อายตนะ ๑๒

อายตนะ ๑๒

โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

———————

          วันนี้ จะได้นำเอาเรื่อง อายตนะ ๑๒ มาบรรยายเพื่อประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

          คำว่า อายตนะ หมายถึง ความสัมพันธ์

          การเรียนเรื่อง อายตนะ นี้ ก็คือการเรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับโลกภายนอก ซึ่งจะสัมพันธ์กันได้ก็ต้องอาศัยอายตนะ

          อายตนะ นี้เป็นเครื่องตัด เครื่องต่อ เครื่องเชื่อม เครื่องโยง ระหว่างตัวเรากับโลกภายนอก ไม่เหมือนกันกับขันธ์ ๕ คือขันธ์ ๕ นั้น เป็นการเรียนรู้ธรรมชาติซึ่งอยู่ภายในตัวของเราเอง

          ท่านทั้งหลายอาจไม่เห็นความสำคัญของการเรียนรู้เรื่องอายตนะ เพราะใครๆ ก็มีอายตนะด้วยกันทั้งนั้น คือทุกท่านทุกคนมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ด้วยกันทุกคน จึงอาจเห็นว่าไม่สำคัญ แต่ถ้าเรามองเข้าลึกๆ แล้ว จะเห็นว่าการเรียนรู้เรื่องอายตนะนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด

          เรามองดูวัตถุภายนอกจากตัวของเราไป เช่น วัตถุทางวิทยาศาสตร์แต่ละชิ้นละอันที่เขาทำขึ้นมา เขาต้องมีเครื่องตัด เครื่องต่อ เครื่องเชื่อม เครื่องโยง ระหว่างกันไว้ ตัวอย่างไฟฟ้าที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ต้องมีที่ตัดที่ต่อ ที่เชื่อมที่โยงระหว่างไฟฟ้าภายในบ้านกับนอกบ้านไว้ ซึ่งเรียกว่า คัทเอาท์

          ถ้าต้องการที่จะตัดไฟภายนอกไม่ให้เข้ามาภายในบ้านก็ยกคัทเอาท์ลงเสีย ไฟก็เข้าในบ้านของเราไม่ได้ ถ้าต้องการให้ไฟเข้าก็ยกคัทเอาท์ขึ้น ไฟก็เข้ามา เราต้องการใช้ประโยชน์อะไรก็ใช้ได้ ถ้าหากไม่มีคัทเอาท์นี้ หรือใช้คัทเอาท์ไม่เป็น บางทีไฟฟ้าลัดวงจรขึ้นมา หรือไฟช็อตขึ้นมาในบ้านของเรา ทำให้เป็นอันตราย ต้องเสียเงิน เสียทอง เสียทรัพย์สิน บางทีก็ต้องเสียชีวิต ข้อนี้ฉันใด การเรียนรู้เรื่องเครื่องตัด ต่อ เชื่อม โยง คือ อายตนะ นี้ ก็ฉันนั้น

          สำหรับอย่างอื่น เช่น รถยนต์อย่างนี้ เขาก็ต้องมีเครื่องตัด เครื่องต่อ ถ้าต้องการให้รถยนต์วิ่งไป เมื่อติดเครื่องแล้วก็ต้องปล่อยคลัตช์ให้เครื่องยนต์นั้นเชื่อมกับเครื่องภายนอก เมื่อต่อกันได้แล้ว รถก็สามารถวิ่งได้ ถ้าว่าต้องการที่จะตัดเครื่องยนต์ภายในออก ไม่ให้เชื่อมกับภายนอก ไม่ต้องการที่จะให้รถวิ่งต่อไป ก็ต้องเหยียบคลัตช์ลงไป เครื่องยนต์ภายในก็จะตัด ไม่เชื่อมกับเพลา รถก็วิ่งไม่ได้ เครื่องยนต์มันทำงานอยู่ก็จริง แต่เราตัดไม่ให้ต่อกันแล้วมันก็วิ่งไม่ได้ ข้อนี้ฉันใด

          ระหว่างอายตนะภายในของเรากับโลกภายนอกก็เหมือนกัน หรือผู้ที่ใช้วิทยุก็ดี ทีวีก็ดี เขาทำวิทยุทำทีวีขึ้นมาแล้ว เขาต้องมีที่ตัดที่ต่อ ถ้าต้องการที่จะฟังวิทยุหรือดูทีวี เราต้องเปิดสวิตช์ไฟขึ้น เมื่อเปิดแล้วจึงจะได้หมุนหาคลื่นให้ตรงกับไซเกิ้ลของสถานีส่ง หรือกดทีวีให้ตรงช่องที่เขาส่งมา เราอยากดูช่องไหนก็เปิดช่องนั้น เมื่อเครื่องภายในกับภายนอกเชื่อมกันอย่างนี้แล้ว เราก็สามารถฟังวิทยุหรือดูทีวีได้ แต่ถ้าเราไม่ต้องการที่จะฟังหรือไม่ต้องการที่จะดูจะชม เราก็ปิดสวิตช์เครื่องวิทยุเครื่องทีวีนั้น เครื่องจะไม่เชื่อมไม่ต่อกัน เราก็ฟังไม่ได้ดูไม่ได้ ข้อนี้ฉันใด

          ตัวของเรานี้ ก็เหมือนกัน เป็นสรีรยนต์อันหนึ่ง ซึ่งธรรมชาติสร้างมาให้สมบูรณ์แบบแล้ว ถ้าหากว่าเราต้องการที่จะดูจะชม เราก็สามารถที่จะดูหรือจะชมได้ สมมติว่าเราต้องการดู เราก็เปิดสวิตช์ คือเราเปิดสวิตช์ตา ก็สามารถที่จะดูจะชมได้ คือถ้าจะดูเราก็มีตาให้ดู เวลาเราดูนั่นแหละ ตาของเราเชื่อมกับโลกภายนอกแล้ว

