การภาวนา
ต่อไปก็เป็นชั่วโมงที่คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายจะได้นั่งภาวนา ตลอดถึงเราทั้งหลายจะได้เข้าสู่ความสงบ การภาวนานั้นก็มีจุดสำคัญ หรือว่ามีเคล็ดลับ หรือว่ามีอุบายที่จะทำให้การภาวนานั้นมันสำเร็จได้ง่าย
อุบายที่จะทำให้การภาวนาสำเร็จได้ง่ายนั้น ประการแรกโบราณาจารย์ท่านได้กล่าวไว้ว่า ให้พวกเราทั้งหลายนั้นตั้งใจ มีความตั้งใจ มีความมุ่งมั่น มีความฝ่าฟัน ที่เราจะกำหนดบทพระกรรมฐาน เราจะกำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” ก็ให้เรามีความจริงใจ มีความมุ่งมั่น มีความจดจ่อที่จะกำหนดให้ทันอารมณ์ของอาการพอง อาการยุบ หรือว่าเราจะกำหนด “พุทโธๆ” ลมหายใจเข้า “พุทธ” ลมหายใจออก “โธ” เราก็ต้องมีจิตใจจดจ่อมุ่งมั่นกับอารมณ์เหล่านั้น
สิ่งที่เราจะต้องกำหนดให้ได้ก็คือ ปัจจุบันธรรม ส่วนมากคนทั้งหลายทั้งปวงที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วจิตใจไม่สงบเป็นสมาธิ ก็เพราะว่าจิตใจนั้นแส่ไปในอารมณ์ต่างๆ คิดถึงอารมณ์ที่ดีบ้าง ที่ไม่ดีบ้าง คิดถึงอารมณ์ที่เป็นอดีตที่ล่วงมาแล้วที่ทำให้เกิดความโกรธบ้าง คิดถึงอารมณ์ที่ล่วงมาแล้วทำให้เกิดความรักบ้าง ทำให้เกิดความมัวเมาต่างๆ ถือว่าเป็นสิ่งที่ขัดขวางต่อการเจริญภาวนาของเรา
หรือบางรูปบางท่านเป็นผู้หนักในอนาคต เรานั่งอยู่ที่นี่แท้ๆ แต่เราคิดไปถึงอนาคต ว่าอนาคตเราจะทำอย่างโน้น อนาคตเราจะทำอย่างนี้ อันนี้เป็นลักษณะของการคาดคะเน หรือว่าวางแผนล่วงหน้า อันนั้นมันเป็นกิจการงานทางโลก แต่กิจกรรมในทางธรรมจริงๆ แล้วท่านให้กำหนดทันปัจจุบันธรรม ให้กำหนดให้ทันอารมณ์ให้มีสติ ให้มีสัมปชัญญะรู้ทันอารมณ์ อันนี้เป็นประการที่ ๑
ประการที่ ๒ นั้น ขณะที่ภาวนาเราต้องทำจิตทำใจของเราให้วางเฉย ไม่มีความโกรธ ไม่มีความโลภ ไม่มีความหลง หรือไม่มีความลังเลสงสัยอะไรต่างๆ ทำจิตของเราให้เป็นกลาง ปล่อยวาง ให้มีสติทันปัจจุบันธรรมอยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นจุดหรือว่าเป็นสาระ หรือว่าเป็นเคล็ดลับในการที่เราจะกำหนดบทพระกรรมฐานให้จิตใจของเราสงบเป็นสมาธิ
เมื่อจิตใจของเราสงบเป็นสมาธิแล้ว ขั้นตอนต่อไปนั้นแหละจึงจะเป็นขั้นตอนของการเจริญฌานบ้าง เจริญวิปัสสนาบ้าง
เพราะฉะนั้นญาติโยมคณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่มาร่วมกันประพฤติปฏิบัติธรรม ก็ขอให้เรามีความจริงใจ มีความมุ่งมั่น เรามาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ถือว่าเราเป็นผู้ที่โชคดี ถือว่าเป็นผู้มีบุญวาสนาบารมีแล้ว เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นก่อให้เกิดประโยชน์อะไรต่างๆ นั้นมากมาย
เราทั้งหลายเป็นทุกข์อยู่ทุกวันนี้ก็เพราะว่าเรานั้นประพฤติปฏิบัติธรรมน้อย เราได้เวียนว่ายตายเกิดในมหรรณพภพสงสารอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะว่าเรานั้นประพฤติปฏิบัติธรรมน้อย เรามีความโกรธ เรามีความโลภ เรามีความหลงอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะว่าเรานั้นประพฤติปฏิบัติธรรมน้อย เรามีความเกลียด ความชัง ความยึดมั่น อุปาทานกันอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะว่าเรานั้น มีการภาวนามาน้อย
แต่ถ้าบุคคลใดมีการภาวนามาดีบุคคลนั้นก็จะมีจิตใจที่ปล่อยวาง ประกอบไปด้วยเมตตาอารีต่างๆ หรือว่ามีจิตใจประกอบไปด้วยปัญญา
เพราะฉะนั้นบุคคลทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นมามีทุกข์อยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะว่ามีการเจริญภาวนาน้อย ผู้ที่สมบูรณ์ไปด้วยการเจริญภาวนา เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนกับเหล่าพระอรหันตสาวกทั้งหลายทั้งปวง บุคคลเหล่านั้นเรียกว่าพ้นไปจากความทุกข์ พ้นไปจากความกันดารทั้งหลายทั้งปวงแล้ว
เพราะฉะนั้นพวกเราทั้งหลายที่มาประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าเราตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม สิ่งต่างๆ นั้น ความไม่ดีก็ดี ความดีก็ดีมันอยู่ที่การประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะปฏิบัติธรรมนั้นเป็นเหตุให้คุณงามความดีทั้งหลายทั้งปวงนั้นเกิดขึ้นมา เช่นเรามาประพฤติปฏิบัติธรรม
ขณะที่เรามาประพฤติปฏิบัติธรรมที่กายของเรา ที่วาจาของเรา ที่ใจของเรา เมื่อเรากำหนด กาย วาจา ใจของเรา ย่อลงมาก็เหลือรูปกับนาม ขณะที่กายของเรามันนิ่ง เหมือนกับคณะครูบาอาจารย์ของเรากำลังนั่งนิ่งอยู่ เราบริกรรมไปๆ เราก็จะเห็นจิตใจของเราที่วิ่งว่อนไปมา คิดถึงอารมณ์นั้นบ้าง คิดถึงอารมณ์นี้บ้าง บางครั้งเราก็ดึงจิตกลับมา จิตมันวิ่งออกไปเราดึงจิตกลับมา
ใหม่ๆ บุคคลที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นจะคิดถึงบาป คิดถึงเป็ด ไก่ ที่ตนเองเคยฆ่า คิดถึง กุ้ง หอย ปู ปลา ที่ตนเองไปหามาอยู่มากิน บางครั้งก็คิดถึงอารมณ์ที่ทำให้พ่อแม่ต้องร้องห่มร้องไห้ คิดถึงที่เราต้องเถียงครูบาอาจารย์ คิดถึงเราต้องประหัตประหารในขณะที่เราเป็นญาติเป็นโยมอย่างนี้ก็มี
อันนี้เป็นลักษณะของบุคคลผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมใหม่ๆ จิตหยาบ หรือว่าจิตที่เป็นบาปนั้นมันจะปรากฏขึ้นมา เราก็กำหนดรู้ “คิดหนอๆ” เรากำหนดลงที่ใจของเรา “คิดหนอๆ” บาปที่เรากำหนดรู้นั้นแหละมันก็จะเบาลงไปๆ
สติของเรานี้แหละที่จะชำระล้างความไม่ดีทั้งหลายทั้งปวงให้ออกไปจากจิตจากใจของเรา เพราะว่าร่างกายของเราสกปรกเราก็ชำระด้วยการอาบน้ำถูสบู่ เราชำระล้างสิ่งเหล่านี้ เราสามารถที่จะชำระล้างความสกปรกเหล่านั้นออกไปได้ ถ้าใจของเราสกปรก เราจะเอาสบู่ เราจะเอาน้ำมาชำระ เราจะอาบน้ำตั้งแต่วันเกิดจนถึงวันตาย ใจของเราก็ไม่สามารถที่จะสะอาดได้ เพราะว่าน้ำนั้นเป็นวัตถุ เป็นรูปธรรมจะสามารถที่จะชำระใจที่เป็นนามธรรมได้อย่างไร
เพราะฉะนั้นบาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงที่อยู่ในใจของเรานั้นแหละ เราจะเป็นคนทิฏฐิมานะก็ดี เราจะเป็นคนชอบโกรธก็ดี หรือว่าเราจะเป็นคนเจ้าราคะก็ดี หรือว่าเราจะเป็นคนชอบเพลิดเพลินสนุกสนาน ไม่สนใจในเรื่องธรรมะอะไรต่างๆ ก็ดี เราก็อาศัยสตินี้แหละเป็นเครื่องชำระเรียกว่าชำระใจของเรา
ขณะที่เรากำหนดว่า “คิดหนอๆ” หรือว่า “ฟุ้งซ่านหนอๆ” “รำคาญหนอๆ” “โกรธหนอๆ” เป็นต้น ตามอารมณ์ของจิตใจที่มันปรากฏขึ้นมา บาปกรรม คือ ความโกรธ หรือมานะ ความถือตัวต่างๆ เหล่านั้น มันก็จะแผ่วลงไป เบาลงไป ลดลงไป น้อยลงไป ในที่สุดบาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นมันก็จะหมดไปจากจิตจากใจของเรา ด้วยอานุภาพของสติ
ยกตัวอย่างบุคคลผู้ที่เคยทำบาป อย่างเช่นไปเบียดเบียนผู้หญิง ทำให้เขาต้องเสียอกเสียใจ เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมภาพเหล่านั้นมันก็ปรากฏขึ้นมา เราเคยฆ่าเป็ด ฆ่าไก่ ด้วยจิตแรงใจแรง ในสมัยที่เราเป็นญาติเป็นโยม เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรม บาปกรรมเหล่านั้นมันจะปรากฏขึ้นมา
บาปกรรมเหล่าใดที่มันมีผลมาก มีกำลังมาก บาปนั้นแหละมันจะขัดตัดเอาก่อน มันจะปรากฏขึ้นมา เมื่อสิ่งเหล่านี้มันปรากฏขึ้นมาแล้วเรากำหนด “คิดหนอๆ” “เห็นหนอๆ” ถ้ามันปรากฏเป็นนิมิตเราก็กำหนดว่า “เห็นหนอๆ” กำหนดที่ตาของเรา แต่ถ้ามันเป็นอารมณ์ที่ปรากฏชัดเจนเราก็กำหนดที่ใจของเรา “คิดหนอๆ” ตามอารมณ์ที่มันปรากฏ บาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้มันก็จะเบาลงไปๆ ในที่สุดบาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้มันก็จะหมดไป
ทำไมจึงกล่าวอย่างนั้น ทั้งๆ ที่เรายังไม่ได้ไปใช้กรรมในนรก ทั้งๆ ที่เรายังไม่ได้ไปใช้กรรมในอบายภูมิ ทำไมบาปกรรมเหล่านี้ถึงหมดลงไปได้ มันจะไม่เป็นการโกหกหรืออะไรทำนองนี้ คณะครูบาอาจารย์ญาติโยมอาจจะคิด ไม่ได้โกหกหรือว่าไม่ได้พูดเท็จประการใด แต่ถ้าเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมเราก็จะรู้ซึ้งแก่ใจของเราเอง
คือขณะที่เราเห็นบาปกรรมเหล่านั้นมาปรากฏขัดขวาง เมื่อเรากำหนด “คิดหนอๆ” บาปกรรมเหล่านั้นมันก็เริ่มลดลงไป จิตใจของเราเริ่มสบายขึ้น บาปกรรมมันลดลงไป ใจของเราสบายขึ้น ในที่สุดเราคิดถึงบาปกรรมที่เราเคยทำไว้แต่ก่อนโน้น ใจของเรามันก็สบายๆ เหมือนเดิม
แต่ก่อนโน้นเราคิดแล้วจิตใจมันเศร้าหมอง คิดแล้วจิตใจของเรามันลำบากใจ น้อยใจ คิดว่าเราไม่น่าจะไปทำบาปอย่างโน้น เราไม่น่าจะไปทำบาปอย่างนี้ เราเป็นผู้ประมาทแล้วหนอ เราเกิดมาแทนที่จะมาบวชเลย มาบวชในพระพุทธศาสนา ใต้ร่มเงาของพระพุทธเจ้าเลย แต่นี้เราต้องไปฆ่าเป็ด ฆ่าไก่ ฆ่ากุ้ง หอย ปู ปลา ต้องไปทำบาปอย่างโน้น ทำบาปอย่างนี้ เราจะไม่เสียใจเพราะว่าจิตใจของเรานั้นเป็นจิตใจที่สะอาดแล้ว บาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น ไม่ทำให้จิตใจของเราหม่นหมองได้ อันนี้ก็ด้วยอำนาจของสติ
แต่ถ้าบุคคลใดมีสติไม่ดี ไม่ตั้งใจกำหนด จะยืน จะเดิน จะนั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ไม่มีสติกำหนด จิตใจฟุ้งซ่าน จิตใจรำคาญ บาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นก็ยังเหลืออยู่เหมือนเดิม จะปฏิบัติเป็น ๕ ปี ๑๐ ปี เป็น ๒๐ ปี ๓๐ ปี ก็ไม่สามารถที่จะบรรเทาบาป ลดบาป ละบาปในจิตในใจของตนเองได้
เพราะฉะนั้นคณะครูบาอาจารย์ที่มาประพฤติปฏิบัติธรรม เรามาประพฤติปฏิบัติธรรม เดินจงกรม นั่งภาวนานี้ ไม่ใช่การกระทำของคนโง่ ไม่ใช่การกระทำของคนไม่มีการงาน หรือว่าไม่ใช่เป็นการกระทำของบุคคลสิ้นความคิด อันนี้ถือว่าเป็นหลักปฏิบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือว่าเป็นหลักปฏิบัติของบุคคลผู้เป็นเลิศกว่า มนุษย์ เทวดา และพรหมทั้งหลาย
ถ้าเราคิดในลักษณะอย่างนี้ เราก็จะเกิดความอาจหาญ เกิดความร่าเริง เกิดความองอาจ เกิดความแกล้วกล้า สง่าผ่าเผยในการประพฤติปฏิบัติธรรม
