การฝึกจิต
(เทศน์ที่สำนักสงฆ์กาญจนาภิเษก ร.๙ ๖ ก.ย. ๕๖)
วันนี้อาตมภาพก็จะได้กล่าวธรรมะเพื่อยังจิตยังใจของโยมทั้งหลายทั้งปวงให้ร่าเริงในบุญในกุศล ก็ขอให้ญาติโยมทุกท่านได้เอามือลง ถ้าผู้ใดกว่าที่จะนั่งภาวนาฟังด้วยก็ยิ่งดี เอาสติมาไว้ที่หูของเรา หูของเรานั้นมีสองข้าง ข้างใดที่เราได้ยินเสียงถนัดที่สุดรูปนามมันเกิดชัดที่ตรงนั้นเราก็เอาสติมากำหนดไว้ที่ตรงนั้นกำหนดว่า “พุทโธๆ” หรือกำหนดว่า “เสียงหนอๆ” ก็ได้แล้วแต่กัมมัฏฐานที่เราเคยประพฤติปฏิบัติมา เราจะได้บุญทั้งจากการฟังธรรมะแล้วก็ได้บุญอันเกิดจากการภาวนาไปด้วย ฉะนั้นก็ขอให้ญาติโยมที่มาร่วมกันฟังธรรมในครั้งนี้ได้ทำความสงบกาย ทำความสงบวาจา ทำความสงบจิต มีจิตใจจดจ่ออยู่กับอารมณ์ของธรรมะ
เพราะว่าธรรมะที่จะกล่าวในที่นี้ก็เป็นธรรมะอันเกิดจากการศึกษาเล่าเรียน อาตมภาพก็จบนักธรรมเอกก็ถือว่าเป็นพระที่ยังบวชไม่นาน พรรษานี้ก็พรรษา ๒๕ ย่าง ๒๖ ยังบวชไม่นานความรู้ก็ยังน้อย จบนักธรรมเอกบาลีก็เปรียญธรรม ๕ ประโยคได้เป็นรองเจ้าอาวาสวัดพิชโสภารามมาประมาณ ๑๑-๑๒ ปี ได้มาสร้างสถานปฏิบัติธรรมจอมทอง อยู่ที่บ้านดอนหัน ตำบลโพนงามเพิ่งสร้างไปได้ปีหนึ่งกับอีกประมาณ ๓ เดือนเพื่อว่าจะเป็นที่พักผ่อนสำหรับบุคคลผู้ต้องการภาวนา ผู้ใดอยากเจริญภาวนาเดินจงกรมนั่งภาวนาก็ขอเชิญไปประพฤติปฏิบัติธรรมได้
ในสถานที่นั้นไม่ได้ต้องการที่จะเทศน์มาก ไม่ต้องการที่จะต้องการเทศนาโวหารมาก แต่ต้องการคนที่ต้องการเดินจงกรมเยอะๆ ต้องการคนนั่งภาวนามากๆ ผู้ใดปรารถนาความพ้นทุกข์ ผู้ใดปรารถนาที่บรรลุมรรคผลนิพพานก็ขอเชิญไปประพฤติปฏิบัติธรรมได้ ณ สถานที่แห่งนั้นสามารถที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่บุคคลผู้ต้องการประพฤติปฏิบัติธรรมได้ ได้สร้างสถานปฏิบัติธรรมขึ้นก็ยังไม่เสร็จ อาจจะไม่มีความสมบูรณ์เท่ากับวัดป่าสวนเฉลิมพระเกียรติสวนหลวงร.๙ ของหลวงพ่อพิชัย มหาสุโภ ก็ถือว่าท่านก็ยังสร้าง
สมัยก่อนโน้นพระอาจารย์ชัยฤทธิ์มาอยู่อาตมาก็เคยมาครั้งหนึ่งแต่ว่ามาเผินๆ มาคุยกับหลวงพ่อชัยฤทธิ์ประมาณ ๑๐ กว่านาทีก็กลับในสมัยนั้นก็ยังไม่เจริญถึงขนาดนี้ ตอนนี้ก็ถือว่าน่าอนุโมทนาสาธุการหลวงพ่อพิชัย สุโภ ซึ่งเป็นประธานสงฆ์ ณ สถานที่แห่งนี้ สามารถที่จะให้ญาติโยมทั้งหลายมารักษาศีล มาไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนานั้นเป็นของหายาก
ส่วนมากการให้ทานในยุคปัจจุบันนี้ก็พอที่จะให้เราเห็นอยู่กันมากมาย การรักษาศีลก็น้อยลงไปอีก การรักษาศีลของญาติโยมก็น้อยกว่าการให้ทาน การที่จะมาถือศีล ๘ รักษาศีลอุโบสถบวชเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ก็ถือว่าเป็นของน้อยลงไปอีก น้อยกว่าการให้ทานนั้นเป็นลำดับ แล้วบุคคลที่จะมารักษาศีล ๘ เพื่อที่จะออกจากกามคุณ ออกจากวัฏฏสงสาร ออกจากความทุกข์ ความโศก ความโลภ ความหลง ออกจากการเวียนว่ายในมหรรณพภพสงสารนั้น ผู้ที่จะรู้จักการเจริญภาวนา รู้สมาธิ รู้มรรค รู้ผล รู้พระนิพพานก็น้อยลงไปอีก น้อยลงไปตามลำดับๆ
เพราะฉะนั้นญาติโยมที่มาร่วมบุญร่วมกุศลกับหลวงพ่อพิชัย สุโภ นี้อาตมภาพก็ขออนุโมทนาสาธุการ เห็นญาติโยมที่มารักษาศีลแล้วก็มีความอิ่มอกอิ่มใจ คล้ายๆ กับว่าพระศาสนาของเรานี้ยังไม่สูญสิ้น ยังมีญาติโยมให้ความสนจิตสนใจ มีญาติโยมทั้งหลายให้ความเคารพในการฟังพระสัทธรรมเทศนา มีกายเคารพ มีกายอ่อนน้อม มีวาจาอ่อนหวาน มีใจอ่อนโยน เคารพต่อพระพุทธ เคารพต่อพระธรรม เคารพต่อพระสงฆ์ ก็มีความอิ่มอกอิ่มใจ
