ประโยชน์ของการปฏิบัติธรรม

ประโยชน์ของการปฏิบัติธรรม


          ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแม้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปนานแล้ว พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ด้วยเศียรเกล้า ขอโอกาสคณะสงฆ์ ขอโอกาสพระเถรานุเถระ ขอความเจริญในธรรมจงมีแก่เพื่อนสหธรรมิก ตลอดถึงผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทุกท่าน

          ก่อนอื่นที่จะได้ฟังพระสัทธรรมเทศนาประกอบการประพฤติปฏิบัติธรรม ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ได้นั่งสมาธิฟัง ญาติโยมทั้งหลายก็ขอให้นั่งสมาธิฟังเพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเราประพฤติปฏิบัติธรรมทุกอิริยาบถตั้งแต่ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทุกสิ่งทุกอย่างก็ถือว่าเป็นการประพฤติปฏิบัติด้วยกันทั้งนั้นเพียงแต่เปลี่ยนอิริยาบถ เพราะฉะนั้นก็ขอให้นั่งสมาธิฟังธรรม

          ญาติโยมทั้งหลายก็นั่งสมาธิฟังธรรม เอาขาขวาทับขาซ้ายมือขวาทับมือซ้ายตั้งกายของเราให้ตรงดำรงสติของเราให้ดี ตั้งสติไว้ที่หู เราได้ยินเสียงที่หูข้างใดชัดเจน เราก็กำหนดที่หูข้างนั้นกำหนดว่า “ได้ยินหนอๆ” หรือว่า “เสียงหนอๆ” คำใดคำหนึ่งตามที่เราถนัดจนกว่าจิตของเราจะรวมเป็นสมาธิ แต่พยายามจำให้ได้ว่าเราจะเข้าสมาธิไปตอนที่พระท่านเทศน์ไปถึงไหน แล้วจิตมันดับไปตรงไหนพยายามจำให้ได้ อันนี้เป็นหลักการของการฟังธรรม

          แต่ก่อนโน้นพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดพิชโสภารามท่านเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า ครั้งแต่ก่อนโน้นเราอ่านในพระธรรมบท อ่านในพระไตรปิฎกว่า พราหมณ์ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ มีโกณฑัญญะเป็นต้น ได้ฟังธรรมที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงเรื่องธรรมจักกัปปวัตตนสูตร แล้วได้บรรลุดวงตาเห็นธรรมอย่างไรหนอ หรือว่าพระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยบริวาร ๑๑ หมื่น ได้บรรลุดวงตาเห็นธรรมอย่างไรหนอ หรือว่าฟังธรรมแล้วสามารถได้บรรลุธรรมอย่างไร หรือว่าภัททวัคคีย์ทั้ง ๓๐ ไปตามหาหญิงแพศยาที่ไร่ฝ้าย ได้ฟังธรรมอนุปุพพิกถาขั้นต่ำก็ได้เป็นพระโสดาบัน ขั้นสูงก็ได้เป็นพระอนาคามี ฟังธรรมแล้วก็ได้บรรลุธรรมอย่างไร นี้พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านเกิดความสงสัยขึ้นมา

          เพราะในปัจจุบันนี้เราฟังธรรมไปด้วยแล้วเราสามารถที่จะยังผลของการประพฤติปฏิบัติธรรมให้เกิดขึ้นมาได้จริงหรือเปล่าหนอ ก็เกิดความสงสัยขึ้นมา ก็ตั้งคำถาม ท่านเล่าต่อไปว่าท่านได้ตั้งคำถาม เวลาจะนั่งสมาธิ เดินจงกรม นั่งภาวนามาแล้ว ท่านก็ได้อธิษฐานว่า “สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๑ ชั่วโมง พร้อมกันนี้ขอให้ข้าพเจ้าจงเข้าใจในคำว่า การฟังธรรมอย่างไรหนอ จึงได้บรรลุมรรคผลนิพพาน” แล้วก็นั่งสมาธิไป

