คุณสมบัติของผู้ปฏิบัติธรรม

คุณสมบัติของผู้ปฏิบัติธรรม

(เทศน์ที่วัดพนมดี ๑๙ ม.ค. ๕๗)

          วันนี้ก็ถือว่าเป็นกรณีพิเศษที่กระผมมีโอกาสได้มากล่าวธรรมะให้แก่คณะครูบาอาจารย์ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมได้สดับรับฟัง ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงคณะญาติโยมได้นั่งสมาธิฟังเพราะว่าการนั่งสมาธิฟังนั้นก็สามารถที่จะได้ผลของการประพฤติปฏิบัติ ในขณะที่เราฟังเพราะว่าคณะครูบาอาจารย์ก็ประพฤติปฏิบัติธรรมพรุ่งนี้ก็จะได้ฟังแว่นธรรมเป็นราตรีสุดท้าย ก็แสดงว่าคณะครูบาอาจารย์ได้ขึ้นมานัตต์ไป ๕ วันแล้ว คืนนี้เป็นราตรีที่ ๕ พรุ่งนี้ก็เป็นราตรีที่ ๖ คณะครูบาอาจารย์ก็ต้องอัพภานกรรม เพราะฉะนั้นก็ถือว่าเป็นโค้งสุดท้ายที่คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้มาร่วมประพฤติปฏิบัติธรรม

          การประพฤติปฏิบัติธรรมที่จะให้ผลนั้นเราต้องตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ การประพฤติปฏิบัติธรรมที่สำคัญนั้นเราต้องตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายนั้นเราต้องตั้งใจปฏิบัติธรรม เราจะยืน เราจะเดิน เราจะนั่ง เราจะนอน เราจะกิน เราจะดื่ม เราจะพูด เราจะคิด เราจะทำกิจอะไรๆ ก็ตามเราต้องตั้งสติไว้ให้มีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ แม้แต่การฟังธรรมก็เหมือนกัน เราก็ต้องตั้งสติไว้ที่หูของเรา “ได้ยินหนอๆ” หรือว่า “เสียงหนอๆ” อย่างใดอย่างหนึ่งจนกว่าเราจะเข้าสมาธิไป จนกว่ามันจะขาดความรู้สึกไปแต่ก็ขอให้เราจำให้ได้ว่ามันจะขาดความรู้สึกไปตอนผู้เทศน์ เทศน์ถึงเรื่องอะไร ญาติโยมบริกรรมไปถึงตอนพองหรือตอนยุบ ไปถึงตอนนั่งหรือตอนถูก มันดับลงไปตอนต้นพองกลางพองหรือสุดพอง มันดับลงไปตอนต้นยุบกลางยุบหรือสุดยุบอะไรทำนองนี้ พยายามจำให้ได้

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ถ้าผู้ใดสามารถจำการดับไปของรูปของนามให้ทันปัจจุบันธรรม ท่านกล่าวไว้ว่าเป็นเอนกานิสังสา ประมาณอานิสงส์นั้นไม่ได้ เราจะเอาสมบัติของมนุษย์หรือจะเป็นสมบัติของพระราชาก็ดี สมบัติของเศรษฐีก็ดี หรือว่าสมบัติของพระเจ้าจักรพรรดิมารวมกัน สมบัติของมนุษย์ทั้งหลายทั้งปวงนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ไม่เท่าอานิสงส์ของการจำได้ว่ามันดับไปตอนท้องพองหรือท้องยุบ ไม่เท่ากับอานิสงส์ของการเห็นรูปนามนั้นมันดับไปทันปัจจุบันธรรมครั้งเดียว อานิสงส์มันมากมายถึงขนาดนั้น หรือที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า แม้จะเอาสมบัติของเทวโลก เอาสมบัติของท้าวมหาราชทั้ง ๔ เอาสมบัติของพระอินทร์ หรือว่าท้าวสักกะ เอาสมบัติของเทวดาทั้ง ๖ ชั้น ชั้นยามา ชั้นดุสิตา ชั้นนิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดีมารวมกันทั้งหมด สมบัติของเทวดาทั้งหลายทั้งปวงนั้นไม่เท่ากับอานิสงส์ของการเห็นอาการของรูปนามมันดับไปทันปัจจุบันธรรมอานิสงส์มันมากมายถึงขนาดนั้น ท่านกล่าวว่าอย่าว่าแต่สมบัติของเทวดา ท่านกล่าวถึงสมบัติของพรหมโลกทั้ง ๒๐ ชั้นเอามารวมกันก็ไม่เท่ากับอานิสงส์ของการเห็นความเกิดดับของรูปของนามทันปัจจุบันธรรมครั้งเดียว เพราะฉะนั้นญาติโยมสาธุชน คณะครูบาอาจารย์ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทุกท่านก็ขอให้เรานั้นจงมีสติ มีสัมปชัญญะในการฟังว่าเราจะดับไปตอนท้องพองหรือท้องยุบ ตอนต้นพองกลางพองหรือสุดพอง ตอนต้นยุบกลางยุบหรือสุดยุบ ถ้าเราจำได้ก็เป็นเอนกานิสังสา อานิสงส์นั้นเป็นอเนกประการเหนือที่จะพรรณนา อันนี้เป็นเบื้องต้นของการฟังธรรมและการประพฤติปฏิบัติธรรมที่คณะครูบาอาจารย์ประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น เราจะประพฤติอย่างไรจึงจะได้ผลของการประพฤติปฏิบัติธรรม

          การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า บุคคลประพฤติปฏิบัติธรรมจะให้ได้ผลของการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น บุคคลนั้นต้องมีคุณสมบัติหลายอย่างที่พิเศษโดยเฉพาะตา ท่านกล่าวว่าผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นต้องมีถึง ๕ ตา คนธรรมดานั้นมี ๒ ตา มีตาซ้ายและตาขวา แต่บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมอยากจะได้ผลนั้นต้องมีถึง ๕ ตา ดังที่พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมต้องประกอบด้วย ๕ ตา คือ

          ๑. โสตา แปลว่าผู้มีหูดี

          ๒. หันตา ไม่ลุตามอำนาจของกิเลส

          ๓. ขันตา มีความอดทนอย่างยอด

          ๔. คันตา มีการเตรียมตัวเพื่อจะไป

          ๕. รักขิตา มีการรักษาอย่างดี  

            บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมที่จะได้ผลของการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นต้องมีถึง ๕ ตา ท่านกล่าวว่า โสตา แปลว่าผู้มีหูดี ในที่นี้หูนั้นถือว่าเป็นอวัยวะที่สำคัญ บุคคลจะเรียนหนังสือ ป.๑ ป.๒ ป.๓ มัธยมต้น มัธยมปลาย ตลอดถึงศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโท หรือว่าจบด็อกเตอร์ก็ต้องใช้หู นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ หูนั้นถือว่าเป็นใหญ่ในการฟังเรียกว่าโสตินทรีย์ มีความสำคัญไม่แพ้ตา ไม่แพ้จมูก ไม่แพ้ลิ้น ไม่แพ้กาย ถ้าขาดหูเสียอย่างเดียวการกระทำอะไรก็ไม่สะดวก เช่นการเรียนหนังสือนี้ก็ต้องอาศัยหูเป็นอย่างมาก คนทั้งหลายทั้งปวงได้ปัญญาก็เกิดจากการมีหู เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัตินั้นท่านกล่าวว่าต้องเป็นผู้ที่มีหูดี คือต้องตั้งใจฟังต้องน้อมเอาคำสอนของครูบาอาจารย์ผู้แนะนำพร่ำสอนนั้นไปประพฤติปฏิบัติ เพราะว่าบุคคลผู้ฟังด้วยดีย่อมเกิดปัญญา สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ ฟังด้วยดีก็เกิดปัญญา ทั้งที่เป็นโลกียปัญญา ทั้งที่เป็นโลกุตตรปัญญาก็เกิดขึ้นจากการฟัง

