การปฏิบัติให้ได้ผลเร็ว

การปฏิบัติให้ได้ผลเร็ว

(เทศน์ที่วัดพิชโสภาราม เย็นวันที่ ๑๕ ก.ค. ๕๖)

          ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง แม้ปรินิพพานไปนานแล้ว พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ด้วยเศียรเกล้า กราบขอโอกาสพระเดชพระคุณหลวงพ่อผู้มีพระคุณอันยิ่ง ขอความสุขความเจริญในธรรมจงมีแก่ญาติโยมผู้สนใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมทุกท่านทุกคน ณ โอกาสบัดนี้

          ก่อนอื่นก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้นั่งสมาธิฟัง อาจจะเป็นการบรรยายธรรมน้อยๆ หรือว่าอาจจะเป็นการกล่าวธรรมะสั้นๆ นี้จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คณะครูบาอาจารย์ได้สมาธิ สมาบัติ ได้เกิดปัญญา หรือว่าเกิดวิปัสสนาญาณ ได้เกิดความเข้าใจในอรรถในธรรม

          การประพฤติปฏิบัติธรรมที่คณะครูบาอาจารย์ ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายได้เข้ามาประพฤติปฏิบัติธรรมที่วัดพิชโสภาราม บางรูปบางท่านอาจจะไม่เคยมา ญาติโยมบางคนอาจจะไม่เคยมาประพฤติปฏิบัติ

          แต่ว่าเมื่อมาประพฤติปฏิบัติแล้วบางรูปบางท่านก็อาจจะไม่เข้าใจว่าพระเดชพระคุณหลวงพ่อที่สอนกรรมฐานมานาน พระเดชพระคุณหลวงพ่อสอนกรรมฐานอย่างนี้หรือ อะไรทำนองนี้

          การสอนกรรมฐานที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านได้ประสิทธิ์ประสาทให้แก่คณะศิษยานุศิษย์นั้นก็ถือว่าเป็นการสอนกรรมฐานแบบ สติปัฏฐาน ๔ เรียกว่าการสอนกรรมฐานแบบธรรมชาติ ผู้ใดใคร่จะประพฤติปฏิบัติธรรมจริงๆ แล้ว ผู้นั้นก็จะมีความเพียรมีความอุตสาหะ มีการประพฤติปฏิบัติธรรม แล้วก็ยังผลของการประพฤติปฏิบัติธรรมให้เกิดขึ้นมา

          เพราะว่าการเรียนกรรมฐานนั้นต้องอาศัยปุพเพกตปุญญตาที่คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายได้สั่งสมอบรมมาดีแล้ว ฉะนั้นการสอนกรรมฐานนั้นจึงเป็นไปด้วยอำนาจของบุญ ญาติโยมตลอดถึงคณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายมาประพฤติปฏิบัติส่วนหนึ่งด้วย

          ผลของการประพฤติปฏิบัติธรรมที่จะทำให้เกิดผลช้าหรือเร็วนั้นก็ขึ้นอยู่กับบุญเป็นส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับกรรมฐาน แต่กระผมก็จะขอกล่าวในส่วนกรรมฐานเบื้องต้นว่ากรรมฐานที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คณะครูบาอาจารย์ที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นได้รับผลของการประพฤติปฏิบัติธรรมไว

          ประการที่ ๑ ก็คือศีล ศีลนั้นถือว่าเป็นเบื้องต้นของการประพฤติปฏิบัติธรรม คณะครูบาอาจารย์ก็ดี คณะญาติโยมทั้งหลายก็ดี มาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นก็ควรมีศีลอย่างน้อยๆ ก็ต้องมีศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ข้อ เพราะว่าศีลนั้นถือว่าเป็นอาทิพรหมจรรย์

          ถ้าผู้ใดมีศีลไม่บริสุทธิ์ อย่างเช่นเป็นพระไม่มีศีลบริสุทธิ์ บวชมาแล้วประพฤติผิดศีล อย่างเช่นต้องอาบัติสังฆาทิเสสเป็นต้น ถ้าต้องอาบัติในลักษณะอย่างนี้แล้วเวลามาประพฤติปฏิบัติธรรมก็ไม่สามารถยังจิตยังใจของบุคคลนั้นให้เกิดสมาธิขึ้นมาได้ จะเดินจงกรมอย่างไรๆ ก็ไม่สามารถจะยังจิตยังใจให้สงบเป็นสมาธิได้ เมื่อจิตไม่เป็นสมาธิความสงบแห่งจิตไม่มี เมื่อความสงบแห่งจิตไม่มีแล้วปัญญาญาณมันก็ไม่เกิด หรือว่าวิปัสสนาญาณมันก็ไม่เกิด

          เพราะฉะนั้นเบื้องต้นจึงมีการประพฤติวุฏฐานวิธี ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อให้เข้ากรรมฐานมาเป็นเบื้องต้นไม่ใช่ว่า ว่าให้คณะครูบาอาจารย์นั้นต้องอาบัติแต่ว่าเป็นการเผื่อเหนือตกใต้ เป็นการกระทำการประพฤติปฏิบัติธรรมให้กระชับมั่นคงยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะฉะนั้นจะต้องมีการประพฤติวุฏฐานวิธีอันนี้ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ได้เข้าใจว่าพระเดชพระคุณหลวงพ่อนั้นเน้นศีลเป็นเบื้องต้นในการประพฤติปฏิบัติธรรม

