วิริยสัมโพชฌงค์

วิริยสัมโพชฌงค์

โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

———————

          วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง วิริยสัมโพชฌงค์ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

          คำว่า วิริยสัมโพชฌงค์ แปลว่า องค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้คือความเพียร หมายความว่า การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานของเราทั้งหลาย แม้ว่าอย่างอื่นจะสมบูรณ์ แต่ถ้าขาดความเพียรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุสามัญผลได้

          ความเพียรนั้น ท่านแปลไว้หลายนัย ดังนี้

          ๑.    วิริยะ แปลว่า ความเพียรในการละความชั่ว ในการกระทำความดี

          ๒.    วิริยะ แปลว่า กล้าหาญ หมายความว่า กล้าหาญในการละความชั่วและบำเพ็ญความดี

          ๓.    วิริยะ แปลว่า บุกเข้าไป ได้แก่ การตั้งอกตั้งใจเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานโดยไม่ถอยหลัง

          ๔.    วิริยะ แปลว่า รุกเข้าไป หมายความว่า พยายามก้าวหน้าอยู่เสมอ ไม่ถอยหลัง

          ๕.    วิริยะ แปลว่า เดช หมายความว่า การที่เราทั้งหลายตั้งใจเจริญพระกัมมัฏฐานจนเกิดเดช สามารถเผาผลาญกิเลสน้อยใหญ่ทั้งหลายทั้งปวงให้หมดไปจากขันธสันดาน

          ๖.    วิริยะ แปลว่า อำนาจ ได้แก่ การบำเพ็ญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนเกิดอำนาจ สามารถกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทาน ให้หมดไปจากจิตใจ

          ๗.    วิริยะ แปลว่า ปราศจากความครั่นคร้าม หมายความว่า ไม่เกรงต่อกิเลสแม้แต่น้อย

          ๘.    วิริยะ แปลว่า อาจหาญ หมายความว่า มีความองอาจ แกล้วกล้า สามารถเอาชนะข้าศึกคือกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้

          ๙.    วิริยะ แปลว่า กำลัง หมายความว่า ความเพียรนี้ เป็นเหตุให้เกิดกำลัง ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างเข้มแข็ง คือทำให้เกิดศรัทธาพละ วิริยพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ จนสามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลได้

          ๑๐.  วิริยะ แปลว่า อุตสาหะ ได้แก่ การพากเพียรเป็นพิเศษ สามารถเอาชนะความโลภโกรธหลงได้

          ๑๑.  วิริยะ แปลว่า พยายาม หมายความว่า ตั้งหน้าทำ เอาชีวิตเข้าแลก เอาชีวิตเป็นเดิมพัน แม้ตายก็ยอมตาย ถ้าว่าไม่บรรลุอริยมรรคอริยผลสมกับความตั้งใจแล้ว จะไม่ละความเพียรพยายามเป็นอันขาด

          ๑๒.  วิริยะ แปลว่า ไม่ถอยหลัง หมายความว่า ยอมตายเอาดาบหน้า ขาขาดเอาคางเกาะไป ตั้งอกตั้งใจบำเพ็ญเพียรจนกว่าจะได้บรรลุอริยมรรคอริยผล

          ๑๓.  วิริยะ แปลว่า พ้นทุกข์ ได้แก่ การตั้งใจเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนสามารถพ้นจากความทุกข์ทั้งทางโลกและทางธรรม ดังท่านกล่าวไว้ว่า วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ บุคคลล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร

          ๑๔.  วิริยะ แปลว่า บ่อเกิดแห่งไตรสิกขา หมายความว่า ความเพียรนี้เป็นเหตุให้เกิดศีล เกิดสมาธิ เกิดปัญญา

          ๑๕.  วิริยะ แปลว่า ธรรมจักร หมายความว่า เป็นล้อนำให้ถึงซึ่งสมาธิ สมาบัติ มรรคผล พระนิพพาน

