อนุปุพพธรรม ๗ ประการ

อนุปุพพธรรม ๗ ประการ

(เทศน์ที่วัดปัจฉิมวัน วันที่ ๒๒ ม.ค. ๕๗)

          ก่อนที่จะได้ฟังธรรมะในภาคของการประพฤติปฏิบัติธรรม ก็ขอให้ญาติโยม คณะครูบาอาจารย์ทุกรูป ตลอดถึงสามเณรทุกรูปได้นั่งสมาธิฟัง ตั้งใจนั่งสมาธิฟังนั่งคู้บัลลังก์ หรือเราถนัดในการนั่งพับเพียบ ทางอุบาสกอุบาสิกาเราก็นั่งมือขวาทับมือซ้าย ขาขวาทับขาซ้ายตั้งกายของเราให้ตรงทำจิตของเราให้มั่นคง เงี่ยโสตประสาท คือหูของเรานั้นสดับรับฟัง อันจะยังโลกียปัญญา หรือว่าโลกุตตรปัญญาให้เกิดขึ้นในจิตในใจของเรา

          วันนี้ ก่อนที่จะได้กล่าวธรรมะก็ขออนุโมทนาสาธุการที่พระอาจารย์มหาสำลี กิตฺติปญฺโญ ซึ่งเป็นประธานสงฆ์ในสถานที่แห่งนี้ แล้วก็มีพระอาจารย์จันลา รวิวณฺโณ แล้วก็คณะอาจารย์ผู้เป็นอาจารย์กรรม ได้มาเสียสละมาจัดการประพฤติปฏิบัติธรรม ประพฤติวุฏฐานวิธีเข้าปริวาสกรรมในครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นเมตตาธรรมของคณะครูบาอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าการจัดประพฤติปฏิบัติธรรมเข้าปริวาสกรรมนั้นเป็นของหาได้ยาก การที่บุคคลจะเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนให้ครบบริบูรณ์เหมือนกับวัดปัจฉิมวันนี้หายาก มีการเผยแผ่ทั้งนักธรรม นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ธรรมศึกษาตรี-โท-เอก ตลอดถึงเปิดโอกาสให้เรียนบาลีอันเป็นพุทธวจนะ คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงกระนั้นท่านก็ยังไม่ปล่อยปละละเลยไม่ทอดธุระทางโลก ท่านก็เปิดโอกาสให้บุตรหลาน คือภิกษุสงฆ์ สามเณรให้ศึกษาปริยัติสามัญ ได้เรียนมัธยมต้น มัธยมปลาย หรือว่าได้ศึกษาทางโลก ถึงกระนั้นท่านก็ยังไม่ปล่อยปละละเลยในการที่จะพิสูจน์ตนในพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พาลูกพาหลาน พาลูกพระ ลูกเณรได้ประพฤติปฏิบัติธรรม ซึ่งเรากำลังประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่นี้ เดินจงกรมขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอนี้ ถือว่าเราประพฤติทั้งสมถะและวิปัสสนา เรียกว่าท่านเอาใจใส่ทั้งปริยัติทั้งปฏิบัติเพื่อยังปฏิเวธธรรมอันเป็นแก่นของพระศาสนา อันเป็นที่สุดของพระศาสนานั้นให้เกิดขึ้นในจิตใจของพระสงฆ์ สามเณร เพราะฉะนั้นจึงถือว่าเป็นวัดที่หาได้ยาก ที่เอาใจใส่ในการศึกษาของพระสงฆ์ สามเณร เอาใจใส่ในการทะนุบำรุงพระธรรมวินัย เอาใจใส่ในการปรับปรุงจิตใจของสามเณรให้เป็นผู้ศรัทธา ให้เป็นผู้เลื่อมใสในพระศาสนาอย่างมั่นคง เพราะฉะนั้นจึงขออนุโมทนาสาธุการพระอาจารย์มหาสำลี กิตฺติปญฺโญ พร้อมด้วยพระอาจารย์จันลา รวิวณฺโณ พร้อมด้วยคณะ ที่เสียสละประโยชน์สุขส่วนตนมาบำเพ็ญประโยชน์อันกว้างใหญ่ไพศาล ในการสืบทอดพระพุทธศาสนา

          วันนี้กระผมก็จะน้อมนำเอาธรรมะที่ท่านกล่าวไว้ว่า อนุปุพพธรรม ๗ ประการ ธรรมอันเป็นไปตามลำดับ เพื่อให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน การประพฤติปฏิบัติธรรมที่คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมกำลังประพฤติปฏิบัติอยู่นี้ เราประพฤติไปตามลำดับๆ เพราะว่าพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านกล่าวไว้ว่าเป็นพระธรรมที่ลาดเอียงไปตามลำดับ ไม่โกรกชันเหมือนกับภูเขาขาด ลาดเอียงไปตามลำดับสุขุมลุ่มลึกไปตามลำดับ มีการโอน มีการเอียง มีการลาดไปสู่มรรคผลพระนิพพานไปตามลำดับ เพราะฉะนั้นการที่คณะครูบาอาจารย์ ญาติโยมมาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้จึงถือว่าเรามาตามลำดับ อย่างเช่นการเข้ามาบวช ก็ถือว่าเป็นการพักผ่อนทางกาย เป็นการพักผ่อนทางจิต แต่ก่อนโน้นเราไม่ได้บวช เราก็พากายของเราไปทำไร่ไถนา ทำสวนทำไร่เราก็พากายของเราไปประกอบเป็นนักธุรกิจบ้าง เป็นพ่อค้าบ้าง เป็นตำรวจ เป็นทหาร เรียกว่าพากายของเราไปทำการทำงานเพื่อเลี้ยงชีวิตของเรา กายของเรามันก็เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า จิตของเราที่ประกอบการค้าการขายต่างๆ ก็ปรุงแต่งในการงานของตนเองว่าจะทำอย่างไรถึงจะได้กำไร การค้าถึงจะออกมาดี จิตของเราก็ไม่ได้พักผ่อน แต่เมื่อเราบวช เรามาถือศีล ๘ เราก็ละการอาชีพต่างๆ ทำให้กายของเราได้พักผ่อน ทำให้จิตของเราหายการปรุงแต่ง อันนี้เรียกว่าประการแรกที่เราได้จากการบวช

