ภัยของผู้บวชใหม่
(เทศน์ที่วัดแก้งเกลี้ยง วันที่ ๒๐ เม.ย. ๕๖)
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง แม้ปรินิพพานไปนานแล้ว พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ด้วยเศียรเกล้า ขอความสุขสวัสดี ความเจริญงอกงามจงบังเกิดแก่คณะครูบาอาจารย์ผู้สนใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมทุกท่านทุกรูป ณ โอกาสบัดนี้
ต่อไปก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงสามเณรทั้งหลายทั้งปวงได้นั่งสมาธิฟัง เพราะว่าการฟังธรรมนั้นเราก็ถือว่าเป็นการประพฤติปฏิบัติธรรมไปด้วย การประพฤติปฏิบัติธรรม บางครั้งก็เกิดความลำบากเกิดความทุกข์ เกิดความเหน็ดเหนื่อย เกิดความเมื่อยล้า แม้ว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมในบางครั้งก็ทำให้จิตใจของเราร่าเริง ทำให้จิตใจของเราเบิกบาน ทำให้จิตใจของเราแช่มชื่น ทำให้จิตใจของเราปลอดโปร่งอันนี้ก็ถือว่าเป็นสภาวะธรรม
สภาวะธรรมของผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรม จะเป็นเด็กก็ดี จะเป็นผู้ใหญ่ก็ดี จะเป็นพระ เป็นเณร เป็นเถร เป็นชี เมื่อมาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้ว สภาวะธรรมทั้งหลายทั้งปวงก็เกิดขึ้นแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม บางครั้งก็สุข บางครั้งก็ทุกข์ บางครั้งก็เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า บางครั้งก็เข้มแข็ง บางครั้งก็อ่อนแอ ท้อแท้ อันนี้เป็นลักษณะของสภาวะธรรมทั้งหลายทั้งปวง
คณะครูบาอาจารย์ผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมต้องกำหนดรู้ อย่าคิดว่าความท้อแท้เป็นสิ่งที่ทำให้เรานั้นไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ความท้อแท้นั้นก็เป็นธรรมดาของคนทั้งหลายทั้งปวงที่มาประพฤติปฏิบัติธรรม แต่ขอให้เรานั้นกำหนดรู้อารมณ์ของจิตในทุกขณะ ว่าจิตของเราเป็นสภาวะอย่างไร การประพฤติปฏิบัติธรรมก็ให้เรารู้เท่ารู้ทันสภาวะจิตของเราด้วย
แต่ว่าบางครั้งบางคนบางรูปเวลามาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วก็เกิดความโกรธ เกิดความหงุดหงิด เกิดความรำคาญ เกิดความฟุ้งซ่าน อันนี้ก็ถือว่าบุคคลนั้นเป็นประเภทโทสจริต เพื่อนทำนิดทำหน่อยก็ไม่ถูกใจ เพื่อนพูดนิดพูดหน่อยก็ไม่ถูกใจเรา รำคาญไปหมด อันนี้ก็ถือว่าเราเป็นประเภทโทสะจริต เราต้องกำหนดที่จิตใจของเราว่า “โกรธหนอๆ” หรือ “ไม่พอใจหนอๆ” เป็นต้น อันนี้เรียกว่าเรากำหนดรู้จิตของเรา
บางรูปบางท่านเป็นประเภทราคจริต เมื่อเป็นประเภทราคจริตมีจิตใจชอบเผลอไปถึงกามคุณ ยืนอยู่ก็ดี เดินอยู่ก็ดี จิตใจนั้นชอบเผลอไปถึงกามคุณ เวลาเรานั่งอยู่ภาวนา “พองหนอ ยุบหนอ” แต่ว่าใจมันเผลอไปนึกถึงกามคุณที่เราเคยได้เห็น ได้ยิน ได้สัมผัส ได้รับรู้มาตั้งแต่ก่อนโน้นมาเบียดเบียนจิตใจของเราทำให้จิตใจของเรานั้นเกิดกามคุณ เกิดกามราคะ ทำให้จิตใจของเราปรุงแต่งเหม่อลอยไปตามอารมณ์เหล่านั้น อันนี้ก็ถือว่าเป็นประเภทราคจริต เมื่อเรารู้ว่าเราเป็นประเภทของราคจริตแล้วเราต้องกำหนดจิตของเราให้อยู่ รู้ให้ทันขบวนจิตของเรา กำหนดลงไปที่จิตของเราว่า “ราคะหนอๆ” “กามหนอๆ” “กำหนัดหนอๆ” ตามอารมณ์ที่มันเกิดขึ้นแก่เราอย่างใดอย่างหนึ่ง
หรือว่าบางรูปบางท่านมาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วบางครั้งก็เกิดความโงกง่วงทั้งๆ ที่เราก็นอนพอดี หลัง ๔ ทุ่มแล้วเราก็นอน ตี ๓ ครึ่งเราก็ตื่น เราก็นอนประมาณ ๕ ชั่วโมงกว่าก็ถือว่าเป็นเวลาเพียงพอ แต่เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมทำไมมันโงกง่วงเหลือเกิน หนังท้องตึงมันดึงหนังตา นั่งไปก็สลึมสลือ ไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะกำหนดรู้ต้นพอง กลางพอง สุดพอง เวลาเดินจงกรมก็ไม่มีสติกำหนดรู้อาการยก อาการย่าง อาการเหยียบ เพราะอะไร เพราะเรานั้นสลึมสลือ เป็นผู้อยู่ในวังวนแห่งความง่วง ถูกความง่วงนั้นครอบคลุมจิตใจ สติก็ไม่ชัดเจน ไม่แจ่มแจ้ง อารมณ์ของกรรมฐานก็บังเกิดขึ้นไม่ได้ ในลักษณะอย่างนี้ก็เป็นประเภทของโมหจริต เมื่อเรารู้ว่าเราเป็นประเภทของโมหจริต เราก็ควรทำจิตใจของเราให้ร่าเริง เบิกบาน กระปรี้ประเปร่า กระฉับกระเฉง ให้เรานั้นประกอบไปด้วยสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลาเราก็สามารถที่จะฝ่าฟันความมืดมนอนธการนี้ไปได้
เวลาประพฤติปฏิบัติธรรมให้เราถือกันเสียว่าอารมณ์ใดก็ตามที่เกิดขึ้นในขณะที่พวกเราทั้งหลายประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นก็ถือว่าเป็นสภาวะธรรม ถ้าเราคิดเสียอย่างนี้เราก็จะมีจิตใจกำหนดจดจ่อกับอารมณ์ของกรรมฐาน โกรธเราก็ “โกรธหนอๆ” ราคะเกิดขึ้นมาเราก็ “ราคะหนอๆ” โมหะเกิดขึ้นมา ความง่วงเหงาหาวนอนเกิดขึ้นมาเราก็กำหนดตามอารมณ์นั้น “ง่วงหนอๆ” ถ้าเราพยายามฝืนจิตฝืนใจกำหนดบทพระกรรมฐานอย่างนี้ อารมณ์ของกรรมฐานจะมีล้านแปดก็ตาม เราก็สามารถที่จะฝ่าฟันอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงนั้นไปได้ จิตใจของเราก็จะเข้าสู่อารมณ์ของสมาธิสมาบัติ หรือว่ามรรคผลนิพพานได้
โดยเฉพาะคณะครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมใหม่ๆ บุคคลเมื่อมาประพฤติปฏิบัติธรรมใหม่ๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมก็คือจิตนั้นนึกไปถึงบาปกรรมที่ตนเองได้สั่งสมอบรมไว้ ได้กระทำไว้แต่ครั้งก่อนเมื่อบวช ได้คิดถึงครั้งเมื่อเราเคยเป็นโยม เคยเถียงพ่อ เถียงแม่ ทำให้พ่อแม่ต้องน้ำตาไหล หรือว่าเราเคยลักเล็กขโมยน้อย เราเคยดื่มเหล้าเมาสุรา สูบฝิ่น กินกัญชา เราเคยเป็นอันธพาล กำหมัดกัดฟัน ชกต่อยตีรันฟันแทงบุคคลอื่น สิ่งเหล่านี้ทั้งหลายทั้งปวงมันจะเกิดขึ้นมารบกวนจิตใจของเรา เมื่อสิ่งเหล่านี้รบกวนจิตใจของเราแล้ว คล้ายๆ ว่าเรานั้นเป็นผู้มีจิตใจหยาบเหลือเกิน มีการกระทำหยาบเหลือเกิน ธรรมวินัยนั้นเป็นของละเอียดมาก เรียกว่าพระธรรมของพุทธเจ้านั้นเป็นสิ่งที่ละเอียดเหลือเกิน เรานั้นเป็นคนหยาบ เมื่อเราพิจารณาอย่างนี้จิตใจของเราก็จะห่อเหี่ยว จิตใจของเราก็จะแห้งผาก จิตใจของเราก็จะเหมือนกับฤดูแล้งเดือน ๕ ที่มองไปตามท้องทุ่งต่างๆ ก็จะมีแต่คามเหี่ยวแห้ง มีแต่ความอับเฉาต่างๆ จิตใจของเราในขณะนั้นก็เป็นอย่างนั้น
ถ้าเราไม่กำหนดรู้ตามอารมณ์ปัจจุบันธรรมแล้วบ้างก็ถูกความท้อแท้ครอบงำ เดินจงกรมก็สักแต่ว่าเดิน นั่งก็สักแต่ว่านั่ง ไม่พยายามที่จะกำหนดให้ทันปัจจุบัน ไม่กระปรี้กระเปร่า ไม่กระฉับกระเฉง ถ้าในลักษณะอย่างนี้ก็แสดงว่าเรานั้นประพฤติปฏิบัติธรรมด้วยความท้อแท้ ด้วยความอ่อนแอ ด้วยความสิ้นหวัง ผลของการประพฤติปฏิบัติธรรมก็เกิดขึ้นมาไม่ได้ แต่ถ้าเราฝืนใจกำหนดเราจะคิดถึงบาปขนาดไหนก็ตาม ใจมันจะเหี่ยวห่อขนาดไหนก็ตามถ้าเรากำหนดทันปัจจุบันธรรมให้เห็นอาการยก อาการย่าง อาการเหยียบ อาการพอง อาการยุบ อาการยืน อาการเดิน อาการนั่ง อาการนอน อาการคู้ อาการเหยียดต่างๆ ถ้าเรายืนเดินนั่งนอนกินดื่มทำพูดคิดทำกิจอะไรมีสติมีสัมปชัญญะทันปัจจุบันธรรม สภาวะธรรมทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นบาปนั้นก็เกิดขึ้นมา โดยเฉพาะบาปใดที่เป็นบาปหนัก มีอารมณ์ที่รุนแรง อย่างเช่นเราทำกับบุคคลผู้มีคุณอย่างพ่อ แม่ ครูบาอาจารย์ หรือพระอริยบุคคลทั้งหลายทั้งปวง บาปกรรมเหล่านี้มันจะเกิดขึ้นมาขัดขวางเรานั้นก่อนบาปกรรมอย่างอื่น เรากำหนดบางครั้ง ๑ วันก็หาย ๒ วันก็หาย ๓ วันก็หาย บางครั้งก็ถ้ามันเป็นบาปกรรมหนักบางครั้งกำหนด ๔ วัน ๕ วันค่อยหายก็มี
แต่ถ้าเป็นบาปกรรมที่ไม่หนัก สติ สมาธิของเราดี บางครั้งกำหนดครั้งสองครั้งมันก็หายไป เรานึกถึงสิ่งเหล่านั้นมันก็ไม่เกิดความทุกข์ เกิดความไม่สบายใจ เพราะสิ่งเหล่านั้นมันเป็นสิ่งที่เราละไปแล้ว หรือว่าบางครั้งเราไม่ได้ทำให้แก่บุคคลผู้ที่มีคุณอย่างเช่น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ พระอริยบุคคล แต่เราทำด้วยความโกรธ เราทำด้วยความโมโห เรียกว่าเราทำบาปด้วยจิตแรงใจแรง เราฆ่าหมาด้วยความโกรธ ฆ่าเป็ด ฆ่าไก่ ทะเลาะเบาะแว้งด้วยความโกรธต่างๆ สิ่งเหล่านี้ก็ถือว่าให้ผลไวเหมือนกันเพราะว่าเราทำด้วยจิตแรงใจแรง สิ่งเหล่านี้เมื่อเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมมันจะปรากฏขึ้นมาขอให้เรากำหนด ถ้าเรากำหนดขึ้นมาเป็นในลักษณะเสียใจ เราก็ต้องกำหนดที่ใจของเรา “คิดหนอๆ” ทำให้เราปรุงแต่งเราก็กำหนดที่ใจของเรา “คิดหนอๆ” บาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้มันก็จะค่อยๆ จางไปๆ เราคิดถึงบาปกรรมที่เราเคยทำแล้วจิตใจของเรามันสบาย จิตใจของเรามันเฉย จิตใจของเราไม่วิตกกังวลอะไรเลย นั้นแสดงว่าบาปกรรมที่เราทำนั้นมันมีกำลังเบาลงแล้ว
อย่างเช่นภิกษุที่เคยทำให้พ่อแม่ไม่สบายใจน้ำตาไหล แต่เมื่อภาวนาไปเวลาจิตใจมันสงบ บางครั้งก็ปรากฏเห็นภาพของพ่อก็ดี ของแม่ก็ดี ที่มีใบหน้าอาบน้ำตาปรากฏขึ้นมา จิตใจของเราไปยึดเอาอารมณ์นั้น ภาพนั้น จิตใจของเราก็คลายออกจากสมาธิ หรือว่าเข้าสมาธิไม่ได้ ขณะที่เรานั่งภาวนา “พองหนอ ยุบหนอ” ไปดีๆ นั่นแหละ มือของเรามันแน่นเข้าๆ ตัวของเรามันเบาเข้าๆ ความรู้สึกของเรามันละเอียดลงๆ คล้ายๆ ว่าจิตมันจะเข้าสู่อารมณ์ของสมาธิ แต่ในขณะที่มันดิ่งลงอยู่ดีๆ นั่นแหละ ภาพของแม่ที่เราเคยทำให้ร้องไห้นั้นก็ปรากฏขึ้นมา เมื่อปรากฏขึ้นมาจิตใจของเราไปยึดภาพนั้น จิตใจของเราก็ออกจากสมาธิ คลายจากความเบา คลายจากความดิ่ง จิตใจของเราก็ออกจากสมาธิไม่สามารถเข้าสู่สมาธิได้ อันนี้เรียกว่าเป็นบาปกรรมที่มันขัดขวางไม่ให้จิตใจของเราเข้าสู่อารมณ์ของสมาธิ