          สรุปความแล้วว่า ความเพียรนั้นเป็นสิ่งที่สามารถขุดเอาทรัพย์ภายนอกและทรัพย์ภายในของพุทธบริษัทได้

          ความเพียรภายนอกคือความเพียรทางโลกนั้น สามารถทำให้การงานของตัวเองสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ตัวเองก็ได้รับความสุข ทั้งครอบครัวก็ได้รับความสุข พ้นจากความลำบากความเดือดร้อนเข็ญใจไร้ทรัพย์ ทำให้เกิดความร่ำรวยมั่งมีศรีสุขในปัจจุบันได้

          ส่วนความเพียรภายในคือความเพียรทางธรรม  สามารถทำให้ผู้ที่ประกอบความเพียรนั้นได้บรรลุสมบัติ ๓ ประการ คือ มนุษย์สมบัติ เทวสมบัติ พรหมสมบัติ และสมบัติอย่างเยี่ยมคือพระนิพพาน ดังตัวอย่างพระมหาโมคคัลลานะเป็นอุทาหรณ์

          กิระ ดังได้สดับมา พระมหาโมคคัลลานะนั้น เป็นบุตรพราหมณ์ผู้เป็นนายบ้านชื่อโกลิตะ มารดาชื่อโมคคัลลี เดิมท่านชื่อ โกลิตะ ตามโคตรของบิดา อีกอย่างหนึ่ง เพราะท่านเป็นบุตรของนางโมคคัลลี จึงเรียกท่านว่าโมคคัลลานะในเวลาที่ท่านมาบวชในพระศาสนาแล้ว

          ท่านเกิดในตำบลไม่ห่างไกลจากกรุงราชคฤห์ ได้เป็นสหายกันกับอุปติสสะมาณพ มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ตระกูลของทั้งสองเป็นสหายเนื่องกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ และเป็นตระกูลที่มั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์และบริวารเสมอกัน เมื่อเจริญวัยก็ได้ศึกษาศิลปวิทยาด้วยกัน แม้จะไปไหนหรือทำอะไรก็ทำหรือไปด้วยกัน

          จนกระทั่งเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาก็บวชพร้อมกัน ต่างกันแต่ว่าได้ดวงตาเห็นธรรมครั้งแรกคนละคราว คืออุปติสสะได้ดวงตาเห็นธรรมก่อน เพราะได้ฟังธรรมของพระอัสสชิ ว่า เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระศาสดาตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น แล้วเข้าใจว่า

          ในพระศาสนานี้แสดงแล้วว่า ธรรมทั้งหลาย เมื่อจะเกิด ก็เพราะเหตุเกิดก่อน เมื่อจะดับ ก็เพราะเหตุดับก่อน พระศาสดาตรัสสอนให้ดับเหตุคือตัณหาอันเป็นตัวให้เกิดทุกข์ แล้วได้ดวงตาเห็นธรรมว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นก็มีความดับไปเป็นธรรมดา

          จึงอำลาพระอัสสชิ มาบอกแก่โมคคัลลานะถึงการที่ตนได้พบกับพระอัสสชิแล้วได้แสดงธรรมให้ฟัง เมื่อได้ฟังแล้วก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเช่นกัน แล้วพร้อมใจกันกับบริวาร ลาอาจารย์สัญชัยมาพบพระศาสดาที่เวฬุวัน กรุงราชคฤห์ ขอบวชในพระพุทธศาสนา

          จำเดิมแต่ท่านได้ขออุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ได้ ๗ วัน ท่านไปทำความเพียรที่บ้านกัลลวาลคาม แขวงมคธชนบท อ่อนใจนั่งโงกง่วงอยู่ พระศาสดาได้เสด็จไปที่นั้น ทรงสั่งสอน แสดงอุบายสำหรับระงับความง่วง[1]มีประการต่างๆ ว่า

          ข้อที่ ๑   โมคคัลลานะ เมื่อท่านมีสัญญาอย่างไรความง่วงนั้นย่อมครอบงำได้ ท่านควรทำสัญญาในใจถึงสิ่งนั้นให้มาก คืออย่านึกอย่าทำอย่างนั้นอีกต่อไป ก็จะเป็นเหตุละความโงกง่วงนั้นได้