          เราระลึกนึกถึงในสมัยครั้งพุทธกาลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสเรียกสาวกของพระองค์ว่า สาวกา แปลว่าผู้ฟัง สาวกนั้นแปลว่าผู้ฟัง เพราะอะไร เพราะพระองค์นั้นทรงใช้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยการแสดงพระธรรมเทศนา ยังพระศาสนาให้สถิตตั้งมั่น ยังปุถุชนคนทั้งหลายผู้ตั้งใจฟังนั้นให้ได้เป็นอริยชนก็เพราะการฟังธรรม เหมือนกับพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ก็อาศัยฟังธัมมจักกัปปวัตนสูตร อนัตตลักขณสูตร ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ พระเจ้าพิมพิสารก็ดี บริวารของพระเจ้าพิมพิสารก็ดี ก็ฟังธรรมนี้ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันตั้ง ๑๑ โกฏิ อีก ๑ โกฏิก็เป็นกัลยาณชน แม้แต่พระสารีบุตรก็อาศัยฟังธรรมจากพระอัสสชิก็ได้ดวงตาเห็นธรรม พระโมคคัลลานะก็อาศัยการฟังธรรมจนได้ดวงตาเห็นธรรม แม้แต่พระอานนท์ก็อาศัยฟังธรรมจากพระปุณณมันตานีบุตรจึงได้บรรลุดวงตาเห็นธรรม

          การฟังธรรมนั้นถ้าเราฟังด้วยดีก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นได้บรรลุธรรมถึงโลกุตรธรรมสำเร็จเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี หรือสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ เรียกว่าการฟังด้วยดีนั้นย่อมเกิดปัญญา เพราะฉะนั้นผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมควรที่จะฟัง ใช้สติ ใช้สัมปชัญญะ ขณะที่เราฟังเราก็กำหนด “ได้ยินหนอๆ” ตั้งสติไว้ที่โสตประสาทของเราตรงที่แก้วหูของเรา เมื่อเราตั้งสติไว้อย่างนั้นใจเราไม่ส่งไปถึงเสียงแห่งผู้พูดเรามีสติตั้งอยู่ ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน เสียงสักแต่ว่าเสียง เห็นเสียงนั้นเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เห็นเสียงนั้นเป็นรูปเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ใจที่กำหนดรู้เสียงนั้นเป็นสักแต่ว่านามเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป สติของเรามันตั้งมั่น เมื่อสติของเราตั้งมั่นเราจะมีความรู้สึกว่าเสียงนั้นมันเป็นรูปไหลเข้าไปในหูของเรา ไหลเข้าไปๆๆ เหมือนกับท่อน้ำไหลเข้าไปในหูของเรา เสียงนั้นมากระทบที่โสตประสาทของเรา เราก็กำหนด “ได้ยินหนอๆ” มือของเรามันแน่นเข้า ตัวของเรามันแข็งเข้า ความรู้สึกมันน้อยลงไปๆๆ ละเอียดลงไปๆๆ สมาธิของเรามันเพิ่มขึ้น สติของเรามันเพิ่มขึ้น ความรู้สึกมันเบาลงเล็กลงๆๆ เสียงมันชัดขึ้นๆๆ มันก็ดับลงไป แต่ให้เราจำไว้ว่ามันดับลงไปตอนท้องพองหรือท้องยุบ ผู้เทศน์ เทศน์ถึงเรื่องอะไร อันนี้เรียกว่าบุคคลที่ชื่อว่ามีหูดี เป็นผู้มีโสตา เป็นผู้มีหูดี

          ประการที่ ๒ ท่านกล่าวว่าหันตา ไม่ลุตามอำนาจของกิเลส คือในขณะที่เรามาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น บางคนบางท่านก็คิดว่าเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมกิเลสก็คงจะน้อยลง ความโกรธก็คงจะน้อยลง ความโลภก็คงจะน้อยลง ความหลงก็คงจะน้อยลงแต่หาเป็นอย่างนั้นไม่ เพราะว่าบุคคลบางคนเวลามาประพฤติปฏิบัติธรรมแต่ก่อนโน้นไม่เคยสังเกตว่าความโกรธมันเป็นอย่างไร ความโลภ ความหลงมันเป็นอย่างไร ราคะ ตัณหา เมื่อมันเกิดขึ้นในจิตในใจแล้วจิตใจมันร้อนรุ่ม มันแผดเผาจิตใจของเราให้ไหม้เกรียมเป็นอย่างไรเราไม่เคยพิจารณา ในเมื่อเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมตั้งใจเดินจงกรมนั่งภาวนา เราพยายามสำรวจให้ดีแต่ขณะที่เราเดินจงกรมนั่งภาวนานั้นแทนที่จิตใจมันจะสงบมันก็เกิดราคะขึ้นมา คิดถึงอารมณ์ที่จะทำให้เกิดราคะขึ้นมา คิดถึงรูปที่สวยๆ เสียงที่ไพเราะ คิดถึงแล้วก็เกิดความกำหนัดทำให้เกิดกามราคะขึ้นมาครอบงำ ยืนอยู่ก็กำหนัด เดินอยู่ก็กำหนัด นั่งอยู่ก็กำหนัด ฉันอยู่ก็กำหนัด อาบน้ำอาบท่าอยู่ก็กำหนัด หรือเราจะพักผ่อนนั่งสบายมันก็เกิดความกำหนัดอยู่ เว้นไว้แต่เราหลับ หลับเราก็ยังฝันถึงรูปสภาคารมณ์อันเป็นที่รักอยู่ เรียกว่าความกำหนัดครอบคลุมจิตใจ บางครั้งบางคราวไม่ระมัดระวังอาจจะเผลอยินดีในกามคุณนั้นก็ได้  ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นบุคคลที่เป็นราคจริตเมื่อมีสติสมบูรณ์ เมื่อมีสมาธิสมบูรณ์ ราคจริตบุคคลผู้มีจริตไปในความรักสวยรักงามสิ่งเหล่านี้มันก็จะปรากฏชัด เพื่อที่จะให้เราเห็น เพื่อที่จะให้เรามีสติกำหนดรู้ เพื่อจะให้เรารู้แจ้ง เพื่อที่จะให้เราพิจารณาเรียกว่าเป็นสิ่งที่มาปรากฏเพื่อที่จะพิสูจน์ สามารถที่จะกำหนดชนะอารมณ์เหล่านี้ได้ไหม มันปรากฏขึ้นมาสำหรับบุคคลผู้มีราคจริตเราก็ต้องพยายามกำหนดที่ใจของเรา “ราคะหนอๆ” มีสติตั้งใจกำหนด “ราคะหนอๆ” จี้ลงไปที่ใจของเราให้มีสติตั้งมั่น สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นมันก็ดับลงไปได้ “ราคะหนอ” จี้ลงไปทำใจของเราให้เป็นกลางจี้ลงไปที่ใจของเรา “ราคะหนอ” เห็นความเปลี่ยนแปลงของจิตใจของเรา ในเมื่อสติกำหนดลงไปที่ใจของเราความเปลี่ยนแปลงมันอาจจะน้อยลงไป เบาลงไป หรือดับลงไป อันนี้เราก็พยายามกำหนด

