สำรวมจิต พิชิตกิเลส
(เทศน์วันที่ ๑๖ ธ.ค. ๕๕ ณ บ้านเขตประชาพัฒน์)
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองแม้ปรินิพพานไปนานแล้ว พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ด้วยเศียรเกล้า ขอความสุขความสวัสดีความเป็นมงคลจงบังเกิดขึ้นแก่ญาติโยมสาธุชนผู้สนใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมจงทุกท่านทุกคน ณ โอกาสบัดนี้
ต่อไปก็ขอให้ญาติโยมทั้งหลายตลอดถึงคณะครูบาอาจารย์ผู้มาร่วมกันประพฤติปฏิบัติธรรมได้นั่งสมาธิฟัง ถึงสภาพแวดล้อมเขาจะเป็นอย่างไรก็ตาม หน้าที่ของชาวประมงก็หาปลา หน้าที่ของชาวนาก็ต้องทำไร่ไถนา หน้าที่ของชาวสวนก็ต้องดูแลสวนของตนเองให้ดี หน้าที่ของครู หน้าที่ของทหาร หน้าที่ของตำรวจ ก็ต้องทำหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานนั้นให้ดี หน้าที่ของเราซึ่งเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน ก็ต้องพยายามประพฤติปฏิบัติธรรมไปต่อเนื่องไม่ให้ขาดสาย ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นก็ถือว่าเป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ฉะนั้นก็ขอให้พวกเราทั้งหลายได้นั่งสมาธิฟัง ตั้งจิตของเราให้มั่นคง อย่าหวั่นไหวไปด้วยรูป ด้วยเสียง ด้วยกลิ่น ด้วยรส ด้วยสัมผัส ด้วยอารมณ์ต่างๆ ที่มากระทบ
ถ้าเรายังหวาดหวั่นต่อรูป ยังหวาดหวั่นต่อเสียง ยังหวาดหวั่นต่ออารมณ์ต่างๆ ที่มากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายแล้ว การประพฤติปฏิบัติธรรมของเราก็จะไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะฉะนั้นชาวโลกจะเป็นอย่างไร หน้าที่ของเราก็ต้องประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างนั้น เรากำหนดว่า “ได้ยินหนอๆ” หรือว่า “เสียงหนอๆ” จนกว่าความรู้สึกของเรามันจะขาดไป แต่ขอให้เราจำให้ได้ว่าความรู้สึกของเรามันจะขาดไปตอนไหน ตอนที่เราบริกรรมว่า “พองหนอ” “ยุบหนอ” หรือตอนผู้เทศน์ เทศน์ไปถึงเรื่องอะไรแล้วมันจึงขาดดับไป อันนี้ก็ขอให้คณะผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นจงจำให้ได้
การประพฤติปฏิบัติธรรมของเรานั้นล่วงเลยมาก็เป็นเวลา ๕ วัน ก็ถือว่าเป็นเวลานานพอสมควร เราเดินจงกรมก็เดินชั่วโมง นั่งชั่วโมง ฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมของเราก็ถือว่าเข้ามาสู่โค้งกลางๆ เตรียมที่จะเข้าสู่โค้งสุดท้ายแล้ว พวกเราทั้งหลายผู้ที่ยังไม่ได้เร่งความเพียร ก็ขอให้เร่งความเพียร ผู้ใดยังไม่สำรวมตา สำรวมหู สำรวมลิ้น สำรวมจมูก สำรวมกาย สำรวมใจ เราก็ต้องสำรวมให้ดี ถ้าผู้ใดยังไม่ได้สมาธิก็พยายามขะมักเขม้นในการประพฤติปฏิบัติธรรมให้มากขึ้น ผู้ใดยังกำหนดอารมณ์ไม่อยู่ จิตยังฟุ้ง ยังปรุง ยังแต่งอยู่ ก็พยายามกำหนดจิตว่า “คิดหนอๆ” พยายามกำหนดจิตของตนเองให้ได้
เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นสำคัญอยู่ที่จิต ถ้าเราไม่กำหนดจิต จิตของเรานั้นจะไปเอาอารมณ์ต่างๆ นั้นมาปรุง มาแต่ง แล้วก็เกิดความฟุ้งซ่านรำคาญ เกิดความโกรธ เกิดความโลภ ความหลงก็เพราะอาศัยจิตของเรานั้นปรุงแต่ง เหมือนกับเสียงที่ได้ยิน เสียงนั้นไม่ได้รบกวนเรา แต่ถ้าจิตใจของเราเอาเสียงนั้นมาปรุงแต่งว่าเขามารบกวนเรา มันก็จะเกิดความปรุง ความฟุ้ง เกิดความไม่พอใจขึ้นมา ทั้งๆ ที่เสียงนั้นไม่สามารถที่จะทำให้เราเกิดความโกรธ ความโลภ ความหลงได้ แต่จิตใจของเราที่ไปชอบเสียง หรือว่าไม่ชอบเสียงนั้นแหละ ทำให้เกิดความโกรธ ทำให้เกิดความโลภ ทำให้เกิดความหลง เพราะฉะนั้นรูปก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี ธรรมารมย์ก็ดีท่านกล่าวว่าเป็น อัพยากตธรรม
แต่สิ่งที่เราไปชอบไปชังนี้แหละ ทำให้เกิดความชอบใจหรือเสียใจขึ้นมา เกิดกิเลสปรุงแต่งขึ้นมา เพราะฉะนั้นรูปก็คงเป็นรูป แต่ความดีใจ เสียใจนั้นเป็นจิตของเรา จิตของเรานั้นเป็นผู้ที่ดีใจ เสียใจ เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นจึงอยู่ที่จิต ถ้าเราสำรวมจิตของเราได้ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นสมบูรณ์ แล้วก็ได้ผลได้ง่าย เรามาประพฤติปฏิบัติธรรมตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ทำไมเราจึงไม่สงบ ทำไมจิตใจของเราไม่เข้าถึงสมาธิ ไม่เข้าถึงทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ไม่เข้าถึงผลสมาบัติ นิโรธสมาบัติ เพราะอะไร เพราะว่าจิตใจของเรานั้นยังปรุงแต่งอยู่ จิตใจของเรายังไม่สงบ จิตใจของเรายังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ก็ไม่สามารถจะได้ผลได้ฌาน นิโรธสมาบัติได้
