การปฏิบัติธรรมที่ไม่ผิด

การปฏิบัติธรรมที่ไม่ผิด

(เทศน์ที่บ้านเขตปราพัฒน์ วันที่ ๑๗ ธ.ค. ๕๕)

            ต่อไปก็ให้นั่งภาวนา ถ้าท่านใดมีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าในการทำวัตรก็ผ่อนคลายอิริยาบถด้วยการยืนได้ เปลี่ยนแปลงอิริยาบถ นั่งนานก็ทุกข์ ยืนนานก็เป็นทุกข์ นอนนานก็เป็นทุกข์ เราทำอะไรนานๆ มันก็เป็นทุกข์ เพราะสังขารนั้นเป็นที่เกิดแห่งทุกข์ เป็นกองแห่งทุกข์ เป็นสมุทัยเป็นที่เกิดของทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง เพราะฉะนั้นท่านใดที่มีความเหน็ดเหนื่อยมีความเมื่อยล้าจากการไหว้พระทำวัตรสวดมนต์ก็ผ่อนคลายอิริยาบทด้วยการยืนได้ ส่วนผู้ใดที่เคยทำมาเป็นประจำเป็นนิจ ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็นอยู่เป็นประจำก็จะมีความคุ้นเคย ทำวัตรเช้าเสร็จก็เจริญจิตภาวนา นั่งภาวนาอย่างน้อยก็ ๓๐ นาที หรือว่าส่วนมากก็นั่งภาวนา ๑ ชั่วโมงนี้พระสายวัดป่าก็จะทำเป็นกิจวัตรประจำวัน หลังจากออกจากการภาวนาแผ่เมตตา ก็จะได้นุ่งสบงห่มจีวร จับบาตร ไปบิณฑบาตเพื่อโปรดญาติโปรดโยม อันนี้เป็นกิจวัตรของพระป่าที่ท่านได้ทำเป็นประจำ

         เพราะฉะนั้นการบำเพ็ญประพฤติปฏิบัติธรรมที่เรากำลังทำอยู่นี้ จริงที่ว่าพวกเราทั้งหลายได้มาประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อยกจิตยกระดับใจของเราให้สูงขึ้น ตื่นเช้ามาเราก็เอามงคลใส่ตัว หรือตื่นเช้ามาเราก็ไหว้พระ นอบน้อมต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ถ้าผู้ใดนอบน้อมต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประเสริฐและสูงสุดกว่ามนุษย์และเทวดาทั้งหลายทั้งปวง ท่านกล่าวว่ามงคลจะเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น

         คือถ้าผู้ใดเคารพต่อบุคคลผู้สูงสุด แม้แต่มนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี ทั้งหลายทั้งปวงก็จะไม่กล้ากร้ำกรายบุคคลนั้นเพราะอะไร เพราะว่าบุคคลนั้นเป็นผู้เคารพต่อพระผู้มีพระภาคแล้ว เพราะฉะนั้นมงคลทั้งหลายทั้งปวงจึงบังเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้นอบน้อมแก่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

         หลังจากนั้นเราก็นอบน้อมต่อพระพุทธ ต่อพระธรรม ต่อพระสงฆ์ ระลึกนึกถึงคุณของท่าน ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองแม้ปรินิพพานไปนานแล้ว เราระลึกนึกถึงคุณของท่าน นอบน้อมถึงท่าน หรือว่าเราระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าว่า อรหัง สัมมา สัมพุทโธ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

         วิชชาจรณสัมปันโน พระองค์เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา คือความรู้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจรณะ คือความประพฤติ วิชชาพระองค์ก็แตกฉานทุกสิ่งทุกอย่าง สิ่งใดที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์จะไม่รู้นั้นไม่มี ตั้งแต่หมื่นโลกธาตุ แสนโลกธาตุ ล้านโลกธาตุ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นผู้รู้ทั่ว เหมือนกับธรรมที่พระองค์ทรงแสดงนั้นแหละ ท่านกล่าวไว้ว่า สัพพัญญู รู้ทั่วไป เปรียบใบไม้หมดทั้งป่า แต่เลือกเอามานำสอนกำมือเดียว คือธรรมะทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ที่พระองค์เอามาสอนเรานั้นเป็นเพียงแต่ใบไม้กำมือเดียว ใช่เป็นความรู้ทั้งหมดทั้งปวงทั้งสิ้นที่พระองค์ทรงรู้ เพียงแต่เป็นใบไม้นิดเดียวพอเหมาะแก่อุปนิสัยของเราทั้งหลายทั้งปวง

         เพราะว่าชีวิตของคนนั้นมีอายุสั้นน้อยนัก ถ้าจะศึกษาวิชาทั้งหมดทั้งปวงชีวิตของเรานั้นมันสั้นไป น้อยไป ไม่พอที่จะศึกษาให้รู้ทุกวิชา เพราะฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์จึงเอาความรู้ที่สำคัญพอเหมาะแก่การบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นมาให้พวกเราประพฤติปฏิบัติคือ มรรคมีองค์ ๘

         พระองค์ทรงถึงพร้อมด้วยจรณะ คือความประพฤติ สิ่งใดที่ผิดพระองค์จะไม่ประพฤติ สิ่งที่เป็นบาปทางกาย ทางวาจา ทางใจ พระองค์จะไม่ทรงประพฤติ ถึงพระองค์จะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าขนาดไหนก็ตาม พระองค์ก็ทรงรักษาพระธรรมวินัย พระองค์ทรงบัญญัติพระธรรมวินัยเอง แต่พระองค์ก็ทรงรักษาพระธรรมวินัยด้วยตัวของพระองค์เอง พระองค์ทรงถึงพร้อมด้วยความประพฤติ พระองค์ทรงสั่งสอนสาวกของพระองค์อย่างไร พระองค์ก็ทรงประพฤติอย่างนั้น พระองค์ทรงสั่งสอนให้สาวกเคารพพระวินัยอย่างไร พระองค์ก็ทรงเคารพต่อพระวินัยอย่างนั้นแม้ชีวิตก็ยอม นี้เป็นความถึงพร้อมด้วยการประพฤติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

         เพราะฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นจึงถือว่าเป็นบรมครูของพวกเราทั้งหลาย ถ้าผู้ระลึกนึกถึงคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่เป็นประจำ บุคคลนั้นจะผ่อนจากความโศก ผ่อนจากความทุกข์ เพราะว่าจิตใจของบุคคลนั้นมีความยึดมั่น จิตใจของบุคคลนั้นมีที่พึ่ง ธรรมดาจิตใจของบุคคลนั้นเมื่อขาดที่พึ่งแล้วก็ซัดส่ายไปมา

         ส่วนมากคนทั้งหลายเกิดขึ้นมาแล้วก็กลัวความตาย กลัวความทุกข์ กลัวความพลัดพราก กลัวความเจ็บ กลัวความป่วยต่างๆ ความหวาดหวั่นของสัตว์โลกเป็นไปในลักษณะอย่างนี้

         แต่ท่านกล่าวว่าถ้าผู้ใด มีศีล มีบุญ มีบารมี มีสมาธิ มีวิปัสสนาญาณ มีมรรค มีผล อันตนบำเพ็ญดีแล้วถึงเจ็บป่วยก็ไม่กลัว ถึงเจ็บป่วยก็ไม่หวาดหวั่น ถึงจะตายก็ไม่กลัว เพราะอะไร เพราะรู้ว่าตนเองได้บำเพ็ญบุญมาพอสมควรแล้ว ตายไปก็เหมือนกับเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติ ตายไปแล้วก็เหมือนนอนหลับแล้วฟื้นตื่นขึ้นมาก็เหมือนตนเองได้เสวยผลบุญที่สั่งสมไว้ ในลักษณะอย่างนี้หมายถึงบุคคลผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานจนเป็นที่เบาจิตเบาใจ เพราะว่าท่านกล่าวว่าบุคคลผู้บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าได้ผ่านญาณ ๑๖ แม้เพียงครั้งเดียว หรือว่าผ่านญาณ ๑๖ ได้เพียงครั้งหนึ่ง บุคคลนั้นก็จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิ ตายแล้วก็จะไม่ไปเกิดในนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ตายไปแล้วย่อมไปเกิดในสุคติ มีมนุษย์ สวรรค์เป็นต้น

