การประหารกิเลส ๑๐ ประการ

การประหารกิเลส ๑๐ ประการ

โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

———————

          ท่านครูบาอาจารย์ที่เคารพ ท่านนักปฏิบัติธรรมที่เป็นห่วง ที่นับถือ และที่รักทุกท่าน เราได้เรียนเรื่อง ธาตุ ขันธ์ อายตนะ มาพอสมควรแล้ว ก็คิดว่าท่านทั้งหลายคงจะพอรู้ว่า อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม ก็คงจะเข้าใจถ่องแท้สมบูรณ์แบบแล้ว

          นับตั้งแต่เรากำหนดอาการพอง อาการยุบ อาการนั่ง อาการยืน อาการขวาย่างซ้ายย่าง กำหนดเวทนา จิต ธรรม ก็คิดว่าครูบาอาจารย์ ตลอดจนท่านนักปฏิบัติธรรมทุกท่าน คงเข้าใจดีว่า ตรงนี้มันเป็นรูป ตรงนี้มันเป็นนาม คงจะทำความเข้าใจและสำเหนียกได้พอสมควรแล้ว วันนี้เราก็มาศึกษากันต่อ

          ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อใดเราใช้สติสัมปชัญญะกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน มีสติทันปัจจุบันธรรมคือรูปนามสมบูรณ์แล้ว ก็จะเห็นพระไตรลักษณ์ซึ่งเป็นลายของรูปนาม ถ้าว่าคนที่ไม่มีสติสัมปชัญญะจะบอกว่าตนเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น เป็นไปไม่ได้

          อุปมาเหมือนกันกับบุคคลที่จะเห็นลายเสือ ก็ต้องเห็นตัวเสือเสียก่อน ถ้าว่าเราไม่เห็นตัวเสือจะเห็นลายเสือได้อย่างไร ข้อนี้ฉันใด ผู้ปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานก็เหมือนกัน จะเห็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ต้องเห็นรูปเห็นนามเสียก่อน

          เพราะว่า รูปนามอุปมาเหมือนกับตัวเสือ พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วดับไป ทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป นี้อุปมาเหมือนกับลายของเสือ

          หมายความว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นลายของรูปนาม เมื่อใดเราเห็นรูปเห็นนามแล้ว จึงเห็นพระไตรลักษณ์ การเห็นพระไตรลักษณ์ก็คือการเห็นรูปเห็นนามนั่นเอง เมื่อเราเห็นรูปนามชัดด้วยปัญญา คือเห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดังกล่าวมาข้างต้น หลังจากนั้นก็จะเห็นสิ่งเร้นลับที่ซ่อนอยู่ในรูปนาม

          อะไรเป็นสิ่งเร้นลับที่ซ่อนอยู่ในรูปนาม

          ได้นำมาบรรยายบ้างแล้วในเจตสิก ๕๒ ดวง แต่สิ่งเร้นลับที่ซ่อนอยู่ในรูปนามนั้นมีมาก มีทั้งบุญทั้งบาป แต่วันนี้ จะได้นำมาบรรยายเฉพาะส่วนที่เป็นบาป ได้แก่ กิเลส ๑๐ ประการ ที่ซ่อนอยู่ในรูปนาม พร้อมทั้งบรรยายการประหารกิเลสทั้ง ๑๐ ประการนี้ ควบคู่กันได้ด้วย

          ทุกท่านย่อมทราบเป็นอย่างดีแล้วว่า การที่เราจะประหารกิเลสตัณหาอันมีฤทธิ์ร้าย มีอยู่วิธีเดียวคือการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้บรรลุโลกุตตรภูมิ เมื่อบรรลุแล้ว ก็สามารถปราบกิเลสตัณหาได้อย่างเด็ดขาดเป็นชั้นๆ ไป

          อันกิเลสตัณหานั้นมีอยู่มิใช่น้อย ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด เพื่อความเข้าใจง่ายจึงได้ประมวลลงในกิเลส ๑๐ ประการ อันเป็นหลักใหญ่ๆ คือ

          ๑.    โลภะกิเลส คือกิเลสที่ทำให้เกิดความพอใจ ความอยากได้

          ๒.    โทสะกิเลส คือกิเลสที่ทำให้จิตใจของเราเกิดความโกรธ หรือความพยาบาท เป็นต้น

          ๓.    โมหะกิเลส คือกิเลสที่ทำให้เกิดความมัวเมาลุ่มหลง มีอาการมืดบอด

          ๔.    มานะกิเลส คือกิเลสอันเป็นเหตุให้ถือตัว

          ๕.    ทิฎฐิกิเลส  คือสภาวะที่ให้เกิดความเห็นผิด

          ๖.    วิจิกิจฉากิเลส คือกิเลสที่ทำให้เกิดความสงสัย

          ๗.    ถีนะกิเลส คือกิเลสที่ทำให้เกิดความท้อแท้

          ๘.    อุทธัจจะกิเลส คือกิเลสที่ทำให้จิตฟุ้งซ่านคิดมาก

          ๙.    อหิริกะกิเลส  คือกิเลสที่ทำให้เกิดความไม่ละอายในการทำบาป

          ๑๐.  อโนตตัปปะกิเลส     คือกิเลสที่ทำให้เกิดความไม่กลัวในการทำบาป

          ต่อไปจะกล่าวถึงโลกุตตรภูมิที่ทำการประหารกิเลสทั้ง ๑๐ ประการนั้นโดยลำดับ

          ผู้ที่ได้ปฏิบัติพระวิปัสสนาภาวนาจนได้บรรลุถึงโลกุตตรภูมิอันดับแรก สำเร็จเป็นพระโสดาบันบุคคล ด้วยอำนาจแห่งโลกุตตรภูมิชั้นนี้ ย่อมทำให้สามารถละกิเลสได้๒ ตัวคือ

