พื้นฐานการปฏิบัติธรรม
(เทศน์ที่สถานปฏิบัติธรรมจอมทอง วันที่ ๑๘ พ.ค. ๕๖)
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองแม้ปรินิพพานไปนานแล้วพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ด้วยเศียรเกล้า ขอความสุขความสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ญาติโยมสาธุชนผู้สนใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมทุกท่านทุกคน ณ โอกาสบัดนี้
ก่อนอื่นที่คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายจะได้ฟังการกล่าวธรรมะ การฟังธรรมะ คณะครูบาอาจารย์ญาติโยมก็ได้ฟังมาหลายรูปแบบ แต่ละรูปแบบแต่ละครูบาอาจารย์ก็ถือว่าเป็นการกลั่นกรองเอาความรู้มาสู่ญาติสู่โยมเพิ่มพูนให้ญาติโยมนั้นเกิดสติ เกิดปัญญา เกิดความรู้
แต่ในค่ำคืนนี้ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายทั้งปวงนั้นได้เน้นกรรมฐาน เพราะกรรมฐานนั้นเป็นเรือนใจปกป้องคุ้มใจไม่ให้ใจของเรานั้นเกิดความทุกข์ เกิดความโศก เกิดความว้าเหว่ หรือเกิดความเดือดร้อนต่างๆ ฉะนั้นก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายได้นั่งสมาธิฟัง
การประพฤติปฏิบัติธรรมคณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมบางท่านบางคนก็อาจจะไม่เข้าใจว่าเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมทำไมหนอ เรามาเดินจงกรมนั่งภาวนาทำไมหนอ การเดินจงกรมนั่งภาวนามีคุณมีอานิสงส์อย่างไร คณะญาติโยมบางคน คณะครูบาอาจารย์บางรูปก็อาจจะไม่เข้าใจว่าการประพฤติวัตรปฏิบัติธรรมมีการเดินจงกรมการประพฤติปฏิบัติธรรมควบคู่กันไป มีประโยชน์อย่างไรหนอ บางรูปบางท่านอาจจะไม่เข้าใจ
ถ้าเราไม่เข้าใจในอานิสงส์ ในคุณ ในประโยชน์ของการประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วเราจะประพฤติปฏิบัติธรรมให้เข้มแข็งให้เด็ดเดี่ยวให้มุ่งมั่นให้เอาจริงเอาจังนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เพราะสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาด้วยจิตใจที่เชื่อในอานิสงส์ของการประพฤติปฏิบัติธรรม
การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นถือว่าเป็นบุญอันยิ่งใหญ่ ท่านกล่าวไว้ว่าบุคคลผู้มีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเป็นของหายาก วิปสฺสนาภาโว จ ทุลฺลโภ การที่เรามีโอกาสได้เจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นมันเป็นของหายากมาก เราเกิดกี่ภพกี่ชาติกี่กัปกี่กัลป์เราจึงจะมีโอกาสได้เจริญภาวนา
การเจริญภาวนานั้นท่านว่าผู้ใดเจริญวิปัสสนากรรมฐานชั่วช้างพัดหู งูแลบลิ้น ไก่ตบปีก ก็มีอานิสงส์ การที่บุคคลทำแค่นั้นแหละก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลนั้นถึงซึ่งพระนิพพาน การภาวนานั้นถึงเราจะภาวนาแค่นิดเดียวชั่วช้างมันพัดหูแวบหนึ่ง ชั่วไก่มันตบปีกแวบหนึ่ง ชั่วงูมันแลบลิ้นออกมานิดหนึ่ง ถ้าเราพูดให้เข้าใจง่ายก็ชั่วฟ้าแลบ
แต่ว่าการภาวนาของเรานั้นมีอานิสงส์ส่งให้เราถึงซึ่งพระนิพพาน เพราะฉะนั้นการภาวนานั้นจึงเป็นสิ่งที่เราต้องพยายามกระทำให้เกิดให้มี ถึงเราจะมาประพฤติปฏิบัติธรรมเรายังไม่สามารถที่จะทำให้เกิดวิปัสสนาญาณ ยังไม่สามารถยังการบรรลุมรรคผลนิพพานให้เกิดขึ้นในปัจจุบันแต่สิ่งที่เราทำในขณะนี้จะเป็นปัจจัย เป็นอุปนิสัยให้เราถึงซึ่งพระนิพพานพ้นไปจากความทุกข์ พ้นไปจากความโศก พ้นไปจากความโลภ พ้นไปจากความหลง พ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิดในห้วงมหรรณพภพสงสาร เป็นที่สุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิดก็เพราะอาศัยการประพฤติปฏิบัติธรรม
เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมของพวกเราทั้งหลายนั้นจึงถือว่าเป็นที่สุดของการกระทำ การกระทำงานอย่างอื่นจะเป็นการทำไร่ไถนาก็ถือว่าเป็นความประเสริฐของชาวนา ได้ข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ การค้าการขายก็ดี การรับราชการก็ดีก็ถือว่าเป็นการงานที่ดี เราทำสุจริตเราไม่ได้ไปคดไปโกง ไม่ได้ไปหลอกไปลวงไปต้มไปตุ๋น ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีเป็นการงานที่สะอาด เป็นการงานที่บริสุทธิ์
แต่ว่าการงานที่ประเสริฐที่สะอาดที่บริสุทธิ์มากกว่านั้นก็คือการประพฤติปฏิบัติธรรมชำระกายให้หมดจดจากบาป ชำระวาจาให้หมดจดจากบาป ชำระจิตให้ผ่องแผ้วจากบาปทั้งหลายทั้งปวง เป็นการงานอันสูงส่ง เป็นการงานที่มนุษย์และเทวดาทั้งหลายทั้งปวงนั้นเคารพสรรเสริญ
เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นจึงถือว่ามีอานิสงส์ล้นฟ้าล้นดิน ผู้ใดเกิดมาแล้วไม่ได้ประพฤติปฏิบัติธรรม ท่านกล่าวว่าบุคคลนั้นไม่ได้บำเพ็ญบารมีครบไตรเหตุ ไม่ได้บำเพ็ญบารมีที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นได้พ้นไปจากความลำบากลำบนทั้งหลายทั้งปวง
ท่านกล่าวว่าบุคคลใดเกิดขึ้นมาแล้วไม่ได้ภาวนาหรือว่าไม่เคยเจริญวิปัสสนากรรมฐานก็เหมือนบุคคลนั้นลงเรือไป เมื่อลงเรือไปแล้วก็ขี่เรือล่องไปตามแม่น้ำคดโค้งไปตามแควน้อยแควใหญ่ ล่องเรือไปๆ โดยที่ไม่มีจุดหมายปลายทางว่าเราจะถึงท่าไหนหนอ เราจะลง ความมุ่งหมายของเราจะสิ้นสุดลงที่ท่าไหน นี้เราไม่มีจุดมุ่งหมาย
