สภาวะธรรม
(เทศน์ที่สถานปฏิบัติธรรมจอมทอง ๒๖ พ.ย. ๕๖)
วันนี้ กระผมก็จะขอน้อมนำเอาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาบรรยายประกอบการประพฤติปฏิบัติธรรมของคณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายสืบต่อไป วันนี้การประพฤติปฏิบัติธรรมของคณะครูบาอาจารย์ก็ถือว่าเป็นมานัตล่วงมาแล้ว ๒ ราตรี ราตรีที่ ๓ นี้กำลังจะผ่านพ้นไป เวลาแห่งการประพฤติปฏิบัติธรรมของคณะครูบาอาจารย์ก็สั้นลงไปทุกทีๆ เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรม วันนี้กระผมก็จะได้น้อมนำเอาสภาวะธรรม เอาอารมณ์ของกัมมัฏฐานนั้นมากล่าวตามสติปัญญา
การประพฤติปฏิบัติธรรมของคณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงคณะญาติโยมทั้งหลายที่มาประพฤติปฏิบัติธรรม เรามาประพฤติปฏิบัติธรรมก็เพื่อที่จะยังความสุขให้เกิดขึ้นแก่พวกเราทั้งหลาย แต่ว่าความสุขที่เกิดขึ้นแก่พวกเราทั้งหลายนั้นเป็นความสุขที่เหนือความสุขทั้งหลายทั้งปวง เป็นความสุขที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่าประเสริฐ เป็นความสุขที่พ้นจากโลกีย์ เป็นความสุขที่เป็นโลกุตระซึ่งเกิดขึ้นมาจากการประพฤติปฏิบัติ เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติที่คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายทั้งปวงที่เสียสละเวลามาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้จึงเป็นของหายาก จึงเป็นของที่พากเพียรให้เกิดขึ้นมายาก เป็นของที่จะสำเร็จแก่พระสงฆ์สามเณรนั้นก็ยาก เพราะอะไร เพราะว่าเป็นของละเอียด เป็นของสุขุม เป็นของลุ่มลึก เป็นของประณีต บุคคลจะบรรลุถึงจุดนั้นได้ด้วยความเพียร บุคคลจะเข้าถึงบุคคลนั้นได้ด้วยบุญวาสนาบารมีปุปเพกตปุญญตาที่ได้สั่งสมมาไว้มากจึงสามารถที่จะเข้าถึงคุณธรรมตัวนั้นได้
ญาติโยมที่เข้ามาประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่จะทำให้เกิดความประพฤติปฏิบัติธรรมประการที่ ๑ ก็คือการที่พวกเราทั้งหลายได้เข้าไปสู่สำนักของคณะครูบาอาจารย์ผู้ที่ท่านรู้แจ้งแทงตลอด เป็นสำนักที่สัปปายะ เป็นสำนักที่ควรแก่การที่เราจะเข้าไปศึกษาในภาคปฏิบัติเรียกว่า อุปนิสยะ เราต้องเข้าไปอาศัยสำนักเช่นนั้น เพราะว่าสำนักในประเทศไทยของเรานั้นมีมากมายเกินกว่าที่เราจะพรรณนาให้เสร็จสิ้นลงได้ ในแต่ละสำนักนั้นก็ถูกด้วยกันทั้งนั้น แต่จะถูกตามหลักของสมถะหรือวิปัสสนา หรือว่าตามหลักของคณะครูบาอาจารย์แต่ละรูป เพราะว่าการสอนแต่ละสำนักนั้นมีความหลากหลายแตกต่างกัน มีความละเอียดมากน้อยต่างกัน
ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่าการบรรลุธรรมคือการรู้แจ้งซึ่งมรรคซึ่งผลซึ่งพระนิพพานนั้น บุคคลใดรู้แจ้งซึ่งธรรมโดยอาการอย่างไร บุคคลนั้นควรแนะควรสอนควรบอกกล่าวบุคคลอื่นโดยอุบายนั้น คือเรารู้แจ้งแทงตลอดซึ่งการบรรลุมรรคผลนิพพานโดยอุบายอย่างไร เราก็ต้องแนะนำพร่ำสอนบุคคลอื่นโดยอุบายอย่างนั้น เหมือนกับที่เราเห็นนั้นแหละ ครูบาอาจารย์ที่ท่านภาวนาพุทโธ ท่านรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งการบรรลุมรรคผลทาง พุทโธ ท่านก็แนะนำสาวกหรือลูกศิษย์ทั้งหลายทั้งปวงนั้นให้ดำเนินตามปฏิปทาเห็นแจ้งตามที่ท่านรู้แจ้งแทงตลอด ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะท่านเป็นผู้ที่ชำนาญในอุบายนั้น เป็นผู้ละเอียดในอุบายนั้น เป็นผู้แตกฉานในอุบายนั้น เมื่อญาติโยมไปถามท่านสอบอารมณ์ท่าน ก็สามารถที่จะยกจิตยกใจของญาติโยมนั้นให้ผ่านพ้นสภาวะต่างๆ ได้เข้าถึงการบรรลุมรรคผลนิพพานได้
