การบวช
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
วันนี้ จะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่อง การบวช มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านทั้งหลายที่บวชใหม่ บวชหน้าเข้าพรรษา จะได้สดับตรับฟังไว้ ให้พอเป็นแนวทางของการประพฤติปฏิบัติต่อไป
คำว่า บวช ในที่นี้มาจากคำว่า ปวัชชะ ซึ่งแปลว่า เว้น การเว้นในที่นี้ หมายความว่า เว้นจากการประพฤติที่ไม่สมควรแก่สมณสารูป คือ ไม่สมควรแก่นักบวชนั่นเอง
การเว้นในที่นี้ จัดเป็น ๓ ระดับ คือ อย่างต่ำ อย่างกลาง อย่างสูง
การเว้นอย่างต่ำ ได้แก่ การเว้นด้วยการสมาทานรักษา หรือตั้งมั่นอยู่ในศีลอันเป็นสิกขาบทของตนๆ เว้นตามข้อที่พระองค์ทรงห้าม ทำตามข้อที่พระองค์ทรงอนุญาต ได้แก่ เว้นจากการประพฤติทุจริต เช่น เว้นจากการฆ่ากัน เว้นจากการพยาบาทอาฆาต จองล้างจองผลาญกัน เว้นจากการลักการขโมย เว้นจากการประพฤติผิดประเวณี เว้นจากการพูดโกหก เว้นจากการพูดส่อเสียด ยุยงให้ผู้อื่นแตกร้าวสามัคคี ทะเลาะวิวาทบาดหมางกัน เว้นจากการพูดถ้อยคำที่หยาบช้าลามก ทำให้ผู้ฟังเจ็บใจ เว้นจากการพูดถ้อยคำที่ไร้สาระ หาประโยชน์มิได้
การเว้นอย่างกลาง ได้แก่ เว้นด้วยการเจริญสมถภาวนา จนสามารถทำจิตใจให้สงบ เป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิตามลำดับ ในขณะที่จิตของเราเป็นสมาธิอยู่นั้น ความชั่วอย่างกลาง คือปริยุฏฐานกิเลส หรือนิวรณ์ ๕ ประการ ก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นมากลุ้มรุมจิตใจของเราได้ เราเว้นจากนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการ นั้นได้ ในขณะที่จิตอยู่ในสมาธิ
การเว้นอย่างสูง ได้แก่ เว้นด้วยการเจริญวิปัสสนาภาวนา เหมือนดังที่ท่านทั้งหลายปฏิบัติกันอยู่ในขณะนี้ เราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีสติสัมปชัญญะ ทันปัจจุบันรูปนาม เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอริยสัจ ๔ จนสามารถเข้าสู่มัคควิถี ยังมัคคจิตผลจิตให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน สามารถประหารความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา และอุปาทาน ให้หมดไปตามกำลังของมรรค กิเลสตัณหาเหล่าใด ที่มรรคประหารแล้ว กิเลสตัณหาเหล่านั้น ก็ไม่กลับเกิดขึ้นอีก เป็นอันว่าเราเว้นอย่างเด็ดขาด
เหตุนั้น พวกเราทั้งหลาย ที่ได้มีโอกาสมาบวชในพระพุทธศาสนา และได้มาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่ในขณะนี้ ก็ถือว่าเราทั้งหลายมาบำเพ็ญคุณงามความดี สร้างสมอบรมคุณงามความดี ให้เกิดมีขึ้นในขันธสันดาน ด้วยการอยู่กรรม ด้วยการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน
การบวชนั้นมีหลายประการ ดังที่โบราณาจารย์ท่านกล่าวไว้ว่า ๑. บวชรับ ๒. บวชลับ ๓. บวชลอง ๔. บวชครองประเพณี ๕. บวชหนีสงสาร ๖. บวชผลาญข้าวสุก ๗. บวชสนุกตามเพื่อน ๘. บวชเปื้อนศาสนา ๙. บวชหาของเล่น
๑. บวชรับ คำว่า บวชรับ ในที่นี้ หมายความว่า บางทีเราเจ็บไข้ได้ป่วย หรือว่าพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ญาติของเราป่วย เราได้บนบานศาลกล่าวที่ศักดิ์สิทธิ์ที่นั้นที่นี้ว่า ถ้าเราหายจากเจ็บไข้ได้ป่วย หรือว่าพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย หายจากเจ็บไข้ได้ป่วย หรือบางที เราไปประสบเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็รับไว้ในจิตใจว่า ถ้าพ้นจากเหตุภัยนี้ไปแล้ว จะขอบวชเพื่อเป็นการตอบแทน เมื่อเราหายจากอาการป่วยเช่นนั้น หรือพ้นจากภาวะอันไม่พึงปรารถนาเช่นนั้นแล้ว เราก็มาบวชในพระพุทธศาสนา ตามโอกาสตามเวลาอำนวย อย่างนี้เรียกว่า บวชรับ
