สติสัมโพชฌงค์
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง สติสัมโพชฌงค์ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป
สติสัมโพชฌงค์ แปลว่า องค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้คือสติ หมายความว่า การที่ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจะได้บรรลุมรรคผลนิพพานนั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้คือสติ
เมื่อเราขาดสติเสียเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ก็ไม่สามารถบรรลุอริยมรรคอริยผลได้เลย เหตุนั้น สตินี้จึงเป็นสิ่งที่จะต้องทำให้เกิด ที่เกิดแล้วก็จำเป็นที่จะต้องรักษาไว้ ให้คงอยู่และให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป
สติจะเกิดได้ หรือที่เกิดแล้วจะเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปนั้นด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ๑) ทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคายด้วยเหตุ ๙ ประการ และ ๒) ทำให้มากๆ ด้วยสติ
โยนิโสมนสิการ การทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย ๙ ประการนั้น คือ
๑) อุบาย แปลว่า ช่องแห่งความสำเร็จ หมายความว่า ถ้าทำตามที่แนะนำ ต้องสำเร็จแน่นอน คือหนึ่งไม่มีสอง ดุจพระอาทิตย์ที่อุทัยขึ้นในเวลาเช้า แล้วอัสดงคตตกไปในเวลาเย็น ฉะนั้น
๒) อุบาย แปลว่า ช่องแห่งความคิด หมายความว่า ถ้าทำตามหลักวิชาการที่ครูบาอาจารย์แนะนำให้ จะเกิดความคิดแตกฉานจริงๆ สิ่งที่ไม่เคยคิดก็จะคิดขึ้นมา สิ่งที่ไม่รู้ก็จะรู้ขึ้นมา สิ่งที่ไม่เคยเห็นก็จะเห็นขึ้นมา เช่น เห็นอาการพองอาการยุบ คิดว่าเป็นรูปเป็นนาม เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นต้น
๓) อุบาย แปลว่า การทำให้ได้ผล หมายความว่า ถ้าทำโดยมีอุบายอันดี คือถูกหลักอันดีแล้ว ย่อมได้ผลเกิดขึ้นตามลำดับตลอดเวลา เช่น
ก. เกิดปัจจุบันธรรม คือ สติทันรูปนาม
ข. เกิดรูปนาม คือ มีปัญญารู้ว่า อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม
ค. เกิดพระไตรลักษณ์ คือ รู้เห็นไตรลักษณ์ได้ดี
ง. เกิดศีล เกิดสมาธิ เกิดปัญญา
จ. เกิดมรรค เกิดผล เกิดพระนิพพาน
๔. อุบาย แปลว่า กลศึกสงคราม กลรบพิชัยสงคราม หมายความว่า ผู้เจริญพระกัมมัฏฐานเป็นผู้เข้าสู่สงคราม เพื่อเอาชนะกิเลส ชนะตัวเอง ใครๆก็ตาม เมื่อเข้าสู่สงครามชั้นในคือการรบกับกิเลสนี้ ถ้าขาดหลักวิชาการแล้ว ก็ไม่สามารถสู้กับพญามารและเสนามารได้
เปรียบเหมือนนักรบในสงคราม ต้องชำนาญในสถานที่ ชำนาญในยุทธภูมิ ชำนาญในการใช้อาวุธ ต้องฝึกฝนในยุทธวิธีเป็นอย่างดีทุกวิถีทาง เพื่อจะเอาชนะข้าศึกให้ได้ ฉันใด ผู้ปฏิบัติธรรมก็ฉันนั้น ต้องต่อสู้กับกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดนานัปการ ผู้ที่จะต่อสู้ได้นั้นต้องเป็นผู้มีอุบายแยบคาย จึงจะสามารถเอาชนะกิเลสได้
