ผู้เข้าถึงความไพบูลย์ในธรรม
ขอเจริญพรญาติโยมผู้ใคร่ในการประพฤติปฏิบัติธรรมทุกท่าน วันนี้ก็ถือว่าเป็นวันสุดท้ายที่กระผม หรือว่าอาตมาจะได้ขึ้นมาบรรยายธรรมประกอบการประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะพรุ่งนี้ก็จะเป็นวันที่ ๑๖ เป็นวันที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อ คือหลวงพ่อใหญ่ พระบวรปริยัติวิธาน จะได้มาสรุปการประพฤติปฏิบัติ คือจะมาแสดงแว่นธรรมโปรดญาติโปรดโยม โปรดคณะครูบาอาจารย์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นวันนี้ขอให้คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายตลอดถึงญาติโยมได้นั่งภาวนาฟังธรรม เป็นการฟังไปด้วย เป็นการปฏิบัติธรรมไปด้วย เพื่อที่จะยังการปฏิบัติของเรานั้นให้ได้ผล
เพราะการปฏิบัติธรรมนั้นไม่ใช่ว่าเพียงแต่การเดินจงกรมหรือว่าการนั่งภาวนาอย่างเดียว การปฏิบัติธรรมนั้นหมายถึงว่า เรายืน เราเดิน เรานั่ง เรานอน เรากิน เราดื่ม เราพูด เราคิด หรือว่าเราทำกิจอะไรๆ ทั้งหมดนั้นก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติด้วยกันทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าเราคู้ เราเหยียด เราก้ม เราเงย เรานุ่งสบง ห่มจีวร เราบิณฑบาตเดินหน้า ถอยหลัง ถ้าเรามีสติกำหนดอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา กิเลสความโกรธ ความโลภ ความหลง ไม่เข้าไปครอบงำจิตใจของเรา จิตใจของเราจะเป็นกลาง เมื่อจิตใจของเราเป็นกลาง สติของเราก็สามารถที่จะกำหนดทันปัจจุบันธรรมได้ เราก็จะมีการเพลิดเพลินในการประพฤติปฏิบัติธรรมไม่อยากหยุดจากการประพฤติปฏิบัติธรรม ๙ คืน ๑๐ วันนี้คล้ายๆ กับว่ามันแป๊บเดียว เพราะว่าเรามีความเพลินในการประพฤติปฏิบัติธรรม
แต่ถ้าผู้ใดไม่ขยันในการกำหนด จะเดินก็ไม่กำหนด จะนั่งก็ไม่กำหนด จะฟังธรรมก็ไม่ตั้งใจฟังธรรมหรือว่าเวลาฉันอาหารก็ดี อาบน้ำก็ดีไม่รู้จักกำหนด ในลักษณะอย่างนี้ก็เบื่อหน่ายในการปฏิบัติ เพราะว่าเราปฏิบัติธรรมแล้วปีติธรรมมันไม่เกิด คุณธรรมมันไม่เกิดมันก็เลยเกิดความเบื่อหน่าย เกิดความเบื่อความเซ็งขึ้นมา
เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเราต้องทำให้ถูกหลัก คือต้องกำหนดให้ทันปัจจุบันธรรม จึงจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดผลดีขึ้นมา ฉะนั้นคณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมจงตั้งใจฟัง เมื่อเราทำดีแล้วเราตั้งใจเต็มที่แล้ว มันไม่ประสบความสำเร็จนั้นก็ไม่มีใครมาติเราได้ มนุษย์ก็ติเราไม่ได้ เทวดาก็ติเราไม่ได้ พรหมก็ติเราไม่ได้ถ้าเราทำจนสุดความสามารถของเราแล้ว เพราะฉะนั้นขอให้ตั้งจิตตั้งใจนั่งภาวนาฟัง
วันนี้กระผมก็จะได้น้อมนำเอาธรรมะในเรื่องผู้เข้าถึงความไพบูลย์ในธรรมมาบรรยายประกอบการประพฤติปฏิบัติธรรมของท่านทั้งหลายต่อไป คำว่าผู้เข้าถึงความไพบูลย์ในธรรมนั้น มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ หน้าที่ ๔๘๑ ดำเนินตามความพระบาลีว่า “ฉหิ ภิกขเว ธมเมหิ สมนฺนาคโต ภิกขุ จิรสฺเสว มหตฺตํ เวปุลฺลํ ปาปุนาติ” ซึ่งแปลเป็นใจความว่า “ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร บุคคลเป็นผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นผู้เข้าถึงความไพบูลย์อันยิ่งใหญ่ในธรรมต่อกาลไม่นานเลย” ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน ธรรม ๖ ประการอย่างนี้คือ
อาโลกพหุโล เป็นผู้มากด้วยแสงสว่าง
โยคพหุโล เป็นผู้มากด้วยความเพียร
เวทพหุโล เป็นผู้มากด้วยปีติ
อสนฺตุฏฺฐิพหุโล เป็นผู้มากด้วยความไม่พอ
อนิกฺขิตฺตธุโร เป็นผู้มากด้วยความไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวง
อุตฺตริญฺจ ปตาเรติ คือพยายามก้าวหน้าต่อไปไม่ถอยหลัง
คุณธรรมทั้ง ๖ ประการนี้ ถ้าบุคคลใดมีอยู่ในขันธสันดานแล้ว บุคคลนั้นจะเป็นผู้เข้าถึงความไพบูลย์ในธรรมต่อกาลไม่นาน
ที่ว่าอาโลกพหุโล ที่ว่ามากด้วยแสงสว่างนั้นเป็นอย่างไร แสงสว่างในที่นี้หมายถึง ญาณ คือความรู้ ไม่ใช่แสงสว่างทางโลก เพราะแสงสว่างทางโลกจะเป็นแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ก็สว่างเฉพาะเวลากลางวัน แสงพระจันทร์ก็สว่างเฉพาะเวลากลางคืน แสงไฟนีออนก็สว่างเฉพาะที่เราเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้นแสงสว่างภายนอกนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสถึง แต่พระองค์ทรงมุ่งไปถึงแสงสว่างคือ ญาณ คือความรู้ อย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า “นตฺถิ ปญฺญาสมาอาภา” แสงสว่างเสมอด้วยปัญญานั้นไม่มี
เพราะว่าแสงสว่างทางปัญญานั้นย่อมสว่างทั้งเวลากลางวัน ย่อมสว่างทั้งเวลากลางคืน เรียกว่าสว่างจากอวิชชาคือความมืด สว่างจากความโง่ สว่างจากตัณหา สว่างจากมานะ ทิฏฐิ อุปาทานต่างๆ แล้วพระองค์ทรงตรัสว่า “ปญฺญา โลกสฺมิ ปชฺโชโต” ปัญญานั้นเป็นแสงสว่างในโลก แสงสว่างอย่างอื่นจะมาทัดเทียมแสงสว่างของปัญญานั้นไม่มี