แต่ถ้าเรากำหนด “คิดหนอๆ” ไปเรื่อยๆ เวลาเห็นก็ “เห็นหนอๆ” กำหนดที่ตาของเรา แต่ขณะที่มันคิดก็กำหนดที่จิต “คิดหนอๆ” บาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นก็จะเบาลงๆ เหมือนกับเรามีแก้วน้ำสกปรกแก้วหนึ่ง แต่เราเอาน้ำที่สะอาดหยดลงไปทุกวันๆ หยดลงไปทุกครั้งทุกคราว หยดลงไปๆ น้ำนั้นก็ใสขึ้นๆ ในที่สุดน้ำนั้นก็เป็นน้ำที่บริสุทธิ์ จิตใจของเราก็เหมือนกัน เมื่อคิดถึงบาปแล้วเราก็กำหนดด้วยสติ น้ำคือ สติ จะไปเพิ่มใจของเราให้ขาวสะอาด ไปชำระใจของเราให้ขาวสะอาด เมื่อจิตใจของเรามันขาวสะอาดขึ้นแล้ว น้ำในแก้วนั้นเราจะกล่าวว่าเป็นน้ำสกปรกก็ไม่ได้ เราจะกล่าวว่าเป็นน้ำที่ขุ่นมัวก็ไม่ได้ เพราะน้ำที่ขุ่นมัวนั้นถูกน้ำสะอาดเจือจางแล้วก็ให้ไหลออกไปหมดแล้ว
ใจที่สกปรกที่เราเคยทำบาปกรรมกับพ่อกับแม่ก็เหมือนกัน ถูกสติ ถูกสัมปชัญญะนั้นขับไล่ออกไปหมดแล้ว เรานึกถึงบาปกรรมที่เราเคยทำกับพ่อกับแม่มานั้น จิตใจของเราเฉยๆ จิตใจของเราสว่าง จิตใจของเราอิ่มเอิบเหมือนเดิม อันนั้นเรียกว่าใจของเรามันสะอาดจากบาปธรรมทั้งหลายทั้งปวงแล้ว อันนี้เรียกว่าเป็นการชำระบาปด้วยอำนาจของสติและสัมปชัญญะ ทั้งๆ ที่เรายังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพานแต่ก็สามารถที่จะชำระบาปทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ให้จางออกไปจากจิตจากใจของเราได้ จิตใจของเราก็สบาย
หรือว่าถ้าเราทำบาปด้วยความโกรธ อย่างเช่นเราฆ่าเป็ด ฆ่าไก่ ฆ่าหมา ทะเลาะเบาะแว้งกับบุคคลอื่นด้วยความโกรธในลักษณะอย่างนี้ บาปกรรมเหล่านั้นก็จะมาปรากฏเหมือนกัน เรียกว่ากำหนดรองต่อจากเรากระทำต่อบุคคลผู้มีคุณ เมื่อเรากำหนดไปๆ “คิดหนอๆ” บาปกรรมเหล่านั้นก็จางออกไปๆ ในเมื่อเรากำหนดไปไม่หยุดนั่นแหละ ถ้าเรามีสติมีสัมปชัญญะไม่เกินวันสองวันบาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นก็จางไป เรานึกถึงบาปที่เราเคยทำแต่ก่อนโน้นแห้งผากจิตใจ เหี่ยวห่อจิตใจ เมื่อเรากำหนดแล้วเรานึกถึงบาปนั้นเฉยๆ มีจิตใจอิ่มไปด้วยปีติธรรม ธรรมดา เรียกว่าบาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงก็ถูกชำระล้างด้วยอำนาจของสติและก็สัมปชัญญะ มีการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน มีอำนาจมีอานิสงส์ในลักษณะอย่างนี้ อันนี้ผู้ใหม่มาประพฤติปฏิบัติธรรม
แต่เมื่อเราสามารถที่จะกำหนดอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นบาปเหล่านั้นให้จางออกไป ให้เบาออกไป ให้ลดลงแล้ว จิตใจของเราก็จะเริ่มมีสติสัมปชัญญะทันปัจจุบันธรรม เริ่มเกิดศรัทธาความเชื่อ เกิดความเลื่อมใสในการประพฤติปฏิบัติธรรม เรียกว่าเรานั้นเข้ามาสู่พระธรรมวินัยถูกต้องแท้จริงแล้วหนอ เราตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่อตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม จิตใจที่ขาวสะอาดที่เรากำหนดด้วยอำนาจของสติและสัมปชัญญะนั้นแหละก็จะก่อให้เกิดปีติ ก่อให้เกิดปัสสัทธิ ก่อให้เกิดสมาธิขึ้นมาตามลำดับๆ บางคนก็นั่งไปตัวโยกไป ตัวโคลงไป บางคนก็นั่งไปสัปหงกไป บางคนก็ซาบซ่านทั่วสรรพางกาย บางรูปบางท่านนั่งภาวนาไปก็ซู่ซ่าจากแขนมาสู่ลำตัว จากลำตัวแผ่ไปทั่วร่างกาย เดินจงกรมไปก็เกิดความตัวเบา เดินไปก็เกิดความอิ่มเอิบจิตใจ สิ่งเหล่านี้ทั้งหลายทั้งปวงก็เป็นปีติ บางครั้งเรานั่งไปทำให้เกิดน้ำตาไหล นั่งไปแล้วก็เกิดขนลุกขนพองในลักษณะอย่างนี้ก็เป็นปีติ เป็นปีติอย่างใดอย่างหนึ่ง นี้มันก็จะเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรม
หลังจากที่เราทนกำหนดต่ออำนาจของบาปผ่านไปแล้วจิตใจของเรามันก็จะเริ่มสะอาดขึ้น ก็จะเกิดปีติขึ้นมาในลักษณะอย่างนี้ บ้างก็เกิดอำนาจของปัสสัทธิ หรือว่าเกิดปัสสัทธิขึ้นมา ทำกายของเราให้สงบ ทำวาจาของเราให้สงบ ทำใจของเราให้สงบ เวลาปัสสัทธิเกิดขึ้นมาก็ทำให้เรานั้นเป็นคนสำรวม ระวัง เวลาจะเดิน เวลาจะยืนก็มีสติสัมปชัญญะกำหนดอย่างดี เรียกว่าสำรวมเป็นอย่างดี ไม่ปรุง ไม่ฟุ้ง ไม่ซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ แต่ก่อนโน้นเราเคยนั่งภาวนา ๕ นาทีคิดเป็นร้อยเรื่องพันเรื่อง แต่เมื่อปัสสัทธิมันเกิดขึ้นมาแล้วเราอยากให้จิตมันปรุงแต่ง มันก็ไม่ปรุง อยากให้จิตมันคิดไปอย่างอื่นมันก็ไม่คิด
แต่ก่อนโน้นเราเคยคิดในเรื่องราคะแต่เมื่อปัสสัทธิมันเกิดขึ้นมา เราพยายามจะปรุงอย่างไรๆ จิตมันก็ไม่ไปในอำนาจของราคะ แต่ก่อนโน้นเราเป็นคนประเภทโทสะเราคิดไปถึงสิ่งที่เขาทำกับเราไม่ดี นั่งอยู่ก็กำหมัดกัดฟันแต่เมื่อปัสสัทธิมันเกิดขึ้นมาแล้ว เราคิดอย่างไรๆ มันก็ไม่ไปในความโกรธ อยากโกรธมันก็ไม่โกรธ อยากเกิดราคะมันก็ไม่เกิดราคะ เพราะอะไร เพราะจิตใจของเราอยู่ในอารมณ์ของปัสสัทธิ อยู่ในความสงบ จิตใจจะเยือกเย็น จิตใจจะสุขุม จิตใจจะมีเหตุมีผล มีความปราณีต ไม่ด่วนตัดสินใจอย่างใดง่ายๆ เวลานั่งภาวนา “พองหนอ ยุบหนอ” ไม่นานก็สงบ เมื่อสงบแล้วก็เหมือนกับเรานั้นไม่มีกิเลส ไม่รู้ว่าความโกรธเป็นอย่างไร ไม่รู้ว่าราคะเป็นอย่างไร
