้ก็มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถรู้อรรถรู้ธรรมรู้เหตุรู้ผล อะไรเป็นบาปอะไรเป็นบุญ อะไรเป็นเหตุที่เราทำแล้วทำให้ต้องตกระกำลำบาก เราก็เว้นจากสิ่งเหล่านั้นเสีย หรือว่ามีปัญญาคุ้มครองตัวเองได้ สิ่งใดที่เราทำแล้วมันจะเป็นทุกข์ ตายแล้วต้องไปเกิดในนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เราก็ไม่ทำ สิ่งใดที่เราทำแล้วคนอื่นดูถูกเรา คนอื่นไม่ให้เกียรติเรา เราก็ไม่ทำ สิ่งใดที่เราทำแล้วเป็นประโยชน์แก่สังคม เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ แก่พระศาสนา เราก็ทำ อันนี้เราเป็นผู้มีปัญญา อันนี้หมายรวมบุคคลที่เคยเจริญวิปัสสนามาแต่ภพก่อนชาติก่อน
เพราะฉะนั้น วิบากคือเป็นเครื่องไหลออก เป็นเหตุให้ได้ผลของการกระทำ ถ้าบุคคลใดทำกรรมไม่ดี ก็ต้องไปเกิดในนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เกิดมาแล้วก็ต้องลำบาก ถ้าบุคคลใดทำกรรมดี ก็ไปเกิดในส่วนที่ดี มนุษย์บ้าง สวรรค์บ้าง พรหมโลกบ้าง อันนี้เป็นวัฏฏสงสารหมุนเวียนกันไปอยู่ในนี้ นรก ๔ มนุษย์ ๑ เทวโลก ๖ พรหมโลกอีก ๒๖ รวมกันเป็น ๓๑ ภูมิพอดี เรียกว่าภูมิ ๓๑ วนเวียนกันอยู่ในลักษณะอย่างนี้ วัฏฏสงสารนั้นวนเวียนกันอยู่ในลักษณะอย่างนี้
ที่ท่านกล่าวว่า “วฏฺฏสํสารํ ตาเรตีติ วโต ธมฺโม” ธรรมชาติใดย่อมยังสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ข้ามสงสาร ธรรมชาตินั้นชื่อว่า วตะ ก็หมายความว่า
“หนอ” ที่เรากำลังบริกรรมในขณะนี้แหละ “พองหนอ” “ยุบหนอ” “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” “ก้มหนอ” “เหยียดหนอ” ในลักษณะอย่างนี้แหละ จะทำให้เรานั้นพ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิดในมหรรณพภพสงสาร
คณะครูบาอาจารย์หรือว่าญาติโยมบางท่านอาจจะคิดว่า คำว่าหนอนั้นจะทำให้คนพ้นไปจากวัฏฏสงสารได้อย่างไร ก็คำว่า “หนอ” นั้นเวลาเราบริกรรม “หนอ” หนอนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คั่นรูปคั่นนาม แยกรูปแยกนาม อย่างเช่นเราบริกรรมพองหนอ ยุบหนอ ทำให้เรารู้ว่าอะไรเป็นพอง อะไรเป็นยุบ อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม ทำให้อาการพองอาการยุบนั้น ไม่ช้าเกินไปไม่เร็วเกินไป พอดีๆ แก่การกำหนด เพราะฉะนั้น เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติเรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ จึงถือว่าเป็นการคั่นรูปคั่นนาม ทำให้เราแยกรูปแยกนามออก ว่าอะไรเป็นรูปอะไรเป็นนาม
ร่างกายของเราตั้งแต่พื้นเท้าถึงปลายผม จากปลายผมถึงพื้นเท้าเป็นรูป สิ่งใดที่สัมผัสได้ด้วยตา ด้วยหู ด้วยจมูก ด้วยลิ้น ด้วยกาย สิ่งนั้นก็เป็นรูป สิ่งใดสัมผัสได้ด้วยใจสิ่งนั้นเป็นนาม เช่นความโกรธ ความโลภ ความหลง เช่นบุญ เช่นบาป อันนี้ก็ถือว่าเป็นนาม
เมื่อเรารู้อะไรเป็นรูปรู้อะไรเป็นนาม เราก็คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างก็มีแต่รูปมีแต่นาม ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารสาระเที่ยงแท้แน่นอน ก็ทำให้จิตใจของเราเกิดความเบื่อหน่ายในรูปในนาม ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน เพราะฉะนั้น “หนอ” จึงถือว่าเป็นเหตุให้สรรพสัตว์นั้นได้ข้ามพ้นวัฏฏสงสารได้
หนอนั้นท่านกล่าวว่าเป็นเครื่องบรรเทาราคะ บรรเทาโทสะ บรรเทาโมหะ เรียกว่าเป็นเครื่องตัดกำลังของราคะ โทสะ โมหะ ทำไมจึงว่าเป็นเครื่องบรรเทา เป็นเครื่องตัด เป็นเครื่องละ เป็นเครื่องกำจัดราคะ โทสะ โมหะ ก็เพราะว่าเวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรม เวลาเรานั่งภาวนาไป “พองหนอ ยุบหนอ” ไป เรานั่งภาวนาไปมันเกิดราคะขึ้นมา เรากำหนดว่า “ราคะหนอ” จี้ลงไปที่ใจของเรา “ราคะหนอ” จี้ลงไปไม่ปรุงแต่ง ราคะนั้นก็จะเบาลงๆๆ ถ้าเรามีสติมาก มีสมาธิมาก ราคะนั้นก็ดับพรึบไปทันที
