ธรรมอันจะนำบุคคลให้เข้าถึงความไพบูลย์

ธรรมอันจะนำบุคคลให้เข้าถึงความไพบูลย์


          เจริญพรญาติโยมสาธุชน ผู้ใคร่ในการสดับรับฟังธรรมะก่อนนอนทุกท่านทุกคน วันนี้รายการธรรมะก่อนนอนก็ได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาตมภาพก็ได้หายหน้าหายตาไปนานพอสมควร ซึ่งไปเผยแผ่การประพฤติปฏิบัติธรรมภาคฤดูหนาว ซึ่งวันนี้ก็มีโอกาสได้กลับมาบรรยายธรรมะก่อนนอนให้ญาติโยมสาธุชน ผู้ใคร่ในการรับฟังธรรมะภาคปฏิบัติได้ฟังอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งวันนี้ก็จะได้น้อมนำเอาธรรมะในหัวข้อเรื่องว่า ธรรมอันจะนำบุคคลให้เข้าถึงความไพบูลย์มาบรรยายพอสมควรแก่โอกาสและเวลา

          ธรรมอันจะนำคนให้ลุถึงธรรมอันไพบูลย์นั้นมีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ซึ่งปรากฏอยู่ในเล่มที่ ๒๒ หน้าที่ ๔๘๑ ซึ่งดำเนินความเริ่มต้นจากพระบาลีที่ว่า  “ฉหิ ภิกขเว ธมเมหิ สมนฺนาคโต ภิกขุ จิรสฺเสว มหตฺตํ เวปุลฺลํ ปาปุนาติ ธมฺเมสุ” ซึ่งแปลเป็นใจความภาษาไทยว่า ดูก่อนผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร ประกอบไปด้วยคุณธรรม ๖ ประการ ย่อมเข้าถึงความไพบูลย์อันยิ่งใหญ่ในธรรมต่อกาลไม่นานเลย คุณธรรม ๖ ประการเป็นไฉนเล่า คุณธรรม ๖ ประการคือ

          ๑. อาโลกพหุโล เป็นผู้มากด้วยแสงสว่าง

          ๒. โยคพหุโล เป็นผู้มากด้วยความเพียร

          ๓. เวทพหุโล เป็นผู้มากด้วยปีติ ปราโมทย์อิ่มใจในธรรม

          ๔. อสนฺตุฏฺฐิพหุโล เป็นผู้มากด้วยความไม่หยุดไม่พอ

          ๕. อนิกฺขิตฺตธุโร เป็นผู้ไม่ทอดธุระ ในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวง

          ๖. อุตฺตริญฺจ ปตาเรติ เป็นผู้พยายามก้าวหน้าต่อไปไม่ถอยหลัง

          อันนี้เป็นคุณธรรม ๖ ประการ ที่จะทำบุคคลผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามคุณธรรมนี้ ให้เข้าถึงความไพบูลย์ในธรรม

          คำว่า อาโลกพหุโล นั้น หมายความว่าอย่างไร คำว่า อาโลกพหุโลนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ผู้มากไปด้วยแสงสว่าง คำว่าผู้มากไปด้วยแสงสว่างนั้น องค์สมเด็จพระประทีปแก้วนั้นพระองค์ทรงหมายเอา ผู้มากไปด้วยแสงสว่างภายในคือ ปัญญา ไม่ได้หมายเอาผู้มากไปด้วยแสงสว่างภายนอก คือแสงสว่างภายนอกจะเป็นแสงอาทิตย์ก็ดี ก็ส่องเฉพาะเวลากลางวัน แสงพระจันทร์ก็ส่องเฉพาะเวลากลางคืน แสงไฟนีออนก็ส่องเฉพาะเวลาที่เราเปิดสวิทช์ ถ้าเราปิดสวิทช์ แสงไฟนีออนก็ต้องมืด กลางคืนดวงอาทิตย์ก็ต้องดับ กลางวันดวงจันทร์ก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นแสงเหล่านี้จึงไม่ชื่อว่าเป็นแสงที่ประเสริฐ แต่ว่าแสงแห่งปัญญา เป็นแสงที่สว่างทั้งกลางวัน เป็นแสงสว่างทั้งกลางคืน เราจะยืน เดิน นั่ง นอน แสงสว่างคือปัญญานั้นก็โพลงในจิตในใจของเราตลอดเวลา เราจะเข้าถ้ำ แสงสว่างนั้นมันก็ปรากฏส่องสว่างไสวอยู่ในจิตในใจของเราตลอดเวลา เพราะฉะนั้นแสงสว่างแห่งปัญญานั้น เป็นแสงสว่างที่ประเสริฐที่สุด ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า “นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา” แสงสว่างเสมอด้วยปัญญานั้นไม่มี จะว่าแสงสว่างด้วยปัญญาในทางพุทธศาสนานั้น แบ่งออกเป็น ๓ ขั้น คือ

          ๑. ปริยัติญาณ คือปัญญาที่เกิดจากการเล่าเรียนปริยัติธรรม

          ๒. ปฏิบัติญาณ คือปัญญาที่เกิดขึ้นมาจากการประพฤติปฏิบัติ

          ๓. ปฏิเวธญาณ ปัญญาที่เกิดขึ้นมาจากการประพฤติปฏิบัติแล้วได้ผล จึงเกิดปฏิเวธธรรม คือการแทงตลอดซึ่งธรรมขึ้นมา

          ปริยัติญาณนั้นหมายเอาการเรียนรู้พระธรรมคำสั่งสอนที่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงสั่งสอนตลอด ๔๕ พรรษา คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเรานั้นพระองค์ทรงออกบวช เมื่อพระชนม์อายุได้ ๒๙ ปี อายุ ๓๕ ปี พระองค์ก็ทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ แล้วก็ออกเผยแผ่พระศาสนาจนอายุของพระองค์นั้น ๘๐ ปี แล้วพระองค์ก็ปรินิพพาน รวมเวลาที่พระองค์ทรงออกเผยแผ่ได้ ๔๕ ปี การเล่าเรียนปริยัตินี้ก็หมายถึงการเล่าเรียนพระธรรมคำสั่งสอนตลอด ๔๕ ปีนี้แหละ ซึ่งรวบรวมไว้ถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ถ้าเราย่อลงมาก็แบ่งออกเป็นพระสูตร ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งเป็นพระวินัย ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งเป็นพระอภิธรรม ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ รวมก็เป็น ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