          พอนั่งสมาธิไปๆ ท่านเกิดปัญญาขึ้นมาได้เข้าใจว่า ขณะที่เรานั่งสมาธิฟังธรรมนั้นเราก็ต้องมีสติกำหนดทันปัจจุบันธรรม หลังจากนั้นก็ได้นำมาขยายเผยแผ่ให้แก่พระภิกษุสงฆ์ สามเณร ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายได้เข้าใจในการฟังธรรม เพราะฉะนั้นการฟังธรรมนั้นเรียกว่า เราฟังด้วยดีก็ย่อมเกิดปัญญา ปัญญาขั้นต่ำ ขั้นกลาง จนถึงขั้นสูงสุดคือการบรรลุมรรคผลนิพพาน อันนี้เป็นการปรับความเข้าใจ

          ต่อไปก็จะขอพูดในเรื่องการประพฤติปฏิบัติธรรม คณะครูบาอาจารย์ ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายที่มาประพฤติปฏิบัติธรรม การประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ ญาติโยมคณะครูบาอาจารย์ได้ฟังการประพฤติปฏิบัติธรรม ว่าปฏิบัติธรรมอยู่ตรงโน้น ปฏิบัติธรรมอยู่ตรงนี้แต่ไม่เข้าใจการประพฤติปฏิบัติธรรมว่า การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นมีความหมายอย่างไร มีประโยชน์อย่างไร

          การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นมีประโยชน์เบื้องต่ำ ท่ามกลางจนถึงที่สุด ญาติโยมทั้งหลายได้มาบวชเป็นชีพราหมณ์ มาบวชเป็นแม่ชี บวชเป็นอุบาสิกา คณะครูบาอาจารย์ได้มาประพฤติปฏิบัติธรรมผ่อนคลายการบริหารคณะสงฆ์ มาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ก็ถือว่าเป็นการบรรเทาความทุกข์

          ญาติโยมทั้งหลายเวลาอยู่ทางโลกก็ต้องหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน อาบเหงื่อต่างน้ำ กลางคืนก็นอนคิด กลางคืนเป็นควัน กลางวันเป็นเปลว กลางคืนนอนคิดว่าพรุ่งนี้เราจะทำอะไรดีหนอ เราจะหาเงินโดยวิธีไหน พ่อค้าก็คิดอีกอย่างหนึ่ง ข้าราชการก็คิดอีกอย่างหนึ่ง ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวนก็คิดในการทำไร่ไถนา ในการทำสวน พอคิดดีแล้วตริตรองดีแล้ว กลางวันก็เป็นเปลว คือ กลางวันก็ทำงานหนักเอาเบาสู้ต่างๆ อันนี้เป็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน หรือว่าชาวโลกทั้งหลายทั้งปวง

          เพราะฉะนั้นเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ก็ถือว่าเราปล่อยวาง ละการงานทั้งหลายทั้งปวง ทำกายของเราให้สบาย ทำกายของเราให้เกิดความสุข อันนี้ก็ถือว่าเป็นผลของการประพฤติปฏิบัติธรรมในเบื้องต้นแล้ว

          การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเราจะบรรเทาทุกข์อย่างไร คือในขณะที่เรามาประพฤติปฏิบัติธรรมแต่ก่อนโน้นเราก็ถูกความโกรธครอบงำ ถูกความโลภครอบงำ ถูกความหลงครอบงำต่างๆ แต่เมื่อเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้ว คณะครูบาอาจารย์ให้เรากำหนดเวลาถูกความโกรธครอบงำ ท่านให้เรากำหนดว่า “โกรธหนอๆ” ความโกรธก็ไม่ท่วมทับจิตใจของเรา

          เวลาเราไม่พอใจ คณะครูบาอาจารย์พูดไม่ถูก อาหารที่รับประทานหรืออาหารที่ฉันไม่ถูกใจ เราก็กำหนด “ไม่พอใจหนอๆ” ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ความไม่พอใจหรือความทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิตในใจของเรานั้นมันหายไป หรือว่าขณะที่เรากำลังประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ได้คิดถึงอารมณ์ที่คนอื่นมาพูดให้เราไม่สบายใจแล้วก็เกิดความโกรธขึ้นมา เราก็กำหนดว่า “โกรธหนอๆ” จี้ลงไปที่ใจของเรา “โกรธหนอๆ” ความโกรธนั้นก็เบาลงไป หายลงไป อันนี้เรียกว่าบรรเทาความโกรธ บรรเทาความทุกข์

