ประโยชน์ของการฟังธรรม
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปนานแล้วพระองค์นั้น พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ด้วยเศียรเกล้า ขอโอกาสคณะสงฆ์ทั้งหลาย ขอเจริญพรญาติโยมทั้งหลายผู้ที่ไฝ่ในการประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง
วันนี้กระผมก็มีโอกาสได้มาบรรยายประกอบการประพฤติปฏิบัติธรรมของคณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายอีกวาระหนึ่ง ซึ่งการฟังธรรมนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายได้นั่งภาวนาฟัง เพราะว่าการฟังธรรมนั้นเราใช้เวลาฟังนาน บางครั้งก็ ๓๐ นาที บางครั้งก็ ๔๕ นาที บางครั้งก็ ๑ ชั่วโมง บางครั้งก็ชั่วโมงกว่าๆ เพราะฉะนั้นก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ได้นั่งภาวนาฟัง นั่งขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง ญาติโยมทั้งหลายก็นั่งในท่าเทพธิดานั่งมือขวาทับมือซ้ายตั้งกายให้ตรงดำรงสติให้มั่น เพื่อที่จะกอบโกยเอาบุญเอากุศลจากการฟังธรรม เพราะว่าการฟังธรรมนี้เกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัตินั้นถือว่ามีมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงผู้ที่เป็นวิปัสสนาจารย์ เวลาจะสอนคณะลูกศิษย์ลูกหาก็ดี สอนญาติสอนโยมก็ดีก็ต้องมีการบรรยายประกอบการประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าวันไหนไม่มีการบรรยายธรรมะประกอบการประพฤติปฏิบัติธรรมแล้ว คล้ายๆ ว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นมันไม่กระปรี้กระเปร่า ไม่กระฉับกระเฉง จืดชืด ไม่มีรสชาติ เพราะอะไร เพราะว่าขาดการกระตุ้นแห่งจิตใจ ขาดการไตร่ตรองพระธรรม จิตใจของเราก็ไม่เกิดความอุตสาหะ ไม่เกิดความพยายามขึ้นมา
เพราะฉะนั้นการบรรยายธรรมก็ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าเราฟังด้วยดีเราก็จะเกิดปัญญา ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ ฟังด้วยดีย่อมเกิดปัญญา เพราะว่าการฟังธรรมนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่หาได้ยาก ดังที่พระองค์ทรงตรัสว่า กิจฺฉํ สทฺธมฺมสฺสวนํ การฟังพระสัทธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก เป็นสิ่งที่หาได้ยาก เพราะฉะนั้นการที่เรามาฟังธรรมในวันนี้ก็ถือว่าได้พบกับสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เกิดขึ้นได้ยาก
ซึ่งวันนี้กระผมก็จะได้น้อมนำเอาธรรมะที่เบาๆ มาประกอบการประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ธรรมะเบาๆ ในวันนี้ก็คือ ธรรมะในเรื่องการฟังธรรม เอาธรรมะในเรื่องการฟังธรรมนั้นมากำหนดให้คณะครูบาอาจารย์กำหนด ได้ยินหนอๆ หรือว่ากำหนด เสียงหนอๆ ตลอดถึงญาติโยมให้ตั้งใจไว้เป็นกลางๆ กำหนดให้จิตใจของเราสงบเป็นสมาธิให้มันได้ เราฟังธรรมะแล้วก็ตั้งจิตตั้งใจให้เป็นกลางๆ กำหนดว่าได้ยินหนอๆ หรือว่าเสียงหนอๆ ตั้งสติไว้ที่หู หรือคณะครูบาอาจารย์ผู้ชำนาญในอาการพองอาการยุบ ก็กำหนดให้ทันอาการพองอาการยุบ คือเรื่องการฟังธรรมนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัส อานิสงส์ของการฟังธรรมนั้นไว้ ๕ ประการ คือ
๑. ย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๒. สิ่งที่ฟังมาแล้วไม่เข้าใจชัด ย่อมเข้าใจชัด
๓. บรรเทาความสงสัยลงได้
๔. ทำความเห็นของผู้ฟังนั้นให้ตรง
๕. จิตใจของผู้ฟังนั้นย่อมผ่องใส
การได้ฟังธรรมนั้นคือการฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟังก็หมายความว่า บุคคลใดที่นับถือพระพุทธศาสนา แต่ไม่เคยศึกษาในด้านพระพุทธศาสนา ไม่เคยเข้าวัดฟังธรรม ไม่เคยศึกษานักธรรมตรีโทเอก ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจพระพุทธศาสนาได้ พระพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาที่ตรัสรู้ด้วยพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นศาสนาที่ลึกซึ้ง เป็นศาสนาที่ละเอียดคัมภีรภาพ ถ้าเราไม่ได้ถูกถ่ายทอดจากภิกษุก็ดี หรือว่าบุคคลผู้รู้ธรรมมาแต่ก่อนก็ดี เราก็ไม่สามารถที่จะหยั่งรู้พระธรรมในพระพุทธศาสนาได้ เพราะฉะนั้นการฟังธรรมนั้นจึงได้พบกับสิ่งที่เรายังไม่เคยฟังมาก่อน
อย่างเช่นทาง ๗ สาย เราไม่เคยรู้ว่า ทาง ๗ สายที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้นั้นมีทางไหนบ้าง เมื่อเรามาฟังพระท่านก็จะแสดงทาง ๗ สาย
ทางที่ ๑ ก็คือทางไปนรก ทางไปนรกนั้นก็คือทางที่บุคคลนั้นเป็นคนชอบโกรธ ยืนก็โกรธ นั่งก็โกรธ นอนก็โกรธ เป็นคนเจ้าหงุดหงิด โมโหโทโส เกิดความโกรธอยู่เป็นประจำในลักษณะอย่างนี้ถ้าเขาตายด้วยอำนาจของความโกรธ ตายไปในขณะนั้นจิตใจก็ย่อมดิ่งลงไปสู่นรก
แต่ถ้าบุคคลใดเป็นผู้ที่มากไปด้วยความโลภ เป็นผู้กอบโกยโกงกินไม่รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อญาติพี่น้อง ไม่รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อบรรพชิต ไม่รู้จักการทำบุญทำทาน ไม่รู้จักการสงเคราะห์เจือจาน ก็เพราะว่าตนเองนั้นมากไปด้วยความโลภ มากไปด้วยความตระหนี่ ไม่สามารถที่จะสละทรัพย์สมบัติของตนนั้นออกไปให้ทานได้ บุคคลประเภทนี้ตายไปด้วยจิตใจที่เต็มไปด้วยความโลภ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลนั้นตายไปแล้วไปเกิดเป็นเปรตบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง อดอยากอยู่ในภูมิของตนเองนั้นสิ้นกาลนาน
หรือว่าบุคคลผู้ที่มากไปด้วยความหลง คือหลงในรูป หลงในเสียง หลงในกลิ่น หลงในรส หลงในการสัมผัสกามารมณ์ ไม่ลืมหูลืมตา ไม่รู้จักการไหว้พระ ทำวัตรสวดมนต์ ไม่รู้จักการทำคุณงามความดี หลงใหลอยู่กับสิ่งเหล่านั้น แสวงหาแต่สิ่งเหล่านั้น ไม่ยอมที่จะพบกับการฟังธรรม ไม่รู้จักการเสียสละต่างๆ บุคคลในประเภทนี้ตายไปแล้วก็ต้องไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นหมูหมาเป็ดไก่ช้างม้าวัวควายหรือ กุ้งหอยปูปลา แล้วแต่บาปกรรมของบุคคลนั้น
แต่ถ้าบุคคลใดอยากจะมาเกิดเป็นมนุษย์อีก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสให้บุคคลนั้นรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในภรรยาสามีของบุคคลอื่น ไม่ประพฤติผิดเป็นกาเมสุมิจฉาจาร ไม่พูดเท็จ พูดเพ้อเจ้อ พูดเหลวไหล พูดส่อเสียด พูดยุยงให้คนแตกร้าวสามัคคีกัน เป็นบุคคลผู้ที่เว้นจากการพูดเท็จ หรือว่าเว้นจากการดื่มสุราเมรัย ถ้าเราตั้งอยู่ในศีล ๕ ก็ถือว่าเราตั้งอยู่ในมนุษย์ภูมิ ภูมิที่เป็นมนุษย์ ร่างกายก็เป็นมนุษย์ จิตใจก็เป็นมนุษย์ เมื่อเราตายด้วยจิตใจที่มั่นในศีลธรรมนี้มาเกิดเป็นมนุษย์อีก หรือว่าเราตั้งอยู่ในกรรมบถ ๑๐ ประการ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ แล้วก็ประกอบไปด้วย อนภิชฌา คือไม่เพ่งอยากได้ของบุคคลอื่นที่เขาไม่ให้มาเป็นของตัวเองไม่พยาบาท คือไม่ปองร้ายบุคคลอื่น มีความเห็นตรงคือ สัมมาทิฏฐิ อันนี้ถ้าเราตั้งอยู่ในกายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ แล้วประกอบด้วยธรรม ๓ ประการที่กล่าวมา ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้มาเกิดเป็นมนุษย์อีก
แต่ถ้าเราอยากไปเกิดเป็นเทวดา ตายแล้วอยากไปเกิดบนสรวงสวรรค์ อยากจะไปเกิดบนชั้นจาตุม ชั้นยามา ชั้นดาวดึงส์ ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี หรือว่า ปรนิมมิตวสวัตตี สวรรค์ชั้นใดชั้นหนึ่ง เราอ่านดูในเรื่องสวรรค์ ว่าสวรรค์ชั้นจาตุม มีท้าวมหาราชทั้ง ๔ เป็นผู้ครอบครอง ชั้นดาวดึงส์ มีท้าวสักกะ ชั้นยามาวดีมีท้าวยามา ชั้นดุสิตก็มีสันดุสิตเทพบุตรเป็นต้น เราก็อ่านดูว่าสวรรค์แต่ละชั้นมีความเพลิดเพลินอย่างไร มีการเล่นดนตรีอย่างไร มีการไปเที่ยวสวนอย่างไร บางคนอ่านแล้วก็เกิดศรัทธา