          ประการที่ ๒ เมื่อเรามีศีลเป็นเบื้องต้นในการประพฤติพรหมจรรย์แล้ว ก่อนอื่นที่เราจะประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น เราต้องพิจารณาร่างกายของเรา พิจารณารูปนามของเราให้เห็นเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตาเสียก่อน เพราะว่าเป็นพื้นฐานแห่งการที่จะนำเราไปสู่การประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าเรายังไม่เห็นรูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้วจิตใจของเรายังถูกโมหะ ถูกความโกรธ ถูกความโลภ ถูกความหลง ถูกอวิชชาต่างๆ นั้น ครอบงำอยู่

          เมื่อเราถูกอวิชชาต่างๆ ครอบงำอยู่การที่เราจะประพฤติปฏิบัติธรรมด้วยจิตแรงใจแรง ประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นมันก็เป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้นเราต้องพิจารณาร่างกายของเราว่ามันเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง อนัตตา เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ทนอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้ เป็นอนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้ ไม่มีตัวไม่มีตน อันนี้เรียกว่าเราพิจารณาเสียก่อน

          ตั้งแต่พื้นเท้าถึงปลายผม จากปลายผมถึงพื้นเท้าของเรานั้น เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งหมด ขาของเราก็เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา มือของเราเท้าของเราก็เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา ตาของเราก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นของไม่เที่ยงทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ทั้งหมดทั้งสิ้น แม้หูของเรา แม้จมูกของเรา แม้ลิ้นของเรา แม้กายของเรา ก็เป็นอนิจจังเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

          หรือว่าสิ่งที่มาประกอบกับตาคือรูป สิ่งที่มาประกอบกับหูคือเสียง สิ่งที่มาประกอบกับจมูกคือกลิ่น สิ่งที่มาประกอบกับลิ้นคือรส หรือว่าสิ่งที่มาประกอบกับกายของเราคือการสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็งต่างๆ สิ่งเหล่านี้ก็เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา

          แม้สิ่งที่มาสัมผัสกับใจของเรา จะเป็นความโกรธ ความโลภ ความหลง จะเป็นบุญ หรือว่าจะเป็นบาป สิ่งเหล่านี้ก็เป็นอนิจจังเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกขังทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ แล้วก็เป็นอนัตตา

          ถ้าเราพิจารณาในลักษณะอย่างนี้แล้วว่าตาของเราเห็นรูป ตาของเราก็ไม่เที่ยง แม้รูปที่มากระทบตาของเราก็ไม่เที่ยงให้เราพิจารณาเห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความสุขความชอบใจความเสียใจที่เกิดขึ้นมาจากการที่ตาของเรากระทบรูปเกิดความสุขเกิดความชอบใจเกิดความไม่ชอบใจต่างๆ ความชอบใจความไม่ชอบใจความสุขความทุกข์นั้นก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

          หรือว่าขณะที่หูของเราได้ยินเสียง หูของเราก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เสียงก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แม้ความชอบใจ ความเสียใจ ความสุข ความทุกข์ที่เกิดขึ้นมาเพราะการสัมผัสทางหูก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

          นี้ถ้าเราพิจารณาความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจ ทางอายตนะที่สัมผัสทั้ง ๖ อย่างนั้นก็ถือว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งหมดทั้งปวงทั้งสิ้น

          เมื่อเราเห็นในลักษณะอย่างนี้แล้วเรามองไปดูรอบข้างของเรามีอะไรที่เป็นของเที่ยง มีอะไรที่ทนอยู่ในสภาพเดิมนั้นตลอดชั่วกาลนาน มีไหม อะไรที่เป็นตัวเป็นตนที่อยู่ชั่วกาลนานมีไหม นี้ให้พิจารณาดูรอบข้างของเราว่ามีอะไรที่เป็นของเที่ยงแท้แน่นอน ว่าอะไรที่เป็นสุขทนอยู่สภาพเดิมตลอดไปเป็นตัวเป็นตนที่แน่นอน

          เมื่อเราพิจารณาแล้วเราจะมองเห็นต้นไม้ ต้นไม้ก็เป็นของไม่เที่ยงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรามองเห็นกำแพง กำแพงก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มองเห็นกุฏิ กุฏิก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มองเห็นหอประปา หอประปานั้นก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มองเอาสิ่งใดมาเป็นอารมณ์มาพิจารณา สิ่งทั้งปวงล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีอะไรเลยที่เป็นของเที่ยงแท้แน่นอนบรรดาที่มีอยู่ในโลกนี้

          เมื่อเราพิจารณาเห็นแจ่มแจ้งด้วยจิตด้วยใจยังจิตยังใจของเราให้หยั่งลงถึงความไม่เที่ยงของรูปธรรม นามธรรมทั้งหลายทั้งปวงแล้วก็พยายามทำจิตทำใจของเรานั้นให้คลายความกำหนัดจากอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น พยายามทำจิตทำใจของเราให้คลายความกำหนัดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในธรรมารมณ์ที่มาถูกต้องกระทบสัมผัส อย่าให้จิตใจของเราลุ่มหลงผูกพันหมกมุ่นอยู่กับอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น