          ๑.    ทิฎฐิกิเลส ได้แก่สักกายทิฏฐิ คือความเข้าใจผิดในขันธ์ ๕ เข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เช่น ในการยืน เดิน นั่ง นอน ก็เข้าใจว่าตนเป็นผู้ยืน ผู้เดิน ผู้นั่ง ผู้นอน ความเข้าใจผิดเช่นนี้ ชื่อว่าสักกายทิฏฐิ อันเป็นความเห็นผิดในความหมุนเวียนของวัฏฏะ

          เรื่องสักกายทิฏฐินี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเทศนาแก่ภิกษุทั้งหลาย ดังปรากฏในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค พระบาลีว่า

                       สตฺติยา วิย โอมฏฺโฐ            ทยฺหมาโนว มตฺถเก

                       สกฺกายทิฏฺฐิปหานาย           สโต ภิกฺขุ ปริพฺพเช

          ซึ่งแปลความว่าท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร รู้สึกตนประหนึ่งถูกศาสตราวุธอันมีคมทิ่มแทงอยู่บนศีรษะแล้ว พึงเป็นผู้มีสติไม่ประมาทอยู่เถิด เพื่อจะได้กำจัดเสียซึ่งสักกายทิฏฐิ (๑๕/๕๗/๑๙)

          อธิบายว่า เหมือนบุคคลผู้ถูกอาวุธแหลมคมหรือว่าหอกปักคาอยู่ที่อก ถ้าบุคคลนั้นมีปัญญา ก็มีหน้าที่เพียรพยายามเพื่อจะถอนหอกนั้นออกจากอก ยิ่งกว่าจะคิดไปทำธุระอย่างอื่น

          อีกประการหนึ่ง บุคคลผู้ถูกไฟเผาอยู่บนศีรษะ ได้รับความเร่าร้อนกระวนกระวายยิ่งนัก ถ้าบุคคลนั้นเป็นผู้มีสติดี ก็ต้องคิดที่จะรีบดับไฟบนศีรษะตนเสียโดยเร็ว อุปมานี้ฉันใด สักกายทิฏฐิก็ฉันนั้น  

          บุคคลทั้งหลายต้องได้รับความเดือดร้อน วนเวียนอยู่ในวัฏทุกข์ โดยไม่อาจนับภพนับชาติได้ ก็ด้วยอำนาจสักกายทิฏฐินั่นเอง ฉะนั้น ผู้ที่บำเพ็ญวิปัสสนาภาวนาจนได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน สามารถทำลายสักกายทิฏฐิให้สูญสิ้นไปจากขันธสันดานได้แล้ว ก็เท่ากับว่าถอนหอกที่ปักอกหรือดับไฟบนศีรษะของตนได้สำเร็จ

          ๒.    วิจิกิจฉากิเลส ได้แก่ ธรรมชาติที่ทำให้เกิดความสงสัย ทำให้ตัดสินใจลำบาก คือสงสัยในเรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตามธรรมดาผู้ยังมีวิจิกิจฉาอยู่ ไม่ว่าผู้นั้นจะนับถือศาสนาพุทธหรือศาสนาไหนก็ตาม ย่อมสงสัยในพระรัตนตรัยอยู่เสมอ เช่น

          ๑)    สงสัยในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้ามีจริงหรือ ถ้าพระพุทธเจ้ามีจริง พระองค์ตัดกิเลสได้จริงหรือ พระองค์ทรงคุณพิเศษ สามารถแสดงธรรมเพื่อที่จะยังสัตว์ให้พ้นจากวัฏสงสารได้จริงหรือ พระองค์ทรงพ้นจากทุกข์เสด็จเข้าสู่แดนอมตมหานฤพานได้จริงหรือ ดังนี้เป็นต้น

          ๒)    สงสัยในพระธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระธรรมที่ทรงแสดงไว้นั้นจริงหรือ พระธรรมที่เร้นลับมองไม่เห็นต่างๆ เช่น เรื่องนรก สวรรค์ เรื่องมรรคผลพระนิพพานเป็นต้นนั้นมีอยู่จริงหรือ ถ้าปฏิบัติตามพระธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนไว้แล้ว จะได้บรรลุมรรค ผล นิพพานจริงหรือไม่ เป็นต้น

          ๓)    สงสัยในพระอริยสงฆ์สาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระอริยสงฆ์มีจริงหรือ ถ้ามีจริงท่านสามารถดับกิเลสได้จริงหรือ ท่านสามารถได้บรรลุมรรคผล นิพพานจริงหรือ ผู้ที่ได้บำเพ็ญวิปัสสนาภาวนาจนได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันบุคคลเป็นผู้เข้าสู่กระแสพระนิพพาน ได้ดื่มอมตรสกล่าวคือพระนิพพานแล้ว มีหรือ

          ความสงสัยในพระรัตนตรัยดังกล่าวมาก็จะขาดสิ้นไปจากขันธสันดาน ทั้งนี้ก็เพราะว่าตนได้ประสบยอดของธรรมกล่าวคือพระนิพพานแล้ว จึงมีความเชื่อมั่นอย่างจริงใจว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐอย่างแน่แท้ เพราะสามารถทรงนำพระนิพพานอันเป็นอมตธรรมมาเผยแผ่ให้ปรากฏแก่ชาวโลกได้ และในบรรดาธรรมทั้งหลายนั้น พระนิพพานได้ชื่อว่าเป็นยอดแห่งธรรม

          ก็เมื่อพระนิพพานอันเป็นยอดแห่งธรรมมีจริง เพราะตนได้ประสบพบเห็นด้วยตนเองมาแล้วอย่างนี้ เหตุไฉน ธรรมอันพระองค์ตรัสไว้จะไม่มีจริงเล่า พระอริยสงฆ์สาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มีอยู่จริงๆ เพราะการที่จะได้เป็นพระอริยสงฆ์ ก็โดยอาศัยการได้ลิ้มรสอมตธรรมคือนิพพาน อีกอย่างหนึ่ง ตนเองก็ได้ลิ้มรสพระนิพพานแล้วเหมือนกัน ฉะนั้น ความสงสัยในพระอริยสงฆ์ก็เป็นอันหมดสิ้นไป

