บุคคลผู้ประพฤติธรรม

บุคคลผู้ประพฤติธรรม

(เทศน์ที่วัดพิชโสภาราม)

          ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปนานแล้วพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ด้วยเศียรเกล้า ขอโอกาสคณะสงฆ์ ขอเจริญพรญาติโยมสาธุชนทั้งหลายผู้ที่ใคร่ในการประพฤติปฏิบัติธรรมทุกท่าน วันนี้ก็ถือว่าเป็นราตรีที่ ๖ เราประพฤติมานัตได้มาแล้ว ๓ ราตรี อีก ๓ ราตรีก็ถือว่าเราจะได้อัพภานกรรมแล้ว และคณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมก็ถือว่าเราค่อนทางไปแล้ว ผู้ที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมน่าจะรู้ว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมของเรามันได้ผลมากน้อยขนาดไหนเราก็คงที่จะรู้แก่ใจของตัวเราเอง เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นถือว่าเป็นปัจจัตตัง รู้ได้เฉพาะตน แล้วก็การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นถือว่าเป็นอะกาลิโก หรือว่าไม่จำกัดกาล เราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตอนไหน ผลของการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นก็สามารถที่จะให้ผลได้ในกาลนั้น ไม่ว่าตอนเช้า ตอนบ่าย ตอนค่ำ ตอนเย็น ไม่ว่าฤดูร้อน ฤดูหนาว ฤดูฝน ถ้าเราประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้องก็สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ สามารถที่จะได้ผลของการประพฤติปฏิบัติธรรม

          วันนี้อาตมภาพก็จะได้น้อมนำเอาธรรมะในเรื่อง บุคคลผู้ประพฤติธรรม มาบรรยายประกอบการประพฤติปฏิบัติของท่านทั้งหลายตามสมควรแก่สติปัญญา บุคคลผู้ประพฤติธรรมในที่นี้เอามาบรรยายเนื่องจากพุทธพจน์ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า ธมฺมจารี สุขํ เสติ อสฺมึ โลเก ปรมฺหิ จ ซึ่งแปลใจความว่า บุคคลผู้มีปกติประพฤติปฏิบัติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า คำว่า ธมฺมจารี คือ ผู้ปฏิบัติธรรมนั้นคณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายอาจจะยังไม่เข้าใจ ว่าคำว่า ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นปกตินั้นหมายถึงอย่างไร หมายถึงพระภิกษุสงฆ์ที่บวชเข้ามาในพุทธศาสนา หรือว่าเหมือนกับญาติโยมผู้เป็นอุบาสกอุบาสิกานุ่งขาวห่มขาวอย่างนี้ถือว่าเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมปกติไหม อันนี้ยังบอกไม่ได้ว่าเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นปกติ เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า บุคคลผู้ที่ถึงพร้อมไปด้วยปริยัติธรรมสามารถที่จะเรียนจบทั้งพระไตรปิฎก หรือว่าจบทั้งอภิธรรมปิฎก จบพระวินัย จบพระสูตร เป็นผู้แตกฉานในพระไตรปิฎกทั้ง ๓ ประการ ก็ยังไม่ถือว่าเป็นผู้ประพฤติธรรมปกติ

          หรือว่าบุคคลผู้ที่เป็นนักเทศน์ นักบรรยายธรรมต่างๆ นาๆ สามารถที่จะเทศน์เสียงก็ได้ แหล่ก็ได้ หรือว่าเป็นผู้ที่จะเทศน์ให้ญาติโยมเกิดศรัทธา เกิดความเลื่อมใส ได้รับความไพเราะเสนาะหู แต่บุคคลนั้นไม่ได้ประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่ได้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ก็ยังกล่าวว่าเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมตามปกติไม่ได้ มีแต่ปริยัติธรรม มีแต่การเทศน์การสอน แต่ยังไม่ได้ปฏิบัติธรรมก็ไม่ถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมตามปกติ หรือว่าบุคคลผู้ที่เป็นนักก่อสร้างมีอำนาจวาสนาบารมีสามารถสร้างเจดีย์ใหญ่ๆ สามารถสร้างตึกหลายๆ ชั้น สามารถสร้างโบสถ์หลังคาแพงๆ บุคคลนี้จะถือว่าเป็นผู้ประพฤติธรรมตามปกติหรือไม่ อันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ไม่ได้ตรัสว่าเป็นผู้ประพฤติธรรมเป็นปกติ เพียงแต่ว่าเป็นผู้มากไปด้วยลาภ มากไปด้วยเอกลาภ สามารถที่จะมีลาภมากแล้วก็สร้างเสนาสนะใหญ่โตมโหฬารได้

          หรือว่าบุคคลผู้ที่ชอบตรึก ชอบคิดนานาประการหรือเราเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นักวิชาการ นักวิชาการนี้เป็นผู้ที่ชอบตรึก เรียกว่าเป็นนักตรึก เป็นผู้ที่มีความรู้เล่าเรียนมาแล้วก็ชอบคิด คิดค้นหาหลักการต่างๆ ออกมาเพื่อที่จะมาบัญญัติใช้ในสังคม ให้สังคมนั้นได้เกิดความสุข เกิดความร่มเย็นเป็นสุข บุคคลเหล่านี้ก็ไม่ถือว่าเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมตามปกติ บุคคลผู้ที่ร่างนักธรรมตรีออกแบบนักธรรมโทให้เราได้มาเรียน ออกแบบนักธรรมเอกให้เราได้มาเรียนทุกวันนี้ก็ยังไม่ถือว่าเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมตามปกติ เพียงแต่ว่าเป็นนักวิชาการ เป็นผู้มีความรู้ เป็นผู้ที่เข้าใจในเรื่องปริยัติธรรม

          เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมตามปกตินั้นหมายถึงบุคคลเช่นไร บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมตามปกตินั้นท่านหมายถึง บุคคลที่ได้มาเจริญวิปัสสนากรรมฐานจนได้บรรลุมรรคผลนิพพาน นับตั้งแต่พระโสดาบันเป็นต้นไป ถือว่าเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นปกติ คือจะเดินก็เดินด้วยธรรมะ จะนั่งก็นั่งด้วยธรรมะ จะเคี้ยว จะกิน จะดื่ม จะพูด จะคิด จะดำรงกิจอะไรก็ตาม ก็ถือว่าประกอบไปด้วยธรรมะ เพราะอะไร เพราะว่าจิตใจได้เข้าถึงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมจะเดินจงกรม นั่งภาวนา วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นมาก็จริงแต่ถ้ายังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพานนี้ก็ยังไม่ถือว่าเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมตามปกติ

          หรือว่าบุคคลผู้ที่ได้สมาธิ สมาบัติ ยังสมาธิสมาบัติให้เกิดขึ้นมาทั้งรูปฌานและอรูปฌาน หรือว่าเข้าสมาธิได้ ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง แต่ว่าไม่สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ บุคคลนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมตามปกติ แต่ว่าไม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีปกติประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ที่หมายความว่า ธมฺมจารี สุขํ เสติ อสฺมึ โลเก ปรมฺหิ จ นี้ ธมฺมจารี ในที่นี้หมายถึงบุคคลผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันเป็นต้น

          มีเรื่องเล่าไว้ในสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์ยังไม่เคยเสด็จไปโปรดพระญาติของพระองค์ที่กรุงกบิลพัสดุ์เลย ต่อมาเมื่อพระเจ้าสุทโธทนะให้อุทายีราชอำมาตย์ไปทูลเชิญองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อที่จะไปโปรดพระญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ พระองค์ก็ทรงพิจารณาอุปนิสัยของพระญาติ ว่าพระญาติมีบารมีหรือเปล่าหนอ เราไปแล้วจะยังประโยชน์อันใหญ่หลวงให้เกิดขึ้นแก่พระญาติของเราหรือไม่ พระองค์ก็ทรงใคร่ครวญด้วยพระญาณของพระองค์ พระองค์รู้ว่าบารมีของพระญาติพระองค์ได้แก่กล้าพอสมควรจึงรับอาราธนานิมนต์ของอำมาตย์ที่มานิมนต์ แล้วพระองค์ก็ทรงเสด็จมาสู่กรุงกบิลพัสดุ์

          ขณะที่เสด็จมาที่กรุงกบิลพัสดุ์นั้นพระองค์ก็ทรงประทับอยู่ที่นิโครธารามซึ่งเป็นพระญาติสร้างให้ แล้วพระองค์ก็เสด็จไปหาพระญาติ พระญาติทั้งหลายมีพระเจ้าสุทโธทนะเป็นต้น ไม่แสดงความเคารพในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คิดว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นผู้น้อยกว่า เป็นลูกของเรา เราจะไปเคารพลูกมันก็เสียเชิง เรียกว่าทิฏฐิชั้นวรรณะกษัตริย์นั้นมันแรงกล้า ไม่อยากจะเคารพบุคคลอื่น หรือว่าญาติผู้ใหญ่ในตระกูลนั้นพวกลุงพวกป้าทั้งหลายทั้งปวงนั้นไม่อยากจะเคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีอาการกระด้างกระเดื่อง

