บาปเป็นเหตุแห่งทุกข์

บาปเป็นเหตุแห่งทุกข์

(เทศน์ที่วัดพิชโสภาราม วันที่ ๑๒ ก.ค. ๕๖)

          ต่อไปก็เป็นชั่วโมงภาวนาก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายได้พยายามทำจิตทำใจให้สงบ พยายามสลัดความง่วงเหงาหาวนอน พยายามทำจิตใจให้แช่มชื่น ให้เบิกบาน ทำจิตให้ร่าเริง เพราะถ้าจิตของเราแช่มชื่น ร่าเริง เบิกบานในวันใด วันนั้นเราส่วนมากได้สมาธิในวันนั้นๆ ถ้าวันไหนจิตใจของเรามันเซื่องซึมท้อถอยท้อแท้ฟุ้งซ่านรำคาญหงุดหงิดต่างๆ ในวันนั้นส่วนมากไม่ค่อยได้สมาธิ ส่วนมากก็จะกำหนดบทพระกรรมฐานไม่ทันปัจจุบันธรรม

          แต่ถ้าวันไหนจิตใจของเราร่าเริงเบิกบานแช่มชื่นปลอดโปร่ง จิตใจไม่มีความกังวล ไม่มีความปรุงแต่งฟุ้งซ่านในวันนั้นเราควรปรารภความเพียร เราควรเร่งความเพียรของเราให้ยิ่งขึ้นไป เพราะว่าในวันนั้นๆ ส่วนมากจะสามารถยังจิตของตนให้สงบเป็นทุติยฌาน ตติยฌาน สงบเป็นสมาธิ สมาบัติได้

          การที่พวกเราทั้งหลายมาทำความสงบ ก็ขอให้พวกเราทั้งหลายนั้นจงทำจิตทำใจของเราให้ร่าเริงเบิกบาน เพราะว่าสิ่งที่เป็นความร่าเริงเบิกบานภายในจิตใจปลอดโปร่งนั้นเป็นบุญเป็นกุศล ส่วนที่จิตใจท้อถอยท้อแท้อ่อนแอมีความง่วงเหงาหาวนอนสิ่งเหล่านี้เป็นโมหะ สิ่งเหล่านี้เป็นอกุศลธรรม เป็นอกุศลจิตเป็นจิตที่ไม่เป็นบุญไม่เป็นกุศล

          เพราะฉะนั้นก็ขอให้พวกเราทั้งหลายได้สลัดความง่วงเหงาหาวนอน ก็คิดเสียเถิดว่าการที่พวกเราทั้งหลายได้เกิดมาทั้งที่เป็นพระก็ดีเป็นโยมก็ดี พวกเราทั้งหลายนั้นก็ต่างดำรงวิถีชีวิตตามกัน ญาติโยมที่เกิดขึ้นมาก็อาจจะมีครอบครัว อาจจะทำไร่ไถนา อาจจะค้าขาย อาจจะรับราชการต่างๆ อันนี้ก็ถือว่าวิถีชีวิตของแต่ละคนแต่ละท่านนั้นต่างกัน

          ส่วนคณะครูบาอาจารย์ สามเณร แม่ชีที่ได้สละบ้านสละเรือน สละครอบครัว สละรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสอารมณ์ต่างๆ เข้ามาบวชในพระธรรมวินัย ก็ดำรงวิถีชีวิตไปตามเยี่ยงอย่างของสมณะ เพราะฉะนั้นพวกเราทั้งหลายมีวิถีชีวิตดำรงต่างกัน แต่เป้าหมายของพวกเราทั้งหลายก็คือความสุขพ้นไปจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง

          คือคนทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นมาจะเป็นพระ เป็นเถร เป็นเณร เป็นชี เป็นญาติ เป็นโยม อุบาสก อุบาสิกา ก็ล้วนแต่รังเกียจความทุกข์ปรารถนาความสุขอยากจะพ้นไปจากความทุกข์ในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ อันนี้เป็นปกติวิสัยของสัตว์โลกที่เกิดขึ้นมาแล้วก็ปรารถนาที่จะพ้นไปจากความทุกข์ แต่ความทุกข์นั้นมันเกิดขึ้นเพราะเหตุอะไร คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทุกท่านลองคิดดูซิว่า ความทุกข์ที่มันเกิดขึ้นท่วมทับร่างกายและจิตใจของเรานั้นให้หม่นหมอง ให้เศร้าหมอง ให้ทุกข์ระทมจิตใจนั้นมันเกิดขึ้นมาจากอะไร

