การละกิเลส

การละกิเลส

(เทศน์ที่สถานปฏิบัติธรรมจอมทอง วันที่ ๑๕ พ.ค. ๕๖)

          ต่อไปก็ให้คณะครูบาอาจารย์ญาติโยมทั้งหลายได้พยายามทำจิตทำใจของเราให้สงบ พวกเราทั้งหลายได้มารวมกันอยู่ ณ สถานที่แห่งนี้ ก็เพื่อที่จะสร้างสมอบรมบารมี สร้างศีล สร้างสมาธิ สร้างปัญญาใส่ตัวของเราเอง

          พวกเราทั้งหลายได้มารวมกัน ได้มาสร้างบุญสร้างกุศล พวกเราทั้งหลายได้มาสร้างศีล สร้างสมาธิ สร้างปัญญา พวกเราทั้งหลายได้มารวมกันละความโกรธ ละความโลภ ละความหลง พวกเราทั้งหลายได้มารวมกันเพื่อที่จะละความเห็นแก่ตัว ละทิฏฐิ ละมานะต่างๆ เรามารวมกันเพื่อละความเกียจคร้าน ละกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด เวลาเราจะละกิเลสทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นเราจะละอย่างไร กิเลสตั้งพันห้าตัณหาตั้งร้อยแปด

          เวลาเราจะละกิเลสทั้งหลายทั้งปวงเราจะละอย่างไร อันนี้ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลลายทั้งปวงได้รับทราบว่า เวลาเราจะละกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดนั้น สิ่งใด คือกิเลสตัวใดที่มันเกิดขึ้นมาก่อน อย่างเช่นในขณะที่เรานั่งภาวนาอยู่นี้ บางรูปนั่งไปก็เกิดความโกรธเกิดความไม่พอใจขึ้นมา กิเลสคือความโกรธ กิเลสคือความไม่พอใจนี้มันเกิดขึ้นมาเราต้องกำหนดเสียก่อน กำหนดตัวนี้เสียก่อน กำหนดลงไปที่ใจ “โกรธหนอๆ” “ไม่พอใจหนอๆ” หรือว่ากำหนดลงตรงที่เป็นเหตุให้เกิดความโกรธก็คือจิตใจของเรา

          บางรูปบางท่านบางคนในขณะนี้เกิดความง่วงเหงาหาวนอน กิเลสถ้ามันเกิดขึ้นมาเราก็กำหนดลงไปที่จิตของเรา กำหนดว่า “ง่วงหนอๆ” “ซึมเซาหนอๆ” จนกว่าความง่วงเหงาหาวนอนนั้นมันจะหมดไป

          หรือว่าในขณะนี้บางรูปบางคนนั่งไปแล้วเกิดความเกียจคร้าน เราเข้าไปสู่กลด เราเข้าไปสู่เต็นท์คงจะนอนสบายถ้าเราไม่มาเรานอนอยู่ที่กุฏิ เรานอนอยู่ที่บ้านเราคงจะได้นอนสบายมีพัดลมสบาย มีแอร์สบาย ถ้าผู้ใดขณะนี้เกิดความเกียจคร้าน ก็แสดงว่ากิเลสคือความเกียจคร้านนั้นครอบคลุมจิตใจของเรา เราก็ต้องกำหนด “เกียจคร้านหนอๆ” เป็นการที่พวกเราทั้งหลายได้กำหนดถูกหลักเกณฑ์คือกิเลสตัวใดที่มันเกิดขึ้นมาก่อนเราก็ต้องกำหนดกิเลสตัวนั้นก่อน อันนี้เป็นระเบียบแบบแผนในการประพฤติปฏิบัติธรรม

          เวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรม เราตั้งสติไว้กับปัจจุบันธรรม เวลาจะยืนเราก็ตั้งสติไว้ในอาการยืน เวลาจะเดินเราก็ตั้งสติไว้กับอาการเดิน เวลาเราจะพูดเราจะคุยเราก็ตั้งสติไว้ในอาการพูดอาการคุย หรือว่าเราจะนั่งเราจะนอนเราก็มีสติพิจารณาอาการนั่ง เราจะนอนเราก็มีสติพิจารณาอาการนอนของเรา อันนี้เรียกว่าเราประพฤติปฏิบัติธรรมด้วยความสบาย