          เมื่อจิตใจของเราคลายออกจากความยึดมั่นถือมั่น คลายออกจากความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในอารมณ์แล้ว จิตใจของเราก็จะเป็นกลาง จิตใจของเราก็จะว่าง จิตใจของเราก็เป็นอิสระคู่ควรแก่การประพฤติปฏิบัติธรรม เป็นภาชนะทอง เหมาะที่จะรองรับเอาพระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

          เพราะฉะนั้นการพิจารณาจิตให้พิจารณาเห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้เราสร่างจากความเมาเสียก่อน ทุกคนที่เกิดขึ้นมาผู้ใดไม่เคยสดับพระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เคยประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่เคยลิ้มรสของปีติ ไม่เคยลิ้มรสของปัสสัทธิ ไม่เคยลิ้มรสของความสุขที่เกิดขึ้นมาจากการประพฤติปฏิบัติธรรม คนทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็ล้วนแต่หลงอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในอารมณ์ทั้งหมดทั้งปวงทั้งสิ้น

          เพราะฉะนั้นคนทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นมาแล้วก็ตะเกียกตะกายไขว่คว้าเอาซึ่งรูป ซึ่งเสียง ซึ่งกลิ่น ซึ่งรส ซึ่งสัมผัส จะเป็นคนไทย คนต่างประเทศ คนยุโรป ตะวันตก ตะวันออกอะไรต่างๆ นั้นล้วนไขว่คว้าเอาซึ่งรูป ซึ่งเสียง ซึ่งกลิ่น ซึ่งรส ซึ่งสัมผัส ซึ่งอารมณ์ต่างๆ ที่เราพิจารณาว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็แสดงว่าคนทั้งหลายนั้นไขว่คว้าเอาสิ่งที่เป็นอสาระ ไขว่คว้าเอาของไม่เที่ยง ไขว่คว้าเอาสิ่งที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ไขว่คว้าเอาสภาพที่ไม่มีตัวไม่มีตน แสดงว่าคนทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นไขว่คว้าเอาสิ่งที่เป็นอสาระ แล้วจะพบสิ่งที่เป็นสาระคือการบรรลุมรรคผลนิพพานได้อย่างไร

          เพราะฉะนั้นญาติโยมสาธุชนคณะครูบาอาจารย์ทุกรูปเมื่อมาประพฤติปฏิบัติธรรมเบื้องต้นนั้นต้องปลงธรรมสังเวชเสียก่อน พิจารณาให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณารูปนามของเราเป็นของไม่เที่ยง ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้เป็นอนัตตา เหมือนที่เราเคยศึกษาในธรรมบท ในพระไตรปิฎกต่างๆ เราพิจารณาดูว่าอสีติมหาสาวกทั้งหลายทั้งปวง จะเป็นพระสารีบุตร มหาโมคคัลลานะก็ตามก็พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของคนทั้งหลายทั้งปวง

          คือสมัยหนึ่งพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะซึ่งเป็นอุปติสสะ โกลิตะมานพเป็นสหายรักกันไปชมดูละคร ละครนั้นก็แสดงไปตามบทบาทของละครบางครั้งก็หัวเราะ คนทั้งหลายทั้งปวงที่ดูก็หัวเราะด้วยกัน ผู้แสดงก็หัวเราะ ถึงคราวให้รางวัลก็ให้รางวัลเขา ถึงคราวร้องไห้ โศกเศร้า เสียใจ ก็ร้องไห้โศกเศร้าเสียใจไปกับเขา

          แต่วันหนึ่งด้วยความแก่รอบของญาณ หรือว่าด้วยความแก่รอบของบุญญาธิการที่ท่านได้สั่งสมอบรมไว้ก็พิจารณาว่าเราจะมาหัวเราะ เราจะมามัวร้องไห้ เราจะมามัวเสียใจ เราจะมามัวให้รางวัลกับบุคคลเหล่านี้ไปทำไม ในเมื่อคนทั้งหลายทั้งปวงจะเป็นคนแสดงก็ตาม จะเป็นคนชมก็ตาม จะเป็นคนให้รางวัลก็ตาม คนทั้งหลายทั้งปวงนั้นล้วนตกอยู่ในความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เบื่อหน่ายในความเป็นเศรษฐีของท่าน ในความร่ำความรวยในความสนุกสนานของท่านก็ตกลงกันว่าจะแสวงหาโมกขธรรม อันนี้เป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์ เป็นเบื้องต้นแห่งการประพฤติปฏิบัติธรรมของอุปติสสะมานพ หรือโกลิตะมานพ เป็นการประพฤติปฏิบัติธรรมเบื้องต้นของพระโมคคัลลานะสารีบุตร แสงแห่งธรรมนั้นปรากฏขึ้นมาในเบื้องต้นทำให้ต้องออกแสวงหาวิโมกขธรรม

          หรือว่านางปฏาจราเป็นผู้หมกมุ่นมัวเมาหลงอยู่ในสามีถึงขนาดที่หนีลงจากปราสาท ๗ ชั้นไปอยู่กับสามีตามป่าตามหัวไร่ปลายนาทนทุกข์ทรมานลำบากยากเย็นขนาดไหนก็ทน เพราะอะไร เพราะความหลงในสามี ความรักในสามีความผูกพันในสามีคิดว่าสามีนั้นเป็นของเที่ยง คิดว่าสามีนั้นสามารถยังสุขให้เกิดแก่เราได้ ก็หลบหนีจากบิดามารดา หลบหนีจากปราสาทไปอยู่กับคนใช้ซึ่งเป็นสามีของตนเองอยู่ในเขตเหล่าป่า