๒. บวชลับ คำว่า บวชลับ ในที่นี้ หมายเอาว่า เมื่อบวชเข้ามาแล้ว ไม่ตั้งอกตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ไม่ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ บวชมาแล้วก็ลับๆ ลี้ๆ การศึกษาไม่เอาถ่าน การงานไม่เอาไหน การประพฤติปฏิบัติยิ่งไปกันใหญ่ บวชมาแล้ว ไม่เอาใจใส่ในการเล่าเรียน ในการประพฤติปฏิบัติ ในการทำกิจทางพระพุทธศาสนา ลับๆ ลี้ๆ อยู่ตลอดเวลา
๓. บวชลอง คือผู้บวชนั้นคิดว่า การบวชนั้นจะมีรสชาติเป็นอย่างไร ได้รับความสุขความสบายมากน้อยแค่ไหนเพียงไร หรือว่าได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนอย่างไร ผู้ที่บวชนั้นมีความเป็นไปอย่างไร คิดอยากจะลองดู แล้วก็มาลองบวชดูว่าจะเป็นอย่างไร อันนี้เรียกว่า บวชลอง
๔. บวชครองประเพณี ตามธรรมดาชาวไทยของเรา หากว่ามีบุตรชายแล้ว ก็ต้องบวชก่อนจะแต่งงาน หรือว่าบางทีทำราชการเป็นครู เป็นทหาร เป็นตำรวจ เป็นต้น เมื่อได้โอกาสได้เวลาก็ลาราชการมาบวชตามประเพณี คือประเพณีของไทยเรานั้น ผู้ชายต้องบวช ถ้าใครไม่ได้บวชก็ถือว่าเป็นคนดิบ อันนี้เราเรียกว่า บวชครองประเพณี
๕. บวชหนีสงสาร หมายความว่า ผู้ที่จะมาบวชในพระพุทธศาสนานั้น มีความเบื่อหน่ายในการครองฆราวาสเพราะเห็นทุกข์เห็นโทษที่เกิดขึ้น จากการอยู่ครองฆราวาส เห็นว่า การเกิดมาในภพนี้ชาตินี้ ก็เป็นทุกข์เหลือทนแล้ว อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นไปจากความทุกข์ อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นไปจากไฟกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่เผาผลาญให้ได้รับความเดือดร้อนอยู่ตลอดเวลา เกิดความสังเวชสลดใจ จึงเสียสละการงานทุกสิ่งทุกอย่าง สละการครองฆราวาส มาบวชในพระพุทธศาสนา เมื่อบวชแล้วก็ตั้งอกตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะทำลายไฟทุกข์ไฟกิเลสซึ่งเผาผลาญอยู่ตลอดเวลานั้น ให้ดับสิ้นสูญลงไป จะได้อยู่อย่างสบาย อันนี้เรียกว่า บวชหนีสงสาร
๖. บวชผลาญข้าวสุก หมายความว่า ผู้มาบวชนั้น บางทีขาดญาติพี่น้อง ขาดลูกหลาน หรือบางทีก็ไม่มีพ่อแม่ที่จะอุปถัมภ์ หากินก็ฝืดเคือง หรือบางทีทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมมูลอยู่ แต่ขี้เกียจทำงาน ไม่อยากทำการทำงาน อยู่ที่บ้านเห็นว่าลำบากลำบน สู้ไปบวชไม่ได้
พวกไปบวชนี้ ถึงเวลาก็ตีระฆังสัญญาณ บิณฑบาตมาฉัน ไม่บิณฑบาตก็มีญาติโยมมาส่ง ตอนเพลก็มีญาติโยมมาส่ง ไม่ต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนแสวงหา ตรากตรำแดด ตรากตรำฝนหนาวร้อนอะไร อยู่อย่างสบาย กินแล้วก็นอน นอนแล้วก็กิน คิดไปอย่างนี้
คิดว่าการบวชนี้มีแต่นั่งกินนอนกิน หรือบางทีคนเฒ่าคนแก่คิดว่า อยู่ไปก็ไม่สามารถเลี้ยงตัวได้ อาศัยการไปบวชคงพอที่จะเลี้ยงตัวได้ คงจะไม่ลำบากลำบนอะไรทำนองนี้ ก็เสียสละฆราวาสมาบวชในพระพุทธศาสนา อันนี้เรียกว่า บวชผลาญข้าวสุก คือบวชมาเพื่อจะเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง
๗. บวชสนุกตามเพื่อน คือเห็นเพื่อนบวชมากๆ เพื่อนคนนั้นก็บวช เพื่อนคนนี้ก็บวช คิดว่ามีแต่เพื่อนไปบวช หากเราไปก็คงจะสนุกสนาน คงจะไม่จืดชืด คงจะไม่เชยทำนองนี้ เห็นเพื่อนบวชก็บวชตาม อย่างนี้เรียกว่า บวชสนุกตามเพื่อน
๘. บวชเปื้อนศาสนา หมายความว่า ผู้บวชประเภทนี้ บวชเข้ามาแล้วไม่ตั้งอกตั้งใจที่จะรักษาหรือปฏิบัติตามธรรมวินัยอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฝ่าฝืนระเบียบกฎหรือกติกาของนักบวช เดี๋ยวก็ทำสิ่งนั้นบ้าง เดี๋ยวก็ทำสิ่งนี้บ้าง ดังที่เราทั้งหลายได้ยินข่าวอยู่บ่อยๆ
