ภัยในวัฏฏสงสาร
(เทศน์ที่วัดป่าดงเย็น)
วันนี้อาตมภาพก็มีโอกาสได้มากล่าวธรรมะประกอบการประพฤติปฏิบัติธรรมของท่านทั้งหลาย เพื่อที่จะกลับจิตกลับใจของผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมให้หันหน้าสู่การประพฤติปฏิบัติธรรม ซึ่งการประพฤติปฏิบัติธรรมก็ล่วงเลยมาแล้วได้ ๔ วัน วันนี้ถือว่าเป็นวันที่ ๔ ตามธรรมดาเข้าสู่วันที่ ๓ ที่ ๔ การประพฤติปฏิบัติธรรมก็จะเข้ารูปเข้ารอย อารมณ์กรรมฐานต่างๆ ก็จะดำเนินไปด้วยดี เพราะฉะนั้นก็ขอให้ครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้นั่งภาวนาฟังธรรม นั่งขาขวาทับขาซ้ายมือขวาทับมือซ้ายตั้งกายให้ตรงดำรงสติของเราให้มั่น ไม่ควรให้หน้าของเราก้มเกินไป ไม่ควรให้เงยเกินไป ไม่ควรให้เอียงซ้ายเอียงขวา ทำท่าทำทางตั้งตัวให้ตรง อย่าหลังคุดคู้จนเกินไป หลังจากนั้นเราก็ตั้งสติไว้ที่หู หูข้างไหนได้ยินเสียงชัดเจน เราก็เอาสติของเราไปตั้งไว้ที่หูข้างนั้นกำหนดว่าได้ยินหนอๆ เสียงหนอๆ เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นถือว่าเป็นภารกิจของแต่ละบุคคล ใครทำใครได้ ใครเจริญใครก็ถึง แต่ว่าใครไม่ทำคนนั้นก็ไม่ได้ ใครไม่เจริญคนนั้นก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งเห็นจริงได้ เพราะฉะนั้นเป็นภารกิจของบุคคลของแต่ละคน แต่ละท่าน
วันนี้อาตมภาพก็จะได้น้อมนำเอาธรรมะในเรื่อง ภัยในวัฏฏสงสาร มาบรรยาย ภัยในวัฏฏสงสารนั้นมีมากมายหลายประการ คำว่า “ภัยในวัฏฏสงสาร” คำว่า “ภัย” นี้ท่านให้ความหมายคำว่าภัย คือ สิ่งที่มีโทษ ภัยคือสิ่งที่น่าเกรงขาม ภัยคือสิ่งที่น่ากลัว ส่วนคำว่าวัฏฏสงสารนั้น คำว่า “วัฏฏะ” แปลว่าหมุน วน เวียน กลิ้ง กลับไปกลับมา สงสารมาจากคำว่า “สํสาร” แปลว่าวิ่งไป แล่นไป หรือ การท่องเที่ยวไป คือการท่องเที่ยวไปที่มีภัย คือบุคคลผู้ที่เกิดขึ้นมาในวัฏฏสงสารจะเป็นสัตว์พวกกุ้ง หอย ปู ปลา ช้าง ม้า วัว ควาย หมู หมา เป็ด ไก่ หรือว่าจะเป็นคนชนชั้นใดก็ตามที่เกิดขึ้นมา หรือว่าเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม ก็ถือว่าเกิดขึ้นมาในท่ามกลางแห่งวัฏฏสงสาร บุคคลผู้เกิดขึ้นมาในท่ามกลางแห่งวัฏฏสงสารนี้ถือว่ามีภัยรอบด้าน มีภัยอยู่รอบตัว มีภัยอยู่ทุกย่างก้าว มีภัยอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก เพราะอะไร เพราะว่าภัยที่จะมาทำร้ายเรา หรือว่าภัยที่จะมากร้ำกรายร่างกายและจิตใจของเรานั้นมีมากมายหลายประการ ฉะนั้นวันนี้อาตมภาพจะได้น้อมนำเอาภัยในวัฏฏสงสารมากล่าวโดยย่อ ๖ ประการคือ
ภัยประการที่ ๑ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ชาติภยํ ภัยคือความเกิด ภัยนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถือว่าเป็นภัย เพราะอะไร เพราะการเกิดนั้นท่านบอกว่ามันเป็นทุกข์ บุคคลผู้เกิดขึ้นมานั้นต้องอยู่ในท้องของมารดา ถ้าเป็นชลาพุชะคือเกิดในครรภ์ก็ต้องอยู่ในท้องของมารดา เรียกว่าอยู่ในท้องของมารดาตั้ง ๙ เดือนนั่งยองยองเอามือค้ำคาง ท่านกล่าวว่านั่งทับของเก่าแล้วก็ทูนอาหารใหม่ แม่กินข้าวลงมาร้อนเราก็ได้รับความทุกข์ ต้องร้อนไปตามอาหารที่แม่รับประทาน ถ้าแม่รับประทานอาหารเย็นจัดๆ เข้าไปก็ต้องได้รับความทุกข์ทรมานเพราะอาการหนาวเหน็บ ที่เกิดขึ้นมาจากการรับประทานอาหารของแม่ ถ้ากินเผ็ดเกินไปก็ทำให้ลูกนั้นต้องเกิดความทุกข์ทรมานแสบปวดร้อนต่างๆ นานาประการ แม่หกล้ม หรือว่าเกิดความผิดพลาดการเดิน การยืน อย่างใดอย่างหนึ่ง หกล้มลงไปลูกก็ต้องได้รับความเจ็บปวด อันนี้ทุกข์เกิดจากการอยู่ในครรภ์ของมารดา ท่านอุปมาอุปมัยเหมือนกับการอยู่ใน อุสสทนรก ต้องได้รับความทุกข์ทรมานเหมือนกับพระสีวลีเถระ พระสีวลีเถระนั้นอยู่ในครรภ์ของมารดา ท่านกล่าวว่าอยู่ในครรภ์ของมารดาถึง ๗ ปี ๗ เดือน แล้วก็นอนขวางช่องคลอดของมารดานั้นอยู่อีก ๗ วัน คิดดูสิว่าจะทรมานขนาดไหน อันนี้เป็นด้วยบุพพกรรมของท่าน ท่านได้ปิดล้อมเมืองของข้าศึกศัตรู
คือ ในสมัยก่อนโน้นท่านเป็นพระมหากษัตริย์จะไปยึดเอาเมืองอื่นเขา ก็ไปล้อมเมืองเขาอยู่ตั้ง ๗ ปี ปิดประตู ไม่ให้กินข้าว ไม่ให้กินน้ำ ไม่ให้ออกจากเมืองให้อยู่ในเมือง คิดว่าศัตรูหมดเสบียง ไม่มีโอกาสมาตักน้ำ ไม่มีโอกาสมาปลูกข้าวก็จะยอมแพ้ไปเอง แต่ที่ไหนได้ มีช่องน้อยแล้วก็แอบขนน้ำขนอาหารเข้าไป ก็ล้อมเมืองอยู่นั้นตลอด ๗ ปีก็ไม่สามารถชนะข้าศึกได้ ล้อมอีก ๗ เดือนก็ไม่สามารถที่จะชนะข้าศึกได้ ต่อมาแม่ก็ส่งข่าวไปให้ลูก บอกว่าลูกนี้โง่จัง ธรรมดาเวลาคนขาดอาหาร ขาดเสบียงจะอยู่ไม่ได้ถึง ๗ ปี แล้วก็ ๗ เดือน ๗ วันนี้ก็ถือว่าต้องยอมแพ้แล้ว เพราะฉะนั้นลูกต้องตรวจตราให้ดีว่ามีช่องเล็กช่องน้อยไหม
ท่านก็ไปตรวจตรา เมื่อไปตรวจตราเมื่อเห็นช่องเล็กช่องน้อยก็ปิดไว้ประมาณ ๗ วัน เมืองนั้นก็ยอมแพ้ บาปกรรมที่ท่านทำไว้นั้นแหละตามเผาท่าน ทำให้ท่านต้องอยู่ในท้องของมารดาถึง ๗ ปี ๗ เดือน มารดาเป็นผู้บอกให้ปิด ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้นอนขวางช่องคลอดของมารดาอยู่นั้นอีก ๗ วันต้องได้รับความทุกข์ทรมาน ท่านกล่าวว่าเหมือนกับอยู่ใน อุสสทนรกมีความร้อน มีความทุกข์ เหลือกำลัง
