วัดพิชโสภาราม

ขอเชิญร่วมปฏิบัติธรรมบำเพ็ญบารมีเนื่องในวันชาตกาลครบ ๘๐ ปี พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

———————

          สำหรับวันนี้ จะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเรื่อง ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ มาบรรยายถวายความรู้แด่ครูบาอาจารย์ ตลอดถึงเป็นแนวทางการปฏิบัติของผู้ปฏิบัติสืบไป

          คำว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ แปลว่า องค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้คือการวิจัยธรรม

          การที่ผู้ปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานจะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลนั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้อีกข้อหนึ่งก็คือ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คือต้องมีการวิจัยธรรม สอดส่องธรรม ใคร่ครวญธรรม ตริตรองธรรม ธรรมะที่ได้ศึกษาเล่าเรียน ธรรมะที่ได้ปฏิบัติมานี้เป็นอย่างไร เป็นอนิจจัง ทุกขัง หรืออนัตตาอย่างไร เพื่อให้เกิดความรู้ความฉลาด สามารถที่จะไปทำลายกิเลสตัณหาได้

          ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์นั้นแยกออกเป็น ๕ ศัพท์ คือ ธมฺม ศัพท์หนึ่ง วิจย ศัพท์หนึ่ง สํ ศัพท์หนึ่ง โพชฺฌ ศัพท์หนึ่ง องฺค ศัพท์หนึ่ง

          คำว่า ธมฺม แปลความหมายได้ถึง ๑๔ อย่างคือ

          ๑.    ธรรมะ แปลว่า ทรงตนไว้ ทรงสัตว์ทั้งหลายไว้ ไม่ให้ตกไปในอบาย หมายความว่า รักษาสรรพสัตว์ไม่ให้ไหลไปสู่ที่ชั่ว คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ถึงแม้ว่ามีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ก็จะรักษาบุคคลนั้นไว้ไม่ให้ถูกปรับไหมใส่โทษ จองจำพันธนาการ ติดคุกติดตะราง ถูกประหารชีวิต เป็นต้น

          ๒.    ธรรมะ แปลว่า ทรงผู้เจริญวิปัสสนาไว้ จนได้บรรลุอริยมรรค อริยผล พระนิพพาน ไม่ให้ตกไปในอบายภูมิ หมายความว่า ผู้ใดบูชาพระพุทธเจ้าด้วยการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผู้นั้นไปสู่พระนิพพาน จะไม่ไปสู่อบายภูมิเลยเด็ดขาด

          ๓.    ธรรมะ แปลว่า ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน หรือว่าทรงลักษณะของตนไว้ หมายความว่า ถ้าเป็นธรรมะฝ่ายดีก็ทรงความดีไว้ ถ้าเป็นฝ่ายชั่วก็ทรงความชั่วไว้ ถ้าเป็นพระไตรลักษณ์ก็ทราบความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาไว้ ถ้าเป็นอริยสัจก็ทรงไว้ซึ่งทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นต้น

          .    ธรรมะ แปลว่า เป็นธรรมอันผู้ประเสริฐมีพระโสดาบันเป็นต้นเป็นผู้ทรงไว้ หมายความว่า ธรรมะอันดีงาม ธรรมะอันสูงส่งนั้นๆ ผู้ที่จะทรงไว้ได้ต้องเป็นผู้ประเสริฐ คือถึงมรรคนับตั้งแต่โสดาปัตติมรรคเป็นต้นไปจนถึงอรหัตมรรคอรหัตผล

          ๕.    ธรรมะ แปลว่า ทรงไว้ซึ่งประโยชน์ ๓ หมายความว่า ธรรมะนั้นสามารถทรงผู้ประพฤติปฏิบัติตามให้ได้บรรลุประโยชน์ ๓ คือ ประโยชน์โลกนี้ ประโยชน์โลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน

          ๖.    ธรรมะ แปลว่า กำจัดธรรมอันเลวอันเป็นอกุศลธรรม หมายความว่า ถ้าบุคคลมีธรรมะประจำใจแล้ว บาปอกุศลเป็นอันไม่มีแน่นอน