ครูบาอาจารย์บางรูปที่ชำนาญใน สัมมาอะระหัง หรือว่าชำนาญใน นะมะพะธะ ท่านก็เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านของท่าน หรือว่าคณะครูบาอาจารย์อาจจะชำนาญในเรื่องกำหนด “พองหนอ ยุบหนอ” แล้วก็บรรลุมรรคผลนิพพานรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งการบริกรรมพองหนอยุบหนอ ก็ต้องแนะนำญาติโยมคณะครูบาอาจารย์ผู้มาประพฤติปฏิบัติตามทางที่ตนเองได้เข้าถึง ได้บรรลุแล้ว อันนี้เป็นหลักการของการไปสู่สำนักต่างๆ
เราจะกล่าวว่า ทำไมสำนักนี้ปฏิบัติไม่เหมือนเราหนอ หรือว่าสำนักนี้ทำไมบริกรรมไม่เหมือนกัน กำหนดไม่เหมือนกัน คือความฉลาด ความหลักแหลม ความละเอียดนั้นแล้วแต่ครูบาอาจารย์ที่จะออกอุบายที่ตนเองบรรลุ ตามที่ตนเองจะทำให้ลูกศิษย์ลูกหานั้นเข้าถึงคุณธรรม เพราะฉะนั้นเราจึงไปหาสำนักของครูบาอาจารย์ผู้รู้แจ้งแทงตลอด เพราะว่าธรรมะเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเป็นของละเอียด เป็นของลุ่มลึก บุคคลที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมร้อยทั้งร้อย พันทั้งพัน หมื่นทั้งหมื่น แสนทั้งแสน ล้านทั้งล้าน ส่วนมากหลงทั้งนั้น หลงก่อนจึงค่อยฉลาด ความโง่นั้นเป็นอาจารย์ของความฉลาด คนทั้งหลายทั้งปวงนั้นโง่เสียก่อนจึงจะฉลาด เวลามาประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลายก็เหมือนกันถูกกิเลสคือความโกรธ ความโลภ ความหลง ความเกียจคร้าน ความง่วงเหงาหาวนอนนั้นเป็นอาจารย์ของเรา เป็นสิ่งที่ทำให้เรานั้นหลงอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นสภาวะละเอียดอ่อนในการเจริญภาวนานั้นเป็นของลุ่มลึก
อย่างเช่นเราเห็นนิมิตเวลาเรานั่งไปแล้วก็เห็นนิมิตเป็นแสงสว่างปรากฏขึ้นมา สิ่งที่เราไม่เคยเห็นแต่ไหนแต่ไรมา พอปรากฏขึ้นมานั้นใจของเรามันพองโตขึ้นมา ใจของเรามันตื้นตันขึ้นมา ใจของเรามันอิ่มเอิบขนลุกขนพองน้ำตาไหลขึ้นมา ทำไมมันเป็นอย่างนั้น เพราะมันเป็นสิ่งที่เรายังไม่เคยเห็นมาก่อน ไม่เคยเห็นแสงสว่างแต่อยู่ดีๆ ภาวนาไปจิตใจมันสงบ แสงสว่างมันปรากฏขึ้นมา ความตื้นตัน ความอิ่มใจ น้ำตาไหล ขนพองมันปรากฏขึ้นมา เราก็คิดว่ามันเป็นของดี มันเป็นของเลิศทำให้เรามีความสุข ตั้งแต่เราเกิดมาเรามีความสุขในครั้งนี้แหละเป็นความสุขที่ประณีต สงสัยนี้คงจะเป็นดวงธรรม คงจะเป็นดวงแก้ว คงจะเป็นดวงมรรค ดวงผล ดวงพระนิพพานอะไรทำนองนี้ อันนี้บุคคลผู้ที่ไม่เคยศึกษาอยู่ในสำนักของครูผู้ผ่านการปฏิบัติมาอาจจะเข้าใจในลักษณะอย่างนี้
หรือบางครั้งบางคราวบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่อประพฤติปฏิบัติธรรมไปบางครั้งมันเกิดปีติขึ้นมา ตัวโยก ตัวโคลง บางครั้งตัวของเรามันหมุนเหมือนกับลูกข่าง เหมือนกับว่าตัวของเรานั้นเป็นเกลียวหมุนได้ ในลักษณะอย่างนี้ก็มี มันหมุนไปได้เพราะอะไร เพราะอำนาจของปีติ อำนาจของสมาธิทั้งที่เวลามันหมุนนั้นแทนที่เราจะเหนื่อย แทนที่เราจะเกิดความลำบาก แต่พอเราหยุดการหมุนแล้วเหมือนกับว่าตัวของเรานั้นสบาย ความเจ็บ ความป่วย ความเมื่อย ความล้าตามแข้งตามขาตามหลังตามเอวต่างๆ หมดไป เพราะอะไร เพราะว่ามันเกิดปีติ ความเหนื่อย อย่างเช่นปวดแข้งปวดขาเรานั่งเป็นชั่วโมง มันทุกข์เหลือหลาย บุคคลผู้ไม่มีสมาธิ บุคคลผู้มีจิตฟุ้งซ่าน เวลาเดินจงกรม ๑ ชั่วโมง นั่ง ๑ ชั่วโมงจิตใจมันไม่สงบมันก็เกิดความปวด เกิดความระบมไปตามแข้งตามขา ตามหลังตามเอว ตามข้อต่างๆ แต่เมื่อเกิดปีติขึ้นมาแล้วก็เหมือนกับหมอเทวดาชั้นดี มานวดหายเป็นปลิดทิ้งเราก็พอใจยินดี สงสัยในลักษณะมันหมุนมันแกว่งอย่างนี้มันดีเราก็อยากให้มันเกิดอีก แล้วก็บางรูปบางท่านภาวนาไปแล้วก็เกิดความสงสัยต่างๆ
เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าไปหาสำนักของครูบาอาจารย์แล้วสิ่งสำคัญที่สุดเราต้องปลูกความเชื่อ ปลูกความศรัทธา ปลูกความเลื่อมใสว่าอาจารย์ที่เราเข้าไปหานี้สามารถที่จะพาเราบรรลุมรรคผลนิพพานได้ มีจิตใจมั่นคง มีจิตใจเที่ยงตรงต่อหลักคำสอนที่ท่านแนะนำพร่ำสอน ไม่มีความสงสัยในปฏิปทาแห่งการปฏิบัติการประพฤติปฏิบัติธรรมจึงจะดำเนินไปด้วยความราบรื่น จึงดำเนินไปด้วยศรัทธาอันเต็มเปี่ยม แต่ถ้าเราสงสัยว่าเราจะเอาพุทโธดี หรือจะเอาพองหนอยุบหนอดี หรือว่าเราจะเอาสัมมาอะระหัง หรือว่าเราจะเอานะมะพะธะ หรือเราจะไม่กำหนดอะไรทั้งสิ้น เพ่งดูที่จิต ที่กายเฉยๆ ถ้าเรายังมีความเคลือบแคลงสงสัยอยู่ในลักษณะอย่างนี้เราก็ยังไปไม่ถึงไหน เพราะอะไร เพราะจิตไม่ตั้งมั่น ปัญญาย่อมไม่เกิด เมื่อจิตไม่ตั้งมั่นความรู้แจ้งย่อมไม่ปรากฏ เมื่อจิตไม่ตั้งมั่นวิปัสสนาญาณย่อมไม่เกิดขึ้นมา เพราะฉะนั้นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงก็ต้องอาศัยจิตที่ตั้งมั่น
การประพฤติปฏิบัติธรรมประการแรกก็คือเราต้องเข้าไปสู่สำนักของครูบาอาจารย์ผู้ที่เรามั่นใจว่าจะแนะนำพร่ำสอนเรานั้นให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เราคิดว่าท่านสามารถสอนเราให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้วนั้นแหละเราจึงไปสู่สำนักนั้น อันนี้เป็นประการที่หนึ่ง เหมือนกับพระสารีบุตร กับ พระโมคคัลลานะสมัยเป็นอุปติสสะมานพ โกลิตะมานพ แสวงหาโมกขธรรมแสวงหาเท่าไรก็ไม่เจอ สัญชัย เวลัฏฐบุตร ซึ่งเป็นผู้ที่สามารถพูดจาปลิ้นปล้อน ลื่นไหลเหมือนปลาไหลไม่มีติดขัดพูดวาทะได้เก่งมาก มีวาทศิลป์มีวาทะกรรมนั้นเก่งไม่ติดไม่ขัดในปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น ท่านอุปมาอุปไมยว่าเหมือนกับปลาไหลลื่น ก็คิดว่าสำนักของสัญชัยนั้นจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พ้นจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงได้ พอเข้าไปอาศัยจริงๆ เรียนจบจริงๆ แล้วก็ไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ต่อเมื่อไปเจอพระอัสสชิเถระผู้มีความสำรวมอินทรีย์ มีการย่างการเดินการถอยกลับการคู้การเหยียดการก้มการเงย ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมีสติมีสัมปชัญญะดี เกิดศรัทธา เกิดความเลื่อมใสว่าภิกษุรูปนี้คงจะเป็นพระอรหันต์รูปใดรูปหนึ่งในโลกแน่นอนก็เลยสะกดรอยตามไป เห็นท่านเดินก็เกิดความสุขใจพระเถระรูปนี้สำรวมเหลือเกิน ท่านจะคู้จะเหยียดจะก้มจะเงยงามเหลือเกิน ได้เกิดศรัทธาขึ้นมาก็ตามท่านไปจนกว่าท่านฉันเสร็จ เมื่อท่านฉันเสร็จแล้วก็ไปฟังธรรมจากท่าน พระอัสสชิเถระก็บอกว่าท่านเป็นผู้ใหม่ในพระธรรมวินัย เป็นผู้บวชใหม่ไม่สามารถที่จะแสดงธรรมได้พิสดารแต่จะขอแสดงธรรมโดยย่อแก่ท่าน อุปติสสมานพก็บอกว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ชื่อว่าอุปติสสมานพ ท่านไม่ต้องกล่าวธรรมโดยพิสดารแก่ข้าพเจ้าขอท่านจงกล่าวธรรมแต่โดยย่อแก่ข้าพเจ้า พระอัสสชิก็กล่าวว่า
เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตํ ตถาคโต
เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํวาที มหาสมโณ.
ธรรมทั้งหลายเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับไปแห่งธรรมเหล่านั้น
เพียงเท่านี้ปัญญาของอุปติสสมานพก็แตกออกเป็นร้อยนัยพันนัย มีปัญญามากแล้วก็ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคล ได้บรรลุธรรมาภิสมัย พระสารีบุตรในสมัยที่เป็นอุปติสสมานพนั้นได้บรรลุเป็นอริยบุคคลตั้งแต่สมัยเป็นโยมแล้ว เพราะอะไร เพราะไปสู่สำนักของบุคคลผู้รู้จริง นี้มันต่างกัน ไปสู่สำนักของสัญชัยตั้งนานแต่ไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ไปเจอพระอัสสชิเพียงครู่เดียว ธรรมะอันเหนือโลก เรียกว่าโลกุตรธรรมก็บังเกิดขึ้น ในจิตในใจของอุปติสสะมานพนั้นได้ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญก็คือเข้าไปอาศัยสำนักของครูบาอาจารย์ผู้ที่ท่านรู้แจ้งเห็นจริง จึงเป็นสำนักที่เป็นสัปปายะ