บางทีก็ไปยักยอกเอาเงินสงฆ์ บางทีก็ไปเกี้ยวพาราสีไปเสียเนื้อเสียตัวกับสีกาก็มี บางทีก็ไปเล่นการพนัน เล่นไพ่ เล่นหวย อะไรนานัปการ ทำให้ศาสนานี้ต้องเปรอะเปื้อนไป อันนี้พูดเอาง่ายๆ ว่าบวชมาแล้วไม่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ล่วงเกินพระวินัย ไม่เว้นข้อที่พระองค์ทรงห้าม ไม่ทำตามข้อที่พระองค์ทรงอนุญาต ไม่ปฏิบัติตามข้อธรรมอันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กิเลสตัณหาหมดไปสิ้นไปจากขันธสันดาน ทำไปตามใจชอบ ทำไปตามอำเภอใจ สุดท้ายก็ทำให้เปื้อนศาสนา
๙. บวชหาของเล่น หมายความว่า บวชเข้ามาแล้วก็หาสิ่งนั้นมาเล่น หาสิ่งนี้มาเล่น สรวลเสเฮฮากัน อะไรที่เป็นของเล่นนั้น ก็ขอให้นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายคิดเอาเองว่า อะไรที่เรานำมาเล่นนำมาใช้สอยแล้วไม่เป็นประโยชน์แก่พระศาสนา แก่สังคมส่วนรวม มิหนำซ้ำชาวบ้านเขายังติเตียนนินทาเอา ประเภทนั้นแหละ เรียกว่า บวชหาของเล่น
ทีนี้การบวชทั้ง ๙ ประการนี้ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้พิจารณาเอาว่า เราอยู่ในประเภทไหน และเราบวชอย่างไรจึงจะถูกต้อง เลือกเอาวิธีไหนจึงจะถูกต้อง ก็ขอให้เลือกเอา
การบวชมีหลายประเภทดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เหตุนั้น ท่านโบราณาจารย์ทั้งหลาย จึงจัดการบวชของบุคคลไว้เป็น ๔ จำพวก ได้แก่
บุคคลจำพวกที่ ๑ มีกายออกจากบ้าน แต่ใจไม่ได้ออกไปด้วย ได้แก่ ผู้ที่มาบวชในพระพุทธศาสนา มีการมาบวชจริง แต่ใจไม่ได้มาบวช เมื่อมาบวชแล้ว ใจยังเกาะติดอยู่กับวิตก ๓ คือ
๑) กามวิตก มีความคิดไปในทางกาม คิดถึงแต่รูปที่สวยๆ เสียงที่ไพเราะ กลิ่นที่หอมๆ รสที่เอร็ดอร่อย สัมผัสที่อ่อนนุ่มที่ดีๆ อยู่ใต้อำนาจของกามคุณ ตกอยู่ภายใต้ของอำนาจกิเลสกามอันมีโลภะเป็นมูล
๒) พยาบาทวิตก คือบวชมาแล้วก็คิดแส่หาแต่เรื่องที่เราทำไว้ก่อนซึ่งไม่ดี คิดพยาบาทอาฆาต จองล้างจองผลาญ จองเวรผู้นั้นผู้นี้ เวลามาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ก็ขาดน้ำอดน้ำทน มีการล่วงเกินอะไรๆ กันเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่รู้จักข่มใจ ไม่รู้จักอดทน ไม่รู้จักเสียสละ บางทีต้องทะเลาะวิวาทกัน บางทีก็ผูกพยาบาทอาฆาต จองล้างจองผลาญกัน บ้างก็โกรธกัน จนถึงฆ่ากันตายก็มี ดังที่เราได้อ่านข่าวหนังสือพิมพ์หรือฟังข่าวทางวิทยุดูทีวีอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้
๓) วิหิงสาวิตก เมื่อบวชเข้ามาแล้วก็ยังคิดเบียดเบียนบุคคลอื่นสัตว์อื่น ขาดเมตตาธรรม อารมณ์ใดที่ไม่ถูกใจก็คิดแช่งอยู่ว่า ขอให้เขาเดือดร้อนลำบาก สาปให้เขาพินาศให้เขาฉิบหายไป วุ่นอยู่ในจิตใจในขณะนั้นไม่สร่างซา แต่ว่าไม่ล่วงออกมาภายนอก คิดอยู่แต่ในจิตใจด้วยอำนาจของโมหะ
บุคคลประเภทนี้ เรียกว่า บวชแต่กาย ใจยังไม่ได้บวช บวชมาแล้วก็ไม่ได้อานิสงส์ ไม่ได้ประโยชน์อะไร ไม่ได้บุญ ไม่ได้กุศลที่ตรงไหน มิหนำซ้ำ มีแต่บาปแต่กรรม สร้างแต่บาป สร้างแต่กรรมให้แก่ตนไปเรื่อยๆ
บุคคลจำพวกที่ ๒ คือ มีใจออกจากบ้าน แต่กายไม่ได้ออก ได้แก่ ผู้ที่ไม่มีโอกาสมาบวชในพระพุทธศาสนาเหมือนพวกเราทั้งหลาย ไม่มีโอกาสมาบวชเป็นพระ เป็นเณร เป็นแม่ชี เป็นปะขาว เพราะว่าสิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย แต่ว่าเป็นผู้มีใจอันงดงาม มีใจเป็นมหากุศล
ทุกเช้า ทุกเย็น ทุกเพล ทุกค่ำ หรือว่างเมื่อใด ก็เอาใจใส่ในการบำเพ็ญกุศล เป็นต้นว่าให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาอยู่กับบ้านกับเรือนของตน เอาใจใส่อุปถัมภ์อุปัฏฐากพุทธบุตร