          หรือว่าขณะที่เราประพฤติปฏิบัติธรรมไปเกิดราคะขึ้นมาครอบงำจิตใจของเรา เราก็กำหนดว่า “ราคะหนอๆ” หรือว่าเกิดมานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทานต่างๆ เราก็กำหนดตามอารมณ์หรือว่าตามสภาวธรรมนั้นๆ อันนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงนั้นมันลดลง เบาลงจากจิตจากใจของเรา

          แล้วก็การประพฤติปฏิบัติธรรมของเรานั้น ท่านว่าเราประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อที่จะป้องกันความทุกข์ไม่ให้เกิดขึ้นมา ความทุกข์ที่เป็นบาปเก่าที่อยู่ในจิตในใจของเรา เราเคยทำบาปมาทุกคนเกิดขึ้นมาแล้วล้วนทำบาปด้วยกันทั้งนั้น จะเป็นบาปน้อยหรือว่าบาปมากก็แล้วแต่ บุคคลผู้เกิดขึ้นมาแล้วไม่เคยทำบาปนั้นไม่มี แต่ว่าบุคคลจะทำบาปมากหรือบาปน้อยนั้นแล้วแต่ว่า บุคคลนั้นจะมีสติมีปัญญา มีการละเว้นนั้นมากน้อยต่างกันอย่างไร

          เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ทำบาปแล้วก็ย่อมนึกถึงบาปที่ตนเองทำ เราเคยฆ่าสัตว์ เราเคยลักทรัพย์ เราเคยประพฤติผิดในกาม เราเคยพูดเท็จ พูดเพ้อเจ้อ พูดเหลวไหล เคยดื่มสุรา เคยหลอกลวงต้มตุ๋นอะไรต่างๆ เมื่อเราคิดถึงบาปแล้วจิตใจของเรามันก็เกิดความวิปปฏิสาร เกิดความเดือดร้อนขึ้นมา ขณะที่มันเกิดวิปปฏิสาร เกิดความเดือดร้อนใจขึ้นมาเราก็กำหนดลงไปที่ใจของเรา กำหนดลงไป “คิดหนอๆ” ลงไปในใจของเรา บาปเหล่านี้มันก็จะเริ่มเบาลงไปแล้วก็หายไป

          หรือว่าขณะที่เราประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ ถ้าเราเป็นพระเราก็อาจจะทำผิดศีล ทำผิดทุกกฎ ทำผิดปาจิตตีย์ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ หรือว่าทำผิดสังฆาทิเสส หรือว่าเราต้องอาบัติปราชิกในลักษณะอย่างนี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาในจิตในใจ

          ถ้าบุคคลใดต้องอาบัติปาจิตตีย์ก็ดี ทุกกฎก็ดี หรือว่าเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ หรือว่าสังฆาทิเสส อย่างที่คณะครูบาอาจารย์ที่ได้ประพฤติวัตรปฏิบัติธรรม ถ้าเรากำหนดว่า “คิดหนอๆ” ถ้ามันคิดถึงบาปเรากำหนดว่า “คิดหนอๆ” บาปนั้นมันก็ค่อยเบาลงไปหายลงไป ถ้าเราประพฤติปฏิบัติธรรมถึงวิปัสสนาญาณที่ ๔ ขณะที่เราคิดถึงบาปเรากำหนด “คิดหนอๆ” บาปนั้นมันก็จะระงับดับหายไป เรียกว่าบาปมันเบาลงไป เวลาเราคิดถึงทีหลังนั้นเราก็ไม่เกิดความวิปปฏิสาร ความเดือดร้อน บาปมันอ่อนลงไป

          เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนอกจากจะป้องกันบาปใหม่แล้วยังบรรเทาบาปเก่าที่มันอยู่ในจิตในใจของเรา ให้จิตใจของเรามันขาวขึ้น สะอาดขึ้น แล้วก็ประณีตขึ้น เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นจึงถือว่าเป็นการชำระล้างบาปเก่าที่อยู่ในจิตในใจของเรานั้น ให้สิ้นไป ให้เบาไป แล้วก็ให้หมดไปจากขันธสันดาน