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงรู้ถึงจิตใจของพระญาติทั้งหลายก็เลยเนรมิตทางจงกรม เรียกว่ารัตนจงกรมให้ลอยอยู่บนอากาศ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงเสด็จขึ้นไปเดินจงกรมอยู่บนอากาศ เดินกลับไปกลับมาๆ พระญาติทั้งหลายเห็นอย่างนั้นก็เกิดปีติ เกิดขนลุก เกิดขนพองสยองเกล้า เกิดความเลื่อมใสในฤทธิ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มานะทิฏฐิก็ลดลงๆ

          เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ว่ามานะทิฏฐิของพระญาติพระองค์ลดลงแล้วพระองค์ก็ทรงแสดงธรรม ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ฝนโบกขรพรรษมันตกลงมา ขณะที่ฝนโบกขรพรรษมันตกลงมานั้นแหละก็เกิดความอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง ชาวบ้านชาวเมืองก็เกิดศรัทธา เกิดความเลื่อมใสแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ฝนโบกขรพรรษนั้นไม่ได้ตกอยู่ในวันนี้วันเดียว แม้ในครั้งก่อนฝนโบกขรพรรษก็ตกเหมือนกัน แล้วพระองค์ก็ทรงแสดงเรื่องพระเวสสันดรชาดก ว่าพระเจ้าสุทโธทนะนั้นเป็นใคร พระนางพิมพานั้นเป็นใคร ราหุลนั้นเป็นใคร ในสมัยนั้นฝนโบกขรพรรษนั้นตกลงมา

          เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมเสร็จแล้วญาติของพระองค์ทั้งหลายก็เกิดความเข้าใจในธรรม เกิดซึ้งใจในธรรม แต่ต่างคนก็ต่างเดินกลับไปพระเจ้าสุทโธทนะก็เดินเข้าไปสู่พระราชวัง พระนางปชาบดีโคตรมีก็เดินไปสู่พระราชวัง พระนางพิมพา พระราหุลก็เดินไปสู่พระราชวัง ไม่มีใครนิมนต์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าพรุ่งนี้ขอพระองค์จงเสด็จมาฉันบิณฑบาตที่พระราชวัง ไม่มีใครนิมนต์ คิดว่าลูกชายของเราเมื่อกลับมาบ้านแล้วเขาก็ต้องมาสู่บ้านของเขา จะไปอยู่ที่ไหนเพราะว่าพระราชวังนี้ก็คือบ้านขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เลยไม่นิมนต์ต่างคนก็ต่างเดินกลับไปแยกทางกันไป แต่พระเจ้าสุทโธทนะก็ให้จัดนิสีทนะปูลาดอาสนะเตรียมรอภิกษุไว้ประมาณ ๒๐,๐๐๐ รูป

          ในขณะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงกลับไปสู่นิโครธาราม เมื่อไปสู่นิโครธารามแล้วตอนรุ่งเช้าขึ้นพระองค์ก็ทรงพิจารณาว่า ตามธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่มีในอดีตนั้นเมื่อเสด็จมาโปรดพระญาติครั้งแรก พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นพระองค์ทำอย่างไร พระองค์ก็ทรงระลึกถึงพุทธจริยาของพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ที่ปรินิพพานไปแล้วว่าพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ นั้นเมื่อมาโปรดพระญาติครั้งแรกนั้นจะไม่ไปโปรดรับบิณฑบาตในพระราชวังเลยทีเดียว ไปโปรดตามตรอกตามซอย เหมือนกับภิกษุรูปหนึ่งที่เดินไปบิณฑบาตธรรมดาแล้วพระองค์ก็ทรงเดินไปตามตรอกตามซอยบ้านเล็กบ้านน้อย ซอยน้อยซอยใหญ่

          พอไปถึงพระราชวังพระนางพิมพาซึ่งยืนอยู่บนพระราชวังส่องดูในช่องพระแกลคือช่องหน้าต่าง เมื่อเห็นแล้วก็เกิดความเสียอกเสียใจรีบไปบอกพระเจ้าสุทโธทนะว่า “พ่อ ลูกชายของพ่อนั้นไปเที่ยวขอทานตามบ้านเล็กบ้านน้อยบ้านใหญ่เป็นที่น่าอับอายเหลือเกิน” พระเจ้าสุทโธทนะได้ทราบแล้วก็ตกใจขึ้นมา รีบทรงเครื่องกษัตริย์แล้วก็รีบวิ่งไป ขณะที่วิ่งไปนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำลังรับ ภิกขาจารตามบ้านต่างๆ พระเจ้าสุทโธทนะก็เลยไปตรัสกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ลูก ทำไมถึงทำให้พ่ออับอายเหลือเกิน ทำไมต้องเที่ยวขอทานในลักษณะอย่างนี้ ลูกไม่ควรจะเดินด้วยพระบาทเปล่า ควรที่จะนั่งวอทองคำบิณฑบาตมันจึงจะสมควร ทำไมจึงต้องเดินด้วยพระบาทเปล่า”     

          เพราะว่าประเทศอินเดียนั้นเป็นประเทศที่สกปรก มีอุจจาระปัสสาวะเต็มถนนหนทาง เพราะฉะนั้นพระเจ้าสุทโธทนะจึงกล่าวอย่างนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์จึงตรัสว่า “เรา ตถาคตนั้นไม่ได้ทำให้พระองค์อับอายขายหน้า แต่ว่าเรามาบิณฑบาตนี้เพื่อที่ประพฤติตามวงศ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ล่วงมาแล้วทุกๆ พระองค์ ท่านประพฤติปฏิบัติมาอย่างนี้” แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแสดงธรรมให้แก่พระเจ้าสุทโธทนะฟังว่า

                      อุตฺติฏฺเฐ นปฺปมชฺเชยฺย     ธมฺมํ สุจริตํ จเร

               ธมฺมจารี สุขํ เสติ               อสฺมึ โลเก ปรมฺหิ จ.

          ซึ่งแปลเป็นใจความว่า “บุคคลไม่ควรประมาทในก้อนข้าวอันตนพึงลุกขึ้นยืนรับ บุคคลพึงประพฤติธรรมให้เป็นสุจริต เพราะว่าบุคคลผู้มีปกติประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข

          พระเจ้าสุทโธทนะก็ทรงส่งกระแสจิตกระแสใจไปตามพระสัทธรรมเทศนา ในไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุดวงตาเห็นธรรมคือได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นปกตินั้นก็หมายถึงว่า บุคคลผู้ที่บรรลุนับตั้งแต่พระโสดาบันดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแก่พระเจ้าสุทโธทนะ ก็ถือว่าเป็นการโปรดพระราชบิดาของพระองค์ให้ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันครั้งแรก ถือว่าเป็นตัวอย่างสำหรับบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นปกติ ก็คือบุคคลผู้ที่เจริญวิปัสสนากรรมฐานจนได้บรรลุมรรคผลนิพพานนับตั้งแต่พระโสดาบัน

          ตัวอย่างที่ ๒ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า บุคคลผู้ที่มีปกติประพฤติธรรมก็คือบุคคลผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานคือมีเรื่องเล่าไว้ว่า มีภิกษุประมาณ ๖๐ รูปไปเรียนวิปัสสนากรรมฐานในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ภิกษุ ๖๐ รูปนี้เมื่อเรียนเอาวิปัสสนากรรมฐานจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงใดแต่การบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วก็เข้าป่าไปแสวงหาที่ที่จะประพฤติปฏิบัติธรรม ผ่านบ้านเล็กบ้านน้อย ผ่านบ้านใหญ่ ผ่านตำบล ผ่านอำเภอ ผ่านไปทุกหัวระแหงจนไปพบบ้านบ้านหนึ่ง มีดงดงหนึ่งเหมาะแก่การประพฤติปฏิบัติธรรม เหมาะแก่การเป็นที่จะโคจรเที่ยวบิณฑบาต มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ มีร่มไม้ที่เยือกเย็น มีป่าที่สงบห่างไกลจากหมู่บ้าน

          ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นพิจารณาดูแล้วก็เหมาะแก่การประพฤติปฏิบัติธรรมก็เลยเดินเข้าไปในหมู่บ้าน ญาติโยมที่ในหมู่บ้านนั้นก็เกิดศรัทธาก็เลยถามว่า พระคุณเจ้าพากันไปไหน ภิกษุทั้งหลายก็เลยบอกว่า จะไปแสวงหาที่สงบประพฤติปฏิบัติธรรม ญาติโยมทั้งหลายก็เลยบอกว่า ถ้าอย่างนั้นขอพระคุณเจ้าทั้งหลายจงพักอยู่ในดงนี้เถิด ในป่านี้เถิด พวกกระผมจะถวายภัตตาหารอุปถัมภ์อุปฐาก ถ้าพระคุณเจ้าได้จำพรรษาอยู่ในที่นี้ตลอด ๓ เดือนพวกผมก็จะถวายความอุปถัมภ์อุปฐากตลอด ๓ เดือนไตรมาศ ขอให้พระคุณเจ้าทั้งหลายจงสงเคราะห์พวกกระผมทั้งหลายเถิด

