ธรรมะ ๔ ข้อที่ทำให้การปฏิบัติได้ผลเร็ว

ธรรมะ ๔ ข้อที่ทำให้การปฏิบัติได้ผลเร็ว

(วัดดอนป่าช้าบ้านคำหว้า ๒๕ พ.ย. ๕๒)

          ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปนานแล้ว พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ด้วยเศียรเกล้า ขอโอกาสคณะสงฆ์และขอความเจริญในธรรมจงมีแก่ญาติโยมสาธุชนผู้สนใจในการปฏิบัติธรรมทุกท่าน

          วันนี้ก็ถือว่าเป็นวันที่คณะครูบาอาจารย์ได้ขึ้นมานัตราตรีที่ ๓ การประพฤติปฏิบัติก็ล่วงเลยมา ๖ ราตรีแล้ว เหลืออีก ๓ ราตรี คณะครูบาอาจารย์ก็จะได้อำลาพาจากการประพฤติปฏิบัติธรรม ก่อนที่พวกเราทั้งหลายจะอำลาพาจากการประพฤติวัตรปฏิบัติธรรม พวกเราทั้งหลายสำรวจตัวเอง สำรวจการกระทำทางกาย วาจา ใจ ของเรา ว่าเรามาสู่สถานที่แห่งนี้ เราได้รับประโยชน์มากน้อยขนาดไหน เรารับความอุปถัมภ์อุปฐากจากญาติจากโยม อุปถัมภ์อุปฐากคณะครูบาอาจารย์ทั้งใกล้และไกล เสียสละเวลาอันมีค่าน้อมนำมาซึ่งภัตตาหารต่างๆ ให้เราพิจารณาดูว่าเราใช้ประโยชน์มากน้อยขนาดไหน สมกับค่าข้าวค่าน้ำที่ญาติโยมอาบเหงื่อต่างน้ำน้อมนำมาถวายแก่พวกเราหรือไม่

          คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมที่มาร่วมปฏิบัติธรรม ชีวิตของพวกเราทั้งหลายนั้นเนื่องด้วยคนอื่น แล้วก็สิ่งที่สำคัญที่สุดในยุคปัจจุบันนี้ คณะสงฆ์ก็ดี ภาพพจน์ของพระภิกษุสงฆ์ สามเณรก็เป็นภาพพจน์ที่เสียหายเป็นส่วนมาก ข่าวคราวอะไรต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาในหน้าหนังสือพิมพ์ หรือว่าหน้าทีวีก็รู้กันทั่วประเทศ รู้กันทั่วโลก เพราะฉะนั้นเวลาบุคคลผู้ที่จะทวนกระแสอย่างที่พวกเรามาทวนกระแสนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เรียกว่าทำได้ยากยิ่ง

          พวกเรามาช่วยกันอนุรักษ์ ช่วยกันมาทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ถึงเราจะมาเดินจงกรมนั่งภาวนาอยู่ที่ป่าช้า ซึ่งเป็นสถานที่ไกลจากสถานที่โคจรของญาติของโยมก็ถือว่าเรามาทำนุบำรุง เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในสมัยก่อนโน้นพระองค์ทรงเสด็จจากพระราชวัง แล้วพระองค์ก็ไปหาที่สงัด สงบ หาที่สัปปายะ พระองค์ทรงไปสู่ปัจจันตประเทศ ประเทศที่ไม่มีความเจริญอาหารการกินอะไรที่ดำเนินความสะดวกนั้น ก็ไม่มีความสะดวกสบายเหมือนกับอยู่พระราชวัง แต่เป็นที่สัปปายะแก่การฝึกจิต เหมาะแก่การฝึกกาย ฝึกวาจา ฝึกจิตของเรา

          เพราะฉะนั้นบุคคลที่ไปสู่สถานที่เหมาะแก่การฝึกกายฝึกจิต เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงเสด็จไปสู่สถานที่สงบ สงัด จนพระองค์ได้บรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เรียกว่าพระองค์ทรงแสวงหาโมกขธรรมนั้นอยู่ ๖ ปี จึงได้บรรลุมรรคผลนิพพาน สำเร็จพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยมกว่าโลกทั้ง ๓

          เพราะฉะนั้นพวกเราทั้งหลายก็ถือว่ามาทำตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ว่าการประพฤติปฏิบัติอบรมกาย วาจา จิต ของเรานั้น จะได้ผลดี ไม่ได้ผลดี ก็ต้องมีพระครูบาอาจารย์ผู้รู้คอยแนะนำพร่ำสอน เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นจะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่าหยาบก็หยาบ จะว่าละเอียดก็ละเอียด จะว่าตื้นก็ตื้น จะว่าลึกก็ลึกเรียกว่าจะพูดอย่างไรก็ถูกหมด เพราะว่าแล้วแต่อำนาจวาสนาบารมีของแต่ละรูปแต่ละท่านแต่ละองค์ที่มาประพฤติปฏิบัติธรรม

          เพราะฉะนั้นเมื่อมาประพฤติปฏิบัติธรรมพวกเราก็ไม่ว่ากัน คนโน้นเดินจงกรม ๒ ก้าว ๓ ก้าวได้สมาธิแล้ว คนนั้นประพฤติปฏิบัติ ๒-๓ วัน ๔-๕ วัน ได้ข่าวว่าวิปัสสนาญาณที่ ๔ ที่ ๕ เกิด ได้ข่าวว่าบรรลุมรรคผลนิพพานอะไรทำนองนี้ ก็ถือว่าเป็นตามอำนาจวาสนาบารมีของบุคคลนั้น

          เพราะฉะนั้นก็ขอให้พวกเราตั้งใจประพฤติปฏิบัติก็ถือว่าเราพยายามเต็มที่แล้ว แต่ว่าการที่จะประพฤติปฏิบัติให้ได้ผลนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสธรรมะ ๔ ข้อ ที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัตินั้นได้ผลเร็ว

          ธรรมะ ๔ ข้อนั้นพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า ข้อที่ ๑ ปรมตสฺสี ข้อที่ ๒ ปรมเชคุจฺฉี  ข้อที่ ๓ ปรมลูโข ข้อที่ ๔ ปรมปวิจิตฺโต ข้อที่ท่านกล่าวว่าปรมตัสสีนั้น แปลใจความว่า เพียรอย่างยอดเยี่ยม เพียรอย่างไรท่านจึงกล่าวว่าเพียรอย่างยอดเยี่ยม คือผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งที่เป็นพระเป็นโยม หวังให้จิตใจของตนเองสงบ หวังที่จะขูดกิเลสออกจากจิต สันดานของตนเองนั้นต้องมีความเพียรอย่างเยี่ยมยอด ไม่ใช่ปฏิบัติธรรมดา แต่ว่าปฏิบัติอย่างเยี่ยมยอด การปฏิบัติอย่างเยี่ยมยอดนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า

          ๑. เราต้องปฏิบัติด้วยอาการสังวรปธาน เราต้องมีอาการสำรวม สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เวลาผู้ที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมใหม่ๆ เราจะรู้ว่าเรามีบารมี หรือไม่มีบารมีนั้น เรามาปฏิบัติครั้งแรกนั้นเราต้องสำรวมให้ได้เสียก่อน เมื่อเราสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปิดรูป เสียง กลิ่น รส ภายนอกไม่ให้เข้ามาสู่จิตสู่ใจของเราแล้ว เราก็จะเริ่มเข้าใจอารมณ์ของกรรมฐาน

          แต่ถ้าเรายังระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราไม่ได้อารมณ์ของกรรมฐานก็ยังไม่ปรากฏชัดขึ้นมา กรรมฐานของเรารั่วอยู่เป็นประจำ แต่ถ้าเราสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ให้บาปที่มันจะเกิดขึ้นมาจากทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรานั้นเกิดขึ้นมาได้ เราก็จะเริ่มเห็นสภาพที่แท้จริงของอารมณ์กรรมฐาน

          แต่ว่าก่อนอื่นนั้นเราต้องละบาปเสียก่อน บาปที่จะเกิดขึ้นมาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เวลาเราประพฤติปฏิบัติเราต้องหยุดเสียก่อนถ้าบุคคลใดมาประพฤติปฏิบัติธรรมโดยไม่ละบาป ปฏิบัติก็ปฏิบัติไม่หยุด บาปก็ทำไป สิ่งใดที่เป็นอาบัติก็ไม่ลด ไม่ละ ไม่เลิกก็ทำไป สิ่งใดที่จะลำบาก เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เป็นบาปเป็นกรรมก็ไม่หยุด ก็ทำไปด้วยปฏิบัติธรรมไปด้วย พรหมจรรย์ของบุคคลนั้นไม่ประเสริฐการประพฤติปฏิบัติธรรมของบุคคลนั้นไม่เจริญรุ่งเรืองไม่เป็นความเพียรที่ท่านกล่าวว่า อย่างยิ่ง หรือว่าอย่างยอด เป็นความเพียรแบบเลว หรือว่าเป็นความเพียรแบบหยาบ หรือว่าแบบต่ำไม่สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานหรือรู้แจ้งแทงตลอดตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