          การเล่าเรียนพระปริยัตินั้นก็หมายถึงการเล่าเรียนพระไตรปิฎก ทั้งพระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม เมื่อย่อง่ายๆ ก็คือ เราเรียนนักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก หรือว่าเราเรียนประโยค ๑-๒ บาลีประโยค ๓ ประโยค ๔ ประโยค ๕ ประโยค ๖ ถึงประโยค ๙ อันนี้เรียกว่าเราเรียนพระปริยัติธรรม ถ้าเราพูดย่อลงไปกว่านั้นก็คือ เราเรียนเรื่อง ศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา

          เพราะฉะนั้นปริยัติธรรมนั้นก็หมายถึงการเล่าเรียนพระธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ตลอด ๔๕ พรรษา เพราะฉะนั้นปริยัติญาณนั้น เกิดขึ้นมาจากการเรียนรู้

          ปฏิบัติญาณนั้นเกิดขึ้นมาจากการประพฤติปฏิบัติ คือเราเรียนรู้พระปริยัติธรรมว่า การเดินจงกรมเดินอย่างไร นั่งภาวนานั่งอย่างไร การเจริญสมถกรรมฐาน ๔๐ อย่างนั้น นับตั้งแต่พุทธานุสสติเป็นต้น เราเจริญอย่างไร เราเรียน เรารู้ เราเข้าใจแล้วเรานำมาประพฤติปฏิบัติ หรือว่าเราเรียนการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เราจะกำหนดอย่างไรให้ถูกธาตุ ถูกขันธ์ ถูกอายตนะ ถูกสติสัมโพชฌงค์เป็นต้น เรากำหนดอย่างไร เราจึงจะสามารถกำหนดถูกขันธ์ ถูกอายตนะ ถูกธาตุ ถูกธรรมได้ เราเรียนรู้จนจบในปริยัติธรรมแล้ว เราก็มาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปัสสนาญาณขึ้น

          ความรู้ในขณะที่เราเจริญสมถะก็ดี เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเกิดขณิกสมาธิขึ้นมาเราก็ได้ความรู้ในระดับขณิกสมาธิ ถ้าเราปฏิบัติไปเกิดอุปจารสมาธิขึ้นมา เกิดปีติขึ้นมา เกิดปัสสัทธิขึ้นมา เกิดโอภาสแสงสว่างขึ้นมา เกิดความสุข เกิดความเพียรขึ้นมา เกิดการวิจัยธรรมขึ้นมา เราก็ได้ความรู้จากภาคปฏิบัติ คือสิ่งเหล่านี้ถ้าเราไม่ลงมือปฏิบัติมันจะไม่เกิดขึ้นมาเลย เช่นปีติถ้าเราไม่ลงมือปฏิบัติ ปีติธรรมในขั้นปฏิบัติมันก็ไม่เกิดขึ้นมา เราก็ไม่รู้ปีติธรรมในขั้นปฏิบัติมันเป็นอย่างไร โอภาสคือแสงสว่าง ว่ามันเห็นแสงสว่างอย่างโน้นอย่างนี้ แสงสว่างมันพุ่งออกมาจากหัวใจ แสงสว่างออกมาจากภายนอกแล้วก็เข้ามาสู่กายของเรา เราก็ไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นมาอย่างไร เพราะว่าเราไม่เคยประพฤติปฏิบัติ หรือว่าเกิดปัสสัทธิ เกิดตัวแข็งเป็นต้น

          สามเณรนั่งตัวแข็งก็ดี ญาติโยมมาเดินจงกรมก็ดี จะเป็นญาติเป็นโยมผู้หญิงก็ดี มาเดินจงกรมนั่งภาวนาแล้วตัวแข็งมันเป็นอย่างไรเราก็ไม่รู้ เพราะเราไม่เคยสัมผัสเราไม่เคยปฏิบัติ แต่ถ้าเรามาประพฤติปฏิบัติแล้วเราก็จะรู้ รู้ว่าปีติมันเป็นอย่างไร รู้ว่ารสของปัสสัทธิมันเป็นอย่างไร ลักษณะของการเกิดความเพียรเกิดโอภาสแสงสว่างมันเป็นอย่างไรเราก็จะรู้ อันนี้เรียกว่าความรู้ในขั้นปฏิบัติ

          แต่ถ้าเราเอาความรู้ในขั้นปฏิบัติสมาธิที่เราได้นี้แหละ ไปเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เกิดวิปัสสนาญาณที่ ๑ นับตั้งแต่นามรูปปริเฉทญาณขึ้นมา เราก็จะเกิดความรู้ขึ้นมา เกิดความเข้าใจว่ารูปมันเป็นอย่างนั้น นามมันเป็นอย่างนี้ เมื่อเราปฏิบัติต่อไปเกิดปัจจยปริคคหญาณขึ้นมา รู้ปัจจัยของรูปของนามขึ้นมาเราก็จะรู้ว่า รูปมันเกิดขึ้นมา มีปัจจัยเกิดขึ้นมามันจึงเกิดขึ้นมา นามมีปัจจัยเกิดขึ้นมามันจึงเกิดขึ้นมา เราปฏิบัติต่อไปก็เกิดสัมมสนญาณ รู้รูปนามเป็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อเราปฏิบัติต่อไปเกิดวิปัสสนาญาณสูงขึ้นไป อุทยัพพยญาณ เห็นความเกิดดับของรูปของนาม เกิดสันสติขาด เห็นรูปนามมันขาดไป ๑ ขณะจิต เห็นรูปนามมันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นพระไตรลักษณ์ อย่างแจ่มแจ้งชัดเจนประมาณ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ เกิดปีติ เกิดปัสสัทธิ เกิดโอภาส เกิดแสงสว่างชัดเจนแจ่มแจ้งขึ้นมาอีก