         บุคคลนั้นตายแล้วก็เหมือนกับตายแล้วฟื้น ตายแล้วก็เกิดอย่างมากอีก ๗ ชาติ นี้ถ้าเป็นประเภทสัตตักขัตตุปรมะ เป็นพระโสดาบันอย่างต่ำ แต่ถ้าเป็นพระโสดาบันอย่างกลาง คือเป็นโกลังโกละ นี้ก็เกิดประมาณ ๒-๓ ชาติ ประมาณขนาดไหนก็ตามชาติสุดท้ายนั้นก็ต้องได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาน คือ จะไม่เกิน ๖ ชาติ ประเภทที่ ๓ ก็คือเอกพีชี คือเป็นพระโสดาบันประเภทสูงสุด ผู้นี้จะเห็นภัยในวัฏฏสงสาร จะไม่ประมาทในการประพฤติปฏิบัติธรรม จะไม่ประมาทในสติ จะไม่ประมาทในสัมปชัญญะ  ไม่มัวเมาในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ประเภทนี้จะหมั่นเจริญภาวนา เกิดอีกอย่างมาก ๑ ชาติก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาน อันนี้เป็นการสร้างสมอบรมบารมี เพื่อที่จะหนีความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง

         พวกเราทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นมานี้เพราะอะไร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า เกิดขึ้นมาเพราะเหตุ เรามีเหตุเราจึงได้เกิดขึ้นมา ถ้าเราไม่มีเหตุมันก็เกิดขึ้นมาไม่ได้ เมื่อเรามีเหตุ ทำเหตุไว้เราจึงเกิดขึ้นมา เมื่อเราเกิดขึ้นมาแล้วเราก็มาสวมเปลือก สวมเปลือกสวมคราบตามเหตุที่เราสั่งสมไว้ ถ้าเราทำเหตุดี คือเราได้ให้ทานมามากมาเกิดเป็นมนุษย์แล้วก็มาสวมเปลือกเป็นคนรวย หรือว่าเราทำเหตุคือให้ทานไว้มากเราก็ไปสวมเปลือกเป็นเทวดา หรือว่าเราทำเหตุไว้มีการรักษาศีลไว้มาก พอเรามาเกิดเป็นมนุษย์เราก็มาสวมเปลือกสวมร่างที่มีความสดสวยงดงาม มีอวัยวะที่ไม่พิกลพิการ เพราะอะไร เพราะเหตุคือศีลที่เราทำไว้ เมื่อมันมาให้ผลเราก็มาสวมเปลือกสวมรูปเงาะตามเหตุที่เราสร้างไว้ แต่เมื่อเหตุหรือเปลือกที่เราสร้างไว้มันหมดไป เราก็ต้องเวียนไปสวมเหตุตามเปลือกตามเหตุใหม่

         ถ้าเราประมาทมัวเมาไม่รักษาศีล ให้ทาน บางครั้งเราอาจจะไปสวมเปลือกที่เป็นคนยากจนข้นแค้นอนาถา ถือกระเบื้องขอทาน ถือกะลาขอข้าวก็ได้ นี่เหตุหรือว่าเปลือกที่เราได้รับตามเหตุมันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นสัตว์โลกทั้งหลายทั้งปวงจึงเป็นไปตามเหตุและปัจจัย เหตุและปัจจัยเท่านั้นที่หมุนเวียนเปลี่ยนไป สิ่งอื่นไม่มี คือพวกเราทั้งหลายเกิดขึ้นมาเพราะเหตุ อยู่ได้ก็เพราะเหตุ เราจากกันไปก็เพราะเหตุมันหมด ถ้าเรามาอยู่ร่วมกันทั้งหมดนี้ก็เพราะเหตุ เราเคยสร้างสมอบรมบารมีมาร่วมกันเราก็เลยได้มาอบรมธรรมร่วมกัน แต่เมื่อเหตุมันหมดจากกัน มันก็จากกันไป แต่ว่าจะจากกันไปโดยชั่วคราวหรือว่าจากกันไปโดยถาวรนั้นแล้วแต่ธรรมะของเรา แล้วแต่เหตุของเราอีกเหมือนกัน

         แต่ถ้าเรายังไม่หมดกิเลส เรายังละราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อวิชชาไม่ได้ ถึงเราจากกันไปเราก็จากกันไปแต่เฉพาะชั่วคราว ท่านว่าถ้าผู้ใดละกิเลสไม่ได้บุคคลนั้นก็อยู่ในขอบของห้วงมหรรณพภพสงสาร อยู่ในขอบมหาสมุทรใหญ่คือวัฏฏสงสาร ต้องแหวกว่ายในสายธาร โอฆะแก่งแหล่งกันดาน ต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย อยู่ในลักษณะอย่างนี้ จากกันไปแล้วก็มาพบกัน แต่ว่าจะมาพบกันในคราบของอะไรก็แล้วแต่เหตุ

         ชาตินี้อาจจะพบกันในฐานะเป็นลูก ชาติหน้าอาจจะพบกันในฐานะเป็นผู้รู้จักกันเป็นเพื่อน ชาติต่อไปอาจจะพบกันในฐานะเป็นลุง เป็นป้า นี้ในลักษณะที่เราอ่านในพระไตรปิฎก เราอ่านในพระไตรปิฎกต่างๆ แต่ก่อนโน้นนางอุบลวรรณาก็เคยเป็นลูก เป็นกัณหาชาลีที่เป็นลูกสาวในชาติของพระเวสสันดร แม้แต่พระโมคคัลลานะก็ดี พระสารีบุตรก็ดี พระอานนท์ก็ดี ก็เคยเป็นน้องชายพระพุทธเจ้า เป็นญาติของพระพุทธเจ้าก็มี เป็นอำมาตย์รับใช้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ เป็นกษัตริย์ก็มี เรียกว่าเคยทำบุญทำเหตุร่วมกัน

         เพราะฉะนั้นบุคคลถ้ายังไม่หมดกิเลสอยู่ สิ่งเหล่านี้มันก็จะวนกันไปวนกันมา แต่เราจะสวมเปลือกอะไรมาก็แล้วแต่เหตุแล้วแต่บุญแล้วแต่กุศล แต่ถ้าผู้ใดดับเหตุ คือดับกิเลสได้ก็เป็นการจากโดยถาวร คือจากไปเพื่อไม่เกิดอีก จากไปเพื่อไม่แก่อีก จากไปเพื่อไม่ตายอีกเพราะพระนิพพานนั้นเป็นอชรา คือไม่แก่ ไม่เข้าถึงความแก่ อชาติ คือไม่เกิดอีก พระนิพพานนั้นเป็นอมรณัง คือจะไม่เข้าถึงความตายอีก นี้ในลักษณะของการจากกันไป

         เพราะฉะนั้นพวกเราทั้งหลายที่มาอยู่ร่วมกันก็มาเพราะเหตุ อยู่ได้เพราะเหตุ แล้วพวกเราก็จะจากกันไปเพราะเหตุ แต่ถ้าเรายังไม่สามารถดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวง ดับเหตุทั้งหลายทั้งปวงได้เราก็ต้องมาเวียนว่ายมาพบกันอีก ไม่ภพใดก็ภพหนึ่ง ไม่ที่ใดก็ที่หนึ่ง เพราะฉะนั้นที่เรามาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้เรามาสร้างเหตุที่ดี คือ ให้ทาน ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนา แผ่เมตตา แผ่บุญแผ่กุศลทั้งหลายทั้งปวง เพื่ออะไร เผื่อว่าเรายังดับราคะ ดับโทสะ ดับโมหะไม่ได้ ดับกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดไม่ได้ เราจะได้สวมเปลือกที่ดีหน่อย จะไม่ได้สวมเปลือก สวมเงาะพิกลพิการ จะได้ไม่สวมเปลือกที่เป็นคนโง่ หรือว่าไม่สวมเปลือกเป็นคนที่ใจโหดร้ายอันธพาลอะไร เราจะได้สวมเปลือกเป็นคนใจบุญ มีสติ มีปัญญาดีต่างๆ เราจึงมารวมกันบำเพ็ญภาวนา ประพฤติปฏิบัติธรรมสร้างบุญสร้างกุศล อันนี้ก็ถือว่าเป็นบ่อแห่งบุญเป็นบ่อน้ำ เราอยากจะดื่มน้ำ เรากระหายน้ำเราก็มาตักเอา เป็นน้ำภายในคือเป็นกุศลไม่ใช่น้ำภายนอก

