ของหายาก ๔ ประการ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองแม้ปรินิพพานไปนานแล้ว พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ด้วยเศียรเกล้า ขอโอกาสคณะสงฆ์ ขอความเจริญในธรรมจงมีแก่สหธรรมิก ตลอดถึงคณะครูบาอาจารย์ ญาติโยมผู้สนใจในการปฏิบัติธรรมทุกท่านทุกคน ณ โอกาสบัดนี้
ต่อไปก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายได้หันหน้าเข้าสู่อารมณ์ของกรรมฐาน ให้พยายามยกจิตของตนขึ้นสู่อารมณ์ของกรรมฐาน พยายามนั่งขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรงดำรงสติให้มั่น เราจะตั้งสติของเราไว้ที่หูข้างใดข้างหนึ่งก็ได้ หรือเราจะบริกรรม “พองหนอ” “ยุบหนอ” ไปก็ได้ อันนี้เรียกว่าเราฟังเทศในขณะที่เราปฏิบัติธรรมไปด้วย
เพราะว่าขณะที่เราฟังเทศ เราก็สามารถที่จะปฏิบัติธรรมไปด้วย เรียกว่าการฟังเทศชั้นสูง ฟังได้ประโยชน์ทั้งในโลกนี้ ได้ประโยชน์ทั้งในโลกหน้า ได้ประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน ก็ขออนุโมทนาสาธุการว่าการที่คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายได้มาประพฤติปฏิบัติธรรม เจริญวิปัสสนากรรมฐานนี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนี้มิใช่เป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย เพราะว่าการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นเป็นของหายาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสของหายากไว้ ๔ ประการ คือ
๑. พุทฺธุปฺปาโท จ ทุลฺลโภ คือการอุบัติขึ้นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นของหายาก
๒. มนุสฺสภาโว จ ทุลฺลโภ คือการได้อัตภาพมาเกิดเป็นมนุษย์นั้นก็เป็นของหายาก
๓. ปพฺพชิตภาโว จ ทุลฺลโภ คือการที่จะออกบวช ละการครองบ้านครองเรือน ละการทำมาหากิน ถือศีล ๘ เป็นศีลของฤาษี เป็นศีลของนักบวช เป็นศีลของนักพรตนั้นก็หายาก เรียกว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก
๔. วิปสฺสนาภาโว จ ทุลฺลโภ การที่บุคคลนั้นจะได้ออกบวชแล้วจะได้มีการเลื่อมใสในการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ก็เป็นสิ่งที่หาได้ยาก หาได้ยากนัก หาได้ยากหนา
ท่านกล่าวไว้ว่า บุคคลผู้ที่จะเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เหมือนกับคณะครูบาอาจารย์ เหมือนกับคณะญาติโยมนี้เป็นของหายากนัก ท่านอุปมาอุปไมยเหมือนกับเขาโค กับขนโค ท่านอุปมาอุปไมยเหมือนกับดินที่ติดอยู่ฝ่าเท้ากับมหาแผ่นดินทั้งหลายทั้งปวง เพราะว่ามันมีน้อย เราคิดดูว่าในประเทศไทยของเราว่าบุคคลผู้สนใจในเรื่องการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นมีมากหรือมีน้อย ให้เราพิจารณาดู
เราประกาศ เราทำมาปีนี้ก็ถือว่าเป็นปีที่ ๙ บุคคลผู้สนใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นมีน้อยมาก เราคิดไปวงกว้างไปถึงอำเภอ ไปถึงจังหวัด ไปถึงภาค ไปถึงประเทศ เราคิดดูว่ามีคนสนใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมมากไหม พระในประเทศไทยของเรานั้นมีประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ – ๓๐๐,๐๐๐ รูป เมื่อเปรียบเทียบกับประชากรเกือบ ๖๐ กว่าล้าน เมื่อเปรียบเทียบกับประชากรโลกแล้ว บุคคลผู้สนใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นไม่ต่างอะไรกับเม็ดดินที่อยู่ฝ่าเท้า น้อยกว่าแผ่นดินทั้งแผ่น
เพราะฉะนั้นพวกเราทั้งหลายก็ถือว่าเป็นเม็ดดินที่อยู่ฝ่าเท้า เป็นบุคคลส่วนน้อยที่มองเห็นคุณค่าของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เรียกว่าเป็นเพชรถึงจะมีน้อยแต่พวกเราทั้งหลายก็ได้สนใจในการประพฤติปฏิบัติธรรม
แล้วก็การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเป็นของยาก บุคคลมาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นจะยินดีในการประพฤติปฏิบัติธรรมก็ยาก ส่วนมากมาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วก็เกิดความลำบาก เกิดความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เกิดความท้อแท้ หรือว่าเกิดความเบื่อหน่ายต่างๆ เกิดความเจ็บ ความปวด ความฟุ้งซ่านต่างๆ
บุคคลจะยินดีในการเจริญวิปัสสนานั้นก็เป็นของหายาก ท่านอุปมาอุปไมยเหมือนกับกลิ้งครกขึ้นภูเขา บุคคลผู้ที่มาเจริญวิปัสสนาก็ต้องทนความลำบาก ต้องใช้ความเพียร อดตาหลับขับตานอน ยืนเดินนั่งนอนกินดื่มทำพูดคิด เราก็มีความเพียรกำหนด เพราะฉะนั้นบุคคลผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นจึงเป็นของหายาก
แล้วบุคคลผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานและจะยินดีในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานก็ยิ่งยาก บุคคลผู้ยินดีในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานแล้วจะได้รู้แจ้งแทงตลอดซึ่งมรรค ซึ่งผล ซึ่งพระนิพพาน สำเร็จเป็นพระโสดาบัน สกิทา อนาคา เป็นพระอรหันต์ก็ยิ่งหาได้ยากขึ้นไปอีก
นี้เรียกว่าการที่พวกเราทั้งหลายมาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ถือว่าเป็นของหายาก เป็นบุรุษอาชาไนย เราสามารถละการครองบ้าน การครองเรือน ละรูป เสียง กลิ่น รส ละความยินดีเพลิดเพลินในอารมณ์ของโลกมาสู่สนามรบมาปฏิบัติธรรมนั้นก็ถือว่าเป็นช้างอาชาไนย เป็นม้าอาชาไนย
เพราะฉะนั้นการที่พวกเราทั้งหลายมาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นจึงเป็นของหายาก ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัส คือในสมัยหนึ่งพระอนุรุทธะนั้นท่านนั่งตรึก นั่งตรึกมหาปุริสวิตก ๘ ประการ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็รู้วาระจิตของท่าน เมื่อรู้วาระจิตของท่านก็เลยตรัสออกไปว่า “ถูกต้องแล้ว ดีแล้ว เป็นอย่างที่เธอวิตกอย่างนั้นจริง” มหาปุริสวิตก ๘ ประการก็คือ
