อานิสงส์ของการบวช
(เทศน์ที่วัดป่าชัยมงคล วันที่ ๒๘ ม.ค. ๕๗)
ก่อนที่อาตมภาพจะได้กล่าวธรรมะก็ขอให้ญาติโยม พ่อใหญ่ แม่ใหญ่ทั้งหลายทั้งปวงได้นั่งสมาธิฟัง ตั้งใจฟังธรรม แต่ถ้าเราเหน็ดเราเหนื่อย เราเมื่อยล้าต่างๆ เราก็เปลี่ยนอิริยาบถได้ เราอาจจะพลิกซ้าย พลิกขวา แต่ว่าเราก็พลิกซ้ายพลิกขวาด้วยความเคารพในพระธรรม เรียกว่าเราจะถือเอาประโยชน์ในการฟังธรรมในขณะนี้ ชั่วโมงนี้ให้มากที่สุด
ก่อนอื่นก็ขออนุโมทนาสาธุการกับเจ้าอาวาสวัดป่าชัยมงคลคือ หลวงพ่อกันหา ปภสฺสโร ซึ่งได้เสียสละพร้อมกับทายกทายิกาตลอดถึงพ่อสารวัตรผู้ที่เป็นไวยาวัจกรของวัดทั้งหลายทั้งปวง ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายก อบต. ตลอดถึงเจ้าคณะตำบลเป็นต้น ที่ได้สนับสนุนการประพฤติปฏิบัติธรรมเปิดโอกาสให้ญาติโยม ศาสนิกชนทั้งหลายนั้น ได้มีโอกาสมารักษาศีลให้ทาน ไหว้พระ ทำวัตรสวดมนต์เจริญภาวนาแผ่เมตตา ถือว่าเป็นบุญใหญ่ อานิสงส์ใหญ่ที่ญาติโยมทั้งหลายได้มาร่วมกันสร้างคุณงามความดีสร้างบารมีใส่ตนเองเป็นของหายาก ถือว่าเป็นสาระของชีวิต ชีวิตของเราต่างคนก็ต่างเกิดขึ้นมา เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็อาศัยบุญ อาศัยกรรมที่ตนเองได้กระทำมาเป็นเหตุบ้าง กรรมที่ตนเองกระทำในปัจจุบันบ้าง ตกแต่งความเป็นอยู่ของคนให้ต่างกัน ตกแต่งหน้าตาให้ต่างกัน ตกแต่งเสียงให้ต่างกัน ตกแต่งนิสัยใจคอให้แตกต่างกัน เรียกว่าเป็นไปด้วยอำนาจของบุญกรรมและบาปกรรม
พวกเราทั้งหลายมาจากกรรมต่างๆ ที่ต่างกัน เราทั้งหลายมารวมกัน มีจุดมุ่งหมายอันเดียวกัน เป้าหมายอันเดียวกันคือ เราได้มาบวชเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ในพระพุทธศาสนาเพื่อที่จะสร้างสมอบรมคุณงามความดีก่อนที่ชีวิตของเราจะลาลับจากโลกนี้ไป เราจะสร้างสมอบรมคุณงามความดีให้มากที่สุด เพราะฉะนั้นหลวงพ่อกันหา ปภสฺสโร พร้อมด้วยทายกทายิกา ตลอดถึงพ่อสารวัตร ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายทั้งปวงได้ร่วมกันในงานปฏิบัติธรรมนี้ จึงถือว่าพวกเราทั้งหลายนั้นได้เสียสละ ทั้งทางกาย ทั้งทรัพย์สินเงินทอง ทั้งทางวาจา ทั้งทางใจของเราเพื่อที่จะทำให้คนทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดมานั้นมีที่พึ่ง ทำให้ญาติโยมทั้งหลาย พ่อใหญ่แม่ใหญ่ทั้งหลายที่มาบวชอยู่ที่วัดป่าชัยมงคลนี้มีที่พึ่ง ถ้าเราไม่มีทาน ไม่มีศีล ไม่มีภาวนานี้ เราจะมีที่พึ่งได้อย่างไร
อานิสงส์ของการบวชที่ญาติโยมทั้งหลายทั้งปวงได้มาบวชนี้ ถ้าเรามีสติมีปัญญาพิจารณาว่าการที่เรามาบวชที่วัดป่าชัยมงคลนี้เราได้อานิสงส์อะไร บุญที่เราได้จากการบวชมีอะไรบ้าง อานิสงส์ที่เราบวชสามวัน วันนี้เป็นวันที่สอง คณะครูบาอาจารย์ได้นิมนต์อาตมภาพมากล่าวธรรมะ ซึ่งการกล่าวธรรมะแต่ละครั้งเป็นการยาก ผู้ฟังนี้ก็ถือว่าเป็นผู้ที่หาได้ยาก เพราะอาตมภาพกล่าวธรรมะเป็นประเภทนักปฏิบัติธรรม อาจจะกล่าวธรรมะหมัดหนักคล้ายๆ กับว่ากล่าวเรื่องเหตุเรื่องผล เรื่องบุญเรื่องบาป เรื่องการเดินจงกรมนั่งภาวนา กล่าวถึงเรื่องสมาธิสมาบัติ กล่าวถึงวิปัสสนาญาณ กล่าวถึงการบรรลุมรรคผลนิพพาน กล่าวถึงการข้ามโอฆะแหล่งแก่งกันดาร ข้ามวัฏสงสารไปสู่พระนิพพานอันเป็นเป้าหมายของชีวิต หรืออาจจะกล่าวธรรมะขั้นลึกมากเกินไป การกล่าวธรรมะแต่ละครั้งแต่ละคราวจึงเป็นการกล่าวยาก ญาติโยมที่จะมาฟังเทศน์ฟังธรรมก็ฟังยาก เพราะบุคคลที่จะกล่าวธรรมะในลักษณะอย่างนี้ต้องเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมมาเสียก่อน จนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้สมาธิสมาบัติ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้วิปัสสนาญาณเกิดการบรรลุมรรคผลนิพพาน
ญาติโยมมาประพฤติปฏิบัติธรรมส่วนมากสองวัน วันนี้เป็นวันที่สองความสงบกายก็ยังไม่สงบดี ความสงบวาจาก็ยังไม่สงบดี ความสงบจิตสงบใจในสมาธิสมาบัติมรรคผลนิพพานก็ยังไม่ปรากฏเต็มที่ การฟังธรรมะนั้นก็ขอให้ญาติโยมใช้ความอดทน ใช้ความเพียรพยายามฟัง เพราะว่าฟังแล้วมันได้บุญ ฟังแล้วมันได้กุศล ฟังแล้วมันได้ปัญญา ฟังแล้วมันได้บารมี ฟังแล้วมันเกิดสติเกิดปัญญาเกิดความรู้แจ้งในเรื่องบุญเรื่องบาป ก็ขอให้ญาติโยมทั้งหลายค่อยๆ ฟังไป ฟังเป็นอุปนิสัยเหมือนกบฟังธรรม ตายไปแล้วก็ยังไปเกิดบนสวรรค์ ฟังแล้วเป็นอุปนิสัยก็เหมือนกับค้างคาวฟังธรรม ฟังแล้วก็ยังได้ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นผู้แตกฉานในอภิธรรม เรียกว่าเป็นการฟังเพื่อเป็นอุปนิสัยติดตามไปในสัมปรายภพข้างหน้า ฟังแล้วไม่ขาดทุน ไม่สูญกำไร
เพราะฉะนั้นวันนี้อาตมภาพจะได้กล่าวธรรมะพื้นๆ ในเรื่องอานิสงส์ของการออกบวช หรือว่าอานิสงส์ของการบวช อย่างเช่นญาติโยมพ่อใหญ่ แม่ใหญ่ได้มาออกบวชถือศีล ๘ อดอาหารอันนี้ได้อานิสงส์อะไรหนอ นี้บางรูปบางท่านบางคนอาจจะสงสัยว่าเราบวชนี้ก็ไม่เห็นอะไร มาแล้วก็มาแต่คุยกัน บวชมาแล้วก็มาพูดเรื่องลูกเขยคนโน้นลูกสาวคนนี้ บวชเข้ามาแล้วก็พูดในเรื่องการทำมาหากิน การบวชนี้มันได้อานิสงส์หรือเปล่าหนออะไรทำนองนี้
การบวชมีอานิสงส์มากมาย ยกตัวอย่างพื้นๆ การบวชที่ญาติโยมทั้งหลายทั้งปวงได้เข้ามาบวชนี้ ก็แสดงว่าญาติโยมทั้งหลายได้พักผ่อนทางกายแล้ว มีกายได้พักผ่อนแล้วแต่ก่อนโน้นพ่อใหญ่แม่ใหญ่อาจจะไปทำไร่ไถนา อาจจะไปทำสวน อาจจะไปค้าขาย บางคนก็อาจจะไปหาปูหาปลา ฆ่าเป็ดฆ่าไก่ หากุ้งหอยอะไรต่างๆ มาเลี้ยงครอบครัว บางคนก็ไปทำการทำงานค้าขายตลาด บางคนก็เข้าไร่เข้าสวนเป็นการยังกายให้เหน็ดเหนื่อยในการทำมาหากิน แต่ถ้าเรามาบวชอย่างนี้เราก็พักการฆ่ากุ้งหอยปูปลา เรามีศีลเป็นที่นับถือ เป็นที่ยึด เป็นสรณะนี้อานิสงส์ก็เกิดขึ้นมาแล้ว เราก็เว้นจากบาปทางกายแล้ว
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่าการบวชก็เป็นการเว้นจากบาป เว้นจากบาปทางกาย เว้นจากบาปทางวาจา แล้วก็การบวชนั้นก็เป็นการบรรเทาความร้อนรุ่มกลุ้มใจ แต่ก่อนโน้นเราต้องไปทำมาหากิน เราต้องไปค้าขายต่างๆ ต้องกระทบอารมณ์ต่างๆ บ้างก็ถูกใจบ้างก็ไม่ถูกใจ แต่พอเรามาบวชคณะครูบาอาจารย์ที่มาเทศน์แต่ละรูปแต่ละท่าน ครูบาอาจารย์ผู้ที่อยู่คอยดูแลญาติโยมทั้งหลายทั้งปวง ให้ธรรมะ ให้แนวความคิดต่างๆ ท่านก็เสกสรรเอาธรรมะที่จะเป็นเนื้อหาสาระที่ทำให้ญาติโยมนั้นสบายจิตสบายใจ ทำให้ญาติโยมนั้นปล่อยปละละวางกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดต่างๆ ความโกรธมันเกิดขึ้นมาในใจเราก็ควรที่จะปล่อยวาง ความโลภมันเกิดขึ้นมาเราก็ควรที่จะปล่อยวางความอยากได้ต่างๆ เราก็ควรที่จะปล่อยวางบ้าง คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายทั้งปวงก็มากล่าวธรรมะให้เป็นที่สบายใจ เพราะฉะนั้นเวลาเรามาบวชจึงถือว่าเป็นการที่เรามาพักผ่อนทางกายด้วย พักผ่อนทางใจด้วย
แล้วก็เวลาเราบวชนั้นบาปธรรมทั้งหลายทั้งปวงก็เกิดขึ้นไม่ได้ ขณะที่พ่อใหญ่แม่ใหญ่อยู่ที่นี้ เวลาไหว้พระจิตของเราก็ระลึกนึกถึงพระพุทธ พระธรรม ระลึกนึกถึงพระสงฆ์ กายของเราก็ไม่ได้ไปทำบาป วาจาของเราก็ไม่ได้ไปทำบาป ใจของเราก็ไม่ได้คิดร้ายอะไร มันก็เป็นการเว้นจากบาปทั้งหลายทั้งปวง แล้วก็การที่เรามาบวชนี้ท่านกล่าวว่าเรามาเพิ่มบุญเพิ่มกุศล ญาติโยมมาก็ให้ทาน ช่วยกันถวายค่าน้ำค่าไฟ ถวายค่าอาหาร ถวายค่าพาหนะ ถวายน้ำปานะต่างๆ บุญมันก็เกิดขึ้นมา บุญเกิดขึ้นมาจากการให้ทาน
