โรคทางกายกับจิต
(เทศน์ที่สถานปฏิบัติธรรมจอมทอง ๒๓ พ.ย. ๕๖)
การสืบต่อการประพฤติปฏิบัติธรรมก็จะได้ฟังธรรมไปตามลำดับ โรคนั้นมีลักษณะที่เสียดแทง โรคกายก็เสียดแทงกายให้เร่าร้อน ให้ได้เกิดความทุกข์ เกิดความเดือดร้อนต่างๆ โรคทางจิตก็เป็นเหตุให้จิตใจของเรานั้นเร่าร้อนไปด้วยความโกรธ ความโลภ ความหลง ทำให้จิตใจของเราเกิดความทุกข์ เกิดความโศก เกิดความวิปปฏิสารต่างๆ อันนี้เรียกว่าโรคทางจิต แต่ว่าโรคทางกายท่านกล่าวว่าทุกคนที่เกิดขึ้นมาแล้วล้วนมีโรคทางกายด้วยกันทั้งนั้น บุคคลที่เกิดขึ้นมาแล้วล้วนมีโรคทางกาย ด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีมากก็มีน้อย บางคนก็ปวดหัว บางคนก็ตัวร้อน บางคนก็เจ็บตรงนั้นบ้าง ปวดตรงนี้บ้าง เรียกว่าโรคทางกาย เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายได้มาอยู่ร่วมกันนี้ เราจะหลีกเร้นไปจากโรคทางกายนั้นเป็นไปไม่ได้ ไม่เป็นโรคอย่างใดก็โรคอย่างหนึ่ง
แต่ว่าโรคทางกายนั้นสมมติฐานมันเกิดขึ้นมาจากโรคอะไร โรคทางกายนั้นสมมติฐานนั้นก็เกิดขึ้นมาจากปัจจุบันที่เรากระทำอย่างเช่นเราดื่มสุรามากเกินไป ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดโรคสุราเรื้อรัง หรือว่าเราทำความสะอาดอาหารไม่เรียบร้อยเขาฉีดยาต่างๆ เราไม่ไปล้างให้สะอาด บางครั้งเรารับประทานอาหารอยู่เป็นประจำก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สารพิษต่างๆ นั้นสะสมในร่างกายก็เกิดโรคขึ้นมาได้ บางคนก็ทำงานหนักเกินไปก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เจ็บหลังปวดเอวขึ้นมา บางคนก็คิดมากเกินไปก็ปวดหัวขึ้นมา โรคทางกายนั้นสมมติฐานก็เกิดขึ้นมาจากปัจจุบันเป็นประการที่ ๑
โรคทางกายนอกจากจะเกิดขึ้นมาจากสมมติฐานทางปัจจุบันธรรมแล้วยังเกิดขึ้นมาด้วยอานุภาพของกรรม คือโรคปัจจุบันนั้นนอกจากจะเกิดขึ้นมาขณะที่เราดำรงชีวิตอยู่ แล้วก็ยังเกิดขึ้นมาด้วยอำนาจของกรรม อย่างเช่นแต่ก่อนโน้นเราเคยเบียดเบียนสัตว์ให้เกิดความทุกข์ เกิดความลำบาก พอเราเกิดมาชาตินี้แล้วเราก็ถูกเขาเบียดเบียน ผู้ทำกรรมไว้เช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น
ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ
กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ.
บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น บุคคลทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดี บุคคลทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว
เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ทำกรรมไว้อย่างไร เราก็ต้องได้รับผลอย่างนั้น ถ้าเราเคยเบียดเบียนสัตว์มาแต่ภพก่อนชาติก่อน เกิดมาชาตินี้เราก็ต้องเป็นคนมีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนอยู่เป็นประจำ บางครั้งก็อายุสั้นพลันตาย หรือว่าชาติก่อนโน้นเราเคยลักเล็กขโมยน้อยของบุคคลอื่น เราก็ต้องถูกเขาลักคืน ทรัพย์สมบัติที่เราหามาได้ เราจะเก็บไว้ดีขนาดไหนก็ตาม เราจะซ่อนไว้ดีขนาดไหนก็ตาม ในเมื่อกรรมวิบากผลมันตามมาทัน บางครั้งก็ถูกไฟไหม้ บางครั้งก็ถูกโจรลัก บางครั้งก็ถูกตำรวจมาริบเอา มายึดเอาด้วยข้อหาต่างๆ เรียกว่ากรรมทั้งหลายทั้งปวงที่เรากระทำมานั้นมาเป็นโรคให้เราได้รับความทุกข์ทรมาน
อย่างเช่นพระจักขุบาลในอดีตชาติเป็นหมอแล้วรักษาหญิงคนหนึ่ง แต่หญิงนั้นพยายามบอกว่าตาของตนเองนั้นยังไม่หาย ถึงหายแล้วก็บอกว่าไม่หาย เพราะอะไร เพราะไม่อยากจะชดใช้ค่ารักษาพยาบาล พระจักขุบาลที่เป็นหมอในอดีตชาตินั้นก็ใส่ยาทำให้ตาของนางนั้นบอด ด้วยบาปกรรมนั้นก็ทำให้พระจักขุบาลนั้นตกนรกหมกไหม้สิ้นกาลนาน พ้นจากนรกแล้วก็ต้องเป็นคนตาบอดตั้ง ๕๐๐ ชาติ ชาติสุดท้ายก็เกิดเป็นพระจักขุบาลไปประพฤติปฏิบัติธรรม เดินจงกรม นั่งภาวนา ไม่หลับไม่นอน ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ตาของท่านนั้นดับสนิทมืดบอด ขณะที่ตาของท่านดับกิเลสก็ดับไปด้วย อันนี้เรียกว่าเป็นบาปกรรมโรคที่มันเสียดแทงเราอยู่ปัจจุบันนี้ ก็อาศัยบาปเก่า อกุศลเก่าที่เราเคยกระทำไว้
หรือว่าเรื่องของพระโมคคัลลานะ สมัยก่อนโน้นพระโมคคัลลานะนั้นเป็นผู้หลงในภรรยา แล้วก็เชื่อคำของภรรยา ภรรยาก็ยุยงในสมัยก่อนโน้นที่เป็นมานพก็ไปทำร้ายมารดา บิดาของตนเอง ทำให้เกิดความลำบากเอาค้อนทุบตีบิดามารดาของตนเอง ก็เป็นเหตุให้พระโมคคัลลานะต้องถูกทุบตี ต้องตกนรกหมกไหม้สิ้นกาลนาน พ้นจากนรกแล้วก็ต้องถูกเขาทุบตีอยู่อย่างนั้น นับภพ นับชาติ นับกัป นับกัลป์ไม่ได้ มาชาติสุดท้ายนี้ถึงสำเร็จเป็นพระโมคคัลลานะแล้วก็ยังถูกทุบตี แล้วก็ถึงซึ่งพระนิพพานด้วยการถูกโจรห้าร้อยทุบตี บาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็จะตามมารบกวน ตามมาเป็นโรคเสียดแทงเราอยู่ทำให้เรานั้นเดือดร้อน ทำให้บุคคลผู้ขาขาดก็ดี แขนขาดก็ดี หูหนวกก็ดี ตาบอดก็ดี เหล่านี้เกิดขึ้นมาจากเศษของกรรมทั้งหลายทั้งปวงที่ตามมาราวี เป็นสัญลักษณ์ เป็นตราประทับของนรกที่ปรากฏขึ้นมาในหมู่มนุษย์ของเรา เป็นเศษกรรม เป็นตราบาป ที่พ้นจากนรกขึ้นมาแล้วได้รับเศษกรรมเหล่านั้น เป็นคนหูหนวก เป็นคนตาบอด เป็นคนใบ้บ้า ง่อยเปลี้ย เสียขา ต่างๆ สิ่งเหล่านี้ถือว่าเกิดขึ้นมาจากอกุศลกรรมทั้งหลายทั้งปวง โรคจึงเกิดขึ้นมาจากกรรม เรียกว่าโรคทางกาย