หรือว่าขณะที่เราเดินจงกรมเราเกิดความโกรธขึ้นมา คิดถึงคนโน้นมาด่าเรา เราไม่ได้ทำผิดอะไรมาด่าเราทำไมเราอยู่เฉยๆ มาต่อยเราทำไม คิดถึงความหลังเกิดความโกรธขึ้นมา เมื่อเกิดความโกรธขึ้นมาแล้วก็อยากจะเอาคืนอยากจะกำหมัดกัดฟัน อยากจะแก้แค้นคืน ในลักษณะอย่างนี้เกิดความโกรธขึ้นมา เรากำหนดว่า “โกรธหนอ” จี้ลงไป “โกรธหนอ” จี้ลงไปที่หัวใจของเรา ใต้หน้าอกด้านซ้าย “โกรธหนอ” จี้ลงไป ถ้าเรามีสติดีมีสัมปชัญญะดีความโกรธนั้นมันก็จะเบาลงลดลง แต่ถ้าเรามีสมาธิดีมาก กำหนดโกรธหนอ ความโกรธมันจะดับ ไป เหมือนกับเราพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เหมือนกับเราเปิดสวิตซ์ไฟ ขึ้นมา ความมืดหายแวบไป เมื่อสมาธิของเราดีเรากำหนดโกรธหนอ ความโกรธก็หายไปเหมือนกับความมืดหายไปเมื่อเราเปิดสวิตซ์ไฟอันนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น “หนอ” เราถือว่าเป็นที่บรรเทาราคะ บรรเทาโทสะ เป็นที่กำจัดราคะ กำจัดโมหะได้ แต่ถึงด้วยอำนาจ วิกขัมภนปหาน หรือว่าเป็นสมุจเฉทปหานก็แล้วแต่ ถ้ามันเกิดด้วยอำนาจของสมาธิก็เป็นด้วยอำนาจของ วิกขัมภนปหานไป ถ้ามันดับลงไปด้วยอำนาจของมรรควิถีก็ถือว่าเป็น สมุจเฉทปหานไป ถือว่าเป็นการประหารกิเลสได้ เพราะฉะนั้น “หนอ” นั้นจึงทำให้บุคคลนั้นข้ามพ้นวัฏฏสงสารได้
เวลาเราบริกรรมว่า “หนอ” นั้น เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราตัดอดีตได้ ตัดอารมณ์ที่เป็นอนาคตได้ อย่างเช่นเวลาเราบริกรรม “พองหนอ” ตามธรรมดาเราบริกรรม “พองหนอ” นั้น เราต้องมีสติกำหนดรู้ ต้นพอง กลางพอง สุดพอง เมื่อท้องของเราสุดพองเมื่อไหร่นั่นแหละ เราจึงใส่คำว่าหนอเข้าไป ไม่ใช่ว่าพองยังไม่สุด แต่ว่าเราใส่หนอเข้าไป อันนี้ถือว่าไม่ถูก ต้องต้นพองขึ้นมา กลางพองขึ้นมา เมื่อท้องพองมันสุดเมื่อไหร่ก็ หนอ หลังจากนั้นเมื่อท้องมันยุบลงมาเริ่มยุบลงไปๆ เมื่อสุดยุบเมื่อไหร่เราก็ หนอ ลงไป แต่ถ้าเราพองยุบ พองยุบเฉยๆ ไม่มีหนอคั่นในระหว่าง
บางครั้งบุคคลผู้มีท้องใหญ่ มีปอดใหญ่ ใจยาว เวลาภาวนาพอง พองแล้วท้องมันยังไม่ยุบลงมา ในลักษณะอย่างนี้ก็ทำให้จิตใจของเรามันเผลอไปคิดถึงอดีตบ้าง คิดถึงอนาคตบ้าง ยุบลงไปแล้ว แต่ยังไม่พองขึ้นมา ก็ทำให้เรานั้นเผลอคิดถึงอดีต คิดถึงอนาคต กิเลสมันก็แทรกขึ้นมาในลักษณะอย่างนี้ได้เราใส่คำว่า หนอ เข้าไปเพื่อกำจัดอดีตอนาคต เมื่อกิเลสมันเกิดขึ้นที่อดีต กิเลสมันเกิดขึ้นที่อนาคต แต่ถ้าเรากำหนดทันปัจจุบันธรรม กิเลสมันจะไม่เกิด อย่างเช่นเราเห็นเรากำหนดว่า “เห็นหนอ” ไม่ปรุงแต่งไม่ชอบใจไม่ดีใจไม่เสียใจ กิเลสเกิดไหม ? ไม่เกิด เวลาเราได้ยิน “ได้ยินหนอ” กิเลสมันเกิดไหม ? กิเลสมันไม่เกิด เพราะว่าเรากำหนดทันปัจจุบันธรรม กลิ่นเหม็น เรากำหนดทันปัจจุบันธรรม “กลิ่นหนอ” ความไม่ชอบใจไม่เกิดขึ้นมา ความชอบใจก็ไม่เกิดขึ้นมา กิเลสไม่เกิด หรือว่าเราจะคู้จะเหยียดจะก้มจะเงยเรากำหนดทันปัจจุบันธรรมกิเลสมันก็ไม่เกิด เขามาด่าเราเรากำหนด “ได้ยินหนอ” ทัน เราก็ไม่โกรธ แต่ถ้าเรากำหนดไม่ทันเราก็ต้องโกรธเป็นธรรมดา ถ้าเรามีกิเลสเราต้องโกรธ เรายังไม่ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี เรายังไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ก็ต้องโกรธเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นต้องกำหนดให้ทัน เพราะฉะนั้น “หนอ” จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราตัดอดีตตัดอนาคตไป ทำให้เรานั้นมีปัจจุบันธรรม เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดนั้นไม่ได้มารบกวนจิตใจของเรามาก
