สติปัฏฐาน ๔
เจริญพรญาติโยมสาธุชน ผู้เป็นศาสนิกชนทุกท่าน ผู้ที่สนใจในธรรมะภาคปฏิบัติ วันนี้ธรรมะก่อนนอนก็ได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาตมภาพก็จะได้น้อมนำเอาธรรมะในภาคปฏิบัติมาบรรยาย ซึ่งวันนี้จะว่าด้วยเรื่องสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ นั้นเป็นธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ในพระไตรปิฎกอยู่หลายที่หลายแห่ง
สติปัฏฐาน ๔ นั้นเป็นธรรมะที่สำคัญ เป็นธรรมะที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้ที่นับถือพุทธศาสนานั้นสามารถที่จะเข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาได้ พระพุทธศาสนาของเรานั้น ถ้าพุทธบริษัททั้งหลายไม่สนใจในการศึกษาเรื่องสติปัฏฐาน ๔ พุทธศาสนิกชนของเราก็อาจจะไม่เข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาได้
วันนี้อาตมาก็จะนำเอาหลักคือ สติปัฏฐาน ๔ นั้นมากล่าวโดยย่อ คือสังเขปกถาเพื่อที่จะให้สาธุชนผู้สนใจในธรรมะภาคปฏิบัตินี้นำไปพินิจพิจารณา ไตร่ตรอง แล้วก็นำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นเข้าถึงส่วนที่เป็นภาคปฏิบัติของพระพุทธศาสนา พระศาสนาของเรานั้นเป็นศาสนาที่ประกอบไปด้วยภาคปริยัติ เป็นศาสนาที่ประกอบไปด้วยภาคปฏิบัติ เป็นศาสนาที่ประกอบไปด้วยภาคปฏิเวธธรรม ไม่เหมือนศาสนาอื่น
ศาสนาอื่นนั้นเป็นศาสนาที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คนนั้นทำคุณงามความดี เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลนั้นตายแล้วไปเกิดบนสวรรค์ อันนี้เป็นศาสนาเหล่าอื่น ซึ่งไม่สามารถจะทำให้บุคคลนั้นสามารถที่จะบรรลุญายธรรม คือมรรคผลนิพพานได้ เว้นจากพระพุทธศาสนาของเราแล้วไม่มีศาสนาอื่นในโลกที่จะสามารถทำให้บุคคลที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วสามารถที่จะบรรลุญายธรรมคือ บรรลุมรรคผลนิพพานได้ มีศาสนาเดียวคือ พระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นก็ขอให้เรานั้นจงภูมิจิตภูมิใจที่เราได้เกิดมาในแดนแห่งพุทธศาสนา มีครูบาอาจารย์พร่ำสอนแนะนำ มีข้อวัตรปฏิบัติที่จะชี้แนะให้เรานั้นเดินตามทางถูกต้อง ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้
สติปัฏฐาน ๔ นั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้ด้วยหัวข้อ ๔ ประการ คือ ๑ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน กายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้นคือ การตามพิจารณาเห็นกายในกายของตนเองทั้งภายนอกและภายใน คือให้เราพิจารณาดูกายของเราตั้งแต่พื้นเท้าถึงปลายผม จากปลายผมถึงพื้นเท้า ว่าร่างกายของเรานั้นประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เช่น ท่านกล่าวไว้ว่าประกอบไปด้วยอาการ ๓๒ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ม้าม หัวใจ เป็นต้น ประกอบไปด้วยธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม ผสมผสานกันเกิดขึ้นมาจึงปรากฏเป็นกายขึ้นมา
ร่างกายของเราเมื่อประกอบไปด้วยอาการ ๓๒ ประกอบไปด้วย ธาตุ ๔ ธาตุ ๔ นั้นก็เป็นของไม่แน่นอน ดินน้ำไฟลมผสมผสานกันเกิดขึ้นมา ถ้าหนาวเกินไปก็สามารถที่จะแตกดับได้ ถ้าร้อนเกินไปร่างกายของเราก็สามารถที่จะแตกดับได้ ไม่สามารถที่จะตั้งอยู่ได้ ถ้าหนาวเกินไป ร้อนเกินไป หรือว่าลมกำเริบ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ร่างกายของเรานั้นตั้งอยู่ไม่ได้ แล้วข้อที่ว่า กายานุปัสสนานั้นท่านยังให้พิจารณาลมหายใจเข้าออก
คือขณะที่เราหายใจเข้าออก ลมหายใจเข้ายาวเราก็รู้ว่าลมหายใจเข้ายาว ลมหายใจออกยาวเราก็รู้ว่าลมหายใจของเราออกยาว ลมหายใจเข้าสั้นเราก็มีสติรู้ว่าลมหายใจมันเข้าสั้น ลมหายใจออกสั้นเราก็มีสติพิจารณากำหนดรู้ว่าลมหายใจของเรานั้นมันออกสั้น คือให้เราพิจารณารู้ทั่วถึงลมหายใจเข้าออกมีสติพิจารณารู้อยู่ว่าลมมันเข้าออกอย่างไร คือให้เรามีสติพิจารณาดูอาการพองอาการยุบของเรานั้นแหละ มีสติมาพิจารณาดูที่เหนือสะดือของเรา มีสติตั้งมั่นอยู่ตรงนี้ขณะที่ลมหายใจเข้าท้องของเรามันพองขึ้น