          ถ้าต้องการฟังเสียง เราก็ใช้หู เปิดหูขึ้นมา เสียงก็มากระทบกับหู ก็สามารถที่จะฟังได้ ถ้าเราอยากจะดมกลิ่น เราก็มีจมูกไว้พร้อมแล้ว สำหรับเป็นเครื่องต่อเครื่องโยงกับอายตนะภายนอกคือกลิ่น หรือถ้าอยากลิ้มรสก็มีลิ้นไว้พร้อมแล้ว อยากถูกต้องสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็มีกายไว้สำหรับเป็นเครื่องต่อเครื่องโยงกับอายตนะภายนอก

            คนที่มีเครื่องต่อ คือ อายตนะ แต่ว่าไม่รู้จักใช้อายตนะ หรือไม่รู้จักปกครอง ย่อมเป็นอันตราย เหมือนกับคนที่ใช้ไฟฟ้าไม่รู้จักที่ตัดที่ต่อ ใช้รถยนต์ไม่รู้จักที่ตัดที่ต่อ ไม่รู้จักเบรกรู้จักคลัตช์ คนที่ใช้วิทยุใช้ทีวี ไม่รู้จักที่ตัดที่ต่ออย่างนี้ ย่อมได้รับความเดือดร้อน ข้อนี้ฉันใด เราผู้มีอายตนะแต่ใช้อายตนะไม่เป็น ย่อมเป็นอันตราย

          บางที หากว่าขาดสติสัมปัญญะ ปล่อยให้อายตนะของเรานี้เชื่อมกับอายตนะภายนอก ทำให้บางทีเกิดความโกรธขึ้นมา บางทีเกิดความโลภขึ้นมา บางทีทำให้ความหลงเกิดขึ้นมา ทำให้เกิดราคะความกำหนัดในเพศตรงข้ามขึ้นมา บางทีทำให้เกิดตัณหาความทะยานอยากอย่างแรงกล้า บางทีก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน เพราะว่าใช้ไม่เป็น อย่างนี้ก็เป็นอันตราย คนที่ฆ่ากัน เอารัดเอาเปรียบกันอยู่ทุกวันนี้ เพราะอะไร เพราะใช้อายตนะไม่เป็น ไม่รู้วิธีใช้
อายตนะ

          อายตนะ นี้เป็นสะพาน เครื่องเชื่อม เครื่องโยง เครื่องต่อ ทำให้เกิดความรู้สึกต่างๆ กัน มีอยู่ ๑๒ ประการ และอายตนะนี้เป็นภูมิพื้นวิปัสสนาญาณแห่งการรู้แจ้งเห็นจริง เช่นเดียวกันกับขันธ์ ๕ และอายตนะทั้ง ๑๒ นี้ หาใช่อื่นไกลไม่ ได้แก่ ปรมัตถธรรม นั่นเอง ซึ่งจะแสดงดังต่อไปนี้

อายตนะ ๑๒
ภายใน ๖ ภายนอก ๖
จักขวายตนะ อายตนะคือตา รูปายนตะ อายตนะคือรูป
โสตายตนะ อายตนะคือหู สัททายตนะ อายตนะคือเสียง
ฆานายตนะ อายตนะคือจมูก คันธายตนะ อายตนะคือกลิ่น
ชิวหายตนะ อายตนะคือลิ้น รสายตนะ อายตนะคือรส
กายายตนะ อายตนะคือกาย โผฏฐัพพายตนะ อายตนะคือการกระทบ
มนายตนะ อายตนะคือใจ ธัมมายตนะ อายตนะคือธรรม

          สงเคราะห์ ปรมัตถธรรม ลงใน อายตนะ ๑๒ ดังนี้

          ๑)    จักขวายตนะ   ได้แก่  จักขุปสาทรูป

          ๒)    โสตายตนะ    ได้แก่  โสตปสาทรูป

          ๓)    ฆานายตนะ    ได้แก่  ฆานปสาทรูป

          ๔)    ชิวหายตนะ    ได้แก่  ชิวหาปสาทรูป

          ๕)    กายายตนะ    ได้แก่  กายปสาทรูป

          ๖)    มนายตนะ     ได้แก่  จิต ๘๙ ดวง

          ๗)   รูปายตนะ      ได้แก่ รูปารมณ์ คือสีต่างๆ

          ๘)    สัททายตนะ    ได้แก่ สัททารมณ์ คือเสียงต่างๆ

          ๙)    คันธายตนะ    ได้แก่  คันธารมณ์ คือกลิ่นต่างๆ

          ๑๐)  รสายตนะ      ได้แก่ รสารมณ์ คือรสต่างๆ

          ๑๑)  โผฏฐัพพายตนะ ได้แก่ โผฏฐัพพารมณ์ คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง

          ๑๒)  ธัมมายตนะ    ได้แก่  สุขุมรูป ๑๖ เจตสิก ๕๒ นิพพาน ๑

          สงเคราะห์อายตนะทั้ง ๑๒ ลงในรูปนาม ดังนี้

          จักขวายตนะ โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะ รูปายตนะ
สัททายตนะ คันธายตนะ รสายตนะ โผฏฐัพพายตนะ ๑๐ อายตนะนี้ ย่นลงใน รูปธรรม

          มนายตนะ เป็น นามธรรม

          ธัมมายตนะ เป็นทั้ง รูปธรรม เป็นทั้ง นามธรรม

          อายตนะ ๑๒ ซึ่งเป็นธรรมชาติที่เกิดในทวารทั้ง ๖ และอารมณ์ ๑ (ทวารหนึ่งเกิดได้อารมณ์เดียวเท่านั้น) เป็นบ่อเกิดของธรรมเหล่าอื่น เป็นที่ไหลมาแห่งบุญและบาป มีจิตและเจตสิกแอบอยู่ที่นี่ ย่อมไหลนำไปสู่ทุกข์ในสังสารวัฏ