          แล้วก็การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นท่านกล่าวว่า เป็นการประพฤติตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกว่าเป็นการประพฤติปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ แล้วก็ประพฤติตามอริยวงศ์ต่างๆ ที่เคยประพฤติปฏิบัติมาแล้ว พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์จะเป็นพระพุทธเจ้าชื่อว่า กกุสันโธ โกนาคมโน โคตโม ต่างๆ ก่อนที่ท่านจะได้บรรลุตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยมกว่ามนุษย์ เทวดา ทั้งหลายทั้งปวงนั้น ท่านก็ต้องประพฤติปฏิบัติธรรม

          เหมือนกับพระพุทธเจ้าของเราซึ่งเป็นปัญญาธิกะ ผู้ยิ่งด้วยปัญญา พระองค์ออกบวชตอนอายุได้ ๒๙ ปี เรียกว่า ๒๙ พรรษา ออกบวชแล้วก็แสวงหาโมกขธรรมอยู่ ๖ ปี อายุ ๓๕ ปี พระองค์ก็ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ด้วยการนั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายให้ตรงดำรงสติให้มั่นอยู่ที่โคนต้นศรีมหาโพธิ์ ที่ตำบลพุทธคยา เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย อันนี้ก็ถือว่าเป็นการประพฤติตามวงศ์

          เราทั้งหลายมาเดินจงกรม นั่งภาวนา มานั่งคู้บัลลังก์ ก็ถือว่าพวกเราทั้งหลายมาประพฤติปฏิบัติธรรมตามยุคลบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกว่าพวกเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมตามเบื้องยุคลบาทที่พระพุทธองค์ทรงปฏิบัติธรรมมาแล้ว

          เพราะว่าบุคคลที่ต้องการตรัสรู้ธรรม บุคคลนั้นต้องประพฤติปฏิบัติธรรม เราจะมีความรู้นักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก มีปริญญาตรี ปริญญาโท หรือว่าจบปริญญาเอก จบด็อกเตอร์หลายๆ สาขาก็ตาม ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติธรรม เดินจงกรม นั่งภาวนา กำหนดจิต กำหนดกรรมฐานแล้วเราไม่สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ถ้าเราไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพานเราก็ต้องมีความทุกข์เป็นธรรมดา ความโกรธ ความโลภ ความหลง มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน ต่างๆ มันก็เกิดขึ้นอยู่ในจิตในใจของเรา

          เพราะฉะนั้นพวกเราทั้งหลายมาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ ก็ถือว่ามาประพฤติปฏิบัติตามวงศ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็อริยวงศ์ทั้งหลายทั้งปวง พระอริยะทั้งหลายมีพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร พระกัสสปะ พระอนุรุทธะ พระอานนท์ ต่างๆ ก็ถือว่าท่านประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งนั้น

          พระโมคคัลลานะก็บวชได้ ๗ วันก็ได้เป็นพระอรหันต์ เรียกว่า เป็นปุถุชนอยู่ ๗ วัน วันที่ ๘ ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ พระสารีบุตรบวชมาแล้วได้ ๑๕ วัน ก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ อันนี้ก็ถือว่าเป็นผู้ที่มีบารมี เป็นการประพฤติปฏิบัติเพื่อที่จะบรรลุธรรม

          พวกเราทั้งหลายก็เหมือนกันมาประพฤติปฏิบัติธรรมในวันนี้ ก็เพื่อจะรู้แจ้งเห็นจริงในพระธรรมคำสั่งสอน

          แล้วก็การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นท่านยังถือว่าเป็นการบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการบูชาสูงสุด เราจะเอาดอกไม้ธูปเทียน เอาของหอมไปบูชา ก็ถือว่าเป็นการบูชาด้วยอามิสบูชา สิ่งเหล่านั้นก็ตั้งอยู่ไม่ได้นาน ดอกไม้ที่เราเอาไปบูชาไม่นานก็ต้องเหี่ยว ต้องเฉา ต้องแห้งไป หรือว่าเราจะเอาธูปเอาเทียนไปบูชา ไม่นานมันก็ต้องดับไป หรือว่าเราจะสร้างโบสถ์ สร้างวิหาร สร้างศาลาการเปรียญ สร้างวัด สร้างวา ถวายในพุทธศาสนา ก็ถือว่าเป็นการสร้างด้วยอามิสบูชา เรียกว่าเป็นการบูชาด้วยอามิสบูชา