ส่วนโรคภายในคือ เจตสิกโรโค คือโรคทางจิต โรคทางกายเราทั้งหลายทั้งปวงก็เป็นกัน ส่วนโรคทางจิตนั้นเราจะพ้นไปจากโรคแค่วันหนึ่งสองวัน ชั่วโมงหนึ่งสองชั่วโมงนั้นก็ยาก โรคทางกายนั้นเราจะบอกว่าเราไม่เป็นโรควันนี้เราไม่เป็นโรค พรุ่งนี้เราไม่เป็นโรค สองวัน สามวัน เจ็ดวัน หนึ่งเดือน หนึ่งปี เราสามารถที่จะพูดได้ เราไม่เป็นโรคทางกายหลายๆ ปี เราก็สามารถที่จะพูดได้ แต่ว่าโรคทางใจไม่มีใครที่จะบอกว่าเราไม่เป็นโรคทางใจ แม้แต่ชั่วครู่เดียวเราไม่สามารถที่จะบอกว่าไม่เป็นโรคทางใจได้ เพราะความโกรธ ความโลภ ความหลง ความอิจฉา ความริษยา มานะ ทิฏฐิ ตัณหา ต่างๆ นั้นเกิดขึ้นในจิตในใจของเราเป็นประจำ เพราะฉะนั้นโรคทางใจจึงเกิดอยู่เป็นนิตย์ โรคทางใจของเรานั้นเกิดขึ้นมาจากอะไร ท่านกล่าวว่าโรคทางใจเกิดขึ้นมาจากปัจจุบันธรรมเหมือนกัน แล้วก็เกิดขึ้นมาจากกรรมเหมือนกัน โรคทางใจนั้นเกิดขึ้นมาจากปัจจุบันธรรมอย่างไร เกิดขึ้นมาจากปัจจุบันด้วยการสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็ทางใจ ขณะที่ตาของเรานั้นไปเห็นรูป เกิดจักขุวิญญาณขึ้นมา อาการ ๓ อย่างประจวบกันขึ้นมาเป็นการประชุมกันเรียกว่าผัสสะ การประชุมกันทางตา ทางรูป แล้วก็รู้แจ้งในรูปปรากฏขึ้นมาเรียกว่าผัสสะ ผัสสะนี้แหละทำให้เราเกิดความดีใจ เสียใจ
เพราะฉะนั้นถ้าเราเกิดความดีใจ พอใจขึ้นมาก็เป็นราคะ แต่ถ้าเราเกิดปฏิฆะ เกิดความไม่พอใจขึ้นมาก็เป็นโทสะ แต่เราเกิดความหลง เกิดความมัวเมา ไม่กำหนดในสิ่งนั้นก็เป็นโมหะ เป็นอวิชชาขึ้นมา โรคทางจิตเกิดขึ้นมาเพราะตาของเราเห็นรูป แล้วก็เกิดความรู้ขึ้นมา เมื่อเกิดความรู้ขึ้นมาแล้วเราพอใจ เราไม่พอใจ หรือว่าเราไม่กำหนดเราเกิดความลุ่มหลง โรคมันเกิดขึ้นมาทางตาแล้ว หรือขณะที่หูของเราได้ยินเสียงแล้วก็เกิดโสตวิญญาณขึ้นมา หูก็ดี เสียงก็ดี โสตวิญญาณก็ดี ประจวบกันเข้าเรียกว่าผัสสะ แล้วก็เกิดความดีใจ เกิดราคะขึ้นทางหู เกิดความปฏิฆะความไม่พอใจก็เกิดความโกรธขึ้นมาในขณะที่เราฟังเสียง หรือในขณะที่เราฟังเสียงนั้นเราเกิดความลุ่มหลงในเสียงนั้นก็เกิดโมหะ เกิดอวิชชาขึ้นมา กิเลสมันเกิดขึ้นมาทางหูแล้ว หรือว่าทางจมูกของเราก็เหมือนกัน ขณะที่จมูกของเราดมกลิ่น สัมผัสกลิ่นแล้วก็เกิดวิญญาณทางจมูกของเราขึ้นมา เรียกว่า ฆานวิญญาณ เกิดความรู้แจ้งทางจมูกขึ้นมา ถ้าเกิดการสัมผัสกลิ่นแล้วเราเกิดความพอใจ ความชอบใจในกลิ่น ก็เป็นราคะ เป็นความโลภแล้ว แต่ถ้าเราเกิดความไม่ชอบใจ เกิดปฏิฆะเกิดความโกรธขึ้นมาก็เป็นโทสะแล้ว แต่ถ้าเราดมกลิ่นแล้วเราไม่กำหนดรู้ก็เป็นโมหะ เป็นอวิชชา หรือว่าในขณะที่ลิ้นของเราลิ้มรส ได้รสแล้วเกิดความรู้ในรส ถ้าเราพอใจก็เป็นความโลภ เป็นราคะไป แต่ถ้าเราไม่พอใจก็เป็นโทสะ แต่ถ้าเราไม่กำหนดก็เป็นโมหะ หรือว่าเราสัมผัสทางกายของเรา จะเป็นความร้อน ความอ่อน ความเย็น ความแข็ง อะไรต่างๆ ที่เราสัมผัสทางกายของเรา ขณะที่เราสัมผัสนั้นเราเกิดความพอใจ เกิดความชอบใจก็เป็นราคะ เป็นโลภะไป แต่ถ้าเราเกิดความไม่ชอบใจก็เป็นโทสะเป็นปฏิฆะไป หรือว่าเราเกิดความลุ่มหลงในสิ่งที่เราสัมผัสก็ถือว่าเป็นโมหะไป
สรุปแล้วโรคทางจิตนั้นเกิดขึ้นจากปัจจุบันธรรมคือการสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็สัมผัสทางใจของเราที่สัมผัสอารมณ์ต่างๆ โรคมันเกิดขึ้นมาในลักษณะอย่างนี้ เวลาความโกรธเกิดขึ้นมามันก็เสียดแทงใจของเราให้เร่าร้อน อยากกำหมัดกัดฟัน อยากตีรันฟันแทงต่างๆ หรือว่าเราเกิดโรคคือราคะขึ้นมาจิตใจของเราก็รุ่มร้อน กระสับกระส่าย สับสนวุ่นวายขึ้นมา ปรารถนาสิ่งที่เราต้องการ เรียกว่าความโลภมันเกิดขึ้นมาก็ทำให้ใจของเรานั้นขาดเหตุขาดผลอยากได้สิ่งนั้นมาโดยมิชอบ ไปลักเล็กขโมยน้อย ไปโกง ไปหลอกลวงต้มตุ๋นอะไรต่างๆ อันนี้ลักษณะของกิเลสมันเกิดขึ้น โรคภายในมันเกิดขึ้นในจิตในใจของเรา แล้วก็โรคอีกอย่างหนึ่ง โรคภายในที่เกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่งก็คือ เกิดขึ้นมาด้วยอำนาจของกรรม บางคนทำกรรมไว้มากอย่างเช่นแต่ก่อนโน้นบุคคลนั้นไม่ค่อยเจริญภาวนา บุคคลที่ไม่เคยเจริญภาวนา ไม่เคยไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ไม่เคยถวายหนังสือธรรมะ ดูถูกการเรียนหนังสือธรรมะ ดูถูกการท่องตำรับตำราธรรมะ เกิดขึ้นมาแล้วก็เป็นคนโง่เขลาเหมือนกับพระจูฬปันถก พระจูฬปันถกไปว่าให้บุคคลผู้กำลังท่องบทพุทธพจน์ สาธยายพุทธพจน์ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดมาเป็นคนโง่เขลา เป็นคนขาดสติ ท่องพุทธพจน์อย่างไรๆ ก็ท่องไม่ได้ พุทธพจน์เพียงแต่บาทพระคาถาเดียว ท่องตลอดพรรษาก็ยังจำไม่ได้ อันนี้เรียกว่าบาปกรรมที่ไปดูถูกบุคคลผู้กล่าว กำลังท่องบ่นสาธยายพุทธพจน์อยู่