อย่างอ่านเรื่องสวรรค์ชั้นดุสิตที่พุทธมารดาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ หรือว่าพระบรมโพธิสัตว์ ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ก็ไปเกิดอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิตเป็นที่น่ารื่นรมย์ เราผู้อ่านแล้วก็อยากไปเกิด เพราะว่าอะไร เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมยังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน สมมุติว่าเราอยากไปเกิดบนสวรรค์นี้เราก็ทำคุณงามความดี คือเราต้องรักษาศีล ๘ อย่างที่ญาติโยมได้มารักษาศีล ๘ เราจะรักษาศีล ๘ อุโบสถก็ดี รักษาศีล ๘ ไม่อุโบสถก็ดี ถือว่ามีอานิสงส์เหมือนกัน เมื่อเรารักษาศีลของเราไม่ให้ด่างพร้อย ไม่ให้ขาด ไม่ให้ทะลุ ไม่ให้เศร้าหมอง ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นได้ไปเกิดในชั้นใดชั้นหนึ่ง หรือว่าเราจะถวายทาน ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนา เจริญสมถกรรมฐาน แต่ยังไม่ได้ฌาน เจริญวิปัสสนากรรมฐาน แต่ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เราก็เอาอานิสงส์นั้นแหละไปเกิดบนสวรรค์ชั้นใดชั้นหนึ่ง
แต่ถ้าเราอยากจะไปเกิดบนพรหมโลก เราก็ต้องเจริญสมถกรรมฐานจนได้ฌาน ถ้าเราเจริญสมถกรรมฐานจนได้รูปฌานก็ไปเกิดในรูปพรหม ถ้าเราเจริญสมถกรรมฐานจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้อรูปฌาน เราก็ไปเกิดในอรูปพรหมตามอำนาจของฌานที่เราได้เป็นฌานที่หยาบ หรือปานกลาง หรือปราณีต เราก็ไปเกิดในพรหมที่หยาบ หรือปานกลาง หรือประณีต ตามสัดส่วนแห่งฌานของอารมณ์ที่เราได้
แต่ถ้าเราอยากจะไปเกิดในพระนิพพาน คือจะไม่เกิดอีก อยากจะเสวยอารมณ์พระนิพพาน ดับจากกิเลส ตัณหา ทั้งหลายทั้งปวง ไม่มีราคะปรุงแต่ง ไม่มีโทสะปรุงแต่ง ไม่มีโมหะปรุงแต่ง ไม่มีกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดปรุงแต่ง อยากจะถึงสันติสุขสงบอย่างแท้จริง เราก็เจริญวิปัสสนากรรมฐาน เหมือนอย่างที่คณะครูบาอาจารย์ ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายกำลังทำอยู่นี้ ถือว่าเรากำลังจะสางทาง หรือว่าเราจะถางทาง กำลังจะเดินทางไปสู่พระนิพพานด้วยกันทั้งนั้น ผู้เทศน์อยู่ก็เหมือนกัน ผู้ปฏิบัติธรรมอยู่ก็เหมือนกัน ผู้สอนอยู่ก็เหมือนกันกำลังที่จะเดินทางไปสู่พระนิพพาน บางคนก็ถึงน้อยบางคนก็ถึงมาก ก็แล้วแต่บุญวาสนาบารมีของแต่ละท่าน แต่ละคน
เพราะฉะนั้นเมื่อเรามาฟังธรรมนั้นเราได้รู้สิ่งที่ยังไม่เคยรู้ สิ่งที่เราฟังมาแล้วไม่เข้าใจชัด คือเราฟังซ้ำๆ ซากๆ บ่อยๆ ฟังเนืองๆ ฟังอยู่เป็นประจำ เหมือนกับเราฝนมีด ถ้าเราฝนอยู่บ่อยๆ มีดก็คมมันก็ไม่ทื่อ เวลาจะใช้ประโยชน์ไปตัดไม้ตัดฟืน มันก็คล่องแคล่วว่องไว เราจะใช้หั่นผัก หั่นอาหารมันก็ได้คล่องแคล่วว่องไว หรือว่าเราฟังซ้ำๆบ่อยๆ ฟังซ้ำๆ ซากๆ ก็เหมือนกับเราขัดกระจก คือขัดกระจกของเราถ้าเราไม่ขัดมันก็เกิดฝ้า เกิดมัวขึ้นมาเราจะส่องดูรูปพรรณสัณฐานมันก็ไม่เห็น แต่ถ้าเราขัดกระจกให้มันสะอาดสะอ้าน เราก็สามารถที่จะมองเห็นเงาต่างๆ ได้ชัดเจน เหมือนกับจิตใจของเราที่ถูกขัดด้วยธรรมะบ่อยๆ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นรู้ธรรมะนั้นยิ่งๆ ขึ้นไป
ประการที่ ๓ เราย่อมบรรเทาความสงสัยลงได้ คือบุคคลผู้ฟังธรรมบ่อยๆ มีจิตใจผ่องใสตามที่กล่าวมาแล้วในข้อ ๒ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้หายสงสัยในเรื่องพระพุทธ ในเรื่องพระธรรม ในเรื่องพระสงฆ์ เพราะอะไร เพราะว่าเราเคยฟังมาแล้วว่า พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงเกิดอยู่ที่กรุงกบิลพัสดุ์ ออกบวชเมื่ออายุได้ ๒๙ พรรษา อายุ ๓๕ พรรษาพระองค์ก็ได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณที่ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลพุทธคยา
เมื่อเราได้ฟังพระท่านเทศน์บ่อยๆ เราก็หายสงสัยในเรื่องพระพุทธ เรื่องพระธรรม เมื่อเราฟังบ่อยๆ เราได้เกิดความเข้าใจในธรรมเราก็หายความสงสัยในพระธรรม เราได้ฟังธรรมบ่อยๆ เราก็หายสงสัยในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์รักษาศีลแล้วเป็นผู้มีอานิสงส์จริง ประพฤติปฏิบัติตามธรรมแล้ว พระสงฆ์ก็สามารถได้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ ก็เกิดความหายสงสัยในเรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หายความสงสัยในเรื่องบุญเรื่องบาป เรื่องโลกนี้โลกหน้า อันนี้เป็นอานิสงส์ของการฟังธรรม หรือประการที่ ๕ จิตใจของผู้ฟังนั้นย่อมผ่องใส คือจิตใจของผู้ฟังนั้นเมื่อได้ฟังธรรมบ่อยๆ แล้ว อย่างที่คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมกำลังฟังอยู่นี้แหละ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คณะของผู้ฟังและญาติโยมทั้งหลายได้เกิดความผ่องใสขึ้นมา กำหนดว่าได้ยินหนอๆ หรือว่าเสียงหนอๆ หรือว่าพองหนอ ยุบหนอ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ขนิกสมาธิมันเกิดขึ้นมา เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้อุปจารสมาธิมันเกิดขึ้นมา
เมื่ออุปจารสมาธิมันเกิดขึ้นมาก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ปีติเกิดขึ้นมา เมื่อปีติเกิดขึ้นมาจิตใจของเราผ่องใสแล้ว เกิดกายเบา เกิดขนพอง เกิดน้ำตาไหล เกิดจิตใจมันเบา ร่างกายมันเบา เรียกว่าจิตใจของเรามันผ่องใสแล้ว เมื่อปีติมันเกิดขึ้นมาก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ปัสสัทธิมันเกิดขึ้นมา เกิดตัวเย็นตัวแข็ง เกิดกายของเรามันสงบ จิตใจของเรามันสงบขึ้นมา เมื่อปัสสัทธิมันเกิดขึ้นมาจนมากแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้จิตใจของเรามันเป็นสมาธิเป็นฌานขึ้นมา จะเป็นปฐมฌานหรือว่าเป็นฌานชั้นไหนก็แล้วแต่บุญวาสนาบารมีของเรา แล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้วิปัสสนาญาณมันเกิดขึ้นมา จิตใจของเราก็จะผ่องใสขึ้นมาตามลำดับๆ ในที่สุดวิปัสสนาญาณมันก็เกิดขึ้นมาถึงมรรคถึงผล เรียกว่าจิตใจของเราก็สะอาดสะอ้านถึงมรรคถึงผลนั้นโดยถาวร เรียกว่าจิตใจสะอาดโดยถาวร จิตใจสะอาดโดยแน่นอน
ถ้าจิตใจของบุคคลใดสะอาดด้วยการฟังปริยัติก็ดี การเจริญสมถกรรมฐานก็ดี ก็เพียงสะอาดชั่วครู่ชั่วคราวเท่านั้น แต่ถ้าจิตใจของบุคคลใดสะอาดด้วยมรรค ด้วยการบรรลุมรรคผลนิพพาน ก็ถือว่าสะอาดโดยถาวร จะไม่มีกิเลสนั้นมารบกวนจิตใจ กิเลสเหล่าใดที่ละได้แล้วก็ถือว่าละได้เลย ไม่กลับมาให้เกิดในขันธสันดานอีก เพราะฉะนั้นจิตใจของผู้ฟังธรรม เมื่อฟังไปๆ เกิดคุณธรรมตามที่กล่าวมา จิตใจก็ย่อมผ่องใส แล้วก็การฟังธรรมนั้นก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราสว่างไสวในจิตในใจ เปรียบเสมือนกับว่าเรานั้นจุดไฟในที่มืด หรือว่าเปิดไฟในที่มืด โดยในขณะที่เราปิดไฟไว้ในเวลากลางคืน เราก็ยังไม่สามารถจะมองเห็นสิ่งต่างๆ รอบข้างได้ จะเป็นต้นไม้ก็ดี จะเป็นบุคคลผู้ฟังธรรมด้วยกันก็ดี จะเป็นอาจารย์กรรมก็ดี เราก็ไม่สามารถที่จะมองเห็นได้ เพราะอะไร เพราะว่ามันมืด แต่ถ้าเราเปิดไฟมันสว่างเราก็สามารถที่จะมองเห็นสิ่งรอบข้างได้ ข้อนี้ฉันใด ถ้าใจของบุคคลไม่ฟังธรรมแล้วถูกความมืดคืออวิชชาเข้าครอบงำ ไม่สามารถที่จะมองเห็นบุญเห็นบาป ไม่สามารถที่จะมองเห็นนรกเห็นสวรรค์ทางพระนิพพานได้ ไม่สามารถที่จะรู้ว่าสิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนไม่ควรทำ สิ่งไหนควรหลีกเร้น สิ่งไหนควรเพิ่มพูนให้รู้เพราะอะไร เพราะว่าอวิชชามันครอบงำ แต่ถ้าเรามาฟังธรรมบ่อยๆ ก็เหมือนกับว่าเราจุดแสงสว่างให้สว่างขึ้น จิตใจของตัวเอง เรียกว่าสว่างตาด้วยแสงไฟ สว่างใจด้วยแสงธรรม ถ้าเราไม่จุดไฟคือธรรมะให้สว่างไสวในจิตในใจของเราแล้ว เราก็ลุ่มๆ ดอนๆ เกิดในภพน้อยภพใหญ่ ทนทุกข์ทรมานด้วยอำนาจบาปกรรมบ้าง ด้วยอำนาจบุญกรรมบ้างที่เราได้กระทำสั่งสมมา แล้วก็การฟังธรรมนั้นก็เปรียบเสมือนกับว่าเราชี้ทางเดินให้แก่ตัวเอง คือบุคคลผู้เกิดมาในมหรรณพภพสงสารนั้นเป็นผู้หลงทางเดิน
สรรพสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาจะเป็นสัตว์เล็ก สัตว์น้อย สัตว์ใหญ่ หรือว่าจะเป็นคน จะเป็นมนุษย์เราก็เหมือนกัน ถ้าไม่ได้ฟังธรรมแล้วย่อมเป็นผู้หลงเป็นส่วนมาก คือหลงในรูป หลงในเสียง หลงในกลิ่น หลงในรส หลงในกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด บางคนก็หลงน้อย บางคนก็หลงมาก บางคนก็หลงไม่มากมาบวชเณรก็ได้สติ บางคนก็หลงมากจนอายุ ๔๐ ปี ๕๐ ปี ก็ค่อยมาได้เข้าใจในการฟังเทศน์ฟังธรรมมาเข้าใจในเรื่องบุญเรื่องบาป เรื่องนรกเรื่องโลกนี้โลกหน้าเรื่องสวรรค์เรื่องพระนิพพาน บางคนหลงถึง ๗๐ ปี ลูกหลานไปเตือนก็ไม่ฟัง บางคนหลงถึง ๘๐ ปี ลูกหลานบอกว่า ยายตาแก่แล้วได้โอกาสได้เข้าวัดฟังธรรมมาฟังเทศน์ฟังธรรมก็ไม่เกิดศรัทธา ไม่อยากจะมาฟังเทศน์ฟังธรรม เพราะอะไร เพราะว่าความหลงมันครอบงำจิตใจมากแล้ว เป็นดินพอกหางหมูไม่สามารถที่จะสลัดออกได้ เพราะว่าดินนั้นมันพอกมากเกินไป จิตใจเกลือกกลั้วอยู่กับกามคุณมากเกินไป ไม่สามารถที่จะตะเกียกตะกายออกจากกามคุณได้ เหมือนกับปลาที่มันอยู่ในน้ำ
ธรรมชาติของปลาที่มันอยู่ในน้ำ เราจับปลายกขึ้นมาแล้วก็โยนไปบนบก ปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำนั้นมันก็ตะเกียกตะกายลงไปในน้ำ เอาท้องบ้าง เอาหางบ้าง ตะเกียกตะกาย เพื่อที่จะพาตัวของตัวเองนั้นลงไปสู่น้ำ บุคคลผู้ที่แก่ๆ เกิดมามากแล้วไม่รู้จักศีล ไม่รู้จักทาน ลูกหลานเตือนก็เหมือนกัน ลูกหลานจะยกจิตยกใจของพ่อใหญ่แม่ใหญ่นั้นออกไปจากกามคุณ ยกจิตยกใจของพ่อใหญ่แม่ใหญ่นั้นสู่ศีล สู่สมาธิ สู่ปัญญาก็ไม่ยอม ตะเกียกตะกายไปสู่กามคุณ ยึดมั่นถือมั่นในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ยึดมั่นถือมั่นในบ้านเรือน ทรัพย์สินเงินทองไปต่างๆ นาๆ ในที่สุดก็แก่เปล่า เหมือนโคถึกมากด้วยเนื้อหนังมังสาแต่ปัญญาหาเพิ่มขึ้นไม่ เพราะอะไร ก็เพราะว่าไม่รู้ไม่ได้ฟังพระธรรมคำสั่งสอนอันล้ำเลิศขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงต้องเป็นตาแก่ที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสาร ภพแล้วภพอีก เป็นกบเฒ่าเฝ้ากอบัว ไม่รู้จักไปไหน เป็นมดแดงเฝ้ามะม่วง เป็นมดแดงที่ไต่ขอบกระด้ง วนไปแล้วก็วนกลับมาอีกอย่างนี้สิ้นกาลนาน
เพราะฉะนั้นการฟังธรรมนั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ แล้วครูบาอาจารย์นั้นท่านยังกล่าวไว้ว่าการฟังธรรมนั้นก็เพื่อจุดประสงค์หลายประการ ที่ท่านกล่าวไวว่า การฟังธรรมนั้นเพื่อเอาความรู้ คือคณะครูบาอาจารย์และญาติโยมทั้งหลายมาฟังธรรมนี้มาฟังเพื่อเอาความรู้ ความรู้ในทางพุทธศาสนานั้นแบ่งออกเป็น ๓ ประการ คือ
๑. เราฟังเพื่อความรู้ที่เกิดขึ้นมาจากการฟัง
๒. ความรู้ที่เกิดขึ้นมาจากการคิด
๓. ความรู้ที่เกิดขึ้นมาจากการเจริญภาวนา
ความรู้ที่เกิดขึ้นมาจากการฟังนั้นท่านเรียกว่า สุตมยปัญญา คือขณะที่ครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมได้มาฟังธรรมนี้แหละถือว่าเป็นการเจริญสุตมยปัญญา ความรู้ที่เกิดจากการศึกษาเล่าเรียนเขียนอ่าน จะเป็นจบประถมศึกษา จบมัธยม ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ก็ถือว่าเป็นสุตมยปัญญา ธรรมตรี ธรรมโท ธรรมเอก จบเปรียญธรรม ๓ ประโยค ๔ ประโยค ๕ ประโยค จบอภิธรรมมหาบัณฑิต ก็ถือว่าเป็นสุตมยปัญญา สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นความรู้ที่เป็นขั้นต้น เรียกว่าเป็นสุตมยปัญญา
ส่วนความรู้ที่เป็นจินตามยปัญญา คือความรู้ที่เกิดจากการคิดคือความรู้ที่เราเรียน นักธรรมตรี โท เอก เปรียญธรรม ๙ ประโยค อภิธรรมมหาบัณฑิต หรือว่าจบด็อกเตอร์ทางโลกมาแล้ว เราก็เอาความรู้ทั้งหมดมาประมวลเป็นความคิดริเริ่มขึ้นมา สร้างสรรค์คิดค้นให้ลึกลงไปอีกเหมือนกับแต่ก่อนเราไม่มีไฟฟ้าเราก็คิดเครื่องปั่นไฟฟ้าขึ้นมาเราก็มีไฟฟ้า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากจินตามยปัญญา หรือแต่ก่อนเราไม่มีวิทยุเราก็คิดค้นวิทยุขึ้นมาฟัง อันนี้ก็เป็นด้วยอำนาจของจินตามยปัญญา หรือแต่ก่อนเราไม่มีทีวีเราก็คิดค้นทีวีขึ้นมา สามารถเห็นรูปได้ สามารถฟังได้ สามารถสื่อสารได้ อันนี้ก็ถือว่าเป็นจินตามยปัญญา แต่ก่อนเราไม่มีโทรศัพท์ เราคิดค้นโทรศัพท์ขึ้นมาถือว่าเป็นจินตามยปัญญา แต่ก่อนเราไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ เราคิดเครื่องคอมพิวเตร์ขึ้นมาสามารถเก็บข้อมูลต่างๆ เข้าเว็บไซท์ต่างๆ สามารถเจาะเอาข้อมูลทั่วโลกมาศึกษาได้ เราจะศึกษาข้อมูลของวิทยาลัยไหนในโลก เราสามารถเข้าเว็บไซท์แล้วก็เอาข้อมูลต่างๆ นั้นมาศึกษาได้ เรียกว่าเรานั่งอยู่กับที่เราสามารถศึกษาวิชาต่างๆ ได้จากคอมพิวเตอร์ เรียกว่าเป็นกระดานแห่งความรู้ได้ นี้ก็เพราะอะไรก็เพราะจินตามยปัญญา
หรือว่าเราศึกษาเราได้ขี่เครื่องบินไปประเทศต่างๆ ได้รวดเร็วทันใจสิ่งเหล่านี้มันก็เกิดขึ้นมาจากจินตามยปัญญา หรือว่าเราได้ขี่ยานออกไปสู่อวกาศนอกโลกไปสำรวจดาวพฤหัส ดาวพลูโต ดาวเสาร์อะไรต่างๆ ที่เราได้ศึกษาเรียนมา ก็อาศัยจินตามยปัญญาคิดค้นยานอวกาศ จึงสามารถไปสู่ดวงดาวดวงเดือนได้ หรือว่าอัลเบิร์ต ไอสไตน์ ผู้มีปัญญาสามารถคิดพลังจากอะตอม มวลอะตอมต่างๆ เอาพลังงานเหล่านั้นมาเป็นสสารสร้างปรมนูขึ้นมา ก็เพราะจินตามยปัญญา สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากจินตามยปัญญาหมด ถ้าบุคคลใดเป็นผู้ประกอบไปด้วยสัมมาทิฏฐิ ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดความเจริญขึ้นมาในโลก แต่ถ้าบุคคลใดเป็นมิจฉาทิฏฐิก็สามารถก่อความฉิบหายให้แก่โลกได้