เพราะฉะนั้นแสงสว่าง คือปัญญา คือญาณ คือความรู้นี้แหละ จึงเป็นแสงสว่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารถนาที่จะให้สาวกของพระองค์นั้นได้เข้าถึง แสงสว่างในความรู้นั้น ในทางพระพุทธศาสนานั้นแบ่งออกเป็น ๓ อย่างคือ
๑. ปริยัติญาณ คือสว่างด้วยการเรียนศึกษาปริยัติธรรม คือถ้าเราได้เรียนศึกษาปริยัติธรรม นักธรรมตรีโทเอก เรียนบาลี ได้เรียนอภิธรรม ได้เรียนพระวินัย เราก็ต้องมีความรู้ เมื่อมีความรู้แล้วจิตใจของเราก็ย่อมสว่าง รู้ว่าพระพุทธเจ้านั้นมีประวัติอย่างไร พระองค์ทรงตรัสรู้ธรรมที่ไหน พระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดพระอัครสาวก พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตรที่ไหน ได้บรรลุธรรมที่ไหน เรารู้ใจความธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นมีจิตใจสว่างไสว มีจิตใจที่เว้นจากบาปธรรมทั้งหลายทั้งปวงได้ เพราะอาศัยปริยัติธรรม
๒. ปฏิบัติญาณ คือญาณที่เกิดขึ้นมาจากการปฏิบัติธรรม เหมือนอย่างคณะครูบาอาจารย์ ญาติโยมทั้งหลายกำลังปฏิบัติธรรมอยู่นี้แหละ เรียกว่า ปฏิบัติญาณ คือเดินจงกรม นั่งภาวนา ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ กำหนดอาการพอง อาการยุบ อาการคู้ อาการเหยียด อาการก้ม อาการเงย อันนี้เรียกว่าเรากำลังทำปฏิบัติญาณอยู่
เมื่อเราปฏิบัติไปๆ เกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมาเรียกว่า นามรูปปริเฉทญาณ กำหนดรู้รูป รู้นาม อันนี้ถือว่าญาณเกิดขึ้นมาแล้ว หรือว่าเรากำหนดไปๆ เกิดญาณที่ ๒ ขึ้นมา เกิดญาณที่ ๓ ขึ้นมา เกิดปีติทั้ง ๕ ขึ้นมา แล้วก็เกิดอุปกิเลสทั้ง ๑๐ ประการ เราปฏิบัติถึงญาณที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ นี้ก็ยังถือว่าเป็นปฏิบัติญาณ คือความรู้ที่เกิดขึ้นมาจากการปฏิบัติ แต่ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน แต่เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นมาจากการปฏิบัติ
เรานั่งไปเกิดปีติ เกิดตัวโยก ตัวโอน ตัวเอน ตัวไหว หรือว่าเราเกิดนั่งไปเกิดนิมิตเห็นวิมานของสวรรค์ก็ดี เห็นคนเฒ่าคนแก่เอาข้าวมาให้กินก็ดี บางครั้งก็เห็นเด็กมาร้องไห้วิ่งไปวิ่งมาก็มี ตามที่ญาติโยมทั้งหลายเห็นมา ในลักษณะอย่างนี้ก็ถือว่าเป็นปฏิบัติญาณ ยังไม่ถือว่าเป็นปฏิเวธญาณ ยังไม่ถือว่าเป็นการแทงตลอด
๓. ปฏิเวธญาณ คือความรู้ที่เกิดขึ้นมาจากการแทงตลอด หมายเอาความรู้ที่เกิดขึ้นมาจากการแทงตลอดซึ่งอริยมรรค อริยผล หมายถึงญาณตั้งแต่ญาณที่ ๑๓, ๑๔, ๑๕ จนถึงญาณที่ ๑๖ เพราะว่าญาณที่ ๑ ถึงญาณที่ ๓ นี้เป็นวิถีเดียวกัน ถ้าญาณที่ ๑ เกิด ญาณที่ ๓ ก็ต้องเกิด ญาณที่ ๔ ญาณที่ ๕ นี้เป็นวิถีเดียวกัน ถ้าญาณที่ ๔ เกิด ญาณที่ ๕ ก็ต้องเกิด ญาณที่ ๖, ๗, ๘ นี้เป็นญาณในวิถีเดียวกัน ถ้าญาณที่ ๖ เกิด ญาณ ที่ ๗ ที่ ๘ ก็ต้องเกิด ญาณที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ เป็นญาณวิถีเดียวกัน ถ้าเราสอบอารมณ์ไปญาณที่ ๙ เกิด ญาณที่ ๑๐ ที่ ๑๑ มันก็ต้องเกิดขึ้นมา แต่ถ้าญาณที่ ๑๒ คืออนุโลมญาณเกิดขึ้นมา ญาณที่ ๑๒, ๑๓, ๑๔, ๑๕, ๑๖ นี้เป็นญาณวิถีเดียวกัน ถ้าญาณที่ ๑๒ เกิดก็ถึงญาณที่ ๑๖ ทันที
เพราะฉะนั้นการที่ท่านกล่าวว่า ปฏิเวธญาณนั้นก็หมายถึงญาณที่ ๑๒ ถึงญาณที่ ๑๖ คือนับตั้งแต่อนุโลมญาณจนไปถึงปฏิเวธญาณ การแทงตลอดซึ่งญาณ ๑๖ แต่ละครั้งนี้แหละเรียกว่าปฏิเวธญาณ
ถ้าบุคคลใดยังญาณ ๑๖ ให้เกิดขึ้นมาแล้ว บุคคลนั้นชื่อว่ามีแสงสว่างในใจ เป็นผู้มีแสงสว่างที่ไม่ขุ่นมัว เรียกว่าเป็นผู้มีแสงสว่างที่ไม่สามารถจะทำบาปทำกรรมที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปตกนรกได้ แต่ว่าบุคคลผู้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี หรือว่าพระอนาคามีก็อาจจะทำบาปได้ แต่บาปนั้นไม่เป็นบาปที่จะทำให้ตนเองนั้นตกนรก แต่เป็นบาปที่พอแก้ไขได้ เป็นบาปที่จะไม่ติดตามไปในภพน้อยภพใหญ่ให้ได้รับความทุกข์ทรมาน แต่เป็นบาปที่สามารถที่จะหักล้างหรือว่าแก้ไขได้
เพราะฉะนั้นการที่เรามาประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าบุคคลใดยังญาณ คือปฏิเวธญาณให้เกิดขึ้นมาแล้ว จิตใจของบุคคลนั้นก็จะระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีความเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้นอยู่อย่างไม่ง่อนแง่นไม่คลอนแคลน มีความศรัทธามีความเลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหว เรียกว่าเป็นอจลศรัทธา ทำอย่างไรๆ ก็ยังเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่
เหมือนกับที่เราฟังพระท่านกล่าวประจำว่านายสุปปพุทธกุฏฐินั้นแหละ ถึงตนเองจะเป็นโรคเรื้อนแต่เมื่อได้เข้าถึงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จะเอาเงินเอาทองมามากมายขนาดไหนก็ยังเคารพนับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่