ในขณะที่ปัสสัทธิมันเกิดขึ้นมา บางรูปบางท่านก็คิดว่าตนเองนั้นได้สำเร็จมรรคผลนิพพานไปแล้ว ได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีหมดความโกรธ หมดความหลง หมดราคะ สิ้นตัณหาไปแล้ว นี้ในลักษณะอย่างนั้น เพราะอะไร เพราะอำนาจของปัสสัทธิ อำนาจของปัสสัทธินั้นมันปรากฏขึ้นมามีความสงบ นี้ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมเมื่อมาประพฤติปฏิบัติธรรมเกิดขึ้นในลักษณะอย่างนี้แล้วก็จะเกิดความเพียร เกิดความเรี่ยวแรง เกิดความบากบั่น เป็นทวีคูณ มีความเพียรอย่างที่เราไม่เคยเพียรมาก่อน
แต่ก่อนโน้นเราคิดว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมลำบากแต่เมื่อสภาวะธรรมอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้ว การประพฤติปฏิบัติธรรมสนุกสนาน ร่าเริง เบิกบาน เอาจริงเอาจัง เอาเป็นเอาตาย มุ่งมานะต่อการประพฤติปฏิบัติธรรมเต็มที่ อันนี้ผลของการประพฤติปฏิบัติธรรมเฉพาะปีติ ปัสสัทธิมันเกิดขึ้นมา แต่ถ้าเราภาวนาไปๆ เรามีบารมีทางสมถกรรมฐานมันก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิขึ้นมา ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมนั่งภาวนาไป “พองหนอ ยุบหนอ” ธรรมดานั่นแหละแต่ว่าจิตใจของเรามันก็ดิ่งเข้าๆๆ นิ่งเข้าอยู่ในอารมณ์ของฌาน คือจิตใจของเรานิ่งอยู่กับอาการพอง อาการยุบกำหนดว่า “พองหนอ ยุบหนอ” จนนิ่งอยู่อย่างนั้นแหละ อันนี้เรียกว่าจิตใจของเราเข้าสู่ปฐมฌานแล้ว แต่เมื่อเรา “พองหนอ ยุบหนอ” อยู่ดีๆ นั้นแหละอาการพองอาการยุบที่เราบริกรรม “พองหนอ ยุบหนอ” ดีๆ นั้นแหละ คำบริกรรมมันหยุดไปเฉยๆ เห็นแต่ท้องมันพองขึ้นยุบลง แต่คำบริกรรมมันหายไป เราไม่ได้บริกรรมมีจิตเพ่งอยู่ มีจิตรู้อยู่ในอาการที่ท้องมันพองขึ้นแล้วก็ยุบลงในลักษณะอย่างนี้ เรียกว่าเป็นลักษณะของจิตของเรามันถึงปฐมฌานเข้าสู่ทุติยฌานแล้ว จิตใจของเราได้เข้าสู่ฌานธรรมที่ ๒ แล้ว
ในการประพฤติปฏิบัติธรรมถ้าเรากำหนดจิต กำหนดสติของเราให้ดี อย่าให้จิตใจของเรานั้นพรากจากปัจจุบันธรรมจิตใจของเราก็จะละเอียดลงๆ ของมันเองเป็นอัตโนมัติ เราเพียงประคองจิตของเราอย่าให้จิตของเราไปหลงไปลืม ให้มีสติกำหนดเห็น ต้นพอง กลางพอง สุดพอง กำหนดดู รู้อยู่อย่างนั้นแหละจิตมันจะละเอียดลงไปเองถ้าเรามีบารมีทางฌานธรรมที่ลึกซึ้งลงไปมันจะดิ่งลงไปเองของมัน
แต่ถ้าเราไม่มีบารมีในระดับฌานธรรมที่สูงขึ้นไปเราก็จะทรงอยู่ในลักษณะอย่างนั้นแหละเป็น ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมงก็แล้วแต่ เราจะทำนานขนาดไหนจิตใจก็จะอยู่ในระดับนั้น แต่ถ้าเรามีบุญบารมีเราเพียงแต่ทรงจิตของเราไว้ รู้อาการพอง อาการยุบมันก็จะดิ่งลงไปเองของมัน อาการพองอาการยุบที่เรากำลังดูอยู่ รู้อยู่โดยที่เราไม่บริกรรมนั้นแหละมันก็จะดิ่งลงไปๆๆ เมื่อดิ่งลงไปเต็มที่แล้วร่างกายของเราก็จะแข็งเหมือนกับท่อนไม้ ประสาทตาก็ดี ประสาทหูของเราก็ดีนี้ก็เป็นประสาทที่รับงานได้ไม่ค่อยเต็มที่ เรียกว่าจะมีความรู้สึกอยู่ประมาณ ๒๐ หรือ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ร่างกายของเราก็รับรู้อาการเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ประมาณ ๒๐ ถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ หูของเราก็ได้ยินประมาณ ๒๐ ถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ แม้ใจของเราก็มีความรู้อยู่ประมาณ ๒๐ หรือ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ใจของเราเหมือนกับว่ามันจะดับลงไปแล้ว ในลักษณะอย่างนี้นั้นเรียกว่าจิตใจของเรานั้นก้าวจากทุติยฌานไปสู่ตติยฌานแล้ว จิตใจมันดิ่งลงไปเองของมัน ไม่ต้องไปกังวลอะไร
เมื่อเรากำหนดจิตใจของเรา ทรงสภาพจิตใจของเราอยู่ให้จิตใจของเรานั้นคลายออกจากอารมณ์กรรมฐาน จิตใจก็จะดิ่งลงไปมันก็ดับลงไปของมันเอง ถ้ามันดับลงไปเมื่อไรก็แสดงว่าเรานั้นผ่านตติยฌานเข้าสู่จตุตถฌานแล้ว แต่เมื่อเรารู้สึกตัวเมื่อไรก็แสดงว่าเราออกจากจตุตถฌานแล้ว เข้ามาสู่ตติยฌาน ทุติยฌาน ปฐมฌานแล้ว อันนี้เราก็สังเกตอารมณ์ต่างๆ เมื่อเราออกจากอารมณ์ของฌาน ออกจากปฐมฌาน ออกมาสู่อุปจารสมาธิ วิปัสสนาญาณก็จะเกิดขึ้นต่อ แต่จะเป็นวิปัสสนาญาณที่ประณีต เป็นวิปัสสนาญาณที่ละเอียด เป็นวิปัสสนาญาณที่มีพลัง มีอานุภาพ เห็นรูปเห็นนามปรากฏชัดเจน ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดวิปัสสนาญาณ เกิดการบรรลุมรรคผลนิพพานได้ไว อันนี้เป็นอานุภาพของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน แล้วก็เจริญสมถกรรมฐานควบคู่กันไปด้วย ก็จะเป็นไปในลักษณะอย่างนั้น
คณะครูบาอาจารย์ที่มาประพฤติปฏิบัติธรรม ก็ขอให้พวกเราทั้งหลายได้เกิดความกระปรี้กระเปร่า เกิดความกระฉับกระเฉง เกิดความอดทนต่อการประพฤติปฏิบัติธรรม ถึงมันจะลำบากในเบื้องต้น แต่เมื่อเราทนอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงนั้นจิตใจของเราก็จะประณีตขึ้นๆ สุขุมขึ้นตามลำดับ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระธรรมวินัยของเรานั้นไม่ใช่ว่าโกรกชันเหมือนกับภูเขาขาด แต่ว่าพระธรรมวินัยที่เราตถาคตตรัสไว้ดีแล้วนั้นเป็นของลาดลงไปตามลำดับ เอียงลงไปตามลำดับ ลุ่มลึกลงไปตามลำดับ สุขุมลงไปตามลำดับ คัมภีรภาพลงไปตามลำดับ มีความประณีตสุขุมลุ่มลึกไปตามลำดับ มีความอิ่มเอิบ มีความสบายใจลงไปตามลำดับ ผู้ใดที่เข้ามาสู่พระธรรมวินัยก็จะได้รับการลึกซึ้งไปตามลำดับอย่างนั้น”