          ความทุกข์ทั้งหมดทั้งปวงจะเป็นความทุกข์ทางกายก็ดี จะเป็นความทุกข์ทางวาจาก็ดี จะเป็นความทุกข์ทางใจก็ดี เป็นความทุกข์ที่เคยมีมาแล้วในอดีตก็ดี เป็นความทุกข์ที่จะมีในอนาคตก็ดี แล้วจะมีไปเรื่อยๆ นั้น ความทุกข์เหล่านั้นมันมีสาเหตุเพราะอะไร คณะครูบาอาจารย์ญาติโยมลองพิจารณาดูซิว่ามันเกิดขึ้นมาเพราะอะไร

          ความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวนามมาแล้ว ที่เป็นอดีตก็ดี ความทุกข์ที่เป็นปัจจุบันนี้ก็ดี ความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับเรานี้ก็ดี สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นเกิดขึ้นมาจากบาป บาปทำให้เกิดความทุกข์ จะเป็นทุกข์น้อยทุกข์ใหญ่ทุกข์ปานกลางหรือทุกข์ปางตายหรือว่าทุกข์จนสิ้นชีพดับขันธ์ไป ตายไปก็เพราะบาปกรรมทั้งหลายทั้งปวง

          ให้เราพิจารณาดูว่าทำไมเราเกิดมายากจนก็เพราะว่าบาปกรรม เราเกิดมายากจนก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเกิดความทุกข์ เมื่อเราเกิดความทุกข์ ความทุกข์นี้มันมาจากไหนก็มาจากบาปกรรมคือความตระหนี่ ความมัจฉริยะ ความไม่รู้จักเกื้อกูล ความไม่รู้จักสงสาร ความไม่รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เกิดมาชาตินี้ก็ไม่มีคนสงสาร ไม่มีคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทำมาหากินก็ไม่ขึ้น ไปค้าไปขายก็ไม่เจริญรุ่งเรืองเพราะบาปกรรมในภพก่อนโน้นมันให้ผล

          ส่วนที่ความทุกข์มันปรากฏในปัจจุบันนี้เป็นปลายเหตุ เป็นดอกเป็นผลของบาปไม่ใช่ว่าเป็นเหตุแห่งบาปเราจึงเกิดมายากจนข้นแค้นอนาถาต้องถือกระเบื้องขอทาน ต้องถือกะลาขอข้าวต้องหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินอาบเหงื่อต่างน้ำนอนกลางดินกินกลางทรายต่างๆ เพราะอะไร ก็เพราะว่าเราเป็นคนตระหนี่มาแต่ก่อน

          เมื่อเราเกิดมาภพนี้ชาตินี้ทำไมบางท่านบางคนจึงเป็นคนแขนขาดขาขาด บางท่านบางคนก็เป็นโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน หาเงินหาทองมาเท่าไรก็ไม่พอ ไปแต่โรงพยาบาลใช้ค่ายารักษาแต่ตัวเองก็ยังจะไม่รอด อันนี้เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะบาปกรรม แต่ก่อนโน้นเขาเคยเบียดเบียนสัตว์ เขาเคยฆ่าสัตว์ เขาเคยเบียดเบียนสัตว์อื่นให้ลำบากทางกายให้เดือดร้อนทางกาย ให้เจ็บปวดทางกาย ให้ทรมานทางกาย เบียดเบียนทางกาย ทางวาจา ทางใจของบุคคลอื่น ให้ได้รับความทุกข์ทรมานเกิดมาชาตินี้ตนเองก็มารับผลของบาป คือเชื้อของบาปนั้นมันเริ่มจากที่เราเบียดเบียนสัตว์อื่น ทรมานสัตว์อื่น ข่มเหงรังแกสัตว์อื่นให้เกิดความทุกข์ความลำบาก พอมาชาตินี้เราจึงเกิดมาเป็นโรคภัยไข้เจ็บ ถือว่าเป็นผลของบาปที่มันตามมา เป็นผลของบาปที่มันคอยให้ผล ทำให้บุคคลผู้ทำบาปนั้นได้รับความทุกข์ ได้รับความเดือดร้อน ได้รับความทรมานสาสมกับสิ่งที่เขาเคยทำมา อันนี้เรียกว่าเป็นเหตุแห่งความทุกข์