          แต่เวลาคลอดลูกนั้นก็มาคลอดลูกที่บ้านบิดาของตนตามประเพณีของอินเดีย แต่มาถึงกึ่งทางก็คลอดลูกสามีตามทันก็กลับไป คนที่สองก็ตามทันแต่ว่าจะกลับไปนั้นฝนมันตกก็ต้องหลบต้องซ่อนอยู่เสียก่อน

          แต่พอสามีจะไปหาที่หลบที่ซ่อนก็ถูกงูกัดตายก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา คิดว่าสามีก็เป็นของไม่เที่ยงแล้ว แล้วก็ลูกทั้งสองคนลูกคนหนึ่งก็ถูกน้ำพัดพาไป ลูกคนหนึ่งก็ถูกเหยี่ยวเฉี่ยวเอาไปก็คิดว่าเราไม่มีที่พึ่ง จะกลับมาหาพ่อหาแม่หาพี่ชายของตน

          ก่อนที่จะกลับมาก็เดินทางมาพบคนพักอยู่ที่ศาลาริมทางก็ถามว่า พ่อแม่เศรษฐีชื่อโน้นอยู่หรือเปล่า คนที่เดินทางสวนมาก็บอกว่า เมื่อคืนนี้ฝนตกหนักปราสาทเจ็ดชั้นได้พังทับเศรษฐีสองผัวเมียพร้อมกับลูกชายตาย ดูสิกำลังเผาอยู่เชิงตะกอนเดียวกันทั้งสามคนควันยังโขมงอยู่ พอนางได้ฟังเท่านั้นแหละเกิดเสียสติเรียกว่าสติแตก เสียสติก็เป็นบ้าไป

          วันหนึ่งพระพุทธเจ้าพระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ นางก็เปลือยกายเอาฝุ่นโปรยใส่ศีรษะของตนเอง เดินไปหัวเราะบ้าง ร้องไห้บ้าง ตามประสาของคนที่เสียสติ ขณะนั้นคนทั้งหลายทั้งปวงก็จะพยายามขับนางออกจากคลองจักขุของพระองค์ ไม่ให้เข้าไปใกล้คลองจักขุแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

          แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสให้ประชาชนทั้งหลายนั้นได้ปล่อยให้นางนั้นเดินมาตามธรรมชาติของเขา นางก็เดินไปใกล้ๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ดูก่อนน้องหญิง ขอน้องหญิงจงกลับมีสติเถิด เพียงเท่านั้นแหละนางก็เกิดสติสัมปชัญญะกลับคืนมาก็นั่งกระโหย่ง คนทั้งหลายก็โยนผ้าให้นางก็ห่มผ้านั้นแล้วก็กราบทูลขอบวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

          นางได้รับความทุกข์เพราะอะไร เพราะยึดถือในสามีว่าเป็นของตัวเป็นของตน ยึดถือในลูก ยึดถือในพ่อในแม่ ยึดถือในพี่ชายว่าเป็นตัวเป็นตน แต่เมื่อเสียใจว่าสามีก็ตายไป ลูกทั้งสองก็ตายไป พ่อแม่พี่ชายก็ตายไปก็เสียสติ อันนี้เรียกว่าความยึดมั่นถือมั่นมาก แต่ความเป็นจริงแล้วสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

          ถ้าผู้ใดพิจารณาในลักษณะอย่างนี้ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การประพฤติปฏิบัติธรรมที่สดสวยงดงาม ไม่คิดที่จะกลับไปสู่เพศของฆราวาสอีก เพราะอะไร เพราะพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอนชัดเจนแล้ว เหมือนกับนางปฏาจราที่เปลี่ยนจากวิกฤติเป็นโอกาส ก็มีโอกาสได้บวชในพระธรรมวินัย มีโอกาสได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี ในที่สุดก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่งตั้งไว้ในผู้เลิศทางวินัย อันนี้เป็นเบื้องต้นของนางปฏาจรา

          หรือว่าเบื้องต้นของนางกุณฑลเกสีลุ่มหลงในบุรุษผู้เป็นโจร เมื่อเห็นโจรแล้วก็เกิดความรักเกิดความชอบใจก็ให้บิดามารดาของตนนั้นเอาเงินเอาทองนั้นไปแลกไปซื้อมาเพื่อที่จะได้โจรนั้นเป็นสามี เกิดความหลงใหลในรูปที่ตนเองเห็น

          ในที่สุดก็ได้ฆ่าสามีของตนเองตาย ได้ผลักสามีของตนเองนั้นลงสู่หน้าผาแล้วก็สิ้นชีวิตไป จะกลับมาสู่บ้านสู่เรือนก็กลัวคนอื่นเขาจะตราหน้าว่าเป็นหญิงชั่วช้าสามานย์ ฆ่าแม้แต่สามีของตนอะไรทำนองนี้ก็เกิดความละอายหนีไปบวชเป็นปริพาชิกา แต่ก็มาถามปัญหากับพระสารีบุตร ถามปัญหาอะไรพระสารีบุตรตอบได้หมด พระสารีบุตรถามปัญหาเพียงข้อเดียวว่า อะไรชื่อว่าหนึ่ง ตอบไม่ได้ก็ขอบวชในพระพุทธศาสนาแล้วก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพานสำเร็จเป็นพระอรหันต์อีกรูปหนึ่ง อันนี้ก็ถือว่าเบื้องต้นแห่งการประพฤติพรหมจรรย์จริงๆ แล้วเป็นการประพฤติปฏิบัติของบุคคลผู้เห็นทุกข์ เห็นภัยในวัฏฏสงสาร เบื่อหน่ายในรูป เบื่อหน่ายในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในธรรมารมณ์