          เมื่อหมดความสงสัยในพระรัตนตรัยโดยเอาตนเองเข้าเป็นพยานแล้ว ก็จะมีจิตผ่องแผ้ว เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างหนักแน่น มีความเคารพบูชาในพระรัตนตรัยอย่างซาบซึ้ง เป็นผู้ที่มองเห็นคุณค่าของพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง และในขณะนี้เอง ตัววิจิกิจฉากิเลสก็จะหมดสิ้นไปจากขันธสันดาน ได้เป็นพระโสดาบันบุคคล

          จึงเป็นอันว่า พระโสดาบันบุคคลเป็นผู้สามารถตัดกิเลสขาดออกไปจากขันธสันดานได้แล้ว ๒ ตัว คือ ทิฏฐิกิเลสและวิจิกิจฉากิเลส ดังนั้น ในวิสุทธิมรรค อรรถกถา ท่านจึงแสดงไว้ว่า

กิเลเสสุ ทิฏฺฐิวิจิกิจฺฉา ปฐมญาณวชฺฌา

          บรรดากิเลสทั้งหลาย ทิฏฐิกิเลส และวิจิกิจฉากิเลส ทั้งสองนี้ มัคคญาณที่ ๑ คือโสดาปัตติมัคคญาณ ประหารได้โดยเด็ดขาด

          ๓.    โลภะกิเลส    ได้แก่

          ๑)    รูปราคะคือ ความใคร่ ความยินดีพอใจในรูปภพหรือรูปฌาน มีความพอใจไปเกิดในรูปพรหม ความยินดีพอใจในสภาวธรรมดังกล่าวมาแล้วนี้ พระอรหันต์จึงจะละได้โดยเด็ดขาด                

          ๒)    อรูปราคะความยินดีพอใจในอรูปภพหรืออรูปฌาน มีความยินดีพอใจไปเกิดเป็นอรูปพรหม ความยินดีพอใจในสภาวธรรมดังกล่าวมานี้ เป็นโลภะกิเลสที่ละเอียดที่สุด พระอรหันต์เท่านั้นจึงจะละได้โดยเด็ดขาด ส่วนกามราคะนั้น พระอนาคามีละเป็นสมุจเฉทปหานได้แล้ว

          ๔. โทสะกิเลส ได้แก่ กิเลสที่ทำให้เป็นคนเหี้ยมโหดทารุณ เป็นอันธพาล พยาบาทอาฆาตกัน ประหัตประหารกัน ทำให้เป็นคนเนรคุณ เป็นต้น ตลอดจนถึงทำให้ไม่พอใจ ไม่ชอบใจในการปฏิบัติหรือในเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมร่วมกัน ในญาติโยม ในที่อยู่ ในอาหาร ในครูบาอาจารย์ เป็นต้น นี้เป็นลักษณะของโทสะ โทสะกิเลสนี้ พระอนาคามีบุคคลละได้เด็ดขาดเป็นสมุจเฉทปหานแล้ว

          ๕.    มานะกิเลส ได้แก่ ความถือตัว (ขุทฺทกนิกาย อัฏฐกถา ปฏิสมฺภิทามัคควัณณนา สัทธัมมปกาสินี หน้า ๖๗๙)

          มานะนี้เป็นกิเลส เพราะเมื่อว่าตามสภาวะ ย่อมเป็นการปฏิบัติผิด โดยยึดเอารูปนามขันธ์ ๕ มาเป็นเราเป็นเขา จึงเป็นเหตุให้ตกอยู่ในวัฏทุกข์ประการหนึ่ง มานะกิเลสนี้ แบ่งเป็นส่วนใหญ่ๆ ได้ ๒ ส่วน คือ

          ๑)    อยาถาวมานะ ความถือตัวที่ไม่เป็นไปตามความจริง ได้แก่

                 ตนเป็นคนชั้นสูง แต่ถือว่าตนเป็นคนชั้นกลาง

                 ตนเป็นคนชั้นสูง แต่ถือว่าตนเป็นคนชั้นต่ำ

                 ตนเป็นคนชั้นกลาง แต่ถือว่าตนเป็นคนชั้นสูง

                 ตนเป็นคนชั้นกลาง แต่ถือว่าตนเป็นคนชั้นต่ำ

                 ตนเป็นคนชั้นต่ำ แต่ถือว่าตนเป็นคนชั้นสูง

                 ตนเป็นคนชั้นต่ำ แต่ถือว่าตนเป็นคนชั้นกลาง

          อยาถาวมานะ ทั้ง ๖ ประการนี้ พระโสดาบันบุคคลละได้โดยเด็ดขาดแล้ว เพราะเป็นกิเลสที่หยาบมาก

          ๒)    ยาถาวมานะความถือตัวอันเป็นไปตามความเป็นจริง ได้แก่

                 ตนเป็นคนชั้นสูง ก็ถือว่าตนเป็นคนชั้นสูง

                 ตนเป็นคนชั้นกลาง ก็ถือว่าตนเป็นคนชั้นกลาง

                 ตนเป็นคนชั้นต่ำ ก็ถือว่าตนเป็นคนชั้นต่ำ

          ยาถาวมานะ ทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นกิเลสที่ประณีตกว่า อยาถาวมานะ แม้พระสกทาคามี พระอนาคามี ซึ่งเห็นพระนิพพานมา ๒ – ๓ ครั้งตามลำดับแล้ว ก็ยังไม่สามารถละมานะเหล่านี้ได้เด็ดขาด เป็นแต่เพียงทำให้เบาบางลงเท่านั้น ต่อเมื่อใดได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงสามารถประหารกิเลสนี้ให้หมดสิ้นไปอย่างเด็ดขาด

          ๖.    อุทธัจจะกิเลส ได้แก่ สภาพที่ทำจิตใจให้ฟุ้งซ่าน จับอารมณ์ไม่แน่นอน หรือสภาพที่ไม่สามารถตั้งอยู่ในอารมณ์เดียวได้นานๆ อุทธัจจะเป็นอกุศลชาติ ซึ่งเป็นเครื่องปิดกั้นความดีไม่ให้เกิดขึ้น พระอรหันต์เท่านั้นจึงจะละได้โดยเด็ดขาด