          ประการที่สองเราก็ได้เว้นจากการกระทำบาปทั้งหลายทั้งปวง แต่ก่อนโน้นเราอยู่บ้านเราอาจจะหาปลา หากุ้ง หาหอยมาเลี้ยงครอบครัวของเรา มาเลี้ยงลูก เลี้ยงหลาน เลี้ยงพ่อ เลี้ยงแม่ เลี้ยงสามีภรรยา บางครั้งเราก็อาจจะทำปาณาติบาต ฆ่าเป็ด ฆ่าไก่ ฆ่ากุ้งหอยปูปลา กายของเราก็ระคนด้วยบาป กายของเราก็เกลือกกลั้วด้วยอกุศลกรรม กายของเราก็เป็นกายไม่บริสุทธิ์ เป็นกายที่เปรอะเปื้อนด้วยบาปธรรม แต่เมื่อเรามาประพฤติปฏิบัติธรรม มาบวช กายของเราก็เป็นกายบริสุทธิ์เบื้องต้น เพราะว่าเราบวชเว้นจากบาปธรรมทั้งหลายทั้งปวง กายของเราเป็นกายบริสุทธิ์ วาจาของเราก็เป็นวาจาบริสุทธิ์ ก็เป็นภาชนะทองรองรับเอาพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ นี้เรียกว่าประโยชน์ของการบวช

          ประการที่ ๓ เมื่อเราบวชเข้ามาแล้วเราก็ยังเห็นพระ เห็นเณร เห็นปะขาว เห็นแม่ชี เพื่อนสพรหมจารีไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เดินจงกรมนั่งภาวนา ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของเราเยือกเย็น แต่ก่อนโน้นเราเห็นคำเถียงกัน คำด่ากัน คำแย่งชิงกัน คำพูดเพื่อจะประกอบกิจการงาน เพื่อที่จะได้ผลกำไรต่างๆ เรียกว่าพูดเพื่อที่จะเอาผลประโยชน์ใส่ตนเองเป็นส่วนมาก แต่เมื่อเรามาวัดแล้ว เราก็เห็นพระสงฆ์สามเณรพูดเรื่องการให้ทาน การเสียสละ พูดเรื่องการรักษาศีล พูดเรื่องการเจริญภาวนา พูดธรรมะต่างๆ นาๆ เป็นเครื่องเตือนใจให้เราเกิดความคิดต่างๆ นี้เรียกว่าเราได้ความรู้มากมายจากการบวช

          นอกจากเราจะเว้นจากบาปธรรมทั้งหลายทั้งปวงแล้วก็ยังเป็นที่เจริญปัญญา เป็นบ่อเกิดแห่งปัญญา การบวชมีอานิสงส์มากมายอันนี้ประการแรกที่เราจะประพฤติปฏิบัติธรรมให้ถึงซึ่งพระนิพพานโดยตรง เป็นทางตรงนั้นเราต้องบวชเสียก่อน เราไม่บวชกาย เราต้องบวชใจ แต่ว่าการบวชกายเป็นอันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้เผยแผ่พระศาสนา พระองค์ทรงยังสาวกทั้งหลายทั้งปวงให้บวช ประกาศเป็นเอหิภิกขุปสัมปทาบ้าง บวชด้วยญัตตุจตุตถกัมมวาจาบ้าง บวชด้วยการบวชต่างๆ เพื่อที่จะให้บุคคลผู้ปรารถนาการพ้นทุกข์นั้นได้ดำเนินไปตามปฏิปทาแห่งความพ้นทุกข์ที่แท้จริง

          การบวชก็ถือว่าเป็นประการที่หนึ่งในการที่เราจะใช้เดินออกไปจากกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ญาติโยมที่เกิดขึ้นมาล้วนมีความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น จะเป็นเด็กก็ทุกข์ จะเป็นวัยกลางคนก็ทุกข์ จะเป็นคนเฒ่าคนแก่ก็ทุกข์ จะเป็นคนร่ำรวยมีเงินมีทองก็ทุกข์ จะเป็นคนจนก็ทุกข์ หรือว่าคนมีรูปร่างหน้าตาสดสวยงดงาม มีผิวพรรณงาม มีเสียงไพเราะมียศถาบรรดาศักดิ์ก็เป็นทุกข์เหมือนกัน ไม่มีใครเลยที่จะประกาศว่าตนเองไม่เป็นทุกข์นอกจากพระขีณาสพ พระอรหันต์ ซึ่งท่านหมดทุกข์ใจ แต่ว่าทุกข์กายสังขารทุกข์ก็ยังมีอยู่ ขันธ์ทั้ง ๕ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ยังมีอยู่ แต่ว่าใจของท่านพ้นไปจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง

          ความทุกข์ ไม่ทุกข์กายก็ทุกข์ใจ ทุกคนต้องเจอ เพราะฉะนั้นเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ก็เพื่อจะพ้นไปจากความทุกข์ เพื่อที่จะบรรเทาจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง การบวชนี้จึงเป็นปฏิปทาเป็นหนทางเบื้องต้นที่เราจะใช้ก้าวเดินเพื่อที่จะไปถึงซึ่งพระนิพพาน

          ประการที่สองท่านกล่าวว่าเป็นผู้ตั้งมั่นในศีล ศีลนั้นเราอาจจะรับจากพระบ้าง เราอาจจะรับจากเณรบ้าง อาจจะสมาทานเองบ้าง แต่เมื่อเราสมาทานแล้วเราไม่รักษา เราไม่ทำให้ศีลนั้นตั้งมั่นในจิตในใจ การสมาทานนั้นก็เปล่าประโยชน์ เพราะฉะนั้นการสมาทานศีล การรักษาศีลนั้นเราต้องเพียรรักษาให้ดี ท่านกล่าวว่าผู้ปรารถนาการบรรลุมรรคผลนิพพานในขั้นสูงสุด บุคคลนั้นควรรักษาศีลของตนเองให้ดี ท่านอุปมาอุปมัยเหมือนกับคนมีตาข้างเดียว เมื่อมีตาข้างเดียวต้องคอยระมัดระวังตาของตนเองที่เหลืออยู่ข้างเดียวนี้ให้ดี อย่าให้มันบอด อย่าให้มันเสียหาย อย่าให้มันพิกลพิการไป