แล้วก็ “หนอ” นั้นท่านกล่าวว่าทำให้เรานั้นได้อารมณ์ที่เป็นธรรมชาติ คือเวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นจิตใจของเราจะคิดถึงอดีตบ้าง คิดถึงอนาคตบ้าง ชอบบ้างไม่ชอบบ้าง พอใจบ้างไม่พอใจบ้าง อันนี้เรียกว่าจิตใจของเราเป็นกรดหรือว่าเป็นด่าง เรียกว่าจิตใจของเราไม่เป็นธรรมชาติ ถ้าจิตใจของเราถูกปรุงแต่งด้วยรูป ถูกปรุงแต่งด้วยเสียง ด้วยกลิ่น ด้วยรส ด้วยสัมผัส ด้วยธรรมารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างนั้นแหละเรียกว่าจิตใจของเราไม่เป็นธรรมชาติ เพราะฉะนั้นกำหนดว่า “หนอ” นั้นเพื่อที่จะไม่ให้เราปรุงแต่ง คือไม่ยึดมั่นในรูปในเสียงในกลิ่นในรส ไม่พอใจในรูปในเสียงในกลิ่นในรส ไม่รังเกียจในรูปในเสียงในกลิ่นในรส ไม่อิจฉาริษยา ไม่เกิดมานะทิฏฐิตัณหาต่างๆ ในรูปในเสียงในกลิ่นในรสเพราะการกำหนด หนอ
เมื่อเรากำหนด หนอ ทันนี้แหละจิตใจของเราก็เป็นธรรมชาติ ไม่เป็นกรดไม่เป็นด่างไม่ถูกอุปาทานความพอใจอะไรนั้นแต่ง เปรียบเสมือนกับผ้าสีขาวบริสุทธิ์ เมื่อจิตใจของเราเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์นี้แหละ จึงจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เป็นพื้นฐานของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อเป็นพื้นฐานของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อเรากำหนดไม่ช้าไม่นานกำหนด “พองหนอ ยุบหนอ” “ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ” จิตใจที่เป็นธรรมชาตินี้ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมา ไม่อยากให้เกิดมันก็เกิดขึ้นมา
วิปัสสนาญาณที่ ๑ นามรูปริจเฉทญาณ เกิดขึ้นมารู้รูปรู้นาม วิปัสสนาญาณที่ ๒ ปัจจยปริคคหญาณ เกิดขึ้นมารู้ปัจจัยของรูปของนาม รู้เหตุของรูปของนาม วิปัสสนาญาณที่ ๓ สัมมสนญาณ เกิดขึ้นมาเห็นพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดวิปัสสนาญาณ ๑๕ เปอร์เซ็นต์ วิปัสสนาญาณที่ ๔ อุทยัพพยญาณ เกิดขึ้นมา เห็นความเกิดและความดับไปของรูปของนาม วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นมา ๙๐ เปอร์เซ็นต์ วิปัสสนาญาณก็เจริญเติบโตไปตามลำดับ ภังคญาณ ภยตูปัฏฐานญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ เกิดขึ้นมาตามลำดับจนวิปัสสนาญาณแก่กล้า แล้วก็เกิดอนุโลมญาณ เกิดโคตรภูญาณ เกิดมรรคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณขึ้นมาตามลำดับ
เพราะฉะนั้น “หนอ” จึงยังสรรพสัตว์ให้ข้ามซึ่งวัฏฏสงสารได้ดังที่กล่าวมา เรากำหนด “หนอ” จิตใจของเราเป็นธรรมชาติ เมื่อจิตใจของเราเป็นธรรมชาติก็จะเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องกันไปเจริญเติบโตไปตามลำดับๆ เกิดขึ้นมาจากจิตที่เราเป็นธรรมชาติ เพราะฉะนั้น การประพฤติปฏิบัติธรรมเรากำหนดว่า “หนอ” นั้นจึงมีคุณ มีอานิสงส์มากมายตามที่กล่าวมา
แล้ว “หนอ” นั้นท่านยังกล่าวว่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สติ ให้สมาธิ ให้ปัญญาของเราเพิ่มขึ้น คือในขณะที่เรากำหนดว่า “พองหนอ ยุบหนอ” หรือว่า “ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ” หรือว่า “ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ” อะไรก็ตาม ถ้าเรากำหนด พองเฉยๆ ท้องพองของเราก็จะขึ้นประมาณข้อมือหนึ่ง มันก็จะจบลงไปแล้ว แล้วก็จะยุบ ยุบแล้วก็พองยุบๆ มันก็จะขึ้นมาไม่เยอะมาก แต่ถ้าเรากำหนดว่า “พอง..หนอ” แทนที่มันจะขึ้นหนึ่งข้อมือมันก็ขึ้นมาสองข้อมือ แทนที่มันจะยุบลงไปหนึ่งข้อมือมันก็ยุบลงไปสองข้อมือ คือรูปนามมันจะปรากฏชัด เมื่อรูปนามปรากฏชัดสติของเราที่ไปยึดรูปนามนั้นมันก็จะมั่นคงแน่วแน่ขึ้นมา เมื่อจิตของเรามันยึดรูปนามมั่นคงแน่วแน่ขึ้นมา สมาธิมันก็ปรากฏขึ้นมามั่นคงแน่วแน่ขึ้นมา ตามจิตที่เรากำหนดรู้ปัจจุบันในรูปในนาม เพราะฉะนั้น เวลากำหนดนั้นใส่ “หนอ” เข้าไป ถือว่าสมาธิมันเพิ่มขึ้น
