หนทางแห่งการปฏิบัติ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ขอนอบน้อมแด่คณะครูบาอาจารย์พระเถรานุเถระ ขอความเจริญในธรรมจงมีแก่คณะญาติโยมสาธุชนผู้สนใจในการประพฤติปฏิบัติธรรม ณ โอกาสบัดนี้ ก่อนอื่นก็ขอให้ญาติโยมสาธุชนทั้งหลายได้เอามือลง คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้เอามือลงแล้วก็นั่งสมาธิฟัง เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นก็ขอให้ถืออิริยาบถ ทุกอิริยาบถนั้นเป็นการประพฤติปฏิบัติธรรม ฉะนั้นก็ขอให้นั่งสมาธิฟัง กำหนดที่หูข้างหนึ่ง กำหนดว่า “ได้ยินหนอ ได้ยินหนอ” หรือว่า “เสียงหนอ เสียงหนอ” คำใดคำหนึ่งตามแต่เราจะถนัด ตั้งสติไว้ที่หูข้างที่เราได้ยินเสียงชัดเจน “เสียงหนอ เสียงหนอ” หรือว่า “ได้ยินหนอ ได้ยินหนอ” จนกว่าจิตของเราจะรวมกันเป็นสมาธิ จนกว่าจิตของเราจะเข้าสมาธิไป แต่พยายามจำให้ได้ว่ามันเข้าสมาธิไปตอนผู้เทศน์ เทศน์ถึงเรื่องอะไร อาตมภาพกล่าวธรรมมะถึงเรื่องอะไร แล้วเข้าสมาธิไป อันนี้ก็ขอให้คณะญาติโยม คณะครูบาอาจารย์ทุกรูปได้พยายามจำให้ได้
ก่อนที่จะได้กล่าวธรรมมะก็ขอสดุดี ขออนุโมทนาสาธุการ กับท่านพระอาจารย์ประวิทย์ ภทฺทโก พระอาจารย์สอน กิตฺติวณฺโณ พระอาจารย์มหาสุนทร สีลสุทฺโธ ได้เป็นเรี่ยวแรงเป็นกำลังได้จัดการประพฤติปฏิบัติธรรมขึ้นที่วัดอดิศรแห่งนี้ แต่ก่อนโน้นการประพฤติปฏิบัติธรรมไม่ได้ปรากฏมีที่วัดอดิศร กระผมเคยมาเยี่ยมวัดอดิศรครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ มาคิดแล้วก็ประมาณเกือบ ๒๐ ปีมาแล้ว แต่ก่อนโน้นวัดอดิศรนั้นไม่เป็นในลักษณะอย่างนี้
แต่ก่อนก็ได้มาบิณฑบาตกับท่านพระอาจารย์สอนทางเรือ ก็ได้รับรสของการบิณฑบาตทางเรือว่าเป็นอย่างไร แล้วก็วัดอดิศรแต่ก่อนโน้นก็ไม่ได้เป็นระเบียบ ไม่ได้สวยงาม ไม่ได้มีอาคารต่างๆ พร้อมสรรพ ห้องน้ำบริบูรณ์ในลักษณะอย่างนี้ แต่ด้วยการพัฒนาของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระครูอรรถสารคุณ หรือหลวงพ่อสายหยุดที่เรารู้จักกัน ก็เคยมาได้กราบท่าน ครั้งแรกมานั้นมากับหลวงพ่อพระครูภาวนากิจจาทร พระอาจารย์ประวิทย์ได้มาร่วมกันมาฉันร่วมกันกับท่าน ครั้งแรกก็ปี พ.ศ.๒๕๓๕ แล้วก็เวียนไปมา กราบท่านอยู่เป็นประจำ
แต่เมื่อวัดอดิศรนั้นได้มีพระอาจารย์ประวิทย์ มีพระอาจารย์สอน ได้มีพระอาจารย์มหาสุนทรได้ช่วยกันเป็นกำลังใหญ่ของหลวงพ่อสายหยุดก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้วัดอดิศรนั้นพัฒนาอย่างมาก เรียกว่าพัฒนาโดยบริบูรณ์สมบูรณ์ทุกอย่างในด้านวัตถุ เกี่ยวกับอาคาร เกี่ยวกับที่พัก เกี่ยวกับที่รับรอง เกี่ยวกับที่จอดรถต่างๆ สมบูรณ์ไปหมด ทุกสิ่งทุกประการเรียกว่าสถานที่สัปปายะแล้ว เพราะฉะนั้น สถานที่ที่จะบริบูรณ์ในลักษณะอย่างนี้หาได้ยาก วัดที่จะพัฒนาเป็นระเบียบเรียบร้อยในลักษณะอย่างนี้หาได้ยาก ฉะนั้นอาตมภาพกระผมก็ขออนุโมทนาสาธุการในบุญบารมี ในความดี ในสติปัญญา ในการเสียสละของท่านพระอาจารย์ประวิทย์ ของพระอาจารย์สอน ตลอดถึงพระอาจารย์มหาสุนทรพร้อมด้วยญาติพี่น้องทั้งหลายทั้งปวง
ก่อนอื่นก็ขออนุโมทนากับคณะครูบาอาจารย์ญาติโยมทั้งหลายที่ได้มาร่วมกันประพฤติปฏิบัติธรรม การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นถือว่าเป็นของหาได้ยาก เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเป็นการทวนกระแสของจิตใจ ตามธรรมดาจิตใจของคนชอบไหลไปสู่ที่ต่ำเหมือนกับกระแสน้ำย่อมไหลไปสู่ที่ต่ำ ไหลเรื่อย ไหลเอื่อยลงไปโดยถ่ายเดียว ในที่สุดก็ต้องไหลลงไปสู่ทะเลหลวงชะลาลัยไปรวมกันอยู่ที่ทะเลใหญ่นั้น สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงก็เหมือนกัน เมื่อปล่อยกระแสจิตของตน ให้ไหลเรื่อยไหลเอื่อยไปตามความโกรธ ไปตามความโลภ ไปตามความหลง ปล่อยจิตปล่อยใจของตน ไปตามรูป ตามเสียง ตามกลิ่น ตามรส ตามสัมผัส ตามอารมณ์ต่างๆ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กาย วาจา ใจ ของบุคคลนั้นไหลไปสู่ความยินดี ไหลไปสู่ความยินร้าย ไหลไปสู่ความยึดมั่น ไหลไปสู่ความผูกพัน ก่อให้เกิดราคะ ก่อให้เกิดโทสะ ก่อให้เกิดโมหะ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ กายวาจาใจของคนนั้นไหลไปสู่กระแสของวัฏฏสงสาร แล้วไปนอนกองอยู่ในห้วงมหรรณพภพสงสาร อันนี้เป็นลักษณะชีวิตของคนทั้งหลายทั้งปวง
แต่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เป็นผู้ทรงเต็มเปี่ยมด้วยพระบารมี พระองค์ทรงเป็นผู้เต็มเปี่ยมด้วยสติปัญญา พระองค์ได้หาทางพ้นทุกข์ด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรมในที่สุดพระองค์ก็ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยมกว่าเทวดา มนุษย์ พรหม ทั้งหลายทั้งปวง เพราะพระองค์นั้นไม่มีกิเลส ไม่มีราคะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ เป็นผู้มีกมลสันดานนั้นบริสุทธิ์ผ่องใส เพราะฉะนั้น พระองค์จึงปราศจาก ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นผู้ประเสริฐกว่ามนุษย์ เทวดา มาร พรหม ก็เพราะการประพฤติปฏิบัติ
การประพฤติปฏิบัตินั้นก็ถือว่าเป็นของที่หาได้ยาก คือยากที่จะประพฤติปฏิบัติตามได้ บุคคลจะประพฤติปฏิบัติเพื่อที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานนั้น เป็นของหาได้ยาก เพราะตามธรรมดาคนทั้งหลายทั้งปวงนั้น ย่อมมีจิตยินดีในรูป ยินดีในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในอารมณ์ต่างๆ ทั้งๆ ที่รู้ว่ารูปนั้นเป็นของไม่เที่ยง เสียงก็ดี รสก็ดี กลิ่นก็ดี สัมผัสก็ดี อารมณ์ต่างๆ ก็ดี เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่คนทั้งหลายนั้นก็ไม่สามารถที่จะต่อต้านความยินดี กิเลสที่มีอยู่ในจิตในใจของตนได้ จำเป็นต้องยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คนนั้นไม่สามารถที่จะยินดีในการประพฤติปฏิบัติธรรมได้ คณะครูบาอาจารย์ ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลาย ได้มาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ก็ถือว่าเรานั้นเป็นผู้ที่หาได้ยาก เรียกว่าหาผู้ประพฤติปฏิบัติเหมือนเราได้ยาก
