คุณธรรมของผู้ปฏิบัติธรรม

คุณธรรมของผู้ปฏิบัติธรรม


          ขอนอบน้อมต่อพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง แม้ปรินิพพานไปนานแล้ว พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ด้วยเศียรเกล้า ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ญาติโยมสาธุชน ผู้สนใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมทุกท่านทุกคน ณ โอกาสบัดนี้

          ต่อไปก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายได้นั่งฟังด้วยความสงบ หรือว่าเราจะนั่งสมาธิฟังก็ได้ เพราะว่าการฟังธรรมนั้นเราฟังเพื่อที่จะเอาบุญด้วย ฟังเพื่อที่จะเอากุศลคือปัญญาด้วย ฟังเพื่อที่จะได้บารมีในการนั่งฟังด้วยความเคารพด้วย แล้วเราก็ฟังเพื่อเอาศีลเอาสมาธิเอาวิปัสสนาแล้วก็ฟังเพื่อเอาปัญญาคือ มรรคผลนิพพานด้วย การฟังธรรมนั้นมันมีหลายรูปแบบ ฉะนั้นก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายนั้นได้นั่งสมาธิฟัง

          ก่อนอื่นก็ขอทำความเข้าใจกับคณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทุกท่าน ว่าการที่ญาติโยมตลอดถึงคณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้มาร่วมกันประพฤติปฏิบัติธรรม ได้มาร่วมกันฟังธรรม ทำไมอาจารย์ขึ้นมากล่าวธรรมะแต่ละครั้ง ทำไมต้องพูดเรื่องศีล ทำไมถึงพูดเรื่องสมาธิ ทำไมจึงพูดเรื่องวิปัสสนาญาณ ทำไมจึงพูดเรื่องการบรรลุมรรคผลนิพพาน บางครั้งญาติโยมตลอดถึงคณะครูบาอาจารย์ก็อาจจะเกิดความเบื่อหน่าย

          แต่ว่าการที่อาตมภาพหรือกระผมได้กล่าวอย่างนี้ ก็เพื่อที่จะให้ครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายนั้นได้บุญมาก ได้อานิสงส์มาก ได้แก่นของพระศาสนานั้นเอาไปไว้ประดับกาย ประดับจิต เพราะว่าการฟังธรรมนั้นก็มีหลายประเภท

          ธรรมะบางประเภทก็สรรเสริญในเรื่องศรัทธา

          ธรรมะบางประเภทก็สรรเสริญในเรื่องบุญ เรื่องกุศล

          ธรรมะบางประเภทก็สนับสนุนในเรื่องความเพียร

          ธรรมะบางประเภทก็สนับสนุนในเรื่องสติ

          ธรรมะบางประเภทก็สนับสนุนในเรื่องสมาธิ

          ธรรมะบางประเภทก็สนับสนุนในการขุดบ่อน้ำ สร้างศาลา สร้างสะพานเป็นต้น ทำบุญกุศลแล้วได้บุญกุศลอย่างนั้นอย่างนี้

          ธรรมะทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นเป็นเหตุให้ไปสู่สุคติด้วยกันทั้งนั้น แต่ธรรมะที่จะกล่าวนั้นนอกจากไปสู่สุคติแล้วก็ยังไปสู่พระนิพพาน มียอดคือพระนิพพานนั้นเป็นที่ไป ที่ถึง เพราะฉะนั้นจึงอยากจะให้คณะครูบาอาจารย์ ญาติโยมที่มีเวลาอันมีน้อย เวลามันมีน้อยไม่มากแต่มาแล้วได้พบกับแก่นของพระศาสนา ได้พบกับแก่นของธรรมะ ถึงว่าญาติโยมจะฟังไม่เข้าใจ หรือว่ายังไม่เข้าซึ้งในการประพฤติปฏิบัติแต่ว่าเราเคารพในการฟังธรรมะ อันเป็นสาระ อันเป็นแก่นของพระศาสนา บุญกุศลก็จะบังเกิดขึ้นแก่ญาติโยมหาประมาณไม่ได้

          เราเปิดดูพระไตรปิฎกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เทศนากัณฑ์ไหนก็ตาม พระองค์จะเริ่มต้นด้วยการให้ทานก็ตาม พระองค์จะเริ่มต้นด้วยการรักษาศีลก็ตาม หรือพระองค์จะเริ่มต้นด้วยการเทศนาเรื่องอานิสงส์ของสวรรค์ก็ตาม ในท้ายที่สุดพระองค์ก็จะทรงสรุปลงที่พระนิพพาน เราเปิดดูพระไตรปิฎกเล่มไหนก็ตาม เรื่องใดก็ตาม ถ้าเราเป็นคนช่างคิด ช่างพินิจพิจารณาดู เราจะเห็นสมเด็จพ่อคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์จะไม่ทิ้งพระนิพพาน จะกล่าวธรรมะข้อใดก็ตามเป็นเบื้องต้น ท่ามกลาง แต่ที่สุดนั้นต้องเป็นพระนิพพาน

          เพราะฉะนั้นญาติโยมทั้งหลายที่ได้มาร่วมกันฟังเทศน์ฟังธรรม ก็ขออย่าได้เบื่อหน่ายในการประพฤติปฏิบัติ อย่าได้เบื่อหน่ายในการกล่าวธรรมะ ในเรื่องมรรค ในเรื่องผล ในเรื่องพระนิพพาน ไม่ว่าเป็นแก่นของพระศาสนา เป็นสาระของคน เป็นแก่นของธรรม เพราะฉะนั้นก็ขอให้พวกเราทั้งหลายได้อดทนได้พยายามต่อสู้ เพราะว่าการที่พวกเราทั้งหลายพยายามมาประพฤติปฏิบัติธรรม ก็เหมือนกับการยกจิตยกใจของเรานั้นขึ้นจากอารมณ์ที่มีทั้งหลายทั้งปวง

          เหมือนกับว่าพวกเราทั้งหลายนั้นจมอยู่ในตม จมอยู่ในโคลน แต่การที่พวกเราทั้งหลายมาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ เหมือนกำลังตะเกียกตะกายขึ้นจากตมจากโคลน เหมือนกับเราจมอยู่ในถังมูตร ถังคูถ ถังอุจจาระทั้งหลายทั้งปวง แต่ว่าเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ เรากำลังตะเกียกตะกายจากถังมูตร ถังคูถ หรือว่าถังอุจจาระเพื่อที่จะมายืนอยู่บนฝั่งเสรี ยืนอยู่บนฝั่งอันสบาย ยืนอยู่บนฝั่งอันเป็นที่เกษมจากความสกปรกโสมมทั้งหลายทั้งปวง เพราะฉะนั้นก็ต้องใช้ความเพียร ใช้ความอดทน ใช้ความบากบั่น

          ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมจะประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานนั้น ท่านกล่าวว่าต้องมีความเพียรอย่างมาก ท่านกล่าวว่าเหมือนช้างตกตม เหมือนช้างจมอยู่ในโคลนในเลนนั้น ลงไปชั่วท้องของช้าง โอกาสที่ช้างนั้นจะขึ้นมาจากหลุม โคลนนั้น ต้องใช้ความเพียรมาก ไม่ใช่จะขึ้นได้โดยง่าย เพราะฉะนั้นช้างศึกของพระราชา ตกตมแล้ว เวลาจะขึ้นจากโคลนจากตมนั้นพระราชาพร้อมด้วยทหารเอกทั้งหลายทั้งปวงก็จะมีกลอุบายทำกลองศึกสงครามมาตีข้างๆ ช้าง เมื่อช้างได้ยินเสียงกลองศึกสงครามก็จิตใจฮึกเหิม เมื่อจิตใจฮึกเหิมแล้วก็เท้าทั้ง ๔ ก็ดี งวงก็ดีก็ตะเกียกตะกายรึงรัดตัวของตัวเองนั้นให้ขึ้นมาจากหลุมได้

          บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน ผู้ที่จมอยู่ในห้วงของกิเลสก็เหมือนกับจมอยู่ในห้วงของโคลนตม เพราะฉะนั้นเวลาประพฤติปฏิบัติธรรมเราต้องย่ำกลองเภรี เรียกว่าธรรมเภรี ย่ำกลองแห่งธรรมคือต้องฟังธรรมบ่อยๆ ปลุกจิตปลุกใจของเราให้เกิดความอาจหาญ เกิดความมานะ เกิดความมุ่งมั่น เกิดความเอาจริงเอาจัง เกิดความเด็ดเดี่ยว ถ้าเราไม่ปลุกจิตปลุกใจให้ตื่นตัวขึ้นมาในการประพฤติปฏิบัติธรรมไม่ปรารภความเพียร ไม่ทำให้จิตใจห้าวหาญ ไม่ทำให้จิตใจเด็ดเดี่ยวแล้ว การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ปฏิบัติยาก เป็นการทวนกระแส เหมือนกับว่ายทวนกระแสน้ำมันว่ายยาก เหมือนกับเราเข็นครกขึ้นเขามันลำบาก เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นก็ต้องปลุกจิตปลุกใจ ทำจิตใจของเราให้เกิดความเพียร ความมุมานะขึ้นมา เหมือนกับช้างได้ยินเสียงกลองศึกสงคราม

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า เราตถาคตนั้น ย่ำกลองคือธรรมเภรีนั้นให้เกิดขึ้น ให้ดังขึ้น ทำให้ข้าศึกคือกิเลสทั้งหลายทั้งปวงนั้น ได้อันตรธานไป เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรม คณะครูบาอาจารย์ก็ขอให้ใช้ความเพียร ใช้ความอดทน

          การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ธรรมวินัยของพระองค์นั้นมีการลาดไปตามลำดับ มีการเอียงไปตามลำดับ มีการลุ่มลึกไปตามลำดับ มีการละเอียดลออสุขุมคัมภีรภาพไปตามลำดับ ไม่โกรกชันเหมือนกับภูเขาขาด ธรรมะขององค์สมด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นไม่โกรกชันเหมือนกับภูเขาขาด แต่เป็นธรรมะที่ประณีต สุขุม ลุ่มลึก ละเอียด ลออลงไปตามลำดับๆ เหมือนกับเราให้ทานแล้วเราก็มารักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา เจริญวิปัสสนากรรมฐานเรียกว่าลาดลงไป เอียงลงไปตามลำดับๆ เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามเพียรไปตามลำดับๆ เพราะว่าธรรมะนั้นมีขั้นมีตอนไปตามลำดับ

          ดังที่สมัยหนึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเรานั้น พระองค์ทรงประทับอยู่ที่บุพพาราม อารามของนางวิสาขา นางวิสาขาสร้างบุพพารามเสร็จใหม่ๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ประทับอยู่ที่บุพพาราม พร้อมด้วยภิกษุจำนวน ๕๐๐ รูป

          ในสมัยนั้นมีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อโมคคัลลานะพราหมณ์ โมคคัลลานะพราหมณ์นั้นก็ได้เข้าไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญในศาสนาอื่น อย่างเช่น นิครนถ์นาฏบุตรก็มีคำสอนไปตามลำดับ หรือว่าการก่อสร้างบุพพารามนี้ก็มีการสอนไปตามลำดับ หรือว่าศาสนาพราหมณ์ ลัทธิอื่นก็มีการสอนไปตามลำดับ ส่วนคำสอนหรือว่าศาสนาของพระองค์นั้นมีการสอนไปตามลำดับหรือไม่

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสว่า ดูก่อนโมคคัลลานะพราหมณ์ คำสอนในพระพุทธศาสนาของเรานี้ก็เหมือนกัน มีการสอนไปตามลำดับ มีการเรียนไปตามลำดับ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสว่า บุคคลผู้ที่จะบวชเข้ามาในพุทธศาสนา หรือได้เข้ามาศึกษาในพุทธศาสนานั้นต้องศึกษาไปตามลำดับ

          ลำดับที่ ๑ พระองค์ก็ทรงตรัสว่า บุคคลผู้ที่เข้ามาศึกษาในพระศาสนานั้นต้องมีศีลแล้วก็สำรวมในพระปาติโมกข์ เว้นข้อที่พระองค์ทรงห้าม กระทำตามข้อที่พระองค์ทรงอนุญาต สิ่งใดที่พระองค์ทรงห้าม พวกเราทั้งหลายก็เว้นจากสิ่งเหล่านั้น สิ่งใดที่พระองค์ทรงอนุญาตเราก็กระทำตามที่พระองค์ทรงอนุญาต เราก็เว้นจากโทษจากภัยจากเวรทั้งหลายทั้งปวงจิตใจก็จะสงบระงับ ด้วยการปราศจากเวรภัย เพราะฉะนั้นศีลนั้นจึงถือว่าเป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์

          ท่านกล่าวว่าศีลนั้นเป็นที่เกิดของธรรมทั้งหลายทั้งปวง เพราะฉะนั้นถือว่าศีลนั้นเป็นพื้นฐานของธรรมะทั้งหลายทั้งปวง เหมือนกับพื้นดินเป็นที่รองรับของต้นไม้ก็ดี เป็นที่รองรับของภูเขาก็ดี เป็นที่รองรับของลำธารก็ดี หรือว่าเป็นที่รองรับของสัตว์สาวาสิ่ง คนทั้งหลายทั้งปวงก็ต้องอยู่บนแผ่นดิน ธรรมะในพระศาสนาของเราก็เหมือนกัน จะเป็นเรื่องสมาธิก็ดี จะเป็นเรื่องวิปัสสนาก็ดี เป็นเรื่องของมรรคของผล เป็นเรื่องวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ อภิญญา ๖ ธรรมะทั้งหลายทั้งปวงนั้นจะเกิดขึ้นมาได้ก็ต้องมีศีลนั้นเป็นพื้น ธรรมะจะสูงขนาดไหนก็ตามก็ต้องเริ่มต้นจากศีล ตึกจะสูงเป็นร้อยชั้นพันชั้นแต่ฐานของตึกก็ต้องตั้งอยู่บนพื้นดิน เหมือนกับธรรมะจะสูงถึงโลกุตรธรรม ๙ แต่พื้นฐานของธรรมะก็ต้องเริ่มจากศีลอันบริสุทธิ์เสียก่อน จึงสามารถที่จะยังสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นธรรมะจึงต้องมีศีลเป็นเบื้องต้น ถ้าผู้ใดไม่มีศีลแล้วคนทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นจะไม่สามารถประพฤติปฏิบัติธรรมได้ จะไม่มีความขยันจะไม่มีความอดทนในการประพฤติปฏิบัติธรรม