เหมือนกับบุคคลผู้เกิดขึ้นมาแล้วไม่ได้ปรารถนาพระนิพพาน ไม่ได้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ทำบุญทำทาน ให้ทานรักษาศีลไหว้พระทำวัตรสวดมนต์ บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็จะส่งผลให้มาเกิดเป็นมนุษย์บ้าง บางชาติก็เกิดเป็นคนร่ำรวย บางชาติประมาทก็เกิดเป็นคนยากจนข้นแค้นอนาถา ถือกระเบื้องขอทานถือกะลาขอข้าวหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินอาบเหงื่อต่างน้ำ นอนกลางดินกินกลางหญ้ากินกลางทรายบ่าแบกหลังหนุนต่างๆ อันนี้เพราะอะไร เพราะบุคคลนั้นประมาทไม่ให้ทานแต่ภพก่อนชาติก่อน
แต่บางครั้งบางคราวเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เราประมาทเราอาจจะไปทำบาปกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อทำบาปกรรมแล้วเรานั้นก็อาจจะไปเกิดในนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ถ้าเราเกิดขึ้นมาเป็นคนตระหนี่ เราตระหนี่ที่ทางไม่ให้คนอื่นเขาเดินทาง เราไปสร้างรั้วป้องกันไว้ เวลาเรามีสระบ่อน้ำต่างๆ เราก็ไปล้อมรั้วไว้ไม่ให้สัตว์สาวาสิ่งลง ไม่ให้คนทั้งหลายทั้งปวงได้มาดื่มมากิน ตระหนี่แม้แต่น้ำตระหนี่แม้แต่หนทางไม่ให้คนเดิน ตายไปแล้วไปเกิดในนรก พ้นจากนรกขึ้นมาแล้วก็มาเกิดเป็นเปรต เวลาจะดื่มน้ำก็ไม่มีน้ำดื่มถูกไฟในท้องนั้นเผาไหม้ได้รับความเดือดร้อนทุรนทุรายอยู่ ถึงจะมีหนองน้ำอันใหญ่แม่น้ำอันกว้างขวางเวลาเปรตเหล่านั้นจะวิ่งลงไปดื่มน้ำ น้ำนั้นก็กลายเป็นทรายแล้วก็เป็นเถ้าเป็นไฟลุกไหม้เปรตทั้งหลายเหล่านั้น ผู้มีความตระหนี่ให้เกิดความทุกข์เกิดความทรมาน อันนี้เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะความตระหนี่ นี้ถ้าเราเกิดขึ้นมามีความตระหนี่แพบหนึ่งเท่านั้นแหละ เราก็พลาดโอกาสที่จะไปเกิดในมนุษย์ ในสวรรค์ เราก็ไปเกิดในนรก เป็นเปรต
หรือว่าเราเกิดขึ้นมาแล้วเราประมาทเราไปด่าพ่อด่าแม่ ไปเถียงพ่อเถียงแม่ ไปเถียงครูบาอาจารย์ ท่านกล่าวว่าทำให้แม่ลำบากใจหนึ่งครั้งเราต้องถูกคนอื่นทำให้เราลำบากใจร้อยครั้ง สองร้อยครั้ง สามร้อยครั้ง ห้าร้อยครั้ง เพราะอะไร เพราะแม่นั้นมีคุณมาก
ท่านอุปมาอุปไมยว่าแม่นั้นเปรียบเหมือนพระอรหันต์ของลูก พระอรหันต์นั้นมีจิตใจบริสุทธิ์ต่อคนทั้งหลายทั้งปวงฉันใด แม่ก็มีจิตใจบริสุทธิ์กับลูกทุกๆ คนฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าเราไปเถียงพ่อเถียงแม่ ทำให้น้ำตาตก ทำให้ท่านต้องร้องห่มร้องไห้ ทำให้ต้องเสียใจ เราก็จะต้องถูกคนอื่นทำให้เรานั้นเสียใจเป็นห้าร้อยครั้ง อันนี้ท่านกล่าวเชิงคุณบิดามารดานั้นล้นฟ้าล้นดิน นี้ถ้าเราไปทำให้ท่านไม่สบายใจครั้งหนึ่งบาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงก็จะทำให้เราเดือดร้อน
หรือว่าเรากระทำให้ท่านเสียอกเสียใจ เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมเดินจงกรมนั่งภาวนา เดินอย่างไรๆ จิตใจของเราก็ไม่เป็นสมาธิ เราตั้งใจว่าจะเดินจงกรมนั่งสมาธิให้ดี กำหนดให้ดี ภาวนาให้ดี แต่ขณะที่เรากำลังบริกรรมอยู่นั้นแหละ “พองหนอ ยุบหนอ” นั่นแหละอาการพองอาการยุบของเรามันก็ดิ่งลงๆ มือของเราก็แน่นเข้าตัวของเราก็เบาเข้า ความรู้สึกของเรามันละเอียดเข้าๆๆ กำลังจะดับอยู่พอดีนั้นแหละภาพของผู้ที่เป็นพ่อเป็นแม่ที่เราทำให้ท่านเสียใจปรากฏขึ้นมา คล้ายๆ กับว่าเป็นนิมิตปรากฏขึ้นมาก็มีน้ำตาท่านไหลออกมา สมาธิของเราก็คลายตัวออกเอง เพราะว่าจิตของเราไปยึดเอาภาพที่ปรากฏขึ้นมา แทนที่เราจะเข้าสมาธิได้จิตของเราก็คลายออกจากสมาธิ ถ้าเราประมาทในการที่เกิดขึ้นมาแล้ว เราเคยทำบาปกับบิดามารดาก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดบาปขึ้นมาได้
หรือว่าเราเกิดขึ้นมาแล้วเราไปฆ่าสัตว์ เราไปฆ่ากุ้ง ฆ่าหอย ฆ่าเป็ด ฆ่าไก่ ฆ่าวัว ฆ่าควาย ฆ่าปู ฆ่าปลาเป็นต้น กว่าที่เราจะเลี้ยงชีวิตใหญ่โตขึ้นมาถึงขนาดนี้ กว่าเราจะเลี้ยงลูกแต่ละคนให้เติบโต มีหน้ามีตาในสังคมนั้น เราเอาชีวิตของสัตว์อื่น ฆ่าเป็ด ฆ่าไก่ ฆ่าวัว ฆ่าควาย กุ้งหอยปูปลานั้นมากน้อยขนาดไหน ถือว่าเราฆ่ามามาก
ในสมันตปาสาทิกาท่านกล่าวไว้ว่า ถ้าเราฆ่าสัตว์ตัวเดียว เราก็ต้องถูกเขาฆ่าคืนตั้งห้าร้อยครั้ง แล้วเราก็ต้องถูกเขาฆ่าในลักษณะที่เราฆ่าเขา เราตัดคอเขาเราก็ต้องถูกเขาตัดคอคืน หรือตายในลักษณะที่เราตัดคอเขา หรือว่าเราทุบหัวเขาเราก็ต้องถูกเขาทุบหัวคืน หรือตายในลักษณะที่เราทุบหัวเขาอาจจะรถทับหรือว่าอาจจะถูกของมันหล่นทับหัว หรืออาจจะเดินไปแล้วลื่นล้มหัวน็อกพื้น ตายไปในลักษณะเหมือนกันกับที่เราเคยทำร้ายเขา นี้บาปกรรมมันตามเหมือนกับหมาไล่เนื้อ มันจะไล่ไปๆๆๆ ถ้ามันทันเมื่อไหร่มันก็กัดเราเมื่อนั้น