          เพราะฉะนั้นเวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรม ประการที่ ๑ นั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่าให้เรานั้นเลิก ละ บาปเสียก่อน บาปที่จะมาเกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันนี้เป็นช่องทางเดินของบาป บาปมันเกิดขึ้นที่ไหน บาปมันเกิดที่กาย ที่วาจา ที่ใจของเรา บาปมันเกิดขึ้นที่ไหน บาปมันเกิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา อันนี้เป็นช่องทางเดินของบาป เป็นช่องทางเดินของบุญ ของสมาธิ ของมรรค ของผลอยู่ด้วยกัน

          เพราะฉะนั้นเราจึงป้องกันบาปไม่ให้เกิดขึ้นมา พยายามสำรวม ถ้าความโกรธมันเกิดขึ้นมาก็ โกรธหนอ โกรธหนอ ถ้าความโลภมันเกิดขึ้นมา เราก็ โลภหนอ โลภหนอ ถ้ามันยินดีทางรูป ทางเสียง ก็กำหนดให้มันทัน ยินดีหนอ ยินดีหนอ อย่าให้บาปมันเกิดขึ้นมา อันนี้เป็นประการที่ ๑

          ประการที่ ๒ ท่านกล่าวไว้ว่า ปหานปธาน คือเมื่อเราระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้นมาในจิตในใจของเราแล้วจิตใจของเราจะอยู่กับอารมณ์ปัจจุบัน เมื่อจิตใจของเราอยู่กับอารมณ์ปัจจุบันแล้วเราจะเห็นธาตุแท้แห่งจิตใจของเรา บางรูปบางท่านยังไม่รู้ว่าจิตใจของตนเองนั้นเป็นอย่างไร เราเป็นคนเจ้าราคะก็ไม่รู้ เราเป็นคนเจ้าโทสะก็ไม่รู้ เราเป็นคนชอบหงุดหงิด ชอบโกรธก็ไม่รู้ เราเป็นประเภทวิกลจริต วิตก กังวล ปรุงแต่งต่างๆ มีจิตใจฟุ้งซ่าน กระสับกระส่ายอยู่ตลอดเวลาก็ไม่รู้ หรือว่าเราเป็นประเภทพุทธิจริต มีปัญญาเฉลียวฉลาดเปรื่องปราชญ์ชาติกวีเป็นต้น เราก็ไม่รู้ เพราะอะไร เพราะเรายังไม่สามารถที่จะละบาป

          ถ้าเราละบาปภายนอกไว้แล้ว กิเลสเก่าๆ ก็จะเกิดขึ้นมา เมื่อเราเริ่มมีสติ เมื่อเราเดินจงกรม ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เมื่อเราเริ่มกำหนด ต้นย่าง กลางย่าง สุดย่าง ต้นยก กลางยก สุดยก ต้นเหยียบ กลางเหยียบ สุดเหยียบ ต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ เราเริ่มมีสติเมื่อไหร่นั้นแหละ สติของเราก็จะขุดลึกลงไปให้เราระลึกนึกถึงบาปที่เราเคยสร้างสมอบรมมา

          แต่ก่อนเป็นโยม เราเคยไปชกไปต่อยใคร เราเคยไปลักไปโกงใคร เราเคยไปทำให้คนอื่นเสียอกเสียใจ เราเคยไปลักเล็กขโมยน้อย ไปต้มตุ๋น ไปทำชู้สู่สมกับใครหรือเปล่า เราเคยไปทำให้พ่อแม่ร้องห่มร้องไห้ เราเคยไปทำอะไรไม่ดีบาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นจะปรากฏขึ้นมา เมื่อสติมันเริ่มทันอาการของรูปของนาม สติมันจะขุดลึกลงไปๆ ถ้าบุคคลใดมีสติมากก็จะลึกลงไปคิดไปตั้งแต่โน้น ตั้งแต่ตนเองเป็นเด็ก บาปกรรมมันจะเกิดขึ้นมา

          เมื่อบาปกรรมมันเกิดขึ้นมาแล้วเราจะทำอย่างไร เราต้องประหาร เรียกว่าประหารบาป ประหารบาปด้วยการกำหนด “คิดหนอๆ” เวลาบาปมันเกิดขึ้นมา อย่างเราเคยฆ่าไก่ นั่งภาวนาไปเราเคยเชือดคอมันทิ้ง อันนี้มันปรากฏขึ้นมาเมื่อเรานั่งภาวนาไป พองหนอ ยุบหนอ ถ้าบาปนั้นมันจะมาขัดขวางนั้น บาปมันจะปรากฏขึ้นมาในมโนสัญญาของเรา คือมันจะเป็นความคิดที่เกิดขึ้นมาในจิตในใจของเรา

          แต่ถ้ามันชัดขึ้นมา บางครั้งจิตใจของเรามันจะสงบ ใจของเรามันดิ่งเข้าๆๆๆ เห็นภาพที่เราทำบาป แทนที่มันจะสงบเป็นสมาธิก็คลายออกมาเลยในลักษณะอย่างนี้เรียกว่า บาปมันมาขัดขวางการประพฤติปฏิบัติธรรมของเรา เราก็ประพฤติปฏิบัติธรรมไม่ได้ บางคนเคยฆ่าหมูเวลานั่งภาวนาไปจิตใจมันดิ่งเข้าๆๆ ก็เห็นภาพที่ตนเองฆ่าหมูเชือดหมู ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจมันคลายออก บางคนบางท่านก็คิดว่าจะเอาหมูมาฟังเทศน์ฟังธรรมเพื่อที่จะไถ่บาป เอาเป็ดเอาไก่มาฟังธรรมเพื่อที่จะไถ่บาป อย่างนี้ก็มี มันจะเกิดขึ้นในจิตในใจ

          เวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรมไปก็ขอให้เรากำหนดให้มันทันปัจจุบันธรรม ถ้ามันเกิดสิ่งใดขึ้นมาให้กำหนด “รู้” คือปฏิบัติกับกำหนด ถ้าบาปใดเกิดขึ้นมาเรากำหนด อย่างเช่นเราฆ่าไก่ เรากำหนด “คิดหนอๆ” เพ่งลงไปที่จิตของเรา “คิดหนอๆ” ถ้าบาปนั้นมันมีพลังมากมันก็จะไม่หาย เราก็กำหนดอยู่อย่างนั้นแหละ “คิดหนอๆ” ไม่ต้องไปคำนึงถึงอาการพองอาการยุบ ไม่ต้องไปคำนึงถึงอย่างอื่น เรากำหนดจนบาปนั้นมันอ่อนไป

          เมื่อบาปนั้นมันอ่อนไปแล้ว เราระลึกถึงการฆ่าไก่ จิตใจของเราก็สบายๆ หรือว่าเราเคยทำให้พ่อแม่เสียใจ เวลานั่งภาวนาไปจิตใจมันดิ่งลงๆๆ ภาพของผู้เป็นพ่อเป็นแม่นั้นปรากฏขึ้นมา จิตใจก็คลายออกจากสมาธิเราก็กำหนด “คิดหนอๆ” เรากำหนดไปบางครั้งก็ ๑ วัน บางครั้งก็ ๒ วัน มันหายไป บางครั้งก็ ๓ วัน บางครั้งก็เป็น ๑ อาทิตย์ บางครั้งก็เป็น ๒ อาทิตย์ บางครั้งก็เป็นเดือนเป็นปีก็มี แล้วแต่บาปเล็กบาปน้อย แล้วแต่บุญวาสนาบารมี แล้วแต่สติสมาธิปัญญาของเรา แต่เรากำหนดไปๆ บางครั้งก็ ๒ วัน ๓ วันหาย เมื่อมันหายไปแล้วเราระลึกนึกถึงบาปที่เราเคยคิด จิตใจของเราก็ร่าเริงเบิกบานจิตใจของเราก็เฉยๆ เรียกว่าบาปมันใช้บาปไปแล้ว คล้ายๆ ว่าเราไปติดคุกติดตะราง เมื่อเราพ้นออกมาแล้วเราคิดถึงการที่เราเคยลักเล็กขโมยน้อย เราก็ไม่กลัวที่เขาจะมาจับ จิตใจของเราก็เฉยๆ เพราะว่าเราใช้โทษไปแล้วในลักษณะของการที่บาปมันเกิดขึ้นมาในจิตในใจของเราก็เหมือนกัน เมื่อเรากำหนดแล้วมันจะหายไป