          เราเคยเห็นบุคคลผู้ไม่มีศีลมาเดินจงกรมนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เพราะจิตใจของบุคคลเหล่านั้นย่อมฟุ้งซ่าน ย่อมรำคาญ ย่อมมีจิตใจหมกมุ่นอยู่ในกามคุณ ย่อมผันตัวไปในความประกอบสุข ในส่วนที่เป็นรูปเป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นสัมผัส เป็นอารมณ์ของชาวโลก เพราะฉะนั้นศีลนั้นจึงถือว่าเป็นประทัฏฐาน เป็นเบื้องต้นที่พวกเราทั้งหลายต้องทำให้ดีในพระพุทธศาสนา ถ้าเราไม่มีศีลแล้วการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเป็นไปไม่ได้

          เหมือนกับเราจะสร้างเรือนบนอากาศโดยที่ไม่มีแผ่นดินเป็นที่รองรับ เราจะสร้างอย่างไรเรือนมันก็ไม่ลอยอยู่บนอากาศได้ เพราะปกติเรือนนั้นต้องตั้งอยู่บนแผ่นดิน ธรรมะทั้งหลายทั้งปวงก็เหมือนกัน ไม่ได้ลอยอยู่บนอากาศแต่ตั้งอยู่บนศีล พื้นฐานของธรรมะเกิดขึ้นที่ศีล เพราะฉะนั้นเราจะสร้างเรือนบนอากาศไม่ได้ฉันใด เราจะทำธรรมะให้เกิดขึ้นมีมรรค มีผล มีพระนิพพานเกิดขึ้นโดยที่ไม่มีศีลนั้นก็ไม่ได้ฉันนั้นเหมือนกัน อันนี้เป็นธรรมะข้อหนึ่งที่เราพยายามทำให้เกิดขึ้นมา

          แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัส ธรรมะข้อที่ ๒ ในลำดับของการเรียนรู้พระศาสนาว่า บุคคลที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนานอกจากจะตั้งมั่นในศีล สำรวมในพระปาติโมกข์ เว้นข้อที่พระองค์ทรงห้ามกระทำตามข้อที่พระองค์ทรงอนุญาตแล้ว ต้องเป็นผู้สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่าต้องสำรวมอินทรีย์ การสำรวมอินทรีย์นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ

          ท่านอุปมาอุปมัยว่าร่างกายของเรานั้นเปรียบเสมือนกับเรือ รูรั่วก็มีอยู่ ๖ รูคือรูรั่วทางตา รูรั่วทางหู รูรั่วทางจมูก รูรั่วทางลิ้น รูรั่วทางกาย แล้วก็รูรั่วทางใจ ท่านให้เรานั้นปิดรูรั่วคือเวลาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ท่านให้เราปิดตา ๒ ข้าง ปิดหู ๒ ข้าง ปิดปากเสียบ้าง จะนั่งนอนสบาย ท่านกล่าวอย่างนั้น ตาหูปากจมูกลิ้นกายใจก็เป็นรูรั่ว เพราะฉะนั้นเวลาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ท่านจึงให้เราหลับตาแล้วให้เราปิดตาปิดหูปิดจมูก เวลานั่งแล้วจะได้มีสติกำหนดรู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นมา มีตาดีก็ทำเหมือนตาบอด มีหูดีก็ทำเหมือนหูหนวก มีลิ้นเจรจาพาทีได้สะดวกสบายคล่องแคล่ว แต่ก็ทำเหมือนกับคนใบ้ มีร่างกายแข็งแรง เข้มแข็ง มีกำลังดี แต่เวลาเดินจงกรมก็เดินช้าๆ ทำเหมือนกับคนง่อยเปลี้ย เพราะอะไร เพราะต้องการที่จะให้มีสติ เรียกว่าเราพยายามที่จะสำรวม การเดินอย่างนั้น การนั่งอย่างนั้นเรียกว่าการที่จะสำรวม

          เราปิดตาปิดหูปิดรูรั่วร่างกายของเราเป็นเรือถ้าเราไม่อุดรูรั่ว เราก็คงจะจมน้ำตายในท่ามกลาง ในแม่น้ำ เราจะต้องเป็นอาหารของเต่าและปลา ของจระเข้ทั้งหลายทั้งปวง เรามาประพฤติปฏิบัติธรรมถ้าเราไม่สำรวมตา ไม่สำรวมหูไม่สำรวมจมูก ลิ้น กาย ตาเราเห็นรูป เห็นผู้หญิงนุ่งน้อยห่มน้อยเกิดราคะขึ้นมาเราก็จมอยู่ในท่ามกลางของราคะแล้ว เกิดเห็นคณะครูบาอาจารย์ที่กระทำหรือว่าพูดในสิ่งที่เราไม่ชอบใจ ตาของเราเห็นในสิ่งที่เรากระทำไม่ชอบใจ หูเราได้ยินเสียงที่เขาพูดกระทบในการไม่เคารพนับถือเป็นต้น ก็เกิดความโกรธขึ้นมา เรียกว่าเราก็จมอยู่ในท่ามกลางของกระแสน้ำคือความโกรธแล้ว วิปัสสนาญาณก็ไม่เกิดขึ้นมา

          เพราะฉะนั้นท่านให้เราสำรวมก่อนที่เรือของเรามันจะจมกลางแม่น้ำ คือสำรวมตา สำรวมหูอุดรูทั้ง ๕ นี้ เหลือไว้แต่ใจของเรา เพื่อที่จะกำหนดรู้อารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง เพื่อที่จะเป็นฐานของสมาธิเพื่อใจของเราทั้งหลายนั้นจะเป็นวิปัสสนาก็จะเกิดปัญญาต่อไป เพราะฉะนั้นเวลามาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นท่านจึงให้เราสำรวม

          หรือว่าท่านอุปมาอุปไมยเหมือนกับเต่า เวลาศัตรูเข้ามา หมาจะมากัดก็ดี จะมาทำอันตรายก็ดี เต่านั้นก็หดอวัยวะทั้ง ๖ คือ หดหัวเข้าไปแล้วก็หดขาทั้ง ๔ แล้วก็หดหางเข้าไปอีก หมานั้นก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็วนไปเวียนมาจนเหนื่อยแล้วหมาก็หนีไป กิเลสทั้งหลายทั้งปวงก็เหมือนกัน ถ้าเรามีสติกำหนดรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ดีแล้วกิเลสมันก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ มันก็ต้องเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปตรงที่เราสำรวมนั้นแหละ ไม่สามารถที่จะไหลเข้าทางทวาร ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของเราได้ ก็เหมือนกับหมาเดินวนไปเวียนมาแล้วก็เหนื่อยแล้วหนีไป กิเลสทั้งหลายทั้งปวงไม่เกิดขึ้นท่วมทับจิตใจเรา