         บุคคลผู้มีน้ำภายนอกพอถึงฤดูแล้งบุคคลนั้นจะเอามาดื่มมากิน ดับความกระหายดับความหิวก็สามารถที่จะทำได้โดยง่าย ไม่ต้องเหน็ดต้องเหนื่อยต้องเดินไปตัก โน้นกลางทุ่งนา หรือเดินไปซื้อที่ร้านต่างๆ แต่ถ้าบุคคลใดมีบุญ มีน้ำภายในนี้ก็เหมือนกัน เวลาเกิดความคับแค้นเกิดความลำบากบุญนั้นจะมาช่วยทันที เป็นน้ำหล่อเลี้ยงชะโลมใจของเราทันที ความติดขัด ความขัดข้องอะไรต่างๆ ก็จะผ่านพ้นไปด้วยดี ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้เป็นโรครักษาก็หาย รถพลิกคว่ำก็ไม่ตาย อันนี้เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะบุญ หนุนนำปกปักปกป้องคุ้มครองรักษา เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายจึงได้มาร่วมกันบำเพ็ญสร้างสมอบรมคุณงามความดี ถึงมันจะเหน็ด ถึงมันจะเหนื่อย ถึงมันจะเมื่อย ถึงมันจะลำบากอย่างไร แต่ก็เป็นหน้าที่ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย

         ผู้ใดปรารถนาเงิน ปรารถนาทองบุคคลนั้นต้องอดทนถึงมันจะลำบากต้องทำการค้าการขาย เป็นชาวไร่ชาวนาแดดออกก็ต้องไปทำนา ฝนตกก็ต้องไปทำนา แม่ค้าแม่ขายก็เหมือนกัน ถึงเวลามันจะดึกดื่นก็ต้องสู้ตื่นขึ้นมาทำของที่จะไปขายของ ถึงจะขายเหน็ดขายเหนื่อยก็ต้องสู้เพื่อที่จะได้เงิน ถ้าผู้ใดขยันบุคคลนั้นก็ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ ผู้ใดประหยัดเงินก็จะเหลือถุง พวกเราทั้งหลายก็เหมือนกัน ถ้าผู้ใดขยันทำบุญทำกุศลบุญก็เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น ถ้าผู้ใดประหยัดหรือไม่ทำบาปในขณะที่เราประพฤติปฏิบัติธรรม ในขณะที่เราเกิดมา บุคคลนั้นจะเป็นบุคคลผู้มีภพสมบูรณ์ มีชาติสมบูรณ์ บุคคลผู้เกิดขึ้นมามีภพสมบูรณ์ มีชาติสมบูรณ์ ไม่ใช่ว่าบุคคลนั้นทำบุญมาก ทำบุญเป็นร้อย ทำบุญเป็นพัน ทำบุญเป็นหมื่น ทำบุญเป็นล้าน ทำบุญเป็นสิบล้าน สร้างวัดสร้างวามากมายมหาศาลบุคคลชื่อว่ามีชีวิตสมบูรณ์ไม่ใช่ บุคคลผู้มีชีวิตสมบูรณ์นั้นนอกจากจะทำบุญแล้ว นอกจากจะให้ทานแล้ว นอกจากจะรักษาศีลแล้ว นอกจากจะเจริญสมาธิแล้ว นอกจากเจริญวิปัสสนากรรมฐานแล้ว บุคคลนั้นต้องเว้นจากบาป ถ้าไม่เว้นจากบาปแล้วจะเป็นชีวิตที่สมบูรณ์นั้นยาก

         เราเคยเห็นบุคคลผู้ที่มีเงินเกิดเป็นลูกของเศรษฐี เกิดเป็นคนมีเงินเป็นยี่สิบล้าน พันล้าน แต่ว่าลูกออกมาเป็นคนพิการ ลูกออกมาเป็นคนง่อยเปลี้ย อันนี้เพราะอะไร เพราะให้แต่ทานแต่ชาติก่อนโน้นชอบเบียดเบียนบุคคลอื่นไม่รักษาศีล ถ้าให้ทานอย่างเดียวไม่เว้นจากบาป ยังเบียดเบียนบุคคลอื่นอยู่ ยังไปฆ่าบุคคลอื่น บางครั้งอาจจะเกิดเป็นลูกของเศรษฐี แต่ว่าตนเองนั้นเป็นคนพิการ คิดดูสิว่า เรามีเงินมากแต่ว่าร่างกายของเรานั้นพิการจะมีความสุขขนาดไหนเชียว จะไปไหนก็ไม่ได้ จะเดินจะเหินก็ไม่ได้ เงินมีแต่ก็ไม่เกิดความสุข เพราะอะไร เพราะเราไม่เว้นจากบาป

         แต่บางคนบางท่าน บำเพ็ญทานมามาก รักษาศีลมามาก แต่บางครั้งก็ลุอำนาจของราคะ ลุอำนาจของโทสะก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ตนเองนั้น เกิดเป็นคนรวย ก็จริงอยู่แต่รูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์ต่างๆ นี้เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะเหตุที่เรากระทำไว้นั้นมันให้ผล เพราะฉะนั้นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเรามาร่วมกันบำเพ็ญอยู่นี้ จึงถือว่าเรามาสร้างเหตุที่ดี เรียกว่าเรามาสร้างเหตุอยู่ในภพภูมิอันเหมาะสม ไม่ตกต่ำจนเกินไปเราเห็นบุคคลผู้ที่อดอยากไม่มีอยู่ไม่มีกินเราก็อย่าประมาท เราก็อย่าไปดูถูกเขา

         องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่าบุคคลผู้เกิดขึ้นมาแล้วในวัฏฏสงสาร จะไม่ประมาทนั้นไม่มี แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็เคยทรงประมาท บางครั้งพระองค์เกิดเป็นมหาทุคตบุรุษเป็นผู้มีความทุกข์มาก ไม่มีจะอยู่จะกินก็มี บางครั้งพระองค์เสวยพระชาติเป็นคนตัดฟืนไปตัดฟืนขาย ไปเก็บฟืนขายก็มี ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงบำเพ็ญถึงขนาดนั้น บางครั้งพระองค์ก็เป็นกระต่าย บางครั้งพระองค์ก็เป็นเต่า บางครั้งพระองค์ก็เป็นกวาง บางครั้งพระองค์ก็เป็นวานร ทำไมพระองค์จึงต้องเป็นเต่า เป็นวานร เป็นกวาง ก็เพราะว่าจิตของพระองค์หลง คือจิตมันหลงก็เลยไปเกิดเป็นเต่า วานร บางครั้งก็เกิดเป็นพญาปลาช่อน เกิดเป็นปู เป็นปลาก็มี เพราะอะไร เพราะจิตมันหลง

         บุคคลผู้เกิดมาในวัฏฏสงสารจะไม่หลงนั้นไม่มี ต้องหลง แต่ถ้าเรามีสติ มีสัมปชัญญะ เราก็ควรที่จะตั้งสติของเราให้ดี ควรพยายามที่จะตั้งใหม่ ว่านับตั้งแต่นี้ไปเราจะไม่ทำบาปทางกาย นับตั้งแต่นี้ไปเราจะไม่ทำบาปทางวาจา นับตั้งแต่นี้ไปเราจะไม่ทำบาปทางใจ ถ้าเรามีสติ มีสัมปชัญญะ เราจะเว้นบาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงนี้ เหมือนกับบุคคลผู้เว้นจากมูตรคูถ เว้นจากหลุมถ่านเพลิง หรือว่าเว้นจากอสรพิษทั้งหลายทั้งปวง ให้เราคิดอย่างนี้ถ้าเราคิดอย่างนี้ได้แล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ใจของเรานั้นมันสูงขึ้น ความบริบูรณ์แห่งการครองเรือนของเราก็จะดีขึ้น ลูกหลานก็จะบอกง่ายว่าง่ายขึ้น ครอบครัวของเราก็จะเย็นลง ความไหลคล่อง เงินไหลนองทองไหลมา อะไรต่างๆ ก็จะค่อยๆ ตามมา เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะว่าเหตุที่เราสร้างไว้ดี