บางคนบางท่านก็คิดว่าการประพฤติปฏิบัติธรรม เราจะมายืน มาเดิน มานั่ง ไม่มีการทำการทำงาน มันจะเจริญได้อย่างไร สังคมของเราจะเจริญได้อย่างไร สังคมของเราจะอยู่รอดได้อย่างไร บางคนบางท่านอาจจะคิดอย่างนั้น แล้วจะเกิดความพ้นทุกข์ ถึงสันติสุข มีความสุข มีความอิ่มใจได้อย่างไร สังคมจะร่มเย็น พระศาสนาจะเจริญได้อย่างไร อันนี้บางคนก็คิด ตามองเห็นแล้วก็คิด หูได้ฟังเสียงแล้วก็คิด แต่ไม่ยอมประพฤติปฏิบัติธรรมดู บางครั้งบางอย่างก็ไม่เข้าใจ
เพราะว่าพระพุทธศาสนาของเรานั้นไม่สามารถที่จะทำความเข้าใจ ด้วยการดู การเห็น การคิดเพียงอย่างเดียว พระพุทธศาสนาของเรานั้นต้องเข้าใจด้วยการรู้แจ้งเห็นจริง บรรลุมรรคผลนิพพาน จึงจะเข้าใจในเรื่องพระพุทธศาสนาได้เอง เพราะฉะนั้นบางคนบางท่านก็อาจจะคิดในลักษณะอย่างนี้
แต่เมื่อเรามาลองเดินจงกรม นั่งภาวนา มีสติทันปัจจุบันธรรม มีสติทันอารมณ์ต่างๆ เราก็มีสติระลึกได้ว่า เหตุแห่งความสุขก็ดี เหตุแห่งความทุกข์ก็ดี เหตุแห่งความดีก็ดี เหตุแห่งความชั่วก็ดี มันอยู่ที่จิตใจของเรานี้เองไม่ได้อยู่ที่อื่น เป็นสิ่งที่ติดตามเราอยู่ตลอดเวลา ตามตัวของเราอยู่ตลอดเวลา เราจะไปไหนๆ ความดี ความชั่ว ก็ไปกับเราอยู่ตลอดเวลา ความประมาทมันก็ไปกับเราอยู่ตลอดเวลา กิเลสมันก็ไปกับเราอยู่ตลอดเวลา ธรรมะมันก็ไปกับเราอยู่ตลอดเวลา เรายืน เดิน นั่ง นอน กิเลสมันก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของมัน ธรรมะมันก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของมัน คือ จิตใจของเรานี้แหละ เป็นเหตุแห่งความดี ความชั่ว เป็นที่ตั้งของกิเลส ตัณหา เป็นที่ตั้งของบุญ เป็นที่ตั้งของธรรมะ มันอยู่ที่ใจของเรานี้เอง
เพราะฉะนั้นความทุกข์ก็ดี ความสุขก็ดี ก็อยู่ที่ใจของเรา เมื่อเราประพฤติปฏิบัติธรรมไปๆ ความไม่พอใจมันอยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจของเรา ความโกรธมันอยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจของเรา จิตใจเลื่อมใสศรัทธาอยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจของเรา เรียกว่าจิตใจที่เมตตาอารีประกอบไปด้วยบุญกุศลอยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจของเรา นี้เรียกว่า คุณงามความดีก็ดี ความชั่วก็ดี ก็อยู่ที่ใจของเรา
เมื่อเราประพฤติปฏิบัติธรรมเห็นความดี ความชั่ว ที่มันเกิดขึ้นในจิตในใจของเราแล้วก็ละชั่ว กระทำดี สร้างสมอบรมคุณงามความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาเพราะการปฏิบัติกรรมฐาน
แต่ถ้าบุคคลใดไม่เคยปฏิบัติ ไม่เคยเจริญภาวนาแล้วจะรู้ได้อย่างไร ว่าจิตใจของเราออกไปอยู่กับอารมณ์ต่างๆ ตื่นขึ้นมาแล้วก็มีอารมณ์นั้นจรเข้ามา อารมณ์นี้จรเข้ามา ลืมนึกถึงเหตุแห่งความดี ความชั่ว บุคคลเหล่านั้นสามารถจะพ้นไปจากความทุกข์ได้อย่างไร จะเกิดกี่ภพ กี่ชาติ จะเกิดกี่กัป กี่กัลป์ ก็ไม่สามารถที่จะพ้นไปจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงได้ เพราะอะไร เพราะว่าบุคคลเหล่านั้นเดินทางผิด ไม่หวนระลึกนึกถึงบทพระกรรมฐานที่พวกเราทั้งหลายได้ประพฤติปฏิบัติอยู่
เพราะฉะนั้นคนจะดีหรือไม่ดีนั้นก็อยู่ที่การอบรมจิตใจ ถ้าจิตใจของบุคคลนั้นดี จะพูดอย่างไรก็ถือว่าดี จะทำอย่างไรก็ถือว่าดี จะคิดอย่างไรก็ถือว่าดี เพราะว่าจิตใจนั้นบริสุทธิ์แล้วไม่แปดเปื้อน ปนเปื้อนไปด้วยสังกิเลสธรรมทั้งหลายทั้งปวง แต่ว่าถ้าบุคคลใดจิตใจไม่ดีแล้ว แม้จะพูดนุ่มนวล แม้จะพูดดี แต่ว่าจิตใจข้างในนั้นสกปรกเลอะเทอะไปด้วยกิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวง ถึงจะพูดดีแต่เรียกว่า ปากปราศรัย น้ำใจเชือดคอ หรือว่าเห็นหน้าไม่รู้ใจ อะไรทำนองนี้ สังคมในทุกวันนี้ก็จะเป็นในลักษณะอย่างนี้ เอาการพูด การจา การแต่งกาย การประดับประดานั้นเข้าหากัน แต่งกายดี พูดจาไพเราะ มีรถยนต์ดี มีบ้านหลังใหญ่ มียศถาบรรดาศักดิ์ที่เป็นหลักเป็นแหล่งก็เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของสังคม แต่บางครั้งสังคมหารู้ไม่ บุคคลนั้นอาจจะเต็มไปด้วยกิเลสตัณหา หรือว่าอาจจะเต็มไปด้วยความคิดไม่ดีต่างๆ ในจิตในใจของบุคคลนั้นก็ได้
เพราะฉะนั้นบุคคลที่ไม่เคยเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น จึงไม่สามารถที่จะเข้าใจหรือว่ารู้เห็นสภาพแห่งความเป็นจริงของจิตใจของเราได้ พวกเราทั้งหลายที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมในที่นี้ ถือว่าพวกเราทั้งหลายนั้นมาค้นคว้าตามหลักของพระพุทธศาสนา มาค้นคว้าเพื่อที่พ้นไปจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นมาจากใจของเรา ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นมาจากการกระทำ อันนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ ที่เราทั้งหลายมาเกิดทุกวันนี้ จะเกิดเป็นคนจนก็ดี จะเกิดเป็นคนรวยก็ดี ก็ล้วนแต่สิ่งที่พวกเราทั้งหลายนั้นทำมา จะเกิดเป็นคนขี้ริ้วขี้เหร่ สดสวยงดงาม ก็ล้วนแต่กรรมทั้งหลายที่พวกเราได้ทำมา จะเกิดเป็นคนโง่ คนฉลาด คนปราดเปรื่อง เรืองปัญญา เป็นครู เป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ล้วนแต่สิ่งที่เราทั้งหลายได้บำเพ็ญมา