          แล้วท่านอุปมาอุปไมยเหมือนกันกับเหี้ย เหี้ยนั้นวิ่งเข้าไปในรู เหี้ยนั้นมีรูออกอยู่ ๖ รูเราก็ปิดเสีย ๕ รูเหลือไว้รูเดียว เราก็ขุดตามเมื่อเราขุดตามเราก็สามารถจับตัวเหี้ยได้ ฉันใด ตัวเหี้ยนั้นก็คืออารมณ์ของเรา แต่ถ้าเราไม่อุดตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่อุดรูทั้ง ๕ แล้วบางครั้งเราอุดไปรูนี้ เหี้ยก็อาจจะออกไปรูที่ ๒ เราอุดตามรูที่ ๒ มันอาจจะออกไปรูที่ ๔ เราอุดตามรูที่ ๔ มันอาจจะออกตามรูที่ ๓ มันอาจจะวิ่งออกไปตามรูนู้นบ้างตามรูนี้บ้าง แต่ถ้าเราปิดรูทั้ง ๕ เราขุดไปๆๆ เหี้ยมันจะไปไหนได้ เพราะเราอุดไว้หมดแล้ว ในที่สุดเราก็จับเอาเหี้ยนั้นมาได้ อันนี้ก็ฉันใด

          ถ้าเราไม่อุดตา อุดหู ตัวเหี้ยคืออารมณ์นั้นมันก็ไหลเข้าทางตาบ้าง ตัวเหี้ยคืออารมณ์นั้นมันก็ไหลเข้าทางหูบ้าง เมื่อไหลเข้ามาทางตา หู แล้วก็ลงไปที่ใจ เมื่อลงมาที่ใจแล้วก็แสดงความชอบใจ ความเสียใจ เกิดความโลภ เกิดความหลง เกิดความดี เกิดความร้าย เกิดขึ้นมาในจิตในใจ ใจของเราก็เป็นบุญบ้างเป็นกุศลบ้าง พองบ้างแฟบบ้างนี้แหละลักษณะของการอุดรู เพราะฉะนั้นการสำรวมจึงนำมาซึ่งความสงบ

          ท่านกล่าวว่าผู้ใดสำรวมผู้นั้นจะพ้นไปจากอาการวิปฏิสารคือความเดือดร้อนใจ เมื่อคนไม่เดือดร้อนใจแล้วจิตใจของบุคคลนั้นก็จะสงบ เมื่อสงบแล้วก็จะเกิดปีติความอิ่มใจ แล้วก็จะเกิดปัสสัทธิ ความสงบกายสงบจิต แล้วจิตใจก็จะเป็นสมาธิตั้งมั่น แล้วก็จะเกิดยถาภูตญาณทัสสนะ รู้เห็นตามความเป็นจริง ก็จะรู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นของสมมุติ ร่างกายของเรานั้นเป็นของสมมุติ เกิดขึ้นมาจาก ดิน น้ำ ไฟ ลม ผสมผสานกันขึ้นมา แล้วก็สมมุติว่า นาย ก. นาย ข. นาย ง. เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะตั้งอยู่ได้เมื่อมีเหตุมีปัจจัย สิ่งเหล่านี้จะแตกดับเมื่อเหตุปัจจัยนั้นมันแตกดับไป จะรู้ตามความเป็นจริงนั้น เมื่อรู้ตามความเป็นจริงนั้นว่าสิ่งเหล่านี้ตั้งอยู่ชั่วกาล ชั่วอายุขัย ไม่ช้าไม่นานไม่เกินร้อยปี หรือเกินไปบ้างก็เล็กน้อยก็ต้องตายด้วยชรา ต้องแตกด้วยชรา

          เพราะฉะนั้นเมื่อรู้ตามความเป็นจริงนี้ ความยึดมั่นความถือมั่นต่างๆ ก็จะลดน้อยเบาลง ความเห็นแก่ตัวก็จะเบาลง ความมัวเมาในรูป เสียง กลิ่น รส ในสามี ภรรยา ในข้าวของอะไรต่างๆ ก็จะลดน้อยลงไป ความเสียสละก็จะเพิ่มขึ้น ความมุมานะในการปฏิบัติธรรมก็จะตามมา ความเอาจริงเอาจังในการสร้างสมอบรมคุณงามความดีจะมีขึ้นในบุคคลนั้น

          เพราะฉะนั้นการที่เกิดยถาภูตญาณทัสสนะ จึงนำมาซึ่งความเป็นสัมมาทิฏฐิ เลื่อมใสมั่นคงในพระศาสนาขึ้นมา เมื่อเป็นสัมมาทิฏฐิแล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดการเจริญวิปัสสนากรรมฐานขึ้นมา เมื่อเกิดเจริญวิปัสสนากรรมฐานขึ้นมา ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้รู้แจ้งเห็นจริงได้บรรลุมรรคผลนิพพานตามมา อันนี้มันเกิดขึ้นมาจากอะไร เกิดขึ้นมาจากการสำรวม เพราะฉะนั้นการสำรวมถือว่าเป็นสิ่งที่พวกเรานั้นต้องพยายามอุดรูรั่ว อันเป็นสะพานบุญ อันเป็นสะพานบาป อันเป็นสะพานแห่งมรรคแห่งผลแห่งพระนิพพาน ก็ขอให้พวกเราทั้งหลายจงสำรวม

          แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัส ลำดับที่ ๓ ว่า ภิกษุที่บวชเข้ามาในพระศาสนานั้นต้องเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภคอาหาร ต้องรู้จักโภชเนมัตตัญญุตา รู้จักประมาณในการฉันอาหาร เพราะถ้าฉันอาหารมากเกินไปเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้หนังท้องตึงมันก็ดึงหนังตา แล้วสติโงกง่วงไปมากำหนดไม่ทันปัจจุบันธรรมก็จะทำให้การอุบัติธรรมนั้นไม่เกิดศีล ไม่เกิดสมาธิ ไม่เกิดปัญญา การประพฤติปฏิบัติธรรมก็ปล่อยไปตามความง่วงก็ดี กำหนดรูปนามไม่ทัน ปล่อยความง่วงครอบงำ สติสลึมสลือมองไม่เห็นความเกิดดับของรูปนาม นั่งไปก็หลับไป นั่งไปก็เผลอไป สติกำหนดอารมณ์ปัจจุบันไม่ชัดเจน ไม่มั่นคง วิปัสสนาญาณไม่เกิด สมาธิไม่เกิด

          ท่านกล่าวว่าการบริโภคอาหารเพียงพอประมาณ บริโภคพอดี แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสในชาดกเรื่องหนึ่งว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การบริโภคอาหารนั้นเราต้องบริโภคเพียงพอประมาณ แม้เราตถาคตก็บริโภคพอประมาณ ตถาคตนั้นมีการฉันหนเดียว เพราะว่าการฉันครั้งเดียวนั้น เราตถาคตฉันแล้วทำให้ร่างกายเบา ฉันแล้วอาพาธต่างๆ เกิดน้อย อาพาธไม่ค่อยเกิดขึ้นแล้วก็เป็นผู้มีกำลังดี เป็นผู้มีกายคล่องแคล่วว่องไว เหมาะแก่การประพฤติปฏิบัติธรรมนี้พระพุทธเจ้ากล่าวไว้ในสูตร สูตรหนึ่ง