ถ้าลมหายใจเข้ายาวท้องของเราก็จะพองขึ้นๆ คืออาการพองนั้นมันจะตั้งอยู่นานเราก็พิจารณาดูอาการพองของเรานั้นแหละ ก็ชื่อว่าเราพิจารณาลมหายใจเข้า ขณะที่ลมหายใจเข้าเต็มที่แล้วท้องของเราไม่สามารถที่จะตั้งอยู่ได้ ท้องของเรามันก็เริ่มยุบลงๆๆ ขณะที่ท้องของเรายุบลงนั้นแหละ เราหายใจออก ขณะที่เราหายใจออกยาว คือขณะท้องยุบลงนั้นยุบลงยาว เราก็มีสติกำหนดพิจารณารู้ว่า ต้นยุบมันเป็นอย่างไร กลางยุบมันเป็นอย่างไร สุดยุบมันเป็นอย่างไร เมื่อถึงสุดยุบแล้วท้องมันพองขึ้นมา เรากำหนดดูอยู่อย่างนี้ว่าลมหายใจเข้ายาวเราก็กำหนดรู้ว่าลมหายใจเข้ายาว
ลมหายใจออกยาวเราก็กำหนดรู้ว่าลมหายใจออกยาว ลมหายใจเข้าสั้นเราก็กำหนดรู้ว่าลมหายใจมันเข้าสั้น คือมีสติรู้ทั่วพร้อมอยู่ว่า ลมหายใจเข้าออกสั้นหรือยาวอย่างไร ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าเรามีสติรู้กองลม รู้ทั่วถึงกองลมว่าลมหายใจเข้าออกในลักษณะอย่างไร ด้วยการพิจารณาดูอยู่ที่ท้องอย่างเดียว ถ้าเราดูที่อาการพองอย่างเดียวเราก็รู้ว่า ลมหายใจเข้าสั้นเข้ายาว ลมหายใจออกสั้นออกยาว ต้นลมเป็นอย่างไร กลางลมเป็นอย่างไร สุดลมเป็นอย่างไร เราก็สามารถที่จะรู้ได้ด้วยการพิจารณาดูอาการพองอาการยุบ อันนี้เรียกว่าเราพิจารณาลมหายใจเข้าออก
ข้อที่ว่าด้วยกายานุปัสสนานั้น ท่านยังให้เราพิจารณาถึงข้อที่ว่าด้วยสัมปชัญญะ คือการเดินก็ดี การนั่งก็ดี การคู้ก็ดี การเหยียดก็ดี การกินก็ดี การดื่มก็ดี การพูด การคุย การนิ่งก็ดี ให้เรามีสติสัมปชัญญะ ยืนก็ให้เรามีสติสัมปชัญญะกำหนดรู้ เราจะพูดเราก็มีสติสัมปชัญญะกำหนดรู้ เราจะนั่งเราก็มีสติสัมปชัญญะกำหนดรู้ เราจะนอนเราก็มีสติสัมปชัญญะกำหนดรู้ คือขณะที่เรายืนอยู่เราก็รู้ว่าเรายืน ขณะที่เรานั่งเราก็รู้ว่าเรานั่ง ขณะที่เรานอนเราก็รู้ว่าเรานอน
ขณะที่เราพูดเราก็รู้ว่าเรากำลังพูดเรื่องอะไรอยู่ กำลังพูดอย่างไร ขณะที่เรากำลังนิ่งเราก็รู้ว่าขณะนี้เรากำลังนิ่ง เมื่อเรามีสติพิจารณารู้อยู่อย่างนี้ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นรู้ทั่วพร้อม รู้ทั่วพร้อมซึ่งกายของเรา เราก็สามารถที่จะบังคับกายของเรานั้น ไม่ให้กายของเราไปทำบาป ไม่ทำบาปทางกาย ไม่ทำบาปทางวาจา เพราะอะไร เพราะเรามีสติกำหนดรู้ทั่วพร้อมอยู่ ทำอะไรอยู่เราก็กำหนดรู้ พูดอะไรอยู่เราก็กำหนดรู้ มีสติกำหนดรู้อยู่ทั่วพร้อมทันปัจจุบันธรรมอยู่ตลอดเวลา อันนี้เรียกว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
แล้วท่านยังให้เราพิจารณาถึงร่างกายของเรานั้นว่า เปรียบเสมือนกับป่าช้า ๙ ประการ คือท่านให้เรามีสติกำหนดรู้ว่ากายของเรานั้นเปรียบด้วยซากศพ มีอยู่ ๙ ประการ คือให้เราพิจารณาว่ากายของเรานั้นเปรียบเสมือนกับซากศพที่ตายแล้ว ๑ วันบ้าง ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้าง ซากศพนั้นกำลังขึ้นอืดพองมีสีเขียวน่าเกลียด มีหนองไหลน่าเกลียด แล้วก็น้อมเข้ามาพิจารณาดูว่าซากศพนี้ฉันใด ร่างกายของเราที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ก็จะเป็นฉันนั้นเหมือนกัน
ให้เราพิจารณาน้อมเข้ามาว่ากายของเราก็จะเป็นเหมือนกับซากศพที่กำลังขึ้นอืดเขียวฉันนั้นเหมือนกัน แล้วท่านให้พิจารณาว่าซากศพที่ขึ้นอืดเขียวนั้น ไม่นานก็จะมีกาบ้างมาเจาะกิน ฝูงนกแร้งบ้างมากัดกิน ฝูงสุนัขบ้าง ฝูงสุนัขจิ้งจอกบ้างมากัดกิน อันหมู่หนอนนานาชนิดก็ชอนไช คือขณะที่ร่างกายของเรานั้นขึ้นอืดขึ้นมาก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้หนอนนั้นชอนไชออกไปตามทวารต่างๆ ชอนไชออกตามทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง หนอนเจาะชอนไชออกทางตาบ้าง ทางปากบ้าง ทางทวารหนักทวารเบาบ้าง เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความสะอิดสะเอียนน่าเกลียดฉันใด ก็น้อมซากศพที่หนอนกำลังชอนไชนั้นแหละมาสู่กายของเราว่า ซากศพที่หนอนกำลังชอนไชอยู่นี้ฉันใด ร่างกายของเราที่เป็นอยู่นี้ก็จะเป็นไปฉันนั้นเหมือนกัน
แล้วพิจารณาละเอียดลงไปว่าซากศพที่หนอนชอนไชอยู่นั้นไม่นานก็จะเป็นซากศพที่มีร่าง กระดูก มีเนื้อและเลือด มีเอ็น เป็นเครื่องรึงรัดอยู่ คือขณะที่หนอนชอนไชนั้นร่างกายของเราก็จะพรุน แตก แล้วก็มีเนื้อมีเลือดไหลออกมา แล้วมีเอ็นรึงรัดกระดูกแขน กระดูกขาให้เราเห็นชัดเจน แล้วก็น้อมมาสู่กายของเราว่ากายที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ฉันใด ซากศพที่กำลังปรากฏอยู่นี้ฉันใด ร่างกายของเราก็ฉันนั้นเหมือนกัน