          แต่ว่าบางคนบางท่านเป็นประเภทโทสจริต เวลาประพฤติปฏิบัติธรรมก็มีแต่ความหงุดหงิด มีแต่ความรำคาญ เพื่อนพูดนิดพูดหน่อยก็ไม่พอใจ อาหารไม่ถูกปาก ญาติโยมเอาอาหารไม่ถูกใจมาถวายก็เกิดความหงุดหงิด เกิดความรำคาญ เกิดความโกรธ หรือว่ามีความโกรธเป็นเจ้าเรือน เวลามาประพฤติปฏิบัติเดี๋ยวก็โกรธเพื่อน เพื่อนกำหนดเร็วก็ว่าเพื่อนกำหนดเร็ว เพื่อนกำหนดช้าก็ว่าเพื่อนกำหนดช้า ใครกำหนดก็ไม่ถูกใจ ตีระฆังเร็วกว่าสองสามนาทีก็โกรธแล้วในลักษณะอย่างนี้ แผ่เมตตาก่อนหรือแผ่เมตตาเลยไปนิดๆ หน่อยๆ ก็โกรธแล้ว ไม่พอใจแล้ว อันนี้ลักษณะของบุคคลผู้เป็นประเภทโทสจริต เวลามาประพฤติปฏิบัติก็คอยแต่จับผิดเพื่อน คอยแต่จะโกรธเพื่อน เวลามาประพฤติปฏิบัตินั่งภาวนา “พองหนอยุบหนอ” ไป บางครั้งคิดถึงเรื่องที่คนอื่นทำให้เราไม่สบายใจแต่ก่อนโน้นมันผ่านมา บางครั้งตั้งแต่สมัยเป็นโยม นั่งไปก็พิจารณาไป คิดว่าเราก็ไม่ว่าอะไรทำไมเขามาว่าเราแล้วก็คิดเกิดความโกรธ นั่งไปกำหมัดกัดฟันไปก็มี อยากจะเอาคืนในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าเป็นประเภทของโทสจริต เมื่อมันเป็นอย่างนี้เราต้องกำหนดที่ใจของเรา “โกรธหนอๆ” “ไม่พอใจหนอๆ” กำหนดลงไปที่ใจของเรา เหตุมันเกิดขึ้นที่ใจของเรามันตั้งอยู่ที่ใจของเรามันก็ต้องดับที่ใจของเรา แต่เราจะอาศัยอะไรดับ เราต้องอาศัยสติ อาศัยสัมปชัญญะนี้แหละดับมัน เราก็กำหนด “โกรธหนอๆ” จี้ลงไปที่ใจของเรา อันนี้เรียกว่าเป็นประเภทของโทสจริต

          แต่ว่าบางคนบางท่านเป็นประเภทวิตกจริต หรือว่าเป็นโมหจริต ชอบหลับ ชอบง่วงเหงาหาวนอนนี้เราก็กำหนดที่ใจของเรา “ง่วงหนอๆ” ในลักษณะอย่างนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นทันอาการของจิต สามารถที่จะบอกจิตฟัง รั้งจิตอยู่ รู้ทันกระบวนการของจิตได้ เพราะว่าผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นสิ่งสำคัญเราอย่าลุอำนาจของกิเลส ไม่ส่งจิตส่งใจไปตามอำนาจของเสียงที่เราได้ยิน กลิ่นที่เราได้สัมผัส รสที่เราได้ลิ้ม ใจมันคิดอะไรเราก็พยายามกำหนด ไม่ส่งจิตส่งใจของเราเหม่อลอยตามอำนาจของสภาวธรรมต่างๆ บางครั้งเรานั่งภาวนาไปมันก็อาจจะเกิดปีติขึ้นมา เราก็ไม่เหม่อลอยไปตามอำนาจของปิติกำหนด “รู้หนอๆ” มันสุขก็กำหนด “สุขหนอๆ” ความสุขมันเกิดขึ้นที่ไหน เกิดขึ้นที่ใจมันแผ่ซ่านไปทั่วสรรพางค์กายเราก็กำหนด “รู้หนอๆ” ตามอาการของมันหรือว่าเรานั่งไปตัวมันเบาขึ้นเหมือนกับว่าไม่ได้นั่งอยู่กับพื้นเราก็กำหนดว่า “รู้หนอๆ” ไม่ใช่ว่าส่งใจไปตามกระแสของอารมณ์ที่มันเกิดขึ้นมา บางครั้งบางคราวเรานั่งไปตัวมันเบาเหมือนกับว่าไม่ได้นั่งอยู่กับพื้น เหมือนกับว่าลอยก็มีความรู้สึกพิเศษขึ้นมาก็กำหนด “รู้หนอๆ” บางครั้งบางคราวเรานั่งไปแล้วสมาธิของเรามันถอยเข้าถอยออก เมื่อสมาธิมันถอยเข้าถอยออกก็เกิดนิมิตขึ้นมา ก็อาจจะเห็นเทวดา เห็นภูตผีปิศาจ เห็นเปรตทั้งหลายทั้งปวง บางครั้งก็ตัวเป็นคนหัวเป็นวัวเป็นควายเป็นต้นมาปรากฏ ในลักษณะอย่างนี้เราก็ต้องกำหนด “เห็นหนอๆ” เรียกว่าเราไม่เหม่อลอยไปตามสภาวธรรมทั้งหลายทั้งปวง เราพยายามกำหนดให้ทันปัจจุบันธรรมถ้าเราไม่หลงสภาวะธรรม ไม่เป็นไปตามอำนาจของกิเลสทั้งหลายทั้งปวงแล้วการประพฤติปฏิบัติธรรมของเราก็ดำเนินไปในปฏิปทาอันจะทำให้เกิดวิปัสสนาญาณอันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ อันนี้เรียกว่าหันตา ไม่ลุอำนาจของกิเลส

          ประการที่ ๓ ท่านกล่าวว่าขันตา นักปฏิบัติธรรมนั้นต้องมีความอดทน เราคิดว่าการทำไร่ไถนาเราอดทนมามากแล้ว การประพฤติปฏิบัตินั้นต้องอดทนมากกว่านั้นอีก เราคิดว่าการค้าการขาย การทำมาหากินมันอดทนมันลำบากมากแล้ว แต่เวลามาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นต้องอดทนมากกว่านั้นอีก อธิวาสนขันติ เป็นการอดทนอย่างยิ่งไม่ใช่อดทนธรรมดา เราต้องอดทนต่อความโกรธ เราต้องอดทนต่อความโลภ เราต้องอดทนต่อความหลง เราต้องอดทนต่ออำนาจของกิเลสที่มันอยู่ภายใน เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมสิ่งที่รบกวนเราที่สุดก็คือจิตใจของเรานี้ เวลามาประพฤติปฏิบัติธรรมสิ่งที่ทำให้เราไม่สงบก็คือใจของเรานี้ สิ่งที่ทำให้เราไม่ได้เกิดสมาธิก็คือใจของเรานี้ มันชอบคิดถึงอารมณ์ต่างๆ มันชอบแส่ไปในอารมณ์ต่างๆ วิ่งไปสู่อารมณ์ทางรูปบ้าง ทางเสียงบ้าง ทางกลิ่น ทางรส ทางสัมผัส ทางธรรมารมณ์ต่างๆ คอยยินดี คอยยินร้ายกับรูป กับเสียง กับกลิ่น กับรส อยู่เป็นประจำ ใจของเรานี้แหละเป็นหมายเหตุ ดังนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าใจประทุษร้ายแล้ว ใจไม่ผ่องใสแล้วความทุกข์ย่อมติดตามบุคคลนั้นไป แต่ถ้าผู้ใดมีใจผ่องใสแล้วความสุขย่อมติดตามบุคคลนั้นไปเหมือนกัน

          เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมเราพยายามมีความอดทน ถึงมันจะขี้เกียจขนาดไหนเราก็ต้องเดินจงกรม ถึงมันง่วงเหงาหาวนอนขนาดไหนเราก็ต้องเดินจงกรม เราต้องนั่งภาวนา คณะครูบาอาจารย์กำหนดอย่างไรเราต้องประพฤติปฏิบัติอย่างนั้นให้เสมอต้นเสมอปลาย หรือว่าให้เป็นกิจวัตรประจำ ไม่ใช่ว่าวันนี้ขยันปฏิบัติธรรมถึง ๕ ทุ่ม ๖ ทุ่ม ตี ๑ ตี ๒ พรุ่งนี้นอนตื่นสายบอกวัตรแทบจะไม่ทันอะไรทำนองนี้ การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นท่านให้ประพฤติปฏิบัติธรรมดุจกระแสน้ำไม่ให้มันขาดช่วง ไม่ให้มันขาดการติดต่อ ท่านให้ประพฤติปฏิบัติธรรมไม่ให้ขาดระยะให้สืบต่อเนื่องกันไปไม่ให้ขาดสายดุจกระแสน้ำ เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นไม่ใช่ว่าวันนี้เราทำทั้งวันตั้งแต่ตื่นขึ้นทำดี พรุ่งนี้เราก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ การประพฤติปฏิบัติธรรมในลักษณะอย่างนี้ก็เป็นไปได้ยากเราต้องอดทนกำหนด เราจะยืน เราจะเดิน เราจะนอน เราจะนั่ง เราจะดื่ม เราจะพูด เราจะคิด เราจะคู้ เราจะเหยียด เราจะก้ม เราจะเงย เราต้องมีความอดทนกำหนด ค่อยๆ กำหนดเวลาเราเดิน “ขวาย่างหนอ” ให้เราสังเกตว่าอะไรเป็นต้นยก กลางยก สุดยก อะไรเป็นต้นย่าง กลางย่าง สุดย่าง อะไรเป็นต้นเหยียบ กลางเหยียบ สุดเหยียบ เราต้องมีความพยายามมีความอดทน มีความอดกลั้นในการประพฤติปฏิบัติ เวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรมเมื่อใจของเรายังไม่สงบเราก็ต้องพยายามมีความอดทน พยายามกำหนด พยายามอดกลั้น เวลาถูกราคะครอบงำก็พยายามอดกลั้น เวลาถูกโทสะครอบงำก็พยายามอดกลั้น อดทน เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่อเรายังไม่สามารถยังผลการประพฤติปฏิบัติธรรมให้เกิดขึ้นมาเราก็ต้องอดทนอย่างยิ่ง บางครั้งปฏิบัติไปก็ร้องไห้ไป บางครั้งเดินจงกรมไปก็ร้องไห้ไปก็มี

          เวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ที่ป่าบางครั้งเราเดินจงกรมตอนหนึ่งทุ่มสองทุ่ม เราเดินจงกรมหนาวๆ อย่างนี้ ญาติโยมเดินไปดูหนังดูละคร เดินผ่านชายป่าไปเราก็เดินจงกรมนั่งภาวนาไปบางครั้งก็คิด เราจะมาลำบากเดินจงกรมนั่งภาวนาอยู่คนเดียวทำไม ชาวบ้านเขามีความสุข เขาได้ไปสนุกสนานรื่นเริงเบิกบานดีใจ เราจะมาอดตาหลับขับตานอนทนหนาวอยู่อย่างนี้ทำไม บางครั้งกิเลสมันแทรกขึ้นมาเราก็พิจารณาตามธรรมนั้น เราก็เข้าใจชาวบ้านทั้งหลายทั้งปวงนั้นหลงแล้ว หลงไปเพลิดเพลินกับละคร หลงไปเพลิดเพลินกับการดูการเล่น ไม่มีสาระ ไม่มีประโยชน์ การดูนั้นบางครั้งก็เป็นบุญ การดูบางครั้งก็เป็นบาปอะไรทำนองนี้ การประพฤติปฏิบัติธรรมของเรานี้ประเสริฐแล้ว ถ้าเราตายในขณะที่ประพฤติปฏิบัติธรรมนี้เราก็ต้องไปสู่สุคติโลกสวรรค์แน่นอน แต่ถ้าญาติโยมดูละครตายไปแล้วอาจไปสู่อบายภูมิก็ได้ อาจจะยินดียินร้ายกับละคร เราต้องพยายามมีปัญญาควบคุม

          บุคคลผู้ที่จะอดทนได้นั้นต้องประกอบไปด้วยปัญญา ถ้าผู้ใดขาดปัญญาอยากจะอดทนก็อดทนไม่ได้อย่างเช่น เขามาด่าเราเราก็อดทนไม่ได้ถ้าเราขาดปัญญา บางครั้งก็ด่าออกไปก่อน บางครั้งก็สวนออกไปก่อน บางครั้งก็ต้องไปแจ้งตำรวจจับกันเกิดเรื่องเกิดราวขึ้นมา อันนี้ลักษณะของความอดทนไม่มี เรียกว่าไม่มีปัญญาที่ครอบคลุม เพราะฉะนั้นความอดทนนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้พระองค์ประพฤติปฏิบัติธรรมถึงสลบ เทวดาที่เห็นอาการอย่างนั้นก็มาปรากฏอยู่ในห้องของพระเจ้าสุทโธทนะ พุทธบิดา ส่องแสงสว่างไสวก็บอกว่าโอรสของพระองค์นั้นได้ถึงแก่สวรรคตแล้ว ได้ตายแล้วแต่พระเจ้าสุทโธทนะนั้นไม่เชื่อ บุตรของเราถ้าไม่ได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณก็จะไม่ทำกาละคือไม่สวรรคต พระองค์ทรงประพฤติปฏิบัติธรรมถึงขนาดนั้น เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเราต้องมีตาที่ ๓ เรียกว่าขันตา