บุคคลผู้ที่ไม่เคยเจริญวิปัสสนากรรมฐานมาภพก่อนชาติก่อน พอมาถึงปัจจุบันชาตินี้ เวลาออกเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างไรๆ ปัญญาญาณก็ไม่เกิด วิปัสสนาญาณไม่เกิด ปฏิบัติธรรม เดินจงกรม นั่งภาวนาอย่างไรๆ วิปัสสนาญาณก็ไม่เกิด ทำไมวิปัสสนาญาณไม่เกิดเพราะทำบุญไม่ครบไตรเหตุ ให้แต่ทาน รักษาศีล แต่ไม่ได้ปรารถนาพระนิพพาน ไม่ได้เจริญภาวนามา ทำบุญไม่ครบไตรเหตุ เป็นแต่เพียงทวิเหตุ มาประพฤติปฏิบัติธรรมวิปัสสนาญาณไม่เกิด อันนี้โรคจิตของเรามันก็เกิดขึ้นมาจากการที่เราไม่ได้สั่งสมอบรมบารมีไว้แต่ภพก่อนชาติก่อน หรือว่าภพก่อนชาติก่อนโน้น บางคนเป็นผู้กินเหล้าเมาสุรามาก บาปกรรมที่กินเหล้าเมาสุรานั้นก็เป็นเหตุให้บุคคลนั้นตกนรก พ้นจากนรกขึ้นมาแล้วบุคคลนั้นก็เป็นคนบ้า คล้ายๆ ว่าเป็นคนบ้าน้ำลาย เป็นคนไม่มีสติสตางค์ ขาดสติ เพราะอะไร เพราะบาปกรรมที่กระทำไว้แต่ภพก่อนชาติก่อนนั้นตามมาทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้ขาดปัญญา เป็นผู้ขาดสติ เป็นคนบ้า นี้ในลักษณะของโรคจิตมันเกิดขึ้นมาก็ด้วยอำนาจของปัจจุบันธรรมด้วย ด้วยอำนาจของบาปกรรมที่เราทำไว้แต่ภพก่อนชาติก่อนด้วย
สรุปแล้วว่าโรคกายเราจะรักษาให้หายนั้น เราก็ไปหาหมอรักษาตามวิชาของแพทย์ แต่ว่าโรคจิตนั้นเราจะรักษาอย่างไรให้มันหาย เราก็ต้องรักษาตามธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ โรคจิตเราจะรักษาด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน โรคจิตนั้นเราจะรักษาด้วยการให้ทาน การรักษาศีล หรือการเจริญสมถกรรมฐานนั้น เราจะรักษาอย่างไรๆ มันก็ไม่หายขาด เป็นแต่เพียงข่มไว้เฉยๆ ถ้าเราไม่รักษาด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าเราให้ทานตั้งแต่เกิด เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดโรคจิตของเราก็ไม่มีวันหาย เรารักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ดี ตั้งแต่เราเกิด เกิดแล้วตายแล้วเกิด รักษาศีลอยู่อย่างนั้นแหละ เราก็ไม่สามารถที่ละโรคจิตโรคภายในนั้นให้เด็ดขาดลงไปได้ เราจะเจริญสมถกรรมฐานเหาะเหินเดินอากาศแสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ เหมือนกับพระเทวทัต เราก็ไม่สามารถที่จะละโรคภายในคือโรคจิตนั้นได้ เพราะอะไร เพราะโรคจิตนั้นต้องรักษาด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เหมือนกับคณะญาติโยม คณะครูบาอาจารย์กำลังประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่นี้ เรียกว่าเป็นการรักษาโรคจิตของเรา
การรักษาโรคจิตด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นเราจะรักษาอย่างไร ญาติโยมบางท่านบางคนอาจจะเกิดความสงสัย คณะครูบาอาจารย์บางรูปบางท่านอาจจะเกิดความสงสัย รักษาโรคจิตนั้นจะรักษาอย่างไร การรักษาโรคจิตนั้นท่านกล่าวว่าให้รักษาที่ปัจจุบันธรรม อย่างเช่นโรคคือความโกรธก็ดี โรคคือโมหะ โรคคือความลุ่มหลง หรือโรคคือราคะ มานะ ทิฏฐิก็ดี โรคเหล่านี้เราจะรักษาโรคอะไรก่อน โรคอะไรเกิดขึ้นที่จิตที่ใจของเราก่อน เราก็รักษาที่ปัจจุบันธรรม ขณะที่ตาของเราเห็นรูป เรากำหนดว่า “เห็นหนอๆ” หรือเรากำหนดว่า “พุทโธๆ” ไม่ให้ใจของเรานั้นไปยึดมั่นอยู่ในรูป ว่ารูปนั้นเป็นเรา ว่าเรานั้นเป็นรูป อย่าให้จิตของเรานั้นไปยึดอยู่กับรูป เห็นก็สักแต่ว่าเห็น ขณะที่เราได้ยินเสียงก็เหมือนกัน เราก็กำหนดว่า “ได้ยินหนอๆ” หรือว่า “เสียงหนอๆ” ได้ยินสักแต่ว่าได้ยินไม่ให้จิตใจของเรานั้นไปยึดมั่นถือมั่นในเสียงที่มาปรากฏกระทบกับหูของเรา
ขณะที่จมูกของเราดมกลิ่นก็เหมือนกัน ขณะที่เราดมกลิ่นเราก็กำหนดว่า “กลิ่นหนอๆ” หรือว่า “รู้หนอๆ” ไม่ให้จิตของเรานั้นยินดีในกลิ่น จะเป็นกลิ่นเหม็นก็ดี กลิ่นหอมก็ดี ให้เราได้กลิ่นสักแต่ว่าได้กลิ่น ไม่มีความโกรธ ไม่มีความโลภในกลิ่น ไม่มีการปรุงแต่งในกลิ่นนั้น ขณะที่ลิ้นของเราลิ้มรสก็ดี เราก็กำหนดว่า “รสหนอๆ” ไม่ให้จิตของเราปรุงแต่ง ว่าชอบใจหรือไม่ชอบใจ รสดีหรือไม่ดี รสสักแต่ว่ารส เราไม่ปรุงแต่ง มีจิตเป็นกลางในอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง กายของเราเวลานั่งภาวนามันปวดแข้งปวดขาก็ดี ท่านให้เราวางใจเป็นกลางกำหนดลงไปตรงที่ปวด “ปวดหนอๆ” โดยที่เราไม่อยากให้มันหาย เราไม่อยากให้มันปวดมันก็ปวด เราไม่อยากให้มันตั้งอยู่มันก็ตั้งอยู่ เราทำใจเป็นกลางๆ ในเวทนา “ปวดหนอๆ” ปวดสักแต่ว่าปวด นี้เรากำจัดโรค