แต่ก็อยากจะขอให้ญาติโยมทั้งหลายนั้นอย่าพอใจในบุญกุศลที่ตนเองได้กระทำไว้ เราเคยให้ทานเราก็อย่าพอในในบุญของทานมากเกินไป ให้เราหัดพยายามรักษาศีล รักษาศีล ๕ ของเราให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดหลอกลวงต้มตุ๋น ไม่พูดส่อเสียดให้ผู้อื่นแตกร้าวสามัคคีกัน หรือว่าเราพยายามที่จะเว้นจากเครื่องดื่มมึนเมาต่างๆ เราพยายามรักษาศีล นอกจากเราให้ทานแล้วเราพยายามที่จะทำความดีให้สูงยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยการรักษาศีล เมื่อเรารักษาศีลแล้วเราก็อย่าพอใจในการรักษาศีล เพราะว่าบุคคลผู้รักษาศีลนั้นยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในห้วงมหรรณพภพสงสาร ที่สุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิดของบุคคลผู้รักษาศีลนั้นยังไม่ปรากฏ ยังเวียนว่ายตายเกิดในรูปภพ อรูปภพ ในกามภพ เรียกว่ายังไม่ถึงฝั่งคือพระนิพพาน เพราะฉะนั้นเราก็อย่าพอใจในการรักษาศีล ให้เรารู้จักการเจริญภาวนาบ้าง พยายามที่จะพัฒนาตัวของเราให้สูงขึ้นไปด้วยคุณธรรม
ในหมู่มนุษย์ของเราเป็นจำนวนมากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ ในหมู่มนุษย์เป็นจำนวนมากนั้น บุคคลผู้ฝึกตนเป็นผู้ประเสริฐ คนทั้งหลายทั้งปวงจะเป็นฝรั่งก็ดี เป็นลาวก็ดี เป็นเขมรก็ดี เป็นประเทศตะวันตกตะวันออกก็ดีในหมู่มนุษย์ทั้งหวงนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า คนผู้ฝึกตนเป็นผู้ประเสริฐ ไม่ใช่ว่าบุคคลผู้ร่ำรวยเงินทองมีเงินเป็นพันล้าน หมื่นล้าน หรือว่ามียศถาบรรดาศักดิ์ มีอำนาจเต็มบ้านเต็มเมือง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่ตรัสว่าบุคคลอย่างนั้นเป็นผู้ประเสริฐ แต่พระองค์ทรงตรัสว่าบุคคลผู้ฝึกตนดีแล้วเป็นผู้ประเสริฐ ฝึกอย่างไร ? ก็ฝึกด้วยการให้ทาน ฝึกด้วยการรักษาศีล ฝึกด้วยการเจริญภาวนาจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลนั้นได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ทำราคะให้อ่อนลง ทำโทสะให้อ่อนลง ทำโมหะให้อ่อนลง ทำราคะโทสะโมหะให้หมดไปจากจิตจากใจ อันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่าเป็นผู้ประเสริฐในหมู่มนุษย์ทั้งหลายทั้งปวง
เพราะฉะนั้นญาติโยมทั้งหลายทั้งปวงที่ได้มารักษาศีลก็ขอเราอย่าได้หยุดเพียงเท่านั้น พยายามทำคุณงามความดีของเราให้สูงยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยการเจริญภาวนา เพราะว่าอานิสงส์ของการให้ทานก็จะมีอานิสงส์ให้เรานั้นเกิดมาแล้วไม่ต้องถือกระเบื้องขอทานถือกะลาขอข้าว ไม่ต้องอดอยาก ไม่ต้องลำบากในภพต่อๆ ไป เราเกิดภพหนึ่งชาติใดเราเป็นผู้มีเงินมีทอง เราเกิดในตระกูลที่มีข้าวมีน้ำอุดมสมบูรณ์ อันนี้อานิสงส์ของการให้ทานเป็นอย่างนั้น
แต่ว่าอานิสงส์ของการให้ทานนั้นก็ส่งผลให้เราแค่กามาวจรบุญเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นท่องเที่ยวไปในกามภพ มาเกิดเป็นมนุษย์บ้าง ไปเกิดบนสวรรค์บ้าง เรียกว่าอานิสงส์ของการให้ทาน แต่ถ้าเรารักษาศีล ศีล ๕ ก็มีอานิสงส์ประมาณหนึ่งทำให้เราได้มาเกิดเป็นมนุษย์ เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์แล้วก็มีอวัยวะครบสมบูรณ์ ไม่เป็นใบ้ ไม่เป็นบ้า ไม่หนวก ไม่บอด ไม่พิกลพิการ ไม่เป็นคนเสียวิกลจริตวิสัยต่างๆ อันนี้ก็เป็นอานิสงส์ของการรักษาศีล ให้เราพิจารณาดูคนที่อยู่รอบข้างของเราบางคนพิการหู บางคนพิการตา บางคนพิการแข้งพิการขา ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่าคนเหล่านั้นไม่รักษาศีลให้ดีในภพก่อนชาติก่อน เป็นสัญลักษณ์ของบาป เป็นสัญลักษณ์ของนรกที่ติดตามตัวขึ้นมาทำให้บุคคลนั้นต้องแข้งขาไม่ดี หูไม่ดี ตาไม่ดี เป็นเศษนรกที่ติดตามบุคคลนั้นมาทำให้บุคคลนั้นต้องได้รับความทุกข์ทรมานในภพในปัจจุบัน การที่บุคคลมีอวัยวะครบสมบูรณ์นั้นก็เกิดขึ้นมาด้วยการรักษาศีล