          ข้อที่ ๒  ท่านควรตริตรองพิจารณาธรรมที่ท่านได้ฟังแล้วและเรียนแล้วอย่างไร ด้วยน้ำใจของตัว ก็จะละความโงกง่วงนั้นได้

          ข้อที่ ๓   ท่านควรสาธยายธรรมที่ตัวได้ฟังแล้วได้เรียนแล้วอย่างไรโดยพิสดาร จะสามารถละความง่วงนั้นได้

          ข้อที่ ๔  ถ้ายังละไม่ได้ ท่านควรแยงหูทั้งสองข้าง ลูบตัวด้วยฝ่ามือ ก็จะละความง่วงนั้นได้

          ข้อที่   ถ้ายังละไม่ได้ ควรลุกขึ้นยืน ลูบนัยน์ตาด้วยน้ำ เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวนักขัตฤกษ์ ก็จะเป็นเหตุให้ละความง่วงนั้นได้

          ข้อที่ ๖   ถ้ายังละไม่ได้ ท่านควรทำในใจถึงอาโลกสัญญา คือทำความสำคัญในแสงสว่าง ตั้งความสำคัญว่ากลางวันไว้ในจิตใจให้เหมือนกันทั้งกลางวันกลางคืน มีใจเปิดเผยฉะนี้ ไม่มีอะไรหุ้มห่อ ก็จะเกิดแสงสว่าง เป็นเหตุละความง่วงนั้นได้

          ข้อที่ ๗  ถ้ายังละไม่ได้ ท่านควรอธิษฐานจงกรม กำหนดเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีใจไม่ส่งไปในภายนอก ก็จะเป็นเหตุให้ละความง่วงนี้ได้

          ข้อที่ ๘  ถ้ายังละไม่ได้ ท่านควรสำเร็จสีหไสยา คือนอนตะแคงข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายในอันจะลุกขึ้นไว้ในใจ พอท่านตื่นแล้วควรรีบลุกขึ้นทำความเพียร โดยคิดว่าเราจะไม่ประกอบความสุขด้วยการนอนการเอนข้างเอนหลัง

          ครั้นตรัสสอนอุบายสำหรับระงับความโงกง่วงอย่างนี้แล้ว ทรงสั่งสอนให้สำเหนียกต่อไปอีกว่า โมคคัลลานะ เธอพึงสำเหนียกอยู่เสมอว่า เราจักไม่ชูงวง คือจักไม่ถือตัวไปในตระกูล เราจักไม่พูดคำอันเป็นเหตุเถียงกัน และตรัสสอนการให้ยินดีในที่นั่งที่นอนอันเงียบสงบ ควรเป็นที่หลีกเร้นอยู่ตามสมณวิสัย

          เมื่อครั้นตรัสสอนอย่างนี้แล้ว พระโมคคัลลานะกราบทูลถามว่า พระพุทธเจ้าข้า ว่าโดยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วน เกษมจากโยคธรรมล่วงส่วน เป็นพรหมจารีบุคคลล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

          พระบรมศาสดาทรงตรัสต่อไปว่า โมคคัลลานะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับแล้วว่า บรรดาธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรถือมั่น เธอทราบชัดซึ่งธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่ง กำหนดรู้ธรรมทั้งปวง เธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือเป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี เธอพึงพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง พิจารณาเห็นด้วยปัญญาเป็นเครื่องหน่าย เป็นเครื่องดับ เป็นเครื่องสละคืน ในเวทนาทั้งหลายนั้น

          เมื่อพิจารณาเห็นดังนี้ ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก ย่อมไม่สะดุ้งหวาดกลัว ย่อมดับกิเลสให้สงบได้จำเพาะตัว และทราบชัดว่า ชาตินี้สิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่จำจะต้องทำ ได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำอย่างนี้ย่อมไม่มี ว่าโดยย่อด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา ท่านโมคคัลลานะปฏิบัติตามโอวาทที่พระองค์สั่งสอน ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันนั้น