แล้วพิจารณาให้ละเอียดลงไปว่า ซากศพที่ปรากฏเนื้อเน่า เนื้อเน่านั้นปรากฏว่าเนื้อเหล่านั้นแห้งไป กระดูกเหล่านั้นแห้งไป เหลือแต่คราบเลือดกำลังเปื้อนอยู่ที่กระดูก มีเส้นเอ็นรึงรัดอยู่ ข้อนี้ฉันใด ร่างกายของเราก็จะเป็นฉันนั้นเหมือนกัน แล้วให้เราพิจารณาละเอียดลงไปอีกว่าเนื้อ เส้นเอ็นที่กำลังรึงรัดกระดูกอยู่นั้นก็ขาดกระจัดกระจายไป เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กระดูกนั้นมันกระจัดกระจายไปในทิศต่างๆ
กระดูกมือไปทางหนึ่งบ้าง กระดูกเท้าไปทางหนึ่งบ้าง กระดูกแข้งไปทางหนึ่งบ้าง กระดูกขา กระดูกสะเอว กระดูกหลัง หรือว่า กระดูกซี่โคลง กระดูกหน้าอก กระดูกไหล่ ไปคนละทิศละทาง กระดูกแขน กระดูกคอ กระดูกคางไปคนละทาง ฟันก็ไปทางหนึ่ง กระดูกศรีษะก็ไปทางหนึ่ง แล้วก็น้อมมาพิจารณาสู่ร่างกายของเรา ว่าร่างกายของเราก็จะเป็นฉันนั้นเหมือนกัน แล้วก็ให้พิจารณาน้อมมาก็จะเกิดความสลดสังเวชขึ้นมา
เมื่อเราพิจารณาดูอย่างนั้นเราก็พิจารณาให้ละเอียดเข้าไปว่า กระดูกที่กระจัดกระจายอยู่นั้น ไม่นานกระดูกเหล่านั้นมันก็จะถูกฝนบ้าง ถูกแดดบ้าง เผาผลาญ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กระดูกนั้นมันเปื่อยมันผุมันพังไป ในที่สุดกระดูกนั้นมันก็เป็นผุยเป็นผงไป กระจัดกระจายไป ข้อนี้ฉันใด ให้เราพิจารณาดูว่ากระดูกที่มันเปื่อยเป็นผุยผงนั้นฉันใดร่างกายของเราก็จะเป็นฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเราพิจารณาดู พิจารณาเห็นกายในกายของเราในลักษณะอย่างนี้ว่า ร่างกายของเราตั้งแต่พื้นเท้าถึงปลายผม จากปลายผมถึงพื้นเท้านี้ มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตกอยู่ในกฎของพระไตรลักษณ์คือ
มันไม่เที่ยง ไม่สามารถที่จะคงทนอยู่ในสภาวะเดิมได้ เป็นทุกข์ ไม่สามารถที่จะทนอยู่ในสภาวะที่ตนปรารถนาได้ เป็นอนัตตาไม่สามารถที่จะบังคับบัญชา ไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตาย ไม่ให้คร่ำคร่าชราฟันหักผมหงอกได้ คือบังคับบัญชาสิ่งที่ตนเองมีอยู่นั้นไม่ได้ บังคับแขน บังคับขา บังคับหู บังคับตา ไม่ให้แก่ ไม่ให้คร่ำคร่า ไม่ให้ชรานั้นไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเป็นอนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้
เมื่อเราพิจารณารู้ว่าร่างกายของเรานั้นมันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาตั้งแต่พื้นเท้าถึงปลายผม จากปลายผมถึงพื้นเท้า จะเป็นธาตุ ๔ ก็ดี อาการ ๓๒ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกเป็นต้น บังคับบัญชาไม่ได้สักอย่างสักประการ เพราะฉะนั้นเมื่อเราพิจารณารู้ว่า ร่างกายของเราคือรูปนามของเรานั้นบังคับบัญชาไม่ได้ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้น ถอนความรัก ถอนความชัง ถอนความผูกพัน ถอนความห่วงหาอาลัยในร่างกายของเรา
จิตใจของเราก็จะถอนความยึดมั่นจากการมีร่างกาย เมื่อจิตใจของเราถอนความยึดมั่นออกว่าร่างกายของเรานั้นเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวเป็นตนแล้ว เมื่อเรามีจิตใจถอนจากอุปาทานคือความยึดมั่นแล้วจิตใจของเราก็สามารถที่จะข่มความโกรธได้ สามารถที่จะข่มความโลภได้ สามารถที่จะข่มความหลงได้ สามารถที่จะข่มมานะ ทิฏฐิ อวิชชา ตัณหา อุปาทานได้ เพราะความไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวของเรานั้นเบาบางลง
เมื่อสิ่งเหล่านี้มันลดน้อยไปจากจิตจากใจของเรา ปัญญาอันชอบธรรมมันก็เกิดขึ้นมา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความมีไมตรีจิต ความเคารพกันฉันพี่ฉันน้อง ความเคารพกันเนื่องด้วยครูบาอาจารย์ มันก็เกิดขึ้นมาในจิตในใจของเราเพราะความไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นเหตุ เพราะฉะนั้นก็ขอให้เรานั้นพยายามพิจารณาร่างกายของเรา เมื่อเราพิจารณาอยู่อย่างนี้ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราน้อมไปในกรรมฐาน เมื่อน้อมไปในกรรมฐานก็จะรับ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาภาคปฏิบัติมันก็เกิดขึ้นมา วิปัสสนาญาณมันก็จะเกิดขึ้นมาตามลำดับๆ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้สมาธิ ได้วิปัสสนาญาณ แล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้บรรลุมรรคผลนิพพานตามมา อันนี้ป็นข้อว่าด้วยกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ข้อที่ ๒ คือ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ทรงให้เรานั้นพิจารณาถึงเวทนา ๓ ประการ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา เวทนาทั้ง ๓ ประการ คือ สุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี อุเบกขาเวทนาก็ดี เราต้องกำหนดรู้ คือเราต้องกำหนดรู้ว่าขณะนี้เราเสวยสุขเวทนาอยู่ มีกายเป็นสุข มีจิตใจเป็นสุข อิ่มเอิบด้วยปีติธรรม อิ่มเอิบด้วยสมาธิ อิ่มเอิบด้วยปัสสัทธิ เราก็กำหนดรู้ว่า กายของเรากำลังเสวยสุขเวทนาอยู่ จิตใจของเรากำลังเสวยสุขเวทนาอยู่เราก็กำหนดรู้ โดยที่เรากำหนดว่า “สุขหนอๆ”