แต่ถ้าบุคคลใดอยากจะเจริญรุ่งเรืองด้วยปัญญา บุคคลนั้นควรเจริญภาวนา การเจริญภาวนานั้นก็มีอยู่หลายอย่างถ้าเราจะเจริญสมถกัมมัฏฐานก็มีอารมณ์ ๔๐ ประการ กสิณ ๑๐ อสุภ ๑๐ อนุสติ ๑๐ เป็นต้น อารมณ์ทั้ง ๔๐ ประการนี้ทำให้เราได้ฌาน ได้ปฐมฌาน ได้ทุติยฌาน ได้ตติยฌาน ได้จตุตถฌานเป็นต้น อันนี้เรียกว่าการเจริญสมถกัมมัฏฐาน แต่ถ้าเราอยากจะมีปัญญาเฉลียวฉลาดมากไปกว่านั้นเราก็ต้องเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ถ้าผู้ใดเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเกิดปัญญาแล้วบุคคลนั้นก็จะปล่อยวางสิ่งทั้งหลายทั้งปวงได้ วิปัสสนาญาณเกิดแก่บุคคลใดบุคคลนั้นก็มีโอกาสจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
เพราะฉะนั้นญาติโยมทั้งหลายที่มาทำบุญในวันนี้ก็ขอให้ญาติโยมทั้งหลายได้เข้าใจในเรื่องบุญว่าบุญนั้นมีหลายอย่าง บุญนั้นมีหลายระดับ อย่างเช่นญาติโยมมาทำบุญ เราทำบุญไปเพราะอะไรหนอ ทำไมเราจึงต้องทำบุญ ทำไมเราต้องมาลำบากเรานอนอยู่บ้านมีแอร์ดีๆ เย็นๆ มีพัดลมเย็นๆ มีทุกสิ่งทุกอย่างอำนวยความสะดวก แต่ทำไมเราต้องมาอดตาหลับขับตานอนทนนั่งหลังแข็งอย่างนี้ก็เพราะเราอยากได้บุญ เราจึงมาบำเพ็ญพรต บำเพ็ญตบะ บำเพ็ญธรรมอยู่อย่างนี้ ความปรารถนาความต้องการของเราก็คือบุญ แล้วเราอยากได้บุญไปทำไม เราอยากได้บุญเพื่อที่เราจะได้เกิดอีก หรือเพื่อที่เราจะได้มีเงินมีทอง เราอยากได้บุญเพื่อเราอยากจะได้มีชื่อเสียง หรือเราอยากได้บุญเพื่อที่เราอยากจะได้เกิดใหม่อีก อันนี้ขอถามญาติโยมทั้งหลายทั้งปวง
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่าไม่ให้เรานั้นเมาในบุญ ถ้าผู้ใดเมาในบุญแล้วไม่รู้จักการสร้างสมอบรมคุณงามความดียิ่งขึ้นไป ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ท่องเที่ยวไปในวัฏฏสงสาร หาที่สุด หาท่ามกลาง หาบั้นปลายที่สุดแห่งวัฏฏสงสารนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นญาติโยมทุกท่านเรามาที่นี้เพื่อต้องการบุญ บุญนั้นเราเอาไปทำอะไร บุญเราเอาไปชำระบาป บุญคือการรักษาศีลก็ชำระบาปทางจิต ทางกาย ทางวาจาของเราด้วยการรักษาศีล เรามารักษาศีลเพื่อที่จะห้ามบาป ละคือเว้นจากบาปที่เกิดขึ้นทางกาย ทางวาจาของเราให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ บาปอย่างหยาบนั้นเราชำระได้ด้วยการรักษาศีล
ส่วนบาปอย่างกลางคืออะไร คือกามฉันทะ ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในอารมณ์ต่างๆ ความพอใจในอารมณ์ต่างๆ เหล่านี้เป็นกามอย่างกลาง ความพอใจในรูป ความพอใจในรูปของสามี ความพอใจในรูปของภรรยา ความพอใจในความมั่งความมี ความรวย ชื่อเสียง เงินทอง สิ่งเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นกามฉันทะ ความพอใจในกามทั้งนั้น คนทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นมาแล้วไม่สามารถที่จะข้ามพ้นห้วงมหรรณพภพสงสาร ไม่สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตนไปถึงฝั่งคือพระนิพพานได้ก็เพราะติดอยู่ในกามตัวนี้ ท่านจึงกล่าวว่าเป็นกิเลสอย่างกลางเรียกว่ากามฉันทะ ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เราต้องรักษาด้วยการเจริญสมถกัมมัฏฐาน
กิเลสกลางๆ นี้นอกจากกามฉันทะแล้วก็ยังมีพยาบาท พยาบาทนี้มันเกิดขึ้นในจิตในใจของเรา เราจะอาศัยบุญอย่างไรไปรักษาพยาบาทนั้นเราจึงจะรักษาพยาบาทให้หมดไปจากจิตจากใจของเราได้ ก็อาศัยการเจริญสมาธิเรียกว่าเจริญสมถะ ผู้ใดเคยเจริญสมาธิ เคยเจริญสมถะ บุคคลใดเคยมีจิตใจอยู่กับอารมณ์เดียวอย่างเช่นเราภาวนาว่า “พุทโธๆ” ลมหายใจเข้าภาวนาว่า “พุท” ลมหายใจออกภาวนาว่า “โธ” ตั้งสติไว้ที่ปลายจมูก หรือเราจะภาวนาว่า “พองหนอ” “ยุบหนอ” เวลาเราหายใจเข้าท้องมันพองขึ้นมาเราภาวนาว่า “พองหนอ” เวลาท้องยุบลงเราภาวนาว่า “ยุบหนอ” มีจิตใจจดจ่ออยู่กับอาการพองอาการยุบ มีจิตใจจดจ่ออยู่กับลมเข้าลมออกไม่เผลอ เมื่อเรามีสติจดจ่ออยู่กับสิ่งเหล่านี้แล้วสมาธิมันก่อตัวขึ้น