          ประการที่ ๔ ท่านกล่าวว่าคันตา มีการเตรียมตัวเพื่อจะไป การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเราต้องรู้ว่าการที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์นี้เราเกิดชั่วคราวหรือเกิดมาเพราะกรรม เราตั้งอยู่เพราะกรรม แล้วเราก็จะดับไปเพราะกรรม ร่างกายของเรานี้เป็นก้อนแห่งกรรม เราเกิดขึ้นมาด้วยอานุภาพของกรรม เราตั้งอยู่ได้เพราะอุปถัมภกกรรม แล้วเราก็จะจุติไปด้วยอำนาจกรรมที่จะส่งผลให้เราเกิดในนรกก็ดี เปรตก็ดี อสุรกายก็ดี สัตว์เดรัจฉานก็ดี หรือไปสู่เทวดา พรหม หรือว่าไปสู่พระนิพพานด้วยอาศัยกรรมของเรา เมื่อเรารู้ว่าร่างกายของเราเป็นก้อนกรรมเราก็ควรที่จะพิจารณาให้เกิดความสลดสังเวชว่า เราเกิดขึ้นมาเราพบความยากจนต้องถือกระเบื้องขอทานถือกะลาขอข้าวหากินฝืดเคืองหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินอาบเหงื่อต่างน้ำนอนกลางดินกินกลางทราย ฝ่าแดดฝ่าฝน เราเกิดมาเป็นชาวไร่ชาวนา เราลำบากยากจนเข็ญใจอย่างนี้ก็เป็นเพราะเรานั้นเคยทำบุญทำทานในภพก่อนชาติก่อนไว้น้อย เราก็พอมีอาหารยังอัตภาพให้เป็นไปถ้าเราพิจารณาอย่างนั้นเราก็จะรู้ว่าเรานั้นมาจากกรรม บางครั้งบางคราวเราได้สามีกินเหล้าเมายาเราก็ต้องพิจารณาว่าแต่ก่อนโน้นเราอาจจะเกิดเป็นภรรยาเขาแล้วก็ไปกินเหล้าเมายา เกิดมาชาตินี้ก็เลยเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้สามีที่กินเหล้าเมายา บางครั้งบางคราวสามีของเราเจ้าชู้ ภรรยาของเราเจ้าชู้ไปมีบ้านเล็กบ้านน้อยต่างๆ สิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นมาจากกรรม แต่ก่อนภพก่อนโน้นเราอาจจะไปประพฤติไม่ดีเราจึงได้เมียไม่ดี ได้สามีไม่ดี อันนี้ล้วนแต่เกิดขึ้นมาจากกรรม

          บางคนเกิดขึ้นมาแล้วเป็นคนโง่เง่าอับเฉาปัญญาก็เกิดขึ้นมาเพราะกรรมที่เคยกระทำมาแต่ภพก่อนชาติก่อน บางคนเกิดมาแล้วก็มีรูปร่างหน้าตาขี้ริ้วขี้เหร่ มองแล้วก็ไม่น่ามอง พูดด้วยก็ไม่อยากพูดด้วย เพราะอะไร เพราะหน้าตาน่าเกลียด อัปลักษณ์ เป็นผู้ที่มีรูปพรรณไม่น่าดูไม่น่าชม แต่บางคนบางท่านเกิดขึ้นมาแล้วมีรูปร่างหน้าตาสดสวยงดงาม เป็นเพราะอะไร ก็เป็นเพราะกรรม

          เพราะฉะนั้นเมื่อเรารู้ว่าเรามีการเกิด เราก็ต้องมีการแก่ มีการเจ็บ แล้วก็มีการตาย มีการเวียนว่ายตายเกิดในห้วงมหรรณพภพสงสารอยู่ เราก็ต้องมีการเตรียมตัวเพื่อจะไป การเตรียมตัวเพื่อจะไปก็คือการบำเพ็ญบุญ ให้เราพิจารณาดูว่ากามาวจรบุญ บุญอันท่องเที่ยวไปในกามภพนั้นเราบำเพ็ญมาสมบูรณ์แล้วหรือยัง รูปาวจรบุญ บุญที่ทำแล้วเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราไปเกิดในรูปพรหมนั้นเราทำมาสมบูรณ์แล้วหรือยัง อรูปาวจรบุญ บุญที่ทำแล้ว ทำให้เราไปเกิดในอรูปพรหม เราได้ทำให้เกิดในขันธสันดานของเราหรือยัง หรือว่าโลกุตรบุญ บุญเหนือโลก ถ้าผู้ใดทำแล้วก็จะตัดภพตัดชาติให้การเวียนว่ายตายเกิดนั้นน้อยลงลดลงไป แล้วก็หมดลงไปไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด โลกุตรบุญนั้นเราทำให้เกิดขึ้นในจิตในใจของเรานั้นมากน้อยขนาดไหน วิปัสสนาญาณ ๑๖ เกิดขึ้นแก่เรากี่รอบแล้ว วิปัสสนาญาณ ๑๖ เกิดขึ้นแก่เรากี่ครั้งแล้วให้เราพิจารณาในลักษณะอย่างนี้

          บุคคลผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมก็ถือว่าเป็นการเตรียมตัวเพื่อจะไป เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเป็นการป้องกันอบายภูมิ บุคคลผู้กลัวตกนรก บุคคลผู้กลัวอบายภูมิถ้ามาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วสามารถป้องกันอบายภูมิได้ เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น เป็นการที่จะชำระบาปให้เหือดแห้งไปจากจิตจากใจของเราได้ พลิกสถานการณ์จากการที่เราได้ไปเกิดในนรกนั้นให้พ้นไปจากนรกแล้วก็ไปสู่พระนิพพานได้ เราจะทำบาปขนาดไหนก็ตามถ้าเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วสามารถที่จะป้องกันอบายภูมิได้ ถ้าเราไม่กระทำอนันตริยกรรม เราไม่ได้ฆ่าบิดามารดา ไม่ได้ฆ่าพระอรหันต์ ไม่ทำโลหิตุปบาท ไม่ได้ทำสงฆ์ให้แตกจากกัน เราจะทำบาปอย่างอื่นนอกจากอนันตริยกรรมหนักขนาดไหนก็ตาม ถ้าเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมจนยังญาณ ๑๖ ให้เกิดขึ้นมาแล้วเราจะไม่ไปสู่อบายภูมิ

          เหมือนกับองคุลิมาล องคุลิมาลนั้นฆ่าคนมาตั้ง ๙๙๙ คนเวลาจะพบธรรมใกล้ๆ เวลาจะฆ่ามารดาของตนเองแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงไปโปรดแล้วก็ออกบวช เมื่อออกบวชแล้วก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในวันที่องคุลิมาลนิพพานนั้น ภิกษุทั้งหลายก็เข้าไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองคุลิมาลตายแล้วไปสู่ที่ไหนหนอ” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุตรของเรานั้นปรินิพพานแล้ว” ทำให้ภิกษุทั้งหลายเกิดความงงงวย ทำให้คนทั้งหลายที่เป็นปุถุชนนั้นงงงวย เพราะอะไร เพราะฆ่าคนมาตั้ง ๙๙๙ คน ไปสู่พระนิพพานได้อย่างไร ผลของบาปนั้นไม่มีหรือ บางคนบางท่านก็อาจจะเกิดความสงสัย เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าอริยมรรคเกิดขึ้นในจิตในใจของผู้ใดแล้ว บาปธรรมทั้งหลายทั้งปวงก็เหือดแห้งไป มรรคผลนิพพานนั้นเกิดขึ้นแก่พระองคุลิมาลครบ ๔ รอบจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ องคุลิมาลจึงไม่ได้ไปสู่อบายภูมิ ตายแล้วก็เข้าสู่พระนิพพาน