บาปกรรมที่เรากระทำในภพแล้วภพเล่าเรากระทำสั่งสมมา มันก็ติดตามเราเหมือนเงาติดตามตัว ถ้าบุญที่ให้ผลของเราอ่อนเมื่อไหร่บาปนั้นก็จะแทรกขึ้นมาทันที เหมือนกับเราร่างกายแข็งแรงอยู่ดีๆ ตอนเช้าก็ร่างกายแข็งแรง ตอนบ่ายก็ร่างกายแข็งแรง แต่ตอนค่ำมามันเป็นไข้ตัวร้อน คล้ายๆ สะบัดร้อนสะบัดหนาวในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าบาปมันให้ผลขึ้นมาในลักษณะอย่างนี้เหมือนกัน บาปที่คอยจะให้ผลเราก็คอยที่ไล่กัดเราอยู่ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้นให้เรานั้นหมั่นสร้างสมอบรมคุณงามความดี หมั่นสำรวมสติ สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ หมั่นให้ทาน หมั่นรักษาศีล หมั่นไหว้พระทำวัตรสวดมนต์ หมั่นเจริญภาวนา เพื่อที่จะปิดโอกาสไม่ให้บาปธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นแทรกขึ้นมาในจิตในใจ พยายามกั้นบาปธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ให้เข้ามาทางกาย วาจา ใจ โดยมีสติ สัมปชัญญะ
สติ เตสํ นิวารณํ สติเป็นทำนบป้องกันบาป ถ้าผู้ใดมีสติ บุคคลนั้นก็จะป้องกันบาปได้ เพราะฉะนั้นเราจึงมีการประพฤติปฏิบัติธรรม มีการเดินจงกรม มีการนั่งภาวนา อันนี้ถือว่าเป็นคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
การเดินจงกรม การนั่งภาวนา การประพฤติปฏิบัติธรรม อย่างน้อยๆ เราก็มีอานิสงส์คือพักผ่อนทางกาย ญาติโยมเหนื่อยในการทำไร่ไถนา เหนื่อยจากการทำสวน เหนื่อยในการค้าการขาย เหนื่อยในการประกอบอาชีพต่างๆ เราไม่ได้พักผ่อนกลางคืนเป็นควันกลางวันเป็นเปลว
กลางคืนเป็นควันนอนคิดว่าพรุ่งนี้เช้าเราจะทำอะไรหนอ เราไปค้าขายอย่างนี้มันจะได้ไหมหนอ ไปหาปลาหนองนี้มันจะได้ไหมหนอ เราไปค้าขายตลาดนัดบ้านนั้นเราไปกางตลาดนัดบ้านนี้เราจะได้กำไรมากน้อยไหมหนอ คนจะมากไหม ฝนมันจะตกหรือไม่ นี้กลางคืนเป็นควันกลางวันก็เป็นเปลว รีบขวนขวายตื่นแต่ดึกลุกแต่เช้ารีบจัดของ เตรียมหาของนั้นไปขายของตามที่ตนเองได้คิดไว้ เกิดความเหนื่อยยากลำบากลำบน เพื่อที่จะเลี้ยงชีวิตของตนเองและครอบครัวให้อยู่เย็นเป็นสุข
แต่เมื่อเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมเดินจงกรมนั่งภาวนาเราก็มีโอกาสพักผ่อนทางกาย เรามีโอกาสได้นุ่งผ้าสีขาวๆ นุ่งเสื้อสีขาวๆ เป็นภาพที่บริสุทธิ์ เป็นภาพที่น่าปลาบปลื้มใจ เป็นภาพที่คนทั้งหลายทั้งปวงนั้นไว้เนื้อเชื่อใจ เป็นภาพที่คนทั้งหลายทั้งปวงนั้นสรรเสริญ แม้แต่มนุษย์ แม้แต่เทวดา แม้แต่พรหมก็สรรเสริญ เพราะอะไรเพราะเป็นภาพที่บริสุทธิ์บริบูรณ์
เราได้พักผ่อนทางกายด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรม นอกจากเราจะได้พักผ่อนทางกายเวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วเรายังมีโอกาสได้รักษาศีล แต่ก่อนโน้นเรารักษาศีล ๕ บางครั้งก็รักษาได้บ้าง บางครั้งก็รักษาไม่ได้บ้าง บางครั้งเรารักษาศีล ๕ เวลาจะทำมาหากินมันก็ลำบากใจเหลือเกินบางครั้งต้องฆ่าสัตว์ บางครั้งก็ต้องพูดหลอกพูดปดพูดปิด พูดไม่ตรงกับความเป็นจริง เหมือนกับเราพูดโกหกโดยอัตโนมัติ ก็คล้ายๆ กับว่าเราทำศีลของเราถึงจะไม่ขาดมันก็ด่างถึงไม่ด่างมันก็พร้อยมันก็เศร้าหมอง อานิสงส์ของศีลมันก็น้อยลงไป
แต่เมื่อเรามาประพฤติปฏิบัติธรรม เรามาสมาทานศีล ๘ เรารักษาศีลของเรานั้นให้บริสุทธิ์ทั้ง ๕ ข้อ ทั้ง ๘ ข้อให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ อานิสงส์ของศีลนั้นก็เต็มเปี่ยม เมื่ออานิสงส์ของศีลเต็มเปี่ยมบุคคลผู้มารักษาศีลชั่วข้ามคืนก็มีอานิสงส์มากมาย บางครั้งบางคราวบุคคลผู้เกิดมา ๓๐ ปี ๔๐ ปี ๕๐ ปี ไม่เคยรักษาศีล ๘ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์เลยก็มี ไม่กล้าบวช เกรงกลัวศีล จะบวชยังไงจะอดข้าวเย็นยังไง อ่านหนังสือก็ไม่ได้ สวดมนต์ก็ไม่ได้ นั่งมันก็ปวดแข้งปวดขา จะไปอยู่กับท่านอย่างไรจะปฏิบัติธรรมอย่างไร นี้เรียกว่ากิเลสมารมันมาขัดขวาง
บางครั้งอายุล่วงเลยถึง ๔๐ ปี ๕๐ ปี ก็ไม่มีโอกาสได้รักษาศีล เพราะอะไร เพราะบุญยังไม่ส่งบารมียังไม่แก่กล้า เห็นศีลนั้นเป็นของน่ากลัว กลัวในสิ่งที่ไม่ควรกลัว เพราะอะไร เพราะบาปธรรมนั้นเป็นเครื่องกางกั้น
โบราณท่านกล่าวไว้ว่า หมาบ้ามันกลัวน้ำ คนมีกามนั้นกลัวธรรมะ หมาบ้ามันกลัวน้ำ เวลาหมามันเป็นบ้าเราจะสาดน้ำใส่มัน มันกลัววิ่งหนีกระเจิดกระเจิงไป คนมีกาม กามในที่นี้หมายความว่ามีความดำริในจิตในใจมีกามคุณ มีความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสนั้นมากเกินไป เป็นผู้ไม่คู่ควรแก่ธรรม เป็นผู้ห่างเหินจากธรรม ถึงจะอยู่ใกล้พระศาสนาขนาดไหนก็ตาม เป็นมัคคทายก เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของสงฆ์ก็ตาม ถึงขนาดนั้นก็ยังชื่อว่าห่างเหินจากพระศาสนา
ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในครั้งหนึ่งพระองค์ทรงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถึงบุคคลผู้จับชายสังฆาฏิของเราเดินตามหลังของเราตถาคต เดินไปตามเราตถาคตทุกก้าวย่าง แต่บุคคลนั้นเป็นผู้มีจิตใจละโมบ มีความติดใจในกามคุณอย่างแรงกล้า มีจิตผูกพยาบาท มีความดำริแห่งจิตที่ตั้งไว้ผิด เป็นผู้ไม่มีสติ เป็นผู้ไม่มีสัมปชัญญะ เป็นผู้ไม่สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถึงบุคคลนั้นจะจับผ้าสังฆาฏิเดินตามเราตถาคตทุกก้าวย่าง ผู้นั้นชื่อว่าไกลเราตถาคต แม้เราตถาคตก็ไกลจากภิกษุผู้เช่นนั้น เพราะเหตุไร เพราะภิกษุเหล่านั้นไม่เห็นธรรม ผู้ใดไม่เห็นธรรมผู้นั้นชื่อว่าไม่เห็นเรา ผู้ใดไม่เห็นเราผู้นั้นชื่อว่าไม่เห็นธรรม