เพราะอะไรจิตใจของเราจึงไม่สงบ เพราะว่าจิตใจของเรานั้นไม่สำรวม คือไม่กำหนดจิต เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมเบื้องต้นนั้น ญาติโยมต้องสำรวมจิตของตนเองให้ดี เดินจงกรมนั่งภาวนาแล้วทันอาการขวาย่าง ซ้ายย่าง ทันอาการยก อาการเหยียบ ทันอาการพอง อาการยุบ เราคิดอะไรเราก็กำหนดรู้ว่า “คิดหนอๆ” หรือว่าเราคู้ เราเหยียด เราก้ม เราเงย เรากระทำสิ่งใดๆ เราก็มีสติกำหนดรู้สิ่งนั้นๆ แล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สติมันเกิดขึ้นมา เมื่อสติมันเกิดขึ้นมาในจิตในใจของเราแล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สตินั้นมันขุดลึกลงไปในห้วงภวังคจิตของเรา ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นคิดถึงบาป คิดถึงอกุศลที่เราเคยสร้างสมอบรมมา
ตั้งแต่ก่อนเราบวช เราเคยฆ่าเป็ดก็ดี ฆ่าไก่ก็ดี เราเคยฆ่าหมู ฆ่าวัว ฆ่าควาย บาปกรรมเหล่านั้นก็ปรากฏขึ้นมาทำให้เราเดือดร้อน เราเคยฆ่าปู ฆ่าปลา เราเคยเถียงพ่อเถียงแม่ บาปกรรมที่เราเคยทำมาแต่ก่อนโน้นมันก็ปรากฏขึ้นมา เพราะอะไร เพราะว่าจิตใจของเรามันขุดลึกลงไป ด้วยอำนาจของสติที่ปรากฏชัด เราเคยทำให้คนอื่นเสียใจ ข่มเหงชำเราบุคคลอื่น ลักเล็กขโมยน้อย กินเหล้าเมาสุรา บาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงที่เราทำไว้แต่ก่อนนั้นแหละ ด้วยอำนาจของสติที่ปรากฏชัดก็ขุดลึกลงไป ทำให้เรานึกถึงบาปแล้วก็จิตใจเศร้าหมองขึ้นมา ถ้าในลักษณะอย่างนี้เราต้องกำหนดว่า “คิดหนอๆ” อันนี้ไม่ถือว่าผิดปกติ ถือว่าเป็นธรรมดาของอารมณ์กรรมฐาน
เรากำหนดว่า “คิดหนอๆ” บาปกรรมเหล่าใดที่เราทำด้วยอกุศลจิตที่ไม่แรง คือเราไม่มีเจตนามากเรากำหนดว่า “คิดหนอๆ” มันก็หายไป แต่ว่าบาปกรรมเหล่าใดที่เราทำด้วยเจตนาที่รุนแรง อย่างเช่นเราฆ่าสัตว์ด้วยอานุภาพของความโกรธ มีจิตใจรุนแรงในการอาฆาต ในการพยาบาทภาพเหล่านั้นมันก็หายช้า บาปเหล่านั้นมันก็ลบเลือนจากจิตจากใจของเราช้า บางครั้งเราต้องกำหนด ๓ วัน บางครั้งเราต้องกำหนด ๕ วัน “คิดหนอๆ” อยู่อย่างนั้น บาปมันก็ยังปรากฏอยู่อย่างนั้นบางครั้งเราต้องกำหนด ๗ วันก็มี บาปนั้นจึงหายไป
หรือบุคคลใด เคยทำให้พ่อให้แม่เสียใจ เคยเถียงพ่อเถียงแม่ เคยด่าพ่อด่าแม่ ทำให้พ่อแม่ร้องไห้ ทำให้น้ำตาอาบหน้าถ้าผู้ใดมาประพฤติปฏิบัติธรรม เวลาจิตมันจะสงบ “พองหนอ ยุบหนอ” มันดิ่งเข้าไปๆ มือของเรามันแน่นเข้า ตัวของเรามันเบาเข้า แทนที่จิตใจมันจะสงบ เวลานั่งก็ดิ่งเข้าๆๆ เต็มที่แล้ว มันกลับคลายออกไป อารมณ์ความรู้สึก อารมณ์นั้นมันก็คลายออกเป็นเพราะอะไร เพราะบาปกรรมที่เราทำนั้นมาปรากฏชัดในขณะนั้น
คือเรารวมเข้าๆๆ บาปกรรมที่เราทำให้พ่อแม่เสียใจนั้นมาปรากฏก็ทำให้สมาธิมันคลายตัว เราต้องกำหนด “เห็นหนอๆ” หรือ “คิดหนอๆ” กำหนดอยู่อย่างนั้นตั้งสติให้ดี ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บาปเหล่านั้นมันค่อยหมดไปๆ บางคนก็ ๒ อาทิตย์ บางคนก็ ๑ เดือนก็มี แล้วแต่อานุภาพของบาปว่าเราจะทำบาปนั้นมากน้อยขนาดไหน นี่ถ้ามาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วเราต้องแข็งใจในการกำหนด แข็งใจในการภาวนา แข็งใจในการกระทำความเพียร โดยเฉพาะการกำหนด เมื่อจิตมันฟุ้ง เมื่อจิตมันปรุง เมื่อจิตมันคิดถึงบาป เมื่อจิตมันเกิดราคะ โทสะ โมหะ เราก็อย่าถอย ให้เรากำหนดว่า “ราคะหนอๆ” ถ้ามันโกรธก็ “โกรธหนอๆ” ถ้ามันหงุดหงิดก็ “หงุดหงิดหนอๆ” อันนี้เป็นการประพฤติปฏิบัติธรรมเบื้องต้น
ถ้าเรากำหนดได้อย่างนี้ก็จะเป็นเหตุให้ใจของเราสะอาดขึ้น เมื่อใจของเรามันสะอาดขึ้นบาปที่เราคิดทั้งหลายทั้งปวงมันจางหายไป จิตใจของเราเป็นบุญเป็นกุศล จิตของเรามันเริ่มใสๆ ใสขึ้นๆ สะอาดขึ้นก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปีติขึ้นมา เกิดน้ำตาไหล เกิดขนพองขึ้นมา คิดว่าเราทำไมไม่มาบวชตั้งแต่โน้น ตั้งแต่เราออกโรงเรียนใหม่ๆ แต่ทำไมเราแก่แล้วเราถึงมาบวชเสียเวลาไม่มีประโยชน์เลย เราไปเที่ยวเราไปเล่นเราไปทำการงานทางโลก ไม่มีประโยชน์อะไร ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารตายไปแล้วก็เอาไปไม่ได้ นี้จิตใจมันเกิดศรัทธา เกิดความเลื่อมใสขึ้นมาสู้เรามาบวชไม่ได้ เรามาบวชแล้วเราประพฤติศีล ประพฤติสมาธิ เจริญวิปัสสนากรรมฐานได้บรรลุมรรคผลนิพพานมันปรากฏขึ้นมาในลักษณะอย่างนี้
