การปฏิบัติธรรม
(วัดปัจฉิมวัน ๑๘ ม.ค. ๕๓)
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยเศียรเกล้า ขอโอกาสพระเถรานุเถระ ขอโอกาสคณะสงฆ์ ขอความเจริญในธรรมจงมีแก่ผู้สนใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมทุกท่าน วันนี้ก็ถือว่าเป็นวันประพฤติปฏิบัติธรรมวันที่ ๑ เพราะฉะนั้นก็ขอทำความเข้าใจกับญาติโยมผู้ที่ยังไม่เคยรับฟังธรรมะภาคปฏิบัติ
ขอให้ครูบาอาจารย์ผู้ดูแลสามเณร ได้มาดูสามเณรนั่งสมาธิ ให้สามเณรนั่งสมาธิฟัง แล้วก็ญาติโยมสาธุชนตลอดถึงคณะครูบาอาจารย์ ก็ให้นั่งสมาธิฟัง เรียกว่า สุสูสํ ลภเต ปญฺญํ ฟังด้วยดีก็เกิดปัญญา เพราะฉะนั้นก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายได้นั่งสมาธิฟังธรรม ตั้งสติไว้ที่หู กำหนดว่า “ได้ยินหนอ ได้ยินหนอ ได้ยินหนอ ได้ยินหนอ” เหมือนกับเรานั่งสมาธินั่นแหละ มือขวาทับมือซ้าย ขาขวาทับขาซ้าย ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติของเราให้มั่น หูข้างไหนของเราได้ยินเสียงชัดเจน เราก็เอาสติไว้ที่หูข้างนั้น กำหนดว่า “ได้ยินหนอ ๆ” ไม่ต้องปรุงแต่ง
วันนี้จะได้น้อมนำเอาธรรมะในภาคปฏิบัติ ประกอบการประพฤติปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมนั้น จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าบุคคลใดไม่รู้ข้อวัตรปฏิบัติ ไม่ได้ศึกษาวิชากรรมฐานจากครูบาอาจารย์ผู้รู้แจ้งแทงตลอด หรือจากคณะครูบาอาจารย์ผู้เคยผ่านการประพฤติปฏิบัติธรรมมาแล้ว การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นก็ถือว่ายาก จะเกิดมานาน อายุเป็น ๓๐ ปี ๔๐ ปี ๕๐ ปี หรือว่า ๖๐ ปี แต่ว่าไม่เคยเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ก็ไม่สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติถูกต้องได้
หรือว่าบุคคลที่มีความรู้มาก อย่างเช่นมีปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก จบดอคเตอร์ตั้งหลายสาขา แต่จะนำเอาความรู้เหล่านั้นมาประพฤติปฏิบัติธรรมให้รู้แจ้งแทงตลอดซึ่งอริยสัจจธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เพราะว่าความรู้ทางโลกกับความรู้ทางธรรมนั้นห่างกันยิ่งกว่าฟ้ากับดิน ฟ้ากับดินนี่เรายังมองเห็นกันว่าดวงดาวบนท้องฟ้า ดาวไก่น้อยเป็นอย่างไร ดาวไถเป็นอย่างไร แต่ว่าโลกิยธรรมกับโลกุตตรธรรมนั้นไกลกันมากกว่านั้น ไม่สามารถที่จะมองเห็นกันได้
เราจะเอาความรู้ทางโลกมาเปรียบเทียบกับความรู้ทางธรรมนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะว่างานคนละแขนง ช่างไม้ก็เป็นช่างไม้ ช่างปูนก็เป็นช่างปูน ช่างไม้จะมีความรู้(แบบ)ช่างปูนก็เป็นไปได้ยาก ช่างปูนจะมีความรู้ช่างไม้ก็เป็นไปได้ยาก เพราะว่าความถนัดไม่เหมือนกัน เหมือนพ่อค้ากับชาวนา เหมือนชาวสวนกับนักธุรกิจ นี่มันต่างกัน เพราะฉะนั้น วิชาแต่ละวิชาก็เป็นส่วนของแต่ละวิชา เพราะฉะนั้น ขอให้เราทั้งหลายผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมได้ตั้งจิตตั้งใจ การประพฤติปฏิบัติธรรมจะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก
แต่ถ้าเราได้ศึกษาวิชาความรู้กับคณะครูบาอาจารย์ผู้เคยประพฤติปฏิบัติผ่านมา เหมือนกับเคยเดินทางไปก่อน ย่อมรู้ล่วงหน้าว่าบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม ผู้ที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นจะผ่านอารมณ์อะไรบ้าง มีสภาวะไหนที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม ผู้ที่เคยผ่านการประพฤติปฏิบัติมาก่อนแล้วก็จะแนะนำพร่ำสอนบอกกล่าวตักเตือนบุคคลผู้มาประพฤติปฏิบัติใหม่ให้เดินไปถูกทาง
เหมือนกับโคผู้เป็นหัวหน้าฝูง เวลาเดินไปสู่ที่หากิน โคตัวที่เป็นหัวหน้าเดินไปไหน โคตัวที่เป็นลูกน้องก็เดินตาม แล้วก็ไม่หลงทาง อันนี้ฉันใด บุคคลผู้ที่เคยประพฤติปฏิบัติธรรมมาก่อน ก็พาบุคคลที่ประพฤติปฏิบัติธรรมตามหลังนั้นให้ถึงเส้นชัย ให้ได้ซึ่งสมาธิสมาบัติ ให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานเหมือนกัน
การประพฤติปฏิบัติธรรม ถึงจะยากแต่ถ้าเราได้มาประพฤติปฏิบัติธรรมกับคณะครูบาอาจารย์ผู้เคยประพฤติปฏิบัติมาก่อนก็จะทำให้เราเข้าใจสภาวะธรรมนั้นง่าย แล้วก็การประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าบุคคลใดไม่ถึงพร้อมด้วยบารมี คือบำเพ็ญบารมีไม่ครบไตรเหตุ คือบำเพ็ญบารมีมาน้อย มีแต่การให้ทาน มีแต่การรักษาศีล แต่การเจริญภาวนานั้นไม่อยากจะทำ เรียกว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมา จะเดินจงกรม จะนั่งภาวนานั้น คล้าย ๆ ว่ามันรำคาญเหลือเกิน กลุ้มอกกลุ้มใจเหลือเกิน ไม่อยากเดิน ไม่อยากนั่ง อันนี้เรียกว่าคนมีบารมีน้อย
เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรม คนที่มีบารมีน้อยนั่งไปก็มีอารมณ์ฟุ้งซ่าน รำคาญ เบื่อหน่าย ท้อแท้ เจ็บปวด ง่วงเหงาหาวนอน เซื่องซึม ต่าง ๆ นานา อันนี้เป็นเพราะอะไร ? เป็นเพราะบารมีน้อย แต่ถ้าบุคคลใดได้บำเพ็ญบารมีมามาก ได้สั่งสมอบรมบารมีมามาก เคยให้ทานมามาก เคยรักษาศีลมามาก เคยเจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานมามาก เวลามาประพฤติปฏิบัติธรรม เดินจงกรม นั่งภาวนา ขวาย่างหนอ ซ่ายย่างหนอ ไปนั่งภาวนาพองหนอ ยุบหนอ ได้สมาธิแล้ว บางครั้งเดินจงกรมรอบแรก ได้สมาธิในขณะที่เดินจงกรมครั้งแรกก็มี
บางท่านบางคนไม่เคยนั่งภาวนาเลย ไปนั่งภาวนา บริกรรมพุทโธ ๆ หยุบหนอ พองหนอ สามารถยังจิตให้เข้าถึงปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อย่างนี้ก็มี อันนี้เป็นเพราะอะไร ? เป็นเพราะว่าบารมีสั่งสมมาไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น การที่พวกเราทั้งหลายได้มาประพฤติปฏิบัติธรรมชั่วช้างพัดหู งูแลบลิ้น ไก่ตบปีก ก็ถือว่าเป็นการบำเพ็ญบารมี คุณงามความดีที่เราได้สร้างสมนี้แหละ จะเป็นพลวปัจจัยส่งเสริมให้เรานั้นได้บรรลุมรรคผลนิพพานในอนาคตกาลข้างหน้า
การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้ว จิตใจของเรายังแข็งกระด้างด้วยมานะทิฏฐิ ยังแข็งกระด้างด้วยความถือตัว หรือว่าแข็งกระด้างด้วยความไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน บางคนก็คิดว่าเรายังไม่แก่จะมาประพฤติปฏิบัติธรรมทำไม ขณะนี้เรากำลังทำธุรกิจ การเงินการทองกำลังเดินสะพัด เงินกำลังหาง่าย ทองกำลังไหลมาเทมา ในลักษณะทำนองนี้ ก็ไม่อยากจะมาประพฤติปฏิบัติธรรม ทีนี้ก็เวลามาประพฤติปฏิบัติธรรม ห่วงลูกห่วงหลาน ห่วงบ้านห่วงช่อง หรือว่ามาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ยังหลงสังขารของตัวเองอยู่ ยังหลงว่าร่างกายของเรายังสวย ร่างกายของเรายังงาม หน้าตายังหล่อเหลาเอาการอยู่ อะไรทำนองนี้ เวลามาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น จะประพฤติปฏิบัติธรรมได้ผลได้ยาก เพราะอะไร ? เพราะว่าจิตยังยึดถืออุปาทานอยู่ ยังมีความยึดมั่นถือมั่นอยู่ เพราะฉะนั้น การประพฤติปฏิบัติธรรมให้ได้ผล
ประการที่หนึ่งก็คือ ให้เราพิจารณาสังขารร่างกายของเรา ตั้งแต่พื้นเท้าถึงปลายผม จากปลายผมถึงพื้นเท้านั้น ก็ถือว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ร่างกายของเรานั้นเป็นก้อนของสัจจธรรม เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นไฟ เป็นลม ประสมประสานกัน มีใจครอง ก็เรียกว่าสังขาร สามมติว่าเป็นนายดำ นายแดง สมมติว่าเป็นนางนั้นนางนี้ คุณนั้นคุณนี้ อันนี้เป็นสมมติบัญญัติขึ้นมา
ร่างกายของเรานั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงตรัสว่าเป็นของยืมเขามา ยืมดิน ยืมน้ำ ยืมไฟ ยืมลม มาประสมประสานกัน ยืมจิตที่เกิดขึ้นมาด้วยอำนาจของบาปกรรมบุญกรรมตกแต่งมาให้เกิดปฏิสนธิในมนุสสภูมิ เรายืมเขามาเพียงชั่วครั้งชั่วคราว บางคนก็ยืมมา ๔ ปี ๕ ปี ตายไปก็มี บางคนยืมมาน้อย ตายในท้องของมารดาก็มี บางคนยืมมามาก กำลังเป็นสาว กำลังน่ารักน่าชัง พ่อแม่ทั้งหลายกำลังเอ็นดู ญาติทั้งหลายกำลังชม แต่ว่าที่ไหนได้ก็ลักตายไปก็มี
บางคู่ก็ภรรยากำลังมีท้องสามีก็ด่วนจากไป ลูกที่เกิดมาก็เป็นกำพร้าตั้งแต่ในท้อง อย่างนี้ก็มี บางคนบางท่านแต่งการแต่งงานกันแล้วก็ตายไป บางคนก็มีลูกสองลูกสามตายไป สี่สิบห้าสิบปีตายไป แล้วแต่ว่าบุคคลใดยืมมามากยืมมาน้อย เพราะฉะนั้น สังขารร่างกายของเรานั้น ท่านจึงให้เราพิจารณาว่า เออ มันเป็นของไม่เที่ยง มันเป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา เป็นของยืมเขามา ไม่มีใครที่เกิดขึ้นมาแล้วจะไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เป็นไปไม่มี
เวลามาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าจิตใจของเรานั้นข่มได้ยาก จิตใจของเรานั้นรวมได้ยาก จิตใจของเรายังฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไปตามอำนาจของรูป ของเสียง ของกลิ่น ของรส ของสัมผัส ของอารมณ์ต่าง ๆ นั้น ท่านให้เราพิจารณาอารมณ์ เรียกว่า “ปลงธรรมสังเวช” ถ้าเราปลงได้ จิตใจของเราก็จะปล่อยก็จะวาง จิตใจของเราก็จะว่าง จิตใจของเราก็จะสงบ จิตใจของเราก็จะสะอาด จิตใจของเราก็จะบริสุทธิ์ในที่สุด อันนี้เป็นลักษณะของการประพฤติปฏิบัติธรรม