          ภิกษุทั้งหลายก็เห็นว่าญาติโยมเกิดศรัทธาขึ้นมาด้วยความจริงใจ ก็เลยอาศัยอยู่ในป่านั้น ขณะที่ภิกษุทั้งหลายเข้าไปอาศัยอยู่ในป่านั้นแหละเทวดาที่รักษาอยู่ในป่านั้นก็เกิดความเคารพในพระภิกษุผู้มีศีลบริสุทธิ์ เทวดาที่อยู่บนต้นไม้ก็ดี บนยอดไม้ก็ดี ก็ไม่สามารถที่จะอยู่บนต้นไม้ได้ ต้องลงมา พาลูกพาเมียลงมาข้างล่างมานั่งอยู่บนดิน จะนั่งอยู่สูงกว่าภิกษุผู้มีศีลก็ไม่ได้เพราะมันเป็นกฎของเทวดา ถ้านั่งอยู่บนที่สูงกว่าเทวดานั้นก็จะมีศรีษะแตกออกเป็นเสี่ยง ก็ไม่สามารถจะนั่งอยู่บนที่สูงกว่าบุคคลผู้มีศีลได้ ก็เลยลงมานั่งอยู่ข้างล่าง

          เมื่อลงมาอยู่ข้างล่างก็คิดว่าพระภิกษุจำนวน ๖๐ รูปนี้คงจะมาอาศัยแรมคืนสัก ๑ คืนรุ่งเช้าภิกษุเหล่านี้ไปบิณฑบาตในบ้านฉันแล้วก็คงจะได้ไปข้างหน้า เทวดาทั้งหลายก็นั่งอยู่บนพื้นดิน แต่ว่าภิกษุทั้งหลายนี้ไปแล้วก็กลับมาอีกเหมือนเดิม เทวดาก็เลยว่า ภิกษุนี้คงจะมีญาติโยมท่านใดท่านหนึ่งศรัทธาแล้วก็นิมนต์ฉันพรุ่งนี้ ก็เลยอยู่อีก ๑ วัน วันต่อมาภิกษุก็กลับมาอีก เทวดาก็คิดว่าคงจะมีญาติโยมนิมนต์ต่อไปอีกก็เลยคิดว่าวันมะรืนนี้ภิกษุก็คงจะต้องไปจากที่นี่ เทวดาคิดอยู่อย่างนี้จนผ่านไปครึ่งเดือนภิกษุทั้งหลายก็ไม่ไป

          เทวดาทั้งหลายจูงลูกจูงเมียนั่งนอนอยู่บนพื้นดิน ก็เกิดความทุกข์เกิดความลำบาก ก็เลยปรึกษากับเทวดาที่สิงสถิตย์อยู่ในบริเวณนั้นด้วยกันว่าเราจะทำอย่างไรดี  เทวดาก็เลยตกลงว่าเราต้องทำให้ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้เกิดความกลัวแล้วภิกษุเหล่านี้ก็จะหนีไปเอง จากนั้นเทวดาทั้งหลายเหล่านั้นก็แปลงร่างให้เป็นผีหัวขาดปรากฏอยู่ในที่พักกลางคืน ทำให้เป็นรูปร่างน่ากลัว มีเสียงพิลึกสะพรึงกลัวปรากฏอยู่ในที่พักกลางวันบ้าง ที่พักกลางคืนบ้าง ปรากฏในที่เดินจงกรมบ้าง ทำให้ภิกษุทั้งหลายนั้นเกิดความหวาดสะดุ้ง หวาดกลัว

          แล้วเทวดานั้นก็อธิษฐานให้ภิกษุทั้งหลายนั้นเกิดเป็นโรคต่างๆ ขึ้นมามีโรคไอโรคจาม นั่งไปก็จาม เดินจงกรมก็จาม ปฏิบัติธรรมไม่เป็นสุข นั่งภาวนาไม่เป็นสุข ภิกษุทั้งหลายก็เลยมาประชุมกันว่าบุคคลนั้นก็มาฟ้องพระเถระว่า กระผมเห็นผีหัวขาดอยู่ตรงนั้น กระผมเห็นผีที่มีรูปร่างน่าสะพรึงกลัวอยู่ในที่เดินจงกรม กระผมได้ยินเสียงน่าพิลึกสะพรึงกลัวเหมือนกับจะมาเอาชีวิตดังอยู่ตรงโน้น ดังอยู่ตรงนี้พระเถระทั้งหลายก็ประชุมกันว่าที่นี้คงจะเป็นที่ไม่เหมาะแล้ว ไม่เป็นที่สัปปายะเพราะเป็นที่น่าสะพรึงกลัวเหลือเกิน อยู่ต่อไปสหธรรมิกบางรูปอาจจะเสียชีวิตได้เพราะว่าเจ้าที่มันแรงเหลือเกิน พระเถระทั้งหลายก็ประชุมกัน แล้วก็พากันเก็บบริขารเก็บบาตร เก็บกลด แล้วก็จะไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

          เมื่อไปถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่สามารถที่จะอยู่ในที่นั้นได้หรือ ภิกษุทั้งหลายก็กราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่สามารถที่จะอยู่ในที่นั้นได้ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่า พวกเธอจงกลับไปอยู่ในที่นั้นแหละ ไม่ต้องไปไหน กลับไปอยู่ในที่นั้น ภิกษุทั้งหลายกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ข้าพระองค์ไม่สามารถจะไปอยู่ในที่นั้นได้ เพราะในที่นั้นมีผีหัวขาดปรากฏให้ข้าพระองค์เห็น มีเปรตรูปร่างต่างๆ ปรากฏให้แก่ข้าพระองค์เห็น มีเสียงพิลึกสะพรึงกลัวเมื่อข้าพระองค์ไปอยู่ในที่นั้น ไม่รู้จะเกิดโรคไอ โรคจาม โรคเหลือง ต่างๆ นาๆ พอออกจากป่าแล้วโรคนั้นก็หาย ข้าพระองค์ไม่สามารถที่จะกลับไปสู่ป่านั้นได้

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสว่า แต่ก่อนนั้นพวกเธอยังไม่ได้เอาอาวุธไป พวกเธอรับอาวุธจากเราตถาคตไปแล้วจงกลับไปสู่ป่านั้นเถิด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงตรัสประทานอาวุธให้ พระองค์ทรงตรัสกรณียเมตตสุตตัง ที่เราสวดกันทุกวันๆ นี้แหละว่า กรณียมตฺถกุสเลน ยนฺตํ สนฺตํ ปทํ อภิสเมจฺจ นี้แหละ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงตรัสว่าให้ภิกษุทั้งหลายเรียนเอา ภิกษุทั้งหลายนั้นก็เริ่มสวดตั้งแต่เริ่มเข้าไปสู่เขตชายแดนของป่า เข้าไปถึงตีนดงแล้วก็สวดเลย กรณียมตฺถกุสเลน ยนฺตํ สนฺตํ ปทํ อภิสเมจฺจ ไล่ไปภิกษุทั้งหลายก็สวดไป พอไปถึงกลางดงก็สวด ไปถึงที่พักกลางวันก็สวด ที่พักกลางคืนก็สวด ทำวัตรเย็น ทำวัตรเช้าเสร็จก็สวด เดินจงกรมนั่งภาวนาเสร็จก็สวด สวดอยู่เป็นประจำ เมื่อจิตมันหวาดผวา เมื่อจิตมันสะดุ้งก็สวดอยู่เป็นประจำ

          เทวดาที่อยู่ในป่านั้นก็เกิดเมตตาจิตขึ้นมา รักภิกษุทั้งหลายที่ไปปฏิบัติธรรมนั้นเหมือนกับรักบุตรของตัวเอง เหมือนกับรักลูกสาวน้อยสาวใหญ่ของตัวเอง เกิดเมตตาจิตขึ้นมา พระภิกษุเดินไปทางไหนๆ เทวดาก็นั่งนพพนมมือในท่าเทพพนม ไปไหนต่อไหนก็มีเทวดานั้นคอยตามรักษา เวลามีนกเข้ามาอาศัยอยู่ในที่ที่ภิกษุอยู่เทวดาก็ไล่นกหนีให้มันสงบเงียบไม่ให้รบกวนการประพฤติปฏิบัติธรรมของภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายก็ได้รับความสัปปายะ อาหารก็สัปปายะ เวลาไปบิณฑบาตญาติโยมก็ใส่ดี เวลากลับมาอากาศก็สัปปายะ ทุกสิ่งทุกอย่างสัปปายะหมด เพราะว่าเทวดาเกิดศรัทธา เกิดความเลื่อมใส

          ภิกษุเหล่านั้นก็เจริญสมณธรรม เดินจงกรม นั่งภาวนา เดินกลับไปกลับมา ขวาย่างหนอซ้ายย่างหนอ ก็เกิดวิปัสสนาญาณขึ้น เมื่อเกิดวิปัสสนาญาณขึ้นก็พิจารณาร่างกายของตนเอง ว่าร่างกายของตนเองนั้นไม่เป็นของจีรังยั่งยืน เกิดขึ้นมาแล้วก็ตั้งอยู่ดับไป ร่างกายของเรานี้ไม่ต่างอะไรกับหม้อดินหนอ ภิกษุทั้งหลายเกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมา พิจารณาว่าร่างกายของตนเองนั้นเปรียบเสมือนกับหม้อดินไม่นานมันก็ต้องแตกดับ ในขณะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทราบว่าวิปัสสนาญาณของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นแก่กล้าแล้ว พิจารณาเห็นรูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ที่พระเชตวัน พระองค์ทรงฉายรัศมีไปด้วยฤทธิ์ของพระองค์ปรากฏเหมือนกับว่าพระองค์ทรงนั่งแสดงธรรมต่อหน้าภิกษุทั้ง ๖๐ รูปนั้น แล้วพระองค์ก็ทรงตรัสว่า

         กุมฺภูปมํ กายมิมํ วิทิตฺวา                    

         นครูปมํ จิตฺตมิทํ ถเกตฺวา

         โยเธถ มารํ ปญฺญาวุเธน                    

         ชิตญฺจ รกฺเข อนิเวสโน สิยา.