          หรือว่าเราปฏิบัติไปเกิดวิปัสสนาญาณที่ ๕ นับตั้งแต่ภังคญาณ ภยตูปัฏฐานญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ อันนี้ถือว่าเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นมาจากการปฏิบัติสูงถึงสังขารุเปกขาญาณคือ เรายังไม่ได้ประพฤติปฏิบัติจนได้บรรลุมรรคผล สิ่งเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นความรู้ในขั้นปฏิบัติอยู่ แต่เมื่อเรานำความรู้ในขั้นปฏิบัติไปจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราแทงตลอด คือได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ถ้าเราพูดตรงๆ ก็หมายเอามรรคญาณก็จัดเป็น ปฏิเวธญาณ คือความรู้ที่เกิดขึ้นมาจากการแทงตลอดซึ่งทุกข์ แทงตลอดซึ่งสมุทัย แทงตลอดซึ่งนิโรธ คือความดับทุกข์ แล้วก็แทงตลอดซึ่งมรรค หนทางเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้รู้ว่าทางที่จะพ้นทุกข์นั้นอย่างไร อันนี้เมื่อเราปฏิบัติถึงมรรคญาณแล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรารู้แจ้ง

          ปฏิเวธญาณ คือความรู้ซึ่งเกิดขึ้นมาจากการรู้แจ้ง รู้แจ้งในที่นี้รู้แจ้งด้วยอำนาจของมรรคญาณ เพราะฉะนั้นเมื่อความรู้ตัวนี้เกิดขึ้นมาแล้วเราจะรู้ว่าการหมดไปซึ่งสักกายทิฏฐิ ความยึดมั่นถือมั่นในกายของตนเป็นอย่างไร ความหมดไปแห่งศีลพรต คือ สีลัพพตปรามาสนั้นมันเป็นอย่างไร ความหมดไปซึ่งความสงสัยคือ วิจิกิจฉานั้นมันเป็นอย่างไร หมดความสงสัยในเรื่องของพระพุทธเจ้า หมดความสงสัยในเรื่องของพระธรรม หมดความสงสัยในเรื่องของพระสงฆ์ หมดความสงสัยในเรื่องโลกนี้โลกหน้ามันเป็นอย่างไรเราก็จะรู้ได้ ถ้าเราปฏิบัติถึงมรรคญาณ เพราะฉะนั้นเมื่อเราปฏิบัติถึงมรรคญาณ ความรู้เหล่านี้มันเกิดขึ้นมา

          เพราะฉะนั้นความรู้นั้นในทางพุทธศาสนาจึงแบ่งเป็น ๓ ขั้น คือ ปริยัติญาณ ปฏิบัติญาณ และปฏิเวธญาณ ตามที่กล่าวมาแล้วนี้ ความรู้เหล่านี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า เป็นอาโลกพหุโลเป็นผู้มากไปด้วยแสงสว่าง

          ต่อไปเป็นข้อที่ ๒ คือ โยคพหุโล เป็นผู้ประกอบไปด้วยความเพียรมาก ความเพียรนั้นแบ่งเป็น ๒ อย่างคือ ความเพียรทางโลก และความเพียรทางธรรม ความเพียรทางโลกนั้นหมายเอาความเพียรที่เกิดขึ้นมาจากการหาอยู่หากิน เช่นความเพียรของนักเรียน ก็เพียรในการศึกษาเล่าเรียน ความเพียรของผู้ที่ทำงานเป็นข้าราชการ ก็ต้องเพียรในงานราชการ เป็นพ่อค้าก็เพียรในการทำงานของพ่อค้า เป็นชาวนาก็เพียรในการทำไร่ทำนา เป็นชาวสวนก็ต้องเพียรในการทำสวน เพราะฉะนั้นความเพียรทางโลกนั้นจึงเพียรตามหน้าที่ของตน

          แต่ถ้าบุคคลใดเป็นผู้ฉลาดเพียรหาเงินหาทองนั้นหาเอาที่ร่างกายอัตภาพ อันยาววาหนาคืบของเราตั้งแต่พื้นเท้าถึงปลายผม จากปลายผมถึงพื้นเท้า อันยาววาหนาคืบนี้แหละ อัตภาพร่างกายของเรานี้ โบร่ำโบราณท่านกล่าวว่าเป็นบ่อเกิดแห่งทอง เป็นที่ไหลออกมาแห่งเงินแห่งทอง คือบุคคลผู้ฉลาดนั้นสามารถที่จะหาเงินหาทองจากอัตภาพร่างกายของเราได้ คือหาเอาตั้งแต่พื้นเท้าถึงปลายผม เช่น หาเอาจากผม เช่น เป็นช่างตัดผม เป็นช่างดัดผม เป็นช่างแต่งผม หรือว่าทำมีดโกนมาปลงผม ทำกรรไกรมาตัดผม ทำปัดตาเลี่ยนมาซอยผมตัดผมเป็นต้น สิ่งเหล่านี้ก็ถือว่า หาเอาทรัพย์จากร่างกายอันนี้เอาเฉพาะจากผมอย่างเดียวก็มีมากขนาดนี้

          หรือว่าเราจะทำสบู่ทำยาสระผมก็ดี ทำครีมนวดผมก็ดี ทำน้ำมันมาทาผมก็ดี เหล่านี้ก็ถือว่าเราหาเอาจากอัตภาพร่างกายแม้แต่ผมอย่างเดียวนี้ก็มีมากอย่างแล้ว ไม่ต้องกล่าวถึงอย่างอื่น เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ที่ฉลาดก็สามารถหาเงินหาทองนั้นจากอัตภาพร่างกายได้ ถ้าบุคคลใดเป็นผู้ขยัน เป็นผู้ประกอบไปด้วยความเพียร บุคคลนั้นก็ประสบความสำเร็จในการหาเลี้ยงชีพ มีเงินมีทองเจือจุนครอบครัวได้ สามารถสร้างหลักสร้างฐานให้เจริญรุ่งเรืองในสังคมมีหน้ามีตาได้ อันนี้เป็นความเพียรทางโลก

          แต่ว่าความเพียรทางธรรมนั้น พระองค์ทรงตรัสไว้ ๔ ประการ ๑ คือ สังวรปธาน เพียรระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้น คือเพียรระวังบาป ไม่ให้เกิดขึ้นทางกาย ทางวาจา ทางใจ คือ เพียรระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้นทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือขณะที่ตาเห็นรูปอย่าให้ความโกรธเกิดขึ้น ความโลภเกิดขึ้น ความหลงเกิดขึ้น หูได้ฟังเสียงก็อย่าให้ความโกรธ ความโลภ ความหลง เกิดขึ้น พยายามกำหนดตั้งสติให้ดี