          เราพิจารณาดูบุคคลผู้ที่ไม่มีปัญญาเกิดมาแล้วก็เป็นคนโง่ เกิดมาแล้วก็ไม่มีการศึกษาเล่าเรียน เกิดมาแล้วก็พ่อแม่ไม่มีเงินมีทองส่งเสียให้เรียน เกิดขึ้นมาแล้วก็เป็นคนอาภัพไม่ได้เรียนหนังสือไม่รู้หนังสือ เป็นคนโง่ไม่เฉลียวฉลาดสังคมไม่ยอมรับ ในลักษณะอย่างนี้ก็เป็นเพราะบาปกรรมที่เขาเคยกระทำมาแต่ภพก่อนชาติก่อนแต่ในปัจจุบันนี้เป็นดอกเป็นผลของเขา เขาอาจจะเคยลบหลู่บุคคลผู้เรียนธรรม เขาอาจจะเคยลบหลู่บุคคลผู้กล่าวธรรมต่างๆ ก็ทำให้เขานั้นเป็นคนโง่หรือว่าเป็นคนไม่ฉลาด

          สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาแล้วไม่มีใครปรารถนาทั้งนั้น แต่ทำไมคนทั้งหลายทั้งปวงจึงต้องยากเย็นเข็ญใจ ทำไมต้องมีโรคภัยไข้เจ็บ ทำไมต้องโง่อะไรทำนองนี้ทั้งๆ ที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ไม่เป็นความปรารถนาของคนทั้งหลายทั้งปวง แต่คนทั้งหลายทั้งปวงก็เจอสิ่งเหล่านี้อยู่เป็นประจำ อันนี้ก็เพราะว่าบุคคลทั้งหลายทั้งปวงนั้นไม่เว้นจากบาป ไม่เว้นจากเหตุแห่งความทุกข์ เหตุแห่งบาปกรรมก็คือบาปทั้งหลายทั้งปวงจะเป็นบาปทางกาย ทางวาจา ทางใจ ก็เป็นเชื้อแห่งความทุกข์ เป็นความโกรธ เป็นความโลภ เป็นความหลง เป็นความอิจฉาริษยา เป็นความน้อยเนื้อต่ำใจ เป็นการลบหลู่ครูบาอาจารย์ เป็นการจ้วงจาบพระอริยบุคคล เป็นการดูถูกดูหมิ่นครูบาอาจารย์ พ่อแม่พี่น้อง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ลบหลู่พระธรรมวินัยต่างๆ สิ่งเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นบาปนอกจากกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดมานะ ทิฏฐิ อุปาทานต่างๆ แล้ว สิ่งเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นเชื้อของบาปทั้งนั้น เป็นเชื้อของความทุกข์ทั้งนั้น

          เพราะฉะนั้นก็ขอให้พวกเราทั้งหลายจงเว้นจากบาป ถ้าผู้ใดเว้นจากบาปผู้นั้นก็จะเว้นไปจากความทุกข์ตามลำดับๆ แต่ถ้าผู้ใดไม่เว้นจากบาปบุคคลนั้นก็ไม่สามารถจะเว้นไปจากความทุกข์ได้ จะเหาะเหินเดินอากาศดำน้ำเข้าถ้ำต่างๆ ก็ไม่สามารถที่จะพ้นไปจากความทุกข์ได้ จะไปเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นเทวดาก็ไม่สามารถที่จะพ้นไปจากความทุกข์ได้ ก็ต้องมีความทุกข์ครอบคลุมจิตใจอยู่ เพราะอะไร เพราะเชื้อแห่งความทุกข์มันมีอยู่

          เพราะฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์จึงตรัสในโอวาทปาติโมกว่า สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง นี้ถือว่าเป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์ ผู้ใดเข้ามาประพฤติพรหมจรรย์แล้วไม่ละบาปอันเป็นอาทิพรหมจรรย์เบื้องต้นแล้วบุคคลนั้นจะไม่เจริญงอกงามในพระธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

          เพราะพระธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นพระธรรมวินัยที่งดเว้นจากบาปโดยจริงจัง แล้วก็เป็นพระธรรมวินัยที่ต่อยอดด้วยบุญ ต่อยอดด้วยกุศล ต่อยอดด้วยบารมี ต่อยอดด้วยคุณงามความดี ต่อยอดด้วยความบริสุทธิ์ ต่อยอดด้วยสมาธิ ต่อยอดด้วยวิปัสสนา ต่อยอดด้วยมรรคด้วยผลด้วยพระนิพพาน อันนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จะต่อยอดด้วยความดี ความบริสุทธิ์ ความรู้แจ้งเห็นจริง การปล่อยการวางการละคือการบรรลุมรรคผลนิพพาน อันนี้เรียกว่าเป็นการต่อยอดในพระธรรมวินัย

          ถ้าผู้ใดบวชเข้ามาแล้วไม่ละบาป บุคคลนั้นอยากจะเจริญอย่างไรๆ ก็ไม่เจริญ เหมือนกับเราปลูกต้นไม้แต่เราเอาของไปคว่ำต้นไม้ไว้ ต้นไม้กล้าเล็กๆ เท่ากับนิ้วมือ เราเอาถุงดำๆ ไปครอบไว้ต้นไม้นั้นก็ไม่เจริญ มีแต่เหลืองแล้วก็จะมีแต่เหี่ยวเฉาแล้วก็จะตายไป เพราะอะไร เพราะไม่ได้รับแสงแดด

          คนที่เข้ามาในพระธรรมวินัยนั้นไม่ละบาป ยังปล่อยตากระทำบาป ยังกระทำบาปให้เกิดทางหู ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอยู่ก็แสดงว่าทางของบาปที่จะมาทำร้ายจิตใจนั้น ยังเข้าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอยู่ จิตใจของบุคคลนั้นก็จะไม่บริสุทธิ์ เมื่อจิตใจไม่บริสุทธิ์แล้วพระธรรมวินัยนั้นเจริญได้ยาก

          เพราะฉะนั้นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ญาติโยมทั้งหลายทั้งปวงนั้นพยายามละ ความสุขที่แท้จริงนั้นไม่ใช่พ่อทำให้ ไม่ใช่แม่ทำให้ ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าทำให้ ไม่ใช่ว่าพระธรรมทำให้ ไม่ใช่ว่าพระสงฆ์ทำให้ แต่ตัวเรานั้นน้อมเอาคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า น้อมเอาคำสั่งสอนของพระธรรม พระสงฆ์ ครูบาอาจารย์นั้นมาประพฤติปฏิบัติเป็นของตนเอง พยายามละบาปนั้นด้วยตนเอง การที่จะบริสุทธิ์ไม่บริสุทธิ์นั้นเป็นปัจจัตตัง เป็นของเฉพาะตน

          เราต้องพยายามกระทำเหตุแห่งความสุขให้เกิดขึ้นแก่เราเอง ครูบาอาจารย์เป็นเพียงแต่ผู้ชี้แนะ พ่อแม่ก็ดี ญาติพี่น้องทั้งหลายก็ดี ทรัพย์สินเงินทองแก้วแหวนแสนสิ่งอะไรต่างๆ ไม่สามารถที่จะทำความสุขที่แท้จริงให้เกิดขึ้นแก่เราได้ เพราะความสุขที่แท้จริงนั้นมันเป็นนิรามิสสุข เป็นสุขที่พ้นจากวัตถุสิ่งของต่างๆ

          เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงค้นพบพระนิพพาน ว่าเป็นความสุข ดังที่พระองค์ทรงตรัสว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ท่านกล่าวว่านิพพานนั้นไม่เหมือนท้องฟ้าทะเลหลวงชลาลัย ท่านกล่าวว่านิพพานนั้นไม่ใช่รส ไม่ใช่แผ่นดิน ไม่ใช่น้ำ ไม่ใช่อากาศ ไม่ใช่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม พระนิพพานนั้นไม่มีรูป ไม่มีเวทนา ไม่มีสัญญา ไม่มีสังขาร วิญญาณ ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งไม่มีในพระนิพพาน นี้พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสอย่างนั้น

          สิ่งที่ให้เกิดความสุขคือพระนิพพานนั้นย่อมไม่ใช่รูป สิ่งที่ให้เกิดความสุขในพระนิพพานนั้นย่อมไม่ใช่เสียง สิ่งที่ให้เกิดความสุขคือพระนิพพานนั้นย่อมไม่ใช่กลิ่น ย่อมไม่ใช่รส ย่อมไม่ใช่สัมผัส แล้วอะไรเป็นเหตุให้เกิดความสุขดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ นิพพานเป็นของว่างอย่างยิ่ง ของว่าง ว่างจากอะไร ว่างจากรูป ว่างจากเสียง ว่างจากกลิ่น ว่างจากรส ว่างจากสัมผัส ว่างจากอารมณ์ต่างๆ