          ถ้าเราคิดถึงบาปแล้วเราไม่สะเทือนใจเรามีจิตใจปกติเรียกว่าบาปนั้นมันเบาลงไปแล้ว มันทุเลาลงไปแล้ว อันนี้เป็นลักษณะของบาป บางรูปบางท่านเคยทำร้ายจิตใจผู้หญิง ผู้หญิงเคยทำร้ายจิตใจของผู้ชายส่วนมากจะเป็นบาปมาก อย่างเช่นมีผู้หญิงมารักเรา แต่เราไม่รักผู้หญิง ทำให้เขาเสียอกเสียใจ หรือว่าผู้ชายไปรักผู้หญิง ผู้หญิงก็หลอกทำให้เจ็บอกเจ็บใจ บาปกรรมที่หลอกกันทำร้ายจิตใจกันนี้แหละเป็นเบอร์ ๑ ที่ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมมาประพฤติปฏิบัติธรรม แล้วเกิดความวิตกกังวล ส่วนมากก็จะมาขัดขวางการประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วจิตใจไม่สามารถสงบได้ ต้องแข็งใจประพฤติปฏิบัติธรรม ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยน้ำตา ปฏิบัติธรรมไปทั้งร้องไห้ไปกว่าที่จะพ้นบาปกันบางครั้งก็ปีหนึ่ง บางครั้งก็ ๒ ปี ๓ ปี ก็มีอันนี้ตามเท่าที่เห็นที่ไปประพฤติปฏิบัติธรรมที่วัดพิชโสภาราม

          เพราะฉะนั้นเมื่อเราประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น เมื่อสติของเรามันปรากฏชัดขึ้นมา บาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงก็จะปรากฏขึ้นมาเราก็กำหนด “คิดหนอๆ” จนบาปนั้นมันหมดไป อันนี้เรียกว่า ปหานปธานโดยย่อ

          ประการที่ ๓ ท่านกล่าวไว้ว่า ภาวนาปธาน คือทำให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป เวลาภาวนานั้นเราต้องพยายามส่งต่ออารมณ์ให้มันลึกลงไปๆ ละเอียดลงไปๆ สุขุมลงไป ไม่ใช่ว่าวันนี้ปฏิบัติดีก็ปฏิบัติไปพรุ่งนี้ปฏิบัติไม่ดีก็เลิก ไม่อยากปฏิบัติไม่ตั้งใจปฏิบัติอย่างนี้ไปไม่ได้ หรือว่าชั่วโมงนี้ปฏิบัติดีชั่วโมงต่อมาก็เลิก เรียกว่าไม่ตั้งใจปฏิบัติ อย่างนี้ก็ไปไม่ได้ เวลาประพฤติปฏิบัติจะดีหรือไม่ดี เวลาเราประพฤติปฏิบัติแล้วเราต้องพยายามกำหนดให้มันลึกซึ้งลงไป

          ให้เราสำรวจตรวจตราตัวเองอยู่เสมอว่าเราเผลออะไรบ้าง ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา เราเผลออะไร เราเผลอเวลาเราไปฉันภัตตาหารเช้า ฉันภัตตาหารเพล เวลาเราบิณฑบาต เวลาอาบน้ำ เวลาเราเดินไปห้องน้ำห้องท่า เวลาเราพูดคุยกันเราเผลอไหม เราพยายามสำรวจกรรมฐานของเราให้ดี

          ถ้าเราสำรวจกรรมฐานดีแล้วเราก็จะรู้เวลาตื่นขึ้นมาเราเผลอตอนนั้นตอนนี้ แล้วก็สำรวมอย่าประมาทพยายามอุดรูรั่ว เหมือนกับเราขี่เรือข้ามฟากขณะที่ขี่ไปเรือมันรั่ว รั่วตรงไหน ๑ รู ๒ รู ๓ รู เราก็สังเกตพิจารณาตามรูรั่ว ตรงไหนรั่วเราก็อุด

          กรรมฐานก็เหมือนกัน เรามีหน้าที่ปฏิบัติไปตามปกติ ส่วนไหนที่มันรั่วเราก็อุดไป ส่วนไหนไม่รั่วมันดีอยู่แล้วเราก็ทรงไว้แล้วก็ทำให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป เช่น ภาวนาปธานนั้นคือ ทำบุญกุศลบำเพ็ญความดีไว้ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป อย่างญาติโยมเคยให้ทานเราก็ต้องให้ทานตลอดขึ้นไปเรื่อยๆ บุคคลเคยรักษาศีลก็รักษาศีลให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป เคยรักษาศีล ๕ ก็รักษาศีล ๕ ให้ดีมีโอกาสก็มารักษาศีล ๘

          บุคคลผู้เป็นชายมีโอกาสก็มาบวชรักษาศีลให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป บุคคลผู้เคยเจริญสมาธิ แต่ก่อนโน้นไม่ได้เจริญสมาธิ นั่งไปเพียงแต่ได้ขณิกสมาธิ พออุปจารสมาธิเราก็พยายามทำสมาธิของเราให้สูงขึ้นไป ให้ได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน พยายามเรื่อยไป ถ้าเรายังไม่ได้ก็พยายามเรื่อยไป ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจอยู่เราก็อย่าละความเพียร พยายามเพียรขึ้นไปเรื่อยๆ อันนี้เรียกว่า ภาวนาปธาน ทำให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

          ภาวนาแปลว่า ทำบ่อยๆ ทำซ้ำๆ ซากๆ ทำเนืองๆ ทำติดต่อ ทำไม่ขาดระยะ ดุจกระแสน้ำ ดุจลูกโซ่คล้องจองกันเรื่อยไป เหมือนกับสายน้ำที่มันไหลเรื่อยไหลเอื่อยไป เหมือนกับกระแสไฟฟ้าที่ส่งมาให้เราใช้อยู่ทุกวันนี้ เป็นพันวัตต์ แสนวัตต์ อะไรทำนองนี้ คลื่นกระแสของไฟฟ้านั้นมันสืบเนื่องติดต่อกระแสกันมา เพราะฉะนั้นกระแสของวิปัสสนาก็เหมือนกัน ถ้าเราทำให้ดุจกระแสน้ำ ดุจลูกโซ่ ดุจกระแสไฟฟ้าได้ วิปัสสนาญาณของเราก็จะแก่กล้า แล้วก็จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ไว

          ประการที่ ๔ ท่านกล่าวไว้ว่า อนุรักขนาปธาน คือเวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเราต้องรักษาไว้ให้ดี เราต้องสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำไมเราต้องสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะว่าเรารักษากรรมฐานของเราไว้ ไม่ให้สมาธิของเราเสื่อม ไม่ให้วิปัสสนาของเรามันหย่อนยาน ให้วิปัสสนาของเรามันแก่กล้าอยู่ตลอดเวลา คล้ายๆ กับว่าเราเข็นครกขึ้นภูเขา

          ขณะที่เราเข็นครกขึ้นภูเขา เราก็เข็นไป มือของเราก็ดันไป เท้าของเราก็ดันขึ้นไป เราเผลอเวลาไหน วางมือเวลาไหน ครกนั้นก็กลิ้งกลับลงมาสู่พื้นภูเขา วิปัสสนาญาณของเราก็เหมือนกัน ถ้าเราเผลอเมื่อไหร่วิปัสสนาญาณของเราก็ตก วิปัสสนาญาณก็ร่วงเป็นธรรมดา เรียกว่าวิปัสสนากระท่อนกระแท่นไม่ติดต่อ

          หรือเราขึ้นต้นไม้ขณะที่เราขึ้นต้นไม้ มือของเราก็จับก็เหนี่ยวขาของเราก็ดันขึ้นไป ถ้าเราเผลอเมื่อไหร่นั้นแหละมือของเรามันร่วงหล่นลงมาเราก็ต้องตกลงมาสู่พื้นดิน วิปัสสนาญาณก็เหมือนกัน สมาธิก็เหมือนกัน ถ้าจิตใจของเราตกเมื่อไหร่นั้นแหละ เราก็อาจจะทำความชั่วนานาประการได้ อาจจะทำฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม ทำผิดศีลข้อเล็กข้อน้อยได้ เหมือนกับ อรูปภสกดาบสที่เหาะเหินเดินอากาศได้ จิตใจคิดแวบหนึ่งเผลอยินดีในกามคุณทั้งๆ ที่เหาะละลิ่วปลิวละล่องคล้ายๆ ว่าเหาะไปในอากาศได้ดุจกระแสลม แต่ว่าเมื่อจิตใจยินดีในกามราคะเท่านั้นแหละ เผลอแวบเดียวเท่านั้นแหละตกจากอากาศ คิดดู

          จิตใจของเราถ้าเราไม่กำหนด ไม่รักษาให้ดีการประพฤติปฏิบัติธรรมของเราก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ท่านให้รักษาให้ดี คือรักษาศีลให้ดีๆ อย่าให้ด่าง อย่าให้พร้อย อย่าให้ทะลุ อย่าให้เศร้าหมอง