เหมือนกับภรรยาของนายพราน ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันตั้งแต่อายุ ๑๖ ปี เวลานายพรานไปล่าเนื้อก็เอาหน้าไม้ให้บ้าง เอาบ่วงให้บ้าง เอาหลาว เอาแหลม เอาดาบ เอาหอกให้บ้าง แต่ขณะที่ยื่นดาบยื่นหอกให้ ยื่นไปเพราะคำที่นายพรานสั่ง ไม่ได้บอกสามีว่าท่านจงไปฆ่าปลา ว่าท่านจงไปฆ่าสัตว์ไม่ได้บอก
ภิกษุทั้งหลายเห็นอย่างนั้นก็เลยมากราบทูลพระพุทธเจ้าว่า นางได้บรรลุเป็นพระโสดาบันตั้งแต่อายุ ๑๖ ปี แต่ไปได้สามีเป็นนายพรานฆ่าสัตว์ ตอนเช้านางต้องแต่งเครื่องมือที่จะไปล่าสัตว์ ฆ่าสัตว์ให้แก่นายพรานทุกวันๆ อย่างนี้ก็แสดงว่าพระโสดาบันก็ยังยินดีต่อการฆ่าสัตว์สิ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า นางไม่มีจิตยินดี แต่นางทำไปเพราะเป็นคำสั่งของสามี เมื่อนางไม่ยินดีนางก็ไม่บาป
เปรียบเสมือนกับบุคคลผู้นำยาพิษไปด้วยมือ ขณะที่มือของบุคคลนั้นไม่มีแผล ยาพิษก็ไม่สามารถที่จะซึมไปทำร้ายร่างกายให้ได้รับความทุกข์ทรมาน หรือว่าความตายได้
แต่ถ้าบุคคลใดมีมือเป็นแผล เราเอายาพิษไปวางไว้ในมือ ยาพิษนั้นต้องซึมเข้าไปในแผลแล้วเราก็ถึงซึ่งแก่ความตาย ข้อนี้ฉันใดใจของนางนั้นไม่ประกอบไปด้วยกุศลธรรม ถึงจะยื่นหอกยื่นดาบไปให้ก็ไม่ได้ยื่นไปเพื่อที่จะให้สามีนั้นไปฆ่าสัตว์ เพราะฉะนั้นนางจึงไม่บาป
ฉะนั้นบุคคลผู้ที่เข้าถึงธรรมนั้นจะตกอยู่ในภาวะอย่างไรๆ ก็ไม่คิดที่จะทำการฆ่าสัตว์ เพราะฉะนั้นการที่เรามีจิตใจที่เข้าถึงพระธรรม คือญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือปฏิเวธญาณแล้วเราก็จะมีความสว่างไสวทั้งกลางวันกลางคืน เราเกิดภพหน้าชาติหน้ากิเลสที่เราละได้แล้วก็ละได้เลย เราเกิดอีกอย่างมากก็ ๗ ชาติเท่านั้น อันนี้ถือว่าเป็นปฏิเวธญาณ เป็นธรรมะข้อที่ ๑ เรียกว่า อาโลกพหุโล ผู้มากด้วยแสงสว่าง หมายถึงความรู้ประเภทที่ ๓ คือปฏิเวธญาณ
ประการที่ ๒ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า โยคพหุโล เป็นผู้มากด้วยความเพียร ความเพียรในที่นี้แบ่งออกเป็น ๒ ประการ คือความเพียรทางโลก และความเพียรทางธรรม
ความเพียรทางโลกหมายถึงว่า ความเพียรในการทำไร่ไถนา ในการค้าขาย ในการทำกสิกร ในการทำกสิกรรม ในการทำพาณิชย์ ในการทำธุรกิจต่างๆ ถ้าบุคคลใดมีความเพียร บุคคลนั้นก็จะกอบโกยเอาเงินเอาทอง เอาทรัพย์สินเงินทองได้ ถ้าบุคคลใดเป็นผู้ฉลาดก็สามารถที่จะหาเงินได้ง่าย อย่างเช่นหาเงินจากอัตภาพร่างกายของเรา
คือร่างกายของเราตั้งแต่พื้นเทาถึงปลายผม จากปลายผมถึงพื้นเท้านี้เป็นแหล่งหาเงินของคนทั้งนั้น อย่างเช่นเราหาเงินจากผม เป็นช่างตัดผมบ้าง เป็นช่างดัดผมบ้าง เป็นช่างโกนผมบ้าง เป็นผู้ที่ผลิตใบมีดโกนออกมาบ้าง เป็นผู้ประดิษฐ์แชมพูแฟซ่า ยาสระผมอะไรมาใช้สระผม เป็นผู้ผลิตครีมนวดยาย้อมผมอะไรต่างๆ แม้แต่หากินกับผมนี้ก็ถือว่าไม่รู้จักสิ้นสุดแล้ว เรียกว่าจะเอาเงินขนาดไหน ถ้าเป็นผู้ฉลาด บุคคลจะผลิตหวีก็ดี ผลิตเครื่องแต่งผมอะไรต่างๆ ก็ถือว่าเป็นหากินกับสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว เพราะฉะนั้นบุคคลที่มีความเพียรทางโลก ถ้ามีความเพียรหาอยู่หากินรู้จักประหยัด รู้จักอดออม ย่อมประสบความสำเร็จในทางโลก
แต่ถ้าบุคคลใดมีความเพียรทางธรรม ขยันรักษาศีล ขยันเข้าปริวาสกรรม ขยันทำวัตรสวดมนต์ ขยันการเจริญภาวนาเหมือนกับอย่างคณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายทำอยู่นี้ ก็จะประสบความสำเร็จในทางธรรม ความเพียรในทางธรรมนั้นองค์สมเด็จประทีปแก้วนั้นบอกไว้ ๔ ประการ คือ
ความเพียรที่ ๑ คือ เพียรระวังบาป คือเพียรระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้นมา หรือว่าสังวรปธาน คือเราต้องสำรวมระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้นมาในจิตในใจของเรา เราระวังอย่างไร คือ ขณะที่เราเดินจงกรม ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เรามีสติกำหนดรู้ให้ทันปัจจุบันนี้เรียกว่าเราระวังบาปแล้ว ไม่ให้เกิดขึ้นมาในจิตในใจของเราแล้ว ขณะที่เราเดินกำหนดอาการพองอาการยุบ เราก็กำหนดทันปัจจุบันธรรมนี้ก็เพราะว่าเราระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้นมาในจิตในใจของเรา
เพราะฉะนั้นเราปฏิบัติธรรมนั้นเพื่ออะไร เพื่อที่จะระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้นมาในจิตในใจของเรา ถ้าเรากำหนดทันปัจจุบันธรรมแล้วบาปก็จะไม่เกิดขึ้นมาในจิตในใจของเรา แต่ถ้าเราเผลอ คิดถึงอดีตบ้าง คิดถึงความโลภบ้าง คิดถึงอารมณ์ที่น่าใคร่น่าชม น่าชอบใจบ้าง เมื่อนั้นแหละบาปมันจะเกิดขึ้นมาในจิตในใจของเรา
เพราะฉะนั้นคณะครูบาอาจารย์ท่านให้เรากำหนดทันปัจจุบันธรรมตลอดเวลา แล้วบาปมันจะไม่เกิดขึ้นมาในจิตในใจของเรา ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงตรัสไว้ในภัทเทกรัตตสูตร ว่า
อตีตํ นานฺวาคเมยฺย นปฺปฏิกงฺเข อนาคตํ
ยทตีตมฺปหีนนฺตํ อปฺปตฺตญฺจ อนาคตํ
ปจฺจุปฺปนฺนญฺจ โย ธมฺมํ ตตฺถ ตตฺถ วิปสฺสติ.