ประการที่สอง เราต้องพยายามผูกจิตเรียกว่านิพัทธ์ เราต้องผูกจิตไว้อยู่กับกัมมัฏฐานอยู่ตลอดเวลา อย่างเช่นเรากำหนดสติปัฏฐาน ๔ เราก็ต้องผูกจิตไว้กับกาย เวทนา จิต ธรรม เราผูกจิตไว้กับ กาย เวทนา จิต ธรรมอย่างไร เราต้องผูกจิตไว้ด้วยการกำหนดให้ทันทุกอิริยาบถอย่าให้เผลอ เว้นไว้แต่หลับ นอกนั้นเราต้องกำหนดอยู่ตลอดเวลา เราจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด เราจะทำกิจอะไรๆ ก็ตาม เราต้องกำหนด แม้เรานิ่งเราก็ต้องกำหนดดูจิตของเรา ดูกายของเราที่นิ่งนั้น จิตของเราเป็นสมาธิเราก็รู้ว่าจิตของเราเป็นสมาธิ จิตของเราไม่เป็นสมาธิเราก็ต้องรู้ว่าจิตของเราไม่เป็นสมาธิ จิตของเราปรุงจิตของเราแต่ง จิตของเราฟุ้งซ่านเราก็ต้องรู้ว่าจิตของเราปรุงจิตของเราแต่ง จิตของเราฟุ้งซ่าน จิตของเราสงบแน่นิ่งเราก็ต้องรู้ว่าจิตของเราสงบแน่นิ่ง ขณะนี้จิตใจของเราคู่ควรแก่การเดินจงกรมนั่งภาวนาเราก็รู้ ช่วงนี้จิตใจของเรากระสับกระส่าย ว้าวุ่น ไม่สงบ ไม่สมควรต่อการเดินจงกรมนั่งภาวนาเราก็รู้ เราต้องพยายามกำหนดรู้จิต ว่าขณะนี้จิตของเราราคะครอบงำ หรือโทสะครอบงำ ความอิจฉาริษยาครอบงำ หรือว่าจิตใจของเราปราศจากราคะ โทสะ โมหะ ปราศจากความอิจฉาริษยาต่างๆ เราก็ต้องรู้จิตของเรา แล้วเราจะทำกิจอะไรๆ ก็ตามเราก็ต้องพยายามกำหนด โดยเฉพาะอิริยาบถน้อย อย่างเช่นเราอาบน้ำก็ดี เข้าห้องน้ำก็ดี เราต้องกำหนดถ่ายหนักถ่ายเบา เราก็กำหนด หรือว่าเราจะแปรงสีฟัน อาบน้ำ เราต้องกำหนด ถ้าเราขาดการกำหนดเมื่อไร กัมมัฏฐานของเรารั่ว บุคคลจะรู้ว่าบารมีของตนมีหรือไม่มีก็ดูตรงนี้แหละ ดูตรงที่เรากำหนดเต็มที่ พยายามเต็มที่ ทำความเพียรเต็มที่ กำหนดอย่าให้เผลอสติให้มันเผลอน้อยที่สุด ตั้งแต่เราตื่นขึ้นจนถึงหลับนอน เราเผลอตอนไหน เราตื่นขึ้นมาในขณะที่เรารู้สึกตัวขึ้นมาเรากำหนดว่าตื่นหนอ ที่จิตหรือเปล่า เรากำหนดที่จิตของเราว่า “ตื่นหนอ” เสียก่อน เมื่อเรากำหนดที่จิตว่าตื่นหนอแล้วเราก็กำหนดที่ตา “อยากลืมตาหนอๆ” แล้วเราค่อยลืมตาเมื่อเราลืมตาแล้วเราก็ค่อยกำหนดอิริยาบถที่จะตามมา อย่างเช่นเราดึงตัวของเราขึ้นมาเราก็ต้องกำหนด “รู้หนอ” รู้อาการที่กายของเรานั้นลอยขึ้นมาจากพื้นแล้วก็มานั่งอยู่ หลังจากนั้นเราก็กำหนดอิริยาบถเคลื่อนไหว การเคลื่อนมือไปหยิบไฟฉายเราก็ต้อง “รู้หนอ” การที่จะก้าวขาขวาลงจากแคร่ ขาซ้ายลงจากเตียงจากที่อยู่อาศัยต่างๆ เราก็กำหนดไปให้ทันทุกอิริยาบถ “รู้หนอๆ” “คู้หนอ” “เหยียดหนอ” แล้วแต่เราจะหาวิธีอุบายอย่างไรกำหนดให้ทัน
ถ้าเรากำหนดในลักษณะอย่างนี้ ถ้าเราเคยสร้างบุญสร้างบารมีมาแต่ภพก่อนชาติก่อน ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นเกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมา แต่ถ้าเราเคยสร้างสมอบรมมาทางสมถะ ทางฌานมามากเรากำหนดให้ทันปัจจุบันธรรมอย่างนี้แหละ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของเรานั้นเป็นสมาธิ คือเราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานกำหนดให้ทันทุกอิริยาบถ แต่บารมีของเราสั่งสมมาทางสมถะมันก็จะเป็นฌานไป เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน บางครั้งมัน “พองหนอ” “ยุบหนอ” ก็สงบ เราภาวนาว่า “พุทโธ” เราก็ยังสงบอยู่ เราไปเพ่งกสินอยู่มันก็ยังสงบ คือเราได้สร้างสมอบรมมาทางสมถะ ทางฌานมามันก็เป็นฌาน แต่เมื่อเราจะยกจิตยกใจให้ขึ้นสู่อารมณ์วิปัสสนากัมมัฏฐาน เราก็ต้องพยายามกำหนดรูปนามให้ทัน เห็นต้นเกิดของรูปของนาม ต้นดับของรูปของนาม ต้องเห็นรูปนามเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปของรูปของนามอย่างชัดเจน ก็จะยกจิตจากฌานนั้นขึ้นสู่อารมณ์วิปัสสนา เรียกว่าเป็นการเจริญกัมมัฏฐานโดยสมบูรณ์แบบ ถ้าเรากำหนดให้ทันปัจจุบันธรรม เราจะคู้ เราจะเหยียด เราจะก้ม เราจะเงย เห็นอาการเหยียด อาการคู้ อาการก้ม อาการเงย ถ้าสติของเรามันสมบูรณ์ สัมปชัญญะของเรามันสมบูรณ์อินทรีย์ของเรามันแก่กล้า สมาธิของเรามันสมบูรณ์ บารมีของเราสมบูรณ์แล้วมันก็จะเกิดวิปัสสนาญาณแล้วก็บรรลุมรรคผลนิพพานได้
เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น สรุปว่าเราต้องมีสติมีสัมปชัญญะกำหนดให้ทันทุกอิริยาบถ ถ้าเรากำหนดให้ทันทุกอิริยาบถแล้วสภาวะต่างๆ มันจะสำแดงฤทธิ์ สำแดงเดช สำแดงอานุภาพของบุญวาสนาบารมีที่เราสั่งสมนั้นออกมาเอง อย่างมันจะเกิดปีติมันก็จะเกิดขึ้นมาในขณะนั้นแหละ จะเป็นขุททกาปีติ ขณิกาปีติ โอกกันติกาปีติ อุพเพงคาปีติ ปีติโลดโผน หรือผรณาปีติ ปีติซาบซ่านทั่วสรรพางค์กายก็ตาม มันจะสำแดงออกมาเอง หรือว่าถ้าเรามีบุญวาสนาบารมีทางปัสสัทธิ มันก็จะทำให้จิตใจของเรามันสงบ ปล่อยวางอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง ร่างกายของเรามันสงบ ปล่อยวางความทุกข์ เวทนาทั้งหลายทั้งปวงมันก็ดิ่งเข้าไปสู่ความสงบ จนร่างกายของเรามันแข็งมันเย็นไป นี้ในลักษณะของบุญวาสนาบารมี ถ้าเรามีบุญวาสนาบารมีอย่างไรสิ่งนั้นมันก็จะสำแดงออกมาปรากฏออกมาชัดเจน หรือว่าเรามีปัญญามากเวลาประพฤติปฏิบัติธรรมไปบางครั้งมันอาจจะเกิดญาณ เกิดความรู้ขึ้นมา ทำให้เราปรุงแต่งเทศน์เป็นชั่วโมง เป็นหลายชั่วโมง เป็นอาทิตย์ เป็นเดือนไป บางครั้งบางรูปไปปฏิบัติธรรมไม่ได้อะไรได้แต่เทศน์ก็มี เพราะอะไร เพราะว่าญาณมันเกิดขึ้นมาเป็นคนผู้มีปัญญามากกว่าศรัทธา มากกว่าความเพียร นี้ในลักษณะอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นเวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าเราตั้งใจกำหนดแล้วสภาวะธรรมต่างๆ มันจะเกิดขึ้นมา แต่ก่อนที่เราจะกำหนดทันปัจจุบันธรรมหรือกำหนดไม่ทันปัจจุบันธรรมนั้น ก่อนอื่นบุคคลผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมใหม่นั้น สิ่งที่จะต้องผ่านก็คืออารมณ์บาปกับอารมณ์บุญ ถ้าบุคคลใดไม่เคยประพฤติปฏิบัติธรรมมาเลย มาปฏิบัติธรรมใหม่ๆ ด่านแรกที่จะต้องข้ามก็คือบาปกับบุญ บาปกับบุญนี้ต้องข้ามก่อน คือบุคคลมาประพฤติปฏิบัติธรรมใหม่ๆ เมื่อจิตยังไม่ละเอียด จิตจะหวนระลึกนึกถึงบาปที่ตนเองได้สะสมไว้ เราเคยฆ่าเป็ดอยู่ไหน เราเคยฆ่าไก่อยู่ไหน เราเคยเอามีดสับหัวปูหัวปลาอยู่ไหน เราเคยไปทำอะไรที่ไม่ดีที่ไหน สิ่งเหล่านี้มันจะปรากฏมาเหมือนกับว่าเรานั้นเปิดหนังสือดู เหมือนกับเรื่องนั้นมันเพิ่งผ่านไปเมื่อวานนี้ นี้มันจะเป็นไปในลักษณะอย่างนั้น ทำไมจึงเป็นไปในลักษณะอย่างนั้น ก็เพราะว่าสติของเรามันปรากฏชัด เมื่อสติของเราปรากฏชัดมันก็ขุดลึกลงไปถึงห้วงภวังคจิต แล้วก็ไปนึกถึงบาปกรรมที่เราเคยกระทำไว้ ถ้าเราไม่มีสติกำหนด เราต้องกำหนด “คิดหนอๆ” ถ้าเราไม่กำหนด “คิดหนอๆ” นี้มันก็จะเพลินไปเรื่อยคิดไปเรื่อย บางคนก็หน้าดำคร่ำเครียดเพราะว่าใจเศร้าหมองนึกถึงบาป ไม่มีสีไม่มีสัน ไม่มีวรรณะต่างๆ เพราะอะไร เพราะคิดถึงอารมณ์ที่เป็นบาป เพราะฉะนั้นผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมใหม่ต้องกำหนด “คิดหนอๆ” กำหนดที่ใจ “คิดหนอ” จี้ลงไปที่หัวใจของเรา กำหนด “คิดหนอๆ” แล้วก็พิจารณาดูอารมณ์ที่มันเกิดขึ้นในใจของเราว่ามันเกิดขึ้นอย่างไร ตั้งอยู่อย่างไร ดับไปอย่างไร ในขณะที่เรากำหนด นี้เรียกว่าเป็นการกำหนดจิต