บางคนบางท่านเกิดมาแล้วเป็นคนง่อยเปลี้ยเสียขา เป็นคนทุกข์ เป็นชาวไร่ ชาวนา สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่เราได้กระทำมาด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นเกิดจากมูลเหตุ คือ มโน คือ ใจของเรานี้เอง เราทั้งหลายได้มาอบรมให้ใจของเราทั้งหลายนั้นเกิดความศรัทธา เกิดความเลื่อมใส รู้เหตุรู้ผล รู้เท่ารู้ทันคุณงามความดี รู้เท่ารู้ทันความชั่วทั้งหลายทั้งปวง ก็ถือว่าเรานั้นเป็นผู้ที่ฝึกฝนอบรม เพื่อที่จะทำความเจริญให้เกิดขึ้นแก่เรา ทำความสุขให้เกิดขึ้นแก่เรา ทำภพทำชาตินั้นให้น้อยลงแล้ว
หรือว่าเราพิจารณาดูว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงพ้นทุกข์โดยประการใด พระอริยสาวกทั้งหลายทั้งปวงพ้นทุกข์โดยประการใด พระองค์ทรงไม่ได้พ้นทุกข์ด้วยรูป หรือว่าด้วยเสียง ด้วยกลิ่น ด้วยรส อะไรต่างๆ ไม่ได้พ้นทุกข์เพราะความที่มียศใหญ่ แม้เป็นพระมหากษัตริย์ก็ไม่สามารถที่จะพ้นทุกข์ได้ แม้แต่เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เหาะเหิน เดินอากาศ ด้วยจักรอันเป็นทิพย์ มีฤทธานุภาพต่างๆ ก็ไม่สามารถที่จะพ้นทุกข์ได้
แต่เมื่อพระองค์ทรงฝึกจิตของพระองค์นั้นให้พ้นไปจาก ราคะ โทสะ โมหะ นั้นแหละ พระองค์จึงพ้นไปจากความทุกข์ได้ พระองค์ทรงมองเห็นว่าเหตุแห่งความทุกข์ที่แท้จริงก็คือ ความโกรธ ความโลภ ความหลง คือจิตใจของเรานี้แหละที่ไม่มีเหตุผล หมกมุ่นอยู่ในอารมณ์เหล่านี้ ก็เป็นเหตุให้เราต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ต้องประหัตประหาร ต้องเถียง ต้องด่า ต้องฆ่า ต้องฟันกัน ต้องไปหาปู หาปลา หาเป็ด หาไก่มากิน ต้องมีลูก มีบ้าน ต้องมีสามี มีภรรยา ก็ล้วนแต่ตัณหาด้วยกันทั้งนั้น ไม่ใช่ธรรม แต่เป็นตัณหา
ตัณหาทำให้เราต้องไปมีครอบครัว มีลูก มีหลาน ผูกพันกับลูก กับหลาน สร้างบ้านสร้างเรือนล้วนแต่เป็นตัณหา ล้วนแต่เป็นกิเลสทั้งนั้น เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้มองไปที่จิตของเรา ให้เพ่งไปที่จิตของเรา ให้พิจารณาไปที่จิตของเรา ให้ทำความเข้าใจที่จิตของเรา ให้ทำความรู้แจ้งที่จิตของเรา มีสัมปชัญญะอยู่ที่จิตใจของเรา รู้เท่า รู้ทัน รู้เห็น รู้แจ้ง อยู่ที่จิตใจของเรา
เราอย่าไปมองไปที่อื่น อย่ามองว่าคนนี้ดี คนนี้ไม่ดี คนนี้ชั่ว คนนี้ไม่ชั่ว คนนี้ไม่น่าจะทำอย่างโน้น คนนี้ไม่น่าจะทำอย่างนี้ อันนั้นมันเป็นอุปนิสัยเป็นจิตใจของเขา แต่ถ้าเราทำดีอย่างน้อยๆ เราก็ดี บุคคลที่มาคุยกับเราอย่างน้อยๆ เขาก็ได้คุยกับคนดี บุคคลที่มาสนทนากับเราอย่างน้อยๆ ก็ได้สนทนากับคนดี อันนี้ก็ถือว่าเป็นการทำดี แก่เพื่อนร่วมชาติ ร่วมเกิด ร่วมแก่ ร่วมเจ็บ ร่วมตาย เป็นการทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่สังคม นำความเย็นมาสู่ชาวบ้านชาวนิคม นำความเย็นมาสู่เพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตายแล้ว
เพราะฉะนั้นการที่เราทั้งหลายได้มาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น เราจึงมาเพ่งอยู่ที่จิตของเรา มาพัฒนาจิตใจของเรา เราจะพัฒนาอะไรก็ผิด ถ้าจิตไม่พัฒนา นี้โบราณท่านกล่าว ครูบาอาจารย์ท่านกล่าวไว้ เราจะพัฒนาบ้าน จะสร้างถนนหนทาง แต่ว่าจิตใจของเราไม่พัฒนา บางครั้งเราอาจจะกินหิน กินทราย กินปูน กินเหล็ก อะไรทำนองนี้ต่างๆ ก็ได้ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่าจิตของเราไม่พัฒนา เห็นงบประมาณเห็นอะไรมาก็อาจจะเกิดความโลภขึ้นมา เราก็อาจจะคดโกงฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างนั้นก็ได้ เพราะอะไร เพราะว่าจิตใจของเราไม่พัฒนา
ถ้าเราจะพัฒนาลูก พัฒนาหลาน เราจะพัฒนาลูกศิษย์ลูกหาที่อยู่วัดอยู่วา แต่ถ้าจิตใจของเราไม่พ้น หรือว่าจิตใจของเรายังไม่พัฒนา เราจะพัฒนาบุคคลเหล่านั้นได้อย่างไร เพราะว่าบุคคลเหล่านั้นเต็มไปด้วยกิเลส เต็มไปด้วยความถือตัว เต็มไปด้วยทิฏฐิมานะ เต็มไปด้วยราคะ โทสะ โมหะ ต่างๆ เราจะไปพัฒนาคนเหล่านั้นเป็นการพัฒนาได้ยาก การพัฒนาก็ล้มเหลว พัฒนาแค่กฎระเบียบ พัฒนาได้แค่การบอกการกล่าวกันเท่านั้นแต่คุณค่า หรือคุณภาพในการพัฒนานั้นพัฒนาไม่ได้ เพราะว่าใจของเราไม่พัฒนา เป็นในลักษณะที่ตาบอดจูงตาบอดจะจูงไปอย่างไรที่ไหนได้ เพราะว่าผู้จูงก็ตาบอด บุคคลผู้เดินตามก็ตาบอด ตาบอดจูงตาบอดนั้นก็จูงไม่ได้ หรือว่าเตี้ยอุ้มค่อม ตัวเองเตี้ยอยู่แล้วก็ยังไปอุ้มคนค่อมจะไปที่ไหนได้
เพราะฉะนั้นการที่เราทั้งหลายได้มาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ จึงถือว่าเป็นสิ่งที่พวกเราทั้งหลายนั้นกระทำตามพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นการประพฤติประโยชน์แก่ชาวโลกทั้งหลายทั้งปวง