เรามองไปดูรอบข้าง ในตำบลก็ดี ในอำเภอก็ดี ในจังหวัดก็ดี ในประเทศดี ในโลกก็ดี คิดดูว่าคนจะมาประพฤติปฏิบัติธรรมเหมือนเรานั้น มีกี่คน มีกี่ท่าน มีกี่ชีวิต แล้วมาประพฤติปฏิบัติจริงจัง เดินจงกรม นั่งภาวนา กำหนดให้เห็น ต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของรูปของนาม อันเป็นหนทางแห่งการบรรลุมรรคผลนิพพานนี้มีอยู่กี่คน ให้เราพิจารณาดูเราก็จะรู้ว่าเป็นของหายาก เพราะฉะนั้น เมื่อเราทั้งหลายทั้งปวงได้พบของหายาก ของอันประเสริฐ กว่าที่จะพบของหายากนี้ได้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีตั้ง ๔ อสงไขย กับอีก ๑๐๐,๐๐๐ มหากัป กว่าที่จะได้บรรลุตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า กว่าจะได้รู้หนทางอันประเสริฐ แล้วเราก็มาเกิดทันพระพุทธศาสนา ได้เข้ามาในเครือข่ายแห่งการตรัสรู้ธรรม ในพระพุทธศาสนาคือการปฏิบัติธรรม
แต่ถ้าเราเกิดในสถานที่อื่น ไปอยู่ในประเทศอื่น อยู่ในสังคมอื่น การที่เราจะมาประพฤติปฏิบัติธรรมในลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งที่หาได้ยาก เรียกว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ฉะนั้นขอให้ญาติโยม คณะครูบาอาจารย์ได้เกิดความปีติ เกิดความรื่นเริง เกิดความบันเทิงใจ โดยเฉพาะท่านพระอาจารย์ประวิทย์ได้นำการประพฤติปฏิบัติมาสู่วัดอดิศร ก็เหมือนกับการที่พระอาจารย์ประวิทย์นั้นได้ขุดสระใหญ่ให้สรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นให้มาดื่มกินกัน เรียกว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายกระหายน้ำ ก็มาดื่มกินกันให้หายความกระหายน้ำ ก็เหมือนกับคนทั้งหลายทั้งปวงนั้นถูกความโกรธครอบงำ ถูกความโลภครอบงำ ถูกความทุกข์ครอบงำต่างๆ ถูกอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงครอบงำ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์นานาประการ ทุกข์เพราะไม่มีทรัพย์ ทุกข์เพราะลูกเมียไม่ดี ทุกข์เพราะหน้าที่การงานของตนเองนั้นไม่ได้สมใจที่เราปรารถนา ทุกข์เพราะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ เรียกว่าทุกข์ร้อยแปดประการ
เมื่อเกิดความทุกข์ในลักษณะอย่างนี้แหละ สระน้ำใหญ่หรือว่าธรรมะที่พระอาจารย์ประวิทย์ได้นำมาเผยแผ่ที่วัดอดิศรนี้ก็จะเป็นที่พึ่งของญาติโยมทั้งหลายทั้งปวง เพราะธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นสามารถที่จะดับความทุกข์ ทุกอย่างได้ เรียกว่าความทุกข์ทางโลกก็ดี ความทุกข์ทางธรรมก็ดี ธรรมะนั้นสามารถที่จะบรรเทาความทุกข์เหล่านั้นได้ อย่างเช่นความทุกข์ทางโลก เรื่องความจน ถ้าผู้มีความขยันตามหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกอบไปด้วยอุฏฐานสัมปทา ประกอบด้วยการรักษา ประกอบด้วยเพื่อนที่ดี เลี้ยงชีพโดยสมควร บุคคลนั้นก็สามารถที่จะเจริญรุ่งเรืองในทางโลกได้
ส่วนทางธรรมถ้าผู้ใดยังไม่มีศีล เราก็ให้รักษาศีล ผู้ไม่มีสมาธิเราก็ให้เจริญสมถกรรมฐาน ผู้ใดไม่มีวิปัสสนาญาณเราก็ให้เจริญวิปัสสนาญาณก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นคลายความทุกข์ภายในได้ เพราะการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน สมถกรรมฐานเหมือนกับญาติโยมทั้งหลายกำลังประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่นี้ ถือว่าเป็นหนทางแห่งความคลายทุกข์ แห่งการแก้ทุกข์ แห่งการดับทุกข์ไปโดยลำดับ
เหมือนกับคณะญาติโยม คณะครูบาอาจารย์ที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้แหละ เมื่อเราเจริญภาวนา หรือเจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ที่เรากำลังประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่นี้ คือการประพฤติปฏิบัติธรรม การเดินจงกรม นั่งภาวนา พองหนอ ยุบหนอนี้ เป็นได้ทั้งสมถะ เป็นได้ทั้งวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าผู้ใดกำหนดบทพระกรรมฐานมีสติตั้งมั่น อุปนิสัยของบุคคลนั้นน้อมไปในสมถะก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สติของบุคคลนั้นปรากฏชัด เมื่อสติปรากฏชัด จิตมันก็ดิ่งลงสู่อารมณ์เดียว
เมื่อจิตดิ่งลงสู่อารมณ์เดียวก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปีติ เกิดปัสสัทธิ แล้วก็เกิดปฐมฌาน ทุติยาน ตติยฌาน จตุตถฌานขึ้นมา เรียกว่าอารมณ์ของสมถะก็จะปรากฏชัดแก่บุคคลนั้น แต่ถ้าบุคคลใดมีบารมีทางวิปัสสนากรรมฐาน ขณะที่กำลังพิจารณาอาการพองอาการยุบ กำลังพิจารณารูปนามอยู่อย่างนั้นแหละ สติกำลังพิจารณาอยู่ ปัญญาคือสัมปชัญญะนั้นก็จะพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น เสื่อมไปของรูปนาม เมื่อพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นเสื่อมไปของรูปนาม วิปัสสนาญาณก็เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น
เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นแล้ว วิปัสสนาญาณก็จะเจริญไปตามลำดับ วิปัสสนาญาณที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ไล่ไปจนถึงวิปัสสนาญาณที่ ๑๖ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลนั้นได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ในที่สุด อันนี้เป็นเพราะการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เพราะฉะนั้น ญาติโยม ครูบาอาจารย์ ที่กำลังมาประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่นี้ ก็ถือว่าเรานั้นมาประพฤติปฏิบัติธรรมอันเป็นของหายาก เพราะฉะนั้น เราควรตั้งจิตตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมให้ดี เพราะโอกาสที่เราจะมาประพฤติปฏิบัติธรรมในลักษณะเช่นนี้ โอกาสหน้าไม่รู้ว่าจะมีหรือไม่ เพราะว่าความเจ็บก็ดี ความตายก็ดี ไม่รู้ว่าจะมาครอบงำเราเวลาใด ตอนเช้าเราอาจจะพูดได้ เราอาจจะเจรจาพาทีได้ แต่ตอนบ่ายไม่แน่ว่าเราอาจจะถูกพยาธิคือความเจ็บนั้นครอบงำ หรืออาจจะถูกความตายนั้นครอบงำ หรือว่าตอนบ่ายเราอาจจะพูดได้เจรจาได้ สนทนาปราศรัยได้ แต่ตอนเย็นเราอาจจะถูกความเจ็บครอบงำ หรือถูกความตายครอบงำ
ชีวิตของเราเป็นของไม่แน่นอน เมื่อเรามีโอกาสประพฤติปฏิบัติธรรมแล้ว ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายนั้นได้มุ่งเพื่อที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมให้ดีที่สุด เพราะอะไรจึงประพฤติปฏิบัติธรรมให้ดีที่สุด เพราะการประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าเราประพฤติปฏิบัติธรรมไม่ให้ดีที่สุด เรายังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน การประพฤติปฏิบัติธรรมของเราก็ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร เรียกว่าเราจะต้องมีภาระมีหน้าที่ประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่อย่างนั้นร่ำไป ผลของการประพฤติปฏิบัติธรรมก็ยังไม่สามารถที่จะยังความสุข ยังความพอใจ ไม่สามารถยังความทุกข์ให้หมดไปจากจิตจากใจของเราได้ ถ้าเรายังไม่ได้ผลของการประพฤติปฏิบัติธรรม
การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเราเน้นไปที่การบรรลุมรรคผลนิพพาน การบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นจุดสุดยอดของพระศาสนา เป็นจุดจบของพรหมจรรย์ เป็นที่ทำให้พรหมจรรย์ของเรานั้นบริสุทธิ์บริบูรณ์ ทำให้พรหมจรรย์ของเรานั้นมีฤทธิ์มีเดช มีอำนาจ มีวาสนา มีบารมี มีความอยู่เย็นเป็นสุข อยู่ในเพศของพรหมจรรย์ก็เพราะอาศัยการประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน แต่ถ้าจิตใจของเรายังไม่ได้เข้าถึงการบรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว จิตใจของเราซึ่งเป็นปุถุชน ก็เป็นของธรรมดา มีขึ้นมีลงมีแล้งมีฝนเป็นธรรมดา เรียกว่ามีโกรธ มีโลภ มีหลง มีความผิดพลาดทางกายวาจาเป็นธรรมดา
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า เป็นชีวิตที่ไม่แน่นอน เพราะเป็นชีวิตที่ถูกความโกรธ ความโลภ ความหลง ถูกกิเลสบังคับจิต บังคับใจอยู่ตลอดเวลา อย่างเช่นเราโกรธ ทำไมเราจึงโกรธ เพราะกิเลสนั้นบังคับเรา เรียกว่าเราไม่ทันกิเลสจึงโกรธ ทำไมเราจึงเกิดราคะ เกิดตัณหาขึ้นมา กระทำชู้สู่สมต่างๆ ก็เพราะจิตใจของเรานั้นไม่ทันอำนาจของราคะ ปล่อยให้ราคะนั้นครอบงำจิตใจของเรา เราจึงกระทำบาปไปต่างๆ นานา หรือว่าทำไมเราจึงเกิดความหลง ก็เพราะว่ากิเลสคือโมหะนั้นปิดบังจิตใจของเรา ไม่รู้ดี ไม่รู้ชั่ว ไม่รู้บาป ไม่รู้บุญ ไม่รู้คุณในโลกนี้ ไม่รู้คุณในโลกหน้า คุณอย่างยิ่งคือพระนิพพานเราก็ไม่รู้ เพราะอะไร ? เพราะโมหะนั้นมาครอบงำจิตใจ เรียกว่าเป็นกิเลส เป็นนายเหนือหัวของเราตลอดเวลา
ถ้าเราประหัตประหานกิเลสเหล่านี้ไม่ได้เราปรารถนาที่จะมีความสุขก็เกิดความสุขได้ยาก เราปรารถนาที่จะเกิดความสงบมันก็สงบได้ยาก เราปรารถนาที่จะใช้ชีวิตให้อยู่สบายๆ หรือชีวิตที่เย็นเป็นนิพพาน เรียกว่าชีวิตที่เย็น ชีวิตที่ดับ นี้เราก็ใช้ชีวิตอย่างนั้นยากลำบาก เพราะอะไร ? เพราะเราเห็นรูปเราก็ยังมีความโกรธ มีความชอบ มีความชัง เราได้ยินเสียง เราก็ยังมีความชอบ มีความชัง มีความพอใจ ไม่พอใจ มีความผูกพันธ์ มีความเบื่อ มีความหน่าย ถ้าในลักษณะอย่างนี้ก็แสดงว่าเรายังมีเชื้อแห่งความทุกข์อยู่ เราจะไปอยู่ในที่ใดก็ตาม เราจะหลบอยู่ในห้องก็ตาม เราจะไปต่างประเทศก็ตาม ความโกรธ ความโลภ ความหลง ความอุปาทานยึดมั่นต่างๆ มันก็ติดตามตัวของเราไปในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ความทุกข์นั้นก็เหมือนเงาติดตามตัวเรา เราจะไปไหนๆ อยากที่จะพ้นไปจากความทุกข์มันก็พ้นไม่ได้ เพราะความทุกข์มันอยู่ที่ใจของเรา อยู่ที่ความโกรธ อยู่ที่ความโลภ อยู่ที่ความหลง อยู่ที่กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงแก้ไขปัญหาชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้น พระองค์ทรงแก้ไขลงที่ใจของสรรพสัตว์ทั้งหลาย พระองค์ทรงพิจารณาว่าใจของสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นมืดมนอนธการ ด้วยอำนาจของกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด พระองค์ก็ทรงพิจารณาธรรมที่จะมาสอนสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงนั้น ให้ได้ประพฤติปฏิบัติให้รู้แจ้งให้เห็นจริง พระองค์ทรงพิจารณาธรรมที่สรรพสัตว์ทั้งหลายประพฤติปฏิบัติแล้วความโกรธมันดับไป พระองค์ทรงพิจารณาธรรมที่สรรพสัตว์ทั้งหลายประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วความโลภความหลงมันจะหายไปดับไปสิ้นไปสูญไป พระองค์จึงทรงเอาธรรมเหล่านั้นมาสั่งสอนผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมสาวกของพระองค์ทั้งหลายทั้งปวง