          ๗.    ธรรมะ แปลว่า ทรงสัตว์ผู้ปฏิบัติตามพระดำรัสที่ตรัสไว้ไม่ให้ตกไปในอบายภูมิทั้ง ๔ หมายความว่า ผู้ปฏิบัติธรรมะแล้วจะไม่ไปสู่ที่ชั่ว มีแต่จะไปสู่ที่ดีๆที่เจริญฝ่ายเดียว

          ๘.    ธรรมะ แปลว่า ทรงผู้ปฏิบัติไว้มิให้ตกไปในสังสารทุกข์ หมายความว่า ทุกข์ในสงสารมีมาก หากผู้ใดปฏิบัติธรรมะแล้ว ธรรมะจะทรงผู้นั้นไว้ไม่ให้ตกไปในความทุกข์ในสังสารวัฏ

          ๙.    ธรรมะ แปลว่า ทรงผู้ปฏิบัติตามพระธรรมที่พระองค์ทรงแนะนำพร่ำสอน จนได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน ไม่ให้ตกไปในกองทุกข์ในอบาย และไม่ให้ตกไปในวัฏฏทุกข์ หมายความว่า ถ้าผู้ใดปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผ่านญาณ ๑๖ ไปดีแล้ว ไม่มีโอกาสไปสู่ทุกข์ในอบายภูมิและทุกข์ในวัฏฏสงสารอย่างแน่นอน

        ๑๐.    ธรรมะ แปลว่า เหตุ ได้แก่ เหตุอย่างใดอย่างหนึ่งที่ยังผลให้บังเกิดขึ้น เช่น สมุทัยสัจเป็นเหตุให้ทุกข์เกิดขึ้นเป็นต้น หมายความว่า ทุกข์ทั้งหลายมีสมุทัยเป็นแดนเกิด

        ๑๑.    ธรรมะ แปลว่า ให้ถึง ได้แก่ อริยมรรคอันเป็นเหตุยังสรรพสัตว์ให้ถึงพระนิพพาน

        ๑๒.    ธรรมะ แปลว่า เหตุให้ถึงแนวทาง ได้แก่ พุทธภาษิตบ้าง สาวกภาษิตบ้าง เป็นเหตุให้พุทธบริษัทรู้แนวทางแห่งการประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง

        ๑๓.    ธรรมะ แปลว่า ตัดกิเลส หมายความว่า ธรรมะเป็นเครื่องตัดราคะ ตัดโทสะ ตัดโมหะ เป็นต้น ได้แก่ กุศล “กุศล” แปลว่า ตัดบาปธรรมให้หมดไปจากขันธสันดาน

        ๑๔.    ธรรมะ แปลว่า ทรงความชั่วความดีไว้ เช่น ถ้าใครทำความชั่ว ก็ทรงความชั่วของผู้นั้นไว้ คือรักษาไว้ให้ดี มิให้หายหนีไปไหน ยังติดตามให้ผลอยู่เสมอ ดุจล้อเกวียนหมุนติดตามรอยเท้าโคฉะนั้น แม้ฝ่ายดีที่เป็นบุญเป็นกุศล  ธรรมะก็จะทรงความดีไว้เช่นกัน ยังติดตามให้ผลดุจเงาติดตามตนฉะนั้น

          ท่านทั้งหลายก็ได้ทราบแล้วว่า ธรรมะ แปลและหมายความได้ ๑๔ อย่าง ดังได้บรรยายมาแล้วนี้

          คำว่า วิจย แปลความหมายได้ ๖ อย่าง ดังนี้ คือ

          ๑.    วิจยะ แปลว่า สอดส่อง หมายความว่า เอาสติสอดเข้าไปกำหนดรูปนาม แล้วใช้สตินั้นส่องดูจนรู้หน้าตาของรูปนาม คือรู้ว่าอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม

          ๒.    วิจยะ แปลว่า พิจารณา หมายความว่า ให้สติเที่ยวไปพิเศษในปัจจุบัน รูปนาม พระไตรลักษณ์

          ๓.    วิจยะ แปลว่า วิจัย หมายความว่า เลือกคัดจัดสรรเอาแต่ธรรมะทั้ง ๕ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ

          ๔.    วิจยะ แปลว่า ค้นคว้า หมายความว่า ค้นหาสภาวธรรมแล้วคว้ามาถือไว้ในเงื้อมมือให้ได้ ดุจบุคคลแสวงหาเงิน ทอง เพชร พลอย แล้วคว้าเอา จับเอา ถือเอาเงิน ทอง เพชร พลอย นั้นๆไว้ให้ดี แล้วเก็บใส่ตู้ไว้