          สิ่งเหล่านี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเวียนว่ายตายเกิดในมหรรณพภพสงสาร ไม่ว่าเราจะบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน ด้วยผ้าผ่อนแพรพรรณ ด้วยรัตนะแก้ว ๗ ประการ นพรัตน์แก้ว ๙ ประการ จะบูชาด้วยการสร้างโบสถ์ สร้างวิหารต่างๆ สิ่งเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเวียนว่ายตายเกิดในมหรรณพภพสงสาร เราตายแล้วเราก็จะได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ไปเกิดบนสวรรค์ ไปเกิดในสถานที่ที่เราปรารถนา พรั่งพร้อมไปด้วยรัตนะแก้ว ๗ ประการ นพรัตน์แก้ว ๙ ประการ เป็นการเวียนว่ายตายเกิดในมหรรณพภพสงสาร การเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์ร่ำไป เพราะฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์จึงไม่ทรงตรัส ในเรื่องอามิสบูชาว่าเป็นการบูชาอันสูงสุด

          ดังที่พระอานนท์ได้กราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในตอนที่พระองค์จะทรงปรินิพพาน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงตรัสว่า “ดูก่อน อานนท์ บุคคลใดจะเป็นอุบาสกก็ดี อุบาสิกาก็ดี เป็นภิกษุก็ดี เป็นภิกษุณีก็ดี ถ้าบุคคลใดได้ประพฤติปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่งแล้ว บุคคลนั้นชื่อว่าได้บูชาเรา ตถาคต ด้วยการบูชาอันสูงสุด” พระองค์ทรงตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตร

          แล้วก็การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นยังถือว่าเป็นการฝึกตน เพราะว่าบุคคลผู้ที่เกิดขึ้นมาแล้วล้วนมีกิเลสด้วยกันทั้งนั้น มีความโกรธ มีความโลภ มีความหลง มีความเห็นแก่ตัว หรือว่ามีทิฏฐิด้วยกันทั้งนั้น เมื่อบุคคลมีกิเลสซึ่งเป็นเชื้อแห่งความทุกข์ ยังต้องลำบากไม่อยากโกรธมันก็โกรธ ไม่อยากน้อยใจมันก็ต้องน้อยใจ ไม่อยากเสียใจมันก็ต้องเสียใจ ไม่อยากถูกความโศกเข้าครอบงำมันก็ต้องถูกความโศกเข้าครอบงำ ในเมื่อเราพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ก็ต้องถูกความโศกเข้าครอบงำเป็นธรรมดา

          เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงถือว่าเป็นสิ่งที่พวกเราทั้งหลายต้องมาฝึก มาฝน มาอบ มารม จึงสามารถที่จะผ่านพ้นสิ่งเหล่านั้นได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า เมื่อมีความเกิดก็ต้องมีวิธีแก้ไม่ให้เกิด เมื่อมีความแก่ก็ต้องมีวิธีแก้ไม่ให้แก่ เมื่อมีความเจ็บก็ต้องมีวิธีแก้ไม่ให้เจ็บ

          เมื่อมีความตายก็มีวิธีแก้ไม่ให้ตาย นี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงฉุกคิดขึ้นมา เมื่อมีเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องมีแก่มีเจ็บมีตาย สิ่งที่จะไม่ให้เกิดนั้นก็คือการถึงซึ่งพระนิพพาน แต่ว่าการถึงซึ่งมรรคผลนิพพานนั้นก็ต้องเป็นการบรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นมาด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรม การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นจึงถือว่าเป็นอุบายฝึกตน การฝึกฝนอบรมตนถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ เรียกว่าได้อะไรก็ไม่เท่ากับได้ตน ชนะอะไรก็ไม่เท่ากับชนะตน เพราะตัวตนเป็นที่เกิดแห่งสมบัติทั้งปวง

          เราได้เงินได้ทองได้สมบัติมากมายก็ไม่เท่ากับได้ตน เพราะว่าตัวตนนั้นเป็นที่เกิดแห่งสมบัติทั้งปวง เราต้องการมนุษย์สมบัติเราก็เอาร่างกายของเราไปหาเอา หาเงิน หาทอง ตามสติ ตามปัญญาของเรา เราอยากได้สวรรค์สมบัติเราก็เอากาย เอาวาจา เอาใจของเรานั้นไปทำบุญทำทานไหว้พระทำวัตรสวดมนต์ นี้ก็ถือว่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราไปเกิดในสวรรค์

          หรือว่าถ้าเราต้องการสมบัติที่เป็นพรหมโลก อยากไปเกิดเป็นพระพรหมอยู่บนสวรรค์ เป็นรูปพรหม อรูปพรหม เราต้องเอากาย วาจา ใจ ของเรานั้นไปเจริญสมถกรรมฐาน หรือว่าเอามาเจริญสมาธิจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ตายไปแล้วก็ต้องไปเกิดในรูปพรหม

          ถ้าเราเอาร่างกาย วาจา ใจ ของเรามาฝึกอรูปฌาน อากาสานัญจายตนฌาน วิญญานัญจายตนฌาน เป็นต้น ตายไปแล้วฌานไม่เสื่อมก็ต้องไปเกิดในอรูปฌาน อันนี้ถือว่าร่างกายของเรานั้นเป็นไม้กายสิทธิ์ เราปรารถนาสิ่งใดก็ปรารถนาได้ที่กาย วาจา ใจ ของเรานี้แหละ

          หรือว่าเราปรารถนาพระนิพพาน เราก็ต้องเอากาย วาจา ใจของเรานี้แหละมาเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เหมือนกับคณะครูบาอาจารย์ ญาติโยมมาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้แหละ เพราะว่าการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นถือว่าเป็นการเตรียมตัวก่อนตาย เพราะว่าบุคคลผู้เกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องตาย ไม่อยากตายก็ต้องตาย เมื่อตายแล้วเราก็ต้องไปสู่อำนาจของบุญและบาป

          ถ้าเราทำบาปไว้มากตายไปแล้วก็ต้องไปเกิดในนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เป็นธรรมดา ไม่อยากไปเกิดมันก็ต้องไปเกิด เหมือนกับเราอ่านในพระไตรปิฎกในพระธรรมบท บางครั้งเป็นพระราชา ตายไปแล้วก็ยังไปเกิดในนรก อย่างเช่นพระเจ้าอชาตศัตรูได้ทำปิตุฆาต คือ ได้ฆ่าบิดา คือพระเจ้าพิมพิสารซึ่งเป็นพระโสดาบัน ตายไปแล้วก็ไปเกิดในอเวจีมหานรก หมกไหม้อยู่ในนรกนั้นสิ้นกาลนาน

          หรือว่าบางครั้งบางคราวเป็นพระรักษาศีลบริสุทธิ์ดี แต่ว่าเมื่อประมาทยินดีในการบริโภคจีวรโดยขาดสติ เหมือนกับพระติสสะ ตายไปแล้วก็ยังไปเกิดเป็นเลน เกิดเป็นเลนอยู่ตั้ง ๗ วัน เพราะอะไร เพราะว่าขาดสติในการบริโภค ทั้งที่มีศีลบริสุทธิ์ดี มีการประพฤติดี แต่ก่อนที่จะตายนั้นมีจิตใจผูกพันอยู่กับจีวร ก็เลยตายไปเกิดเป็นเลนอยู่ในจีวรทั้ง ๗ วัน

          หรือพระนาค ชื่อว่า เอรกปัตต์ มีภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง เป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรม อยู่ตลอด ๒๐,๐๐๐ ปี มีศีลบริสุทธิ์ แต่ในขณะที่ล่องเรือไปก็นั่งอยู่ในเรือ มือก็เอาไปจับใบตะไคร้น้ำก็พัดเรือไปใบตะไคร้ก็ขาดติดมือไปไม่ได้ปลงอาบัติ พรากของเขียวไม่ได้ปลงอาบัติ ตายไปแล้วก็ไปเกิดเป็นนาคชื่อว่า เอรกปัตต์ อยู่สิ้นพุทธันดรหนึ่ง อันนี้เป็นบาปกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่บุคคลก่อนที่จะตายมีจิตใจจดจ่ออยู่กับสิ่งเหล่านั้น ตายไปแล้วก็ไปเกิดในที่ชักนำไป