เมื่อสมาธิมันก่อตัวขึ้นมือของเรามันแน่นเข้า ตัวของเรามันเบาเข้า ตัวของเรามันเย็นเข้าๆ ความรู้สึกของเรามันน้อยลงไปๆ ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าสมาธิมันก่อตัว เมื่อสมาธิมันก่อตัวแล้วกามฉันทะก็จะไม่ตั้งขึ้นในจิตใจของบุคคลนั้น ความพยาบาทปองร้ายบุคคลอื่นก็จะไม่เกิดขึ้น เราอาศัยสมาธินี้ป้องกันบาปคือไม่ให้ใจของเรายินดีในกามคุณ ไม่ให้จิตใจของเราเกิดความพยาบาท
นอกจากนั้นก็ยังมีถีนะ ถีนะคือความง่วงเหงาหาวนอน ความง่วงเหงาหาวนอนนั้นเป็นบาปเป็นอกุศลธรรม เป็นอกุศลจิต ถ้าเกิดขึ้นแก่บุคคลใดมากๆ จิตใจของบุคคลนั้นก็จะถูกถีนมิทธะครอบงำ การจะทำบุญทำทานก็ไม่แช่มชื่นเบิกบาน จะไหว้พระทำวัตรสวดมนต์ก็ไม่แช่มชื่นเบิกบาน บุญของบุคคลนั้นก็จะเศร้าหมองลงไปตามลำดับ ถ้าบุคคลใดตายด้วยความง่วงเหงาหาวนอนบุคคลนั้นก็จะไปเกิดในอบายภูมิ ไปเกิดในนรกก็เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน เพราะอะไร เพราะเป็นอกุศลจิต คือบาปธรรมย่อมนำไปสู่อบายภูมิ
เพราะฉะนั้นเรามารักษาศีลแล้วเราควรที่จะเจริญสมถะ นอกจากเราให้ทานเราควรที่จะรักษาศีลได้ดี เมื่อเรารักษาศีลได้ดีแล้วเราควรที่จะเจริญสมาธิเจริญสมถะไปด้วยเพราะเป็นการรักษาโรคอย่างกลางคือนิวรณธรรมให้หมดไปจากจิตจากใจของเรา นอกจากนั้นความฟุ้งซ่าน นอกจากนั้นคือจิตใจของเรานั้นมีความฟุ้งซ่านอยู่เป็นประจำ เราเกิดมาโอกาสที่จิตใจของเราจะสงบเป็นสมาธินั้นยาก ไม่คิดถึงลูกก็คิดถึงเมีย ไม่คิดถึงเมียก็คิดถึงการงาน ไม่คิดถึงอดีตก็คิดถึงอนาคต ไม่เกิดโทสะก็เกิดราคะ ไม่เกิดราคะก็เกิดโมหะ เกิดความโลภ เกิดความหลง จิตใจของเราจะเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดไป แล้วเราจะทำอย่างไรจิตใจของเราจึงจะสงบ เราจะทำจิตใจของเราให้สงบก็ต้องเจริญสมาธิมีจิตตั้งมั่นเสียก่อน เมื่อเรามีจิตใจตั้งมั่นแล้วสมาธิจึงจะเกิดขึ้นมา
พวกเราทั้งหลายมาบวชเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์แล้วก็ควรที่จะฝึกภาวนาให้เก่ง ฝึกการเจริญภาวนาให้ดีเพื่อเป็นที่พึ่งไม่ให้จิตใจของเราฟุ้งซ่านรำคาญไปสู่อารมณ์ต่างๆ แต่ถ้าเราไม่พยายามฝึกจิตฝึกใจเวลามันโกรธก็ปล่อยให้ใจมันโกรธ เวลามันโลภมันหลงก็ปล่อยให้จิตมันโลภมันหลง เวลามันเสียอกเสียใจก็ปล่อยไปตามอารมณ์ต่างๆ ไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ ไม่รู้จักห้ามจิตใจของตนเอง บอกจิตของตนเองไม่ได้รั้งจิตของตนเองไม่อยู่ รู้ไม่ทันขบวนจิตของตนเอง ถ้าบุคคลประเภทอย่างนี้แล้วเรียกว่าบุคคลไม่มีการฝึกตน พอเวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วยแก่เฒ่าชราลงไป เราเจ็บไข้ได้ป่วยเรียกว่านอนรอความตายแล้วจิตใจของบุคคลนั้นก็จะเกิดความสับสนเพราะทุกขเวทนาเข้าครอบ แล้วก็ยังมีความห่วงหาอาลัยห่วงลูกคนโน้นห่วงลูกคนนี้ห่วงบ้านห่วงทรัพย์สินนอกจากนั้นก็ไม่อยากตาย เมื่อจิตใจมันสับสนวุ่นวาย จิตใจของบุคคลนั้นก็ไม่สงบ เมื่อเราตายไปด้วยอำนาจจิตใจที่ไม่สงบนั้นเราก็ไปสู่อบายภูมิถึงบุญกุศลที่เราทำมานั้นจะมากมายขนาดไหนก็ตาม เราเคยให้ทานมา เราเคยสร้างกฐิน เราเคยบวชนาคหลายกอง เราทำบุญเหล่านั้นมาบุญเหล่านั้นไม่มีโอกาสที่จะให้ผล เพราะอะไร เพราะปฏิสนธิจิตในขณะที่เราจะดับนั้นจิตที่เป็นกุศลนั้นไม่มีโอกาสที่จะให้ผล จิตบาปมันอยู่ใกล้เสียก่อนมันก็ถือปฏิสนธิเสียก่อน