ดังญาติโยมทั้งหลายที่มาถวายภัตตาหารเช้าภัตตาหารเพลนี้ เป็นต้น เขาไม่มีโอกาสมาบวช แต่เขาบำรุงพุทธบุตรคือบุตรของพระพุทธเจ้า ใครคือบุตรของพระพุทธเจ้า ก็ได้แก่พวกเราทั้งหลาย นี้เรียกว่า กายไม่ได้บวช แต่ใจบวช
บุคคลจำพวกที่ ๓ คือบุคคลบางคน กายก็ไม่ได้ออกจากบ้าน ใจก็ไม่ได้ออกจากบ้าน ได้แก่ คนที่ไม่มีโอกาสมาบวชในพระพุทธศาสนา เมื่อไม่มีโอกาสมาบวชแล้วยังไม่พอ การปฏิบัติยังประกอบไปด้วยอบายมุขเครื่องฉิบหาย
เช่นว่า เป็นนักเลงสุรา เป็นนักเลงเจ้าชู้ เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน เที่ยวคลับเที่ยวบาร์ ขี้เกียจทำงาน ไม่เอาใจใส่ในการสร้างสมอบรมคุณงามความดี มีการไหว้พระ สวดมนต์ เจริญภาวนา เป็นต้น ไม่สนใจในการทำบุญทำทาน เขามาบอกข่าวป่าวร้องว่า วันนี้มีการทำงานที่นั้นที่นี้เป็นสาธารณะ เช่นว่า ซ่อมถนนหนทาง โรงพยาบาล อนามัย โรงเรียน ทำทำนบ เป็นต้น ก็ไม่เอาใจใส่ ไม่ช่วยเหลือ ความประพฤตินั้นฝักใฝ่อยู่แต่อบายมุขอยู่ตลอดเวลา เช่นนี้เรียกว่า กายก็ไม่ได้บวช ใจก็ไม่ได้บวช
บุคคลจำพวกที่ ๔ คือบุคคลบางคน มีกายออกจากบ้านและมีใจออกจากบ้านด้วย ได้แก่ ผู้ที่มีโอกาสมาบวชในพระพุทธศาสนาเป็นพระภิกษุ สามเณร ปะขาว แม่ชี
เมื่อบวชมาในพระพุทธศาสนาแล้ว ยังได้ตั้งอกตั้งใจบำเพ็ญทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา จนได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ วิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา มรรค ผล พระนิพพาน ดังที่พวกเราทั้งหลายเจริญพระกัมมัฏฐานอยู่ในขณะนี้ อย่างนี้เรียกว่า บวชทั้งกายบวชทั้งใจ
เมื่อท่านทั้งหลายได้ทราบประเภทของการบวช หรือได้ทราบบุคคลทั้ง ๔ จำพวกดังกล่าวมาแล้ว ก็ขอให้นำมาพิสูจน์ตรวจตราดูตัวของเราว่า เราอยู่ในประเภทไหน ขณะนี้การบวชของเราสมบูรณ์แบบแล้วหรือยัง
ต่อไป ก็ขอยกเรื่อง บุรุษอาชาไนย กับ ม้าอาชาไนย มาเปรียบเทียบกัน ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย ม้าอาชาไนยกับบุรุษอาชาไนยนั้น มีอยู่ ๔ ประเภท คือ
ม้าอาชาไนยประเภทที่ ๑ พอเห็นปฏักก็เกิดความสำเหนียกรู้เหตุการณ์ แล้วก็ทำตามคำสั่งนายสารถีให้ถูกต้องโดยเร็วพลันทันที ไม่ต้องแทงปฏัก เพียงแต่เงื้อปฏัก เห็นเงาปฏัก ก็รู้ความประสงค์ของนายสารถีของเจ้าของทันที
ม้าอาชาไนยประเภทที่ ๒ แม้จะเงื้อปฏักขึ้น ก็ยังไม่กลัว นายสารถีผู้เป็นเจ้าของต้องเอาปฏักแทงจนถึงขน จึงจะรู้ถึงเหตุการณ์ จึงจะทำตามคำสั่งของนายสารถีได้ถูกต้อง
ม้าอาชาไนยประเภทที่ ๓ แม้จะแทงถึงขนแล้ว ก็ยังไม่กลัว เจ้าของต้องแทงจนถึงเนื้อ จึงจะรู้เหตุการณ์ และทำตามคำสั่งของนายสารถีผู้เป็นเจ้าของได้ถูกต้อง
ม้าอาชาไนยประเภทที่ ๔ แม้จะใช้ปฏักแทงจนถึงเนื้อ ก็ยังไม่รู้สึกตัว ไม่กลัว นายสารถีผู้เป็นเจ้าของต้องเอาปฏักแทงจนถึงกระดูก จึงจะสำเหนียก จึงจะรู้เหตุการณ์ จึงจะทำตามคำสั่งของนายสารถีได้ถูกต้อง โดยฉับพลัน
ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏะทั้งหลาย บุคคลในโลกนี้มีอยู่ ๔ จำพวกเหมือนกัน คือ
บุคคลจำพวกที่ ๑ พอได้ยินข่าวว่า หญิงโน้น ชายโน้น หญิงนั้น ชายนั้น อยู่บ้านนั้น ตำบลนั้น ถึงทุกข์หรือตายไปเท่านั้น ก็เกิดความสลดสังเวชใจว่า เรานี้ก็ต้องเจ็บต้องตายเหมือนกับเขา แล้วก็เริ่มตั้งความเพียร เจริญสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนสามารถรู้แจ้งแทงตลอดถึงอริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาอันยิ่งของตน