จิตมันเริ่มใส ใจมันก็เริ่มเป็นบุญเป็นกุศลขึ้นมา ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปีติ เกิดปัสสัทธิขึ้นมา เกิดความสงบกาย สงบจิต แต่ก่อนโน้นเราปรุงไปคิดถึงอารมณ์โน้นบ้าง ปรุงไปคิดถึงอารมณ์นี้บ้างอยู่ไม่เป็นสุขคล้ายๆ กับลิง ๕๐๐ ตัว เดี๋ยวก็เกาตรงโน้น เดี๋ยวก็เกาตรงนี้ เดี๋ยวก็กระโดดโลดเต้นไปกิ่งไม้น้อยกิ่งไม้ใหญ่อันนี้เป็นลักษณะของลิง จิตใจของเรามันก็ไม่ต่างอะไรจากลิง คิดถึงอารมณ์โน้นแล้วยังไม่จบ คิดถึงอารมณ์ใหม่อีก ยังไม่พอยังคิดถึงอารมณ์ต่อไปอีกเรื่อยๆ นี้ลักษณะจิตของเราโดดไปสู่อารมณ์โน้นบ้าง อารมณ์นี้บ้าง ไขว่คว้าเอาอดีตบ้าง อนาคตบ้าง เป็นบาป เป็นราคะ เป็นโทสะต่างๆ เข้ามาให้จิตใจของเราเดือดร้อน นี้ลักษณะอารมณ์ จิตของเราเป็นปกติอย่างนั้น
แต่ถ้าเราเกิดอารมณ์ปัสสัทธิแล้ว เกิดสมาธิแล้ว อารมณ์ที่เกิดปัสสัทธินั้นแหละก็จะทำให้กายของเรามันสงบ แต่ก่อนนั้นกายของเราเป็นครุกาย กายหนัก เวลาจะเดินมันก็หนัก จะยกแข้งยกขาจะก้าวจะเหยียด มันก็คล้ายๆ กับเหน็ดๆ เหนื่อยๆ เมื่อยๆ ล้าๆ ไม่กระปรี้กระเปร่า แต่เมื่อเราเกิดปัสสัทธิ เรียกว่ากายปัสสัทธิ กายของเรามันเบาเหมือนกับนุ่น เบาเหมือนกับไม่มีน้ำหนัก มีความชำนิชำนาญ มีความคล่องแคล่ว เวลาเดินจงกรมเป็นชั่วโมงก็ไม่เหน็ดไม่เหนื่อย เวลามานั่งก็ไม่เจ็บแข้งปวดขา เรียกว่ากายมันสงบในลักษณะอย่างนั้น มีอาการเคลื่อนไหวกายช้าๆ มีการเคลื่อนไหวกายโดยมีสติไม่อยากจะเคลื่อนไหวกาย อยากจะอยู่นิ่งๆ เฉยๆ นี้ในลักษณะของกายปัสสัทธิมันปรากฏขึ้นมา
บางครั้งจิตของบุคคลนั้นเป็นจิตตปัสสัทธิคือมีจิตใจสงบ แต่ก่อนโน้นเราบริกรรมอย่างไรๆ จิตใจของเราก็ไม่สงบต้องคอยกำหนด “คิดหนอๆ” บางครั้งเรากำหนดเป็นชั่วโมง “คิดหนอๆ” มาเดินจงกรมก็ไม่ทำอะไรก็กำหนด “คิดหนอๆ” อยู่อย่างนั้น บางครั้งยืนเป็นชั่วโมงก็ไม่ได้เดินขวาย่าง ซ้ายย่างเอาแต่กำหนด “คิดหนอๆ” อยู่อย่างนั้น เวลานั่งภาวนาแทนที่จะเห็นอาการพองอาการยุบกลับ “คิดหนอๆ” เพราะอะไร เพราะอารมณ์มันมากเหลือเกิน ความคิดมันมาก อันนี้เรียกว่าจิตที่ยังไม่สงบเป็นอย่างนั้น
แต่เมื่อจิตเกิดอาการของปัสสัทธิเรียกว่าจิตตปัสสัทธิปรากฏขึ้นมา เราภาวนา “พองหนอ” “ยุบหนอ” ธรรมดานี้แหละจิตมันก็รวมเข้าๆๆๆ สงบฟับลงไป เราอยากจะให้มันคิดมันก็ไม่คิด เราอยากจะให้มันปรุงมันก็ไม่ปรุง เราอยากจะให้มันแต่งมันก็ไม่แต่ง เราคิดไปถึงราคะมันก็ไม่เกิด คิดไปถึงโทสะอารมณ์ที่เราเคยไม่ชอบใจมันก็ไม่เกิด เพราะอะไร เพราะช่วงนั้นอารมณ์ของปัสสัทธิ อารมณ์ของจิตตปัสสัทธิมันปรากฏขึ้นมา มันเป็นอารมณ์ที่เหนือคำบรรยาย แต่ก่อนโน้นเราเคยปรุง เคยฟุ้ง แต่วันนี้ทำไมจิตมันสงบเหลือเกิน เราจะให้มันปรุงมันก็ไม่ปรุง จะให้มันแต่งมันก็ไม่แต่ง บางคนก็คิดว่าตนเองได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน บางครั้งก็คิดว่าตนเองได้เป็นพระสกทาคามี
บางครั้งความโกรธมันไม่เกิด ความโลภมันไม่เกิด ความหลงไม่เกิด ก็คิดว่าตนเองได้บรรลุเป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์แล้วก็มี เพราะอะไร เพราะกายปัสสัทธิ จิตปัสสัทธิมันปรากฏขึ้นมา ความโกรธ ความโลภ ไม่เห็น ไม่เกิดไม่มีแล้วมันจะต้องเป็นอะไร ก็เป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ อะไรทำนองนี้ ถ้าบุคคลเกิดขึ้นมาในลักษณะอย่างนี้แล้วจะขยันหมั่นเพียร เดินจงกรมนั่งภาวนา ประพฤติปฏิบัติเอาเป็นเอาตาย ประพฤติปฏิบัติจริงจัง หวังเอามรรคผลนิพพานเป็นที่พึ่ง เป็นหลักชัยจริงๆ บุคคลผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่อจิตมันคลายจากบาป จิตมันใสขึ้นมันจะเป็นไปในลักษณะอย่างนี้ เกิดปัสสัทธิ เกิดปีติขึ้นมา บางคนก็ตัวโยกตัวโคลงตัวเบา บางคนก็เกิดตัวเย็นซาบซ่านทั่วสรรพางค์กาย ซึ่งแต่ก่อนโน้นเราไม่เคยเจอ เราไม่เคยพบ เราไม่เคยปรากฏขึ้นที่กายที่ใจของเรา แต่เมื่อเรามาประพฤติปฏิบัติ เมื่อเกิดปีติขึ้นมาแล้วทำให้กายของเรามันเย็นยะเยือก จะว่าเย็นพัดลมก็ไม่ใช่ เย็นแอร์ก็ไม่ใช่ เย็นอาบน้ำก็ไม่ใช่ เย็นน้ำแข็งก็ไม่ใช่ มันเย็นเข้าไปในกระดูก เย็นไปทั่วขุมขน เย็นไปในห้วงแห่งจิตของเรา ในก้นบึ้งในจิตของเรา เป็นอารมณ์ที่ซาบซ่านเป็นอารมณ์ที่สบายเป็นอารมณ์ที่เหนือคำที่เราจะจำนรรจา
เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราเกิดความเพียร เกิดความอดทน เกิดความมุมานะ เกิดความบากบั่นขึ้นมา ถ้าเราได้บรรลุมรรคผลนิพพาน มันจะมีความสุขขนาดไหน แม้แต่เราเกิดปีติเล็กๆ น้อยๆ มันก็ยังประมาณนี้ แต่ก่อนนี้เราคิดว่ารูปมันเป็นของที่ทำให้เกิดความสุข เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี บ้านก็ดี อำนาจ ยศถาบรรดาศักดิ์ก็ดี หรือว่าทรัพย์สินเงินทองจะให้เกิดความสุขก็ดี แต่ก่อนโน้นเราคิดอย่างนั้น แต่เมื่อเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วเราเกิดปีติแล้ว เราเข้าใจว่าสิ่งที่ให้เราเกิดความสุขจริงๆ นั้นเป็นความสุขภายใน ความสุขที่ละเอียด ความสุขที่สุขุม ความสุขที่ลุ่มลึก ความสุขที่คัมภีรภาพ ความสุขที่ประณีต ความสุขที่นุ่มนวลจริงๆ แล้วเป็นความสุขภายใน ไม่ใช่ความสุขภายนอก ไม่ใช่ความสุขที่เกิดจากตาเห็นรูป ไม่ใช่ความสุขที่เกิดจากหูได้ยินเสียง ไม่ใช่เกิดความสุขที่จมูกได้กลิ่นลิ้นได้รสกายถูกต้องสัมผัสต่างๆ แต่เป็นความสุขที่เกิดจากความวิเวก ความสุขที่เกิดปีติ ความสุขที่เกิดจากปัสสัทธิ เกิดเป็นความสุขขึ้นมา นี้เราก็จะเกิดศรัทธา เกิดความเลื่อมใส สัมมาทิฏฐิปรากฏในจิตในใจของเรา เห็นแสงสว่าง เห็นแสงเงินแสงทอง สาดส่องขึ้นมาแล้ว รู้ว่าพระศาสนานั้นมีความหมาย รู้ว่าคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นหนทางหลีกออกจากความทุกข์แล้ว เกิดความขยันขันแข็งในการประพฤติปฏิบัติธรรมแล้ว
แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติธรรมไป บางคนมีบุญวาสนาบารมีทางฌานจิตใจของบุคคลผู้นั้นจะไม่ขึ้นไปสู่วิปัสสนาญาณโดยทีเดียว จิตของบุคคลนั้นก็จะเข้าสู่อารมณ์ของฌานก่อน คือเข้าอารมณ์ของปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ถ้าผู้ใดเข้าถึงอารมณ์เหล่านี้แล้วจิตมันจะดิ่งลงไปๆๆ แต่เมื่อเวลามันถอยมาแล้ว มันก็ถอยจากจตุตถฌานมาตติยฌาน จากตติยฌานมาทุติยฌาน ถอยออกจากทุติยฌานมาปฐมฌาน ถอยออกมาอุปจารสมาธิ ถ้าผู้ใดทรงอยู่ในอุปจารสมาธิได้ บางคนก็เห็นพ่อเห็นแม่ที่ตายไปแล้วตั้งแต่นานๆ มาขออาหาร มาขอส่วนบุญบ้าง บางคนก็ต้องร้องห่มร้องไห้ประพฤติปฏิบัติธรรมไม่ได้ บางคนตั้งแต่สามีตายไม่เคยเห็นหน้า ฝันไม่เคยฝันถึง แต่เมื่อมาประพฤติปฏิบัติ สามีตายไปแล้วตั้ง ๕ ปี ๖ ปี ๑๐ ปี มานั่งภาวนาแล้วเห็นสามีมาขอส่วนบุญส่วนกุศล เห็นสามีมายืนอยู่ข้างๆ อย่างนี้ก็มี เกิดปีติขึ้นมาร้องห่มร้องไห้อย่างนี้ก็มี
หรือว่าบางคนบางท่านมานั่งภาวนาแล้วก็เวลาจิตมันถอยออกจากปฐมฌานมาสู่อุปจารแล้วก็เห็นเปรตก็มี เห็นเปรตอสุรกายมาปรากฏก็มี พอถึงวันธรรมดาก็อาจจะเป็นเปรตตัวน้อยๆ แต่วัน ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ก็เป็นเปรตตัวใหญ่ๆ อสุรกายตัวใหญ่ๆ มาปรากฏ ทำให้เกิดความกลัวก็มี ทำให้เชื่อเรื่องบุญเรื่องบาปก็มี บางรูปบางท่านเมื่อจิตเข้าสู่ฌานธรรมในขณะที่ยืนจิตมันถอยออกมาอุปจารในขณะนั้นก็เกิดเห็นพวกผีหัวขาด ยืนอยู่ข้างทางเดินจงกรมเต็มไปหมดก็มี ในลักษณะของบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมเมื่อจิตใจสงบแล้วมันจะเป็นอย่างนั้น
เมื่อเราเห็นอย่างนั้นแล้วก็เกิดความกลัว เกิดความสะดุ้ง เกิดคิดว่าผลบุญมันมีจริง ผลบาปมันมีจริง ภูตผีวิญญาณ ภพนี้ภพหน้าอะไรมีจริง ไม่ได้เชื่อใคร เชื่อด้วยตนเอง เชื่อด้วยสภาวะของตนเองในลักษณะอย่างนั้นก็มี อันนี้เรียกว่าบุคคลผู้มีบุญบารมีทางฌาน
แต่เมื่อปัญญาเกิด คือบุคคลนั้นมากำหนดอารมณ์ปัจจุบันให้ทัน เห็นอาการพอง อาการยุบ อาการก้าว อาการเหยียด จะคู้ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน มีสติกำหนดรู้อาการนั้นๆ คู้ก็รู้ว่าคู้ เหยียดก็รู้ว่าเหยียด ก้มก็รู้ว่าก้ม เงยก็รู้ว่าเงย มีสติรู้อารมณ์นั้นวิปัสสนาญาณมันก็จะเกิดขึ้นมา เมื่ออารมณ์ของวิปัสสนาญาณมันเกิดขึ้นมา ก็ขึ้นสู่อารมณ์ของวิปัสสนาญาณอันนี้เรียกว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมจะเป็นไปในลักษณะอย่างนี้