ซึ่งแปลเป็นใจความว่า “บุคคลไม่ควรคิดถึงสิ่งที่ล่วงมาแล้ว ไม่ควรพะวงถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง เพราะสิ่งที่เป็นอดีตก็ล่วงมาแล้ว สิ่งที่เป็นอนาคตก็ยังไม่มาถึง ผู้ใดเป็นผู้รู้ปัจจุบันธรรมอยู่ บุคคลนั้นจะเป็นผู้รู้แจ้งในที่นั้นๆ ได้”
คือ ถ้าเรากำหนดให้ทันปัจจุบันธรรมอยู่ตลอดเวลา ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเกิดสมาธิ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปนาสมาธิ เกิดวิปัสสนาญาณ เกิดการรู้แจ้งในสถานที่นั้นๆ ได้
เพราะการรู้แจ้งเรื่องสมาธิก็ดี รู้แจ้งเรื่องบรรลุมรรคผลนิพพานก็ดีนั้น ไม่จำกัดอิริยาบถ จะยืนก็สามารถเข้าสมาธิได้ สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ จะนอนก็สามารถที่จะเข้าสมาธิได้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ จะนั่งก็สามารถเข้าสมาธิได้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ จะเดินก็สามารถเข้าสมาธิได้บรรลุมรรคผลนิพพานได้
ยกตัวอย่างพระอานนท์ พระอานนท์ทำความเพียรตลอดคืนยันรุ่งไม่สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพาน เกิดอาการจิตใจวางเฉยแต่ไม่ได้ท้อแท้ แต่ไม่ได้อ่อนแอ มีสติกำหนดทันปัจจุบันธรรมอยู่ ขณะที่ท่านวางเฉยแล้วก็คิดว่าจะไม่ได้บรรลุแล้ว คำตรัสของพระองค์นั้นคงจะไม่เป็นจริงแล้ว ก็เลยปล่อยการวางเฉย แต่ยังทันปัจจุบันธรรมอยู่ ยังไม่เลิกละการปฏิบัติธรรม ท่านก็กำหนด “เอนหนอๆ” “นอนหนอๆ” ลงไป
ขณะที่ท่านกำลังเอนนอน กำหนด “นอนหนอๆ” ลงไป หลังยังไม่ถึงพื้น ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาน เรียกว่าบรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ จะว่านอนก็ไม่ใช่ จะว่านั่งก็ไม่เชิง อยู่ในกึ่งอิริยาบถทั้ง ๔ ก็สามารถที่จะได้บรรลุธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมนั้น ท่านจึงให้สังวรระวังคือต้องกำหนดทันปัจจุบันธรรมตลอดเวลา
ความเพียรที่ ๒ คือ ปหานปธาน คือ ความเพียรที่จะละกิเลสที่เกิดขึ้นแล้วให้มันดับไป กิเลสที่มันเกิดขึ้นมาแล้ว หมายความว่ากิเลสที่เราเคยสั่งสมมาตั้งแต่ครั้งวันก่อนๆ เมื่อเรามาเดินจงกรม นั่งภาวนา มันก็คิดไปถึงราคะที่เราเคยรัก เคยชอบใจ พอใจมา เมื่อเราเดินจงกรมไปมันก็เกิดขึ้นมา เวลาเราเดินจงกรมไปเราคิดถึงความโกรธ หรือว่าอารมณ์ที่หงุดหงิดไม่พอใจมันก็เกิดขึ้นมา หรือว่าเราเดินจงกรมไปเราคิดถึงอารมณ์ที่น่าใคร่ น่าหลงเหมือนแต่ก่อน อารมณ์นั้นมันก็เกิดขึ้นมา หลงคิดไปก็เพลิน เดินจงกรมก็คิด นั่งภาวนาก็คิด ไม่มีสติกำหนดทันปัจจุบันธรรม อันนี้เรียกว่าเราประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อที่จะละบาปเก่าที่มันผุดขึ้นมา
การปฏิบัติธรรมในทางพระพุทธศาสนานี้สามารถที่จะล้างบาปได้ ผู้ใดเคยประพฤติปฏิบัติธรรมนานๆ จะรู้ว่ามันสามารถที่จะล้างบาปได้อย่างไร คือขณะที่เราทำความชั่ว เราอาจจะฆ่าไก่ก็ดี ฆ่าเป็ดก็ดี ฆ่าวัว ฆ่าควายก็ดี อาจจะไปข่มขืนชำเราบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาในสมัยเป็นโยมก็ดี เมื่อเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วบาปกรรมเหล่านั้นมันปรากฏขึ้นมา
เมื่อบาปกรรมเหล่านั้นมันปรากฏขึ้นมา เรากำหนด สมมุติว่าเราฆ่าวัว ฆ่าควายนี้ ภาพควายที่เราฆ่ามันปรากฏขึ้นมา จิตใจของเราก็จะสะดุ้งออกจากสมาธิ หรือว่าผ่อนออกจากสมาธิ คือจิตมันจะดิ่งลงๆๆ แล้วภาพควายมันปรากฏขึ้นมา จิตใจของเราก็เผยอออกมา เรียกว่าสมาธิมันคลายออกมา บางครั้งก็ออกไปเลย บางครั้งก็กำหนดลงไปอีก
แต่ถ้าเรากำหนดว่า “คิดหนอ” หรือว่า “รู้หนอ” ขณะที่เรากำหนดไปๆ ภาพของวัว ภาพของควายนั้นมันก็จะจางไปๆ อารมณ์ที่มันขัดขวางเรามันก็จะจางไป เมื่ออารมณ์ปรากฏขึ้นมาขัดขวางจางไป เรากำหนดไปเรื่อยๆ มันก็จางไปๆ ได้นาน บางครั้งเป็น ๒ วัน ๓ วัน พอเรานั่งภาวนาไปคราวนี้จิตใจมันดิ่งลงๆ ภาพของควายมันปรากฏขึ้นมา ใจของเรานั้นเฉยเลย คือมันไม่เดือดร้อน ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่ากรรมมันเบาลงไปแล้ว
หรือว่าเราฆ่าไก่ ฆ่าอะไรก็ดี หรือว่าเราทำบาปข่มขืนชำเราบุคคลอื่นมา ข่มเหงน้ำใจบุคคลอื่นมาอย่างนี้ เวลานั่งไปมันปรากฏภาพขึ้นมา เราก็กำหนด “คิดหนอ” “รู้หนอ” ที่ใจของเรา ภาพนั้นมันก็ค่อยๆ จางไปๆๆ คือบาปมันค่อยลดลงๆๆ ในที่สุดเรานั่งภาวนาไป ภาพนั้นมันปรากฏขึ้นมา จิตใจของเราเฉย ไม่เกิดความวิปปฏิสาร ไม่เดือดร้อน เรานั่งภาวนาไป จิตใจมันก็สงบ เป็นธรรมดา เหมือนกับว่าเราไม่เคยทำบาปมาอันนี้เป็นการล้างบาปในพระธรรมวินัย ครูบาอาจารย์ท่านใดที่ประพฤติปฏิบัติ ลองกำหนดดู เมื่อกำหนดดูแล้วจะรู้แก่ใจว่า สามารถที่จะละสิ่งเหล่านี้ได้จริง