เมื่อเรากำหนดได้แล้วสิ่งเหล่านี้มันบางลง แต่ว่าสิ่งที่มาปรากฏก็เป็นบาป โดยเฉพาะบาปที่ทำให้พ่อแม่ร้องไห้ บาปที่ทำให้ครูบาอาจารย์ไม่สบายใจ บาปที่ร้ายแรงอีกอย่างหนึ่งก็คือบาปที่เราทำด้วยความโกรธ ทำด้วยความโมโห ในลักษณะอย่างนี้มันก็ให้ผลรุนแรง นอกจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์แล้ว บาปที่ให้ผลรุนแรงอีกก็คือบาปที่เราทำด้วยความโกรธ โมโห แล้วก็กำปั้นตีหัวหมูหัวหมาอะไรทำนองนี้ เราทำด้วยความโกรธ จิตที่รุนแรงก็จะให้ผลรุนแรง บาปอีกอย่างหนึ่งที่จะให้ผลรุนแรงก็คือเราไปกระทำร้ายน้ำใจของบุคคลอื่น อย่างเช่นผู้ชายไปข่มขืนผู้หญิง ไปทำร้ายผู้หญิง หรือเราเป็นผู้ชายด้วยกัน แต่เราไปข่มเหงผู้ชายด้วยกัน ไปโกงเอาบ้านเขา ไปโกงเอาเรือนเขา ไปแย่งเอาเมียเขา ลูกเขา ทำให้เขาต้องตรอมจิตตรอมใจในลักษณะอย่างนี้ก็บาป เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมมันจะให้ผลเร็วที่สุด มันจะมาขัดขวางก่อน เพราะฉะนั้นผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นต้องแข็งใจ ต้องกำหนดว่า “คิดหนอๆ” กำหนดลงที่ใจของเรา ไม่ต้องทำอย่างอื่น ไม่ต้องพะว้าพะวงถึงอารมณ์อื่นให้กำหนดอย่างเดียว “คิดหนอๆ” แล้วอารมณ์ทั้งหลายเหล่านี้มันก็จะเริ่มเบาลงไปๆๆ จางลงไป แล้วมันก็หายไป ถ้ามันหายไปแล้วเรานึกถึงอารมณ์นั้นใจของเรามันสบายๆ ใจของเราไม่ขุ่นมัวเหมือนแต่ก่อน อันนั้นเรียกว่าบาปมันเบาแล้ว บาปมันเริ่มจางออกไปหมดแล้ว
แต่ถ้าเรานึกถึงบาปแล้วเรายังสะดุ้งอยู่เรายังวิตกเรายังกังวลอยู่แสดงว่าบาปนั้นมันยังไม่หมดสิ้น เวลามันเกิดขึ้นมาเราต้องกำหนด “คิดหนอๆ” กำหนดที่จิตของเราบาปนั้นค่อยจางไปๆ ถ้าบาปนั้นมันเบาลงแล้วเราคิดถึงบาป อารมณ์ที่เราเคยคิดมาแต่ก่อนแล้วเราไม่สบายใจ เมื่อบาปมันอ่อนลงแล้วเราคิดถึงอารมณ์นั้นมันจะสบายใจ เฉยเหมือนกับไม่มีอะไร นี้ในลักษณะอย่างนั้น โดยเฉพาะบุคคลใดผ่านการประพฤติปฏิบัติธรรมไปแล้ว หวนระลึกมานึกถึงอารมณ์นั้นแล้วใจมันสบายๆ ไม่ต้องวิตก ไม่ต้องกังวลอะไร นี้ในลักษณะผ่านด่านแรกก็คือด่านบาปอกุศลกรรมเราต้องกำหนด ต้องแข็งใจกำหนดอย่าเบื่อหน่ายอย่าผุดลุกผุดนั่ง อย่าลุกรี้ลุกรน ทำใจของเราให้เฉยๆ แล้วตั้งสติ รวบรวมสติให้ดี รวบรวมสมาธิให้ดีแล้วก็กำหนดลงไปที่จิตของเรา อย่าทำให้จิตของเราซัดส่ายพยายามอย่าหลงกลของมาร พยายามรวบรวมสติ รวบรวมสมาธิกำหนดจิตของเราให้ได้ นี้เป็นอุบายทางออกที่ดีที่สุด เมื่อเรากำหนดในลักษณะอย่างนี้ได้แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานึกถึงบุญ อยากจะช่วยครูบาอาจารย์ทำบุญทำทานรูปนี้ ครูบาอาจารย์ท่านมีพระมีเณร ส่วนมากโรงครัวก็ยังไม่เรียบร้อย หรือว่าอาหารที่โรงครัวก็ไม่มีเราจะไปหาเงินหาทองมาถวายท่าน บางรูปบางท่านเห็นครูบาอาจารย์มีมาก อย่างเช่นวัดพิชโสภารามมีพระเป็นสองร้อยสามร้อยก็เกิดศรัทธา เรามีมรดก มีที่ไร่ที่นา ถ้ามีญาติพี่น้องก็ยกให้เราไปขายที่ไร่ที่นานั้นมาเป็นกองทุนภัตตาหารให้พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านสืบทอดพระศาสนาจะดีหรือเปล่าหนอ หรือว่าเราเอาที่ไร่ที่นามาขายนั้นมาเป็นกองทุนเผยแผ่อุปถัมภ์อุปฐากคณะครูบาอาจารย์ ช่วยเผยแผ่กัมมัฏฐานคิดไปในลักษณะอย่างนั้น บางครั้งก็คิดอยากจะขายบ้าน พระ
เดชพระคุณหลวงพ่อท่านเคยกล่าวว่า โยมคนหนึ่งมาประพฤติปฏิบัติธรรมมีโรงสี มีรถ พอมาปฏิบัติธรรมแล้วอยากจะขายโรงสี อยากจะขายรถ เพื่อที่จะมาถวายความอุปถัมภ์อุปฐากคณะครูบาอาจารย์ อยากจะขายโรงสีมาถวายพระเดชพระคุณหลวงพ่อ เพื่อที่จะเลี้ยงพระเลี้ยงเณรส่งเสริมกัมมัฏฐาน ตนเองจะได้บุญใหญ่ อานิสงส์ใหญ่ นี้คนมันเกิดศรัทธาเกิดบุญขึ้นมา เมื่อจิตเป็นบุญมันเป็นอย่างนั้น ถ้าในลักษณะอย่างนี้เราต้องกำหนด กำหนดว่า “คิดหนอๆ” อารมณ์ที่เป็นบาปก็ต้องกำหนด อารมณ์ที่เป็นบุญก็ต้องกำหนด กำหนดว่า “คิดหนอๆ” อย่าตามมัน ถ้าตามมันแล้วก็แสดงว่าเราเหม่อลอยไปตามอำนาจของบุญ สมาธิมันก็จะลด สติมันก็จะลด วิปัสสนาญาณก็กระท่อนกระแท่นไม่สืบต่อ ไม่ต่อเนื่อง ไม่สมบูรณ์
เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมญาติโยมทั้งหลายต้องผ่านด่านก็คือ บาปกับบุญ บางรูปบางท่านเกิดปีติ เกิดปัสสัทธิ จิตใจเป็นบุญเป็นกุศลขึ้นมาก็ยิ่งศรัทธามาก บางครั้งก็ไม่อยากนอนทั้งคืน เวลามันเกิดสมาธิขึ้นมาก็ข้าพเจ้าจะไม่นอนตลอดสิบวัน สิบห้าวัน ยี่สิบวัน ยี่สิบห้าวัน สามสิบวัน หนึ่งเดือน นี้ตั้งใจว่าจะไม่นอน แต่สภาวะมันเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา ในขณะที่เรามีสมาธิ เราไม่นอนก็ได้ เรานั่งภาวนา “พองหนอยุบหนอ” ไป มันสงบฟับลงไปรู้สึกตัวขึ้นมาเกิดขนลุก เกิดขนชัน เกิดปีติจิตใจของเรามันอิ่มกระปรี้กระเปร่ามีพละกำลัง คล้ายๆ กับว่าเรานอนมาแล้วเป็นหลายๆ วัน หลายๆ เดือน เวลาเราเดินจงกรมจะหาวมันก็ไม่มี จะมีอาการง่วงเหงาเซื่องซึมก็ยังไม่มี สติมันใสสติมันแจ๋ว ใสแจ๋ว เหมือนกับว่าเรานั้นมีสติสมบูรณ์แล้ว นี้ในลักษณะของปัสสัทธิมันปรากฏชัด มันจะเป็นไปในลักษณะอย่างนั้น คล้ายๆ กับว่าสติของเรานั้นใสแจ๋ว เวลาเดินจงกรม ยกย่างเหยียบนั้นเหมือนกับว่าเราเห็นทุกขณะ เวลาพองหนอยุบหนอเหมือนกับว่าเราเห็นท้องพองของเรานั้นเป็นเส้นขนสองเส้นขนสามเส้นขนมันพองขึ้นมา นี้เป็นลักษณะของปัสสัทธิมันปรากฏชัดขึ้นมามันเป็นอย่างนั้น เราต้องกำหนด เราอย่าไปเหม่อลอยไปตาม ถ้าปัสสัทธิมันลดลงเมื่อไรนั้นแหละสภาวะเห็นตามความเป็นจริงมันก็ปรากฏขึ้นมา
เพราะฉะนั้นอารมณ์ที่เป็นบุญก็ดี อารมณ์ที่เป็นบาปก็ดีผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นต้องพยายามกำหนด แล้วการประพฤติปฏิบัติธรรมของเราจึงจะค่อยๆ ก้าวไปเมื่อเราผ่านอารมณ์ที่เป็นบาป อารมณ์ที่เป็นบุญแล้ว พระไตรลักษณ์คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จึงจะบังเกิดขึ้นมา ถ้าพระไตรลักษณ์ญาณที่ ๓ เกิดขึ้นมาก็เป็นการเจริญวิปัสสนาแค่ ๑๕ เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเราเห็นพระไตรลักษณ์ในญาณที่ ๔ เกิดขึ้นมาเห็นอาการพองอาการยุบมันเร็วขึ้นๆ ดับไปหนึ่งขณะจิต หรือว่าเห็นอาการพองอาการยุบมันแน่นเข้าๆ แล้วดับลงไปหนึ่งขณะจิต เห็นอาการพองอาการยุบมันแผ่วเบาลงไปๆ ดับลงไปหนึ่งขณะจิตในลักษณะอย่างนี้ เรียกว่าเป็นอุทยัพพยญาณบุคคลนั้นถึงวิปัสสนาญาณ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ อันนี้เป็นลักษณะที่เราต้องข้าม ก็คือการข้ามบุญข้ามบาปนี้แหละเป็นสิ่งสำคัญ แล้วก็เกิดพระไตรลักษณ์ขึ้นมา ถ้าเกิดพระไตรลักษณ์ขึ้นมาแสดงว่าเราก้าวขึ้นสู่หนทางเจริญวิปัสสนาแล้ว ถ้าเกิดญาณที่ ๔ แสดงว่าเรานั้นก้าวขึ้นสู่อารมณ์ของวิปัสสนานั้นเต็มที่แล้ว เตรียมตัวที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว อันนี้ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ได้เข้าใจในลักษณะอย่างนี้
อีกประการหนึ่งที่สำคัญที่สุดเราต้องพยายามพิจารณากรรมเป็นของของตน ทำไมเราต้องพิจารณากรรมเป็นของของตน ก็เพราะว่าเราต้องทำใจของเราให้เป็นกลาง บุคคลไม่พิจารณาว่าเรามีกรรมเป็นของของตนบุคคลนั้นจะภาวนาลำบาก เวลาเพื่อนกำหนดไม่ถูกใจ เวลาถูกเพื่อนเขาว่าให้ ก็คิดว่าทำไมคนนี้ว่าให้เราไม่คิดว่ากรรมเป็นของของเรา เราเคยว่าเขาก่อนเขาจึงว่าเรา ไม่คิด เวลาเดินไปรับประทานอาหาร ครูบาอาจารย์เห็นเราเดินมาอยู่ทำไมต้องปฏิสังขาโยก่อน ทำไมต้องฉันอาหารก่อน ครูบาอาจารย์ลำเอียงหรือเปล่าหนออะไรทำนองนี้ ไม่คิดว่ามันเป็นกรรมของเรา หรือว่าเวลาเราเดินไปดื่มน้ำปานะ เวลามาถึงเรามันหมดพอดีเราก็คิดว่านี้มันเป็นกรรมของเรา ถ้าเราพิจารณาในลักษณะอย่างนี้ เราก็จะไม่มีความโกรธ ไม่มีความเคือง จิตใจของเราก็จะเป็นกลาง สบายๆ บางครั้งเราคิดถึงพ่อ เราคิดถึงแม่ พ่อของเราตายไปเราไม่มีโอกาสที่จะทดแทนบุญคุณของท่าน แม่ของเราก็ไปทำการทำงาน เราไม่มีโอกาสที่จะแนะนำพร่ำสอนแม่เรา บางครั้งก็ห่วงป้าห่วงลุงห่วงญาติพี่น้องทั้งหลายทั้งปวง ถ้าในลักษณะอย่างนี้เราต้องพิจารณาว่า คนทั้งหลายทั้งปวงจะเป็นพ่อเป็นแม่ก็ดี ท่านก็มาเพราะกรรมของท่าน