          บุคคลผู้รักษาศีลก็เหมือนกันพึงรักษาศีลของตนเองนั้น ให้เหมือนกับบุคคลผู้มีตาข้างเดียวรักษาตาของตนเอง แล้วก็บุคคลผู้ปรารถนาพระนิพพานนั้นต้องรักษาศีลของตนเองเหมือนกับรักษาชีวิต บุคคลผู้หวงแหนชีวิตของตนไม่อยากตายฉันใด บุคคลผู้ปรารถนาพระนิพพานควรที่จะหวงแหนศีลของตนเอง ไม่ให้ขาด ไม่ให้ด่าง ไม่ให้ทะลุ ไม่ให้พร้อย ไม่ให้เสียหายไป เหมือนกับบุคคลผู้รักษาชีวิตของตนเอง เพราะฉะนั้นการรักษาศีลนั้นจึงถือว่าเป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์ บุคคลผู้จะปรารถนาความพ้นทุกข์ก็ต้องรักษาศีลอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ให้ดี ถ้าเรารักษาศีลอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ไม่ได้ เราอยากจะพ้นทุกข์อย่างไรๆ เราก็พ้นไม่ได้ เพราะว่าเหตุแห่งความพ้นทุกข์จริงๆ ก็คือศีลเป็นเบื้องต้น อาทิพรหมจรรย์ ก็คือการรักษาศีลให้บริสุทธิ์จึงมีการเข้าปริวาสกรรม สามเณรก็มีการเข้าปริวาสกรรมมาประพฤติปฏิบัติธรรมงานปริวาสกรรมก็ถือว่าเป็นการชำระศีลของเราให้บริสุทธิ์ เรามีการสมาทานศีล เรามีการอาราธนาศีลอยู่ทุกวันๆ ก็ถือว่าเรากระทำศีลของเราให้มั่นคง เรากระทำศีลของเราให้บริสุทธิ์ เราทำศีลของเราให้เป็นปรมัตถศีล เป็นศีลในองค์มรรค การประพฤติปฏิบัติธรรมก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยม สามเณรทุกท่านทุกคนพยายามสมาทานศีลแล้วรักษาศีลให้ดี ถ้าผู้ใดปรารถนาความสุขบุคคลนั้นพึงรักษาศีลเถิด    ถ้าผู้ใดไม่รักษาศีลแล้วปรารถนาความสุขอย่างไรๆ มันก็ไม่เกิดความสุขขึ้นมามีแต่ความวิปฏิสาร มีแต่ความเดือดร้อนมีแต่ความกระวนกระวาย มีแต่ความฟุ้งซ่าน มีแต่ความงุ่นง่าน มีแต่ความลุกลี้ลุกลนอยู่ตลอดเวลา ถ้าบุคคลใดตายไปในลักษณะอย่างนี้ก็ไปสู่อบายภูมิ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ยิ่งใกล้ตายคนไม่มีศีลก็ยิ่งเดือดร้อน ยิ่งใกล้ตายยิ่งป่วยทุรนทุรายยิ่งกระเสือกกระสนยิ่งเกิดความหมกไหม้อยู่ในจิตในใจอยู่ตลอดเวลา

          แต่ถ้าผู้ใดมีศีลบริสุทธิ์มีธรรมอันประพฤติดีแล้ว เวลาเจ็บ เวลาไข้ เวลาป่วยก็นอนดูความเจ็บไข้ นอนดูความป่วย นอนดูความเสื่อมไปของสังขารร่างกาย มันเสื่อมไปอย่างไรหนอ แขนขามันค่อยตายไป ปากมันค่อยตายไป หูมันค่อยตายไป ตามันค่อยตายไป เหลือแต่จิตแต่ใจมีสัมปชัญญะรู้ตัวอยู่เหมือนกับบุคคลผู้มองดูเทียนกำลังหมดไขเทียน กำลังหมดไส้มันค่อยไหม้ลงดับลงไป ในลักษณะอย่างนั้นไม่มีความสะทกสะท้าน ไม่มีความหวั่นว่าตายไปแล้วจะไปเกิดที่ไหน ถ้าบุคคลใดมีศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์จะเป็นอย่างนั้น สามเณรก็ดี พระสงฆ์ทั้งหลายก็ดี ญาติโยมทั้งหลายก็ดีพึงรักษาศีลของตนเองอันเป็นอาทิพรหมจรรย์นั้นให้บริสุทธิ์ เพื่อความสุขของเรา เพื่อความเจริญรุ่งเรืองทั้งทางโลกและทางธรรม ท่านจึงกล่าวว่าทางแห่งความพ้นทุกข์นั้นก็คือ การตั้งมั่นในศีล ไม่ให้ศีลนั้นด่าง ไม่ให้ศีลนั้นพร้อย ไม่ให้ศีลนั้นขาด ไม่ให้ศีลนั้นทะลุ เรียกว่ารักษาศีลของตัวเองนั้นเหมือนกับรักษาชีวิตอันนี้เป็นประการที่สอง

          ประการที่สามท่านกล่าวไว้ว่า ต้องสังวรต้องสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ ต้องสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ผู้ใดอยากจะพ้นทุกข์ต้องสำรวมตาให้เป็น ต้องรู้จักสำรวมหูให้เป็นให้ได้ ต้องรู้จักสำรวมลิ้น สำรวมจมูก สำรวมกาย สำรวมจิตของตนให้เป็น ถ้าเราสำรวมอายตนะ สำรวมอินทรีย์ของเราไม่เป็นแล้วเราอยากจะบรรลุมรรคผลนิพพานอย่างไรๆ มันก็บรรลุไม่ได้ เพราะอะไร เพราะการบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นเกิดขึ้นมาจากการสำรวม เพราะว่าตาก็ถือว่าเป็นรูป เสียงก็ถือว่าเป็นรูป กลิ่นก็ถือว่าเป็นรูป การถูกต้องสัมผัสต่างๆ ก็ถือว่าเป็นรูป การรับอารมณ์ความดีความชั่วต่างๆ ก็ถือว่าเป็นนาม รูปนามที่เป็นรูปก็ดี เป็นเสียงก็ดี เป็นกลิ่นก็ดี เป็นรสก็ดี เป็นสัมผัสก็ดี หรือว่านามอันเป็นบุญเป็นบาปนี้ก็ดี นี้ถือว่าเป็นบ่อเกิดแห่งการบรรลุมรรคผลนิพพาน ศีล สมาธิ มรรคผลนิพพานเกิดขึ้นเพราะรูป เกิดขึ้นเพราะเสียง เพราะกลิ่น เพราะรส เพราะสัมผัส เพราะอารมณ์ที่มากระทบกายและใจของเราถ้าเรากำหนดได้เห็นความเกิดดับของรูปของนามเหล่านี้แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดศีล เกิดสมาธิ เกิดวิปัสสนา เกิดมรรค เกิดผลขึ้นมา เรียกว่าเรารู้แจ้งแทงตลอดซึ่งธรรมวินัยเราต้องอาศัยการสังวร การระวัง การสำรวมให้เห็นความเกิดและความดับของรูปของนาม