๑. การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น เป็นของบุคคลผู้มีความปรารถนาน้อย ไม่ใช่เป็นของบุคคลผู้มีความปรารถนามาก
๒. การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น เป็นของบุคคลผู้สันโดษ ไม่ใช่เป็นของบุคคลผู้ไม่สันโดษ
๓. การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น เป็นของบุคคลผู้มีความสงัด ผู้ชอบในความสงัด ไม่ใช่เป็นของบุคคลผู้ชอบคลุกคลีด้วยหมู่ด้วยคณะ
๔. การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น เป็นของบุคคลผู้มีความเพียร ไม่ใช่เป็นของบุคคลผู้มีความเกียจคร้าน
๕. การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น เป็นของบุคคลผู้มีสติตั้งมั่น ไม่ใช่เป็นของบุคคลผู้มีสติหลงลืม
๖. การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น เป็นของบุคคลผู้มีจิตตั้งมั่น ไม่ใช่เป็นของบุคคลผู้ไม่มีจิตตั้งมั่น
๗. การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น เป็นของบุคคลผู้มีปัญญา ไม่ใช่เป็นของบุคคลผู้มีปัญญาทราม
๘. การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น เป็นของบุคคลผู้ยินดีในธรรมอันไม่เนิ่นช้า พอใจแล้วในธรรมอันไม่เนิ่นช้า ไม่ใช่เป็นของบุคคลผู้ยินดีในธรรมอันเนิ่นช้า พอใจในธรรมอันเนิ่นช้า
นี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสรับรองมหาปุริสวิตกของพระอนุรุทธะ อันนี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เพราะการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นเป็นของบุคคลผู้มีความปรารถนาน้อย ไม่ใช่ปรารถนามาก
ความปรารถนาน้อยก็คือ ความปรารถนาไม่กว้าง ความปรารถนาไม่ใหญ่ ความปรารถนาไม่ไกล ความปรารถนาพอดี เพียงพอต่อสมณวิสัย เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัส วิสัย ๔ ว่า ให้ภิกษุทั้งหลายทั้งปวงนั้นบิณฑบาตเป็นวัตร อยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร นุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า
พระองค์เป็นถึงพระราชามหากษัตริย์ พระองค์ทรงยินดีด้วยการเข้าไปบิณฑบาต อยากได้อาหารร้อนก็ได้เย็น อยากได้เย็นก็เป็นอย่างอื่น อยากได้หวานกลับได้จืด อยากได้รสตามต้องการนั้นเป็นสิ่งที่หาได้ยาก ในความเป็นสมณะ
พระองค์เป็นถึงเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ปรารถนาสิ่งใดได้สิ่งนั้น แต่พระองค์ทรงเดินด้วยพระบาทเปล่า เดินตามตรอกออกตามซอย ไม่เลือกบ้านต่ำหลังสูง ไม่เลือกบ้านยาจกคนขอทาน ไม่เลือกคนจนคนเป็นเศรษฐี พระองค์ทรงมีเมตตาเสมอกันหมด เปรียบเสมือนกับดวงจันทร์ เปรียบเสมือนกับดวงอาทิตย์ ย่อมไม่เลือกกระท่อมของยาจก ย่อมไม่เลือกคฤหาสน์ของเศรษฐี ย่อมแผ่แสงรัศมีแห่งจันทร์ หรือว่าแสงรัศมีแห่งอาทิตย์นั้นทั่วถึงกัน
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เหมือนกัน พระองค์ทรงเมตตาสรรพสัตว์ทั้งหลาย พระองค์ทรงโปรดนับตั้งแต่มหาทุคคตะบุรุษ ผู้ไม่มีอะไรจะกิน ผู้ไม่มีผ้าที่จะนุ่ง พระองค์ก็ทรงโปรดคนเหล่านั้นให้ได้รับความสุขโดยถ้วนหน้ากัน อันนี้เรียกว่าเป็นบุคคลผู้พอเพียง เป็นบุคคลผู้ไม่มีความปรารถนามาก เป็นผู้มีความปรารถนาน้อย พระองค์จึงเจริญในสมณวิสัยได้
เพราะฉะนั้นบุคคลผู้มาเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นต้องยินดี ต้องมีความปรารถนาน้อย ไม่ใช่เป็นผู้มีความปรารถนามาก เวลาเรามาเดินจงกรม นั่งภาวนา เราก็อย่ามัวประมาทว่า เมื่อไรหนอข้าพเจ้าจะได้สมาธิ เมื่อไรหนอนิมิตจะปรากฏขึ้นแก่ข้าพเจ้า เมื่อไรหนอข้าพเจ้าจะได้เห็นโอภาสแสงสว่าง เมื่อไรหนอข้าพเจ้าจะได้ทิพพจักขุ เมื่อไรหนอข้าพเจ้าจะได้ทิพพโสตะ เมื่อไรหนอข้าพเจ้าจะรู้ปรจิต อะไรต่างๆ หรือว่าเมื่อไรหนอข้าพเจ้าจะได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน สกิทา อนาคา หรือว่าเป็นพระอรหันต์ อันนี้เรียกว่าเรามีความปรารถนามาก
แต่ถ้าเรามีสติทันปัจจุบันธรรม ไม่ปล่อยจิตให้ปรุงแต่งในอดีต ไม่ปล่อยจิตให้ปรุงแต่งในอนาคต ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ความปรารถนาของเรานั้นไม่กว้างขวาง ไม่มาก เป็นผู้มีปรารถนาน้อย เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ยินดีในบิณฑบาต ให้ยินดีในจีวรเป็นเครื่องห่มกายสำหรับปกปิดอวัยวะอันน่าเกลียด เป็นเครื่องป้องกันความหนาว ความร้อน เหลือบ ยุง ลม แดด ต่างๆ เป็นเครื่องพอที่จะห่อหุ้มร่างกายอันเป็นของปฏิกูลเพียงเท่านั้นเอง มีผ้า ๓ ผืน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ไม่ปล่อยให้เป็นผ้าผืนเดียว พระองค์ให้ตัดเสีย เพื่อที่จะให้เป็นเศษผ้า เพื่อที่จะทำผ้านั้นไม่ให้มีราคา เพื่อที่จะทำให้ผ้านั้นเป็นของมีค่าน้อย เรียกว่าไม่มีความยึดมั่นในผ้าของตนเอง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ละเอียดถึงขนาดนั้น
แล้วพระองค์ก็ทรงไม่ให้มีผ้าเกิน ๓ ผืน ถ้าผู้ใดมีผ้าเกิน ๓ ผืน ต้องอธิษฐานเป็นผ้าอาบน้ำ ผ้าอาบน้ำก็อธิษฐานได้เพียง ๓ เดือน ๔ เดือน ฤดูฝน เลยฤดูฝนนั้นต้องวิกัป ผ้าปิดฝี เวลาที่เป็นฝีก็อธิษฐานใช้ได้ เมื่อหายเจ็บหายป่วยแล้วก็ต้องวิกัป หรือว่าผ้าบริขารโจล ถ้าเราขาดตกบกพร่องเราก็อธิษฐานเป็นบริขารโจลใช้ได้ นี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงละเอียด เพื่อที่อะไร เพื่อที่จะให้ภิกษุผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นเป็นผู้มักน้อย เป็นผู้มีความปรารถนาน้อย