          ๕.    วิจยะ แปลว่า สั่งสมให้แจ่มแจ้ง หมายความว่า สั่งสมปัญญาให้มากๆ จนเห็นอรรถเห็นธรรมชัดเจนแจ่มแจ้ง คือรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

          ๖.    วิจยะ แปลว่า ก่อโดยวิเศษ หมายความว่า ก่อศีล ก่อสมาธิ ก่อปัญญา ให้สูงยิ่งๆขึ้นไป จนเป็นอธิศีล อธิสมาธิ อธิปัญญา จนถึงพระอมตมหานฤพาน

          คำว่า สํ (สัม) แปลความหมายได้ ๓ อย่างคือ

          ๑.    สัม แปลว่า พร้อม หมายความว่า ทำอริยสัจ ๔ ให้มีขึ้นพร้อมๆ กัน คือแทงตลอดพร้อมๆกัน ไม่ก่อนไม่หลังกัน ขณะเดียวกัน ดุจคนจุดตะเกียงต้องพร้อมด้วยองค์ ๔ ประการ คือ ๑. ไส้ตะเกียงหมดไป ๒. น้ำมันหมดไป ๓. แสงสว่างมีขึ้น ๔. มืดหายไป

          ๒.    สัม แปลว่า กับ หมายความว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ในองค์มรรค ต้องเกิดพร้อมกัน ไปด้วยกัน ไปกับกัน คือ เกิดขึ้นมีขึ้นพร้อมกันฉะนั้น

          ๓.    สัม แปลว่า ดี หมายความว่า ถ้าบุคคลทำบ่อยๆ ทำถูกๆ ทำได้มากเท่าไร ย่อมจะพบแต่ธรรมดีๆทั้งนั้น เช่น รูปนาม พระไตรลักษณ์ มรรค ผล นิพพาน

          คำว่า โพชฺฌ แปลว่า เครื่องตรัสรู้ คือปัญญาที่ยังผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้นให้ได้ดวงตาเห็นธรรม ให้ได้ตรัสรู้อริยสัจ ๔

          คำว่า องฺค แปลว่า องค์ หมายความว่า ธัมมวิจยะคือการสอดส่องธรรมนี้ เป็นองค์คุณข้อหนึ่งในองค์คุณของโพชฌงค์ที่มีทั้งหมด ๗ ข้อ ที่ยังผู้ปฏิบัติให้ได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน

          เมื่อเอาศัพท์ทั้ง ๕ มาต่อกันเข้า จึงจะได้รูปเป็น ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ แปลว่า องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องยังผู้ปฏิบัติให้ได้ตรัสรู้พร้อมด้วยการวิจัยธรรม

          ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ โดยองค์ธรรมได้แก่ปัญญาเจตสิก ปัญญานั้นมีการรู้แจ้งสภาวธรรมเป็นลักษณะ มีการกำจัดความมืดคือตัวโมหะอันปิดสภาวธรรมไว้เป็นกิจ มีความไม่หลงเป็นผลปรากฎ มีสมาธิเป็นเหตุใกล้ชิดที่จะเป็นเหตุให้ปัญญาเกิดขึ้น

          ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์จะเกิดขึ้นและเจริญยิ่งๆขึ้นไปนั้น ต้องพร้อมด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ

          ๑.    โยนิโสมนสิกาโร การทำไว้ในใจในกุศลธรรมโดยอุบายอันแยบคาย คือจนถึงที่เกิดที่ดับของธรรมนั้น

          ๒.    พหุลีกาโร ทำให้มากๆ ในธรรมที่เป็นกุศล ข้อนี้มีหลักฐานในบาลียืนยันอยู่ว่า อตฺถิ ภิกฺขเว กุสลา ธมฺมา ฯเปฯ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เป็นกุศล เป็นอกุศล ธรรมที่เปรียบด้วยธรรมดำธรรมขาว มีอยู่

          การทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย และการทำให้มากๆ ในธรรมนั้นๆ นี้นำมาซึ่งคุณอันประเสริฐ ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความเกิดขึ้นแห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น และเป็นไปพร้อมเพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความเต็มเปี่ยมโดยยิ่งๆขึ้นไปแห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนี้