นี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสอย่างนั้น ถึงจะจับชายสังฆาฏิของพระองค์เดินตามพระองค์อยู่ทุกขณะทุกย่างก้าว แต่เป็นผู้มีจิตคิดละโมบ คือมีความโลภมาก ความโลภนั้นทำให้จิตใจของบุคคลนั้นพ้นภาวะแห่งการรู้ธรรม เพราะจิตใจของบุคคลนั้นมีความอยากมากเกินไป
บุคคลนั้นจะพิจารณาว่าร่างกายของเราเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตานั้นพิจารณาไม่ได้ เพราะอะไร เพราะความอยากมันท่วมท้นจิตใจ มองไม่เห็นสรรพสิ่งนั้นเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา เห็นรถก็อยากได้ เห็นบ้านก็อยากได้ เห็นเขามีเงินมีทองก็อยากได้กับเขา ไม่รู้จักผ่อน ไม่รู้จักวาง ไม่รู้จักปล่อย ในลักษณะอย่างนี้ก็ไม่สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมได้
มาประพฤติปฏิบัติธรรมได้เพียงข้ามคืนก็คิดถึงแล้วว่า เรามาขนาดนี้ใครหนอจะดูแลทรัพย์สมบัติให้เรา เรามาแล้วแทนที่เราจะได้ ๕๐๐ บาทเรากลับไม่ได้ แทนที่เราจะได้ ๑,๐๐๐ บาทวันนี้เรากลับไม่ได้ เราสูญเสียประโยชน์ นี้เรียกว่ามีความละโมบมากเกินไปลืมคิดไปว่าเงินที่เราหามาได้เราตายจากโลกนี้ไปแล้วเราจะเอาเงินนั้นไปได้ไหม ทรัพย์สมบัติเราจะเอาไปได้สักอย่างไหม บ้านเราจะเอาไปอยู่ในปรโลกได้ไหม อย่าว่าแต่ทรัพย์สมบัติบ้านเลยแม้แต่พ่อแม่เราก็ยังไม่ไปกับเรา ญาติพี่น้องพวกพ้องทั้งหลายทั้งปวงก็ยังไม่ไปกับเรา เมียสุดที่รักของเราสามีสุดที่รักของเราแท้ๆ ก็ยังไม่ไปกับเรา แล้วเราจะเอาทรัพย์สมบัติเหล่านั้นไปกับเราได้อย่างไร
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า แม้แต่อัตภาพของเราก็ต้องเน่าเปื่อยต้องผุต้องพัง ไม่ต้องกล่าวว่าจะเอาทรัพย์สมบัติไปได้
เพราะฉะนั้นบุคคลผู้มีจิตละโมบก็เลยลืมนึกว่าเมื่อเราตายไปแล้วเราเอาอะไรไปไม่ได้ ก็มีแต่ความละโมบ มีแต่ความอยากได้ ลืมคิดไปว่าตายไปแล้วเอาอะไรไปไม่ได้ ทุกคนที่เกิดขึ้นมาแล้วล้วนบ่ายหน้าไปสู่ความตาย ไม่มีใครเลยสักคนที่รอดพ้นจากความตายไปได้ นี้ลืมคิด เพราะอะไร เพราะจิตละโมบ บุคคลเช่นนี้ย่อมห่างเหินจากพระสัทธรรม ย่อมห่างเหินไกลจากตถาคต ย่อมห่างเหินไกลจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แล้วพระองค์ก็ทรงตรัสว่าบุคคลผู้มีใจละโมบ แล้วก็เป็นผู้มีจิตพยาบาท ผู้ใดมีจิตพยาบาทเวลามาประพฤติปฏิบัติธรรม ครูบาอาจารย์เทศน์ก็ไม่พอใจ เพื่อนมากำหนด คณะครูบาอาจารย์มากำหนด องค์นี้กำหนดเร็วเกินไป กำหนดช้าเกินไป คนนี้กำหนดเสียงดังเกินไป คนนี้กำหนดไม่ถูก ยกก่อนย่างก่อนอะไรทำนองนี้ เกิดความหงุดหงิด เกิดความขุ่นเคือง เกิดความไม่สบายจิตสบายใจขึ้นมา เกิดความร้อนรุ่มกลุ้มใจขึ้นมาในลักษณะอย่างนี้เรียกว่า จิตเกิดความพยาบาท เกิดความโกรธ เกิดความผูกอาฆาตขึ้นมา
เวลาประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่ออกุศลกรรมเกิดขึ้นมนจิตใจในลักษณะอย่างนี้แล้วกุศลกรรมจะเกิดขึ้นในจิตในใจของเราได้อย่างไร
ท่านกล่าวไว้ว่าอกุศลกรรมนั้นก็เปรียบเสมือนกับความมืด เมื่อความมืดมีความสว่างจะมีได้อย่างไร เมื่อความสว่างคือกุศลกรรมคือธรรมะปรากฏขึ้นเมื่อไร อกุศลกรรมคือบาปธรรมทั้งหลายทั้งปวงในความมืดนั้นมันก็หายไป
เมื่อจิตใจของเราถูกพยาบาทคืออกุศลกรรมคือความมืดครอบงำบุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงก็เข้าสู่จิตสู่ใจของเราไม่ได้ เหมือนกับบุคคลผู้มัวเมาด้วยการดื่มสุรานั่นแหละ เวลาเมาเหล้าเราจะไปสอนไปเทศน์อย่างไรก็ไม่ฟัง ทำไมไม่ฟัง เพราะว่าจิตใจของบุคคลนั้นถูกความมืดคือความเมานั่นแหละครอบคลุมแล้ว เราจะแสดงเหตุแสดงผล เราจะไปพูดเรื่องสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ เราจะเอาบุคคลผู้แตกฉานในพระไตรปิฎกมากมายขนาดไหนก็ตาม เราจะไปเทศน์โปรดบุคคลผู้มีความมืดด้วยความเมาของสุรานั้นไม่ได้ เขาไม่มีเหตุไม่มีผล แสงสว่างแห่งธรรม ความสว่างแห่งปัญญาจะเกิดขึ้นในจิตใจของคนนั้นไม่ได้ อันนี้ก็เหมือนกัน
เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าจิตใจของเรานั้นเกิดความพยาบาท เราต้องพยายามกำหนด เรียกว่าเราห่างเหินจากธรรมแล้ว เราจะไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้
แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสว่า บุคคลเช่นนั้นก็ไกลจากพระองค์เหมือนกัน แล้วพระองค์ก็ทรงตรัสบอกว่า และบุคคลผู้ห่างไกลจากพระองค์อีกก็คือบุคคลผู้มีจิตติดใจอย่างแรงกล้าในกามคุณ คือบุคคลผู้ติดใจอย่างแรงกล้าในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในอารมณ์ที่มากระทบ นี้บุคคลผู้มีจิตใจติดใจอันแรงกล้าก็ไม่สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานได้
อย่างบุคคลผู้เป็นบัณเฑาะหรือเป็นกระเทย ตามธรรมดาบุคคลผู้เป็นบัณเฑาะหรือเป็นกระเทยนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าห้ามไม่ให้บวชในพระธรรมวินัย ห้ามไม่ให้บวชในพระพุทธศาสนา ถ้าอุปัชฌาย์ใดบวชบัณเฑาะหรือบวชกระเทยอุปัชฌาย์นั้นต้องอาบัติทุกกฎ ภิกษุที่นั่งหัตถบาสทั้งหลายทั้งปวงก็ต้องอาบัติด้วยกันเรียกว่าต้องอาบัติทุกกฎด้วยกัน