         เพราะฉะนั้นการที่เราทั้งหลายได้มารวมกัน ก็ถือว่าเรามารวมกันสร้างเหตุ บ้านเขตประชาพัฒน์เป็นที่สร้างเหตุของเราในภพนี้ เพราะฉะนั้นก็ขอให้พวกเราทั้งหลายนั้นได้พยายาม เวลามันมีน้อย เวลามันนิดหน่อย แค่ ๙ คืน ๑๐ วัน ถ้าเราประมาทมัวเมา มัวแต่คุย มัวแต่ส่งจิตส่งใจไปที่อื่นบางครั้งเราออกจากสถานที่แห่งนี้ไป โรคภัยไข้เจ็บอาจจะมาครอบงำเรา เราอยากจะมาปฏิบัติอีกก็ปฏิบัติไม่ได้แล้ว เพราะโรคภัยมันเบียดเบียน แข้งขาก็เดินไม่ได้เหมือนเก่าแล้วก็อาจจะเป็นได้

         บางครั้งเราออกจากนี้ไปแล้วเราอาจจะล้มหมอนนอนเสื่อ เดินไม่ได้ นั่งไม่ได้ บางครั้งอาจจะเกิดอุบัติเหตุอาจจะตายไป เกิดอุปฆาตกกรรมต่างๆ เพราะความแก่ความเจ็บมันติดตามเราอยู่ตลอดเวลา ความตายมันติดตามเราอยู่ตลอดเวลา ไม่มีใครที่สามารถล่วงรู้ได้ว่าเราจะตายในเวลาไหน จะตายในเวลาเช้า เวลาบ่าย หรือว่าเวลาเย็น หรือว่าเวลาปฐมยาม มัชฌิมยาม หรือว่าจะตายในตอนสว่าง นี้เราก็ไม่รู้

         บางคนเห็นกันตอนเช้า ตอนสายก็ม้วยมรณาตายแล้ว เห็นกันตอนสาย ตอนค่ำได้ข่าวว่าเขาเปิดธรณีกรรแสงแล้วตายแล้ว บางครั้งเป็นลูกเป็นเมียหยอกเย้ากันพอถึงมัชฌิมยามตายแล้ว บางครั้งมัชฌิมยามยังคุยกันอยู่ยังทำงานกลางคืนกันอยู่ แต่ไปนอนถึงเช้านอนไหลตายแล้วอย่างนี้ก็มี เราได้เห็นอยู่เป็นประจำ ในเมื่อเรามีโอกาสประพฤติปฏิบัติธรรมแล้ว ให้เราคิดเสียว่าเรานั้นมีชีวิตสั้น อย่าคิดว่าเรามีชีวิตยาว ถ้าผู้ใดมาประพฤติปฏิบัติธรรมคิดว่าเราจะมีอายุ ๗๐ ปี เราจะมีอายุ ๘๐ ปี เราจะมีอายุ ๑๐๐ ปี เราจะมีอายุ ๑๒๐ ปี บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นผู้ประมาท

         แต่ถ้าเราคิดว่าเรามีชีวิตอยู่ไม่นาน ปีหน้านี้เราก็อาจจะตาย หรือว่า ๖ เดือนต่อไปเราก็อาจจะตาย ถ้าเราคิดอย่างนี้ใจของเราจะเป็นบุญทั้งกลางวันกลางคืน  ใจของเราจะไม่ประมาททั้งกลางวันกลางคืน ใจของเราจะยินดีให้ทานรักษาศีลไหว้พระทำวัตรสวดมนต์ทั้งกลางวันและกลางคืน

         แต่ถ้าเราคิดว่าเราจะมีอายุยืนยาวนานนั่นแหละความประมาทมันครอบงำเข้ามา เมื่อความประมาทครอบงำเข้ามาก็ผัดวันประกันพรุ่ง วันนี้มันเหนื่อยเหลือเกินนอนดีกว่า พรุ่งนี้ว่าจะไปใส่บาตรว่าจะไปซื้อของใส่บาตรมันเหนื่อยก็รอไว้ก่อน ลูกคนโน้นก็มาขออย่างนั้น ลูกคนนี้ก็เอางานอย่างนี้มาให้รอมะรืนนี้ดีกว่า ผัดวันประกันพรุ่งในการทำคุณงามความดีเราก็ผัดมาเรื่อยเปลี่ยนมาเรื่อย ผลสุดท้ายเราก็พลาดจากคุณงามความดี

         เพราะฉะนั้นที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสกับพระอานนท์ว่า “ดูก่อนอานนท์ เราตถาคตระลึกนึกถึงความตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก เมื่อเราระลึกนึกถึงความตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ว่าความตายมันจะมาหาเราอยู่เป็นประจำแล้วเราจะประมาทได้อย่างไร” นี้บุคคลผู้ที่นับถือพุทธศาสนา ผู้มีความขวนขวายในเรื่องบุญท่านจึงให้เรานั้นพิจารณาความตายอยู่เป็นประจำ ถ้าเราไม่พิจารณาความตายแล้วความประมาทก็คลุมจิตใจของเรา เราก็จะเพลิดเพลินไปตามความประมาทหาทรัพย์ได้มากเท่าไรก็ยิ่งดีใจ พอใจ เวลามีคนไปชวนว่า แม่ใหญ่ไปประพฤติปฏิบัติธรรมเถิด พ่อใหญ่ไปประพฤติปฏิบัติธรรมที่บ้านเขตประชาพัฒน์ไหม ประชาสัมพันธ์ในสถานีวิทยุก็ ช่วงนี้ขายของกำลังได้เงิน ลูกไม่ได้ช่วย หลานไม่ได้อยู่ เพราะฉะนั้นทำการค้าการขายก็ยังเพลิดเพลินในความร่ำรวย เพลิดเพลินในทรัพย์สมบัติปานประหนึ่งว่าสมบัตินั้นจะติดตามบุคคลนั้นไปได้ ปานประหนึ่งว่าทรัพย์สมบัตินั้นจะเป็นของเราทุกชาติ เราตายไปแล้วเราก็กองไว้สำหรับโลกนี้แหละ คนทั้งหลายทั้งปวงก็มาหยิบเอาไป หลานก็มาหยิบเอาไป ลูกมาหยิบเอาไป เหลนมาหยิบเอาไป บางครั้งก็ใช้ไม่เป็นประโยชน์ก็มี เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะบุคคลผู้เพลิดเพลินในการค้าการขาย ในทรัพย์สมบัติต่างๆ

         เพราะฉะนั้นก็ขอให้พวกเราทั้งหลายอย่าได้ประมาท พยายามบำเพ็ญคุณงามความดีให้มากที่สุด โดยเฉพาะการให้ทานเราต้องให้เป็นประจำให้แล้วให้อีกให้มากเท่าไรก็ยิ่งดี ถ้าผู้ใดมีทานบริบูรณ์ บุคคลนั้นเกิดชาติหนึ่งภพใดจะมีความสุขมีความสบายมาก แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระองค์ก็เสด็จถือปฏิสนธิจากสวรรค์แล้วก็มาเกิดเป็นพระเวสสันดร เพื่อที่จะบำเพ็ญทานบารมีให้สมบูรณ์ นี้เราคิดดูแม้แต่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าต้องมาบำเพ็ญทานในชาติของพระเวสสันดร เพื่อที่จะให้ทานบารมีสมบูรณ์

         เมื่อพระองค์ทรงจุติจากสันดุสิตเทพบุตร มาถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพุทธมารดาแล้ว เมื่อพระองค์ทรงมาถือปฏิสนธินั้นแหละ คนทั้งหลายทั้งปวง คนตาบอดก็ดี คนหูหนวกก็ดี ก็หายจากตาบอดหูหนวก ท่านกล่าวว่าเมื่อพุทธเจ้าพระองค์ทรงมาถือปฏิสนธิที่ท้องของพระนางแล้ว ความบริบูรณ์ต่างๆ เกิดขึ้นในบ้านในเมือง เมื่อพระองค์ทรงคลอดจากท้องของมารดา หลุมบ่อเงินบ่อทองปรากฏขึ้นในทิศทั้ง ๔ อันนี้เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะความบริบูรณ์แห่งทานของพระองค์