          การปฏิบัติธรรมด้วยการพิจารณาสติทันปัจจุบันธรรมนี้เป็นการปฏิบัติธรรมที่สบาย การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นถูกกับจริตทุกจริตจะเป็นพุทธิจริตเป็นผู้มีปัญญาก็ดี หรือราคจริตผู้มากไปด้วยราคะก็ดี หรือจะเป็นโทสจริตผู้มากไปด้วยโทสะขุ่นเคืองก็ดี หรือเป็นประเภทโมหจริตเป็นประเภทมัวเมาลุ่มหลงก็ตาม หรือเป็นประเภทวิตกจริตเป็นประเภทวิตกกังวลก็ตาม หรือจะเป็นประเภทศรัทธาจริตเป็นประเภทผู้มากด้วยศรัทธาก็ตาม

          จริตทั้ง ๖ ประการนี้เข้ากับการเจริญวิปัสสนากรรมฐานได้ทั้งนั้น คือผู้ใดเจริญวิปัสสนากรรมฐานก็สามารถเข้ากับบุคคลประเภทเหล่านั้นได้ทั้งหมด บุคคลนั้นจะโกรธเป็นฟืนเป็นไฟก็ตาม บุคคลนั้นจะมีราคะมากมายขนาดไหนก็ตาม บุคคลนั้นจะมีความลุ่มหลงขนาดไหนก็ตาม หรือมีปัญญามากมาย มีความวิตกกังวลมากมาย หรือว่ามีศรัทธามากมายขนาดไหนก็ตาม จริตทั้ง ๖ ประการนี้สามารถเข้ากับการเจริญวิปัสสนากรรมฐานได้ดี

          ถ้าผู้ใดมีสติเป็นกลางๆ มีสัมปชัญญะพิจารณารู้อยู่ อันนี้เป็นการเจริญกรรมฐานเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้อง บุคคลนั้นจะไม่มีความเครียด ไม่มีความวิตกกังวล เพราะความวิตกกังวลนั้นอยู่กับอนาคต ความวิตกกังวลนั้นอยู่กับอารมณ์ที่เป็นอดีต ความวิตกกังวลเกิดขึ้นเพราะบุคคลระลึกนึกถึงอารมณ์ที่เป็นอนาคต ความวิตกกังวลเกิดขึ้นเพราะบุคคลระลึกนึกถึงอดีต จิตใจของผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นไม่คงอยู่กับปัจจุบันธรรม

          เมื่อจิตใจของบุคคลนั้นไม่คงอยู่กับปัจจุบันธรรม อารมณ์คืออดีตและอนาคตเกิดขึ้นมา เมื่ออารมณ์คืออดีตอนาคตเกิดขึ้นมาวิตกมันก็เกิดขึ้นมา วิจารณ์มันก็เกิดขึ้นมา ความปรุงแต่งความฟุ้งซ่านความรำคาญก็เกิดขึ้นมา ความเดือดร้อนก็เกิดขึ้นมา อันนี้เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะเรานั้นไม่มีสติอยู่กับปัจจุบันธรรม

          การที่พวกเราทั้งหลายได้มารวมกันประพฤติปฏิบัติธรรม บางครั้งการงานอาจจะไม่เรียบร้อย ครูบาอาจารย์อาจจะประชาสัมพันธ์ให้มาช่วยการงานอย่างโน้นอย่างนี้ อันนี้ก็เป็นเสียง เสียงก็เป็นอารมณ์ของพระกรรมฐาน เราทั้งหลายทั้งปวงจะหลบหลีกหนีหลบไปที่ไหนเราก็ต้องเจอเสียง ไม่เสียงผู้หญิงก็ต้องเสียงผู้ชายไม่ใช่เสียงเด็กก็เสียงผู้ใหญ่ ไม่ใช่เสียงคนก็เสียงนกเสียงกาเสียงลมเสียงฝนเราจะหลบไปที่ไหนเราก็ต้องเจอเสียงอยู่ดี

          เสียงนั้นก็ถือว่าเป็นอารมณ์กรรมฐาน เราจะเอาเสียงเป็นอารมณ์ “ได้ยินหนอๆ” กำหนดให้เสียงที่มากระทบที่หูของเรานั้นแหละพิจารณาดูเสียงที่มันมากระทบที่โสตประสาทของเรา หูของเรานั้นมีอยู่ ๒ ข้าง ข้างไหนที่ได้ยินเสียงชัดเจนที่สุดเราก็กำหนดที่หูข้างนั้นกำหนดว่า “ได้ยินหนอๆ” “เสียงหนอๆ” อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเรากำหนดในลักษณะอย่างนี้แล้ว ความยินดีในเสียงความพอใจในเสียงมันก็ไม่เกิดขึ้นมา เมื่อความยินดีความพอใจในเสียงไม่เกิดขึ้นมาแล้วจิตใจของเราก็จะเป็นกลาง เมื่อจิตใจของเราเป็นกลาง ความว่างความสบายมันก็เกิดขึ้นมา เมื่อความว่างความสบายมันเกิดขึ้นมาแล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของเรานั้นเกิดสมาธิ เกิดปีติ เกิดปัสสัทธิ เกิดสมาธิ เกิดปัญญาขึ้นมา อันนี้หนทางแห่งพระนิพพานก็คือมีสติอยู่กับปัจจุบันธรรม