เพราะฉะนั้นการที่เรามาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น เราจึงเพียรที่จะละกามวิตกที่มันปรากฏขึ้นมาในจิตในใจของเรา เราเพียรที่จะละพยาบาทวิตก คือความโกรธ ความผูกอาฆาตนั้นที่มันเกิดขึ้นมาในจิตในใจ เราเพียรที่จะละวิหิงสาวิตก คือความคิดที่จะเบียดเบียนสัตว์อื่น บุคคลอื่นให้ได้รับความเดือดร้อน สิ่งเหล่านี้แหละเป็นสิ่งที่กางกั้นคุณงามความดี กางกั้นศีล สมาธิ ปัญญา ไม่เกิดขึ้นมาในจิตในใจของเรา เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามกำหนด
ความเพียรที่ ๓ ในพุทธศาสนาก็คือ ภาวนาปธาน คือ เพียรบำเพ็ญคุณงามความดีให้เกิดให้มีขึ้นในขันธสันดาน ภาวนา ตัวนี้แปลว่า ทำให้เกิดก็ได้ แปลว่าทำให้มีก็ได้ ทำให้ปรากฏขึ้นก็ได้ มาจาก ภู ธาตุ เพราะฉะนั้นภาวนาปธานก็คือการทำบุญกุศลให้เกิดขึ้น ทำกุศลให้มีขึ้น ทำบุญกุศลให้ปรากฏขึ้น คือเราพยายามให้ทาน พยายามรักษาศีล พยายามไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ พยายามฟังธรรม พยายามเจริญสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐานอย่างที่เราทำนี้แหละ เรียกว่าเราเพียรทำกุศลให้เกิดขึ้นมาแล้ว บุคคลใดเคยให้ทานก็ให้ทานไป บุคคลใดเคยรักษาศีลก็รักษาศีลไป เรียกว่าพยายามทำบุญทุกวิถีทาง อันนี้เรียกว่า ภาวนาปธาน
ความเพียรที่ ๔ คือ อนุรักขนาปธาน คือเพียรรักษาบุญกุศลที่เราได้สั่งสมอบรมมาแล้วนั้นแหละให้คงไว้อยู่กับกายของเรา อยู่กับวาจาของเรา อยู่กับใจของเรา เราสมาทานศีลแล้วเราควรที่จะรักษาศีลให้ดี อย่าให้ขาดตกบกพร่อง อย่าให้ด่าง อย่าให้พร้อย แต่ถ้าเราทำศีลของเราให้ขาดตกบกพร่อง เราควรที่จะสมาทานศีลกับพระภิกษุสงฆ์ สามเณร สมาทานศีล ๕ สมาทานศีล ๘ แต่ถ้าเราเป็นสามเณรทำศีลขาดตกบกพร่อง เราก็ควรที่จะสมาทานศีลกับพระในวันพระ ในวันโกน
แต่ถ้าพระสงฆ์ทำศีลด่างพร้อยขาดตกบกพร่องก็ควรที่จะปลงอาบัติ หรือว่าทำผิดศีลในครุกรรมที่พอแก้ไขได้ ก็ต้องมาประพฤติวุฏฐานวิธี เข้าปริวาสกรรม ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นมีศีลบริสุทธิ์ สามารถที่จะบรรลุสมาธิ สมาบัติ บรรลุมรรคผลนิพพานได้
เพราะฉะนั้นเราต้องรักษาคุณงามความดี คือ รักษาศีลของเราให้ดี ถ้าเราเจริญกรรมฐานเราได้สมาธิ เราก็ควรรักษาสมาธิให้อยู่กับกาย ใจของเรา อย่าให้เสื่อม เราทำไปเรื่อยๆ หรือว่าเราได้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน วิปัสสนาญาณมันเกิดขึ้นมาแก่กล้าแล้ว เราต้องรักษาวิปัสสนาญาณของเราให้ดี อย่าให้เสื่อม พยายามสำรวม พยายามสังวร การประพฤติปฏิบัติธรรมของเราก็จะไม่เสื่อมจากการบรรลุมรรคผลนิพพาน
เพราะฉะนั้นเราต้องรักษาคุณงามความดีของเรา อันนี้เรียกว่าความเพียรในทางธรรม บุคคลผู้ขยัน เพียรในทางโลกก็ย่อมประสบผลเพียรในทางโลก บุคคลผู้ขยัน เพียรในทางธรรมก็ย่อมเจริญในทางธรรม ย่อมประสบความสำเร็จในทางธรรม เรื่องนี้มีอุทาหรณ์ของนางปุณณา
นางปุณณานั้นอยู่ในเมืองราชคฤห์ ในสมัยนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงประทับอยู่ที่ ภูเขาคิชฌกูฏ อยู่ในเมืองราชคฤห์ เป็นแว่นแคว้นของพระเจ้าพิมพิสาร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ภูเขาคิชฌกูฏนั้นเป็นภูเขาที่สูง ในเขตนั้นมีภูเขา ๕ ลูก
ในขณะนั้นภิกษุทั้งหลายที่มาจากทิศานุทิศก็มาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาจากเมืองสาวัตถี มาจากเมืองต่างๆ หัวเมืองน้อยใหญ่ เพื่อที่จะมากราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาฟังธรรม
เมื่อไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็แยกย้ายกันไปพักตามที่นอนของตนแล้วก็เจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ในสมัยนั้นภิกษุมาเฝ้าเป็นจำนวนมาก แล้วก็พระทัพพมัลลบุตรนั้นเป็นผู้แจกเสนาสนะ พระทัพพมัลลบุตรก็เนรมิตกายถือคบเพลิง เรียกว่าคนเดียวสามารถเนรมิตกายให้เป็นร้อยร้อยองค์ ร้อยร้อยรูปถือคบเพลิง ยังภูเขาคิชฌกูฏนั้นให้สว่างไสว
ในสมัยนั้นนางปุณณากำลังทำงานของตนเองอยู่ ขณะทำงานนางเหนื่อยนางก็ออกมาจากบ้านมานั่งตากลมแล้วก็มองไปทางภูเขาคิชฌกูฏ เห็นแสงไฟสว่างไสวเดินขวักไขว่ไปมา ก็คิดว่าพระคุณเจ้าของเรานั้นคงจะต้องได้เกิดอาพาธอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือว่าคงจะถูกงูกัด จึงเกิดความสับสนวุ่นวายแสงไฟกันเต็มไปหมดทั้งภูเขา
พอตอนเช้านางทำงานตลอดตั้งแต่หัวค่ำจนถึงโต้รุ่ง ตอนใกล้สว่างนั้นนางจึงเอารำไปผสมกับน้ำ เมื่อผสมกับน้ำแล้วก็เอาไปปิ้งเป็นก้อนใส่ชายพกแล้วก็เดินไปเพื่อที่จะตักน้ำมาใช้ ขณะที่นางกำลังถือพาชนะไปตักน้ำ นางก็เดินสวนทางกับพระพุทธเจ้า กับพระอานนท์ที่กำลังจะโคจรไปบิณฑบาต
ในขณะนั้นนางก็คิดดีใจขึ้นมาว่า ในวันก่อนๆ เราเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เราก็ไม่มีไทยธรรมบางวันเรามีไทยธรรมเราก็ไม่เห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่วันนี้เป็นโชคดีของเราแล้วหนอ ไทยธรรมของเราก็มี พระพุทธเจ้าก็มาปรากฏอยู่ข้างหน้าของเรานี้เอง ก็ได้เกิดความดีใจ เกิดความปราโมทย์รื่นเริงบันเทิงใจ แล้วก็เข้าไปกราบแทบเท้าขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็เอาขนมคือก้อนรำปิ้งไปใส่บาตรองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็กราบทูลว่า ”ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงทรงสงเคราะห์หม่อมฉัน ด้วยขนมอันเศร้าหมองนี้เถิด”