          เพราะฉะนั้นการที่บุคคลทั้งหลายเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องตาย แต่ว่าถ้าเรานึกถึงอารมณ์ที่เป็นบาป ก็ไปสู่สถานที่ไม่ดีตามที่กล่าวมา แต่ถ้าบุคคลใดนึกถึงอารมณ์ที่เป็นบุญ พอเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมเราให้ทาน ถ้าเราตายไปแล้วเราก็ต้องไปเกิดในสวรรค์ เหมือนกับนางลาชเทพธิดา ได้ถวายข้าวตอกแก่พระมหากัสสปะที่ออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ ตายไปแล้วก็ไปเกิดบนสวรรค์ มีข้าวตอกที่เป็นทองคำห้อยย้อยอยู่บนวิมาน บุญกุศลที่เราให้ทานนั้นส่งผลให้เราไปเกิดในสวรรค์

          หรือว่าบุคคลผู้รักษาศีลบริสุทธิ์ เหมือนกับพวกพ่อค้าพาณิชย์ทั้ง ๗๐๐ เดินทางไปในมหาสมุทรเรืออัปปางลงแล้วก็เป็นผู้สมาทานศีลบริสุทธิ์ ตายไปแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ผู้เป็นอาจารย์ก็ได้วิมานอยู่ท่ามกลางและมีบริวารอยู่ล้อมรอบ อันนี้ก็ถือว่าเป็นอานิสงส์ของบุคคลผู้รักษาศีล

          แต่ว่าถ้าบุคคลใดเจริญสมถกรรมฐานตายไปแล้วก็ไปเกิดในพรหม เหมือนอาฬารดาบส และอุทกดาบส

          แต่ถ้าบุคคลใดได้มาเจริญวิปัสสนากรรมฐานเหมือนกับญาติโยมคณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายมาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ ก็ถือว่าเป็นหนทางที่จะให้ถึงซึ่งการบรรลุมรรคผลนิพพาน เป็นเอกมรรคโค หนทางอื่นไม่มี มีเส้นทางเดียวคือการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

          ถ้าบุคคลใดอยากจะบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐานอย่างเดียว เจริญสมถกรรมฐานโดยที่ไม่เจริญวิปัสสนากรรมฐานก็ไม่สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้

          แต่ว่าการเจริญวิปัสสนากรรมฐานก็คือกำหนดรูปนามให้เห็นทันปัจจุบันธรรม เห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของรูปของนามเราจะบริกรรม “พุทโธ” ก็ตาม เราจะบริกรรม “ยุบหนอ พองหนอ” ก็ตาม หรือเราบริกรรมอย่างไรๆ ก็ตาม แต่ถ้าขณะที่เราบริกรรมนั้นเรามีจิตใจสำเหนียก มีสติเห็นอาการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของรูปของนามด้วยก็ถือว่าเป็นการเจริญวิปัสสนากรรมฐานแล้ว

          ถ้าบุคคลใดกำหนดอยู่อย่างนี้ วิปัสสนาญาณเริ่มเกิดขึ้นมา นับตั้งแต่วิปัสสนาญาณที่ ๑ นามรูปปริเฉทญาณเกิดขึ้นมา วิปัสสนาญาณที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ เกิดขึ้นมาไล่ไปจนถึงวิปัสสนาญาณที่ ๑๒ อนุโลมญาณเกิดขึ้นมา วิปัสสนาญาณที่ ๑๓ โคตรภูญาณเกิดขึ้นมา แล้วก็มรรคญาณเกิดขึ้นมา ๑ ขณะจิต ผลจิตเกิดขึ้นมา ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง แล้วก็ปัจจเวกขณญาณเกิดขึ้นมาก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน อันนี้เป็นการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

          ถ้าบุคคลใดได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วจะไม่ไปสู่อบายภูมิ คือตายแล้วจะไม่ไปเกิดในนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดียรัจฉาน ถึงบุคคลนั้นจะทำบาปมามากมายขนาดไหนก็ตาม หรือว่าจะเคยฆ่าคนเหมือนองคุลิมาลฆ่าคนมาตั้ง ๙๙๙ คนก็ตาม เหมือนกับนายตัมพทาฐิกะ ที่ฆ่าคนมาเป็นพันพันคน แต่พอได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ตายแล้วก็ไม่ไปสู่อบายภูมิ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น หรือว่าบาป บุญไม่มี   