          เพราะฉะนั้น รูปนามอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้เป็นที่เกิด เป็นที่ตั้งอยู่ แล้วก็เป็นที่ดับไป เราต้องสำรวมตาที่เป็นใหญ่ในการดู เราต้องสำรวมหูที่เป็นใหญ่ในการฟัง เราต้องสำรวมจมูกที่เป็นใหญ่ในการดมกลิ่น เราต้องสำรวมลิ้นที่เป็นใหญ่ในการลิ้มรส เราต้องสำรวมกายอันเป็นใหญ่ในการสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็งต่างๆ เราต้องสำรวมใจที่ต้องรับอารมณ์อันเป็นบุญเป็นบาปดีชั่วต่างๆ ที่มากระที่ใจของเรา ตาหูจมูกลิ้นกายใจของเรานี้ท่านจึงกล่าวว่าเป็นบ่อเกิดแห่งบุญและบาป เป็นบ่อเกิดแห่งนรก เป็นบ่อเกิดแห่งสวรรค์ เป็นบ่อเกิดแห่งมนุษย์ เป็นบ่อเกิดแห่งพรหม แล้วก็เป็นบ่อเกิดแห่งพระนิพพาน คนทั้งหลายทั้งปวงตายแล้วไปเกิดในนรก เป็นเปรตบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง เป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง หมกไหม้อยู่ในนรกหลายกัปหลายกัลป์ เป็นอนันตริยกรรมต่างๆ มากมาย ก็เพราะไม่สำรวมตา ไม่สำรวมหู ไม่สำรวมลิ้น ไม่สำรวมกาย ไม่สำรวมใจ เรียกว่าไม่สำรวมอายตนะทั้ง ๖ นี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสขึ้นมาครอบงำ เกิดราคะขึ้นมาครอบงำ เกิดความโกรธขึ้นมาครอบงำ ทำบาปด้วยความโกรธ ตายไปแล้วก็ไปเกิดในนรกหมกไหม้นับภพนับชาติไม่ได้ แต่ถ้าตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง กลิ่นลิ้มรสแล้วเกิดความโลภขึ้นมา กระทำความชั่ว บาปธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นเกิดความโลภ ตายไปแล้วก็ไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย หมกมุ่นอยู่ในเปรตโลก ทนทุกข์ทรมานอยู่สิ้นกาลนานก็เพราะการไม่สำรวมตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจ การไม่สำรวมนี้ถือเป็นสิ่งที่สำคัญ เราทำผิดศีลก็เพราะเราไม่สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราทำผิดพระวินัยก็เพราะเราไม่สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราเป็นชู้กับสามีคนอื่น เป็นชู้กับภรรยาคนอื่นก็เพราะไม่สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราลักเล็กขโมยน้อยของคนอื่นก็เพราะเราไม่สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราด่าบุคคลโน้น เราเกลียดบุคคลนี้เรารักเราชังบุคคลโน้นบุคคลนี้ก็เพราะเราไม่สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เป็นบ่อเกิดเป็นที่ต่อของบุญและบาป เป็นสะพานเชื่อมโยงแห่งบุญและบาป แห่งศีล แห่งสมาธิ แห่งปัญญา แห่งมรรค แห่งผล แห่งพระนิพพานก็เกิดอยู่ตรงนี้ ท่านจึงกล่าวว่าร่างกายของเรานี้เป็นต้นไม้กายสิทธิ์ ต้นไม้กายสิทธิ์ปรารถนาสิ่งใดก็เอาสิ่งนั้น เราปรารถนามนุษย์สมบัติเราก็สร้างเอา เนรมิตเอาจากการมีร่างกายของเรานี้ มีกายมีใจของเรานี้ เราอยากจะไปเกิดบนสวรรค์เราก็ทำเอาจากอัตภาพอันยาววาหนาคืบกว้างศอกเราก็ทำเอาจากตรงนี้ เราอยากจะไปเกิดเป็นพรหมก็ทำเอาจากร่างกายของเรานี้ เราอยากจะไปพระนิพพานเราก็ทำเอา เราก็พากายเดินจงกรมนั่งภาวนากำหนดกัมมัฏฐาน ถ้าเรามีบุญวาสนาบารมีเราก็ไปถึงพระนิพพานได้ การสังวรสำรวมนั้นจึงถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ ยิ่งเราอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมากก็ต้องรู้จักการสังวร โดยเฉพาะบุคคลผู้เจริญกัมมัฏฐาน เวลาเราไปพูดไปคุยใจของเรามันจะคิด คิดเรื่องโน้นคิดเรื่องนี้บางครั้งก็คิดไปถึงอดีตคิดถึงที่เขาเคยมาด่าเรา เราก็นั่งไปก็โกรธไปด้วย นั่งไปก็กัดฟันไปด้วย นั่งไปก็กำหมัดไปด้วยนี้ในลักษณะเราคิดถึงอารมณ์ที่เป็นความโกรธเป็นประเภทโทสจริต บางคนบางท่านเป็นประเภทราคจริต นั่งไปก็คิดถึงอารมณ์ที่เป็นสภาคารมณ์ นั่งไปก็เกิดความกำหนัดไป นั่งไปก็จิตใจเลื่อนลอยไปในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าเราไม่สำรวมจิตของเรา เพราะฉะนั้นกัมมัฏฐานนั้นต้องรู้จักสำรวมจิตท่านจึงกล่าวว่า

                 อยู่คนเดียวให้ระวังยั้งความคิด   อยู่กับมิตรให้ระวังยั้งคำขาน

          อยู่ร่วมราษฎร์เคารพตั้งระวังการณ์     อยู่ร่วมพาลให้ระวังทุกอย่างเอย.

          นี้ท่านกล่าวไว้อย่างนั้น เราอยู่คนเดียวเวลาปฏิบัติกัมมัฏฐานนั้นเรานั่งภาวนา เราอยู่เป็นร้อยก็เหมือนกับเราอยู่คนเดียวมันก็จะมีความคิดขึ้นมา เราก็ระวังยั้งความคิดของเรา บอกจิตของตนเองให้ได้ รั้งจิตของตนเองให้ฟัง รู้ให้ทันกระบวนจิตของตนนี้เรียกว่าเป็นหัวใจของการภาวนา เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรม ก็ขอให้เรานั้นพยายามสำรวม ผู้ใดอยากจะบรรลุมรรคผลนิพพานก็ต้องสำรวม เพราะการสำรวมนั้นเป็นสะพานให้เรานั้นไปถึงพระนิพพานได้เร็ว