          ในกรณีนี้ก็จะมีปัญหาว่า  ถ้าเช่นนั้น พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ซึ่งเป็นพระเสขบุคคลทั้งหลาย ก็จะยังมีอุทธัจจะอยู่ ทำให้สงสัยว่า เมื่อยังมีอุทธัจจะความฟุ้งซ่านคิดมากอันเป็นเครื่องปิดกั้นความดีแล้ว จะได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี ได้อย่างไร

          แก้ว่า ก็เพราะว่า ในขณะที่มรรคผลจะเกิดขึ้นแก่ท่านแต่ละครั้งๆ สมาธิแห่งวิปัสสนาของท่านจะมีกำลังเข้มแข็งเป็นอันมาก สามารถข่มอุทธัจจะกิเลสนี้ลงได้ชั่วขณะหนึ่ง และในขณะที่อุทธัจจะกิเลสนี้ดับลงไปนั้นเองอริยมรรคอริยผลเบื้องต่ำ คือ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล  สกทาคามิมรรค  สกทาคามิผล  อนาคามิมรรคอนาคามิผล ย่อมพลันจะเกิดมีแก่ท่านทันที ทำให้ท่านสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลได้เป็นลำดับมา แต่ยังไม่สามารถประหารอุทธัจจะกิเลสนี้ได้อย่างเด็ดขาด ต่อเมื่ออรหัตตมรรคอุบัติเกิดขึ้น จึงจะสามารถประหารอุทธัจจะกิเลสนี้ให้หมดไปจากขันธสันดาน

          ๗.    ถีนะกิเลส     ได้แก่ กิเลสที่ทำให้จิตง่วงเหงาท้อถอย ถีนะกิเลสนี้ ย่อมมีอยู่ในขันธสันดานของปุถุชนและพระเสขบุคคล เมื่อบรรลุพระอรหันต์แล้วจึงจะสามารถกำจัดถีนะกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานได้

          หมายความว่า การที่พระอรหันต์ทั้งหลายยังมีการหลับนอนอยู่นั้น หาใช่เป็นไปตามอำนาจของถีนะกิเลสไม่ ที่แท้เป็นเพราะร่างกายของท่านได้ปฏิบัติหน้าที่มาระยะหนึ่งแล้ว ย่อมมีการอ่อนเพลียหมดกำลัง จิตตกภวังค์ไปเฉยๆ ตามธรรมดาแห่งอุปาทินนกสังขาร ซึ่งจะมีการพักผ่อนหลับนอนไปเป็นธรรมดาตามธรรมชาติ

          อนึ่ง ถีนะกิเลสตัวนี้ จะเกิดขึ้นในขณะที่จิตเป็นสสังขาริก คือในขณะที่จิตจับอารมณ์ไม่เข้มแข็ง เช่น ในขณะที่ง่วงจวนจะหลับหรือในขณะที่ตื่นนอน แต่ไม่ใช่เกิดขึ้นเวลาหลับ เพราะในเวลาหลับนั้น จิตเป็นภวังค์ ซึ่งถีนะกิเลสไม่สามารถเกิดขึ้นร่วมได้ คือขอให้ท่านทั้งหลายเข้าใจไว้ว่า เวลาเรานอนหลับนั้น ไม่ใช่ว่าถูกถีนะกิเลสเข้าครอบงำ

          เวลาเรานอนหลับนั้น จิตของเราลงสู่ภวังค์ จิตเป็นภวังค์ อยู่ในห้วงแห่งภวังค์ ถีนะกิเลสเกิดร่วมไม่ได้ ถีนะกิเลสนี้จะเกิดร่วมได้ตอนเราง่วง หรือตอนตื่นนอนใหม่ๆ หรือว่าเรารับประทานอาหาร ฉันอาหารอิ่มใหม่ๆ เราไปเดินจงกรมนั่งสมาธิ ขณะนั้นถีนะกิเลสเกิดร่วมได้

          ๘.    อหิริกะกิเลส ได้แก่ สภาพที่ไม่ละอายต่ออกุศลทุจริต ย่อมเป็นที่รังเกียจแห่งบัณฑิตทั้งหลาย ในคัมภีร์อัฏฐสาลินีกล่าวไว้ว่า ก้อนเหล็กที่เปรอะเปื้อนไปด้วยอุจจาระ คนที่ฉลาดย่อมไม่ปรารถนาที่จะแตะต้อง เพราะเป็นของที่น่ารังเกียจ สะอิดสะเอียน ฉันใด อกุศลทุจริตก็เช่นเดียวกัน บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ปรารถนาที่จะถูกต้อง เพราะมีใจหยั่งลงสู่ลัชชีธรรม คือความละอายแก่ใจในการที่จะแตะต้องอกุศลทุจริตอันเป็นบาปเป็นความชั่วนั้น

          ส่วนพาลชนถูกโมหะครอบงำ ย่อมสามารถทำอกุศลทุจริตได้โดยปราศจากความละอาย อันเป็นอลัชชีธรรม คือสภาพที่ไม่ละอาย ไม่รังเกียจในอกุศลทุจริต นี้เรียกว่าอหิริกะ ซึ่งพระอรหันตบุคคลเท่านั้นจึงจะละได้เด็ดขาด

          ที่ว่าพระอรหันต์เท่านั้นจึงจะสามารถละอหิริกะนี้ได้หมดสิ้นนั้น ถ้าเช่นนั้น พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ซึ่งเป็นพระเสขบุคคลทั้งหลาย ก็ยังมีความพอใจในการประพฤติทุจริตอีกอยู่หรือ

          แก้ว่า พระเสขบุคคลทั้งหลายเหล่านั้น มิได้มีความพอใจในอกุศลทุจริตเหมือนปุถุชน แท้ที่จริงแล้ว โดยอำนาจอริยมรรคที่เกิดขึ้น ท่านได้กำจัดกิเลสนี้เป็นขั้นๆมาแล้ว คือ พระโสดาบัน สามารถประหารอหิริกะกิเลสในส่วนที่เป็นอปายคามินี คือกิเลสที่จะพาไปเกิดในอบายภูมิ คือนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานได้แล้ว