          พระนิพพานมีอาการอย่างไร หนทางที่จะเดินไปสู่พระนิพพานก็มีอาการคล้ายๆ กัน พระนิพพานนั้นมีความว่าง พระนิพพานนั้นเป็นสุญญตา เรียกว่ามีความว่าง คือว่างจากความโกรธ ว่างจากความโลภ ว่างจากความหลง เรียกว่าพระนิพพานเป็นสุญญตาธรรม เป็นธรรมที่ว่าง คือว่างจากความโกรธ ว่างจากความโลภ ว่างจากความหลง ว่างจากทิฏฐิ ว่างจากมานะ ว่างจากความถือตัว ว่างจากความยึดมั่นถือมั่นคืออุปาทาน ว่างจากอดีต ว่างจากอนาคต ว่างจากการเกิด ว่างจากความแก่ ว่างจากการเจ็บ ว่างจากการตาย ว่างจากการหมุนเวียนเปลี่ยนไป อันนี้เรียกว่าสุญญตาธรรม ธรรมอันเป็นเหตุให้เกิดความว่างความเปล่า ไม่ใช่ว่าพระนิพพานนั้นไม่รู้รส ไม่รู้กลิ่น ไม่ใช่ว่าพระนิพพานนั้นไม่รู้ไม่มีความรู้สึก

          พระนิพพานนั้นมีอยู่ ๒ ประการ คือ อุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสแต่ว่าเบญจขันธ์ธาตุขันธ์ยังอยู่ อย่างเช่นเบญจขันธ์ของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลายทั้งปวง หรือว่าพระโสดา สกิทา อนาคา พระอรหันต์นี้ก็ถึงพระนิพพานเป็นขณะเป็นอย่างไป อันนี้ก็ถือว่าเป็นผู้เข้าถึงพระนิพพาน นี้ก็เรียกว่าผู้เข้าถึงพระนิพพาน ก็สามารถลิ้มรสอาหารทุกสิ่งทุกอย่างได้ รู้ความเอร็ดอร่อย รู้ความดี รู้ความชั่ว รู้สิ่งที่เหม็น รู้สิ่งที่หอม แต่อุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นไม่มีในใจของบุคคลนั้น ความยึดมั่นถือมั่นก็จะน้อยลงไปตามลำดับที่ตนเข้าถึงพระนิพพาน

          พระโสดาบันก็คลายความยึดมั่นในสักกายทิฏฐิ ความยึดมั่นในมิจฉาทิฏฐิ ความลังเลสงสัย หรือว่าความยึดมั่นในเรื่องพระรัตนตรัยต่างๆ เหล่านี้ก็จะมั่นคงขึ้น ก็จะคลายความยึดมั่นในร่างกายในสังขารในรูปในนามนั้นให้ลดน้อยถอยลงไป มีความยึดมั่นในพระธรรมมากขึ้น ความยึดมั่นในสิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสนั้นน้อยลงตามลำดับๆ

          พระสกทาคามีก็มีความยึดมั่นในราคะน้อยลง มีความยึดมั่นในโทสะนั้นน้อยลง แต่ก่อนโน้นมีราคะมาก แต่ก่อนโน้นมีโทสะมาก แต่เมื่อบรรลุเป็นพระสกทาคามีแล้วความยึดมั่นในราคะนั้นน้อยลง ความยึดมั่นในโทสะนั้นก็น้อยลง แต่ก่อนโน้นโกรธเป็นฟืนเป็นไฟถ้าโกรธขึ้นมาแล้วต้องเอาเป็นเอาตาย ถ้ามันไม่ตายเราก็ต้องตาย ตายไปข้างหนึ่งอันนี้เรียกว่ายึดมั่นถือมั่นในโทสะมากเกินไป

          แต่บุคคลใดได้บรรลุเป็นพระสกทาคามีแล้วเวลาเขาว่าโกรธบางครั้งก็อาจจะมีความขุ่นเคืองบ้างแต่ว่าความขุ่นเคืองนั้นก็ตั้งอยู่ไม่ได้นานเป็นธรรมชาติของกิเลส จะตั้งอยู่ในจิตใจของพระอริยะเจ้านั้นไม่ได้นาน