ถ้ามันสุขกายเราก็พิจารณาว่าอาการที่มันสุขกาย จะเป็นสุขด้วยปีติก็ดี สุขด้วยปัสสัทธิก็ดี สุขด้วยสมาธิก็ดี มันมีความสุขอย่างไร รสของความสุขเป็นอย่างไร มันปรากฏขึ้นอย่างไรเราก็กำหนดรู้รสของความสุข จะเป็นสุขที่เกิดจากปีติ ปัสสัทธิ หรือว่าสมาธิ เราก็กำหนดรู้ตามรสของความสุขนั้น มีสติ สัมปชัญญะกำหนดรู้ตามความเป็นจริงนั้น หรือว่ากำหนดรู้เวทนาทั้งที่เป็นของตนเองและเวทนาที่คนอื่นประสบ แล้วก็น้อมมาสู่ตนเอง อันนี้เรียกว่าเรากำหนดรู้เวทนา
ถ้ากายของเราเสวยทุกขเวทนา จะเป็นทุกข์ด้วยแดด ทุกข์ด้วยลมก็ดี ทุกข์ด้วยฝนก็ดี ทุกข์ด้วยเหลือบยุงก็ดี ทุกข์ด้วยความทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ มันมาเบียดเบียนก็ดี เราก็กำหนดรู้ว่าขณะนี้มันเป็นทุกข์ เราก็กำหนดรู้ ขณะที่ใจของเรามันทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะโทมนัสคือความเสียใจ ทุกข์เพราะความอุปายาส ความบ่นเพ้อพิไรรำพัน ห่วงหาอาลัยในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะเป็นรูปก็ดี เสียงก็ดี เราก็รู้ว่าจิตใจของเรานั้นมันเป็นทุกข์ เราก็กำหนดรู้ว่าร่างกายของเรานั้นมันเป็นทุกข์ ทุกข์อย่างไร เราก็กำหนดรู้ตามสภาวะทุกข์ที่มันเกิดขึ้น
จะเป็นทุกข์เพราะแดดเราก็กำหนดรู้ว่ามันร้อนอย่างไร มีสติพิจารณากำหนดรู้ทันปัจจุบัน เอาอารมณ์หรือว่าเอาอาการที่มันเป็นทุกข์ในปัจจุบันนั้นแหละเป็นอารมณ์ กำหนดรู้ไม่ให้โกรธ ไม่ให้เคือง ไม่ให้พอใจ ไม่ให้ดีใจ ไม่ให้เสียใจกับความทุกข์ที่มันปรากฏขึ้น มีจิตใจมุ่งตรงต่อความทุกข์ที่มันปรากฏขึ้นมา เมื่อเรามีสติพิจารณาดูความทุกข์ด้วยความวางเฉยไม่ชอบใจ ไม่เสียใจกับความทุกข์ จิตใจของเราย่อมไม่กระวนกระวาย เมื่อจิตใจของเราไม่กระวนกระวาย จิตใจของเราที่เพ่งความทุกข์อยู่นั้นแหละ พิจารณาความทุกข์อยู่นั้นแหละก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิขึ้นมา อาศัยความทุกข์นั้นเกิดสมาธิขึ้นมา
เมื่อสมาธิเกิดขึ้นมา วิปัสสนาญาณมันก็เกิดขึ้นมา เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นมาพระไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตามันก็เกิดขึ้นมา วิปัสสนาญาณสูงขึ้นไปตามลำดับๆ มันก็เกิดขึ้นมาก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะฉะนั้นความทุกข์นั้นไม่ใช่ว่าเป็นของไม่ดี ถ้าเรากำหนดรู้ความทุกข์ด้วยความไม่ชอบใจ ไม่เสียใจ มีจิตใจมุ่งมั่นกำหนดรู้อาการของความทุกข์ด้วยความวางเฉยเป็นกลางๆ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้สมาธิสมาบัติ บรรลุมรรคผลนิพพานได้
ให้เรากำหนดรู้เวทนาทั้งที่เป็นสุขทั้งที่เป็นทุกข์ ขณะที่เราเสวยเวทนาที่ไม่เป็นสุขก็ดี ไม่เป็นทุกข์ก็ดี มีจิตใจวางเฉย จะเห็นรูปก็วางเฉยในรูป จะได้ยินเสียงก็วางเฉยในเสียง เราจะได้ยินอารมณ์ที่น่ารักน่าชอบใจ เราก็วางเฉย เราจะได้ฟัง เราได้รับอารมณ์ที่ไม่น่าชอบใจ มีคนอื่นมาพูดในทางที่กระทบกระทั่งให้เกิดความโกรธ ให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ จิตใจก็วางเฉย เพราะอะไร เพราะขณะนั้นเรากำลังเสวยอุเบกขาเวทนา คือเสวยความวางเฉย เราจะได้เห็นรูปก็ดี ได้ยินเสียงก็ดี วางเฉย เราจะได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส อารมณ์ต่างๆ ที่ชอบใจ ที่ไม่ชอบใจมันก็วางเฉย อารมณ์อะไรต่างๆ ที่มากระทบวางเฉยหมด
ในลักษณะอย่างนี้ก็ให้เราพิจารณาดูความวางเฉย ว่ามันวางเฉยอย่างไร วางเฉยในรูปอย่างไร วางเฉยในเวทนาอย่างไร วางเฉยในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรมารมณ์อย่างไร เราก็เอาอารมณ์ที่มันเฉยนั้นแหละเป็นอารมณ์ มีจิตใจกำหนดอารมณ์ปัจจุบันที่มันเสวยอุเบกขาเวทนาอยู่นั้นแหละ พิจารณาดูอยู่กำหนดรู้อยู่ มีจิตใจมุ่งมั่นกำหนดอารมณ์อยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นอารมณ์ ไม่ซัดส่ายไปถึงอดีต ไม่ซัดส่ายไปถึงอนาคต มีสติกำหนดรู้อยู่อย่างนั้นมุ่งมั่นอยู่อย่างนั้น เอาอารมณ์ที่เป็นอุเบกขา เวทนาที่เป็นปัจจุบันเป็นอารมณ์อยู่อย่างนั้น ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สมาธิมันก่อตัวขึ้นมา