          ในคัมภีร์อรรถกถา ท่านแสดงเหตุที่ให้เกิดธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ไว้ ๗ ประการคือ

          ๑.    ปริปุจฺฉกตา หมั่นสอบถามธรรมที่เป็นประโยชน์ เช่น ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ เป็นต้น ตลอดถึงองค์สมถะวิปัสสนา

          ๒.    วตฺถุวิสทกิริยา ทำวัตถุทั้งภายในภายนอกให้สะอาด

          ๓.    อินฺทฺริยสมตฺตปฏิปาทนา ทำอินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธากับปัญญา วิริยะกับสมาธิ ให้เท่าๆกัน ถ้าศรัทธาของผู้ใดมีมาก วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา จะมีกำลังอ่อน เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะมีความบกพร่องดังนี้ คือ

          ๑)    วิริยินทรีย์ ไม่สามารถทำหน้าที่ประคองจิตไว้ได้

          ๒)    สตินทรีย์ ไม่สามารถทำหน้าที่อุปการะได้

          ๓)    สมาธินทรีย์ ไม่สามารถทำหน้าที่มิให้จิตฟุ้งซ่านได้

          ๔)    ปัญญินทรีย์ ไม่สามารถทำหน้าที่ให้เห็นไตรลักษณ์ได้

          เพราะเหตุนั้น ท่านผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานพึงลดสัทธินทรีย์นั้นลงโดยอุบายวิธี ๒ อย่างคือ

          ๑)    โดยการพิจารณาสภาวธรรม

          ๒)    ให้พิจารณาว่า เราใส่ใจโดยวิธีใด สัทธินทรีย์คือศรัทธาความเชื่อจึงมีกำลังมาก แล้วพึงลดสัทธินทรีย์ลง โดยไม่ใส่ใจถึงวิธีนั้นๆอีกต่อไป

          หมายความว่า เราคิดอย่างไร ศรัทธาของเราจึงเกิดกล้า จนทำให้อินทรีย์อื่นๆอ่อนกำลังลงไป หรือจนไม่เป็นอันทำกัมมัฏฐาน เวลาปฏิบัติกัมมัฏฐาน เดินจงกรมอยู่ก็มีแต่คิดอยากทำบุญทำทานตลอดทั้งชั่วโมง เวลานั่งกัมมัฏฐานก็คิดแต่จะทำบุญทำทานตลอดทั้งชั่วโมง เราต้องสำเหนียกว่า ทำไมถึงได้เป็นอย่างนี้ ศรัทธาของเราถึงได้กล้าอย่างนี้ จนการปฏิบัติของเราหย่อนลงไป ไม่ก้าวหน้า เมื่อเราพิจารณาเห็นแล้วก็พึงลดศรัทธา อย่าไปคำนึงถึงเรื่องนั้นอีกต่อไป

          แต่ถ้าวิริยินทรีย์มาก สัทธินทรีย์ก็ไม่สามารถตัดสินอารมณ์ได้เด็ดขาด เมื่อเป็นเช่นนี้ ศรัทธาก็ดี สติก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี ก็ไม่สามารถทำกิจของตนได้ เพราะเหตุนั้น พึงข่มด้วยปัสสัทธิให้มากๆ บรรดาอินทรีย์ทั้ง ๕ ข้อนี้ ถ้าข้อใดข้อหนึ่งมีกำลังมาก อินทรีย์นอกนั้นก็ไม่สามารถทำกิจของตนได้

          แต่เมื่อกล่าวโดยพิเศษแล้ว นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมยกย่องสรรเสริญว่า ศรัทธากับปัญญาต้องเท่ากัน เพราะผู้มีศรัทธามากแต่ปัญญาน้อย ก็ย่อมเลื่อมใสลุ่มหลง ส่วนผู้มีปัญญามากแต่ศรัทธาน้อย ย่อมตกไปในฝ่ายเกเรเยียวยาได้ยาก บางทีก็เยียวยาไม่ได้เลย