ท่านก็มาอธิบายขยายความว่าทำไมจึงไม่ให้บวชกระเทย ทำไมจึงไม่ให้บวชบัณเฑาะ ก็เพราะว่าบุคคลผู้เป็นกระเทยนั้นมีราคะแรงกล้า เวลาโกรธก็โกรธมากมีโทสะแรงกล้า เวลาหลงก็มีความลุ่มหลงมากเกินคนธรรมดามีโมหะมาก บุคคลเช่นนี้ไม่สามารถยังจิตให้สงบเป็นสมาธิได้ พรหมจรรย์ของเขาไม่สามารถทำที่สุด แล้วก็เป็นอันตรายต่อบุคคลผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกัน เป็นการก่อเหตุให้เกิดขึ้นในสงฆ์ เหมือนกับบุคคลผู้มีข้าศึกปลอมเข้าไปในกองทัพ ย่อมทำลายกองทัพนั้นให้แตกร้าวหรือว่าให้อ่อนกำลังลง
บัณเฑาะก็เหมือนกัน กระเทยก็เหมือนกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าบวชเข้ามาในธรรมวินัยก็เหมือนกับข้าศึกที่ปลอมเข้าไปในกองทัพได้ย่อมทำกองทัพนั้นให้อ่อนกำลังลง แล้วในที่สุดกองทัพนั้นก็หมดสมรรถภาพกลายเป็นกองทัพที่ไม่มีพลัง สงฆ์ก็เหมือนกันก็ย่อมอ่อนกำลังลง
การประพฤติปฏิบัติธรรมถ้าผู้ใดมีจิตมากไปด้วยราคะ มากไปด้วยโทสะ มากไปด้วยโมหะนั้นจึงเป็นผู้ไม่คู่ควรต่อการบรรลุธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านจึงให้เรามาประพฤติปฏิบัติธรรม เวลาเดินจงกรม เวลามันจะโกรธเราก็กำหนดที่ใจของเรานี้แหละ ตั้งสติลงไปที่หัวใจของเราที่ใต้หน้าอกด้านซ้ายมือของเรา กำหนดว่า “โกรธหนอๆ” เพื่อที่จะไม่ให้ความโกรธนั้นรุนแรง
ถ้าเราปล่อยให้ความโกรธนั้นรุนแรงเราก็จะโกรธตามจิตที่มันโกรธขึ้นมา เมื่อเราตามจิตที่มันโกรธบ่อยๆ ก็จะกลายเป็นความเคยชิน ความเคยชินก็จะกลายเป็นอุปนิสัย อุปนิสัยก็จะกลายเป็นสันดาน เป็นสันดร เป็นกิเลสนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของเรา แล้วเราก็จะเป็นคนชอบโกรธในลักษณะอย่างนั้นตามเราไปทุกภพทุกชาติทุกกัปทุกกัลป์
เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นท่านจึงให้เรากำหนดที่จิตของเรา “โกรธหนอๆ” “ไม่พอใจหนอๆ” อย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อเราประสบอารมณ์ที่ไม่ชอบใจขึ้นมา หรือว่าขณะที่เราประพฤติปฏิบัติธรรมเราเกิดราคะขึ้นมา ขณะที่เราเกิดราคะขึ้นมาเราต้องกำหนดลงไปที่ใจของเรา อะไรเป็นเหตุให้เกิดราคะ ตาเป็นเหตุให้เกิดราคะ หรือหูเป็นเหตุให้เกิดราคะ หรือจมูกเป็นเหตุให้เกิดราคะ หรือกายเป็นเหตุให้เกิดราคะ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ใจ เป็นมหาเหตุ มโนปุพฺพงฺคมา มโนธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นประธาน สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าผู้ใดมีใจผ่องใสแล้วความสุขย่อมติดตามบุคคลนั้นไปเหมือนกับเงาติดตามตัว แต่ถ้าผู้ใดมีจิตใจเศร้าหมองแล้ว ความทุกข์ย่อมติดตามบุคคลนั้นไปเหมือนล้อเกวียนหมุนไปตามรอยเท้าโค ตัวที่มีแอกคล้องคออยู่เดินไปทางไหนล้อเกวียนก็หมุนไป ความทุกข์ย่อมติดตามบุคคลนั้นไปเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นจิตนั้นจึงเป็นมหาเหตุ ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าเจตนานั้นเป็นตัวกรรม คนทั้งหลายทั้งปวงจะทำกรรมดีจะทำกรรมชั่วก็ล้วนแต่มีจิตนำพา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายนั้นถูกจิตชักจูงไป ถูกจิตลากไป ถูกจิตผลักดันไป
สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเป็นไปในอำนาจของจิต สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงนั้นไปสู่อำนาจของจิต คือ จิตนั้นเป็นตัวสร้าง เป็นตัวแต่ง เป็นตัวปรุง เป็นตัวสร้างเหตุทั้งหลายทั้งปวง ดังนั้นท่านจึงกล่าวว่าจิตเป็นนายกายเป็นบ่าว จิตเป็นผู้แต่งกายเป็นผู้กระทำ จิตเป็นคนสั่งกายเป็นคนกระทำ เราจะเดินจงกรม เราจะนั่งภาวนา เราจะหาของใส่บาตร อะไรเป็นตัวสั่งก็จิตนั้นแหละเป็นตัวสั่ง ทำดีก็จิตเป็นตัวสั่ง ทำบาปก็จิตเป็นตัวสั่ง ทำชั่วจิตก็เป็นตัวสั่ง เราจะพูดดีก็จิตสั่ง เราจะพูดไม่ดีก็จิตสั่ง เพราะฉะนั้นจิตนั้นจึงถือว่าเป็นนายกายของเรานั้นเป็นบ่าว
ถ้าเราไม่มาฝึกจิตแล้วเราจะเป็นคนดีได้อย่างไร เราไม่มาฝึกจิตแล้วเราจะมาควบคุมการกระทำความดีการกระทำความชั่วได้อย่างไร เมื่อจิตใจของเราติดหล่มคือกามคุณ ติดหล่มคือความยินดีในรูป ในเสียง ท่านก็อุปมาอุปไมยเหมือนกับช้างมันติดหล่ม ขึ้นจากหล่มไม่ได้ ก็เหมือนกับว่าจิตใจของเรานั้นจมอยู่ในความไม่ดี จมอยู่ในความยึดมั่นในรูปในเสียง ในกลิ่น ในรส แล้วเราจะเงยหน้าขึ้นสู่ศีล สู่สมาธิ สู่ปัญญา เราจะเงยหน้าขึ้นสู่พระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างไร เพราะว่าจิตใจของเราจมอยู่ในโคลนตม คือบาปธรรมทั้งหลายทั้งปวง
เวลาเห็นคณะครูบาอาจารย์ประพฤติปฏิบัติธรรมแทนที่เราจะอนุโมทนาด้วย เรากลับกลัวว่าเราทำไม่ได้ ท่านเดินจงกรมนั่งภาวนาตั้ง ๑ ชั่วโมง เดิน ๑ ชั่วโมง นั่ง ๑ ชั่วโมงใครจะทำได้ ใครจะทำไหว ไม่คิดว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงประพฤติปฏิบัติจนถึงกับสลบไปตั้ง ๒ ครั้ง ๓ ครั้งกว่าที่พระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