นอกจากนั้นบุญก็เกิดขึ้นมาจากการรักษาศีล ที่ญาติโยมทั้งหลายได้ถือศีลอยู่นี้ก็ถือว่าบุญเกิดขึ้นมามากแล้ว บุญก็เกิดขึ้นมาจากการฟังเทศน์ฟังธรรม เกิดจากการไหว้พระทำวัตรสวดมนต์ เกิดจากการแผ่เมตตา เกิดจากการนั่งภาวนา บุญใหญ่อานิสงส์ใหญ่มันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ยืนก็เป็นบุญ นั่งก็เป็นบุญ นอนก็เป็นบุญ พูดจาปราศรัยทำวัตรสวดมนต์ก็เป็นบุญ การบวชนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เพิ่มบุญ เพิ่มบารมี การบวชก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นได้สงบจิตสงบใจ ได้ทำใจของเราให้สงบ ก็คือเรามีโอกาสได้มาทำความสงบนั่งฟังธรรม เรามีโอกาสได้มาดูความคิดของเรา
เวลาเราทำวัตรเช้าวัตรเย็นเราอาจจะนั่งภาวนากำหนด “พองหนอยุบหนอ” หรือว่ากำหนด “พุทโธๆ” ตามแต่กัมมัฏฐานที่เราได้ศึกษามา เมื่อจิตใจของเราสงบเราก็รู้ซึ้งถึงคุณค่าว่าความอิ่มเมื่อจิตใจมันสงบแล้วมันเกิดสมาธิ เกิดปีติ เกิดปัสสัทธิ ความร่มเย็นในจิตในใจอย่างไร ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมจะเข้าใจในเรื่องความสงบในพุทธศาสนาแล้วก็จะศรัทธาในพระพุทธศาสนาตั้งมั่นยิ่งๆ ขึ้นไปอีก อันนี้เป็นผลโดยรวม
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า อานิสงส์ของการบวชนั้นมันมากมาย การบวชก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราทั้งหลายนั้นได้ประพฤติตามพุทธวงศ์ คือวงศ์ของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ จะเป็นอริยสาวก เป็นพระสารีบุตร เป็นพระอานนท์ เป็นพระมหากัสส ก็บวชมาก่อน ผู้ที่สืบพระศาสนาทั้งหลายก็บวชมาก่อน เราก็เป็นพุทธศาสนทายาทที่จะได้สืบทอดพุทธศาสนา อานิสงส์ของการบวชนั้นมีมากมาย
วันนี้อาตมภาพจะกล่าวในเรื่องสามัญผลที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ในพระไตรปิฎกตอนหนึ่งว่า ผลของการบวชนั้นมีอานิสงส์อย่างไร มีคุณอย่างไร พระองค์ทรงตรัสไว้ในพระไตรปิฎก ในสมัยหนึ่งพระองค์ทรงประทับอยู่ที่เมืองราชคฤห์ซึ่งในสมัยนั้นพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นบรมกษัตริย์ หลังจากที่พระเจ้าอชาตศัตรูปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสาร เรียกว่าทำปิตุฆาต ฆ่าบิดาของตนเองเพราะอยากจะครองราชย์ วันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือนสิบสอง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่สวนมะม่วงของหมอชีวกโกมารภัจจ์ ในขณะนั้นมีภิกษุที่เป็นพระอรหันต์ทั้งหลายทั้งปวงนั้นแวดล้อมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงนั่งอยู่ในท่ามกลางของสงฆ์ ทรงประทับดุษณีภาพไม่ได้มีการคะนองมือคะนองไม้ ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพระอรหันต์ในขณะนั้นก็เป็นผู้ที่มีอินทรีย์สังวรสำรวม มีจักขุอันทอดลง มีกายอันสำรวม ไม่คะนองมือคะนองไม้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงประทับนิ่งอยู่ ภิกษุทั้งหลายทั้งปวงก็นิ่งอยู่ไม่ได้เกิดความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าในการกระทำตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในสมัยนั้นพระเจ้าอชาตศัตรูปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสาร ทำปิตุฆาตฆ่าบิดาของตนเองเป็นอนันตริยกรรม มีความเดือดร้อนมีความกลุ้มใจว่าตนเองได้ทำกรรมบาปอันยิ่งใหญ่แล้ว มีจิตใจถูกบาปนั้นแผดเผา ร้อนรุ่ม ไม่รู้จะระงับอย่างไร เพราะว่าบาปนั้นเป็นบาปหนัก บาปใหญ่ เมื่อทำลงไปแล้วจิตใจมันก็กระสับกระส่าย ฟุ้งซ่าน รำคาญ หงุดหงิด มีความรุ่มร้อนคล้ายๆ กับว่าเอาไฟเผาอยู่ในหน้าอกไม่รู้จะทำอย่างไรก็ปรึกษาหารือกันกับพวกเสนาอำมาตย์ เสนาอำมาตย์ก็บอกว่าให้ไปหาครูทั้ง ๖ ครูทั้ง ๖ ก็มี ปูรณะ กัสสปะ, มักขลิ โคสาล, อชิตะ เกสกัมพล, ปกุฏะ กัจจายนะ, นิครนถ์ นาฏบุตร, สัญชัย เวลัฏฐบุตร
ครูทั้ง ๖ นี้เขาถือกันว่าเป็นพระอรหันต์ในสมัยนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูก็ไปถามหมด ทำอย่างไรก็ไม่เกิดความสงบความเย็นได้ ก็มีหมอชีวกโกมารภัจจ์ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงประทับอยู่ที่สวนมะม่วงของข้าพระองค์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นสัพพัญญู เป็นผู้รู้ทั่วไป เป็นผู้มีธรรมอันแจ่มแจ้ง เป็นผู้สามารถระงับ ความทุกข์ ความโศก สามารถระงับความเดือดร้อนของคนทั้งหลายทั้งปวงได้ พระเจ้าอชาตศัตรูก็พาบริวารทั้งหลายทั้งปวงนั้นเข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ไปกราบทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การบวชมีอานิสงส์ในปัจจุบันนี้อย่างไร ข้าพระองค์ไปถามครูทั้ง ๖ มีปูรณะ กัสสปะ เป็นต้น ถามแล้วก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน คล้ายๆ กับว่าถามเรื่องมะม่วงไปตอบเรื่องมะขาม ถามอย่างไรก็ไม่เข้าใจ ขอพระองค์ทรงตรัสตอบให้ข้าพระองค์นั้นหมดความสงสัยเถิด ว่าผลของการบวชในปัจจุบันนี้เกิดขึ้นอย่างไร มีผลอย่างไร”
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเราก็ทรงตรัสว่า “ดูก่อน มหาบพิตร สมมุติว่า บุคคลผู้เป็นทาส เป็นกรรมกรที่เคยรับใช้มหาบพิตรนั้นอยู่มาช้านานแล้ว แต่เมื่อทาส กรรมกรนั้นมีโอกาสได้มาบวช แล้วก็ตั้งมั่นในธรรมอันดี ประพฤติในธรรมอันดี อยู่ในศีลอันดีอันงาม มหาบพิตรจะเอาทาสกรรมกรที่มาบวชนี้กลับไปอีกหรือไม่” พระเจ้าอชาตศัตรู ก็กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จะไม่เอาภิกษุเหล่านี้กลับไปเป็นทาสกรรมกรอีก แต่ข้าพระองค์จะถวายความเคารพภิกษุเหล่านั้นโดยธรรม แล้วก็จะถวายความอุปถัมภ์ อุปฐากภิกษุเหล่านั้นโดยธรรม แล้วก็จะคุ้มครองภิกษุเหล่านั้นด้วยดีโดยธรรม” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสว่า “ดูก่อน มหาบพิตร นี้ก็เป็นอานิสงส์อีกข้อหนึ่ง ที่เราเห็นในปัจจุบัน ที่เกิดขึ้นมาจากการบวช” เหมือนกับญาติโยมทั้งหลายนี้แหละ มาบวช เหมือนกับพระสงฆ์สามเณรที่มาบวช แต่ก่อนโน้นคนเขาก็ไม่ได้เอาข้าวมาให้ ไม่มากราบมาไหว้ แต่เมื่อมาบวชเขาก็มากราบมาไหว้ นี้ก็เป็นอานิสงส์อีกข้อหนึ่ง
แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสว่า “ดูก่อนมหาบพิตร เหมือนกับบุคคลผู้เคยทำนาเอาข้าวมาให้พระองค์ ทุกวันๆ ทุกปีๆ แต่เมื่อเขามาบวชในพระพุทธศาสนาตั้งมั่นในศีล ตั้งมั่นในธรรมเป็นผู้มีกัลยาณธรรมดีแล้ว มหาบพิตรจะเอาบุคคลผู้เคยทำนานั้นกลับไปทำนาเหมือนเดิมหรือไม่ ” พระเจ้าอชาตศัตรูก็กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จะไม่เอากลับไปทำนาอีก แต่ข้าพระองค์จะให้ความเคารพในภิกษุนั้น จะถวายความอุปถัมภ์ในภิกษุนั้น แล้วก็จะคุ้มครองด้วยดีในภิกษุนั้น” นี้เป็นอานิสงส์อีกข้อหนึ่งของการบวช เพราะฉะนั้นเรามาบวช ถึงเราจะมาจากชาวไร่ชาวนา คนทั้งหลายทั้งปวงก็มากราบมาไหว้เหมือนกับพระเรานี้แหละ บางครั้งก็เป็นทหารมาบวช บางครั้งก็เป็นคนแก่คนเฒ่ามาบวช บางคนก็เป็นชาวไร่ชาวนามาบวช แต่ก็มีฐานะเดียวกัน มีสีลสามัญญตา มีศีลเสมอกัน อันนี้ก็เป็นอานิสงส์ในปัจจุบันของการบวช
ท่านกล่าวว่าบุคคลผู้บวชเข้ามาแล้วตั้งมั่นในศีล ศีลอย่างต่ำ ศีลอย่างกลาง ศีลอย่างสูง ศีลอย่างต่ำก็เหมือนกับศีล ๘ ที่ญาติโยมทั้งหลายรักษานี้แหละ เหมือนกับศีล ๑๐ เหมือนกับศีล ๒๒๗ ข้อ ที่พระภิกษุสงฆ์สามเณรรักษาอยู่นี้เรียกว่าเป็นศีลอย่างต่ำ เรียกว่าเป็นปกติศีล ส่วนศีลอย่างกลางหมายถึงศีลของบุคคลผู้อยู่ในฌาน บุคคลผู้เจริญวิปัสสนาญาณ ถ้าผู้ใดอยู่ในฌาน อยู่ในปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมของบุคคลนั้นบริสุทธิ์ มีจิตเป็นเอกัคคตา ถ้าผู้ใดเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” ไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง ครอบงำในขณะที่ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ในขณะที่ พองหนอ ยุบหนอ มีสติทันปัจจุบันธรรม เห็นต้นพอง กลางพอง สุดพอง เห็นต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ จิตใจไม่เผลอไปหาบาป นี้เรียกว่าเป็นผู้มีมัชฌิมศีลแล้ว หรือเราบริกรรม “พุทโธๆ” ตั้งสติอยู่ที่ปลายจมูก หรือว่าเราตามลมลงไปจนผ่านหัวใจจนถึงท้องของเรา รู้ลมเข้าลมออก ในลักษณะอย่างนี้ก็ถือว่าขณะนั้นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมของเราไม่กระทำบาป เป็นมัชฌิมศีลแล้ว