          ประการที่ ๔ ท่านกล่าวว่าให้เรานั้นรู้จักประมาณในโภชนาหาร การรับประทานอาหารนั้นท่านกล่าวว่า รับประทานอาหารพอดี รับประทานอาหารที่ไม่เป็นโทษ ครบห้าหมู่มันก็เป็นประโยชน์ เรารับประทานอาหารที่ไม่ถูกโรค เป็นอาหารที่แสลงกับโรคมันก็เกิดโทษ รับประทานมากก็เกิดโทษ รับประทานน้อยก็อ่อนล้า จิตใจไม่กระปรี้กระเปร่า ไม่กระฉับกระเฉง มีจิตใจถดถอยไม่ประกอบไปด้วยความเพียร แต่ถ้าเราทานอาหารพอดีๆ บางครั้งใจของเราร่าเริงเบิกบานร่างกายเบาสบาย ปลอดโปร่ง มีจิตใจที่ปลอดโปร่ง เวลานั่งภาวนาจิตใจเราก็สงบ อาหารนั้นก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นต้องให้ความละเอียดอ่อน ไม่ใช่ว่ามีอะไรอยู่ตรงหน้าก็ฉันเอาๆ อะไรทำนองนี้ เราฉันเพื่ออยู่ ไม่ได้อยู่เพื่อฉัน เราฉันเพื่อยังอัตภาพของเราให้ประพฤติพรหมจรรย์ได้ ไม่ใช่ฉันเพื่อความมัวเมา เพื่อความอิ่มหมีพีมัน ไม่ได้ฉันเพื่อความสุกใสเปล่งปลั่งของร่างกาย ไม่ได้ฉันเพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนาน แต่ว่าเราฉันเพื่อยังอัตภาพให้มันเป็นไป เหมือนกับยาเรือรั่วพอได้ถ่อได้พายไปถึงฝั่ง เมื่อเราถ่อพายไปถึงฝั่งแล้ว เราก็ทิ้งเรือไว้ที่ฝั่งน้ำนั้น เหมือนกับที่เรามาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเราก็ยาเรือรั่ว ยาความหิวของเราไม่ให้ความหิวมันครอบงำ ให้เรามีเรี่ยวมีแรง พอที่จะเดินจงกรมนั่งภาวนาพาเรานั้นข้ามพ้นห้วงมหรรณพภพสงสารไปถึงพระนิพพานได้ เมื่อเราถึงพระนิพพานเราก็ทิ้งร่างกายไว้กับโลกนี้ ดวงจิตของเราเป็นที่ไปสถิตมั่น อยู่ในมนุษย์ก็ดี สวรรค์ก็ดี พรหมก็ดี เป็นจิตของเรา แม้ไปนิพพานก็เป็นจิตของเรา เปรียบเสมือนกับบุคคลผู้ยาเรือรั่วเมื่อข้ามถึงฝั่งแล้วก็ทิ้งเรือไว้ที่ฝั่ง เราก็ทิ้งร่างกายของเราไว้กับโลกนี้ การฉันอาหารนั้นเราฉันเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ นี้เราเลือกฉันอาหารที่สัปปายะ ถ้าบุคคลใดเป็นบุคคลที่มีกามราคะมากก็อย่าไปฉันไข่ดาว ก็อย่าไปฉันนมมากเกินไปให้รู้ประมาณ ให้ฉันผักฉันอาหารที่เป็นสัปปายะแก่จริตของตนเอง ถ้าบุคคลใดเป็นประเภทความโกรธ เป็นคนชอบโมโหโทโสต่างๆ ก็อย่าทานเผ็ดเกินไป อย่าทานเค็มเกินไป อย่าทานอาหารที่มันย่อยยากเกินไป เพราะน้ำย่อยมันจะทำงานหนัก เมื่อน้ำย่อยทำงานหนักมันก็จะเกิดความหงุดหงิดความรำคาญ เมื่อตอนสี่โมงห้าโมงเย็นความโกรธมันก็จะทะลุขึ้นมากัมมัฏฐานมันก็จะแตก การสำรวมมันก็จะพังทลายไปการประพฤติปฏิบัติธรรมต้องมีความละเอียดอ่อนในการฉันด้วยอันนี้เป็นประการที่ ๔

          ประการที่ ๕ ท่านกล่าวว่าปรารภความเพียร คือบุคคลผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น คุณธรรมที่ขาดเสียไม่ได้ก็คือความเพียร เราเพียรขนาดไหนเราจึงจะได้สมาธิ เราเพียรขนาดไหนเราจึงจะยังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นมา เราเพียรขนาดไหนเราจึงจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน คณะครูบาอาจารย์บางรูป ญาติโยมบางคนบางท่านก็อาจจะเกิดความสงสัย ความเพียรนั้นเราประมาณไม่ได้ ให้เราพยายามสำรวมประกอบด้วยความเพียรระมัดระวังให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ อย่างเช่นเรากำหนด “ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ” จะบอกว่าเดินเท่านั้นเราจึงจะได้สมาธิ เดินอย่างนี้จึงจะได้สมาธิ เดินประมาณนั้นจึงจะได้สมาธิ เดินประมาณนั้นจึงจะได้วิปัสสนา เดินประมาณนั้นจึงจะได้บรรลุมรรคผลนิพพานนั้นเรากล่าวไม่ได้ แต่ให้เรานั้นมีสติระมัดระวังอย่างยอดเยี่ยม คือให้เรามีสติระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา อย่างเช่นเรากำหนดว่า “ขวาย่างหนอ” เราต้องกำหนดรู้ว่าต้นยกเป็นอย่างไร กลางยกเป็นอย่างไร สุดยกเป็นอย่างไร กลางย่างเป็นอย่างไร สุดย่างเป็นอย่างไร ต้นย่าง กลางย่าง สุดย่างเป็นอย่างไร ต้นเหยียบ กลางเหยียบ สุดเหยียบเป็นอย่างไร “พองหนอ” เราต้องกำหนดว่า ต้นพองเป็นอย่างไร กลางพองเป็นอย่างไร สุดพองเป็นอย่างไร อันนี้เราต้องพยายามให้ความละเอียดในกัมมัฏฐานอย่าให้เผลอ ถ้าขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” เห็นต้นพอง กลางพอง ใจมันเผลอไปเราก็ต้องดึงกลับมา เรียกว่าไม่ให้จิตมันเผลอไปที่อื่นเราต้องระวังตลอดเวลา ยิ่งเราพยายามเพียรอยู่ในลักษณะอย่างนี้ ถ้าผู้ใดมีบุญวาสนาบารมีสมาธิมันก็จะเกิดขึ้นมาเอง วิปัสสนาญาณมันก็เกิดขึ้นมาเอง การบรรลุมรรคผลนิพพานมันก็เกิดขึ้นมาเองแล้วเราจึงจะรู้ว่าเราทำความเพียรขนาดไหนใจของเราจึงสงบ เราทำความเพียรขนาดไหนวิปัสสนาญาณขั้นต้นจึงปรากฏขึ้นมา เราทำความเพียรขนาดไหนมรรคผลนิพพานจึงเกิดขึ้นมา เราทำความเพียรขนาดไหนปฐมมรรคจึงเกิดขึ้นมา เราทำความเพียรขนาดไหนทุติยมรรคเกิดขึ้นมา เราทำความเพียรขนาดไหนตติยมรรคเกิดขึ้นมา เราทำความเพียรขนาดไหนจตุตถมรรคเกิดขึ้นมาเราต้องรู้ มันเป็นสิ่งที่บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นต้องรู้ด้วยตนเอง เราจะบอกว่าประพฤติปฏิบัติอย่างโน้นอย่างนี้ไม่ได้ เพราะประมาณแห่งอุปนิสัยของคนไม่เหมือนกันไม่เท่ากัน บางคนทำมามากไม่ต้องทำมากมันก็ได้บรรลุแล้ว บางคนเจริญสมถะมามากไม่ต้องเดินจงกรมมากนั่งภาวนามากก็ได้ฌานแล้วได้สมาธิแล้ว บางคนทำมาน้อยเดินจงกรมทั้งวันก็ยังไม่ได้อะไร บางครั้งสามวันห้าวันยังไม่ได้อะไร บางครั้งเดินจงกรมปริวาสกรรมเก้าคืนสิบวันใจไม่สงบ ไม่เป็นปฐมฌาน ตติยฌานเลยก็มี เพียงแต่สงบเป็นขณิกสมาธิเฉยๆ อย่างนี้ก็มีนี้ในลักษณะของบุคคลผู้บำเพ็ญบารมีมาน้อย