          เพราะฉะนั้นแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงฉันอาหารเพียงครั้งเดียว แล้วพระองค์ก็ทรงฉันพอประมาณ เพราะฉะนั้นภิกษุผู้ปรารถนาความสำราญแห่งกาย เป็นผู้ปรารถนาความเป็นผู้มีโรคน้อย เป็นผู้ปรารถนาการสัปปายะทางกาย ว่ากายเบา คล่องแคล่ว เหมาะแก่การภาวนา ไม่เจ็บ ไม่ปวด ไม่เหนื่อยง่าย ไม่โงกง่วงก็คือฉันครั้งเดียว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสอย่างนั้น เพราะฉะนั้นก็ขอให้พวกเรานั้นได้ฉันอาหารพอประมาณ สิ่งไหนที่มันแสลงต่อโรคก็ดี แสลงต่อร่างกาย ฉันแล้วจิตใจมันฟุ้งซ่าน เช่นกระเทียมก็ดี เช่นฉันเผ็ดเกินไป ฉันเปรี้ยวเกินไป หรือเราฉันหวานก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดราคะขึ้นมาได้ ฉันไข่ดาวก็ทำให้เกิดราคะขึ้นมาได้ เราฉันไข่ ๒ วัน ๓ วันติดต่อกันในลักษณะอย่างนี้ก็ควรเว้น นักบวชผู้ยังหนุ่มแน่นเราก็ควรที่จะรู้ว่าเราฉันอย่างไร การประพฤติปฏิบัติธรรมของเรานั้นเป็นไปเพื่อสมาธิ ฉันอย่างไรจิตใจของเราสงบ ฉันอย่างไรการประพฤติปฏิบัติธรรมของเราก้าวหน้า อันนี้ต้องเป็นอาสวักขยญาณ การทำอาสวะให้สิ้นต้องเป็นของเฉพาะบุคคลแล้ว

          เพราะฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์จึงตรัสว่า ผู้บวชเข้ามาแล้วต้องฉันอาหารพอประมาณ คนทั้งหลายทั้งปวงที่ติดอยู่ในรสของอาหาร หมกมุ่นอยู่ในรสของอาหาร มัวเมาอยู่ในรสของอาหาร บางครั้งบวชเข้ามาแล้วเห็นพระฉันแบบนี้ อยากร้อนได้เย็น อยากเย็นได้ร้อน อยากเค็มได้จืด อยากจืดได้เค็ม อยากหวานได้จืด อยากจืดได้หวานอะไรทำนองนี้ บางครั้งบวชไม่ได้ เห็นแก่ปากแก่ท้องก็บวชไม่ได้ เพราะฉะนั้นนักบวชต้องเป็นผู้ปอนๆ ในการฉันภัตตาหาร มีอะไรก็ฉันไปอย่างนั้นอันนี้เป็นคุณธรรมข้อที่ ๓

          คุณธรรมข้อที่ ๔ ท่านกล่าวว่าบุคคลผู้บวชมาในพุทธศาสนานั้นต้องเป็นผู้ที่มีสติ มีสัมปชัญญะ คือถ้าผู้ใดอยากบวชเข้ามาในพุทธศาสนาแล้ว ขาดสติ ขาดสัมปชัญญะ บาปธรรมทั้งหลายทั้งปวงก็เกิดขึ้นได้ง่าย กองแห่งศีล ๒๒๗ ข้อก็ไม่บริบูรณ์ ไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นบุคคลผู้บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนานั้นก็ต้องมีสติ มีสัมปชัญญะในการยืน ในการเดิน ในการนั่ง ในการคู้ ในการเหยียด ในการก้ม ในการเงยต่างๆ ถ้าเราขาดสติ ขาดสัมปชัญญะเมื่อใดบาปธรรมมันเกิดขึ้นมาเมื่อนั้น เราลองคิดูซิเวลาเราเกิดความโกรธ เราโกรธเพราะอะไร เพราะเราขาดสติ เวลาเราทำบาป ทำบาปเพราะอะไร เพราะเราขาดสติ เรากระทำอกุศลทั้งหลายทั้งปวงเพราะขาดสติ

          เพราะฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงให้เรานั้นเจริญสติ เจริญสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้นคณะครูบาอาจารย์จึงเพียรบอกนักบอกหนาว่า จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะกิน จะดื่ม จะพูด จะคิด จะทำกิจอะไรๆ นั้นต้องมีสติ มีสัมปชัญญะ เพราะว่าสตินั้นเป็นทำนบป้องกันบาป สติ เตสํ นิวารณํ สติเป็นทำนบป้องกันบาปธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นไม่ให้ไหลเข้าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้ อันนี้เรียกว่าประการที่ ๔

          ประการที่ ๕ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า บุคคลผู้บวชเข้ามาในพุทธศาสนาแล้ว ไม่ควรเห็นแก่หลับแก่นอน บุคคลนั้นเป็นผู้ตื่น ปรารภความเพียร ไม่เห็นแก่การหลับการนอน เพราะว่าการหลับการนอนนั้นไม่เป็นประโยชน์

          แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ไม่เคยตรัสสรรเสริญการนอน เราเปิดพระไตรปิฎกตั้งแต่ใบแรกจนใบสุดท้าย ในสูตรใดๆ ก็ไม่เห็นว่าพระองค์ทรงสรรเสริญการนอน เพราะว่าการนอนนั้นเป็นการเปล่าประโยชน์ เป็นเพียงพักผ่อน แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงนอนประมาณ ชั่วโมงยี่สิบนาที ถ้าเราอ่านพุทธกิจที่พระองค์ทรงบำเพ็ญว่าปฐมยามพระองค์ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายทั้งปวง มัชฌิมยามทรงแสดงธรรมแก่เทวดาทั้งหลายทั้งปวง ปัจฉิมยามตั้งแต่ตี ๒ ถึง ๖ โมงเช้า ปัจฉิมยามพระองค์ทรงแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ส่วนที่ ๑ เดินจงกรมหนึ่งชั่วโมงยี่สิบนาที อีกชั่วโมงยี่สิบนาทีพระองค์ทรงนอนสีหไสยาสน์ อีกชั่วโมงยี่สิบนาทีพระองค์ทรงเข้าสมาบัติเพ่งดูตรวจดูสัตว์โลกทั้งหลายทั้งปวงผู้มีบารมี รวมกันเป็น ๔ ชั่วโมงในปัจฉิมยาม

          เพราะฉะนั้นการที่พระองค์ทรงหลับนอนประมาณชั่วโมงยี่สิบนาทีนี้ จึงถือว่าพระองค์นั้นเพียงเป็นการพักผ่อน เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ต้องการประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วไม่ควรนอนเกิน ๔ ชั่วโมง การประพฤติปฏิบัติธรรมถ้าผู้ใดมีร่างกายแข็งแรง แล้วก็นอนเกิน ๔ ชั่วโมง เวลาเรานอนเกิน ๔ ชั่วโมงแล้วก็ทำให้จิตใจของเรามันอิ่ม แล้วทำให้ตาของเรามันแข็ง ร่างกายของเรามันหนัก จิตใจของเราก็ปรุงแต่งฟุ้งซ่าน จิตใจของเราไม่สงบราคะก็เกิดบ้าง โทสะก็เกิดบ้าง อารมณ์ที่เป็นอดีต อนาคต ทั้งหลายทั้งปวงก็มารบกวน เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นท่านจึงให้เรานอนพอดีอย่างมากไม่เกิน ๔ ชั่วโมง