ผู้ใดมีความปรารถนาน้อยแล้ว จิตใจย่อมไม่ปรุงแต่ง จิตใจย่อมไม่ฟุ้งซ่าน จิตใจก็จะสงบนิ่ง เมื่อจิตใจสงบนิ่งก็รู้เห็นตามความเป็นจริง การรู้แจ้งในอริยสัจธรรมก็เป็นสิ่งที่ไมเกินวิสัยที่จะทำได้ ทุกวันนี้คนทั้งหลายทั้งปวงนั้นมีความปรารถนามาก มีความปรารถนาใหญ่ มีความปรารถนากว้าง มีความปรารถนาให้โด่งดัง ให้ไกลไปดังไปทั่วสารทิศ ทั่วโลก อันนี้เป็นความปรารถนาของคน
ความปรารถนาอย่างนั้นไม่เป็นสาระ ความปรารถนาอย่างนั้นไม่เป็นแก่นสาร ไม่ยังตนให้ได้ซึ่งสมาธิ ไม่ยังตนให้ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน ไม่ยังกิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงให้หมดสิ้นไปจากขันธสันดานได้ เพราะฉะนั้นความปรารถนามากเหล่านั้นจึงไม่เป็นประโยชน์ต่อธรรม เพื่อการตรัสรู้ เพราะฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสให้มีความปรารถนาน้อย พอดีต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน คือมีผ้า ๓ ผืนเท่านั้นเอง
หรือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสให้อยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร พระองค์ก็อยู่โคนต้นไม้มาก่อน พระองค์ประสูติก็ทรงประสูติที่โคนต้นไม้ ตรัสรู้ก็ตรัสรู้ที่โคนต้นไม้ แม้พระองค์ปรินิพพาน พระองค์ก็ทรงปรินิพพานที่โคนสาละทั้งคู่ พระองค์ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานก็อยู่โคนต้นไม้ และพระองค์ก็ทรงบัญญัติวิสัย ๔ ให้แก่ภิกษุทั้งหลาย ให้ระลึกนึกถึงว่าต้องอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร นี้วิสัยของพระภิกษุสามเณรเป็นอย่างนั้น เพื่ออะไร เพื่อที่จะให้มีความปรารถนาน้อย
เพราะการที่เราเกิดขึ้นมา เราเกิดมาไม่ถึง ๑๐๐ ปี เราก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เราจะเอาอะไรกับบ้านช่องเรือนชาน เรามาเอาคุณความดี เอาศีล เอาสมาธิ เอามรรค เอาผล จะไม่ดีกว่าหรือ นี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสสอนให้เป็นตัวอย่าง ให้เราทั้งหลายนั้นยินดีในโคนต้นไม้ เพื่อที่จะยังความปรารถนาของเราให้แคบลง เพื่อให้เรามาพิจารณากาย ตั้งแต่พื้นเท้าถึงปลายผม จากปลายผมถึงพื้นเท้า ให้เรามาพิจารณาจิตของเรา ให้รู้แจ้งเห็นจริงว่าร่างกายของเราที่แท้จริง ก็คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม มาประสมประสานมีจิตเป็นใจครอง ก็สามารถที่จะครองขันธ์ได้ ๕๐ ปี ๗๐, ๘๐, ๙๐, ๑๐๐ ปี ในไม่ช้ามันก็ต้องแตกสลายไป เรามาพิจารณาอย่างนี้ ความปรารถนาทั้งหลายทั้งปวงมันก็จะยุติลง เราก็จะเจริญวิปัสสนากรรมฐานได้ผล เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นต้องปรารถนาน้อย
หรือพระองค์ทรงฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า นี้การที่พระองค์เป็นพระราชาแต่พระองค์ทรงฉันยาดองด้วยน้ำเยี่ยวของตนเอง ด้วยน้ำมูตรเน่า เพราะอะไร เพราะพระองค์ทรงหยั่งรู้ด้วยพระญาณของพระองค์ว่าการฉันอย่างนี้ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ร่างกายของเรานั้นกระปรี้กระเปร่ากระฉับกระเฉง สามารถนั่งกรรมฐานได้นาน ไม่เป็นโรคเจ็บหลัง ปวดหลัง ปวดเอวต่างๆ อันนี้พระองค์ก็ทรงฉัน เพราะพระองค์ทรงมองเห็นประโยชน์ต่อภิกษุทั้งหลายที่จะทำการเจริญวิปัสสนากรรมฐานในภายหลัง เพราะฉะนั้นบุคคลผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ต้องเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย
ถ้าภิกษุใดปรารถนามากภิกษุนั้นชื่อว่า ไม่รักษาตนเอง ผู้ใดมีความปรารถนามากผู้นั้นชื่อว่า ไม่รักตนเอง แต่ถ้าผู้ใดมีความปรารถนาน้อยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เป็นผู้รักษาตนเอง ที่จะไม่ให้ตนเองนั้นเกิดความฟุ้งซ่าน ปรุงแต่ง ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรสมากต่อไป
ข้อที่ ๒ พระองค์ทรงตรัสว่า ให้พวกเรานั้นสันโดษ คือ บุคคลผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นต้องเป็นบุคคลผู้สันโดษ ไมให้เป็นคนผู้ไม่สันโดษ ความสันโดษก็คือ ความยินดี ตามมี ตามได้ ไม่ยินดีด้วยอำนาจของตัณหาต่างๆ การที่เราสันโดษก็คือ การที่เรามีอะไรเราก็ยินดีตามนั้น เหมือนกับนางวิสาขา อนาถบิณฑิกเศรษฐี ยินดีทรัพย์ของตนที่มีอยู่
ถ้าผู้ใดประกอบการงานด้วยความโลภ โกงบุคคลอื่นมา อันนี้เรียกว่าเป็นบุคคลผู้ไม่สันโดษ เพราะฉะนั้นเรามีสิ่งใดก็พอใจสิ่งนั้น เราไม่คิดปรุงแต่งว่าเราอยากได้โน้น อยากได้นี้ บางคนเป็นพระคิดปรุงแต่งอยากได้กุฏิหลังงามๆ อยากได้รถคันดีๆ ไว้ขี่ อยากได้ทีวี อยากได้แอร์ อยากได้พัดลม อยากได้จีวรที่สวยๆ อยากได้ศาลาหลังใหญ่ๆ อยากได้โบสถ์หลังงามๆ อันนี้เรียกว่าเราไม่สันโดษ
สิ่งเหล่านี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่าเกิดขึ้นมาด้วยอานุภาพแห่งบุญ ถ้าพวกเราทั้งหลายเป็นลูกของพระพุทธเจ้า เป็นบุตรของตถาคตแล้ว เราควรที่จะเชื่อบุญ ถ้าเราได้ทำการสั่งสมบุญไว้แล้ว สิ่งเหล่านั้นก็จะอุบัติขึ้นมาเอง เพราะว่าบุคคลผู้ทำบุญไว้แล้ว มาเกิดในที่ใดๆ ก็เหมือนกับนครที่ตกแต่งไว้แล้ว คล้ายๆ ว่าเรามาเกิดในที่ใดก็เหมือนกับนครอันตกแต่งไว้แล้ว เราได้อ่านธรรมบท ได้อ่านพระไตรปิฎกมามาก ว่าเทวดาตายไปแล้วไปเกิดบนสรวงสวรรค์ ทิพย์วิมานต่างๆ ปรากฏขึ้น เสื้อผ้าอาภรณ์อันเป็นทิพย์ปรากฏขึ้น อาหารอันเป็นทิพย์ปรากฏขึ้น เครื่องใช้ เครื่องสอยต่างๆ ดอกไม้อันเป็นทิพย์ สวนอันเป็นทิพย์ ปราสาทอันเป็นทิพย์ ราชรถอันเป็นทิพย์ต่างๆ ปรากฏขึ้นมา อันนั้นเป็นเพราะอะไร เพราะบุญตกแต่งให้บังเกิดขึ้นมา
เพราะฉะนั้นเทวดาไปบังเกิดก็เหมือนกับว่าไปบังเกิดในประเทศอันเขาตกแต่งไว้ดีแล้ว มนุษย์ก็เหมือนกัน ถ้าบุคคลใดบำเพ็ญไว้ดีแล้ว ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้ ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มี เมื่อเหตุเมื่อปัจจัยพร้อมแล้วสิ่งเหล่านั้นจะอุบัติขึ้นมา ไม่น้อยกว่าผลบุญที่เราได้สั่งสมอบรมไว้แต่ภพก่อนชาติก่อนอย่างแน่นอน อันนี้ถ้าเราคิดในลักษณะอย่างนี้แล้วเราก็ควรที่จะสันโดษยินดีตามมีตามได้