          เพราะฉะนั้นความเพียรเราต้องพยายามเพียรให้ได้ การทำความเพียรในการประพฤติปฏิบัติธรรมเราจะเพียรอย่างไร ก็ขอสรุปง่ายๆ ว่าการทำความเพียรในการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นขอให้เรามีสติ มีสัมปชัญญะ กำหนดอยู่ตลอดเวลา เราจะยืน เราจะเดิน เราจะนั่ง เราจะนอน เราจะกิน เราจะดื่ม เราจะพูด เราจะคิด เราจะนุ่งสบงห่มจีวร ก้ม เงย คู้ เหยียด เราจะเข้าห้องน้ำถ่ายหนักถ่ายเบา เราจะทำวัตรเช้าวัตรเย็น เราจะฉันอาหาร เราจะคุยกัน เราจะนิ่ง เราก็ต้องมีสติกำหนดดูความนิ่ง แล้วก็อิริยาบถดูความเคลื่อนไหวของรูปของนามของเราอยู่เป็นประจำ ถ้ากายของเราไม่เคลื่อนไหวเราก็กำหนดดูจิตดูใจของเรา เราต้องพยายามกำหนดมีสติสัมปชัญญะอยู่อย่างนี้ อันนี้เรียกว่าประกอบด้วยความเพียร บางคนบางท่านคิดว่าความเพียรต้องเดินจงกรมทั้งวัน ต้องนั่งภาวนาทั้งวัน บางครั้งเดินจงกรมทั้งวันก็เกิดความโกรธทั้งวันก็มี นั่งภาวนาก็ถูกราคะตัณหาครอบงำทั้งวันก็มี นั่งภาวนาทั้งวันเดินจงกรมทั้งวันเกิดทิฏฐิมานะทั้งวันก็มี อันนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นผู้ประกอบด้วยความเพียร ผู้ประกอบด้วยความเพียรคือ ต้องมีสติ มีสัมปชัญญะกำหนดรู้ความเกิดขึ้นของรูปนามอยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นคุณธรรมประการที่ ๕

          คุณธรรมประการที่ ๖ ท่านกล่าวไว้ว่า ต้องทำจิตของเรานั้นให้เป็นสมาธิ ให้ตั้งมั่น ถ้าจิตของเราไม่เป็นสมาธิ จิตของเราไม่ตั้งมั่นการบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นก็บรรลุยาก เรียกว่าการบรรลุมรรคผลนิพพานที่เป็นไปได้ยากแล้วก็เป็นไปไม่ได้ เพราะอะไร เพราะว่าการเจริญเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นเราต้องอาศัยสมาธิ อย่างเช่นเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมถ้าเราไม่มีสมาธิ คือ ขณิกสมาธิ วิปัสสนาญาณมันก็ไม่เกิด แต่ถ้าเราไม่สามารถยังอุปจารสมาธิให้เกิดขึ้นมา อนุโลมญาณก็ไม่เกิดขึ้นมา เพราะอนุโลมญาณต้องอาศัยกำลังของอุปจารสมาธิจึงจะเกิดขึ้นมา เมื่ออนุโลมญาณเกิดขึ้นมาแล้วอนุโลมญาณนั้นมันก็ไม่ดับ เพราะการที่อนุโลมญาณมันจะดับลงได้มันต้องอาศัยอัปปนาสมาธิ เรียกว่ามันต้องอาศัยขณิกสมาธิส่งขึ้นไปเป็นอุปจารสมาธิ เมื่ออุปจารสมาธิแก่กล้าแล้วก็เป็นอัปปนาสมาธิก็ดับลงไป อนุโลมญาณดับลงไปเมื่อไร โคตรภูญาณก็ปรากฏขึ้นมา อนุโลมญาณนั้นเรายังไม่ดับ มันจะดับตอนที่โคตรภูญาณปรากฏขึ้นมา โคตรภูญาณปรากฏขึ้นมาก็ดับ ดับลงไปในขณะจิตนั้นเรียกว่าโคตรภูญาณยังอยู่ในกึ่ง ยังเป็นโคตรของปุถุชน อริยชนครึ่งหนึ่ง เหมือนกับเราเดินเข้าไปในห้องเท้าข้างหนึ่งอยู่ในห้อง เท้าอีกข้างหนึ่งอยู่นอกห้อง หรือว่าเหมือนเราวิ่งกระโดดเพื่อที่จะข้ามเหว ข้ามร่องน้ำ ขณะที่เราวิ่งไปด้วยสุดแรงกำลังของเรา เราวิ่งไปแล้วตัวของเรามันลอยขึ้นไปยังไม่ถึงฝั่งโน้น เราอยู่ในท่ามกลางของคลองน้ำ เรียกว่าอยู่ในโคตรภูญาณ นี้ก็อาศัยอัปนาสมาธิ เพราะฉะนั้นสมาธิที่เรากำลังประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่นี้เราต้องทำให้เกิด ถ้ายังไม่เกิดเราก็ต้องทำให้เกิด ถ้าเกิดแล้วเราก็ต้องรักษา ถ้าสมาธิน้อยเราก็ต้องเพิ่มขึ้นมา