เมื่อเราวางจิตวางใจของเราให้เป็นกลางในลักษณะอย่างนี้ ความโกรธมันก็เกิดขึ้นมาไม่ได้ ความโลภมันก็เกิดขึ้นมาไม่ได้ ความหลงมันก็เกิดขึ้นมาไม่ได้ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทานต่างๆ มันก็เกิดขึ้นมาไม่ได้ โรคภายในมันก็เกิดขึ้นมาท่วมทับจิตใจของเราไม่ได้ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ถ้าผู้ใดกำหนดไม่ทันปัจจุบันธรรม มันก็เป็นเหตุให้เกิดอวิชชาคือความหลงขึ้นมา คือ ถ้าเรากำหนดตา กำหนดหู กำหนดจมูก กำหนดลิ้น กำหนดกาย กำหนดใจของเราไม่ทัน มันก็เกิดอวิชชาคือความไม่รู้ ความหลงในอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง เมื่ออวิชชาเกิดขึ้นมาก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มีสังขาร เมื่อมีสังขารก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มีวิญญาณ เมื่อมีวิญญาณก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มีนามรูป เมื่อมีนามรูปก็เป็นเหตุเป็นเป็นปัจจัยให้มีสฬายตนะ เรียกว่ามีอายตนะทั้ง ๖ เมื่อมีสฬายตนะแล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มีผัสสะ เมื่อมีผัสสะก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มีเวทนา เมื่อมีเวทนาแล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มีอุปาทานความยึดมั่นในเวทนานั้นๆ เมื่อมีอุปาทานก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มีภพ เมื่อมีภพก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มีชาติ เมื่อมีชาติก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มีความแก่ พยาธิคือความเจ็บ มรณะคือความตาย โศกะความโศก ปริเทวะความคร่ำครวญ อุปายาสความคับแค้นแน่นใจปรากฏขึ้นมา สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นเกิดขึ้นมาจากผัสสะ จากการกระทบที่เรากำหนดไม่ดี ความโกรธ ความโลภ ความหลง มันเกิดขึ้นมาตรงนี้ ตรงที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรากระทบอารมณ์ที่ปัจจุบัน ความหมุนเวียนเปลี่ยนไป ความเวียนว่ายตายเกิดในห้วงมหรรณพภพสงสาร มันเกิดขึ้นในขณะที่ตาเห็นรูป หูของเราได้ยินเสียง จมูกของเราได้กลิ่น ลิ้นของเราได้รส ที่มันสัมผัสมันเกิดขึ้นมาจากตรงนี้ ภพชาติมันเกิดขึ้นมาจากตรงนี้ นรกสวรรค์มันเกิดขึ้นมาจากตรงนี้ นิพพานมันก็เกิดขึ้นมาจากตรงนี้ มรรคผลนิพพานมันก็เกิดขึ้นมาจากตรงนี้
เพราะว่าการประพฤติให้ทันปัจจุบันธรรม เมื่อเราทันปัจจุบันธรรมไปใจของเราไม่เกิดความโกรธ ใจของเราไม่เกิดความโลภ ใจของเราก็เกิดความบริสุทธิ์ เมื่อจิตใจของเราบริสุทธิ์บริบูรณ์ไปใจของเราก็ประภัสสร เมื่อใจของเราประภัสสรจิตใจของเราก็เบิกบาน เมื่อจิตใจของเราร่าเริงเบิกบานปัญญามันก็เกิดขึ้นมา รู้เห็นตามความเป็นจริง รู้ว่าร่างกายของเรานั้นมันเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา ร่างกายของเรานั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาในท่ามกลางแล้วก็มีการแปรปรวน แล้วก็มีการแตกสลายไปในที่สุด
ร่างกายของเรานั้นเปรียบเสมือนกับรถประกอบกันเข้าเป็นส่วนต่างๆ เมื่อเราแยกส่วนต่างๆ ของรถออก รถนั้นก็ไม่ชื่อว่ารถ ร่างกายของเราก็เหมือนกันประกอบไปด้วยอาการ ๓๒ แต่ถ้าเราแยกส่วนต่างๆ ออกแล้วร่างกายของเราไม่ชื่อว่าร่างกาย ส่วนหนังก็เอาไว้หนัง ส่วนเนื้อก็เอาไว้เนื้อ ส่วนเลือดก็เอาไว้เลือด เหมือนกับบุคคลผู้ฆ่าวัวฆ่าควาย ขณะที่วัวควายเขาจูงไปสู่โรงที่ฆ่าก็ยังเรียกว่าวัวควายอยู่ ในขณะที่นายเพชรฆาตนั้น ฆ่าวัวฆ่าควาย วัวควายนั้นก็ยังชื่อว่าวัวควายอยู่ แต่ในขณะใดที่นายเพชฌฆาตนั้นแร่เนื้อก็เอาไว้ส่วนเนื้อ หนังก็เอาไว้ส่วนหนัง กระดูกก็เอาไว้ส่วนกระดูก ตับไว้ตับ ไตไว้ไต ลำไส้ไว้ลำไส้ เลือดไว้ส่วนเลือด คำว่าวัวนั้นก็หายไป มีแต่เนื้อ มีแต่หนัง มีแต่กระดูก ถ้าเราพูดก็คือดิน น้ำ ไฟ ลม คนเราก็เหมือนกัน
เพราะฉะนั้นถ้าบุคคลใดมาประพฤติปฏิบัติธรรม เดินจงกรมนั่งภาวนากำหนดรู้เท่าทันปัจจุบันธรรมแล้ว บุคคลนั้นก็จะรู้ชัดตามความเป็นจริง อันนี้เป็นเหตุให้เรานั้นรักษาโรคภายใน ถ้าผู้ใดอยากจะดับความทุกข์ ความโศก ดับความโลภ ความหลงต่างๆ ท่านให้เราดับที่ปัจจุบันธรรม ถ้าเราดับปัจจุบันธรรมได้อวิชชาคือความไม่รู้ มันไม่เกิด
เมื่ออวิชชามันดับก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สังขารมันดับ เมื่อสังขารมันดับก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้วิญญาณมันดับ เมื่อวิญญาณมันดับก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้นามรูปมันดับ เมื่อนามรูปมันดับก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สฬายตนะมันดับ เมื่อสฬายตนะมันดับก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผัสสะมันดับ เมื่อผัสสะดับก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เวทนามันดับ เมื่อเวทนามันดับก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ตัณหาดับ เมื่อตัณหาดับก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้อุปาทานดับ เมื่ออุปาทานดับก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภพดับ เมื่อภพดับก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ชาติดับ เมื่อชาติคือความเกิดไม่มีแล้ว ชราก็ไม่มี พยาธิคือความเจ็บก็ไม่มี มรณะคือความตายก็ไม่มี โสกะ คือ ความโศกก็ไม่มี ปริเทวะ คือ ความคร่ำครวญก็ไม่มี อุปายาส คือ ความคับแค้นแน่นใจก็ไม่มี