          ส่วนพระสกทาคามีและพระอนาคามี แม้ยังไม่สามารถประหารอหิริกะกิเลสอันเป็นส่วนละเอียดสุขุมได้ทั้งหมด แต่ก็ทำให้เบาบางลงจากขันธสันดานได้เป็นอันมาก ส่วนพระอรหันต์ ย่อมสามารถกวาดล้างอหิริกะกิเลสนี้ไม่ให้เหลืออยู่ในขันธสันดานอีกเลย

          ๙.    อโนตตัปปะกิเลส ได้แก่ สภาวะที่ไม่เกรงกลัวต่ออกุศลทุจริต ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องได้รับความทุกข์ในวัฏสงสาร ขึ้นชื่อว่าอกุศลทุจริตนั้น บัณฑิตทั้งหลายย่อมมีความเกรงกลัวเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่ให้ผลเป็นทุกข์แก่ผู้ประพฤติเป็นอย่างมาก

          ในคัมภีร์อัฏฐสาลินีอรรถกถาท่านกล่าวว่า ก้อนเหล็กแดงที่ถูกไฟเผาลุกโชน คนฉลาดย่อมไม่ปรารถนาที่จะแตะต้อง เพราะเกรงกลัวความร้อนที่ก้อนเหล็กแดงนั้น ซึ่งถ้าแตะต้องย่อมได้รับความเจ็บปวดแสนสาหัส อกุศลทุจริตก็เช่นเดียวกัน บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ปรารถนาที่จะแตะต้อง เพราะมีปัญญาหยั่งทราบด้วยดีว่า อกุศลทุจริตนี้ มีแต่จะให้ทุกข์ให้โทษอย่างเดียว มิให้คุณเลย

          ส่วนพาลชนถูกโมหะครอบงำจิต ย่อมสามารถทำอกุศลทุจริตได้โดยไม่มีความเกรงกลัวเลย สภาวะที่ไม่เกรงกลัวต่ออกุศลทุจริตนี้ ชื่อว่า อโนตตัปปะ ซึ่งพระอรหันต์บุคคลเท่านั้นจึงจะละได้โดยเด็ดขาด ส่วนพระเสขบุคคลคือพระโสดาบัน สามารถประหารอโนตตัปปะที่เป็นอปายคามินีนำพาไปสู่อบายภูมิได้ พระสกทาคามี แม้ว่า อโนตตัปปะ ส่วนที่สุขุมละเอียดจะมีอยู่ในขันธสันดาน แต่ก็เบาลงมากแล้ว ส่วนพระอรหันต์สามารถประหารได้โดยไม่มีเหลือ

          ๑๐.  โมหะกิเลส ได้แก่ สภาวะที่มืดมน ปิดบังปัญญามิให้เห็นจตุราริยสัจธรรม คืออริยสัจ ๔

          โมหะกิเลสก็คืออวิชชาความไม่รู้นั่นเอง

          ถามว่า ไม่รู้อะไร

          ตอบว่า ไม่รู้อริยสัจ ๔ คือ ๑)ไม่รู้ทุกข์ ๒)ไม่รู้เหตุให้เกิดทุกข์ ๓) ไม่รู้นิโรธความดับทุกข์ ๔) ไม่รู้ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์

          โมหะกิเลสนี้ พระอรหันตบุคคลเท่านั้นจึงจะสามารถกำจัดกวาดล้างให้หมดไปจากขันธสันดานได้โดยเด็ดขาด

          ในกรณีนี้ ถ้าจะมีปัญหาถามว่า อวิชชาคือความไม่รู้จตุราริยสัจนี้ เหตุใดจึงมีเหลืออยู่จนต้องให้พระอรหัตตมรรคประหารอีก ในเมื่ออริยมรรคเบื้องต่ำคือโสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค เกิดขึ้นแต่ละครั้งๆ ก็เห็นจตุราริยสัจทำลายกิเลสได้ทุกครั้งไปอยู่แล้ว

          วิสัชนาว่า ที่เป็นดังนี้ ก็เพราะอริยมรรคเบื้องต่ำทั้ง ๓ เมื่อเกิดขึ้น ทำให้เห็นจตุราริยสัจกำจัดอวิชชาได้ก็จริง แต่ว่าบรรดามรรคเหล่านั้น มีสภาพธรรมเป็นวิชชูปมาธรรม (คือธรรมที่อุปมาเหมือนฟ้าแลบ) ส่วนอริยมรรคขั้นสูงสุดคืออรหัตตมรรคนั้น เมื่ออุบัติขึ้นย่อมจะทำให้เห็นอริยสัจกำจัดอวิชชาได้อย่างเด็ดขาด เพราะว่าอรหัตตมรรคนี้ มีสภาพเป็น วชิรูปมาธรรม เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว โมหะก็ถูกประหารเป็นสมุจเฉทไป

          อุปมาว่า ธรรมดาสายฟ้าที่ฟาดหรือผ่าลงมานั้น ย่อมมีกำลังกล้ายิ่งนัก เมื่อผ่าลงสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม สิ่งนั้นย่อมแตกทำลายไป อุปมาข้อนี้ฉันใด อรหัตตมรรคเมื่อเกิดขึ้นแล้ว กิเลสตัวหนึ่งตัวใดที่ไม่ถูกทำลายนั้นเป็นอันไม่มี กิเลสทั้งหลายที่อริยมรรคอื่นๆทำลายไม่ได้จะต้องถูกทำลายไปด้วยอรหัตตมรรคให้หมดไปสิ้นไป ฉันนั้น

          อรหัตตมรรคนี้เป็น วชิรูปมาธรรม คือเปรียบเหมือนฟ้าผ่า การบรรลุอรหัตตมรรค หรือว่าอรหัตตมรรคเกิดขึ้นมาแล้วย่อมจะสามารถทำลายกิเลสทั้ง ๑๐ นี้ ให้หมดไปจากขันธสันดาน