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงสงเคราะห์ด้วยการสั่งให้พระอานนท์นั้นปูลาดอาสนะแล้วพระองค์ก็ทรงประทับนั่ง ขณะที่พระองค์ทรงประทับนั่งนั้น นางปุณณาก็คิดว่าจะฉันให้เราจริงหรือเปล่าหนอ เพราะว่าอาหารนั้นเป็นอาหารที่เศร้าหมอง พระองค์ก็ทรงฉันภัตตาหารด้วยปิ้งรำของนางปุณณา ขณะที่ฉันเสร็จแล้วพระองค์ก็ทรงตรัสเรียกให้นางปุณณานั้นมาหาแล้วตรัสว่า “ดูก่อนปุณณา เธอไม่ได้นอนกลางคืนยันรุ่งก็เพราะว่า ความทุกข์ของตน ส่วนสาวกของเราไม่ได้นอน ก็เพราะว่าทำความเพียรตลอดคืนยันรุ่ง”
แล้วพระองค์ก็ทรงตรัสว่า “บุคคลผู้มีความเพียรเป็นผู้ตื่นอยู่ทุกเมื่อ ปฏิบัติธรรมตลอดคืนยันรุ่ง มีใจน้อมไปสู่พระนิพพาน อาสวะของบุคคลนั้นย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ ย่อมดับไป ย่อมสิ้นไป ย่อมสูญไป” เมื่อนางปุณณาได้ฟังธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดง ก็พิจารณาธรรมไปด้วย ตั้งใจทำไปด้วย “ได้ยินหนอๆๆ” ไปด้วย ในที่สุดก็ได้ดวงตาเห็นธรรมก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน
อันนี้ก็เพราะว่านางปุณณานั้นมีความเพียร ทำงานตลอดวันตลอดคืนแล้ว ก็ยังไปตักน้ำ ก็ยังปิ้งอาหาร แล้วก็ขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมก็ยังมีความเพียรที่จะต้องกำหนดตามพระธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนได้ดวงตาเห็นธรรมได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน อันนี้ก็แสดงว่าบุคคลผู้มีความเพียรทางโลกย่อมประสบผลสำเร็จทางโลก บุคคลผู้มีความเพียรทางธรรมก็ย่อมประสบผลสำเร็จทางธรรม เรียกว่าได้บรรลุมรรคผลนิพพาน อันนี้เป็นโยคพหุโล คือข้อที่ ๒
ข้อที่ ๓ คือ เวทพหุโล คือเป็นผู้มากด้วยปีติ คือ ความอิ่มใจ ความอิ่มใจนี้ก็แบ่งออกเป็น ๒ อย่างเหมือนกัน คือ ความอิ่มใจทางโลก กับความอิ่มใจทางธรรม
ความอิ่มใจทางโลกนี้หมายถึงว่า บุคคลผู้ที่อิ่มใจเพราะว่าไปค้าไปขายแล้วก็ได้กำไรดี ทำนาแล้วมันไม่แล้ง ก็เกิดความอิ่มใจ เกิดความดีใจ ได้ลูกดี ลูกไม่เกเร ก็เกิดความอิ่มใจ ได้สามีดีภรรยาดีก็เกิดความอิ่มใจดีใจ ได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งก็เกิดความอิ่มใจดีใจ ในลักษณะอย่างนี้เป็นต้น เรียกว่าความอิ่มใจในทางโลก
แต่ว่าความอิ่มใจในทางธรรมนั้นหมายความว่า ความอิ่มใจที่เกิดขึ้นมาจากการประพฤติปฏิบัติธรรม อย่างเช่น เราเดินจงกรม นั่งภาวนาไป เดินไป นั่งไป กำหนดไป จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดญาณที่ ๑ ขึ้นมา เกิดญาณที่ ๒ ขึ้นมา เกิดญาณที่ ๓ ขึ้นมา
เมื่อเราสามารถปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนเกิดวิปัสสนาญาณที่ ๓ ขึ้นมา เมื่อวิปัสสนาญาณที่ ๓ เกิดขึ้นมาแล้ว ปีติทั้ง ๕ มีขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อยมันก็จะเกิดขึ้นมา ปีติเล็กน้อยคือ เรานั่งไปเห็นแสงวับๆ แวมๆ เป็นสีเขียวบ้าง เป็นสีขาวบ้าง หรือว่าเรานั่งไปแล้วเกิดขนพอง เกิดน้ำตาไหล เกิดตัวเบา ตัวเย็น ตัวชา เกิดคันยุบยิบตามหน้าตามตา คันข้างซ้าย คันข้างขวา ในลักษณะอย่างนี้ก็ถือว่าเป็น ขุททกาปีติ
หรือว่า ขณิกาปีติ คือ ปีติชั่วขณะ คือเรานั่งไปขณิกาปีติเรานั่งไปๆ บางรูปบางท่านว่าตัวของเราใหญ่ขึ้นๆๆ หรือว่าเรานั่งไปๆๆ ฟันของเรามันยาวขึ้นๆๆ เรานั่งไปๆ เราบริกรรมแล้วท้องของเรามันพองใหญ่ขึ้นๆ เหมือนกับลูกโป่ง เหมือนเราเป่าลูกโป่ง หรือว่าเรานั่งไปๆๆ แล้วจมูกของเรามันยาวออกๆๆ เรานั่งไปๆ แล้วมือของเรามันใหญ่ขึ้นๆ
ผู้มาปฏิบัติธรรมใหม่ๆ เมื่อขณิกาปีติมันเกิดขึ้นมามันจะมีในลักษณะอย่างนี้ เกิดขึ้นในลักษณะอย่างนี้ขึ้นเป็นส่วนมาก
หรือว่าบุคคลที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วเกิดโอกกันติกาปีติ นั่งไปๆ ตัวโยก ตัวโคลง ตัวโอน ตัวเอน เหมือนกับว่าเราเอาไม้ไปปักไว้ในเลน ลมพัดมาก็โอนเอนไปมา ตัวโยกไปมา ตัวโอนตัวเอนไปมา บางคนก็สะบัดหน้า สะบัดหลัง คอหันไปข้างซ้าย หันไปข้างขวา บางคนก็มือดีดออกไปบ้าง บางครั้งก็เท้าดีดออกไปบ้าง บางครั้งก็นั่งอยู่ดีๆ มือดีดออกไป ทั้งมือทั้งเท้าดีดออกไป ในลักษณะอย่างนี้ถือว่าเป็นโอกกันติกาปีติที่มันปรากฏขึ้นมา แต่ว่ามันมีมากมายขอกล่าวมาโดยย่อ
หรือว่าบุคคลนั่งไปๆ มันเกิดอุพเพงคาปีติ ก็หมายถึงตัวของเรามันเบาขึ้นๆ คล้ายๆ กับว่าตัวของเรานั่งไปมันไม่ติดอยู่กับพื้น เหมือนกับว่าเราจะลอยจากพื้น คล้ายๆ กับว่าก้นของเราติดกับพื้นอยู่นิดหนึ่ง เหมือนกับว่าตัวของเรามันเบาเหมือนกันกับนุ่น ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่า อุพเพงคาปีติมันเกิดขึ้นมา แต่ว่าอุพเพงคาปีติจะเกิดขึ้นมาได้ต้องอาศัยสมาธิสูง บุคคลนั้นต้องมีสมาธิสูงอุพเพงคาปีติถึงจะเกิดขึ้นมา