เมื่ออวิชชาไม่เกิดที่ปัจจุบันธรรมแล้วก็ชื่อว่าเรานั้นดับโรคภายใน ดับความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงได้ ดับแห่งความดับทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงเราต้องดับที่ปัจจุบันธรรม เพราะฉะนั้นคณะครูบาอาจารย์ ญาติโยมทั้งหลายที่มาเดินจงกรม นั่งภาวนา ท่านพาเดินขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ทำไมหนออาจารย์จึงพาเดิน ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ อยู่ในปัจจุบันธรรม คิดก็ไม่ให้คิด ปรุงแต่งก็ไม่ให้ปรุงแต่ง มันจะมีประโยชน์อะไรหนอ พระพุทธศาสนามีแค่นี้หรือ มานั่งภาวนา คิดก็ไม่ให้คิด ปรุงแต่งก็ไม่ให้ปรุงแต่งแล้วมันจะเกิดปัญญาตรงไหน แล้วเราจะบรรลุมรรคผลนิพพานได้อย่างไร นี้บางคนบางท่านเกิดความสงสัย
แต่ก่อนโน้นก็เกิดความสงสัยว่าเราบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาแล้วเราจะประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างไรหนอ เราจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน บรรลุมรรคผลนิพพานนั้นมันเป็นของยากเหลือเกิน ฟ้ากับดินเราคิดว่ามันไกลกันเราก็ยังมองเห็นกันได้ แต่มรรคผลนิพพานโลกุตรธรรมนั้นมันมองกันไม่เห็น มันไกลเหลือเกินไกลกว่าฟ้ากับดินคิดอย่างนั้นในสมัยที่บวชใหม่ๆ แต่เมื่อไปประพฤติปฏิบัติธรรมกับคณะครูบาอาจารย์แล้วประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง เมื่อเราประพฤติปฏิบัติธรรมจริงจัง คณะครูบาอาจารย์ให้เรากำหนดอยู่ที่ปัจจุบันธรรม ขณะที่เรากำหนดทันปัจจุบันธรรมนั้นแหละจิตของเรานั้นไม่ซัดส่ายไปในอารมณ์ต่างๆ เห็นอาการยก เห็นอาการย่าง เห็นอาการเหยียบ เห็นอาการพอง อาการยุบ เห็นต้นพอง กลางพอง สุดพอง เห็นต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ เห็นความเกิดของรูปของนามชัดเจน
เมื่อเราเห็นความเกิดของรูปของนามชัดเจนเท่านั้นแหละ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเห็นอนิจจัง เห็นทุกขัง เห็นอนัตตา เห็นอาการพอง อาการยุบนั้นแหละเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา ในขณะที่สมาธิของเรามันแก่กล้า เรากำหนดอาการ “พองหนอ” “ยุบหนอ” ดีๆ นี้แหละ อาการพองยุบก็ปรากฏเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตาของมันขึ้นมาด้วยอานุภาพของสติ ด้วยอานุภาพของสัมปชัญญะ ด้วยอานุภาพของปัจจุบันธรรม ด้วยอานุภาพของสมาธิ ด้วยอานุภาพของวิปัสสนาญาณมารวมกันก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอาการพองอาการยุบของเรานั้นเร็วขึ้นๆๆๆๆ แล้วก็ขาดความรู้สึกแพบไปหนึ่งขณะจิต ขณะที่ขาดความรู้สึกไปหนึ่งขณะจิตเราคิดว่าเราหลับตามันเร็ว ความรู้สึกที่มันขาดไปมันเร็วกว่านั้น เวลาเราเอาไม้ขีดลงไปในน้ำแพบหนึ่ง เราคิดว่าน้ำมันกลับเข้าหากันเร็ว ความรู้สึกที่มันดับไปแล้วรู้สึกตัวขึ้นมานั้นมันยังเร็วกว่า
หรือว่าในขณะที่ฟ้ามันแลบเราคิดว่าความที่ฟ้าแลบนั้นมันเร็ว แต่ในขณะที่เราเห็นอาการพองอาการยุบมันเร็วขึ้นๆๆๆ แล้วมันดับแพบลงไปหนึ่งขณะจิตนั้น อาการที่มันขาดความรู้สึกหนึ่งขณะจิตมันเร็วกว่าฟ้าแลบอีก เรียกว่ามีความรู้สึกมีสัมปชัญญะที่ชัดเจน แล้วเราก็รู้สึกตัวขึ้นมาบริกรรมอีก อาการพองยุบมันก็เร็วขึ้นๆๆ แล้วก็ดับลงไปอีก นี้ในลักษณะที่ปัญญาเราเห็น ร่างกายเป็นอนิจจัง ในขณะที่กำหนดทันปัจจุบันธรรม
แล้วก็ในขณะที่เราบริกรรมไป เราก็เห็นร่างกายของเราเป็นทุกขัง อาการพอง อาการยุบของเรามันแน่นเข้าๆ คล้ายกับว่าอาการท้องยุบของเรามันแน่นเข้าๆ เวลาท้องพองก็เหมือนกับท้องของเรามันจะระเบิดออกมา เวลาท้องมันยุบลงไปก็เหมือนกับว่าหนังท้องมันยุบลงไปติดกระดูกสันหลังของเรา คล้ายๆ กับว่ามันจะดันเราให้หลุดออกไปจากที่เรานั่ง หลุดออกไปจากนิสีทนะที่เรานั่ง เวลาท้องพองขึ้นมาก็เหมือนกับท้องของเรามันจะระเบิดออก แล้วเราก็จะหงายหลังออกไป นี้ลักษณะของอาการทุกขัง แต่พอเรากำหนดไปๆ มันแน่นเข้าๆๆๆ เมื่อมันแน่นเต็มที่แล้วมันก็ดับเหมือนกันหนึ่งขณะจิตรู้สึกตัวขึ้นมาเราบริกรรม อาการพองอาการยุบก็เป็นปกติ แต่บริกรรมไปบริกรรมมามันก็แน่นเข้าอีกๆๆ แล้วก็ดับลงอีกอันนี้เป็นอาการของทุกขังที่มันเกิดขึ้นมาในขณะที่เราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เราอาศัยปัจจุบันธรรม อาศัยสติ อาศัยสัมปชัญญะ แล้วมันเกิดอาการทุกขังตัวนี้ขึ้นมา อาการที่มันดับลงไปหนึ่งขณะจิตนั้นแหละ เป็นอาการที่เรากำหนดทันปัจจุบันธรรม เกิดขึ้นมาเพราะการกำหนดทันปัจจุบันธรรม