เราทั้งหลายทั้งปวงที่มาร่วมประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ก็ถือว่าเรานี้เป็นผู้โชคดี ถือว่าเป็นผู้มีบุญ มีวาสนา มีบารมี ก่อนที่ร่างกายของเราจะแก่ใช้การไม่ได้ ก่อนที่เราจะถูกความเจ็บครอบงำจนร่างกายของเราทุพพลภาพ ก่อนที่เราจะตายไปก็ขอให้เราได้สร้างสมอบรมคุณงามความดี สร้างบารมี สร้างศีล สร้างสมาธิ สร้างปัญญา สร้างมรรค สร้างผล สร้างพระนิพพาน ให้เกิดขึ้นในจิตในใจของเราให้มากเท่าที่จะมากได้ เพราะหนทางอื่นที่จะทำให้จิตใจทำให้ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นอยู่เย็นเป็นสุข นอกจากการประพฤติปฏิบัติธรรมให้เห็นแล้ว
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ไม่มีทางอื่น เรียกว่า เอกมคฺโค เป็นหนทางเส้นเดียว เป็นหนทางสายเดียว ที่สรรพสัตว์ทั้งหลายใช้ออกจากกองทุกข์ได้ เพราะฉะนั้น เรามาประพฤติปฏิบัติธรรม ก็ขอให้เรานั้นตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม เราเดินจงกรมก็ขอให้เราตั้งใจเดิน ให้เห็นต้นยก กลางยก สุดยก ให้เห็นต้นย่าง กลางย่าง สุดย่าง ให้เห็น ต้นเหยียบ กลางเหยียบ สุดเหยียบ ขอให้เรามีสติคือความระลึกได้ เราจะคู้ จะเหยียด จะก้ม จะเงย เราก็มีความระลึกว่า เราคู้ เราเหยียด เราก้ม เราเงย เรียกว่ามีสติระลึกได้แล้วเรามีสัมปชัญญะความรู้ตัว คือให้เรามีความรู้ตัวทั่วพร้อม เราคู้ก็รู้ว่าเราคู้ เราเหยียดก็รู้ว่าเราเหยียด เราก้มก็รู้ว่าเราก้ม เราเงยก็รู้ว่าเราเงย ในขณะนั้นอย่าให้ความโลภ อย่าให้ความโกรธ อย่าให้ความหลง อย่าให้ความยินดี ความไม่ยินดีเกิดขึ้นในขณะนั้นได้ อันนี้เรียกว่าเราเจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน
ถ้าเรามีสติระลึกได้ การคู้ การเหยียด การก้ม การเงย เรามีสติระลึกได้ในต้นพอง กลางพอง สุดพอง เรามีสติระลึกได้ในลมหายใจเข้าออก ในลักษณะอย่างนี้คือการเจริญสมถะ คือทำให้จิตใจของเราละอารมณ์ ทิ้งอารมณ์ จะเป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส ก็ทิ้งอารมณ์ไป เมื่อจิตของเราทิ้งอารมณ์ไป จิตใจของเราก็จะเบาขึ้น ละเอียดขึ้น เมื่อจิตใจของเราเบาขึ้น ละเอียดขึ้น สมาธิของเราก็จะเพิ่มขึ้น เมื่อสติของเราปรากฏชัดเจน ทิ้งอารมณ์มากเข้าๆ จิตของเราก็ละเอียดประณีตสุขุมมากเข้า
เมื่อจิตใจทิ้งอารมณ์ถึงที่สุดแล้ว ก็ทำให้เราได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ไปตามอำนาจของสติของเรา อันนี้เรียกว่าเป็นการเจริญสมถกรรมฐาน แต่ถ้าเรามีสัมปชัญญะ ความรู้ตัวทั่วพร้อม กำหนดไปด้วยขณะที่เราเหยียด เราระลึกได้ว่าเหยียด แต่เรามีสัมปชัญญะรู้ตัวว่าอาการเหยียดของเรานั้นมันเกิดดับอย่างไร มันคู้ไปอย่างไร มันเหยียดไปอย่างไร มีสัมปชัญญะรู้ตัว รู้อาการของการคู้ รู้อาการของการก้มการเงย อันนี้เรียกว่าเป็นการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จะเป็นเด็กก็ดี จะเป็นผู้ใหญ่ก็ดี จะเป็นคนโง่ก็ดี จะเป็นคนฉลาดก็ดี
เมื่อปฏิบัติอย่างนี้แล้วเรียกว่าเป็นการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน สามารถที่จะยังวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นได้ด้วยกันทั้งนั้น แล้วก็สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้น การเจริญสมถกรรมฐานก็ดี วิปัสสนากรรมฐานก็ดี ท่านจึงกล่าวว่าเด็กปฏิบัติได้ผู้ใหญ่ปฏิบัติดีพระเถรเณรชีก็ปฏิบัติดีด้วยกันทั้งนั้น เพราะอะไร ? เพราะเป็นการปฏิบัติง่าย
ถ้าเราเข้าใจการประพฤติปฏิบัติธรรมแล้ว การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเป็นการประพฤติปฏิบัติที่ง่าย เรียกว่าเรามีสติ มีสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม ไม่โกรธ ไม่โลภ ไม่หลง ไม่ยินดียินร้ายในอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง เท่านี้ก็ถือว่าเป็นการเจริญแล้ว อันนี้ถ้าเราคิดว่าง่ายก็ง่าย แต่ถ้าเราคิดว่ายากก็ถือว่ายาก เพราะอะไร ? เพราะการที่เราจะประคับประคองจิตของเรา ไม่ให้ยินดีในรูปในเสียงในกลิ่นในรส ไม่ให้เกิดความโกรธ ความโลภ ความหลงนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เพราะสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นยินดีในรูป ยินดีในเสียง ยินดีในกลิ่น ยินดีในรสนั้นมานับภพ นับชาติ นับกัปป์ นับกัลป์ไม่ได้ เรียกว่ากิเลสนั้นคือ นายเหนือหัว กิเลสนั้นเป็นบิดามารดามา นับภพ นับชาติ นับกัปป์ นับกัลป์ไม่ได้ จิตใจคุ้นเคยต่อการยินดีในรูป จิตใจคุ้นเคยต่อการยินดีในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส จิตใจเคยหมักหมมอยู่ในกามคุณ ๕ นับภพ นับชาติ นับกัปป์ นับกัลป์ไม่ได้แล้ว อยู่ดีๆ เราจะทำจิตทำใจของเราไม่ให้ยินดีในสิ่งเหล่านั้นมันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก
การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นยากก็คือ ยากตอนที่เราจะทวนกระแสของกิเลส ทวนกระแสของอารมณ์ ทวนกระแสของสังคม ทวนกระแสของความโกรธ ความโลภ ความหลงต่างๆ นี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก บุคคลผู้มีบารมี บุคคลผู้มีความดี มีครูบาอาจารย์คอยแนะนำที่ถูกต้อง จึงสามารถที่จะทวนกระแสของกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้ เราคิดดู พระสารีบุตรเป็นผู้มีปัญญามาก แต่ก็ไม่สามารถที่จะทวนกิเลสบรรลุโดยลำพังตนเองได้ ไม่สามารถที่จะยังมรรคผลนิพพานให้เกิดโดยลำพังตนเองได้ ต้องอาศัยบรมครูคือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องอาศัยราชาแห่งธรรมคือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้แสดงธรรมโปรดพระอัสสชิเถระ