เวลาเรายกก็เหมือนกัน “ขวา..ย่าง..หนอ” ขณะที่เราหนอ นี้มีสติกำหนดรู้ปัจจุบันธรรม สมาธิมันก็เพิ่มขึ้น “ซ้ายย่างหนอ” มีสติทันปัจจุบันธรรมสมาธิมันก็เพิ่มขึ้น หรือว่าบุคคลใดเคยเข้าสมาธิ เคยประพฤติปฏิบัติธรรมเวลานั่งไป “พองหนอ ยุบหนอ” ไป ร่างกายมันเบาเข้าๆ ร่างกายมันตึงเข้าๆ มือมันแน่นเข้าๆๆ หลังจากนั้นมันขาดความรู้สึกไป มันดับไป จะเป็น ๕ นาที ๑๐ นาที ๑๕ นาที ๓๐ นาที ๑ ชั่วโมงก็แล้วแต่ หลังจากนั้นมันคลายตัวออกมา ขณะที่คลายตัวออกมาแล้วเรารู้สึกตัว เมื่อรู้สึกตัวขึ้นมาจะทำให้สมาธิมันดิ่งลงไปอีก เราจะทำอย่างไร เราก็ตั้งใจกำหนด อาการพอง อาการยุบ พองหนอ พิจารณา อาการที่มันพองขึ้น ยุบลง พองหนอ ต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบกลางยุบสุดยุบเห็นชัดเจน สมาธิที่มันคลายออกก็รัดเข้าไปอีกแน่นเข้าไปอีก มือก็แน่นเข้าไปอีก ตัวก็เบาเข้าไปอีก ขาดความรู้สึกเข้าไปอีก ถ้ามันคลายมาอีกเราไม่อยากออกเราก็บริกรรมอีก คราวนี้มันเพิ่มสมาธิเพิ่มสติขึ้นมาในลักษณะอย่างนี้ แล้วมันจะเพิ่มปัญญาขึ้นมาได้อย่างไร ในเมื่อจิตใจของเรามันสงบเป็นสมาธิไม่ถูกปรุงแต่งปัญญามันก็จะเกิดขึ้นมา ถ้าจิตใจของเราอิสระเมื่อไหร่ปัญญาเกิดขึ้นมาเมื่อนั้น
ปัญญาในทางพุทธศาสนานั้นเกิดขึ้นมาในขณะที่จิตใจของเราเป็นอิสระ ถ้าจิตใจของเราเป็นอิสระเมื่อไหร่ปัญญามันเกิดขึ้นมา พิจารณาสังขารนั้นเป็น อนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา พิจารณาเห็นตามความเป็นจริง คนเราต้องเกิดต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายเป็นธรรมดา ต้องมีคนรวยคนจน ต้องมีคนกำพร้ากำพลอย ต้องมีคนดีคนชั่วเป็นธรรมดา มีฤดูแล้งฤดูฝนเป็นธรรมดาไม่เคยขัดโลกขวางธรรม อันนี้เป็นเพราะว่าอะไร เพราะว่าเห็นตามธรรมชาติ
ถ้าจิตใจของเราเป็นกลาง จิตใจของเราบริสุทธิ์ จิตใจของเรามันเฉยไม่ปรุงแต่ง แต่ถ้าจิตใจของเรามันสงบ นิ่งลงไปเป็นสมาธิ เช่นจิตใจของเราเป็นปฐมฌานออกจากปฐมฌานปัญญาย่อมลึกซึ้งกว่าคนผู้ยังไม่ได้เข้าฌาน เวลาพิจารณาถึงความแก่ก็ดี ความเจ็บก็ดี ความตายก็ดี พิจารณาถึงการให้ทานไหว้พระทำวัตรสวดมนต์ก็มีความลึกซึ้งต่างกัน เพราะอะไร ? เพราะว่าจิตใจมันนิ่งกว่ากัน มันเย็นกว่ากัน มันละเอียดกว่ากัน เหมือนกับเราร่อนทราย ถ้าเราเอาตะแกรงหยาบมาร่อน ทรายที่มันหยาบๆ มันก็ยังลงไปอยู่ แต่ถ้าเราเอาตะแกรงที่มันละเอียดร่อน ทรายที่หยาบมันก็ไม่ลงไป มีแต่ทรายละเอียด
บุคคลผู้มีจิตใจละเอียดเหมือนกัน อารมณ์ที่มันหยาบๆ มันก็ไม่ลงไปสู่จิตใจของบุคคลผู้มีจิตใจละเอียด ความคิดที่ประณีต ความคิดที่สมบูรณ์ ความคิดที่ลุ่มลึกก็ปรากฏขึ้นแก่บุคคลคนนั้น เพราะฉะนั้น เวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรมถ้าจิตมันนิ่งลงไปมากเท่าไหร่ ปัญญามันก็จะเกิดขึ้นมาตามอำนาจของสมาธิ เรียกว่าศีล สมาธิ ปัญญา มันเป็นของคู่กัน เป็นลูกโซ่ที่สนับสนุนกันจึงอาศัยซึ่งกันและกัน แต่ถ้าสมาธิไม่มีคิดดูซิว่าจะมีปัญญาตรงไหน เดี๋ยวก็คิดเรื่องโน้น เดี๋ยวก็คิดเรื่องนี้ เดี๋ยวก็ปรุงแต่งอย่างโน้น เดี๋ยวก็ปรุงแต่งอย่างนี้ วิตกกังวลร้อยแปดพันประการ แล้วปัญญามันจะเกิดขึ้นมาตรงไหน ความรู้แจ้งเห็นจริง ความเข้าใจชัดในเรื่องของวัฏฏสงสารของธรรมะนั้นมันจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เพราะฉะนั้น สมาธินั้นจึงถือว่าเป็นเหตุให้เกิดปัญญาได้ สมาธิอาศัยอะไร ก็อาศัยสติ สติก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิ สมาธิก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาเป็นของคู่กัน เพราะฉะนั้น “หนอ” นั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ข้ามซึ่งวัฏฏสงสารได้ดังที่กล่าวมา
อีกประการหนึ่งท่านกล่าวว่า ถ้าเราบริกรรมว่า “หนอ” นั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การประพฤติปฏิบัติธรรมของเรานั้นครบองค์ ๓ คือ อาตาปี สติมา สัมปชาโน คือการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นบุคคลผู้ต้องการบรรลุมรรคผลนิพพาน ต้องประพฤติปฏิบัติธรรมให้ครบองค์ ๓ ทั้งอาตาปี ทั้งสติมา ทั้งสัมปชาโน ถ้าบุคคลใดประพฤติปฏิบัติธรรมให้ครบองค์ ๓ บุคคลนั้นสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ แต่ถ้าบุคคลใดไม่ปฏิบัติให้ครบองค์ ๓ บุคคลนั้นก็ประพฤติปฏิบัติธรรมไม่ได้คือไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ เพราะอะไร ? เพราะว่าอินทรีย์ ๕ นั้นไม่สมบูรณ์