         บุคคลผู้ที่เวียนว่ายตายเกิด นอกจากไม่ประมาทในทานแล้วต้องไม่ประมาทในการรักษาศีล รักษาศีลนั้นต้องพยายามรักษาให้ดี เพราะว่าศีลนั้นเมื่อเราประมาทแล้วเราตั้งใหม่ได้ อย่างเช่นเราครองบ้านครองเรือน บางครั้งก็อาจจะไปฆ่าสัตว์ ฆ่ากุ้ง ฆ่าปู ฆ่าปลา เพื่อที่จะเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ถ้ารามีวัยอันเหมาะสมเราก็ควรที่จะหยุด ถ้าเราอยู่ใกล้ตลาดเราก็ควรที่จะดำรงชีพของเราด้วยปัญญา หรือว่าเราควรที่จะเจริญสมาธิ ไม่ใช่ว่าจะให้ทานอย่างเดียว รักษาศีลอย่างเดียว ควรเจริญสมาธิ เพราะอะไร เพราะสมาธินั้นเป็นเหตุเป็นเป็นปัจจัยให้จิตใจของเราสงบ ทำให้เราเป็นคนโดยปกติถ้าผู้ใดไม่มีสมาธิมีแต่บำเพ็ญอย่างอื่น บุคคลนั้นส่วนมากจะเป็นประเภทเจ้าราคะ เป็นประเภทเจ้าโทสะ เป็นประเภทเจ้าโมหะ คือรวยก็จริงอยู่ สวยงามก็จริงอยู่ แต่มากด้วยราคะตัณหามากด้วยความโกรธ มากด้วยความพยาบาท เพราะอะไร เพราะตนเองไม่เคยเจริญสมาธิ

         เมื่อไม่เคยเจริญสมาธิจิตของตนเองไม่เกิดความสงบ เมื่อจิตไม่เกิดความสงบเมตตาจิตมันก็ไม่เกิดขึ้นมาได้ง่าย ความสงสารสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงก็มีน้อย แต่ถ้าจิตของเราสงบเมตตาจิตว่าคนทั้งหลายทั้งปวงเกิดมาปรารถนาสุขเหมือนกัน เกลียดความทุกข์เหมือนกัน เราก็พยายามที่จะทำสุขให้เกิดขึ้นแก่บุคคลอื่น หรือว่าเมื่อเราได้สมาธิแล้วจิตมันจะเมตตาสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง มันจะเกิดความสงสาร มันจะเกิดความรัก ความเข้าใจสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงขึ้นมา อันนี้เพราะอะไร เพราะจิตใจของเราอ่อนโยนด้วยอำนาจของสมาธิ

         แต่ถ้าจิตใจของเราไม่เคยฝึกสมาธิก็จะเป็นจิตใจที่ลุกลี้ลุกลน จิตใจที่กอบโกยเอาแต่ผลประโยชน์ที่ตนเองจะพึงได้ เพราะฉะนั้นต้องบำเพ็ญสมาธิควบคู่กันไปด้วยเพื่อความละเอียดอ่อนของภพของภูมิ แล้วก็ควรที่จะเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

         เพราะการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นถือว่าเป็นหนทางออกของสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง เหมือนกับเราหลงทางแล้วเราไม่รู้ทางออก เดินทางซ้ายหรือเดินทางขวาหรือจะเดินตรงไป หรือจะเดินกลับ หรือจะถอยหลังนี้เราไม่รู้ทางเดินถ้าเราไม่รู้ทางเดินอย่างนี้ท่านให้เราเจริญวิปัสสนากรรมฐาน กำหนดให้ทันปัจจุบันธรรมเหมือนกับเรากำหนดอยู่นี้แหละ ให้เห็นอาการพองอาการยุบ ให้เห็นอาการนั่งอาการถูก ให้เห็นอาการคู้อาการเหยียดอาการก้มอาการเงย ให้เรากำหนดสติอยู่กับร่างกายของเรานี้แหละ มีสติมีสัมปชัญญะอยู่กับร่างกายของเรานี้แหละ ตัวนี้เป็นบ่อเกิดแห่งปัญญา เป็นบ่อเกิดแห่งทางไปสวรรค์ เป็นบ่อเกิดแห่งทางไปพรหมโลก เป็นบ่อเกิดแห่งทางไปมรรค ไปผล ไปนิพพาน

         มรรคผลนิพพานมันเกิดขึ้นมาด้วยอำนาจของสติ เกิดขึ้นมาด้วยอำนาจของสัมปชัญญะ เกิดตรงไหน เกิดตรงกายของเรานี่แหละตั้งแต่พื้นเท้าถึงปลายผมจากปลายผมถึงพื้นเท้า เพราะฉะนั้นเวลาประพฤติปฏิบัติธรรมท่านจึงไม่ให้เราส่งจิตออกนอก ให้จิตให้สติของเรานี้อยู่ภายในกายของเรานี้แหละ หลุมแห่งปัญญา บ่อเกิดแห่งปัญญา คัมภีร์เล่มใหญ่ที่จะนำเราไปสู่การบรรลุมรรคผลนิพพานก็คืออัตตภาพร่างกายอันยาววาหนาคืบกว้างศอก ตรงนี้ไม่ใช่ตรงไหน

         เพราะฉะนั้นท่านจึงให้เราพิจารณาเพ่งอยู่นั่นแหละจนเราเกิดความเบื่อหน่าย เห็นร่างกายเป็นทุกข์เป็นโทษเป็นของปฏิกูลเป็นของโสโครก น่าเกลียดน่ากลัวเป็นรังของโรค เกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่ดับไป ประกอบด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อยู่ไม่นานก็ต้องแยก ต้องแตก ต้องสลาย มันก็จะค่อยๆ เห็นไปตามลำดับของมัน นี้ถ้าเรามาเพ่งสติ เพ่งสัมปชัญญะ พิจารณาอยู่ทั้งวันทั้งคืน พิจารณาอยู่ทั้งอาทิตย์ พิจารณาอยู่เป็นเดือน พิจารณาอยู่เป็นปี พิจารณาแล้วพิจารณาอีกจนเราเกิดปัญญา อันนี้เรียกว่าเป็นการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เป็นหนทางแห่งความพ้นทุกข์ เป็นการตัดกระแสของวัฏฏะ เป็นการหักกงกรรมกงเกวียนแห่งการเวียนว่ายตายเกิดก็คือให้เรามีสติ มีสัมปชัญญะ รวมอยู่ที่ร่างกายของเรานี้แหละ อย่าเผลอ อย่าส่งใจไปข้างนอก เพียงเท่านี้เราก็รู้หนทางแห่งการบรรลุมรรคผลแล้ว เป็นช่องเป็นทาง มันจะเกิดปัญญาขึ้นมาเอง ใครก็ตามถ้าทำอย่างนี้จะเกิดปัญญาด้วยกันทั้งนั้น จะเป็นพ่อใหญ่ก็ตามจะเป็นแม่ใหญ่ก็ตามจะเป็นลุงเป็นป้าเป็นลูกเป็นหลานก็ตาม ถ้าอยากหาหนทางพ้นทุกข์ต้องทำอย่างนี้แหละ ถ้าอยากจะประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อเกิดปัญญาก็ต้องปฏิบัติอย่างนี้แหละ วันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่าก็ต้องทำอย่างนี้ เมื่อบารมีของเรามันสมบูรณ์แล้วมันจะเกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมา มันจะเกิดการบรรลุมรรคผลนิพพานขึ้นมาเอง

         เพราะฉะนั้นก็ขอให้ญาติโยมทั้งหลาย ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลายนั้น อย่าคิดว่าอาจารย์สอนกรรมฐาน สอนอย่างไรหนอ สอนให้เราคิดอะไรเอง อ่านหนังสือก็ไม่ให้อ่าน คุยกันก็ไม่ให้คุย คิดก็ไม่ให้คิด แล้วเราจะไม่โง่หรือ เราไม่อ่านหนังสือพิมพ์มา ๑ วันเราจะไม่โง่หรือ เราไม่ดูทีวีวันหนึ่งเราจะไม่โง่หรือ เราไม่สนทนาปราศรัยวันหนึ่งเราจะไม่โง่หรืออะไรทำนองนี้ สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ว่าเป็นเหตุให้เรานั้นเกิดความฉลาดภายใน