          แต่ถ้าผู้ใดที่มีสมาธิดีบางครั้งไม่นอนก็ไม่เป็นไร แต่ผู้ใดมีสมาธิน้อยเราก็พิจารณาดูว่าขณะที่เรานอน ๔ ชั่วโมง จิตใจของเรามันสงบไหม เวลาเราเดินจงกรม นั่งภาวนาแล้วร่างกายของเรามันเบาไหม จิตใจของเราสงบได้ไวไหม

          แต่ถ้าจิตใจของเรานั้นฟุ้งซ่านรำคาญจิตใจของเราหนัก เราก็ต้องลดอาการนอนนั้นลงอีกแต่ถ้าเรานอน ๓ ชั่วโมงแล้วมันเป็นอย่างไร ใจมันสงบไหมร่างกายของเรามันหนักไหม ถ้าร่างกายของเรามันหนักไม่กระปรี้กระเปร่า ไม่เบา ไม่สัปปายะ เราก็ลดเวลานอนลงอีกให้เหลือ ๒ ชั่วโมงหรือชั่วโมงครึ่ง แต่ถ้าเรานอนแล้วมันโงกง่วงสติไม่ทันปัจจุบันธรรมเราก็เพิ่มขึ้น เราต้องเป็นผู้ฉลาดในการประพฤติปฏิบัติธรรม แต่ถ้าเรานอน กี่ชั่วโมงแล้วจิตใจของเรามันสงบ เรานอนอย่างไร เราฉันอย่างไร เรากำหนดอย่างไร เราประพฤติปฏิบัติธรรมจึงได้สมาธิ จึงได้ความสงบ เราก็ควรที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างนั้น เรียกว่าเป็นปฏิปทาของแต่ละท่านแต่ละคน เพราะปฏิปทาของแต่ละคนแต่ละท่านไม่เหมือนกัน ก่อนที่จิตใจมันจะสงบนั้นไม่เหมือนกัน เวลาจะเกิดวิปัสสนาญาณก็ไม่เหมือนกันพิจารณาไม่เหมือนกัน มีสติมีสัมปชัญญะเหมือนกัน แต่อาการแห่งการเกิดนั้นมันต่างกัน เพราะต่างอุปนิสัย ต่างบุญ ต่างสมาธิ ต่างสติ ต่างปัญญากัน แม้แต่การบรรลุมรรคผลนิพพานก็ต่างกัน คล้ายๆ กันแต่ว่าต่างกัน

          เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมของแต่ละรูป แต่ละท่าน แต่ละคนนั้น ต้องรู้ปฏิปทาของตัวเอง เมื่อรู้ปฏิปทาแล้วก็พยายามที่จะจำ แล้วก็ประพฤติปฏิบัติอย่างนั้นให้บ่อยๆ ก็จะเป็นการชำนาญในวสีในการเข้าสู่สมาธิ ในการทำจิตให้สงบ การประพฤติปฏิบัติธรรมมันก็ง่าย เราวุ่นวายในการบริหารวัดวาอารามต่างๆ เวลาเข้าห้องพัก “พองหนอ” “ยุบหนอ” ไม่ถึง ๔-๕ ครั้งสงบลงไปรู้สึกตัวขึ้นมาความคิดที่เราคิดทั้งหลายทั้งปวงนั้นมันดับสิ้นไป เหลือแต่ความว่างเปล่า เราจะคิดอีกก็ได้เราจะไม่คิดเราจะนั่งเฉยๆ ก็ไม่เป็นไร เรียกว่าเราสามารถที่จะอาศัยสมาธินั้นเป็นคู่มือในการพักผ่อน

          ในการที่เราอยู่ในเพศของพรหมจรรย์ชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลายทั้งปวงนั้น เขาเป็นผู้ที่อยู่ได้ด้วยการรับอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางสัมผัสที่ดี เขาอยู่ได้ด้วยสิ่งเหล่านี้ ได้ดูทีวี ได้ดูสิ่งที่ชอบใจ ได้ฟังเสียงจากเครื่องเสียงที่ราคาเป็นแสนหลายแสน หรือว่าได้นอนบ้านหลังใหญ่ๆ หรือที่นอนดีๆ ได้ขับรถคันงามๆ นี้เขาจะอยู่ด้วยการปรุงแต่งในลักษณะอย่างนี้ ได้รับประทานอาหารอันเอร็ดอร่อย อยากได้อะไรก็ซื้อเอามาทาน มาขบ มาเคี้ยว อันนี้เป็นการอยู่ของญาติโยม เรียกว่าอยู่ได้ด้วยการกินกามเกียรติ อย่างที่หลวงพ่อพุทธทาสท่านกล่าวไว้ อยู่ด้วยอารมณ์ของ ๓ ก. คือ กิน กาม เกียรติ

          แต่พระเรานั้นจะอยู่ในลักษณะอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าอยู่ก็เป็นการทำศีลของเราให้เศร้าหมองให้ด่างให้พร้อยให้ขาดให้ทะลุ เพราะฉะนั้นท่านจึงให้อยู่ด้วยปีติธรรม อยู่ด้วยวิหารธรรม วิหารธรรมก็คือ สมาธิ สมาบัติ ผลสมาบัติ นิโรธสมาบัติ เป็นวิหารธรรมตามลำดับๆ เพราะฉะนั้นก็ขอให้พวกเราทั้งหลายได้เข้าใจในการประพฤติปฏิบัติธรรม ที่จะทำให้การอยู่ในเพศของนักบวชนั้นได้อยู่ด้วยความราบรื่นสมหวัง คือพระองค์ไม่ตรัสสรรเสริญการนอน เพราะว่าการนอนนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การบำเพ็ญบารมีนั้นมันอ่อนกำลัง มันหยุดไป บุคคลผู้นอนก็ไม่ได้บำเพ็ญความเพียร ไม่ได้บำเพ็ญเรื่องสมาธิ ไม่ได้บำเพ็ญเรื่องทาน ไม่ได้บำเพ็ญเรื่องปัญญาต่างๆ คือขณะที่นอนก็หยุดการบำเพ็ญบารมีไป

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ไม่ทรงตรัสสรรเสริญเรื่องนอน ท่านกล่าวว่าการนอนนั้นไม่ประพฤติปฏิบัติธรรม ท่านกล่าวไว้ว่ามีภิกษุกลุ่มหนึ่ง ภิกษุกลุ่มนั้นชอบนอน เล่นสรวลเสเฮฮากันแล้วก็นอน นอนแล้วก็ตื่นขึ้นมาขัดสีฉวีวรรณ ร่างกายของตนให้สดสวยงดงาม ห่มผ้าราคาแพง บิณฑบาตประจบประแจงญาติโยม เพื่อที่จะได้อาหารอันเลิศรส ฉันแล้วก็พากันสนุกสนานแล้วก็หลับนอนกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า โมฆะบุรุษ นี้พระองค์ทรงตรัสอย่างนั้นเลย การอยู่หลับนอนของพวกเธอก็เหมือนกับหมูที่นอนเกลือกมูตรคูถรอนายเพชฌฆาตเอาไปเชือด นี้พระองค์ทรงตรัสว่า การฉันแล้วก็นอนไม่ต่างอะไรกับหมูที่นอนเกลือกกับมูตรกรีสของตนเอง เพื่อที่จะรอให้นายเพชฌฆาตนั้นจูไปสู่เขียง แล้วก็เชือดภิกษุทั้งหลายทั้งปวงที่ประมาท พระองค์ก็ทรงตรัสในลักษณะอย่างนั้น เพราะฉะนั้นการนอนนั้นจึงถือว่าพระองค์ไม่ทรงตรัสสรรเสริญ