          ซึ่งแปลเป็นใจความว่า “ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย บัณฑิตรู้ว่ากายนี้เปรียบเสมือนหม้อ พึงกั้นจิตไว้ให้ดี เหมือนกับผู้รักษานครไว้ พึงรบกับมารด้วยปัญญา พึงรักษานครที่ตนได้ชัยชนะแล้วให้ดี” ไม่พึงจะอยู่เพียงเท่านี้ เพียรพยายามต่อไปจนกว่าจะสำเร็จ

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงตรัสภิกษุทั้งหลายก็พิจารณาตามที่พระองค์ทรงตรัสว่า ร่างกายนี้เปรียบเสมือนหม้อ คือหม้อนั้นจะเป็นหม้อเล็ก หม้อใหญ่ จะเป็นหม้อที่เผาสุกก็ดี เผาไม่สุกก็ดี เป็นหม้อที่มีความวิจิตรสดสวยงดงาม หรือว่าไม่สดสวยงดงามก็ดี หม้อเหล่านั้นล้วนแต่ต้องแตก แต่ว่าจะแตกช้าหรือแตกเร็วก็แล้วแต่ เหมือนกับบุคคลผู้มีร่างกายประกอบไปด้วยอาการ ๓๒ จะเป็นคนสูง คนต่ำ คนดำ คนขาว จะเป็นคนจน คนร่ำ คนรวย คนโง่ หรือว่าคนฉลาด ก็ล้วนตายด้วยกันทั้งนั้น

          เพราะว่าบุคคลผู้ที่ร่างกายประกอบไปด้วยอาการ ๓๒ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกะโหลก หัวใจ ตับ พังผืด อาหารเก่า อาหารใหม่ น้ำดี น้ำเสลด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำเลือดเป็นต้น เมื่อประกอบไปด้วยอาการ ๓๒ นี้ ถ้าอาการ ๓๒ ของเรามันแปรปรวนในเวลาใดเวลาหนึ่ง อาการอย่างใดอย่างหนึ่งแปรปรวนไปเราก็ต้องแตกดับต้องสิ้นชีวิตไปเหมือนกับหม้อดิน ถ้าร่วงหรือว่าหล่นมันก็ต้องแตกไป เพราะฉะนั้นชีวิตของเรานั้นจึงเปรียบเสมือนกับหม้อดิน

          เมื่อภิกษุทั้งหลายพิจารณาไปทราบชัดด้วยอำนาจของวิปัสสนาญาณก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความเบื่อหน่ายในรูปในนาม เบื่อหน่ายในสังขารของเราว่า ไม่นานหนอร่างกายของเราก็จะต้องแตกดับเหมือนกับหม้อดิน

          แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า จงกั้นจิตไว้ให้ดีเหมือนกับบุคคลผู้ที่รักษาพระนคร คือในสมัยก่อนการรักษาพระนครนั้นต้องสร้าง ค่ายคูประตูหอรบ หรือว่าสร้างกำแพงใหญ่โตล้อมรอบเมืองหลวงไว้ เช่นเมืองลพบุรีก็ดี เมืองอยุธยาก็ดี หรือในเมืองสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ก็ดี เช่นเมืองราชคฤห์ เราไปมืองราชคฤห์เราจะเห็นกำแพงเมืองราชคฤห์นั้นล้อมรอบทั้งภูเขา คล้ายๆ กับกำแพงเมืองจีน ถ้าบุคคลใดมารบเอาเมืองบุคคลนั้นก็ต้องผ่านกำแพงนั้น คล้ายๆ กับว่าลมมันมากระทบกับภูเขาแล้วก็ได้สะท้อนกลับไป บุคคลที่จะมารบอาเมืองก็มาเจอกำแพงแล้วก็ต้องแพ้แล้วก็ถอยกลับไป

          เพราะฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้เรารักษาจิตของเรานั้น กั้นจิตของเราไว้ด้วยการมีสติ คือให้เรามีสติกำหนด กั้นจิตไว้คือ เรากั้นตา กั้นหู กั้นจมูก กั้นลิ้น กั้นกาย กั้นใจของเราไว้ไม่ให้ไปสู้อารมณ์ต่างๆ ไม่ให้เกิดความโกรธ ความโลภ ความหลง เข้ามาครอบงำเพราะว่าบุคคลผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น พระมหากัจจายนะท่านกล่าวไว้ว่า เราประพฤติปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนี้ถือว่าเรามีตาดี ก็ทำเหมือนคนตาบอด เรามีหูดีก็ทำเป็นเหมือนกับคนหูหนวก เรามีลิ้นดีเป็นคนพูดได้เจรจาคล่องแคล่วว่องไว เมื่อเรามาเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นต้องทำเหมือนกับคนเป็นไบ้คือพูดแต่น้อย เรามีร่างกายแข็งแรงสามารถที่จะวิ่งได้ สามารถที่จะกระโดดโลดเต้นได้ แต่เมื่อเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นท่านให้ทำเหมือนกับคนเป็นง่อยคือเดินช้าๆ กำหนดค่อยๆ เดิน

          เพราะฉะนั้นเราประพฤติปฏิบัติธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ให้กั้นจิตนั้นคือให้เรามีสติ ปิดตา ๒ ข้าง ปิดหู ๒ ข้าง ปิดปากเสียบ้าง นั่งนอนสบาย เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเราพูดมากเสียมาก พูดน้อยเสียน้อย ไม่พูดไม่เสีย นิ่งเสีย โพธิสัตโต เราพูดมากอารมณ์มันก็ฟุ้งไปมาก พูดน้อยอารมณ์มันก็ฟุ้งไปน้อย ไม่พูดไม่เสีย ถ้าเรานิ่งเสียได้นั้นก็ถือว่าเป็นโพธิสัตว์ เรียกว่า โพธิสัตโต หรือว่าบุคคลผู้ที่พูดน้อย ถ้าเรามองสังเกตดูว่าบุคคลที่พูดน้อยนี่ถือว่าเป็นบุคคลที่น่ากลัว คนพูดมากนั้นไม่น่ากลัว เพราะว่าเขาคิดอะไรเขาก็พูดออกมาให้เราได้ยินได้ฟัง แต่บุคคลผู้พูดน้อยบางครั้งคำพูดของเขาเราจับใจความไม่ได้ เขาไม่เผยความในใจออกมาให้เราได้เห็นกระจ่าง ไม่เหมือนกับคนพูดมาก เพราะฉะนั้นจึงถือว่าบุคคลผู้ที่พูดน้อยนั้นเป็นบุคคลผู้ที่น่ากลัว แต่ถ้าบุคคลไม่พูดเสียเลยยิ่งน่ากลัวใหญ่ เพราะฉะนั้นบุคคลผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นถ้าเราพูดน้อยการประพฤติปฏิบัติธรรมมันก็ได้ผล

          การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเราต้องกั้นกายด้วยสติ กั้นวาจาของเราด้วยสติ กั้นใจของเราด้วยสติ ไม่ให้บาปธรรมนั้นมันเข้าไปสู่กาย สู่วาจา สู่ใจของเรา ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า สติ เตสํ นิวารณํ สติเป็นทำนบป้องกันบาป คือสติจะป้องกันบาปไม่ให้บาปนั้นไหลไปสู่จิตสู่ใจของเรา เพราะฉะนั้นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลายจงกั้นจิตของตนเองนั้นด้วยสติ มีสติกำหนดในทุกอิริยาบถ

          แล้วคำที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า พึงรบมารด้วยปัญญา เราจะรบมารด้วยปัญญาอย่างไร ปัญญาในที่นี้หมายถึงอะไร ปัญญาในทางพุทธศาสนานั้นแบ่งออกเป็น ๔ ขั้น คือ

          ๑. สุตมยปัญญา คือปัญญาที่เกิดจากการเรียนรู้ การเล่าเรียนเขียนอ่านนี้ไม่ถือว่าเป็นปัญญาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงประสงค์