ต่อไปเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นมาจากการภาวนา คือเหมือนอย่างคณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายนี้แหละ ที่มาฟังเทศน์ฟังธรรม มากำหนด ได้ยินหนอๆ กำหนดอาการพองอาการยุบ มาเดินขวาย่างซ้ายย่าง อันนี้เป็นปัจจัยให้เกิดภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญานั้นบุคคลปกติจะไม่เกิด นอกจากมาเจริญวิปัสสนาเอารูปเอานามเป็นอารมณ์จึงจะเกิดภาวนามยปัญญา ถ้าบุคคลใดยังภาวนามยปัญญาให้เกิดขึ้นมาแล้วก็จะเกิดวิปัสสนาญาณทั้ง ๑๖ ชั้น นับตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปัสสนาญาณที่ ๑ คือกำหนดรู้รูปรู้นาม วิปัสสนาญาณที่ ๒ รู้ปัจจัยของรูปของนาม วิปัสสนาญาณที่ ๓ คือ สัมมสนญาณ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานี้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา วิปัสสนาญาณที่ ๔ อุทยัพพยญาณ คือ เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปความดับไปของรูปของนาม วิปัสสนาญาณที่ ๕ คือ ภังคญาณ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราพิจารณาเห็นความเสื่อมไปของอัตภาพร่างกายของรูปนามของเรา วิปัสสนาญาณที่ ๖ คือภยตูปัฏฐานญาณ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเห็นรูปนามเป็นของน่ากลัว ญาณที่ ๗ คือ อาทีนวญาณ คือให้เราพิจารณาเห็นรูปนามเป็นทุกข์ เป็นโทษ วิปัสสนาญาณที่ ๘ คือ นิพพิทาญาณ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราพิจารณาเห็นรูปนามของเรานั้นเป็นของน่าเบื่อหน่าย วิปัสสนาญาณที่ ๙ คือ มุญจิตุกัมยตาญาณ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเห็นรูปนามนั้นเป็นของน่าเบื่อหน่าย เป็นของทุกข์ เป็นไปด้วยโทษแล้วอยากออกอยากหนีอยากหลุดอยากพ้น วิปัสสนาญาณที่ ๑๐ คือ ปฏิสังขาญาณ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้เจริญวิปัสสนานั้นมีจิตใจเข้มแข็งตั้งใจจริง ประพฤติปฏิบัติจริง หวังที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานจริง วิปัสสนาญาณที่ ๑๑ คือ สังขารุเปกขาญาณ คือ วางเฉยในรูปในนาม วางเฉยในความโลภ ความโกรธ ความหลง วางเฉยในความรัก ความชัง วางเฉยในปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ วางเฉยในอารมณ์ต่างๆ วางเฉยหมดในสังขารุเปกขาญาณ แต่เมื่อถึงอนุโลมญาณก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระไตรลักษณ์เกิดขึ้นมา เรียกว่ายังอริยสัจทั้ง ๔ ทุกข์ สมุหทัย นิโรธ มรรค ให้เกิดขึ้นมา เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาขึ้นมา ต่อไปก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ญาณที่ ๑๓ คือ โคตรภูญาณเกิดขึ้นมา เมื่อโคตรภูญาณเกิดขึ้นมาแล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้โอนจากโคตรปุถุชนไปสู่อริยโคตร คือ ดับ ความเป็นปุถุชนนี้ดับไป อริยโคตรความเป็นพระอริยบุคคลเกิดขึ้นมา เมื่อญาณที่ ๑๔ คือ มรรคญาณเกิดขึ้นมากิเลสเบื้องต้นคือ สักกายทิฏฐิเป็นต้นก็ดับไป ความเป็นอริยบุคคลก็เกิดขึ้นมาโดยสมบูรณ์ ญาณที่ ๑๕ คือ ผลญาณมันก็เกิดขึ้นมา ถ้าบุคคลใดเป็นมันธบุคคลก็จะสามารถเสพพระนิพพานได้ ๑ ขณะจิตบ้าง ๒ ขณะจิตบ้าง แต่ถ้าบุคคลใดเป็นติกขบุคคลผู้มีปัญญามาก ก็สามารถเข้าผลสมาบัติได้ เป็น ๓ นาทีบ้าง ๕ นาทีบ้าง ๑๕ นาทีบ้าง ๔๕ นาทีบ้าง ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ก็แล้วแต่บุญวาสนาบารมีว่าจะเสพสมาบัตินั้นได้มากมายขนาดไหน ก็จะเป็นปัจจัยให้ปัจจเวกขณญาณเกิดขึ้นมา พิจารณาการบรรลุมรรคผลนิพพานของตนเอง ว่าตนเองบรรลุมรรคผลนิพพานอย่างไร แล้วก็พิจารณากิเลสที่ตนเองละได้แล้วและเหลืออยู่ ก็ถือว่าเป็นปัจจเวกขณญาณขึ้นมา ถ้าบุคคลใดเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ภาวนามยปัญญามันก็จะเกิดญาณทั้ง ๑๖ ขั้นนี้ขึ้นมา เหมือนอย่างกับพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ หรือว่าพระเถระทั้งหลายทั้งปวง ที่เจริญวิปัสสนากรรมฐานแล้วก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน อันนี้เป็นการฟังเพื่อเอาความรู้ ต่อไปเป็นการฟังเพื่อเอาบุญ
การฟังเพื่อเอาบุญนั้น คือ ขณะที่คณะครูบาอาจารย์ฟังอยู่นี้ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ ก็ไม่ได้ทำบาป กายของเราก็ไม่ได้ทำบาป วาจาของเราก็ไม่ได้พูดเท็จ พูดเพ้อเจ้อ พูดเหลวไหล พูดคำหยาบ พูดส่อเสียดให้คนอื่นแตกร้าวสามัคคีกัน วาจาของเราก็ปิด ใจของเราก็ไม่ได้คิดไม่ดี ใจของเราก็มีรูปมีนามเป็นอารมณ์ ขณะที่คณะครูบาอาจารย์ฟังเทศน์ฟังธรรมนี้ กายก็บริสุทธิ์เป็นศีล ศีลก็ถือว่าไม่ใช่ศีลธรรมดาเป็นปรมัตถศีล ศีลธรรมดาที่เราสมาทานจากพระ เราสมาทานแล้วเราไม่ฆ่าไก่ก็มีไก่เป็นอารมณ์ เราไม่ฆ่าปลาก็มีปลาเป็นอารมณ์ ถือว่าเป็นสมมุติบัญญัติอยู่ยังไม่เป็นปรมัตถารมณ์
แต่ขณะที่ครูบาอาจารย์ฟังอยู่นี้ ครูบาอาจารย์กำหนดอาการว่ายินหนอ พองยุบ ถือว่ากำหนดรูปกำหนดนามเป็นอารมณ์ อันนี้ก็ถือว่ามีปรมัตถศีล ปรมัตถศีลนี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรลุมรรคผลนิพพาน เหมือนอย่างที่กระผมได้กล่าวไว้แล้วในเบื้องต้น แล้วก็การฟังเทศน์ฟังธรรมนั้นท่านกล่าวไว้ว่า ได้บุญมาก ได้อานิสงส์มาก เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ในธรรมบท ขุททกนิกายว่า บุคคลจะใส่บาตรพระปัจเจกพุทธเจ้าที่นั่งติดกันตั้งแต่พื้นดินจนไปถึงพรหมโลก ตั้งแต่พรหมโลกไปถึงขอบปากจักรวาลก็ตาม พระปัจเจกพุทธเจ้านั่งติดๆๆ กันไป เหมือนกับปลีกล้วยอ่อนที่มันอยู่ในปลีกล้วย กล้วยมันจะติดๆๆ กันไปอย่างนั้นแหละ ให้พระปัจเจกพุทธเจ้านั่งติดกันไปตั้งแต่พื้นมนุษย์เรานี้ไปจนถึงพรหมโลก จากพรหมโลกไปจนถึงขอบปากจักรวาล เราใส่บาตรของท่านเต็มไปด้วยเภสัชก็ดี ด้วยอาหารอันประณีตก็ดี อานิสงส์ก็ยังไม่เท่ากับได้ฟังธรรมในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เพียงกึ่งบาทพระคาถา ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น
ก็เพราะว่าการใส่บาตรนั้นไม่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ แต่ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเพียงกึ่งบาทพระคาถาก็สามารถตัดกิเลสขาดจากขันธสันดานได้ หรือในขณะที่ญาติโยมกำลังฟังธรรมอยู่นี้ ก็สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ได้สมาธิสมาบัติได้ ทั้งๆ ที่ใส่บาตรนั้นไม่สามารถที่จะได้สมาธิสมาบัติ หรือว่าได้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ เพราะฉะนั้นการฟังธรรมนั้นจึงมีอานิสงส์มากกว่าการใส่บาตร
หรือว่าการที่จะสร้างอารามใหญ่โตรโหฐาน สร้างวิหารสร้างเจดีย์เหมือนอนาถบิณฑิกเศรษฐี เหมือนนางวิสาขา ซึ่งอนาถบิณฑิกเศรษฐีนั้นต้องเอาเงินไปซื้อสวนของเจ้าเชต และเอาเงินนั้นไปปูให้เต็มบริเวณสวนเจ้าเชต จึงขายที่ให้แก่อนาถบิณฑิกเศรษฐี เรียกว่าต้องใช้ทรัพย์มาก นางวิสาขาจะซื้อที่สร้างบุพพารามก็ต้องสิ้นเงินตั้ง ๒๗ โกฏิ คิดดูซิว่าต้องใช้ทรัพย์สมบัติมากมายขนาดไหน ถึงกระนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงตรัสว่ามีอานิสงส์น้อยกว่าการฟังธรรมที่พระองค์ทรงแสดงเพียงกึ่งบาทพระคาถา เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่สามารถที่จะทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้