          เพราะบุคคลผู้มีสมาธินั้นเวลามาประพฤติปฏิบัติธรรมจะเกิดความสบาย จะเกิดความสงบ จะเกิดความร่าเริง จะเกิดความเอาจริงเอาจัง จะเกิดความมุ่งมั่น จะเกิดปีติ จะเกิดความสุขในการประพฤติปฏิบัติธรรม แต่ถ้าผู้ใดมีสมาธิน้อย นั่งไปก็ฟุ้ง คิดถึงเรื่องโน้น คิดถึงเรื่องนี้ คิดถึงเรื่องอดีต คิดถึงเรื่องอนาคต วิตกกังวลมากมาย บางครั้งนั่งไปก็เจ็บตรงโน้นปวดตรงนี้ นั่งไปก็ไม่เกิดปีติ ตัวเบาก็ไม่ปรากฏ ตัวเย็นตัวลอยก็ไม่ปรากฏ แผ่ซาบซ่านไปทั่วสรรพางค์กายก็ไม่ปรากฏ นี้ในลักษณะของบุคคลผู้มีสมาธิน้อยมันเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าผู้ใดมีสมาธิอันสำรวมดีแล้ว ตั้งมั่นดีแล้ว เพียงแต่อุปจารสมาธิหรือขณิกสมาธิอย่างแก่ ปีติอย่างหยาบ ขุททกาปีติ ขณิกาปีติมันก็เกิดขึ้นมาแล้ว อย่างเช่นเรานั่งไป “พองหนอ ยุบหนอ” ไป มือมันใหญ่ขึ้นมา ฟันมันยาวขึ้นมา เพียงแต่อาศัยขณิกสมาธิอย่างแก่เท่านั้นเอง เรานั่งไปๆ คางของเรามันยาวออกมาๆ ในลักษณะอย่างนี้ก็เป็นขณิกสมาธิ บางรูปบางท่านนั่งไปแล้วมือมันใหญ่ขึ้นๆ เป็นลักษณะของขณิกสมาธิเท่านั้นเอง หรือว่าเรานั่งไปบางครั้งบางคราวเกิดน้ำตาไหลออกมา บางครั้งก็เกิดขนลุกซู่ซ่าขึ้นมา บางครั้งเรานั่งไปๆ มันเกิดความสุขเย็นแผ่ออกจากร่างกายไปทั่วสรรพางค์กายของเราในลักษณะอย่างนี้ก็เป็นเพียงแค่ขณิกสมาธิอย่างแก่ นี้ถ้าเราสำรวมได้เกิดความสุขเราจะเห็นความอัศจรรย์ใจในการประพฤติปฏิบัติธรรม ว่าเรานั่งภาวนาเพียงแค่นี้เองมันเกิดปีติ เกิดความสุขขึ้นมา เราลองนึกดูสิว่าความสุขในลักษณะอย่างนี้มันเกิดขึ้นมากับเรากี่ครั้ง ตั้งแต่เราเกิดขึ้นมาเราได้อารมณ์ที่ชอบใจมันก็ยังไม่เกิดความสุข ได้ดูสิ่งที่เราอยากดูมันก็ยังไม่เกิดความสุขอย่างนี้ ได้รับประทานอาหารที่เราต้องการมันก็ยังไม่มีความสุขอย่างนี้ เราจะเกิดความเข้าใจเปรียบเทียบนิรามิสสุข กับอามิสสุข สุขที่อิงธรรมกับสุขที่อิงอามิสนั้นมันต่างกันอย่างไร เราจะสามารถที่จะพิจารณาได้ บุคคลอย่างนี้จะมีความบากบั่นในการประพฤติปฏิบัติ จะมีหิริละอายต่อบาป จะมีโอตตัปปะเกรงกลัวต่อบาป จะทำบาปนั้นก็ต้องเหนือบ่ากว่าแรงพยายามอด พยายามกลั้น พยายามทน จะมีความอดทนในการทำบาปนั้นมากกว่าบุคคลผู้ไม่เกิดปีติ ปีติมันเกิดขึ้นมาก็เพราะอาศัยสมาธิ เพราะฉะนั้นคนมีสมาธิจึงเป็นคนกลัวบาปยิ่งกว่ากัน

          บางครั้งบางคราวนั่งไปก็ไปเห็นพวกเปรต พวกอสุรกาย เห็นพวกผีที่มันมาปรากฏ บางครั้งก็เป็นผีคอขาด บางครั้งก็ได้ยินเสียงพิลึกสะพรึงกลัว คนตายไปนี้มันเป็นผี มันเป็นวิญญาณ ตายไปแล้วมันมีภพหน้าชาติหน้าจริง มันก็เกิดความกลัวขึ้นมาไม่มีคนบอก สามเณรที่กินข้าวเย็นก็ดีที่ประพฤติผิดศีลอะไรต่างๆ ก็ดี ในสมัยหนึ่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านก็เอาสามเณรที่ได้สมาธิมานั่ง พอนั่งแล้วสามเณรองค์นั้นก็เห็นผี เห็นเทวดา เห็นคนที่ตายไปแล้วไปตกนรกอะไรต่างๆ สามเณรที่เคยกินข้าวเย็น เคยประพฤติไม่ดีก็กลัวประพฤติตัวเป็นคนดีก็มี นี้อาศัยสมาธิละบาปบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศลให้เพิ่มขึ้นมา ที่เรากระทำบาปไม่มีความละอาย ไม่มีความเกรงกลัวต่อบาปนั้นก็เพราะว่าเรามีสมาธิน้อย ใจของเรายังไม่ได้ลิ้มรสของสมาธิก็เลยทำบาป เหมือนกับว่าผลของบาปมันไม่มี เหมือนกับว่าผลของบาปนั้นมันไม่ให้ผลเราอย่าลืมว่าบาปที่เราทำนั้นมันจะเป็นสิ่งที่ติดตามคอยให้ผลอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับศัตรูถือมีดถือปืนวิ่งตามเราอยู่ตลอดเวลา เราเผลอเราไม่ระวังเวลาไหนมันก็ยิงเรามันก็แทงเราเวลานั้น เรียกว่าเป็นศัตรูที่นอนอยู่ในมุ้งเดียวกัน เราเผลอเมื่อไรมันก็เอามีดหั่นคอเราเมื่อนั้น บาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงที่เราทำมันก็มีลักษณะอย่างนั้น เราเผลอเมื่อไรมันก็ให้ผลเมื่อนั้น เพราะฉะนั้นสมาธิท่านจึงกล่าวว่าควรทำให้เกิด ผู้ใดเกิดผู้นั้นจะมีหิริโอตตัปปะ บุคคลนั้นจะมีความมั่นคงในธรรม บุคคลนั้นก็จะได้เสวยความสุขอันเป็นความสุขที่เกิดขึ้นมาจากผลของการประพฤติพรหมจรรย์ในท่ามกลาง ความสุขเบื้องต้นก็คือศีล ความสุขในท่ามกลางก็คือสมถะการเจริญสมาธิ เพราะฉะนั้นผู้ใดมีสมาธิการกำหนดบทพระกัมมัฏฐานมันก็ง่าย กำหนดพองหนอยุบหนอมันก็เห็นชัดเจนดี กำหนดอาการขวาย่างซ้ายย่างก็เห็นชัดเจนดี กำหนดใจก็รวมเป็นสมาธิได้ไว ผู้ที่มีสมาธิมันเป็นอย่างนั้น สมาธิจะเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะอาศัยพระสงฆ์สามเณรผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นตั้งใจ ถ้าผู้ใดตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมสมาธิมันเกิดขึ้นมาแล้ว ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ๗๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว เหลือแต่ว่ามันจะสงบขาดความรู้สึกไปตอนไหนเท่านั้นเอง เรียกว่าประการที่ ๖ เราต้องมีสมาธิตั้งมั่น เมื่อสมาธิตั้งมั่น ยถาภูตญาณทัสสนะ การรู้เห็นตามความเป็นจริงมันก็ปรากฏขึ้นมา เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะ ความรู้เห็นตามความเป็นจริงเกิดขึ้นมาแล้ว มรรคญาณทัสสนะ การรู้ว่าทางหรือไม่ใช่ทาง รู้ว่าบุญหรือบาป รู้ว่าทางมรรคผลนิพพานหรือไม่ใช่ทางก็ปรากฏขึ้นมา ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ญาณทัสสนะ วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นมา การรู้เห็นญาณทัสสนะคือการรู้ซึ่งมรรคซึ่งผลซึ่งพระนิพพานมันก็เกิดขึ้นมา นี้มันจะเจริญไปตามลำดับๆ ก็เพราะอาศัยอำนาจของสมาธิ