          ๒. ววัฏฐานปัญญา คือปัญญาในขณะที่เราเริ่มปฏิบัติ ปัญญาชนิดนี้มันจะเกิดขึ้นมา ปัญญาชนิดนี้จะรู้ว่าเดินจงกรมนั้นเอาสติตั้งไว้ที่ไหน เอาสติตั้งไว้ที่เท้าขวา เท้าซ้าย เวลายกเท้าขวาสติก็มากำหนดว่า “ขวาย่างหนอ” พิจารณาเท้าขวา ถ้าขณะที่กำหนด “ซ้ายย่างหนอ” สติก็มาพิจารณาที่เท้าซ้าย ขณะที่ “ยืนหนอ” สติก็มาพิจารณารูปยืน ขณะที่ว่าอยากเดินหนอ สติก็มากำหนดที่หัวใจพร้อมกับทำความอยากเดินว่า “อยากเดินหนอ” พร้อมกับจี้ลงไปที่หัวใจ ขณะที่เราเจ็บก็ดีเราปวดก็ดีเรากำหนดว่า “ปวดหนอๆ” ตรงที่อาการปวด หรือว่าเรารู้ ปัญญาขั้นนี้จะรู้ว่าที่เรานั่งภาวนาไปมันคิดถึงบ้าน เรากำหนดว่า “คิดหนอๆ” จี้ลงไปที่หัวใจ หรือว่าขณะที่เราได้ยินเสียงเราก็กำหนดว่า “ได้ยินหนอๆ” อันนี้เรียกว่า ววัฏฐานปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นในการปฏิบัติ ปัญญาขั้นที่

          ๓. สัมมสนปัญญา คือปัญญาของท่านผู้ที่เจริญวิปัสสนากรรมฐานตั้งแต่เกิดวิปัสสนาญาณที่ ๑ ขึ้นนามรูปปริเฉทญาณ ไล่ไปจนถึงสังขารุเปกขาญาณ เรียกว่าประพฤติปฏิบัติตั้งแต่ญาณที่ ๑ จนถึงญาณที่ ๑๑ คือญาณที่ ๑ อาจจะรู้รูปรู้นาม ญาณที่ ๒ อาจจะรู้ปัจจัยของรูปของนาม ญาณที่ ๓ คือเห็นรูปนามคือร่างกายของเราเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่เป็นวิปัสสนาเพียง ๑๕ เปอร์เซ็นต์ ญาณที่ ๔ นั้นก็เห็นรูปนามของเราเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ชัดขึ้นมาคือเห็นความเกิดดับ เมื่อความเกิดดับเกิดขึ้นมาแล้วนี่ เรามีชีวิตเป็นอยู่วันเดียวประเสริฐกว่าบุคคลผู้มีชีวิตที่ยังไม่เห็นความเกิดดับนั้นเป็นอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปีดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า

                   โย จ วสฺสสตํ ชีเว              อปสฺสํ อุทยพฺพยํ

               เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย             ปสฺสโต อุทยพฺพยํ.

          ซึ่งแปลว่า “บุคคลผู้ที่ไม่ได้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่เห็นความเกิดดับ เป็นอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปีไม่ประเสริฐเท่ากับบุคคลผู้ที่มาเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เห็นความเกิดดับเป็นอยู่เพียงวันเดียว

          เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ที่เจริญวิปัสสนาถึงญาณที่ ๔ นี้เห็นความเกิดดับจึงถือว่าเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วบุคคลผู้ที่เจริญวิปัสสนาเรื่อยไปจนถึงสังขารุเปกขาญาณก็ถือว่าเป็น สัมมสนปัญญายังไม่ถือว่าเป็นผู้รบมารด้วยปัญญา คือยังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน บุคคลผู้รบมารนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหมายถึง อภิสมยปัญญา คือปัญญาที่ผ่านการประพฤติปฏิบัตินับตั้งแต่ญาณที่ ๑๒, ๑๓, ๑๔, ๑๕, ๑๖ ถือว่าเป็นอภิสมยปัญญา เรียกว่าปัญญาที่ยิ่งสามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาน ตามมรรคผลที่ตนเองได้เข้าถึงนี้ถือว่าเป็นการรบด้วยปัญญา

          ถ้าเราจะรบด้วยสมถกรรมฐานก็ไม่สามารถที่จะชนะได้ เราจะรบด้วยการนั่ง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง เราก็ไม่สามารถที่จะชนะได้ แต่เรารบด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐานจนได้บรรลุมรรคผลนิพพานเราก็สามารถที่จะรบกับมารได้

          แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า พึงรักษาสนามรบที่ตนเองได้ชัยชนะแล้วให้ดี รักษาสนามรบก็คือรักษาวิปัสสนาญาณ สมมุติว่าบุคคลนั้นได้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว พอบรรลุมรรคผลนิพพานไปรอบที่ ๑ วิปัสสนาญาณก็จะเริ่มขึ้นใหม่นับตั้งแต่ญาณที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ พอถึงที่ ๑๑ แล้วนี้ถ้าวิปัสสนาญาณไม่แก่กล้าวิปัสสนาญาณนั้นก็จะเริ่มลดลงมาที่ ๑๐ ที่ ๙ ที่ ๘ ที่ ๗ ที่ ๖ ที่ ๕ ที่ ๔ เมื่อถึงที่ ๔ แล้วก็จะไล่ไป ที่ ๕ ที่ ๖ ที ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ วิปัสสนาญาณจะอนุโลมกลับไปกลับมาๆ เพราะฉะนั้นท่านจึงว่ารักษาสนามรบ คือเรารักษาวิปัสสนาญาณของเราให้แก่กล้า เราต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐานอยู่เป็นประจำ เดินจงกรม นั่งภาวนาอยู่เป็นประจำ เมื่อเราเดินจงกรมนั่งภาวนาอยู่เป็นประจำ รักษาสนามรบอยู่เป็นประจำ เราก็มีโอกาสที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานในขั้นสูงๆ ต่อไป เพราะฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า เมื่อได้ชัยชนะแล้วให้รักษาสนามรบของเราให้ดี

          แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า อย่าติดอยู่เพียงแค่นั้น คือบางคนประพฤติปฏิบัติธรรมมายังไม่ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี เพียงแต่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็บอกไม่ให้ติดอยู่เพียงแค่นั้น เพราะว่าบุคคลผู้บรรลุเป็นพระโสดาบันต้องเกิดอีก ๗ ชาติ คิดดูซิว่าเราเกิดชาตินั้นก็ลำบาก เราต้องเกิดอีก ๗ ชาติมันจะลำบากขนาดไหน

          หรือว่าบุคคลผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระสกทาคามีแล้วก็ไม่ให้ประมาทไม่ให้หยุดอยู่เพียงเท่านั้น เพราะว่าพระอนาคามียังมีกิเลสอยู่ ยังมีราคะอยู่ ยังมีโทสะอยู่ คนที่มีราคะอยู่ โทสะอยู่ ก็ได้รับความทุกข์เป็นธรรมดา หรือว่าบุคคลผู้ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ไม่ทรงให้พอใจอยู่เพียงเท่านั้น เพราะว่าพระอนาคามีนั้นละแต่เพียงสังโยชน์เบื้องต่ำ คือสามารถที่จะทำสักกายทิฏฐิให้หมดไป ทำสีลัพพตปรามาสให้หมดไป ทำวิจิกิจฉาสงสัยในพระพุทธ สงสัยในพระธรรม สงสัยในพระสงฆ์ สงสัยในเรื่องบุญในเรื่องบาปนั้นหมดไป ทำให้ราคะนั้นหมดไป ทำให้ปฏิฆะ คือความโกรธนั้นหมดไป ไม่สามารถที่จะทำลายรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ แล้วก็มิจฉาให้หมดไปได้ เรียกว่ายังมีกิเลสอยู่ในหัวใจอยู่ บุคคลผู้มีกิเลสอยู่ในหัวใจก็เป็นทุกข์ธรรมดา แต่ทุกข์มากทุกข์น้อยนั้นก็แล้วแต่ ขึ้นอยู่ที่กิเลสว่ากิเลสในหัวใจมันมีมากหรือมีน้อย พระอนาคามีนั้นถึงจะไม่มีทุกข์มาก แต่ก็มีความฟุ้ง คือมีอุทธัจจะ กุกกุจจะอยู่ ยังมีความยินดีในรูปฌาน ยังมีความยินดีในอรูปฌาน ยังมีอุทธัจจะ กุกกุจจะ ยังมีความฟุ้งอยู่ พระอนาคามีนั้นยังมีมานะทิฏฐิ ยังถือว่าเรานี้เป็นพระอนาคามี บุคคลนี้เป็นพระโสดาบัน บุคคลนี้เป็นพระสกทาคามี บุคคลนี้เป็นปุถุชน ยังมีการว่าบุคคลโน้นเป็นนั้น บุคคลนั้นเป็นนี้อยู่ เมื่อมานะทิฏฐิยังมีอยู่มันก็ต้องเกิดความทุกข์เป็นธรรมดา ถ้าบุคคลนี้ได้เป็นพระอนาคามีเหมือนกันมันก็จะเกิดความมานะขึ้นมา แต่มานะมันจะมากหรือน้อยนั้นมันก็แล้วแต่อำนาจของมรรคของบุคคลที่ได้บรรลุมรรคผลนิพพานนั้นว่า กิเลสมันดับละเอียดมากมายขนาดไหน มานะทิฏฐิมันก็ลดน้อยลงไปตามลำดับส่วนนั้น