บุคคลจำพวกที่ ๒ แม้จะได้ยินข่าวว่า หญิงนั้นชายนี้ อยู่บ้านนั้นบ้านนี้ เจ็บไข้ได้ป่วย หรือตายลงไป ก็ยังไม่กลัว ยังไม่เกิดสลดสังเวชใจ ต่อเมื่อได้เห็นหญิงชายนั้นตายหรือเจ็บไข้ได้รับความทุกข์ ด้วยตาของตนจริงๆ จึงจะเกิดความกลัว เกิดความสังเวช เกิดความสลดใจ แล้วออกปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เจริญสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้บรรลุอริยมรรคอริยผล
บุคคลจำพวกที่ ๓ แม้จะเห็นหญิงก็ตาม ชายก็ตาม ตายอยู่ต่อหน้าตน ก็ยังไม่เกิดความสังเวชสลดใจ ต่อเมื่อเห็นบิดามารดา ญาติสายโลหิต มิตรสหาย ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดสนิทสนมกับตน ได้รับทุกข์หรือตายลงไป จึงจะเกิดความกลัว จึงจะเกิดความสลดสังเวชใจ จึงจะได้ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม เจริญสมถะและวิปัสสนา จนได้บรรลุอริยมรรคอริยผล
บุคคลจำพวกที่ ๔ แม้ได้ยินข่าวก็ตาม หรือเห็นด้วยตาของตนเองก็ตาม หรือเห็นพ่อเห็นแม่ ญาติสายโลหิตมิตรสหายที่อยู่ใกล้ชิด ตายลงไปแล้ว ก็ยังไม่กลัว ไม่เกิดความสลดสังเวชใจเลย
ต่อเมื่อใด ตนเองได้รับความเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา จึงเกิดความกลัว จึงจะเกิดความสลดสังเวชใจแล้วจึงจะได้ตั้งปณิธานในใจว่า ขอให้ข้าพเจ้านี้ หายจากเจ็บไข้ได้ป่วย หรือพ้นทุกข์พ้นร้อนในคราวเคราะห์ครั้งนี้ หากว่าข้าพเจ้าพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนในครั้งนี้ ข้าพเจ้าหายแล้วจะบวช หรือจะตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ จนได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ตามบุญวาสนาบารมีของข้าพเจ้า
ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย บุคคลในโลกนี้มีอยู่ ๔ จำพวก ดุจม้าอาชาไนย ดังนี้
เพราะเหตุนั้น ขอให้นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายจงรีบทำความเพียรเสียแต่วันนี้ เพราะวันพรุ่งนี้ เราไม่ทราบว่าความตายจะมาถึงแก่เราหรือไม่ อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ ขอท่านทั้งหลาย จงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด
ส่วนบุคคลนอกจาก ๔ จำพวกดังกล่าวมาแล้วนี้ ทั้งเห็นภัยเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ทั้งถูกชักนำ ทั้งถูกนำไปดูการประพฤติปฏิบัติในสถานที่ต่างๆ ทั้งทราบว่า การประพฤติปฏิบัติก็ไม่ยากเท่าไร ถึงกระนั้นก็ไม่เข้าใจ ไม่สนใจในการประพฤติปฏิบัติ เรียกว่าเป็นประเภท ปทปรมะ คือมีบทเป็นอย่างยิ่ง จะบอกจะสอนพร่ำเตือนอย่างไร ก็ไม่เอาใจใส่ ไม่สนใจที่จะให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนา
บุคคลจำพวกนี้ แม้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ทรงโปรด และก็ไม่จัดเข้าในเวไนยสัตว์ ไม่จัดเข้าเป็นสาวกของพระพุทธองค์
ส่วนบางคน เพียงแต่ทราบว่า เขามีการปฏิบัติที่โน้น เขามีการปฏิบัติที่นี้ เหมือนดังท่านทั้งหลายที่นั่งรวมกันอยู่นี้แหละ ท่านทั้งหลายได้ทราบว่าที่วัดพิชโสภาราม ตำบลแก้งเหนือ อำเภอเขมราฐ จะมีการเข้าปริวาสกรรมในหน้าพรรษา มีการปฏิบัติทั้งสมถกัมมัฏฐาน และวิปัสสนากัมมัฏฐานควบคู่กันไป ก็เกิดความดีอกดีใจ
แม้จะลำบากยากเย็นสักเพียงไรก็อุตส่าห์พยายามมาประพฤติปฏิบัติ ก็ถือว่าท่านทั้งหลายเป็นผู้มีบุญล้นฟ้าล้นดิน ถ้าจัดอยู่ในบุคคล ๔ จำพวก ก็อยู่ในจำพวกที่ ๑ ถ้าเป็นม้าอาชาไนยก็เป็นม้าอาชาไนยประเภทที่ ๑
และท่านทั้งหลายที่มาบวชในพระพุทธศาสนานี้ ถือว่าเราได้ยกตนขึ้นจากหล่ม จากโคลนตม จากป่า จากไพร จากหลุมถ่านเพลิง
เพราะเหตุไร ?