ถ้าเรายินดีตามมีตามได้ในลักษณะอย่างนี้ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การประพฤติปฏิบัติธรรมของเราก้าวหน้า ได้ยินว่าแม่ชีคนนั้นได้สมาธิ ๖ ชั่วโมง พระรูปนั้นได้สมาธิ ๑๒ ชั่วโมง คนโน้นได้นิมิต เราก็อยากได้กับเขาในลักษณะอย่างนี้ก็เรียกว่า เราไม่สันโดษในกรรมฐานของเรา ก็ขอให้เรานั้นมีความสันโดษ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ให้มีสติทำเหตุแห่งสติให้สมบูรณ์ ทำเหตุแห่งสมาธิให้สมบูรณ์ ทำเหตุแห่งวิปัสสนาญาณให้สมบูรณ์แล้วสิ่งเหล่านั้นมันก็จะเกิดขึ้นมาเอง
ประการที่ ๓ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นเป็นของบุคคลผู้ชอบสงัด ไม่ใช่เป็นของบุคคลผู้ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ถ้าผู้ใดมาเจริญวิปัสสนากรรมฐานแล้วเป็นผู้ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ชอบพูดจาสนทนาปราศรัย ถามเรื่องดิน เรื่องน้ำ เรื่องอากาศ เรื่องลม ซึ่งมันไม่เป็นประโยชน์ ถามว่าประเทศโน้นมีตม มีเลนไหม จังหวัดนั้นฝนตกไหม จังหวัดนั้นน้ำท่วมไหม อะไรทำนองนี้ สิ่งเหล่านั้นไม่เป็นประโยชน์ต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน ไปสนทนาปราศรัยในความร่ำความรวย สนทนาปราศรัยในความสวยความงาม สนทนาปราศรัยในการทำมาหากินซึ่งมันไกลตัวออกไป ไม่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ทำจิตให้ฟุ้งซ่านไปเปล่าๆ
เพราะฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ธรรมของบุคคลผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานก็คือ ความสงัด ความสงัดก็คือ ความสงบ ความสงบกาย ความสงบวาจา ความสงบใจ เป็นคุณสมบัติของบุคคลผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน เราอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมากก็สงบ เพราะเรามีการสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย อยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมากก็เกิดความสงบ นั่งด้วยกันเป็นจำนวนร้อยเป็นจำนวนพัน แต่กายของเราก็ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ได้รบกวนกัน วาจาของเราก็ไม่ได้เบียดเบียนกัน ไม่ได้รบกวนกัน ใจของเราก็ไม่เกี่ยวข้องพยาบาทซึ่งกันและกัน อยู่ด้วยกันเป็นร้อยเป็นพันก็สงบ ถ้าเราอยู่ด้วยกรรมฐาน อยู่ด้วยสติ อยู่ด้วยสัมปชัญญะ กายของบุคคลนั้นก็จะเป็นกายที่สงบสงัดได้ เหมาะแก่การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้อีกว่า ธรรมคือ การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นเป็นของบุคคลผู้มีความเพียร ไม่ใช่เป็นของบุคคลผู้มีความเกียจคร้าน คือบุคคลผู้มีความเกียจคร้านนั้นจะเจริญวิปัสสนากรรมฐานไม่ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า บุคคลผู้มีความเกียจคร้านนั้นย่อมไม่พบแสงสว่างแห่งปัญญา จะไม่สามารถยังแสงสว่างแห่งปัญญา คือ วิปัสสนาญาณ คือ สมาธิ สมาบัติ คือ มรรค ผล นิพพานนั้นให้เกิดขึ้นมาได้
เพราะการเจริญสมถะก็ดี วิปัสสนากรรมฐานก็ดี เป็นของบุคคลผู้ขยัน ผู้ที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมตลอดถึง ๖ วัน ๗ วัน ก็คงจะรู้ดีว่า เรานอนดึกตื่นดึก เราประพฤติปฏิบัติลำบากขนาดไหน อันนี้เพียงแต่เป็นการปฏิบัติธรรมในเบื้องต้นยังไม่เข้มข้น ยังไม่เอาชีวิตเป็นเดิมพัน ยังไม่เอาชีวิตมอบแก่การประพฤติปฏิบัติ เรียกว่ายังไม่โสตาย ยังไม่เอาความตายเป็นเดิมพัน
เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมที่เรากำลังทำอยู่เป็นเพียงเริ่มต้น เพราะว่าธรรมะนั้นอยู่ฟากตาย เราต้องตายเสียก่อนตาย เราจะได้เห็นอริยสัจ คือ จิตของเรานั้นตายไป ๑ ขณะจิต ด้วยอำนาจของมรรคญาณที่ประหารกิเลสเสียก่อนเราจึงจะได้รับผลของธรรมะขึ้นมา
เพราะฉะนั้นความเพียรจึงเป็นคุณสมบัติของบุคคลผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ผู้เกียจคร้านย่อมไม่ประสบพบทางแห่งแสงสว่างแห่งปัญญา
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า บุคคลผู้หนุ่มมีกำลังแข็งแรง ไม่ลุกขึ้นทำความเพียรในเวลาที่ควรลุก เป็นคนเกียจคร้าน เป็นคนเห็นแก่ความหลับนอน บุคคลนั้นจะพบแสงแห่งปัญญาคือ การบรรลุมรรคผลนิพพานไม่ได้ เขาจะต้องลำบากในตอนแก่ ต้องลำบากในเมื่อก่อนที่เขาจะตาย ถ้าบุคคลใดมีความเพียรแล้วถึงบุคคลนั้นจะอยู่ในฐานะยากจน เกิดในตระกูลของคนจัณฑาล แต่เป็นคนมีความเพียรตั้งมั่นในศีลในธรรม บุคคลนั้นก็เจริญรุ่งเรืองได้ เหมือนกับพระจันทร์ในข้างขึ้น
แต่บางคนผู้ไม่มีความเพียรถึงจะเกิดในตระกูลของคนรวย มียศถาบรรดาศักดิ์แต่เป็นคนเกียจคร้านไม่หมั่นในการงานนั้นๆ ก็ย่อมเสื่อม ย่อมซบเซา เหมือนกับพระจันทร์ข้างแรม มืดลงไปตามลำดับๆๆ
เพราะฉะนั้นการที่บุคคลผู้ไม่มีความเพียรมาเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จะเจริญนานขนาดไหนก็ตามก็เหมือนกับพระจันทร์ข้างแรมนั้นแหละ มีแต่จะเสื่อมลง มีแต่จะเศร้าหมองลง มีแต่มืดลง ยิ่งปฏิบัติความโกรธก็ยิ่งมาก ยิ่งปฏิบัติราคะก็ยิ่งมาก ยิ่งปฏิบัติความหลงก็ยิ่งมาก ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เข้าตำราคล้ายๆ กับว่า ยิ่งเป็นกรรมฐาน เรียกว่า กรรมฐานขี้โกรธ วิปัสสนาบ้ายออะไรทำนองนี้ อันนี้เป็นลักษณะของบุคคลผู้ไม่มีความเพียร เพราะฉะนั้นการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นเราต้องมีความเพียร เราเพียรขนาดไหน เราเพียรจนสุดความสามารถของเรา เรามีความเพียรเท่าไรเราทำเต็มที่ เมื่อเราทำเต็มที่แล้ว มัชฌิมาปฏิปทามันจะปรากฏขึ้นมา เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเพียรพอดี เราต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐานจนได้บรรลุมรรคผลนิพพาน นับตั้งแต่โสดาปฏิมรรค เรียกว่าธรรมาภิสมัย ๘ นั้นแหละ เราจึงจะเข้าใจว่ามัชฌิมาปฏิปทามันเป็นอย่างนี้นี่เอง