ถ้าอินทรีย์ ๕ ไม่สมบูรณ์แล้วทำอย่างไรก็ไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ปฏิบัติตั้งแต่เช้าถึงค่ำ ตั้งแต่ค่ำถึงเย็นปฏิบัติตั้งแต่ ๑ พรรษา ๒ พรรษาถึง ๑๐ พรรษา ๒๐ พรรษาก็ไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะว่าอินทรีย์ ๕ ไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติที่ว่าให้ครบองค์ ๓ เพื่ออาตาปีนั้นต้องมีความเพียรเป็นเครื่องให้กิเลสมันร้อน เราบริกรรมว่า “หนอ” กิเลสมันร้อนอย่างไร ขณะที่ความโกรธความไม่พอใจเกิดขึ้นมาแก่เรา เราก็กำหนดว่า “ไม่พอใจหนอ ไม่พอใจหนอ” ความโกรธความไม่พอใจก็ไม่เกิดขึ้นมากับเรา ตั้งอยู่ในจิตใจของเราไม่ได้
ขณะที่เราเห็นรูปสวยๆ แทนที่จะเกิดความพอใจ แทนที่จะเกิดความชอบใจ แทนที่จะเกิดราคะเราก็กำหนดว่า “เห็นหนอ” กิเลสมันก็ไม่เกิดขึ้นมา ขณะที่เราเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจขึ้นมา แทนที่ความน้อยเนื้อต่ำใจจะครอบคลุมจิตใจ ทำให้จิตใจของเราเหี่ยวห่อเราก็กำหนด “น้อยใจหนอ” ก่อน ความน้อยใจมันก็ไม่ปกคลุมจิตใจของเรา เวลาเราเกียจคร้าน เราก็กำหนดว่า “เกียจคร้านหนอ” เมื่อเรากำหนด “เกียจคร้านหนอ” ความเกียจคร้านมันก็ไม่ครอบคลุมจิตใจของเรา เราก็สามารถลุกไปทำวัตรเช้าทำวัตรเย็น เดินจงกรม นั่งภาวนากับเพื่อนได้ ไม่โอ้เอ้ ไม่อืดอาด ไม่ยืดยาด ไม่ทำตามอำนาจของกิเลสความเกียจคร้านที่บงการในจิตใจของเรา เพราะเรากำหนดทันปัจจุบันธรรม เพราะฉะนั้น การกำหนดคำว่า “หนอ” นั้น จึงยังกิเลสให้ร้อน ยังความโกรธ ความโลภ ความหลง ยังความเกียจคร้านโกสัชชะ ยังความวิตกกังวล ยังวิจิกิจฉาความสงสัยนั้นให้มันร้อน ไม่ให้ตั้งอยู่ในจิตในใจของเรา เรียกว่ายังกิเลสทั้งหลายทั้งปวงนั้นให้หมดไปสิ้นไปสูญไปจากจิตจากใจของเรา
แล้วก็ “หนอ” นั้นท่านยังถือว่าเป็นการยังสติและสัมปชัญญะให้สมบูรณ์ คือการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นอาศัยสติอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าเราปฏิบัติธรรมโดยอาศัยสติอย่างเดียวนั้น ถือว่าเราประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อสงบอย่างเดียว เพื่อสมถะคือความสงบกายสงบจิตอย่างเดียวเราต้องอาศัยสัมปชัญญะด้วย เพราะสัมปชัญญะนั้นเป็นเหตุให้เกิดปัญญา สติ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความสงบ สติเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความหยุด ไม่ปรุงแต่งในกิเลสทั้งหลายทั้งปวง แต่สัมปชัญญะนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาขึ้นมา รู้เท่ารู้ทันรู้แจ้งรู้ตลอดรู้เฉพาะ เรียกว่ารู้แจ้งแทงตลอดก็อาศัยสัมปชัญญะ
เวลาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเราต้องอาศัยทั้งสติอาศัยทั้งสัมปชัญญะ เวลาเรากำหนด “พองหนอ” เราต้องมีทั้งสติมีทั้งสัมปชัญญะ เวลาเรากำหนดเห็นต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ “พองหนอ” เห็นต้นพอง กลางพอง สุดพอง นี้เรียกว่าเรามีสติ มีสัมปชัญญะ มีสติกำหนดอาการพองขึ้นมา มีสัมปชัญญะรู้ว่าต้นพองเป็นยังไงกลางพองเป็นยังไงสุดพองเป็นยังไง ต้นยุบสุดยุบเป็นยังไง มันพองเร็วไหม มันพองช้าไหม มันอึดอัด แน่นๆ ใจจะขาด หรือว่ามันพองเบาลงแผ่วลง นี้ลักษณะของสติสัมปชัญญะมันเกิดพร้อมกันในลักษณะอย่างนี้
เวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น เราบริกรรมพองหนอ ยุบหนอ นั้นจึงสามารถยังศีล ยังสมาธิ ยังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นมาได้ แล้วก็ยังการบรรลุมรรคผลนิพพานให้เกิดขึ้นมาได้ เราบริกรรมพองหนอ ยุบหนอ สามารถบรรลุเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ได้ ทำไมถึงเป็นได้ ? เราคิดว่าเราบริกรรมพองหนอ ยุบหนอ ได้สมาธิไหม ได้ เมื่อเราบริกรรมพองหนอ ยุบหนอ ได้สมาธิ วิปัสสนาญาณมันก็เกิดขึ้นได้ เมื่อเราบริกรรมพองหนอยุบหนอ วิปัสสนาญาณมันเกิดขึ้นมาได้ การบรรลุมรรคผลนิพพานมันก็ต้องมี เมื่อบรรลุมรรคผลนิพพานเป็นพระโสดาบันมี การบรรลุมรรคผลนิพพานด้วยการบริกรรมพองหนอ ยุบหนอเป็นพระสกทาคามีมันก็ต้องมี เมื่อการบรรลุเป็นพระสกทาคามี มี การบรรลุเป็นพระอนาคามีมันก็ต้องมี เมื่อการบรรลุเป็นพระอนาคามี มี การบรรลุเป็นพระอรหันต์มันก็ต้องมี
เมื่อบุคคลใดทำให้สมาธิเกิดขึ้นมาได้แล้ว ความสงสัยในเรื่องวิปัสสนาญาณก็จะน้อยลง เมื่อบุคคลใดทำวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นมาแล้ว ความสงสัยในเรื่องการบรรลุมรรคผลนิพพานก็จะน้อยลง แต่เมื่อบุคคลใดประพฤติปฏิบัติได้เป็นพระโสดาบันเป็นต้น ความสงสัยในเรื่องพระสกทาคามี สงสัยในเรื่องพระอนาคามีสงสัยในเรื่องพระอรหันต์ก็หมดไป ถึงบุคคลนั้นไม่ได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี ไม่ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี ไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็จะไม่สงสัยในธรรมที่ตนเองประพฤติปฏิบัติ เพราะว่าเราประพฤติปฏิบัติได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานแล้ว ความสงสัยในเรื่องสูงๆ ขึ้นไปก็หมดไปเพียงแต่ว่าเราทำความเพียรเพียงพอหรือยัง เรามีความพยายาม มีความบากบั่น บุญวาสนาบารมีของเรามันพร้อมหรือยัง ไปติดอยู่ที่ตรงนี้ไม่ได้ติดอยู่ที่คำบริกรรมหรือว่าการที่เราบริกรรมว่า “หนอ” หรือไม่หนอ เพราะฉะนั้นคำว่า หนอ นั้นจึงยังสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ข้ามพ้นซึ่งวัฏฏสงสาร
บุคคลใดบริกรรมว่า “หนอ” จึงสามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ดังเรื่องของพระเถระชื่อว่า พระปูติคัตตติสสเถระ
มีเรื่องเล่าไว้ว่า เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถี ในสมัยนั้นมีอุบาสกหรือว่ามีมานพคนหนึ่งได้ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นก็ล้วนตกเป็นของกลางสำหรับโลก บุคคลตายไปแล้วก็ไม่สามารถที่จะเอาสมบัติไปในปรโลกได้ บุตรก็ดี ภรรยาก็ดี สามีก็ดี ลูกหลานเหลนโหลนก็ดีไม่สามารถติดตามบุคคลนั้นไปสู่ปรโลกได้ก็เกิดความศรัทธา เกิดความเลื่อมใสอยากบวชในพระพุทธศาสนา เมื่อบวชเข้ามาแล้วก็ถวายชีวิตไว้ในพระพุทธศาสนาเรียกว่า “สาสเน อุรํ ทตฺวา” ถวายแล้วซึ่งอกในพระพุทธศาสนา บวชไม่สึก บวชตลอดชีวิต
แต่ว่ากรรมของท่านคือท่านบวชมาไม่นานท่านก็ได้เกิดอาพาธ เกิดการล้มป่วยลงไป เมื่อท่านอาพาธล้มป่วยลงไปนั้นแหละร่างกายของท่านก็เป็นตุ่มขึ้นมา เป็นตุ่มเล็กตุ่มน้อยขึ้นมาตุ่มนั้นก็ปรากฏเท่ากับเมล็ดพันธุ์ผักกาด เป็นผดผื่นขึ้นมาเหมือนกับเมล็ดพันธุ์ผักกาด หลังจากนั้นก็โตขึ้นมาๆ เท่ากับเมล็ดถั่วเขียว โตขึ้นมาๆ เท่ากับเมล็ดถั่วดำ ตุ่มมันก็โตขึ้นมาเท่ากับเมล็ดกะเบา แล้วก็โตขึ้นมาเท่ากับเม็ดมะขามป้อม แล้วก็โตขึ้นมาเท่ากับผลมะตูมอ่อนๆ มะตูมลูกเล็กๆ แล้วก็แตกไป ร่างกายของท่านก็เป็นช่องเล็กช่องน้อยช่องใหญ่ น้ำเหลืองน้ำเลือดก็ไหลอาบ สัทธิวิหาริกทั้งหลายก็ขนานนามท่านว่า พระปูติคัตตติสสเถระ แปลว่า พระติสสเถระผู้มีกายเน่า
สัทธิวิหาริก ใหม่ๆ ก็อุปถัมภ์อุปฐากท่าน เช็ดผ้าขี้ตีผ้าเยี่ยวช่วยกันแต่เมื่อป่วยนานไปแล้วก็เกิดความท้อถอยก็ค่อยๆ ทิ้งท่านไป คนโน้นก็ออกไปคนนี้ก็ออกไป ในที่สุดสัทธิวิหาริกทิ้งท่าน ท่านก็นอนอยู่คนเดียวไม่มีที่พึ่ง
ธรรมดาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จะเป็นคนจนคนยากคนรวยคนดีคนชั่วคนเจ็บคนป่วยก็ตาม พระองค์ก็ทรงพิจารณาในวันนั้น พิจารณาด้วยพระญาณของพระองค์ พิจารณาในตอนเช้า ท่านกล่าวว่าเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพิจารณาว่าใครหนอจะมีบุญมีกุศล วันนี้เราจะไปโปรดใครหนอ ถ้าพระองค์พิจารณาตอนเช้า พระองค์จะพิจารณาเริ่มตั้งแต่ขอบปากจักรวาล มาถึงพรหมโลก มาถึงเทวโลก มาถึงมนุษย์โลก แล้วก็ไล่มาถึงหน้าพระคันธกุฎีของพระองค์ ว่าใครหนอ ตั้งแต่ขอบปากจักรวาลจนถึงพรหมโลก เทวโลก มนุษย์โลก แล้วก็มาถึงขอบคันธกุฏี มีใครบ้างที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน พระองค์อธิษฐานว่า สาธุถ้าบุคคลใดจะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ก็ปรากฏในข่ายพระญาณของพระองค์
พระเถระชื่อว่าปูติคัตตติสสเถระก็ปรากฏในข่ายพระญาณของพระองค์ แล้วพระองค์ก็ไปโปรด หลังจากนั้นพระองค์ก็เสด็จเที่ยวไปในวิหารเหมือนกับเที่ยวชมวิหาร เหมือนกับเดินตรวจวิหารไปธรรมดา เดินไปๆ พระองค์ก็แวะไปที่กุฏิของพระปูติคัตตติสสเถระ เมื่อพระองค์แวะไปถึงกุฏิพระปูติคัตตติสสเถระแล้วพระองค์ก็ทรงเดินไปที่เรือนไฟ เดินไปที่เรือนไฟแล้วพระองค์ก็ทรงล้างหม้อ เมื่อล้างหม้อเสร็จสรรพเรียบร้อยแล้วพระองค์ก็เอาน้ำใส่หม้อแล้วก็ก่อไฟขึ้นมา แล้วก็ยกหม้อขึ้นสู่เตารอให้น้ำเดือด เมื่อพระองค์ทรงรู้ว่าน้ำเดือดแล้วพระองค์ก็เดินไปที่กุฏิของพระปูติคัตตติสสเถระ ก็ทำท่าจะยก ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วก็รีบมาช่วยกันยก แล้วก็ยกไปที่โรงไฟ เมื่อยกไปถึงที่โรงไฟแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ให้เขาเอารางน้ำมาแล้วก็เทน้ำร้อนนั้นใส่ราง แล้วก็สั่งให้ภิกษุทั้งหลายนั้นเปลื้องผ้าของพระปูติคัตตติสสเถระออก ผ้าที่เปื้อนด้วยเลือดด้วยหนองนั้นเปลื้องออกมาขยำกับน้ำร้อน ขยำเลือดขยำหนองออกแล้วก็ไปปั้นดีๆ แล้วก็ไปตาก
หลังจากนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เอาน้ำอุ่นๆ ชโลมที่ร่างกายของท่าน แล้วก็เอาพระหัตถ์ของพระองค์ขัดร่างกายที่เป็นเลือดเป็นหนองนั้นออก ขัดสีฉวีวรรณพวกคราบเลือดคราบหนองออก ขณะที่ขัดร่างกายที่เป็นเลือดเป็นหนองนั้นออกแล้ว ผ้าที่ท่านเอาไปตากนั้นก็แห้งพอดี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงตรัสให้ภิกษุทั้งหลายเอาผ้าที่เป็นผ้าห่มนั้นแหละมานุ่งแทนผ้านุ่ง แล้วก็เอาผ้านุ่งที่พระเถระนุ่งนั้นไปซักไปขยำกับน้ำร้อนแล้วก็ไปตาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงประทับยืนอยู่ที่นั้น ในเมื่อน้ำที่กายของพระเถระแห้ง ผ้าของท่านก็แห้งพอดี ก็เอาผ้านุ่งนั้นมาห่ม พระเถระมีกายอันเบา ได้นุ่งห่มผ้าที่สะอาดก็มีกายเบามีจิตร่าเริงเบิกบานมีจิตคู่ควรไม่กระสับกระส่าย
แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสว่า ดูก่อนติสสะร่างกายของเธอนี้ ถ้าปราศจากวิญญาณแล้วก็จะเปรียบเสมือนกับท่อนไม้ที่เขาทิ้งไว้ในป่าหาประโยชน์อะไรมิได้ แล้วพระองค์ก็ทรงตรัสว่า
อจิรํ วตยํ กาโย ปฐวึ อธิเสสฺสติ
ฉุฑฺโฑ อเปตวิญฺญาโณ นิรตฺถํว กลิงฺครํ
ที่เราสวดบังสุกุลเป็นประจำ ไม่นานหนอกายนี้ครั้นมีวิญญาณไปปราศแล้ว อันบุคคลทิ้งแล้ว เปรียบเสมือนกับท่อนไม้อยู่ในป่า หาประโยชน์อะไรมิได้ พระเถระได้ฟังเพียงเท่านี้แหละก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาน พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ ต่อมาไม่นานท่านก็ได้นิพพาน คือบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วก็นิพพาน
พอนิพพานแล้วพระองค์ก็ทรงตรัสบอกให้ภิกษุทั้งหลายนั้นเอากระดูกของท่านนั้นไปก่อเป็นเจดีย์เป็นพระธาตุไว้ที่ทางสามแพร่งบ้าง ทางสี่แพร่งบ้าง ภิกษุทั้งหลายก็เลยสนทนาธรรมกันที่ธรรมสภาว่า พระเถระตายแล้วไปเกิดในที่ไหนหนอ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงรู้ ก็ตรัสตอบว่า บุตรของเรานั้นนิพพานแล้ว ภิกษุทั้งหลายก็เกิดความสนเท่ห์ เกิดความสงสัยว่า บุคคลผู้ที่มีอุปนิสัย บรรลุเป็นพระอรหันต์ทำไมร่างกายจึงเน่า ร่างกายจึงเป็นช่องเล็กช่องน้อยช่องใหญ่ได้ ทำไมกระดูกของท่านจึงแตก แล้วก็เกิดความสงสัยว่าท่านทำบุญอะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ท่านได้บรรลุมรรคผลนิพพานสำเร็จเป็นพระอรหันต์