เพราะว่า ผู้ครองฆราวาสนั้น เหมือนกับตกอยู่ในตมจมอยู่ในโคลนตลอดเวลา ต้องทนทุกข์ทรมานในการประกอบการงานตลอดทั้งวัน ปากกัดตีนถีบ ถึงกระนั้นก็ยังไม่พออยู่พอกิน และผู้ที่อยู่ในฆราวาสนั้น เหมือนกันกับอยู่ในป่า เหมือนกันกับอยู่กลางป่าซึ่งเต็มไปด้วยสัตว์ร้าย ไม่รู้ว่าจะหาทางออกจากป่าได้อย่างไร
อีกอย่างหนึ่ง ยังต้องประกอบการงาน ตรากตรำแดด ตรากตรำฝน หนาวร้อนอยู่ตลอดเวลา รวมแล้วผู้ที่อยู่ครองฆราวาสนั้นถูกไฟเผาอยู่ตลอดเวลา ทั้งไฟกิเลสและไฟทุกข์ ท่านทั้งหลายที่มาบวช จึงถือว่า เราได้ยกตนขึ้นจากตม จากโคลน จากป่า จากไพร จากหลุมถ่านเพลิง
อนึ่ง ผู้ที่มาบวชในพระพุทธศาสนานั้น มีโอกาสที่จะแสวงหาความสุขความเจริญ ได้หลายสิ่งหลายประการ สามารถที่จะตั้งอยู่ใน ภูมิธรรม ๒๓ ประการ ได้ คือ
อัคโค ตั้งอยู่ในภูมิธรรมอันเลิศด้วยศีลคุณ ๑
นิยโต ตั้งอยู่ในภูมิธรรมอันแน่นอนคือศีลคุณ ๑
อาจาโร ตั้งอยู่ในภูมิธรรมอันมีมารยาทประเสริฐด้วยศีลคุณ ๑
วิหาโร ตั้งอยู่ในพรหมวิหารธรรมอันล้ำเลิศ ๑
สัญญโม ตั้งอยู่ในความสำรวมตามสิกขาบทบัญญัติ ๑
สังวโร ตั้งอยู่ในจตุปาริสุทธิสีล ๔ ประการ ๑
ขันติ ตั้งอยู่ในขันติคุณ อดทนทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ๑
โสรัจจะ ตั้งอยู่ในความสงบเสงี่ยมเรียบร้อยตามพระธรรมวินัย ๑
เอกันตาภิรติ ยินดีเฉพาะทางธรรมอันนำความเย็นมาให้ ๑
หิริ มีภูมิธรรมประจำใจคือความละอายใจในการกระทำความชั่ว ๑
โอตตัปปะ มีภูมิธรรมประจำใจคือความกลัวต่อผลของการกระทำชั่ว ๑
วิริยะ ตั้งอยู่ในความเพียรอันแกล้วกล้า เอาชนะมารจนได้สำเร็จสิ่งที่ประสงค์ ๑
อัปปมาโท เป็นผู้ไม่ประมาทมีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ ๑
สิกขาปทัง อุทเทสัง ปริปุจฉา มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนโอวาทคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเต็มความสามารถ ๑
สีลาทิภิรติ ตั้งอยู่ในภูมิธรรมอันดีมีศีลเป็นที่รัก ๑
นิราลยตา ถอนขึ้นซึ่งความอาลัย ๑
สิกขาปทัง ปริปูรติ มีศีลบริบูรณ์ ๑
ปริสุทโธ เป็นผู้บริสุทธิ์สะอาดปราศจากความเศร้าหมอง ๑
มหันตภาโว เป็นผู้ไม่คับแคบใจ ๑
ปริสุทธภาโว มีพระธรรมวินัยเป็นเครื่องป้องกันแข็งแรงมิให้ทำความชั่วช้าลามก ๑
ปาปวิคตภาโว ปราศจากคนเลวทราม ๑
ธัมมวิเสสลภนภาโว เป็นผู้ใกล้ต่อการบรรลุคุณวิเศษ คือมรรค ผล พระนิพพาน ๑
รวมธรรมทั้ง ๒๓ ประการนี้ เป็นคุณธรรมที่ไม่มีสิ่งใดจะเปรียบปาน เป็นภูมิธรรมบริสุทธิ์สะอาด ปราศจากเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง เป็นของหาได้ยาก
หากเราอยู่ครองฆราวาส ไม่สามารถจะยังคุณธรรมทั้ง ๒๓ ประการนี้ให้เกิดขึ้นได้เลย เว้นไว้แต่ผู้ที่ได้มาบวชในพระพุทธศาสนา ตั้งอกตั้งใจรักษาปฏิบัติ เหมือนดังท่านทั้งหลายที่นั่งรวมกันอยู่ในขณะนี้ จึงจะยังคุณธรรมทั้ง ๒๓ ประการนี้ให้เกิดขึ้นได้