          ถ้าความชอบใจ ความเสียใจเกิดขึ้น ความโกรธ ความโลภ ความหลงมันเกิดขึ้นมันก็เป็นบาป เราก็ไม่สามารถที่จะป้องกันบาปได้ เมื่อเราไม่สามารถป้องกันบาปได้ จิตใจของเราก็จะขุ่นมัว จิตใจของเราก็จะไม่ใสสะอาด คล้ายๆ กับว่าเรามีกิเลสอยู่ในจิตในใจของเรามันฟุ้งอยู่ตลอดเวลา จิตใจของเราก็ไม่ใส จิตใจของเราก็ไม่สงบ

          เปรียบเสมือนกับเรามีน้ำแก้วหนึ่ง น้ำแก้วนั้นมีตะกอน มีฝุ่นเต็มไปหมดแล้วเราเขย่าแก้วอยู่ตลอดเวลา เดินก็เขย่า นั่งก็เขย่า เขย่าตลอดเวลาน้ำแก้วนั้นมันก็ไม่สะอาด น้ำแก้วนั้นมันก็ไม่ใส เพราะอะไร เพราะว่าเราเขย่าอยู่ตลอดเวลา จิตใจของเราก็เหมือนกัน ขณะที่ตามองเห็นรูปก็ดี เกิดความชอบใจเสียใจขึ้นมาก็เหมือนกับเราเขย่ากิเลสที่มันอยู่ในจิตในใจให้ฟุ้งขึ้นมา จิตใจของเราก็ไม่ผ่องใสสักที เพราะกิเลสมันฟุ้งอยู่ตลอดเวลา กิเลสไม่ได้นอนสักที

          แต่ถ้าเรากำหนดทันไม่ให้เกิดความชอบใจเสียใจ เกิดขึ้นมาจากตาเห็นรูปหูฟังเสียงเป็นต้น กิเลสมันก็จะนอนเนื่องเปรียบเสมือนกับฝุ่นที่แก้วนั้นมันตกตะกอน จิตใจของเราก็ใส เมื่อจิตใจของเราใสแล้วก็สงบ เมื่อจิตใจของเราสงบเป็นสมาธิแล้วเราจะมองเห็นบุญ มองเห็นบาป มองเห็นสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผล สิ่งไหนควร สิ่งไหนไม่ควร สิ่งไหนควรละ สิ่งไหนควรเว้น สิ่งไหนควรบรรเทา สิ่งไหนควรเลิกเราก็รู้ เพราะอะไร เพราะว่าจิตใจของเรามันขาวสะอาดแล้ว มองเห็นบุญเห็นบาป

          หิริคือความละอายต่อบาป โอตตัปปะคือความเกรงกลัวต่อบาปมันเกิดขึ้นมาแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อเราประพฤติปฏิบัติธรรม เราไม่ให้บาปเกิดขึ้นทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจ เป็นเส้นทางไหลเข้าไปสู่จิตสู่ใจของเราแล้ว จิตใจของเราก็จะใสสะอาดอย่างที่กระผมกล่าวแล้วในเบื้องต้น

          และขณะที่ญาติโยมทั้งหลายก็ดี พ่อแม่พี่น้องทั้งหลาย เป็นญาติโยมก็ดี เป็นพระเป็นเณรก็ดี ขณะที่ฟังธรรมอยู่นี้เราตั้งสติไว้ที่หูกำหนดว่า “ได้ยินหนอๆ” เป็นต้น ความโกรธก็ดี ความโลภก็ดี ความหลงก็ดี ไม่เกิดเพราะได้ยินเสียง จิตใจของเราก็ขาวสะอาดขึ้นมาแล้ว จิตใจของเราตั้งมั่นอยู่กับเสียง เกิดขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ อาจจะเกิดเป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นขณะที่เรากำหนดอยู่นี้กิเลสมันไม่เกิด เพราะฉะนั้นเราจึงชื่อว่าระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้นมาในจิตในใจ

          เพราะฉะนั้นเมื่อเราฟังธรรมแล้วเรามีสติกำหนดตามเสียงของผู้เทศน์ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บาปนั้นไม่เกิดขึ้นมา ก็ชื่อว่าเรานั้นเพียรระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ต้องกล่าวไปถึงการเดินจงกรม ถึงการนั่งภาวนา ว่าจะเป็นการละบาปอย่างกลางด้วย ละบาปอย่างละเอียดด้วยได้ เพราะการเดินจงกรมก็ดี นั่งภาวนาก็ดีนั้น เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดศีล เกิดสมาธิ เกิดปัญญา การที่เราจะเพียรละบาปขั้นต้นนั้นเราต้องเพียรระวังที่กาย ที่วาจา ที่ใจ แล้วก็ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา เราก็สามารถที่จะทำกายของเราให้บริสุทธิ์ ทำวาจาของเราให้บริสุทธิ์ ทำใจของเราให้บริสุทธิ์ได้

          ข้อ ๒ ก็คือ ปหานปธาน คือ เราเพียรละความชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว ทางกายก็ดี ความชั่วที่เกิดทางวาจาที่เราเคยพลั้งพลาด เคยด่า เคยโกรธ เคยพูดส่อเสียด พูดเท็จ พูดเพ้อเจ้อมาแต่ก่อนหรือว่าทางใจ เราเคยคิดประทุษร้ายต่อบุคคลอื่น เคยจองล้าง เคยอาฆาตพยาบาทบุคคลอื่นไว้แต่ครั้งก่อน เมื่อเรามาตั้งจิตที่จะทำคุณงามความดี อกุศลธรรมเหล่านี้มันปรากฏขึ้นมา

          เช่นเรามานั่งฟังธรรม แทนที่จิตใจของเราจะสงบเราก็คิดถึงอารมณ์ที่ชั่วๆ เคยทำมา อารมณ์ที่เป็นบาป เป็นอกุศลที่เราเคยทำมาแต่ก่อนมันก็ผุดขึ้นมาทำร้ายจิตใจของเรา ให้จิตใจของเราฟุ้งซ่านไปด้วยอำนาจของบาป หรือว่าในขณะที่เราจะเดินจงกรมก็ดี นั่งภาวนาก็ดี บาปกรรมเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาทำให้จิตใจของเรานั้นมันฟุ้งได้