          ผู้มีปัญญามากศรัทธาหย่อนนี้ เวลาทำกัมมัฏฐาน ส่วนมากจะไม่ปฏิบัติตามหลักวิชาการที่ครูบาอาจารย์แนะนำพร่ำสอนหรือตักเตือน บางทีไม่อยากเดินจงกรม หรือเดินก็ไม่เดินตามที่แนะนำให้ เดินไปตามอัธยาศัย เวลานั่งก็เหมือนกัน อยากกำหนดอย่างไรก็กำหนด ไม่กำหนดตามหลักการที่ท่านให้ไว้ หรือบางทีก็นั่งพิงต้นเสาบ้าง พิงต้นไม้บ้าง บางทีไม่นั่งกำหนด มีแต่นอนกำหนดเท่านั้น

          เหมือนดังพระรูปหนึ่งที่มาปฏิบัติอยู่ในสำนักนี้เมื่อหลายปีที่ผ่านมา เวลาเดินจงกรมเสร็จแล้วก็ไม่ยอมนั่ง ไปนอนกำหนดเลย พอดีนอนกำหนดตั้งแต่เช้า รู้สึกตัวขึ้นมาก็ได้เวลาฉันเพลพอดี ภาคบ่ายก็เหมือนกัน เดินจงกรมเสร็จแล้วก็นอนกำหนด รู้สึกตัวขึ้นมาก็ ๔ โมงเย็น ปฏิบัติทั้งปีก็ไม่ได้อะไรเลย เรียกว่าปัญญามากแต่ศรัทธาหย่อน ก็ตกไปในฝ่ายเกเรเยียวยาได้ยาก หรือเยียวยาไม่ได้เสียเลย

          เหมือนกับพวกยาวิตามิน หรือยาบำรุงหัวใจ คือเวลาเหนื่อย เวลาแพ้ยา หรือเกิดอะไรฉุกเฉิน หัวใจทำงานไม่ปกติ เขาใช้ยาจำพวกนี้เข้าช่วยบำรุงหัวใจ แต่บังเอิญคนนั้นไปแพ้ยาที่ใช้ช่วยนี้เข้า หมอก็ไม่สามารถที่จะเยียวยารักษาได้ ข้อนี้ฉันใด ปัญญามากศรัทธาหย่อน ก็ฉันนั้น

          เมื่ออินทรีย์ทั้งสองหมวด คือ ศรัทธากับปัญญา วิริยะกับสมาธิ สม่ำเสมอกัน บุคคลนั้นย่อมเลื่อมใสในวัตถุที่ควรเลื่อมใสเท่านั้น โกสัชชะคือความเกียจคร้านย่อมครอบงำผู้มีสมาธิกล้ามีความเพียรหย่อน เพราะสมาธิก็เป็นไปในฝ่ายโกสัชชะ ผู้มีสมาธิสูงอย่างเดียวแต่ความเพียรหย่อนนี้ ส่วนมากจะเกียจคร้าน อืดอาด ยืดยาด ทำความเพียรไม่กระฉับกระเฉง

          เราจะสังเกตเห็นเวลาเรานั่งเจริญพระกัมมัฏฐานในชั่วโมงแรก นั่งสมาธิครบชั่วโมงแล้วจะลุกขึ้นเดินจงกรมอีก มันลำบากลำบน ไม่อยากเดิน กว่าจะลุกได้ต้องเหยียดแข้งเหยียดขา ยืดเส้นยืดสาย พลิกแล้วพลิกอีก กว่าจะลุกไปเดินได้ก็กินเวลา ๑๐ หรือ ๒๐ นาทีก็มี เพราะเหตุไรจึงเป็นอย่างนี้ เพราะเหตุว่าสมาธิยังมีอยู่ สมาธิยังไม่คลายตัวเต็มที่ ก็ทำให้เกียจคร้านขึ้นมา ไม่อยากเดินจงกรม นี่สำหรับผู้มีสมาธิมากจะเป็นอย่างนี้

          ส่วนผู้มีความเพียรกล้าสมาธิน้อย อุทธัจจะคือความฟุ้งซ่านย่อมครอบงำ เพราะวิริยะย่อมเป็นไปในฝ่ายอุทธัจจะ จะเกิดความคิดมาก นั่งอยู่ ๕ นาที ก็คิดไปร้อยเรื่องพันเรื่อง หรือว่าเดินจงกรมไป ๒-๓ ก้าว ก็คิดไปร้อยแปดพันประการ ถ้าเป็นอย่างนี้แสดงว่า ความเพียรกล้าสมาธิหย่อน