พระอัสสชิเถระจึงนำมาโปรดพระสารีบุตรอีกครั้งหนึ่ง อันนี้เรียกว่าบุคคลผู้มีบารมีขนาดไหนก็ตาม แต่ถ้าเราไม่ได้อยู่ในสำนักของครูบาอาจารย์ที่ดีแล้ว โอกาสที่จะบรรลุมรรคผลนิพพาน โอกาสที่จะสิ้นจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้น การประพฤติปฏิบัติธรรมถ้าเราว่ายาก มันก็ยาก ถ้าเราว่าง่าย มันก็ง่าย ที่ยากอีกก็คือการที่เรามาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วเราต้องอดทนต่อความหนาว อดทนต่อความร้อน อดทนต่อยุง อดทนต่อความกระหาย อดทนต่อความลำบากต่างๆ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การประพฤติปฏิบัติธรรมของเรานั้นไม่ค่อยที่จะได้ผล เพราะบุคคลที่เกิดมาในยุคปลายพระศาสนานั้นเป็นประเภทที่มีบารมีน้อย มีศรัทธาน้อย โอกาสที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมเอาตายเป็นเดิมพัน เอาชีวิตเป็นเดิมพันนั้นเป็นของหายาก
บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมถ้าไม่ได้บรรลุธรรม ข้าพเจ้าจะประพฤติปฏิบัติธรรมไปจนตายในลักษณะอย่างนี้ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เรียกว่าหาคนที่จะอธิษฐานจิตในลักษณะอย่างนั้นได้ยาก ส่วนมากจิตใจโน้มไปสู่การสร้างบ้าน สร้างเรือน สู่การหาทรัพย์สินเงินทอง สู่การขวนขวายหาวัตถุต่างๆ อันนี้เป็นความขวนขวายของชาวโลกโดยมาก เพราะฉะนั้น อัชฌาสัยของชาวโลกทั้งหลายทั้งปวงจึงห่างไกลจากธรรม และธรรมก็ห่างไกลจากจิตใจของชาวโลกทั้งหลายทั้งปวง
เพราะฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์จึงตรัสอัชฌาสัย ๖ ประการ ของผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม ว่าผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมผู้ใดอยากบรรลุมรรคผลนิพพานผู้นั้นต้องยังอัชฌาสัย ๖ ประการนี้ให้บริบูรณ์ถ้าผู้ใดยังอัชฌาสัย ๖ ประการนี้ให้บริบูรณ์แล้วบุคคลนั้นก็สามารถที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานในปัจจุบัน นี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอัชฌาสัย ๖ ประการ
ประการที่ ๑ ท่านกล่าวว่า อโลภัชฌาสัย เรียกว่าเป็นผู้ไม่มีความโลภเป็นอุปนิสัยของตน บุคคลใดที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมอยากจะบรรลุมรรคผลนิพพานนั้น ต้องพยายามทำจิตทำใจของตนนั้นไม่ให้เกิดความโลภ ขณะที่เดินจงกรม นั่งภาวนา ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ก็พยายามอย่าให้ความโลภมันเกิดขึ้นมา ถ้าความโลภมันเกิดขึ้นมาก็กำหนด “โลภหนอๆ” “อยากได้หนอๆ” เราต้องกำหนด เพื่อที่จะไม่ให้ความโลภนั้นมันเกิดขึ้นมา เพื่อที่จะทำอัชฌาสัยของเราให้สมควรแก่การประพฤติปฏิบัติธรรม
ประการที่ ๒ พระองค์ทรงตรัสว่า อโทสัชฌาสัย คือ มีอุปนิสัยที่ไม่โกรธ คือ การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น การโกรธนั้นถือว่าเป็นอกุศลกรรม เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของเรานั้นตกต่ำ โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า ท่านกล่าวว่าถ้าไม่อยากโง่อยากบ้า อย่าโกรธ อย่าโมโห อันนี้ท่านกล่าวไว้ เพราะฉะนั้น การประพฤติปฏิบัติธรรมท่านให้เรานั้นไม่ให้เกิดความโกรธ อโทสัชฌาสัย ให้อัชฌาสัยของเรานั้นน้อมไปในความไม่โกรธ
ถ้าผู้ใดสามารถที่จะทำอัชฌาสัยของตนให้น้อมไปในความไม่โกรธได้ จิตใจของบุคคลนั้นจะขาววันขาวคืน จิตใจของบุคคลนั้นจะสะอาดขึ้นๆ นับวันแต่สะอาดขึ้น วันนี้ไม่โกรธ พรุ่งนี้ไม่โกรธ มะรืนนี้ไม่โกรธ ความโกรธห่างไปวันละนิดวันละหน่อย ห่างไปเป็นวัน เป็นเดือน เป็นสัปดาห์ เป็นปี บางครั้งความโกรธมันห่างไปเป็นปี สองปี เกิดความอัศจรรย์ใจขึ้นมา เรียกว่าความโกรธมันไม่เกิดขึ้นมาในจิตในใจนี้มันแสนที่จะมีความสุข เกิดความสบาย เพราะฉะนั้น บุคคลผู้ต้องการบรรลุมรรคผลนิพพานนั้น ต้องไม่ให้เกิดความโกรธ เพราะอะไร ? เพราะพระนิพพานนั้นไม่มีความโกรธ พระนิพพานนั้นไม่มีโทสะ บุคคลผู้ปรารถนาจะไปสู่พระนิพพาน เวลาประพฤติปฏิบัติธรรมก็อย่าให้ความโกรธมันเกิดขึ้นมา ถ้าความโกรธมันเกิดขึ้นมาก็กำหนดว่า “โกรธหนอๆ” “โทสะหนอๆ” เราต้องกำหนดในลักษณะอย่างนี้ เพื่อให้จิตใจของเรานั้นเป็นภาชนะทองรองรับเอาพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้
ประการที่ ๓ ท่านกล่าวว่า อโมหัชฌาสัย คือมีอัชฌาสัยไม่หลง ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมผู้ใดปรารถนาที่จะบรรลุมรรคผลนิพพาน ต้องพยายามทำอัชฌาสัยของตนนั้นไม่ให้หลง เรียกว่าไม่ให้หลงในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ไม่ให้หลงในอารมณ์ทุกสิ่งทุกอย่าง ให้เรามีสติสัมปชัญญะ ความหมายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คือ ให้เรานั้นมีสติ มีสัมปชัญญะนั่นแหละ คือเราไม่หลง
ความยินดีก็เป็นความหลงของบุคคลผู้ชอบ ความยินร้ายก็เป็นความหลงของบุคคลผู้โกรธ ทั้งความยินดีทั้งความยินร้ายก็เป็นความหลงของบุคคลนั้น ความผูกพันในลูก ในภรรยา ในสามี ในทรัพย์สมบัติก็เป็นความหลงของบุคคลนั้น เรียกว่าแต่ละบุคคลนั้นก็มีความหลงเป็นเรือนใจ มีความหลงเป็นหนทางเดิน มีความหลงเป็นความมุ่งหวัง มุ่งหวังว่าเราจะรวย เราจะมีเงิน เราจะมีบ้าน เราจะมีรถ เราจะมีอะไรๆ ให้สมบูรณ์ คล้ายๆ กับว่าเราจะไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย อันนี้เรียกว่ามีความหลงเป็นความมุ่งหวัง เรียกว่าความมุ่งหวังด้วยอำนาจของความหลง
สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาก็เพราะโมหะนั่นแหละเป็นเครื่องนำทาง โมหะเป็นเครื่องชักจูงจิตใจ จึงทำให้บุคคลนั้นเกิดความหลงในลักษณะอย่างนั้นได้ เพราะฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงตรัสว่า ถ้าผู้ใดอยากบรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว ให้เจริญอโมหัชฌาสัย คือไม่ให้ใจของเรานั้นน้อมไปสู่ความหลง ให้ใจของเรานั้นไม่หลงด้วยการมีสติกำหนดทันปัจจุบันธรรม เรายืน เราเดิน เรานั่ง เรานอน เรากิน เราดื่ม เราพูด เราคิด เราทำกิจอะไรก็ตาม เรากำหนดให้ทันปัจจุบันธรรม อโมหัชฌาสัยก็จะไม่เกิดขึ้นมา