          กิเลสทั้ง ๑๐ ตัวนี้ หากว่ามรรคเบื้องต่ำทั้ง ๓ ทำลายแล้ว แต่ว่ายังดับไม่สนิท ความร้อนของกิเลสเหล่านี้ยังมีอยู่ ก็จะถูกอรหัตตมรรคที่เกิดขึ้นทำลายให้หมดสิ้นไป เหมือนกันกับสายฟ้าที่ฟาดลงมาบนต้นไม้หรือโคตรเพชรโคตรเหล็กก็ตาม สิ่งเหล่านั้นจะแข็งสักปานใด ก็จะต้องแหลกลาญเป็นจุณวิจุณไป และไม่มีวันที่จะกลับเกิดขึ้นมาอีก ข้อนี้ฉันใด กิเลสที่ถูกอรหัตตมรรคทำลายได้แล้ว ก็จะหมดไปสูญไป ไม่มีวันเกิดขึ้นอีก ฉันนั้น เพราะฉะนั้น อรหัตตมรรคนั้น ท่านจึงอุปมาเป็นคำจำกัดความว่า วชิรูปมาธรรม คือธรรมที่เปรียบเหมือนฟ้าผ่า

          สรุป กิเลสทั้ง ๑๐ ประการนี้ ทิฏฐิกิเลส วิจิกิจฉากิเลส พระโสดาบันละได้เด็ดขาด สำหรับโทสะกิเลส โลภะกิเลส มานะกิเลส อุทธัจจะกิเลส ถีนะกิเลส อหิริกะกิเลส อโนตตัปปะกิเลส และโมหะกิเลสนั้น ในส่วนที่เป็นอปายคามินี คือที่จะพาไปเกิดในอบายภูมิ มีนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานนั้น พระโสดาบันละได้แล้ว ไม่สามารถที่จะพาให้ไปเกิดในอบายภูมิได้

          ส่วนพระสกทาคามี ทำกิเลสที่เหลืออยู่จากที่พระโสดาบันละได้แล้วให้เบาบางลง พระอนาคามีละโลภะส่วนที่เป็นกามราคะและละโทสะได้ ส่วนพระอรหันต์ละกิเลสที่ยังเหลืออยู่ได้หมดสิ้นทุกสิ่งทุกประการ

          นี้แลท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย หนทางที่เราท่านทั้งหลายจะทำลายกิเลสให้หมดไปจากขันธสันดานก็มีอยู่หนทางเดียวคือการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานเท่านั้น เมื่อใดเรายังไม่สามารถทำลายกิเลสทั้ง ๑๐ ตัวนี้ตัวใดตัวหนึ่งให้ดับไปสิ้นไปสูญไป โอกาสที่จะไปเกิดในอบายภูมิก็ยังมี

          เราเป็นพระแล้ว มิใช่ว่าเราจะปิดประตูอบายภูมิได้ เป็นพระก็มีโอกาสไปตกนรกได้เหมือนกัน เป็นสามเณร ปะขาว แม่ชี ก็มีโอกาสไปตกนรกได้เหมือนกัน ยิ่งเป็นพระเป็นเณร เป็นปะขาวแม่ชีนี้ ยิ่งมีโอกาสที่จะไปตกนรกได้เร็วกว่าโยมเขา

          เพราะเหตุใด

          เพราะว่า ชีวิตของเรานั้นเนื่องด้วยคนอื่น และนอกจากนี้ ข้อวัตรปฏิบัติของเรามีมากกว่าโยม ธรรมดาเมื่อเราทำผิดศีลของเรา ก็มีโอกาสที่จะไปสู่อบายภูมิได้

          ทีนี้ เมื่อใดเราผ่านมัคคญาณผลญาณได้ครั้งหนึ่ง ก็สามารถปิดประตูอบายภูมิได้ ตัวอย่างนายตัมพทาฐิกะ มีเรื่องเล่าไว้ในธรรมบทว่า

          นายตัมพทาฐิกะนั้นเป็นผู้มีร่างกายกำยำ มีเคราแดง มีตาเหลือกเหลือง เป็นคนที่น่าเกรงกลัวที่สุด เขาคิดอยากจะเป็นโจร จึงได้ไปขออาศัยอยู่ในสำนักของพวกโจร แต่หัวหน้าโจรดูลักษณะของเขาแล้วคิดว่า บุรุษคนนี้มีจิตใจกล้าแข็งยิ่งนัก เขาสามารถที่จะเชือดนมมารดาหรือสามารถจะเชือดเอาเลือดจากลำคอของบิดามาดื่มกินได้ จึงไม่รับเขาไว้

          แต่นายตัมพทาฐิกะนั้นไม่ยอมกลับ ไปอาศัยอยู่กับบริวารของโจร พยายามทำความดีทุกสิ่งทุกประการ จนบริวารโจรคนนั้นเชื่อใจไว้ใจแล้วก็พาเขาไปหาหัวหน้าโจร บอกว่าบุรุษคนนี้เป็นคนดี ไม่เกียจคร้าน สามารถทำงานได้ทุกอย่าง หนักเอาเบาสู้ ซื่อสัตย์สุจริต ควรที่จะรับเขาไว้ ผลสุดท้ายหัวหน้าโจรก็ใจอ่อนรับนายตัมพทาฐิกะนั้นไว้

          ก็เป็นธรรมดาของโจรย่อมไม่อยู่เฉยๆ พวกโจรเหล่านั้นซึ่งมีจำนวน ๕๐๐ ก็พากันออกเที่ยวปล้นตามสถานที่ต่างๆ จนทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน จึงได้นำความขึ้นกราบทูลพระราชา พระองค์จึงตรัสสั่งให้เจ้าหน้าที่พร้อมทั้งประชาชนออกตามล่าโจร จนสามารถจับโจรมาได้ทั้ง ๕๐๐ เมื่อนำมาแล้ว ศาลได้ตัดสินให้ประหารชีวิตโจรทั้ง ๕๐๐ นั้นด้วยการตัดคอ ครั้งนั้น ในพระนครนั้นไม่มีใครสามารถที่จะกล้าตัดคอโจรเหล่านั้นได้ จึงไปถามหัวหน้าโจร หัวหน้าโจรก็ไม่สามารถที่จะทำได้ เพราะว่าเคยได้ร่วมทุกข์ร่วมสุข ได้อยู่กันมานาน