          หรือนายตัมพทาฐิกะผู้มีเคราแดงตาเหลืองๆ ก็ตาม ฆ่าคนมาตั้ง ๕๕ ปี เป็นโจรไปปล้นไปฆ่าก็มากแล้วยังมาเป็นนายเพชรฆาตฆ่าโจรอีก เขาเอาโจรมาให้ฆ่าครั้งละ ๓ คนบ้าง ๔ คนบ้าง ๑๐๐ คนบ้าง ๕๐๐ คนบ้าง เขาฆ่าโจรอยู่ ๕๕ ปี ฆ่าโจรมาเป็นหลายพันคนแต่พอวันที่นายตัมพทาฐิกะจะถึงแก่กาลได้ตายไปนั้นแหละพระสารีบุตรไปโปรดก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้นายตัมพทาฐิกะบรรลุได้ดวงตาเห็นธรรมสำเร็จเป็นพระโสดาบัน แล้วนายตัมพทาฐิกะก็ทำกาละคือตายไปในวันนั้น ภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายก็มาถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสว่า “บุตรของเราไปเกิดแล้วในดุสิตบุรี” ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตแล้ว ด้วยอำนาจของการบรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะฉะนั้นบุคคลทำบาปทำกรรมฆ่าคนมา ในเมื่อมาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วก็สามารถป้องกันไม่ให้ไปเกิดในอบายภูมิได้

          หรือท่านกล่าวไว้ในตติยสมันตปาสาทิกา สูตรของเปรียญธรรม ๖ ประโยค คนฆ่าปลาครั้งหนึ่งก็ต้องถูกเขาฆ่าคืน ๕๐๐ ครั้ง ฆ่าสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่ง ถูกเขาฆ่าคืน ๕๐๐ ครั้ง แล้วก็ถูกฆ่าในลักษณะที่เราฆ่าเขาด้วย เราสับคอปลาก็ต้องถูกเขาสับคอคืน ๕๐๐ ครั้ง เราทุบหัวเขาก็ต้องถูกเขาทุบหัวคืน ๕๐๐ ครั้งหรือตายในลักษณะที่เราเคยฆ่าเขา เราเกิดขึ้นมาเราฆ่าเป็ดก็ดี ฆ่าไก่ก็ดี ฆ่ากุ้ง ฆ่าหอย ฆ่าปู ฆ่าปลานั้นก็มากมาย เราตายแล้วเราจะรอดพ้นจากการไปเกิดในอบายภูมิไหม ถ้าเราประมาทไม่ประพฤติปฏิบัติธรรม เวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรมเราก็ไม่สนใจในการประพฤติปฏิบัติธรรม ตายไปแล้วเราจะรอดพ้นอบายภูมิไหม

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลายอบายภูมินั้นเป็นเรือนนอนของสรรพสัตว์ทั้งหลาย” เรียกว่าอบายภูมินั้นเป็นที่อยู่ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย คนที่เกิดขึ้นมาแล้วจะมาเกิดเป็นมนุษย์นั้นน้อยนัก จะไปเกิดเป็นเทวดานั้นน้อยนัก ไปเกิดเป็นพรหมนั้นยิ่งน้อยนัก ส่วนมากคนทั้งหลายทั้งปวงนั้นไปสู่อบายภูมิ เพราะอบายภูมินั้นเป็นเรือนนอนของคนทั้งหลายทั้งปวง คนทั้งหลายทั้งปวงที่เวียนว่ายตายเกิดในห้วงมหรรณพภพสงสารนั้นใกล้ชิดกับอบายภูมิมากกว่ามนุษย์ ใกล้ชิดอบายภูมินั้นมากกว่าสวรรค์ ใกล้ชิดอบายภูมินั้นมากกว่านรก ไปเกิดในอบายภูมินั้นมากกว่ามาเกิดในมนุษย์ มากกว่าไปเกิดในสวรรค์หรือพรหมโลก เพราะฉะนั้นอบายภูมินั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า เปรียบเสมือนกับเรือนนอน

          แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายทั้งปวงเมื่อตายจากมนุษย์แล้วจะไปเกิดบนสวรรค์ จะไปเกิดเป็นพรหมนั้นเหมือนเขาโค แต่ตายแล้วไปเกิดในอบายภูมินั้นเหมือนกับขนโค ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายที่ตายจากสวรรค์แล้ว จะมาเกิดในมนุษย์ จะไปเกิดบนสวรรค์อีกนั้นก็เหมือนกับเขาโค ส่วนมากเมื่อตายแล้วก็ไปเกิดในอบายภูมิ” นี้มันเป็นเสียอย่างนั้น

          เพราะฉะนั้นการที่พวกเราทั้งหลายมาประพฤติปฏิบัติธรรมก็เหมือนกับว่าเราเตรียมตัวว่าเราตายจากโลกนี้แล้วเราจะไปสู่ภูมิใด แต่ถ้าเรามีการประพฤติปฏิบัติธรรมที่ดี เดินจงกรมนั่งภาวนาจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมา

          ถ้าเราได้ญาณที่ ๑ นามรูปปริจเฉทญาณนี้เราก็ไม่ไปสู่อบายภูมิแล้ว ๑ ชาติถ้าไม่ประมาท

          ถ้าเราประพฤติปฏิบัติธรรมถึงปัจจยปริคหญาณ ญาณที่ ๒ ชื่อว่าเป็นจุลโสดาบันตายไปแล้วก็ไม่ไปสู่อบายภูมิ ๒ ชาติถ้าไม่ประมาท

          ถ้าเราประพฤติปฏิบัติถึงสัมมสนญาณ ญาณที่ ๓ เห็นอาการพองอาการยุบเป็นอนิจจัง ทุกขัง เป็นอนัตตาเราก็ไม่ไปสู่อบายภูมิ ๓ ชาติถ้าไม่ประมาท

          ถ้าเราประพฤติปฏิบัติถึงญาณที่ ๔ แล้ว อุทยัพพยญาณ เวลาเราเดินจงกรมนั่งภาวนา “พองหนอยุบหนอ” นี้ตัดภพตัดชาติไป ๗ ชาติ เวลาเราเดินจงกรม “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” ก้าวหนึ่งก็ตัดภพตัดชาติไป ๗ ชาติ เวลาเรากำหนด “เห็นหนอ” เห็นความเกิดดับตัดภพตัดชาติไป ๗ ชาติ เวลาเราเดินจงกรม “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” ก้าวหนึ่งก็ตัดภพตัดชาติไป ๗ ชาติ เวลาเรากำหนด “เห็นหนอ” เห็นความเกิดดับครั้งหนึ่งตัดภพตัดชาติได้ ๗ ชาติ “ได้ยินหนอ” เห็นความเกิดดับครั้งหนึ่งก็ตัดภพตัดชาติได้ ๗ ชาติ ภพชาติของเราแทนที่จะเกิดอนันตริยะเกิดเป็นหลายร้อยหลายล้านกัปล้านกัลป์ก็ลดลงไปๆ เมื่อภพชาติมันลดลงไปจิตใจมันก็สะอาดขึ้น มรรคผลก็ปรากฏขึ้น ความเข้าใจในธรรมะต่างๆ มันก็ปรากฏขึ้นมา ธาตุขันธ์มันก็เบาบางลงบารมีมันก็เพิ่มขึ้น อินทรีย์ก็แก่กล้าไปตามลำดับๆ ลักษณะของการประพฤติปฏิบัติธรรมมันเป็นอย่างนั้น