ในครั้งหนึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงทำทุกรกิริยา คือทรมานตนเองโดย ๓ วาระ วาระแรกพระองค์ทรงอดพระกระยาหาร อดอาหารอดไปๆ นับตั้งแต่ทานข้าววันละ ๗ คำ แล้วก็ลดลงไปวันนี้ฉัน ๗ คำ พรุ่งนี้ฉัน ๖ คำ มะรืนนี้ฉัน ๕ คำ ไล่ไปๆ จนฉันคำเดียวต่อวัน แล้วก็งดไม่ฉัน พระองค์ทรงทรมานร่างกายถึงขนาดนั้น หรือว่าพระองค์ทรงกลั้นลมหายใจเข้าออก กดพระทนต์ด้วยพระทนต์ แล้วก็กดพระตาลุด้วยพระชิวหาเอาลิ้นกดเพดานจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้หูอื้อให้เหงื่อไหลออกจากพระกัจฉาของพระองค์ ทำให้พระองค์นั้นถึงกับสลบไปจนเทวดาตนหนึ่งเห็นเจ้าชายสิทธัตถะซึ่งเป็นมหาโพธิสัตว์ เป็นหน่อเนื้อแห่งพุทธางกูรที่จะได้ตรัสรู้ในอนาคตกาลข้างหน้าได้สลบก็หายแวบไปปรากฏในห้องบรรทมของพระเจ้าสุทโธทนะว่าโอรสของพระองค์นั้นได้ถึงแก่ความตายแล้ว ได้สวรรคตแล้ว
พระเจ้าสุทโธทนะนั้นไม่เชื่อเพราะเชื่อในบุญญาธิการของพระโพธิสัตว์ว่า ถ้าไม่ได้ตรัสรู้แล้วจะไม่ถึงซึ่งการสวรรคตจะไม่ตาย แม้แต่คำของเทวดาไปกล่าวก็ไม่เชื่อ บุคคลผู้มีบุญเป็นไปในลักษณะอย่างนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงทรมานร่างกายจนสลบไสลไปตั้ง ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง กว่าที่จะได้ตรัสรู้
พวกเราทั้งหลายที่มาประพฤติปฏิบัติเดินจงกรม ๑ ชั่วโมงก็หันหน้าหันหลัง เดิน ๑ ชั่วโมงก็คิดถึงลูกถึงหลานแล้ว แล้วเราจะพ้นไปจากความทุกข์ได้อย่างไร พวกเราทั้งหลายเกิดขึ้นมามีใครบ้างที่จะกล่าวว่าเราไม่มีทุกข์ ว่าดิฉันไม่มีทุกข์ กระผมไม่มีทุกข์ ไม่มีใครเลยที่สามารถที่จะกล่าวขึ้นมาด้วยความองอาจกล้าหาญว่า ข้าพเจ้าไม่มีทุกข์ นี้ไม่มีเลย เพราะอะไร เพราะทุกคนที่เกิดขึ้นมานั้น ล้วนมีความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น เพราะอะไร เพราะคนทั้งหลายทั้งปวงนั้นตกอยู่ในอำนาจของกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด มีใครที่กล้าว่า ข้าพเจ้าไม่มีกิเลสเลย ไม่มีราคะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ไม่มีมานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทานอันเป็นเชื้อแห่งความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ไม่มีใครกล้าพูดอย่างนั้น เมื่อไม่มีใครกล้าพูดอย่างนั้นก็ทุกคนก็ต้องมีเชื้อแห่งความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น
บางคนก็ยืนเป็นทุกข์ บางคนก็นั่งเป็นทุกข์ คนทั้งหลายทั้งปวงบางคนก็ทุกข์เพราะลูก ทุกข์เพราะลูกไปเล่นการพนัน ทุกข์เพราะลูกไม่เคารพพ่อแม่ ทุกข์เพราะลูกเสพยาเสพติด ทุกข์เพราะลูกไม่ดีไม่สวยไม่งามอะไรต่างๆ บางคนก็ทุกข์เพราะภรรยา ภรรยาประพฤติไม่ดีไปเล่นการพนันสามีบอกก็ไม่ฟังเงินหามาได้เท่าไรก็หมดไป บางคนก็ทุกข์เพราะสามีไปกินเหล้าเมายา หาเงินมาแล้วกินเหล้าเมายา ชวนทะเลาะเบาะแว้ง ทุบตีภรรยา ทุบข้าวทุบของอะไรต่างๆ ลูกที่อยู่ด้วยก็อยู่ไม่เป็นสุข ก็เกิดความทุกข์
บางครั้งบางคราวทุกข์เพราะลูกตาย ลูกตายไปกว่าที่จะเลี้ยงมาได้ เลี้ยงมาด้วยความทะนุถนอมอยู่ดีๆ ตายไป ทุกข์เพราะลูกตายก็มี บางครั้งก็ทุกข์เพราะเป็นโรคเป็นภัยเพราะบาปกรรมที่เราทำ บาปไหนที่เราทำมันเป็นบาปเป็นกรรมมากบาปนั้นมันจะทรมานเรา บางครั้งมันอาจจะไม่ปลิดชีวิตของเราไปโดยทีเดียว มันอาจจะไม่ทำให้เราตายเลยทีเดียว แต่มันทำให้เราค่อยๆ ตาย ทำให้เรานั้นต้องเจ็บป่วย บางครั้งเป็นโรคเบาหวานต้องตัดแข้งตัดขา บางครั้งก็เป็นโรคตับต้องเสียเงินเสียทองขายไร่ขายนา เงินที่เราโกงเงินที่เรายักยอกไปหมดสิ้นสูญสลายไป บางครั้งทรัพย์สินทั้งหลายทั้งปวงต้องขาย บางครั้งขายหมดแล้วตายไปเลยก็มีในลักษณะอย่างนั้น เพราะอะไร เพราะบาปกรรมทั้งหลายทั้งปวง
ถ้าผู้ใดทำบาปแล้วอย่าหวังเลยว่าจะมีความสุข จะอยู่ในสถานที่อย่างไรๆ ก็ไม่มีความสุข ถึงจะมีเงินเป็นร้อยล้าน จะมีเงินเป็นพันล้าน ถ้าบุคคลใดทำบาปแล้วอย่าหวังเลยว่าจะมีความสุข เพราะอะไร เพราะบาปนั้นเป็นเหตุแห่งความทุกข์ บุญเป็นเหตุแห่งความสุข
ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่ากลัวบุญเลย เพราะว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายมาฝึกจิต เรียกว่ามาฝึกจิตใจของเรา ไม่ให้จิตใจของเราเกิดความพยาบาท ไม่ให้จิตใจของเราติดอยู่ในราคะ โทสะ โมหะมากเกินไป สิ่งไหนที่ทำให้เรานั้นหลงมากที่สุด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า สิ่งที่เป็นที่รักทำให้เรานั้นหลงที่สุด สิ่งที่น่าใคร่ทำให้เราหลงที่สุด สิ่งที่ทำให้เราพอใจเป็นสิ่งที่ทำให้เราหลงที่สุด อะไรเป็นสิ่งที่น่ารัก อะไรเป็นสิ่งที่น่าใคร่ อะไรเป็นสิ่งที่น่าพอใจ