ถ้าผู้ใดยังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพานนับตั้งแต่พระโสดาบันเป็นต้นไป จะกล่าวว่าตนเองรู้มัชฌิมาปฏิปทานั้นยังไม่ถูกต้องตามหลักของปรมัตถธรรม เพียงแต่ถูกต้องตามหลักของสัญญา คือความจำจากหนังสือตำรับตำรา ฟังครูบาอาจารย์มา เป็นช่างพักลักจำ ไม่ใช่รู้แจ้งด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงปรากฏแก่บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม เราต้องมีความเพียรแกล้วกล้า มีความเพียรอาจหาญ ปรารภความเพียรอยู่เป็นนิจ ตราบใดที่เราได้บรรลุมรรคผลนิพพานนับตั้งแต่พระโสดาบันเป็นต้นไป เราจะรู้ว่าการทำความเพียร เราทำเราต้องวางจิตอย่างนี้ เราต้องประครองจิตอย่างนี้ ศีลขนาดนี้สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ สมาธิขนาดนี้สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ สติขนาดนี้สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ความเพียรขนาดนี้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ ปัญญา วิปัสสนาญาณประมาณนี้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ เราต้องประคับประครอง การนอนเราต้องนอนอย่างไร การฉันเราต้องฉันอย่างไร เราก็จะเกิด ความรอบรู้ในขณะที่เราเข้าใจอริยสัจธรรม
เมื่อสัจจะมันเกิดขึ้นมาแล้วความเข้าใจมันจะปรากฏขึ้นมา อันนี้เรียกว่าเป็นผู้แตกฉานในปฏิเวธธรรม ไม่ใช่แตกฉานในปริยัติธรรม ไม่ใช่แตกฉานในปฏิบัติธรรม แต่แตกฉานในปฏิเวธธรรม นี่การประพฤติปฏิบัติธรรมต้องมีความเพียรเป็นเครื่องแลกเอาธรรมะ ถ้าผู้ใดไม่มีความเพียร ก็แสดงว่าบุคคลนั้นไม่มีสิ่งของที่จะไปแลกเอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มรรคผลนิพพานนั้นต้องแลกด้วยความเพียร
ถ้าผู้ใดไม่มีความเพียรถึงจะปฏิบัติเช้า เย็น ปฏิบัติเป็น ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๓๐ ปี หลายๆ ปีจนถึงซึ่งความตาย แต่ถ้าไม่มีความเพียรถึงที่ก็ไม่สามารถที่จะแลกเอามรรคผลพระนิพพานได้ เป็นเพียงแต่ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ แต่จะชื่อว่าเป็นผู้รู้แจ้งแทงตลอดไม่ได้ อันนี้เป็นความเพียร
เพราะฉะนั้นความเพียรนั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร นักปราชญ์ทั้งหลายสรรเสริญความเพียร นักปราชญ์ทั้งหลายยินดีในความเพียร ไม่ยินดีในความเกียจคร้าน ท่านกล่าวว่า “บุคคลผู้มีความเพียรมีชีวิตเป็นอยู่เพียงวันเดียว ประเสริฐกว่าบุคคลผู้ไม่มีความเพียร เป็นอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี” นี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสอย่างนั้น
แล้วพระองค์ทรงตรัสว่า บุคคลผู้ทำความเพียรนั้น ควรทำความเพียรเสียแต่วันนี้ ใครจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะพญามัจจุราช พร้อมด้วยเสนามาร ไม่รู้ว่าจะมาปลิดชีวิตของเราไปเมื่อใด เรารู้แต่วันเกิด เราไม่รู้วันตาย ในวันตายเราไม่รู้ เราจะตายวันนี้ตายพรุ่งนี้ ตายมะรืนนี้ ปีหน้า เดือนหน้า เราไม่รู้ เพราะอะไร เพราะเราไม่มีอนาคตังสญาณเราก็ไม่สามารที่จะรู้ได้ เราไม่ได้เป็นพระอรหันต์เราก็รู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่เราทั้งหลายนั้นอย่าประมาท
เหมือนกับพ่อค้าเกวียนที่ไปค้านั้นแหละ ไปค้าขายก็ดีน้ำขึ้นไปค้าขายไม่ได้ก็จอดเกวียนพักเกวียนอยู่ ตอนกลางคืนก็ปรึกษาหารือกันว่า ถ้าน้ำลดเราก็ควรจะเอาผ้าไปขายในเมืองตลอด ๓ เดือน แล้วเราไปซื้อผ้ามาขายซื้อสินค้าโน้นไปขายตรงโน้นตรงนี้ ก็วางแผนกันตอนเย็น
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงรู้วาระจิต ตอนเช้าพระองค์กับพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะก็มาบิณฑบาต เมื่อมาบิณฑบาตแล้วพระองค์ก็ทรงแย้มพระโอษฐ์ พระอานนท์ก็ทรงมองเห็นก็เลยกราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงแย้มพระโอษฐ์เพราะเหตุอะไรหนอแล”
พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า “ดูก่อน อานนท์ พ่อค้าเกวียนนี้ไม่รู้ความตายที่จะมาถึงแก่ตนเองในอีก ๒ วัน ๓ วันข้างหน้า คิดการใหญ่ว่าตนเองจะไปค้าขายตรงโน้นตรงนี้ ไม่รู้ว่าความตายจะมาถึงตนเองในวันพรุ่ง วันมะรืนนี้ มัวแต่คิดอยู่”
พระอานนท์ก็เลยไปบอกพ่อค้า พ่อค้าก็เลยทำทาน นิมนต์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาฉันตลอด ๓ วัน ขณะที่วันที่ ๓ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฉันภัตตาหารแล้วก็อนุโมทนา เมื่ออนุโมทนาแล้วอุบาสกคนนั้นก็ถือบาตรองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปส่งที่พระเชตวัน เมื่อไปส่งเสร็จแล้วก็กลับมาสู่ที่พักเกวียน เมื่อมาสู่ที่พักเกวียนแล้วก็เกิดโรคกะทันหันขึ้นมา ปวดหัวกะทันหันขึ้นมา ก็คิดว่าจะนอนพักผ่อนสักหน่อยหนึ่ง เมื่อนอนแล้วก็ตายไป อันนี้ความตายมันไม่แน่นอน เพราะฉะนั้นบุคคลพึงทำความเพียรเสียแต่วันนี้ ใครจะรู้ว่าความตายจะมีมาในวันพรุ่ง นี้เป็นธรรมของบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสว่า บุคคลผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นต้องเป็นผู้มีสติตั้งมั่น ไม่ใช่เป็นผู้มีสติหลงลืม ผู้ใดมาเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่มีสติ มัวแต่คุย มัวแต่พูด มัวแต่ทำอย่างอื่นโดยปราศจากสติ บุคคลนั้นก็ชื่อว่าเดินหลงป่าเข้าดงพงไพร ไม่ใช่เดินทางไปสู่พระนิพพาน แต่เดินออกจากข้างทางไปสู่ป่าดงพงทึบ มากไปด้วยเสือ ด้วยช้าง ด้วยอันตรายต่างๆ บุคคลนั้นจะไม่มีโอกาสพบพระนิพพานเลย เพราะอะไร เพราะพระนิพพานนั้นต้องใช้สติเป็นตัวเดิน ใช้สัมปชัญญะเป็นตัวประคับประคองจึงจะถึงพระนิพพานได้