          แต่ถ้าผู้ใดบรรลุธรรมาภิสมัยเป็นพระโสดาบันก็เกิดอีกอย่างมาก ๗ ชาติ เรียกว่า สัตตักขัตตุปรมะ แต่ถ้าผู้ใดมีบารมีแก่กล้าขึ้นไปกว่านั้นเป็นพระโสดาบันประเภท โกลังโกละ ก็เกิดอีก ๒-๖ ชาติ แต่ถ้าผู้ใดมีบารมีมากไปกว่านั้นเป็นพระโสดาบันประเภท เอกพีชีก็เกิดเพียงชาติเดียว ตายจากชาตินี้แล้วก็ไปเกิดเป็นมนุษย์อาจจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในภพต่อมา หรือว่าตายจากมนุษย์แล้วไปเกิดเป็นเทวดาก็อาจบรรลุในสวรรค์ ในชั้นที่ตนเองไปเกิดอันนี้เรียกว่าพระโสดาบันที่ไม่ได้ฌาน แต่ถ้าพระโสดาบันที่ได้ฌานบางครั้งตายไปแล้วไปเกิดในพรหมก็สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ในชั้นนั้นๆ จะเป็นผู้มีการเกิดเพียงครั้งเดียว แต่ถ้าผู้ใดมีความเพียรมีมานะบากบั่นบางครั้งบางคราวได้บรรลุเป็นพระสกทาคามีเกิดอีกเพียงครั้งเดียวก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่ถ้าผู้ใดมีบารมีมากไปกว่านั้นประพฤติปฏิบัติธรรมจนยังพระอนาคามีให้เกิดขึ้น ตายไปแล้วก็จะไปเกิดในสุทธาวาสพรหม อวิหา อตัปปา สุทัสสี สุทัสสา อกนิฏฐพรหมด้วยอำนาจของการบรรลุของตน ถ้าผู้ใดบรรลุมรรคผลนิพพานด้วยศรัทธาก็จะไปเกิดในชั้นอวิหา ถ้าผู้ใดบรรลุด้วยความเพียรเรียกว่ามีความเพียรกล้าได้บรรลุเป็นพระอนาคามีก็จะไปเกิดในชั้นอตัปปา แต่ถ้าผู้ใดมีสติดีแล้วก็บรรลุมรรคผลนิพพานด้วยอำนาจของสติก็จะไปเกิดในสุทธาวาสพรหม ในชั้นสุทัสสา ถ้าผู้ใดมีสมาธิดีเข้าสมาธิอยู่เป็นประจำ ออกจากสมาธิวิปัสสนาญาณเกิดได้บรรลุมรรคผลนิพพาน บุคคลนั้นบรรลุด้วยอำนาจของเจโตวิมุตติด้วยอำนาจของสมาธิก็จะไปเกิดในพรหมโลกสุทธาวาสพรหมในชั้นสุทัสสี แต่ถ้าผู้ใดบรรลุด้วยอำนาจของปัญญา เรียกว่าเป็นปัญญาธิก ก็จะไปเกิดในอกนิฏฐพรหม เป็นชั้นของสุทธาวาสพรหมไปจุติตามอำนาจของการบรรลุมรรคผลนิพพาน ตามอินทรีย์ของตัวเองแต่ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติธรรมยังมรรคยังผลยังพระนิพพานให้เกิดอีกครบ ๔ รอบก็จะได้นิพพานพ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิด ในพระนิพพานนั้นท่านกล่าวว่า ไม่มีรูป ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ไม่มีสัมผัส ไม่มีรูป ไม่มีเวทนา ไม่มีสัญญา ไม่มีสังขาร ไม่มีวิญญาณ ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งไม่มีนี้ท่านกล่าวว่าพระนิพพาน เพราะฉะนั้นท่านจึงให้เรานั้นเตรียมตัวในการจะไปว่า การให้ทานเราให้ทานพอหรือยัง รักษาศีลเรารักษาพอหรือยัง เจริญภาวนาเราเจริญภาวนาพอหรือยัง อันนี้เรียกว่าเป็นประการที่ ๔

          ประการที่ ๕ ท่านกล่าวว่า รักขิตา เป็นผู้มีการรักษา เรารักษาอะไร เรารักษาศีลของเราดีไหม ศีลนั้นถือว่าเป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์ ผู้ใดรักษาศีลดีพรหมจรรย์ย่อมเจริญถึงบุคคลนั้นไม่เจริญในวันนี้ก็เจริญในวันหน้า ไม่เจริญในวันหน้าก็เจริญก็เจริญเดือนหน้า ไม่เจริญเดือนหน้าก็เจริญปีหน้า ไม่เจริญปีหน้าก็ต้องเจริญปีต่อๆ ไป ไม่เจริญปีต่อๆ ไปก็เจริญในภพหน้า หรือว่าภพต่อๆ ไป เพราะอะไร เพราะว่าการที่รักษาศีลนั้นเป็นคุณชาติที่มีอานิสงส์มาก ถ้าผู้ใดรักษาศีลดีแล้ว ศีลนั้นก็จะปกป้องคุ้มครองบุคคลนั้นไม่ให้ไปสู่อบายภูมิ ถ้าบุคคลใดอยู่ในพระพุทธศาสนาก็จะไม่เดือดร้อน ไม่เกิดวิปฏิสาร ท่านกล่าวว่าศีลผู้ใดสังวรดีแล้ว รักษาดีแล้วก็จะทำให้บุคคลนั้นไม่เกิดความวิปฏิสาร คือไม่เดือดร้อน เมื่อจิตใจของบุคคลผู้รักษาศีลดีแล้วไม่มีความเดือดร้อนใจแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความปราโมทย์ ความรื่นเริงบันเทิงใจ ปราโมทย์ก็เป็นเหตุให้เกิดปิติ ความอิ่มอกอิ่มใจ ปิติก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปัสสัทธิ ความสงบแห่งจิตแห่งใจ ปัสสัทธิก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิ ความตั้งมั่นแห่งใจ สมาธิความตั้งมั่นแห่งใจก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดยถาภูตญาณทัสสนะ รู้เห็นตามความเป็นจริง ยถาภูตญาณทัสสนะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราประพฤติปฏิบัติธรรมให้เกิดวิปัสสนาญาณ ให้เห็นมรรคเห็นผลเห็นพระนิพพานตามลำดับไปในลักษณะอย่างนี้

          แต่ถ้าเรารักษาศีลของเราไม่ดี ก็เกิดความปรุงแต่ง เกิดความวิปฏิสาร เกิดความวิตกกังวลต่างๆ จิตมันก็ไม่ตั้งมั่น จิตใจก็ไม่สงบ การประพฤติปฏิบัติธรรมก็ไม่สามารถที่จะหมุนการประพฤติปฏิบัติธรรมให้เกิดขึ้นมาได้ ท่านจึงให้เรานั้นรักษาศีลของเราให้ดี แล้วก็ท่านให้เรารักษาสมาธิ สมาธิที่เรายังไม่เกิด เราต้องทำให้เกิด สมาธิที่เกิดแล้วเราต้องรักษาให้ดี เราต้องพยายามเพียรเจริญสมาธิ เราไม่สามารถเข้าสมาธิได้ในวันนี้เราต้องเข้าสมาธิได้ในวันหน้า เราเข้าสมาธิวันหน้าไม่ได้เราต้องให้เข้าสมาธิในวันต่อไปให้ได้ เราต้องพยายามเพียรเข้าสมาธิ ไม่วันใดวันหนึ่งเราต้องสามารถที่จะเข้าได้ วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร ความเพียรอยู่ไหนความสำเร็จอยู่นั่น ดังที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อใหญ่ วัดพิชโสภาราม ก่อนที่ท่านจะมรณภาพ อุปฐากผู้ดูแลใกล้ชิดท่านว่าพระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านนั้นได้นั่งแสดงธรรมในวันที่ท่านใกล้จะมรณภาพ ในวันที่ ๕ ธันวาคมนั้น ญาติโยมทั้งหลายทั้งปวงก็ไปกราบไปไหว้ในวันพ่อ เมื่อคนทั้งหลายทั้งปวงไปกราบไปไหว้คนทั้งหลายทั้งปวงกลับไปหมด ท่านก็นั่งแสดงธรรม เอารูปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาตั้งแล้วพระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านก็นั่งพับเพียบแล้วก็แสดงธรรมะ ใจความที่ท่านแสดงธรรมะนั้นท่านกล่าวว่า