ท่านทั้งหลายที่มาบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว หากว่าตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ตั้งมั่นอยู่ในศีล คือพยายามรักษาศีลโดยเคร่งครัด เป็นผู้มีศีลอันสมบูรณ์ ซึ่งเรียกว่า อธิสีลสิกขา มีศีลยิ่ง มีศีลมาก มีศีลสมบูรณ์ ท่านทั้งหลายก็จะมีโอกาสบรรลุเป็นพระโสดาบัน และพระสกทาคามี
แต่ท่านใด เมื่อบวชเข้ามาแล้วตั้งอกตั้งใจฝักใฝ่ในทางเจริญภาวนา เป็นผู้มีจิตยิ่งด้วยสมาธิ คือมีสมาธิมาก สามารถได้ฌาน ได้สมาบัติ ได้สำเร็จรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ ผู้ที่มากด้วยสมาธิอย่างนี้ สามารถบรรลุเป็นพระอนาคามีได้
ถ้าผู้ที่บวชเข้ามาแล้วเป็นผู้ยิ่งด้วยปัญญา คือได้ศึกษา ได้เล่าเรียนมามาก หรือได้ยินครูบาอาจารย์แนะนำพร่ำสอนอยู่ทุกวัน และก็เจริญพระวิปัสสนาภาวนา สามารถยังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นครบบริบูรณ์ ท่านผู้นั้นก็สามารถที่จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์
อันนี้เป็นอานิสงส์ของการบวชมาในพระพุทธศาสนา
ท่านทั้งหลาย การบวชนี้มีความมุ่งหมายอยู่หลายสิ่งหลายประการ แต่เมื่อสรุปลงมาสั้นๆ พอเหมาะแก่การศึกษา และพอเหมาะแก่กาลเวลา จะนำมาบรรยายสัก ๓ ประการ
๑. พวกเราทั้งหลาย เมื่อบวชมาแล้ว ได้สืบต่ออายุพระพุทธศาสนา คือพระศาสนาจะเจริญถาวรตั้งมั่นอยู่ได้ ก็อาศัยพวกเราทั้งหลายที่เป็นพระภิกษุ เป็นสามเณร เป็นปะขาวแม่ชี เป็นอุบาสกอุบาสิกา
เมื่อบวชเข้ามาแล้ว ก็ตั้งอกตั้งใจศึกษาเล่าเรียนประพฤติปฏิบัติ เว้นข้อที่พระองค์ทรงห้าม ทำตามข้อที่พระองค์ทรงอนุญาต ปฏิบัติตามธรรมะอันเป็นแนวทางให้เจริญไปสู่ความพ้นทุกข์ บรรลุสุขอันไพบูลย์คือมรรคผลนิพพาน เมื่อใด เราตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรมดังกล่าวมานี้ ก็สามารถสืบอายุพระพุทธศาสนาไว้ได้ พระศาสนาก็จะเจริญถาวรตั้งมั่นอยู่คู่บ้านคู่เมืองต่อไปได้
๒. เราบวชมาเพื่อบำเพ็ญบารมี คือเราเกิดมาในภพนี้ชาตินี้ อาศัยบุญเก่ากุศลเก่า ที่เราทั้งหลายได้สั่งสมอบรมไว้ตั้งแต่ปุเรกชาติ เป็นพลวปัจจัยให้เราทั้งหลายมาเกิดเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา และมีโอกาสได้มาบวช
การมาบวชในพระพุทธศาสนาในครั้งนี้ เราบวชมาเพื่อสร้างบุญใหม่กุศลใหม่ เพื่อจะได้เป็นกำไรชีวิตในวันหน้า เดือนหน้า ปีหน้า ภพหน้า ชาติหน้าต่อไป จนกว่าจะถึงพระนิพพาน
๓. เราบวชมาเพื่อจะทดแทนค่าน้ำนม ค่าข้าวป้อน ค่าอุปการะ ที่บิดามารดามีต่อเรา บิดามารดาเป็นผู้มีอุปการะแก่เรามาก จะหาวิธีตอบบุญสนองคุณบิดามารดานั้น ไม่อาจที่จะตอบแทนท่านได้หมด แม้ว่าเราจะเอาผ้าผ่อนแพรพรรณ แก้วแหวนเงินทองนพรัตน์แก้ว ๙ ประการ มากองพะเนินให้เพียงปลายพร้าวปลายตาล เพื่อจะทดแทนบุญคุณของท่าน ก็ไม่สามารถที่จะทดแทนบุญคุณของท่านได้