          หรือว่าบุคคลผู้ที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ เมื่อมาประพฤติปฏิบัติธรรมวิปัสสนาญาณที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ บางคนมาประพฤติปฏิบัติวิปัสสนาญาณที่ ๓ คิดว่าตนเองได้บรรลุมรรคผลนิพพาน คิดว่าตนเองได้เข้าถึงธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วหยุดอยู่เพียงเท่านั้นก็มี พอใจในวิปัสสนาญาณที่ ๓ ก็มี เพราะฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ไม่ให้หยุดอยู่เพียงเท่านั้น

          คือบุคคลผู้ที่เจริญวิปัสสนากรรมฐาน มาถึงวิปัสสนาญาณที่ ๓ แล้วนี้ เมื่อถึงวิปัสสนาญาณที่ ๓ อย่างแก่เรียกว่ามาถึงสัมมสนญาณอย่างแก่ จะเคลื่อนไปสู่อุทยัพพยญาณคือ ญาณที่ ๔ อย่างอ่อนนี้มันจะเกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมาอย่างแรงกล้า เรียกว่าสมาธิของเราจะปรากฏขึ้นมาชัดเจน เมื่อสมาธิมันมาปรากฏชัดเจน สภาวะอาการพอง อาการยุบนั้นมันก็ปรากฏเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วมันก็จะเกิดสภาวะ ๑๐ ประการ หรือว่าอุปกิเลส ๑๐ ประการเกิดขึ้นมา มีโอภาสแสงสว่าง คือบุคคลผู้ที่นั่งภาวนาไป จะเห็นแสงสว่างเท่าตารถยนต์ ตารถไฟ หรือว่าแสงสว่างเท่ากับดวงเดือน ดวงดาว ก็แล้วแต่

          หรือว่าบางคนกำลังเดินจงกรม นั่งภาวนาไป เห็นแสงสว่างเท่ากับหิ่งห้อยปรากฏขึ้นมา แวบๆ แวมๆ พอไปกำหนดว่า “เห็นหนอ” แสงหิ่งห้อยนั้นมันแตกออกไปเป็นหลายแสง ครั้งแรกมันมีสีเดียว พอกำหนดว่า “เห็นหนอ” นั้นแสงที่เหมือนหิ่งห้อยนั้นมันมีสีเหลืองแตกออกเป็นหลายๆ แสง เมื่อกำหนดอีกยิ่งแตกออกไปสว่างอีกจนไม่สามารถที่จะเดินจงกรมในสถานที่นั้นได้ ต้องเข้าไปเดินจงกรมในห้องแล้วก็เปิดไปให้สว่างเพื่อที่จะให้บรรเทาแสงนั้นให้มันลดลง เพราะว่าถ้าไปเดินอยู่ในที่มืด แสงนั้นมันส่องตาเดินจงกรมเซไปเซมาในลักษณะอย่างนี้ก็ถือว่าเป็นโอภาสเหมือนกัน

          หรือว่าเวลานั่งไปๆ บางคนนั่งภาวนาไปๆ พอจิตใจสงบแล้วเห็นแสงสว่างมันพุ่งขึ้นไปเหมือนกับเราจุดดอกไม้ไฟ พุ่งขึ้นไปแล้วก็แตกกระจายเป็นสีต่างๆ เหมือนกับเราจุดดอกไม้ไฟในลักษณะอย่างนี้ก็มี หรือว่าบุคคลนั่งไปๆ แล้ว กำหนดไปๆ “พองหนอ” “ยุบหนอ” “พองหนอ” พอมันท้องพองออกมาเท่านั้นมันหลุดฟึบไปเป็นดวงไฟเป็นแสงสว่างขึ้นมาในลักษณะอย่างนี้ก็มี หรือว่าบางคนภาวนา “พองหนอ” “ยุบหนอ” ไปแสงสว่างมันปรากฏอยู่ตรงอาการพองอาการยุบ ปรากฏอยู่ตรงอาการพองยุบที่มันปรากฏชัดนั้นแหละ มันปรากฏเป็นแสงขึ้นมา ลืมตามันก็ไม่เห็น หลับตามันก็ปรากฏขึ้นมา อันนี้แล้วแต่บุญวาสนาบารมีของแต่ละรูปแต่ละท่านแต่ละคน ถือว่าเป็นแสงสว่างคือโอภาส หรือว่าบางคนนั่งไปๆ แล้วมันเห็นแสงสว่างปรากฏขึ้นมาเป็นดวงเนียน คิดอยากให้แสงสว่างมันลอยขึ้นมา มันก็ลอยขึ้นมา คิดอยากให้แสงสว่างมันกว้างสว่างไปทั่วบริเวณที่เรานั่งอยู่นี้ แสงสว่างมันก็สว่างทั่วบริเวณที่เรานั่งบางคนบางท่านคิดว่าตนเองเห็นดวงธรรม เห็นดวงธรรมแล้วก็คิดว่าตนเองรอบรู้ธรรมแล้ว คือมีเรื่องหลวงตาคนหนึ่ง

          ในสมัยนั้น กระผมไปเดินธุดงค์ที่เขตต่อระหว่างไทยกับเขมรอยู่แถวอำเภอน้ำยืนไปพบกับหลวงตารูปหนึ่ง กำลังแบกกลดขึ้นไปบนภูเขา ท่านจะหลบหลีกจากคนแล้วก็ไปอยู่บนภูเขาที่ไม่มีคน ต้องเดินขึ้นไปใช้ระยะเวลาเดินเป็นวัน ก็เลยไปสนทนาธรรมกับท่าน ท่านว่าผมนี้ได้บรรลุธรรมแล้วนะ หลวงตาบรรลุธรรมแล้วหรือครับ ผมบรรลุแล้ว หลวงตาบรรลุธรรมอย่างไร ท่านก็เลยเล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งนั่งไปแล้วมันเกิดดวงธรรมขึ้นมา เป็นแสงสว่างไสวมานับตั้งแต่นั้นมาจิตใจของท่านมันสว่างไสวไปหมด ท่านว่าคิดอะไรมันก็ออก คิดอะไรมันก็โล่งออกไปหมด จะไม่ว่าบรรลุธรรมจะว่ามันเป็นอะไร บอกอย่างไรๆ ก็ไม่ฟัง ว่ามันเป็นอุปกิเลสท่านก็ไม่เชื่อ เพราะว่ากระผมก็เพิ่งได้อายุพรรษา ๔ พรรษา ๕ เท่านั้น ท่านก็เลยหลงผิดมา เพราะฉะนั้นบางคนอาจจะพอใจในแค่โอภาสแสงสว่างนี้ก็ได้

          หรือว่าบางคนนั่งไปๆ แล้วมันเกิดปีติขึ้นมา ถือว่าเกิดความพอใจเกิดความยึดถือเหมือนกัน แล้วขณะเกิดปีติขึ้นมานี้ตัวของเรามันเบาเย็น คล้ายๆ กับว่าเราไม่เหยียบดิน เวลานั่งไปแล้วปีติมันซาบซ่านขึ้นมา บางครั้งจิตใจของเรามันเกิดความสุขเอาดื้อๆ นั่งไปแล้วความสุขมันปรากฏขึ้นมาในจิตในใจ เอาดื้อๆ แล้วมันก็แผ่ไปทั้งๆ ที่บางครั้งเรานั่งฟุ้งคิดไปคิดมาๆ ไม่รู้คิดเรื่องอะไรต่อเรื่องอะไร แต่พอความสุขมันปรากฏขึ้นมาปรากฏขึ้นมาเอาดื้อๆ เลย ปรากฏขึ้นมาแล้วความคิดฟุ้งซ่านมันหายไปหมด ราคะ โทสะ ไม่รู้ว่ามันหายไปไหน มันดับไปหมด มีแต่ความสุขปรากฏ ความสุขนั้นบางครั้งปรากฏอยู่เป็นครึ่งวัน บางครั้งปรากฏอยู่เป็นวันหนึ่ง บางครั้งปรากฏอยู่ ๒ วัน ๓ วัน เป็นอาทิตย์ก็มีจนบางครั้งนั้นคิดว่าตนเองได้บรรลุ ขณะที่ปรากฏใหม่ๆ คล้ายๆ กับว่าบรรลุ เพราะว่าอะไร เพราะว่าความโลภมันไม่มี ความโกรธมันไม่มี ความหลงมันไม่มี มันเกิดความสุขอิ่มเอิบอิ่มใจ เหมือนกับว่าเราเกิดมาไม่ได้พบกับความสุขอย่างนี้สักที คนหลงอยู่ในลักษณะอย่างนี้ก็มี  เพราะฉะนั้นท่านจึงว่าไม่พอไม่ให้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น