เพราะฉะนั้นบุคคลผู้จะบรรลุมรรคผลนิพพานก็ต้องมีสติ ไม่ใช่เป็นผู้หลงลืม ไม่มีในกาลใดๆ ที่บุคคลมาประพฤติปฏิบัติ หลงลืมแล้วได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน หลงลืมแล้วได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี หลงลืมแล้วได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน ไม่มี มีแต่มีสติใสแจ๋ว ถ้าสติของเรามุ่งตัดอดีต ตัดอนาคต ตัดอารมณ์ไว้มาก เรามีวิตกวิจารอยู่ก็จริงแต่เราตัดอารมณ์ได้ เราก็สามารถเข้าถึงปฐมฌาน เพราะปฐมฌานนั้นมีวิตก วิจาร มีปีติ มีสุข มีเอกัคคตา มีอารมณ์ ๕ เราสามารถเข้าปฐมฌานได้ เราตัดวิตกวิจารได้ประมาณหนึ่ง เราก็เข้าถึงปฐมฌาน
แต่ถ้าเราสามารถตัดวิตกวิจารออกให้สิ้น เหลือแต่ ปีติ สุข เอกัคคตา ก็ชื่อว่าเรานั้นเข้าถึงทุติยฌานได้แล้ว คือเราบริกรรม “พองหนอ” “ยุบหนอ” ไป อาการพอง อาการยุบก็พองขึ้นแต่ไม่มีคำบริกรรม มีแต่สติรู้อยู่เฉยๆ เห็นอาการพองขึ้นลงเฉยๆ นี้เรียกว่าเราเข้าถึงทุติยฌานแล้ว เพราะอะไร เพราะอำนาจของสตินี่เอง สติของเราตัดอารมณ์ที่วิตกวิจารออก
หรือว่าเราจะเข้าถึงตติยฌาน ตติยฌานนั้นก็มีแต่สุข กับเอกัคคตา ตัวของเรานั้นก็จะแข็ง เย็น แล้วก็จะนิ่ง เหมือนกับปลาที่ไปปิ้ง หรือไปเสียบไว้ที่เราย่างบนไฟนั้นแหละ จะกระดุกร่างกายก็ไม่ได้ แต่ความรู้สึกมันเบา คล้ายๆ ว่าลมหายใจมันก็เบา อาการพองอาการยุบมันก็เบา รู้ตัวอยู่แต่ยังไม่ดับ แต่รู้ตัวเบาๆ คือประสาทของเรา ประสาทตาก็ดี ประสาทหูก็ดี ประสาทกายก็ดี ประสาทลิ้น ประสาทสัมผัสทางใจของเราก็ดี มันก็จะรับอารมณ์คือ รูป เสียง กลิ่น รสข้างนอกนั้นน้อยลงไป เบาลงไป เหลืออยู่ประมาณ ๓๐ เปอร์เซ็นต์อะไรทำนองนี้
การได้ยินก็ได้ยินเสียงเบาๆ อยู่ไกลๆ ลมมาพัดถูกร่างกายก็ รู้สึกบ้าง ไม่รู้สึกบ้าง นี้เป็นในลักษณะทำนองนั้น อันนี้เพราะอะไร เพราะอำนาจของสติของเรา สติของเรามันปรากฏชัดจึงเป็นอย่างนั้น
แต่ถ้าบุคคลใดมีสติมั่นไปกว่านั้นอีก ก็สามารถที่จะทำให้ดับ สามารถยังลมหายใจของเรานั้นให้หมดสิ้นไปแต่ไม่ตาย เพราะอยู่ในอารมณ์ของจตุตถฌาน มีฌานนั้นเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง มีฌานนั้นเป็นเครื่องป้องกัน มีฌานนั้นเป็นเครื่องห่อหุ้มไว้ ไม่ให้ชีวิตของเรามันแตกดับทั้งๆ ที่ลมหายใจนั้นไม่มี
ดังที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ว่าลมหายใจไม่มีในบุคล ๔ จำพวก คือบุคคลดำน้ำก็ไม่มีลมหายใจ กลั้นลมหายใจลงไปดำน้ำก็ไม่มีลมหายใจ บุคคลผู้อยู่ในท้องของมารดาก็ไม่มีลมหายใจ บุคคลที่ตายแล้วก็ไม่มีลมหายใจ เรียกว่าคนตายก็ไม่มีลมหายใจ แล้วบุคคลผู้เข้าจตุตถฌานก็ไม่มีลมหายใจ นี้เพราะอะไร เพราะอำนาจของสติ
เพราะฉะนั้นสตินั้นจึงถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ บุคคลผู้หลงลืมสติ จะไม่รู้แจ้งแทงตลอดแม้สมาธิ สมาบัติได้ แม้ปีติก็ไม่เกิดขึ้น แม้ปัสสัทธิก็ไม่เกิดขึ้น ญาณใดญาณหนึ่ง ตั้งแต่นามรูปปริเฉทญาณก็ไม่เกิดขึ้นถ้าบุคคลไม่มีสติ เพราะฉะนั้นการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นต้องมีสติ ไม่ใช่เป็นของผู้มีสติหลงลืม ผู้มีสติหลงลืมจะไม่สามารถเข้าถึงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้
เพราะฉะนั้นการที่พวกเราจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะกิน จะดื่ม จะพูด จะคิด จะทำกิจอะไร ก็ควรที่จะมีสติ การมีสตินั้นเป็นการระลึกถึงพระพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ในสติสูตร สูตรว่าด้วยสติ ว่าการเจริญสติ การมีสติในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อนี้ เป็นอนุสาสนี คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ผู้ใดอยากทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ต้องไปเรียนพระไตรปิฎก ไม่ต้องเรียนนักธรรมตรี ธรรมโท ธรรมเอก เปรียญธรรม หรือพระอภิธรรมก็ได้ ให้มีสติทันปัจจุบันธรรมก็ชื่อว่า กระทำตามอนุสาสนีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าครบทุกกระบวน
เพราะกายของเราบริสุทธิ์ วาจาของเราบริสุทธิ์ ใจของเราบริสุทธิ์ เราไม่ทำบาป กายวาจาใจของเราไม่ทำบาป เพราะมีสติ เพราะฉะนั้นจึงเป็นอนุสาสนีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมควรตระหนักว่าสติของเรานั้นสมบูรณ์ไหม ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเรามีสติสมบูรณ์ไหม ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด หรือว่าเราเผลอไปตอนไหน เผลอไปตอนอาบน้ำ เผลอไปตอนบิณฑบาต เผลอไปตอนฉัน เผลอไปตอนเลิก หรือเผลอไปตอนที่เราถูกเพื่อนถาม คุยกัน หรือว่าเผลอไปตอนทำวัตรอะไรทำนองนี้ เราต้องมีสติตรวจตราสติของเราไม่ให้เผลอไปตามอารมณ์ต่างๆ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นเป็นของผู้มีจิตตั้งมั่น ไม่ใช่เป็นของบุคคลผู้ไม่มีจิตตั้งมั่น คือ ผู้ไม่มีจิตตั้งมั่นย่อมไม่รู้พระสัจธรรม ผู้มีจิตเลื่อนลอย ผู้มีจิตฟุ้งซ่าน ผู้มีจิตรำคาญ ผู้มีจิตมากไปด้วยพยาบาท ความโกรธ ความอาฆาต ความมาดร้ายต่างๆ บุคคลผู้นั้นจะเจริญวิปัสสนาไม่ได้ผล ถ้าเจริญไปก็มีโอกาสแห่งความเป็นบ้า ถ้าเจริญไปก็มีโอกาสแห่งความเสียคน เกิดทิฏฐิวิปลาส เกิดสัญญาวิปลาส เกิดความคิดผิด เกิดความสำคัญผิดต่างๆ นาๆ เพราะอะไร เพราะบุคคลเหล่านั้นมีจิตไม่ตั้งมั่นย่อมไม่หยั่งลงในพระสัจธรรม
เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรม คณะครูบาอาจารย์ผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าจิตไม่ตั้งมั่นแล้ว เราไม่มีโอกาสที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน และรู้แจ้งแทงตลอดแน่นอน เพราะฉะนั้นการที่พวกเราทั้งหลายได้มาประพฤติปฏิบัติธรรมก็เพื่อที่จะทำจิตของเราให้ตั้งมั่น เราเดินจงกรม นั่งภาวนา ไหว้พระ สวดมนต์ ไม่ได้กลับไปนอนที่อื่น เราสำรวมอยู่กับที่ ไม่ได้มีอารมณ์อย่างอื่น แม้ฟังธรรมเราก็ปิดโทรศัพท์ แม้เดินจงกรมเราก็ไม่รับอารมณ์ต่างๆ เพื่ออะไร เพื่อให้จิตใจของเราตั้งมั่น เรียกว่าเป็นการฝึกจิต
เมื่อเราฝึกจิตดีแล้วความสุขก็ดี ความสำเร็จก็ดี มันก็เกิดขึ้นแก่ตัวของเราได้ จิตฺตสฺส ทมโถ สาธุ การฝึกจิตเป็นความดีแท้ จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ จิตที่ฝึกดีแล้วนำสุขมาให้
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสเรื่องจิตไว้ พระองค์ทรงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์โลกทั้งหลายนั้น ถูกจิตชักไป ถูกจิตจูงไป ถูกจิตลากไป สรรพสัตว์ทั้งหลาย สัตว์โลกทั้งหลาย สิ่งทั้งหลายทั้งปวง เป็นไปในธรรมอันหนึ่ง คือเป็นไปในจิต” พระองค์ทรงตรัสว่า สัตว์โลกทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นไปในอำนาจของจิต ถูกจิตชักไป ถูกจิตลากไป ถูกจิตจูงไป ตกไปอยู่ในอำนาจของจิต
เพราะฉะนั้นธรรมอันหนึ่ง คือ จิตของเรานี้แหละ จึงเป็นผู้ครองโลกไม่ใช่อย่างอื่นครองโลก แต่ว่าจิตของเราครองโลก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าตกอยู่ในอำนาจของจิตเลย ผู้ไม่รู้แจ้งซึ่งอริยสัจ ๔ ตกอยู่ในอำนาจของจิตแล้ว ย่อมถูกจิตนั้นลวงหลอก เมื่อจิตลวงหลอกแล้วก็กระทำในสิ่งที่เป็นวิสัยของมาร เมื่อกระทำในสิ่งที่เป็นวิสัยของมารแล้ว บุคคลนั้นย่อมท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ ไม่รู้จักจบ ไม่รู้จักสิ้น เป็นเอนกชาติ”
นี้พระองค์ทรงตรัสอย่างนั้นเลยว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าตกอยู่ในอำนาจของจิต ผู้ที่ไม่รู้แจ้งแทงตลอดซึ่งอริยสัจ ๔ ตกอยู่ในอำนาจของจิตแล้ว ย่อมถูกจิตนั้นลวงหลอกล่อให้กระทำตามวิสัยของมาร คือยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ยินดีในการฟ้อน ในการรำ ยินดีในการขับ ในการประโคม เป็นต้น
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า บุคคลผู้ยินดีในการขับร้อง ผู้ใดขับร้องนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ดูก่อนภิกษุ บุคคลผู้ยินดีในการขับร้องนั้น เปรียบเสมือนกับการร้องไห้ในพระธรรมวินัย” บุคคลผู้ยินดีในการฟ้อน การขับ การฟ้อนรำ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ยินดีในการฟ้อนนั้น เหมือนกับคนเป็นบ้าในอริยวินัย บุคคลผู้หัวเราะร่าเริง หัวเราะจนเป็นเหตุให้เห็นไรฟัน หัวเราะกระซิกกระซี้ต่างๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้หัวเราะกระซิกกระซี้เห็นไรฟัน ก็เปรียบเสมือนกับนิสัยของทารกในอริยวินัย” เหมือนกับนิสัยของเด็ก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงเอาจริงถึงขนาดนั้น เด็ดขาดถึงขนาดนั้น เป็นผู้มีเมตตาเฉียบขาด พระองค์จึงเป็นสยัมภู เป็นผู้รู้เอง เป็นครูของมนุษย์ และ เทวดาทั้งหลายทั้งปวง
เพราะฉะนั้นพวกเราทั้งหลายที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมก็ควรให้จิตใจของเราตั้งมั่น อย่าหวั่นไหวตามอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์ต่างๆ ที่มาทำให้จิตใจของเราไม่ตั้งมั่น ไม่ใช่อย่างอื่น ก็คืออารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงนี้แหละ ถ้าเราสำรวมได้จิตใจของเราก็ตั้งมั่น
แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า บุคคลผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น เป็นของบุคคลผู้มีปัญญา ไม่ใช่ของบุคคลผู้มีปัญญาทราม บุคคลผู้มีปัญญาทรามมีความโกรธ มีความโลภ มีความหลง บุคคลเหล่านี้จะเจริญวิปัสสนาไม่ได้ บุคคลผู้มีมานะทิฏฐิ คิดว่าตัวเองดี ตัวเองเด่น ตัวเองเลิศกว่าบุคคลอื่น ก็มาประพฤติปฏิบัติธรรมไม่ได้ เป็นทิฏฐิวิปลาส เกิดความคลาดเคลื่อนสำคัญผิดไปหมด เพราะอะไร เพราะจิตไม่เป็นกลาง จิตไม่เป็นธรรมชาติ วิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
ธรรมชาติก็คือวิปัสสนา วิปัสสนาก็คือธรรมชาติ แต่วิปัสสนานั้นแทงตลอดซึ่งธรรมชาติจึงรู้แจ้งซึ่งสัจธรรม เห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของรูปของนามได้ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น จึงเป็นเหตุเป็นผลของบุคคลผู้มีปัญญา ไม่ใช่เป็นเหตุเป็นผลของบุคคลผู้มีปัญญาทราม
เราจะมีปัญญาได้อย่างไร ปัญญาในทางเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น ไม่ใช่ปัญญาเพราะการเรียนนักธรรมตรี ธรรมโท ธรรมเอก ไม่ใช่ปัญญาเพราะการเรียนเปรียญธรรม ๙ ประโยค ไม่ใช่การเรียนอภิธรรมบัณฑิตจนได้มหาบัณฑิต ไม่ใช่การเรียนปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก หรือ ด็อกเตอร์หลายสาขาต่างๆ แต่เป็นการเรียนรู้ที่อัตภาพร่างกายอันยาววาหนาคืบกว้างศอก
ให้เรามีสติ มีสัมปชัญญะพิจารณาที่ร่างกายของเรานี้แหละ ตั้งแต่พื้นเท้าถึงปลายผม จากปลายผมถึงพื้นเท้านี้พิจารณาให้หนัก พิจารณาให้ลึกซึ้งลงไป พิจารณาให้รู้แจ้ง พิจารณาให้ถ้วนถี่ พิจารณาเข้าไปให้เกิดความเบื่อหน่ายในร่างกาย ให้เห็นความคลายกำหนัดในร่างกาย ให้รู้แจ้งแทงตลอดว่าร่างกายเราเป็นสักแต่ว่าธาตุ เป็นสักแต่ว่าสิ่งที่ปรุงแต่ง เป็นรูปเป็นนาม ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน พิจารณาให้หนักเข้าไป ลึกเข้าไป ให้ถ้วนถี่เข้าไป ให้ละเอียดลออเข้าไป พิจารณาด้วยอำนาจของสติ พิจารณาด้วยอำนาจของสมาธิ พิจารณาด้วยอำนาจของวิปัสสนาญาณ อันนี้เป็นหนทางให้เกิดปัญญาในทางพุทธศาสนา