บางครั้งนั่งไปๆ ตัวใหญ่ แต่ใหญ่มากกว่าโอกกันติกาปีติ บางคนก็ใหญ่ถึงครึ่งฟ้า เห็นเพื่อนกำลังเดินจงกรมอยู่ มองมาเห็นเพื่อนกำลังนั่งภาวนาอยู่ ในลักษณะอย่างนี้ ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมอาจจะเกิดขึ้นมา หรือว่านั่งไปๆ แล้วตัวมันลอยขึ้นไป แต่ไม่ใช่มันลอย ความรู้สึกมันลอยขึ้นไป ลอยขึ้นไปๆ แล้วก็มองไปตรงโน้นก็เห็น มองไปตรงนี้ก็เห็น บางครั้งก็มองว่าครูบาอาจารย์ที่กำลังสอนเรานี้กำลังทำอะไรอยู่ มองไป ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่า อุพเพงคาปีติมันเกิดขึ้นมา แต่เมื่อลืมตาแล้วเราก็นั่งอยู่เหมือนเดิม ในลักษณะอย่างนี้ถือว่าเป็น อุพเพงคาปีติ ปีติโลดโผน เพราะว่าสมาธิมันมาก
หรือว่าบุคคลผู้นั่งไปๆ แล้ว เกิดผรณาปีติขึ้นมา ผรณาปีติมันจะเกิดความซู่ซ่าขึ้นมา บางครั้งก็เกิดความสุขที่เกิดมาจากหัวใจแล้วก็แผ่ไปในร่างกายของเรา บางครั้งมันก็แผ่ไปทุกขุมขน คล้ายๆ ว่าความสุขนี้มันละเอียดอ่อน แผ่ไปทุกขุมขนของเรา บางครั้งก็เหมือนกับตัววิ่งเข้ามาที่ขาของเรา แล้วก็ผ่านลำตัวของเราก็ทะลุออกไป ตามหลังบ้าง ตามหัวบ้าง แล้วแต่สมาธิของเรา ถ้าสมาธิของเราว่าง มันก็จะปรากฏไปต่างๆ นาๆ อันนี้เป็นในลักษณะผรณาปีติ ปีติที่ซาบซ่าน
ถ้าบุคคลใดประพฤติปฏิบัติให้เกิดปีติในลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้วจะเกิดความอิ่มใจ ยิ้มอยู่คนเดียว จะเดินอยู่ก็ยิ้ม จะนั่งอยู่ก็ยิ้ม มีหน้าตาเบิกบาน ไม่อยากคุยกับใคร ร่าเริงเบิกบานคนเดียว ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่า ความอิ่มใจในธรรม อันนี้เป็นความอิ่มใจในขั้นต่ำ เรียกว่าอิ่มใจด้วยญาณที่ ๓
แต่ถ้าอิ่มใจในขั้นกลาง หรือว่าอิ่มใจด้วยการเจริญสมถกรรมฐานจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดฌานขึ้นมา เกิดรูปฌาน และอรูปฌานขึ้นมา ก็จะเกิดความอิ่มใจมาก อย่างเช่น ถ้าบุคคลใดเคยเจริญฌานจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้ปฐมฌาน ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความอิ่มใจขณะหนึ่ง แต่ถ้าได้ทุติยฌานหมดคำบริกรรมไป ไม่บริกรรม ความบริกรรมว่า “พองหนอ ยุบหนอ” ไม่มี คำว่า “พุทโธ” ไม่มี ความรู้สึกมันไม่มีมาก ในลักษณะอย่างนี้ เวลาเราออกมามันจะมีความสุขประมาณหนึ่ง
แต่ถ้าเรายังเจริญภาวนาเรื่อยไปจนตัวของเรามันแข็ง ตัวของเรามันเย็น เพราะความรู้สึกของเรามันนิดหน่อย เหลือนิดๆ หน่อยๆ คล้ายๆ กับตัวของเรามันถูกแช่ด้วยน้ำแข็ง แล้วก็เรากำหนดออกจากภาวนามา เมื่อเรากำหนดออกจากภาวนาคล้ายกับว่ามีปีติที่ละเอียดอ่อนมาก เกิดความเย็นใจ เกิดความสุขใจ เย็นพัดลมก็ไม่ใช่ เย็นแอร์ก็ไม่ใช่ ความเย็นนั้นเหมือนกับว่ามันเย็นไปทุกอณูขนของเรา เย็นไม่ใช่เย็นแบบอย่างอื่น คล้ายๆ กับว่าเย็นไปทั่วสรรพางค์กาย มีความเบา มีความเย็น มีความโปร่งอยู่ในตัว เรียกว่าตั้งแต่เกิดมาไม่เคยได้รับความสุขอย่างนั้นสักทีเลย ถ้าเราเป็นในลักษณะอย่างนี้ก็แสดงว่า บุคคลนั้นปฏิบัติถึงตติยฌานก็ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ความสุข ที่มันสุขมากที่สุดก็คือ สุขในตติยฌาน สุขที่เป็นโลกียะนี้สุขที่เป็นตติยฌานนี้ถือว่าสุขมากที่สุด อันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้
เพราะฉะนั้นความสุข ปีติที่มันเกิดขึ้นมาในตติยฌานนี้ จึงเป็นความสุขมาก แต่มันเป็นความสุขที่เจือด้วยกิเลส เป็นความสุขที่เจือด้วยอามิส ก็ถือว่าเป็นความสุขระดับกลาง แต่ความสุขระดับสูงก็คือ ความสุขที่เกิดขึ้นมาจากการบรรลุมรรคผลนิพพาน ทำไมถึงว่าความสุขที่มันเกิดขึ้นมาจากตติยฌาน คือ ความสุขระดับกลาง เพราะว่าขณะที่เราได้รับความสุขนั้นแหละ คือ ความสุขนั้นมันตั้งอยู่ไม่ได้นาน ตั้งอยู่เพียง ๓๐ นาที ตั้งอยู่เพียงชั่วโมงหนึ่ง เราก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติ คือเป็นอยู่อย่างไรเราก็อยู่อย่างนั้น เพราะว่าฌานสมาบัติมันเสื่อมได้
แต่ว่าการเจริญวิปัสสนากรรมฐานจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เมื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน ถ้าบุคคลนั้นเป็นประเภททุกขาปฏิปทา ก็อาจจะไม่ได้รับความสุขเท่าไร แต่ยังไม่สามารถเข้าผลสมาบัติได้ แต่ถ้าบุคคลใดเป็นประเภทสุขาปฏิปทาก็สามารถเข้าผลสมาบัติได้ เมื่อเข้าผลสมาบัติได้ก็เกิดความสุข จะยืนก็สุข จะนั่งก็สุข จะนอนก็สุข บางครั้งเราทำบาปความสุขมันก็ยังเกิดขึ้นมาในจิตในใจเลย เพราะว่ากิเลสที่เราละได้แล้ว มันก็ดับไปแล้ว กิเลสที่มันเหลืออยู่ใหม่ เราทำบาปไปที่ยังไม่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เป็นทุกขาปฏิปทาคือ ไม่สามารถติดตามเรา ให้ผลเราไป มันก็ไม่สามารถที่จะมาทำให้จิตใจของเราเศร้าหมองได้