          เพราะฉะนั้นในเวลาที่เราฟังเทศน์ก็ดี ฟังธรรมก็ดี หรือว่าเรานั่งภาวนาก็ดี เดินจงกรมก็ดี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสให้เรานั้นระวังบาป คือระวังกามวิตก อย่าให้เกิดขึ้นมาในจิตในใจ คือความตรึกในเรื่องกามคุณ จะเป็นเรื่องความชอบใจ พอใจในรูปก็ดี ในเสียงก็ดี ในรสก็ดี ในกลิ่นก็ดี ในการถูกต้องโผฏฐัพพารมณ์ก็ดีให้เรานั้นคอยระวังสำเหนียก อย่าไปยินดียินร้ายในกามคุณ ๕ และข้อที่ ๒ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นให้ระวังพยาบาทวิตก คือไม่ให้เรานั้นตรึกไปในการผูกอาฆาตพยาบาท จองล้างจองผลาญกับบุคคลอื่น บุคคลนั้นมาด่าเรามาว่าเรามาพูดเสียดสีเรา เราก็เกิดความเจ็บอกเจ็บใจ นึกถึงคำนั้นทีไรมันเจ็บอกเจ็บใจทุกที อยากไปแก้แค้นอยากไปทำให้บุคคลอื่นนั้นได้รับความทุกข์ทรมานอย่างสาสม ในลักษณะอย่างนี้ก็ถือว่า เกิดพยาบาทขึ้นมาความตรึกคือพยาบาท องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสให้เราละสิ่งเหล่านี้

          อันที่ ๓ ก็คือ วิหิงสาวิตก คือตรึกในการคิดจะเบียดเบียนบุคคลอื่น จะเป็นการเบียดเบียนด้วยคำพูดก็ดี ทางร่างกายก็ดี หรือว่าเบียดเบียนด้วยใจก็ดี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ถือว่าเป็นวิหิงสาวิตก คือความตรึกในการคิดจะเบียดเบียนบุคคลอื่น ก็ถือว่าเป็นบาปเป็นอกุศลธรรมถ้าเราตายในขณะที่จิตใจคิดจะเบียดเบียนผู้อื่นนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า “จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา” เมื่อจิตเศร้าหมองแล้วทุคติเป็นอันหวังได้ เพราะฉะนั้นการที่เรานึกถึงวิตกทั้ง ๓ เป็นกามวิตกก็ดี พยาบาทวิตกก็ดี วิหิงสาวิตกก็ดี จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของเรานั้นมันเศร้าหมอง เพราะฉะนั้นเมื่อเรานึกถึงอย่างนี้เราต้องกำหนดให้ทันปัจจุบันธรรม เมื่อเรากำหนดทันปัจจุบันธรรมแล้ว สมาธิมันเกิดขึ้นมาจะเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน หรือว่าเราเจริญวิปัสสนาญาณที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ เป็นต้นเกิดขึ้นมาจิตใจของเราก็จะขาวสะอาดใส เราก็สามารถที่จะข่มสิ่งที่เป็นอกุศลเหล่านี้ให้มันเบาลง ด้วย ตทังคปหานบ้าง หรือด้วยองค์นั้นๆ บ้าง ด้วยการข่มชั่วคราวบ้าง หรือว่าเราสามารถที่จะประหารมันให้ตายไปชั่วครู่ เป็นวิกขัมภนปหาน คือประหารด้วยอำนาจของฌาน ขณะที่เราอยู่ในฌาน จะเป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ก็ดี วิตกทั้ง ๓ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก เกิดขึ้นมา ก็ถือว่าเราประหานสิ่งนี้ให้ตายไปแล้วครู่หนึ่งในขณะที่เราเข้าฌาน หรือเราประหารด้วยอำนาจของมรรคญาณก็ถือว่าเป็นสมุจเฉทปหาน อันนี้เป็นความเพียรข้อที่ ๒

          ความเพียรข้อที่ ๓ ก็คือ ภาวนาปธาน คือเพียรบำเพ็ญกุศลให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน คือเราบำเพ็ญทานกุศล บำเพ็ญศีลกุศล บำเพ็ญภาวนากุศล บำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ให้สูงขึ้นไปจนกว่าเราจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน อันนี้เป็นการเพียรเพื่อที่จะทำบุญกุศลให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่หยุดอยู่แค่นั้นไม่พอใจอยู่แค่นั้นจนกว่าเราจะถึงพระนิพพาน

          ความเพียรข้อที่ ๔ นั้นคือ อนุรักขนาปธาน คือเราเพียรละบาปแล้วก็ดี เพียรระวังบาปแล้วก็ดี เพียรบำเพ็ญกุศลให้เกิดขึ้นแล้วก็ดีก็ยังไม่พอ เราต้องเพียรรักษาบุญกุศลที่เราทำให้ดีขึ้นมาแล้ว ทำให้มากขึ้นมาแล้ว ก่อตัวขึ้นมาแล้ว ให้ยิ่งๆ ขึ้นไปจนกว่าเราจะถึงพระนิพพาน คือเราต้องเพียรละบุญทั้งที่เป็นทานกุศลนั้น ให้เกิดมีขึ้นบ่อยๆ เราไปทำทานเราก็ทำทาน เราเพียรรักษาศีลกุศลให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เราเคยรักษาศีลเราก็รักษาประจำรักษามากขึ้น เราเพียรเคยบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน เราก็ต้องบำเพ็ญสมถกรรมฐาน แล้วก็บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานไป เราเคยได้สมาธิ เราก็ต้องรักษาสมาธิไว้อย่าให้เสื่อม เราเคยได้วิปัสสนาญาณเราก็ต้องรักษาวิปัสสนาญาณไม่ให้เสื่อม ในไม่ช้าก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นได้บรรลุมรรคผลนิพพานไม่วันใดก็วันหนึ่ง อันนี้เรียกว่า อนุรักขนาปธาน

          เมื่อสรุปแล้วว่าความเพียรนั้นมีทั้งความเพียรทางโลก และความเพียรทางธรรม ถ้าบุคคลใดเป็นผู้ประกอบไปด้วยความเพียรทั้งทางโลกทางธรรม บุคคลนั้นก็จะได้รับประโยชน์ ทั้งที่เป็นทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ คือประโยชน์ในภพนี้ ได้ทั้งสัมปรายิกัตถประโยชน์ คือประโยชน์ในภพหน้า หรือได้ประโยชน์อย่างยิ่งคือ พระนิพพาน ดังที่มีเรื่องเล่าไว้ในครั้งพุทธกาล