          บุคคลจะว่างจากรูป ว่างจากเสียง ว่างจากกลิ่น ว่างจากรส ว่างจากสัมผัส ว่างจากอารมณ์ต่างๆ นั้น จะว่างได้อย่างไร บุคคลจะว่างจากสิ่งเหล่านี้ได้ด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรม

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสแนวทางแห่งการว่างด้วยเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าผู้ใดเจริญวิปัสสนากรรมฐานจนสามารถละกิเลสคือความโกรธ คือความโลภ คือความหลงได้แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่าบุคคลนั้นจะเข้าถึงความว่าง นิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ นิพพานเป็นของว่างอย่างยิ่ง คือว่างจากสิ่งที่ให้เกิดความทุกข์ ที่ใดมีรูป ที่นั้นก็ย่อมมีทุกข์ ที่ใดมีเสียง มีกลิ่น มีรส มีสัมผัส มีธรรมารมณ์ ที่นั้นก็มีทุกข์ เพราะที่นั่นมีขันธ์ ที่ใดมีขันธ์ที่นั้นก็ย่อมมีอุปาทานความยึดมั่นในขันธ์ ต้องพาขันธ์นั้นเวียนว่ายตายเกิดตามอานุภาพของบุญและบาป ก็แสดงว่าสถานที่นั้นยังไม่พ้นจากบุญและบาป เมื่อยังไม่พ้นจากบุญและบาปจึงได้ครองขันธ์อยู่ เมื่อครองขันธ์อยู่จึงชื่อว่าพ้นไปจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงยังไม่ได้ เพราะฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ นิพพานนั้นเป็นความว่างเปล่าอย่างยิ่ง

          การที่พวกเราทั้งหลายแสวงหาความพ้นทุกข์ก็คือแสวงหาตามลายแทงที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงแสดงไว้ถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ให้เราเลือกตามอุปนิสัยของเรา ว่าเรามีอุปนิสัยแห่งสมถะกรรมฐาน มีอุปนิสัยแห่งวิปัสสนาญาณ เราเป็นประเภทอนิจจัง หรือเราเป็นประเภททุกขัง หรือเราเป็นประเภทอนัตตา หรือว่าเราเป็นประเภททุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติลำบากรู้ได้ช้า หรือว่าเราเป็นประเภททุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว หรือว่าเราเป็นประเภทสุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติสบายแต่รู้ได้ช้า เข้าฌานอยู่เป็นประจำ มีปีติ มีปัสสัทธิ มีสมาธิอยู่เป็นประจำ แต่วิปัสสนาญาณไม่เกิด มรรคผล นิพพานไม่เกิด เรียกว่าสุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา หรือว่าเราเป็นประเภท สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา คือเราประพฤติปฏิบัติสะดวกสบายดี จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน จิตใจไม่รำคาญ จิตใจนิ่งสงบ เยือกเย็นสุขุมคัมภีรภาพ อยู่ด้วยสมาธิ สมาบัติ ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นมา ไม่มีความลำบาก ปวดแข้งปวดขา เมื่อยตามเนื้อตามตัว ไม่ปรากฏ เพราะปีติมันล้นจิตล้นใจ แต่บุคคลนั้นสามารถที่จะข่มปีติ ข่มสมาธิทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นเกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมา เกิดพระไตรลักษณ์ขึ้นมาบรรลุมรรคผลนิพพานได้ไว อันนี้เรียกว่าเป็นสุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติสะดวกสบายสุขดี แต่รู้ได้เร็ว บรรลุเร็ว

          ถ้าเราพูดให้เข้าใจง่ายๆ เราผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมทุกท่านทุกคนจะอยู่ในลักษณะอย่างนี้ ไม่เป็นทุกขา ก็เป็นสุขา ไม่รู้ช้าก็ต้องรู้เร็ว ไม่เป็นอนิจจัง ก็เป็นทุกขัง ไม่เป็นทุกขังก็เป็นอนัตตาอย่างใดอย่างหนึ่ง บุคคลทั้งหลายทั้งปวงจะข้ามพ้นจากโลกิยะไปสู่โลกุตระก็ต้องอาศัยพระไตรลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง คืออนิจจัง ทุกขัง หรืออนัตตา ตามบุญวาสนาบารมีที่เราสั่งสมไว้