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสเล่าว่า สมัยก่อนโน้นพระปูติคัตตติสสเถระนั้นเป็นนายพราน คือในสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ พระเถระนั้นเป็นนายพรานนกไปล่านกมาบำรุงเสนาบดี เมื่อบำรุงเสนาบดีเหลือแล้วก็เอาไปขาย หลังจากไปขายแล้วก็มาปิ้งกิน เวลาที่มีนกมากๆ นายพรานนกก็เอาไปให้เสนาบดี เอาไปให้อมาตย์มันก็ยังเหลืออยู่ไปขายมันก็ยังเหลืออยู่นายพรานนกนั้นก็กลัวนกนั้นจะบินหนีก็หักปีกนกบ้างหักขานกบ้างก็ทำให้นกนั้นได้เกิดความเจ็บความปวดเกิดอาการอักเสบขึ้นมา
วันหนึ่งนายพรานนกก็สั่งให้คนปิ้งนกไว้รอ ขณะปิ้งนกนั้นสุกแล้วกำลังจะรับประทาน นายพรานนกกำลังจะกินข้าว แต่พอดีเห็นพระขีณาสพพระอรหันต์รูปหนึ่งผ่านมาหน้าบ้าน ก็เลยคิดว่า เรานั้นฆ่านกมาเป็นจำนวนมาก ฆ่าสัตว์มาเป็นจำนวนมาก เราไม่เคยทำบุญทำทานเลยเราจะทำบุญทำทาน วันนี้พระเถระอยู่เฉพาะหน้าเราแล้ว ก็เลยทำบุญทำทาน เมื่อทำบุญทำทานก็ปรารถนาว่า ขอให้ข้าพเจ้าจงรู้ธรรมที่ท่านรู้เถิด พระขีณาสพรูปนั้นก็กล่าวว่า เอวํ โหตุ ขอความปรารถนาที่ท่านปรารถนาไว้อย่างนั้นจงสำเร็จเถิด พรานนกก็สาธุเอา
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุที่ทำให้พระเถระนั้นร่างกายเน่าก็เพราะว่าหักปีกนก แล้วก็ทุบกระดูกนก ก็เลยเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดร่างกายเน่า เหตุที่ทำให้พระเถระได้บรรลุเป็นพระอรหันต์นั้นเพราะถวายอาหารบิณฑบาตปิ้งนกนั้นแก่พระอรหันต์รูปหนึ่ง อันนี้ถือว่าเป็นวัฏฏสงสารในการหมุนเวียนไป ทำกรรมดีก็ได้ดี ทำกรรมชั่วก็ได้ชั่วไม่ปะปนกันเช่นพระเถระนี้แหละ ทำกรรมชั่วก็ร่างกายเน่าเป็นช่องเล็กช่องน้อยช่องใหญ่ แต่ผลแห่งกรรมดีคือการถวายบิณฑบาตก็ส่งผลให้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เรียกว่ากรรมดีก็มีหน้าที่ส่งผลดี กรรมชั่วก็มีหน้าที่ส่งผลให้เกิดความทุกข์ต่างๆ
แต่ว่า วตะ คือคำว่า “หนอ” นั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราพ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิดในมหรรณพภพสงสาร ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ “หนอ” จนได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เราก็เกิดอีกไม่เกิน ๗ ชาติ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ หนอ ให้ได้บรรลุเป็นพระสกทาคามีเราก็เกิดอีก ๑ ชาติ แต่ถ้าเราปฏิบัติ หนอ จนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี เราก็ไม่ได้มาเกิดในมนุษย์ ไม่ได้มาเกิดในสวรรค์ ไม่ได้ไปเกิดในรูปพรหม อรูปพรหม เราไปเกิดในสุทธาวาสพรหมอย่างเดียว อวิหา อตัปปา สุทัสสี สุทัสสา อกนิฏฐพรหม สุทธาวาสพรหมแปลว่า ที่อยู่ของผู้บริสุทธิ์ ปราศจากราคะเป็นผู้มีกระแสไปในเบื้องบนต้องได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วก็ปรินิพพานในพรหมโลก เพราะฉะนั้น คำว่า “หนอ” นั้นจึงถือว่าเป็นธรรมที่ยังสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ข้ามพ้นซึ่งวัฏฏสงสารตามที่กระผมได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น
วันนี้กระผมได้กล่าวธรรมมะในคำว่า “หนอ” ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ในท้ายที่สุดนี้ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่มาร่วมประพฤติปฏิบัติธรรมตลอดถึงญาติโยมทั้งหลาย จงเป็นผู้ประสพแต่สิ่งที่เป็นมิ่งมงคล สมบูรณ์พูนผลในที่ทุกสถาน ขอให้มีโอกาสได้ประพฤติวัตรปฏิบัติธรรม สามารถที่จะนำตนของตนให้พ้นไปจากความทุกข์ ถึงสุขอันไพบูลย์กล่าวคือมรรคผลพระนิพพานในอนาคตกาลอันใกล้ๆ นี้ด้วยกันจงทุกท่านทุกรูปเทอญ.