          เวลาเราได้สมาธิจะเป็นขณิกสมาธิก็ดี อุปจารสมาธิก็ดี อัปปนาสมาธิก็ดี เราต้องรักษาไว้ให้ดี เราทำอย่างไรสมาธิของเราจึงตั้งมั่น เวลาประพฤติปฏิบัติธรรมเราสำรวมอย่างไร เรานั่งอย่างไร เราฉันอาหารอย่างไร เรานอนอย่างไร เราจงนั่งสงบเราก็จำอารมณ์เหล่านั้นไว้ เรากำหนดอย่างไร นั่งอย่างไร นอนเท่าไร นอน ๓ ชั่วโมง นอน ๔ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง รับประทานอาหารอย่างไรจึงสงบเราก็จำไว้ เพื่ออะไร เพื่อที่จะรักษาคุณของเราไว้ เพราะฉะนั้นเวลาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ต้องพยายามรักษาศีล รักษาสมาธิ รักษาวิปัสสนาญาณของเราให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป อันนี้เป็นความหมายของการประพฤติปฏิบัติข้อที่ ๑

          การประพฤติปฏิบัติข้อที่ ๒ ท่านกล่าวไว้ว่า ปรมเชคุจฺฉี คือ ประพฤติปฏิบัติไม่ให้ลำบากแก่สัตว์เล็กสัตว์น้อย คือเวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเราอย่าพยายามสร้างศัตรูให้เกิดขึ้นมาแก่เรา เราจะพูดอะไรก็ดี เราจะทำอะไรก็ดี ก็อย่าให้มันลำบากแก่ผู้อื่น สัตว์อื่น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงใช้คำว่า อย่าให้ลำบากแก่สัตว์เล็กสัตว์น้อย คล้ายๆ ว่ามดตัวน้อยก็ดี ยุงตัวน้อยก็ดี มดไต่ไรตอมอะไรต่างๆ ก็ดี เราต้องระมัดระวัง อย่าไปเหยียบ อย่าไปตบ อย่าไปตี อย่าไปฆ่า พยายามที่จะละเว้นให้ได้หรือว่า พยายามกระทำให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์จริงๆ

          หรือว่าเราประพฤติปฏิบัติธรรม อยู่ร่วมกันมาหลายวัด หลายวา หลายบ้าน หลายตำบล เมื่อมาถึงแล้วบางคนก็มีอุปนิสัยหยาบ ไม่ได้ศึกษามาก่อนก็พูดโผงผาง การเดินการนั่งก็ไม่สำรวม เวลาเรานั่งภาวนานี้ก็ไม่รู้จักเกรงใจ พูดคุยส่งเสียงดัง เดินเสียงดังอะไรทำนองนี้ ก็ทำให้เราเกิดความโมโหขึ้นมา เกิดความไม่พอใจขึ้นมาอันนี้ก็ถือว่าผิดแล้ว อกุศลจิตมันเกิดขึ้นมาในจิตในใจแล้ว

          เพราะฉะนั้นเราต้องทำจิตทำใจของเรานั้นประกอบไปด้วยเมตตา ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายจงเข้าไปตั้งกายกรรมอันประกอบไปด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุและสพรหมจารีย์ทั้งหลายทั้งปวง ดูก่อนภิกษุ เธอจงเข้าไปตั้งวจีกรรมที่ประกอบไปด้วยเมตตาในสพรหมจารีย์ ในเพื่อนภิกษุทั้งหลายทั้งปวง ดูก่อนภิกษุ เธอจงเข้าไปตั้งมโนกรรมอันประกอบไปด้วยเมตตาในสพรหมจารีย์ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลายทั้งปวง ให้เรานั้นตั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ประกอบไปด้วยเมตตาในเพื่อนสหธรรมิกผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม

          ถึงเขาคนนั้นจะดีหรือไม่ดี จะชั่วหรือไม่ชั่ว จะประพฤติผิดไม่ผิด เราก็อย่าไปจับผิดคนอื่น เวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรม ให้คิดว่าเขาทำไม่ดี ทำผิดศีล หรือว่าวาจาหยาบ ชอบทะเลาะเบาะแว้ง ชอบอย่างโน้นอย่างนี้ เห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบ เราก็คิดว่า เขายังมีปัญญาน้อย เขายังไม่เข้าใจในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยอย่าเอารัดเอาเปรียบ การเอารัดเอาเปรียบคนอื่น ก็เหมือนกับการเอารัดเอาเปรียบตนเอง เมื่อเราเอาเปรียบคนอื่น คนอื่นก็ต้องมาเอารัดเอาเปรียบเรา เราให้คนอื่น ก็เหมือนกับเรารักษาตนเอง คนอื่นก็มาให้เราคืน เราเบียดเบียนคนอื่นก็เหมือนกับเบียดเบียนตนเอง เราอุ้มชูคนอื่น คนอื่นก็มาอุ้มชูเรา เรารักคนอื่น คนอื่นก็มารักเรา วนฺทโก ปฏิวนฺทนํ เรากราบไหว้คนอื่น คนอื่นก็มากราบไหว้เรา เราเคารพคนอื่น คนอื่นก็มาเคารพเรา เราบูชาคนอื่น คนอื่นก็มาบูชาเรา อันนี้มันเป็นของคู่กัน

          เพราะฉะนั้นเราก็พิจารณาธรรมะ คนนั้นเขายังไม่ชอบใจ ชอบเอารัดเอาเปรียบเราก็เมตตาสงสารเขา เราต้องพยายามคิดให้จิตใจเกิดเมตตา ถ้าเรายังคิดให้จิตใจประกอบไปด้วยเมตตาไม่ได้เรียกว่า ปัญญายังไม่เกิด แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติธรรมแล้ว เรายังโกรธเพื่อนสพรหมจารีย์ ไม่พอใจในเพื่อนสพรหมจารีย์ อันนี้เรียกว่าเราจิตเป็นอกุศลแล้ว พยาบาทเป็นนิวรณ์ธรรมแล้ว เป็นเครื่องกางกั้นไม่ให้จิตใจของเรานั้นเข้าสู่คุณงามความดี ไม่ให้คุณงามความดีเข้าสู่จิตสู่ใจของเราแล้ว

          เพราะฉะนั้นการกระทำทางกายก็อย่าให้เดือดร้อนบุคคลอื่น วาจาการพูดการคุยก็ควรที่จะเกรงใจ ความเกรงใจเป็นสมบัติของคนดี ความเกรงใจเป็นอริยวงศ์ เป็นวงศ์พระพุทธเจ้าพระองค์ประพฤติปฏิบัติมาอยู่ตลอดเวลา และจิตใจของเราก็พยายามระมัดระวังอย่าไปคิดไม่ดี สิ่งที่เราคิดไม่ดีทางกาย วาจา ใจ ของเรานั้นจะถูกจารึกบันทึกอยู่ในบัญชีของพญายมราชหมด อันนี้ท่านกล่าวไว้ในเทวทูต

          คนทำไม่ดีก็ดี คนพูดไม่ดีก็ดี แม้แต่คิดไม่ดี อย่างนี้มันก็ขึ้นไปปรากฏอยู่ในสมุดของพญายมราชแล้ว ท่านกล่าวไว้อย่างนั้น เราไปอ่านดูในเทวทูตสูตรว่าคนคิดไม่ดีปั๊บมันก็ปรากฏขึ้นมา คิดอยากจะเป็นชู้กับเมียเขา คิดอยากจะลักเล็กขโมยน้อยแต่ยังไม่ได้ลัก คิดไม่ดีอย่างโน้นอย่างนี้มันก็ปรากฏขึ้นมาแล้ว แต่ว่ามันเป็นมโนกรรม แต่ว่าเราไม่ทำทางวาจาหรือว่าทำทางกายมันก็ไม่ครบ ก็เป็นบาปแต่การให้ผลของบาปนั้นก็น้อยลงไป แต่ถ้าเราคิดด้วยพูดด้วยทำด้วยบาปมันก็แรง

          เพราะฉะนั้นเวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ใช่ว่าเราทำเพื่อให้บริสุทธิ์เฉพาะวาจา เฉพาะกายของเรา แต่เราก็ทำให้บริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจของเราด้วย เพราะฉะนั้นท่านจึงให้เราประกอบไปด้วยเมตตา ทั้งกาย วาจา ใจ เพราะว่าบุคคลใดที่ประกอบไปด้วยเมตตานั้น ท่านกล่าวว่า บุคคลแผ่ไปด้วยเมตตานั้นเหมือนกับเราแผ่เมตตานี้แหละ ท่านกล่าวว่านอนหลับก็หลับสบาย ตื่นก็ตื่นสบาย เวลานอนหลับไปก็ไม่ฝันร้าย ไม่ฝันนิมิตต่างๆ ไม่เป็นเหตุให้สะดุ้ง เวลาค่ำคืน เวลาหลับ เวลานอน แม้มนุษย์ทั้งหลายก็รัก เทวดาก็รักก็เคารพ พรหมก็นับถือ พวกไฟก็ดี พวกศาสตราอาวุธ ยาพิษทั้งหลายทั้งปวงไม่กร้ำกราย จิตของบุคคลนั้นย่อมสงบ จิตใจของบุคคลนั้นจะสงบได้ไว คือจิตใจสงบง่ายคือบุคคลใดที่มีจิตใจประกอบไปด้วยเมตตา ไม่คิดเบียดเบียนบุคคลอื่น เวลานั่งภาวนาใจสบายๆ จิตใจมันก็สงบได้ไว เพราะฉะนั้นเวลาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นท่านอยากให้ประพฤติปฏิบัติด้วยการระมัดระวัง ไม่ให้จิตใจของเรา กายวาจาใจของเรานั้นไปเบียดเบียนผู้อื่น