          ที่นี้มีข้อแม้อยู่ว่า พวกเรานักปฏิบัติธรรมทั้งหลายนี้ จะประกอบอยู่ในความเพียรประพฤติปฏิบัติในวิริยสัมโพชฌงค์นี้อย่างไร ให้ปฏิบัติดังนี้คือ เราทั้งหลายพึงสำรวมระวัง รักษาอินทรียสังวรศีล คือระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้ง ๖ ประตูนี้ อย่าให้ขโมยทั้ง ๑๒ ตัว คือ โลภะ ๘ โทสะ ๒ โมหะ ๒ เข้าไปได้

          วิธีรักษานั้นคือ ให้ปิดประตูใส่กุญแจให้เรียบร้อย แล้วยืนเฝ้า นั่งเฝ้า นอนเฝ้าอยู่เสมอ อย่าประมาท ปิดประตูอย่างไร ปิดประตูอย่างนี้คือ สมมติว่าเวลาเดินจงกรม ให้เอาสติปักไว้ที่เท้าขวาเท้าซ้าย ระวังอย่าให้โลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นในขณะนั้น

เวลานั่งก็เอาสติปักไว้ที่ตัวของเรา ให้รู้อาการนั่งตั้งแต่เท้าถึงศีรษะ ตั้งแต่ศีรษะถึงเท้า เวลานอนก็ให้ตั้งสติไว้ที่รูปนอน เวลายืนก็ตั้งสติไว้ที่ร่างกายของเรา คือที่รูปของเรา ระวังรักษาอยู่เสมอ ไม่ให้เผลอไปตามบาปอกุศล ระวังอย่าให้โลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้น

          เวลาตาเห็นรูป ตั้งสติไว้ที่ตา โดยกำหนดว่า เห็นหนอๆ หรือว่า พุทโธๆ ก็ได้ คำใดคำหนึ่ง ระวังอย่าให้โลภะ โทสะ โมหะเกิด เวลาหูได้ยินเสียงก็ให้ตั้งสติกำหนดไว้ที่หู กำหนดว่า ได้ยินหนอๆ หรือว่า พุทโธๆ ก็ได้ ระวังอย่าให้โลภะ โทสะ โมหะ เข้าไป เวลาจมูกได้กลิ่นพยายามตั้งสติไว้ที่จมูกโดยกำหนดว่า กลิ่นหนอๆ หรือว่า พุทโธๆ อย่าให้เลยไปถึงว่ามันหอมหรือเหม็น อย่าให้เลยไปถึงดีถึงชั่ว

          เวลาลิ้นได้รสก็ตั้งสติไว้ที่ลิ้น กำหนดว่า รสหนอๆ หรือว่า พุทโธๆ ร่ำไป เวลากายกระทบกับสัมผัสคืออาการเย็นร้อนอ่อนแข็ง ก็ให้ตั้งสติไว้ที่กาย กำหนดว่า กระทบหนอๆ ถูกหนอๆ พุทโธๆ คำใดคำหนึ่งก็ได้ เวลาใจรู้ธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจก็เหมือนกัน ในขณะนั้นให้ตั้งสติไว้ที่ใจ กำหนดว่า คิดหนอๆ รู้หนอๆ หรือกำหนดว่า พุทโธๆ คำใดคำหนึ่ง และระวังอย่าให้โลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นได้ในขณะนั้น

          สรุปเอาสั้นๆ ว่า เวลาเรากระทบกับอารมณ์ต่างๆ ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ดี ให้มีสติสัมปชัญญะ ระวังให้ดี อย่าให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดขึ้น อย่าให้เลยไปถึงดีหรือชั่ว ถ้าเลยไป แสดงว่าเราปิดประตูกั้นประตูไม่อยู่ ขโมยคือกิเลสทั้ง ๑๒ ตัว ก็เข้าไปในขันธสันดานของเราได้