ประการที่ ๔ ท่านกล่าวว่า เนกขัมมัชฌาสัย คือให้มีอัชฌาสัยน้อมไปในการออกบวช ผู้ใดอยากจะบรรลุมรรคผลนิพพาน ผู้ใดอยากจะเจริญในพระธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ควรเจริญ เนกขัมมัชฌาสัย คือให้อัชฌาสัยของเราน้อมไปในการบวช เหมือนกับญาติโยมทั้งหลายนี่แหละ ไม่มีโอกาสที่จะมาบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนาได้ มาบวชถือศีล ๘ รักษาศีลเพื่อที่จะเจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เรียกว่าเราน้อมจิตน้อมใจของเราเข้าสู่การบวช
เพราะการบวชนั้นเป็นวิถีทางแห่งการเว้นจากบาป เป็นวิถีทางแห่งการที่เราจะได้รักษาศีล เป็นวิถีทางที่เราจะได้ฟังธรรม เป็นวิถีทางที่เราจะได้พบกับความสงบ คือปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ เป็นวิถีทางที่เราจะได้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน เป็นวิถีทางที่เราจะใช้เดินออกจากกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ก็คือการออกบวช เพราะฉะนั้น การออกบวชนั้นถือเป็นสิ่งที่ผู้ต้องการออกจากกองทุกข์นั้นควรใช้เป็นหนทางที่ดีที่สุด
เราทั้งหลายได้มาออกบวชก็ขอให้เรานั้นทำให้ดี เรามีโอกาสรักษาศีล เราต้องรักษาศีลของเราให้ดี อย่าให้ศีลของเราด่างพร้อย อย่าให้ศีลของเรานั้นเศร้าหมอง อย่าให้ศีลของเราขาด หรืออย่าให้ศีลของเรานั้นทะลุ เพราะการรักษาศีลนั้นเป็นของยาก เมื่อเรามีโอกาสรักษาศีลแล้ว เราควรทำศีลของเราให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ถ้าศีลของเราบริสุทธิ์บริบูรณ์ กายของเราก็หมดจด วาจาของเราก็หมดจด เมื่อกายวาจาหมดจด ใจของเราก็จะหมดจดไม่เกิดความวิปปฏิสาร ไม่เกิดความเดือดร้อน เวลามานั่งภาวนาเดินจงกรมก็ไม่มีอุปาทาน ไม่มีความวิตก ไม่มีความกังวล จิตใจของเราก็เข้าสู่อำนาจของสมาธิได้ไว เมื่อจิตใจเป็นสมาธิแล้ว จิตใจก็จะรู้เห็นตามความเป็นจริง เกิดความสงบ เกิดความนิ่ง เกิดปัญญาขึ้นมา ก็เอาสมาธินั้นเป็นบาทแห่งการเจริญวิปัสสนากรรมฐานต่อไป ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ไว อันนี้ท่านให้เรานั้นน้อมมาสู่การบวช
ประการที่ ๕ ท่านกล่าวว่า วิเวกัชฌาสัย คือให้เรามีอัชฌาสัยนั้นน้อมไปในความวิเวก น้อมไปในความสงัด น้อมไปในการจากคณะ จากหมู่ทั้งหลายทั้งปวง เรียกว่าความวิเวกก็ดี มีกายวิเวก มีจิตวิเวก มีอุปธิวิเวก กายวิเวกนั้นมีอยู่ ๒ ประการ คือ ประการที่ ๑ เราต้องหลีกออกจากหมู่คณะไปอยู่ป่าอยู่เขา อยู่ตามถ้ำ อยู่ตามหน้าผาต่างๆ อยู่เรือนบ้าง อยู่ป่าช้า เรียกว่าออกธุดงค์ ออกจากหมู่คณะเพื่อที่จะทำกายของเราให้วิเวก อันนี้เป็นความวิเวกประการที่ ๑ ก็สามารถทำจิตใจของเราสงบระงับจากอุปาทาน จากอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงได้ กายวิเวกประการที่ ๒ คือเราอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมากอย่างนี้แหละ แต่เราอยู่ด้วยกัมมัฏฐาน อยู่ด้วยสติ อยู่ด้วยสัมปชัญญะ อยู่ด้วยการที่เรานั้นมีอารมณ์เดียวอยู่ตลอดเวลา หรือว่า เราจะยืน เราจะเดิน เราจะนั่ง เราจะนอน เราก็กำหนดรู้อยู่ตลอดเวลา ในลักษณะอย่างนี้เราอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก ก็เหมือนกับว่าเราอยู่คนเดียว เราอยู่เป็นร้อยก็เหมือนกับเราอยู่คนเดียว
เรามีสมาธิตั้งมั่น สามารถที่จะเข้าสมาธิได้ สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ อันนี้เรียกว่า วิเวกด้วยอาศัยกัมมัฏฐาน อันนี้เรียกว่า กายวิเวกนั้นมีอยู่ ๒ ประการ คือประการหนึ่งต้องหลีกจากหมู่คณะไป ประการที่ ๒ เราต้องอยู่ด้วยกัมมัฏฐาน ถ้าเราต่างรูปต่างท่านอยู่ด้วยอารมณ์ของกัมมัฏฐานแล้ว ทุกคนก็สามารถที่จะมีกายวิเวกได้ เมื่อกายวิเวกแล้ว จิตของเราก็จะวิเวกได้ เมื่อจิตของเราวิเวกแล้วเราก็จะรู้เห็นตามความเป็นจริง เรียกว่าจิตใจของเราก็จะเกิดสมาธิขึ้นมา
เมื่อจิตใจของเราเกิดสมาธิขึ้นมาแล้วเรานั้นจะมีพลัง คนที่มีสมาธินั้นจะมีพลังมากกว่าคนไม่มีสมาธิ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า “พละ ๕” พละ ๕ อย่างนั้น มีกำลังคือศรัทธา กำลังคือความเพียร กำลังคือสติ กำลังคือสมาธิ กำลังคือปัญญา สมาธินี้ถือว่าเป็นกำลังของผู้ปฏิบัติธรรม ถ้าผู้ใดมีสมาธิน้อย มีปีติน้อย มีปัสสัทธิน้อย มีนิมิตน้อย มีการรู้การเห็นด้วยอำนาจของสมาธิน้อย บุคคลนั้นก็มีการประพฤติปฏิบัติธรรมไม่มีความเด็ดเดี่ยว ไม่มีความกล้าเป็นกล้าตาย เรียกว่ากำลังที่จะผลักดันบุคคลนั้นให้เดินจงกรมนั่งภาวนานั้นมีน้อย
เหมือนกับเราประพฤติปฏิบัติธรรม ผู้ที่ไม่มีสมาธิ ปฏิบัติธรรมไปถึง ๔ ทุ่มก็เหนื่อยแสนเหนื่อยแล้ว ลำบากแสนลำบากแล้ว แล้วเราจะมาตื่นตี ๒ ตี ๓ มาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เพราะอะไร ? เพราะว่าบุคคลที่ไม่มีสมาธินั้นย่อมต้องการการพักผ่อน หรือว่าต้องมีการพักผ่อนเป็นธรรมดา แต่ถ้าบุคคลใดมีสมาธิแล้ว เวลาประพฤติปฏิบัติธรรมจิตใจมันจะเกิดปีติ เกิดความอิ่ม เกิดปัสสัทธิความสงบ จิตใจจะร่าเริงเบิกบาน คล้ายๆ กับเรานอนมาแล้ว ๒ เดือน ๓ เดือน นอนมาแล้วเป็น ๒ ปี ๓ ปี จะหาการหาวนอนสักครั้งหนึ่งก็หาได้ยาก เพราะอะไร ? เพราะสมาธิมันปรากฏชัด เมื่อสมาธิปรากฏชัด เราจะยกก็ดี เราจะย่างก็ดี เราจะเหยียดก็ดี เราก็เห็นรูปนามนั้นมันเกิดดับๆ ลงชัดเจน คล้ายๆ ว่ารูปนามมันเกิดดับทีละเส้นขนๆ ไป เพราะอะไร ? เพราะว่าสติของเรามันปรากฏชัด สมาธิของเรามันสูง อันนี้เรียกว่าความเกิดดับมันปรากฏชัดก็เพราะอาศัยสมาธิ