การที่เราพิจารณาร่างกายนั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะว่าสังขารนั้น ไม่ว่าบุคคลใด จะเป็นคนหนุ่ม เป็นคนเฒ่าคนแก่ ก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายเหมือนกัน ไม่มีใครจะพ้นได้ จะเป็นยาจกหรือเป็นเศรษฐี เป็นเจ้าฟ้ามหากษัตริย์นอนอยู่ใต้ร่มเศวตฉัตรก็ตาม ก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายเหมือนกัน พระเจ้าจักรพรรดิมีจักรอันวิเศษ มีขอบเขตขัณฑสีมาเอามหาสมุทรทั้งสี่นั้นเป็นขอบเขตก็ยังต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย
เพราะฉะนั้น การพิจารณาอารมณ์ของความแก่เจ็บตายนี้จึงถือว่าเป็นอารมณ์ของกรรมฐานเบื้องต้น แม้แต่เทวดาก็ต้องจุติ แม้แต่พรหมก็ต้องเคลื่อน แม้แต่พระอริยสาวกทั้งหลายก็ต้องนิพพาน อันนี้เป็นธรรมดาของสังขารทั้งหลายทั้งปวง กล่าวไปถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีบารมีอันสูงส่ง ผู้มีฤทธิ์มีเดชไม่มีใครเปรียบปาน แต่ว่าพระองค์ก็ต้องปรินิพพาน เพราะอะไร ? เพราะว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นของไม่เที่ยง
เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรม เบื้องต้นนั้นเราจะต้องพิจารณาสังขารซะก่อน พิจารณาว่า เออ ร่างกายมันเป็นของไม่เที่ยง เรามีบุญแล้วหนอ เรามีบุญล้นฟ้าล้นดิน ที่เราได้มาประพฤติปฏิบัติธรรม จะเป็นการประพฤติปฏิบัติธรรมชั่วสองวันสามวันเจ็ดวัน ก็ถือว่าเป็นบุญของเราแล้ว เรียกว่าเราเกิดมาภพหนึ่งชาติหนึ่งเราได้ประพฤติปฏิบัติธรรม เรียกว่าเกิดมาพบพระพุทธศาสนา ไม่เสียชาติเกิด
เวลาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ท่านจึงให้เราพิจารณาสังขาร แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังตรัสเตือนให้ภิกษุทั้งหลายนั้นได้พิจารณาสังขาร ดังที่ท่านกล่าวไว้ในมหาปรินิพพานสูตรว่า ในสมัยหนึ่ง ใกล้ ๆ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน คือในพรรษาที่ ๔๕ องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ก็ทรงไปจำพรรษาที่เมืองไพสาลี ในวันหนึ่งพระองค์ประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา
ในขณะที่พระองค์ประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลานั้น พระองค์ก็ทรงปลงธรรมสังเวชปลงสังขาร แล้วก็ตรัสเรียกพระอานนท์มาว่า ดูก่อนอานนท์ เมืองไพสาลีนี้เป็นรัมมณียสถาน จะเป็นปาวารเจดีย์ก็ดี โคตมเจดีย์ก็ดี ถือว่าเป็นรัมมณียสถาน ผิว่า บุคคลใดอาศัยสถานที่อันเป็นรัมมณียสถานนี้ เจริญอิทธิบาทสี่ บุคคลนั้นอยากจะมีอายุอยู่ตลอดกัป หรือว่าเกินกัปหนึ่ง บุคคลนั้นก็สามารถที่จะทำได้สมความปรารถนา
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสในลักษณะอย่างนี้หนึ่งครั้งผ่านไป พระอานนท์ก็ยังไม่รู้ พระองค์ก็ตรัสครั้งที่สอง พระอานนท์ก็ยังไม่ทราบ พระองค์ตรัสครั้งที่สาม พระอานนท์ก็ยังไม่รู้แจ้งซึ่งเนื้อความที่พระองค์ทรงตรัส
หลังจากนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ เธอจงออกไปข้างนอก หาที่สงบสงัดเจริญกรรมฐานเถิด เราตถาคตจะอยู่ผู้เดียว ในเมื่อพระอานนท์นั้นออกจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป ผินหลังออกจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปแล้ว พญามารชื่อว่าท้าววสวัสดีมารก็เข้ามากราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ศาสนาของพระองค์ก็ตั้งมั่นดีแล้ว สาวกของพระองค์ก็เป็นผู้ที่มีความรู้แล้ว สามารถที่จะทรงพระศาสนาของพระองค์ไว้ได้แล้ว ขอพระองค์จงเสด็จดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานเถิด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงนิ่ง ท้าวพญามารก็กราบทูลถึงสามครั้ง
ครั้งที่สาม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนมาร อีกสามเดือน เราตถาคตจักปรินิพพาน มารได้ฟังดังนั้นก็กล่าวขึ้นมาว่า สาธุ แล้วก็อันตรธานหายไป อันนี้เป็นท้าวพญามารซึ่งทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เข้าสู่การปรินิพพาน เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า อีกสามเดือนจะปรินิพพาน แผ่นดินก็สะท้านสะเทือนหวั่นไหว ทำให้เขาสิเนรุ ขุนเขาทั้งหลายทั้งปวงนั้นสะเทือน มนุสสภูมิ เทวภูมิ ตลอดถึงพรหมภูมิ ตลอดถึงนรกไปถึงโลกันตมหานรกนั้นสะท้านสะเทือนหวั่นไหว
พระอานนท์ซึ่งเข้าไปในที่เร้นที่สงบสงัดก็ได้เห็นอาการสะท้านสะเทือนนั้นก็ออกมากราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เหตุอะไรหนอ แผ่นดินจึงสะท้านสะเทือนหวั่นไหวเช่นนี้ องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เลยตรัสเหตุ ๘ ประการ ว่าแผ่นดินสะท้านสะเทือนหวั่นไหวนั้นมีเหตุอะไรบ้าง นับตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขารเป็นต้น