          ในเมื่อครั้งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงประทับอยู่ที่ ภูเขาคิชฌกูฏใกล้เมืองราชคฤห์ วันหนึ่งนางปุณณาได้จุดประทีปทำงานตลอดคืน ในระหว่างที่นางทำงานอยู่นั้นเมื่อนางเหน็ดเหนื่อยจึงหยุดพักตากลมอยู่ข้างนอก ในขณะที่นางตากลมอยู่นั้น พระทัพพมัลลบุตร ได้จัดแจงเสนาสนะถวายแก่ภิกษุทั้งหลายที่พากันมาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อภิกษุเหล่านั้นฟังธรรมแล้วต่างก็เข้าไปสู่ที่อยู่ของตนเพื่อที่จะเจริญวิปัสสนากรรมฐานต่อไป คือฟังธรรมจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วไม่ได้นอนทีเดียว ฟังธรรมะแล้วเข้าใจธรรมแล้วก็ลงมือปฏิบัติทันที

          ในขณะนั้นนางปุณณาได้แลเห็นภิกษุทั้งหลายเที่ยวไปๆ มาๆ บนภูเขาด้วยแสงสว่างคิดว่าภิกษุเหล่านี้คงจะไม่สบายหรือ หรือว่าภิกษุเหล่านี้คงจะถูกอสรพิษมีงูเป็นต้น กัดเป็นแน่แท้ ครั้นจวนใกล้สว่างนางปุณณาได้เอารำผสมกับน้ำทำเป็นก้อนแล้วก็ปิ้งไฟให้สุกใส่ชายพกแล้วก็เดินไปเพื่อที่จะไปตักน้ำ ในขณะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์กำลังจะเสด็จออกไปบิณฑบาต พระองค์ก็เสด็จเดินสวนทางนางปุณณาพอดี นางปุณณาเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีพระฉวีวรรณผ่องใส มีพระวรกายสดสวยงดงามเกิดศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง จึงคิดว่าในวันอื่นๆ เมื่อเราพบพระพุทธองค์แล้วเราก็ไม่มีไทยธรรมที่จะถวาย ถ้าเรามีไทยธรรมเราก็ไม่พบพระองค์ วันนี้เป็นโชคดีของเราแล้วหนอ ไทยธรรมของเราก็มี องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ปรากฏอยู่ที่เฉพาะหน้าของเรา

          จึงได้ถวายบังคมกราบทูลองค์สมเด็จพระบรมศาสดาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ จงรับขนมอันเศร้าหมองนี้แล้วทรงสงเคราะห์หม่อมฉันด้วยเถิดพระเจ้าค่ะ” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงน้อมบาตรรับเอาขนมของนางตามความประสงค์ นางใส่บาตรแล้วกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยเบญจางคประดิษฐ์เรียบร้อยตั้งความปรารถนาว่า “ภนฺเต ตุมฺเหหิ ทิฏฺฐธมฺโม เอว เม สมิชฺฌตุ” แปลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญขอธรรมอันพระองค์ทรงเห็นแล้วนั้น จงสำเร็จแก่หม่อมฉันเถิดพระเจ้าค่ะ” องค์สมเด็จพระศาสดาตรัสอนุโมทนาคาถาว่า “เอวํ โหตุ เอวํ โหตุ” ขอความปรารถนาที่นางตั้งไว้แล้วอย่างนั้น จงสำเร็จเถิด ขอความปรารถนาที่นางตั้งไว้แล้วอย่างนั้นจงสำเร็จเถิด

          ลำดับนั้นพระองค์จึงตรัสสั่งให้พระอานนท์เถระปูลาดอาสนะถวาย แล้วทรงนั่งเสวยภัตตาหาร ณ ที่ใกล้ๆ นางนั้นเอง เมื่อพระองค์ทรงเสวยเสร็จแล้วจึงเรียกนางปุณณามาตรัสว่า ปุณณา เธอไม่ได้หลับเพราะทุกข์ของตน ส่วนสาวกของเราไม่ได้หลับเพราะทำความเพียรตลอดคืนยันรุ่ง แล้วพระองค์ก็ทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่นางต่อไปว่า “สทา ชาครมานานํ อโหรตฺตานุสิกฺขินํ นิพฺพานํ อธิมุตฺตานํ อฏฺฐํ คจฺฉนฺติ อาสวา” แปลว่า “อาสวะทั้งหลาย ของผู้ที่ตื่นอยู่ทุกเมื่อปฏิบัติธรรมตลอดคืนและวัน มีใจน้อมไปสู่นิพพาน ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ คือย่อมหมดไป ย่อมสิ้นไปโดยไม่เหลือ”

          เมื่อนางปุณณาได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาก็เจริญวิปัสสนาต่อไป ในไม่ช้าไม่นานนางก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน นิทานชาดกเรื่องนี้จึงสอนให้รู้ว่า ผู้มีความเพียรทางโลกย่อมประสบผลดลบันดาลให้ได้รับความสุขทางโลก ผู้มีความเพียรในทางประพฤติปฏิบัติธรรม ย่อมนำตนให้พ้นทุกข์ประสบสันติสุขอย่างแท้จริง

          ข้อ ๓ เวทพหุโล ผู้มากไปด้วยปีติ ปีตินั้นหมายความว่า ความอิ่มอกอิ่มใจ ความอิ่มอกอิ่มใจนั้นแบ่งออกเป็น ๒ ทาง คือ อิ่มอกอิ่มใจทางโลกและทางธรรม ความอิ่มใจทางโลก อย่างเช่นนักเรียนสอบได้ตามชั้นตามภูมิของตนก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความอิ่มใจดีใจ ทำงานได้รับค่าจ้างก็เกิดความอิ่มใจดีใจ ค้าขายได้กำไรก็มีความอิ่มใจ มีความดีใจ เป็นข้าราชการได้เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนยศ ก็มีความอิ่มใจ มีความดีใจ อันนี้เป็นความอิ่มใจทางโลกเป็นต้น ดังที่กล่าวมาเป็นความอิ่มใจที่เป็นโลกีย์อยู่

          ส่วนความอิ่มใจทางธรรมนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงแบ่งเป็น ๓ ขั้น คือ

          ความอิ่มใจขั้นต่ำเกิดจากการเรียนรู้พระพุทธพจน์ เมื่อเรียนรู้พระพุทธพจน์ขณะที่อ่านพระพุทธพจน์ก็ดี ท่องพระพุทธพจน์ก็ดี อ่านพุทธประวัติก็ดีเกิดความอิ่มใจ เกิดปีติ เกิดน้ำตาไหล เกิดขนพอง อันนี้เรียกว่าความอิ่มใจในขั้นต้น