          ประการที่ ๓ ท่านกล่าวไว้ว่า ปรมลูโข คือให้พวกเรานั้นประพฤติปฏิบัติปอนๆ คือไม่ทะเยอทะยานอยากในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรสมาก ประพฤติปอนๆ นั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงย่อลงมาสั้นๆ คือให้เรายินดีในจีวร ในอาหารบิณฑบาต ในเสนาสนะ ที่อยู่อาศัย แล้วก็ยารักษาโรค

          อย่างเช่นจีวรที่เราใช้นี้ให้ยินดีเฉพาะ ๓ ผืน ไม่จำเป็นท่านก็ไม่อนุญาตให้ใช้ผืนที่ ๔ อย่างเช่นผ้าอาบน้ำฝน ท่านก็อนุญาตให้ใช้ ๓ เดือน ตลอดฤดูฝน ถ้าเราเป็นฝีขึ้นมาท่านก็อนุญาตให้ใช้ เมื่อฝีหายแล้วก็ต้อง วิกัป ผ้าอาบน้ำฝนก็เหมือนกัน ถ้าเลยแล้วท่านว่าให้วิกัป

          เราจะอธิษฐานผ้าเช็ดปาก เราก็ต้องอธิษฐานเป็นบริขารโจล ผ้าเช็ดมือเช็ดปากอะไรต่างๆ ทำนองนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงละเอียด เพราะว่าอะไร เพราะว่าไม่ให้เรานั้นยึดถือในสิ่งที่ไม่จำเป็น ทำให้จิตใจของเรานั้นหมกมุ่นอยู่กับความสุขความสบาย หรือว่าความสวยความงาม ผู้ใดมีความสันโดษ ใช้จีวรเศร้าหมองบุคคลนั้นก็ถือว่าปล่อยละอุปาทานต่างๆ ดังที่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงยกย่องพระโมฆราชนี้เป็นผู้ที่ทรงจีวรเศร้าหมอง

          พระโมฆราชนี้เป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรี ที่ตั้งอยู่แม่น้ำโคธาวารี พาวรีนั้นมีลูกศิษย์อยู่ ๑๖ คน เรียกว่ามีมาณพอยู่ ๑๖ คนนับตั้งแต่อชิตะมาณพเป็นต้น วันหนึ่งเข้าไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะที่เข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นก็คิดว่าตนเองนั้นมีปัญญามากกว่าคนอื่น ก็มีอาการกระด้างกระเดื่อง ไม่เคารพคนอื่น ไม่เคารพพระพุทธเจ้า คิดว่าตนเองนั้นมีปัญญามาก มีความหยาบ มีความกระด้างแสดงอาการออกมา ก็คิดว่าเรานั้นมีปัญญามาก เราน่าจะถามปัญหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน แต่ก็เคารพในอชิตะมาณพซึ่งเป็นผู้แก่ ก็ให้อชิตะมาณพถาม

          เมื่ออชิตะมาณพถามแล้วก็คิดว่าตนเองน่าจะเป็นคนที่ ๒ ก็จะถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงรู้วาระจิตว่าโมฆราชมาณพนี้เป็นผู้ที่กระด้างด้วยมานะทิฏฐิ เป็นผู้หยาบด้วยทิฏฐิ ก็เลยห้ามว่ายังไม่ถึงเวลาขอเธอจงหยุดก่อน จงรอก่อน โมฆราชก็พิจารณาว่า ตามธรรมดาพระพุทธเจ้านั้นต้องรู้วาระจิตของบุคคลอื่นจึงได้ตรัสคำใดคำหนึ่ง จึงยับยั้งการถามปัญหา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็รอญาณให้แก่ ก็ตรัสถามปัญหามาณพคนที่ ๔ คนที่ ๕ คนที่ ๖ คนที่ ๗ คนที่ ๘ เมื่อคนที่ ๘ ตอบจบ โมฆราชก็จะถามอีก พระพุทธเจ้าก็ตรัสห้ามอีก จนโมฆราชนั้นมีวิปัสสนาญาณแก่กล้า ก็ได้ถามเป็นคนสุดท้ายแล้วก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ เมื่อท่านได้บรรลุปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๑๖ คนแล้ว บริขารอันเป็นทิพย์ ผ้าจีวรอันเป็นทิพย์ก็หลุดเลื่อนลอยมาจากนภากาศ แล้วก็บวชด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา

          เมื่อบวชเข้ามาแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงตรัสว่า ท่านเป็นผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง เพราะว่าจีวรของท่าน ท่านกล่าวว่าเศร้าหมองด้วยผ้า ผ้าของท่านที่มาเย็บเป็นจีวรก็เป็นผ้าเก่าๆ ด้ายที่เอามาเย็บจีวรก็เป็นด้ายเก่าๆ แล้วก็ย้อมสีย้อมฝาดที่เป็นสีออกเก่าๆ เรียกว่าเป็นผู้ที่ทรงจีวรแบบเศร้าหมอง

          ขณะที่ท่านยังกาลให้ล่วงไปด้วยวิมุติสุข เพราะว่าท่านได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ในสมัยหนึ่งท่านก็ป่วย ท่านก็เป็นโรคผิวหนังขึ้นมา ท่านก็ไม่กล้าอยู่กุฏิสงฆ์ กลัวกุฏิสงฆ์นั้นเปื้อน หรือว่าจะเศร้าหมองท่านเก็บเอาฟางตามไร่ตามที่เขาทิ้งแล้วมาปู เมื่อมาปูแล้วท่านก็นอนฟาง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่า เธอเป็นอยู่ด้วยอาการอย่างไร ท่านก็กราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงตรัสอนุโมทนาสาธุการ ว่าคนไม่มีกิเลสเป็นเครื่องครอบคลุมจิตใจอยู่ที่ไหนก็เป็นที่สัปปายะ เป็นที่เกิดความสุขหมด อยู่ไม่นานท่านก็นิพพาน นี้เป็นเรื่องของโมฆราช

          เพราะฉะนั้นเวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรม เราพิจารณาว่าบุคคลผู้มีคุณธรรมอย่างพระมหากัสสปะ ก็ทรงจีวรเศร้าหมอง หรือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานี้พระองค์ก็ทรงจีวรเศร้าหมอง พระองค์ทรงเพียบพร้อมไปด้วยธรรมะ ๔ ประการ คือรูปสมบัติ เสียงสมบัติ แล้วก็ประพฤติปฏิบัติปอนๆ สมบัติ แล้วก็ธรรมะสมบัติ

          คือบุคคลผู้ที่จะศรัทธานั้นมีเหตุอยู่ ๔ ประการคือ

          ๑. รูปัปปมาณิกา ตาเห็นรูปสวยสดงดงาม มีรูปสง่าผ่าเผย รูปหล่อเหลาเอาการก็เกิดศรัทธาขึ้นมา

          ๒. โฆสัปปมาณิกา บางรูปบางท่านรูปไม่หล่อ แต่ว่าเทศน์ดี พูดดี คุยดี โยมบางท่านรูปไม่หล่อแต่ว่าคารมดี คารมเป็นต่อรูปหล่อเป็นรองเป็นต้น ในลักษณะอย่างนี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ฝ่ายตรงข้ามนั้นเกิดศรัทธาได้ ถ้าเป็นพระสวดมนต์ไพเราะ ทำวัตรเพราะอย่างพระอาจารย์สินชัยเป็นต้น ก็เกิดการศรัทธาขึ้นมา

          ๓. ลูขัปปมาณิกา คือประพฤติปฏิบัติปอนๆ อย่างที่เราเห็นพระธุดงค์เดินไปใส่ผ้าขาดๆ เก่าๆ เราเห็นแล้วขนหัวลุก เห็นแล้วขนตัวลุก เห็นแล้วอยากจะถวายทานมีอะไรก็อยากถวายท่าน บางครั้งรองเท้าไม่ใส่แบกกรด คล้ายๆ ว่าท่านนั้นไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นในอะไรเลย แม้แต่เครื่องแต่งกายของท่านก็เป็นแต่เพียงผ้าหุ้มห่อสิ่งปฏิกูลโสโครกเฉยๆ ป้องกันเหลือบยุงลมแดด ป้องกันอาการร้อนอาการหนาวเฉยๆ นี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเกิดศรัทธาขึ้นมา

          ๔. ธัมมัปปมาณิกา คือถือธรรมเป็นประมาณ คือรูปไม่หล่อ เสียงไม่เพราะ ไม่ได้ประพฤติปอนๆ แต่ว่าการแสดงธรรมะ การพูดการจามีเหตุมีผล แสดงธรรมไพเราะเพราะพริ้งในลักษณะอย่างนี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดศรัทธาได้เหมือนกัน

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเรานั้นท่านกล่าวไว้ว่าเป็นผู้เพียบพร้อม เป็นผู้สมบูรณ์ทั้งรูปัปปมาณิกา คือมีรูปพระโฉมสดสวยงดงาม แล้วก็ โฆสัปปมาณิกา มีเสียงไพเราะเหมือนกับเสียงพรหม มีเสียงไม่แตก มีเสียงไม่ขาด มีเสียงไม่แหลม ไม่ทุ้ม มีเสียงนุ่มนวลเหมือนกับเสียงพรหม แล้วพระองค์ทรงประพฤติปอนๆ ไม่ได้ห่มผ้าที่สวยงาม ผ้าจีวรท่านก็ใช้ผ้า ๓ ผืน ใช้ผ้าสังฆาฏิ ใช้ผ้าสบง พระองค์ก็ถือธุดงค์ ถือผ้าบังสุกุลจีวรเหมือนกัน ประการที่ ๔ ธัมมัปปมาณิกา พระองค์ทรงเป็นธรรมราชาสามารถแสดงธรรมไพเราะเพราะพริ้ง รู้อุปนิสัยของคนว่าบุคคลนี้ควรจะแสดงธรรมอย่างไร บุคคลนั้นควรแสดงธรรมอย่างไร ไม่มีใครยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า แม้แต่พระสารีบุตรผู้มีปัญญามากสามารถนับเมล็ดฝนได้ ก็ยังให้กรรมฐานไม่ถูกต้อง

          เหมือนกับครั้งหนึ่ง มีมาณพคนหนึ่งที่เป็นลูกของนายช่างทอง มีรูปร่างสดสวยงดงามแล้วก็มีความร่ำความรวย เดินไปไหนๆ ก็มีแต่ผู้หญิงมาชอบ ภรรยาคนโน้นก็มาชอบ ภรรยาคนนี้ก็มาชอบ ลูกสาวคนโน้นก็มาชอบ เกิดความเบื่อหน่ายอยากบวช เมื่อบวชแล้วพระสารีบุตรก็คิดว่าบุคคลนี้มีรูปร่างสัณฐานละเอียดนัก มีผิวพรรณละเอียดนักคงจะเป็นเจ้าราคะ คงจะมีราคะมาก ก็เลยให้ไปเพ่งอสุภกรรมฐาน เพ่งยังไงๆ จิตใจมันก็ไม่สงบให้กรรมฐานไม่ถูก

          วันหนึ่งก็เกิดความเบื่อหน่ายอยากจะสึกขาลาเพศ เพราะว่าประพฤติปฏิบัติธรรมไม่ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงรู้ก็ตรัสให้เพ่งดอกบัว ขณะที่ดอกบัวมันบาน เพ่งดอกบัวก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจสงบเป็นสมาธิ เป็นปฏิภาคนิมิต แล้วก็เอาปฏิภาคนิมิตนั้นเจริญเป็นบาท เจริญเป็นฐานก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพานสำเร็จเป็นพระอรหันต์ อันนี้เรียกว่าการให้กรรมฐานนั้นมันสำคัญ

          เพราะฉะนั้นเวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น บางรูปบางท่านมีภพชาติเก่าที่ไม่ดี มีภพชาติเก่าที่หยาบ มีภพชาติเก่าที่ละเอียดต่างกัน ดังท่านกล่าวว่า บุคคลใดชอบโกรธ โมโห โทโส พูดนิดพูดหน่อยชอบโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ ในลักษณะอย่างนี้ท่านกล่าวว่ามาจากนรก ชอบโหดร้าย ชอบตีรันฟันแทงปล้นฆ่าอะไรทำนองนี้ ท่านกล่าวว่ามาจากนรก

          หรือว่าบุคคลใดที่ชอบโลภมาก กอบโกยโกงกิน ไม่คิดว่าเป็นของวัดวา ไม่คิดว่าเป็นของพี่น้องต่างๆ เอาหมด พวกนี้เกิดมาจากเปรตอสุรกาย ภพก่อนชาติก่อนหิวโหยมาหลายภพ หลายชาติ หลายกัป หลายกัลป์ เกิดมาชาตินี้ก็ไม่รู้จักประมาณในรูป เสียง กลิ่น รส

          บุคคลผู้ที่เกิดขึ้นมาแล้วไม่มีเหตุผลเลย ไม่ยอมฟังเหตุผล เอาแต่ใจตนเอง อันธพาล จุดบ้านเผาเมือง ทำนองนี้เกิดมาจากสัตว์เดรัจฉาน ไม่มีเหตุไม่มีผล ไม่ต้องไปคุยกับสัตว์เดรัจฉาน เป็นควายมันไม่มีเหตุผล หมูหมามันไม่มีเหตุผล บุคคลที่เกิดขึ้นมาจากสัตว์เดรัจฉาน แต่ก่อนโน้นเคยเป็นสัตว์เดรัจฉาน ๕๐๐ ชาติ ๑,๐๐๐ ชาติ ๑๐๐,๐๐๐ ชาติ เวลามาเกิดเป็นคน อุปนิสัยเก่านั้นก็ตามมา

          เพราะฉะนั้นอุปนิสัยนั้นไม่เหมือนกันบางคนเกิดมาแล้วศีลก็ไม่อยากลุล่วง รักษาศีล ๕ ให้ดี ถึงมีโอกาสที่จะล่วงเกินศีลก็ไม่ล่วงเกิน ถึงมีโอกาสจะลักเล็กขโมยน้อยก็ไม่ลักเล็กขโมยน้อย ถึงมีโอกาสที่จะฆ่าสัตว์ก็ไม่ฆ่าสัตว์ มีโอกาสที่จะประพฤติปฏิบัติผิดศีลผิดธรรม ทำชู้สู่สมผิดกาม มีคนมายื่นเอากามมาให้มาเสนอให้ก็ไม่เอาอะไรทำนองนี้ เรียกว่าในลักษณะของการรักษาศีลให้บริสุทธิ์ แม้ว่ามีโอกาสที่จะพูดเท็จพูดเพ้อเจ้อ หรือพูดเหลวไหล หรือว่ามีโอกาสที่จะกินเหล้าเมายาแต่ก็ไม่ทำนี้เคยเป็นคนมาก่อน เป็นมนุษย์มาก่อน

          หรือว่าบุคคลใดที่เกิดขึ้นมาแล้วรักสวยรักงามชอบทาคิ้วทาปากทาเล็บแต่งผม เราก็อย่าว่ากัน เพราะว่าเคยเกิดเป็นเทพมาก่อนเป็นเทวดามาก่อน เมื่อมีความรักสวยรักงามเป็นจริตนิสัยฝังอยู่ในจิตในใจของตนเอง เมื่อมาเกิดมันก็ตามมา เวลาอยู่ไหนก็ทำแต่งตัวอย่างโน้นอย่างนี้ก็อย่าว่ากัน อันนี้เป็นอุปนิสัยที่ฝังมาตั้งแต่ก่อนโน้น

          เพราะฉะนั้นเราต้องรู้จักพิจารณา บางรูปบางท่านเกิดขึ้นมาแล้วก็เป็นคนสันโดษ เป็นคนสงบเสงี่ยม ไม่ค่อยพูดค่อยจา เป็นคนปอนๆ สมถะปอนๆ อยู่สงบไม่จำเป็นก็ไม่พูดไม่คุย ลักษณะอย่างนี้ท่านกล่าวว่าเกิดมาจากพรหมโลก อยู่ในพรหมโลกมานาน อยู่สงบในฌานมานานพอมาเกิดเป็นมนุษย์แล้วก็เฉย ไม่อยากคลุกคลีกับสังคม อยู่สงบเสงี่ยม อยู่ตามหัวไร่ปลายนา อยู่ตามวัดก็ไม่ไปคลุกคลีกับบุคคลอื่น นี้คือลักษณะของพรหม คนที่เกิดเป็นพรหมมาเกิดเป็นมนุษย์เพราะฉะนั้นเวลาพวกที่เกิดเป็นพรหมนี้ประพฤติปอนๆ ชอบปะพฤติปอนๆ ไม่ยินดียินร้ายในการประดับตกแต่งตน ไม่เหมือนกับผู้ที่เกิดเป็นเทพ

          เพราะฉะนั้นเวลาประพฤติปฏิบัติธรรมท่านให้เราประพฤติปอนๆ เพื่อให้เราละความยินดีในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในสุข เอาเงินเอาทองมาถวายเขา สร้างกุฏิให้ดีๆ ติดแอร์ก็ดี มีจีวรสวยๆ มาให้ใส่เราก็อย่าไปหลงในสิ่งนั้น สิ่งนั้นเป็นเปลือกของพรหมจรรย์ เป็นสะเก็ดของพรหมจรรย์ ไม่ใช่เป็นแก่นเป็นสาระของพรหมจรรย์