          เพราะฉะนั้นบุคคลผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าจิตใจของเรามันสงบยาก มันลำบาก ประพฤติปฏิบัติธรรมมันปรุงแต่ง ฟุ้งซ่าน ไปในรูปในเสียงในกลิ่นในรสต่างๆ นั้นก็เพราะว่าเราไม่พิจารณาสิ่งเหล่านั้นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรายังไม่ปราบจิตที่ดื้อเสียก่อน แต่ถ้าเราปราบจิตที่ดื้อเสียก่อนแล้วจิตของเราไม่ดื้อแล้ว จิตของเราก็จะไม่มัวเมาในอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง จิตของเราก็จะมุ่งตรงต่อบทพระกรรมฐาน

          เพราะฉะนั้นก็ขอฝากให้คณะครูบาอาจารย์ได้พิจารณาสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาแล้วเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นอกจากจะเป็นผู้ประกอบไปด้วยศีล ประกอบไปด้วยการพิจารณาในอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้วก็ยังพิจารณา ยกจิตของตนให้เข้าถึงพระพุทธ เข้าถึงพระธรรม เข้าถึงพระสงฆ์ น้อมเอาคุณของพุทธเจ้ามาพิจารณา น้อมเอาคุณของพระธรรมมาพิจารณา น้อมเอาคุณของพระสงฆ์มาพิจารณาให้เห็นคุณของพุทธเจ้าอย่างถ่องแท้ในจิตในใจ ให้เห็นคุณของพระธรรมอย่างถ่องแท้ในจิตในใจ ให้เห็นคุณของพระสงฆ์อย่างถ่องแท้ในจิตในใจ ให้จิตใจของเราเลื่อมใสในพระพุทธอย่างยิ่งยวด ให้เรามีจิตใจเลื่อมใสในพระธรรมอย่างยิ่งยวด ให้เรามีจิตเลื่อมใสในพระสงฆ์อย่างยิ่งยวด

          ในมนุษย์ก็ดี ในเทวดาก็ดี ในพรหมโลกก็ดีไม่มีอะไรประเสริฐกว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้เราพิจารณาเห็นคุณของพระพุทธเจ้า ว่าพระองค์ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เองโดยชอบด้วยพระองค์เอง พระองค์ทรงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ มีทั้งความรู้ มีทั้งความจรณะเรียบร้อย ไม่มีใครสามารถที่จะติเตียนอิริยาบถของพุทธเจ้าแม้อย่างใดอย่างหนึ่ง จะติเตียนว่าพุทธเจ้าสูงเกินไปก็ไม่มีใครติเตียน ติเตียนว่าพระพุทธเจ้าต่ำเกินไปก็ไม่เคยปรากฏในพระไตรปิฎก ติเตียนว่าพระพุทธเจ้าขี้เหร่เกินไปก็ไม่มีปรากฏในพระไตรปิฎก หรือว่าพระองค์ทรงเดินเร็วเกินไปเดินช้าเกินไปพูดมากเกินไปพูดน้อยเกินไปอะไรทำนองนี้ไม่มีใครติเตียนในพระไตรปิฎกไม่ปรากฏ

          แต่ว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ที่สมบูรณ์ไปด้วยวิชชาจรณะความประพฤติเป็นที่กราบเป็นที่ไหว้ของมนุษย์และเทวดาทั้งหลายทั้งปวง เราพิจารณาความอัศจรรย์ใจของพระองค์ว่าพระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีตั้งสี่อสงไขยกับแสนมหากัปมาอุบัติในพระครรภ์ของพระมารดา ก็เกิดอภินิหารมากมายอย่างที่เราเรียนในปฐมสมโพธิ แม้แต่ในวันคลอด ฤาษีกาฬเทวิลเห็นลายกงจักรบนฝ่าพระหัตถ์ก็ยังก้มศีรษะที่ขาวโพลน มีวัยชราเป็น ๘๐-๙๐ ปียังถวายความเคารพต่อพระมหาสัตว์ผู้อุบัติในวันนั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจ เป็นสิ่งที่พวกเราทั้งหลายจะเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า

          หรือในสมัยที่พระองค์ทรงไปทำแรกนาขวัญ พระองค์ทรงมีจิตใจสลดสังเวชที่เห็นงูมากินสัตว์แล้วก็มีเหยี่ยวมาเฉี่ยวเอางูไป ก็นั่งคู้บัลลังก์ที่ใต้ต้นหว้า ขณะนั้นก็ยังปฐมฌานให้เกิดขึ้นมาแล้วตะวันบ่ายคล้อยแล้วเงาของต้นหว้านั้นก็ยังไม่คล้อยไปตาม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงนั่ง เงาของต้นหว้านั้นก็เหมือนกับเงาตอนเที่ยงวัน พระราชบิดาคนทั้งหลายทั้งปวงเห็นแล้วก็เกิดความอัศจรรย์ใจ เป็นพ่อแท้ๆ ก็ยังก้มกราบบุตรชายของตนซึ่งมีอายุได้แค่ ๕ ขวบ อันนี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจ

          หรือในสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลกในข้อที่ว่าด้วยยมกปาฏิหารย์ พระองค์ทรงเสด็จมาด้วยบริวารอลังการ ด้วยพระบารมีของพระองค์เป็นความพิจารณาถึงความเลื่อมใสในพุทธเจ้า เมื่อเราพิจารณาถึงความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าอันยิ่งใหญ่ขนาดนี้ เราพิจารณาถึงธรรมที่พระองค์ทรงตรัสว่า ธรรมที่พระองค์ทรงตรัสนี้เป็นสวากขาตธรรม เป็นธรรมที่พระองค์ทรงตรัสดีแล้ว สันทิฏฐิโก เป็นสิ่งที่พึงเห็นด้วยตนเอง อกาลิโก เป็นการประพฤติปฏิบัติธรรมที่เห็นได้โดยไม่จำกัดกาล ผู้ใดมีสติมีความเพียรมีสัมปชัญญะบริบูรณ์สมูรณ์แล้วธรรมะนั้นเป็นอกาลิโก ไม่จำกัดกาลว่าเป็นเวลาเช้า เวลาบ่าย เวลาค่ำ เวลามืด ไม่ว่าเป็นพุทธกาลหรือในปัจจุบันนี้

          ถ้าผู้ใดทำให้เข้าถึงเหตุถึงผล มีสติ มีสัมปชัญญะ มีวิปัสสนาญาณที่จะพิจารณาเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาบริบูรณ์แล้ว ยังอนุโลมญาณให้เกิดขึ้นมาได้ในขณะใด มรรคผลนิพพานก็เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้นในขณะนั้น เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่าเป็นอกาลิโก ไม่จำกัดกาล แล้วก็เป็นปัจจัตตัง เป็นของเฉพาะตนตามที่ผมกล่าวในเมื่อเช้านี้ ว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นก็เป็นปัจจัตตัง

          การรักษาศีลก็เป็นของเพาะตน ศรัทธาที่เกิดขึ้นมาในจิตในใจเราก็ต้องยังศรัทธาให้เกิดเป็นของตน หรือว่าความเพียรก็เป็นปัจจัตตัง เป็นของเฉพาะตน สติก็เป็นของเฉพาะตน สมาธิก็เป็นของเฉพาะตน วิปัสสนาญาณก็เป็นของเฉพาะตน แม้แต่การยังจิตให้เข้าถึงให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พระไตรลักษณ์ก็ต้องเป็นของเฉพาะตน ยังบุคคลอื่นให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแทนกันไม่ได้ ต้องพิจารณาเอง ใช้สติ ใช้สัมปชัญญะ ใช้ความเพียร จึงเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาด้วยตนเอง เรียกว่าเป็นปัจจัตตัง

          หรือว่าการบรรลุมรรคผลนิพพานองค์สมเด็จพระสัมมาสัมุทธเจ้าพระองค์ตรัสว่าเป็นปัจจัตตังบรรลุแทนกันไม่ได้ ใครอยากได้สมาธิ สมาบัติก็ปฏิบัติเอา ใครอยากได้บรรลุมรรคผลนิพพานก็ปฏิบัติเอาอะไรทำนองนี้ก็เป็นปัจจัตตัง

          ถ้าเราพิจารณาในลักษณะอย่างนี้ก็เกิดความศรัทธา เกิดความเลื่อมใสในพระธรรม มอบกายถวายชีวิตแก่พระพุทธ แก่พระธรรม แก่พระสงฆ์ได้ เมื่อเรามีความศรัทธา มีความเลื่อมใสถึงขั้นที่ว่ามอบกายถวายชีวิตแด่พระพุทธ แด่พระธรรม แด่พระสงฆ์แล้ว สิ่งที่พึ่ง สิ่งที่ปรารถนา สิ่งที่เราต้องการนั้นไม่ใช่สมบัติในมนุษย์ ไม่ใช่ความเป็นใหญ่เป็นพระราชา ไม่ใช่ความเป็นใหญ่คือพระเจ้าจักรพรรดิ ไม่ใช่ความเป็นใหญ่คือนพรัตน์แก้ว ๗ ประการ คือ นพรัตน์แก้ว ๙ ประการนั้นไม่ใช่ ไม่ใช่ความเป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นนิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัสดีอะไรต่างๆ ทั้งสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้นนั้นไม่ใช่ ไม่ใช่ความอยากได้ในสวรรค์ ความเป็นใหญ่ในสวรรค์นั้นไม่ใช่ ไม่ใช่ว่าความอยากไปเกิดในพรหมโลก มีอายุยาวนานเสวยความสุขอันเกิดจากฌานนั้นไม่ใช่