เหมือนกับคณะครูบาอาจารย์ผู้บวชเข้ามาในพระธรรมวินัยเราก็ได้ถือศีล ๒๒๗ ข้อ เรียกว่าเราเข้าสู่พระธรรมวินัยอันประณีต อันละเอียดแล้ว แต่ก่อนโน้นเราเคยฆ่าสัตว์ เราเคยลักทรัพย์ เราเคยกินเหล้าเมาสุรา เราเคยประพฤติตามจิตตามใจต่างๆ แต่เมื่อเราเข้ามาในพระธรรมวินัยแล้วเราละสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น เราละจากการเบียดเบียน ละจากการลักของเขา ละจากการประพฤติผิดในเมียเขา ผัวเขา ลูกสาวเขา ต่างๆ เราละจากการพูดเท็จ พูดเพ้อเจ้อ ส่อเสียด ต้มตุ๋น หลอกลวงบุคคลอื่น เราเว้นจากของมึนเมาทั้งหลายทั้งปวง อันนี้เรียกว่าเราละของหยาบเข้าสู่ของละเอียดแล้ว
แต่เมื่อเรามีศีลอันเป็นกำลังอันประเสริฐ หากำลังอย่างอื่นเปรียบมิได้ เมื่อเรามีศีลอันเป็นกำลังที่หากำลังเปรียบมิได้ หรือว่าเรามีศีลอันเป็นอาวุธอันสูงสุด เรามีศีลเป็นอาภรณ์เครื่องประดับอันประเสริฐสุด หรือว่าเรามีศีลเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจที่สุดแล้ว เรามาเจริญสมถกรรมฐาน มาเจริญวิปัสสนากรรมฐานก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดฌานอย่างที่ว่า แต่ถ้าเราไม่มีศีล ศีล ๕ ก็ไม่มี ศีล ๘ ก็ไม่มี ศีล ๑๐ ก็ไม่มี ศีล ๒๒๗ ข้อก็ไม่มี ในลักษณะอย่างนั้น เราจะมาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นก็ไม่ค่อยได้ผล เพราะจิตใจของเราหยาบเกินไป พระธรรมวินัยนั้นเป็นของสุขุมลุ่มลึกก็ทำให้กายของเรา วาจาของเรา ใจของเรานั้นไม่คู่ควรต่อพระธรรม ไม่สามารถที่จะเป็นภาชนะทองรองรับเอาพระธรรมคำสั่งสอนนั้นได้
เหมือนกับบุคคลผู้นับถือศาสนาอื่นมีจิตใจหยาบจะมาประพฤติปฏิบัติธรรมให้เกิดสมาธิ เกิดมรรค เกิดผล เกิดพระนิพพานนั้นยาก หรือว่าพระภิกษุก็ดี สามเณรก็ดีที่บวชเข้ามาในพระธรรมวินัยแล้ว ถ้าบวชเข้ามาแล้วไม่ตั้งมั่นอยู่ในศีล ทำศีลของตนเองให้ด่าง ทำศีลของตนเองให้พร้อย ทำศีลของตนเองให้ขาด ให้ทะลุแล้ว เวลามาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นมันลำบาก โดยเฉพาะคณะครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมต้องครุกรรม หรือต้องสังฆาทิเสสอย่างนี้ เวลามาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นลำบาก มีโอกาสที่จะได้สมาธิก็ไม่ได้ โอกาสที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานก็ไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ถึงจะมีอุปนิสัยแห่งโสดาก็ดี แห่งสกิทา แห่งอนาคา หรือแห่งพระอรหันต์ก็ไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้
แต่เมื่อคณะครูบาอาจารย์ได้มาอยู่ปริวาสกรรม ได้มาประพฤติปฏิบัติธรรมถึงจะไม่ขึ้นมานัต ถึงจะยังไม่อัพภาน ก็สามารถที่จะบรรลุเป็นพระโสดา สกิทา อนาคาได้ สามารถบรรลุถึงขั้นอนาคามีได้ ต่อเมื่อบุคคลนั้นได้อัพภานกรรมสงฆ์เรียกเข้าหาหมู่เป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว ครั้งต่อไปมาประพฤติปฏิบัติธรรมจึงจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ อันนี้ท่านกล่าวไว้เป็นหลักให้พวกเราทั้งหลายได้เกิดความกระปรี้กระเปร่า กระฉับกระเฉงว่าคณะครูบาอาจารย์ทุกรูปที่มาอยู่ร่วมกันนี้ก็เป็นผู้มีศีลอันบริสุทธิ์แล้ว บางรูปบางท่านอาจจะขาดตกบกพร่อง แต่เราก็มาอยู่ปริวาสกรรมแล้วก็ถือว่าเราทุกรูปทุกท่านที่อยู่ด้วยกันนั้นเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์
ฐานที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิ ฐานที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปัสสนาญาณ พวกเรามีความสมบูรณ์ด้วยกันทุกรูปแล้ว มีความพร้อมด้วยกันทุกรูปแล้ว เหลือแต่ว่าพวกเราทั้งหลายจะมีความเพียร ความบากบั่น ความมุ่งมั่นมากน้อยขนาดไหน
ธรรมวินัยที่พระองค์ทรงตรัสไว้ ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงได้ ความทุกข์จะห่างเหินจากจิตใจของบุคคลนั้น ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติธรรมได้น้อยความทุกข์ก็จะจางออกจากใจของบุคคลนั้นน้อย แต่ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติธรรมได้มากความทุกข์ก็จะจางออกจากจิตจากใจของบุคคลนั้นมาก แต่ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติธรรมได้ถึงที่สุด ได้ถึงแก่นของธรรม ได้ถึงมรรคถึงผล ถึงพระนิพพาน ความทุกข์ก็เป็นอันสลาย เป็นอันสิ้นไปตามอานุภาพของมรรค ตามลำดับของมรรค เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมที่คณะครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ได้อดทนต่อพระธรรมคำสั่งสอน