          สิ่งที่เป็นอนิจจัง สิ่งที่เป็นทุกขัง สิ่งที่เป็นอนัตตานั้นเกิดขึ้นมาจากอะไร คณะครูบาอาจารย์ญาติโยมบางรูปบางท่านมาสอบอารมณ์ก็เกิดความสงสัยว่า อาจารย์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันเกิดขึ้นมาจากอะไร เราก็ไม่เคยอ่าน ไม่เคยพบ ไม่เคยรู้ว่าครูบาอาจารย์ท่านว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันเกิดขึ้นมาจากอะไร

          แต่เมื่อเราฟังธรรมะของครูบาอาจารย์ถ้าเราสำเนียก หรือว่าเราพิจารณาใคร่ครวญการฟังธรรมนั้นด้วยปัญญา ฟังธรรมด้วยสติ ด้วยการพินิจพิจารณาแล้วเราจะไม่ได้ถามอาจารย์เลยว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้นมาจากไหน

          ท่านกล่าวว่าบุคคลผู้ให้ทานมามาก หรือว่าสั่งสมทานมามากๆ ภพไหนก็ให้ทานๆ ให้ทานมากกว่าการเจริญสมถะแล้วก็วิปัสสนา ให้ทานมาเป็นชีวิตจิตใจสั่งสมมามาก ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้อนิจจังมันปรากฏชัด เรียกว่าหนทางแห่งอนิจจัง คือการให้ทาน ถ้าบุคคลใดให้ทานมาน้อยอนิจจังมันจะไม่ปรากฏ เมื่ออนิจจังไม่ปรากฏไม่เห็นทุกข์ในวัฏฏะสงสาร เมื่อไม่เห็นทุกข์ในวัฏฏะสงสารปัญญาญาณไม่เกิด เมื่อปัญญาญาณไม่เกิดก็ไม่อยากออก ไมอยากหนี ไม่อยากหลุด ไม่อยากพ้นหมกมุ่นมัวเมาในวัฏฏะสงสาร ยินดีในชื่อเสียงที่ตนเองมี พอใจในความสวยที่ตนเองปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ พอใจในบริวารยศที่ตนเองมีอะไรทำนองนี้ เรียกว่ายินดีในการวนเวียน ยินดีในวัฏฏะ ในลักษณะอย่างนี้ก็เพราะว่าบุคคลนั้นสั่งสมทานมาน้อยก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยไม่ให้อนิจจังเกิด

          หรือว่าทุกขัง บุคคลผู้บำเพ็ญบารมีในสมถะกรรมฐานมามากเวลาประพฤติปฏิบัติธรรม จิตหรือว่าสภาวะของเขาทั้งหลายทั้งปวงนั้น ก็ปวัตติไปตามวิถีบุญที่เขาได้สร้างสมอบรมมาแต่ภพก่อนชาติก่อน เพราะเวลาประพฤติปฏิบัติธรรมเราใช้จิตของเราภาวนา ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว ใจเป็นนายกายเป็นแหล่ง ใจเป็นผู้แต่งกายเป็นผู้กระทำ เวลาเราภาวนานั้นกายของเรานั้นสักว่าเป็นหุ่นยนต์หรือว่าเป็นรถ แต่คนขับรถจริงๆ นั้นคือใจของเรา ใจของเรานั้นเป็นนายขับรถ รถจะเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาเดินหน้าถอยหลัง หรือว่าขึ้นเขาลงคลองอะไรต่างๆ ก็อยู่ที่คนขับรถ เพราะฉะนั้นกายของเรานั้นขึ้นอยู่กับใจของเรา

          เวลาเจริญภาวนานั้นท่านกล่าวว่าใจของเรานั้นเป็นตัวเจริญควบคุมกายของเรา แล้วเมื่อมันเกิดทุกขังขึ้นมา ทำไมมันเกิดทุกขังขึ้นมา เพราะเรานั้นเจริญสมถกรรมฐานมามากแต่ภพก่อนชาติก่อน เจริญฌานเจริญอะไรมามากก็เลยเกิดทุกขังขึ้นมา สิ่งที่เราเจริญมามากๆ นั้นแหละมันอยู่ตรงไหน มันหายไปไหน สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เราทำจะเป็นบาปเล็กบาปน้อยบุญน้อยบุญใหญ่ สรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นจะปวัตติลงไปในห้วงภวังคจิตของเรา จะไม่มีอะไรเลยที่จิตของเรานั้นจะไม่สั่งสมไว้