         พวกทีวีก็ดี หนังสือพิมพ์ก็ดี ตำรับตำราก็ดี เป็นเหตุให้เราฉลาดภายนอก เป็นสุตมยปัญญา เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นกับโลก เป็นความรู้ที่ตั้งอยู่กับโลก แล้วก็เป็นความรู้ที่ดับไปกับโลก เป็นปัญญาหาข้าวกิน เป็นปัญญาหาเงินหาทอง แต่ปัญญาที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานจริงๆ แล้ว เป็นปัญญาที่เกิดขึ้นมาจากภาวนามยปัญญา คือการเพ่งพินิจพิจารณารูปนามนี้แหละ เรามีสติมีสัมปชัญญะเพ่งอยู่อย่างนี้แหละ นี้แหละเป็นหนทางประพฤติปฏิบัติธรรมบรรลุมรรคผลโดยย่อ เป็นหนทางบรรลุมรรคผลโดยสังเขป

         ถ้าบุคคลใดเกิดขึ้นมาแล้วบวชเป็นแม่ชีก็ตาม บวชเป็นปะขาวก็ตาม บวชเป็นพระก็ตาม บวชเป็นเณรก็ตาม บวชเป็นหลวงปู่หลวงน้าหลวงลุงก็ตาม บวชเข้ามาแล้วคิดว่าหนทางแห่งความพ้นทุกข์มันอยู่ตรงไหนหนอ คิดไม่ออก บอกไม่ถูก เดาไม่ได้ นี้ก็ขอให้รู้ว่าคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น ถ้าเรามีสติ มีสัมปชัญญะ พิจารณาร่างกายของเรานี้แหละ ยืนก็รู้ว่ายืน เดินก็รู้ว่าเดิน นั่งก็รู้ว่านั่ง คู้ก็รู้ว่าคู้ กินก็รู้ว่ากิน ดื่มก็รู้ว่าดื่ม ลิ้มก็รู้ว่าลิ้ม เรารู้หมด เห็นก็ “เห็นหนอ” คิดก็ “คิดหนอ” พองก็ “พองหนอ” ยุบก็ “ยุบหนอ” “คู้หนอ” “เหยียดหนอ” “ก้มหนอ” “เงยหนอ”

         ถ้าเรามีสติมีสัมปชัญญะรู้อาการคู้ อาการเหยียด อาการก้ม อาการเงย ในลักษณะอย่างนี้แหละ เป็นหนทางพ้นทุกข์ เป็นมรรคมีองค์ ๘ เป็นโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการ คือสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ รวมกันอยู่ตรงนี้ ศีลก็รวมกันอยู่ตรงนี้ สมาธิก็รวมกันอยู่ตรงนี้ มรรคผลนิพพานก็รวมกันอยู่ตรงนี้

         เพราะฉะนั้นเราไปประพฤติปฏิบัติธรรมที่บ้านเกิดอะไรขึ้นมาก็ไม่ต้องว่า เราต้องไปถามครูบาอาจารย์ ต้องเก็บไว้ เวลาไปวัดไปถามท่านอะไรทำนองนี้ ถ้ามันเกิดความสงสัยขึ้นมาเราก็กำหนดที่ใจของเราก่อนเลย “สงสัยหนอ” ทันทีเลย มันเกิดภาพอะไรขึ้นมา น่ากลัวก็ดี น่ารักก็ดี น่าเพลิดเพลินก็ดี กำหนดเลย “เห็นหนอ” กำหนดที่ตาของเราทันทีเลย ถ้ามันเกิดราคะขึ้นมาก็กำหนดที่ใจ “ราคะหนอ” ถ้ามันเกิดโทสะขึ้นมาก็กำหนดที่ใจเลย “โทสะหนอ” ขึ้นมาทันทีเลย

         ถ้ามันง่วงเราก็กำหนดที่ใจของเราเลย “ง่วงหนอๆ” ทันทีเลย ไม่ต้องรอถามอาจารย์ว่า “อาจารย์ เราจะแก้ความง่วงอย่างไร” อะไรทำนองนี้เราต้องพยายามกำหนด “ง่วงหนอ” ทันที ถ้ากำหนดแล้วมันไม่หายเราก็ต้องลุกไปอาบน้ำบ้าง ไปเดินจงกรมข้างนอกบ้าง ไปอยู่ในที่อากาศถ่ายเทที่มีแสงสว่างมันก็เกิดตื่นตัวขึ้นมา สติมันก็ตื่นตัวขึ้นมา เราต้องหาอุบายในลักษณะอย่างนี้ให้รู้เท่ารู้ทันอารมณ์ที่มันเกิดขึ้น

         ในขณะที่เราประพฤติปฏิบัติธรรม เราก็ประพฤติปฏิบัติธรรมที่บ้านสบายไม่ต้องมีพี่เลี้ยงคือคณะครูบาอาจารย์คอยประคับประคองมาก อันนี้ก็คือหลักการโดยย่อ โดยรวมที่ดี เราจะจำเอาไปประพฤติปฏิบัติธรรมได้ง่ายๆ อะไรเกิดขึ้นมาให้กำหนดตามอาการนั้นๆ อะไรเกิดขึ้นมาแล้วต้องรู้ทันอาการนั้นๆ คือกำหนดด้วย รู้ด้วย อย่างเช่นจิตใจของเรามันเกิดความโกรธ เรากำหนดลงไปที่จิตใจของเรา ที่หัวใจใต้ราวนมข้างซ้ายมือ เรากำหนดลงไปว่า “โกรธหนอๆ” จี้ลงไป เรามีสติกำหนดลงไปตรงนั้น แล้วเราก็มีความรู้สึกพิจารณาดูอาการของความโกรธที่มันปรากฏในใจของเราว่ามันร้อนอย่างไร ร้อนเหมือนก้อนถ่านไฟ ร้อนมากหรือร้อนน้อย หรือมันร้อนอย่างไร เราก็จะเข้าใจที่พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า “โทสัคคิ” ไฟคือโทสะมันร้อนจริงๆ ถ้าจิตใจของเราพิจารณาโดยละเอียดลึกซึ้ง เมื่อจิตใจของเรามันนิ่ง ความโกรธมันเกิดขึ้นมาเกิดความร้อนอย่างนั้น

         ราคะก็เหมือนกันบางคนไม่เคยสังเกต แต่ถ้าจิตใจของเรามันสงบมันนิ่ง เมื่อราคะมันเกิดขึ้นมาจะทำให้จิตใจมันร้อน แต่ไฟร้อนราคะกับไฟคือโทสะนั้นมันต่างกัน เหมือนความทุกข์จากความร้อนที่เกิดจากการจับก้อนถ่านไฟ กับความทุกข์ที่จับก้อนน้ำแข็งนานๆ มันจะมีความลำบากเหมือนกันแต่ต่างอาการกัน อันหนึ่งทุกข์เพราะความร้อน อันหนึ่งทุกข์เพราะความเย็น นี้มันเป็นในลักษณะอย่างนั้น ความทุกข์ของความร้อนของโทสะก็เหมือนกัน ความร้อนของราคะก็เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้มันเป็นไฟที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ แต่ท่านให้เรากำหนดรู้อาการของมัน เมื่อกำหนดแล้วก็ต้องรู้อาการของมันด้วย

         เราคู้ก็เหมือนกัน ขณะที่เราคู้แขนก็ดี เหยียดแขนก็ดี เรากำหนดว่าเหยียดหนอก็จริงอยู่ แต่เราต้องมีความรู้ว่าเราเหยียดไปด้วย เรียกว่าสัมปชัญญะนั้นแหละเป็นตัวเกิดแห่งวิปัสสนา เราคู้เราก็กำหนดว่าคู้หนอ แต่สัมปชัญญะเราก็ต้องกำหนดรู้ว่าอาการนั้นแขนของเรามัน คู้เข้ามาๆๆ คู้เร็วก็รู้ว่าเร็ว คู้ช้าก็รู้ คู้ปานกลางเราก็รู้ รู้เท่ารู้ทันอารมณ์ปัจจุบันนี้แหละเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปัสสนา

         การปฏิบัติธรรมจะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย แต่ถ้าเรารู้หลักในลักษณะอย่างนี้แล้ว เหมือนกับว่ามันเป็นของง่าย ง่ายกว่าการปอกกล้วยเข้าปาก แต่เวลาเราไปประพฤติปฏิบัติธรรมจริงๆ แล้ว สภาวะเกิดขึ้นมามันเป็นอย่างนั้น มันเกิดขึ้นมาแล้วอาจารย์บอกให้กำหนด ให้รู้เท่ารู้ทันเรากลับเพลินไปตามอารมณ์ต่างๆ เหมือนกับภิกษุรูปหนึ่งมาประพฤติปฏิบัติธรรมพอบริกรรม “พองหนอ” “ยุบหนอ” ไป เมื่ออาการพองอาการยุบมันดิ่งเข้าไปๆๆๆ ก็ “พองหนอ” “ยุบหนอ” จิตมันเป็นสมาธิขณะที่อาการท้องพองมันพองขึ้นนั้นแหละ ท้องพองมันเปิดออกไป อาการของท้องพองมันเปิดออกไป คล้ายๆ กับว่าความรู้สึกว่าหนังท้องมันเปิดออกไป ขณะที่หนังท้องมันเปิดออกไปมันก็เห็นนิมิต เห็นเทวดา เห็นวิมานของเทวดา เห็นสวนดอกไม้ก็เพลินๆๆ เพลินไปในลักษณะอย่างนั้นแป๊ปเดียว ๓ ชั่วโมง แป๊ปเดียว ๔ ชั่วโมง นี่เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะว่าไม่ได้กำหนดทันปัจจุบันธรรม แล้วก็เพลินอย่างนั้น เพลินอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา เราจะบอกอย่างไรก็ไม่ฟัง เพราะสิ่งที่เขาเห็นนั้นมันเป็นของประณีต มันเป็นของละเอียดอ่อน

         เหมือนกับภิกษุรูปหนึ่งประพฤติปฏิบัติธรรมที่ภูกระดึงในสมัยนั้นอาตมภาพก็ได้มีโอกาสได้ไปประพฤติปฏิบัติธรรมเดินธุดงค์ มีพระรูปหนึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์ยันตระในสมัยนั้น ไปปฏิบัติธรรมที่ถ้ำแห่งหนึ่งอยู่บนยอดภูกระดึงนั้นแหละ เวลาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วเขาก็อยู่ในถ้ำ หันหน้าเข้าหาผนังถ้ำนั่งภาวนาอยู่อย่างนั้นไม่พูดไม่คุยกับใคร เพราะอะไร เพราะเขานั่งไปแล้วเกิดความสงบเห็นนิมิตเห็นอะไร เขาก็ท่องนิมิตของเขานั้นแหละ ใครจะบอกใครจะกล่าวจะเตือนก็ไม่ฟัง อันนี้เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะความหลงในนิมิต หลงในความสุข หลงในความสบาย

         แต่ถ้าเรารู้เท่ารู้ทัน กำหนดว่า “เห็นหนอๆ” นิมิตนั้นมันก็ดับไป หรือว่าถ้ามันไม่ดับมันก็ตั้งอยู่เราไม่สนใจ เราดึงจิตจากนิมิตมาพิจารณารูปนาม อาการพอง อาการยุบ มันก็ตั้งอยู่ไม่ได้มันก็ดับไปของมันเอง เราก็ “พองหนอ” “ยุบหนอ” เพียงเท่านี้แหละรูปน่ากลัวก็ดี รูปน่ารักก็ดี รูปน่าเพลิดเพลินก็ดี ก็ไม่สามารถที่จะดึงจิตดึงใจของเราให้หวาดกลัว หรือว่ายินดีในภาพเหล่านั้นได้ การประพฤติปฏิบัติธรรมของเราก็สบาย การประพฤติปฏิบัติธรรมของเราก็เป็นไปเพื่อมรรคเพื่อผล เพื่อพระนิพพาน

         เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมที่หลวงพ่อไมตรี ท่านบอกว่าความปรารถนาของท่าน ท่านว่า “ขอให้ญาติโยมที่มาประพฤติปฏิบัติธรรม รวมกันนี้แหละ ในเมื่อคณะครูบาอาจารย์ท่านกลับวัดแล้ว ขอให้ญาติโยมประพฤติปฏิบัติธรรมเองเป็น ไม่ต้องพึ่งครูบาอาจารย์มาก” เพราะว่าครูบาอาจารย์อาจจะมีหน้าที่มาก อาจจะไปสอนคนโน้นคนนี้บ้าง อยู่สร้างวัดสร้างวาบ้าง หลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่าง หลายๆ ประการ โอกาสที่จะมาแนะนำพร่ำสอนก็ปีละครั้ง ปีหนึ่งก็แค่ ๙ วันเท่านั้นเอง ก็ถือว่าเป็นเวลาอันน้อยนิดสำหรับชีวิตที่มีค่าของพวกเราทั้งหลาย เพราะฉะนั้นท่านจึงหวังว่า ถ้าญาติโยมประพฤติปฏิบัติธรรมเองได้จึงจะเป็นความภาคภูมิใจของท่าน

         เพราะฉะนั้นอาตมภาพจึงขอเอาบทเรียนนี้แหละ อะไรเกิดขึ้นมากำหนด คือหน้าที่ของเราก็คือ ปฏิบัติกำหนด จะเป็นสิ่งที่ดีมาก เรียกว่าปฏิบัติได้ในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ไม่ต้องไปถามอาจารย์ที่ดังๆ ไม่ต้องไปถามอาจารย์ที่เด่นๆ ไม่ต้องไปถามอาจารย์ที่เป็นพระอรหันต์ เป็นพระอนาคา เป็นพระโสดา เป็นพระสกิทาคาอะไร เราประพฤติปฏิบัติทำตามที่บอก เป็นทางสายตรงไม่เป็นบ้า ไม่เสียจริต ไม่หลง ถ้าผู้ใดไม่กำหนด แล้วก็ไม่รู้เท่าทันอาการของอารมณ์ที่มันเกิดขึ้น ถ้าจะเป็นบ้าก็เป็นบ้าตรงนี้ ถ้าจะหลงก็หลงตรงนี้ ถ้าเสียสติก็เสียสติอยู่ตรงนี้

         เหมือนกับหลวงปู่รูปหนึ่งปฏิบัติธรรมอยู่ที่ชายแดนอยู่แถวเขื่อนสิรินธร แถวอำเภอสิรินธร ท่านประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่บนยอดเขา เวลานั้นก็ลงมาบิณฑบาต แล้วก็ตากข้าวแห้ง ตากข้าวแห้งเรียบร้อยแล้วก็เอาขึ้นไปบนภูเขา เมื่อได้ข้าวแห้งประมาณอาทิตย์หนึ่งแล้วก็เอาข้าวแห้งนั้นใส่กระสอบ ใส่กระสอบแล้วก็ขึ้นไปบนเขาก็ไปหุงหาอาหารทานเอง ท่านติดอยู่ในภาพของนิมิต เวลาบั้งไฟแสงสว่างมันพุ่งขึ้นมา คล้ายๆ กับว่าเขาบอกว่าท่านเห็นทั่วกันทั้งภูเขา เห็นชาวบ้าน เห็นชาวเมือง ที่อยู่ข้างล่างนั้น เหมือนกับว่าแสงสว่างนั้นเป็นดวงธรรม ท่านว่าท่านได้บรรลุธรรมแล้ว ดวงธรรมปรากฏขึ้นแก่ท่านแล้ว แสงสว่างแห่งธรรมไปรากฎขึ้นแก่ท่านแล้ว ใครจะบอก ใครจะเตือน ใครจะกล่าวก็ไม่ฟัง

         ใครจะบอกว่า “หลวงปู่ตัวนั้นมันเป็นอุปกิเลสนะ กำหนดมันก็หาย” นี้บางครั้งก็บอกไม่ฟัง เพราะอะไร เพราะแรงศรัทธาในนิมิตนั้นมันปรากฏชัด เราบอกท่านท่านก็ย้อนกลับมาว่า “เราเห็นเหมือนกับท่านไหม นั่นแหละดวงธรรมมันเป็นอย่างนั้นแหละ” คนหลงเป็นอย่างนั้น เมื่อหลงแล้วก็เราจะบอกอย่างไรก็กลับใจยาก เหมือนกับคนหลงติดยาเสพติดนั้นแหละ เราบอกว่ายาเสพติดไม่ดีขนาดไหน เขาก็ยังว่าดี เพราะเขาหลงรส หลงเมียน้อยก็ดี หลงสามีน้อยก็ดี ก็เหมือนกัน ในขณะที่หลงนั้นเราไปบอกอย่างไรก็ไม่ฟัง มิหนำซ้ำก็ว่าเราเสียหายอีกว่าเราอย่างโน้นอย่างนี้ ทำให้เกิดการทะเลาะกันอีก

         เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมสิ่งที่ดีที่สุดก็คือ ปฏิบัติกับกำหนด ถ้าผู้ใดปฏิบัติกำหนดมีสติมีสัมปชัญญะรู้เท่ารู้ทันแล้ว ทำอย่างไรๆ ก็ไม่หลง อยากหลงก็ไม่หลง อยากออกนอกทางก็ไม่ออกนอกทาง จะต้องได้บรรลุมรรคผลนิพพานแน่นอน ไม่วันใดก็วันหนึ่ง อันนี้เป็นหลักการโดยย่อเราเอาไปใช้ได้ตลอดชีวิตไม่มีผิดเป็นปฏิปทาที่ตรง แต่เราต้องพยายามตัดจากอารมณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่ปฏิบัติ

         เพราะบุคคลผู้มีสมาธิมากนี้อารมณ์จะมากมาย อารมณ์จะหลากหลาย สภาวะจะกว้างขวาง สภาวะจะลึกซึ้ง นี้ถ้าผู้ใดมีสมาธิมาก เวลาสงบเหมือนกับว่ากิเลสมันตายไปแล้ว เวลามันสงบมือมันเย็น เท้ามันเย็น ใจมันเย็นๆๆ ลงไป เดินไปไหนมันก็เย็น ยืนเดินนั่งนอนตอนเช้าตอนบ่าย เย็นเหมือนกับว่ามันหมดกิเลสจริงๆ ก็มี นี้เวลามันสงบมันเป็นอย่างนั้น

         หรือว่าบุคคลบางคนเป็นประเภทนิมิต นี้ก็นิมิต นิมิตแล้วก็เพลินไปนั่งเห็นนิมิต เดินจงกรมก็เห็นนิมิต ยังไม่ทำอะไรเลย ยังไม่เกิดปัญญาเลย จิตใจสงบเกิดนิมิตแล้ว ยังไม่พิจารณาว่ามันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็เพลินไปตามนิมิตแล้ว นี้ในลักษณะอย่างนั้นก็มี แล้วมันก็ไม่เกิดปัญญาอะไร ปฏิบัติธรรมเป็นปี ปฏิบัติธรรมเป็นหลายๆ ปี ก็ไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน มิหนำซ้ำกิเลสเกิดแล้วก็เสียคนไปเลยก็มี

         เหมือนกับครูบาอาจารย์บางรูปที่มีสมาธิสูง ญาติโยมไปพึ่งบารมีว่า “อาจารย์ นั่งดูอย่างนี้ให้ผมหน่อย” “อธิษฐานจิตอย่างนี้ให้หน่อย” ช่วงที่ท่านมีสมาธิมากท่านอธิษฐานอย่างไร สมาธินั้นมันเป็นมหัคคตาจิต มีพลังมาก มันก็สามารถที่จะช่วยญาติโยมได้ประมาณหนึ่ง ญาติโยมก็ศรัทธาเลื่อมใสในที่สุดเอกลาภทั้งหลายทั้งปวงหลั่งไหลมา รูปก็หลั่งไหลมา เสียงก็หลั่งไหลมา กลิ่น รส อะไรต่างๆ หลั่งไหลมา ในที่สุดสมาธิมันก็เสื่อม เมื่อสมาธิเสื่อม มรรคผลนิพพานยังไม่ปรากฏ ไม่มีมรรคผลนิพพานเป็นที่รองรับจิตมันเสื่อมด้วย เมื่อจิตมันเสื่อมด้วยการกระทำมันก็เสื่อม การพูดมันก็เสื่อม อะไรๆ มันก็เสื่อมไป ถ้าเราไม่เจริญวิปัสสนากรรมฐานจะเป็นอย่างนั้น

         แต่ถ้าผู้ใดเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ถึงสมาธิมันจะเสื่อมแต่ผลที่เกิดจากการประพฤติปฏิบัติธรรม เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ผลที่ได้จากการบรรลุเป็นพระโสดาบันก็ยังเหลืออยู่ ผลที่ได้การบรรลุเป็นพระสกทาคามีมันยังเหลืออยู่ ผลที่ได้จากการบรรลุเป็นพระอนาคามียังเหลืออยู่ สมาธิมันจะเสื่อมก็เสื่อมไป แม้แต่พระอรหันต์นั้นท่านยังกล่าวว่าสมาธิมันก็เสื่อมได้ถ้าท่านไม่เจริญฌานต่อ แต่มรรคผลนิพพานจะเป็นพระโสดาก็ดี พระสกิทาก็ดี อนาคาก็ดี พระอรหันต์ก็ดี จะไม่มีการเสื่อมจากมรรคจากผลของตนเองที่ได้แล้ว

         แต่สมาธินั้นเสื่อมได้เพราะสมาธินั้นเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา มันเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปสมาธินั้นก็เป็นสภาวะ สภาวะหนึ่ง แม้เป็นพระอรหันต์ พระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบัน ถ้าไม่เจริญต่อไม่ทำเนืองๆ มันก็เสื่อมเหมือนกับร่างกายของพระอรหันต์นั้นแหละ เหมือนกับร่างกายของพระอนาคามีนั้นแหละ ก็ต้องเสื่อม ต้องโทรม ต้องแก่ ต้องทรุด มันเป็นสัจธรรม พระอรหันต์ไม่แก่ไม่ใช่ พระอรหันต์ก็ต้องแก่ พระอนาคามีไม่แก่พระสกิทาคามีไม่แก่ไม่ใช่ ก็ต้องแก่ด้วยกัน เพราะมันเป็นสภาพที่แก่เป็นธรรมดา มันเป็นสภาพที่เสื่อมไปเป็นธรรมดา ถ้าเราได้สร้างเหตุของมัน

         แต่ถ้าเรารักษาร่างกายของเราดี มันก็แก่ช้า แต่ถ้าเราไปตากแดดทำไร่ไถนาดื่มเหล้าเมาสุราไม่รักษาร่างกายมันก็ทรุดโทรมไว สมาธิก็เหมือนกันถ้าเราทำไว้เนืองๆ มันก็ไม่เสื่อมไว แต่ถ้าเราไม่รักษาเลยอาทิตย์หนึ่งนั่งครั้งหนึ่งไปแล้ว นี้เราเคยเข้าสมาธิทุกวันๆ ถ้าเราเว้นไปสักวันหนึ่งสองวันเรามาเข้าอีกวิถีจิตมันเริ่มเปลี่ยนแปลงไปแล้ว นี้มันจะมีอาการผิดปกติของมัน ทั้งๆ ที่เราเข้ามาทุกวันเป็นเดือน แต่ถ้าวันไหนเราไม่เข้าสมาธิตามเวลาที่เรากำหนดอารมณ์มันเปลี่ยนไปแล้ว เพราะฉะนั้นมันเป็นความละเอียดอ่อนที่เราจะต้องพยายามทำให้เกิดทำให้มี

         วันนี้อาตมภาพได้มากล่าวธรรม การประพฤติปฏิบัติธรรมที่ไม่ผิดก็คือ ปฏิบัติ กำหนด มีสติมีสัมปชัญญะนี้ให้ญาติโยมทั้งหลายได้เอาไปปฏิบัติธรรมที่บ้าน กลับไปบ้านแล้วจะได้ไม่คอยถามครูบาอาจารย์ เราปฏิบัติธรรมได้ไม่ผิด ก็คือมีสติสัมปชัญญะกำหนดรู้เท่ารู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดทั้งปวงทั้งสิ้น การประพฤติปฏิบัติธรรมก็เป็นไปเพื่อการเกิดปัญญา เพื่อการบรรลุมรรคผลตามเจตนาที่เราปรารถนาไว้ เพราะฉะนั้นวันนี้อาตมภาพกล่าวธรรมก็เห็นว่าพอสมควรเป็นเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง ในท้ายที่สุดนี้ก็ขอให้ญาติโยมทั้งหลายได้ขยับขยายคลายอิริยาบถกำหนดออกเพื่อเตรียมตัวแผ่เมตตา.