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงตรัสว่าบุคคลผู้ที่บวชเข้ามาในพุทธศาสนานั้นต้องเป็นผู้ยินดีในเสนาสนะอันสงัด เหมือนกับพวกเราทั้งหลายได้มาอยู่สถานที่แห่งนี้แหละ ก็ถือว่าเป็นสถานที่สงบสงัด พระองค์ทรงตรัสสรรเสริญให้อยู่โคนต้นไม้บ้าง อยู่ถ้ำบ้างอยู่เงื้อมผาบ้าง อยู่ป่าที่มันสงบใช้ชายป่าชายอะไรที่พอไปบิณฑบาตได้ นี้พระองค์ทรงตรัสสรรเสริญอย่างนั้น ให้ยินดีอยู่ในสถานที่อันสงัด สงบ เว้นจากอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง ที่พวกเราทั้งหลายได้มาอยู่วัดป่าคล้ายๆ ว่าเป็นดอนปู่ตานี้ก็ถือว่าเป็นสถานที่อันสงบ เป็นสถานที่สัปปายะ

          เพราะพระองค์ทรงตรัสรู้ พระองค์ทรงตรัสรู้ที่ป่า พระองค์ทรงประสูติที่ป่า ตรัสรู้ที่ป่า แสดงธรรมเทศนากัณฑ์แรกก็ที่ป่า ปรินิพพานก็ที่ป่า สังเวชนียสถานทั้ง ๔ ตำบลก็อยู่ที่ป่าหมด เพราะฉะนั้นป่านั้นจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดธรรมะในจิตในใจ ทำให้บุคคลผู้อยู่ป่านั้นสร่างจากความเมาในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในอารมณ์ต่างๆ ความหลงใหล ความมัวเมาต่างๆ ก็ไม่ครอบงำจิตใจของบุคคลผู้อยู่ป่ามาก ไม่เหมือนกับอยู่ในเมืองอยู่ในสถานที่เจริญ เพราะฉะนั้นก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้พอใจในการอยู่ของเรา

          มีเรื่องตอนหนึ่งได้อ่านประวัติของพระพิมลธรรม อาจ อาสภมหาเถระ ซึ่งในสมัยนั้นท่านเป็นประธานสงฆ์ในวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ กรุงเทพมหานคร เป็นอธิบดีสงฆ์ เรียกว่าเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์

          ในสมัยนั้นท่านได้ก่อตั้งการเจริญวิปัสสนากรรมฐานขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยของเรา โดยส่งเจ้าคุณโชดกไปศึกษาพระอภิธรรม แล้วก็ไปประเทศพม่า แล้วศึกษาวิปัสสนากรรมฐานประเทศพม่ามาด้วย เมื่อศึกษามาแล้วก็เอามาประพฤติปฏิบัติทบทวนดู หลวงพ่อพระธรรมธีรราชมหามุนี หรือเรียกว่าโชดก ญาณสิทธิก็เข้าประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นเวลาประมาณ ๗ เดือน ๘ เดือน เข้าประพฤติปฏิบัติติดต่อกัน จนรู้แจ้งว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นมันเห็นผลจริง ในสมัยนั้นหลวงพ่อพิมลธรรม อาจ อาสภมหาเถระนั้นท่านก็พาพระไปธุดงค์ จาริกธุดงค์ไปสถานที่ต่างๆ ท่านก็จะแบกกลดไปถึงสถานที่ต่างๆ

          พระพิมลธรรม ในสมัยนั้นก็ถือว่าเป็นรองสมเด็จ ในเมื่อท่านมียศสูงอย่างนั้น ท่านไปที่ไหนก็มีแต่คนต้อนรับ ทำกุฏิดีๆ ให้อยู่ แต่ท่านไปแล้วท่านไม่เคยอยู่ ท่านไปกางกลดอยู่แล้วก็ปูผ้ายาง ปูเสื่อผืนหมอนใบเหมือนกัน ท่านก็นั่งอยู่ใต้ต้นไม้อยู่ในกลดของท่าน แล้วก็มีโยมไปถามท่านว่า ท่านเป็นพระผู้ใหญ่ขนาดนั้นทำไมท่านจึงละมานะละทิฏฐิ มาอยู่ในกลดอย่างนี้ได้

          ท่านกล่าวว่าท่านสงสารพระที่นอนอยู่บนตึก สงสารพระที่นอนอยู่บนกุฏิดีๆ ว่าท่านนอนอยู่อย่างนั้น ท่านมีคุณธรรมหรือยัง ได้บรรลุมรรคผลหรือยัง ได้สมาธิสมาบัติหรือยัง ท่านบอกแก่โยมคนนั้นว่า แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็นอนอยู่อย่างนี้แหละ นั่งอยู่ตามโคนไม้ บรรลุอยู่ตามโคนไม้นี้แหละ

          เพราะฉะนั้นเมื่อเราฟังธรรมของพระมหาเถระแล้ว เราก็ควรที่จะเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ว่าการที่จะอยู่ในเสนาสนะอันสงัดนั้นเป็นการอยู่ยาก บุคคลผู้ที่ไม่ปรารภธรรมจริงๆ ไม่มีความเป็นสัมมาทิฏฐิจริงๆ ไม่มุ่งมั่นในพรหมจรรย์ ไม่ต้องการความบริสุทธิ์ในเพศของสมณะจริงๆ แล้วอยู่ไม่ได้ เรียกว่าผู้มีความปรารถนาที่จะพ้นทุกข์น้อยนั้นอยู่ไม่ได้ เพราะการอยู่ในเสนาสนะนั้นเป็นการสลัดความสุขความสบายทั้งหลายทั้งปวงออก

          เพราะฉะนั้นญาติโยมที่มาทำบุญกับคณะครูบาอาจารย์ที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมเหมือนกับพวกเราทั้งหลายนี้ก็ได้บุญได้กุศลอย่างมากมาย เพราะว่าพวกเราทั้งหลายอยู่อย่างบำเพ็ญตบะ อยู่อย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่ในสถานที่อันสงบสงัด ก็ขอให้พวกเราทั้งหลายได้พอใจ ได้อิ่มใจ ได้ดีใจในการประพฤติปฏิบัติของตนเอง

          แล้วการที่บุคคลผู้บวชเข้ามาในพุทธศาสนาแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังตรัสว่า ต้องเจริญสมาธิ ต้องเจริญฌาน ๔ คือ จตุตถฌานให้เกิด เพราะว่าฌานนั้นเป็นเรือนแก้ว เป็นที่อยู่ของบุคคลทั้งหลายทั้งปวง ทำให้จิตใจของบุคคลที่เข้าสู่ฌานธรรมนั้นแหละมีความสุขมีความสบาย แล้วก็เกิดปัญญา เป็นเรือนแก้วของพระผู้ที่เข้ามาบวชในพุทธศาสนาเรายังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน แต่ถ้าเราได้สมาธิ เราก็เท่ากับได้เรือนแก้วเป็นที่หลบเป็นที่อยู่ เป็นเกราะกำบังป้องกันอันตรายทั้งหลายทั้งปวง