บางคนก็เกิดศรัทธามากก็อยากจะขายที่ไร่ที่นามาอุปถัมภ์อุปฐากพระศาสนา บางคนก็เกิดความรู้มากก็เทศน์ทั้งวันทั้งคืนก็มี บางคนเกิดศรัทธามาก เกิดอดอาหาร เกิดอดหลับอดนอน เดินจงกรมนานๆ เกิดยืนขาเดียวอะไรทำนองนี้ทรมานตนเองก็มี อันนี้เป็นลักษณะของการประพฤติปฏิบัติธรรม สิ่งเหล่านี้ทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นมาจากจิตของเรา จิตของเราเป็นตัวสร้าง จิตของเราเป็นตัวสั่ง จิตของเราเป็นตัวทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาทั้งนั้น จะศรัทธาก็เกิดขึ้นมาจากจิต จะทรมานตนก็เกิดขึ้นมาจากจิต จะเข้าฌานก็เกิดขึ้นมาจากจิต จะเห็นอะไรต่างๆ ก็เห็นที่จิตของเรา ไม่ได้เห็นด้วยตาเนื้อ แต่เห็นด้วยอำนาจจิตของเรา เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงเกิดขึ้นมาด้วยผลของการประพฤติปฏิบัติธรรม
ถ้าพวกเราทั้งหลายตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมจริงๆ แล้วบางคนก็เกิดผลช้า บางคนก็เกิดผลเร็ว ความเพียรอาจจะมากอาจจะน้อยต่างกัน ไม่ใช่ว่าคนที่มีความเพียรมากจะบรรลุมรรคผลนิพพานเร็วโดยส่วนเดียวนั้นก็ไม่ใช่ บางคนปฏิบัติธรรมไม่มากแต่บรรลุมรรคผลนิพพานเร็วก็มี อันนี้มันแล้วแต่ปฏิปทา ท่านกล่าวไว้ว่า บางคนบางท่านก็เป็นทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา คือเวลาประพฤติปฏิบัติธรรมอาจจะปฏิบัติลำบากแล้วก็รู้ได้ช้าเรียกว่าเป็นประเภทมันทบุคคล บุคคลมีปัญญาน้อย กำหนดรูปไม่ค่อยทัน กำหนดนามไม่ค่อยทัน กำหนดจิต กำหนดใจก็ไม่ค่อยทันในลักษณะอย่างนี้ก็เป็นประเภทมันทบุคคลมีชวนจิตช้า เวลาบริกรรมก็ “พองหนอ” “ยุบหนอ” กว่าที่จิตมันจะเป็นอุปจารสมาธินั้นก็นาน เมื่อจิตเป็นอุปจารสมาธิแล้วเป็นอัปปนาสมาธิก็นาน อันนี้เรียกว่ามันช้า เพราะว่าวิถีจิตของผู้เป็นมันทบุคคลนั้นเกิดอยู่ คือบริกรรมเสียก่อนจึงมีอุปจารสมาธิ แล้วจึงมีอัปปนาสมาธิ
แต่บางคนบางท่านก็เป็นประเภท ติกขบุคคล คือมีปัญญามาก ผู้มีปัญญามากนี้จะไม่มีบริกรรม “พองหนอ” “ยุบหนอ” บุคคลผู้เป็นติกขบุคคลจะไม่มีบริกรรม เวลาเราจะบริกรรมแล้วมือของเรามันจะแน่นเข้าๆๆๆๆ แล้วมันก็ดับลงไปเอง ถ้าผู้ใดมีปัญญาน้อย เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีปัญญาน้อย เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีปัญญามาก ท่านให้เราสังเกตดูสภาวธรรมไม่ต้องเชื่อครูบาอาจารย์ เราต้องเอาสภาวธรรมนั้นเป็นครูคอยดูว่าเราเป็นผู้มีปัญญามากหรือปัญญาน้อย ถ้าผู้ใดมีปัญญาน้อยท่านกล่าวว่าเวลาบริกรรม “พองหนอ” “ยุบหนอ” กว่าที่มันจะสงบมันก็นานแล้วมือของเรามันก็เริ่มแน่นเข้าๆๆๆๆ กว่าที่มันดับมันก็นาน เมื่อมันดับพึบลงไปแล้ว เวลารู้สึกตัวมาเราต้องบริกรรมอีกเสียก่อน เพื่อให้แน่นเข้าๆๆ แล้วก็ดับลงไปอีก เวลามันถอยออกมาอีกเราก็ต้องบริกรรมนานก่อนแล้วมันค่อยแน่นเข้าๆๆๆ แล้วก็ดับลงไปอีก อันนี้เรียกว่าวิถีของมันทบุคคล
แต่ว่าวิถีของติกขบุคคลเราจะบริกรรม “พองหนอ” “ยุบหนอ” พองหนอยังไม่ยุบเลยก็แน่นเข้าๆๆ ดับฟึบลงไปเลย พอดับฟึบลงไปรู้สึกตัวขึ้นมาเรายังไม่บริกรรม เราเพียงแต่สำเหนียกว่าจะบริกรรมพองนี้มันดับลงไปอีก พอดับลงไปอีกรู้สึกตัวขึ้นมา เราว่าจะบริกรรม “พอง” มันก็ดับลงไปอีก เพียงแต่เราเพ่งสติจะบริกรรมมันก็ดับฟึบลงไป อันนี้เรียกว่าเป็นติกขบุคคล ดับลงไปก็อยู่ในระหว่างโคตรภูญาณ ขณะที่ดับลงไปก็เป็นมรรค ขณะที่มันจะดับเราบริกรรมมันอยู่ในระหว่างโคตรภูญาณขณะมันดับลงไปขณะจิตแรกก็เป็นมรรคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณไป ถ้าเราดับด้วยอำนาจของการเจริญวิปัสสนากรรมฐานจะเป็นอย่างนั้น
อันนี้การประพฤติปฏิบัติธรรมก็แล้วแต่ปฏิปทาของแต่ละคนแต่ละท่าน ไม่ใช่ว่ามาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วจะบรรลุมรรคผลนิพพานเร็วเหมือนกันหมด ไม่ใช่ ต้องอาศัยบุญเก่า อานิสงส์เก่า เรียกว่าปุพเพกตปุญญตาที่เราได้สั่งสมอบรมมาแต่ภพก่อนชาติก่อน ว่าเราเป็นประเภทมันทบุคคลหรือว่าติกขบุคคล ผู้มีปัญญาน้อยหรือมีปัญญามาก