          เมื่อใดเราประคองวิริยะกับสมาธิให้สม่ำเสมอกัน และปัญญากับศรัทธาให้สม่ำเสมอกัน ส่วนสติเอาไว้กลางๆ คอยประคับประคองให้อินทรีย์ทั้งสองคู่เสมอกันแล้ว เมื่อนั้นผู้ปฏิบัติย่อมสามารถยังสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล นิพพาน ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานได้

          อีกอย่างหนึ่ง ผู้เจริญสมถะมาก่อน ศรัทธามีกำลังกล้าจึงควร เพราะผู้นั้นเชื่ออยู่อย่างนั้นจึงจะถึงซึ่งอัปปนาสมาธิ สำหรับผู้เจริญวิปัสสนาภาวนา ปัญญามีกำลังกล้าจึงควร เพราะผู้นั้นรู้แจ้งแทงตลอดพระไตรลักษณ์ได้ด้วยอุบายอย่างนี้

          ส่วนสติต้องการให้มีกำลังกล้าในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ เพราะสติย่อมรักษาจิตไว้ไม่ให้ตกไปในอุทธัจจะด้วยอำนาจของศรัทธา วิริยะ ปัญญา ซึ่งเป็นไปในฝ่ายอุทธัจจะ และรักษาจิตไว้ไม่ให้ตกไปในฝ่ายโกสัชชะด้วยอำนาจของสมาธิซึ่งเป็นไปในฝ่ายโกสัชชะ

          เหตุนั้น สติ จึงจำเป็นต้องปรารถนาในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ เหมือนคนปรารถนาเกลือในอาหารทุกชนิด ฉะนั้น และเหมือนกันกับพระราชาปรารถนาผู้สำเร็จราชการแทนในราชกิจทั้งปวง ฉะนั้น

          จิตนี้มีสติเป็นที่พึ่งที่ระลึก สติทำหน้าที่ตามรักษาและอุปการะบำรุงจิต ถ้าเว้นสติเสียแล้ว ไม่มีผู้ยกย่องจิต ไม่มีผู้ข่มจิต จิตของเราก็ไม่สามารถดำเนินไปสู่ปฏิปทาแห่งความพ้นทุกข์ เหมือนกับทารกที่ขาดมารดาหรือขาดพี่เลี้ยง ไม่สามารถที่จะเอาตัวรอดได้ ฉันใด ผู้ปฏิบัติวิปัสสนา ถ้าขาดสติเสียอย่างเดียว ก็ไม่สามารถที่จะดำเนินไปสู่ปฏิปทาแห่งความพ้นทุกข์ได้ มิหนำซ้ำจะทำให้เสียผู้เสียคนได้ด้วย

          ๔.    ทุปฺปญฺญปุคฺคลปริวชฺชนา ผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานพึงเว้นจากบุคคลผู้มีปัญญาทึบ ได้แก่ เว้นให้ห่างไกลจากบุคคลที่ไม่ฉลาด คือผู้ไม่มีปัญญาที่จะหยั่งรู้ขันธ์ อายตนะ ธาตุ หรือ อริยสัจ

          ๕.    ปญฺญวนฺตปุคฺคลเสวนา สมาคมกับผู้มีปัญญา คือให้คบหาสมาคมแต่ผู้ประกอบด้วยปัญญาพิจารณาเห็นความเกิดดับของรูปนาม คือรู้ว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดรูปนาม อะไรเป็นปัจจัยให้รูปนามดับไป รู้อาการเกิดดับของรูปนามอันมีลักษณะ ๕๐ ถ้วน คือ

          การเกิดของรูปนาม มีอยู่ ๒๕ ประการ คือ

          รูปนี้เกิดมาจาก อวิชชา ตัณหา กรรม อาหาร และความเกิดขึ้นของรูปอย่างเดียว

          เวทนาเกิดขึ้นจาก อวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของเวทนาอย่างเดียว

          สัญญาเกิดขึ้นมาจาก อวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของสัญญาอย่างเดียว

          สังขารเกิดขึ้นมาจาก อวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของสังขารอย่างเดียว