พอท่านคลอดออกมาแล้วก็ระลึกได้ว่าตนเองอยู่ในท้องเป็นทุกข์ทรมานเหลือเกิน ก็อ้อนวอนบิดามารดาขอออกบวช ในขณะที่มารดาอนุญาต ขณะที่ปลงผม มีดโกนถูกหัวครั้งแรกก็สำเร็จเป็นพระโสดาบัน มีดโกนถูกหัวครั้งที่ ๒ ก็สำเร็จเป็นพระสกทาคามี มีดโกนถูกหัวครั้งที่ ๓ ก็สำเร็จเป็นพระอนาคามี ปลงผมเสร็จท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ อันนี้เรียกว่าท่านเห็นภัยในวัฏฏสงสาร เห็นภัยในความเกิดว่าความเกิดนั้นมันเป็นทุกข์ ความเกิดนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้รับความทุกข์ทรมานหลายอย่างหลายประการ
นอกจากขณะที่อยู่ในท้องเป็นทุกข์ ขณะที่คลอดก็ต้องเป็นทุกข์ เพราะเด็กที่เกิดขึ้นมาก็มีเนื้ออ่อนๆ มีหนังอ่อนๆ คลอดมาจากช่องคลอดของมารดา ก็เหมือนกับถูกภูเขา ๒ ลูกหนีบแล้วก็กระชากแขนเด็กนั้นออกมา กระชากหัวออกมา หมอตำแยนั้นกระชากหัวออกมาก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์ทรมาน ออกมาแล้วก็ร้องห่มร้องไห้ เรียกว่า ความเกิดเป็นทุกข์
นอกจากการอยู่ในท้องเป็นทุกข์ การคลอดของเราเป็นทุกข์ ท่านยังกล่าวว่าเราเกิดขึ้นมาแล้วเรายังได้รับภัยนานาประการ อย่างเช่นอัคคีภัย ภัยเกิดจากไฟต่างๆ คือบุคคลผู้เกิดขึ้นมาบางครั้งก็เกิดไฟไหม้ อย่างเช่นไฟไหม้ป่า ไหม้ลามมา เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เสียหายมากมายอย่างเช่นประเทศต่างๆ ที่เราดูตามหนังสือพิมพ์ ตามทีวีต่างๆ บางครั้งก็ตายไปหลายร้อยศพหลายพันศพ บางครั้งก็วอดวายกันเป็นหมู่บ้านก็มี อันนี้เพราะอัคคีภัย
ในสมัยก่อนโน้น ปี ๒๕๔๔-๒๕๔๕ มีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์สมัยนั้นอยู่ที่กรุงเทพ อยู่วัดโมลีโลกยารามได้เกิดลงหนังสือพิมพ์ขึ้นมาว่า ที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ได้เกิดแก๊สระเบิด บุคคลผู้ที่อยู่ในย่านถนนเพชรบุรีกำลังเดินไปเดินมา จับจ่ายใช้สอยซื้ออาหารทานอาหาร เดินคุยกันเดินไปเดินมาตามถนนหนทาง ขณะที่รถแก๊สนั้นมันระเบิดตูมเดียวเท่านั้นแหละ เสื้อผ้าอาภรณ์ที่ใส่มาหายแวบไปกับตา ผมที่เคยดกดำนี้หายแวบไป ร่างกายผิวพรรณที่เปล่งปลั่งมีน้ำมีนวลก็เป็นเหมือนกับเปรตเดินดิน บางคนก็เกิดไฟไหม้เหลือแต่ตัวล่อนจ้อนผิวพรรณไหม้เกรียมไปหมด บางคนก็ตายกับที่ บางคนก็พอวิ่งได้ เกิดข่าวครึกโครมไปทั่วโลก อันนี้เพราะอะไร อัคคีภัย เกิดจากไฟไหม้ป่าก็ดี เกิดจากก๊าซหุงต้มก็ดี เกิดจากไฟฟ้าก็ดี เหล่านี้ก็ถือว่า อัคคีภัย
บางคนทำบาปทำกรรมมาก็จะได้รับบาปรับกรรม ตามอำนาจบาปกรรมที่ตนเองเคยทำมา เพราะฉะนั้นภัยในวัฏฏสงสารนั้นนอกจากการเกิด การคลอดแล้วก็มีอัคคีภัย แล้วท่านกล่าวว่ามีอุทกภัย ภัยเกิดจากน้ำอย่างที่เราเคยได้ทราบข่าวปี ๒๕๔๘-๒๕๔๙ ที่มีคลื่นสึนามิมาท่วมทับ ทำให้ประชาชนทั้งหลายทั้งปวงตายเป็นจำนวนมาก ประเทศไทยตายเป็นหลายหมื่นคน ประเทศศรีลังกา ประเทศอินเดีย มีพื้นติดชายทะเล ตายเป็นจำนวนมาก อันนี้เป็นเพราะอะไร เพราะว่าภัยคือน้ำนั้นเกิดขึ้นมาท่วมทับสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ตายไป
หรือในสมัยที่พระเจ้าวิฑูฑภะ ยกทัพไปปราบข้าศึก ไปปราบพระมหานามะอยู่ที่กรุงกบิลพัสดุ์ หลังจากไปฆ่าพระประยูรญาติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหมด แม้แต่เด็กที่ยังไม่อย่านมก็ฆ่าเรียกว่าน้ำเลือดนองแผ่นดิน พอกลับมาแล้วก็มาพักอยู่ที่แม่น้ำแห่งหนึ่ง บุคคลผู้ที่มีจิตใจโหดร้ายนอนอยู่ข้างบนริมแม่น้ำก็ลงไปนอนข้างล่างเพราะว่ามดกัด บุคคลผู้นอนอยู่ข้างล่างถ้าไม่ได้ทำบาปทำกรรมก็ขึ้นมานอนอยู่ข้างบน พอนอนหลับเนื่องว่าเหนื่อยจากการรบ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กลางคืนน้ำท่วมทับ ทำให้คนทั้งหลายกองทัพของวิฑูฑภะนั้น จมไปในกระแสของแม่น้ำ อันนี้เรียกว่าอุทกภัย ภัยเกิดจากน้ำ
แล้วท่านกล่าวว่าวาตภัย ภัยเกิดจากลม เราได้อ่านหนังสือพิมพ์ได้ยินข่าวเป็นประจำ โดยเฉพาะประเทศจีน ต่างประเทศ ยุโรป ได้เกิดผลกระทบ พายุโน้น พายุนี้พัดพาเสียหายกันเป็นหลายร้อยหลังคาเรือนพันหลังคาเรือน อันนี้แล้วแต่ว่าพายุนั้นจะเป็นพายุที่มากหรือน้อย อันนี้ก็ถือว่าเป็นวาตภัย ภัยที่เกิดขึ้นมาจากลม หรือภัยเกิดขึ้นมาจากแผ่นดินไหวทำให้ตึกถล่ม อันนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คนตายนับร้อยนับพันนับหมื่นนับแสน เหมือนกับเรื่องที่กล่าวมาไม่นานที่เกิดขึ้นอยู่ที่ประเทศจีน แผ่นดินไหวแล้วก็ทำให้ตึกถล่มมาทับคน เมืองทั้งเมืองนั้นร้าง เป็นเมืองร้างภายในพริบตา เพราะอะไร เพราะว่าเกิดแผ่นดินไหวขึ้นมา เพราะฉะนั้นภัยที่เกิดขึ้นมาจากไฟ เกิดขึ้นมาจากน้ำ เกิดขึ้นมาจากลม เกิดขึ้นมาจากแผ่นดินไหวนี้ก็ถือว่าเป็นภัยใหญ่
นอกจากนั้นเมื่อเราเกิดขึ้นมาแล้วเรายังต้องทำมาหากินเลี้ยงชีพตนเอง บางครั้งก็ทำมาหากิน ไม่พออยู่พอกิน ต้องไปคดต้องไปโกง ไปหลอกลวงต้มตุ๋นบุคคลอื่น ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์เป็นภัยหนึ่งเหมือนกัน หรือบางครั้งก็เกิดฝนแล้ง เกิดข้าวยากหมากแพง อดอยากอาหารอันนี้ก็เรียกว่าเป็น ทุพภิกขภัย ภัยเกิดจากข้าวยากหมากแพง หรือเราไปปล้นไปจี้บุคคลอื่นถูกทหารเขาจับถูกตำรวจเขาจับจองจำพันธนาการต่างๆ ติดคุกติดตะรางถูกประหารชีวิตนี้ถือว่าเป็น ราชภัย ภัยเกิดจากพระราชา เพราะตำรวจทหารก็ถือว่าเป็นคนของพระราชา เพราะฉะนั้นเมื่อเราเกิดขึ้นมาแล้วภัยต่างๆ เหล่านี้มันก็จะล้อมรุม กลุ้มรุมเรา เพราะฉะนั้นการเกิดบ่อยๆ นั้นเป็นทุกข์ร่ำไป ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ การเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์ร่ำไป อันนี้เรียกว่า ชาติภยํ ภัยคือความเกิด