          ความอิ่มใจในขั้นกลางเกิดขึ้นมาด้วยอำนาจของสมาธิ เราเดินจงกรมนั่งภาวนาเกิดสมาธิขึ้นมาเกิดความอิ่มใจนี้เรียกว่าความอิ่มใจขั้นกลาง

          ความอิ่มใจในขั้นสูงคือในขณะที่เราเดินจงกรมนั่งภาวนา เกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมาเราได้บรรลุมรรคผล เมื่อเราได้บรรลุมรรคผลแล้ว เราได้เสวยผลสมาบัติเสวยผลที่สามารถประหารกิเลสได้บ้าง ความสุขเหล่านั้นมันเกิดขึ้นมา ความอิ่มใจเหล่านั้นเกิดขึ้นมา อันนี้เรียกว่าความอิ่มใจในขั้นสูง เป็นความอิ่มใจในทางธรรม

          มีเรื่องของพระเจ้ากัปปินะ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความอิ่มใจ พระเจ้ากัปปินะนั้นเป็นผู้มีความอิ่มใจ จะยืนท่านก็อุทานว่าสุขหนอ จะนั่งท่านก็อุทานว่าสุขหนอ จะทานข้าวก็ดี สรงน้ำก็ดี ท่านจะอุทานว่าสุขหนอๆ อยู่ตลอดเวลา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงสดับแล้ว พระองค์ก็ทรงตรัสอนุโมทนาสาธุการว่า บุคคลผู้ที่มีใจผ่องใส มีความอิ่มใจในธรรมย่อมอยู่เป็นสุข บัณฑิตย่อมยินดีในธรรมอันพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงประกาศแล้ว คือพระองค์ทรงอนุโมทนาในพระเจ้ามหากัปปินะว่า บุคคลผู้มีใจผ่องใส มีความเป็นอยู่ในธรรม ย่อมอยู่เป็นสุขคือ ย่อมมีความสุขอยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นข้อที่ ๓

          ข้อที่ ๔ คือ อสนฺตุฏฺฐิพหุโล เป็นผู้มากด้วยความไม่หยุดไม่พอ คือไม่พอใจเพียงเท่านั้น ไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น ต้องพยายามก้าวหน้าต่อไป อย่างที่อรรถกถาท่านกล่าวไว้ว่า กุสเลสุ ธมฺเมสุ อสนฺตุฏฺโฐ คือเป็นผู้ไม่พอใจในกุศลธรรมคือ ไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น เช่นเราเคยทำทานกุศลเป็นประจำ ก็อย่าพึงพอใจในกุศลธรรมนั้น ให้พยายามทำบุญอื่นเช่น รักษาศีลเป็นต้นให้ยิ่งขึ้นไป พยายามทำบุญอื่นที่ดีกว่านี้ สูงกว่านี้ ประเสริฐกว่านี้ วิเศษกว่านี้ ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะบุญที่ดีกว่านี้ สูงกว่านี้ ประเสริฐกว่านี้ยังมีอยู่อีก อย่างเรื่องทำนองนี้ก็มีปรากฏอยู่ในครั้งพุทธกาลเหมือนกัน

          คือมีชายคนหนึ่งเป็นผู้ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอในการทำบุญทำทาน ในการสร้างคุณงามความดี ทั้งที่เป็นทานก็ดี ทั้งที่เป็นสมถกรรมฐาน เป็นสมาธิก็ดี ทั้งที่เป็นการเจริญพระวิปัสสนาภาวนาก็ดี เขาไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอ

          คือในครั้งที่ ๑ นั้น เขาเห็นชายจีวรของพระสงฆ์เปียกชุ่มไปด้วยน้ำค้างที่ติดอยู่บนยอดหญ้า ในเวลาที่พระท่านจะห่มจีวรเพื่อที่จะออกไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน เขาจึงหาจอบมาดายหญ้าทำให้เตียนแล้วก็สะอาด ไม่ให้จีวรของภิกษุนั้นเปียกน้ำค้าง

          ครั้งที่ ๒ เขานำทรายมาเกลี่ยลงในที่นั้นทำให้สะอาดเรียบร้อยดี

          ครั้งที่ ๓ สร้างมณฑปกันแดดมุงด้วยใบไม้

          ครั้งที่ ๔ เขาก็สร้างมณฑปกันฝนมุงด้วยกระเบื้องอย่างดี

          ครั้งที่ ๕ เขาก็ทำการฉลองเป็นการใหญ่ โดยอาราธนานิมนต์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นประธานด้วย

          ครั้งที่ ๖ เขาก็ได้ถวายทานได้ฟังธรรม ได้ปฏิบัติธรรมคือเจริญวิปัสสนากรรมฐานจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เขาได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน

          อย่างนี้เรียกว่าผู้มากไปด้วยความไม่พอ ผู้มากไปด้วยความไม่หยุดในกุศลธรรม อันธรรมดากุศลธรรมมีมากเท่าไรยิ่งดีเป็นกำไรของชีวิต ตรงข้ามกับบาปอันจะเป็นเหตุให้คนทำบาปนั้นขาดทั้งทุนสูญทั้งกำไร อันนี้เป็นข้อที่ ๔

          ข้อที่ ๕ คือ อนิกฺขิตฺตธุโร เป็นผู้ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม ไม่วางเฉยในกุศลธรรม ไม่หยุดอยู่ในการทำกุศลธรรมเพียงเท่านั้นคือ บุคคลผู้ไม่ทอดธุระนั้นแบ่งออกเป็น ๔ ขั้น คือ

          ๑. ไม่ทอดธุระ ไม่วางเฉยในการบำเพ็ญบุญ คือกามาวจรบุญคือ บุญจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นท่องเที่ยวไปในกามภพ คือการให้ทาน การฟังธรรม การเรียนธรรม การสอนธรรม การสร้างโรงเรียนก็ดี การสร้างโรงพยาบาลก็ดี การขุดน้ำบ่อ ก่อศาลา สร้างโบสถ์ สร้างวิหาร ทอดกฐิน ทอดผ้าป่าเป็นต้น เหล่านี้ก็ถือว่าเป็นบุญที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราท่องเที่ยวไปในกามภพ คือมนุษย์ ๑ แล้วก็สวรรค์ ๖ ชั้น อันนี้เราไม่ทอดธุระ