เมื่อสมาธิก่อตัวขึ้นมาวิปัสสนาญาณมันก็ก่อตัวขึ้นมา เมื่อวิปัสสนาญาณก่อตัวขึ้นมาการบรรลุมรรคผลนิพพานก็ตามมา เพราะฉะนั้น ให้เรานั้นพิจารณาดูเวทนา จะเป็นสุขก็ดี จะเป็นทุกข์ก็ดี จะเป็นอุเบกขาเวทนาคือเฉยๆ ก็ดี แค่เรากำหนดรู้สิ่งเหล่านี้เป็นอารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐานหมด เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดศีล เกิดสมาธิ เกิดปัญญาหมด เพราะฉะนั้นเมื่ออารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นมาปรากฏชัดเจนก็ขอให้เรานั้นจงกำหนด อย่าเพิกเฉย อย่าวางเฉยมีสติกำหนดรู้ทันปัจจุบันธรรมทันที อันนี้เมื่อเรากำหนดรู้อยู่อย่างนี้ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นทราบชัดว่า เวทนาที่เป็นสุขก็ดี เมื่อมันสุขขึ้นมามันสุขก็สุขไม่นาน จะเป็นสุขด้วยปีติก็ดีไม่นานปีติมันก็คลาย จะเป็นสุขด้วยปัสสัทธิก็ดีไม่นาน
บางครั้งมันก็อาจจะเกิดชั่วโมงหนึ่ง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง บางครั้งมันก็เกิดเป็นวันไม่นานมันก็หายไป หรือว่าความสุขที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจของสมาธิก็ดี ของวิปัสสนาญาณก็ดีมันเกิดขึ้นมาแล้วตั้งอยู่ บางครั้งก็ตั้งอยู่ ๑ ชั่วโมงบ้าง ๒ ชั่วโมงบ้าง ตั้งอยู่เป็น ๑ วันบ้าง ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้างมันก็หายไป บางครั้งก็ตั้งอยู่เป็น ๑ เดือน ๒ เดือน ๓ เดือน บางครั้งก็ตั้งอยู่เป็น ๑ ปีมันก็หายไป คือมันเกิดๆ หายๆ คล้ายๆ กับว่ามีดวงอาทิตย์เกิดขึ้นมาแล้วมีการตั้งอยู่ เมื่อมีการตั้งอยู่แล้วก็มีการดับไป
ดวงอาทิตย์มีเหตุให้เกิดขึ้น มีเหตุให้ตั้งอยู่ มีเหตุให้ดับไป ข้อนี้ฉันใด อารมณ์ความสุขที่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาก็ดี เป็นผลของสมาธิก็ดี เป็นผลของวิปัสสนาก็ดี เป็นผลของมรรค ผลของอริยผลก็ดี มันก็มีเหตุให้เกิดขึ้นมาแล้วก็ตั้งอยู่ดับไป เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้เมื่อเราพิจารณาเราก็รู้ว่า สุขเวทนามันก็ไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือว่าเราพิจารณาทุกขเวทนา ขณะที่เกิดความทุกข์ เมื่อเราเกิดความทุกข์ด้วยแดด แดดเผามันก็เกิดความทุกข์ เมื่อเราเดินเข้าร่มความทุกข์มันก็หายไป
หรือว่าเราเจอความทุกข์ด้วยความเสียใจในเมื่อบิดามารดาตาย ขณะที่เรากำลังบ่นเพ้อพิไรรำพันนั้นแหละ เมื่ออารมณ์มันผ่านไปๆ วันหนึ่งผ่านไป ๒ วันผ่านไปมีอารมณ์ใหม่มากลบ อารมณ์เก่าก็ค่อยเลือนลาง อารมณ์ใหม่มากลบอีกอารมณ์เก่าค่อยเลือนลางๆ ไปตามลำดับๆๆ ในที่สุดความทุกข์นั้นมันก็เสื่อมหายไป เมื่อเราพิจารณาความทุกข์ที่มันเกิดขึ้นมาในจิตในใจของเรา เราก็จะรู้ว่าแม้ความทุกข์ที่เราคิดว่ามันเป็นทุกข์ที่แสนสาหัส เป็นทุกข์ที่เหลือที่จะเยียวยา เป็นความทุกข์เหลือที่จะทนได้
เมื่อเราพิจารณาไปเรื่อยๆ ความทุกข์นั้นมันก็ค่อยๆ หายไป เราก็จะเข้าใจว่า ความทุกข์นั้นมันไม่เกิดกับเราอยู่ตลอดเวลา มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะฉะนั้นเราจะไปยึดมั่นถือมั่นกับความทุกข์ทำไม เราจะไปผูกพันธ์กับความทุกข์ให้เดือดร้อนทำไม เราก็มองความทุกข์ด้วยความวางเฉย มองความทุกข์ด้วยจิตใจเป็นกลางในที่สุดก็เกิดปัญญาขึ้นมาปล่อยวางความทุกข์ ความทุกข์ก็ไม่สามารถที่จะทำให้จิตใจของเราเร่าร้อน ให้ทรมานต่อไป โดยเฉพาะคนทุกวันนี้ไม่รู้จักปล่อยวางในความสุข ไม่รู้จักปล่อยวางในความทุกข์ ถ้ามีความสุขก็คิดว่าความสุขนั้นเป็นของเรา ความสุขกับเรานั้นจะไม่จากกันไปไหน มีภรรยาก็จะเป็นของเราตลอดไป มีสามีก็จะเป็นของเราตลอดไป มีทรัพย์สินเงินทองก็จะเป็นของเราตลอดไป ไม่พิจารณาว่าของนี้มันเป็นของกลางสำหรับโลก เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เวลามีความทุกข์มาเบียดเบียนก็เหมือนกับว่าเรานั้นมีทุกข์อยู่คนเดียวคนอื่นจะไม่ทุกข์กับเรา ความทุกข์นั้นจะเกิดกับเราอยู่ตลอดไปก็เกิดความเสียใจพิไรรำพัน ฆ่าตัวตาย ทำร้ายบุคคลอื่น จ้างวานให้ฆ่าบุคคลอื่นเพราะเกิดความทุกข์ ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าคนไม่เข้าใจพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสให้เราเข้าถึงสุขเวทนา ทุกขเวทนา ด้วยความวางเฉย ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นปลงความสุข ปลงความทุกข์ แล้วก็สามารถจะมีความสุขในการครองชีพ จะเป็นคฤหัสถ์ก็ดี จะเป็นพระก็ดี ก็สามารถที่จะมีความสุขได้ถ้าเราเข้าใจในสุขเวทนา ทุกขเวทนา และอุเบกขาเวทนา
เพราะฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์จึงให้เราพิจารณาเวทนาทั้ง ๓ ประการ ว่าสุขเวทนาเป็นอย่างไร ทุกขเวทนาเป็นอย่างไร อุเบกขาเวทนาเป็นอย่างไร ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นสามารถที่จะเกิดปัญญาต่อสู้ในอารมณ์ที่เป็นปัจจุบัน สามารถที่จะนำธรรมะนี้ปฏิบัติทั้งที่เป็นพระได้ สามารถที่จะนำไปปฏิบัติในขณะที่เราเป็นญาติเป็นโยมได้ ก็สามารถที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรามีความสุขทั้งที่เป็นคฤหัสถ์ ทั้งที่เป็นบรรพชิตได้ แล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเกิดศีล เกิดสมาธิ เกิดปัญญา เกิดการบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ในเมื่อปัญญาของเรามันแก่ตัวขึ้นมาอันนี้เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือให้เราพิจารณาทั้งที่เป็นของตนเอง ทั้งที่คนอื่นประสบแล้วก็น้อมมาสู่ตนเอง
ต่อไปเป็นสติปัฏฐานข้อที่ ๓ เรียกว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ให้เราพิจารณาดูว่าจิตของเรานั้นมีอาการอย่างไร จิตของเรานั้นมีอาการไม่เสมอต้นเสมอปลาย เดี๋ยวก็เป็นสุข เดี๋ยวก็เป็นทุกข์ เดี๋ยวก็อุเบกขา ประเดี๋ยวก็จิตใจของเรานั้นมีราคะ ประเดี๋ยวจิตใจของเราก็ปราศจากราคะ จิตใจของเรามีโทสะ โกรธเคือง เราก็รู้ว่าจิตใจของเรามีโทสะโกรธเคือง
จิตใจของเราปราศจากโทสะ ปราศจากความโกรธเคือง มีจิตใจประกอบด้วยเมตตาอารี เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ เราก็รู้ว่าจิตใจของเราปราศจากสิ่งเหล่านี้คือ ปราศจากความโกรธ จิตใจของเราปราศจากโมหะ เราก็รู้ว่าจิตใจของเราปราศจากโมหะ จิตใจของเราปราศจากความหลงเราก็รู้ว่าจิตใจของเรานั้นปราศจากความหลง จิตใจของเรามีความหลงเราก็รู้ว่าจิตใจของเรามีความหลง จิตใจของเรานั้นมีความหดหู่เราก็รู้ว่าจิตใจของเรานั้นมีความหดหู่ ตกอยู่ภายใต้ของความหดหู่ จิตใจของเราปราศจากความหดหู่เราก็รู้ว่าตกอยู่ภายใต้ของความหดหู่จิตใจของเราปราศจากความหดหู่ ปราศจากความท้อแท้ เราก็รู้ว่าจิตใจของเรานั้นปราศจากความหดหู่ ปราศจากความท้อแท้
จิตใจของเรานั้นมีความฟุ้งซ่านไปในเรื่องอดีตบ้าง ในเรื่องอนาคตบ้าง ฟุ้งซ่านไปด้วยราคะบ้าง ฟุ้งซ่านไปด้วยโทสะบ้าง ฟุ้งซ่านไปด้วยรูปด้วยเสียงด้วยกลิ่นด้วยรสบ้าง เราก็รู้ว่าจิตใจของเราฟุ้งซ่านไปด้วยรูปด้วยเสียงด้วยกลิ่นด้วยรส ฟุ้งซ่านไปด้วยราคะโทสะ มีสติกำหนดรู้อยู่เราก็รู้ว่าจิตใจของเราฟุ้ง จิตใจของเราปราศจากความฟุ้งซ่านมีจิตใจมั่นคงแน่นิ่ง ไม่ฟุ้งไปด้วยอดีต อนาคต ไม่ฟุ้งไปด้วยราคะ โทสะ โมหะ เราก็รู้ว่าจิตใจของเรานั้นปราศจากความฟุ้งซ่าน ไม่ซัดส่ายไปในอารมณ์อื่น
จิตใจของเราเป็นมหรรคตาจิตคือ เป็นจิตที่ใหญ่ เป็นจิตที่มีอำนาจไม่ตกไปสู่อำนาจของราคะโทสะเป็นต้น เราก็รู้ว่าจิตใจของเรานั้นเป็นมหรรคตาจิต เป็นจิตที่ใหญ่เป็นจิตที่มีอำนาจไม่ตกไปในอำนาจอย่างอื่นเราก็รู้ จิตของเราไม่มีจิตอย่างอื่นยิ่งกว่า คือจิตของเรานั้นเป็นสมาธิสงบแน่นิ่งเราก็รู้ว่าจิตใจของเรานั้นสงบแน่นิ่ง จิตใจของเราไม่สงบแน่นิ่งเราก็รู้ว่าจิตใจของเรานั้นไม่สงบแน่นิ่ง คือเรารู้ทั่วถึงทั่วพร้อมทันขบวนการของจิต ไม่เผลอไปตามอำนาจของราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อวิชชา อุปาทาน
เมื่อเราพิจารณาดูจิตของเราอยู่อย่างนี้ เราก็จะทราบชัดว่าจิตของเราเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือขณะที่จิตใจของเราเกิดราคะขึ้นมาราคะนั้นก็ไม่ครอบงำจิตใจของเราอยู่ตลอดเวลา ไม่นานราคะมันก็สงบราคะก็ปราศจากจิตของเรา หรือว่าโทสะมันเกิดขึ้นมาในจิตในใจของเรา โทสะนั้นมันก็ตั้งอยู่ไม่นานอารมณ์อื่นก็มา คืออารมณ์หลงมันเกิดขึ้นมาอารมณ์หลงก็ตั้งอยู่ไม่นาน ความหดหู่มันก็เกิดขึ้นมา ความหดหู่มันก็ตั้งอยู่ไม่นานความหดหู่ก็ปราศจากไป ความท้อแท้เกิดขึ้นมาแทนที่ความท้อแท้มันตั้งอยู่ไม่นาน ความฟุ้งซ่านมันก็เกิดขึ้นมาแทนที่ ความฟุ้งซ่านมันก็ตั้งอยู่ไม่นาน ความฟุ้งซ่านปราศจากไป ความสงบมันเกิดขึ้นมา จิตใจของเรามันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อยู่ในลักษณะอย่างนี้