ท่านอุปมาอุปไมยในจิตที่จะปฏิสนธินั้นเหมือนกับวัวมันจะออกจากคอก คล้ายๆ กับว่าเราขังวัวไว้ในคอกนั้นเป็นพันๆ ตัว วัวตัวไหนที่จะออกจากคอกได้ไวกว่าเพื่อน ญาติโยมลองคิดดูสิว่าวัวที่เราขังเป็นพันๆ ตัวนั้นวัวตัวไหนที่จะออกจากคอกได้ก่อนเพื่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่าวัวตัวที่อยู่ใกล้ประตูที่สุดเมื่อเราดึงไม้ที่ปิดคอกออก เปิดประตูคอกวัวที่อยู่ใกล้นั้นแหละก็จะถูกวัวตัวอื่นดันเข้ามาแล้วก็จะออกได้ไวที่สุด จิตของบุคคลผู้จะถือปฏิสนธิก็เหมือนกันเราทำบุญไว้แต่ก่อนโน้นเราทำบุญไว้มากแต่เราไม่เคยนึกถึงบุญสักที ไม่เคยห้ามจิตของตนเองพอเวลาจะตายจิตที่เราเคยทำบุญนั้นมันไม่มีโอกาสให้ผล เราก็ปล่อยจิตปล่อยใจไปตามความโกรธ ความโลภ ความหลง จิตห่วงหาอาลัยมันเกิดขึ้นมาตายไปแล้วก็ไปเกิดเป็นเปรตเป็นอสุรกายไป เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานด้วยอำนาจของโมหะไป เกิดเป็นเปรตด้วยอำนาจของความโลภไป ไปเกิดในนรกด้วยอำนาจของโทสะไป เพราะอะไร เพราะเราเป็นไปตามอำนาจของจิต
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงถูกจิตชักจูงไป ถูกจิตลากไป ถูกจิตผลักดันไป สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเป็นไปตามอำนาจของจิต เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ฝึกจิตของเราแล้วการที่เราจะบำเพ็ญคุณงามความดีให้สูงยิ่งๆ ขึ้นไปนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ศีลของเราจะสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์นั้นก็อยู่ที่จิตของเรา ถ้าจิตของเราบอกไม่ได้ใช้ไม่ฟังรั้งไม่อยู่แล้วเวลาเกิดความโกรธเกิดราคะเกิดตัณหาขึ้นมาบังคับจิตของตนเองไม่อยู่ ศีลเราอยากจะให้บริสุทธิ์มันก็ไม่บริสุทธิ์ เราอยากให้ผ่องแผ้วบริสุทธิ์บริบูรณ์มันก็เป็นอย่างนั้นไม่ได้ เพราะจิตใจมีความอิจฉา มีความริษยา เป็นไปตามอำนาจของกิเลสอยู่เป็นประจำ เพราะฉะนั้นการฝึกจิตนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ
ญาติโยมทั้งหลายอย่าเห็นแก่ความสนุก อย่าเห็นแก่ความเพลิดเพลิน อย่าเห็นแก่ความสะดวกสบายชีวิตของพวกเรานั้นน้อยหนักหนาโอกาสที่จะสร้างสมอบรมคุณงามความดีนั้นน้อยมาก เราให้ทานตั้งแต่วันเกิดจนถึงปัจจุบันนี้พอหรือยัง เรารักษาศีล ๕ ศีล ๘ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ตั้งแต่วันเกิดจนถึงปัจจุบันนี้สมบูรณ์แล้วหรือยัง เราเจริญสมถกัมมัฏฐานตั้งแต่วันเกิดจนถึงปัจจุบันนี้สมบูรณ์แล้วหรือยัง เราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี เป็นพระอรหันต์นั้นถึงปัจจุบันนี้เราทำได้หรือยัง นี้ให้เราพิจารณาอย่างนั้น
แต่ถ้าเรายังไม่มีคุณธรรมอะไรเลยที่จะพอเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เราไปสู่อบายภูมิเราก็ไม่ควรประมาท จะเป็นพระก็ดี เป็นเณรก็ดี เป็นปะขาว เป็นแม่ชี เป็นเด็กเล็ก เป็นผู้ใหญ่ คนจน คนรวย คนฉลาด คนโง่ไปเกิดในอบายภูมิได้ทั้งนั้นถ้าประมาท ถ้าผู้ใดประมาทบุคคลนั้นก็ไปเกิดในอบายภูมิได้
ญาติโยมทั้งหลายได้มาร่วมกันทำบุญในวันนี้ก็ขอให้ญาติโยมทั้งหลายได้ตื่นตัวรักษาศีล เรารักษาศีลแล้วเราก็ควรเจริญภาวนาบ้าง การให้ทานนั้นก็มีผลมากมีอานิสงส์มาก ไม่ใช่มีผลน้อยไม่ใช่ อย่างเช่นหลวงพ่อพิชัย มหาสุโภ ท่านพาพวกเราทั้งหลายกำลังจะสร้างศาลาการเปรียญเป็นการวางเสาเอกวางศิลาฤกษ์ในวันพรุ่งนี้ ญาติโยมทั้งหลายซึ่งเป็นผู้ร่วมบารมีผู้ร่วมบริวารกับท่านช่วยกันสร้าง ช่วยกันก่อศาลานี้ก็ถือว่าเป็นบุญมาก
ท่านกล่าวไว้ในมิลินทปัญหาว่าการสร้างศาลานี้มีอานิสงส์มากไหม พญามิลินถามพระนาคเสนว่า พระนี้ไม่ควรที่จะมีวัด ไม่ควรที่จะมีศาลาอยู่ พระน่าจะอยู่ตามต้นไม้ ตามถ้ำ ตามผา ไม่ควรที่จะติดศาลา ไม่ควรที่จะมีที่อยู่ที่อาศัยเป็นหลักเป็นแหล่ง น่าจะพักตรงโน้นบ้างตรงนี้บ้าง น่าจะเป็นผู้ไม่มีร่องรอยในการไปการมา นี้พญามิลินกล่าวกับพระนาคเสนอย่างนั้นพระนาคเสนก็บอกว่า ดูก่อนมหาบพิตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พระองค์ไม่ทรงห้ามการสร้างศาลา ไม่ทรงห้ามให้พระนั้นมีวัดวาอาราม แต่พระองค์ทรงสอนว่าไม่ให้ติดในที่อยู่ ไม่อาลัยในที่อยู่ แล้วพระนาคเสนก็ได้กล่าวต่อไปว่า การที่มีวัดก็ดีก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้โยมนั้นมาทำบุญได้ง่าย อันนี้เป็นการสนทนาระหว่างพระยามิลินกับพระนาคเสน