          อายตนะ นี้เป็น สัญชาติ คือประเทศของจิตและเจตสิก เป็นที่อยู่ที่อาศัยของจิตและเจตสิก เป็นที่ปะปนกัน เป็นที่สโมสรของจิตและเจตสิก อายตนะนี้ ที่เป็นเฉพาะรูปธรรม ๑๐ นามธรรม ๑ เป็นทั้งรูปธรรมนามธรรม ๑ ฉะนั้น อายตนะ ๑๒ นี้ ก็คือ รูปนาม นั่นเอง

          บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงจะเกิด ต้องอาศัยอายตนะทั้ง ๑๒ ประการนี้ และบาปจะเกิดก็ต้องอาศัยอายตนะทั้ง ๑๒ ประการนี้ หมายความว่า กามาวจรกุศลก็ดี รูปาวจรกุศลก็ดี อรูปาวจรกุศลก็ดี โลกุตตรกุศลก็ดี ก็เกิดที่อายตนะทั้ง ๑๒ ประการนี้ บาปคือกิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด หรือ โลภะ โทสะ โมหะ อุทธัจจะ ถีนมิทธะ เป็นต้น เมื่อจะเกิดขึ้นก็เกิดที่อายตนะ ๑๒ ประการนี้

          ทีนี้ วิธีปฏิบัติในอายตนะทั้ง ๑๒ ประการนี้ เราจะปฏิบัติอย่างไร ปฏิบัติดังนี้คือ ในขณะที่ตาเห็นรูป ให้เอาสติไปตั้งไว้ที่ตา โดยกำหนดว่า เห็นหนอๆ หรือ พุทโธๆ อย่างนี้เรียกว่า ปิดสวิตช์ตา แล้ว ไม่สามารถที่จะต่อกับรูปภายนอก

          ในขณะที่หูได้ยินเสียง ให้ตั้งสติกำหนดไว้ที่หู โดยกำหนดว่า ได้ยินหนอๆ หรือพุทโธๆ หรือว่า รู้หนอๆ อย่างนี้เรียกว่า ปิดสวิตช์หรือปิดประตูหูไว้แล้ว เสียงไม่สามารถที่จะเข้าไปภายในได้

          เวลาที่จมูกได้กลิ่นก็ตั้งสติไว้ที่จมูก โดยที่กำหนดว่า กลิ่นหนอๆ อย่าให้เลยไปถึงกลิ่นดีหรือชั่ว หรือกำหนดว่า พุทโธๆ หรือ รู้หนอๆ เป็นต้น ก็เป็นอันว่าเราปิดจมูกไว้แล้ว

          ถ้าลิ้นได้รสก็ตั้งสติไว้ที่ลิ้น จะเป็นรสเปรี้ยวรสหวานรสเค็มก็ตาม ให้ตั้งสติไว้ที่ลิ้น โดยกำหนดว่ารสหนอๆ หรือ พุทโธๆ หรือว่า รู้หนอๆ คำใดคำหนึ่งก็ได้

          เวลากายถูกต้องเย็น ร้อน อ่อน แข็ง  เราก็ตั้งสติไว้ที่กายตรงที่ถูกกระทบ โดยกำหนดว่า ถูกหนอๆ หรือ กระทบหนอๆ หรือ รู้หนอๆ หรือ พุทโธๆ คำใดคำหนึ่งก็ได้

          เวลาใจรู้ธรรมารมณ์ ให้ตั้งสติไว้ที่หทัยวัตถุ ใต้ราวนมข้างซ้ายลงไปประมาณ ๒ นิ้ว กำหนดว่า คิดหนอๆ หรือ พุทโธๆ ให้ระวังในขณะที่เราเอาสติไปตั้งไว้ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ อย่าให้โลภะ โทสะ โมหะ เข้าไปได้ คืออย่าให้ความยินดียินร้ายเกิดขึ้น เมื่อเราทำได้อย่างนี้ แสดงว่าเราใช้อายตนะเป็นแล้ว

          ขณะใดที่เรามีสติรู้ทัน กิเลสทั้งหลายทั้งปวงก็ไม่สามารถเข้าไปในจิตในใจของเราได้ เป็นอันว่าเราระวังไม่ให้บาปใหม่เกิดขึ้น และสำหรับบาปเก่าที่มีอยู่แล้ว ก็จะหมดไปตามลำดับๆ เมื่อบาปเก่าหมดไป บาปใหม่เข้าไม่ได้ เช่นนี้ เรากำหนดนานไปๆ เมื่อใดพระไตรลักษณ์เกิดขึ้นในขันธสันดาน จิตของเราก็จะสะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส สว่าง สงบเย็น ไม่มีตัณหาเข้าไปเป็นนายหรือผู้บัญชาการในจิตใจของเราได้ก็อยู่สบาย

          เหมือนเรือนที่เขามุงหรือกั้นฝาไว้ดีแล้ว มีประตูหน้าต่างปิดมิดชิดดี เมื่อมีฝนมีลมหรือมีแดดส่องเข้ามา เราก็ปิดประตูหน้าต่างให้ดี ฝนก็ไหลรั่วรดเข้าไปภายในบ้านไม่ได้ แดดก็ส่องเข้าไปไม่ได้ ลมก็พัดเข้าไปภายในไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้เจ้าของบ้านหรือผู้ที่อยู่ในบ้าน ก็อยู่ในบ้านได้สบายๆ ไม่เดือดร้อน ข้อนี้ฉันใด ผู้ที่มีสติรักษาอายตนะดีแล้ว ก็เหมือนกัน ฉันนั้น

          ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ที่เราทั้งหลายประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ในขณะนี้ ที่ต้องการอยากได้สมาธิ อยากเข้าสมาธิได้นานๆ ถึง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง หรือว่า ๕ วัน ๕ คืน ๗ วัน ๗ คืนนี้ แต่เราไม่สามารถจะทำได้ เพราะอะไร ก็เพราะใช้อายตนะไม่เป็น หรือใช้อายตนะไม่สมบูรณ์แบบ คือเรายังเผลออยู่ ยังมีเวลาเผลอ ในเวลาที่ตาเห็นรูป เราปิดไม่ดี ทำให้ดูรูปแล้วเลยไปถึงดีถึงชั่ว เวลาหูได้ยินเสียง ใจมันออกไปแล้ว ไปตามเสียง วิ่งไปหาเสียง เวลาจมูกได้กลิ่น ใจก็วิ่งไปหากลิ่นแล้ว

            เวลาถูกสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ใจมันวิ่งออกไปหาอาการสัมผัสนั้นแล้ว เวลาธรรมารมณ์เกิดขึ้น ใจก็วิ่งไปหาธรรมารมณ์แล้ว วิ่งไปโน้นไปนี้อยู่ตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็ไม่สามารถที่จะทำสมาธิได้ ไม่สามารถที่จะเข้าสมาธิได้ตามต้องการ หรืออีกอย่างหนึ่ง ทั้งๆ ที่ใจของเราสมควรบรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี สมควรบรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่เราระวังอายตนะของเราไม่ได้ ใช้อายตนะไม่เป็น หรือการใช้อายตนะของเราไม่คล่องแคล่ว ไม่สมบูรณ์แบบ เราก็ไม่สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลสมกับความต้องการได้

          หมายความว่า เราต้องการที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ อาจจะได้บรรลุเพียงขั้นพระอนาคามี ต้องการบรรลุเป็นพระอนาคามี อาจบรรลุเพียงขั้นพระสกทาคามี ต้องการบรรลุเป็นพระสกทาคามี อาจได้บรรลุเพียงขั้นโสดาบัน ต้องการบรรลุโสดาบัน อาจบรรลุเพียงมัชฌิมโสดาบัน ต้องการบรรลุมัชฌิมโสดาบัน อาจบรรลุได้เพียงจุลลโสดาบัน หรือต้องการบรรลุเพียงจุลลโสดาบัน แต่ก็เพียงแค่ได้ฌานได้สมาบัติเท่านั้น

          หรือบางทีก็ไม่ได้เสียเลย ถ้าใช้อายตนะไม่เป็น บังคับอายตนะไม่เป็น มันเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าผู้ใดใช้อายตนะเป็นแล้ว หลวงพ่อขอรับรองว่า ท่านทุกคนทุกรูปทุกนาม สามารถที่จะบรรลุสมาธิ สมาบัติ อริยมรรค อริยผล ตามบุญวาสนาบารมีที่ท่านทั้งหลายได้สั่งสมอบรมมา

          ท่านทั้งหลาย เมื่อหลวงพ่อได้บรรยายมาถึงตอนนี้แล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายได้พิจารณาดูว่า การใช้อายตนะของเรานั้น เป็นหรือยัง สมบูรณ์แบบแล้วหรือ เราสามารถควบคุมปกครองบังคับอายตนะได้มากน้อยแค่ไหนเพียงไร ในขณะตาเห็นรูป สามารถควบคุมใจไม่ให้วิ่งไปหารูปได้แล้วหรือยัง ในขณะที่หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส  เวลากายถูกสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ใจรู้ธรรมารมณ์ก็ดี เราสามารถควบคุมใจของเราไม่ให้วิ่งไปหาเสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ได้หรือยัง ถ้าสามารถรักษาได้ เวลาเห็นรูป ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส ได้ธรรมารมณ์ ใจของเราไม่ไปเลย เฉยอยู่ตลอดเวลา ไม่มีความยินดี ไม่มีความยินร้าย แสดงว่าปกครองอายตนะได้แล้ว ใช้อายตนะเป็นแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลได้

          แต่ถ้าบังคับไม่ได้ใช้ไม่เป็น นอกจากจะไม่ได้บรรลุสามัญผลใดแล้ว บางทีอาจเสียผู้เสียคนได้ เหมือนกับเรามีรถ แต่ขับไม่เป็น หรือขับได้ไม่สมบูรณ์แบบ เผลอไปขณะใดขณะหนึ่ง รถของเราอาจวิ่งลงจากถนนก็ได้ อาจไปตกตมตกโคลนก็ได้ อาจไปชนคนชนต้นไม้ ชนเสาไฟฟ้าก็ได้ เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายใช้อายตนะให้เป็น โดยที่เอาสติไปปิดไว้ทันที

          เวลาตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ใจรู้ธรรมารมณ์ หรือธรรมารมณ์เกิดขึ้นในใจ ขอให้เอาสติไปตั้งไว้ทันที แล้วกำหนดตามอาการของมัน เมื่อกำหนดได้ดีและคล่องแคล่วแล้ว ก็สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผล

          แต่ว่าในขณะแรกๆ ที่ควบคุมนี้ การที่จะใช้อายตนะให้สมบูรณ์แบบ หรือปกครองให้อยู่ในอำนาจ เป็นของทำได้ยาก เพราะว่า ธรรมชาติของจิต ไม่เคยอยู่ในอารมณ์เดียวนานๆ วิ่งไปที่โน้นวิ่งไปที่นี้อยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ไม่เคยอยู่คงที่ เมื่อเราทั้งหลายมาเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ต้องการที่จะให้ใจนี้อยู่กับรูปกับนาม หรืออยู่กับกาย กับเวทนา จิต ธรรม ก็เป็นของทำยากลำบากเหลือทนเหมือนกัน

          แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ถึงจะเป็นของทำยากลำบาก เป็นของที่บังคับยาก ปกครองยาก หากว่าเราพยายามไปๆ ก็สามารถที่จะควบคุมได้ ใจคนเรานี้ ถ้าเราสามารถควบคุมได้แล้ว หากว่าเราต้องการคิดมันจึงจะคิดไป เราต้องการคิดเรื่องโน้นมันจึงจะคิดไป เราต้องการคิดเรื่องนี้ มันจึงจะคิดไป เราต้องการคิดเรื่องใดมันก็คิดแต่เรื่องนั้น ไม่มีอะไรสับสนปนเปเข้ามา ไม่มีเรื่องอะไรที่จะเกิดขึ้นมาในจิตในใจของเรา เราต้องการที่จะคิดเรื่องใดมันก็คิดเรื่องนั้น เมื่อเรามีอารมณ์เดียวอย่างนี้แล้ว จิตของเราก็มีพลังมีอานุภาพ สามารถที่จะคิดอะไรได้คล่องแคล่วว่องไวไม่มีอะไรติดขัด

          แต่ถ้าจิตหลาย ๆ อารมณ์แล้วก็คิดยาก จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็ลำบาก เมื่อใดเราสามารถทำจิตทำใจให้อยู่ในอารมณ์เดียวแล้ว เมื่อนั้น จิตของเราก็มีพลังมีอำนาจมาก สามารถที่จะนำไปประหารโลภะ โทสะ โมหะ ให้หมดไปจากขันธสันดานของเราได้ ตัวอย่าง พระติสสะมหาเถระ[1] ซึ่งมีเรื่องเล่าไว้ในพระธัมมปทัฏฐกถาว่า

          มีตระกูลๆ หนึ่ง อยู่ด้วยกัน ๓ คน คือ สามี ภรรยา และบุตรสาว เป็นตระกูลที่ยากจนข้นแค้นอนาถา หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องด้วยการเก็บผักหักฟืนมาขายเป็นวันๆ ไป วันหนึ่งสองสามีภรรยาได้ปรึกษากันว่า พวกเรานี้เกิดขึ้นมาก็ยากจนข้นแค้นอนาถา หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องฝืดเคือง ชะรอยในชาติปางก่อนโน้น เราคงไม่เคยทำบุญทำทานไว้บ้าง จึงเป็นเช่นนี้ อย่ากระนั้นเลย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราทั้งสองจะทำบุญทำทาน หากว่าทำทุกวันๆ ไม่ได้ ๗ วันเราควรทำครั้งหนึ่ง หรือ ๑๕ วันควรทำครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นวันพระ

          สองสามีภรรยาปรึกษาหารือกันแล้วก็ตกลงกันว่าจะทำบุญให้ได้ ตั้งแต่นั้น พอตื่นแต่เช้ามืดขึ้นมา ภรรยาก็รีบหุงข้าวทำอาหาร ครั้นได้เวลาภัตตาหารเช้า ก็นำภัตตาหารไปถวายแก่พระสงฆ์ในวัด

          แต่ในสมัยนั้นอติเรกลาภฟุ่มเฟือย พระสงฆ์สามารถที่จะเลือกภัตตาหารได้ตามต้องการ เมื่อไปถึงวัดแล้ว นางก็น้อมนำเอาภัตตาหารที่ตนทำจนเต็มความสามารถถวายแด่พระมหาเถระผู้เป็นประธานในสงฆ์ พระมหาเถระท่านก็รับ แต่เมื่อท่านรับแล้วท่านก็ไม่ได้ฉัน เททิ้งต่อหน้านาง

          แต่นางก็ไม่โกรธ กลับมาถึงบ้านจึงเล่าให้สามีฟัง ฝ่ายสามีผู้เต็มเปี่ยมด้วยศรัทธา เมื่อฟังแล้วจะได้มีความโกรธก็หาไม่ พูดกับภรรยาว่า แม่! เราเป็นตระกูลที่ยากจนเข็ญใจ เราไม่สามารถที่จะบังคับให้พระเถระฉันของเราได้ ทำอย่างไรหนอ เราจึงจะเอาใจพระเถระได้ เราจึงจะให้พระเถระฉันภัตตาหารของเราได้

          ภรรยาจึงกล่าวขึ้นว่า พ่อ! ตระกูลใดที่ยังมีลูกสาวอยู่ จะถือว่าเป็นตระกูลที่ยากจนนั้นไม่ได้ เราควรที่จะเอาลูกสาวของเราไปขายฝากไว้กับตระกูลหนึ่ง เมื่อได้ทรัพย์แล้ว จึงค่อยเอาไปซื้อแม่โคนมมารีดเอาน้ำนมมาปรุงเป็นอาหารที่ประณีต คราวนี้คงเอาใจพระเถระให้ฉันภัตตาหารของเราได้

          เมื่อสองสามีภรรยาปรึกษาตกลงกันแล้วจึงนำลูกสาวของตนนั้นไปขายฝากไว้ในตระกูลตระกูลหนึ่ง ได้เงินมา ๑๒ ตำลึง เมื่อได้เงิน ๑๒ ตำลึงมาแล้วก็นำไปซื้อแม่โคนม เมื่อได้แม่โคนมมาแล้ว ตื่นเช้าขึ้นมาทุกเช้าๆ สองสามีภรรยาก็ไปรีดเอานมวัวมาปรุงเป็นอาหารอันประณีต เพื่อจะนำไปถวายแก่พระสงฆ์ เมื่อนำไปถวาย ท่านรับแล้วทราบว่าเป็นภัตตาหารที่ประณีตก็ฉันภัตตาหารนั้น

          ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา พระสงฆ์ทั้งหลายทราบว่าตระกูลนี้ถวายอาหารอันประณีต ก็พูดกันต่อๆ ไป ชื่อเสียงอันนี้ก็ฟุ้งขจรไปในหมู่ของพระสงฆ์ พระสงฆ์ทั้งหลายที่มีเดชศักดาเดชานุภาพ เช่น พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ เป็นต้น ยังปรากฏว่าเคยได้มารับภัตตาหารที่บ้านของสองสามีภรรยานี้

          เมื่อสองสามีภรรยาสามารถเอาใจพระสงฆ์ได้แล้ว และพระสงฆ์ทั้งหลายก็มารับบิณฑบาตที่บ้านของสามีภรรยานี้อย่างสม่ำเสมอ ได้ทำบุญทำทานเต็มอิ่มเต็มอกเต็มใจแล้ว ก็ทำให้นึกถึงบุตรสาวของตน สามีจึงกล่าวขึ้นว่า แม่! พ่อคิดถึงลูกของเราเหลือเกิน เป็นห่วงลูกของเราเหลือเกิน ดังนั้นพ่อจะไปรับจ้าง ได้เงินมาแล้วจะได้ไปไถ่ลูกของเราให้เป็นไท แม่อยู่บ้านอย่าได้ประมาท พยายามทำบุญทำทานเหมือนที่ได้ทำมาแล้ว

          เมื่อสั่งเสียภรรยาแล้ว สามีก็ออกไปทำงานรับจ้างหีบอ้อย ทำงานอยู่ ๖ เดือน ได้เงิน ๑๒ ตำลึง พอได้เงินครบ ๑๒ ตำลึงแล้วดีใจ ลาออกจากงานเพื่อจะไปไถ่บุตรสาวของตนให้เป็นไท ในขณะที่เดินมาตามหนทางนั้นบังเอิญได้พบพระเถระรูปหนึ่งซึ่งมีนามว่า ติสสเถระ ท่านอยู่ที่อัมพวิหาร  ออกจากวิหารนั้นเพื่อที่จะไปนมัสการพระมหาเจดีย์แห่งหนึ่ง จึงเดินมาตามหนทางนั้นเหมือนกัน

          ฝ่ายทุคคตบุรุษนั้นมองเห็นพระเถระเจ้าแล้วเกิดความเลื่อมใส คิดว่าเราเดินให้ทันพระเถระดีกว่า เพื่อจะได้สนทนาไต่ถามธรรมะข้อปฏิบัติบ้าง เมื่อมาทันพระเถระแล้วก็เดินคุยกันมาตามทาง ในขณะที่คุยกันมาตามมรรคานั้น เป็นเวลาภัตตาหารเพลพอดี เป็นเหตุให้บุรุษนั้นเกิดความกระอักกระอ่วนใจว่า จะได้อาหารที่ไหนหนอถวายพระเถระ

          เมื่อมองซ้ายแลขวาหน้าหลังกลับไปกลับมา ก็เห็นคนเลี้ยงโคผ่านมาถือห่อข้าวมาด้วย จึงกราบเรียนนิมนต์พระติสสเถระเจ้าว่า ท่านขอรับ ขอท่านจงไปรอกระผมที่ใต้ร่มพฤกษาข้างหน้านั้นเถิด เดี๋ยวกระผมจะตามไป เมื่อพระเถระไปแล้ว เขาก็เข้าไปหาคนเลี้ยงโคนั้น พูดขึ้นว่า ขอท่านจงให้ห่อข้าวแก่ข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจะให้ทรัพย์แก่ท่าน ๑ ตำลึง

          คนเลี้ยงโคนั้นคิดว่า บุรุษนี้เป็นบ้าหรืออย่างไรหนอ ห่อข้าวของเรานี้ไม่มีราคาค่างวดอะไรเลย แต่ทำไมจะให้เราตั้ง ๑ ตำลึง คงจะมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่ ถ้าอย่างนั้นเราจะโก่งราคาไว้ไม่ขาย เพื่อจะได้เงินมากๆ คิดดังนี้แล้วจึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ขาย เพราะว่าห่อข้าวนี้สำหรับข้าพเจ้าเท่านั้น หากว่าข้าพเจ้าไม่ได้บริโภคอาหารวันนี้อาจจะตายก็ได้ ถ้าอย่างนี้ ข้าพเจ้าให้ ๒ ตำลึง ๒ ตำลึงก็ไม่ขาย ให้ ๓ ตำลึง ๓ ตำลึงก็ไม่ขาย ทุคคตบุรุษนั้นก็เพิ่มขึ้นให้เรื่อยๆ

          ผลสุดท้ายก็ยกให้ทั้งถุงเลยว่า ถ้าอย่างนั้นก็เอาไปทั้ง ๑๒ ตำลึง ข้าพเจ้ามีเท่านี้ ถ้าข้าพเจ้ามีมากกว่านี้ก็จะให้ท่านมากกว่านี้ แต่ขอให้ท่านทราบว่า ห่อข้าวนี้ข้าพเจ้ามิได้นำไปบริโภคด้วยตนเอง ข้าพเจ้าจะนำไปทำบุญทำทานถวายแก่พระเถระ พระเถระท่านรออยู่ข้างหน้าใต้ร่มไม้โน้น เสร็จแล้วก็ยื่นถุงทรัพย์ให้กับคนเลี้ยงโค รับเอาห่อข้าวมาด้วยความยินดีปีติปราโมทย์