จะเป็นอารมณ์ที่ชอบใจก็ดี ไม่ชอบใจก็ดี เสียใจก็ดี ไม่เสียใจเป็นอุเบกขาก็ดี อารมณ์อย่างไรก็ตามมันเกิดขึ้นมาในจิตในใจของเราแล้ว มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่อย่างนี้ เมื่อเราพิจารณาดูอยู่อย่างนี้เราก็รู้ว่า จิตใจของเรานั้นมันไม่เที่ยงเป็นอนิจจัง มันเป็นทุกขังทนอยู่ในสภาพเดิมๆ ไม่ได้ เป็นอนัตตา บังคับบัญชาให้อยู่ในอำนาจของตัวเอง จะให้มันเป็นสุขอยู่อย่างนี้ จะให้มันสงบอยู่อย่างนี้ ไม่ให้มันฟุ้งซ่าน ให้มันแน่นิ่งอยู่ในความสงบ เสพปีติธรรมอยู่อย่างนี้ มันก็ไม่ได้
เมื่อเราพิจารณาดูอยู่อย่างนี้เราก็จะทราบชัด ไม่ยึดมั่นถือมั่นในความคิดของตนเอง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในจิตใจของตนเอง เมื่อเกิดราคะขึ้นมาก็ไม่ยึดมั่นในราคะ เกิดโทสะขึ้นมาก็ไม่ยึดมั่นในโทสะ เมื่อเราไม่ยึดมั่นในโทสะ ราคะ โมหะอย่างนี้ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของเรานั้นเกิดความวางเฉยขึ้นมา มีสติพิจารณาดูรู้จิตอยู่ในขณะอย่างนี้ไม่เสียใจ พอใจ ชอบใจในจิตของตนเอง เห็นจิตนั้นเป็นเพียงแต่สภาวธรรมอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นมาแล้ว ตั้งอยู่ ดับไป มีจิตใจพิจารณาดู รู้สภาวะที่เป็นปัจจุบันธรรมดูอยู่อย่างนั้น เมื่อมีสติพิจารณาสภาวธรรมเป็นอยู่อย่างนั้น จิตใจของเราก็แน่วแน่ เมื่อแน่วแน่ก็เป็นสมาธิ เมื่อเป็นสมาธิก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปัสสนาขึ้นมา เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นมาก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดพระไตรลักษณ์คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในภาคปฏิบัติขึ้นมา เมื่อเกิดอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในภาคปฏิบัติขึ้นมา ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปฏิเวธธรรม คือการบรรลุมรรคผลนิพพานตามมา อันนี้เป็นการพิจารณาจิตตานุปัสสนา
ข้อที่ ๔ คือ ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น คือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เรานั้นพิจารณาถึงธรรม ธรรมคือธรรมที่พิจารณาเป็นหมวดเป็นข้อต่างๆ จะเป็นธรรมที่ว่าด้วยนิวรณ์ธรรม ๕ ประการคือ กามฉันทะก็ดี พยาบาทคือความปองร้ายก็ดี ถีนมิทธะคือความท้อแท้ก็ดี พิจารณาอุทธัจจะ กุกกุจจะคือความฟุ้งซ่านก็ดี พิจารณาดูวิจิกิจฉาคือความลังเลสงสัยก็ดี
เมื่อเราพิจารณาดูอยู่อย่างนี้ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ว่า กามฉันทะก็ดี พยาบาทก็ดี ถีนะก็ดี อุทธัจจะ กุกกุจจะก็ดี วิจิกิจฉาก็ดีนั้นมันเป็นของไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ยึดมั่นถือมั่น ให้พิจารณาดูว่ากามฉันทะมันเกิดขึ้นมาด้วยอารมณ์ใด เราพิจารณาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายอย่างไร มันเกิดกามฉันทะขึ้นมา เราพิจารณาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอย่างไร กามฉันทะมันตั้งอยู่ไม่ได้
เราพิจารณาดูทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอย่างไร กามฉันทะนั้นมันดับไป ดับไปจากจิตจากใจของเรา เราก็พิจารณารู้อยู่ รู้อารมณ์ให้เป็นปัจจุบันธรรมก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดศีล เกิดสมาธิ เกิดปัญญา เกิดวิปัสสนาญาณการบรรลุมรรคผลนิพพานตามมา อันนี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยในการพิจารณานิวรณ์ ๕ ประการ หรือเราจะพิจารณาอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ คือรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาหรือพิจารณาดูอายตนะ ๑๒ ประการคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