หรือว่าศีลอยู่ในวิปัสสนาญาณ เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดแล้วก็ชื่อว่าเป็นมัชฌิมศีลแล้ว เรียกว่าเป็นมัชฌิมศีล เป็นศีลอย่างกลาง แต่ถ้าศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ข้อ ที่ไม่ได้เจริญวิปัสสนาเหมือนกับญาติโยมที่กำลังทำอยู่นี้ ยังเป็นปกติศีลธรรมดา ยังมีอานิสงส์อยู่ประมาณหนึ่ง ไม่เท่าอานิสงส์ของมัชฌิมศีล แต่ถ้าผู้ใดเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน หรือประพฤติปฏิบัติธรรมด้วยความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวขึ้นมาจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มรรคผลมันเกิดขึ้นมานั้นแหละ เป็นปรมัตถศีล เป็นศีลอันสูงสุดเหนือศีลของมนุษย์ เทวดา มาร พรหม ทั้งหลายทั้งปวง เป็นศีลยอดเยี่ยม เป็นศีลที่สัมปยุตด้วยโลกุตตรศีล เป็นศีลเหนือโลก อันนี้เรียกว่าเป็นศีลอันสูงสุด ญาติโยมทั้งหลายทั้งปวงผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้มีโอกาสที่จะถึงศีลนั้นได้
การที่เรามาบวช ถ้าเรามาบวชธรรมดาเราก็มีปกติศีล ถ้าเรามาไหว้พระทำวัตรสวดมนต์เหมือนญาติโยมนี้ เราก็มีโอกาสได้มัชฌิมศีล แล้วถ้าเราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไปอีกเราก็มีโอกาสที่จะได้ศีลอันสูงสุดเรียกว่าปรมัตถศีล อานิสงส์ก็ต่างกัน อานิสงส์ของศีลก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราหายจากทุกข์ หายจากโศก จากโรค จากภัย เรียกว่าโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายทั้งปวงมันไม่มี เพราะเรารักษาศีลดีไม่เคยฆ่ามด หรือว่าเราไม่เคยฆ่าสัตว์ ตั้งแต่เกิดมาเราจำได้ว่าเราฆ่าไก่ไปกี่ตัว ฆ่าปู ฆ่าปลาไปกี่ตัว หรือเราไม่เคยทำนี้เราสามารถนึกได้ หรือว่าเราไม่เคยพูดหลอกลวงต้มตุ๋น ไม่เคยพูดเท็จ ไม่เคยพูดคำหยาบให้คนอื่นเดือดร้อน เจ็บอกเจ็บใจอะไรต่างๆ ถ้าเรานึกได้อย่างนี้ เกิดปีติในศีล นึกถึงศีลในคราวใดมันก็เกิดปีติ ตั้งแต่เราบวชมา ๕ ปี ๑๐ ปี ๒๐ ปี เราไม่เคยต้องอาบัติต่างๆ นาๆ ที่มันหยาบช้าลามก เรานึกถึงมันก็เกิดปีติ เกิดขนลุกขนพอง เกิดน้ำตาไหลขึ้นมา อันนี้เป็นลักษณะของศีลที่มันเกิดขึ้นมาด้วยอำนาจของคุณงามความดี อานิสงส์มันก็ต่างกัน ถ้าคนใดรักษาศีลกระท่อนกระแท่น บางครั้งก็ขาด บางครั้งก็ทะลุ บางครั้งก็พร้อย ศีลไม่สมบูรณ์ ถ้าเกิดมาบางครั้งก็เป็นคนที่มีรูปร่างหน้าตาไม่สมประกอบเท่าที่ควร อาจจะดำเกินไป อาจจะขาวเกินไป อาจจะต่ำเกินไป อาจจะสูงเกินไป หรือว่าอาจจะมีบางส่วนที่ไม่สมประกอบมีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนบ้าง อันนี้เพราะอะไร เพราะอานิสงส์ของศีลมันต่างกัน เพราะฉะนั้นญาติโยมทั้งหลายที่มาบวชก็ถือว่า ได้รับอานิสงส์ของการบวชก็คือ ศีล ที่เราได้รักษา
แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า บุญ หรือว่าผลของการบวชในปัจจุบันนั้นคือการที่เราได้สำรวม การสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ ญาติโยมทั้งหลายอาจจะคิดว่า เอ๊ะ บุญนั้นเราก็ทำมามาก บุญกฐินก็ทำมามาก บุญผ้าป่าเราก็ทำมามาก บุญกองบวชเราก็ทำมามาก บุญคือการขุดน้ำบ่อก่อศาลาเราก็ทำมามาก บุญอย่างอื่นเราไม่ต้องทำก็ไม่เป็นไร แต่บุญคือการขุดน้ำบ่อก่อศาลา บุญคือ การสร้างถนนหนทางนั้นได้บุญมาก คือได้บุญ ๒๔ ชั่วโมง แต่บุญเหล่านั้นไม่สามารถที่จะทำให้เราข้ามพ้นห้วงมหรรณพภพสงสาร ไม่สามารถที่จะข้ามพ้นภพสงสารได้ เราต้องเวียนว่ายตายเกิดมาเป็นมนุษย์บ้าง ไปเกิดบนสวรรค์บ้าง ถ้าเราได้ฌานก็ได้ไปเกิดในพรหมโลกบ้าง แต่ถ้าภพใดชาติใดเราประมาทเราก็อาจจะไปเกิดในนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานทนทุกข์ทรมานอยู่อย่างนั้นก็ได้ เพราะว่ามันไม่แน่นอน แต่บุญคือการสำรวมตา สำรวมหู สำรวมจมูก สำรวมลิ้น สำรวมกาย สำรวมใจนั้นเป็นบุญที่ทำให้เรานั้นกลับร้อนเป็นเย็นได้ เป็นบุญ ๒๔ ชั่วโมง เป็นบุญทุกอิริยาบถ เป็นบุญทุกขณะหายใจเข้าหายใจออก เป็นบุญทุกขณะคู้ ขณะเหยียด ขณะก้ม ขณะเงย ขณะอาบน้ำ ขณะทานข้าว ขณะทำวัตรเช้าวัตรเย็น เดินไปเดินมาก็เป็นบุญอยู่ตลอดเวลา จะยก จะย่าง จะคู้ จะเหยียด จะก้ม จะเงย เป็นบุญหมด นี้บุญคือการสำรวม คือสำรวมตา สำรวมหู สำรวมจมูก ลิ้น กาย ใจของเรา ไม่ให้ความโกรธ ความโลภ ความหลงมันเกิดขึ้นมา เรียกว่าบุคคลนั้นเป็นผู้มีสาระในชีวิต เป็นบุคคลผู้แก่โดยธรรม
บางคนเกิดขึ้นมาแล้วไม่รู้การสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะสำรวมไปทำไม สำรวมแล้วมันได้อะไร อย่าคิดว่าเราไม่เคยประพฤติปฏิบัติ อย่าคิดว่าเราไม่เคยสำรวมหู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นของน้อยเป็นของเล่น ไม่ใช่ นั้นเป็นหนทางแห่งการตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราอ่านในพุทธประวัติองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนพุทธศาสนาของเรานั้น ๔๕ ปี พระองค์ทรงนั่งคู้บัลลังค์ มีกายอันตรง มือขวาทับมือซ้ายตั้งกายให้ตรงดำรงสติให้มั่นแล้วพระองค์ก็ทรงตั้งสัจจะ อธิษฐานว่า “ถึงเลือดและเนื้อจะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนังหุ้มกระดูกอยู่ก็ตาม พระองค์ถ้าไม่ได้บรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่ละความเพียร” แล้วพระองค์ก็ทรงหลับพระเนตร บริกรรมจนยังปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานให้เกิดขึ้นมา ยังรูปฌานทั้ง ๔ คือ อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌานให้เกิดขึ้นมา พระองค์ทรงเสวยฌานนั้นอยู่จนปฐมยามผ่านไป พระองค์จึงยังปุพเพนิวาสานุสติญาณให้เกิดขึ้นมาได้ หรือว่าสามารถที่จะระลึกชาติหนหลังได้ว่า แต่ก่อนโน้นเราเคยเกิดเป็นใคร เคยเกิดเป็นมหาทุคตบุรุษ ไปเกิดเป็นคนยากจนข้นแค้นอนาถา ไปเกิดเป็นคนหาฟืน เคยเกิดเป็นเศรษฐี เคยเกิดเป็นกษัตริย์ เคยเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ระลึกชาติหนหลังได้ว่ามีภพชาติอย่างไร พระองค์ทรงระลึกชาติหนหลังได้
แล้วพระองค์ทรงเกิดจุตูปาตญาณ รู้จักการเกิด การตายของสัตว์อื่นว่าสัตว์ที่มาเกิด มาเป็นนาย ก นาย ข นี้นี่ทำบุญอะไรจึงได้มาเกิดเป็นนาย ก นาย ข บุญอะไรจึงมาเกิดในตระกูลของคนจัณฑาล ทำไมจึงได้มาเกิดในตระกูลของเศรษฐี เป็นเพราะบุญอะไร ทำไมจึงมีหน้าตาอย่างนี้ มีรูปลักษณะอย่างนี้ ทำไมจึงได้สามีอย่างนี้ ทำไมจึงได้ภรรยาอย่างนี้ ทำไมจึงได้ลูกอย่างนี้ ทำไมจึงได้พ่อได้แม่อย่างนี้ พระองค์จะทรงรู้ด้วยสัพพัญญู เรียกว่าจุตูปาตญาณจะรู้ แล้วก็ตายจากชาตินี้ไปแล้วไปเกิดไหน นี้พระองค์ทรงรู้ เพราะอะไร เพราะพระองค์ทรงได้รูปฌาน ได้อรูปฌาน วิชชาสามปรากฏขึ้นแก่พระองค์ จนปัจฉิมยามพระองค์จึงได้ตรัสรู้เป็นพุทธเจ้า ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาน นี้เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะพระองค์ทรงสำรวม สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เวลาบาปธรรมทั้งหลายทั้งปวงมันเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นจากไหน เกิดขึ้นจากตาของเรา จากหูของเรา จากลิ้น จากจมูก จากกายของเรานี้แหละ