ท่านกล่าวว่าบุคคลผู้บวชเข้ามาในพระศาสนานั้นมีภัยอยู่ ๔ ประการที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ ภัยคือคลื่น ภัยคือจระเข้ ภัยคือน้ำวน แล้วก็ภัยคือปลาร้าย นี้เรียกว่าเป็นภัยของนักบวช
ภัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ภัยคือคลื่น คลื่นนั้นท่านกล่าวถึงความที่บุคคลนั้นเกิดความโกรธ อดทนต่อคำสอนของคณะครูบาอาจารย์ไม่ได้ คือขณะที่เราเป็นโยมเราก็มีความสะดวกสบายดี เราจะไปไหนๆ ก็ไปสะดวกสบายแต่เมื่อเราบวชเข้ามาแล้ว คณะครูบาอาจารย์ก็แนะนำพร่ำสอนว่า เราต้องเดินอย่างนั้น เราต้องห่มจีวรอย่างนี้ เราต้องครองจีวรอย่างนี้ เราต้องฉันอย่างนี้ เราก้าวไปข้างหน้าอย่างนี้ เราถอยกลับข้างหลังอย่างนี้ มีจริยาวัตร
แต่ก่อนโน้นเราเคยเป็นโยม เราจะก้าวไปอย่างไร เราจะวิ่งอย่างไร เราจะนั่งอย่างไร เราจะถ่ายหนัก ถ่ายเบาอย่างไร เราจะฉันอย่างไร กินอย่างไร ดื่มอย่างไรเป็นเรื่องของเรา แต่เมื่อบวชเข้ามาในพระธรรมวินัยแล้วทำไมมันวุ่นวายอย่างนี้ ทำไมมันต้องลำบากอย่างนี้ บางครั้งบางคราวผู้มีอายุรุ่นคราวพ่อก็ดี เวลาบวชเข้ามาแล้วก็บวชหลังลูกหลาน เวลาลูกหลานบอกก็เกิดความโกรธ เกิดความไม่พอใจ บางครั้งก็สิกขาลาเพศเรียกว่าภัยคือ คลื่น หรือว่าอดทนต่อคำสอนของคณะครูบาอาจารย์ไม่ได้ ครูบาอาจารย์ให้เดิน ๓๐ นาทีก็เหมือนกับขาจะขาด คณะครูบาอาจารย์บอกให้นั่ง ๓๐ นาที ก็เหมือนกับกระดูกมันจะแตก เป็นเพราะอะไร เพราะว่าความอดทนของเรานั้นน้อยเกินไป
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีมา ๔ อสงไขยกับแสนมหากัป พระองค์ทรงตั้งสัจจาธิษฐานว่า ตราบใดที่พระองค์ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ยังไม่ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ถึงเลือดและเนื้อมันจะเหือดแห้งไปเหลือแต่หนังหุ้มกระดูกก็ตามทีจะไม่ลดละความเพียร แม้พระองค์ทรงมีบารมีมากขนาดนั้น พระองค์ก็ทรงตั้งสัจจะอธิษฐานทำจิตทำใจให้หนักแน่นแล้วก็ทำความเพียรถึงขนาดนั้น เราผู้เป็นปัจฉิมสาวก เป็นปัจฉิมาชนตาชน เป็นผู้เกิดในภายหลัง เป็นผู้เจริญรอยตามเบื้องยุคลบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะประพฤติปฏิบัติธรรมแบบสุกเอาเผากิน แบบพอผ่านไปวันวันนั้นเราไม่สามารถที่จะเข้าถึงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้
การประพฤติปฏิบัติธรรมเราต้องทำตามคำสอนของคณะครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ว่าอย่างไรเราก็ต้องทำอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าเราทำคนเดียว คณะครูบาอาจารย์หลายรูปหลายท่านก็ทำด้วยกัน ปฏิบัติธรรมด้วยกัน เดินด้วยกัน นั่งด้วยกัน อดทนด้วยกัน อันนี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นภัยใหญ่ของบุคคลผู้บวชใหม่ อดทนต่อคำสั่งสอนของคณะครูบาอาจารย์ไม่ได้ อดทนต่ออานุภาพของคลื่นที่มากระทบทำจิตทำใจของเราให้สงบเย็นไม่ได้ก็เกิดความโกรธ เกิดความไม่พอใจ เกิดความไม่สบายใจก็ลาสิกขาไป
ภัยประเภทที่สองท่านกล่าวว่าภัยคือ จระเข้ คือภิกษุผู้บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา บางครั้งก็บวชเข้ามาด้วยศรัทธา คิดว่าเราบวชเข้ามาในพุทธศาสนานี้ก็เพราะว่าเราบวชเข้ามาด้วยศรัทธา ด้วยการพิจารณาเห็นว่าชีวิตของเรานั้นถูกความเกิดครอบงำ ถูกความแก่ครอบงำ ถูกความเจ็บครอบงำ ถูกความทุกข์ ถูกความโทมนัส ถูกความปริเทวะ ความคร่ำครวญ ถูกอุปายาส ความคับแค้นทั้งหลายทั้งปวงนั้นครอบงำ ชีวิตของเราตกอยู่ในห้วงแห่งวังวน แห่งความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความทุกข์ เราออกบวชเราอาจจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ บางคนอาจจะคิดอย่างนั้นแล้วก็มาบวช
แต่พอมาบวชแล้วอยากจะกินอย่างโน้น อยากจะฉันอย่างนี้ อยากจะบริโภคอย่างนั้น บริโภคไม่ได้ คณะครูบาอาจารย์ผู้เป็นอาจารย์ว่า สิ่งนี้มันไม่ควรบริโภค เป็นของอกัปปิยะ เป็นของไม่ควร สิ่งนี้เป็นของควรบริโภค สิ่งนี้ควรเคี้ยว สิ่งนี้ไม่ควรเคี้ยว สิ่งนี้ควรฉัน สิ่งนี้ไม่ควรฉัน สิ่งนี้ควรดื่ม สิ่งนี้ไม่ควรดื่ม แต่ก่อนโน้นเราเคยอยากดื่มอะไรเราก็ดื่ม เราอยากฉัน เราอยากเคี้ยว เราอยากจะบริโภคอะไรเราก็บริโภค หรือว่าบางครั้งบางคราวคณะครูบาอาจารย์ผู้เป็นอาจารย์ก็บอกว่าสิ่งนี้มันฉันได้เฉพาะเช้าถึงเที่ยง เป็นกาลเวลาที่ฉันได้ ถ้าเลยเที่ยงไปเป็นเวลาวิกาล ทานไม่ได้ อันนี้ก็ดื่มได้ในเวลาตอนเช้า เวลาวิกาลแล้วก็ดื่มไม่ได้เลยเที่ยงแล้วก็ดื่มไม่ได้ ในลักษณะอย่างนี้ก็จะเกิดความท้อ เกิดความไม่อยากประพฤติปฏิบัติธรรม ว่าแต่ก่อนโน้นเราอยากจะฉันยังไง เราจะดื่มยังไง ของควรไม่ควรเราดื่มได้หมดฉันได้หมดบริโภคได้หมด บางครั้งก็เกิดความท้อแท้แล้วก็เกิดการอยากสึกขาลาเพศไป อันนี้เรียกว่าเห็นแก่ปากแก่ท้องหรือว่าเห็นแก่กินเพราะอดทนต่อการที่จะได้รับการฝึกฝนอย่างนั้นไม่ได้ก็สึกขาลาเพศไป