          ท่านอุปมาอุปไมยว่า บุคคลผู้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้วทำไมไม่ไปเกิดในอบายภูมิทั้งๆ ที่ทำบาปมามาก พระองค์ทรงตรัสว่ามีพระนิพพานนั้นเป็นที่รองรับ มีพระนิพพานนั้นเป็นที่ถึง มีพระนิพพานนั้นเป็นที่อาศัยเป็นที่พึ่ง เหมือนกับบุคคลผู้ที่ไปยืนอยู่บนสะพานแล้วก็ทิ้งก้อนหินลงไปในน้ำ ก้อนหินนั้นย่อมจมลงไปสู่ก้นของแม่น้ำฉันใด

          แต่ถ้าขณะที่เราทิ้งก้อนหินลงไปนั้นมีเรือมารองรับอยู่ ก้อนหินนั้นก็ตกลงไปที่เรือ ไม่ตกลงไปที่ก้นน้ำฉันใด พระนิพพานก็เป็นที่รองรับของบุคคลนั้น ไม่จมลงไปสู่อบายภูมิฉันนั้นเหมือนกัน

          เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมถ้าได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วก็ไม่ได้ไปสู่อบายภูมิ เราจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจอะไรก็ตามก็ถือว่าเราเป็นเนื้อนาบุญของโลก เราจะไปจำวัดอยู่ที่ใดก็ตามญาติโยมทำบุญทำทานกับเราก็ถือว่าเป็นเนื้อนาบุญของโลก เป็น อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยม

          เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมถึงจะลำบาก ถึงจะเจ็บ จะปวด เหนื่อยยาก ลำบากก็ถือว่าเราทำประโยชน์เพื่อเราด้วย เราทำประโยชน์เพื่อสังคมด้วย ทำประโยชน์เพื่อญาติเพื่อโยมทดแทนค่าข้าวค่าน้ำของญาติของโยมด้วย

          แต่ถ้าบุคคลใดประพฤติปฏิบัติธรรมจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดมรรคญาณรอบที่ ๒ ขึ้นมาก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลนั้นตายไปแล้วก็จะได้มาสู่ภพอีกเพียงครั้งเดียว เรียกว่า สกิทาคามี จะมาสู่ภพนั้นอีกครั้งเดียว จะมาสู่เรือนอีกครั้งเดียว มาสู่เรือนนั้นก็คือมาเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้งเดียว แล้วก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาน

          แต่ถ้าบุคคลใดประพฤติปฏิบัติธรรมสูงขึ้นไปอีก มีบารมีมากก็ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี ตายไปแล้วก็ไปเกิดในสุทธาวาสพรหม จะไม่มาสู่ความเป็นมนุษย์อีก จะไม่มาเกิดเป็นเทวดาทั้ง ๖ ชั้นอีก ตายแล้วก็จะไปเกิดในสุทธาวาสพรหม คือ อวิหา อตัปปา สุทัสสี สุทัสสา และอกนิฏฐพรหม จะไม่ไปเกิดในพรหมชั้นอื่นแล้วก็จะปรินิพพานอยู่ในพรหมทั้ง ๕ ชั้น ชั้นใดชั้นหนึ่ง

          แต่ถ้าบุคคลใดประพฤติปฏิบัติธรรมจนสูงขึ้นไปอีกจนได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ๔ ครั้ง ตายไปแล้วก็นิพพาน ไม่ได้มาเกิดในมนุษย์อีก ไม่ได้มาเกิดในสวรรค์อีก ไม่ได้มาเกิดเป็นพรหมอีก อยากจะเกิดอีกก็ไม่ได้เกิด ถ้าเราไม่อยากเกิด เมื่อมีเกิดแล้วก็มีแก่ มีเจ็บ มีตาย แต่ถ้าเราไม่เกิด ก็ไม่มีแก่ ไม่มีเจ็บ ไม่มีตาย เพราะฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์จึงทรงออกบวชเพื่อแสวงหาธรรม เพื่อความพ้นทุกข์ในจุดนี้

          เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมจึงถือว่าเป็นหนทางแห่งความพ้นทุกข์ วันนี้อาตมภาพได้กล่าวธรรมะมาก็ไม่สมบูรณ์ก็ขออภัยด้วย ต่อไปก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้กำหนดออก แล้วก็แผ่เมตตา.