เพราะฉะนั้นเวลาประพฤติปฏิบัติธรรมก็ขอให้เรานั้นทำเต็มที่ เราเดินจงกรมตั้งใจให้ดี นั่งภาวนาตั้งใจให้ดี ครูบาอาจารย์แนะนำพร่ำสอนให้เรามีสติทันปัจจุบันธรรมอย่างไรเราก็ทำอย่างนั้น โดยที่เราวางใจเฉยๆ แต่เราทำเต็มที่นั้นแหละเป็นหนทางที่ให้เราได้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ไวที่สุด เพราะว่าฐานของการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นท่านกล่าวว่า ต้องทำใจของเราให้เป็นกลาง คือเวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเราประคองที่จิตของเรา ให้ใจของเรามันเป็นกลางๆ ให้มีสติกำหนดรูปนามให้ทันปัจจุบันธรรม เมื่อเรามีใจเป็นกลางกำหนดรูปนามให้ทันปัจจุบันธรรมนั้นแหละ วิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้น อารมณ์ใดๆ เกิดขึ้นมาเราก็ไม่ไปปรุงแต่งกำหนดว่า “เห็นหนอๆ” ถ้ามันเห็นรูปก็ “เห็นหนอๆ” ถ้าร่างกายของเรามันแข็งก็ “แข็งหนอๆ” ถ้ามันปวดมันทุกข์ก็ “ปวดหนอๆ” “ทุกข์หนอๆ” ถ้ามันคิดก็ “คิดหนอๆ” เราไม่ต้องไปกังวลเรื่องสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นมา ไม่ต้องไปกังวลว่ามันจะสงบหรือไม่สงบ มันจะฟุ้งหรือมันไม่ฟุ้ง หน้าที่ของเราก็คือกำหนด
ถ้ามันฟุ้งรำคาญเราก็กำหนดว่า “ฟุ้งหนอๆ” แต่เมื่อวิปัสสนาญาณมันแก่กล้าด้วยอำนาจที่เรากำหนดทันปัจจุบันธรรมมาก วิปัสสนาญาณมันก็จะเกิดขึ้นแก่กล้าขึ้นมาแล้วมันจะสงบเอง แต่สงบด้วยอำนาจของวิปัสสนาญาณ บางคนบางท่านมาประพฤติปฏิบัติธรรมที่วัดพิชโสภาราม ปฏิบัติธรรมเข้าปริวาสกรรมตลอด ๗๕ วัน เข้ากรรมฐาน ๗๕ วันเดินจงกรมตั้งแต่เช้าไปหาค่ำ ปฏิบัติธรรม เดินนั่งๆๆ อยู่อย่างนั้นไม่พูดไม่คุย เดือนหนึ่งผ่านไปไม่สงบก็มี ก็คิดว่าตนเองนั้นไม่มีบุญวาสนาบารมีหรืออย่างไร มาบอกครูบาอาจารย์ว่าประพฤติปฏิบัติธรรมไม่เคยย่อท้อ หนักก็เอาเบาก็สู้ เดินนั่งๆๆ ตามครูบาอาจารย์ทุกอย่าง เขาให้นอน ๔ ทุ่ม ไปนอน ๖ ทุ่ม เขาให้ตื่นตี ๓ ครึ่งไปตื่นตี ๒ ตื่นตี ๓ ครึ่ง ไปตื่น ตี ๓ ทำความเพียรอยู่เป็นประจำในลักษณะอย่างนี้ แต่ความสงบไม่เกิดมีเลยก็มี
บางคนตลอดพรรษาทั้งพรรษาไม่เคยสงบเลยก็มี เพราะอะไร เพราะบุคคลผู้มีบุญวาสนาทางวิปัสสนาญาณนั้น เพียงแต่สงบครั้งเดียวก็เป็นการบรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว เป็นการบรรลุเป็นพระโสดาบัน สกิทา อนาคา เป็นพระอรหันต์ไปแล้ว เพราะอะไร เพราะบารมีของบุคคลนั้นหนักไปในทางวิปัสสนาญาณ แต่เมื่อบุคคลใดเคยผ่านการประพฤติปฏิบัติธรรมครั้งใดครั้งหนึ่ง บางครั้งมันก็สงบเป็นผลสมาบัติบ้าง เป็นผลจิตบ้าง อันนี้ก็เป็นธรรมดาของบุคคลผู้มีบุญวาสนาบารมีในลักษณะอย่างนั้น แต่ถ้าบุคคลยังไม่บรรลุมรรคผลนิพพานแปลว่าบุญบารมีเขาได้ฌาน บางครั้งสมถะกับวิปัสสนามันเท่าเทียมกัน บางครั้งจิตใจของเรามันก็สงบเป็นฌานได้บ้าง แต่ถ้าบางครั้งวิปัสสนาญาณมันแก่กล้ามาก เราอยากจะเข้าสู่ความสงบอยากอย่างไรๆ มันก็ไม่เข้า จะเคยกำหนดแบบเดิมที่มันเคยเข้ามันก็ไม่เข้า เพราะอะไร เพราะวิปัสสนาญาณในช่วงนั้นมันแก่กล้า นี้การประพฤติปฏิบัติธรรมเราต้องรู้อารมณ์ ไม่ใช่ว่าเราเคยสงบแล้วก็บังคับให้มันสงบ มันเคยนิ่งก็บังคับให้มันนิ่ง บางครั้งมันก็ไม่สงบ บางครั้งมันก็ไม่นิ่ง เป็นไปตามอำนาจของอารมณ์วิปัสสนา มันเป็นไปตามอำนาจของอารมณ์ของกรรมฐาน
เพราะฉะนั้นหน้าที่ของผู้ประพฤติปฏิบัติก็มี ๑. ปฏิบัติ ๒. กำหนด หน้าที่ของเรา หนาวปฏิบัติ ร้อนปฏิบัติ ขี้เกียจปฏิบัติ เช้าปฏิบัติ บ่ายปฏิบัติ เย็นปฏิบัติ หน้าที่ของเราก็คือปฏิบัติกับกำหนด มีอะไรเกิดขึ้นมากำหนด มีอะไรเกิดขึ้นมาไม่ต้องปรุงไม่ต้องแต่ง กำหนด “คิดหนอๆ” “เห็นหนอๆ” “ได้ยินหนอๆ” “สงสัยหนอๆ” กำหนดตามอารมณ์ต่างๆ นี่เรียกว่าหัวใจของการประพฤติปฏิบัติธรรม
เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเราต้องพยายามทำให้เห็นต้นเกิดของรูปของนาม พยายามเห็นความเกิดขึ้นตั้งอยู่ของรูปของนาม ต้นเกิดของรูปของนามก็คือ ต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ นี้เราต้องพยายามให้เห็น ถ้าเราพยายามให้เห็นอย่างนี้แหละ สติมันจะเกิดขึ้นมาไว สมาธิมันจะเกิดขึ้นมาไว การประพฤติปฏิบัติธรรมจะได้ผลไว เพราะการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเราประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อที่จะเห็นความเกิดความดับของรูปของนาม ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติธรรมเห็นความเกิดดับของรูปของนาม ศีลก็อยู่ตรงนั้น สมาธิก็อยู่ตรงนั้น วิปัสสนาญาณก็อยู่ตรงนั้น การบรรลุมรรคผลนิพพานก็อยู่ตรงนั้น คืออาการที่เราจะดับกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด ดับความโกรธก็ดี ดับความโลภก็ดี ดับความหลงก็ดี มันดับอยู่ตรงไหน ดับตรงที่รูปมันดับ ดับตรงที่จิตมันดับ คือนามมันดับ