ต่อไปท่านกล่าวว่า ชราภยํ ภัยคือความแก่ ความแก่นั้นเป็นภัยอย่างไร คือบุคคลผู้ที่เกิดขึ้นมาแล้วทุกคนต้องบ่ายหน้าไปสู่ความแก่ด้วยกันทั้งนั้น เหมือนกับใบไม้ที่มันค่อยโตขึ้นๆ แล้วเหลืองขึ้นๆ ก็เป็นธรรมดา คนที่เกิดขึ้นมาทุกคน สัตว์ทุกจำพวกเกิดขึ้นมาก็บ่ายหน้าไปสู่ความแก่ เกิดขึ้นมาหลายวันหลายเดือนหลายปี ก็ยิ่งจะแก่ แก่วัน แก่เดือน แก่ปี ก็แก่ขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่มีบุคคลใดที่จะพ้นไปจากความแก่ได้ เพราะฉะนั้นภัยคือความแก่นั้นเป็นภัยที่คุกคามสรรพสัตว์ทุกชีวิต ทุกตัวทุกตน ถ้าบุคคลใดไม่เห็นภัยคือความแก่ บุคคลนั้นชื่อว่าตั้งอยู่ใน ปมาทธรรม คือตั้งอยู่ในความประมาท เพราะว่าบุคคลเมื่อถูกความแก่เข้าครอบงำแล้วท่านกล่าวว่าบุคคลนั้นก็จะเป็นผู้ที่มีผมดำก็กลับหงอก ตาดีก็กลับตาฝ้าฟาง หูดีก็เป็นหูตึง ฟันดีก็เป็นฟันหัก ผิวพรรณที่เต่งตึงก็เหี่ยวย่นตกกระขึ้นมา จะลุกก็โอยจะนั่งก็โอย ดังคำกลอนท่านกล่าวไว้ว่า
บ้านเรือนเปรียบ เสมือน กับสังขาร
ปลูกไว้นาน คร่ำคร่า ฉลำฉลาย
แก่ลงแล้ว โคร่งคร่าง หนอร่างกาย
ไม่เฉิดฉาย เหมือนหนุ่ม กระชุ่มกระชวย
ตาก็มัว หัวก็ขาว เป็นคราวคร่ำ
หูก็ซ้ำ ไม่ได้ยิน เอาสิ้นสวย
แรงก็น้อย ถอยกำลัง นั่งก็งวย
ฟันก็หัก เสียด้วย ไม่ทันตาย
แต่ตัณหา ทำไม ถึงไม่แก่
ยังปกแผ่ พังพานผึง จึงใจหาย……
ถึงจะแก่ก็แก่แต่สังขาร แต่กิเลสนั้น ไม่วางวาย กิเลสนั้นไม่วางวาย คือ คำกลอนนี้ท่านกล่าวไว้ว่า บุคคลผู้แก่นั้นก็แก่แต่ร่างกาย แต่ไม่ประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วกิเลสตัณหานั้นก็ยังแผ่ปกคลุมจิตใจของบุคคลนั้นอยู่ ให้เกิดความโกรธ เกิดความโลภ เกิดความหลง เกิดมานะ ทิฏฐิ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เพราะฉะนั้นความแก่นั้นจึงเป็นศัตรูของบุคคลผู้ประมาท จึงเป็นศัตรูของบุคคลผู้เดินทางในวัฏฏสงสาร ถ้าเราแก่แล้วเรามาเดินจงกรมก็ปวดหลัง ปวดเอว เรามานั่งภาวนาสติสัมปชัญญะก็ไม่สมประกอบ แทนที่เราจะมีสติสัมปชัญญะดี แต่ก็ไม่สามารถที่จะกำหนดรู้เท่าทันปัจจุบันธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ถ้าบุคคลใดไม่ประพฤติปฏิบัติธรรมแต่หนุ่ม ต่อมาเมื่อปฏิบัติธรรมในวัยแก่นั้น บุคคลนั้นแทนที่จะมีคุณธรรมสูง กลับได้คุณธรรมต่ำ หรือไม่ได้เอาเสียเลย ดังเรื่องของเศรษฐีบุตร
มีเศรษฐีบุตร ๒ คน ผู้ชายนั้นก็เป็นลูกของเศรษฐี ผู้หญิงก็เป็นลูกของเศรษฐี มีทรัพย์อยู่ ๘๐ โกฏิ ผู้ชายก็มีทรัพย์อยู่ ๘๐ โกฏิ ผู้หญิงก็มีทรัพย์อยู่ ๘๐ โกฏิ พ่อแม่เชื่อว่าลูกชาย ลูกสาวของตนเองนั้นมีทรัพย์มาก รวมกันแล้วก็มีทรัพย์ถึง ๑๖๐ โกฏิ ไม่ต้องเรียนวิชาความรู้ ไม่ต้องทำการทำงาน มีอยู่มีกินมีใช้ตลอดชีวิตคิดอย่างนั้น ก็ไม่ให้ลูกเรียนหนังสือ ไม่ทำการทำงาน ไม่ศึกษาศิลปะวิทยาอะไร ก็ไปสู่ที่บำรุงของพระราชากลับมาเห็นเขากินเหล้าก็ไปถามคนใช้ว่าเขากินน้ำอะไรกัน คนใช้ก็ว่ากินน้ำอมฤตใครได้กินแล้วคนนั้นก็ลืมทุกข์ลืมโศกลืมโรคลืมภัย เกิดความสนุกสนานก็ไปชิมกับเขาดู พอชิมดูแล้วก็ติดอกติดใจมือหนึ่งกินเหล้ามือหนึ่งก็ฟ้อน ในที่สุดก็ต้องเอาเงินทั้งหลายทั้งปวงนั้นไปผลาญ ผลาญเงินของตัวเองอยู่กับวงเหล้า ใครร้องดีก็ให้ ๑๐๐ ใครฟ้อนดีก็ให้ ๑,๐๐๐ ใครขับดีก็ให้ ๑๐,๐๐๐ ให้ ๑๐๐,๐๐๐ ไป ในที่สุดเงินทั้งหลายทั้งปวงก็หมดไป แต่ว่าก่อนที่เงินจะหมดนั้น เงินมันมีจำนวนมาก ก่อนเงินหมดนั้นก็หมดตอนตนเองอายุถึง ๘๐ กว่าปี ๙๐ กว่าปี เงินจึงหมด ขายบ้านขายช่องขายของใช้จนหมด จนในที่สุดเขาก็ไล่ออกจากบ้านเมื่อไล่ออกจากบ้านแล้วก็ไม่มีที่ไปอยู่อาศัย ก็ไปอาศัยฝาเรือนของคนอื่นอยู่ เวลาภิกษุไปบิณฑบาตก็เดินตามหลังภิกษุ เห็นภิกษุฉันภัตตาหารแล้วก็รอขอเศษอาหารจากภิกษุ
ในสมัยนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมากับพระอานนท์เถระเป็นปัจฉาสมณะ พอเห็นเศรษฐีทั้ง ๒ คน กำลังเริ่มที่จะกินเศษอาหารจากพระที่ท่านเอาไปให้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแย้มพระโอษฐ์ เมื่อพระองค์ทรงแย้มพระโอษฐ์พระอานนท์ก็ถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงแย้มพระโอษฐ์เพราะเหตุอะไรหนอ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ดูก่อน อานนท์ เศรษฐีบุตรทั้ง ๒ คนนี้ ถ้าไม่ประมาทในวัยต้น เศรษฐีผู้ที่เป็นผู้ชายนั้นจะได้เป็นเศรษฐีลำดับ ๑ ในเมืองสาวัตถี ถ้าออกบวชเศรษฐีผู้ที่เป็นสามีนั้นจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ส่วนภรรยานั้นจะได้บรรลุเป็นพระอนาคามี ดูก่อนอานนท์ ถ้าเศรษฐีบุตรทั้ง ๒ คนนี้ไม่ประมาทในมัชฌิมวัย ถ้าอยู่ครองโลกก็จะได้เป็นเศรษฐีลำดับที่ ๒ ของเมืองสาวัตถี ถ้าออกบวชผู้ที่เป็นสามีจะได้บรรลุเป็นพระอนาคามี ส่วนผู้ที่เป็นภรรยาจะได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี ดูก่อนอานนท์ ถ้าบุตรของเศรษฐีไม่ประมาทในปัจฉิมวัยบุตรของเศรษฐีนั้นก็จะได้เป็นเศรษฐีลำดับที่ ๓ ของเมืองสาวัตถี ถ้าออกบวชผู้ที่เป็นสามีก็จะได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี ภรรยาก็จะได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ปิดประตูอบายภูมิ แต่ในขณะนี้บุตรของเศรษฐีทั้ง ๒ คนเสื่อมแล้วจากโภคะที่เป็นสมบัติของโลก เสื่อมแล้วจากโภคะที่เป็นธรรมะคือ คุณเครื่องที่จะได้บรรลุคุณธรรมก็เสื่อมสิ้นแล้ว เปรียบเสมือนนกกระเรียนแก่ที่มีขนหลุดลุ่ย ขนปีกก็หลุดหมด แล้วก็อยู่ในเปือกตมที่แห้งซบเซาอยู่จะบินไปกินอาหารที่อื่นก็ไม่ได้ ปลาในที่นั้นก็ไม่มี การเสื่อมจากทรัพย์ก็ดี เสื่อมจากคุณธรรมที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้นี้ก็ดี ก็เหมือนกับเศรษฐีบุตรนั้นเอง เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ที่แก่แล้วนั้นจึงเป็นภัยต่อการประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าบุคคลใดคิดว่าตนเองแก่แล้วจึงจะเข้าวัดเข้าวาจำศีลภาวนานั้นถือว่าคิดผิดเป็นการคิดเข้าข้างกิเลส เป็นการคิดเข้าข้างของตัณหา เพราะฉะนั้นขอให้ผู้ที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นอย่าพอใจในความแก่ จงรีบสร้างเกราะป้องกันตัวเอง พยายามให้ทานรักษาศีลไหว้พระทำวัตรสวดมนต์เจริญภาวนาได้มรรคได้ผลก่อนที่ตนเองจะแก่ อันนี้เรียกว่าภัยคือความแก่ ข้อที่ ๒
ภัยข้อที่ ๓ ท่านกล่าวว่า พยาธิภยํ ภัยคือความเจ็บ ทำไมความเจ็บนั้นจึงถือว่าเป็นภัย เพราะว่าบุคคลผู้เกิดขึ้นมาแล้วล้วนแต่มีความเจ็บด้วยกันทั้งนั้น คนที่เกิดขึ้นมาแล้วไม่มีความเจ็บนั้นไม่มี ยกเว้นพระพากุละ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงยกย่องพระพากุละรูปเดียว ที่ว่าเกิดขึ้นมาแล้วเป็นผู้ที่ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ เป็นผู้ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในเอตทัคคะ คือเป็นผู้เลิศในผู้ที่ไม่มีโรคพยาธิไม่มี พระพากุละเป็นผู้เลิศที่สุดในด้านความไม่มีโรค แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า โรคคือการปวดหัวนิดหนึ่งของพระพากุละนั้นย่อมไม่มี โรคคือการเจ็บหัวตัวร้อนต่างๆ นิดๆ หน่อยๆ ของพระพากุละนั้นย่อมไม่มี โรคคือการปวดท้องเจ็บท้องนิดหน่อยของพระพากุละนั้นไม่มี เพราะว่าท่านเป็นผู้บริบูรณ์สมบูรณ์ ได้เคยถวายยาให้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ ได้ถวายเป็นยาแก่พระพุทธเจ้าหลายพระองค์ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้อานิสงส์นั้นมาทำให้ท่านปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ เพราะฉะนั้นบุคคลผู้เกิดมา นอกจากพระพากุละแล้ว ย่อมได้รับความทุกข์ทรมานเป็นธรรมดา อาพาธคือโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนทุกตัวทุกตน
แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนที่พระองค์จะปรินิพพานพระองค์ทรงอาพาธ คือป่วยด้วยโรคปักขันทิกาพาธ พระองค์ทรงได้รับความทุกข์ทรมาน อาเจียนเป็นโลหิตออกมา อาเจียนเป็นเลือดออกมา และพระองค์ก็ทรงพระบังคนหนักคือถ่ายออกมาเป็นเลือด ได้รับความทุกข์ทรมานต้องมีร่างกายบอบช้ำที่โรคภัยไข้เจ็บมันรุมเร้า ร่างกายของพระองค์ก็อายุ ๘๐ ปีแล้วก็มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนก็ได้รับความบอบช้ำ อันนี้เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะว่าร่างกายมันชราภาพ พระองค์เคยทำบาปกรรมมาแต่ภพก่อนโน้น พระองค์เป็นนักมวยปล้ำมีพลังมาก ทำให้บุคคลอื่นได้รับความทุกข์ทรมาน พอเกิดมาในปัจจุบันนี้พระองค์ได้ตรัสรู้ บาปกรรมนั้นก็ยังตามเผาผลาญพระองค์ในที่สุดพระองค์ก็ทรงปรินิพพานด้วยอาพาธนั้น
เพราะฉะนั้นแม้เราทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาจะเป็นคนหนุ่มกระชุ่มกระชวยหูยังไม่ตึง ตายังไม่ฟาง ฟันยังไม่หัก สักวันหนึ่งโรคภัยไข้เจ็บนั้นก็จะต้องคุกคามบุคคลนั้นแน่นอน เพราะฉะนั้นก่อนโรคภัยจะคุกคามเราต้องพยายามสร้างเกราะป้องกัน ควรให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตรสวดมนต์ เจริญสมถะกรรมฐานได้ฌาน เจริญวิปัสสนากรรมฐานได้ความบรรลุมรรคผลนิพพาน ก่อนที่ภัยคือความเจ็บนั้นจะมาเบียดเบียน
อาตมาเคยสอนกรรมฐาน บุคคลผู้ที่น่าสงสารที่สุดในเวลาประพฤติปฏิบัติธรรมก็คือ บุคคลผู้เกิดโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน เวลาเพื่อนเดินจงกรมนั่งภาวนาตนเองถ่ายเป็นเลือดก็มี บางครั้งเวลาเพื่อนเดินจงกรมนั่งภาวนาคนโน้นก็มีสมาธิดี คนนี้ก็เกิดวิปัสสนาญาณ คนนี้ก็เกิดนิมิต คนนี้ก็เกิดโอภาสต่างๆ เกิดปัสสัทธิต่างๆ มีหน้าตาร่าเริงเบิกบาน แต่ว่าบุคคลบางคนเกิดโรคภัยไข้เจ็บต้องไปหาหมอ บางครั้งช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ไม่อาบน้ำเป็นเดือน เพื่อนไม่เข้าใกล้ก็มี บางครั้งก็เป็นวัณโรคทำให้เพื่อนต้องเอาข้าวเอาน้ำมาให้ เรียกว่าเป็นคนอาภัพ เพื่อนไม่อยากเข้าใกล้ก็มี
บางครั้งอยู่ด้วยกันดีๆ ทำการทำงานแข็งแรงดีๆ แต่พอเริ่มปฏิบัติธรรมเกิดตุ่มขึ้นมา พองขึ้นมาแล้วเกิดไข้ขึ้นมาตลอดพรรษาก็มี บางครั้งอยู่ด้วยกันดีๆ ไม่เป็นอะไร พอเริ่มประพฤติปฏิบัตินั้นปวดฟันขึ้นมา อันนี้มันเกิดขึ้นมาจากบาปกรรมมันมาขัดขวาง บางครั้งบางคราวอยู่ด้วยกันดีๆ ไม่เป็นอะไร แต่พอประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วเกิดปวดไส้ติ่งขึ้นมาต้องไปผ่าตัด ต้องงดการเดินจงกรมนั่งภาวนาตลอดพรรษาก็มี อันนี้โรคภัยไข้เจ็บถ้ามันเกิดขึ้นมาแล้วเราไม่สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมได้
บางคนประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ดีๆ ปวดแข้งปวดขาขึ้นมาในที่สุดก็ท้อถอย ไม่สามารถทำจิตให้สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ ไม่สามารถยังวิปัสสนาญาณให้เกิด ไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ เพราะอะไร เพราะว่าพยาธิ ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ในคิริมานนทสูตร ดูก่อนคิริมานนท์ บุคคลจะไปสู่ป่าก็ดี สู่โคนต้นไม้ก็ดี สู่เรือนว่างก็ดี บุคคลนั้นควรพิจารณาอย่างนี้ว่า พหุทุกฺโข โข อยํ กาโย พหุอาทีนโว แปลใจความว่า ร่างกายนี้เป็นของทุกข์มาก เป็นของที่เต็มไปด้วยโทษภัยนานาประการ พระองค์ทรงให้พิจารณาว่าร่างกายนั้นเป็นทุกข์ เป็นโทษนานาประการ มีทุกข์มาก มีโทษมาก เพราะว่าร่างกายของเรานั้นเป็นที่ตั้งของโรคภัยไข้เจ็บ เป็นเรือนของโรค เป็นสมุฏฐานของโรค มีโรคตา หู จมูก ลิ้น กาย ผิวหนัง ลำไส้ กระดูก มีโรคที่เกิดขึ้นมาเพราะลมเป็นสมุฏฐาน เพราะธาตุไฟเป็นสมุฏฐาน เพราะน้ำเป็นสมุฏฐาน มีโรคนานาประการเกิดขึ้นมาในเรือนร่างของเรานี้เกิดขึ้นมาได้หมด จะเป็นโรคที่เกิดขึ้นมาจากน้ำดี น้ำเลือด เป็นสมุฏฐานของโรคทั้งหมด
เพราะฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ดูก่อนคิริมานนท์ เธอจงตามถึงอาทีนวะสัญญานี้ คือให้พิจารณาลงไปว่าร่างกายของเรานั้นเป็นทุกข์เป็นโทษ เป็นเหตุบ่อเกิดของโรคภัยนานาประการ อันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสอย่างนั้น เมื่อเราพิจารณาอย่างนั้น ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นคลายความกำหนัด คลายความรักใคร่ คิดว่าร่างกายของเรานั้นเป็นหนุ่มกระชุ่มกระชวยกระฉับกระเฉงนั้น เพียงแต่ชั่วครู่ ชั่วคราว ในไม่ช้าก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายไป ถ้าเราพิจารณาอย่างนี้ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของเราไม่ทะเยอทะยาน มักมากในอารมณ์ คือรูป เสียง กลิ่น รส มากเกินไป กรรมฐานก็จะวิ่งมาสู่กาย วาจา ใจ ของเราตามลำดับ อันนี้เป็นภัยประการที่ ๓
ภัยประการที่ ๔ ท่านกล่าวว่า ภัยคือความตาย คือ มรณภยํ บุคคลผู้ที่เกิดขึ้นมาล้วนมีความตายด้วยกันทั้งนั้น บางคนก็ตายอยู่ในท้องก็มี มีปฏิสนธิในท้องของแม่ที่ใจร้าย พ่อที่ไม่รับผิดชอบ เกิดขึ้นมาแล้วก็ถูกพ่อถูกแม่กินยาตาย กินยาฆ่าออก หรือว่าแม่ถูกพ่อบังคับให้เอาออกก็มี อันนี้เพราะอะไร เพราะว่าบุญของสัตว์ที่มาเกิดนั้นน้อยเกินไป บางครั้งก็เกิดขึ้นมาแล้ว ๔ เดือน ๕ เดือนค่อยตายก็มี บางครั้งก็ตายในขณะที่คลอด บางครั้งคลอดออกมาในวันสองวันก็ตาย บางครั้งก็มีอายุ ๕ ปี ๑๐ ปีก็ตาย กำลังเป็นเด็ก กำลังน่ารักก็ตายก็มี บางครั้งกำลังเป็นหนุ่มเป็นสาว พ่อแม่กำลังดูแล กำลังดูความสวยงามของลูกของหลานก็ตายไปก็มี บางครั้งก็มีลูก ๑ ลูก ๒ ลูกกำลังน่ารักก็ตายทิ้งลูกให้เป็นกำพร้า ทิ้งภรรยาให้เป็นม่ายก็มี อันนี้ไม่แน่นอนบางคนก็ตายในวัยกลางคน หรือว่าในวัยแก่ ความตายนั้นไม่เลือกชนชั้น วรรณะ ไม่เลือกกาล ไม่เลือกเวลา ไม่เลือกสถานที่ เพราะอะไร เพราะว่าความตายนั้นครอบงำทุกฝีก้าว ทุกลมหายใจเข้าออก เพราะฉะนั้นความตายนั้นย่อมครอบคลุมชีวิตของสรรพสัตว์ทุกตัวทุกตน
ท่านกล่าวว่าถ้าเกิดมาแล้วทุกคนก็ต้องล้วนไปสู่ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เหมือนกับใบไม้ เหมือนกับต้นมะม่วง ต้นมะขาม ต้นไม้ อะไรก็ตาม เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วใบไม้ที่เป็นใบเล็กนั้นจะโตขึ้นตามลำดับ จากนั้นก็จะใหญ่ขึ้นมา เมื่อใหญ่ขึ้นมาแล้วก็ต้องแก่เหลืองไป เมื่อแก่ไปเหลืองไป ในที่สุดก็ต้องหลุดร่วง คือถึงซึ่งความหลุดออกไปจากขั้ว คือถึงซึ่งความตาย เปรียบเสมือนกับผลไม้ที่มันออกดอกชูช่อขึ้นมาจากนั้นก็เป็น ผลไม้เล็กๆ จากนั้นก็โตขึ้น โตวันโตคืนขึ้นมาเจริญเติบโตขึ้นมา หลังจากนั้นก็เริ่มสุก เมื่อสุกงอมเมื่อไหร่นั้นแหละก็หลุดร่วงออกจากขั้ว
เหมือนกับชีวิตของเราหลุดร่วงออกไปจากร่างกายของเรา ปล่อยให้ร่างกายของเรานั้นเน่าเปื่อยไป เหมือนกับผลไม้ที่ร่วงหล่นลงมาแล้วก็ เน่าเปื่อยไป เพราะฉะนั้นขอให้ญาติโยมได้พิจารณาว่า ความตายนั้นครอบคลุมเราทุกคนทุกตัวทุกตน ท่านอุปมาอุปไมยเหมือนกับน้ำที่ไหลลงจากยอดภูเขา เมื่อมันไหลลงไปๆ ขณะที่เราเริ่มเกิดขึ้นมาเหมือนกับน้ำที่ไหลลงจากยอดภูเขา น้ำที่ไหลจากยอดภูเขานั้นไม่มีเวลาหยุดพักแม้แต่วินาทีหนึ่ง ความแก่ก็ไม่สามารถที่จะหยุด จะแก่ทุกวัน แก่ทุกวินาที แก่ทุกเดือน แก่ทุกปี เรียกว่าแก่ไปทุกลมหายใจเข้าออก
เพราะฉะนั้นความแก่ เมื่อแก่ขึ้นมาเต็มที่เราต้องถึงซึ่งความตายคือ มรณภยํ ภัยคือความตายนี้แหละจะตัดคุณงามความดีของบุคคลนั้นให้สูญสิ้นไป คือบุคคลเกิดขึ้นมาแล้วประมาท ไม่รู้จักการให้ทาน ไม่รู้จักการไหว้พระ ไม่รู้จักการรักษาศีล ไม่รู้จักการเจริญภาวนา เพลิดเพลินไปเรื่อยๆ คิดว่าตนเองนั้นมีอายุ ๕๐ ปี ๖๐ ปี ๗๐ ปี จึงจะทำคุณงามความดีแต่ที่ไหนได้ พญามัจจุราชคือความตายนั้นมาครอบงำเสียก่อน เหมือนกับพ่อค้าผ้าที่มีสีเหมือนกับดอกคำนั้น เอาผ้าไปขายที่เมืองสาวัตถี ขณะที่เอาผ้าไปแล้วก็จะข้ามไปฝั่งแม่น้ำ เมืองสาวัตถีอยู่ฝั่งโน้นยังข้ามไปไม่ได้ เพราะว่ามาพักแรมคืนว่าพักเหนื่อยเสียก่อนพรุ่งนี้ จึงจะข้ามไป แต่พอดีมาพักแรมคืนนั้นเกิดฝนตกแล้วน้ำมันก็ล้นขึ้นมา แม่น้ำมันมาก หมู่เกวียนต่างๆ ก็ข้ามไปไม่ได้ ก็คิดว่าเราจะอยู่จนกว่าน้ำมันจะลดแล้วเราจึงจะข้ามไปขายผ้าอยู่ที่โน้นก็คิดอย่างนั้นแหละ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ความคิดของพ่อค้าก็เลยทรงแย้มพระโอษฐ์ พระอานนท์ก็ทูลถามว่า พระองค์ทรงแย้มพระโอษฐ์เพราะอะไร