อุบายนั้นคือ ให้มีสติมั่นอยู่กับสนามรบ แม้กระทั่งชีวิตก็ยอมเสียสละได้ ผู้ปฏิบัติต้องกล้าตายเหมือนดังสงครามจริงๆ อย่าให้ข้าศึกยึดสนามรบคือรูปนามได้ ผู้ปฏิบัติต้องมีสติสัมปชัญญะ กำหนดรูปนามให้ทันปัจจุบัน พยายามให้สติอยู่กับรูปนามตลอดเวลา อย่าปล่อยให้ออกจากแนวรบคือร่างกายอันยาววาหนาคืบได้เป็นดีที่สุด และก็ปลอดภัยที่สุด
๕. อุบาย แปลว่า ทำเลียบเคียง หมายความว่า ต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะให้กิเลสตามไม่ทัน เช่น เดินกำหนด นั่งกำหนด นอนกำหนด กำหนดอิริยาบถย่อย มีคู้ เหยียด ก้ม เงย เหลียวซ้าย แลขวา ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ นุ่งห่ม กิน ดื่ม เป็นต้น เราก็มีสติกำหนดทุกขณะ อย่างนี้เรียกว่า ทำอุบายเลียบเคียง เพื่อหาทางหลุดพ้นจากกิเลส เพื่อจะไม่ให้กิเลสตามทัน
๖. อุบาย แปลว่า แตกหัก หมายความว่า หาวิธีทำให้กิเลสแตกหัก คือหาวิธีละกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหาน ให้หมดไปจากขันธสันดานของตนได้อย่างเด็ดขาด จนไม่สามารถกำเริบขึ้นอีก
๗. อุบาย แปลว่า แรงกล้า หมายความว่า ผู้ปฏิบัติจะต้องใช้ความเพียรอย่างแรงกล้า เข้ารุกรานหักโหมกับกิเลส เพื่อยึดเอามรรค ผล นิพพานให้ได้ ขับไล่กิเลสน้อยใหญ่ให้หนีไปอย่างไม่มีวันกลับมาเกิดได้อีก
๘. อุบาย แปลว่า กลางๆ หมายความว่า ไม่หย่อนนักและไม่ตึงนัก ให้พอดีๆ ซึ่งเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือเดินสายกลาง จึงจะสามารถเอาชนะกิเลสได้
๙. อุบาย แปลว่า ให้ หมายความว่า ผู้ปฏิบัติจะต้องให้อินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธากับปัญญา วิริยะกับสมาธิ เท่าๆ กัน สม่ำเสมอกัน เมื่อสม่ำเสมอกันได้เมื่อใด เมื่อนั้นก็จะได้สิ่งที่ต้องการ คือ มรรค ผล นิพพาน อย่างแน่นอน ไม่ต้องสงสัย
คำว่า อุบาย แปลและหมายความได้ ๙ อย่าง ดังอธิบายมานี้
ส่วนการทำให้มากๆด้วยสตินั้น โดยอธิบายว่า ให้ผู้เจริญพระกัมมัฏฐานนั้น จงหมั่นทำ ขยันทำ ทำบ่อยๆ ทำไม่ขาดระยะ ทำให้ติดต่อกันไป เช่น เดินจงกรมแล้วนั่งกำหนด นอนกำหนด เป็นต้น อย่าเกียจคร้าน อย่าประมาท อย่ามัวแต่พูดคุย อย่ามัวแต่ห่วงสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่ จงรีบพยายามจนสุดความสามารถ อย่าปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์
หลักฐานประกอบในองค์ ๒ ประการนั้น มีปรากฏอยู่ในพระบาลีว่า
อตฺถิ ภิกฺขเว สติสมฺโพชฺฌงฺคฏฺฐานิยา ตตฺถ โยนิโสมนสิการพหุลีกาโร ฯเปฯ
เวปุลฺลาย ภาวนาย ปริปูริยา สํวตฺตนฺติ
แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งสติสัมโพชฌงค์มีอยู่ การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย และการกระทำให้มากในธรรมเหล่านั้น นี้นำมาซึ่งคุณอันประเสริฐ ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความเกิดขึ้นแห่งสติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น และเป็นไปพร้อมเพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความเต็มเปี่ยมยิ่งๆขึ้นแห่งสติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว
นอกจากนี้ ผู้ปฏิบัติต้องมีสติสัมปชัญญะในฐานะ ๗ ประการ
๑. มีสติสัมปชัญญะ ในการก้าวไปและถอยกลับ
๒. มีสติสัมปชัญญะ ในการเหลียวซ้ายแลขวา
๓. มีสติสัมปชัญญะ ในการคู้เข้าและเหยียดออก
๔. มีสติสัมปชัญญะ ในการถือนุ่งห่มเป็นต้น
๕. มีสติสัมปชัญญะ ในการกิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มรส
๖. มีสติสัมปชัญญะ ในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ
๗. มีสติสัมปชัญญะ ในการยืน เดิน นั่ง นอน พูดคุย เป็นต้น
นอกจากนี้ พึงเว้นจากบุคคลผู้มีสติหลงลืม มิได้เจริญวิปัสสนา ควรคบหาสมาคมกับคนที่มีสติมั่นคงในพระกัมมัฏฐาน และให้น้อมจิตไปในอิริยาบถทั้ง ๔ และทุกๆทวาร เมื่อผู้ปฏิบัติ นำองค์คุณที่กล่าวมานี้มาประพฤติปฏิบัติตามจนเกิดขึ้นมีขึ้นอย่างบริบูรณ์ดีแล้ว ก็ได้ชื่อว่ามีสติสัมโพชฌงค์เกิดขึ้นในขันธสันดานแห่งตนแล้ว สามารถที่จะได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน ตามสมควรแก่บุญวาสนาบารมีที่ตนได้สั่งสมอบรมมา ตัวอย่าง นางรูปนันทาเถรี มีเรื่องเล่าใว้ในธัมมปทัฏฐกถา
นางรูปนันทานี้ ออกบวชเพราะความรักในพระญาติ ไม่ใช่ออกบวชด้วยศรัทธา เพราะมีรูปโฉมอันวิไลนางจึงได้นามว่า รูปนันทา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นางชนบทกัลยาณี แปลว่านางงามในชนบท ความงามของนางหาผู้เปรียบมิได้ จึงเป็นเหตุให้หลงใหลในรูปโฉม ไม่กล้าเข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระบรมศาสดา ด้วยกลัวว่าพระองค์จะทรงตำหนิรูปของนาง จนกระทั่งวันหนึ่ง นางได้ยินคำสรรเสริญจากพวกภิกษุณีที่ไปฟังธรรมกลับมาว่า พระศาสดาแสดงธรรมได้ดีเหลือเกิน วันรุ่งขึ้น นางจึงแอบไปกับด้วยนางภิกษุณีทั้งหลายเพื่อจะฟังธรรม นั่งอยู่ไกลๆ ท้ายแถว ด้วยเกรงว่าพระบรมศาสดาทอดพระเนตรเห็นแล้วจะทรงติเตียน ฝ่ายพระบรมศาสดาทรงทราบวาระจิตของนางเช่นนั้น ขณะกำลังแสดงพระสัทธรรมเทศนา พระองค์จึงเนรมิตหญิงรูปงามคนหนึ่งถือพัดอยู่ข้างๆ พระองค์
นางรูปนันทาเห็นแล้วตกตะลึง คิดขึ้นในใจว่า โอ นางนี้มาจากไหน ช่างงามเหลือเกิน รู้สึกเลื่อมใสเป็นยิ่งนัก นึกละอายในใจตัวเองว่า ถ้าเราเปรียบกับนางนั้นแล้ว เรานี้ไม่ผิดอะไรกับกาดำ พระบรมศาสดา ในขณะที่เทศนาไปๆ ด้วยพุทธาภิสังขาร ก็ทรงบันดาลเปลี่ยนวัยหญิงรูปงามที่กำลังถวายงานพัดให้พระองค์อยู่นั้นให้แก่ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งล้มลง แล้วตายไปต่อหน้าต่อตา