          หรือว่าในขณะที่เราประพฤติปฏิบัติไปแล้วนี่มันเกิดปัสสัทธิขึ้นมา ปัสสัทธิ ก็คือความสงบกายสงบใจ มันจะสงบแน่นิ่งมาก จิตใจมันจะไม่ฟุ้งซ่าน คล้ายๆ กับว่าเข้าผลสมาบัติ คือบุคคลผู้ที่เข้าผลสมาบัติได้จิตใจมันจะเย็นยะเยือก ไม่มีอะไรมารบกวน คล้ายๆ กับว่าเอาจิตใจของเราไปแช่ลงในน้ำแข็งหรือว่าเราแช่ไว้ในน้ำผึ้งที่มันแช่เย็น มันจะเย็นแล้วก็มีความสุข บุคคลอื่นจะว่าอย่างไร บุคคลอื่นจะนินทาอย่างไรก็เฉย เพราะว่าขณะที่ออกมาจากผลสมาบัติจิตใจมันจะเย็นมีความสุข หายใจเข้ามันก็เกิดความสุข หายใจออกมันก็เกิดความสุข จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอนก็เกิดความสุข เมื่อความสุขมันล้นหัวใจอยู่ มันก็ไม่สามารถจะไปคิดโกรธบุคคลนั้น คิดรังเกียจ คิดแย่งชิงบุคคลอื่น เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ที่เกิดปัสสัทธิมันจึงคล้ายๆ กับว่าตนเองได้บรรลุคุณธรรม อาการของปัสสัทธิที่มันสงบแน่นิ่งมันจะเป็นอย่างนั้น บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมถึงวิปัสสนาญาณที่ ๓ ก็เกิดปัสสัทธิขึ้นมาแล้วก็พออยู่ในแค่นั้น อย่างนี้ก็มี ได้บรรลุธรรมแล้ว

          แต่เมื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งประพฤติปฏิบัติไปๆ เกิดสุขขึ้นมา สุขในที่นี้ก็เหมือนกับสุขที่อยู่ในปีติแต่มันต่างกันตรงที่ว่า สุขในปีตินั้นมันเกิดความเย็น เกิดความเบา เกิดความอะไรขึ้นมาเสียก่อน แต่ว่าสุขในอุปกิเลสนี้มันละเอียดมากกว่าสุขในปีติอีก เรียกว่าเป็นความละเอียดอ่อนมาก ถ้าพูดตามความเข้าใจนั้นมีความสุขมากกว่าบุคคลผู้เข้าถึงจตุตถฌาน ทำไมถึงว่ามีความสุขมากกว่าบุคคลผู้เข้าถึงจตุตถฌาน เพราะว่าการที่บุคคลเข้าถึงจตุตถฌานเมื่อออกจากจตุตถฌานแล้ว ความสุขมันก็ตั้งอยู่เพียงแค่ ๕ นาที ๑๐ นาที อารมณ์มันก็คลายออกมาสู่อารมณ์โลกเหมือนเดิมมันจะเสื่อมไว มันจะมีความสุขในขณะที่ออกจากสมาธิใหม่ๆ  ถ้าบุคคลใดเคยเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน เวลาออกมามันจะเกิดปีติ

          คนที่เขาได้รับความสุขในตติยฌาน ในจตุตถฌานตามที่เราได้ศึกษาในวิสุทธิมรรคนี้ก็เหมือนกัน เวลามันออกมาก็มีความสุขในแค่นั้นแหละ เหมือนกับเรากินข้าว กินอิ่มใหม่ๆ มันก็มีความสุข นานไปแล้วก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา ก็หิวขึ้นมาเหมือนเดิม แต่ความสุขในวิปัสสนาญาณนี้มันสุขเรื่อยไปนานกว่า ละเอียดกว่า ประณีตกว่า เพราะฉะนั้นคนจึงมายึดถือในความสุขที่เป็นอุปกิเลส

          และบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติมาถึงญาณที่ ๓ แล้วมันจะเกิดศรัทธาขึ้นมา อยากให้ญาติพี่น้องทั้งหลายมาประพฤติปฏิบัติธรรม มาเดินจงกรมมานั่งภาวนา อยากจะเอาทรัพย์สมบัติของตนเองนั้นมาขายมาอุปถัมภ์อุปฐากแม่ชี อุปถัมภ์อุปฐากพระสงฆ์ สามเณร อยากจะเอามาซื้อที่ดินขยายวัด มันเกิดศรัทธาขึ้นมาเราต้องกำหนด บางครั้งมันเกิดปัคคาหะขึ้นมา ปัคคาหะ นั้นก็คือความเพียร คือมันเพียรขึ้นมาอย่างอุกฤษฏ์ คือเดินจงกรมตากแดด แดดกล้าๆ นี่ลองทดลองเดินจงกรมมันจะเป็นอย่างไร อยากเดินจงกรมแดดออกมาก็ไม่หนีเดินจงกรมตากแดดจนหน้าดำลอกหมด ตัวดำไปหมด เราเอาสบู่มาฟอกมาล้างออกนี้มันหลุดออกไป เพราะว่าอะไร เพราะว่าเกิดความเพียรกล้าขึ้นมา

          บางคนเมื่อเกิดความเพียรขึ้นมาแล้วเวลายุงเยอะๆ ก็เดินให้ยุงกัด นั่งภาวนาให้ยุงกัด ยุงจะกัดเต็มไปหมดก็ไม่ยอมท้อไม่ยอมถอย สู้ ขอให้เราได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เรียกว่าเกิดความเพียรแบบขาดปัญญา หรือบางครั้งฝนตกก็ไม่ยอมกางร่มเดินจงกรม เดินจงกรมตากฝน ฝนตกทั้งวันทั้งคืนก็เดินตากฝนอยู่อย่างนั้นแหละ เวลานั่งภาวนาขนาดน้ำที่มันไหล ทางน้ำมันไหลมารวมกันเป็นธารน้ำแล้วก็ไหลไป เวลานั่งก็นั่งอยู่ตรงนั้นแหละ เรียกว่าไม่สะทกสะท้าน ไม่มีความสะทกสะท้านต่อน้ำ ต่อยุง ต่อแดด อันนี้เรียกว่าความเพียรมันกล้าเกินไป เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความฟุ้งซ่านขึ้นมา แต่จิตใจนี้เข้มแข็งมาก นี้มันขาดปัญญา

          หรือว่าบางคนเมื่อปฏิบัติมาถึงนี้มันเกิดอุปัฏฐานะ เรียกว่าเกิดสติปรากฏชัดขึ้นมามันจะสามารถระลึกได้สิ่งที่เก่าก่อน ที่แต่ก่อนๆ มันสามารถระลึกได้หมด สิ่งที่เราประพฤติมาเราคิดว่าเราลืมหมดจะเป็นเรื่องบาปก็ดี เรื่องบุญก็ดีมันระลึกได้หมด คล้ายๆ กับว่าเราจะได้บรรลุอตีตังสญาณ คล้ายๆ ว่ามันระลึกไปๆ ระลึกไปเห็นตัวเองยังไม่นุ่งเสื้อผ้าวิ่งลอดขาพ่อขาแม่มันยังระลึกได้เพราะอะไร เพราะว่าสติมันปรากฏชัด พระเดชพระคุณว่าบางคนบางท่านก็ระลึกได้ถึงอดีตชาติเลยก็มี ด้วยอำนาจของอุปกิเลส

          เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมในขณะที่สติมันปรากฏชัดมันทิ้งอารมณ์ที่เป็นปัจจุบันธรรม มันก็ระลึกไปถึงอดีตบ้าง ระลึกไปถึงอนาคตบ้าง คิดไปส่วนมากมันจะคิดถึงอดีต ระลึกลงไปย้อนไปๆ ตั้งแต่เราเป็นเด็กนั้นแหละ ย้อนลงไปถ้าคนไหนสติคมกล้ามากก็จะระลึกถึงมาก ระลึกได้มาก พระเดชพระคุณหลวงพ่อว่า เมื่อระลึกได้มากก็ระลึกไปๆ เห็นตนเองนอนอยู่ในท้องของมารดา แล้วก็ระลึกไปเห็นชาติก่อนภพก่อนบางครั้งก็ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง อันนี้ไปส่งอารมณ์พระเดชพระคุณท่าน ท่านพูดให้ฟัง

          แล้วก็บุคคลประพฤติปฏิบัติธรรมไปเมื่อปฏิบัติไปๆ แล้วมันเกิดญาณขึ้นมา เกิดความรู้ขึ้นมาคิดปรุงแต่งเทศน์คิดเรื่องขันติก็เทศน์เรื่องขันติ คิดเรื่องบุญก็เทศน์เรื่องบุญไม่รู้ว่ามันจบตรงไหน เทศน์ไปเรื่อยๆ ยกอุปมาอุปไมยใครมาเทศน์ก็ไม่เท่ากับเรา เพราะอะไร เพราะช่วงนั้นญาณมันเกิด ญาณมันปรากฏชัด คิดว่าคนอื่นเทศน์สู้เราไม่ได้ เวลาพระขึ้นเทศน์เขาเทศน์ไม่ดีนี่ขานี้มันอยากลุกขึ้นไปเทศน์เอง อยากจะไปพูดเองอยากจะไปสัมโมทนียกถาเอง เพราะอะไร เพราะว่าญาณมันปรากฏชัด เมื่อญาณมันปรากฏชัดแล้วมันคิดปรุงแต่ง คิดแต่เรื่องเทศน์นั้นมันก็เป็นวิปัสนึก ไม่ใช่เป็นวิปัสสนา แทนที่วิปัสสนาญาณมันจะปรากฏกล้า วิปัสสนาญาณก็กลับเศร้าหมองลง เพราะมันเป็นวิปัสนึก มันกำหนดไม่ทันรูป กำหนดไม่ทันนามในลักษณะอย่างนี้เราต้องพยายามกำหนด อย่าไปติดกับความรู้ในลักษณะเช่นนี้