          เหมือนกับใบบัว น้ำอยู่บนใบบัวก็ย่อมพัดกลิ้งตกไปย่อมตั้งอยู่บนใบบัวนั้นไม่ได้นานหรือว่าไม่ได้ซึมซาบเข้าไปในใบบัว หรือว่าเปรียบเสมือนกับเมล็ดงาย่อมไม่ได้ตั้งอยู่บนปลายเหล็กแหลมย่อมพัดกลิ้งตกไปโดยไม่ยาก ความโกรธก็ไม่สามารถตั้งอยู่ในจิตใจของพระสกาคามีได้นาน เป็นผู้คลายความโกรธนั้นให้เหลือน้อยลงไม่ใช่หมดความโกรธแต่ความโกรธนั้นยังมีอยู่ แต่ว่าความโกรธนั้นตั้งอยู่ไม่ได้นาน

          ราคะก็เหมือนกัน ราคะนั้นก็เกิดขึ้นมาในจิตในใจแต่ว่าราคะนั้นไม่ได้ตั้งอยู่ได้นาน ไม่ได้หมกมุ่นมัวเมาอยู่ในราคะนั้นมากมาย เพราะอะไร เพราะจิตใจพิจารณาถึงธรรม พิจารณาว่าราคะธรรมนั้นเป็นเครื่องกำหนัดเป็นเครื่องย้อมจิตย้อมใจของสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ท่องเที่ยวไปในวัฏฏสงสาร เป็นเครื่องย้อมใจของคนให้รักให้ชอบให้ชัง เป็นเครื่องสร้างโลกไม่ใช่สร้างทางไปสู่พระนิพพานเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ก่อทุกข์ก่อเวรก่อภัยต่างๆ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้แก่งแย่งชิงดีซึ่งของรักของชอบใจทั้งหลายทั้งปวง

          คนที่มีกิเลสก็ยังแก่งแย่งชิงดีในเรื่องวัตถุว่าคนนั้นดีกว่าเรา คนนี้ไม่ดีเท่าเรา คนนั้นชั่วกว่าเรา คนนั้นประเสริฐกว่าเรา อันนี้มีแต่กิเลสคุยกันทั้งนั้น หรือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีลาภยศกว่าเรา มีตึกสูงกว่าเรา มีบ้านใหญ่กว่าเรา แล้วก็แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นให้เรานั้นเลิศกว่าบุคคลอื่นให้บุคคลอื่นนั้นต่ำกว่าเราในลักษณะอย่างนี้ ก็แสดงว่าธรรมะในจิตในใจของบุคคลนั้นน้อยเกินไป เรียกว่ามีความแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นซึ่งลาภซึ่งยศซึ่งสรรเสริญซึ่งสุข หรือว่ามีความแก่งแย่งซึ่งวัตถุอันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งหาประโยชน์มิได้ คนหมดโลกทั้งหลายทั้งปวงก็แก่งแย่งกันในลักษณะอย่างนั้น

          แต่พระอริยะเจ้าทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็พิจารณาว่าสิ่งเหล่านี้ทั้งหลายทั้งปวงนั้นมันเป็นอนิจจัง มันเป็นทุกขัง มันเป็นอนัตตา เราแก่งแย่งสิ่งเหล่านี้เราจะมีประโยชน์อะไรหนอ เมื่อเราตายจากโลกนี้ไปแล้วเราจะเอาสิ่งนี้ไปด้วยได้หรือไม่หนอ เราจะเอาความรักจากภรรยาไปได้ไหม เราจะเอาความรักจากลูกไปได้ไหม เราจะเอาความรักจากพนักงาน เราจะเอาความรักความซื่อสัตย์จากคนงาน หรือว่าจากลูกน้องทั้งหลายทั้งปวงนี้ไปได้ไหม เราเอาไปไม่ได้สักคน เราเอาไปไม่ได้สักอย่าง สิ่งเหล่านี้มันเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไป บ้านช่องใหญ่โตรโหฐานแต่เราก็เอาไปไม่ได้

          เราเกิดมาไม่มีอะไรมากับเรา เราก็ไปตัวเปล่าเหมือนเรามา สิ่งที่จะติดตามเราไปได้ก็คือคุณงามความดี คือบุญกับบาป แต่ว่าบาปติดตามเราไปเพื่อที่จะยังความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นในจิตในใจของเรา แต่ว่าบุญติดตามเราไปเพื่อที่จะยังความเจริญงอกงามให้เกิดขึ้นในจิตในใจของเรา