          ๒. ไม่ทอดธุระในการบำเพ็ญรูปาวจรบุญ คือไม่ทอดธุระในการเจริญสมถกรรมฐาน คือการเพียรที่จะทำสมาธิ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ให้เกิดขึ้นมาให้ได้

          ๓. ไม่ทอดธุระในการบำเพ็ญอรูปฌาน คือไม่ทอดธุระในอรูปาวจรบุญ คืออรูปฌาน อรูปฌานที่ ๑ คือ อากาสานัญจายตนฌาน อรูปฌานที่ ๒ คือ วิญญาณัญจายตนฌาน อรูปฌานที่ ๓ คือ อากิญจัญญายตนฌาน อรูปฌานที่ ๔ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน คือเราไม่ทอดธุระไม่วางเฉย พยายามเพียรพยายามปฏิบัติให้เกิดอรูปฌานขึ้นมา

          ๔. ไม่ทอดธุระในการบำเพ็ญโลกุตรบุญ คือบุญที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้บรรลุมรรคผลนิพพาน คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นเอง เราไม่ทอดธุระ อันนี้เรียกว่า เป็นผู้ไม่ทอดธุระในการบำเพ็ญบุญกุศล ในการสร้างคุณงามความดี

          ข้อที่ ๖ อุตฺตริญฺจ ปตาเรติ คือพยายามก้าวหน้าต่อไปไม่หยุด คือพยายามก้าวหน้าต่อไปนั้นมีอยู่ ๒ ขั้น คือ พยายามก้าวหน้าทางโลก คือพยายามก้าวหน้าในการศึกษา พยายามก้าวหน้าในการพัฒนาครอบครัว พัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาหมู่บ้าน พัฒนาประเทศชาติเป็นต้น อันนี้เรียกว่าพัฒนาทางโลก พัฒนาทางธรรมคือ ก้าวหน้าทางธรรมนั้น คือ พยายามก้าวหน้าต่อไป ไม่พอใจในคุณงามความดีที่ตนเองมีอยู่ ตราบใดที่เรายังมีกิเลสอยู่ในหัวใจเราต้องพยายามก้าวหน้าต่อไปเรื่อยๆ ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงเปรียบบุคคลที่พยายามก้าวหน้าต่อไปนั้น เปรียบเสมือนกับบุคคล ๗ จำพวก คือ

          บุคคลจำพวกที่ ๑ นั้น ดิ่งลงไปโดยถ่ายเดียวไม่โผล่ขึ้นมาอีก คนประเภทนี้หมายถึงบุคคลผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่ยอมรับมิจฉาทิฏฐินั้น

          บุคคลจำพวกที่ ๒ คือ ดำน้ำโผล่ขึ้นมาแล้วกลับดำดิ่งลงไปอีก ได้แก่บุคคลผู้มีศรัทธาดี มีสมาธิดี มีศีลดี แต่ไม่มีความเพียรในภายหลังก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เสื่อมจากคุณงามความดี

          บุคคลจำพวกที่ ๓ คือ ดำน้ำขึ้นมาแล้วยืนอยู่เฉยๆ ได้แก่บุคคลผู้เคยทำทาน ก็ทำทานอยู่อย่างนั้น เคยรักษาศีลก็รักษาศีลอยู่อย่างนั้น เคยฟังธรรมก็ฟังธรรมอยู่อย่างนั้น ไม่คิดว่าจะเจริญวิปัสสนากรรมฐานเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน

          บุคคลจำพวกที่ ๔ คือ ดำน้ำโผล่ขึ้นมาแล้วเหลียวมองดูข้างโน้นบ้าง ข้างนี้บ้าง หมายถึงบุคคลที่เจริญวิปัสสนา เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน

          บุคคลจำพวกที่ ๕ คือ ดำน้ำโผล่ขึ้นมาแล้วพยายามก้าวหน้าต่อไปอีก คือบุคคลผู้ที่บำเพ็ญ เจริญวิปัสสนาจนได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วไม่พอใจ พยายามต่อไปจนได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี

          บุคคลจำพวกที่ ๖ คือบุคคลผู้ดำน้ำโผล่ขึ้นมาแล้วพยายามก้าวหน้าต่อไปอีกจนจวนจะถึงฝั่ง หมายถึงบุคคลผู้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วไม่พอใจปฏิบัติต่อไปจนได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี ปฏิบัติเป็นพระสกทาคามีแล้วไม่พอใจ ปฏิบัติต่อไปจนได้บรรลุเป็นพระอนาคามี

          บุคคลจำพวกที่ ๗ ก็คือ ดำน้ำโผล่ขึ้นมาแล้วพยายามต่อไปจนถึงฝั่ง หมายถึงบุคคลผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานบรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วก็ไม่พอใจ บรรลุเป็นพระสกทาคามีแล้วก็ไม่พอใจ บรรลุเป็นพระอนาคามีแล้วก็ไม่พอใจ เพียรต่อไปจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ อันนี้เป็นบุคคลจำพวกที่ ๗

          ขอให้ญาติโยมทั้งหลาย พุทธบริษัททั้งหลาย คณะครูบาอาจารย์พระสงฆ์สามเณรที่ฟังธรรมอยู่นี้พิจารณาว่า เราอยู่ในประเภทที่เท่าไร อันนี้เป็นการเปรียบเทียบธรรมะบุคคล ๗ ประเภท บุคคลประเภทที่ ๔ ถึงประเภทที่ ๗ นั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่าเป็น อุตฺตริญฺจ ปตาเรติ คือพยายามเพียรต่อไปก้าวหน้าต่อไปไม่ถอยหลัง

          เท่าที่อาตมภาพได้น้อมนำเอาธรรมะ ในเรื่องธรรมอันจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลเข้าถึงความไพบูลย์มาบรรยาย ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลาแล้ว

          ในท้ายที่สุดนี้ขอให้ญาติโยมทุกท่าน ผู้ที่สนใจในการรับฟังธรรมะก่อนนอนทุกท่านจงมีความสุขทุกทิวาราตรีกาล มีความเกษมสำราญในหน้าที่การงาน มีโอกาสได้มาประพฤติวัตรปฏิบัติธรรม ได้บรรลุมรรคผลนิพพานด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.