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ พ่อค้านี้ไม่รู้ว่าความตายจะมาถึงตนเอง คิดว่าเราจะอยู่ถึงฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาวขายผ้าหมดแล้วจึงจะกลับ ไม่รู้ความตายจะมาถึงในวันพรุ่ง พระอานนท์ได้ฟังดังนั้นก็เลยสงสาร ก็เลยว่าถ้าอย่างนั้นกระผมจะไปเตือนพ่อค้านั้น พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ ถ้าเธอเป็นผู้คุ้นเคยจงไปเถิด พระอานนท์ก็ไปพอไปแล้วก็บอกว่าท่านคิดอย่างนั้นๆ ไม่ถูก ตามธรรมดาความตายนั้นไม่เลือกวันเวลาว่าพรุ่งนี้ความตายจะมาถึงเราก็ไม่รู้ พระอานนท์ก็บอกว่าความตายจะมาถึงท่านในวันพรุ่งนี้
เมื่อพ่อค้าได้ทราบอย่างนั้นก็เกิดความตั้งสติ ก็นิมนต์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาฉันภัตตาหารเช้า แล้วก็ถวายภัตตาหารอย่างเต็มที่หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าก็อนุโมทนา พออนุโมทนาแล้วก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน เมื่อสำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้วก็รับบาตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเดินส่งไป แล้วก็เอาบาตรคืนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เดินทางกลับมานอนพักก็ปวดหัวนิดหนึ่งแล้วก็นอนไป ผลสุดท้ายก็ถึงแก่กรรมไป คือตายไป ตามคำที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส อันนี้ก็ยังโชคดีเพราะมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโปรด เพราะฉะนั้นความตายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เลือกวัน ไม่เลือกเวลา อันนี้เรียกว่ามรณะภัย ภัยคือความตาย ถ้าเราไม่ทำคุณงามความดีก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้รับความทุกข์ทรมาน เรียกว่าเกิดมาเสียชาติเกิด นี้เป็นภัยข้อที่ ๔
ภัยข้อที่ ๕ ท่านกล่าวว่า ทุคติภัย ภัยคืออบายภูมิ ภัยคือการไปเกิดในนรก ภัยคือการไปเกิดเป็นเปรต ภัยคือการไปเกิดเป็นอสุรกาย ภัยคือการไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน อบายภูมินั้นถือว่าเป็นภัย ถือว่าเป็นอภัพพภพ เป็นภพที่อาภัพใครไปเกิดในนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ไม่มีโอกาสให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ไม่มีโอกาสที่จะได้บรรลุเป็นพระโสดา สกิทา อนาคา ไม่สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นอภัพพภพ เป็นภพที่อาภัพต้องเสวยวิบากกรรมที่เผ็ดร้อนทุกข์ทรมานอย่างเดียวอย่างเช่นที่ท่านกล่าวไว้ว่า นรกนั้นเป็นสภาพที่เร่าร้อน เป็นสภาพที่เดือดร้อน ความสุขแม้แต่การหายใจเข้าหายใจออกในนรกนั้นไม่มี ความสุขแค่เรากลืนน้ำลายแพบนึงก็ไม่มี ความสุขแค่เรากระพริบตาก็ไม่มี ความสุขแค่สายฟ้าแลบก็ไม่มีในนรก ความสุขแค่เราขีดไม้ในน้ำ น้ำมันกลับเข้าหากันเร็วนิดหนึ่งนั้นก็ไม่มี มีแต่ความทุกข์อย่างเดียว
เพราะฉะนั้นนรกนั้นท่านจึงแปลว่าเป็นสภาพที่ปราศจากความสุขโดยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้นบุคคลผู้เกิดในนรกนั้นย่อมได้รับความทุกข์ทรมาน ไม่มีจิตใจที่เป็นบุญเป็นกุศล ไม่มีจิตใจที่จะนึกถึงทาน ถึงศีล ถึงภาวนา ถึงพ่อ ถึงแม่ ถึงพี่ ถึงน้องได้ เพราะอะไร เพราะเกิดความทุกข์ทรมานอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับหอกมันแทงหัวของเราทะลุ หรือว่าแทงจากหัวทะลุทวาร แทงจากข้างหน้าทะลุข้างหลังแล้วก็มีไฟเผาไหม้เราอยู่ตลอดเวลา เราจะมีโอกาสคิดถึงทาน ถึงศีล ถึงภาวนามั้ย เราก็มีแต่ความเจ็บความปวดร้องโอดโอยครวญคราง เพราะฉะนั้นบุคคลผู้เกิดในนรกนั้นจึงได้รับความทุกข์ทรมานอย่างเดียว อย่างเช่นท่านกล่าวว่าบุคคลผู้เกิดในสัญชีวนรก คือนรกที่ตายแล้วเกิดขึ้นมาเอง เป็นนรกขุมแรกในนรกขุมใหญ่ ๙ ขุม คือท่านกล่าวโดยย่อว่าบุคคลผู้ที่ไปเกิดในสัญชีวนรกนั้น พอตายไปแล้วไปเกิดในนรกนั้นบางครั้งก็ถูกเขาเอาเลื่อยมาตัดคอ ตัดแข้ง ตัดขา เหมือนกับเราเลื่อยไม้ บางครั้งก็ถูกนายนิรยบาลเอาค้อนใหญ่นั้นทุบหัวให้แหลกลาญไป พอลมพัดมาแล้วกระพือขึ้นมา ถูกเขาตัดไส้ไหลไส้ทะลัก ตายแล้วก็ลมพัดมาแล้วก็ฟื้นคืนขึ้นมาแล้วก็ถูกทรมานอยู่อย่างนั้น
บางครั้งก็ถูกภูเขาใหญ่กลิ้งมาบดทับ ต้องวิ่งหนีทุรนทุรายในที่สุดก็ถูกภูเขานั้นบด ลมพัดมาก็ฟื้นขึ้นมา บางครั้งก็ถูกหมาใหญ่มีฟันเหมือนกับมีดโกนตัวเท่าช้างสารวิ่งมากัดมากินร้องครวญคราง ลมพัดมาก็คืนขึ้นมาได้รับความทุกข์ทรมาน ไม่มีโอกาสได้พบกับความสุข อันนี้เรียกว่าบุคคลผู้เกิดในนรก อันนี้เป็นนรกขุมต้นๆ นรกขุมลึกลงไปก็ยิ่งทุกข์ทรมานมากมาย