เพราะฉะนั้นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทวารทั้ง ๖ นี้จึงเป็นช่องของบาปและบุญ บาปทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นจากตรงนี้ ทำไมเราจึงต้องตกนรก ก็เพราะตาของเรานี้ไปทำบาป หูของเราไปทำบาป ใจของเรานี้แหละกระทำบาป เรียกว่ากระทำบาปเพราะตา เพราะหู เพราะจมูก เพราะลิ้น กาย ใจ นี้เป็นเหตุ เพราะฉะนั้นเราตกนรกทั้งหลายทั้งปวง ได้ทนความเดือดร้อนก็เพราะเราไม่สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เวลาเราได้บุญได้กุศลเราก็อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรานี้ทำบุญ อย่างเช่นเราอยากให้ทาน เราก็ต้องอาศัยกายของเรานี้เป็นผู้ทำ เราอยากเดินจงกรมก็กายของเรานี้เดินจงกรม เราไหว้พระทำวัตรสวดมนต์ก็กายของเรานี้ วาจาของเรานี้เป็นผู้ไหว้พระทำวัตรสวดมนต์ เพราะฉะนั้นท่านจึงให้เราสำรวม เพราะเราจะเว้นจากบาปธรรมทั้งหลายทั้งปวง เพราะการสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ผู้ใดสำรวมกายได้เป็นการดี ผู้ใดสำรวมวาจาได้เป็นการดี ผู้ใดสำรวมใจได้เป็นการดี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ถ้าผู้ใดสำรวมได้ทั้ง ๓ ทาง ผู้นั้นจะพ้นจากบ่วงแห่งมารนี้พระองค์ทรงตรัสอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นบุญใหญ่ แท้จริงนั้นคือการสำรวม ไม่นินทาคนอื่น ไม่พูดคำหยาบ ไม่ทำให้คนอื่นต้องเจ็บอกเจ็บใจ เราพูดแต่ถ้อยคำที่สมานสามัคคี พูดแต่ถ้อยคำที่เกิดแต่สติ เกิดปัญญา เกิดความเคารพ เกิดความนอบน้อมต่อกันและกัน ถ้าผู้ใดมีกายอันละเอียด มีวาจาอันอ่อนหวาน อ่อนโยนอย่างนี้ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สังคมนั้นอยู่เย็นเป็นสุข เพราะฉะนั้นการมาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นถ้าเราสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้ กายของเราก็สงบ วาจาของเราก็สงบ ใจของเราก็จะสงบเป็นภาชนะทองรองรับเอาพระธรรมได้ เวลาครูบาอาจารย์เทศน์ก็เข้าใจ เห็นแจ้ง แต่ถ้าเราไม่สำรวมใจของเรา ฟุ้งซ่านรำคาญ เรานั่งฟังธรรมก็จิตใจคิดถึงบ้านบ้าง คิดถึงการงานบ้าง คิดถึงลูก ผัว สามี ภรรยาบ้าง นี้มันคิดไปต่างๆ นาๆ
เพราะฉะนั้นอานิสงส์ของการบวชก็คือ เรามีโอกาสได้สำรวมอันเป็นขุมแห่งศีล แห่งสมาธิ แห่งปัญญา อันเป็นขุมแห่งบุญทั้งหลายทั้งปวงก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรานี้ ท่านกล่าวว่าเป็นไม้กายสิทธิ์ เราอยากจะหาเงินหาทองก็หาจากกายของเรานี้แหละ เราอยากจะมาเกิดเป็นมนุษย์ก็อาศัยกายของเรารักษาศีล ให้ทาน ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์นี้แหละ เราอยากไปเกิดในพรหมโลกก็อาศัยกายของเรานี้แหละเดินจงกรม นั่งภาวนา จนได้ฌาน เราอยากจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เป็นบุคคลผู้เลิศ เป็นบุคคลผู้ประเสริฐ เหมือนกับพระพุทธเจ้า เหมือนกับอัครสาวก พ้นจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายก็อาศัยกาย วาจา ใจ ของเรานี้แหละ อันนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญของการบวช ญาติโยมมาบวช ๓ วัน ก็ถือว่าเรามาเพิ่มบุญ เพิ่มกุศล เพิ่มอุปนิสัยในการที่เราจะเวียนว่ายตายเกิดให้บุญของเรานั้นยิ่งๆ ขึ้นไป อันนี้เป็นอานิสงส์อีกประการหนึ่ง
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า นอกจากการได้สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจที่เกิดขึ้นจากการบวชแล้ว ท่านกล่าวว่า ยังเป็นบุคคลผู้มีโอกาสได้สันโดษ สนฺตุฏฺฐิปรมํ ธนํ ความสันโดษเป็นยอดทรัพย์ ทำไมจึงกล่าวอย่างนั้น เพราะว่าบุคคลที่มีความสันโดษ รู้จักพอ ถือว่าเป็นทรัพย์ แต่เป็นอริยทรัพย์ไม่ใช่ทรัพย์ภายนอกแต่เป็นทรัพย์ภายใน แต่ถ้าผู้ใดไม่มีความสันโดษ มีเงินห้าสิบล้าน มีเงินร้อยล้าน พันล้าน แสนล้าน ก็ไม่มีความพอ มีจิตใจอยากได้ มีจิตใจทะเยอทะยาน มีจิตใจอยากกอบโกยเอามาเป็นผลประโยชน์ของตนเองอยู่ตลอดเวลา เรียกว่ามีความโลภ มีความกระหาย อยู่ตลอดเวลาคล้ายๆ เปรตที่มันอยู่ในเปรตโลก เปรตวิสัย มีความหิวกระหายอยู่ตลอดเวลา มีความอยากอยู่ตลอดเวลา ท้องของเปรตนั้นเหมือนกับเปลวเพลิงไหม้อยู่ตลอดเวลา มีความหิว มีความทุรนทุราย อยากกินอยู่ตลอดเวลา คนที่มีความโลภ มีเงินมากก็ทุกข์เหมือนเปรตเพราะอะไร เพราะว่ามีความอยากอยู่ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สนฺตุฏฺฐิปรมํ ธนํ ความสันโดษนั้นเป็นยอดทรัพย์ เพราะว่าความสันโดษนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความสุข เกิดความสบาย เกิดความพอเพียง เหมือนกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ทรงตรัส เพราะอะไร เพราะว่าความสันโดษนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติเป็นตัวอย่าง อย่างเช่น พระองค์นั้นเป็นถึงเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ ก่อนที่พระองค์จะออกบวชนั้นท่านกล่าวว่า อีก ๗ วัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเรานั้นจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ อีก ๗ วัน ถ้าพระองค์ไม่เสด็จออกบวชบุญบารมีที่พระองค์ทรงสะสมมามากนั้นแหละก็จะทำให้พระองค์นั้นสำเร็จเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฉะนั้นพญามารคือ ท้าววสวัตตีมาร ซึ่งอยู่ในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี สวรรค์ชั้นที่ ๖ รู้ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นหน่อเนื้อพุทธางกูล เรียกว่าเป็นผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าโปรดสัตว์ ยังสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นไปจากวิสัยของมาร พ้นไปจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงก็กลัว กลัวว่าพระพุทธเจ้าบรรลุคุณธรรมตรัสรู้แล้วจะไปเทศน์สอนคนทั้งหลายทั้งปวงจะไม่อยู่ในวิสัยของมาร มารจะดลใจบังคับจิตบังคับใจ คนที่ประพฤติปฏิบัติธรรมพ้นจากกิเลสแล้วไม่ได้ ก็ไปขัดขวางองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะที่พระองค์ทรงออกจากห้องบรรทมของพระองค์
วันที่พระองค์จะเสด็จออกอภิเนษกรม คือเสด็จออกบวชนั้น พระนางพิมพา ประสูติโอรสของพระองค์คือ ราหุล เจ้าชายสิทธัตถะไปเห็นโอรสของตนเองนั้นเกิดความรัก ความเสน่หา เกิดความผูกพันอย่างจับใจ ก็เลยคิดอุทานขึ้นมาในใจว่า ราหุลํ ชาตํ ราหุลํ ชาตํ บ่วงเกิดขึ้นแก่เราแล้ว บ่วงเกิดขึ้นแก่เราแล้ว เมื่อพระองค์ทรงรู้ว่าบ่วงเกิดขึ้นแก่พระองค์แล้ว ถ้าไม่สละออกไปในขณะนั้นจะเป็นปัญหาอย่างยิ่งใหญ่ จะเกิดความผูกพันเกิดความรักใคร่มากไปกว่านี้ พระองค์รีบตัดสินใจสละภรรยาซึ่งคลอดบุตรในวันนั้น สละบุตรของตนเองซึ่งคลอดออกมาในวันนั้น เป็นผู้มีจิตใจเด็ดเดี่ยว เพราะอะไร เพราะว่าบำเพ็ญบารมีมามากแล้ว ได้ขี่ม้า ทรงม้ากัณฐกะ