          ถ้าเราพิจารณาในลักษณะอย่างนี้แล้ว สิ่งที่เราต้องการที่สุดก็คือการบรรลุมรรคผลนิพพาน ความคิดของเราจิตใจของเราไม่เป็นสองง่าม และไม่เป็นสามง่าม เป็นง่ามเดียวคือตรงต่อพระนิพพาน อันนี้เรียกว่าเป็นการทำจิตของเราให้ตรงต่อการประพฤติปฏิบัติตัดง่ามทั้งหลายทั้งปวงออก ง่ามที่อยากมาเกิดเป็นมนุษย์ ง่ามที่อยากไปเกิดเป็นเทวดา ง่ามที่เป็นพรหมตัดออกให้เหลือง่ามเดียวคือ สมฺโพธิปรายโน เรียกว่าอยากจะบรรลุมรรคผลนิพพานในอนาคตกาลอันใกล้ๆ นี้ ข้างหน้าตามบุญวาสนาบารมี เป็นการทำจิตทำใจเตรียมจิตเตรียมกายของตนเองเตรียมใจของตนเองเสียก่อน

          ถ้าผู้ใดทำจิตทำใจในลักษณะอย่างนี้แล้ว การประพฤติปฏิบัติธรรมถึงมันจะร้อนก็ต้องทน เพราะอะไร เพราะเรากำลังทำสิ่งที่ประเสริฐที่สุดกว่ามนุษย์และเทวดาทั้งหลายทั้งปวง ถึงมันร้อนขนาดไหนก็อดทน ยุงมันกัดขนาดไหนก็อดทนได้ เพราะอะไร เพราะการอดทนของเรานั้นกำลังอดทนเพื่อสิ่งที่ประเสริฐที่สุด ถึงมันจะหิว ถึงมันจะกระหาย ถึงมันจะลำบากขนาดไหนก็อดก็ทน เราตายแล้วอีกสักสิบชาติร้อยชาติแล้วได้บรรลุมรรคผลนิพพานมันก็ควร นับประสาอะไรกับการที่เราจะทนหนาวทนร้อน ทนหิวทนกระหายแค่นี้เองทำไมเราจะทนไม่ได้นี้มันจะคิดถึงขนาดนั้นเลย

          เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมที่คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายมาประพฤติปฏิบัติธรรมเบื้องต้นจริงๆ ก็ต้องมีศีล ประการที่ ๒ ก็ต้องพิจารณารูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแจ่มชัดเจนเสียก่อน หลังจากนั้นก็น้อมจิตน้อมใจบูชาคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้เราได้เคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้นสามารถที่จะเอาชีวิตของเรานั้นเดิมพัน ถวายถึงตายก็ยอม เอาชีวิตของเราบูชาพระพุทธ พระธรรมได้ การประพฤติปฏิบัติธรรมของเราจะตรง จะไม่มัวเมา จะไม่คุย จะไม่เล่น จะไม่คุยสนุกสนาน จะไม่เห็นแก่ความเกียจคร้าน ครูบาอาจารย์จะแนะนำอย่างไรเราก็น้อมใจเชื่อหมด เพราะอะไร เพราะเราต้องการบรรลุมรรคผลนิพพานให้ไวที่สุดเท่าที่จะไวได้ นี้ในลักษณะของบุคคลผู้เตรียมใจก่อนที่จะประพฤติปฏิบัติธรรม

          เมื่อเรามีศีล เมื่อเราพิจารณาเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณาจิตใจของเราว่าให้เลื่อมใสพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์อย่างแน่นแฟ้นแล้ว เราก็ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์พระกรรมฐาน ยกจิตขึ้นสู่รูปสู่นาม มีสติ มีสัมปชัญญะ มีความเพียรบากบั่นตั้งมั่นในการกำหนดบทพระกรรมฐานตามที่คณะครูบาอาจารย์ได้แนะนำพร่ำสอน มีสติพิจารณาอาการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของรูปของนาม

          สิ่งที่ทำให้จิตใจของเราสงบเป็นสมาธิคือสติ สตินั้นเป็นสิ่งที่ทำให้จิตใจสงบจากอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง ความสงบทั้งหลายทั้งปวงก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรานั้นละอารมณ์ได้มากน้อยขนาดไหน ความสงบมันก็เกิดขึ้นขณะนั้น

          ถ้าละอารมณ์ได้มากมันก็สงบได้มาก ถ้าละอารมณ์ได้ลึกอย่างเช่นท่านกล่าวไว้ หมายถึงอารมณ์ของอุปจารสมาธิ อัปนาสมาธิ อารมณ์ของปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ท่านจะกล่าวไปโดยลำดับว่าปฐมฌานยังมีวิตกมีวิจาร มีปีติ มีสุข มีเอกัคคตา แต่เมื่อถึงทุติยฌานแล้วสามารถละวิตกวิจารได้ ไม่ต้องมีคำบริกรรม ไม่มีพองหนอ ไม่มียุบหนอ ไม่มีพุทโธ ไม่มีสัมมาอรหัง มีจิตใจรู้อยู่ เห็นอาการพองอาการยุบอยู่แต่ไม่บริกรรม ละวิตกวิจาร จิตมันละเอียดเข้า ความละเอียดนั้นแหละเป็นอารมณ์ เป็นความสงบยิ่งขึ้นไปของอารมณ์ แต่เมื่อถึงตติยฌานแล้วก็ละปีติก็เหลือกับสุข กับเอกัคคตา แต่เมื่อถึงจตุตถฌานแล้วท่านกล่าวว่าลมหายใจก็ไม่มี เหลือแต่เอกัคคตารมณ์ อันนี้ความสงบแห่งจิตก็คือความละอารมณ์ได้มากได้น้อยนั่นแหละ ถ้าผู้ใดละได้น้อยเข้าถึงความสงบได้น้อย

          การละอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงนั้นต้องอาศัยสติเป็นเครื่องกั้น การกั้นอารมณ์ไม่ให้เข้ามาสู่กาย สู่วาจา สู่ใจของเรา ไม่ให้อารมณ์หลั่งไหลเข้าไปสู่ใจของเรานั้นเป็นความสงบของจิต กั้นความโกรธ กั้นความโลภ กั้นความดีใจ เสียใจไม่ให้หลั่งไหลลงไปในจิตของเรา มีสติรู้อยู่กับปัจจุบันธรรม

          อย่างเราบริกรรมพองหนอ ยุบหนอ แต่ว่ามีสติพิจารณาเห็นอาการพองอาการยุบ อย่างเดียวจิตใจจดจ่อกับพองกับยุบอย่างเดียว ไม่ได้ใช้สัมปชัญญะพิจารณา ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของรูปนามก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สงบเป็นสมาธิเป็นฌานไป แต่ถ้าเราพิจารณาเห็นต้นพองกลางพองสุดพอง เห็นต้นยุบกลางยุบสุดยุบมีทั้งสติมีทั้งสัมปชัญญะ ด้วยความเกิดขึ้นตั้งอยู่ ดับไปของรูปนาม ไม่อยากเกิดมันก็ต้องเกิด เพราะอะไร เพราะกระทำตามหลักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

          เพราะฉะนั้นสิ่งที่ให้เกิดวิปัสสนาญาณก็ต้องเป็นสัมปชัญญะ อาศัยสติที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิ อาศัยวิปัสสนาญาณเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้รู้เห็นความเป็นจริง ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ล้วนดับไป เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งหมดทั้งปวง

          ถ้าผู้ใดกำหนดในลักษณะอย่างนี้ วันแล้ววันเล่าคืนแล้วคืนเล่าเดือนแล้วเดือนเล่า ปีแล้วปีเล่า ไม่หลงไปในอารมณ์มีสติพิจารณาเห็นอาการรูปนามมันเกิดดับในลักษณะอย่างนี้ตลอดไป ยืนเดินนั่งนอนกินดื่มทำพูดคิดทำกิจอะไรกำหนดอยู่ตลอดเวลา เว้นไว้แต่เผลอกับหลับ แม้นิ่งอยู่ก็ต้องกำหนด ไม่พูด ไม่คุย ไม่จำเป็นไม่ทำให้คึกคะนองอะไรทำนองนี้ ต่างมีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา

          ท่านกล่าวว่าบุคคลทำอยู่อย่างนี้อย่างมากที่สุดไม่เกิน ๗ ปี ก็จะได้บรรลุธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวว่าไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ถ้ามีอุปธิเหลืออยู่ ก็จะได้บรรลุเป็นพระอนาคามี ท่านกล่าวไว้อย่างนั้น

          แต่ถ้าผู้ใดกระทำกำหนดอยู่ตลอดเวลา มีสติสัมปชัญญะกำหนดตลอดเวลานี้ เว้นไว้แต่เผลอกับหลับนี้ท่านว่า ๗ ปียกไว้ ๖ ปี ๕ ปี ๔ ปี ๓ ปี ๒ ปี ๑ ปี ๖ เดือน ๓ เดือน ๒ เดือน ๑ เดือน ครึ่งเดือน หรือว่า ๗ วัน หรือว่า ๓ วัน ๒ วัน ๑ วัน

          ท่านกล่าวในหลังของสติปัฏฐานสูตรว่า เรียนเอาตอนเช้าแล้วก็บรรลุตอนเย็นเรียนเอากรรมฐานตอนเย็นแล้วบรรลุตอนเช้าก็มี เหมือนกับภิกษุผู้ที่เป็นรูปสุดท้ายของพระศาสนาที่มาเรียนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในตอนปฐมยามแล้วก็พากเพียรประพฤติปฏิบัติธรรมในที่สุดก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ ทันองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นยังทรงพระชนม์อยู่

          เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมที่กระผมได้กล่าวมาทั้งหมดทั้งปวงนี้ก็เกิดขึ้นมาจากการที่ได้มาเป็นลูกศิษย์ลูกหาของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ แล้วก็อาศัยประสบการณ์ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อพร่ำสอน ก็อาศัยครูบาอาจารย์ทั้งหลายทั้งปวงได้มาประพฤติปฏิบัติธรรม ปะขาว แม่ชี พระสงฆ์สามเณรได้มาประพฤติปฏิบัติธรรม ปฏิบัติก็เกิดความรู้ความเข้าใจนำมาอธิบายให้คณะครูบาอาจารย์ฟัง ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา          ในท้ายที่สุดนี้กระผมก็ขอน้อมเอาบุญกุศลทั้งปลายทั้งปวงที่ได้สร้างสมอบรมมาตั้งแต่อดีตชาติถึงปัจจุบันชาตินี้มีการให้ทานรักษาศีล เจริญภาวนาเป็นต้น ก็ขอให้บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวง ขอน้อมบุญทั้งหลายทั้งปวงนี้ขอน้อมถวายแก่หลวงพ่อพระราชปริยัตยากร หลวงพ่อใหญ่ของเรา ขอให้หายจากโรค หายจากภัย หายจากความสุขภาพไม่แข็งแรง อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของลูกศิษย์ลูกหาตราบนานเท่านานเทอญ.