อย่างบุคคลผู้ไปเกิดเป็นเปรต เราทำบาปทำกรรมบุคคลผู้ตายไปแล้วนี่ถึงจะทำบาปทำกรรม ทำบุญทำทานมากแต่ว่ายังมีกิเลสอยู่ ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ยังไม่ปิดประตูอบายภูมิ ขณะที่ตายไปประมาทจิตใจตกอยู่ในอำนาจของความโลภก็อาจจะเกิดเป็นเปรตก็ได้ ไปเกิดเป็นเปรตก็ได้รับความทุกข์ทรมาน เหมือนกับเปรตแม่ของพระสารีบุตร แม่ของพระสารีบุตรในภพก่อนชาติก่อนนั้นไปเกิดเป็นเปรต เวลาพระสารีบุตรออกนิโรธสมาบัติก็มาร้องโหยหวน ทำให้ขนลุกขนพองสยองเกล้า ทำให้พระสารีบุตรนั้นไปบิณฑบาตมาใส่บาตรพระโมคคัลลานะ พระกัสสปะ พระอนุรุทธะต่างๆ แล้วก็อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แม่ แม่จึงได้กลายเป็นเทพธิดาขึ้นมา หรือว่าเปรตตัวหนึ่งด่าผู้มีศีล ด่าพระ ด่าเณร ด่าญาติ ด่าโยมที่มีศีล ตายไปแล้วก็เกิดเป็นเปรต มีตัวเป็นคนมีหัวเป็นสุกรมีหางงอกออกมาจากปาก แต่หางที่งอกออกมาจากปากนั้นเป็นหางที่เน่าเปื่อย มีหนอนชอนไชงอกออกมาน่าเกลียด น่าขยะแขยง อันนี้เกิดเป็นเปรตเพราะความประพฤติไม่ดีของตน
เปรตบางจำพวกก็อดหิวอาหาร เปรตญาติพระเจ้าพิมพิสารอดมาเป็นกัป เป็นกัลป์ อันนี้พวกเป็นเปรตนั้นได้รับความทุกข์ทรมาน อสุรกายนั้นก็มีหลายจำพวก แต่ว่ามีตัวโตใหญ่ ชอบอยู่ในเงื้อมเขาอยู่ในป่าทึบ อยู่ในซอกเขา อยู่ในทะเลสาบ อยู่ในถ้ำ อยู่ในหุบเขาลึกๆ อันนี้ท่านกล่าวไว้หลายที่ในพระไตรปิฎก บางประเภทนั้นมีตาอยู่ที่กระหม่อมก็มี มีตัวใหญ่ มีหน้าตาน่าเกลียดน่ากลัวมาก อันนี้เป็นอสุรกาย เกิดขึ้นมาจากบาปกรรมที่ตนเองได้ทำไว้ ไม่มีความสุข มีแต่ความทุกข์ ความหิวโหยอย่างเดียว
หรือว่าบุคคลผู้ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน อย่างเช่นเราเกิดเป็น กุ้ง หอย ปู ปลา คิดดูซิว่าจะมีทุกข์ขนาดไหน เราเกิดเป็นเป็ด เป็นไก่ ถูกเขาจับไปเชือดคอ คิดดูซิว่าจะได้รับความทุกข์ทรมานขนาดไหน เกิดเป็นวัวเป็นควาย ถูกเขาใช้ไถนา ถูกเขาใช้แรงงาน ถูกเขาเอาแซ่เคี่ยน เกิดเป็นช้างถูกเขาเอาตะขอสับ คิดดูซิว่ามันได้รับความทุกข์ทรมานขนาดไหน
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เกิดขึ้นมาในวัฏฏสงสารนั้น ในสมัยที่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานถูกเขาเอามีดปาดคอ แล้วก็เลือดในลำคอนั้นไหลออกมาหรือว่าเกิดเป็นมนุษย์ถูกเขาประหารตัดคอ เลือดในลำคอที่ไหลออกมาขณะที่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ดี เกิดเป็นมนุษย์ถูกเขาประหารก็ดี เกิดเป็นเก้งเป็นกวางถูกเสือถูกสิงห์มันกัด เลือดไหลออกจากลำคอก็ดี มากกว่าน้ำในทะเล คิดดูซิว่ามันจะเกิดความทุกข์ทรมานขนาดไหน เพราะฉะนั้นสัตว์เดรัจฉานอบายภูมินั้นเป็นภูมิที่ได้รับความทุกข์ทรมาน บุคคลผู้ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน มีโอกาสที่จะไปเกิดในอบายภูมินั้น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ บุคคลผู้ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ยังไม่ปิดประตูอบายภูมิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าบุคคลใดยังไม่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ยังไม่ได้ปิดประตูบายภูมิอบายภูมินั้นเปรียบเสมือนกับเรือน เป็นที่นอนของชนทั้งหลายเหล่านั้น คิดดูซิ เพราะฉะนั้นขอให้พวกเรานั้นได้เห็นภัยในอบายภูมิ ชาตินี้ขอให้เป็นชาติสุดท้าย เราพยายามที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมให้ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ให้ได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี เราจะพยายามบรรลุให้ได้เป็นพระอนาคามี และเราจะพยายามบรรลุเป็นพระอรหันต์ให้ได้จนกว่าลมหายใจของเราจะหมดไปเราจะพยายาม อันนี้เรียกว่าภัยข้อที่ ๕ คือภัยที่เกิดขึ้นมาจากอบายภูมิ
ภัยข้อที่ ๖ ข้อสุดท้ายเรียกว่า มหันตภัย มหันตภัยนั้นคืออะไร มหันตภัยนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ภัยภายในเรียกว่าภัยคือกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด ภัยคือความโกรธ คือความโลภ คือความหลง มหันตภัยคือภัยใหญ่ ภัยใหญ่ของสัตว์ทั้งหลายนั้นก็คือความโกรธ ภัยใหญ่ของสรรพสัตว์ทั้งหลายก็คือความโลภ ภัยใหญ่ของสรรพสัตว์ทั้งหลายก็คือความหลง ความโกรธ ความโลภ ความหลง เป็นมูลเหตุแห่งความรักความชัง แห่งการเวียนว่ายตายเกิด เพราะฉะนั้นความโกรธ ความโลภ ความหลงนี้ก็ถือว่าเป็นภัยใหญ่ของวัฏฏสงสาร
เพราะฉะนั้นบุคคลใดที่เต็มไปด้วยความโกรธ ความโลภ ความหลง บุคคลนั้นก็ถือว่ามีเชื้อแห่งการเวียนว่ายตายเกิด มีเชื้อแห่งความทุกข์ มีเชื้อแห่งความเกิด มีเชื้อแห่งความแก่ แล้วก็มีเชื้อแห่งความเจ็บความตาย มีสิ่งที่เป็นภัยที่ติดตามเราไปอยู่ทุกฝีก้าว ถ้าบุคคลใดมีความโกรธ ความโลภ ความหลงอยู่ในใจ บุคคลนั้นจะเดินไปสู่สถานที่แห่งหนตำบลใด ไปเกิดในภพใด ชาติใด จะเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพรหม ถ้ามีความโกรธ ความโลภ ความหลงอยู่ต้องได้รับความทุกข์ทรมานอยู่เหมือนเดิม จะเป็นเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ครองทวีปทั้ง ๔ มีขอบเขตแห่งมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขตก็ตามก็ได้รับความทุกข์ทรมานเหมือนเดิม