นี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสขยายความต่อไปอีกว่า สิ่งที่เป็นที่น่ารัก สิ่งที่เป็นที่น่าใคร่ สิ่งที่น่าพอใจนั้นก็คือรูป รูปนั้นเป็นสิ่งที่น่ารัก เป็นสิ่งที่น่าใคร่ น่าพอใจ สรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ทั้งมนุษย์และเทวดาก็หลงอยู่ที่รูปนี้แหละ เทวดาก็หลงในรูปทิพย์ หลงในนางอัปสรต่างๆ ว่ามีความสวย มีเท้าดังนกพิราบ มีผิวพรรณเหมือนกับทองคำ มีหน้าเหมือนกับดวงจันทร์ สว่างไสวผ่องใสสวยงามเย็นใจอะไรทำนองนี้ เรียกว่ามีความหลงในรูป มีความหลงในเสียง
เสียงนั้นก็เป็นสิ่งที่น่ารัก น่าใคร่ น่าพอใจที่สุด คนทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นมาแล้วหลงอยู่ที่รูป หลงอยู่ที่เสียง หลงอยู่ที่กลิ่น หลงอยู่ที่รส หลงอยู่ที่สัมผัส ได้สัมผัสสิ่งที่ชอบใจแล้วก็เกิดความพอใจหมกมุ่นมัวเมาหลงใหลในลักษณะอย่างนั้น เพราะฉะนั้นหลวงพ่อพุทธทาสท่านจึงกล่าวว่า คนบ้าหอบฟางคิดว่าฟางนั้นเป็นของมีค่า คิดว่าฟางนั้นเป็นของมีราคา คิดว่าฟางนั้นเป็นของประเสริฐ แต่ที่ไหนได้ฟางนั้นไม่มีค่าไม่มีราคา ขายก็ไม่ได้กี่บาท
อันนี้ก็เหมือนกันพวกเราก็หลงอยู่ในรูป หลงอยู่ในเสียง หลงอยู่ในรส หลงอยู่ในกลิ่น หลงอยู่ในสัมผัส หลงอยู่ในธรรมารมณ์ว่าเป็นของมีค่า แต่ที่ไหนได้สิ่งเหล่านั้นย่อมก่อให้เกิดทุกข์ ก่อให้เกิดเวร ก่อให้เกิดภัยขึ้นมา เพราะฉะนั้นท่านจึงให้เรานั้นผ่อนกำหนด
เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรม เราเห็นรูปท่านก็ให้เรากำหนด “เห็นหนอๆ” เราได้ยินเสียงท่านก็ให้กำหนดว่า “ได้ยินหนอๆ” ไม่ใช่ว่าครูบาอาจารย์โมเมแล้วก็ต้องทำให้เราลำบากไม่ใช่ อันนั้นเป็นหนทางแห่งการประพฤติปฏิบัติ เรากำหนดเหมือนมันลำบาก แต่พอเรากำหนดได้มันมีความสบายอย่างมาก เวลาเรากำหนดมันลำบากเหลือเกิน เวลาจิตของเราเกิดความโกรธก็ต้องกำหนดจิต เวลาตายก็ต้องกำหนด เห็นรูปก็ต้องกำหนด เวลาหูได้ยินเสียงเราก็กำหนด นี้พอเรากำหนดแล้วเหมือนมันจะลำบาก แต่เมื่อเรากำหนดได้แล้วนี้มันแสนสบาย
เมื่อจิตใจของเราไม่ยึดมั่นในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในอารมณ์นั้นจิตมันสบายมันเป็นอิสระ ความเป็นอิสระนั้นเป็นพระราชา แปลว่าผู้เป็นใหญ่ ความเป็นใหญ่นั้นคืออิสระ แต่ถ้าเรามีความเป็นอิสระแห่งจิต มีความเป็นอิสระแห่งรูปแห่งเสียงกลิ่นรสนั้นเราเป็นพระราชามันมีความสบาย มีความสะดวก มีความว่าง มีความปลอดโปร่ง เป็นสิ่งที่เราไม่เคยเจอมาก่อน นี้ถ้าเรากำหนดบทพระกรรมฐานจนจิตของเราอยู่ในอารมณ์อันว่างเปล่ามันจะเป็นอย่างนั้น คล้ายๆ กับว่าในโลกนี้มีเราคนเดียว มีความสุขมีความสบาย
การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นท่านให้เรากำหนด เราลำบากเมื่อหนุ่มดีกว่ากลุ้มใจตอนแก่ เราลำบากในขณะที่ยังหนุ่มๆ ประพฤติปฏิบัติธรรมในขณะที่ผมยังดำ ร่างกายยังแข็งแรงนี้ถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่สุด
เหมือนกับพระเจ้าโกรัพยะหรือว่าพระเจ้าโกรพที่เข้าไปถามพระรัฐบาล พระรัฐบาลนั้นเป็นลูกของเศรษฐีมีรูปร่างหน้าตาก็หล่อเหลาเอาการมีผมดำ มีวัยอันเป็นหนุ่มอยู่ บวชเมื่อหนุ่มอายุเพิ่งยี่สิบกว่าปีแล้วก็มีความร่ำรวยถึงกับเป็นเศรษฐีในพระนครแต่ออกบวช ทรัพย์สมบัติกองพะเนินเทินทึก คฤหาสน์บ้านช่อง ภรรยาสนมกำนัลมากมายแต่ก็ออกบวช ก็ทำให้พระเจ้าโกรัพยะนั้นเกิดความสงสัย
วันหนึ่งพระรัฐบาลไปบวชแล้วฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์มาประทับที่อุทยานของพระเจ้าโกรัพยะ พระเจ้าโกรัพยะนั้นก็ไปพบกับพระรัฐบาล แล้วก็ถามว่า ทำไมท่านถึงบวชตอนเป็นหนุ่ม ทำไมท่านไม่ไปเสพทรัพย์สมบัติที่ท่านมีอยู่ ทำไมไม่แสวงหาความสุขจากสิ่งที่ท่านมีเสียก่อน แก่แล้วจึงบวช ข้าพเจ้าเข้าใจว่าคนที่บวชนั้นเป็นคนแก่จึงเข้ามาบวชในพุทธศาสนา
บุคคลที่เข้ามาบวชในพระศาสนานอกจากจะเป็นคนแก่แล้วข้าพเจ้าว่าคนนั้นเป็นคนมีโรคภัยไข้เจ็บจึงมาบวชในพระพุทธศาสนา
แล้วก็ข้าพเจ้าเข้าใจว่าคนที่มาบวชในพระศาสนานั้นเป็นคนไร้ญาติขาดมิตร ไม่มีที่พึ่งจึงเข้ามาอาศัยพระพุทธศาสนา
แล้วข้าพเจ้าเข้าใจว่าบุคคลผู้มาบวชในพระศาสนานั้นเป็นคนมีโรคภัยไข้เจ็บ พิกลพิการช่วยเหลือตนเองไม่ได้จึงมาบวชในพระพุทธศาสนา
พระเจ้าโกรพก็พรรณนาต่างๆ นาๆ ว่าคนที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาตามที่พูดมาคือไม่ดีทั้งนั้น คือเป็นคนเดนของสังคม เป็นคนที่หมดอาลัยตายอยากแล้วไม่มีที่พึ่งแล้วอะไรทำนองนี้ พระเจ้าโกรัพยะคิดว่าคนที่จะมาบวชนั้นเป็นคนสิ้นอนาคตแล้วเป็นคนหมดอนาคตแล้ว
แต่พระรัฐบาลนั้นกล่าวกับพระเจ้าโกรัพยะว่า ที่ท่านได้บวชมาในพุทธศาสนานั้นก็เพราะว่าท่านได้ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็เกิดศรัทธา เกิดความเลื่อมใส แล้วก็ออกบวช ธรรมที่ท่านได้ฟังชื่อว่า ธรรมุเทศ ๔ ประการ ว่า
๑. โลกคือหมู่สัตว์ อันชรานำเข้าไปใกล้ไม่ยั่งยืน
๒. โลกคือหมู่สัตว์ ไม่มีผู้ป้องกัน ไม่เป็นใหญ่เฉพาะตน
๓. โลกคือหมู่สัตว์ไม่มีอะไรเป็นของของตน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป
๔. โลกคือหมู่สัตว์ พร่องอยู่เป็นนิจ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา
พระรัฐบาลได้ฟังธรรมุเทศ ๔ ข้อว่า โลกคือหมู่สัตว์ อันชรานำเข้าไปใกล้ไม่ยั่งยืน ทุกคนนั้นถูกชรานั้นกลืนกินทุกวันๆ ตื่นเช้ามาเราก็ต้องแก่ไปทุกวันๆ วันมันผ่านไปเราก็แก่ไป เดือนผ่านไปเราก็แก่ไปเป็นปีผ่านไปเราก็แก่ไปเป็นปี ใกล้ไปสู่ความตายไปทุกขณะๆ