แม้ว่าเราจะเอาพ่อของเรานั่งบ่าขวา เอาแม่ของเรานั่งบ่าซ้าย เวลาท่านจะไปไหนๆ ก็ให้ท่านนั่งอยู่บนบ่าของเรา เวลาเราไปไหนๆ ก็ให้ท่านนั่งอยู่บนบ่าของเรา เวลาท่านจะรับประทานอาหาร ก็ให้ท่านนั่งอยู่บนบ่าของเรา เวลาเราจะรับประทานอาหาร ก็ให้ท่านนั่งอยู่บนบ่าของเรา เวลาท่านจะหลับจะนอน ก็ให้ท่านหลับท่านนอนอยู่บนบ่าของเรา
เวลาท่านถ่ายหนักถ่ายเบา ก็ให้ท่านอยู่บนบ่าของเรา ให้ท่านขี้เยี่ยวรดตัวของเรา จนเราตายไปหรือท่านตายไป ก็ไม่สามารถที่จะทดแทนบุญคุณท่านได้ เว้นไว้แต่ผู้ใด ที่มาบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ตั้งอกตั้งใจรักษาศีลให้ดี ตั้งอกตั้งใจเจริญสมณธรรม จะเป็นสมถกัมมัฏฐานหรือวิปัสสนากัมมัฏฐานก็ตาม
เมื่อเราตั้งอกตั้งใจมั่นอยู่ในสิกขาทั้ง ๓ ประการ คือศีล สมาธิ ปัญญาแล้ว ได้สั่งสมอบรมบุญกุศลให้เกิดให้มีขึ้นในขันธสันดานของตน แล้วก็อุทิศส่วนบุญกุศลนั้นไปให้พ่อแม่ของเรา จึงจะทดแทนบุญคุณของท่านได้
หรือหากว่าเรามีโอกาสมีเวลา มีความสามารถ เราก็นำธรรมะที่เราได้ศึกษาเล่าเรียน ได้ประพฤติปฏิบัติมานี้ ไปแนะนำพ่อแม่ของเรา ให้ได้มีโอกาสประพฤติปฏิบัติ หรือหากว่าผู้ใด สามารถที่จะเอาพ่อแม่ของตนเข้ามาปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานได้ ผู้นั้นชื่อว่าได้ทดแทนบุญคุณของพ่อของแม่โดยสมบูรณ์แบบ มีท่านพระสารีบุตรเป็นตัวอย่าง
เหตุนั้น ท่านทั้งหลายที่บวชเข้ามาแล้ว ก็ขออย่าได้ลืมบุญคุณของพ่อแม่ที่ท่านมีพระคุณแก่เรา ทุกเช้า ทุกเย็น ทุกเพล ทุกค่ำ ที่เดินจงกรมนั่งสมาธิแล้ว ขอได้อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้ท่าน หรือหากว่าท่านใดมีโอกาสไปเทศน์โปรดพ่อโปรดแม่ จนพ่อแม่ได้มีโอกาสมาบวชด้วย จะเป็นเดือนหนึ่ง หรือ ๒-๓ เดือนก็ตาม หรือเป็นปีก็ตาม ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้ภูมิใจเถิดว่า เราได้ทำหน้าที่ของผู้เป็นลูกได้ดีแล้วหนอ เพราะเราเกิดมานี้ ได้อาศัยพ่ออาศัยแม่
เมื่อเราได้นำท่านมาบวชมาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานเพื่อให้พ้นจากกิเลสและกองทุกข์ ถึงสุขอันไพบูลย์คือมรรคผลนิพพาน เราสามารถที่จะนอนตาหลับได้ เพราะว่าเราได้ทำหน้าที่ของบุตรโดยสมบูรณ์แล้ว ก็ขอให้ท่านทั้งหลายมีปีติปราโมทย์รื่นเริงบันเทิงใจได้
แต่สำหรับท่านใด หากไม่มีโอกาสจะทำได้ ก็ขอให้พยายามทำต่อไป หรือหากว่าท่านใด พ่อแม่จากเราไปแล้ว ล่วงลับไปสู่ปรโลกเบื้องหน้าแล้ว ก็มีวิธีเดียว คือเราตั้งอกตั้งใจสั่งสมอบรมคุณงามความดี และอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปถึงพ่อแม่ เพื่อเป็นการตอบบุญสนองคุณของท่าน
เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมเอาธรรมะเรื่อง การบวช มาบรรยาย ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.