ขณะที่ทรงม้ากัณฐกะออกไปทางประตู ทางทิศบูรพาคือทิศตะวันออก มาร คือ ท้าววสวัตตีมารนั้นก็มาเหาะอยู่บนอากาศ มาขวางเจ้าชายสิทธัตถะไว้ว่า “ดูก่อนเจ้าชายสิทธัตถะ ถ้าท่านรออยู่อีก ๗ วัน อีก ๗ วันต่อไปข้างหน้านี้ท่านจะได้สำเร็จเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ มีทวีปทั้ง ๔ นั้นเป็นขอบเขตราชสีมา มีกษัตริย์ ๑๐๘ ประเทศนั้นมาสวามิภักดิ์ จักรแก้ว รัตนะแก้ว นารีแก้ว ช้างแก้วม้าแก้ว จะอุบัติเกิดขึ้นแก่ท่าน” เจ้าชายสิทธัตถะก็บอกว่า “ดูก่อนมาร แม้เราก็รู้อยู่ว่าอีก ๗ วันเราจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ มีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต มีจักรแก้ว ม้าแก้ว นารีแก้วต่างๆ แต่ว่าสมบัติเหล่านั้นมันเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา อีกทั้งบุคคลผู้ครองสมบัติของพระเจ้าจักรพรรดินั้น ก็ไม่พ้นจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงได้ ดูก่อนมาร เราจะออกบวช” นี้พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีมาสมบูรณ์อย่างนั้น พระองค์ก็ออกบวช พระองค์ก็เป็นคนที่สันโดษ พระองค์ก็ทรงถือบาตรอันท้าวมหาพรหมนั้นประทานให้เป็นบาตรศิลา พระองค์ทรงอธิษฐานห่มผ้า ๓ ผืน แล้วก็ทรงอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร อาศัยอาหารบิณฑบาตจากบ้านของคนจน คนจัณฑาล คนรวยใส่ก็ฉัน คนจนใส่ก็ฉัน หรือคนขอทานใส่ก็บริโภค แม้แต่เขาเอาปิ้งรำใส่พระองค์ก็ทรงฉัน เหมือนกับนางปุณณาที่เป็นนางทาสี ปิ้งรำใส่ชายพกซิ่น เดินทางสวนทางพระพุทธเจ้าก็คิดว่า แต่ก่อนโน้นเราเห็นพุทธเจ้าเราก็ไม่มีไทยธรรม เรามีไทยธรรมเราก็ไม่เห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ในขณะนี้ไทยธรรมของเราก็มี พระพุทธเจ้าก็มาอยู่เฉพาะหน้าเรา เรียกว่าพร้อม ก็เลยถวายปิ้งรำนั้นให้แก่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงเปิดบาตรรับเอาด้วยดุษณีภาพ เมื่อรับแล้วนางปุณณาก็เกิดความสงสัยว่า “เอ๊ะ ! พระพุทธเจ้าเคยเป็นกษัตริย์ เป็นถึงกับเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ เราถวายปิ้งรำพระองค์จะฉันให้เราหรือเปล่าหนอ เดินผ่านไปพระองค์อาจจะเอาทิ้ง”
พระองค์ทรงทราบวาระจิต รู้ความคิดของนางปุณณา พระองค์ก็ทรงตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์ เธอจงปูลาดอาสนะ” พระอานนท์ก็ปูลาดอาสนะ แล้วก็หาน้ำใช้น้ำฉันน้ำล้างมือมาให้พระองค์ พระองค์ก็นั่งฉัน ขณะนั้นเทวดาทั้งหลายทั้งปวงก็แทรกรสอันเป็นทิพย์ลงในปิ้งรำของนางปุณณานั้นแหละ ทำให้เกิดมีรสทิพย์อยู่ในปิ้งรำนั้น เมื่อพระองค์ทรงฉันเสร็จนางปุณณาก็อิ่มใจ หลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงตรัสพระธรรมเทศนาให้นางปุณณาฟัง นางปุณณาก็ได้บรรลุดวงตาเห็นธรรมสำเร็จเป็นพระโสดาบัน อันนี้เรียกว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์แท้ๆ แต่พระองค์ทรงประพฤติปอนๆ นุ่งผ้า ๓ ผืน ห่มผ้า ๓ ผืนอยู่โคนต้นไม้แล้วก็อาศัยบิณฑบาตนั้นเลี้ยงชีพ แล้วก็ยารักษาโรคพระองค์ก็ทรงอาศัยน้ำยาดองหรือน้ำมูตรเน่า หรือว่าฉันสมอดอง ฉันมะขามป้อมดองเป็นยารักษาโรคให้กระทำความเพียร ไม่ให้เจ็บหลังปวดเอวอะไรต่างๆ อันนี้เป็นลักษณะที่พระองค์ทรงประพฤติสันโดษ
พวกเราทั้งหลายทั้งปวงก็ได้มานอนเต็นท์ มานอนกลด ก็ถือว่าเรานั้นได้มาประพฤติตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เราคิดว่าบ้านหลังโตๆ หลังงามๆ ของเรานั้นตายไปแล้วเราเอาไปไม่ได้ ใหญ่ขนาดไหนเราก็ต้องเล็กกว่าโลงอยู่แล้ว เราก็ต้องน้อยกว่าโลงอยู่แล้ว ตายไปเราเอาบ้านไปไม่ได้ เราเอาสิ่งที่ใหญ่ๆ ไปไม่ได้ เรามองไปด้านข้างเราจะเห็นหลักเสต่างๆ หลักเสทั้งหลายทั้งปวงนั้นหมายถึงคนที่เกิดขึ้นมาแล้วตายไป ตายแล้วเขาเอาไปฝัง ตายแล้วเขาเอาไปเผา แล้วเขาก็ทำสัญลักษณ์ไว้ ไม่รู้ว่าลูกหลานมาเยี่ยมหรือเปล่า บางครั้งก็ลืมไป
ถ้าเราจะรอแต่ลูกหลานมาเยี่ยม ไม่รู้ว่าวันไหนเขาจะมาเยี่ยมเรา เราทำบุญให้แก่เรา แจกข้าวให้แก่เรา ทำขุมทรัพย์ให้เรา เราทำห่อข้าวไว้ดีๆ ทำบุญกุศลไว้ให้มากๆ ตายไปแล้วเราก็ไม่เดือดร้อน เราสันโดษอยู่ในลักษณะอย่างนี้ก็ถือว่าเรานั้นมาบำเพ็ญตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หัดปล่อยวาง แต่ถ้าเราไม่หัดปล่อยวาง เวลาตายมันก็ห่วงโน้นห่วงนี้ ห่วงทรัพย์สินเงินทองโดยเฉพาะที่เราหามาด้วยความลำบากก็ห่วงว่า ลูกชายคนโตจะเอาไปเท่าไร ลูกชายคนเล็กจะเอาไปเท่าไร คนนี้เรียนจบหรือเปล่า คนนี้เป็นฝั่งเป็นฝาหรือยังมันคิด บางคนก็ยึดมั่นในเงินมากเกินไป
อาตมาไปสอนกัมมัฏฐานอยู่ที่อำเภอสิรินธรติดฝั่งโขงโน้น มีโอกาสได้ไปแสดงธรรมให้พวกเขมรพวกฝั่งโน้นได้ฟัง ขณะที่ไปนั้นก็มีเรื่องน่าสลดสังเวชใจ คือ มีโยมคนหนึ่งเป็นคนเฒ่าคนแก่ หาเงินมามากหาได้มาแล้วก็เก็บหอมรอมริบ ลูกหลานขอก็ไม่ค่อยให้ กินข้าวกินอะไรก็กินแบบประหยัดๆ แต่เวลาได้เงินมาแล้วก็ไม่กล้าฝากธนาคาร ตนเองนั้นเป็นคนเฒ่าคนแก่คนโบราณก็เอาไปปูไว้บนเตียงแล้วก็เอาผ้าทับไว้ แต่เผอิญเกิดล้มป่วยขึ้นมา เมื่อล้มป่วยขึ้นมาไม่รู้จะทำอย่างไร ลูกหลานมาก็ไม่อยากให้เข้ามาในห้องกลัวเขาจะเห็นเงินเห็นทองของตัวเอง แล้วทำอย่างไร ก็นอนเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์อยู่อย่างนั้น นอนซมไปซมมาคนมันป่วยมันเฒ่ามันแก่ก็หมดเรี่ยวหมดแรง พอหมดเรี่ยวหมดแรงมากๆ แล้วไม่มีที่พึ่งก็เห็นแต่เงินของตนเองเป็นที่พึ่งก็ล้วงเอาเงินมาแล้วก็มาดม ดมไปดมมาขาดใจตาย คิดดูสิว่าเงินนั้นจะพาเราไปสู่สวรรค์ไหม พาเราไปสู่พระนิพพานไหม พาเราไปสู่พรหมโลกไหม ไปจ้างนายนิรยบาลมาได้ไหม ลูกหลานเขาก็มาแกะเอาเงินเอาทองออกจากตัวเหมือนเดิม ไม่รู้ว่าเขาเอาไปไหน นี้คนหลงไม่ใช่หลงธรรมดา หลงจนไปถึงวันตาย ลมหายใจสุดท้ายก็ยังหลงอยู่ ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าตายเพราะความหลง หลงในรูป หลงในเสียง หลงในทรัพย์ หลงในสมบัติต่างๆ เรียกว่าหลงตาย หลงทำกาลกิริยา ตายแล้วก็ต้องไปสู่อบายภูมิไม่ต้องสงสัย ที่ไปก็ต้องเป็นสัตว์ดิรัจฉาน นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกายที่ใดที่หนึ่ง
เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายทั้งปวงที่มารวมกันนี้ เรามาฝึก ฝึกปล่อย ฝึกวาง เพื่อที่จะทำให้ใจของเราว่าง ทำใจของเราให้เกิดแสงสว่างในทางธรรมบ้าง ให้เรารู้ว่าสมบัติทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นของกลางสำหรับโลกเราเอาไปไม่ได้แม้แต่ชิ้นเดียว ลูกหลานเหลนโหลนอะไรช่วยเราไม่ได้แม้แต่เราที่จะตายไป ที่เราป่วยเขาก็มายืนรุมอยู่ข้างเตียงของเรา บอกว่าพ่ออดทนเอาเด้อ แม่อดทนเอา เจ็บปวดก็อดทนเอาเขาช่วยเขาหยิบความปวดออกไปไม่ได้ ถึงจะมีบารมีมากขนาดไหน ถึงจะเป็นเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ขนาดไหนก็ช่วยยับยั้งความตายของเราไม่ได้
อาตมาเป็นลูกศิษย์ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชปริยัตยากร หลวงพ่อใหญ่ อยู่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอุบลราชธานีมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ท่านได้มรณภาพไปเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคมที่ผ่านมา ท่านอยู่ในโรงพยาบาล ๗ วัน ๗ วันนั้นคนไปเยี่ยมอย่างน้อยก็วันละสองพันสามพันไปเยี่ยม วันสุดท้ายขณะที่ท่านจะมรณภาพถึงแก่กรรม ลูกศิษย์ลูกหาล้อมเตียงทั้งหมด เมื่อลมหายใจมันอ่อนดูตามเครื่องที่หมอเขาช่วยหายใจ ลมหายใจมันอ่อนลงๆ หมอเขาว่าอีกประมาณ ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมงหลวงพ่อก็จะหมดใจแล้ว ตามธรรมดาที่หมอเขาประมาณ ลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นพระก็ไปล้อมนั่งยืนพนมมือล้อมเตียง ญาติโยมทั้งหลายทั้งปวงก็ล้อมเต็มห้องไอซียูล้นออกมาทางข้างนอกแต่ไม่มีใครสามารถที่ไปหยิบเอาความตายออกจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ไม่มีใครสามารถที่จะต้านทานความตายได้เลย ทุกคนนั้นเงียบกริบแล้วก็ปล่อยให้หลวงพ่อผู้ที่เป็นที่เคารพนั้นค่อยๆ หมดลมหายใจไปทีละนิดๆ เมื่อลมหายใจมันหมดลงไปนิ่งเต็มที่เครื่องมันก็ดังขึ้นมา หมอเขาก็มาบอกว่าหลวงพ่อได้มรณภาพแล้ว ทำไมลูกศิษย์ลูกหาทั้งปวงช่วยไม่ได้ ก็เพราะว่าการที่เราจะต้านทานความตายไม่มี แต่ถ้าเราไม่มีโอกาสมาบวชอย่างนี้ เราไม่มีโอกาสที่จะมาหัดปล่อยวางอย่างนี้ เมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ เราจะปล่อยวางได้อย่างไร