เหมือนกับเราจูงวัวจูงควายไปสู่โรงฆ่าสัตว์ ขณะที่เท้าวัวเท้าควายมันผ่านไปแต่ละก้าวๆ ไปทุกทีๆ ขณะที่มันใกล้โรงฆ่าสัตว์ไปทุกที ความตายนั้นก็ใกล้เข้าชีวิตของวัวนั้นทุกทีๆ เมื่อไปถึงโรงฆ่าสัตว์นายเพชฌฆาตก็ต้องฆ่าวัวฆ่าควายนั้น แร่เนื้อออกไปเป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่แล้วก็ส่งไปขายตามทางสามแพร่งสี่แพร่ง คนทั้งหลายก็นำไปประกอบอาหาร ไปซื้อไปทานกัน ความตายมันใกล้เข้ามาทุกขณะๆ อันชรานำเข้าไปใกล้ไม่ยั่งยืน
โลกคือหมู่สัตว์ไม่มีผู้ป้องกัน ไม่เป็นใหญ่เฉพาะตน โลกคือหมู่สัตว์ไม่มีผู้ป้องกัน ไม่มีใครสามารถป้องกันความเจ็บ เมื่อความเจ็บความป่วยเกิดขึ้นมาแล้วเราต้องเจ็บต้องป่วย ไม่ป่วยอย่างใดก็ป่วยอย่างหนึ่ง ไม่มีใครสามารถป้องกันความแก่ ไม่มีใครสามารถป้องกันความโศก ความโลภ ความหลงได้ ไม่มีใครป้องกันความตายได้ ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติธรรมไม่สามารถป้องกันสิ่งเหล่านี้ได้
โลกคือหมู่สัตว์ไม่มีผู้ป้องกันไม่เป็นใหญ่เฉพาะตน เราก็ไม่เป็นใหญ่ เราคิดว่าเราเป็นใหญ่ในตัวของเรา ถ้าเราเป็นใหญ่ในตัวของเรา เราห้ามสิ ห้ามไม่ให้เราแก่ลองดูสิเราจะห้ามได้ไหม เราจะห้ามไม่ให้ตาของเรานั้นฝ้าฟางเราห้ามได้ไหม ห้ามไม่ให้หูของเราตึงเราห้ามได้ไหม ห้ามไม่ให้ร่างกายของเรามีหนังเหี่ยวย่นเราห้ามได้ไหม ห้ามไม่ให้ร่างกายของเรามันสั่นเทิ้ม หลังโค้ง หลังงอ เหมือนกลอนเรือนนี้เราห้ามได้ไหม เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า โลกคือหมู่สัตว์ ไม่มีผู้ป้องกัน ไม่เป็นใหญ่เฉพาะตน
โลกคือหมู่สัตว์ไม่มีอะไรเป็นของของตน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป สิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่เรากำลังแสวงหาอยู่ สิ่งที่เรากำลังชื่นชมอยู่ทุกวันนี้ ไม่มีอะไรเลยเป็นของของเรา แม้บุตรแม้ภรรยาแม้ลูกแม้หลานแม้บ้านแม้ช่องแม้เรือกสวนไร่นาที่ดินที่ดอนต่างๆ ไม่มีอะไรเป็นของของตน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป ท่านกล่าวว่าแม้คนขอทานก็ต้องละทิ้งกระเบื้องขอทาน ชาวนาก็ต้องทิ้งจอบทิ้งเสียม พระราชาก็ต้องทิ้งมงกุฎทิ้งบัลลังก์ทิ้งปราสาทมณเฑียรบาลทั้งหลายทั้งปวง สมณะก็ต้องทิ้งบาตรทิ้งจีวร ไปแต่ตัวเปล่า ไปแต่คุณงามความดี เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรเป็นของของตนจำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป
โลกคือหมู่สัตว์พร่องอยู่เป็นนิจ ไม่รู้จักอิ่มเป็นทาสแห่งตัณหา คือโลกของเรานั้นไม่มีอะไรจะเต็ม นตฺถิ ตณฺหาสมา นที แม่น้ำเสมอด้วยตัณหานั้นไม่มี แม่น้ำโขง แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำปิงวังยมน่านอะไรต่างๆ ก็ตามยังมีฤดูแล้งฤดูฝน พอฤดูฝนน้ำก็เต็มตลิ่ง แต่พอถึงเดือนอ้ายเดือนยี่น้ำมันก็เริ่มลดน้อยถอยลงไป เมื่อถึงเดือนสี่เดือนห้าน้ำมันก็แห้งลงไป แม่น้ำต่างๆ มันก็ยังมีเวลาขึ้นเวลาลง แต่แม่น้ำคือตัณหานั้นไม่มีเวลายุบลง กลางคืนมันก็เต็มอย่างนี้แหละมีตัณหาอย่างนี้ กลางวันมันก็เต็มอยู่อย่างนี้แหละ ฤดูหนาวฤดูร้อนมันก็เต็มอย่างนี้แหละ เดือนอ้ายเดือนยี่เดือนสี่เดือนห้ามันก็เต็มอยู่อย่างนี้แหละ เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า โลกคือหมู่สัตว์ พร่องอยู่เป็นนิจ ไม่รู้จักอิ่มเป็นทาสแห่งตัณหา พวกเราจึงมีการประพฤติปฏิบัติธรรม
ก็ขอให้พวกเราทั้งหลายได้ขยันขันแข็งในการประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อเรานั้นจะพ้นไปจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ถือว่าเป็นอุบายในการฝึกจิต ถ้าผู้ใดฝึกจิตได้แล้วผู้นั้นจะพ้นจากบ่วงแห่งมาร ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา ชนเหล่าใดจักสำรวมจิต ชนเหล่านั้นจักพ้นจากบ่วงแห่งมารได้
วันนี้อาตมภาพก็ได้กล่าวธรรมก็ไม่มากไม่น้อยไม่สั้นไม่ยาวก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ในท้ายที่สุดนี้ด้วยอานุภาพแห่งคุณงามความดี ที่คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้บำเพ็ญมาดีแล้วก็ดี ด้วยอานุภาพแห่งคุณงามความดีที่พระสงฆ์สามเณรอาจารย์กรรมได้บำเพ็ญมาดีแล้วก็ดี ก็ขอให้บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงจงได้มารวมกันเป็นตบะเป็นเดชะ เป็นพลวปัจจัยส่งเสริมให้คณะครูบาอาจารย์ญาติโยมที่มารวมกันอยู่บนพิธีแห่งนี้จงประสบแต่สิ่งที่เป็นมิ่งมงคลสมบูรณ์พูนผลในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ขอให้เงินไหลนองขอให้ทองไหลมาขอให้การค้าการขายเจริญก้าวหน้า ขอให้มีสุขภาพพลานามัยเข้มแข็งปราศจากโรคปราศจากเวรปราศจากภัยปราศจากเคราะห์เสนียดจัญไรทั้งหลายทั้งปวง ขอให้มีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติธรรมนำตนให้พ้นไปจากความทุกข์ ถึงสันติสุขกล่าวคือมรรคผลนิพพานในอนาคตกาลอันไม่ช้าไม่นานนี้ด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.