เพราะฉะนั้น สมาธินั้นจึงเป็นกำลังสำคัญ ถ้าผู้ใดมีสมาธิบุคคลนั้นก็สามารถประพฤติปฏิบัติธรรมรู้เห็นตามความเป็นจริงได้ไว เพราะสมาธินั้นถือว่าเป็นบาทเป็นฐานของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ท่านกล่าวไว้ว่าถ้าผู้ใดมีสมาธิบุคคลนั้นก็สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้เหมือนกับดีดนิ้วมือ เหมือนกับพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ นี่ท่านกล่าวไว้ ถ้าเราฟังเผินๆ ก็อาจจะว่า เป็นไปได้หรืออาจารย์ การบรรลุมรรคผลนิพพานมันเป็นไปได้ยากเหลือเกิน คนจะมาบรรลุมรรคผลนิพพานชั่วดีดนิ้วมือ หรือว่าคนจะมาบรรลุมรรคผลนิพพานชั่วพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ มันจะเป็นไปได้อย่างไร บางคนอาจจะคิดว่า โม้ไปอะไรทำนองนี้
แต่เมื่อเราพิจารณาตามความเป็นจริง ตามพระธรรมบท เราเห็นลูกศิษย์ของพระมหากัสสปะ แต่ก่อนโน้นอยู่กับพระมหากัสสปะออกบวชเป็นพระเจริญฌาน หรือว่าเจริญสมถะกรรมฐาน จนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดจตุตถฌานขึ้นมา หลังจากนั้นไม่สำรวมอินทรีย์ออกบิณฑบาต ไปเจอรูปที่น่าใคร่ ไปเห็นกุลธิดาของตระกูลหนึ่งก็เกิดความชอบใจพอใจแล้วก็สึกขาลาเพศออกไปอยู่กินกัน หลังจากนั้นก็ไปเป็นโจร เมื่อไปเป็นโจรนั้นก็ถูกพระราชานั้นจับได้แล้วก็ถูกเขาเอาใส่ตะแลงแกง เพื่อที่จะหามไปสู่ตะแลงแกง เพื่อที่จะประหารชีวิต
ขณะที่เขากำลังหามไปที่รอบพระนครนั้นแหละ พระมหากัสสปะไปบิณฑบาตเวลาเช้ามาเจอเข้าก็คิดว่าลูกศิษย์ของเรากำลังถูกเขาจับไปขึ้นสู่ตะแลงแกง สู่สถานที่ประหาร เราควรที่จะมีเมตตากับศิษย์ของเรา ท่านก็ไปบอกทหารให้ผ่อนเครื่องมัดเครื่องจองจำ แล้วก็ไปกล่าวกับลูกศิษย์ของตนว่า ท่านควรนึกถึงอารมณ์ของกรรมฐานที่เคยประพฤติปฏิบัติในสำนักของเรา ลูกศิษย์ของท่านก็ได้สติขึ้นมาเมื่อได้สติขึ้นมาก็เข้าสู่อารมณ์ของฌาน เรียกว่ายังจตุตถฌานให้เกิดขึ้นมา
เมื่อยังจตุตถฌานให้เกิดขึ้นมาแล้วเขายังจะหามท่านไปสู่ตะแลงแกง ท่านก็ไม่วิตกไม่กังวล เขาจะปาฆ้อนใส่ก็ดี เขาจะเอาหอกแทง จะเอาดาบฟัน ท่านก็ไม่มีความสะดุ้ง ไม่มีความหวาดหวั่น ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความโกลาหลขึ้นในหมู่คนทั้งหลายทั้งปวง ว่าเป็นผู้แกล้วกล้าไม่กลัวตาย ก็ทราบไปถึงพระราชา ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผ่อนเครื่องตรึงผ่อนเครื่องมัดของนักโทษนั้น แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ก็เปล่งพระฉัพพรรณรังสีมาแสดงธรรมให้ฟัง เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลนั้นได้บรรลุเป็นพระอนาคามีบนที่ประหาร อันนี้เพราะอะไร ? เพราะอำนาจของสมาธิ อำนาจของสมาธิจะได้บรรลุมรรคผลนิพานได้ไว
หรือเรื่องของพระโคธิกะที่เอามีดปาดคอตนเอง แต่ยังไม่ตายนึกถึงอารมณ์ของฌาน เมื่อฌานเกิดขึ้นมาก็เอาฌานนั้นเป็นบาทเกิดวิปัสสนากรรมฐานก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาน เป็นเพราะอะไร ? เป็นเพราะกำลังของสมาธิ เพราะฉะนั้น ผู้ใดมีสมาธิผู้นั้นก็จะสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ไว เพราะฉะนั้น จิตตวิเวกนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ เราอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก เราก็ทำจิตตวิเวกให้เกิดขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้น ความวิเวกนั้นถ้าผู้ใดไม่น้อมไปสู่ความวิเวก ผู้นั้นก็ชื่อว่าห่างไกลจากธรรม ถ้าผู้ใดน้อมไปสู่ความวิเวก ทางกายก็ดี ทางจิตก็ดี บุคคลนั้นก็ชื่อว่าน้อมกายน้อมจิตของตนเข้าสู่ธรรม อันนี้เรียกว่า วิเวกัชฌาสัย คือน้อมอัชฌาสัยของตนนั้นไปในความวิเวก
ประการที่ ๖ ท่านกล่าวว่า นิสสรณัชฌาสัย 47.06 คือมีอัชฌาสัยนั้นสลัดออกจากกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง คือคนทั้งหลายทั้งปวงนั้นไม่มีอัชฌาสัยที่จะสลัดออกจากกองทุกข์ แต่องค์สมเจพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ถ้าผู้ใดอยากบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นต้องบำเพ็ญนิสสรณัชฌาสัย คืออัชฌาสัยที่น้อมออกไปจากกองทุกข์ เราจะมีอัชฌาสัยน้อมออกไปจากกองทุกข์อย่างไร คือให้เราพิจารณาเห็นโทษของความเกิด พิจารณาเห็นโทษของความแก่ พิจารณาเห็นโทษของความเจ็บ พิจารณาเห็นโทษของความตาย พิจารณาเห็นโทษของรูป พิจารณาเห็นโทษของเสียง พิจารณาเห็นโทษของกลิ่น ของรส ของสัมผัส ของธรรมารมณ์ คิดว่าสิ่งเหล่านี้แหละเป็นเหตุให้เราต้องหมุนเวียนในห้วงมหรรณพภพสงสาร ทำให้เราหมุนเวียนในวัฏฏสงสารนั้นก็เพราะ รูป เพราะเสียง เพราะกลิ่น เพราะรส เพราะสัมผัส เพราะอารมณ์เหล่านี้ ให้เราพิจารณาโดยถ่องแท้ ให้เราพิจารณาถึงความพลัดพรากที่เราจะต้องพลัดพราก ให้เราพิจารณาถึงความเสื่อมไปของสังขารต่างๆ นี่เรียกว่าให้เราพิจารณาอารมณ์เหล่านี้ เราจึงจะมีอัชฌาสัยสลัดออกไปจากกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง
ถ้าผู้ใดไม่พิจารณาสิ่งเหล่านี้ บางคนบางท่านเกิดมามีอายุเป็น ๕๐ ปี ไม่เคยคิดจะออกจากกองทุกข์เลยก็มี ไม่คิดว่าจะออกจากกองทุกข์ ไม่คิดว่าการเกิดเป็นทุกข์ก็มี เพราะอะไร ? เพราะความหลง เพราะไม่พิจารณาสิ่งเหล่านี้ บางคนเกิดมา ๖๐ ปี ๗๐ ปี ๘๐ ปี ๑๐๐ ปี ไม่คิดออกจากกองทุกข์เลยก็มี ไม่คิดที่จะพิจารณาว่าสิ่งเหล่านี้เป็นทุกข์เลยก็มี เพราะอะไร ? เพราะบุคคลนั้นไม่มีอุปนิสัย ไม่มีอุปนิสัยที่สร้างสมอบรมไว้แต่ภพก่อนชาติก่อน เมื่อเรามีครูบาอาจารย์แนะนำ เราพิจารณาอัชฌาสัยคือ นิสสรณัชฌาสัย คือมีอัชฌาสัยน้อมออกจากกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ถึงเราจะไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพานในภพนี้ชาตินี้ แต่เราจะได้บรรลุมรรคผลนิพพานในภพอันใกล้นี้ ถ้าเรามีความมุ่งมั่นที่จะบรรลุมรรคผลนิพพาน การบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นไม่เกินวิสัยของมนุษย์ที่จะทำได้