สรรพสัตว์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาล้วนบ่ายหน้าไปสู่ความตาย ความตายนั้นเป็นที่สุดของชีวิตแต่ละภพแต่ละชาติ เราเกิดขึ้นมาเราก็ต้องเข้าสู่แดนประหารคือแดนความตายด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่ เป็นคนเฒ่า คนแก่ คนชรา คนจน คนรวย คนดี คนชั่วต่างๆ ก็ต้องถึงความตายด้วยกันทั้งนั้น พวกเราทั้งหลายต้องรู้จักปล่อยวางเอาไว้ก่อน เหมือนกับที่เราทั้งหลายได้มารวมกันนี้ ถ้าเรามาทุกปีๆ หลวงพ่อกัณหาท่านจัดปฏิบัติธรรมเราก็มาฝึกปล่อยวางทุกปีๆ ในที่สุดเราก็ยิ้มต่อความตาย ทำอย่างไรเราจึงจะยิ้มต่อความตายได้ เราต้องมีความดีสมบูรณ์ เราต้องพอใจ อิ่มใจ แล้วก็เชื่อใจว่าบารมีที่เรากระทำนั้นสมบูรณ์แล้ว ศีลของเราบริสุทธิ์ดีแล้ว ทานของเราบำเพ็ญมาดีแล้ว สมาธิของเราบำเพ็ญดีแล้ว มรรคผลนิพพานเราก็ได้กระทำมาสมควรแล้วดีแล้ว ถ้าในลักษณะอย่างนี้ เวลาเราเจ็บเราป่วยเราก็ยิ้ม ไม่วิตกกังวล เพราะอะไร เพราะบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่อจิตของเราจะจุติเรียกว่า ปุริมจิต จิตของเราที่จะจุติ อาสันนวิถีจิตมันเกิดขึ้นมา เรียกว่าจิตที่ใกล้ตายเกิดขึ้นมา ขณะที่จิตของเราขณะที่ใกล้ตายเกิดขึ้นมานั้น จิตของเราก็จะหานิมิตจับจนกว่าจิตของเราจะออกไปจากร่างของเราไปเกิดในภพอื่นๆ เรียกว่าอาสันนวิถีจิตมันจะเกิดขึ้นมาเรียกว่าจิตใกล้ตาย วิถีจิตที่ใกล้ตายมันจะปรากฏขึ้นมาแล้วมันจะหาการยึดมั่นถือมั่นว่าจะยึดเอาอะไร เรียกว่านิมิตมันจะเกิดขึ้นมา ท่านกล่าวว่ากรรมมันจะเกิดขึ้นมา กรรมในที่นี้ท่านหมายถึง ความคิดของเราที่เคยมาทำบุญทำทาน เราก็จะคิดถึงขันข้าวของเราที่เคยใส่บาตร เราอาจจะคิดถึงเวลาเราสร้างโบสถ์สร้างศาลาต่างๆ นี้กรรมดีๆ จึงจะเกิดขึ้นมา นี้เราจะคิดเห็นพระสงฆ์เห็นสามเณรเดินบิณฑบาต เวลาเราไปทำบุญทำทาน เวลาเราไหว้พระทำวัตรสวดมนต์ จะเห็น ได้ยิน คิดถึงการที่เราได้ไหว้พระทำวัตรสวดมนต์กรรมตัวนี้มันเกิดขึ้นมา ถ้าจิตของเราไปยึดปุ๊ป ตายไปแล้วเราก็ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ด้วยอำนาจของกรรมดี กรรมนี้ก็จะเป็นชนกกรรมพาเราไปเกิด นี้มันเป็นอย่างนั้นนะ แต่ถ้าเราประมาท เราคิดถึงตอนที่เราเอามีดสับคอไก่ฟับเข้าไป เหมือนกับเราเอามีดไปตัดคอปลาฟับเข้าไป คิดถึงตอนเราด่าลูก ด่าหลาน คิดถึงลูกของเราเถียงพ่อเถียงแม่อะไรทำนองนี้ หรือว่าคิดถึงสิ่งที่ไม่ดีที่เรากระทำชู้สู่สม ทำบาป ทำกรรมต่างๆ กินเหล้าเมายาสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาจิตของเราไปยึดปุ๊ป ตายไปแล้วเราก็ไปสู่อบายภูมิไม่เป็นอื่น จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา จิตเศร้าหมองแล้ว ทุคคติเป็นอันไป เป็นอันหวังได้
เพราะฉะนั้นเราจึงมาหัดปล่อยวาง แต่ถ้าผู้ใดทำบุญมากไปกว่านั้น เมื่ออาสันนวิถีจิตมันเกิดขึ้นมาฟับ ใกล้จะตายลงไปแล้วเรียกว่าลมหายใจมันใกล้จะขาดแล้วรวยรินแล้วมันจะเกิดนิมิตขึ้นมา ถ้าผู้ใดทำบุญมาก มีบุญเข้มข้นกว่ามันก็จะเกิดนิมิตขึ้นมา อาจจะเห็นพระธาตุพนมองค์พระปฐมเจดีย์ นิมิตในนี้เหมือนกับเรานั่งไปมันเห็นนิมิตนั้นแหละ แล้วก็เห็นพระภิกษุสงฆ์สามเณรทั้งหลายทั้งปวงมาปรากฏในนิมิตของเราจิตของเราก็ไปยึดปุ๊บ เมื่อยึดแล้วเราก็ไปสู่สุคติโลกสวรรค์
แต่ถ้าผู้ใดทำบาปมากไปกว่านั้นอีกมันก็จะเกิดนิมิตเหมือนกัน แต่จะเป็นนิมิตทางบาป อาจจะเห็นคล้ายๆ กับเห็นตมเห็นโคลน เห็นศาสตราอาวุธต่างๆ หรืออาจจะเห็นนายนิรยบาลอะไรทำนองนี้ ตายไปแล้วก็ไปเกิดในอบายภูมิไปเกิดในนรกอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ถ้าผู้ใดทำบุญเข้มข้นไปกว่านั้นอีก มีบุญอันเข้มข้น มีบุญอันมากไปกว่านั้นอีก เวลาจะตาย อาสันนวิถีจิตเกิดขึ้นมาแล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดคตินิมิตขึ้นมา เราก็จะเห็นวิมานของเทวดา เห็นเครื่องทรงของเทวดา เห็นสถานที่ที่เราจะไปเกิด เราก็จะไปเกิดในสถานที่นั้นทันทีเลย สถานที่เราจะเกิดมันปรากฏขึ้นมาเพราะอะไร เพราะบุญมากเหมือนกับนางวิสาขา เหมือนกับธรรมิกอุบาสก เหมือนกับอนาถบิณฑิกเศรษฐีก่อนที่จะตายไปสิ่งเหล่านั้นมันก็เกิดขึ้นมาปรากฏขึ้นมาก็ไปยึดเอาในตัวนั้นแล้วก็ไปเกิดในสถานที่นั้นๆ อันนี้เป็นลักษณะของคตินิมิต ถ้าผู้ใดมีบาปมากคตินิมิตมันก็จะปรากฏเห็นเปลวเพลิงนรกนั้นปรากฏขึ้นมาเหมือนนายจุนทสูกริกตายไปแล้ว ก่อนที่จะตายเปลวเพลิงมันก็ปรากฏขึ้นมาแต่ก่อนที่จะตายนั้นบาปกรรมมันต้องให้ผลเสียก่อน
ท่านกล่าวว่านายจุนทสูกริกนั้นไปซื้อหมูมีเกวียนน้อย ไปซื้อหมูจากชาวบ้านตัวเล็กๆ ราคาถูกๆ มา เมื่อซื้อลูกหมูตัวเล็กๆ ถูกๆ มาแล้วก็มาล้อมคอกหลังบ้านไว้ ก็เลี้ยงหมูเอาพวกเศษอาหารให้มันกิน เมื่อมันตัวใหญ่ขึ้นมาพอสมควรแล้วก็จับมันมัดไว้ แล้วก็เอาน้ำร้อนมากรอกลงไปในปากของมัน น้ำร้อนๆ เดือดๆ กรอกลงไป เมื่อน้ำร้อนลงไปมันก็ขี้ออกมา ขี้ออกเยี่ยวออก ตราบใดที่ขี้มันยังผุดอยู่เยี่ยวมันยังผุดอยู่ก็ต้องกรอกลงไปอีก คิดดูสิว่ามันจะทรมานขนาดไหน เท่านั้นยังไม่พอหลังจากนั้นก็เอาฟางมาจุดมาลนขนมันทั้งๆ ที่มันยังไม่ตาย น้ำร้อนกรอกแล้วไม่พอ เอาไฟมาลนขนอีก คิดดูสิเราเอาไฟมาลนขนเรา เราจะร้อนขนาดไหน ลนขนแล้วก็ยังไม่พอเนื้อมันยังไม่นุ่ม เนื้อมันยังไม่นวล เอาค้อนมาทุบตามตัว ทุบๆๆๆ จนเนื้อมันนวล เมื่อเนื้อมันนวลแล้วทำอย่างไร ก็เอากะละมังมาล็อคขาล็อคคอให้ดีเอามีดคมๆ มาเชือดคอมันก็ดิ้นพลั่กๆๆ เลือดมันก็ไหลออกแล้วก็ค่อยๆ เฉือนเนื้อนั้นไปขายเลี้ยงชีวิตของตนเองอยู่อย่างนั้น ๕๕ ปี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวันเดินบิณฑบาตผ่านบ้านทุกวันๆ น้ำส้มผักก็ไม่เคยถวาย ข้าวต้มสักกระบวย ข้าวสวยสักทัพพีก็ไม่เคยถวาย ดอกไม้แม้แต่ช่อเดียว ดอกเดียวก็ไม่เคยถวาย พนมมือไหว้ก็ยังไม่เคยพนมมือไหว้ ความศรัทธาไม่เกิดขึ้นแก่เขา เวลาเขาจะตายนั้นแหละกรรมมันเสมอด้วยวิบากก็ทำให้นายจุนทสูกริกนั้นต้องร้องเหมือนกับหมูที่ปาดคอนั้นแหละ เหมือนกับหมูที่ถูกน้ำร้อนกรอกนั้นแหละ จนภิกษุทั้งหลายทั้งปวงเข้าไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บ้านของนายจุนทสูกริกนี้ทำงานอาวาหมงคลหรือวิวาหมงคลอะไรหนอ จึงฆ่าหมูอยู่ ๗ วัน ๗ คืน เลี้ยงคน”
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นั้นไม่ใช่งานอาวาหมงคลหรือวิวาหมงคล แต่มันเป็นการให้ผลอันเสมอด้วยวิบากกรรม” พระองค์ก็ทรงตรัสว่า “นายจุนทสูกริกนี้ฆ่าหมูก็เลยเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้วิบากนั้น มันเหมือนกับตนเองที่ได้ฆ่า ต้องร้อนรุ่มกลุ้มใจ คลานทั้งขี้ทั้งเยี่ยวราดในห้องนั้นแหละ” คลานไปร้องเสียงเหมือนกับหมูไม่ต่างอะไรกับหมู ลูกหลานเขาก็กลัว เขาก็อาย เขาก็กักจับไว้ จับไว้ไม่อยู่เขาก็ขังไว้ในห้องล็อคไว้ ขังไว้ในห้องไม่ได้ เพราะว่าวิบากของกรรมนั้นให้ผล ไม่มีใครสามารถที่จะต้านทานได้ ก็พยายามปีนป่ายพยายามออกมาในที่สุดท่านกล่าวว่า ก่อนที่นายจุนสูกริกจะถึงซึ่งความตายนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า “ไฟอเวจีมหานรกนั้นปรากฏขึ้นแก่นายจุนทสูกริก นายจุนทสูกริกก็ยึดเอาไฟนั้นแหละ ตายลงไปก็ไปเกิดในอเวจีมหานรก” แล้วพระองค์ก็ทรงตรัสว่า “ไฟของอเวจีมหานรกนั้น บุคคลผู้ยืนห่างร้อยโยชน์ ” โยชน์หนึ่ง ๑๖ กิโลเมตร ๑๐๐ โยชน์ก็ ๑,๖๐๐ กิโลเมตร ถ้าบุคคลผู้ยืนห่างไฟอเวจีมหานรกนั้น ๑,๖๐๐ กิโลเมตร หันแวบไปดูจักขุคือดวงตาของบุคคลนั้นก็จะมืดดับทันที เหมือนกับเราดับตะเกียง เหมือนกับเราดับไฟนี้มันจะมืดบอดทันที เพราะอะไร เพราะว่าแสงของอเวจีมหานรกนั้นร้ายแรงมาก เอาก้อนหินเท่ากับภูเขาใหญ่ๆ ทิ้งลงไปจะไม่มีเศษ จะไม่มีฝุ่น ก้อนภูเขานั้นก็จะหายแวบไป เพราะอะไร เพราะว่าไฟมันร้อนแรงมาก ไม่ต้องกล่าวว่าเอามนุษย์ทิ้งลงไปแล้วมันจะเหลือซากมันก็ต้องไหม้เป็นจุนๆ ไป