          เพราะฉะนั้นสมาธินั้นพระองค์ทรงตรัสว่า ภิกษุผู้บวชเข้ามาในพุทธศาสนานั้นต้องทำให้เกิด ถ้าผู้ใดอยากบรรลุมรรคผลนิพพาน ผู้ใดอยากเห็นความอัศจรรย์ในพุทธศาสนานั้นต้องยังสมาธิให้เกิดขึ้นมา ท่านเน้นลงไปว่า ฌาน ๔ ยังฌาน ๔ นั้นให้เกิดขึ้นมาท่านบังคับเลยว่ายังฌาน ๔ ให้เกิดขึ้นมา ถ้าผู้ใดยังฌาน ๔ ให้เกิดขึ้นมาผู้นั้นก็จะเห็นคุณค่าของความเป็นสมณะในท่ามกลาง คือรักษาศีลนี้เป็นเบื้องต้น สมาธินั้นเป็นท่ามกลาง นอกจากจะเจริญฌานแล้ว

          ประการสุดท้ายพระองค์ทรงตรัสว่า ต้องกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน คือบุคคลผู้บวชเข้ามาในพุทธศาสนานั้น ถ้าอยากจะอยู่ดี ยืนดี นอนดี นั่งดี ฉันดี พูดดี คุยดี ไปไหนมาไหนดี บุคคลนั้นต้องกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานเสียก่อน เมื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานแล้วบุคคลนั้นจึงชื่อว่า อยู่ดี เดินดี นั่งดี บำเพ็ญสมณธรรมดี เรียกว่าเป็นเนื้อนาบุญของโลก

          แต่ว่าการกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานนั้นเราจะกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานอย่างไร เราจะกระทำให้แจ้งด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน มีสติ มีสัมปชัญญะ อยู่ในร่างกายของเรานี้แหละ ตั้งแต่พื้นเท้าถึงปลายผมจากปลายผมถึงพื้นเท้า เราต้องมีสติ มีสัมปชัญญะรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา จะคู้ จะเหยียด จะก้ม จะเงย เราต้องมีสติกำหนดอยู่ตลอดเวลา ถ้าเรามีสติกำหนดอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้ ท่านกล่าวว่าวิปัสสนาญาณมันเกิดขึ้นมา เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นมาแล้ว วิปัสสนาญาณก็เจริญไปตามลำดับๆ

          เราก็เพียรเดิน เพียรนั่ง เพียรกำหนดอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่ต้องคิด ไม่ต้องปรุงแต่ง เราเพียงแต่กำหนด มีสติ มีสัมปชัญญะ เห็นอาการคู้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ดับไป อาการเหยียดเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป อาการก้าวเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป อาการเหยียบเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป อาการพองเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป อาการยุบเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป อาการเดินเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป อาการนั่งเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปอะไรทำนองนี้ เรียกว่าเรามีสติกำหนดอยู่อย่างนี้แหละวิปัสสนาญาณมันจะเกิดขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ จะเกิดขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ

          เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นมาแล้วเราไม่หยุด เราเพียรต่อไปเรื่อยๆ วิปัสสนาญาณก็จะเกิดขึ้นไปเรื่อยๆ เราจะรู้ว่ามันเกิดหรือไม่เกิดมันก็จะเกิดขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างนั้นแหละจนวิปัสสนาญาณมันสมบูรณ์

          เราจะรู้ได้อย่างไรว่าวิปัสสนาญาณมันสมบูรณ์ ถ้าสติของเรามันสมบูรณ์เมื่อไร สัมปชัญญะของเรามันสมบูรณ์เมื่อไร วิปัสสนาญาณมันก็สมบูรณ์เมื่อนั้น เมื่อสติมันสมบูรณ์ วิปัสสนาญาณมันสมบูรณ์ สัมปชัญญะมันสมบูรณ์แล้ว มันก็เกิดพระไตรลักษณ์ ความสมบูรณ์ก็จะส่งผลให้เกิดพระไตรลักษณ์ พระไตรลักษณ์นั้นเป็นผลของความสมบูรณ์ของสติ เป็นผลของความสมบูรณ์ของสัมปชัญญะ เป็นผลของความสมบูรณ์ของวิปัสสนาญาณ

          เมื่อพระไตรลักษณ์เกิดขึ้นมาแล้วอาการท้องพองยุบมันเร็วขึ้นๆ แล้วมันดับไป อาการท้องพองท้องยุบมันแน่นเข้าๆ มันดับไป อาการพองยุบมันแผ่วเบาเข้าๆ แล้วมันดับไป นี้เรียกว่าพระไตรลักษณ์มันเกิดขึ้นมา ถ้ามันดับด้วยอำนาจของมรรคของวิปัสสนาแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กิเลสมันดับลงไปด้วย คือขณะที่มันดับลงไปคำบริกรรมมันก็ดับลงไปด้วย อาการพองอาการยุบมันก็ดับลงไปด้วย จิตของเรามันก็ดับลงไปด้วย ความรู้สึกมันก็ดับลงไปด้วย กิเลสมันก็ดับลงไปด้วย คือมันดับลงไปพร้อมๆ กัน เรียกว่าการดับด้วยอำนาจของมรรคญาณ อันนี้เรียกว่าเป็นการกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ถ้าผู้ใดทำได้อย่างนี้เรียกว่ากระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน

          ถ้ามันดับลงไปครั้งแรกก็เป็นพระโสดาบัน ถ้ามันดับลงไปครั้งที่สองได้ก็เป็นพระสกิทาคามี ดับลงไปครั้งที่สามก็เป็นพระอนาคามี ดับลงไปครั้งที่ ๔ ก็เป็นพระอรหันต์ นี้ท่านกล่าวไว้ในลักษณะอย่างนั้น

          เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรม ๘ ประการนี้จบลงไป โมคคัลลานะพราหมณ์ก็เข้าไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนิพพานก็มีอยู่ หนทางที่จะไปสู่พระนิพพานก็ยังมีอยู่ บุคคลผู้ชักชวนผู้ชี้ทางแห่งพระนิพพานก็มีอยู่ แต่ไฉนเล่าคนทั้งหลายทั้งปวง บางพวกก็ไปถึงพระนิพพาน บางพวกก็ไม่ไปถึงพระนิพพาน”

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสว่า “ดูก่อน โมคคัลลานะพราหมณ์ เหมือนกับเราตถาคตชี้ทางบอกไปเมืองราชคฤห์ ว่าเมืองราชคฤห์ไปทางนี้ บางคนก็ไปตามทางที่เราชี้ บางคนก็ไม่ไปตามทางที่เราชี้ เพราะฉะนั้น บางคนก็ไปถึง บางคนก็ไม่ไปถึง” นี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสอย่างนั้น

          เพราะฉะนั้นวันนี้อาตมภาพได้กล่าวธรรมะมาก็เป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงพอดี ในท้ายที่สุดนี้ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายที่ได้มาร่วมกันประพฤติปฏิบัติธรรม ก็ขอให้เป็นผู้ที่สมบูรณ์ไปด้วยศรัทธา สมบูรณ์ไปด้วยความเพียร สมบูรณ์ไปด้วยสติ สมบูรณ์ไปด้วยสมาธิ สมบูรณ์ไปด้วยปัญญา ได้บรรลุมรรคผลนิพพานสมความมุ่งมาตรปรารถนาจงทุกท่านทุกคนเทอญ.