แล้วท่านกล่าวไว้ในวิหารทานว่า การให้ทานกับสัตว์เดรัจฉาน ๑๐๐ ครั้ง ไม่เท่ากับให้บุคคลผู้ทุศีลครั้งหนึ่ง
เราทำทานเอาข้าวให้เป็ดให้ไก่เอาหญ้าให้วัวให้ควาย ๑๐๐ ครั้ง ไม่เท่ากับให้คนผู้ทุศีล คนขี้เหล้าเมายา ผู้เป็นอันธพาลต่างๆ นั้นเพียงครั้งเดียว
เราให้ทานแก่บุคคลผู้ทุศีล ๑๐๐ ครั้ง ไม่เท่ากับให้ทานแก่บุคคลผู้มีศีลครั้งหนึ่ง
เราให้ทานแก่บุคคลผู้มีศีล ๑๐๐ ครั้ง ไม่เท่ากับให้ทานแก่บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเพื่อบรรลุเป็นพระโสดาบันครั้งเดียว
เราให้ทานแก่บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุเป็นพระโสดาบัน ๑๐๐ ครั้ง ไม่เท่ากับให้แก่พระโสดาบันเพียงครั้งเดียว
เราให้แก่พระโสดาบัน ๑๐๐ ครั้ง ไม่เท่ากับให้แก่บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุเป็นพระสกทาคามีครั้งเดียว
เราให้ทานแก่บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุเป็นพระสกทาคามี ๑๐๐ ครั้ง ไม่เท่ากับให้แก่พระสกทาคามีครั้งเดียว
ให้แก่พระสกทาคามี ๑๐๐ ครั้งไม่เท่ากับให้แก่บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุเป็นพระอนาคามีเพียงครั้งเดียว
ให้แก่บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุเป็นพระอนาคามี ๑๐๐ ครั้ง ก็ไม่เท่ากับให้แก่พระอนาคามีครั้งเดียว
ให้แก่พระอนาคามี ๑๐๐ ครั้ง ก็ไม่เท่ากับให้แก่บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์ครั้งเดียว
ให้แก่บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์ ๑๐๐ ครั้ง ไม่เท่ากับให้แก่พระอรหันต์ครั้งเดียว
ท่านยังกล่าวต่อไปอีกว่าให้แก่พระอรหันต์ ๑๐๐ ครั้ง ก็ไม่เท่ากับให้แก่พระพุทธเจ้าเพียงครั้งเดียว
ท่านกล่าวอย่างนั้นแล้วท่านกล่าวต่อไปอีกว่า ให้แก่พระพุทธเจ้า ๑๐๐ ครั้งก็ไม่เท่ากับให้แก่สงฆ์ครั้งเดียว
แล้วท่านยังกล่าวต่อไปอีกว่าให้แก่สงฆ์ ๑๐๐ ครั้ง ก็ไม่เท่ากับการสร้างวิหารทาน หรือว่าการสร้างศาลาเพียงครั้งเดียว
คิดดูว่าวิหารทานนั้นมีบุญเลิศ มีบุญประเสริฐ มีบุญมากมาย
แล้วท่านยังกล่าวไว้ในตอนหนึ่ง ในตอนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเรา พระองค์ทรงประทับอยู่ที่ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ในครั้งนั้นสงฆ์มาประชุมกันที่ศาลา หรือว่าศาลาเป็นที่ฟังธรรม ก็สนทนาธรรมกันว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐีมีทรัพย์สมบัติมาก แล้วก็เป็นผู้ใจดี ใจกว้างขวางทำบุญทำทานมากมาย สร้างศาลา สร้างวิหารถวายพระพุทธเจ้า เมื่ออนาถบิณฑิกเศรษฐีตายไปแล้ว บุญอะไรหนอ อนาถบิณฑิกเศรษฐีจะพึงได้ บุญอะไรจะเกิดขึ้นแก่อนาถบิณฑิกเศรษฐีบ้าง มีพระภิกษุสนทนากันในธรรมสภา
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้วาระจิตของภิกษุทั้งหลาย พระองค์ก็ทรงเดินเสด็จไปสู่สถานที่ฟังธรรมตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสนทนาธรรมกันเรื่องอะไร พระในหมู่ของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นมีพระอานนท์เป็นผู้กราบเรียนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าสงฆ์ทั้งหลายทั้งปวงกำลังคุยกันว่าอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างวิหารถวายทานให้แก่พระพุทธเจ้า ถวายทานให้แก่สงฆ์ การสร้างวิหารทานนั้นจะเป็นอย่างไร ในเมื่ออนาถบิณฑิกเศรษฐีวายชนม์ทำกาละล่วงลับไปแล้ว