          คนทั้งหลายจึงถามไปตามลำดับ แต่ไม่มีใครยอมทำ จนกระทั่งถามมาถึงนายตัมพทาฐิกะว่า ท่านสามารถที่จะฆ่าโจรเหล่านี้ได้หรือไม่ ถ้าท่านยอมฆ่า พวกเราจะไว้ชีวิตท่าน เขาก็ตอบรับว่า ข้าพเจ้าสามารถ ชนทั้งหลายจึงมอบดาบให้แก่เขา เขาได้ดาบแล้วก็ตัดคอโจรไปทีละคนๆ ขาดไป โดยไม่มีความสะทกสะท้าน จนหมดทั้ง ๔๙๙ คน

          ผลสุดท้าย พวกคนก็พากันให้ความยกย่องนับถือ แล้วตั้งเขาไว้ในตำแหน่งเพชฌฆาต หลังจากนั้นมา เมื่อจับโจรได้ ศาลสั่งประหารชีวิต ก็นำมาให้เขาฆ่าคราวละ ๒๐๐ บ้าง ๓๐๐ บ้าง ๕๐๐ บ้าง คราวละ ๒-๓ คนบ้าง

          ตั้งแต่เขาเป็นนายเพชฌฆาตอยู่นั้น เป็นเวลา ๕๕ ปี ได้ฆ่าคนไปสองพันกว่าคน เมื่อชีวิตของเขาย่างเข้าสู่วัยชรา ก็ไม่อาจที่จะตัดคอโจรทีเดียวให้ขาดไปได้ ต้องตัด ๒-๓ ที ทำให้นักโทษต้องได้รับความลำบากมากทรมานมาก ชนทั้งหลายจึงได้ถอดเขาออกจากตำแหน่ง

          ในระหว่างที่เขาเป็นนายเพชฌฆาตอยู่นั้น เขาไม่ได้ทำกิจ ๔ อย่างนี้เลย คือ การนุ่งผ้าใหม่ การดื่มยาคูเจือน้ำนมที่ปรุงด้วยเนยใสใหม่ การประดับดอกมะลิ การทาด้วยของหอม ในวันที่เขาออกจากตำแหน่งนั้น ชนทั้งหลายได้ทำกิจ ๔ อย่างนั้นแก่เขา

          ในเช้าวันนั้น เขาจึงลงไปอาบน้ำชำระร่างกาย นุ่งผ้าใหม่ ประดับประดาร่างกายด้วยดอกไม้ ทาน้ำหอม แล้วก็เตรียมตัวที่จะบริโภคข้าวยาคูเจือน้ำนมปรุงด้วยเนยใสใหม่ของตน

          ในเช้าวันนั้นเอง พระสารีบุตรออกจากนิโรธสมาบัติแล้วได้พิจารณาว่า ใครจะเป็นผู้มีศรัทธา จะเป็นผู้ได้รับผลบุญอันยิ่งใหญ่ ก็พิจารณาเห็นว่า นายตัมพทาฐิกะเป็นผู้มีศรัทธา เขาจะได้บรรลุคุณธรรมอันใหญ่หลวง เมื่อทราบดังนั้นแล้วจึงนุ่งสบงทรงจีวรถือบาตรมาสู่บ้านของนายตัมพทาฐิกะ ยืนอยู่ที่ประตูบ้าน

          ขณะนั้น นายตัมพทาฐิกะกำลังจะบริโภคยาคูนั้น พอดีเหลือบมาเห็นท่านพระสารีบุตรเข้า เกิดความปีติดีใจว่า เราเป็นเพชฌฆาตอยู่ ๕๕ ปี ฆ่าคนเป็นจำนวนมาก เราไม่เคยทำบุญทำทานเลยสักครั้งเดียว เราพ้นจากตำแหน่งวันนี้ ชนทั้งหลายทำกิจ ๔ อย่างแก่เราวันนี้ และพระเถระเจ้าก็มาโปรดเราในวันนี้ บัดนี้ ไทยธรรมของเราก็มีอยู่

          เมื่อเขาคิดได้ดังนั้นแล้ว จึงนิมนต์พระสารีบุตรเถระขึ้นไปบนบ้าน เมื่อท่านนั่งลงเรียบร้อยแล้ว จึงนำเอาข้าวยาคูมาใส่ลงในบาตร นิมนต์ให้ท่านฉัน ส่วนตนเองนั่งพัดให้พระเถระ กลิ่นของข้าวยาคูทำให้เขากระวนกระวาย เพราะไม่เคยได้ลิ้มรสมานาน พระเถระทราบอัธยาศัยจึงบอกให้เขาไปทานข้าวยาคูของเขา เมื่อเขาทานข้าวยาคูเสร็จก็มาพัดพระเถระต่อ

          เมื่อท่านพระสารีบุตรเถระทำภัตกิจเสร็จแล้วจึงแสดงพระธรรมเทศนาแก่นายตัมพทาฐิกะ แต่เขาไม่สามารถที่จะส่งจิตส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนาได้ เกิดความฟุ้งซ่านคิดมาก นึกถึงแต่บาปกรรมที่ตนได้ทำไว้

          พระเถระทราบวาระจิตจึงได้กล่าวขึ้นว่า อุบาสก เหตุใดท่านจึงไม่สามารถส่งใจไปตามธรรมเทศนาได้ ท่านขอรับ ผมเป็นเพชฌฆาตอยู่ ๕๕ ปี ฆ่าคนไปสองพันกว่าคน เมื่อผมฟังเทศน์อยู่ ภาพคนที่ผมฆ่าก็มาปรากฏ เมื่อเป็นเช่นนี้ กระผมจึงไม่สามารถจะส่งจิตส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนาได้