          สิ่งที่เราทำด้วยกาย สิ่งที่เราทำด้วยวาจา สิ่งที่เราทำด้วยใจจะปวัตติรวมลงที่ใจของเรานั้นแหละ จะไม่ไปไหน จะจมอยู่ในห้วงภวังคจิตของเรา สั่งสมอยู่ในห้วงภวังคจิตของเรา พอกพูนอยู่ในห้วงภวังคจิตของเรา เมื่อพอกพูนขึ้นไปเรื่อยๆ ก็เป็นอุปนิสัย เป็นสันดรเป็นสันดานอยู่ในจิตในใจของเรา

          อุปนิสัยก็คือสิ่งที่เราทั้งหลายทั้งปวงนั้นสั่งสมไว้ยาวนาน เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมทำไมสภาวะของเราจึงน้อมมาทางสมถกรรมฐาน จึงน้อมมาทางทุกขัง ก็เพราะว่าสิ่งที่เราสั่งสมนั้นมันมาปรากฏ มันมาเตือน มันมาสนับสนุน มันมาค้ำมาจุนมาปรากฏเป็นผลของสิ่งที่เราเคยกระทำมาแล้วนั่นแหละ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นล้วนเป็นสิ่งที่เราเคยทำมาแต่ก่อนโน้นเป็นของเก่าทั้งนั้น

          เพราะฉะนั้นสิ่งที่มาปรากฏอยู่ทุกวันนี้จึงเป็นผลของสิ่งที่เรากระทำมาทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่มีอะไรเลยจะไม่ปรากฏจากผลที่เรากระทำมาก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเกิดขึ้นมาจากเหตุ เหตุและผลเท่านั้นที่หมุนเวียนและเปลี่ยนไปสิ่งอื่นไม่มี

          เพราะฉะนั้นก็ขอให้พวกเราทั้งหลายทั้งปวงเข้าใจว่าทำไมหนอการประพฤติปฏิบัติธรรมจึงได้ต่างกันในลักษณะอย่างนี้ เพราะว่าบางรูปบางท่านได้สั่งสมมาในทางอนัตตา เคยเจริญวิปัสสนากรรมฐานมามาก เราอยากจะให้มันไปทางสมถะ เราอยากจะให้มันไปทางอนิจจัง มันก็ไม่ไป เพราะอะไร เพราะสิ่งที่เราสั่งสมนั้นมันเป็นการเจริญวิปัสสนามามาก สิ่งที่เราสั่งสมมามากนั้นแหละเป็นปฏิปทาปรากฏเกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นสมบัติของเรา เป็นบารมีของเรา เป็นปฏิปทา เป็นเส้นทางหนทาง เป็นเรือเป็นแพ เป็นสำเภาแก้ว สำเภาทองที่จะนำเราไปสู่การบรรลุมรรคผลนิพพานเพราะเส้นทางบุญ เส้นทางบารมี เส้นทางแห่งความดีเราบำเพ็ญมาอย่างนี้ มันก็เกิดสภาวะคืออนัตตาเกิดขึ้นมา เพราะเราเคยเจริญวิปัสสนากรรมฐานมา วิปัสสนากรรมฐานก็จะเป็นเรือแก้วสำเภาทองพาเราล่องลอยไปสู่มรรคสู่ผลสู่พระนิพพานด้วยอนัตตาสภาวะ

          เพราะฉะนั้นก็ขอให้พวกเราทั้งหลายทั้งปวงที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมรู้เหตุแห่งความทุกข์ รู้เหตุแห่งความสุขก็คือการละบาป ก็ขอให้พวกเราทั้งหลายได้พินิจพิจารณาแล้วก็ตั้งอยู่ในโอวาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า สพฺพปาปสฺส  อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง กุสลสฺสูปสมฺปทา การยังกุศลให้ถึงพร้อม สจิตฺตปริโยทปนํ การทำจิตของเราให้หมดจดสิ้นจากกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดทั้งหมดทั้งปวงทั้งสิ้น

          วันนี้กระผมได้กล่าวธรรมมาก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ได้ขยับขยายคลายอิริยาบถกำหนดออกจากการภาวนาเพื่อเตรียมตัวแผ่เมตตาสืบต่อไป.