เพราะฉะนั้นการฟังธรรมนั้นถึงผู้แสดงธรรมจะแสดงดีก็ดี แสดงไม่ดีก็ดี หรือแสดงแต่พระบาลีก็ดี ไม่แตกฉาน แสดงไม่เพราะ ไม่ถูกอกถูกใจก็ดี เราก็ควรตั้งใจฟัง เพราะการตั้งใจฟังนั้นท่านกล่าวไว้ในอภิธรรมพิสดารว่า ถ้าบุคคลใดตั้งใจฟังจะเป็นธรรมที่เพราะก็ดี ไม่เพราะก็ดี เข้าใจก็ดี ไม่เข้าใจก็ดี บุคคลนั้นเมื่อได้ฟังด้วยความตั้งใจฟังด้วยความเคารพแล้ว ตายไปแล้วจะไม่ไปสู่ทุคตินั้นแสนกัลป์ นี้ท่านกล่าวไว้ในอภิธรรมพิสดาร เราจะไม่ไปสู่อบายภูมินั้นแสนชาติแสนกัลป์ หลังจากชาติสุดท้ายที่เราได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ถ้าชาติสุดท้ายที่เราได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เราจะแตกฉานในปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ เพราะอานิสงส์แห่งการฟังธรรม คิดดูซิว่าอานิสงส์ของการฟังธรรมนั้นมีอานิสงส์ ส่งเป็นปัจจัยให้เราได้อยู่ในภพน้อยภพใหญ่นั้น ชาติสุดท้ายเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้ปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ เพราะฉะนั้นการฟังธรรมนั้นจึงเป็นบุญเป็นกุศลมาก ตัวอย่างที่ท่านกล่าวไว้ในธรรมบทขุททกนิกายในเรื่องของแม่ไก่ฟังธรรม ในสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ มีแม่ไก่ตัวหนึ่งอาศัยหากิน อยู่ที่ข้างบรรณศาลา ในขณะนั้นพระท่านก็แสดงธรรมให้แก่พระสงฆ์ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาฟังเป็นจำนวนมาก แม่ไก่ตัวนั้นก็หากินคุ้ยเขี่ยไปด้วย ฟังธรรมไปด้วย ขณะที่ ฟังธรรมไปด้วย คุ้ยเขี่ยไปด้วยนั้นแหละ ด้วยความดีใจในธรรม ด้วยความปีติในธรรม ขณะที่เพลินฟังธรรมนั้นแหละ เหยี่ยวตัวหนึ่งก็โฉบลงมาเอาแม่ไก่ตัวนั้นไปกินเป็นภักษาหาร แม่ไก่ตัวนั้นตายด้วยความยินดีในธรรม ตายโดยฉับพลัน ค่าที่แม่ไก่ตัวนั้นยินดีในธรรมนั้นแหละ ขณะที่กำลังถูกเหยี่ยวโฉบขึ้นไปนั้นแหละ มองเห็นธิดาของกษัตริย์กำลังเลือกพระนคร กำลังเสด็จตรวจดูพระนครอยู่ก็ตายไปในขณะนั้น ก็เลยไปเกิดเป็นธิดาของกษัตริย์อยู่ในเมืองนั้น ขณะที่เจริญวัยขึ้นมาก็เลยเข้าไปในห้องเวจกุฎีหรือห้องส้วม ในสมัยนั้นก็ไม่มีฝาปิดก็เห็นหมู่หนอนเป็นจำนวนมากยั้วเยี้ยอยู่ ก็เกิดความสลดสังเวช เอาหมู่หนอนนั้นเป็นอารมณ์เจริญกรรมฐาน เจริญไปๆ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้ฌาน เมื่อได้ฌานแล้วเกิดเบื่อหน่ายในการครองฆราวาสก็บอกลาบิดา มารดา สามี แล้วก็ออกบวช ฌานไม่เสื่อมตายไปแล้วก็ไปเกิดบนพรหมโลก เมื่อตายจากพรหมโลกแล้วก็มาเกิดเป็นลูกของเศรษฐี ตายจากลูกของเศรษฐีแล้วก็มาเกิดเป็นสุกรบ้าน
ขณะที่เกิดเป็นลูกของสุกรบ้านองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยปัจฉาสมณหมู่สงฆ์ หมู่ใหญ่เดินไปบิณฑบาต ลูกสุกรนั้นเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมไปด้วยสงฆ์หมู่ใหญ่ก็เกิดความดีใจ เมื่อเกิดความดีใจตายไปแล้วก็ไปเกิดเป็นธิดาของกษัตริย์อีก เมื่อตายจากธิดาของกษัตริย์แล้ว ก็มาเกิดเป็นธิดาของวรรณะทาสี ตายจากธิดาของวรรณะทาสีแล้ว ก็มาเกิดเป็นธิดาของกษัตริย์อีก เมื่อตายจากธิดาของกษัตริย์แล้วก็มาเกิดเป็นลูกของพ่อค้าม้า ตายจากลูกพ่อค้าม้าก็ไปเกิดเป็นลูกพ่อค้าสำเภา ตายจากลูกพ่อค้าสำเภาแล้วก็มาเกิดที่เมืองอนุราธบุรีเป็นธิดาของกุฏุมภี ชื่อว่ามหาสุมนาเมื่อมาเกิดเป็นธิดาของมหาสุมนาแล้วก็เจริญเติบโตขึ้นมา บิดามารดาก็ยกให้อำมาตย์คนหนึ่งในเมืองอนุราธบุรีเป็นสามี ขณะที่นางได้อำมาตย์คนนั้นเป็นสามีแล้วนางก็เป็นคนใจบุญสุนทาน แล้วนางก็ทำบุญใส่บาตรเป็นประจำ วันหนึ่งพระอตุลเถระ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่หนึ่งไปบิณฑบาต ขณะที่ไปบิณฑบาตนั้นนางก็ออกมาใส่บาตร ขณะที่นางออกมาใส่บาตรนั้นพระอตุลเถระ นั้นเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยอภิญญาก็เลยกล่าวกับภิกษุผู้เป็นปัจฉาสมณะว่า ลูกสุกรบ้านมาเกิดที่นี่อีกแล้ว พอนางได้ฟังว่าลูกสุกรบ้านมาเกิดที่นี่อีกแล้วก็เกิดความสลดสังเวช เมื่อเกิดความสลดสังเวชจิตใจมันก็เป็นหนึ่ง เมื่อจิตใจเป็นหนึ่งเป็นมรรคตาจิตก็สามารถระลึกชาติที่ตนเองได้เกิดเป็นลูกสุกรบ้านได้ ก็เกิดความเบื่อหน่ายลาสามีออกบวช สามีก็ไม่ขัดก็อนุโมทนาสาธุการ ก็ออกบวชเมื่อออกบวชนางก็ตั้งใจเดินจงกรมนั่งภาวนาเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ช้าไม่นานนางก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาน อันนี้ก็เพราะอานิสงส์ของการฟังธรรมตั้งแต่สมัยครั้งพุทธกาลจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้นางได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
หรือว่าอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องของกบฟังธรรมคือกบฟังธรรมนั้นขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ที่พระเชตวันอารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ในขณะนั้นกบตัวหนึ่งที่อาศัยอยู่ข้างสระโบกธรณีก็ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงด้วยเสียงอันกังวาน เหมือนกับเสียงพรหม กบที่ได้ฟังเสียงที่เปี่ยมด้วยเมตตาที่เปรียบไปเหมือนกับเสียงพรหมก็เกิดความเพลิดเพลิน ตั้งจิตตั้งใจฟังเสียงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งๆ ที่ตนเองฟังไม่รู้เรื่องแต่ก็เพลิดเพลินในเสียงที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ขณะที่ฟังไปๆๆ พวกเลี้ยงควายต้อนฝูงควายมาไม่ทันระวังไม้เท้าก็ไปถูกกบตัวนั้นตาย เมื่อกบตัวนั้นตายแล้วค่าที่กบตัวนั้นดีใจก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตเป็นเทพบุตร เรียกว่ามัณฑุกเทพบุตร แปลว่าเทพบุตรกบ ในขณะที่เทพบุตรกบเกิดขึ้นมาแล้วก็หวนระลึกย้อนคิดถึงแต่อดีตแต่หนหลังของตัวเองว่า เราได้บำเพ็ญบารมีอะไรมาหนอ จึงได้มาเกิดอยู่ในที่นี้ เราจึงมีเครื่องทรงอันเป็นทิพย์ อาหารอันเป็นทิพย์ มีวิมานอันเป็นทิพย์ มีนางฟ้าแวดล้อมถึงขนาดนี้ เราทำบุญทำทานอะไรไว้บ้าง ก็ย้อนระลึกถึงบุญกุศลที่ตนเองได้ทำ เมื่อย้อนลงมาย้อนไปก็ทราบได้ว่าตนเองไม่ได้ทำบุญทำทานอะไรไว้เลย เพียงแต่ว่าเมื่อสักครู่นี้ตนเองเกิดเป็นกบ อาศัยอยู่ข้างสระโบกธรณี อาศัยฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดความดีใจ เกิดความปลื้มปิติยินดี ก็เลยตายในขณะที่ยินดีแล้วก็มาได้วิมาน ได้สมบัติอันมากมายมหาศาลถึงขณะนี้ ก็ระลึกนึกถึงคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยากจะมากราบแทบเท้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็หายวับลงมาที่พระเชตวัน ยังพระเชตะวันให้สว่างไสวด้วยแสงกายของเทพบุตร แล้วก็ไปก้มกราบพระบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีสีดั่งทองคำ
เมื่อก้มกราบพระบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ก็ทรงตรัสว่า โก เม วนฺทติ ปาทานิ ใครหนอมากราบเท้าของเราอยู่ เทพบุตรกบก็กราบทูลว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เอง เมื่อสักครู่นี้เป็นกบอาศัยอยู่ข้างสระโบกธรณีได้ฟังธรรมของสมเด็จพ่อ เมื่อสมเด็จพ่อแสดงธรรมอยู่ก็ยินดีในการฟังธรรม ไม่ทันระวังตัวก็ถูกคนเลี้ยงควายทำให้ตายไป เมื่อตายไปแล้วก็ไปเกิดบนสรวงสวรรค์ เล่าอดีตของตนเองให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฟัง พระองค์ก็ทรงตรัสอนุโมทนาสาธุการ แล้วเทพบุตรกบก็ทูลให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้ฟัง เทพบุตรกบนั้นก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ทำลายสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาศไปจากจิตจากใจแล้วก็ไปเสวยความสุขอยู่ในชั้นดุสิตนั้น อันนี้เป็นกบแท้ๆ ทำไมจึงสามารถที่ไปเกิดเป็นเทพบุตรได้ เพราะอะไร ก็เพราะการฟังธรรม หรือว่าเป็นแม่ไก่แท้ๆ ทำไมจึงไปเกิดเป็นธิดาของกษัตริย์ เวียนว่ายตายเกิดแล้วก็ไปเกิดในพรหมโลกแล้วก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพานสิ้นอาสวะกิเลสได้ เพราะอะไร ก็เพราะการฟังธรรมนั้นเป็นต้นเหตุ เพราะฉะนั้นการฟังธรรมนั้นจึงถือว่า เราฟังเป็นเราก็ได้บุญกุศล