พิจารณาโพชฌงค์ ๗ จะเป็นสติสัมโพชฌงค์ก็ดี จะเป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ก็ดี จะเป็นวิริยสัมโพชฌงค์ก็ดี จะเป็นปีติสัมโพชฌงค์ก็ดี ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ก็ดี สมาธิสัมโพชฌงค์ก็ดี อุเบกขาสัมโพชฌงค์ก็ดี ให้เราพิจารณารู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดศีล เกิดสมาธิ เกิดปัญญาขึ้นมา
เพราะฉะนั้น ก็ขอให้เรานั้นมาดูว่า สติปัฏฐาน ๔ จะเป็นพิจารณากายก็ดี พิจารณาเวทนาก็ดี พิจารณาจิตก็ดี พิจารณาดูธรรมารมณ์ก็ดี ให้เราสรุปลงไปว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดศีล เกิดสมาธิ เกิดปัญญาขึ้นมา เมื่อเราพิจารณาดูสติปัฏฐานทั้ง ๔ ประการ ให้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้วนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงตรัสว่าจะเกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมา อานิสงส์ของการเจริญสติปัฏฐาน ๔
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า จะเป็นภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็ดี เป็นอุบาสกอุบาสิกาคนใดคนหนึ่งก็ดี ถ้าเจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๗ ปีแล้วบุคคลนั้นพึงหวังผลได้ ๒ ประการคือ อย่างหนึ่งได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ อีกอย่างหนึ่งได้บรรลุเป็นพระอนาคามี หรือว่า ๗ ปีนั้นยกไว้ก่อน เจริญตลอด ๖ ปีก็อาจสามารถที่จะได้หวังผล ๒ ประการคือ อรหัตผลอย่างหนึ่ง พระอนาคามิผลอย่างหนึ่ง ๖ ปียกไว้ ๕ ปีก็สามารถที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์หรือพระอนาคามีได้ ๕ ปียกไว้ ๔ ปียกไว้ ๓ ปียกไว้ ๒ ปียกไว้ก่อน ๑ ปีเมื่อเราเจริญตลอด ๑ ปี ก็สามารถที่จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์หรือพระอนาคามีได้
๑ ปียกไว้ ตลอด ๗ เดือนก็ได้ ๖ เดือนก็สามารถที่จะบรรลุหวังผล ๒ ประการได้ ถ้าผู้มีความเพียรยิ่งไปกว่านั้น ๕ เดือนยกไว้ ๔ เดือนยกไว้ ๓ เดือนยกไว้ ๒ เดือนยกไว้ ๑ เดือนยกไว้ ก็สามารถที่จะได้หวังผล ๒ ประการคือ พระอรหัตผลหรืออนาคามิผล ๑ เดือน ยกไว้ กึ่งเดือนยกไว้ ตลอดถึง ๗ วัน ๓ วัน ๒ วัน ๑ วัน ท่านกล่าวไว้ว่า บุคคลผู้มีบารมีแล้วเมื่อรับเอาสติปัฏฐาน ๔ ตอนเช้าก็สามารถที่จะได้บรรลุพระอรหัตผลตอนเย็น หรืออนาคามิผลตอนเย็น รับเอาสติปัฏฐานตอนเย็น ก็สามารถที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์หรือพระอนาคามีตอนเช้า
เหตุนั้นการเจริญสติปัฏฐาน ๔ นั้นจึงเป็นหนทางเส้นเดียว ซึ่งเป็นเครื่องไปอันเอก เป็นหนทางที่จะนำสรรพสัตว์ทั้งหลายไปบรรลุมรรคผลนิพพาน จึงเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ทั้งหลาย เป็นไปเพื่อความก้าวล่วงเสียซึ่งความร่ำไรรำพัน เป็นไปเพื่อความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งกองทุกข์และโทมนัส เป็นไปเพื่อการบรรลุธรรมอันสัตว์พึงรู้ อันสัตว์พึงถึง เป็นไปเพื่อการทำพระนิพพานให้แจ้ง คือการบรรลุมรรคผลนิพพาน
เหตุนั้นสติปัฏฐาน ๔ นั้นจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พุทธบริษัททั้งหลายนั้นเอาใจใส่เพื่อที่จะทำกาย วาจา ใจ ของตนให้ถึงแก่นพุทธศาสนา เมื่อเราถึงแก่นพุทธศาสนาแล้วชื่อว่า เรานั้นเป็นผู้มั่นคงในพุทธศาสนาไม่เอนเอียงไปสู่ศาสนาอื่น ถึงบุคคลอื่นจะมาจ้างเราเป็นพันล้าน หมื่นล้าน เราก็ไม่สามารถที่จะไปนับถือศาสนาอื่นได้เพราะเรามอบกายถวายชีวิต เรียกว่ามอบชีวิตนั้นถวายแก่พุทธศาสนาแล้ว เพราะฉะนั้นก็ขอให้เราซึ่งเป็นพุทธบริษัทนั้นมีจิตใจมุ่งตรงต่อภาคปฏิบัติ ที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สืบทอดพุทธศาสนายืนยาวต่อไป แล้วก็เผยแผ่พุทธศาสนาช่วยกัน
วันนี้รายการธรรมะก่อนนอนก็เห็นว่าเวลาก็หมดลงพอดี อาตมภาพ พระมหาชอบ พุทฺธสโร ก็ขออำนาจคุณพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้น จงมารวมกันเป็นตบะ เป็นเดชะ คุณศีล คุณสมาธิ คุณปัญญานั้นจงมารวมกันเป็นตบะ เป็นเดชะ เป็นพลวปัจจัยให้ญาติโยมทั้งหลายผู้ที่สดับรับฟังธรรมะก่อนนอนนั้น จงเป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยจตุรพิธพรชัย ทั้ง ๔ ประการ คืออายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ ธรรมสารสมบัติ ขอให้โชคลาภร่ำรวย มั่งมีศรีสุข เจริญในหน้าที่การงานตลอดไป ขอให้มีความสุขทุกทิวาราตรีกาล ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน โดยถ้วนหน้าทุกคนทุกท่านเทอญ.