          ท่านพระมหาเถระเป็นผู้ฉลาดจึงคิดว่า เราจะใช้กุศโลบายสอนบุรุษนี้ แล้วจึงถามนายตัมพทาฐิกะว่า อุบาสก เวลาอุบาสกฆ่าคน อุบาสกฆ่าเองหรือว่าผู้อื่นสั่งให้ฆ่า นายตัมพทาฐิกะจึงตอบว่า ผมไม่ได้ฆ่าเอง ผู้อื่นสั่งให้ฆ่า ก็เมื่ออุบาสกไม่ได้ฆ่าเอง บาปนั้นก็ไม่ตกอยู่ที่อุบาสก

เมื่อพระเถระกล่าวอย่างนี้ นายตัมพทาฐิกะจึงมีความสำคัญว่าตนเองไม่มีบาป เกิดความอิ่มใจ รื่นเริงใจ พระเถระก็แสดงธรรมต่อ เขาส่งจิตส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เมื่อพระเถระแสดงธรรมจบ ลากลับ เขาจึงตามส่งพระเถระหน่อยหนึ่ง กลับมาตามหนทาง ถูกนางยักษิณีที่เป็นเจ้ากรรมนายเวรในปางก่อนแปลงร่างเป็นแม่โคกระโดดขวิดตายไป

          วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันในโรงธรรมสภาศาลาว่า นายตัมพทาฐิกะนี้ เขาเป็นเพชฌฆาตอยู่ ๕๕ ปี ฆ่าคนไปสองพันกว่าคน ในวันที่เขาพ้นจากตำแหน่ง ชาวบ้านได้ทำกิจ ๔ อย่างแก่เขา เขาได้ทำบุญแก่พระสารีบุตรในวันนั้น และในวันนั้นเองเขาก็สิ้นชีวิต เมื่อเขาตายแล้ว เขาจะไปเกิดที่ไหนหนอ

          องค์พระบรมศาสดาทรงเสด็จมาตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย  พวกเธอสนทนากันด้วยเรื่องอะไร พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์สนทนากันเรื่องของนายตัมพทาฐิกะว่า เขาตายแล้วจะไปบังเกิดที่ไหนหนอ พระองค์จึงทรงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุตรของเราไปบังเกิดแล้วในดุสิตบุรี เมื่อพระองค์ตรัสอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลายก็งงว่า เป็นไปได้อย่างไรกัน หรือว่าผลของบาปไม่มี

          ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าได้กล่าวเช่นนั้นเลย ข้อนี้เป็นความจริง เพราะเมื่อก่อนโน้น บุตรของเราไม่ได้กัลยาณมิตรเลย จึงได้ทำบาปมีประมาณเท่านี้ แต่บัดนี้ บุตรของเราได้กัลยาณมิตร ได้พบกับพระสารีบุตร ได้ถวายทานแก่ท่าน ได้ฟังเทศน์ของท่าน ยังอนุโลมขันติให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เหตุนั้น เมื่อตายแล้วจึงไปเกิดในชั้นดุสิตบุรี

          นี้แล ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เราคิดดูซิว่า ฆ่าคนเพียงคนเดียว หรือเราฆ่าตัวเราเองชีวิตเดียวเท่านั้น เราก็จะต้องไปเกิดในอเวจีมหานรกแล้ว นี่นายตัมพทาฐิกะฆ่าคนตั้งสองพันกว่าคน ทำไมจึงไม่ต้องตกอเวจี ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ผู้ที่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ถึงกระแสพระนิพพานแม้เพียงขั้นปฐมมรรคเท่านั้น ก็ถือว่ามีพระนิพพานเป็นที่ไปเป็นที่ถึงเป็นเครื่องรองรับแล้ว ตายไปย่อมไม่จมไปสู่อบายภูมิ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน

          อุปมาเหมือนกันกับเรายืนอยู่บนสะพานสูงๆ เราจะทิ้งก้อนดินบ้าง ท่อนไม้บ้าง ลงไปในแม่น้ำ แต่ในแม่น้ำนั้นมีเรือเป็นเครื่องรองรับอยู่ เราทิ้งลงไปก็ค้างอยู่บนเรือ ไม่จมไปในน้ำ ข้อนี้ฉันใด ผู้ที่ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานจนได้บรรลุเป็นพระโสดาบันขึ้นไปแล้ว ก็แสดงว่ามีพระนิพพานเป็นเครื่องรองรับ ตายแล้วก็ไม่มีจมไปสู่อบายภูมิ

          ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การที่ท่านทั้งหลายได้มีโอกาสมาประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานในคราวนี้ ถือว่าท่านทั้งหลายมีบุญล้นฟ้าล้นดิน การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานในหน้าพรรษานี้ หากว่าท่านทั้งหลายปฏิบัติตามหลักวิชาการที่ครูบาอาจารย์แนะนำพร่ำสอนหรือชี้แจงให้ หลวงพ่อขอรับรองว่า ท่านทั้งหลายต้องได้บรรลุธรรมวิเศษ อย่างน้อยที่สุดต้องได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน

          สามเดือนนี้มีโอกาสมีเวลาที่จะได้บรรลุเป็นพระโสดาบันได้ ถ้าประพฤติปฏิบัติตามหลักวิชาการจริงๆ เว้นไว้แต่ท่านทั้งหลายจะประมาท ไม่เอาเถ้าเอาถ่าน หรือไม่ปฏิบัติตามหลักวิชาการ ปฏิบัติแบบให้วันและคืนผ่านไป ก็เป็นสิ่งที่ช่วยไม่ได้

          แต่อย่างไรก็ตาม หลวงพ่อก็ยังคิดว่า ท่านทั้งหลายคงมีวิริยะอุตสาหะพยายามฝ่าฟันอุปสรรคทุกสิ่งทุกอย่าง แม้จะมีความเจ็บปวด เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า หิวกระหาย หรือเบื่อหน่ายกลุ้มใจอย่างไร ก็คงเอาชนะได้ เมื่อใดท่านทั้งหลายสามารถเอาชนะได้ อริยมรรคอริยผลที่ท่านต้องการหรือปรารถนาก็คงจะเป็นสมบัติของท่านอย่างไม่ต้องสงสัย.