          เมื่อไปถึงพระเถระแล้ว ก็น้อมเอาห่อข้าวนั้นใส่ในบาตรของท่าน พอใส่ไปได้ครึ่งหนึ่งท่านก็ปิดบาตรเสีย ทุคคตบุรุษนั้นจึงกล่าวขึ้นว่า ท่านขอรับ ภัตตาหารนี้สำหรับท่านผู้เดียวเท่านั้น ขอท่านจงสงเคราะห์คนยากจนเถิด ท่านพระติสสะก็รับทั้งหมด เมื่อรับแล้วก็ฉัน ในขณะที่ท่านกำลังฉันอยู่นั้น ทุคคตบุรุษก็ไปกรองน้ำเพื่อจะได้นำมาถวาย

          พระเถระก็คิดอยู่ในใจว่า เหตุอะไรหนอ ทั้งๆ ที่อุบาสกท่านนี้ก็หิวมาด้วยกัน แต่ทำไมไม่แบ่งห่อข้าวไว้รับประทาน ถวายเราทั้งหมด หากว่าได้โอกาสเราจะถามอุบาสกนี้ให้ได้ หลังจากฉันภัตตาหารเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ออกเดินทางต่อ เมื่อได้โอกาสพระเถระจึงได้ถามถึงเรื่องที่ไม่แบ่งห่อข้าวไว้  บุรุษนั้นก็เล่าเหตุการณ์ทุกสิ่งทุกประการ เริ่มตั้งแต่คิดจะทำบุญทำทาน แล้วเอาลูกสาวไปขายฝากไว้ แล้วไปทำงานหีบอ้อย ๖ เดือนได้เงิน ๑๒ ตำลึงว่าจะไปไถ่บุตรสาวแล้วได้นำเงินมาซื้อห่อข้าวหมด เล่าตั้งแต่ต้นจนจบ

          พระเถระเมื่อได้ฟังแล้วเกิดความสังเวชสลดใจว่า ภัตตาหารนี้ได้มาด้วยความยากลำบาก บุรุษนี้ทำงาน ๖ เดือนได้เงินมา ๑๒ ตำลึง จะไปไถ่บุตรสาวของเขา แต่แทนที่จะได้ไถ่บุตรสาวให้เป็นไท กลับมาซื้อห่อข้าวห่อเดียวถวายเรา บุรุษนี้บำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศลที่บุคคลอื่นทำได้ยาก อย่ากระนั้นเลย เราจะทำให้ภัตตาหารของบุรุษนี้เป็นภัตตาหารที่ถวายแก่พระอรหันต์ เราไปถึงพระมหาเจดีย์ นมัสการแล้วจะตั้งอกตั้งใจเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน หากว่าเราไม่สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว จะไม่ฉันภัตตาหารของบุคคลอื่นเลยเป็นอันขาด

          เมื่อเดินมาถึงพระมหาวิหารแล้ว ทุคคตบุรุษนี้ก็แยกทางไปบ้านของตน ฝ่ายท่านพระติสสเถระก็เข้าไปในมหาวิหาร นมัสการพระมหาเจดีย์ แล้วก็แสวงหาที่อันเป็นสัปปายะ เหมาะสำหรับอัธยาศัยของตนในการที่จะเจริญวิปัสสนา เมื่อได้สถานที่สัปปายะแล้ว ท่านก็ตั้งอกตั้งใจบำเพ็ญความเพียร เดินจงกรมนั่งสมาธิตลอดทั้งคืนก็ไม่สามารถยังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้น

          ท่านก็ตัดภัตตาหาร ไม่ไปบิณฑบาต ไม่ฉันภัตตาหารของใคร ถือว่าภัตตาหารที่อุบาสกนั้นถวายเป็นภัตตาหารครั้งสุดท้าย และจะทำให้ภัตตาหารนั้นเป็นภัตตาหารที่ถวายแก่พระอรหันต์ เพื่อจะสงเคราะห์ให้ภัตตาหารของอุบาสกนั้นมีอานิสงส์มากๆ ท่านพยายามตั้งใจทำความเพียรอยู่อย่างนี้ เป็นเวลา ๗ วัน ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

          เมื่อได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านจึงพิจารณาถึงอายุสังขารว่าจะพอเป็นไปได้ หรือจะปรินิพพาน เมื่อพิจารณาดูก็ทราบด้วยญาณของท่านว่า เรานี้ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีก เพราะร่างกายได้รับความบอบช้ำจากการทำความเพียรยิ่งนัก เราจะปรินิพพานวันนี้ เมื่อท่านทราบดังนี้แล้ว จึงรีบเก็บบริขารของท่านเข้าที่ ทำความสะอาดที่อยู่ เสร็จแล้วจึงเข้าไปในศาลา ตีระฆังให้สัญญาณพระสงฆ์ภายในวัดมารวมกัน

          เมื่อพระสงฆ์มารวมกันแล้วท่านจึงกล่าวขึ้นว่า ท่านขอรับ หากว่าท่านรูปใดรูปหนึ่ง มีความสงสัยในเรื่องมรรคผลนิพพานแล้วไซร้ โปรดได้สอบถามกระผมเถิด กระผมยินดีที่จะวิสัชนาถวาย แต่ในที่นั้นไม่มีใครสอบถาม ไม่มีใครสงสัยเลย เพราะผู้ที่มาประชุมกันอยู่ที่นั้น อย่างต่ำสุดก็เป็นพระโสดาบัน อย่างสูงได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงไม่มีผู้ใดสงสัย

          ดังนั้น พระมหาเถระที่เป็นประธานในสงฆ์จึงกล่าวขึ้นว่า ท่านขอรับ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ด้วยว่าพระสงฆ์ในที่นี้ไม่มีใครสงสัยในเรื่องอริยมรรคอริยผลเลย แต่ผมมีความสงสัยอยู่อย่างหนึ่งว่า เพราะเหตุใดท่านถึงได้บำเพ็ญความเพียรเรี่ยวแรงยิ่งนัก ท่านพระติสสเถระจึงเล่าเรื่องทั้งหมดที่ทุคคตบุรุษนั้นเล่าให้ฟังโดยละเอียด