          “ฌานก็ดี วิปัสสนาก็ดี มรรคก็ดี ผลก็ดี นิพพานก็ดี ถ้ามีความเพียร ไม่เกินวิสัย” แล้วท่านก็เทศน์ต่อไปว่า “ฌานก็ดี วิปัสสนาก็ดี มรรคก็ดี ผลก็ดี นิพพานก็ดี สามารถที่จะบรรลุได้ ทุกอิริยาบถ ทุกขณะจิต ทุกขณะอารมณ์” ท่านกล่าวว่า “ทุกขณะจิตเป็นมรรค ทุกขณะจิตเป็นผล ทุกขณะจิตเป็นนิพพาน” นี้ท่านกล่าวไว้ว่าทุกขณะอารมณ์เป็นนิพพาน

          กล่าวกลับไปกลับมาๆ ประมาณชั่วโมงหนึ่ง คล้ายๆ ว่าเป็นปัจฉิมโอวาท สั่งลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายไม่ให้ประมาทในการสร้างสมอบรมคุณงามความดี ว่า ฌานก็ดี วิปัสสนาก็ดี มรรคก็ดี ผลก็ดี นิพพานก็ดี ไม่เหลือวิสัยถ้าเรามีความเพียร การบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นบรรลุได้ทุกอิริยาบถ ทุกขณะจิตเป็นมรรค ทุกขณะจิตเป็นผล ทุกขณะจิตเป็นพระนิพพาน ท่านกล่าวไว้เพื่อที่จะให้ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมได้เชื่อมั่นว่ามรรคผลนิพพานนั้นมีจริงอยู่ อันนี้ก็ถือว่าเป็นปัจฉิมโอวาท ก็ขอให้พวกเราทั้งหลายนั้นจงพยายามรักษาสมาธิถ้ามันยังไม่เกิดก็ทำให้เกิด แล้วก็รักษาวิปัสสนาญาณของเราไว้ให้ดี ถ้าวิปัสสนาญาณไม่เกิดก็ต้องทำให้เกิด เมื่อเกิดแล้วก็ต้องรักษาให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป กว่าที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ให้รักษาศีล รักษาสมาธิ รักษาวิปัสสนา ปัญญาให้ดี

          แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด เราต้องรักษาตา รักษาจมูก รักษาลิ้น รักษากาย รักษาใจของเราให้ดี เพราะอะไร เพราะว่าศีล มันก็อาศัยกายของเรานี้เป็นที่เกิด อาศัยวาจาของเรานี้เป็นที่เกิดของศีล สมาธิก็อาศัยกาย อาศัยใจของเรานั้นเป็นที่เกิด อาศัยตา อาศัยจมูก อาศัยหู อาศัยลิ้น อาศัยกาย อาศัยใจของเรานี้เป็นที่เกิดของสมาธิ บาปทั้งหลายทั้งปวงก็เข้าทางตา มันก็เกิดที่ตา มันก็เกิดที่หู เกิดที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจของเรานี้ บุญมันก็เกิดขึ้นที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจของเรานี้ สมาธิมันก็เกิดที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจของเรา แม้แต่วิปัสสนาญาณของเราก็เหมือนกัน มันก็เกิดที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจของเรานี้ แม้แต่การบรรลุมรรคผลนิพพาน มันก็เกิดที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจของเรา แม้แต่การบรรลุเป็นพระโสดาบัน มันก็บรรลุที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจของเรา การบรรลุเป็นพระสกทาคามี ก็ต้องบรรลุที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรานี้ เรียกว่าการบรรลุเป็นพระอนาคามี พระอรหันต์ก็เหมือนกันก็บรรลุที่ร่างกาย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรานี้ เป็นฐาน เป็นสนามรบในการที่จะกำราบข้าศึกทั้งหลายทั้งปวงนั้น เรียกว่ากายของเรานั้นเป็นสนามรบ ใจของเรานั้นเป็นคนรบ เวลาบรรลุมรรคผลนิพพานใจของเราเป็นตัวบรรลุ ใจของเราเป็นตัวพ้น แต่เราก็อาศัยกายของเรา ถ้าไม่มีกายเราก็ไม่มีสนามรบ เราก็ไม่สามารถที่จะประหารกิเลสให้ตายไปได้

          เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ท่านให้เรากำหนดรักษาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเราให้ดี เรียกว่าเป็นผู้มีการรักษาศีลดี ถ้าผู้ใดรักษากายได้ สำรวมกายได้เป็นการดี ผู้ใดรักษาวาจาของตนเอง สำรวมวาจาของตนเองได้เป็นการดี ผู้ใดสำรวมจิตรักษาจิตของตนเองได้เป็นการดี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ถ้าผู้ใดสำรวมได้ทั้งสามทางผู้นั้นจะพ้นจากบ่วงแห่งมาร อันนี้เรียกว่าเป็นการรักษาสิ่งที่ควรรักษา เมื่อรักษาแล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้บรรลุมรรคผลนิพพาน พ้นไปจากชาติกันดาร พยาธิกันดาร มรณกันดาร พ้นไปจากห้วงมหรรณพภพสงสารได้

          วันนี้อาตมภาพกระผมได้กล่าวธรรมมาก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ในท้ายที่สุดนี้ก็ขอน้อมเอาบุญกุศลทั้งหมดทั้งปวงที่ได้แสดงธรรมมาแล้วนี้จงถึงแก่พระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระราชปริยัตยากรที่มรณภาพไปแล้ว แล้วก็ขอน้อมเอาบุญกุศลทั้งหมดทั้งปวงนี้จงถึงแก่คณะครูบาอาจารย์ที่เป็นอาจารย์กรรมก็ดี ลูกกรรมก็ดี ญาติโยมทั้งหลายทั้งปวงก็ดีที่มาประพฤติปฏิบัติธรรม แล้วก็ขอให้บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงนี้จงถึงแก่พระภูมิเจ้าที่ พระนางธรณี พระเพลิง พระพราย ตลอดถึงเจ้าของที่ทั้งหลายทั้งปวง วิญญาณทั้งหลายทั้งปวง เทวดาทั้งหลายทั้งปวงที่สิงสถิตย์อยู่ ณ บริเวณแห่งนี้ขอจงได้อนุโมทนา เมื่ออนุโมทนาแล้วขอผลบุญทั้งหลายทั้งปวงจงสำเร็จแก่ท่านที่ได้เอ่ยนามมาแล้ว แล้วก็ขอให้บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงนั้นจงมาเป็นเดชะ เป็นพลวปัจจัยส่งเสริมให้คณะครูบาอาจารย์ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมจงเป็นไปเพื่อให้ได้ซึ่งสมาธิสมาบัติ จงเป็นไปเพื่อให้ได้ซึ่งวิปัสสนาญาณ จงเป็นไปเพื่อให้ได้ซึ่งการบรรลุมรรคผลนิพพานในอนาคตกาลอันใกล้ๆ นี้ด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.