เพราะฉะนั้นวิบากแห่งกรรมที่ทำนี้ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความเดือดร้อนขึ้นมา เราจึงหัดปล่อยวางเพื่อที่เวลาเราใกล้ตาย เราจะไม่ได้ห่วงลูกห่วงหลาน เราจะได้ไม่ห่วงทรัพย์สินเงินทอง ก็ขอให้ญาติโยมทั้งหลายได้คิดว่าเรามาในที่นี้เรามาสันโดษ เพื่อที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะให้เรานั้นไปเกิดในสุคติภูมิอันดี อันเลิศ และประเสริฐกว่านี้ไปอีก
แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า อานิสงส์ที่ยิ่งไปกว่าความสันโดษของการบวช คืออะไร อานิสงส์ที่ยิ่งไปกว่านี้อีกก็คือเราได้เจริญสมาธิ บุคคลใดที่เกิดขึ้นมาพบพระพุทธศาสนา แล้วได้บวชในพุทธศาสนา แต่ไม่มีโอกาสได้เจริญสมาธิ ก็ถือว่าเป็นผู้อาภัพ อาภัพในคุณธรรม อาภัพในเหตุที่ให้เกิดสมาธิ ทำไมจึงกล่าวอย่างนั้น เพราะว่าสมาธินั้นถือว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วสมาธินั้นเป็นของละเอียดอ่อน มีอานิสงส์มากกว่าการให้ทาน ให้ทาน ๑๐๐ ครั้ง ไม่เท่ากับรักษาศีลครั้งเดียว รักษาศีล ๑๐๐ ครั้ง ไม่เท่ากับภาวนาชั่วรัดนิ้วมือเดียว นี้มันเป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นการภาวนานั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ ท่านกล่าวไว้ว่า บุคคลผู้ให้ทาน ๑๐๐ ครั้ง ไม่เท่ากับการรักษาศีลครั้งเดียว รักษาศีล ๑๐๐ ครั้ง ไม่เท่ากับการเจริญสมาธิที่ยังปฐมฌานให้เกิดขึ้นมาได้ เพราะอะไร เพราะว่าบุคคลที่เจริญสมาธิทำจิตทำใจให้สงบเป็นฌาน เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ถ้าผู้ใดสามารถทำฌานให้เกิดขึ้นมาในจิตในใจได้ บุคคลนั้นก็จะเข้าใจในเรื่องความสงบ เมื่อเข้าใจในเรื่องความสงบแล้วมันก็จะเกิดปีติ เกิดความอิ่มใจขึ้นมา ความร้อนรุ่มกลุ้มใจต่างๆ มันก็หายไปความสุขมันก็เกิดขึ้นมา เมื่อความสุขมันเกิดขึ้นมา ศรัทธา ความเชื่อ ความเลื่อมใส มันก็เกิดขึ้นมา เมื่อศรัทธา ความเชื่อ ความเลื่อมใสมันก็เกิดขึ้นมา การที่เราจะช่วยค้ำจุนพระพุทธศาสนานั้นมันก็เป็นสิ่งที่ง่าย เรียกว่า ถวายอกไว้ในพุทธศาสนาได้ สาสเน อุรํ ทตฺวา บวชในพระพุทธศาสนาตลอดชีวิตได้ นี้ถ้าเราสามารถที่จะยังสมาธิ สมาบัติให้เกิดขึ้นมา เวลาบุคคลผู้มาเจริญสมาธิถ้าจิตใจสงบ ไม่ถึงปฐมฌาน อยู่ในแค่อุปจารสมาธิ เวลาเรานั่งไป พองหนอ ยุบหนอ ไป พุทโธๆ ไป ตัวของเรามันเบาเข้าๆๆ ลมหายใจของเรามันละเอียดเข้าๆๆ ตัวของเรามันตรง ร่างกายของเรามันเย็นเข้าๆ นี้เรียกว่าเป็นอุปจารสมาธิแล้ว แต่ถ้าจิตใจของเรามันนิ่งๆๆ เราไม่คิดแล้ว ขณะที่เราอยู่ในอุปจารสมาธิ บางครั้งมันก็เกิดนิมิตฟับขึ้นมา
บางคนที่อาตมาไปสอนกัมมัฏฐานนั่งสมาธิอยู่ดีๆ ร้องไห้ขึ้นมา ก็ถามว่า เอ๊ะ ! คุณโยมทำไมร้องไห้ มีอะไรก็พูดให้อาตมาฟังได้” เขาก็พูดให้ฟังว่า “ตั้งแต่เขาอยู่กับแม่นั้นแหละเขาก็ไม่ค่อยเชื่อฟังพ่อแม่ พ่อแม่พูดอะไรก็ไม่ค่อยฟัง แต่อยู่มาวันหนึ่งพ่อแม่ก็ตายไป เมื่อพ่อแม่ตายไปแล้วประมาณ ๑๐ กว่าปีไม่เคยฝันเห็นแม่เลย แล้วก็ไม่เคยทำบุญทำทานให้แก่แม่เลย ลืมไปเลย แต่พอมานั่งภาวนา พองหนอ ยุบหนอไป จิตใจมันเบาเข้าๆๆ มือมันแน่นเข้าๆ มันเห็นแม่ของตนเอง เห็นแม่ตนเองมาขอข้าวกิน คิดดูสิแม่เลี้ยงมาตลอดนั้น โตจนใหญ่จนได้ลูกได้ผัวแล้วไม่เคยเชื่อฟังถ้อยคำแม่ แม่ตายไปก็ยังไม่เคยทำบุญทำทานจนมานั่งภาวนาแล้วก็นิมิตเห็นแม่มาขอข้าวกิน บอกว่าให้ลูกทำบุญทำทานแล้วก็อุทิศให้แม่ แม่จะได้กินข้าว คิดดูสิ แล้วก็ร้องไห้ขึ้นมา แล้วก็นิมนต์พระไปทำบุญทำทาน เรียกว่าจิตใจก็เข้าวัดตั้งแต่วันนั้นมา เรียกว่าบุคคลที่มีทิฏฐินี้เวลาครูบาอาจารย์เทศน์เรื่องบาปเรื่องบุญ ไม่เชื่อ พูดนรกสวรรค์ก็ไม่เชื่อ แต่เมื่อภาวนานี้มันเห็นเองไม่มีใครบอกมานะทิฏฐิมันก็ลด ผลสุดท้ายก็ร้องห่มร้องไห้ขึ้นมาทำบุญทำทาน อันนี้ก็ยังดี ต้นคดแล้วมันยังกลางตรงอยู่ ปลายยังตรงอยู่ แต่บางคนต้นคด กลางก็คด ปลายก็คดอยู่ ไม่รู้จะตรงตอนไหนนี้ในลักษณะของคนที่มาภาวนา
บางคนมาภาวนา ภาวนาไปภาวนามา “พองหนอ” “ยุบหนอ” ไป ขณะที่อาการพองพองขึ้นปุ๊ป พอท้องยุบลง พอมันพองวืบขึ้นไปมันสงบฟับไปเลย พอสงบ วืบขึ้นไปมันก็เป็นภาพ เป็นเทวดา เป็นวิมานทิพย์อะไรต่างๆ แต่ก่อนไม่เคยเชื่อเรื่องมนุษย์ เรื่องสวรรค์ เป็นพระก็เอานรกมาขู่ เอาสวรรค์มาล่ออะไรต่างๆ แต่เมื่อเห็นในลักษณะอย่างนี้แล้วก็เกิดความเชื่อ เกิดความเลื่อมใสก็บวชอยู่ตั้งหลายพรรษาก็มี แล้วก็เอาพ่อเอาแม่เอาพี่เอาน้องมาประพฤติปฏิบัติธรรม จนพ่อแม่พี่น้องทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิได้ทำบุญทำทานอย่างนี้ก็มี บางคนมานั่งภาวนา “พองหนอ” “ยุบหนอ” ไปดีๆ เห็นเปรตก็มี อย่าคิดว่าเปรตมันไม่มีนะ เปรตมันก็มีอยู่เต็มวัดเต็มวาเต็มบ้านของเรานี้แหละ มันไม่ไปไหนหรอกมันก็อยู่กับพวกเรานี้แหละ แต่ว่าตาเนื้อมันไม่สามารถที่จะมองเห็นได้ ต้องจิตใจอยู่ในระดับอุปจารสมาธิ
เพราะฉะนั้นเราจะรู้บุญรู้บาป มีหิริ ความละอาย มีโอตตัปปะ ความเกรงกลัว เราก็ต้องมาภาวนา ภาวนาก็ต้องทำใจของเราให้สงบเป็นอุปจารสมาธิเสียก่อน บางคนเกิดขึ้นมาจนเป็นคนเฒ่าคนแก่ เป็นพ่อใหญ่แม่ใหญ่ บางครั้งลูกหลานถามว่า “แม่ใหญ่สวรรค์มีจริงไหม นรกมีจริงไหม” บางครั้งก็พูดไม่ได้ ครูบาอาจารย์ท่านว่า “มีอยู่” พระท่านว่ามีอยู่ ในลักษณะอย่างนี้ บางคนก็พูดไปในลักษณะสงสัยอยู่ อายุขนาดนี้ยังมีความสงสัยอยู่เรื่องบุญเรื่องบาป แล้วเราจะทำบุญด้วยความบริสุทธิ์ใจได้อย่างไร เราจะรักษาศีลด้วยความบริสุทธิ์ใจได้อย่างไร เราจะภาวนาสละบ้านสละเรือน สละการทำงานมาทำบุญ มาปฏิบัติจริงจังได้อย่างไร เพราะฉะนั้นการภาวนาสมาธิจึงเป็นสิ่งที่สำคัญถ้าผู้ใดสมาธิดีก็เกิดปีติขึ้นมา บางคนก็เกิดศรัทธาขึ้นมา บวชเป็นผ้าขาวอยู่ ๗ วัน ๘ วัน เข้าปริวาสกรรม บวชเป็นผ้าขาวอยู่ ๙ วัน ร้องไห้ทั้ง ๙ วันก็มี
อาตมาไปสอนกัมมัฏฐานสมัยที่พรรษาน้อยๆ ไปสอนกัมมัฏฐานไปคุมอุบาสก อุบาสกเป็นคนหัวแข็งไม่ค่อยเชื่อ ก็ให้อาจารย์ไปคุม เมื่ออาจารย์ไปคุม อาจารย์ก็พาเดินพานั่งบังเอิญว่ามีโยมคนหนึ่งขานี้เป็นหนองไหลเปื่อยเน่า น่าเกลียดมากแล้วก็มีแมลงวันตอม เวลาเดินก็เอาผ้ามาคลุม เอาผ้าเก่าๆ มามัดไว้แล้วก็คลุมเดินจงกรม อาจารย์ก็สงสารก็ไปหาไม้เท้ามาให้คุณโยมเดินตรงนี้นะ ขามันก็เป็นส่วนขา ปากมันก็เป็นส่วนปาก เจ็บมันก็เป็นส่วนเจ็บ ให้โยมตั้งใจเดินจงกรมนะ อย่าไปคิดอะไรมาก เดินจงกรมก็ว่า “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” ไป คนเขาก็ไม่อยากเดินใกล้ เพราะว่าเขากลัว รังเกียจก็ว่าได้ อาจารย์ก็ให้เดินห่างจากคนที่กำลังเดินอยู่ ประมาณ ๑ วากว่าๆ เพื่อที่จะไม่ให้กลิ่นมันรบกวนบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม ก็ให้เดินจงกรม ก็คล้ายๆ กับว่าเขาน้อยใจ ไม่มีคนสนใจ อาจารย์ก็ไปจับแขนเดินจงกรมเกิดปีติขึ้นมา อาจารย์เอาใจใส่ก็ตั้งใจเดินจงกรม พอตั้งใจเดินจงกรมแล้ว “ขวาย่างหนอ” ไป เข้าสมาธิท่ายืนจงกรม เข้าสมาธิอยู่อย่างนั้นเกือบ ๒ ชั่วโมง ยืนไม่ล้ม เข้าสมาธิอยู่อย่างนั้น ก็เลยเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คนที่รังเกียจเขามาคุยมาพูด จากหน้าตาที่เป็นคล้ำๆ ดำๆ มีความวิตกกังวลต่างๆ ก็ดูสดใสขึ้นมา เปล่งปลั่งขึ้นมา เหมือนกับว่าได้รับการยอมรับจากสังคม หลังจากนั้นมาเขาก็ตั้งใจ เมื่อสมาธิดีขาที่เปื่อยก็หาย หายแล้วก็บวช บวชแล้วก็บวชจนตายในผ้าเหลือง อันนี้เรียกว่าต้นคดแต่ว่าปลายตรง ถ้าไม่มีสมาธิบางครั้งก็อาจสึกขาลาเพศไป บางครั้งคนโน้นพูด คนนี้พูด บางครั้งก็อาจจะน้อยใจหนีไปเลย นี้ในลักษณะอย่างนั้น เพราะฉะนั้นถ้าผู้ใดมีสมาธิตั้งมั่นก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดศรัทธา เกิดความเลื่อมใสมากมาย โดยเฉพาะความสุขเกิดปีติซึ่งเกิดขึ้นจากสมาธิ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า เมื่อมีสมาธิแล้วนั้นให้น้อมใจไปเพื่อให้เกิดปัญญา มีสมาธิแล้วยังไม่เกิดปัญญานะ ต้องน้อมใจไปเพื่อให้เกิดปัญญา น้อมใจไปเพื่อให้เกิดปัญญาอย่างไร คือเราต้องพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ แล้วก็ความเสื่อมไปของสังขาร ของร่างกายของเราให้จงได้ ให้คิดว่าแต่ก่อนร่างกายของเรามันก็เป็นหนุ่ม ไม่แก่อย่างนี้ ผมไม่ขาวอย่างนี้ ตาไม่ฝ้าไม่ฟาง หูไม่หนวกอย่างนี้ ผิวหนังไม่ตกกระเหี่ยวย่นอย่างนี้ แต่ก่อนโน้นเป็นสาวมีผิวพรรณเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล ผมดำสนิท มีตาแวววาวต่างๆ มีเสียงไพเราะ เมื่อเราพิจารณาถึงความเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วก็พิจารณาย้อนกลับไปอีกว่า เอ๊ะ แต่ก่อนนั้นเราเป็นเด็กเราวิ่งเล่นได้ แต่เมื่อเราพิจารณาอีก แต่ก่อนโน้นเราเป็นเด็กเล็กทารก เราพิจารณาย้อนไปอีก แต่ก่อนนั้นเราอยู่ในท้องของมารดา นี้ในลักษณะอย่างนั้นแต่เมื่ออีกอย่างหนึ่งมันก็มาเป็นเด็กเล็ก จากเด็กเล็กมันก็มาเป็นเด็กโต จากเด็กโตก็มาเป็นวัยรุ่น จากวัยรุ่นก็มาเป็นคนแก่ จากคนแก่ก็มาเป็นคนชราคนเฒ่า จากนั้นก็ทุพพลภาพ จะลุกก็โอย จะนั่งก็โอย หลังจากนั้นจะเป็นอะไร หลังจากคนแก่เต็มที่แล้วจะเป็นอะไร ก็เป็นดิน ดินก็ต้องเป็นดิน น้ำก็ไปเป็นน้ำ ไฟก็เป็นไฟ ลมก็เป็นลม เอ๊ะ คนทั้งหลายทั้งปวงก็เกิดขึ้นมา เกิดแล้วต้องแก่ แก่แล้วต้องเจ็บ เจ็บแล้วต้องตาย เป็นอย่างนี้หมดโลกหรือเปล่าหนอ มันเป็นอย่างนี้หมดโลก แม้เราก็เป็น ลูกเราก็เป็น สามีของเราก็เป็น อะไรๆ ก็เป็นหมด
เพราะฉะนั้นเมื่อเราพิจารณาถึงความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของรูปของนามนั้น ท่านกล่าวว่า เรามีชีวิตอยู่ในวันเดียวนี้ประเสริฐกว่าบุคคลผู้เกิดขึ้นมาแล้วไม่เคยเห็นความเกิดดับของรูปของนามเป็นอยู่ตั้งร้อยปี ดังที่พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า
โย จ วสฺสสตํ ชีเว อปสฺสํ อุทยพฺพยํ
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย ปสฺสโต อุทยพฺพยํ.
บุคคลผู้เห็นความเกิดดับ มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว ประเสริฐกว่าบุคคลผู้ไม่เห็นความเกิดดับมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี
เพราะบุคคลผู้เห็นความเกิดดับนั้นแหละ เวลาเดินจงกรม “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” หรือ “พุทโธ” เห็นความเกิดดับตัดภพตัดชาติได้ ๗ ชาติ นี่เราตัดภพตัดชาติ “ขวาย่างหนอ” ตัดภพตัดชาติได้ ๗ ชาติ “ซ้ายย่างหนอ” ตัดภพตัดชาติได้ ๗ ชาติ คิดดูสิว่าวันหนึ่งเราจะเดินกี่ครั้ง กี่ก้าว เราจะตัดภพตัดชาติได้กี่ชาติ เหมือนกับภพชาติของเรานี้มันพังไปนับไม่ถ้วน ที่เราจะเกิดเป็นร้อยๆ ล้านๆ โกฏิชาติ มันก็ลดลงไปๆๆ
เพราะฉะนั้นเมื่อเราพิจารณาเห็นความเกิดดับนี้แหละ จึงทำให้ภพชาติของเราน้อยลงไปๆ เมื่อภพชาติของเรามันน้อยลงไปเต็มที่ปัญญาของเรามันก็จะเกิดขึ้นมาก ใจของเราจะใสขึ้นมาก ปัญญาของเราก็จะบริบูรณ์มากขึ้นๆ เราก็จะมีความเข้าใจในธรรมมากขึ้นในที่สุดก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ได้ดวงตาเห็นธรรม ผู้ใดสำเร็จเป็นพระโสดาบันตายไปแล้วก็จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน จะไม่ไปเกิดอีก เกิดอีกอย่างมากก็ ๗ ชาติแล้วก็จะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์หมดกิเลสใน ๗ ชาติข้างหน้านี้แน่นอน นี่ถ้าไม่ประมาท อันนี้ถ้าเป็นพระโสดาบันอย่างหยาบ เป็นพระโสดาบันอย่างกลาง คือ โกลังโกละโสดาบัน ก็จะเกิดอยู่ ๒-๖ ชาติ ประมาทขนาดไหนๆ ก็ตามชาติสุดท้ายชาติที่ ๖ ก็ต้องได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แน่นอน พ้นจากความทุกข์ พ้นจากความแก่ พ้นจากความเจ็บ ความตาย แน่นอน แต่ถ้าเป็นพระโสดาบันประเภทที่มีบารมีมากมีความเพียรมาก เป็นเอกพีชีโสดาบันเกิดอีกชาติเดียว ตายจากมนุษย์ไปเกิดเป็นเทวดา อาจจะได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าองค์ถัดมา ถ้าเราปฏิบัติธรรมเป็นเอกพีชีนี่ เราตายจากมนุษย์ไปเกิดเป็นเทวดาจะได้บรรลุมรรคผลนิพพานในเทวดานี่ก็เป็นได้ เกิดอีกชาติเดียว เพราะว่าท่านกล่าวว่า เมื่อพระพุทธศาสนาของเราล่วงเลยไป องค์พุทธเจ้าต่อมานี้คือพระศรีอาริยเมตไตรจะมาอุบัติ หรือว่าขณะที่พระศรีอาริยเมตไตรยังไม่มาอุบัติ แต่เมื่อเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วเราได้บรรลุคุณธรรม หรือเราไม่ได้บรรลุคุณธรรม อย่างเช่นญาติโยมทั้งหลายไม่มีโอกาสได้บรรลุคุณธรรมเพราะว่าปฏิบัติน้อย หรือว่าบารมียังไม่แก่กล้า มันก็จะเป็นบารมี เราอาจจะบรรลุคุณธรรมตอนที่เราใกล้ตายก็ได้ ตอนใจมันจะขาดนั้นแหละ เราก็บริกรรม “พองหนอ” “ยุบหนอ” หรือ “พุทโธๆๆ” ไป ถ้าบารมีเราแก่กล้าเราอาจจะจับทันปัจจุบันธรรม อาจะได้บรรลุมรรคผลนิพพานเดี๋ยวนั้น แต่ถ้าเราไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพานในขณะที่เราใกล้ตาย แต่เรามีอุปนิสัยในการปฏิบัติธรรมเราก็ไปเกิดในสวรรค์ ท่านกล่าวว่าเราอาจจะไปเกิดในสวรรค์ชั้นใดชั้นหนึ่ง ชั้นจาตุม ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรตี หรือชั้น ปรนิมมิตวสวัตตี ชั้นใดชั้นหนึ่ง ขณะที่เราไปเกิดในสวรรค์ชั้นใดชั้นหนึ่ง มีพระเถระผู้มีฤทธิ์มีเดช อย่างเช่นพระมาลัย พระโมคคัลลานะ ขึ้นไปโปรดบนสวรรค์ เมื่อขึ้นไปโปรดบนสวรรค์ไปแสดงธรรมให้เราฟัง เราก็อาจจะบรรลุธรรมบนสวรรค์ก็ได้ แต่ถ้าเราไม่ได้บรรลุธรรมบนสวรรค์ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นมีบุญบารมีสถิตย์มั่นอยู่บนสวรรค์ ท่านกล่าวไว้ว่าอายุของพระศาสนาของเรานี้จะครบ ๕,๐๐๐ ปี เหลืออีก ๗ วัน ท่านกล่าวไว้ว่าพระบรมสารีริกธาตุทั้งหลายทั้งปวงที่อยู่ในสถานที่ต่างๆ นั้นก็จะมารวมกันที่ต้นศรีมหาโพธิ์ที่ประเทศอินเดีย พระบรมสารีริกธาตุที่อยู่นาคภิภพก็ตาม ที่อยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่อยู่ในพระเกตุแก้วจุฬามณีก็ดี ที่อยู่บนพรหมโลก ทุตเจดีย์ก็ดีทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็จะมารวมกันแล้วก็เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกประการ แล้วก็จะเทศน์โปรดคนทั้งหลายทั้งปวงตลอด ๗ วัน ๗ คืน ถ้าเราไปเกิดอยู่บนสวรรค์เราก็อาจจะมาฟังเทศน์ฟังธรรมได้ เหมือนกับเราอ่านในพระไตรปิฎกนั้นแหละว่ามีเทวดามาฟังธรรมของพระพุทธเจ้าบรรลุคุณธรรมอย่างนั้นๆ ถ้าเราไปเกิดในสวรรค์ในช่วงนี้ ถ้าเราไม่ประมาทตอนที่เหลืออีก ๗ วันนั้นเมื่อพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมดมารวมกันเป็นพระพุทธเจ้าแสดงธรรม เราก็จะมาสดับรับฟังได้ เราก็จะมีโอกาสได้บรรลุมรรคผลนิพพานในสมัยนั้น แต่ถ้าเราไม่มีการบรรลุมรรคผลนิพพานในสมัยนั้นต่อเมื่อพระพุทธศาสนาของเราหมดไป พระศรีอาริยเมตไตรมาปรากฏ มาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เราก็จะได้ฟังธรรม บรรลุธรรมต่อหน้าพระศรีอาริยเมตไตร แต่ถ้าเราไม่ได้ฟังธรรมบรรลุธรรมต่อหน้าพระศรีอาริยเมตไตร เราไปเกิดในสมัยที่เป็นสุญญกัปคือว่างจากพระพุทธเจ้า เป็นสุญญกัป คือ ไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ มีแต่พระปัจเจกพุทธเจ้า มีแต่พระเจ้าจักรพรรดิมาอุบัติตรัสรู้ เราก็จะได้สำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า อันนี้อานิสงส์ของการปฏิบัติธรรมของการบวชมันเป็นอย่างนั้น
วันนี้อาตมภาพกล่าวธรรมะมาก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.