          เมื่อพระสงฆ์ทั้งหลายได้ฟังแล้ว ท่านที่เป็นพระอนาคามีและพระอรหันต์ก็เกิดธรรมสังเวช ท่านที่เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี ก็ไม่อาจที่จะอดกลั้นน้ำตาไว้ได้

          ในขณะที่สนทนากันนั้น ก็เป็นเวลาที่ท่านพระติสสเถระจะปรินิพพาน และก่อนที่ท่านจะปรินิพพานท่านก็ได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า เมื่อข้าพเจ้าปรินิพพานแล้ว คนอื่นหมื่นแสน แม้จะมีกำลังมากสักปานใด มายกศพของข้าพเจ้า ขออย่าให้เคลื่อนที่ได้ เมื่ออธิษฐานแล้วท่านก็เข้าสู่ปรินิพพาน เมื่อท่านปรินิพพานแล้ว พระราชาพร้อมด้วยพระสงฆ์และประชาชนทั้งหลายก็เตรียมทำฌาปนกิจศพท่าน แต่เมื่อจะยกศพของท่านไปสู่จิตกาธาน (บ้านเราเรียกว่าเชิงตะกอน) ก็ไม่สามารถที่จะยกได้ จึงได้ให้พราหมณ์ ๘ คนอาบน้ำดำผมอย่างบริสุทธิ์ สมาทานศีล ๘ ไปยก แต่ก็ไม่สามารถที่จะยกให้เคลื่อนที่ได้

          พระราชาจึงตรัสถามพระมหาเถระในสงฆ์ พระมหาเถระก็ถวายพระพรเล่าเรื่องทั้งหมดให้พระราชาทรงทราบ เมื่อทรงทราบแล้วจึงรับสั่งให้ไปตามบุรุษนั้นมา เมื่อมาถึงแล้วพระราชาจึงตรัสถามว่า ดูก่อนมหาทุคคตะ นับตั้งแต่วันนี้ถอยหลังไป ๗ วัน เคยได้ทำบุญทำทานกับพระรูปหนึ่งรูปใดไว้บ้างหรือไม่ พระเจ้าข้า ข้าพระองค์เคยถวายห่อข้าวแก่ภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งเดินทางมาด้วยกัน

          พระราชาจึงตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น ไปดูพระเถระนั้นซิว่า เป็นผู้ที่ท่านได้ถวายภัตตาหารหรือไม่ เมื่อบุรุษนั้นไปเปิดดูแล้วจำได้ ก็เกิดความเศร้าโศก ร้องไห้ร่ำไรว่า เพราะเหตุใดหนอ พระเถระเจ้าของเราจึงมาด่วนปรินิพพานเร็วนัก ใครหนอมาทำร้ายพระเถระเจ้าของเรา ร้องไห้ร่ำไรปิ่มว่าจะขาดใจตาย พระราชาจึงรับสั่งให้บุรุษนั้นไปอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด พระราชทานเครื่องนุ่งห่มให้ แล้วตรัสสั่งให้ยกศพพระเถระนั้นไปสู่จิตกาธาน

          เมื่อทุคคตบุรุษไปถึงศพแล้ว ก็ก้มลงกราบที่ศพของท่านที่เท้า ๓ ครั้ง พอกราบลงครั้งที่ ๓ เท่านั้น ศพของพระเถระก็ลอยขึ้นเคลื่อนไปในอากาศ ไปประดิษฐานที่จิตกาธาน และในขณะนั้นเอง ไฟทิพย์ก็เกิดขึ้นเผาไหม้สรีระของท่านจนเป็นเถ้าถ่านไป เหลือแต่อัฐิธาตุ

          นี้แล ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ความทุกข์ความลำบากในการที่เราควบคุมอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มิให้ยินดียินร้าย ไม่ให้โลภะ โทสะ โมหะ เข้าครอบงำอยู่ทุกวันนี้ หรือการประพฤติปฏิบัติของเรานี้ ถึงว่าเหนื่อยยากลำบากสักปานใด หลวงพ่อคิดว่าคงไม่เท่าความยากลำบาก ที่ท่านพระติสสเถระได้ใช้ความเพียรอย่างเรี่ยวแรงอยู่ถึง ๗ วัน จึงจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

          เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายถือเป็นทิฏฐานุคติ นึกถึงความเพียรที่พระติสสเถระเจ้าทำมา โดยที่มาเปรียบเทียบกับตัวเรา แล้วยึดเอาเป็นตัวอย่างแบบอย่างที่ดี เพื่อเป็นการกระตุ้นใจของเราให้เกิดความอุตสาหะในการบำเพ็ญความเพียร

          เมื่อใดที่เราตั้งอกตั้งใจบำเพ็ญความเพียรแล้ว หลวงพ่อว่า การที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลนี้ ไม่ใช่เป็นของเหลือวิสัย เรามีความเพียรอยู่ที่ไหน ความสำเร็จย่อมอยู่นั่น หากว่าเราพอใจทำ ตั้งใจทำ แข็งใจทำ และก็ทำด้วยความฉลาดแล้ว มรรค ผล นิพพาน สมาธิ สมาบัติ เป็นของที่ไม่เหลือวิสัยที่ทุกๆ ท่านจะบรรลุ

          เอาละ เท่าที่หลวงพ่อได้นำเอาธรรมะ เรื่อง อายตนะ ๑๒ ประการ มาบรรยายนี้ ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา.


[1] (พระสุตตันตปิฎกแปล  เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ หน้าที่ ๒๔๙-๒๕๕)