          หรือว่าเขาสรรเสริญ อาจารย์เทศน์ดี อาจารย์อย่างโน้นอย่างนี้ อาจารย์มีบารมีสร้างวัดสร้างวา แปลงบ้านแปลงเมือง อันนี้เราก็อย่าไปหลงในคำสรรเสริญว่าสิ่งนี้เป็นของกลางสำหรับโลก ถ้าเราสามารถทำได้ไม่ให้จิตใจมันฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไปตาม ลาภ ยศ สรรเสริญ หรือว่าเกิดความสุขที่มันเกิดขึ้นมาแล้วเราไม่ยินดี บุคคลนั้นสามารถประพฤติปฏิบัติธรรมได้เสมอต้นเสมอปลาย การประพฤติปฏิบัติธรรมจะตรงต่อสมาธิสมาบัติ ต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน อันนี้เรียกว่า ปรมลูโข

          ข้อที่ ๔ ท่านกล่าวว่า ปรมวิจิตฺโต คือมีความสงัดจิตอย่างเยี่ยมยอด คือเวลาเราประพฤติปฏิบัตินั้น เราต้องพยายามทำความสงัด ทำความสงบให้เกิดขึ้น ความสงบหรือความสงัดนั้นท่านแบ่งออกเป็น ๓ ประการ คือ

          ๑. กายวิเวก ความสงัดกาย

          ๒. จิตวิเวก ความสงัดจิต

          ๓. อุปธิวิเวก สงัดกิเลส

          กายวิเวกนั้นท่านแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ประเภทที่ ๑ ต้องไปอยู่ที่ป่าช้า ต้องไปอยู่ที่กระท่อม ต้องไปอยู่ที่โคนต้นไม้ ต้องไปอยู่ที่เรือนว่างห่างจากผู้คน จึงชื่อว่าเป็นกายวิเวก อันนี้ประเภทที่ ๑ ประเภทที่ ๒ ไม่ได้ไปอยู่ป่าช้า ไม่ได้ไปอยู่โคนต้นไม้ แล้วก็ไม่ได้อยู่คนเดียว แต่ว่าอยู่ด้วยอารมณ์ของกรรมฐาน เหมือนกับพวกเรานี้แหละมาอยู่ป่าช้าก็จริง แต่ว่าพวกเราอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก เราไม่ได้อยู่คนเดียว แต่ว่าเราอยู่ด้วยอารมณ์ของกรรมฐาน ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด มีสติกำหนดหมด กายของเราก็เป็นกายวิเวกได้เพราะไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ไม่คลุกคลีด้วยคณะ ไม่คลุกคลีด้วยกิเลส ไม่คลุกคลีด้วยความเห็นแก่ตัวมานะทิฏฐิเป็นต้น ก็ถือว่าเราเป็นกายวิเวก

          เพราะฉะนั้นเวลามาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเราเดินจงกรม ถ้าบุคคลใดสำรวม ตั้งใจเดิน ตั้งใจนั่ง กายของบุคคลนั้นเป็นกายวิเวกทันที สามารถที่จะสงบได้

          มีภิกษุรูปหนึ่งเวลามาประพฤติปฏิบัติธรรม เขาจะมาพูดว่า อาจารย์กระผมประพฤติปฏิบัติธรรม ผมเพียงแต่คิดว่าจะเดินจงกรม ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร ความสุขมันเกิดขึ้นมาแล้ว เพียงแต่คิดว่าจะเดินจงกรมจิตใจมันดิ่งลงๆๆ เกิดความสุข เกิดความสงบขึ้นมา คล้ายๆ ว่าในโลกนี้มีเขาคนเดียว มันเป็นอุปกิเลสหรือเปล่า ผมจะเป็นอะไรไปหรือเปล่า เพราะว่าความสุขมันเกิดขึ้นมามาก ในลักษณะอย่างนี้ก็มี  อันนี้เป็นลักษณะของบุคคลผู้มีกายวิเวก คือจะเดินจงกรมเท่านั้นจิตมันหลุดออกจากโคจรทั้งหลายทั้งปวง มุ่งต่ออารมณ์กรรมฐาน กายก็เป็นกายวิเวกขึ้นมาทันที เพราะฉะนั้นเวลาเราอยู่ร่วมกันนี้ ไม่ใช่ว่ากายมันจะวิเวก ถ้าเราตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมสำรวมจริงก็เรียกว่ากายวิเวกได้

          ประการที่ ๒ จิตวิเวก ท่านกล่าวไว้ ๓ ประการคือ จิตวิเวกด้วยขณิกสมาธิ จิตวิเวกด้วยอุปจารสมาธิ จิตวิเวกด้วยอัปปนาสมาธิ เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานไป อันนี้เป็นวิเวกเบื้องต้น จิตวิเวกหมวดที่ ๒ ท่านกล่าวว่า วิเวกด้วยอารมณ์ของสมาธิที่เป็นโลกียะ ๒ วิเวกด้วยอารมณ์ของสมาธิที่เป็นโลกุตระ หมายถึงสมาธิของบุคคลผู้ผ่านการบรรลุมรรคผลนิพพาน ตั้งแต่พระโสดาบันไปแล้ว อันนี้เป็นลักษณะของจิตวิเวก คือจิตใจสงบเป็นสมาธิ ถ้าจิตใจของเราเป็นขณิกสมาธิ ความโลภ ความหลง ในขณะนั้นไม่เกิดขึ้นมา แต่ถ้าขณิกสมาธิมันติดต่อกันไปเรื่อยๆ ไม่ค่อยเผลอ นานๆ เผลอครั้งหนึ่ง ทำให้ร่างกายของเรามันตึงมันแข็งเป็นต้น อันนี้เป็นอุปจารสมาธิแล้ว เปลี่ยนจากขณิกสมาธิเป็นอุปจารสมาธิแล้ว

          ขณะที่ร่างกายของเรามันเย็น มันแข็งเข้าๆ นิ่งเข้าๆ ความวิตกกังวลทั้งหลายหมดสิ้นไป เราบริกรรมพองหนอ ยุบหนอ ไม่ต้องบังคับ ปล่อยให้มันพองหนอ ยุบหนอ ไปเป็นปกติ ไม่วิตกกังวลมากเขาพูดอะไรก็ไม่รำคาญในลักษณะอย่างนี้ก็ถือว่าเป็นปฐมฌานแล้ว ถ้าบุคคลใดมีสมาธิมาก บุคคลนั้นประพฤติปฏิบัติธรรมได้คุณธรรมเร็ว ได้บรรลุมรรคผลนิพพานเร็ว แต่ถ้าบุคคลใดมีสมาธิน้อย การประพฤติปฏิบัติธรรมได้ผลช้า ได้บรรลุมรรคผลนิพพานช้า เพราะอะไร เพราะกำลังขอสมาธินั้นยังไม่พอ เราต้องรวมกำลังของสมาธิอยู่เรื่อย

          แต่บุคคลผู้ที่มีสมาธิพอแล้วเพียงแต่กำหนดจิตใจ ไม่ให้หลง ให้พิจารณาเห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาก็บรรลุมรรคผลนิพพานได้ เหมือนกับพระโคธิกะ พระโคธิกะนั้นเอามีดปาดคอตนเองแต่พิจารณา ขณะที่ปาดคอยังไม่ตายปลงธรรมสังเวช พิจารณาเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แทนที่จะเป็นอัตนิวิบาตยังตนให้ตกไปในอเวจีมหานรก ก็พยายามพลิกสถานการณ์ขึ้นมา พิจารณาเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพานสำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วก็ปรินิพพานเลย

          หรือว่าลูกศิษย์ของพระมหากัสสปะนั้นไปบวชกับพระมหากัสสปะได้ ฌาน ๔ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ แต่ว่าต่อมาไปชอบผู้หญิงก็สึกขาลาเพศไปทำงานทำการไม่เป็น เขาก็ไล่หนีออกจากบ้านก็ไปอยู่กับโจร แล้วก็ไปปล้น พระราชาก็สั่งทหารจับแล้วเขาก็เอาไปประหาร ขณะที่เขาจะเอาไปประหารนั้นเขาก็ให้นอนอยู่บนไม้แหลมๆ รอที่จะประหาร

          ขณะนั้นก็นึกถึงอารมณ์ของกรรมฐานที่พระมหากัสสปะให้ เลยนึกถึงอารมณ์กรรมฐานที่เคยอยู่กับพระมหากัสสปะ เขาจะฆ่าก็ไม่ตกใจ เขาจะฟันก็ไม่ตกใจ ก็ทำจิตใจให้ดิ่งลงสู่จตุตถฌาน เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระเจ้าปเสนทิโกศลนั้นสั่งให้คลายเครื่องจองจำ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มาตรัสธรรมเทศนาให้ฟัง บรรลุเป็นพระอนาคามีแล้วก็เหาะไปสู่พระเชตวันแล้วก็ได้บวชในพระพุทธศาสนา อันนี้ถ้าไม่ใช่กำลังของสมาธิแล้วก็ไม่สามารถที่จะพ้นจากบาปกรรมต้องถูกเขาฆ่า ไม่สามารถพ้นจากโทษได้