เมื่อพระอานนท์ได้ทราบดังนั้นก็เกิดสติขึ้นมา แล้วก็กราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงทรงขันธ์อยู่ตลอดกาลนานเทอญ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ เธอจะมากล่าวในขณะนี้ไม่สมควรเลย เราตถาคตนั้นรับคำทูลของพญามารว่า อีกสามเดือนเราจักปรินิพพาน เมื่อพระองค์ทรงตรัสอย่างนั้น สงฆ์สาวกทั้งหลายทั้งปวงที่อยู่ในบริเวณนั้น ผู้เป็นปุถุชนก็เกิดความอาลัยอาวรณ์ เกิดความโศกเศร้าโศกา ส่วนผู้ที่เป็นอริยสงฆ์ เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี ก็ไม่สามารถที่จะกั้นน้ำตาไว้ได้ ส่วนผู้ที่เป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ ก็ปลงธรรมสังเวชว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นครูของมนุษย์และเทวดา ครูของพรหมทั้งหลาย ผู้มีผิวพรรณวรรณะเหมือนกับทองคำ ผู้มีสุรเสียงเหมือนกับเสียงพรหม ผู้มีความเมตตากรุณา ผู้มีความเอ็นดู ผู้เป็นดวงตาของโลก จะได้ปรินิพพานแล้ว
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นจิตใจของภิกษุทั้งหลายนั้นเกิดความสลดสังเวช เกิดความอาลัยอาวรณ์ พระองค์ก็ทรงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายนั้นเป็นของไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นแล้วก็มีความเสื่อมไปมีความดับไปเป็นธรรมดา พระองค์ตรัสว่า “ทหราปิ จะ ภิกขู” เป็นต้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลจะเป็นหนุ่มก็ตาม จะเป็นเด็กก็ตาม จะเป็นคนเฒ่าคนแก่ก็ตาม ก็ต้องตายด้วยกันทั้งนั้น บุคคลจะเป็นคนจน ถือกระเบื้องขอทานถือกะลาขอข้าว เป็นคนร่ำรวยเงินทองอยู่บนปราสาทเจ็ดชั้นเก้าชั้นสิบชั้นก็ตาม ก็ต้องถึงซึ่งความตาย เจ้าฟ้ามหากษัตริย์ พระอริยบุคคล พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้แต่เราตถาคตก็จะปรินิพพานเหมือนกัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารของเราตถาคตนั้นเหลือน้อยเต็มที อีกไม่ช้าไม่นานเราตถาคตก็จะจากพวกเธอเข้าสู่ปรินิพพาน
เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสดังนั้นแล้ว พระองค์ก็ทรงตรัสเป็นพระคาถาต่อไปอีกว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายจงตั้งอยู่ในความไม่ประมาทเถิด เธอทั้งหลายจงทำที่พึ่งแห่งตน เธอทั้งหลายจงรักษาจตุปาริสุทธิศีล เธอทั้งหลายจงเจริญสมถกรรมฐานวิปัสสนากรรมฐาน ผู้ใดประพฤติตามพระธรรมวินัย ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท บุคคลนั้นจะละชาติสงสารทำที่สุดแห่งทุกข์ได้”
อันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเตือนภิกษุในวันที่พระองค์ทรงปลงสังขารว่าอีกสามเดือนพระองค์จะปรินิพพาน ตอนที่พระองค์ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขณะนี้สังขารของเราเหลือน้อยเต็มที ไม่ช้าไม่นานเราตถาคตจะจากพวกเธอเข้าสู่ปรินิพพาน ในเวลาที่พระองค์ตรัสว่าสังขารของพระองค์เหลือน้อยเต็มที หมายความว่าสังขารของพระองค์นั้นแก่มาก เรียกว่าสังขารของพระองค์นั้นเปรียบเสมือนกับเกวียนที่ซ่อมด้วยไม้ไผ่ เกวียนที่ซ่อมด้วยไม้ไผ่นั้นจะขี่ไปได้อีกนานเท่าไหร่กันเชียว ไม่ช้าไม่นานก็ต้องผุต้องพัง ต้องหยุด ต้องจอด หรือว่าต้องถึงซึ่งความเป็นเกวียนร้างเกวียนพัง ร่างกายของเราก็เหมือนกัน ถึงเราจะซ่อมดีขนาดไหนก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถต้านทานความแก่ ไม่สามารถต้านทานโรคภัยไข้เจ็บได้ ในที่สุดก็ต้องถึงซึ่งความตาย
อันนี้เป็นคำแรกที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเตือน และพระองค์ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงตั้งอยู่ในความไม่ประมาทเถิด คือไม่ให้เราประมาทในวัย ในอายุ ในความไม่มีโรค ในความมั่งมีเงินทอง หรือว่าในหน้าที่การงาน อย่าเพลิดเพลินไปตามอารมณ์ของโลก นี่พระองค์ทรงตรัสไว้ เพราะว่าชีวิตของเรานั้นเป็นของไม่แน่นอน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า สิ่งที่บุคคลกำหนดไม่ได้มีอยู่ ๕ ประการ คือ
๑. ชีวิต กำหนดไม่ได้ว่าชีวิตของเราจะยืนยาวไปนานขนาดไหน จะยืนยาวไปอีกกี่วัน ยืนยาวไปอีกกี่เดือน ยืนยาวไปอีกกี่ปี หรือว่าหลาย ๆ ปีเราก็ไม่รู้ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เรากำหนดไม่ได้ว่าชีวิตของเราจะยืนยาวขนาดไหน นอกจากพระอรหันต์จึงจะกำหนดรู้วิถีชีวิตว่าชีวิตของตนเองจะจบสิ้นในเวลากี่ปี