          แล้วก็ประพฤติปฏิบัติไปมันก็เกิดอุเบกขา เกิดอุเบกขานี่มันจะวางเฉยมาก จิตใจของเรามันจะนิ่งๆ เหมือนกับเรานั้นเป็นคนไม่มีหัวใจ จะมีราคะมันก็เฉยๆ เคยมีอารมณ์ไหนที่มันเกิดราคะขึ้นมาเราก็คิด จิตใจมันก็เฉยๆ เหมือนกับเรานั้นไม่มีราคะแล้ว เราคิดถึงความโกรธคนที่มาทำให้เราโกรธ แต่ก่อนเมื่อคิดถึงความโกรธแล้วมันก็โกรธขึ้นมาว่าถ้าเราไม่บวชนี่เราสึกออกไปเราจะต้องเอาคืน ต้องตายไปข้างหนึ่งแน่นอน เมื่อตัวนี้มันเกิดขึ้นมาแล้วนี่จิตใจพอคิดถึงอารมณ์นั้นแล้วมันก็เฉย คล้ายๆ กับว่าเขาก็มาเพราะกรรมของเขาเราก็มาเพราะกรรมของเรา ที่เกิดขึ้นมาเป็นเพราะเหตุเพราะปัจจัยเพราะกรรมมันพาเป็นไป กมฺมุนา วตฺตตี โลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม มันจะพิจารณาวางเฉย วางเฉยได้เกิดสติเกิดปัญญาขึ้นมาวางเฉย วางเฉยแล้วมันก็จะเกิดความสุข จิตใจมันก็จะเป็นอิสระขึ้นมาเกิดความสุขขึ้นมาบางคนก็พอใจในแค่นี้ ไม่อยากประพฤติปฏิบัติไม่ยากเดินจงกรมต่อไปก็มี

          บางรูปบางท่านปฏิบัติไปๆ แล้วเกิดนิกันติ คืออุปกิเลสตัวสุดท้ายนี้ นิกันตินี้ถือว่าเป็นอันตราย เมื่อเกิดนิกันติแล้วมันจะไปชอบพอโอภาส พอใจในโอภาส พอใจในปีติ พอใจในปัสสัทธิ พอใจในสุข พอใจในศรัทธา พอใจในความเพียร พอใจในสติที่มันปรากฏชัด พอใจในญาณ พอใจในความรู้ พอใจในอุเบกขา ใครจะว่าอย่างไรๆ ก็ไม่ฟัง เขาจะว่าหลวงพ่ออันนี้เป็นอุปกิเลสก็ไม่ฟัง หลวงน้าตัวนั้นมันเป็นอุปกิเลสก็ไม่ฟัง เพราะว่าบุคคลนั้นมันปรากฏชัดมาก

          เหมือนกับหลวงปู่รูปหนึ่งมาประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดพิชโสภาราม อาตมาก็เป็นคนสอบอารมณ์ ขณะที่เดินจงกรมไป เดินจงกรมมาสมาธิดี เมื่อสมาธิดีนั่งไปๆ มันก็สงบ เมื่อสงบแล้วก็ตัวเบา ขณะที่ตัวเบามันนิ่งมันแข็งจิตใจมันเย็นแข็งไปหมด มันคล้ายๆ กับว่าตัวของท่านลอยพ้นจากพื้นดิน แต่ลืมตาแล้วก็นั่งอยู่เหมือนเดิม เมื่อลอยแล้วก็มองเห็นที่ต่างๆ ด้วย มองเห็นว่าพระรูปนั้นนั่งอยู่ตรงไหน พระรูปนี้นั่งอยู่ตรงไหน ขณะนี้ญาติโยมบ้านไหนมาถวายสังฆทาน เขาจัดสำหรับข้าวอย่างไรคนจัดสำรับข้าววิ่งไปวิ่งมา เกิดความโกลาหลในวัดพิชโสภารามเมื่อญาติโยมมาถวายสังฆทาน พระรูปนั้นก็มอง นั่งมองเห็นหมด วงที่ตนเองจะนั่งมีอะไรบ้างมองดูรู้

          หนักๆ เข้าก็หลวงพ่อใหญ่วัดพิชขณะนี้ท่านทำอะไรก็ส่องดูมองดู หรือว่าอาจารย์มหาชอบทำอะไรก็มองดู ขณะที่ดูว่าอาจารย์มหาชอบทำอะไรแล้วก็ลืมตาแล้วรีบมาเลย “พระอาจารย์ทำอะไรเมื่อสักครู่นี้ ผมนั่งดูว่าอาจารย์ทำนั้นๆๆ ใช่ไหม?” เขาพูดขึ้นมาก่อนแล้วก็ “ครับผมกำลังทำนั้นๆๆ นะ” ก็ถูกเหมือนอย่างที่เขาพูด แล้วเขาก็คิดว่าเขานั้นได้ตาทิพย์แล้ว ก็เลยว่า “หลวงตา ยังไม่ใช่อภิญญานะ อันนี้มันเรียกว่าปีติ กับปัสสัทธิ กับโอภาสมันบวกกัน มันมีกำลังเท่ากันแล้วมันบวกกันแล้วก็เลยเกิดตัวนี้ขึ้นมา มันไม่ใช่ตาทิพย์นะหลวงตา” เขาก็ไม่เชื่อเขาคิดว่าเป็นตาทิพย์ พอออกจากกรรมฐานไปแล้วไม่นานมันก็เสื่อม ไม่เดินจงกรมมันก็เสื่อม ทุกวันนี้ก็ลาสิกขาไปแล้ว มันเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเราจะมาติดอยู่เพียงนี้ไม่ได้ ตราบใดที่เรายังไม่หมดกิเลสยังไม่สิ้นกิเลส ยังไม่สิ้นราคะ โทสะ โมหะ ยังไม่ได้บรรลุถึงพระอรหันต์หรือว่ายังไม่หมดยางหมดเชื้อแล้วเราต้องพยายามเดินจงกรมนั่งภาวนาพยายามทำความเพียรเรื่อยไป

          เพราะฉะนั้นคณะครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลาย บุคคลผู้ที่จะเป็นผู้ประพฤติธรรมเป็นปกตินั้นก็คือ บุคคลผู้ที่เดินจงกรมนั่งภาวนาประพฤติปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุมรรคผลนิพพาน นับตั้งแต่พระโสดาบันเป็นต้นไป ถือว่าเป็นผู้ประพฤติธรรมเป็นปกติ แต่ว่าผู้ประพฤติธรรมเป็นปกตินั้นก็ยังไม่สามารถที่จะหมดความทุกข์ได้ต้องทำกิเลส คือราคะ โทสะ โมหะนั้นให้หมดไปเสียก่อน เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเราในการประพฤติปฏิบัติธรรมตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่เราก็ประพฤติปฏิบัติธรรมไปอย่างนั้น เมื่อเราประพฤติปฏิบัติธรรมไปแล้วเรามีโอกาสจะแนะนำพร่ำสอนบุคคลอื่น เราก็แนะนำพร่ำสอนบุคคลอื่น เพราะว่าการที่บุคคลตระหนี่ธรรมนั้นมันเป็นบาป ท่านกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกว่า ถ้าบุคคลใดตระหนี่ธรรม กลัวบุคคลอื่นนั้นจะไปเผยแผ่ธรรม ไปขัดไปขวางไปกางไปกั้นบุคคลนั้นจะตกนรก

          เพราะฉะนั้นขอให้คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายผู้ที่มาประพฤติปฏิบัติธรรม ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมจงพาการประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ให้ดำเนินไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงฝั่งคืออมตมหานฤพาน

          เท่าที่กระผมได้น้อมนำเอาธรรมะมาบรรยายประกอบการประพฤติปฏิบัติตามสติปัญญามาวันนี้ ความคิดมันฟุ้งซ่านไม่สามารถที่จะบรรยายธรรมได้ดีก็ขออภัยด้วย ในท้ายที่สุดนี้ก็ขอให้ญาติโยมทั้งหลายตลอดถึงผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลายนี้จงเพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการ คือ สติปัฏฐาน ๔, สัมมัปปธาน ๔, อิทธิบาท ๔ , อินทรีย์ ๕, พละ ๕, โพชฌงค์ ๗, มรรคมีองค์ ๘ ก็ขอให้ญาติโยมทั้งหลายมีโอกาสได้มาประพฤติวัตรปฏิบัติธรรมนำตนให้พ้นจากทุกข์ถึงสุขอันไพบูลย์กล่าวคือ มรรคผลนิพพานด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.