ปัญญาในทางพุทธศาสนาก็มี ๑๖ ขั้น นับตั้งแต่นามรูปปริจเฉทปัญญา ปัจจัยปริคคปัญญา ไล่ไปจนถึงปัจจเวกขณปัญญา ถ้าผู้ใดสามารถยังปัญญาทั้ง ๑๖ ขั้นขึ้นไป เกิดขึ้นแก่ตนเองเพียงครั้งหนึ่งบุคคลนั้นก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ ตายแล้วจะไม่ไปเกิดในนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน จะทำบาปมามากขนาดไหนก็ตาม ตายไปแล้วก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ ปิดประตูอบายภูมิโดยเด็ดขาด แม้แต่องคุลิมาลฆ่าคนมาตั้งมากตายแล้วก็ไม่ไปสู่อบายภูมิ แม้แต่นายตัมพทาฐิกะ ฆ่าโจรมาตั้ง ๕๕ ปี เป็นเพชฌฆาตฆ่าคนมาตั้ง ๕๕ ปี คิดดูสิว่าจะฆ่าคนไปขนาดไหน ตายแล้วก็ไม่ไปสู่อบายภูมิ
ทำไมไม่ไปสู่อบายภูมิท่านกล่าวไว้ว่า เหมือนกับเราทิ้งก้อนหินลงน้ำ ถ้าเราทิ้งลงน้ำก้อนหินนั้นต้องจมลงไปสู่ก้นของแม่น้ำแน่นอน เพราะหินนั้นเป็นของหนัก แต่ขณะที่เราทิ้งหินลงไปนั้นแหละมีเรือลำหนึ่งวิ่งมารับ ก้อนหินก้อนนั้นก็ตกลงไปที่เรือก็ไม่จมลงไปสู่ก้นแห่งแม่น้ำ นี้แหละอริยมรรค โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผลก็รองรับบุคคลนั้นไว้ ไม่ให้ไปสู่อบายภูมิฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นต้องมีปัญญา คือ ต้องมีสติ มีสัมปชัญญะ ตัวสติ ตัวสัมปชัญญะนั้นแหละ เป็นตัวปัญญาในทางการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
แล้วก็ประการสุดท้ายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นเป็นของบุคคลผู้ยินดีในธรรมอันไม่เนิ่นช้า แล้วก็เป็นของบุคคลผู้ชอบใจในธรรมอันไม่เนิ่นช้า ไม่ใช่เป็นของบุคคลผู้ยินดีในธรรมอันเนิ่นช้า ธรรมอันไม่เนิ่นช้าก็คือ การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนี้แหละ เพราะการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นไม่อ้อม ไม่โค้ง ไม่วน ไม่เวียน ไม่แวะ เป็นทางตรง เป็นอุชุมัคโค เป็นวรมัคโค ทางอันประเสริฐ เป็นเสฏโฐมัคโค เป็นทางอันเลิศอันประเสริฐ เพราะอะไร เพราะเอกมัคโค เป็นหนทางเส้นเดียวที่จะยังสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงนั้นได้เข้าถึงมรรค ถึงผล ถึงพระนิพพานได้ ไม่ต้องวนเวียนไปเกิด
ทางโค้งก็ดี ทางวน ทางเวียนก็ดี ก็คืออบายภูมิ ๔ มนุษย์ ๑ สวรรค์ ๖ ชั้น รูปพรหม ๑๖ ชั้น อรูปพรหม ๔ ชั้น เป็นภูมิ ๓๑ แต่การที่บุคคลทั้งหลายทั้งปวงวนเวียนอยู่ในลักษณะอย่างนี้ ยินดีในการเกิดเรียกว่าทางโค้ง ทางอ้อม ไม่ใช่ทางตรง เพราะฉะนั้นเป็นผู้ยินดีในธรรมอันเป็นเหตุให้เนิ่นช้า ผู้ใดยินดีในภพ ยินดีในการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย เวลาทำบุญทำทานก็สาธุ ขอให้ข้าพเจ้าได้เกิดเป็นสามี เป็นภรรยากันอีก ขอให้ข้าพเจ้าเกิดภพหน้าขอให้ข้าพเจ้าร่ำรวย เงินไหลนอง ทองไหลมา ขอให้ข้าพเจ้ามีทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรารถนา นพรัตน์แก้ว ๗ ประการ นพรัตน์แก้ว ๙ ประการ ไม่ได้ปรารถนาถึงพระนิพพาน ไม่ได้ปรารถนาสิ้นทุกข์สิ้นชาติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่าบุคคลนั้นไม่ประกอบไปด้วยปัญญา ทำบุญอยู่แต่ไม่ประกอบไปด้วยปัญญา แต่เป็นการปรารถนาภพ ปรารถนาชาติ แสดงว่าบุคคลนั้นยินดีในธรรมอันเป็นเหตุให้เนิ่นช้า การเจริญวิปัสสนากรรมฐานเป็นทางสายตรง เพราะอะไร เพราะเราตัดความยินดีในธรรมอันเนิ่นช้านั้นออกหมด เราตัดความยินดีในธรรมอันเนิ่นช้าเราตัดอย่างไร เราตัดที่ตา ตัดที่หู ตัดที่จมูก ตัดที่ลิ้น ตัดที่กายของเรา
คือขณะที่เราเห็นรูปเราก็ไม่ยินดี นี้เราตัดโลกคือรูปออกไป ขณะที่หูเราได้ยินเสียงเราไม่ยินดีในเสียง เรากำหนด “ได้ยินหนอ” เราตัดความยินดีในโลก คือ เสียงนั้นออกไป หรือว่าเราได้กลิ่นก็ดี ลิ้มรสก็ดี สัมผัสอารมณ์ต่างๆ ก็ดี เรียกว่าอารมณ์คือตา อารมณ์คือรูป อารมณ์คือเสียง อารมณ์คือกลิ่น คือรส คือสัมผัส โลกคือเสียง โลกคือกลิ่น โลกคือสัมผัส โลกคืออารมณ์ต่างๆ เพราะฉะนั้นโลกคืออารมณ์ อารมณ์คือโลก ผู้ใดหลงโลกผู้นั้นก็คือหลงอารมณ์ คนหลงอารมณ์ก็คือคนหลงโลก คนไม่หลงอารมณ์ก็คือคนไม่หลงโลก นี้ท่านกล่าวไว้อย่างนั้น
เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นท่านจึงกล่าวว่า เป็นทางตรง เป็นเอกมัคโค ไม่ใช่ทางโค้ง ไม่ใช่ธรรมอันเนิ่นช้า แต่ธรรมตัดตรงสู่พระนิพพานอันเป็นเอกบรมสุข
วันนี้อาตมภาพได้กล่าวธรรมะมาก็เกินเวลาไป ๘ นาที ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ในท้ายที่สุดนี้ ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าทั้งปวง ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรมทั้งปวง ด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ทั้งปวง ด้วยอานุภาพแห่งศีลทั้งปวง ด้วยอานุภาพแห่งเดช แห่งศีล แห่งสมาธิ แห่งปัญญาทั้งหลายทั้งปวง ด้วยอานุภาพแห่งทวยเทพไวยากรณ์ทั้งหลายทั้งปวงที่คอยอนุโมทนาบุญกุศล ที่ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมได้แผ่เมตตาไปทุกวันๆ นี้ทั้งปวง ขอให้บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวง เดชแห่งบารมีทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นจงได้มารวมกัน เป็นตบะ เป็นเดชะ เป็นพลวปัจจัยส่งเสริมให้คณะครูบาอาจารย์ ส่งเสริมให้ญาติโยมทั้งหลายผู้กำลังประพฤติปฏิบัติธรรมนี้จงเป็นไปเพื่อที่ให้ได้ซึ่งสมาธิ สมาบัติ เป็นไปให้ได้ซึ่งการบรรลุมรรคผลนิพพาน ทั้งในชาตินี้และชาติหน้าตลอดชาติอย่างยิ่ง จนถึงความพ้นทุกข์คือพระนิพพานด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.