๒. โรค เราก็ไม่สามารถที่จะกำหนดได้ ว่าโรคที่เกิดขึ้นมาในร่างกายของเรา เราจะตายด้วยโรคมะเร็ง หรือว่าเราจะตายด้วยโรคตับ หรือว่าเราจะตายด้วยโรคเอดส์ หรือว่าเราจะตายด้วยโรคไข้หวัดสองพันเก้าสองพันสิบตามที่เป็นข่าวมา อันนี้เราก็ไม่สามารถที่จะกำหนดได้ บุคคลทำกรรมเช่นใดย่อมได้รับผลเช่นนั้น เพราะฉะนั้นการตายจึงไม่สามารถที่จะกำหนดโรคได้ นอกจากบุคคลผู้ที่มีอนาคตังสญาณ มีญาณที่จะล่วงรู้อนาคตได้ จึงจะรับรู้ได้ว่าตนเองจะถึงซึ่งความตายด้วยเหตุอะไร
๓. เวลาตาย ก็ไม่สามารถที่จะกำหนดได้ว่าเราจะตายเวลาไหน เวลาเช้าเราจะตาย หรือว่าเวลาบ่าย หรือว่าเวลาค่ำ หรือว่าเวลาดึก หรือว่าก่อนที่จะสว่างเราจะตาย อันนี้เราไม่สามารถที่จะกล่าวได้หรือว่าจะกำหนดได้ เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า เวลาเช้านั้นคุยกัน นั่งสนทนาปราศรัยอยู่กับลูกกับหลานกับผัวกับเมีย แต่เวลาบ่ายออกไปทำงานถูกรถชนตายแล้ว หรือว่าเวลาบ่ายออกไปทำงานถูกเขายิงตายแล้ว หรือว่าเกิดโรคภัยไข้เจ็บกระทันหันตายขึ้นมา อันนี้เป็นลักษณะของการตาย เวลาตายนั้นเราจึงกำหนดไม่ได้ บางครั้งกินข้าวทานปลารับประทานอาหารร่วมกัน เวลากลางคืนคุยกันสนุกสนานหยอกเย้ากัน แต่ว่าตอนเช้ามาได้ข่าวว่าบุคคลนั้นตายแล้ว เพราะฉะนั้นความตายนั้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เวลาตายเราจึงกำหนดไม่ได้
๔. สถานที่ตายเราก็กำหนดไม่ได้ สถานที่ตาย บางคนเกิดที่ฝรั่งมาตายที่ประเทศไทย หรือว่าเกิดที่ยุโรป เกิดที่ลาว เกิดที่พม่า เกิดที่เวียดนาม มาตายรวมกัน เหมือนกับคลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นมา ชาวต่างชาติหลาย ๆ ชาติมาตายรวมกัน ทั้ง ๆ ที่เกิดคนละที่แต่ว่ามาตายรวมกัน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ? ก็เพราะว่าบุคคลเหล่านั้นเคยทำกรรมร่วมกัน ตามหลักของพระพุทธศาสนา บุคคลเหล่านั้นเคยทำกรรมร่วมกัน เหมือนกับเรื่องของพระเจ้าวิฑูฑภะ พระเจ้าวิฑูฑภะนั้นยกทัพไปฆ่าศากยบุตร คือตระกูลศากยะ คือตระกูลของพระพุทธเจ้า โกรธเคืองศากยตระกูลก็ยกทัพไปฆ่า ตระกูลของพระพุทธเจ้านั้น นับตั้งแต่พระเจ้ามหานามะ ซึ่งเป็นพระเจ้าลุงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารักษาศีลทั้งหมด ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่โกหก ไม่ประพฤติผิดประเพณีต่าง ๆ เรียกว่ามีศีลห้าบริสุทธิ์ แต่พระเจ้าวิฑูฑภะนั้นยกไปฆ่า ฆ่าแม้แต่เด็กที่ดื่มน้ำนม เด็กที่ดื่มน้ำนมอยู่ก็ฆ่า เรียกว่าฆ่าหมด จนเลือดไหลนองเป็นแม่น้ำเต็มบ้านเต็มเมือง
ขณะที่ฆ่าเจ้าศากยบุตรทั้งหมดแล้วก็ยกทัพกลับมา ขณะที่ยกทัพกลับมาก็มาพักอยู่ที่แม่น้ำใหญ่แห่งหนึ่ง ขณะที่พักอยู่ในแม่น้ำใหญ่แห่งหนึ่งนั้น บุคคลผู้ที่ไม่เคยทำบาปทำกรรมก็มานอน บางคนก็นอนอยู่บนฝั่งแม่น้ำ บางคนก็ลงไปนอนริมชายหาด แต่ถ้าบุคคลใดไม่เคยทำกรรม ก็ขึ้นจากชายหาดมานอนบนฝั่ง คนที่เคยทำกรรมนอนอยู่บนฝั่งก็ถูกมดถูกแมงถูกอารมณ์รบกวนก็ลงไปนอนในชายหาด กลางคืนห้วงน้ำใหญ่หลากมาพัดเอาบุคคลที่นอนอยู่ในหาดทรายนั้นจมไปในน้ำตายเป็นหมู่ อันนี้เป็นเพราะอะไร ? เป็นเพราะทำบาปทำบุญร่วมกัน เหมือนกับบุคคลที่ถูกสึนามินั่นแหละ เพราะฉะนั้นบุคคลไม่ควรประมาท อาจจะตายอยู่ในที่ไหนก็ได้ ไม่สามารถที่จะกำหนดได้
๕. คติที่เราจะไป คือเราตายแล้วเราจะไปเกิดในที่ไหนนั้น เราไม่สามารถที่จะกำหนดได้ นอกจากพระอริยบุคคล นับตั้งแต่พระโสดาบัน พระอริยบุคคลนั้น ไม่สามารถที่จะไปเกิดในอบายภูมิได้อีก ถ้าเป็นพระโสดาบันประเภทสัตตักขัตตุปรมะก็เกิดอีกเจ็ดชาติ(เป็นอย่างยิ่ง) ไม่เกินเจ็ดชาติก็ต้องปรินิพพาน สมฺโพธิปรายโน จะต้องได้บรรลุมรรคผลนิพพานแน่นอน ถ้าเป็นโกลังโกละ เรียกว่าประเภทกลาง ๆ เกิดอีกสองถึงหกชาติ ถ้าเป็นประเภทเอกพีชี คือมีพืชอีกครั้งเดียวก็เกิดอีกครั้งเดียว อาจจะมาเกิดเป็นมนุษย์แล้วได้บรรลุมรรคผลนิพพาน อาจจะไปเกิดบนสวรรค์แล้วได้บรรลุเป็นพระอรหันต์อยู่บนสวรรค์ หรือว่าได้ฌานสมาบัติก็ไปเกิดเป็นพรหมประเภทพระอริยบุคคลได้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ อันนี้เป็นคติของพระอริยบุคคล
ถ้าเป็นพระสกทาคามีก็เกิดอีกครั้งเดียว ถ้าเป็นพระอนาคามีก็ไปเกิดในสุทธาวาสพรหม อวิหา อตัปปา สุทัสสี สุทัสสา อกนิฏฐพรหม แล้วก็นิพพานอยู่บนโน้น ถ้าเป็นพระอรหันต์ก็นิพพานเลย อันนี้เป็นคติที่เที่ยงแท้ เพราะฉะนั้น บุคคลผู้ที่ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน คติคือหนทางที่จะไปข้างหน้านั้นจึงไม่แน่นอน บางคนทำบุญไว้มาก อย่างเช่นนางมัลลิกา นางมัลลิกานั้นทำบุญไว้มาก เรียกว่าทำอสทิสทาน ทานที่ไม่มีใครเกิน ทานที่ไม่มีใครเสมอ ทานที่ไม่มีใครยิ่งกว่า นางทำอสทิสทานถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญบารมี ๔ อสงขัยกับแสนมหากัป แต่จะได้รับอสทิสทานนั้น พระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ๆ นั้นจะได้รับอสทิสทานนั้นเพียงครั้งเดียว เรียกว่าเป็นทานที่เยี่ยม เป็นทานที่ยอด เป็นทานที่ประเสริฐ เป็นยอดของทาน เรียกว่าอสทิสทาน นางได้ทำถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ขณะที่นางได้ทำถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นแหละ นางก็ได้ทำความผิด คือนางเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล วันหนึ่งเข้าไปในที่อาบน้ำ ได้ทำสันถวะร่วมกับสุนัขตัวโปรดก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดบาปติดอยู่ในจิตในใจ ในที่สุดก่อนที่จะตายบาปตัวนี้แหละมันก็ปรากฏขึ้นมา เมื่อปรากฏขึ้นมา นางทำบุญกับพระพุทธเจ้า นางทำบุญกับพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ นางทำบุญกับพระอานนท์ กับพระอริยบุคคลทั้งหลายทั้งปวงคราวละห้าร้อย ๆ แต่บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงนั้นไม่สามารถต้านทานนางให้ได้ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ได้
นางตายแล้วเท้าของนางนั้นหย่อนลงไปในขุมนรก ๗ วัน ทำให้ได้รับความทุกข์ทรมานเป็นอย่างยิ่ง อันนี้เพราะอะไร ? เพราะว่าคติของบุคคลผู้ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพานนั้น ถึงจะทำบุญมากมายขนาดไหนก็ตาม ก็ถือว่าเป็นคติที่ไม่แน่นอน เป็นหนทางที่ยังไม่เที่ยงตรง เพราะฉะนั้นก็ขออย่าได้ประมาท เพราะฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงตั้งอยู่ในความไม่ประมาทเถิด
ประการที่สอง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงทำที่พึ่งแห่งตนเถิด คือให้เราทำที่พึ่งให้แก่ตนเอง อะไรเป็นที่พึ่งแก่ตน บางคนก็อาจจะว่าสามีเป็นที่พึ่งของฉัน หรือว่าภรรยาเป็นที่พึ่งของกระผม หรือว่าพ่อแม่เป็นที่พึ่งของกระผม บางคนก็ว่าทรัพย์สินเงินทองที่ตนเองหามาได้เป็นล้านเป็นหลาย ๆ ล้านเป็นที่พึ่ง บางคนก็บอกว่าเจ้าฟ้ามหากษัตริย์เป็นที่พึ่ง
แต่อะไรเป็นที่พึ่งที่แท้จริง พระพุทธเป็นที่พึ่ง พระธรรมเป็นที่พึ่ง จริงมั้ย ? พระสงฆ์เป็นที่พึ่งจริงไหม พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ไม่เป็นที่พึ่ง ถ้าเราไม่น้อมกาย วาจา ใจ ของเรามาระลึกนึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็เป็นที่พึ่งของเราไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราจงทำที่พึ่งของตน คือน้อมกาย วาจา ใจ ของตนมาประพฤติปฏิบัติธรรม อันนี้เรียกว่าเรามาทำที่พึ่งแห่งตน มากราบ มาไหว้ มาทำวัตร มารักษาศีล มาฟังเทศน์ฟังธรรม มาเจริญภาวนา อันนี้เรียกว่ามาทำที่พึ่งของตน บุญเป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ปุญฺญญฺเจ ปุริโส กริยา กยิราเถนํ ปุนปฺปุนํ
ตมฺหิ ฉนฺทํ กยิราถ สุโข ปญฺญสฺส อุจฺจโย.
ถ้าบุคคลพึงทำบุญไซร้ พึงทำบุญนั้นบ่อย ๆ พึงทำความพอใจ
ในบุญนั้น เพราะว่า การสั่งสมบุญ นำสุขมาให้.
ปุญฺญํ ชีวิตสํสยมฺหิ บุญนำความสุขมาให้เมื่อคราวสิ้นชีวิต
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า บุญนำสุขมาให้เมื่อคราวสิ้นชีวิต ถ้าบุคคลใดทำบุญไว้มาก ถึงชีวิตของเรา ถึงเราแก่ ถึงเราเจ็บ ถึงเรานอนป่วย ก็มีความสุข เหมือนธัมมิกะอุบาสก เรียกว่าเพลิดเพลินไปในธรรมะเหมือนกับอริยสาวกทั้งหลายยิ้มสู่ความตาย คือรู้ว่าเราจะตายในวันพรุ่ง รู้ว่าเราจะตายในขณะนี้เดี๋ยวนี้ แต่ว่าไม่สะทกสะท้าน ไม่สะเทือน ไม่หวั่นไหว เพราะอะไร ? เพราะว่า เรารู้แล้วว่า มรรคผลนิพพานเราได้บรรลุแล้ว ตายแล้วเราจะไม่ไปสู่อบายภูมิเด็ดขาด ตายแล้วเราจะได้เกิดอีกชาติหนึ่ง ตายแล้วเราจะไม่ได้เกิด เราจะไปสู่ภูมิพรหม เป็นต้น อันนี้เรียกว่าเราไม่สะทกสะท้านในเรื่องของความตาย เพราะอะไร เพราะว่า เราทำบุญไว้มาก เ
เวลามาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้เรียกว่าเรามาทำที่พึ่งแก่ตน ทาน เราให้มาพอสมควรหรือยัง รักษาศีล เรารักษามามากหรือยัง หรือว่าการเจริญสมถกรรมฐานวิปัสสนากรรมฐานนั้น เราเจริญมามากหรือยัง พอที่จะเป็นที่พึ่งของเราได้ไหม ที่พึ่งที่แท้จริงที่จะติดตามเราไปในสัมปรายภพเหมือนเงาติดตามตัว เราไปเกิดในภพหนึ่งชาติหนึ่งนั้นคืออะไร ก็คือบุญกุศล เราทำที่พึ่งคือบุญกุศลนี้มากน้อยเพียงพอหรือยัง เพราะฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอจงทำที่พึ่งแห่งตนเถิด
ประการที่สาม พระองค์ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงตั้งอยู่ในจตุปาริสุทธิศีลเถิด คือให้รักษาศีลประกอบด้วยองค์ ๔ คือ