          เมื่อกิเลสเข้าไปแล้ว มันก็จะแสดงอาการของมันออกมา บางทีก็ทำให้เกิดความคิดอยากคดโกงเอาสมบัติของเขาบ้าง หรือทำให้ค้าของเถื่อน ลักทรัพย์ ฆ่าคน ด่าคน วางเพลิง หัวดื้อ ฉุดคร่าอนาจาร ขี้เมา เนรคุณ ประมาท เกียจคร้าน กลุ้มใจบ้าง ทุกข์ใจบ้าง

          แต่เมื่อปิดประตูกั้นประตูดีแล้ว กิเลสใหม่ก็เข้าไปไม่ได้ กิเลสเก่าที่มีอยู่จะหมดไปตามลำดับๆ ด้วยอำนาจไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อเป็นเช่นนี้ บุญกุศลทั้งหลาย คือศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ก็เกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา เราก็สามารถบรรลุอริยมรรคอริยผลตั้งแต่ขั้นโสดาบันไปจนถึงได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

          ฉะนั้น ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทุกๆท่านอย่าได้ประมาท หมั่นบำเพ็ญสติให้ระลึกรู้ทันปัจจุบันเสมอ จะได้ชื่อว่าเดินทางพร้อมด้วยวาสนาบารมีที่จะถึงพระนิพพานได้

          อนึ่ง สำหรับองค์คุณของผู้มีความเพียรนั้น ท่านกล่าวไว้ดังนี้

          ๑.    สมมติว่าเราจะเดินทางไกล ก่อนจะเดินทางไกลเราก็พิจารณาว่า ในขณะที่เราเดินทางนี้ ไม่มีโอกาสจะได้ประพฤติปฏิบัติ ไม่มีโอกาสจะบำเพ็ญความเพียรเต็มที่ ควรที่เราจะบำเพ็ญความเพียรเสียก่อนที่จะเดินทาง แล้วก็ตั้งใจบำเพ็ญความเพียร

          ๒.    เมื่อเดินทางถึงที่แล้ว ก็ให้พิจารณาว่า ในขณะที่เดินทางอยู่นั้น เราไม่มีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติเต็มที่ บัดนี้เราเดินทางถึงที่แล้ว สมควรที่จะลงมือปฏิบัติ แล้วรีบประพฤติปฏิบัติทันที

          ๓.    เมื่อประสบกับความหนาว ก็ให้พิจารณาว่า ความหนาวนี้เป็นเพียงเล็กๆน้อยๆ เท่านั้น หากว่าหนาวนี้มากขึ้นกว่านี้ เราก็จะบำเพ็ญความเพียรไม่สะดวก ควรที่จะบำเพ็ญความเพียรเสียก่อนที่ความหนาวเหน็บอย่างแรงกล้าจะมาถึง แล้วก็รีบลงมือทำความเพียร

          ๔.    เมื่อประสบกับความร้อน ก็ให้พิจารณาว่า ความร้อนนี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น จะกล่าวความร้อนในอบายภูมิยิ่งมีมากกว่านี้เป็นพันๆล้านเท่า หรือว่าความร้อนที่ได้รับอยู่นี้เป็นความร้อนเพียงเล็กน้อย เป็นความร้อนภายนอก ส่วนความร้อนด้วยไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ มันยิ่งร้อนกว่านี้ บัดนี้เป็นโอกาสที่เราจะได้บำเพ็ญความเพียร ถ้าหากว่าเกิดความร้อนขึ้นมากกว่านี้ หรือว่าไฟคือราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นมาแล้ว เราอาจจะไม่ได้มีโอกาสบำเพ็ญความเพียร ขณะนี้เป็นโอกาสเหมาะแท้ที่จะบำเพ็ญความเพียร แล้วรีบลงมือทำความเพียร

          ๕.    เมื่ออากาศพอดี เย็นสบายๆ ก็ให้พิจารณาว่า ขณะนี้อากาศพอดี เหมาะแก่การทำความเพียร แล้วก็รีบทำทันที