ประการที่ ๓ ท่านกล่าวไว้ว่าฟังเพื่อเป็นอุปนิสัย การฟังเป็นอุปนิสัยนั้นคือเราฟังบ่อยๆ ฟังซ้ำๆ ซากๆ เราก็จำได้ความจำได้นั้นแหละเป็นอุปนิสัยเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นได้ไปเกิดในภพภูมิที่ดี เมื่อเกิดในภพภูมิที่ดีเราก็ได้ฟังธรรม เมื่อฟังธรรมแล้วเราก็เข้าใจธรรมแล้วเราก็ได้บรรลุธรรม เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเรา ถ้าเราศึกษาตามพุทธประวัติต่างๆ ตามพระไตรปิฎกต่างๆ เราก็จะได้เห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุรูปใดก็ตาม แสดงธรรมแก่อุบาสกคนใดคนหนึ่งก็ตาม ในเมื่อพระองค์จะทรงแสดงนั้นพระองค์ต้องตรวจดูอุปนิสัยของบุคคลนั้นเสียก่อน อย่างพระองค์ทรงแสดงธรรมแก่พระอัญญาโกณฑัญญะก็ดี พระองค์ก็ทรงตรวจดูอุปนิสัยของโกณฑัญญะ พระองค์ก็ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระองค์ทรงแสดงแก่ยสกุลบุตร พระองค์ก็ทรงแสดงอนุปุพพิกถา ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลนั้นได้บรรลุมรรคผลนิพพาน หรือว่าพระองค์ทรงแสดงแก่ภัททวัคคี พระองค์ก็ทรงตรวจดูอุปนิสัยของภควัทคีทั้ง ๓๐ แล้วพระองค์ก็ทรงแสดงธรรม จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลนั้นได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
เพราะฉะนั้นการที่เราได้ฟังธรรมนี้แหละ เมื่อเรายังไม่สิ้นภพสิ้นชาติ ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพานในชาตินี้ ภพนี้ ก็จะเป็นปัจจัยให้เราไปเกิดในภพหน้าชาติหน้าพบพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ท่านก็จะตรวจดูอุปนิสัยว่าบุคคลนี้ฟังธรรมเรื่องอะไรไว้บ้างหนอ ก็พิจารณาระลึกย้อนอตีตังสญาณของพระองค์ เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมเรื่องที่เราเคยฟังแล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้บรรลุมรรคผลนิพพานฉับพลันเหมือนกับพาหิยทารุจีริย อุทาหรณ์เหล่านี้ก็มีเรื่องที่ท่านแสดงไว้ในธรรมบทขุททกนิกาย คือมีเรื่องของโสนาชีวก
คือในสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่ากัสสปะ ในสมัยนั้นมีงูเหลือมตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในโพรงไม้แห่งหนึ่งอยู่ใกล้บรรณศาลา คือใกล้สถานที่ที่พระภิกษุท่านแสดงธรรม ในวันหนึ่งเป็นวันอุโบสถท่านก็นั่งแสดงธรรมให้แก่พระภิกษุสามเณรญาติโยมทั้งหลายได้ฟัง ขณะที่พระท่านแสดงธรรมนั้นพระท่านแสดงธรรมเรื่องอายตนะคาถา พรรณนาเรื่องตา เรื่องหู เรื่องจมูก เรื่องลิ้น เรื่องกาย เรื่องใจ มีโทษอย่างไร มีคุณอย่างไร ควรสำรวมอย่างไร เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดศีล เกิดสมาธิ เกิดปัญญา เกิดการบรรลุมรรคผลนิพพาน พระท่านก็สาธยายไป งูเหลือมตัวนั้นก็เงี่ยหูฟังไปๆ มันก็เป็นอุปนิสัย เมื่องูเหลือมตัวนั้นตายไปแล้ว ด้วยความที่ตั้งใจฟังธรรมนั้นแหละ สํสรนฺโต ตายไปแล้วก็ท่องเที่ยวไปในเทวดาสิ้นพุทธันดรหนึ่ง คิดดูซิว่าอานิสงส์ของการฟังธรรมนั้นงูเหลือมฟังธรรมแล้ว ได้อานิสงส์ท่องเที่ยวไปในเทวดานั้นสิ้นพุทธันดรหนึ่ง ตายจากเทวดาแล้วก็มาเกิดเป็นมนุษย์ เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ก็มาเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในเมืองปาตลบุตร เมื่อเกิดขึ้นมาในตระกูลพราหมณ์แล้วเจริญวัยแล้วก็ออกบวชเป็นนักบวชนอกพระศาสนา เป็นนักบวชชีเปลือยเรียกว่าโสนาชีวกแล้วก็เจริญฌานจนได้อภิญญาโลกีย์ มีพระเจ้าพิมพิสารนั้นเป็นตระกูลอุปถัมภ์อุปฐาก พระเจ้าพิมพิสารที่เป็นพระราชาของเมืองปาฏลีบุตรนั้นเป็นผู้ตระกูลอุปฐาก
ในวันหนึ่งมเหสีของพระเจ้าพิมพิสารนั้นเกิดอาการแพ้ท้องคือ ทรงพระครรภ์ขึ้นมา แพ้ท้องไม่ใช่แพ้ท้องธรรมดา พระอัครมเหสีนั้นอยากจะเอาเท้าข้างหนึ่งนั้นเหยียบพระจันทร์ อยากจะเอาเท้าอีกข้างหนึ่งเหยียบดวงอาทิตย์ อยากจะกินหมู่ดาวนักขัตตฤกษ์ทั้งหลายทั้งปวง อยากจะกินหมู่ไม้ใหญ่ๆ อยากจะกินง้วนดินเกิดอาการประหลาดขึ้นมา เมื่อเกิดอาการแพ้ท้องแล้วพระเจ้าพิมพิสารก็เกิดความดีใจ แล้วก็ตรัสให้มหาดเล็กทั้งหลายนั้นได้ทำพิธีเพื่อที่จะทำให้อัครมเหสีนั้นระงับอาการแพ้ท้อง ก็เลยให้ทำขนมเบื้อง ๒ แผ่นใหญ่ แล้วก็เอาไปให้อัครมเหสีบอกว่า ขนมแผ่นนี้คือดวงจันทร์ ขนมแผ่นนี้คือดวงอาทิตย์แล้วก็ให้ทำขนมต้ม ซึ่งคล้ายๆกับหมู่ดาวนักขัตฤกษ์ แล้วก็ทำขนมใหม่มาคล้ายๆ กับว่าให้มีลักษณะเหมือนหมู่ไม้ใหญ่แล้วก็ม้วนดิน เมื่อทำเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ให้ทหารทั้งหลายชำระพระลานหลวง เมื่อชำระพระลานหลวงแล้วก็เอาเสื่อรำแพนมาเจาะเป็นรูๆ แล้วก็เอาขนมต้มนั้นยัดเข้าไปให้เหมือนกับดวงดาวนักขัตฤกษ์แล้วก็เอาไปให้พระนางเสวย แล้วก็หายอาการแพ้ท้อง
อยู่มาวันหนึ่งพระเจ้าพิมพิสารเกิดความอยากทราบว่า ทำไมหนอ มเหสีของเราจึงมีอาการแพ้ท้องประหลาดๆ อย่างนั้น ก็เลยไปเชิญโสนาชีวกผู้ได้อภิญญานั้นมาสอบถาม โสนาชีวกมาแล้วก็พยากรณ์ว่าที่มเหสีแพ้ท้องประหลาดนั้นก็เพราะว่า พระโอรสที่อยู่ในครรภ์ของอัครมเหสีนั้นเป็นผู้มีบุญญาธิการมาก ถ้าเจริญเติบโตขึ้นมาแล้ว เจริญวัยขึ้นมาแล้วจะเป็นผู้ครองราชย์สมบัติแห่งพระองค์ แล้วก็จะครอบงำพระราชาทั้งร้อยเอ็ดประเทศ แล้วก็จะมีอำนาจแผ่ไปในเบื้องบนนั้น ๑ โยชน์แผ่ไปในท่ามกลางนั้น ๑ โยชน์ แผ่ลงไปในแผ่นดินนั้นอีก ๑ โยชน์ เป็นผู้มีศักดานุภาพ มีเดชานุภาพมาก พระเจ้าพิมพิสารได้ยินแล้วก็พอพระทัย ดีใจ เมื่อโสนาชีวกพยากรณ์อย่างนั้นแล้วก็ออกไปให้ไกลจากเมืองนั้นสิ้น ให้เลย ๑ โยชน์เพื่อจะให้พ้นจากอำนาจของพระราชกุมาร เมื่อพระราชกุมารเติบโตเจริญวัยขึ้นมาแล้ว มารดาเล่าให้ฟังว่ามีเกิดอาการแพ้ท้องอย่างนั้นแล้วก็ปาฏลีบุตรพยากรณ์อย่างนั้น ว่าลูกมีบุญวาสนาบารมีอย่างนี้ พระราชกุมารนั้นชื่อว่า อโสกะ พระราชกุมารนั้นก็เกิดศรัทธา อยากจะทำการสักการะบูชาโสนาชีวก เตรียมทหารให้เอาวอทองคำนั้นไปเชิญปาฏลีบุตรมา ทหารก็ไปเชิญปาฏลีบุตรมาก็ได้ขึ้นคานทองคำมาหามด้วยทหารเดินตามหนทางมาเรื่อยๆ ขณะที่เดินตามหนทางมานั้นก็ผ่านวัดของพระเถระรูปหนึ่งชื่อว่า อัตตคุตเถระ พระอัตตคุตเถระนี้เป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญาเปี่ยมไปด้วยเมตตาเป็นอย่างมาก สัตว์ทั้งหลายที่ไปอาศัยอยู่ในวัดของท่าน จะเป็นสุนัขจิ้งจอกก็ดี จะเป็นเสือโคร่งเสือเหลืองก็ดี เป็นราชสีก็ดี จะเป็นพวกเก้งพวกกวางก็ดี เป็นเนื้อต่างๆ ก็ดีอาศัยอยู่ร่วมกันได้ ไม่ทำร้ายซึ่งกันและกัน ไม่กัดกินกันซึ่งกันและกัน เป็นมิตรกัน ในเมื่อเข้าไปในเขตรัศมีเมตตาของพระอัตตคุตเถระ เมื่อปาฏลีบุตรเดินผ่านสำนักของพระเถระแล้วก็ให้ความเคารพก็ลงจากวอทองคำ เดินเข้าไปในสำนักของพระเถระเพื่อที่จะไปทำการไต่ถามทุกข์สุขสนทนาธรรมกันตามวิสัยของสมณสารูป
ในขณะที่เข้าไปเห็นสัตว์ทั้งหลายมีเสือโคร่งเสือเหลือง มีสิงโต มีสุนัขจิ้งจอก มีกวาง มีเก้งอาศัยรวมกันอยู่แล้วก็เกิดความฉงนสนเท่ห์ขึ้นมาว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้แต่ก่อนนี้เป็นศัตรูกันทำไมจึงมาอาศัยอยู่ด้วยกันได้ ก็เลยเข้าไปถามพระอัตตคุตเถระว่า ท่านขอรับสัตว์เหล่านี้ชื่อว่ากระไรจึงมาอาศัยรวมกันได้ พระอัตตคุตเถระผู้เปี่ยมด้วยอภิญญาเมื่อจะทรงแสดงธรรมแก่ โสนาชีวก ก็ได้ตรวจอภิญญาใช้ อตีตังสญาณ ระลึกชาติหนหลังของโสนาชีวก ระลึกไปๆๆๆ พอระลึกไปถึงชาติที่โสนาชีวกเกิดเป็นงูเหลือมเคยได้ฟังธรรมเรื่องอายตนะก็เกิดความเข้าใจว่า ถ้าเราแสดงธรรมเรื่องอายตนะ คำว่า “อายตนะ” เท่านั้นแหละโสนาชีวกนี้ก็จะย้อนระลึกถึงธรรมเรื่องอายตนะ แตกฉานในธรรมเรื่องอายตนะนั้นก็จะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน แล้วก็จะได้เกิดศรัทธาเกิดความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ได้คุณอันใหญ่หลวงก็เลยกล่าวว่า ดูก่อนโสนาชีวกสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ชื่อว่า อายตนะ เพียงเท่านี้แหละธรรมทั้งหลายทั้งปวงที่เกี่ยวกับเรื่องอายตนะแตกฉานในขันธสันดารในจิตใจของโสนาชีวก เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้โสนาชีวกเกิดความเลื่อมใส เกิดหิริ เกิดโอตตัปปะ มีความละอาย มีความเกรงกลัวต่อบาป เพราะว่าตนเองเป็น อเจลกะ ก็นั่งยองยองลงเตรียมตัวจะกราบพระอัตตคุตเถระก็โยนผ้าอาบน้ำให้ โสนาชีวกก็นุ่งผ้าอาบน้ำ ขอบวชในสำนักของพระอัตตคุตเถระ เมื่อบวชแล้วก็ตั้งใจเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อเจริญวิปัสสนากรรมฐานแล้วก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดานก็เพราะอานิสงส์ของการฟังธรรมนั้น ในสมัยที่เป็นงูเหลือม คิดดูซิว่าอานิสงส์ของการฟังธรรมนั้นมันมีอานิสงส์มากมายขนาดไหน