บุคคลที่เกิดขึ้นมาแล้วถ้าบุคคลใด เมื่อไม่ได้พัฒนาจิต หรือว่าไม่ได้ฝึกฝนอบรมจิต บุคคลนั้นก็เป็นบุคคลที่น่ากลัว สามารถที่จะฆ่าบิดาก็ได้ สามารถที่จะฆ่ามารดาก็ได้ สามารถที่จะเป็นโจรทำร้ายต่างๆ เผาบ้านเผาเมืองต่างๆ ได้ เพราะอะไร เพราะว่าจิตใจของบุคคลนั้นไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ ไม่มีความเกรงกลัวต่อบาป ไม่มีความเกรงกลัวต่อผลของบาป หรือว่าไม่มีความละอายต่อตนเองในการทำความไม่ดีทั้งหลายทั้งปวง
เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ที่มาประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าเราเดินจงกรม มีสมาธิ นั่งภาวนา มีสมาธิ มีสติ ทันปัจจุบันธรรมแล้วเราจะมีหิริความละอายต่อบาป โอตตัปปะความเกรงกลัวต่อบาป เราจะคิดว่าถ้าเราทำบาป ก็บวชมานานขนาดนี้แล้ว เราทำบาปอย่างนี้มันจะสมควรแก่เราหรือเปล่าหนอ มีลูกศิษย์ลูกหา มีญาติมีโยมมากราบมาไหว้ ถ้าเราไปทำบาปอย่างนี้มันจะคู่ควรไหมหนอ เราจะไปกินข้าวเย็น มันจะสมควรหรือเปล่าหนอ ถ้าเทวดาผู้มีหูแก้วตาทิพย์เห็นเขาจะกราบจะไหว้เราหรือเปล่าหนอ เราก็เกิดความหิริขึ้นมา เกิดความละอายขึ้นมา เกิดความกลัวขึ้นมา
หรือว่าถ้าเราพิจารณาไปว่าเราเป็นลูกของโยมแม่นี้ ลูกของโยมพ่อนี้ ถ้าเราทำความไม่ดีไปโยมแม่จะละอายขนาดไหนหนอ โยมพ่อจะเกิดความละอายขนาดไหนหนอ วงศ์ตระกูลของเราจะเสื่อมเสียขนาดไหนหนอ นี้มันก็เกิดความละอายขึ้นมา เกิดความเกรงกลัวขึ้นมา
หรือว่าเราเรียนเปรียญธรรมตั้ง ๙ ประโยค ๘ ประโยค ๗ ประโยค ๖ ประโยค ๕ ประโยค หรือเราเรียนนักธรรมตรี ธรรมโท ธรรมเอกมาแล้ว เรามีความรู้ขนาดนี้แล้ว เราจะมาโปรดอย่างนี้ เราจะมาประพฤติผิดธรรมวินัยอย่างนี้ มันจะสมควรหรือเปล่าหนอ นี้มันก็คิดขึ้นมาก็เกิดความละอาย เกิดโอตตัปปะ เกิดความเกรงกลัวต่อผลของบุญของบาปขึ้นมา อันนี้มันเป็นลักษณะของการที่เกิดขึ้นมาจากการภาวนา นี้มันเกิดขึ้นมาด้วยอานุภาพของสติ ด้วยอานุภาพของสมาธิที่มันเกิดขึ้นมาในจิตในใจของเรา
หรือบางครั้งบางท่าน เรามีสหธรรมิกมีคณะครูบาอาจารย์ที่ดี เป็นผู้มีศีล มีธรรม ถ้าเราไม่มีศีลมีธรรมเราจะอยู่ในคณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายทั้งปวงได้อย่างไร คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายทั้งปวงจะคบหากันได้อย่างไร นี้เราก็เกิดความหิริ เกิดโอตตัปปะ เกิดสติ เกิดความยั้งคิดขึ้นมา เราก็สามารถที่จะตั้งตนเป็นคนดีได้ อันนี้ก็ด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ด้วยการเจริญภาวนา
เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายที่ได้มาประพฤติปฏิบัติธรรม ก็ถือว่าพวกเราทั้งหลายนั้นได้ก้าวเข้ามาสู่เส้นทางแห่งความดี ก้าวเข้ามาสู่เส้นทางแห่งความเย็น ก้าวเข้ามาสู่เส้นทางแห่งความสงบ ก้าวเข้ามาสู่เส้นทางแห่งความสุข ก้าวเข้ามาสู่เส้นทางที่เราทั้งหลายนั้นจะพ้นไปจากความทุกข์ได้แล้ว
เพราะฉะนั้นก็ขอให้พวกเราทั้งหลายได้ทำเส้นทางที่เรากำลังเดินนี้ให้ดี ไม่มีเส้นทางเส้นไหนที่จะประเสริฐกว่าการประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าเราประพฤติปฏิบัติธรรมจริงๆ แล้ว เมื่อจิตใจพ้นไปจริงๆ แล้วมันก็ไม่มีอะไร แต่ก่อนโน้นเราประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างนั้นก็ทำไม่ได้ อย่างนี้ก็ทำไม่ได้ ในเมื่อจิตใจของเราไม่พ้น ไหนก็ติดอยู่ที่อารมณ์โน้น ไหนก็ติดอยู่ที่อารมณ์นี้ เดี๋ยวก็คิดอย่างโน้น เดี๋ยวก็คิดอย่างนี้ เดี๋ยวก็มีอารมณ์โน้นมาขัดขวาง อารมณ์นี้มากั้นกลาง สิ่งเหล่านี้เป็นกิเลสทั้งนั้น
ในเมื่อจิตใจของเรายังไม่พ้นมันก็เป็นลักษณะอย่างนั้นแหละ เดี๋ยวก็ความโกรธมันมากั้น เดี๋ยวก็ราคะมันมาตัน ตันทางของเราไว้ บางครั้งก็ความผูกพันในพ่อในแม่ในสามีในลูกภรรยา มาผูกพันมาดึงมารัดไว้ สติของเราก็ไม่สมบูรณ์ สัมปชัญญะของเราก็ไม่สมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้แหละมันมาผูกพันเราไว้ มาดึงเราไว้
บางครั้งก็หวนระลึกถึงอารมณ์โน้น หวนระลึกถึงอารมณ์นี้ เวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรมเราก็ประพฤติปฏิบัติธรรมไปไม่ได้ เรียกว่าห่วงหาอาลัยในอารมณ์ของโลก คนหลงโลกก็คือต้องหลงอารมณ์ คนหลงอารมณ์ก็คือคนหลงโลก ก็หลงกันอยู่อย่างนี้ ผูกพันหมุนเวียนกันอยู่อย่างนี้ จิตใจของเรายังไม่พ้นไปจากกระแสแห่งกงกรรม ยังไม่พ้นไปจากกระแสแห่งอารมณ์ กระแสแห่งกงกรรมก็ดี กระแสแห่งสังสารวัฏก็ดี ก็คือกระแสอารมณ์นี้แหละ
เราหมุนเวียน เกิดแล้วแก่ แก่แล้วเจ็บ เจ็บแล้วตายไป หมุนเวียนกันไปในลักษณะอย่างนี้ก็หมุนเวียนไปด้วยอารมณ์ของเรา กระแสอารมณ์นี้แหละเป็นกระแสแห่งวัฏฏะ กระแสแห่งวัฏฏะนี้แหละเป็นกระแสแห่งการเวียนว่ายตายเกิด
เพราะฉะนั้นเรากำหนดรู้เท่ารู้ทัน กระแสอารมณ์เหล่านี้ จิตใจของเราทะลุหรือว่าพ้นไปจากกระแสแห่งอารมณ์ เหมือนกับเราตกน้ำถูกแม่น้ำนั้นพัดพาไป แม่น้ำนั้นไหลเชี่ยวแรง เราก็พยายามที่จะตัดกระแส เรียกว่าลอยข้ามกระแสนั้น พยายามที่จะทวนกระแส พยายามตัดกระแส พยายามที่จะขึ้นไปจากแม่น้ำนั้นให้ได้