การประพฤติปฏิบัติธรรมที่ญาติโยม ที่คณะครูบาอาจารย์กำลังประพฤติปฏิบัติอยู่นี้ ถ้าเราอยากจะเห็นการประพฤติปฏิบัติธรรมเจริญรุ่งเรือง ถ้าเราอยากจะเห็นพระศาสนาตั้งมั่น ถ้าเราอยากจะเห็นญาติโยมเกิดศรัทธาเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแล้ว เราควรทำการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นให้เจริญรุ่งเรือง เพราะพระศาสนาที่แท้จริงก็คือจิตใจของเรานี้แหละ ถ้าจิตใจของเรามีศรัทธา มีความเพียร มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา ความงามในพระศาสนานั้นก็ปรากฏอยู่ในดวงใจของเรานี้แหละ
ถ้าเราอยากจะให้พระศาสนาเจริญรุ่งเรืองนั้น เราควรที่จะเจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ถ้าเราอยากจะให้ญาติพี่น้องทั้งหลายทั้งปวง ญาติโยมผู้อุปถัมภ์อุปฐากได้บุญมาก ได้อานิสงส์มาก เราก็ควรเจริญสมถกรรมฐานนั้นให้ได้เกิดผลที่ดีที่สุด ถ้าเราอยากจะให้ญาติพี่น้องผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้บุญได้กุศลมาก อยากให้พ่อแม่ผู้ที่ตายไปแล้วได้บุญมาก หรืออยากให้พ่อแม่ที่มีชีวิตอยู่ได้บุญมาก เราควรเจริญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานให้ได้ผล คือบรรลุมรรคผลนิพพาน บุคคลเหล่านั้นก็จะได้บุญมาก ได้อานิสงส์มาก
หรือว่าเราอยากจะตอบแทนค่าน้ำค่าอาหารของญาติของโยมต่างๆ เราอยากจะให้บุคคลเหล่านั้นได้บุญมากก็เจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เพราะบุคคลผู้เจริญสมถะกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานแล้ว บุคคลนั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้ตอบแทนค่าข้าวค่าน้ำของญาติโยมได้ดีที่สุด หรือว่าบุคคลใดอยากจะเห็นความอัศจรรย์ใจในพระพุทธศาสนา บุคคลนั้นก็ควรเจริญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานเถิด เพราะความอัศจรรย์ในพระพุทธศาสนานั้นบางครั้งไม่อาจเห็นได้ด้วยตา ไม่สามารถที่จะฟังได้ด้วยหู ไม่สามารถที่จะสัมผัสได้ด้วยกาย แต่อาจจะสัมผัสได้ด้วยใจ
เมื่อใจของเรามีสมาธิเราอาจจะสัมผัสคุณธรรมของพระพุทธศาสนาได้ ว่าบุคคลเมื่อเข้าถึงสมาธิแล้วมันมีความสุขอย่างไร มีปีติอย่างไร เวลาที่ท่านกล่าวว่านิมิตเห็นเปรตก็ดี นิมิตเห็นเทวดาก็ดีที่ปรากฏอยู่ในสถานที่ต่างๆ เวลาเรานิมิตเห็นแล้วมันเป็นอย่างไร นี่มันเป็นความจริงหรือเป็นความปลอม หรืออะไรเป็นอย่างไรเราก็จะไม่เห็นความอัศจรรย์ใจในส่วนนี้ แต่ถ้าเรามีจิตใจเป็นสมาธิตั้งมั่น เราก็จะถึงบางอ้อ โอ้! มันเป็นอย่างนี้นี่เอง หรือว่าบุคคลที่ไม่เคยเกิดปัสสัทธิ ไม่เคยเกิดปีติ ก็จะรู้ว่าปีติเกิดขึ้นมามันเป็นอย่างไร ความอัศจรรย์ในพุทธศาสนาจะถูกซ่อนเร้นจะถูกปกปิดด้วยอำนาจของสมาธิ
แต่ถ้าเราสามารถยังสมาธิให้เกิดขึ้นมาได้ ก็เท่ากับเราเปิดประตูแห่งความอัศจรรย์ในพระพุทธศาสนาได้ หรือเราอยากจะเห็นความบริสุทธิ์บริบูรณ์ของพระศาสนาเราก็ต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐานจนได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ถ้าเราเจริญวิปัสสนากรรมฐานจนได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ก็เท่ากับเราเปิดประตูแห่งความบริสุทธิ์ของพระศาสนาได้ ว่าพระศาสนาที่แท้จริงก็คือการยังสรรพสัตว์ทั้งหลายให้บริสุทธิ์บริบูรณ์
ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติธรรมตามพระธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วท้ายที่สุดก็ไม่มีอะไร ท้ายที่สุดก็คือความบริบูรณ์นั้นแหละ มีกายบริสุทธิ์ มีวาจาบริบูรณ์ มีวาจาบริสุทธิ์ มีใจบริบูรณ์ มีใจบริสุทธิ์ เมื่อใจบริสุทธิ์แล้วก็เกิดความสุข ความบริสุทธิ์นั้นก็เป็นพระนิพพานได้ ความบริสุทธิ์นั้นก็คือความเย็น เย็นจากความโกรธ เย็นจากความโลภ เย็นจากความหลง นี้ก็เป็นพระนิพพานได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เรามาประพฤติปฏิบัติธรรมเจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานนั้นจึงถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้กำชัยในการเกิดครั้งนี้ให้เป็นของเรา เรียกว่าเราจะชนะในการเกิดครั้งนี้ด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรมให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
วันนี้อาตมภาพก็ได้กล่าวธรรมะมาก็ถือว่าเป็นเวลาพอสมควรแล้วก็ขอยุติการกล่าวธรรมไว้แต่เพียงเท่านี้ ในท้ายที่สุดนี้ด้วยอำนาจแห่งบุญกุศล ที่ญาติโยมทั้งหลายได้บำเพ็ญมาแล้วมีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาเป็นต้น หรือว่าด้วยอำนาจแห่งบุญกุศลที่อาตมภาพได้ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา หรือการแสดงธรรมมาแล้วก็ดี ขอบุญบารมีทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ขอน้อมถวายแด่พระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระครูอรรถสารคุณ หรือหลวงพ่อสายหยุด หลวงพ่อสายหยุดมีทุกข์ก็ขอให้พ้นจากทุกข์มีสุขก็ขอให้มีสุขยิ่งๆ ขึ้นไป ขอหลวงพ่อสายหยุดจงได้อนุโมทนาสาธุการเอาบุญกุศลทั้งหมดทั้งปวงเหล่านี้ เมื่ออนุโมทนาสาธุการแล้วก็ขอให้บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงจงสำเร็จแก่หลวงพ่อสายหยุดเหมือนกับตนทำเองจงทุกประการเทอญสาธุ.