หรือในเรื่องของค้างคาว ๕๐๐ ตัว ค้างคาว ๕๐๐ ตัวนั้นอาศัยอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง มีภิกษุที่ถือธุดงค์ เดินธุดงค์ไปแล้วก็ไปปักกลด แล้วก็ชำระหนทางเป็นที่เดินจงกรม ชำระหนทางที่จะไปอาบน้ำชำระที่อยู่ที่อาศัยเรียบร้อยแล้วก็ทำวัตร สวดมนต์ สาธยาย ขณะที่ทำวัตร สวดมนต์ สาธยายนั้น พระที่ถือธุดงค์นั้นก็สวดอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ตั้งแต่ กุสะลา ธัมมา อะกุสะลา ธัมมา อัพยากะตา ธัมมา กะตะเม ธัมมา ไล่ไปจนจบ เมื่อไล่ไปจนจบแล้วค้างคาวที่อยู่ในถ้ำนั้นก็ฟังธรรมเรื่อยไปๆ ตายไปจากชาตินั้นแล้วก็ไปเกิดในเทวดา จากเทวดาก็มาเกิดเป็นมนุษย์ จากมนุษย์แล้วก็ไปเป็นเทวดา ท่องเที่ยวไปอยู่อย่างนั้นสิ้นพุทธันดรหนึ่ง หลังจากองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอุบัติขึ้นมาตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ค้างคาวตัวนั้นก็ไปเกิดในเมืองสาวัตถี เจริญวัยขึ้นมาแล้วก็ออกบวชในสำนักของพระสารีบุตร เป็นลูกศิษย์ของพระสารีบุตร พระสารีบุตรเป็นผู้แตกฉานในอภิธรรม เพราะว่าพระสารีบุตรนั้นเป็นผู้มีปัญญามาก จึงแตกฉานในอภิธรรม ผู้ที่เป็นค้างคาวไปอยู่ในสำนักของพระสารีบุตรก็ได้เรียนเอาพระอภิธรรมนั้นได้คล่องแคล่วว่องไว แล้วก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน และสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในที่สุด อันนี้ก็เพราะอานิสงส์ของการฟังธรรม คิดดูซิเป็นงูเหลือมแท้ๆ ก็สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานในชาติที่เป็นโสนาชีวก เป็นค้างคาวแท้ๆ ก็ยังได้บรรลุมรรคผลนิพพานในสมัยที่ได้เป็นลูกศิษย์ของพระสารีบุตร ก็เพราะอานิสงส์ของการฟังธรรมนี้แหละ
ประการที่ ๔ เราฟังธรรมเพื่อปฏิบัติธรรมไปด้วย การฟังธรรมนั้นสามารถที่จะปฏิบัติธรรมไปด้วย คือในขณะที่เราฟังธรรมเราก็กำหนดหูว่าได้ยินหนอๆ หรือว่าเสียงหนอๆ หรือว่ากำหนดพุทโธ สัมมาอะระหัง อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ แต่ให้เราตั้งสติไว้ที่หูของเรา เราพิจารณาดูซิว่าบุคคลที่ได้บรรลุธรรมในทางพุทธศาสนานั้น ได้บรรลุธรรมด้วยการฟังธรรมนั้นเป็นส่วนมาก จะเป็นปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ก็ดี ก็บรรลุเพราะการฟังธรรม จะเป็นยสกุลบุตรพร้อมด้วยบิดามารดาภรรยา พร้อมด้วยสหายทั้ง ๕๕ คน ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ฟังครั้งที่ ๒ ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็เพราะการฟังธรรม ภัททวัคคีก็ดี ชฎิลหนึ่งพันสาม คนก็ดี พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยบริวาร ๑๑ นหุต คือ ๑๑ หมื่นก็ตาม พระสารีบุตรก็ดีก็เพราะอาศัยการฟังธรรมจึงได้บรรลุดวงตาเห็นธรรม เพราะฉะนั้นจึงถือว่าเราฟังธรรมไปด้วย ในขณะที่ครูบาอาจารย์ฟังธรรมนี้แหละ ขณะที่เสียงของผมบรรยายไปนี้เสียงของผมก็เป็นรูป หูของคณะครูบาอาจารย์ก็เป็นรูป ใจที่รู้ก็ถือว่าเป็นนาม ขณะที่ฟังธรรมนี้รูปนามมันก็เกิดขึ้นมาพร้อมแล้ว ขณะที่คณะครูบาอาจารย์กำหนดรูปนามมันก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ เกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นเรากำหนดรู้รูปนาม เสียงก็เป็นรูป หูก็เป็นรูป ใจที่รู้เสียง อาการของเราที่กำหนดว่าได้ยินหนอนี้ก็ถือว่าเป็นนาม รูปนามมันเกิดขึ้นมากับเรา เกิดดับๆๆ ถ้าเราสามารถกำหนดความเกิดดับของเสียงได้ เราก็สามารถที่จะได้ฌานสมาบัติ ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นถ้าเราฟังไปด้วยกำหนดไปด้วย เราก็สามารถที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เหมือนกับอย่างเรื่องของพระพาหิยทารุจีริย
มีเรื่องเล่าไว้ว่า ในตระกูลหนึ่ง มีบิดามารดาแล้วก็มีบุตรชายคนหนึ่งอยู่กัน ต่อมาลูกชายเจริญวัยขึ้นมาบิดาก็ตายไป เมื่อบิดาตายไปแล้วลูกชายก็อยู่กับมารดาแล้วเมื่อเจริญวัยขึ้นมาแล้ว ลูกชายก็อยากจะไปค้าขายทางเรือ อยากเป็นพ่อค้าสำเภา แม่ก็ห้ามว่าแม่มีลูกอยู่คนเดียวถ้าลูกไปแล้วแม่จะอยู่กับใคร แม่ก็ไม่อนุญาตลูกก็ไม่ยอม ในที่สุดแม่เผลอ ลูกก็แอบไป หรือว่าหลบไปเพื่อค้าขายทางเรือเพื่ออยากจะร่ำอยากจะรวย ไม่อยากจะเห็นแม่ยากจนข้นแค้นอนาถาอีกต่อไป อยากจะร่ำจะรวยมาเลี้ยงแม่ อยากให้ชีวิตของแม่นั้นเจริญรุ่งเรืองก็แอบไปค้าขายทางเรือแล่นไปได้ ๗ วัน เรือนั้นก็อับปางเรือนั้นจมลง คนทั้งหลายก็แหวกว่ายสายธาร บางคนก็เป็นอาหารของเต่าและปลา บางคนก็ได้แผ่นกระดาน บางคนก็ได้ไม้ได้ท่อนไม้เพื่อที่จะแหวกว่ายสายธารนั้นขึ้นมาสู่ฝั่ง ส่วนพาหิยะ ทารุจีริยะ นั้นก็ได้แผ่นกระดานแผ่นหนึ่ง แหวกว่ายตามสายธารมาสิ้น ๗ วันก็มาถึงฝั่ง ฝั่งหนึ่งชื่อว่าสุปปารกะ เมื่อมาถึงฝั่งนั้นเสื้อผ้าของเขาก็หลุดลุ่ยออกมาแล้ว ไม่มีอะไรปกปิดร่างกาย แล้วเดินโซซัดโซเซขึ้นมาถึงฝั่งแม่น้ำชื่อว่าสุปปารกะ เข้าสู่หมู่บ้านแต่หมู่บ้านนั้นเป็นหมู่บ้านที่นับถือชีเปลือย นับถือบุคคลผู้ไม่นุ่งไม่ห่ม เรียกว่าบุคคลใดนุ่งลมห่มฟ้าบุคคลนั้นถือว่าเป็นพระอรหันต์ ก็เลยเกิดศรัทธาร้องป่าวโฆษณากันว่า พระอรหันต์ของเรามาแล้ว พระคุณเจ้าของเรามาแล้ว พากันนำจตุปัจจัยไทยธรรมต่างๆ ถวายกองพะเนินเทินทึก พาหิยะ ทารุจีริยะ ก็เสพสุขจตุปัจจัยไทยธรรมทั้งหลายเหล่านั้น ก็เลยคิดกระหยิ่มใจว่าเราไม่นุ่งไม่ห่มเขาก็ว่าเราเป็นพระอรหันต์ อย่ากระนั้นเลยเราจะถือเพศอย่างนี้ไปเลี้ยงชีวิตของเราก็จะดีล่ะ เราก็จะเสวยความสุขอยู่อย่างนี้ก็ดีแล้ว ร้อนถึงพระพรหมในสมัยที่ประพฤติปฏิบัติด้วยกันได้บรรลุเป็นพระอนาคามีแล้วก็ไปเกิดในสุทธาวาสพรหม ก็เลยเกิดความอยากจะสงเคราะห์เพื่อนที่เคยประพฤติปฏิบัติธรรมด้วยกัน ก็เลยมายืนอยู่บนอากาศเทศนาสั่งสอนบอกว่า ดูก่อนพาหิยะ เพศที่เธอถืออยู่นี้ไม่ใช่เพศที่เป็นพระอรหันต์นะ เป็นแค่อเจลกะ เป็นชีเปลือย พุทโธ อุปปันโน ธัมโม อุปปันโน สังโฆ อุปปันโน เมื่อพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์อุบัติขึ้นแล้ว อยู่ที่เมืองสาวัตถี เมื่อพาหิยะ ทารุจีริยะ ได้ฟังอย่างนั้นก็เกิดหิริโอตตัปปะ อยากจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยิ่งตั้งแต่ได้ยินเสียงของพรหมว่าพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้ว พระธรรมเกิดขึ้นแล้ว พระสงฆ์เกิดขึ้นแล้วที่เมืองสาวัตถี ก็วิ่งไปที่เมืองสาวัตถีเลยทั้งวันทั้งคืน บางคัมภีร์ก็ว่าไปด้วยฤทธิ์ของบุญ บางคัมภีร์ก็ว่าไปด้วยฤทธิ์ของเทวดา บางคัมภีร์ก็ว่าไปด้วยฤทธิ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็วิ่งทั้งคืน สิ้นระยะทาง ๑๒๐ โยชน์ ตอนเช้าก็ถึงเมืองสาวัตถีพอดี เมื่อถึงเมืองสาวัตถีแล้วก็ไปพบกับภิกษุรูปหนึ่งกำลังเดินจงกรมกลับไปกลับมาเพื่อบรรเทาความง่วง ภิกษุรูปนั้นรู้อาการเหน็ดเหนื่อยของพาหิยะ ก็เลยถามว่าท่านมาจากไหนท่านมาทางไกล ก็เลยตอบว่า กระผมมาจากท่าสุปปารกะ ห่างไกลตั้ง ๑๒๐ โยชน์ ท่านมาไกล ท่านเหนื่อย ท่านนั่งสินั่ง ท่านอาบน้ำ ท่านดื่มน้ำก่อน นวดเท้าอยู่ตรงนั้นที่พักอยู่ตรงนั้นบอกพาหิยะ