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสว่า ในสมัยก่อน พระองค์เคยเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ มีพระนามว่าสุทัศน์ ครองเมืองสุทัศน์นครอยู่ ในสมัยนั้นพระบรมกษัตริย์ชื่อว่าสุทัศน์นั้นแหละ ก็สร้างวิหารถวายแก่พระพุทธเจ้าพระนามว่า ปิยทัสสี แล้วก็ทำกาละวายชนม์สวรรคตไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต เมื่อไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตแล้วมีนางอัปสรเป็นแสนนาง ท่านกล่าวไว้ในวิหารทานอย่างนั้น มีนางอัปสรอยู่แสนหนึ่งแล้วก็มีปราสาทอันเป็นทิพย์นั้นสูง ๔๕ โยชน์ มีอายุ ๑,๐๐๐ ปีทิพย์ เสวยความสุขตลอดนั้นอยู่ ๑,๐๐๐ ปีทิพย์
หลังจากจุติคือ เคลื่อนจากสวรรค์ชั้นดุสิตแล้วก็มาเกิดเป็นกุมารชื่อว่า รามวัตติกุมาร อยู่ในเสถนคร เมื่อเจริญวัยขึ้นมาแล้วก็ได้รับดาบกายสิทธิ์ อันสำเร็จด้วยวัชระ เรียกว่าว่าสำเร็จด้วยเพชร คือดาบเพชรกายสิทธิ์ แล้วก็ยังมีช้างแก้ว ม้าแก้ว วัวแก้ว แล้วก็ปราสาทแก้วได้ปรากฏขึ้นแก่รามวัตติกุมารนั้น ต่อมาได้สวรรคตแล้วก็ท่องเที่ยวไปในวัฏสงสาร ชาติสุดท้ายก็ได้มาสำเร็จเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเรา ก็เพราะอาศัยวิหารทานนั้นเป็นตัวสนับสนุน แม้ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าก็สำเร็จได้
นี้ถ้าเราสร้างศาลาการเปรียญขึ้นในพระศาสนา เรียกว่าการสร้างบุญ สร้างศาลาก็มีบุญมาก แต่ว่าบุญนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นท่องเที่ยวไปในวัฏสงสาร เพราะฉะนั้นอาตมภาพมีโอกาสมาเยี่ยมก็อยากจะให้ญาติโยมทั้งหลายทั้งปวงนั้นอย่าได้อิ่มในบุญ อย่าได้อิ่มในกุศลที่ตนเองได้ทำมา พยายามทำจิตของตนให้ผ่องแผ้วด้วยการเจริญภาวนา เพราะว่าบุญนั้นมีอยู่ ๔ ขั้น
ขั้นที่ ๑ เรียกว่า กามาวจรบุญ บุญที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ท่องเที่ยวไปในกามภพ หรือว่าให้เรามาเกิดเป็นมนุษย์บ้าง มาเกิดเป็นเทวดาบ้าง เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานบ้างอันนี้เรียกว่า กามภพ เราก่อน้ำก่อศาลา สร้างถนนหนทาง สร้างสะพาน ทำบุญกฐิน ทำบุญผ้าป่า พอควร เรียกว่าเป็นกามาวจรบุญ บุญเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ท่องเที่ยวไปในกามาวจรภพ ท่องเที่ยวไปในกามภพ
บุญประเภทที่ ๒ เรียกว่า รูปาวจรบุญ ยิ่งจะเกิดขึ้นง่ายด้วยการเจริญสมถกรรมฐาน เราจะให้ทานตั้งแต่วันเกิดจนถึงวันตายรูปาวจรบุญก็ไม่เกิด เราจะรักษาศีลตั้งแต่วันเกิดจนถึงวันตาย เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดก็รักษาศีลอยู่อย่างนั้นแหละ แต่ว่ารูปาวจรบุญก็ไม่เกิด เพราะอะไร เพราะเราไม่เคยเจริญภาวนา เรียกว่าอานิสงส์ของศีลนั้นไม่สามารถยังรูปาวจรบุญให้เกิดขึ้นมาได้ แต่เราเอาความบริสุทธิ์ของศีลนั้นแหละมาเจริญภาวนา เหมือนกับญาติโยมกำลังนั่งฟังธรรมอยู่นี้แหละ กำหนด “พุทโธๆ” ไปบางคนก็ได้สมาธิ ในขณะที่ฟังเทศน์ฟังธรรม ให้เราดูสมัยครั้งพุทธกาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงใช้การเผยแผ่พระศาสนาอย่างไร เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้ที่ต้นศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธคยา เมืองพาราณสีแล้วพระองค์ทรงไปโปรดใครก่อน พระองค์ทรงไปโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ขณะที่ไปโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ บุคคลใดได้บรรลุมรรคผลนิพพานก่อน โกณฑัญญะผู้เป็นหัวหน้าปัญจวัคคีย์ ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ มีโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชินั้น บุคคลผู้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานก่อนคือ โกณฑัญญะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตรให้ฟังก็บรรลุดวงตาเห็นธรรม นี้คนได้บรรลุมรรคผลนิพพานเพราะการฟังธรรม