          เพราะฉะนั้นก็ขอให้พวกเราทั้งหลายที่ได้มาร่วมกันประพฤติปฏิบัติธรรมก็ขอให้เรานั้นมาสร้างสมอบรมคุณงามความดี เรามาละบาปเพื่อที่จะบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศลให้มากขึ้น

          ผู้ใดละบาปได้มากบุคคลนั้นก็มีความสุขมาก บุคคลใดละบาปได้น้อยบุคคลนั้นก็มีความสุขน้อย บุคคลใดละบาปไม่ได้เลยความสุขที่แท้จริงย่อมไม่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้นเลย จิตใจของบุคคลนั้นย่อมไม่มีความชอบใจ ย่อมมีความไม่พอใจ ย่อมมีความขุ่นเคือง ย่อมมีความกำหนัด ย่อมมีความยึดมั่นถือมั่นอยู่ตลอดเวลา เพราะอะไร เพราะเราไม่ได้ปล่อยวางแม้แต่น้อยหนึ่ง

          พวกเราทั้งหลายทั้งปวงที่มารวมกันก็ขอให้ปล่อยวางอารมณ์ที่ไม่ดี อยู่ด้วยกันเหมือนพ่อกับแม่ เหมือนลูกกับหลาน เหมือนครูบากับลูกศิษย์ลูกหา เหมือนอาจารย์กับลูกศิษย์ลูกหานั้นอยู่ด้วยกัน เหมือนกับสหธรรมมิกญาติธรรมทั้งหลายทั้งปวงโคจรมาเจอกันก็อยู่ร่วมกันด้วยความผาสุข นี้ในลักษณะของผู้ปฏิบัติธรรมอยู่ด้วยกันในลักษณะอย่างนั้น

          พวกเราทั้งหลายมารวมกันเพื่อที่จะสร้างให้เป็นตัวอย่างแก่สังคม เราอยู่ร่วมกันจำนวนมากไม่มีการทะเลาะไม่มีการเบียดเบียนกัน ไม่มีตำรวจมาคุม ไม่มีสารวัตรทหารมาคอยควบคุมนิสัย พวกเราอยู่ด้วยกันด้วยความเป็นระเบียบเรียบง่ายมีความสบายมีความสุข อันนี้เรียกว่าเราอยู่เพื่อเป็นแบบแผนแก่สังคม แบบแผนแก่บ้านแก่เมืองแก่วัดวาแก่พระศาสนา

          เพราะฉะนั้นก็ขอให้พวกเราทั้งหลายได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ละราคะ ละโทสะ ละมานะทิฏฐิ ละความถือมั่นทั้งหลายทั้งปวง ใจของเราก็จะเย็นสบายบุญของเราก็จะเพิ่มขึ้นไปตามลำดับๆ การอยู่ของเราก็จะมีผลมากมีอานิสงส์มาก ญาติโยมทั้งหลายที่มาทำบุญทำทานก็จะได้บุญใหญ่อานิสงส์ใหญ่เพราะว่าพวกเราทั้งหลายนั้นเป็นผู้ประกอบไปแล้วด้วยธรรม ยืนเดินนั่งนอนกินดื่มทำพูดคิดประกอบไปด้วยธรรมตลอดเวลา

          ครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็ขอให้เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ทุกขณะทุกอารมณ์ ถ้าเราปราศจากสติ ความโกรธ ความโลภ ความชอบ ความชัง ความอิจฉา ความริษยาต่างๆ มันก็เกิดขึ้นมา บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นไม่ควรที่จะห่างจากสติ ไม่ควรที่จะว่างจากสติ ควรจะยืนเดินนั่งนอนกินดื่มทำพูดคิดมีสติมีสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นหัวใจของกรรมฐาน เว้นไว้แต่เผลอหรือหลับถ้าเราเผลอก็แล้วไปถ้าเราหลับแล้วก็แล้วไป อันนี้ก็ขอประชาสัมพันธ์เป็นธรรมะเตือนให้คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายทั้งปวงตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายทั้งปวงได้มีสติ มีสัมปชัญญะ

          เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมก็คือการมีสติ มีสัมปชัญญะทันอาการยืน อาการเดิน อาการคู้ อาการเหยียด อาการนั่ง อาการนอน เราไม่ต้องกล่าวไปถึงฌานสมาบัติ เราไม่ต้องกล่าวไปถึงมรรคถึงผล เราไม่ต้องกล่าวไปถึงพระนิพพาน จุดเริ่มต้นก็คือการมีสติ การมีสัมปชัญญะทันปัจจุบันธรรมนี้เอง

          วันนี้ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลาก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายทั้งปวงได้ขยับขยายคลายอิริยาบถกำหนดออกเพื่อเตรียมตัวแผ่เมตตา.