พาหิยะก็ไม่ยอมพักผ่อน บอกว่าถ้าข้าพเจ้าไม่เห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียก่อน ไม่ฟังธรรมเสียก่อน ข้าพเจ้าจะไม่ยอมทำอะไรทั้งสิ้นข้าพเจ้าจะไม่ยอมดื่มไม่ยอมกิน จะไม่ยอมทำทุกสิ่งทุกอย่าง ภิกษุรูปนั้นบอกอย่างไรก็ไม่ฟัง จึงบอกว่าถ้าอย่างนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงเสด็จไปบิณฑบาตเมืองสาวัตถี ถ้าท่านอยากจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านจงไปตามตรอกนี้เถิด ท่านไปตามซอยนี้เถิดท่านจะพบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พาหิยะก็ไปตามตรอกตามซอยที่ภิกษุรูปนั้นบอก เมื่อไปถึงแล้วเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้สง่างามด้วย มหาปุริสลักษณะ พร้อมด้วยอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ ผู้มีฉัพพรรณรังสีแผ่ไปกระทบเรือนกระทบบ้าน เป็นรังสีต่างๆ มีพระวรกายเหมือนกับทองคำ เดินสง่างามเหมือนกับช้างเดินเหมือนกับพรหมเดิน
เมื่อพาหิยะ ทารุจีริยะ เห็นอย่างนั้นก็เกิดปีติ รู้ว่ารูปนี้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่แล้ว แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็รู้ว่าพาหิยะนั้น เกิดศรัทธาในพระองค์ ก็ทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสีนั้นไปกระทบกายของพาหิยะ ทารุจีริยะ พาหิยะ ทารุจีริยะ ก็น้อมกายเข้าไปในพระฉัพพรรณรังสีของพระองค์ทรงแผ่ออกมา ก็ก้มลงกราบพระบาทอันเหมือนกับทองคำ ก็พนมมือกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงแสดงธรรมโปรดข้าพระองค์เถิด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ดูก่อนพาหิยะ ขณะนี้เราตถาคตกำลังบิณฑบาตอยู่ ให้ตถาคตนั้นไปถึงพระเชตวันเสียก่อนเธอค่อยฟังธรรม พาหิยะ ก็ไม่ยอม พาหิยะก็อ้อนวอนว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์เถิด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสว่า ในขณะนี้ตถาคตกำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่เป็นการไม่สมควร รอให้ตถาคตนั้นเสด็จไปถึงพระเชตวันเสียก่อนเธอจึงค่อยฟังธรรม แล้วพาหิยะก็ไม่ยอม อ้อนวอนครั้งที่ ๓ ว่า ถ้าข้าพระองค์รอพระองค์เสด็จไปถึงพระเชตวัน เกิดข้าพระองค์ตายเสียก่อน หรือว่าเกิดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดปรินิพพานเสียก่อน ข้าพระองค์ก็คงจะสูญเสียคุณอันยิ่งใหญ่หลวง พลาดจากคุณอันยิ่งใหญ่หลวงขอพระองค์ทรงเมตตาโปรดข้าพระองค์อยู่ตรงนี้เถิด
แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสว่า ดูก่อนพาหิยะ ถ้าอย่างนั้นเธอจงฟัง เธอจงสำเหนียก เธอจงศึกษาในพระศาสนาของเรานี้ว่า “เห็นสักแต่ว่าได้เห็น ยินสักแต่ว่าได้ยิน” พาหิยะก็กำหนดว่า “ได้ยินหนอๆ” หรือว่า “เสียงหนอๆ” “เห็นหนอๆ” ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ในไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็น เอตทัคคะ ในด้าน ขิปปาภิญญา คือ บรรลุเร็ว เมื่อพาหิยะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดานในเพศของฆราวาสแล้วก็กราบทูลลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าข้าพระองค์ขอบวชกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพิจารณาไคร่ครวญดูว่า พาหิยะนี้ไม่เคยทำทาน ไม่เคยถวายผ้า ไม่เคยถวายจีวร จะไม่ได้บวชในพระพุทธศาสนา ก็เลยบอกว่าคนบวชในพระพุทธศาสนาก็ต้องมีจีวรมีบาตร เธอจงไปแสวงหาจีวรเถิด พาหิยะก็ไปแสวงหาจีวร ขณะที่ไปแสวงหาจีวร นางยักษิณี เป็นคู่เวรคู่กรรมของพาหิยะ แปลงเป็นวัวมาขวิดในที่สุดพาหิยะก็ตาย ตายแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกจากเมืองสาวัตถี มาพบพาหิยะตายกองอยู่กับเลือด จึงตรัส ให้ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายพวกเธอจงทำการฌาปณกิจศพ ของพาหิยะ นี้แล้วก็สร้างเป็นพระธาตุเป็นเจดีย์ที่ทาง ๔ แพร่งบ้าง ๓ แพร่งบ้าง แล้วก็เอาอัฐิธาตุนี้ไปบรรจุไว้ให้คนสักการะบูชาจะเป็นประโยชน์อันใหญ่หลวงแก่มหาชน พอตอนเย็นภิกษุทั้งหลายก็ประชุมปรึกษาหารือกันในธรรมสภาศาลาว่า พาหิยะ ทารุจีริยะ ซึ่งเป็นอเจลกะ นั้นฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอบวชในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็ได้ตายในวันนี้ พาหิยะ ทารุจีริยะ ไปเกิดในที่ไหนหนอ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รู้วาระจิตของภิกษุทั้งหลายก็เสด็จไปตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลายพวกเธอสนทนาธรรมกันเรื่องอะไร ภิกษุทั้งหลายก็กราบทูลว่า ข้าพระองค์สนทนาธรรมในเรื่องพาหิยะว่า “ตายแล้วไปเกิดในที่ไหนหนอ” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า “บุตรของเรานิพพานแล้ว” ภิกษุทั้งหลายก็กราบทูลว่า “พระองค์ตรัสเรื่องอะไร พาหิยะได้ฟังธรรมแค่นั้นแล้วจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์อย่างไร” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เธออย่าประมาทธรรมที่เราตถาคตกล่าวออกไปนั้นว่าน้อยหรือมาก เพราะว่าบุคคลผู้ที่ตั้งใจฟังธรรมนั้น ฟังธรรมแม้จะน้อยก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสเทศนาแก่ภิกษุเหล่านั้น ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นจำนวนมาก นี้แลก็แสดงว่าการที่บุคคลฟังธรรมไปด้วย กำหนดไปด้วย ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
เพราะฉะนั้นการฟังธรรมนั้นจึงเป็นอุปการะแก่การประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นอย่างมาก มีอานิสงส์เป็นอย่างมาก มีอานิสงส์ทั้งในภพนี้ทั้งในภพหน้าและภพอย่างยิ่งคือ พระนิพพาน เพราะฉะนั้นคณะครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ญาติโยมทั้งหลาย เมื่อมีการฟังธรรมแล้วก็ขอให้ตั้งจิตตั้งใจฟังธรรม เหมือนอย่างที่โบราณาจารย์ทั้งหลายที่ท่านได้เคยทำมาแล้วนั้น จะเป็นงานมงคลก็ดี งานบวชก็ดีต่างก็ต้องมีการแสดงธรรม ถ้างานมงคลไหนไม่มีการแสดงธรรมเค้าก็ว่ามันจืด มันชืด มันไม่มีรสชาติ เพราะอะไร เพราะว่าโบราณาจารย์ท่านฉลาด เมื่อแสดงธรรมแล้วก็เป็นอุปนิสัย เป็นปัจจัยดังที่อาตมภาพได้กล่าวมาแล้วนี้ เพราะฉะนั้นวันนี้อาตมภาพได้น้อมนำเอาธรรมะในเรื่อง การฟังธรรมมาบรรยายประกอบการประพฤติปฏิบัติก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา
ในท้ายที่สุดนี้ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ขอจงเป็นผู้ที่เพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยจตุรพิธพรชัยทั้ง ๔ ประการ คืออายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ ธรรมสารสมบัติ มีดวงจิตสถิตมั่นในพระสัทธรรม นำตนให้พ้นจากทุกข์ ถึงสุขอันไพบูลย์ กล่าวคือมรรคผลนิพพานด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.