ด้วยภาพนั้น ทำให้นางรูปนันทาภิกษุณีได้สติเกิดความสังเวชสลดใจ เป็นเหตุให้จิตใจของนางมุ่งต่อพระกัมมัฏฐาน พระศาสดาจึงตรัสคาถาเพื่อให้เป็นที่สบายแก่อัธยาศัยของนางว่า
นันทา เธอจงดูกายนี้ที่อาดูร ไม่สะอาด เปื่อยเน่า ไหลเข้าไหลออกอยู่เป็นนิจ ที่พาลชนเขาปรารถนากันนัก สรีระของเธอฉันใด สรีระของนางนี้ก็ฉันนั้น สรีระของนางนี้ฉันใด สรีระของเธอก็ฉันนั้น เธอจงดูธาตุทั้งหลาย โดยความเป็นของสูญ อย่ากลับมาสู่ภพนี้อีก เธอคลี่คลายความพอใจในภพเสียแล้ว จักเป็นผู้เข้าไปสงบเที่ยวไป
นางรูปนันทาส่งใจ ส่งญาณ ไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระโสดาบันบุคคล พระศาสดา ครั้นทรงทราบว่านางบรรลุโสดาปัตติผลเช่นนั้นแล้ว มีพุทธประสงค์จะทรงยกจิตของนางขึ้นสู่วิปัสสนา ให้นางบรรลุคุณสมบัติขั้นสูงสุดยอด จึงตรัสพระธรรมเทศนา สุญญตกัมมัฏฐาน ว่า
นันทา เธออย่าทำความเข้าใจว่าสาระแก่นสารในสรีระนี้มีอยู่ เพราะสาระแก่นสารในสรีระนี้แม้น้อยก็ไม่มี สรีระร่างกายนี้ อันกรรมยกกระดูก ๓๐๐ ท่อนขึ้น สร้างให้เป็นนครแห่งกระดูกทั้งหลาย แล้วตรัสพระคาถานี้อีกว่า สรีระอันกรรมทำให้เป็นนครแห่งกระดูก ฉาบด้วยเนื้อและโลหิต เป็นที่ตั้งลงแห่งชรา มานะ และ มักขะ เวลาจบพระสัทธรรมเทศนา นางรูปนันทาเถรีได้บรรลุอรหัตตผล
นี้แลท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย สตินี้เป็นอุปการะแก่ธรรมทั้งหลาย ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ คนขาดสติย่อมเป็นคนประมาท เหมือนอย่างนางรูปนันทา ในตอนแรกเป็นผู้ประมาทขาดสติ ปล่อยให้จิตใจหลงมัวเมาในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา มีการเข้าใจว่ารูปโฉมของตนงามเป็นต้น แต่ภายหลังกลับได้สติ เกิดธรรมสังเวชในรูปร่างกาย ปลงใจลงสู่พระไตรลักษณ์ ส่งจิตใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ผลสุดท้ายก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
เหตุนั้น ขอท่านครูบาอาจารย์ตลอดถึงท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย จงอย่าได้ประมาท อย่าปล่อยสติสัมปชัญญะให้เผลอไปตามกิเลสตัณหาและบาปอกุศล หมั่นพยายามมีสติสัมปชัญญะ กำหนดอิริยาบถน้อยใหญ่อยู่เสมอ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ขอให้มีสติสัมปชัญญะ กำหนดให้ทันปัจจุบัน
เมื่อใด สติสัมปชัญญะของเราสมบูรณ์เต็มที่แล้ว โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ก็จะมาประชุมพร้อมกัน เมื่อประชุมพร้อมกันแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้เกิดมัคควิถี คือหนทางที่จะดำเนินไปสู่อริยมรรคอริยผล พ้นจากกิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวง
เอาละ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง สติสัมโพชฌงค์ มาบรรยายถวายความรู้แก่ท่านทั้งหลายนี้ ก็คิดว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้.