เพราะฉะนั้นความโกรธ ความโลภ ความหลงนั้นก็ถือว่าเป็นมหันตภัย เราจะไปอยู่ในถ้ำ อยู่ในเหว เหาะไปในอากาศเหมือนพระเทวทัต แสดงฤทธิ์ได้ แต่ความโกรธ ความโลภ ความหลงมี ก็ต้องเป็นทุกข์เหมือนเดิม ความโกรธ ความโลภ ความหลงนี้ถือว่าเป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่าเป็นมหันตภัย เป็นภัยใหญ่ที่สุดของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้ว่าภัยทั้งหลายทั้งปวง ๕ ข้อนั้นเป็นภัยภายนอก แต่ภัยมหันตภัยใหญ่จริงๆ นั้นเป็นภัยภายใน ฉะนั้นเราจึงได้มาประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อที่จะพ้นไปจากภัยภายนอก และเพื่อที่จะพ้นไปจากภัยภายใน เมื่อเราพ้นไปจากภัยภายในได้ ถ้าเราพ้นไปจากภัยภายในได้ ภัยภายนอกเราก็พ้นไปโดยปริยาย อย่างเช่นเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมเดินจงกรม นั่งภาวนานี่ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ มีสติรู้ทัน ต้นยก กลางยก สุดยก ต้นย่าง กลางย่าง สุดย่าง ต้นเหยียบ กลางเหยียบ สุดเหยียบ เวลาเรามาภาวนา พองหนอ เรามีสติรู้เท่าทัน ต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ เพราะอะไร เพราะเรามาเพื่อที่จะประพฤติปฏิบัติรักษาสติของเรา รักษาสติเพื่ออะไร รักษาสติเพื่อที่จะควบคุมจิตใจของเรา ถ้าเราควบคุมจิตใจของเราอย่างเดียวนั้นแหละ เราควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างได้ กายของเราถึงมันจะทำอะไรต่างๆ นาๆ แต่ละวันๆ มากมายหลายประการ ถ้าเราควบคุมใจของเราได้ เราก็ควบคุมกายของเราได้ วาจาของเราเป็นคนชอบพูดส่อเสียด ชอบพูดมาก ชอบทะเลาะเบาะแว้งบุคคลอื่น ชอบนินทากาเลบุคคลอื่น ถ้าเราควบคุมจิตของเราได้ เราก็จะสามารถควบคุมวาจาของเราได้ ให้เป็นกายที่ชอบ วาจาที่ชอบได้
เพราะฉะนั้นเรามาประพฤติปฏิบัติธรรม เดินจงกรม นั่งภาวนา จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะกิน จะดื่ม จะพูด จะคิด เรามีสติกำหนด ก็เพื่อที่จะควบคุมจิตใจ ฝึกจิต ฝึกฝนอบรมจิตใจของเรา ถ้าเราฝึกฝนอบรมจิตใจของเราได้ เราก็สามารถที่จะพ้นไปจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงได้ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า
ทูรงฺคมํ เอกจรํ อสรีรํ คุหาสยํ
เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา
บุคคลใดจักสำรวมจิตดวงที่เที่ยวไปไกล เที่ยวไปดวงเดียวไม่มีรูปร่าง มีถ้ำคือร่างกายเป็นที่อยู่อาศัย บุคคลนั้นจะพ้นจากบ่วงแห่งมาร
ถ้าบุคคลใดจักสำรวมจิตได้ บุคคลนั้นจะพ้นจากบ่วงแห่งมาร เพราะฉะนั้นญาติโยมทั้งหลายที่มาประพฤติปฏิบัติธรรม คณะครูบาอาจารย์มาประพฤติปฏิบัติธรรมก็ขอให้สำรวมจิต ความโกรธเกิดขึ้นที่ไหน เกิดขึ้นที่จิตของเรา ไม่ได้เกิดขึ้นที่ตา ไม่ได้เกิดขึ้นที่หู ไม่ได้เกิดขึ้นที่จมูก ไม่ได้เกิดขึ้นที่วัตถุส่วนใดส่วนหนึ่ง เกิดขึ้นที่ใจของเรา ความโลภเกิดขึ้นที่ไหน เกิดขึ้นที่ใจของเรา ไม่ได้เกิดขึ้นที่อย่างอื่น หรือว่าความหลงเกิดขึ้นที่ไหน เกิดขึ้นที่ใจของเรา กิเลสมันเกิดขึ้นตรงไหน ตรงไหนเป็นเหตุ ใจของเราเป็นเหตุ กิเลสมันเกิดขึ้นที่ไหน มันตั้งอยู่ที่ไหน เวลามันจะดับ มันก็ดับอยู่ที่ตรงนั้น มันก็ดับตรงที่จิตใจของเรา
เพราะฉะนั้นเราอยากจะพ้นไปจากความโกรธ ความโลภ ความหลง พ้นไปจากกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด เราต้องพ้นไปที่จิตใจของเรา ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว ใจเป็นนายกายเป็นแหล่ง ใจเป็นผู้แต่ง กายเป็นผู้กระทำ เพราะฉะนั้นกายเป็นผู้เดินจงกรม กายเป็นผู้นั่งภาวนา ใจเป็นผู้ได้สมาธิ ใจเป็นผู้เกิดวิปัสสนาญาณ ใจเป็นผู้ได้บรรลุเป็นพระโสดา เป็นสกิทา เป็นอนาคา เป็นพระอรหันต์ บรรลุที่ใจของเรา ไม่ได้บรรลุที่กายของเรา ใจเป็นตัวบรรลุ กายเป็นตัวทำ เพราะฉะนั้นกายกับใจนั้นอาศัยซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นญาติโยมทั้งหลายผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรม รู้ว่าภัยคือความเกิด รู้ว่าภัยคือความแก่ รู้ว่าภัยคือความเจ็บ รู้ว่าภัยคือความตาย รู้ภัยคืออบายภูมิ แล้วก็รู้มหันตภัย ภัยคือกิเลส หนทางที่จะพ้นไปจากภัยทั้งหลายทั้งปวง คือการเดินจงกรม นั่งภาวนา ตามที่ญาติโยม คณะครูบาอาจารย์ได้ประพฤติปฏิบัติธรรมมานี้ ถือว่าเป็นหนทางที่พ้นไปจากภัยทั้งหลายทั้งปวง เมื่อพ้นไปจากภัยทั้งหลายทั้งปวงแล้ว บุคคลนั้นก็จะพบกับสันติสุขอันเป็นอมตะ ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย พ้นไปจากความทุกข์โศก พิไรรำพัน เรียกว่าพ้นไปจากความวิปโยคทั้งหลายทั้งปวง ถึงสันติสุขอันไพบูลย์ กล่าวคือมรรคผล นิพพาน
วันนี้อาตมภาพได้กล่าวธรรมะมาโดยสังเขปกถาก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ในท้ายที่สุดนี้ ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ที่มาประพฤติปฏิบัติธรรม ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายที่มาร่วมประพฤติปฏิบัติธรรมที่วัดป่าดงเย็นแห่งนี้ ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลาย จงเป็นผู้ที่โชคลาภร่ำรวย มั่งมีศรีสุข ขอให้เงินไหลนอง ขอให้ทองไหลมา ขอให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวง ขอให้มีโอกาสได้มาประพฤติวัตรปฏิบัติธรรม สามารถที่จะนำตนของตนให้พ้นไปจากความทุกข์ ถึงสันติสุข กล่าวคือ มรรคผลนิพพานในอนาคตกาลอันใกล้ๆ นี้ด้วยกัน จงทุกท่านทุกคนเทอญ.