เราบริกรรม “พองหนอ” “ยุบหนอ” ไปเห็นอาการพองมันเร็วขึ้นๆๆๆ มันดับพึบลงไป เราจำได้ว่ามันดับลงไปตอนท้องพองหรือท้องยุบ ขณะที่มันดับลงไปกายของเรามันก็ดับไป ใจของเราก็ไม่รู้ หูของเราก็ไม่ได้ยิน คำบริกรรมมันก็ดับ จิตมันก็ดับ ความรู้สึกมันก็ดับ ดับลงไปในขณะนั้น นี้เรียกว่าดับด้วยอำนาจของวิปัสสนาญาณ กิเลสมันก็ดับไปด้วยตามอำนาจของมรรคที่มันเกิดขึ้นมา บางคนบางท่านบริกรรม “พองหนอ” “ยุบหนอ” อาการพองยุบมันแน่นเข้าๆๆ เมื่อแน่นเข้าเต็มที่มันดับลงไป ขณะที่มันดับลงไปกายมันก็ดับ คำบริกรรมมันก็ดับ จิตมันก็ดับ ความรู้สึกทั้งหลายทั้งปวงมันก็ดับลงไปในขณะนั้น เราก็จำได้ว่ามันดับลงไปตอนไหนตอนท้องพองหรือตอนท้องยุบเราสามารถที่จะรู้ได้ ในลักษณะอย่างนี้ก็ถือว่ามันดับด้วยอำนาจของวิปัสสนา
บางคนบางท่านดับด้วยอำนาจของพระอนัตตาคือ อาการพองยุบมันแผ่วเบาเข้าๆๆ เมื่อเบาลงเต็มที่เท่ากับเส้นด้ายแล้วก็ปอยด้ายแล้วก็ขาดพับดับลงไปในขณะนั้น มันดับกายของเราก็ไม่รู้มันหายไปไหน ความรู้สึกก็ไม่รู้ว่ามันดับไปไหน คำบริกรรมก็ไม่รู้ว่ามันดับไปไหน กายของเราเหมือนว่ามันดับไป จิตของเราเหมือนว่ามันดับไป นี่เรียกว่ามันดับไปด้วยอำนาจของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน รู้สึกตัวขึ้นมาก็พิจารณาว่า “เอ เราเป็นอะไรไป เมื่อสักครู่มันดับไปนานเท่าไร” บางคนก็ดับไป ๑ วินาที ๑ นาที ๒ นาที ๓ วินาที ๕ วินาทีก็มี บางคนก็ดับไป ๕ นาที ๑๐ นาที บางคนก็ดับไป ๒ ชั่วโมง บางคนก็ดับไป ๓ ชั่วโมง บางคนนั่งตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ๔ ทุ่ม ๕ ทุ่ม ๖ ทุ่ม ดับไปสว่างรู้สึกตัวตอน ๖ โมงเช้าก็มี นี้ในลักษณะอย่างนั้น บางคนประพฤติปฏิบัติธรรมนั่งภาวนาไปตั้งแต่ ๔ ทุ่มก็รู้สึกตัวขึ้นมา ๖ โมงเช้าก็มี บางคนประพฤติปฏิบัติธรรมจิตมันเป็นสมาธิมีบุญวาสนาบารมีในสมาธิมันก็ดับได้นาน ทรงอยู่ในอารมณ์นั้นได้นาน
เพราะฉะนั้นเวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น เราต้องพยายามกำหนดให้เห็นความเกิดขึ้นของรูปของนาม เห็นความตั้งอยู่ของรูปของนาม เห็นความดับไปของรูปของนามนี้แหละเป็นการประพฤติปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง แล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิ เกิดวิปัสสนาญาณ เกิดมรรค เกิดผล เกิดพระนิพพานได้ไว
แล้วก็การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเราต้องสำรวม สำรวมตา สำรวมหู สำรวมจมูก สำรวมลิ้น สำรวมกาย สำรวมใจ ผู้ใดอยากจะพ้นไปจากความทุกข์ก็ให้สำรวมตา สำรวมหู สำรวมลิ้น สำรวมกาย สำรวมใจ สำรวมวาจาของเรานี้แหละ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นช่องของบาป ที่เกิดของบาป เป็นที่นำอารมณ์เข้ามาสู่จิตสู่ใจของเรา เพราะฉะนั้นท่านให้เราสำรวม
ท่านอุปมาอุปไมยเหมือนกับเต่า เต่านั้นมันมีอวัยวะอยู่ ๖ อย่าง คือหัว ๑ แล้วก็หาง ๑ แล้วก็ขา ๔ ขา เวลาศัตรูทั้งหลายทั้งปวงจะมามันก็หด หดหัวเข้าไปในกระดอง หดหางเข้ามาในกระดอง หดขาเข้าไปในกระดอง ศัตรูคือหมามันก็กัดอะไรไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ ก็เดินวนไปเวียนมาไม่ช้าไม่นานมันก็หนีไป
อารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงก็เหมือนกัน ถ้าเราหดตา หดหู หดจมูก หดลิ้น หดกาย หดใจของเรา หรือว่าอุดตา อุดหู อุดจมูก อุดลิ้น อุดกาย อุดใจของเราด้วยอำนาจของสติ บาปกรรมทั้งหลายทั้งปวง กิเลสทั้งหลายทั้งปวงไม่มาเกิดมันมาวนเฉยๆ เหมือนกับสุนัขมาวนเต่าทำอะไรไม่ได้มันก็หนีไป ความโกรธมันเกิดขึ้นมาในใจเราก็กำหนด “โกรธหนอๆ” มันมาวนเฉยๆ เรากำหนดว่า “โกรธหนอๆ” มันทำใจให้เราโกรธไม่ได้มันก็หนีไป
หรือว่าราคะจะมาเกิดในจิตในใจมันมาวนเรากำหนด “ราคะหนอๆ” มันก็หายไป เราจะเกิดความโลภขึ้นมาก็กำหนด “โลภหนอๆ” “ไม่พอใจหนอๆ” อารมณ์โลภอารมณ์ไม่พอใจมันก็หายไปได้ มันมาวนเฉยๆ เราเห็นรูปเราก็กำหนดว่า “เห็นหนอๆ” มันทำอะไรเราไม่ได้จิตใจเรามันก็สะอาดขึ้นมา เพราะฉะนั้นท่านจึงให้เราสำรวม บุคคลผู้จะบรรลุมรรคผลนิพพานก็สำรวม แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็สำรวม
เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมผู้ใดอยากจะพ้นไปจากความทุกข์ อย่างต่ำ อย่างกลาง อย่างสูงนั้นต้องสำรวม ถ้าผู้ใดสำรวมตาหูจมูกลิ้นกายใจ ด้วยการระมัดระวัง เห็นก็กำหนดว่า “เห็นหนอๆ” ได้ยินก็กำหนดว่า “ได้ยินหนอ” ได้กลิ่นก็กำหนดว่า “กลิ่นหนอ” เวลาฉันอาหารก็กำหนดว่า “รสหนอๆ” เวลาเย็นร้อนอ่อนแข็งก็กำหนด เย็น ร้อน อ่อน แข็ง “รู้หนอๆ” ถ้าผู้ใดกำหนดได้อย่างนี้ความทุกข์อย่างต่ำ ความยินดีในอารมณ์ต่างๆ ความไม่ชอบใจในอารมณ์ต่างๆ ไม่เกิดขึ้นมามีความสุขอย่างต่ำแล้ว
แต่ถ้าผู้ใดสำรวมด้วยการระงับนิวรณ์ธรรม คือระงับกามฉันทะ ความปรุงแต่งในกามคุณในจิตใจของเรา ระงับความพยาบาทในจิตในใจของเราได้ ระงับถีนมิทธะ ความหดหู่ ความง่วงเหงาหาวนอน ระงับ อุทธัจจะ กุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญได้ หรือระงับวิจิกิจฉา ความสงสัยลงได้ จิตใจของบุคคลนั้นสงบเป็นสมาธินี้ก็เรียกว่า เกิดความสงบอย่างกลางแล้ว เกิดความสุขอย่างกลางแล้ว แต่ถ้าผู้ใดสงบด้วยอำนาจของวิปัสสนา ด้วยอำนาจของมรรคของผล บุคคลนั้นก็มีความสุขอย่างสูงสุดแล้ว การประพฤติปฏิบัตินั้นต้องสำรวม
แล้วก็การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นต้องขยัน ต้องขยันหามรุ่งหามค่ำเหน็ดเหนื่อยไม่ว่าขอให้ข้าพเจ้าได้ประพฤติปฏิบัติธรรม ข้าพเจ้าไม่หวังอะไรขอให้ข้าพเจ้าได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ลำบากเมื่อหนุ่มดีกว่ากลุ้มใจตอนแก่ วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร เราลำบากในตอนนี้ดีกว่าเราไปเสียใจตอนแก่เมื่อร่างกายมันหมดสภาพ นี่การประพฤติปฏิบัติธรรมต้องมีความเพียร แล้วความเพียรนั้นต้องเป็นความเพียรแบบด้ายสนเข็ม เรียกว่าไม่ขาดสายเราจะไปไหนก็มีด้ายนั้นติดตามเข็มไปอยู่เป็นประจำ สติก็ดี สัมปชัญญะก็ดีติดตามเราไปเหมือนเงาติดตามตัว จะคู้ จะเหยียด จะก้ม จะเงย จะดื่มทำพูดคิดเราก็กำหนดอยู่ตลอดเวลา
ถ้าผู้ใดกำหนดอย่างนั้นจะเกิดมหัศจรรย์เป็นอย่างมาก จะเกิดความเข้าใจ จะเกิดปัญญาเฉียบแหลม จะเกิดภูมิธรรมขึ้นมาหลายอย่างมากมาย ถ้าผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทำได้ ทั้งความสงบ ทั้งความสุข ทั้งปัญญาที่เรายังไม่เคยคิด เราก็คิดถึง สิ่งที่เราไม่เคยเห็นเราก็เห็น สิ่งที่เราไม่เคยรู้เราก็รู้มากมาย นี้ถ้าผู้ใดมีสติ มีความเพียรกำหนดติดต่อกันไปไม่ขาดสายไปอย่างนั้น เรียกว่าทั้งมีความเพียร แล้วก็การสำรวม อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมที่คณะญาติโยมทั้งหลายได้มาประพฤติปฏิบัติธรรมก็ขอให้มีความเพียร มีความสำรวม
ประการสุดท้ายก็ขอให้มีสติกับสัมปชัญญะ สติสัมปชัญญะนั้นเป็นตัวปัญญา ถ้าผู้ใดมีสติ มีสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อมตลอดเวลา บุคคลนั้นชื่อว่าเจริญวิปัสสนาแล้ว จะรู้ว่าตนเองเจริญวิปัสสนาหรือไม่รู้ก็ตาม บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นอันเจริญวิปัสสนาแล้ว บุคคลนั้นจะรู้ว่าวิปัสสนาญาณเจริญแก่ตนเอง เกิดขึ้นแก่ตนเอง หรือไม่รู้ก็ตาม ชื่อว่าวิปัสสนาได้เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้นแล้ว หนทางของบุคคลนั้นคือมีเส้นชัยคือการบรรลุมรรคผลนิพพานเป็นที่สุด เพราะฉะนั้นก็ขอให้ญาติโยมทั้งหลายที่มาร่วมประพฤติปฏิบัติธรรม จงตั้งอยู่ในความไม่ประมาท มีความเพียร มีการสำรวม แล้วก็มีสติ มีสัมปชัญญะในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ คณะญาติโยมตลอดคณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็จะได้สมาธิสมาบัติ ได้บรรลุมรรคผลนิพพานสมความมุ่งมาดปรารถนา
วันนี้อาตมภาพได้กล่าวธรรมะมาก็เห็นว่าพอสมควร ในท้ายที่สุดนี้ด้วยอำนาจคุณงามความดีที่คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมได้บำเพ็ญมาดีแล้ว ก็ขอให้คุณงามความดีทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นจงได้มารวมกันเป็นตบะ เป็นเดชะ เป็นพลวปัจจัยส่งเสริมให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายจงเป็นผู้มีศรัทธาสมบูรณ์ มีความเพียรสมบูรณ์ มีสติสมบูรณ์ มีสมาธิสมบูรณ์ มีปัญญาสมบูรณ์ เป็นผู้ได้บรรลุวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ อภิญญา ๖ ได้บรรลุมรรคผลนิพพานในอนาคตกาลอันไม่ช้าไม่นาน จงทุกท่านทุกคนเทอญ.