          ประการที่ ๗ ท่านกล่าวว่า การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้นเป็นการที่จะนำบุคคลทั้งหลายทั้งปวงนั้นให้เรานั้นไปถึงพระนิพพาน สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาแล้ว ๖ ประการถ้าไม่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานแล้วทำอย่างไรๆ ก็ไม่ถึงพระนิพพานได้ เจริญสมาธิได้รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ เหาะเหินเดินอากาศ มีหูทิพย์ มีตาทิพย์ รู้วาระจิต แสดงฤทธิ์ได้นานาประการต่างๆ ก็ไม่สามารถที่จะหมดกิเลสได้ เพราะการหมดกิเลสนั้นต้องอาศัยการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ต้องอาศัยการพิจารณารูปนามให้เห็นทันปัจจุบันธรรม การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานถ้าเราพูดในสภาวะของการปฏิบัติก็คือการที่เรากำหนดให้ทันปัจจุบันธรรม ให้ทันปัจจุบันของรูป ให้ทันปัจจุบันของนาม ให้เห็นรูปมันตั้งอยู่ ให้เห็นรูปมันดับไป ให้เห็นนามมันเกิดขึ้น ให้เห็นนามมันตั้งอยู่ ให้เห็นนามมันดับไป เรียกว่าเราพิจารณาเห็นรูปเห็นนามเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ถ้าเราเห็นอยู่ในลักษณะอย่างนี้ท่านกล่าวว่าเป็นการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จะเป็นเด็กพิจารณาอย่างนี้ก็เป็นการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จะเป็นผู้ใหญ่พิจารณาอย่างนี้ก็เป็นการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จะเป็นพระ เป็นเณร เป็นเถร เป็นชี เมื่อพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปของรูปของนามนั้นชื่อว่าเป็นการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานด้วยกันทั้งนั้น เมื่อบุคคลทำอย่างนี้ให้สมบูรณ์ดีแล้ว บุคคลนั้นจะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ เมื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน บุคคลนั้นก็จะรู้ว่าตนเองเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานหรือไม่ก็ตามก็สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ถ้าเรากระทำถูกต้อง

          เพราะฉะนั้นการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานก็คือการพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปของรูปของนาม ขอให้คณะครูบาอาจารย์ สามเณร ญาติโยมทุกท่านทุกคนมีความอด มีความทน มีความเพียรในการกำหนด ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำกิจอะไรเราก็ต้องกำหนด เรามาเกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาแล้ว เราเกิดมาก็เหมือนกับว่าเราเป็นพ่อค้า แต่เราไม่ทำการค้าการขายเราจะได้กำไรมาจากไหน บ้านเมืองเค้าไปขายโน้นขายนี้ แต่ว่าเราอยู่เฉยๆ เราไม่มีการทำการค้าขายเราจะได้กำไรอย่างไร เหมือนกับเราเกิดขึ้นมาเขาให้ทานเราก็ไม่ให้กับเขา แล้วเราจะได้กำไรอย่างไร เขารักษาศีลเราก็ไม่รักษากับเขา เขาเจริญสมถะเราก็ไม่เจริญกับเขา เขาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเราก็ไม่เจริญกับเขา มันจะได้กำไรตรงไหนเหมือนกับพ่อค้า นั่งอยู่เฉยๆ มันก็ไม่ได้กำไรอะไร เรามาประพฤติปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานถ้าเราไม่กำหนดศีลมันจะเกิดขึ้นตรงไหน สมาธิมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร วิปัสสนาญาณนี้มันจะเกิดขึ้นมาอย่างไร เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจึงเป็นหนทางเพื่อที่จะให้เราได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน ถ้าผู้ใดทำดีแล้ว ทำตามที่คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายทั้งปวงที่ท่านพาเดิน พานั่ง พากำหนด ถ้าเราอด ถ้าเราทน เราทำได้อย่างนั้นก็จะเป็นหนทางให้เราได้ซึ่งวิปัสสนาญาณที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ไล่ไปถึงวิปัสสนาญาณที่ ๑๖ ผ่านครั้งแรกก็เป็นปฐมมรรคเป็นพระโสดาบัน ผ่านครั้งที่ ๒ ก็เป็นทุติยมรรค เป็นพระสกทาคามี ผ่านครั้งที่ ๓ ก็เป็นตติยมรรค เป็นพระอนาคามี ผ่านครั้งที่ ๔ ก็เป็นจตุตถมรรค เป็นพระอรหันต์ นี้เป็นหนทางแห่งความพ้นทุกข์ เป็นเอกันตบรมสุข เป็นที่ข้ามห้วงมหรรณพภพสงสารถึงฝั่งคือพระนิพพาน เรียกว่าเป็นที่เกษมสำราญของบุคคลผู้ถึงฝั่ง

          วันนี้อาตมภาพกระผมได้นำธรรมะมากล่าวก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ในท้ายที่สุดนี้ ด้วยอำนาจแห่งพระพุทธเจ้าทั้งปวง ด้วยอำนาจแห่งพระธรรมทั้งปวง ด้วยอำนาจแห่งพระสงฆ์ทั้งปวง ด้วยอำนาจแห่งคุณงามความดีที่ญาติโยมทั้งหลายทั้งปวง พระสงฆ์ สามเณรทั้งปวงได้บำเพ็ญมาดีแล้ว ขอให้อำนาจบารมีคุณงามความดีทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นจงได้มารวมกัน เป็นตบะ เป็นเดชะ เป็นพลปัจจัยส่งเสริมให้คณะครูบาอาจารย์ สามเณรทุกรูป ตลอดถึงญาติโยมทุกท่านทุกคน จงเป็นผู้ที่มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ ธรรมสารสมบัติ ขอให้โชคลาภร่ำรวยมั่งมีศรีสุข เงินไหลนอง ทองไหลมา ปราศจากโรคาพาธ อันตรายทั้งหลายทั้งปวง ปราศจากทุกข์เข็ญเวรภัยทั้งหลายทั้งปวง ขอให้มีกุศลจิตสถิตย์มั่นนำตนให้พ้นไปจากความทุกข์ ถึงสันติสุขกล่าวคือมรรคผลนิพพานในอนาคตกาลอันใกล้ๆ นี้ด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.