          วิญญาณเกิดขึ้นมาจาก อวิชชา ตัณหา กรรม นามรูป และความเกิดขึ้นของวิญญาณอย่างเดียว

          เรียกว่า นิพพัตติลักษณะ ๒๕ ประการ เมื่อรวมกันกับความดับของนามรูปที่เป็นปฏิปักษ์กันอีก ๒๕ ประการ จึงเป็น ๕๐ ประการพอดี

          ๖.    คมฺภีรญาณจริยปจฺจเวกฺขณา พิจารณาประเภทแห่งปัญญาอันลึกซึ้ง เป็นไปตามวิปัสสนาภูมิ คือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ เป็นต้น อันสุขุมคัมภีรภาพ

          ๗.    ตทธิมุตฺตตา น้อมใจไปในการกำหนดบทกัมมัฏฐาน คือมีจิตโอนไป โน้มไป ในสติปัฏฐาน ๔ หรืออิริยาบถต่างๆ มียืน เดิน นั่ง นอน เป็นต้น เพื่อให้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์เกิดขึ้น

          ทั้ง ๗ ข้อที่ได้บรรยายมานี้ เป็นเหตุให้เกิดญาณสัมปยุตด้วยกุศล เมื่อใดได้บำเพ็ญวิปัสสนา ยังธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ให้เกิดขึ้นด้วยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้แล้ว ก็สามารถที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุอริยมรรรคอริยผลอย่างไม่ต้องสงสัย

          อนึ่ง ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์นี้ ขอให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่า ไม่ใช่เราจะไปใคร่ครวญหรือตริตรองพิจารณาในขณะที่นั่งกำหนดอยู่ ถ้าเรานำไปใช้พิจารณาขณะทำกัมมัฏฐานอยู่ หรือนั่งภาวนาอยู่ มันก็จะกลายเป็นปริยัติไป จะไม่เป็นภาคปฏิบัติหรือปฏิเวธ

          ทีนี้เราจะใช้เวลาไหน ใช้เวลาว่างๆ เช่น เวลาเลิกจากการเดินจงกรม นั่งสมาธิ เราก็นั่งตามสบาย หรือว่า เราสรงน้ำมาสบายๆ นั่งอยู่ที่กุฏิของเรา ดื่มน้ำร้อนน้ำชาหรือน้ำเย็น ทำให้จิตใจของเราสบายขึ้นมาแล้ว เราก็ยกธรรมะข้อใดข้อหนึ่งขึ้นมาพิจารณา จะเป็นธรรมะที่เราได้ยินได้ฟังจากครูบาอาจารย์ที่มาบรรยายก็ตาม เราก็ยกขึ้นมาพิจารณา เช่น เรื่องรูปนาม ขันธ์ ๕ ท่านว่ามันเป็นอสุภะ มันเป็นได้อย่างไรหนอ หรือพิจารณาว่า เรายังมีราคะกล้าอยู่ จะทำอย่างไรหนอจึงจะพ้นจากราคะ

          เมื่อเราพิจารณาไปก็จะเกิดความรู้ขึ้นมาว่า ราคะนี้เป็นสิ่งที่ร้ายแรงที่สุด เราบวชมาถึงทุกวันนี้ สิ่งที่เราต่อสู้หนักที่สุดก็ต่อสู้กับพิษและอำนาจของราคะ ส่วนโลภะ โทสะ โมหะ มีอำนาจนิดหน่อย ราคะนี้ทำให้จิตใจของเราแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวก็อยากสึก เดี๋ยวก็อยากอยู่เผยแผ่พระพุทธศาสนา รบกวนอยู่ตลอดเวลา

          ทีนี้เราก็คิดว่า จะทำอย่างไรหนอ พิษของราคะจะหมดไปสิ้นไป เราพิจารณาไปเรื่อยๆ ก็เกิดความรู้ขึ้นมา เมื่อเกิดความรู้ขึ้นมาแล้วก็จะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดอุตสาหะวิริยะในการบำเพ็ญวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไป

          เรื่องการเอาชนะราคะนี้ เราจะทำอย่างไร

          เราต้องเจริญกายคตาสติกัมมัฏฐาน ตามหลักมูลกัมมัฏฐาน คือ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ บางครั้งก็เจริญโดยพิสดาร ตลอดถึงอาการ ๓๒ พิจารณาอยู่ตลอดเวลา เจริญให้คล่องแคล่ว แล้วก็แยกส่วนไป คือ แยกส่วนหยาบๆออกไป ครั้งแรกก็นึกถอนเอาผมทั้งหมดนี้ไปกองไว้กะละมังหนึ่ง เสร็จแล้วก็ถอนเอาขนทั้งหมดไปกองไว้กะละมังหนึ่ง

          แล้วก็ลอกเอาหนังทั้งหมดนี้ไปไว้กะละมังหนึ่ง เอาเนื้อทั้งหมดไปไว้อีกกะละมังหนึ่ง แล้วก็ตัดเอาเอ็นทุกเส้นไว้กองหนึ่ง เอาตับไว้กองหนึ่ง เอาปอดไว้กองหนึ่ง เอาม้ามไว้กองหนึ่ง เอากระเพาะไว้กองหนึ่ง ควักเอาอาหารใหม่อาหารเก่าอยู่ในลำไส้ไปไว้ในกะละมังหนึ่ง เอาเลือดไปไว้ในกะละมังหนึ่ง เอาน้ำดีไว้ทางหนึ่ง เอาเสลดไว้ทางหนึ่ง เอากระดูกไว้กองหนึ่ง กระจัดกระจายกันไว้

          เราก็หลับตาพิจารณาว่า อันนั้นเป็นผม อันนั้นเป็นขน เป็นเนื้อ เป็นเอ็น เป็นเลือด เป็นเสลด เป็นต้น พิจารณาอยู่อย่างนี้ตลอดไป เช้าก็ต้องใช้ เพลก็ต้องใช้ เย็นก็ต้องใช้ กลางคืนก็ต้องใช้ พิจารณากลับไปกลับมาจนชำนาญช่ำชองแล้ว หากเราไปเห็นเพศตรงข้าม คิดชอบขึ้นมาเท่านั้น เราก็นึกแยกส่วนขึ้นทันที ก็จะเห็นกระจัดกระจายเรี่ยรายไปหมด ไม่เห็นบุคคลเหมือนเดิม เราต้องใช้อย่างนี้

          นึกถึงคนโน้นรูปสวยหนอ คนนี้รูปสวยหนอ พอนึกแยกส่วน มันก็กระจัดกระจายกองใครกองมันทันที คือครั้งแรกต้องแยกตัวเองเสียก่อน เมื่อชำนาญแล้วก็สามารถแยกร่างของคนอื่นไปกองเป็นส่วนๆได้เหมือนกับร่างของเรา เมื่อออกจากการพิจารณาก็ประกอบเข้าเหมือนเดิม

          ทีนี้ เมื่อพิจารณาจนชำนาญดีแล้ว เรายังเอาสิ่งที่ปรากฏในร่างกาย เช่น เห็นเลือดสีแดง ก็เอามาบริกรรมเป็นกสิณต่อไปจนเกิดฌานเกิดสมาบัติขึ้น เมื่อฌานมีกำลังกล้าขึ้น ก็เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดปัญญา เมื่อปัญญาแก่กล้าขึ้นมาแล้วก็สามารถตัดหรือข่มกามราคะลงไปได้      

          อันนี้เป็นหลักการที่นำมาเสนอแนะท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์นี้ เราใช้เวลาว่างจากการปฏิบัติมาใคร่ครวญพิจารณาตริตรองถึงเนื้อหาสาระของมัน ด้วยอำนาจจินตาญาณ ทำให้เกิดปัญญา และสามารถที่จะเอาไปเทศน์ไปสอนได้ และเมื่อนำเอาไปเทศน์ คนก็เข้าใจ ใครจะมีมานะทิฎฐิสักปานใดก็ตาม เราเทศน์ไปในขณะที่เรายังบำเพ็ญอยู่นี้ คนนั้นจะมีจิตใจอ่อน พร้อมที่จะปฏิบัติตาม อันนี้ก็ขอให้ท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลายนำเอาหลักธรรมะในธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่กล่าวมาแล้วนี้ไปเป็นแรงกระตุ้นในการปฏิบัติเพื่อให้ถึงมรรคผลเร็วขึ้นต่อไป

          เอาละ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ มาบรรยายนี้ ก็คิดว่าพอสมควรแก่เวลา.