แต่เมื่อเราไม่สามารถที่จะทานกระแสแห่งราคะ กระแสแห่งโทสะ หรือว่ากระแสแห่งโมหะ หรือว่าความลุ่มหลงต่างๆ เราก็จะถูกกระแสแห่งอารมณ์คือกระแสของแม่น้ำที่ไหลเชี่ยวนั้น พัดเราไปลงสูทะเลหลวงชลาลัย ก็เป็นอาหารของเต่า ของปลา ของกุ้ง ของหอย เป็นอาหารของกิเลสตัณหาของเราต่อไป เกิดภพใหม่ชาติใหม่ต่อไปเรื่อยๆ
แต่ถ้าเราตัดกระแสอารมณ์เหล่านั้น ข้ามขึ้นมายืนอยู่บนฝั่ง เราก็จะเห็นกระแสของน้ำที่มันไหลเชี่ยวน่ากลัว เป็นกระแสน้ำที่น่าหวาดหวั่น ใครตกลงไป จมลงไป โอกาสที่จะขึ้นจากกระแสน้ำนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก
เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์ทรงท้อพระทัย เมื่อพระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงนั้น ถูกปกคลุมไปด้วยกิเลสอย่างหนาแน่น ถูกปกคลุมไปด้วยข่าย คือกิเลส คือตัณหาอย่างหนาแน่นมั่นคง การที่เราตรัสรู้ธรรมะอันละเอียด จะไปสอนบุคคลผู้ถูกกิเลส ถูกตัณหา ถูกปกคลุมไปด้วยกิเลสตัณหาเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เป็นการทำได้ยาก สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงมีอุปนิสัยอันหยาบเหลือเกิน การที่จะรู้ธรรมอันละเอียดนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก พระองค์ทรงวิตกขึ้นมา
ยามนั้นท้าวมหาพรหมก็ได้มาอันเชิญหรือว่ามาอาราธนา ให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นได้แสดงธรรม พระองค์ก็ทรงพิจารณาถึงบัว ๔ เหล่า ว่าคนที่เกิดขึ้นมาในมนุษย์นี้ก็เหมือนกับบัว ๔ เหล่า บางเหล่าก็จมอยู่ในใต้โคลน ต้องเป็นอาหารของเต่าของปลา บางเหล่าก็อยู่ในท่ามกลางของแม่น้ำ ต้องรออีกอาทิตย์หนึ่ง เดือนหนึ่งจึงปรากฏขึ้นมา บางเหล่าก็พ้นจากแม่น้ำแล้ว บางเหล่าก็ตูมรอแต่ดวงอาทิตย์จะโผล่ขึ้นมา รอแต่แสงอาทิตย์จะปรากฏขึ้นมาแล้วก็จะบาน
บางคนก็มีบารมี พอได้ฟังธรรมะก็เบ่งบานด้วยพระธรรม ฟังธรรมะครั้งแรกก็อาจจะเกิดปีติ ฟังธรรมะครั้งแรกก็อาจจะเข้าใจ เดินจงกรมครั้งแรกก็อาจจะได้สมาธิ นั่งภาวนาครั้งแรกก็อาจจะเข้าใจธรรมะเลยก็มี
เหมือนครั้งพุทธกาล การบรรลุธรรมของพระเจ้าพิมพิสาร บรรลุด้วยการเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้งแรก เรียกว่าด้วยการเห็นพระพุทธเจ้าครั้งแรก ด้วยการเห็นพระธรรมครั้งแรก ด้วยการเห็นพระสงฆ์ครั้งแรกก็ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลสำเร็จเป็นพระโสดาบัน
อันนี้เพราะอะไร เพราะว่าบุญวาสนา บารมี เป็นบัวที่พ้นแล้ว รอแต่การฟังพระธรรมเทศนาเท่านั้น เพราะฉะนั้นได้เบ่งบาน หรือว่าได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เหมือนกับพวกพระโกญฑัญญะรอแต่การแสดงธรรมเท่านั้นก็จะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
เหมือนกับนางวิสาขาบรรลุธรรมตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ เป็นผู้ที่มีอายุไม่มาก ๗ ขวบเป็นลูกของเศรษฐี รู้ว่าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมา เมื่อได้ข่าวว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ กำลังเสด็จมา นางวิสาขาพร้อมด้วยบริวาร ๕๐๐ ทั้งที่ตนเองเป็นกุมาริกาอายุ ๗ ปี ก็พาบริวารทั้ง ๕๐๐ นั้นแหละ เดินทางไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งหลายโยชน์
พระองค์ทรงเห็นอุปนิสัยแล้วก็แสดงธรรมอนุปุพพิกถาให้ฟัง ก็บรรลุเป็นพระโสดาบันในขณะนั้น อายุ ๗ ปีก็สามารถบรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะอะไร เพราะว่าเป็นบุคคลประเภท อุคฆฏิตัญญู เป็นผู้สามารถที่จะรู้ธรรมในขณะที่ฟังธรรมได้
เหมือนกับพระสารีบุตรที่ไปฟังธรรมของพระอัสสชิ ที่พระอัสสชิได้แสดงธรรมว่า “เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตํ ตภาคโต”แปลว่า “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุพระศาสดาตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับไปแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้”
ฟังเท่านี้ก็รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเกิดขึ้นจากเหตุ ทุกสิ่งทุกอย่างตั้งอยู่ด้วยเหตุ ทุกสิ่งทุกอย่างมันจะดับไปก็เพราะว่าเหตุของมันดับไป ท่านกล่าวไว้ว่าปัญญาของอุปติสสมาณพในขณะที่ฟังธรรมนั้น แตกเป็นพันๆนัย เรียกว่าเข้าใจเป็นพันนัย เข้าใจเป็นพันๆ อย่าง ก็บรรลุมรรคผลนิพพานได้ เพราะว่าพระสารีบุตรนั้นเป็นผู้เลิศด้วยปัญญา สามารถที่จะนับเม็ดฝนในชมพูทวีปได้ ว่าเม็ดฝนที่จะตกในทะเลกี่ห่า ตกอยู่ที่ภูเขาป่าหิมพานต์กี่ห่า หรือว่าตกอยู่ในที่ชุมชนในเมืองในนครกี่ห่า สามารถที่จะนับได้ด้วยปัญญาที่สั่งสมมาแล้ว บำเพ็ญมาแล้วตั้ง ๑๐ ทัศน์
ท่านกล่าวไว้ว่า พระอัครสาวกนั้นต้องบำเพ็ญบารมีถึง ๑๐ ทัศน์ พระปัจเจกพุทธเจ้าต้องบำเพ็ญบารมีถึง ๒๐ ทัศน์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศน์ เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ที่เลิศด้วยบารมี บุคคลผู้เลิศด้วยคุณงามความดีจึงเป็นผู้ที่อัศจรรย์ในภพชาติที่เขาเกิด