แล้วบางรูปบางท่านกำหนดอาการพองอาการยุบทันปัจจุบันธรรม ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นความเป็นอนัตตา ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนบังคับบัญชาไม่ได้ อันนี้เรียกว่าความเป็นอนัตตา เราภาวนาพองหนอ ยุบหนอไป อาการพองอาการยุบมันแผ่วเบาเข้าๆๆ คล้ายๆ กับว่าอาการพองอาการยุบของเรามันเล็กลงๆๆ จากเท่ากับนิ้วหัวแม่มือเป็นปลายจอมก้อย จากจอมก้อยเป็นเส้นด้าย จากเส้นด้ายก็เป็นปอยด้ายแล้วมันขาดฟับลงไป ความรู้สึกของเราที่มันเห็นชัดเจนนั้นแหละมันขาดฟับลงไป ขณะที่ขาดมันดับลงไปหนึ่งขณะจิต เรารู้สึกตัวขึ้นมาอาการพองอาการยุบของเรามันเป็นปกติ “พองหนอ ยุบหนอ” บริกรรมไปบริกรรมมาก็เล็กเข้าๆๆ แล้วก็ขาดความรู้สึกลงไปอีก นี้ในลักษณะที่เราเห็นอนิจจัง เห็นอนัตตาในร่างกายของเรา
ท่านกล่าวไว้ว่าถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติธรรมจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นรูปนามของเรานี้มันขาด ดับไป ในลักษณะอย่างนี้ท่านกล่าวว่าเวลาเดินจงกรมแต่ละก้าว “ขวาย่างหนอ” นี้ตัดภพตัดชาติได้ ๗ ชาติ คือภพชาติของเรามันสิ้นไป ๗ ชาติ “พองหนอ” ครั้งหนึ่งนี้ตัดภพตัดชาติได้ ๗ ชาติ แทนที่เราจะเกิดไปอีกเป็นหลายๆ หมื่นชาติ หลายๆ แสนกัปแสนกัลป์ เราก็ตัดภพตัดชาติให้น้อยลงไป เดินจงกรมครั้งหนึ่ง ก้าวหนึ่งก็ตัดภพตัดชาติได้ ๗ ชาติ พองหนอยุบหนอก็ตัดภพตัดชาติ ความเกิดดับในการคู้ การเหยียด การก้ม การเงย เรากำหนดทันปัจจุบันธรรม ทันความเกิดดับเมื่อไร ความเกิดดับก็เกิดขึ้นเมื่อนั้นเราก็ตัดภพตัดชาติได้ ๗ ชาติ นี้ในลักษณะของการดับกิเลส ถ้าเราทันปัจจุบันธรรมแล้วเราก็จะทันรูปทันนาม เมื่อเราทันรูปนามเราก็คิดว่าเราทันกิเลส
เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ท่านจะให้เรากำหนดทันปัจจุบันธรรม เมื่อวิปัสสนาญาณของเรามันแก่กล้าขึ้นมาในลักษณะอย่างนี้แล้ว วิปัสสนามันก็จะส่งให้ปัญญาของเรามันเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ถ้าเราไม่หยุดการประพฤติปฏิบัติธรรม วิปัสสนาญาณก็จะส่งไปๆๆ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราบรรลุมรรคผลนิพพานได้ เราจะรักษาโรคภายในคือโรคจิต เราต้องรักษาที่ปัจจุบันธรรม สรุปแล้วก็คือ ให้ญาติโยม ให้คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายนั้นควบคุมดูจิตของตนเอง รักษาจิตของตนเอง ดูแลจิตของตนเอง บอกจิตของตนเองให้ได้ รั้งจิตของตนเองให้อยู่ รู้ให้ทันกระบวนการจิตของตนเอง เพราะว่าจิตของเรานั้นถือว่าเป็นมหาเหตุ
ท่านกล่าวว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจประทุษร้ายแล้วความทุกข์ย่อมติดตามบุคคลนั้นไป เหมือนกับล้อเกวียนหมุนไปตามรอยเท้าโค แต่ถ้าบุคคลใดมีใจผ่องใสแล้วความสุขย่อมติดตามบุคคลนั้นไปเหมือนเงาติดตามตัว ความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดีมันเกิดขึ้นมาจากจิตของเรา ถ้าจิตของเราประทุษร้าย ด้วยความโกรธ ความโลภ ความหลง ความทุกข์ก็ติดตามเราไป เราจะเดินไปไหนๆ ความทุกข์มันก็ติดตามเราไป
แต่ถ้าจิตใจของเรามันสะอาด จิตใจของเราบริสุทธิ์ จิตใจของเรามีเมตตา จิตใจของเรามีกรุณา มีมุทิตา มีอุเบกขา จิตใจของเราประกอบไปด้วยธรรม เราจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะกิน จะดื่ม จะพูด จะคิด ความสุขมันก็ติดตามเราไปเหมือนเงาติดตามตัว เรานั่งความสุขมันก็นั่งด้วย เราเดินความสุขมันก็เดินด้วย เราจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตามความสุขมันก็ติดตามเราไปทุกอิริยาบถ เพราะอะไร เพราะว่าจิตของเรามันมีความสุข จิตของเราสะอาด จิตของเราหมดจด อันนี้ท่านกล่าวว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นก็อยู่ที่จิต ถ้าเราสำรวมจิตของเราได้ รักษาจิตของเราให้ดีอย่าให้จิตใจของเราปรุงแต่ง อย่าให้จิตใจของเราฟุ้งซ่าน อย่าให้จิตใจของเราเกิดความรำคาญ อย่าให้จิตใจของเราคิดถึงอดีต อย่าให้จิตใจของเราคิดถึงอนาคต ให้จิตใจของเราอยู่กับปัจจุบันธรรม ถ้าผู้ใดกำหนดทันปัจจุบันธรรมแล้วบุคคลนั้นจะรู้แจ้งแทงตลอดในที่นั้นๆ ได้ ที่ท่านกล่าวไว้ใน ภัทเทกรัตตสูตรว่าบุคคลไม่ควรคิดถึงสิ่งที่ล่วงมาแล้วด้วยอาลัย ไม่ควรพะวงถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง เพราะสิ่งที่ล่วงมาแล้วก็เป็นอันล่วงมาแล้ว สิ่งที่ยังไม่มาถึงก็เป็นอันยังไม่มาถึง บุคคลใดเป็นผู้รู้ปัจจุบันธรรม บุคคลนั้นจะเป็นผู้รู้แจ้งในที่นั้นๆ ได้ คือถ้าบุคคลใดมีสติกำหนดรู้ทันปัจจุบันธรรมอยู่บุคคลนั้นจะรู้แจ้งในที่นั้นๆ ได้ คือสามารถที่จะได้ซึ่งสมาธิ สมาบัติ
เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรม คณะครูบาอาจารย์บางรูปโดยเฉพาะพระเราก็อาจจะคิดว่าสมาธิมันเป็นของยาก สมาธิให้มันสงบนี้มันเป็นของยากเหลือเกิน เวลานั่งไม่เห็นมันสงบ เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน กว่าจะเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน ยากเหลือเกิน บางรูปบางท่านมาสารภาพต่อกระผมได้สอบอารมณ์ในสำนักปฏิบัติธรรมที่วัดพิชโสภารามก็เป็นสิบกว่าปีแล้ว แต่ว่าผู้ที่ไม่ได้สมาธิก็มาสารภาพ ว่าทำอย่างไรๆ ก็ไม่ได้สมาธิ ทำไมจึงไม่ได้สมาธิ เพราะว่าจิตนั้นฟุ้งไปถึงอดีต ฟุ้งไปถึงอนาคตไม่อยู่ในปัจจุบันธรรม ถ้าผู้ใดอยากจะได้สมาธิบุคคลนั้นต้องหยุดจิตให้อยู่อารมณ์เดียว เรียกว่าเป็นเอกัคคตารมณ์ อย่าคิดไปถึงอดีต อย่าคิดไปถึงอนาคต ให้จิตอยู่ในอารมณ์เดียว บริกรรม “พุทโธๆ” ก็ให้อยู่ในอารมณ์เดียว บริกรรม “นะ มะ พะ ธะ” ก็ให้อยู่ในอารมณ์เดียว บริกรรม “สัมมาอะระหัง” ก็ให้อยู่ในอารมณ์เดียว บริกรรม “ยุบหนอ พองหนอ” ก็ให้อยู่ในอารมณ์เดียว หรือว่าเราไม่บริกรรมเพ่งกสิณ เราเพ่งก็เพ่งให้อยู่ในจุดเดียว อารมณ์เดียว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิขึ้นมาได้ เหตุเกิดสมาธิก็อยู่ในปัจจุบันธรรม
แต่เหตุให้เกิดวิปัสสนาญาณอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่ปัจจุบันธรรมเหมือนกัน วิปัสสนาญาณไม่ได้เกิดขึ้นที่อดีต อนาคต แต่เกิดขึ้นที่ปัจจุบันธรรม ถ้าผู้ใดเห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของรูปนาม เหตุเกิดวิปัสสนาญาณมันอยู่ตรงนี้ เห็นความเกิดขึ้นของรูป เห็นความเกิดขึ้นของนาม เห็นความตั้งอยู่ของรูป เห็นความตั้งอยู่ของนาม เห็นความเสื่อมไป เห็นความดับไปของรูปของนาม เหตุเกิดแห่งวิปัสสนาญาณมันอยู่ตรงนี้ แล้วเหตุเกิดแห่งปีติ เหตุเกิดแห่งปัสสัทธิมันอยู่ตรงไหน ก็อยู่ที่ปัจจุบันธรรม เวลาเรานั่งไปภาวนา “พองหนอ” “ยุบหนอ” ไปมือของเรามันแน่นเข้าๆ ตัวของเรามันแข็งเข้าๆ ขณะที่มือของเรามันแน่นเข้าๆ แข็งเข้าๆ ตัวของเรามันก็เริ่มเย็นเข้าๆ ในลักษณะอย่างนั้นแหละ ปัสสัทธิมันเริ่มเกิดขึ้นมาแล้ว มันเกิดขึ้นมาจากตรงไหน เกิดขึ้นมาจากปัจจุบันธรรม “พองหนอ” “ยุบหนอ” ยิ่งเรากำหนดทันปัจจุบันธรรมเท่าไร ปัสสัทธิมันเริ่มเย็นเข้าๆๆ ถ้าเราอยากให้มันเย็นมากๆ เรายิ่งกำหนดบทพระกรรมฐานจี้ลงไปตรงที่อาการพอง อาการยุบ จี้ลงไปตรงที่ “พุทโธๆ” จี้ลงไปตรงที่ “สัมมาอะระหัง” เรากำหนดบทพระกัมมัฏฐานอย่างไรเราจี้ลงไปตรงนั้น เมื่อจิตของเราดิ่งลงไปๆ ปัสสัทธิมันยิ่งเกิดขึ้นมากจนร่างกายของเรานั้นแข็งทื่อไปทั้งหมด เหมือนกับตอไม้ เหมือนกับเอาไปแช่ไว้ในห้องแช่แข็ง แต่ถ้าเราอยากจะให้สิ่งเหล่านั้นมันคลายออกมาเราไม่กำหนด ปล่อยจิตให้เป็นธรรมชาติ จิตมันก็ปรุงแต่ง เมื่อจิตปรุงแต่งไปถึงอดีตบ้างอนาคตบ้างมันก็คลายออกมา เรียกว่าคลายออกจากปัสสัทธิ
หรือว่าเราเข้าสมาธิก็เหมือนกัน ถ้าเรามีสติทันปัจจุบันธรรม จิตมันก็ดิ่งลงไปๆๆ เมื่อดิ่งลงไปแล้วมันก็เลยคำบริกรรมไป ถ้าเราเลยคำบริกรรมไปเรียกว่าเราเข้าถึงทุติยฌานแล้ว จิตของเราเพ่งที่อาการพองอาการยุบเป็นปกติแต่เราไม่บริกรรม มีจิตรู้อยู่เฉยๆ มีจิตเพ่งอยู่เฉยๆ เราเลยปฐมฌานแล้วเราเข้าสู่ทุติยฌานแล้ว แต่ในขณะที่เราเพ่งอยู่ที่อาการพองอาการยุบนั้นแหละ ขณะที่เราเพ่งอยู่เราจี้จิตของเรา เราเอาสติของเราจี้ลงไปตรงที่อาการพองอาการยุบนั้นแหละ จี้ลงไปที่ปัจจุบันธรรมนั้นทำให้จิตใจของเราจี้ลงไปดิ่งลงไปๆๆ หลังจากนั้นร่างกายของเรามันก็แข็งขึ้นมา ความรู้สึกทางหู ความรู้สึกทางตา ความรู้สึกทางจมูก ทางลิ้น ทางกายของเรานั้นเริ่มน้อยลงไป ตัวของเรามันเริ่มแข็งขึ้นมา อาการของตติยฌานมันปรากฏขึ้นมาแล้ว อาการของตติยฌานก็คือร่างกายของเรามันแข็ง ความรู้สึกที่สัมผัสทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจของเรามันก็น้อยลงไป ความรู้สึกมันจวนจะดับแต่มันไม่ดับ ความรู้สึกมันละเอียดลงไปๆๆ ตามอำนาจของตติยฌานอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด แต่ถ้าความรู้สึกมันดับฟึบลงไปเราผ่านตติยฌานแล้ว แต่ว่าก่อนที่เราจะผ่านตติยฌานนั้นได้เราต้องมีสติของเรานั้นกำหนดจี้ลงไปตรงที่ปัจจุบันธรรมนั้น จี้ลงไปเพ่งลงไปเพ่งจนความรู้สึกน้อยๆ ของเรานั้นแหละมันดับฟึบลงไป นี้ในลักษณะอาการปัจจุบันธรรมนั้นเกิดขึ้น อาการสมาธินั้นเกิดขึ้นจากการกำหนดปัจจุบันธรรม ปัจจุบันธรรมนั้นมีประโยชน์ในลักษณะอย่างนี้
หรือว่าในขณะที่เราประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อที่จะให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสว่า การบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นบรรลุที่ปัจจุบันธรรม ถ้าผู้ใดกำหนด “พุทโธ” ก็ดี “ยุบหนอพองหนอ” ก็ดี “นะมะพะธะ” “สัมมาอะระหัง” ก็ดี แต่ถ้าวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นแล้ว บุคคลนั้นกำหนดเห็นความเกิดขึ้นของรูปของนาม เห็นความดับไปของรูปของนาม เมื่อวิปัสสนาญาณบริบูรณ์สมบูรณ์แล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน บรรลุที่ปัจจุบันธรรม ท่านกล่าวว่าการบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นมีลักษณะเหมือนกับเทียนมันดับ เหมือนกับอาการจุดเทียน อริยสัจทั้ง ๔ ปรากฏก็เหมือนกับอาการจุดเทียน ขณะที่จุดเทียนนั้นแหละไขเทียนมันก็หมดไป ไส้เทียนก็ถูกไหม้ แสงสว่างก็โผล่ขึ้นมา ความมืดก็หายไป นี้อาการจุดเทียนมันเกิดขึ้นมาด้วยอาการ ๔ ประการ เวลาบรรลุมรรคผลนิพพานอริยสัจ ๔ มันเกิดขึ้นมาก็เหมือนกัน ท่านกล่าวว่าในขณะที่บริกรรม “พองหนอยุบหนอ” ไปดีๆ อาการพองยุบของเรามันเร็วขึ้นๆๆ หรือบางคนบางท่านอาการพองอาการยุบมันก็แน่นเข้าๆๆ หรือบางคนบางท่านก็เคยเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมามากอาการพองอาการยุบมันแผ่วเบาเข้าๆๆ แล้วมันดับลงไป ขณะที่มันดับลงไปนั้นแหละมันดับลงไปที่ปัจจุบันธรรม ขณะที่มันดับลงไปคำบริกรรมของเรา “พองหนอยุบหนอ” มันก็ดับลงไปด้วย จิตของเราคือความรู้สึกที่เรากำหนดมันก็ดับลงไปด้วย กิเลสมันก็ดับลงไปด้วย มันดับคำบริกรรมมันก็ดับ อาการพองอาการยุบมันก็ดับ จิตของเรากำลังดูพองหนอยุบหนอมันก็ดับลงไปด้วย
หรือเราบริกรรม “พุทโธๆๆ” ขณะที่เราบริกรรม “พุทโธ” เห็นลมเข้าลมออกชัดเจนดี ขณะที่มันดับฟึบลงไปนั้นคำบริกรรม “พุทโธ” ก็ดับลมหายใจมันก็ดับความรู้สึกมันก็ดับ จิตของเรามันก็ดับ กิเลสมันก็ดับลงไปด้วย อันนี้เรียกว่าดับลงไปที่ปัจจุบันธรรม แต่การดับในลักษณะเช่นนี้มันเป็นการทำได้ยาก บางครั้งมันก็ดับด้วยอำนาจของโมหะ บางครั้งมันก็ดับด้วยอำนาจของปีติ บางครั้งมันก็ดับด้วยอำนาจของปัสสัทธิ บางครั้งมันก็ดับด้วยอำนาจของสมาธิ บางครั้งก็ดับด้วยอำนาจของวิปัสสนาญาณ โดยเฉพาะบุคคลผู้ได้สมาธิสูงๆ ผู้ที่ได้สมาธิสูงๆ คิดว่าตนเองได้บรรลุมรรคผลนิพพานนั้นเป็นส่วนมาก โดยเฉพาะบุคคลผู้เข้าสมาธิได้ ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง เข้าได้เป็น ๔๘ ชั่วโมงก็มีก็คิดว่าตนเองได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะอะไร เพราะขณะที่เราเข้าสู่สมาธินั้นแหละ ความโกรธก็ไม่เกิด ความโลภก็ไม่เกิด ความหลงก็ไม่เกิด ก็คิดว่าตนเองนั้นหมดกิเลสแล้ว แต่อยู่ไปอยู่มาก็สึกขาลาเพศก็มี อย่างเช่นแม่ชีที่มาจากหนองคายนี้ก็ประพฤติปฏิบัติธรรมได้ ๔๘ ชั่วโมงก็สึกขาลาเพศ อาจารย์รูปหนึ่งที่อยู่จังหวัดจันทบุรีก็ได้ ๒๔ ชั่วโมง ก็สึกขาลาเพศไป เพราะอะไร เพราะบุคคลผู้มีสมาธินั้นสภาวะมันพิสดาร สภาวะมันกว้างขวาง แล้วก็ผลแห่งปีติมันก็ปรากฏชัดเจน ข่มความโกรธ ข่มความโลภ ข่มความหลง คล้ายๆ กับว่าเรานั้นได้บรรลุมรรคผลนิพพานหมดกิเลสแล้ว แต่ที่ไหนได้กิเลสมันถูกปกปิด ข่มไว้
เพราะฉะนั้นเวลามาประพฤติปฏิบัติธรรมท่านไม่ให้พยากรณ์ ไม่ให้พยากรณ์ว่าบุคคลนั้นได้บรรลุวิปัสสนาญาณขั้นนี้แล้ว ไม่ให้พยากรณ์ว่าบุคคลนี้ได้บรรลุวิปัสสนาญาณขั้นนี้แล้ว ไม่ให้พยากรณ์ว่าบุคคลนั้นได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว สกทาคามีแล้ว อนาคามีแล้ว ไม่ให้พยากรณ์ว่าเป็นพระอรหันต์ ให้ดูกันไปเรื่อยๆ ให้ดูกันไปนานๆ เว้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วไม่มีใครที่จะพยากรณ์ พระองค์ไม่อนุญาตให้ใครพยากรณ์ เพราะฉะนั้น การประพฤติปฏิบัติธรรมก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้พยายามรักษาโรคภายในของเราให้ดี ถ้าเรารักษาโรคภายในของเราด้วยการกำหนดทันปัจจุบันธรรมแล้วเราก็สามารถที่จะรักษาโรคภายในของเรานั้นได้ ถ้าเรารักษาโรคภายในของเราให้เบา ให้หาย อย่างเช่นเรารักษาให้โรคสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ให้หายไป ถ้าเรารักษาโรคนี้ให้หายไปได้แล้ว เราจะเกิดอีกอย่างมาก ๗ ชาติ เราก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วก็ได้นิพพาน แต่ถ้าเรารักษาโรคนั้นให้หายมากไปกว่านั้นอีก คือละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสแล้ว เรายังทำราคะ ทำโทสะให้อ่อนลง เราก็ได้เกิดอีกอย่างมากเพียงชาติเดียว เราจะเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี เกิดเป็นเทวดาก็ดี หรือไปเกิดเป็นเทวดาแล้วกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เราจะไปสู่ภพอีกเพียงครั้งเดียวเราก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่ถ้าผู้ใดสามารถรักษาโรคจิตนั้นให้หายไปกว่านั้นอีก คือสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส แล้วก็ทำลายราคะ โทสะลงได้ บุคคลนั้นก็จะได้ไม่กลับมาสู่กามภพอีก ตายไปแล้วก็ไปสู่สุทธาวาสพรหม ในชั้นอวิหา อตัปปา สุทัสสี สุทัสสา อกนิษฐพรหม จะไม่มาเกิดในมนุษย์ในสวรรค์อีก ตายแล้วไปเกิดในสุทธาวาสพรหมที่อยู่ของบุคคลผู้บริสุทธิ์คือพระอนาคามี แล้วก็จะได้นิพพานในสุทธาวาสนั้น ในสุทธาวาสพรหมชั้นใดชั้นหนึ่ง นิพพานอยู่ในชั้นนั้น แต่ถ้าผู้ใดมีบุญวาสนาบารมีแก่กล้าก็สามารถที่จะรักษาโรคนั้นให้หายเด็ดขาดในปัจจุบันนี้ได้ การรักษาโรคภายในนั้นต้องรักษาด้วยการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน
วันนี้อาตมภาพกระผมได้นำธรรมะในเรื่องโรคมากล่าวตามสมควรแก่สติปัญญาก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ได้ขยับขยายคลายอิริยาบถกำหนดออกเพื่อเตรียมตัวแผ่เมตตา.