          หรือเรื่องของพระโกถิตะนั้นท่านกล่าวว่า ท่านเก่งในอภิญญา ๕ คือท่านยังไม่ได้อาสวักขยญาณ ได้อภิญญา ๕ คือ มีตาทิพย์ มีหูทิพย์ แสดงฤทธิ์ได้ รู้วาระจิตของบุคคลอื่น แล้วก็ระลึกชาติหนหลังได้ เรียกว่าปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ได้อภิญญา ๕ ไม่ใช่อภิญญา ๖ ยังไม่ทำอาสวักขยญาณให้สิ้น วันหนึ่งท่านไปบิณฑบาตอยู่ในบ้าน ญาติโยมเขาก็เล่าลือกันว่ามีพญานาคมาอาละวาด อยู่ในท่าน้ำนั้น ท่าน้ำนี้ ชาวบ้านก็รู้ว่าท่านนั้นเป็นผู้ที่มีฤทธิ์ก็นิมนต์ท่านไปปราบพญานาค ท่านก็ไปแสดงฤทธิ์ต่างๆ ทำให้พญานาคนั้นสิ้นฤทธิ์ยอมแพ้ พญานาคนั้นก็หายพยศ ชาวบ้านชาวเมืองก็ดีอกดีใจ สามารถข้ามแม่น้ำนั้นได้ ก็คิดว่าเราจะเอาอะไรหนอไปตอบแทนบุญคุณพระเถระ ก็คิดว่าสิ่งที่ดีที่สุดของชาวบ้านเขาก็คิดตามประสาของชาวบ้าน ก็เอาเหล้าที่มีสีแดงเหมือนกับเท้านกพิราบที่หมักดองไว้เป็นหลายๆ ปี ที่มีรสกลมกล่อมเอามาถวายท่าน ท่านก็กินเหล้าก็เมาเหล้าแล้วก็ไปบิณฑบาตเขาเอาเหล้าให้กิน ออกมาไม่พ้นบ้านมาล้มอยู่ที่ทางเข้าบ้าน เมานอนเกลือกกลิ้งฝุ่นต่างๆ

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จบิณฑบาตกลับมา พระองค์ก็ทรงตรัสว่า ดูก่อน โมฆะบุรุษการกระทำเช่นนี้ไม่ประเสริฐ พระองค์ทรงตรัสธรรมเทศนา เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระโกทิตะนั้นได้สติขึ้นมา เมื่อได้สติขึ้นมาแล้วก็ตั้งใจเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ยิ่งยวดด้วยอภิญญา เป็นผู้ชำนาญในเรื่องอภิญญาอันนี้เพราะว่าอะไร เพราะว่าจิตใจนั้นมากไปด้วยสมาธิ เพราะฉะนั้นพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดพิชท่านกล่าวว่า ถ้าบุคคลใดได้สมาธินั้นการบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นเหมือนกับหน้ามือเป็นหลังมือ ง่ายนิดเดียวเพียงแต่พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ คือพลิกจากความยึดมั่นถือมั่นมาพิจารณาให้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้

          ประการที่ ๓ ท่านกล่าวไว้ว่า อุปธิวิเวก คือสงัดจากกิเลส คือการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นบุคคลใดประพฤติปฏิบัติยังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน กิเลสยังไม่ตาย บุคคลนั้นก็ไม่รู้ว่าความสงัดจากกิเลสนั้นมีรสชาติอย่างไร อย่างเช่นบุคคลใดไม่เคยประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่สมารถข่มสมาธิให้จิตใจของเราสงบเป็นสมาธิ เราก็ไม่รู้ว่าเวลาเราอยู่ในสมาธินั้นมีความสุขอย่างไร เราเกิดปีติอย่างไร กิเลสไม่มารบกวนเรามีความสุขอย่างไรนี้เราก็ไม่รู้

          บุคคลไม่เคยบรรลุเป็นพระโสดาบันก็เหมือนกัน ก็ไม่รู้รสชาติของพระโสดาบันแล้ว ไม่รู้ว่าการบรรลุเป็นพระโสดาบันมีความสุขมีความรื่นเริงปลอดโปร่ง มีความสบายจิตสบายใจ มีความเบาใจอย่างไรเราไม่รู้ เพราะอะไร เพราะว่าจิตใจของเรายังไม่ถึงตรงนั้น

          เพราะฉะนั้นความสงัดจากกิเลสนี้เป็นสิ่งที่สำคัญก็คือการบรรลุมรรคผลนิพพานตั้งแต่พระโสดาบันเป็นต้นไป เพราะว่าการสงัดอย่างยอดเยี่ยมก็คือ การสงัดจากกิเลส แต่ถ้าบุคคลใดเคยประพฤติปฏิบัติธรรมบรรลุมรรคผลนิพพานนับตั้งแต่พระโสดาบันเป็นต้นไป เวลาบรรลุมรรคผลนิพพาน เมื่อผ่านอนุโลมญาณแล้วก็ผ่านโคตรภูญาณขึ้น ๑ ขณะจิต โคตรภูญาณเกิดขึ้น ๑ ขณะจิตแล้วก็มรรคญาณเกิด ๑ ขณะจิต เมื่อมรรคญาณเกิด ๑ ขณะจิตแล้วผลญาณเกิดขึ้นมา ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง แล้วแต่บุคคลผู้มีปัญญาน้อย บุคคลผู้มีปัญญามากก็เกิด ๓ ขณะจิต ผลจิตนี้แหละถือว่าเป็นผลสมาบัติมีนิพพานเป็นอารมณ์

          ถ้าบุคคลใดบรรลุมรรคผลนิพพานแล้วจะว่าตนเองไม่ถึงพระนิพพานนั้นไม่ได้ ถึง ๑ ขณะจิต ๒ ขณะจิต ๓ ขณะจิต ก็ถือว่าถึงพระนิพพาน การถึงพระนิพพานแค่ ๒-๓ ขณะจิตนี้แหละ มีรสอันเลิศ ยิ่งกว่ารสนานาประการทั้งหลายทั้งปวง เปรียบเทียบไม่ได้ ไม่สามารถที่จะพรรณนาให้จบสิ้นด้วยวาจา หรือว่าเครื่องกล่าวใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าเป็นสิ่งที่มีความละเอียด เราจะเอาอารมณ์ทั้งโลกนี้มาเปรียบเทียบก็ไม่เหมือนกับอารมณ์ของพระนิพพาน นี้ท่านกล่าวไว้อย่างนั้น

          อารมณ์ของโลกนั้นเป็นของหยาบ เป็นของสมมุติ เป็นสมมุติบัญญัติ แต่นิพพานนั้นพ้นจากสมมุติบัญญัติทั้งหลายทั้งปวงจึงเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมการสงัดจากกิเลสทั้งหลายทั้งปวงนั้นจึงถือว่าเป็นการสงัดอย่างยอดเยี่ยม เป็นสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาให้สรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นได้เข้าถึง เมื่อบุคคลใดเข้าถึงสิ่งที่กล่าวมาแล้วนั้นบุคคลนั้นท่านกล่าวไว้ว่า เป็นการค้นพบแก่นสารของชีวิต บุคคลใดเกิดขึ้นมาแล้วจะมีอายุมากมายขนาดไหนก็ตาม ๗๐ ปี ๘๐ ปีแต่ไม่เคยประพฤติปฏิบัติธรรม เรียกว่าบุคคลนั้นยังค้นหาสาระของชีวิตที่แท้จริงนั้นยังไม่ได้

          เพราะฉะนั้นญาติโยมครูบาอาจารย์ที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมก็ขอให้ดีอกดีใจ ว่าเราได้มาสร้างสมอบรมบารมีเท่าที่เราจะทำได้ ก็ขอให้เรานั้นพยายามประพฤติปฏิบัติธรรมเรื่อยไปจนถึงวันสุดท้ายจึงค่อยเลิกราจากกันไป การมาอยู่ด้วยกันก็มาด้วยดี เวลาจากกันไปก็จากกันด้วยดีมีความสุขมีความภูมิใจด้วยกันทุกคนทุกท่าน วันนี้อาตมภาพก็กล่าวธรรมะมาก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ในท้ายที่สุดนี้ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายที่มาประพฤติปฏิบัติธรรม ก็ขอให้มีโอกาสได้มาประพฤติปฏิบัติธรรมบ่อยๆ มีโอกาสได้สมาธิสมาบัติ แล้วก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายนั้นได้บรรลุมรรคผลนิพพานในปัจจุบันชาตินี้ด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.