แต่ก่อนโน้นเราได้ศึกษาในพระไตรปิฎก ได้ศึกษาในพระธรรมคำสั่งสอนที่พระองค์ทรงตรัสไว้ ว่าขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์จะเสด็จไปไหน บางครั้งพระองค์ก็เสด็จไปเหมือนคนธรรมดา เดินไปเหมือนคนธรรมดา มีพระอานนท์เป็นพระปัจฉาสมณะ หรือมีภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเป็นปัจฉาสมณะ
บางครั้งพระองค์ไปไม่ธรรมดา พระองค์ทรงแผ่พระฉัพพรรณรังสีออกไปจากพระวรกายของพระองค์ ทำให้พระวรกายของพระองค์นั้นสดใส เปล่งปลั่งด้วยฉัพพรรณรังสี คนทั้งหลายทั้งปวงเห็นแล้วก็เกิดความเลื่อมใส เห็นแล้วก็เกิดความศรัทธา นก หนู ปู ปีกอะไรต่างๆ เห็นแล้วเกิดความเลื่อมใส เกิดความศรัทธา ก็เป็นหนทางไปสู่สวรรค์สมบัติ มนุษย์สมบัติได้
เหมือนกับมัฏฐกุณฑลีที่ไม่ได้ทำบุญทำทาน เกิดมาแล้วก็ไม่เคยให้ทานสักที ไม่เคยสมาทานศีลสักที ก็เห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมา ในขณะที่ตนเองนอนป่วยใกล้ตาย องค์สมเจพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็เปล่งฉัพพรรณรังสี ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มัฏฐกุณฑลีนั้นได้เกิดศรัทธา
เมื่อเกิดศรัทธาแล้วก็คิดว่า เราเกิดมาแล้วช่างเป็นผู้ที่น่าสงสารเหลือเกิน การให้ทานก็ไม่มี การรักษาศีลก็ไม่เคยรักษาศีลสักที เดี๋ยวนี้เราทุพลภาพ แม้มือก็ยกไหว้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ ร่างกายเคลื่อนไหวไม่ได้ แต่เราจะทำจิตทำใจให้เลื่อมใสในพระตถาคต เท่านั้นแหละจิตของมัฏฐกุณฑลีก็ดับไปด้วยความเลื่อมใส ตายแล้วก็เป็นเทพบุตรบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
อันนี้ก็เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เลิศด้วยบารมี เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วความอัศจรรย์ใจทั้งหลายทั้งปวงนั้นมันก็เกิดขึ้นมาด้วย แต่ถ้าบุคคลใดไม่มีบารมี ไม่มีคุณงามความดีที่สั่งสมไว้ เกิดมาแล้วมาเดินจงกรม บางครั้งจิตใจก็ไม่สงบ มาเจริญสมถะก็ไม่ได้ฌาน ไม่รู้ว่าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ เวลาครูบาอาจารย์พูดเรื่องฌานตนเองทำไม่ได้ ก็คิดว่ามันจะมีจริงหรือฌาน อาจารย์โกหกหรือเปล่า อาจารย์เอาที่ไหนมาพูดอย่างนี้ก็มี
หรือว่าบุคคลไม่มีบุญวาสนาบารมีได้ทำมาเวลามาเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อนทั้งหลายทั้งปวงผู้ที่มีบุญบารมี วิปัสสนาญาณที่ ๑ ถึง ๑๖ เกิดขึ้นมา คนอื่นเขารู้แจ้งเห็นจริง แต่บุคคลผู้ที่ไม่มีบุญมาเจริญวิปัสสนากรรมฐานก็ไม่เข้าใจว่า วิปัสสนาญาณจะมีจริงหรือ อาจารย์โกหกหรือเปล่า พระรูปนี้รูปนั้นพูด มันจะเป็นจริงหรือเปล่า ก็เอาความรู้ของตน เอาบารมีของตนนั้นไปเทียบบารมีของผู้ที่มีบารมี หรือว่าไปเทียบบารมีของพระพุทธเจ้า ไปเทียบบารมีของพระสาวก ไปเทียบบารมีของครูบาอาจารย์เป็นต้น ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดทิฏฐิขึ้นมา เกิดความไม่เข้าใจขึ้นมา
เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ที่มีบารมีก็จะเห็นความอัศจรรย์ใจในพระพุทธศาสนาได้ ก็จะเห็นความอัศจรรย์ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เพราะว่าพระธรรมคำสั่งสอนที่พระองค์ทรงตรัสไว้จะเป็นจริงทุกประการ เพราะว่าวาจาของพระตถาคต หรือว่าวาจาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นพระองค์ทรงตรัสอย่างไร ก็จะเป็นเช่นนั้นทุกอย่าง ทุกประการ
เหมือนกับที่พระองค์ทรงตรัสในสมัยที่พระเจ้าสุปปพุทธะไปตันทางโคจรบิณฑบาต เรียกว่าไปปิดทางโคจรบิณฑบาต พระเจ้าสุปปพุทธะนั้นคิดว่าตนเองเป็นผู้มีศักดิ์ใหญ่กว่า เป็นลุงของพระพุทธเจ้า เป็นผู้มีอาวุโสกว่า เราจะมาเคารพหลาน เราจะมานอบน้อมต่อหลานนั้นมันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ก็คิดว่าเรานั้นจะไม่ทำความเคารพต่อพระสมณโคดม
ในขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอานนท์พร้อมด้วยภิกษุนั้นได้ไปบิณฑบาต ขณะที่ไปบิณฑบาตพระเจ้าสุปปพุทธะก็ให้อาหารนั้นมาตั้งโต๊ะ แล้วก็เอาน้ำจัน เหล้านั้นแหละมานั่งเสวยตันทางโคจรของพระพุทธเจ้า
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอานนท์ และพระภิกษุทั้งหลายที่ไปบิณฑบาต ก็บิณฑบาตตามปกติเดินไปด้วยพุทธลีลา เดินไปด้วยความสง่างาม ขณะที่เดินไปนั้นแหละพระองค์ก็ไม่ทรงดีใจ ไม่ทรงเสียใจเพราะพระองค์ทรงพ้นจากสิ่งเหล่านี้แล้ว
เมื่อพระองค์ทรงเดินไปถึงที่ใกล้ๆ ที่ของพระเจ้าสุปปพุทธะนั่งเสวยน้ำจันอยู่ พระองค์ก็รู้ว่าพระเจ้าสุปปพุทธะนั้นไม่หลีกทางให้แก่พระองค์แล้ว พระองค์ก็ทรงแย้มพระโอษฐ์ พระอานนท์ก็ทูลถามว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแย้มพระโอษฐ์เพราะเหตุอะไรหนอแล” พระองค์ก็ทรงตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์ พระเจ้าสุปปพุทธะนี้มาปิดทางโคจรบิณฑบาตของเราตถาคต เป็นบาปใหญ่ เป็นทุกข์ใหญ่ เป็นภัยใหญ่ นับจากนี้ไป ๗ วัน พระเจ้าสุปปพุทธะนั้นจะได้ถูกแผ่นดินสูบอยู่ที่ธรณีปราสาท ในเวลาที่ปิดทางโคจรบิณฑบาตนี้แหละ” พอถึงวันนั้นแผ่นดินก็สูบในขณะเวลาที่ปิดทางโคจรบิณฑบาตของพระพุทธเจ้า อันนี้เรียกว่า วาจาพระองค์ทรงตรัสอย่างไร ก็จะเป็นเช่นนั้น