          ๖.    เมื่อได้อาหารน้อย ก็ให้พิจารณาว่า วันนี้เราได้อาหารน้อย ฉันได้น้อย ร่างกายของเราคล่องแคล่วสบายดี ไม่อืดอาด เหมาะแก่การทำความเพียร แล้วรีบลงมือทำความเพียร

          ๗.   เมื่อได้อาหารมาก ก็ให้พิจารณาว่า เราได้อาหารมาก รับทานอาหารได้มาก ร่างกายของเราก็แข็งแรงไม่เหน็ดเหนื่อย เหมาะแก่การทำความเพียร แล้วก็รีบลงมือทำความเพียร

          ๘.    เมื่อมีอาพาธน้อย ก็ให้พิจารณาว่า ขณะนี้เรามีอาพาธเล็กน้อยเท่านี้ ถ้าเรามีอาพาธหนักก็จะไม่มีโอกาสทำความเพียร ควรที่เราจะลงมือทำความเพียรขณะนี้ แล้วทำความเพียรทันที

          ๙.    เมื่ออาพาธหนัก ก็ให้พิจารณาว่า ขณะนี้เรามีอาพาธหนักเต็มที่แล้ว หากว่าเราตายเพราะอาพาธนี้ ก็จะไม่มีโอกาสทำความเพียร เหตุนั้น เราควรรีบทำความเพียรในขณะที่เราอาพาธยังไม่ถึงซึ่งความตายนี้ แล้วรีบลงมือทำความเพียรทันที

          ในขณะนี้ ท่านทั้งหลายมาอยู่ในที่นี้ เรามีการฉันน้อย นอนน้อย แต่ทำความเพียรมาก ถือว่าเป็นโชคของเรา ในการที่มีโอกาสได้มาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเต็มที่ บุคคลอื่นภายนอกไม่ได้มายุ่งเกี่ยวกับเราเป็นส่วนมาก ดังนั้น ก็ขอให้รีบลงมือทำความเพียร

          อีกอย่างหนึ่ง ขอให้ท่านทั้งหลายพิจารณาอยู่เสมอว่า การมาอยู่ที่นี้ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เป็นเวลาของท่านทุกวินาที ครูบาอาจารย์และทางสำนักทุกคนทุกรูปมอบให้ท่านทั้งหลายหมดแล้ว เหมาะแก่การที่จะทำความเพียร ก็ขอให้ท่านทั้งหลายรีบทำความเพียร อย่าได้เสียใจในภายหลังว่าเรามาอยู่ที่นี้ กลับไปวัดไปบ้านของเราไม่ได้คุณสมบัติอันใดติดตัวไป ไม่ได้คุณวิเศษ ไม่ได้บรรลุสามัญผลใดๆ เมื่อกลับไปแล้วเราก็ไม่ได้ความภูมิใจความดีใจเท่าที่ควร

          แต่ถ้าเราได้บรรลุสามัญผลแม้เพียงขั้นปฐมมรรคเท่านั้น เราก็จะยังได้ความภูมิใจว่า ไม่เสียทีที่ได้มาประพฤติปฏิบัติ ถึงแม้จะไม่ได้ผลขั้นสูงสุด แต่ก็สามารถปิดประตูอบายภูมิได้แล้ว เราจะได้ดีใจ ภูมิใจ และก็จะได้เกิดความอุตสาหะมุมานะในการที่จะแนะนำพร่ำสอนลูกศิษย์ลูกหาญาติโยมต่อไป

          เหตุนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ขอให้มีสติสัมปชัญญะเสมอ อย่าให้เผลอไปตามอำนาจอกุศล คือ โลภะ โทสะ โมหะ ราคะ ตัณหา อุปาทาน เป็นต้นได้เลย

          เอาละ ท่านผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง วิริยสัมโพชฌงค์ มาบรรยายโดยสังเขปกถานี้ ก็คิดว่าเป็นเวลาสมควรแล้ว จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้.


[1]  (องฺ อฏฺฐกนิปาต. ๒๓/๕๘/๘๗)