๑. ปาฏิโมกขสังวร คือสำรวมในปาฏิโมกข์ คือพระภิกษุสงฆ์นั้นจะมีศีล ๒๒๗ ข้อ ส่วนภิกษุนีนั้นก็มีศีลสามร้อยกว่าข้อ เณรก็มีศีล ๑๐ ข้อ อุบาสกอุบาสิกาผู้รักษาศีล ๘ ข้อ ญาติโยมก็มีศีล ๕ ข้อ อันนี้ต้องรักษาศีลของตนเองให้ดี เรียกว่า ปาฏิโมกขสังวรนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหมายเอาเฉพาะภิกษุผู้มีศีล ๒๒๗ ข้อ แล้วก็นางภิกษุณีผู้มีศีลสามร้อยกว่าข้อ อันนี้พระองค์ทรงตรัสให้รักษาให้ดี อย่าประมาท ถ้าเราพลั้งพลาดด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นทุกกฎ ทุพภาษิต เราก็ปลงอาบัติ ถ้าเป็นปาจิตตีย์ก็ปลงอาบัติ ถ้าเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ เราก็ต้องไปเสียสละแล้วก็ปลงอาบัติ เสียสละไม่ตกเราก็ต้องต่อยต้องทำลาย เป็นต้น หรือว่าเราต้องอาบัติสังฆาทิเสส เราก็ต้องอยู่ปริวาสกรรม อันนี้เป็นลักษณะของผู้ที่สังวรระวังในปาฏิโมกข์
๒. อินทรีย์สังวร คือต้องสำรวมอินทรีย์ อินทรีย์คือความเป็นใหญ่ ตาเป็นใหญ่ในการดู หูเป็นใหญ่ในการฟัง ลิ้นเป็นใหญ่ในการลิ้มรส จมูกเป็นใหญ่ในการดม กายเป็นใหญ่ในการสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ใจของเราเป็นใหญ่ในการรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ อันนี้เป็นลักษณะของอินทรีย์เรียกว่าความเป็นใหญ่แต่ละอย่างไม่เหมือนกันมีอยู่ ๖ ประการ ท่านให้เราสำรวมอินทรีย์ ก็คือให้เราสำรวมตา สำรวมหู สำรวมจมูก ลิ้น กาย ใจ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์จากบาปธรรมทั้งหลายทั้งปวง อย่าให้บาปธรรมมันเกิดขึ้นในขณะที่ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสัมผัสอารมณ์ต่าง ๆ ตลอดถึงใจของเรารับรู้อารมณ์ต่าง ๆ อย่าให้เกิดอารมณ์หวั่นไหว เกิดความโกรธ ความโลภ ความหลง เกิดความชิงความชัง เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจเป็นต้น
อันนี้เป็นลักษณะของการสำรวมอินทรีย์ อย่างเช่นเรามาประพฤติปฏิบัติอยู่ด้วยกัน สามเณรก็เป็นวัยคะนอง ผู้ใหญ่ก็เป็นวัยคะนอง ผู้ใหญ่ที่มาจากที่อื่นก็ไม่รู้จักกันก็มาคุยกันสนทนาปราศรัยกัน ในลักษณะอย่างนี้ก็จะทำให้เรานั้นปล่อยอารมณ์ละการสำรวม จะเป็นผู้ใหญ่ก็ตาม จะเป็นคนเฒ่าคนแก่ จะเป็นพระเป็นเณร เป็นเด็ก เวลาประพฤติปฏิบัติธรรมต้องสำรวมด้วยกันทั้งนั้น เด็กก็สำรวมอย่างเด็ก ผู้ใหญ่ก็สำรวมอย่างผู้ใหญ่ เป็นพระเป็นเณรก็ต้องสำรวม เพราะการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นมีการสำรวมเป็นพื้นฐาน เหมือนกับการทำไร่ไถนาต้องมีการไถนาซะก่อน การสำรวมจึงเป็นพื้นฐานแห่งการประพฤติปฏิบัติธรรม ท่านจึงให้เราสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖
๓. สติสังวร สติสังวรคือให้เรามีสติ จะยืนจะเดินจะกินจะนั่งจะดื่มจะทำจะคิดจะทำกิจใด ๆ ให้เรามีสติกำหนดรู้ว่าเราพูดไปนั้นมันถูกต้องไหม เราพูดไปเราเคารพในพระพุทธไหม เราพูดไปเราเคารพในพระธรรมไหม เราพูดไปเราเคารพในพระสงฆ์ไหม เราพูดไปเราเคารพในผู้หลักผู้ใหญ่ผู้มีเถรานุภาพไหม เรากระทำทางกายทางวาจาทางใจนั้นมันถูกต้องไหม อันนี้เรียกว่าเราต้องมีสติสังวรระวัง เราคิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งสิ่งนั้นมันถูกต้องไหม เราต้องมีสติยับยั้งเพราะว่าต้องรู้เท่ารู้ทันรู้กันรู้แก้ต้องรู้แพ้รู้ชนะรู้อภัย อันนี้เป็นลักษณะของการประพฤติปฏิบัติธรรม
ถ้าเรามีสติแล้วเราก็รู้กันรู้แก้ อันนี้เป็นลักษณะของการประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้น การประพฤติปฏิบัติธรรมท่านให้เรายืนเดินนั่งนอนกินดื่มทำพูดคิดให้มีสติ ถ้าตราบใดเรามีสติ ท่านเรียกว่าเราประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ตราบนั้น เราจะนอนก็ชื่อว่านอนปฏิบัติ เราจะนั่งก็ชื่อว่าเรานั่งปฏิบัติ เราจะกินอยู่ เราจะฉันอยู่ เราจะดื่มน้ำปานะอยู่ก็ชื่อว่าปฏิบัติในขณะนั้น เพราะฉะนั้นเราจึงให้มีสติอยู่ตลอดเวลา สติ เตสํ นิวารณํ สติเป็นทำนพเครื่องป้องกันบาป ถ้าบุคคลใดมีสติบาปนั้นจะไม่มาเกิดขึ้นในจิตในใจของบุคคลนั้น อันนี้เป็นประการที่ ๓