เวลาตายท่านก็ไปเพราะกรรมของท่าน ลุงป้าน้าอา พี่ชายน้องสาวก็เหมือนกันก็มาเพราะกรรมของเขา เขาก็ไปเพราะกรรมของเขา เราอยู่วัดเราประพฤติปฏิบัติธรรมเราจะช่วยอะไรเขาได้ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ให้เราพิจารณาในลักษณะอย่างนี้ ใจของเราก็จะเป็นกลาง เฉย ตั้งใจประพฤติปฏิบัติมีสติกำหนดให้ทันปัจจุบันธรรมอยู่ตลอดเวลา มีการประพฤติปฏิบัติธรรม เคล็ดลับของการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นจะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก สภาวะของการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นไม่ใช่มีร้อยแปดแต่มีล้านๆ แปด แต่ละรูปแต่ละท่านคล้ายกันแต่ไม่เหมือนกัน เหมือนกับหน้าตารูปร่างของคนนั้นแหละ ร้อยคนก็ร้อยอย่างพันอย่างหมื่นคนก็หมื่นอย่างไม่เห็นเหมือนกัน แต่คล้ายกัน มีหูมีตาเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน ล้านคนหลายล้านก็ไม่เหมือนกัน
บุญกรรมที่พาพวกเราทั้งหลายมาประพฤติปฏิบัติธรรม เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน มันจะให้ผลต่างกัน แต่ถ้าเราเข้าใจในลักษณะอย่างนี้แล้วการประพฤติปฏิบัติธรรมมันก็จะเป็นไปได้ดี ขอให้เรานั้นตั้งใจจริง ประพฤติปฏิบัติจริง มีสติ มีสัมปชัญญะ อารมณ์ของการประพฤติปฏิบัติมันจะปรากฏขึ้นมาเอง ไม่ต้องอยากรู้ว่าปีติมันเป็นอย่างไร ปัสสัทธิมันเป็นอย่างไร สมาธิมันเป็นอย่างไร วิปัสสนาญาณมันเป็นอย่างไร การบรรลุมรรคผลนิพพานมันเป็นอย่างไร ไม่ต้องอยากรู้ ให้มีสติทันปัจจุบันธรรมกำหนดอยู่ตลอดเวลา เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วเราจะเข้าใจเอง เมื่อปีติเกิดขึ้นมาแล้วเราจะเข้าใจ ปีติมันเป็นอย่างนี้นี่เอง ขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อยมันเป็นอย่างนี้นี่เอง เช่นขนพองสยองเกล้ามันเป็นอย่างนี้นี่เอง เวลาครูบาอาจารย์เทศน์ แสดงธรรมน้ำตามันไหลออกมา เป็นน้ำตาที่อิ่มไหลออกมาแล้วมีความสุข ขุททกาปีติมันเป็นอย่างนี้นี่เอง เวลาเรานั่งไปมือของเรามันใหญ่ขึ้นๆ นี้เรียกว่าขุททกาปีติ มันมีสภาวะคล้ายๆ ว่ามือมันพองขึ้นๆ นี้มันเป็นไปในลักษณะอย่างนี้นี่เอง เวลาเรานั่งไปฟันมันยาวออกมา มันเกิดขุททกาปีติอย่างนี้นี่เอง นี้ในลักษณะที่มันเกิดขึ้นมาเราก็จะเข้าใจเอง แต่ถ้ามันไม่เกิดขึ้นมาเราก็จะพยายามทำความเข้าใจในส่วนที่เป็นสภาวะแท้ๆ นั้นมันเป็นการที่เข้าใจยาก สิ่งไหนที่เกิดขึ้นกับเรา เราก็พอใจในสิ่งนั้น ไม่ใช่ครูบาอาจารย์ท่านพูดว่า มันเกิดอย่างโน้นอย่างนี้แล้ว อยากเกิดเหมือนกับท่าน ไม่ใช่ เราต้องพอใจสันโดษในสภาวะของตนเอง บางครั้งปีติมันเกิดน้อย ปัสสัทธิมันเกิดน้อย สภาวะมันไม่กว้าง แต่ก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพานเหมือนกัน ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี พระอรหันต์เหมือนกัน
เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์อย่าได้ทิ้งปัจจุบันธรรม อย่าได้ทิ้งการสำรวม อย่าได้ทิ้งความเพียร อย่าได้ทิ้งอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง ให้พิจารณาอารมณ์ตามความเป็นจริง ให้พิจารณากรรมเป็นของของตน อย่าคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเราถูกใส่ร้าย เราถูกป้ายสี เราไม่ถูกเอาใจ หรือว่าเราไม่ได้รับการอุปถัมภ์อุปฐากเพียงพออะไรทำนองนี้ ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม ก็จะสามารถยังผลของการประพฤติปฏิบัติธรรมให้สำเร็จลงได้ วันนี้กระผมได้กล่าวธรรมบางข้อบางประการ เสริมคณะครูบาอาจารย์ก็เห็นว่าพอสมควรแก่กาลเวลา ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์รวมถึงญาติโยมทั้งหลายได้ขยับขยายคลายอิริยาบถ กำหนดออกจากการภาวนาเพื่อเตรียมตัวแผ่เมตตา.