เพราะฉะนั้นหนทางแห่งการบรรลุมรรคผลนิพพานต่างๆ ที่พระองค์ทรงตรัสว่า ถ้าบุคคลใดเจริญสติปัฏฐาน ๔ ถ้าเจริญตลอด ๗ ปี บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ เหมือนกับพวกเราทั้งหลายปฏิบัติธรรมอยู่นี้แหละ ต้องหวังผล ๒ อย่าง ไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็บรรลุเป็นพระอนาคามี ถ้ากิเลสไม่หมดเหลืออุปาทิอยู่ก็เป็นพระอนาคามี
หรือว่าถ้าบุคคลใดเจริญ ๖ ปี ถ้าไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ก็บรรลุเป็นพระอนาคามี เจริญ ๕ ปี เจริญ ๔ ปี ๓ ปี ๒ ปี ๑ ปี พระองค์ก็ทรงไล่มา
ถ้าบุคคลเจริญ ๑ ปี ไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ก็บรรลุเป็นพระอนาคามี แล้วพระองค์ก็ทรงย่อลงมาอีก บุคคลเจริญวิปัสสนากรรมฐานตลอด ๖ เดือน ต้องหวังผล ๒ อย่าง ถ้าไม่เป็นพระอรหันต์ก็เป็นพระอนาคามี แล้วพระองค์ก็ทรงลดลงมาเหลือ ๓ เดือน
ถ้าบุคคลใดเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ๓ เดือนหวังผล ๒ อย่างคือ เป็นพระอรหันต์และพระอนาคามี ก็ไล่มา ๒ เดือน ๑ เดือน ไล่มาถึง ๑๕ วัน ถ้าบุคคลใดเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ๑๕ วัน ต้องหวังผล ๒ อย่าง หวังผลเป็นพระอรหันต์และพระอนาคามี
ถ้าบุคคลใดมีบารมีมากกว่านั้นปฏิบัติไม่ถึง ๑๕ วัน ปฏิบัติแค่ ๗ วัน ก็หวังผล ๒ อย่าง เป็นพระอนาคามี หรือว่าเป็นพระอรหันต์ ถ้าบุคคลมีบุญวาสนาบารมีมากกว่านั้นก็อาจจะไม่ปฏิบัติถึง ๗ วัน อาจจะปฏิบัติ ๖ วัน ๕ วัน ๔ วัน ๓ วัน ๒ วัน ๑ วัน
ในที่สุดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า บุคคลผู้มีบารมีนั้นบางครั้งอาจจะปฏิบัติตอนเย็นบรรลุตอนเช้า บางครั้งปฏิบัติตอนเช้าบรรลุตอนเย็น อันนี้ผู้ที่มีบารมี ผู้ที่มีบารมีมากกว่านั้น ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจบลงก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ผู้ที่มีบารมีมากกว่านั้นเหมือนกับพาหิยทารุจีริยะฟังธรรมเพียงคำเดียว ก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เพียงแต่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูก่อน พาหิยะ เห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน” เท่านั้น ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาน อันนี้เรียกว่าเป็นผู้ที่มีบารมี
ผู้ที่มีบารมีมากกว่านั้น เหมือนกับพระสีวลี พระสีวลีนั้นเป็นผู้ที่มีบาปกรรมที่ได้ทำไว้แต่ภพก่อนชาติก่อน อยู่ในท้องของมารดาตั้ง ๗ ปี กับอีก ๗ เดือน กับอีก ๗ วัน ขวางช่องคลอดของมารดาถึง ๗ วัน ทำให้มารดาคือ นางสุปปวาสาเกิดความทุกข์ เกิดความเดือดร้อนใจต้องมาขอพรจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงให้พรว่า “ขอน้องหญิง จงพ้นไปจากความทุกข์ มีความสุขเถิด” เพียงเท่านี้แหละ นางสุปปวาสาก็เกิดความสบายครรภ์ขึ้นมา หลังจากนั้นก็คลอดออกมา เมื่อคลอดออกมาแล้ว พระสีวลีซึ่งเป็นกุมารในขณะนั้นก็คิดว่า ตนเองนั้นอยู่ในท้องของมารดานั้นทุกข์เหลือเกิน เหมือนกับอยู่ในอุสสทนรก มีความเดือดร้อนเหลือเกิน มีความทุกข์เหลือเกินก็อ้อนวอนแม่ ขอแม่อยากบวช
แม่ก็รั้งไว้ ๒ ครั้ง ครั้งที่ ๓ ก็คิดว่า ลูกของเราคงจะมีอุปนิสัยการบวช อาจจะได้บรรลุธรรมคุณธรรมในพระศาสนา อาจจะพ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิด ก็ไม่ห้ามอุปนิสัยของลูกของตน ก็ให้ลูกของตนนั้นบวช
ขณะที่โกนหัว ใบมีดโกนถูกหัวครั้งแรก ท่านกล่าวไว้ว่าได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ใบมีดโกนถูกหัวครั้งที่ ๒ ได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี ใบมีดโกนถูกหัวครั้งที่ ๓ ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี ในเมื่อปลงผมเสร็จก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาน นี้ทั้งๆ ที่เป็นเด็ก ยังไม่ได้ฟังธรรม ยังไม่ได้ประพฤติปฏิบัติธรรม แต่พิจารณาความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของรูปของนามก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
เพราะฉะนั้นบุญวาสนาบารมีที่พวกเราทั้งหลายได้มาบำเพ็ญ อดตาหลับขับตานอน ได้ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เดินจงกรม นั่งภาวนานี้จึงเป็นบารมีที่สำคัญที่พวกเราทั้งหลายควรที่จะบำเพ็ญ ด้วยความตั้งใจ ด้วยความมุ่งมั่น ด้วยความจริงใจ เหมือนกับที่กระผมได้กล่าวในเบื้องต้นแล้ว เพราะฉะนั้นวันนี้ได้กล่าวธรรมะมาก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ ให้ญาติโยมทั้งหลายกำหนดออกจากสมาธิ เตรียมตัวแผ่เมตตา.