แล้วในขณะที่พระองค์ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตรโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วพระองค์ทรงแสดงอนันตลักขณสูตร พูดถึงรูปของเรา เวทนาของเรา วิญญาณ สังขารของเราเป็นอนัตตา ไม่มีตัวมีตนให้ปัญจวัคคีย์ที่เหลือฟัง ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ได้เกิดเป็นพระอรหันต์อุบัติขึ้น ๕ องค์ในพุทธศาสนาครั้งแรก ก็เพราะการฟังธรรม แล้วเราศึกษาตามประวัติของพระพุทธเจ้า หลังจากที่พระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์แล้วพระองค์ทรงเสด็จไปไหน ทรงเสด็จไปโปรดพระยสะ
พระยสะนั้นเกิดความวุ่นวาย ไปเห็นนางสนม นางกำนันนอนเปลือยกาย น้ำลายไหล บางนางก็กรน บางนางก็ขี้มูกน้ำลายไหล ดูแล้วก็น่าเกลียดน่ากลัว ยสะกุลบุตรนั้นก็เกิดความเบื่อหน่าย เดินออกจากบ้านไปบ่นว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์กำลังเดินจงกรมอยู่ พระองค์ก็ทรงตรัสว่า “ที่นี่ไม่วุ่นวายหนอ ที่นี่ไม่ขัดข้องหนอ ขอเชิญท่านมาที่นี่เราตถาคตสามารถที่จะทำให้ท่านนั้นหมดความวุ่นวาย หมดความขัดข้องได้” แล้วก็เข้าไปหาพระพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมเรื่อง อนุปุพพิกถา เมื่อจบอนุปุพพิกถาก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดจึงได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน แล้วก็ไปโปรดบิดา มารดา แล้วก็ภรรยาของพระยสะ พร้อมด้วยสหายอีก ๕๕ ท่านได้บรรลุเป็นพระอรหันต์หมด เรียกว่าพระองค์ทรงแสดงโปรดคนเหล่านั้นด้วยการแสดงธรรม เผยแผ่พระศาสนาด้วยการแสดงธรรม เหมือนกับญาติโยมทั้งหลายกำลังฟังอยู่นี้แหละ นอกจากนั้นก็ยังเสด็จไปโปรดพวกภัทวัคคี เรียกว่ากุมาร ๓๐ คนที่ตามหาหญิงแพศยาในไร่ฝ้าย พระองค์ก็ทรงแสดงอนุปุพพิกถานี้แหละ พรรณนาเรื่องทานเรื่องศีล เรื่องสวรรค์ เรื่องโทษของกามคุณ เรื่องอานิสงส์ของการออกบวชนี้แหละ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภัทวัคคีทั้ง ๓๐ นั้นอย่างต่ำได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน อย่างสูงได้บรรลุเป็นพระอนาคามี แล้วก็ไปโปรดชฎิล ๓ พี่น้องแล้วโปรดพระเจ้าพิมพิสาร พร้อมด้วยบริวาร ๑๑ หมื่น ได้บรรลุอีก ๑๐,๐๐๐ เป็นกัลยาณชน แล้วก็ไปโปรดเมืองสาวัตถีได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ๕ โกฏิ กับอีก ๒ โกฏิได้เป็นกัลยาณชน ถ้าเราพิจารณาตามการเผยแผ่ของพระพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ทรงเผยแผ่ด้วยการแสดงธรรม
อาตมภาพมาในครั้งนี้ก็กล่าวธรรมก็เห็นว่าพอสมควร ก็ไม่ขอกล่าวมาก อาจทำให้ญาติโยมบางคนบางท่านอาจจะเครียด เพราะว่าการฟังธรรมนั้นอาตมาได้มุ่งไปที่สาระ ไม่ได้มุ่งไปที่ความเพลิดเพลิน หรือว่ามุ่งไปที่ความสนุกสนาน แต่มุ่งไปที่ความเจริญงอกงามแห่งจิตใจ แห่งศีล แห่งธรรม แห่งสมาธิ แห่งปัญญา แห่งมรรค แห่งผลในพระนิพพานของญาติของโยมทั้งหลายทั้งปวง
อาตมภาพได้กล่าวธรรมมาก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ในท้ายที่สุดนี้ด้วยอานุภาพของพระพุทธเจ้าทั้งปวง ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรมทั้งปวง ด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ทั้งปวง ด้วยอานุภาพแห่งทาน แห่งศีล แห่งสมาธิ แห่งภาวนา ที่ญาติโยมทั้งหลายได้บำเพ็ญมาดีแล้วก็ขอให้ได้มารวมกันเป็นตบะเป็นเดชะเป็นพลวปัจจัยส่งเสริมให้ญาติโยมทุกท่านทุกคนที่มารักษาศีลร่วมกันในวันนี้ ร่วมกันวางศิลาฤกษ์ ศาลาในวันพรุ่งนี้ ก็ขอให้ญาติโยมทุกคนเป็นคนที่มีจิตสถิตมั่นในพระสัทธรรม นำตนให้พ้นไปจากความทุกข์ ถึงสันติสุข กล่าวคือมรรคผลนิพพาน ในอนาคตกาลอันใกล้ๆ นี้ด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.