๔. ญาณสังวร คือสังวรด้วยญาณ คือถ้าเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วเกิดญาณขึ้นมา ญาณกับฌานนั้นต่างกัน ฌาน แปลว่า เพ่ง หมายถึงเพ่งอารมณ์ดิ่งเข้าสู่ความสงบจมลึกลงไป จิตมันเบาสู่อารมณ์ลึกลงไปดิ่งลงไป ๆ ดับ เรียกว่าเข้าสู่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ดับไป อารมณ์ดับไป นี่เรียกว่าเพ่ง เรียกว่าฌาน แต่ว่าญาณ ญาณะ แปลว่าความรู้ ความรู้ในที่นี้หมายถึงวิปัสสนาญาณ ๑๖ ขั้น นับตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณ จนถึงปัจจเวกขณญาณ อันนี้เป็นลักษณะของญาณ ถ้าญาณเกิดขึ้นมาแล้วบุคคลนั้นจะมีความรู้ รู้บุญ รู้บาป รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย รู้สิ่งไหนควรสิ่งไหนไม่ควร เพราะฉะนั้นบุคคลที่มีญาณเกิดนั้นจึงสามารถที่จะเข้าใจเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เข้าใจบุญคุณของพ่อของแม่ เข้าใจว่าโลกนี้มีโลกหน้ามี บุญมีบาปมี การพูดการกระทำการคิดทุกอย่างเป็นเหตุของบาปของบุญด้วยกันทั้งนั้น นี่ ผู้ที่มีญาณจะมีความรู้ลักษณะอย่างนี้ ก็จะเว้นจากสิ่งที่เป็นบาปแล้วก็กระทำสิ่งที่เป็นบุญ เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า ญาณสังวร อันนี้เป็นคำเตือนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ประการที่ ๔ พระองค์ทรงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเจริญสมถกรรมฐานวิปัสสนากรรมฐาน ก็เหมือนกับพวกเราทั้งหลายกำลังประพฤติปฏิบัติธรรม การบริกรรมพองหนอ ยุบหนอ ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ ถูกทั้งสมถะ ถูกทั้งวิปัสสนา ถ้าบุคคลใดมีบารมีทางสมถะ บำเพ็ญสมถะมามาก เวลามาเดินจงกรมนั่งภาวนา ก็จะทำให้จิตของบุคคลนั้น อารมณ์ของบุคคลนั้นดิ่งลงไปสู่อารมณ์ของกรรมฐาน เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ไม่อยากจะให้เป็นมันก็เป็น เรียกว่ามันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยตามบุญบารมีของบุคคลนั้น ดิ่งลงไป ๆ เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อันนี้เรียกว่าบุคคลผู้มีบุญ
เมื่อบุคคลผู้มีบุญนั้นได้บรรลุฌานแล้ว ได้เข้าถึงฌานแล้ว ออกจากฌานมาจิตใจก็จะนิ่งสงบ ไม่มีความโกรธ ความโลภ ความหลง ถึงบุคคลนั้นจะเป็นราคจริต เป็นผู้มีราคะมาก เป็นโทสจริต มีโทสะมาก โมหจริต มีโมหะมาก สัทธาจริต มีศรัทธามาก มีจริตอย่างไรก็ตาม ขณะที่เข้าสู่ฌานแล้วออกจากฌานแล้ว จิตใจมันจะนิ่งดุจน้ำไม่กระเพื่อม สงบ นิ่ง อารมณ์ต่าง ๆ จะมากระทบไม่ได้ ในขณะนั้นบุคคลนั้นก็น้อมเอาจิตที่นิ่งนั่นแหละ พิจารณารูปนาม สังขาร ร่างกาย ว่าเป็นของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดปัญญาขึ้นมา แล้วก็อาศัยฌานที่ตนเองได้ประพฤติปฏิบัติธรรมได้นั้นแหละบรรลุมรรคผลนิพพาน เรียกว่าเป็นฌานวิมุติ เรียกว่าเป็นเจโตวิมุติ วิมุติด้วยฌานนั้นเป็นพื้นฐาน
แต่ถ้าบุคคลใดเคยเจริญวิปัสสนากรรมฐานมามาก เดินจงกรมนั่งภาวนาไปแล้วจิตใจมันก็ไม่สงบ บางครั้งก็ฟุ้งซ่าน บางครั้งก็รำคาญ บางครั้งก็เบื่อหน่าย บางครั้งก็ท้อแท้ บางครั้งก็อ่อนแอ บางครั้งก็ง่วงเหงาหาวนอน เซื่องซึมไปต่าง ๆ นานา อันนี้เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะว่าอารมณ์ของวิปัสสนามันปรากฏขึ้นมา เราต้องกำหนดความง่วงเหงาหาวนอน ความเซื่องซึม ความท้อแท้ เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ง่วงหนอ เซื่องซึมหนอ ขี้เกียจหนอ เป็นต้น เป็นอารมณ์ของกรรมฐาน อารมณ์ทั้งปวงที่เกิดขึ้นมาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นอารมณ์ของกรรมฐานหมด
ถ้าเราพิจารณาว่าอารมณ์ทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อารมณ์เหล่านี้เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา อารมณ์เหล่านี้เป็นของไม่แน่ไม่นอน เป็นของเกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไปเป็นธรรมดา ถ้าเราพิจารณาอย่างนี้ก็เป็นวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าบุคคลใดพิจารณาว่าง่วงหนอ ๆ ฟุ้งซ่านหนอ ๆ รำคาญหนอ ๆ ไปเรื่อย ๆ วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นมาตามลำดับ นับตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณ ปัจจยปริคคหญาณ สัมมสนญาณ อุทยัพยญาณ ภังคญาณ ภยตูปัฏฐานญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ อนุโลมญาณ โคตรภูญาณ มัคคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ ก็จะปรากฏขึ้นแก่บุคคลนั้น บุคคลนั้นก็ได้ชื่อว่าปัญญาวิมุติ เรียกว่าหลุดพ้นด้วยอำนาจของปัญญา เรียกว่าบรรลุมรรคผลด้วยอำนาจของปัญญา กำหนดว่าขี้เกียจหนอ ๆ แต่เห็นความเกิดดับของความขี้เกียจ ว่าความขี้เกียจมันเกิดขึ้นในจิตในใจ เกิดขึ้นแล้วก็ตั้งอยู่ดับไป ความง่วงเหงาหาวนอนก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมา อย่าท้ออย่าแท้ อย่าอ่อนไหวไปตามอารมณ์เหล่านี้ ให้แข็งใจกำหนด ไม่ช้าไม่นานเราก็สามารถที่จะผ่านพ้นไปได้ ดังนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าบุคคลใดประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยแล้ว บุคคลใดตั้งอยู่ในความไม่ประมาทแล้ว บุคคลนั้นจะละชาติสังสารทำที่สุดแห่งทุกข์ได้