ภัยข้อที่ ๓ ท่านกล่าวว่า ภัยคือน้ำวน นี้ท่านกล่าวไว้ว่าบุคคลผู้เข้ามาบวชในพระธรรมวินัย บางครั้งในจิตดวงแรกก็อาจจะบวชด้วยศรัทธา บวชด้วยความเลื่อมใส เพราะเห็นว่าเรานั้นถูกความเกิด ถูกความแก่ ถูกความเจ็บ ถูกความตายนั้นครอบงำอยู่เป็นประจำ ทุกชีวิตก็ล้วนบ่ายหน้าไปสู่ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เมื่อคิดอย่างนั้นก็คิดว่าจะออกบวช พอบวชแล้วก็คิดว่าตนเองจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แต่เมื่อออกบวชมาแล้วก็นุ่งสบงห่มจีวรไปบิณฑบาต ขณะที่ไปบิณฑบาตนั้นไม่สำรวมอินทรีย์ แล้วก็เหลือบไปเห็นคฤหบดีบ้าง เศรษฐีบ้าง ผู้มีฐานะอันจะกินบ้าง เป็นผู้เพียบพร้อมไปด้วยกามคุณ มีบ้านหลังโตๆ มีรถคันใหญ่ๆ สวยๆ งามๆ หลายคัน มีเมียสวยๆ มีการค้าขายที่ดีแล้วก็มียศถาบรรดาศักดิ์ ก็กระหยิ่มในความสุขของคฤหบดี หรือว่าเศรษฐี หรือว่าบุคคลผู้มีอันจะกินนั้น คิดว่าบุคคลนั้นคงจะมีความสุขเหลือเกิน มีเมียสวย มีบ้านหลังโต มีรถคันงามๆ มีการค้าการขายประกอบความสำเร็จดังที่ตนเองปรารถนาก็มีจิตใจกระหยิ่ม คิดว่าเราถ้าสามารถที่จะทำได้อย่างนี้ เราก็คงจะมีความสุขบริโภคกามคุณนั้นสมความมุ่งมาตรปรารถนา ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าท่านเป็นผู้ยินดีในกามคุณ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส เรียกว่ากามคุณ ๕ นี้แหละ เป็นน้ำวนสำหรับดูดสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจมลงในห้วงมหรรณพภพสงสาร
คนทั้งหลายทั้งปวงจะข้ามฟากลอยจากฟากซ้ายไปฟากขวา ลอยจากฟากขวามาฟากซ้ายผ่านน้ำวน น้ำวนก็ดูดบุคคลนั้นให้จมลงไปในก้นห้วงแห่งแม่น้ำให้สิ้นชีพวายชนไป คนทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นมาแล้วก็คิดว่าจะสร้างสมคุณงามความดี จะเป็นคนดี ให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตรสวดมนต์ แต่เมื่อถูกน้ำวนคือกามคุณแล้วก็เห็นรูปน่าใคร่ เห็นเสียงน่าพอใจก็เกิดความลุ่มหลง ในที่สุดก็เหม่อลอยเรียกว่าประมาทไปด้วยอำนาจของสิ่งเหล่านั้น ไม่สนใจในเรื่องของการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เหมือนกับบ้านแก้งเกลี้ยงของเรานี้แหละ พวกเราทั้งหลายมาประพฤติปฏิบัติธรรม เรามองดูสิว่าบุคคลผู้ที่จะสนใจในการฟังธรรม บุคคลผู้จะสนใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นมีมากถึงขนาดไหนนี้เรามองดูสิ บุคคลผู้ที่จะละจากกามคุณมาฝักใฝ่ในธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เป็นสิ่งที่หาได้ยาก การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นถ้าบุคคลใดบวชเข้ามาแล้วไม่สำรวมตา ไม่สำรวมหู ไม่สำรวมจมูก ไม่สำรวมลิ้น ไม่สำรวมกาย ไม่สำรวมใจแล้ว ใจของบุคคลนั้นก็จะถูกกามคุณนั้นดูดไป อุปสรรคใหญ่ทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นแก่เรานั้น ก็เพราะเรานั้นไม่สำรวม อยู่ไม่ได้ บวชไม่ได้ ก็สึกขาลาเพศไป
ภัยข้อที่ ๔ ท่านกล่าวว่า ภัยคือปลาร้าย ปลาร้ายนั้นคือบุคคลผู้บวชเข้ามาด้วยศรัทธาในเบื้องต้น แต่เมื่อบวชเข้ามาแล้วก็ออกไปบิณฑบาตในบ้าน ไปงานนิมนต์ในบ้าน ก็นุ่งสบงห่มจีวร มีการบิณฑบาตตามปกติสมณวิสัย แต่ว่าขณะที่ไปนั้นไม่สำรวมอินทรีย์ ไม่สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหลือบมองไปเห็นมาตุคามหรือว่าผู้หญิง บางครั้งก็นุ่งไม่เรียบร้อย บางครั้งก็ห่มไม่เรียบร้อย
เมื่อมองเห็นรูปของมาตุคามแล้วจิตใจก็เกิดราคะ เกิดราคะดำเกิดความกำหนัด เมื่อเกิดความกำหนัดเข้ามาแล้วจิตใจก็พะว้าพะวง จิตใจก็สับสน จิตใจก็วุ่นวาย จิตใจก็กำหนัด เมื่อจิตใจกำหนัดแล้วก็เบื่อหน่ายในการท่องบ่นสาธยาย เบื่อหน่ายในการที่จะทำวัตร เบื่อหน่ายในการที่จะภาวนา ไม่มีกะจิตกะใจที่จะบำเพ็ญสมณธรรม จิตใจหมกมุ่นมัวเมาหลงใหลอยู่ ในอารมณ์ของราคะ
เหมือนกับภิกษุที่ไปเห็นน้องสาวของหมอชีวก นางนั้นงามเหลือเกินเมื่อเห็นน้องของหมอชีวกที่เป็นผู้มีรูปร่างสวยงามนั้นแหละก็เกิดราคะดำขึ้นมา กลับมาแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ข้าวที่บิณฑบาตมาก็ไม่ฉันปล่อยให้มันขึ้นราบูดอยู่อย่างนั้นแหละ ก็นอนตรอมใจอยู่ นึกถึงความสวยความงามของน้องสาวของหมอชีวก อันนี้เรียกว่าบุคคลผู้ไม่สำรวมตา ไม่สำรวมหู ไม่สำรวมจมูก ไม่สำรวมลิ้น กาย ปล่อยให้รูปผู้หญิงนั้นท่วมทับจิตใจให้เกิดราคะได้ อันนี้ก็อยู่ไม่ได้ก็สึกขาลาเพศไป
แต่ถ้าเราได้เรียนกรรมฐานเมื่อเราเห็นเราก็ต้องกำหนดว่า “เห็นหนอๆ” ถ้าราคะมันเกิดขึ้นมาในจิตในใจเราต้องกำหนดว่า “ราคะหนอๆ” ตัดกระแสของราคะ อย่าให้ปรุง อย่าให้แต่ง อย่าให้เหม่อลอยไปตามอำนาจของมัน นี้เราก็สามารถทำให้อยู่ในพระธรรมวินัยได้
ผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมก็ขอให้พวกเราทั้งหลายระวังภัย ใครระวังภัย ก็เรานี้แหละเป็นผู้ระวัง เราระวังที่ไหนก็ระวังที่ตา ระวังที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจของเรา เราอย่าเหม่อลอยไปตามอานุภาพของสิ่งเหล่านั้น เราต้องระมัดระวังให้รู้ว่าในขณะนี้เราอยู่ในสมณะเพศ เราอยู่ในเพศของนักบวช เราอยู่ในเพศของบรรพชิต เราอยู่ในฐานะของเจดีย์ของญาติของโยมให้ญาติโยมทั้งหลายได้กราบได้ไหว้ ให้ญาติโยมทั้งหลายได้สักการะ ได้นับถือ ได้บูชา เพราะฉะนั้นเราก็ต้องตั้งอยู่ในฐานะอันสำรวม เพื่อที่จะให้ศีลของเรามั่น ศีลของเรานั้นบริสุทธิ์ เพื่อที่จะให้เกิดคุณธรรมสูงๆ ยิ่งๆ ขึ้นไป ถ้าเราอยู่ในฐานะที่ประมาทเราก็เป็นสมณะที่ไม่บริสุทธิ์ เวลาญาติโยมกราบ ญาติโยมไหว้ เขาก็ได้บุญน้อย การประพฤติปฏิบัติธรรมที่คณะครูบาอาจารย์ได้มาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ถือว่าเป็นโอกาสอันดี ที่เราจะได้มาอบรมบ่มบารมี โดยเฉพาะภิกษุผู้ที่บวชใหม่ บางครั้งบวชใหม่ไม่มีเวลาที่จะบวชนานแต่ถ้าตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม บางครั้งบวช ๓ วันก็สามารถที่จะยังสมาธิให้เกิดขึ้นมาได้ ภิกษุที่ไม่เคยประพฤติปฏิบัติธรรมบางครั้งบวช ๑๐ ปี ๒๐ ปี ก็ไม่สามารถยังสมาธิให้เกิดขึ้นมาก็มี บางครั้งบวช ๓ วัน ๕ วัน ๗ วันก็สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ เพราะว่าการบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นมันเป็นปัจจัตตัง เป็นของเฉพาะตน เราไม่สามารถที่จะทราบได้ว่าบุคคลที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมร่วมกันในขณะนี้มีบารมีสร้างสมอบรมมามากน้อยต่างกันอย่างไร
บางรูปบางท่านในสมัยที่เป็นญาติเป็นโยมอาจจะเกเร อาจจะเป็นคนที่ไม่ค่อยเข้าท่าเข้าทาง หรือว่าเป็นอันธพาล แต่ว่าเมื่อบวชมาแล้วอุปนิสัยที่เขาได้สั่งสมอบรมมาแต่ภพก่อนชาติก่อนบางครั้งก็อาจจะให้ผลก็ได้ เมื่อมาเดินจงกรมนั่งภาวนาไม่นานจิตใจก็เกิดสมาธิได้ มีภิกษุบางรูปมาประพฤติปฏิบัติธรรมที่วัดพิชโสภารามได้มากล่าวกับกระผมว่า ไม่เคยนั่งภาวนาสักทีแต่มานั่งภาวนาเพียงครั้งแรกบริกรรม “พองหนอ ยุบหนอ พุทโธๆ” ครั้งแรก จิตใจเข้าสู่อารมณ์ของสมาธิเลย หรือว่าจิตใจเป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน อันนี้ก็เกิดสิ่งอัศจรรย์ใจคล้ายๆ ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเรา ตามพระราชบิดาไปทำพิธีแรกนาขวัญ เมื่อตามพระพุทธบิดาไปทำพิธีแรกนาขวัญก็นั่งคู้บัลลังก์อยู่ที่เงาของต้นหว้าก็ยังปฐมฌานให้เกิดขึ้นมา อันนี้เป็นการนั่งภาวนาครั้งแรกของพระพุทธองค์ก็สามารถยังปฐมฌานให้เกิดขึ้นมาจนตะวันบ่ายคล้อยแล้ว ด้วยอานุภาพแห่งปฐมฌานก็ทำให้เงาหว้านั้นยังไม่คล้อยตามไป ยังคอยกำบังให้พระองค์นั้นเย็นสบายอยู่อันนี้เรียกว่าเป็นอานุภาพของบุญกุศลที่พระองค์ทรงบำเพ็ญไว้
เราไม่เคยนั่งภาวนาแต่เป็นการนั่งครั้งแรกก็ยังปฐมฌานให้เกิดขึ้นมาได้ ภิกษุที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมที่วัดพิชก็เหมือนกัน ไม่เคยนั่งภาวนาแต่นั่งครั้งแรกก็เกิดสมาธิ สมาบัติขึ้นมาได้ คณะครูมาประพฤติปฏิบัติธรรมยังไม่เคยเดินจงกรมสักที เดินครั้งแรกก็เข้าสมาธิได้ในขณะที่เดินอย่างนี้ก็มี
หรือว่าสามเณรที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมที่วัดพิชโสภาราม พระเดชพระคุณหลวงพ่อเคยเล่าให้ฟังว่า มีสามเณรรูปหนึ่งไปแย่งห่อไทยธรรมกับอุปัชฌาย์ของตนเองที่เป็นหลวงปู่ แต่ก่อนโน้นถ้าใครมีพรรษาเยอะก็สามารถบวชสามเณรได้ หลวงปู่ก็บวชสามเณรเมื่อบวชสามเณรแล้วก็ไปงานนิมนต์ในบ้าน เมื่อไปงานนิมนต์ในบ้านแล้ว เขาก็ให้ห่อไทยธรรมมาปันกัน เมื่อปันกันแล้วสามเณรไม่พอใจแล้วก็อยากได้แต่หลวงปู่ไม่ให้ก็ทะเลาะกันเถียงกัน แล้วก็ด่าหลวงปู่ด้วยคำเสียๆ หายๆ แล้วก็หนีจากหลวงปู่นั้นมาประพฤติปฏิบัติธรรมที่วัดพิชโสภาราม
ในครั้งนั้นพระเดชพระคุณหลวงพ่อนั้นเป็นผู้สอนเอง ขณะที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมพระเดชพระคุณหลวงพ่อก็มองดูว่าสามเณรรูปนี้มีบารมีพอที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ แต่ทำไมหนอสามเณรนี้บรรลุมรรคผลนิพพานไม่ได้ ความเพียรก็มี การประพฤติปฏิบัติธรรมก็ถูกต้อง ก็พิจารณาไปพิจารณามาสามเณรรูปนี้ล่วงเกินอุปัชฌาย์ของตนเอง ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ก็ให้สามเณรนั้นไปขอขมาลาโทษหลวงปู่ซึ่งเป็นอุปัชฌาย์ หลังจากนั้นก็ให้สามเณรนั้นมาประพฤติปฏิบัติธรรม
พระเดชพระคุณหลวงพ่อกล่าวว่าสามเณรนั้นเดินจงกรมเพียงแค่ชั่วโมงแรกก็สามารถผ่านการประพฤติปฏิบัติธรรมไปได้ อันนี้เรียกว่ามาประพฤติปฏิบัติธรรมด้วยอำนาจของบุญวาสนาบารมีที่สั่งสมอบรมไว้แต่ภพก่อนชาติก่อน
เพราะฉะนั้นเวลา ๙ คืน ๑๐ วันนี้ก็ถือว่าเป็นเวลามากเพียงพอต่อการที่คณะครูบาอาจารย์จะประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อให้ได้สมาธิ สมาบัติ เพียงพอที่จะให้ได้วิปัสสนาญาณ หรือเพียงพอต่อการบรรลุมรรคผลนิพพานชั้นใดชั้นหนึ่งตามบุญวาสนาบารมี วันนี้กระผมก็ได้กล่าวธรรมพอสมควรแก่เวลา.