ภิกษุบางรูปประพฤติปฏิบัติธรรมไปแล้วมันก็เกิดความสุข ทำอย่างไรมันก็สุข จะยืนมันก็สุข จะนั่งมันก็สุข ฉันข้าวมันก็สุข ไปถ่ายหนักถ่ายเบาอาบน้ำชำระร่างกายมันก็สุข ทำอย่างไรมันก็สุข ก็เลยคิดว่ามันสุขกิเลสหรือว่าสุขอะไรกันแน่
ภิกษุรูปนั้นก็เลยไปทดลอง ไปลองยืนตากแดดมันจะสุขไหม มันก็สุขเหมือนเดิม จิตใจอิ่มเอิบเหมือนเดิม อดอาหารมันก็สุขเหมือนเดิม กินอาหารอิ่มๆ ฉันอาหารอิ่มๆ มันก็สุขเหมือนเดิม ลองฉันอาหารที่ไม่ประเคนดูซิว่ามันจะสุขไหม มันก็สุขเหมือนเดิม ผ้าเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ไม่เสียสละลองดูมันสุขไหม มันก็สุขเหมือนเดิม ทดลองอย่างไรมันก็สุข เพราะว่ากิเลสที่เราละได้แล้วก็ถือว่าละได้เลย มันจะไม่กลับปรากฏขึ้นมาอีก
เพราะฉะนั้นความสุขอย่างนี้แหละองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า เป็นความสุขที่ถาวร เป็นความสุขที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารถนา เป็นความสุขที่ไม่เจือด้วยอามิส เพราะฉะนั้นความสุข คือความอิ่มใจในธรรมนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารถนา
ความสุขในการอิ่มใจในธรรมนี้มีเรื่องของพระเจ้ามหากัปปินะนั้นเป็นอุทาหรณ์ คือพระเจ้ามหากัปปินะนั้นเป็นพระราชาอยู่ในเมืองกุกกุฏวดี มีพระมเหสีชื่อว่าอโนชา ในขณะนั้นพระเจ้ามหากัปปินะเสด็จประพาสพระอุทยาน เป็นผู้ที่ใคร่ในการประพฤติปฏิบัติธรรมมากแต่ไม่มีคนสอนพระองค์ พระองค์ก็ทรงเสด็จไปประพาสอุทยาน
ในขณะนั้นมีพ่อค้าชาวเมืองสาวัตถี ผ่านไปทางเมืองกุกกุฏวดี ก็เลยไปถึงพระราชอุทยาน เมื่อไปถึงพระราชอุทยานแล้วพระเจ้ามหากัปปินะนั้นก็เลยตรัสให้พวกพ่อค้านั้นมาเฝ้าว่า ท่านมาจากเมืองไหน ข้าพระองค์มาจากเมืองสาวัตถี ท่านมาจากเมืองสาวัตถี ท่านมีข่าวดีอะไรจะมาบอกข้าพเจ้าหรือเปล่า บอกเราหรือเปล่า
พวกพ่อค้าที่มาจากเมืองสาวัตถีก็เลยพูดขึ้นว่า ”ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พุทฺโธ อุปฺปนฺโน พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว ในเมืองสาวัตถี” พอพูดคำว่า “พุทฺโธ อุปฺปนฺโนพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว” นั้นแหละ ด้วยบุญกุศลที่พระเจ้ามหากัปปินะนั้นบำเพ็ญมามาก ขนหัว ขนตัว ปีติมันก็ลุกขึ้นมาทันที เรียกว่าเกิดปีติซู่ขึ้นมาทันที เกิดปีติ ข่มปีติ ข่มแล้วข่มอีก ก็เลยถามว่า “ท่านพูดอะไรนะ” พ่อค้าก็บอกว่า “พุทฺโธ อุปฺปนฺโน” ขนตัวมันก็ลุกขึ้นมา ปีติมันก็เกิดขึ้นมา ก็เลยว่า “ท่านพูดอะไร” “พุทโธ อุปปันโน” พอครั้งที่สามแล้วก็ยกมืออนุโมทนาสาธุการแล้วก็พระราชทานทรัพย์ให้แก่พ่อค้าตั้ง ๑๐๐,๐๐๐ กหาปณะ เลยถามพ่อค้าว่า “นอกจาก พุทฺโธ อุปฺปนฺโน พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาแล้ว มีอะไรอีกหรือ”
พ่อค้าก็เลยบอกว่า “ธมฺโม อุปฺปนฺโน พระธรรมอุบัติขึ้นแล้ว ที่เมืองสาวัตถี” เกิดปีติขึ้นมาอีก ข่มปีติอยู่ถึง ๓ ครั้ง แล้วก็พระราชทานทรัพย์ตั้ง ๑๐๐,๐๐๐ ให้แก่พ่อค้า แล้วก็ถามว่า “มีข่าวดีอะไรอีกไหม” พ่อค้าก็ว่า “สงฺโฆ อุปฺปนฺโน พระสงฆ์อุบัติขึ้นแล้ว ในเมืองสาวัตถี” เกิดปีติขึ้นมาแล้วก็ข่มปีติตั้ง ๓ ครั้ง แล้วก็พระราชทานทรัพย์อีก ๑๐๐,๐๐๐ รวมทั้งหมดเป็น ๓๐๐,๐๐๐ กหาปณะ
เมื่อพระราชทานทรัพย์ทั้ง ๓๐๐,๐๐๐ กหาปณะแล้วก็ตรัสแก่อมาตย์ทั้งหลายว่า “ข้าพเจ้า เมื่อได้ทราบว่า พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว พระธรรมอุบัติขึ้นแล้ว พระสงฆ์อุบัติขึ้นแล้ว ข้าพเจ้าไม่สามารถที่กลับไปครองราชสมบัติอีกได้ เพราะราชสมบัตินั้นไม่มีประโยชน์อะไรเลย ข้าพเจ้าจะไปบวช” แล้วก็สั่งให้ทหารทั้ง ๑,๐๐๐ คนนั้นกลับ
ทหารทั้ง ๑,๐๐๐ คนนั้นก็กล่าวว่า “ถ้าพระองค์ไม่ได้อยู่ พวกข้าพระองค์ก็ไม่อยู่ ถ้าพระองค์ไปบวช พวกข้าพระองค์ก็จะไปบวชเหมือนกัน” แล้วก็พากันทิ้งพระนครกุกกุฏวดี แล้วก็ไปบวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาต้อนรับ ๑๒๐ โยชน์ เพราะว่า พระเจ้ามหากัปปินะเป็นผู้มีบารมีมาก เมื่อพระองค์ทรงเสด็จมาต้อนรับแล้วพระองค์ก็ทรงแสดงธรรม เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระเจ้ามหากัปปินะ พร้อมทั้งบริวารนั้นได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาน
เมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว พระเจ้ามหากัปปินะนั้นบรรลุด้วยสุขาปฏิปทา เป็นประเภทสุขาปฏิปทา พระองค์ก็จะมีความสุข พระองค์จะเดินไปไหนก็จะเปล่งอุทานว่า “สุขหนอๆ อโห สุขํ อโห สุขํ สุขจริงหนอ สุขจริงหนอ”
พระองค์จะยืนพระองค์ก็ทรงเปล่งอุทานอย่างนั้น พระองค์จะนั่ง จะนอน จะไปไหนๆ ก็เปล่งอุทานอยู่อย่างนั้น พระภิกษุรูปอื่นก็เห็น เมื่อเห็นแล้วก็กล่าวว่าพระกัปปินะนี้อวดอุตริมนุสสธรรมก็เลยต้องฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เลยถามว่า เธอพูดอย่างนั้นจริงไหม ข้าพระองค์พูดอย่างนั้นจริงพระเจ้าค่ะ เพราะข้าพระองค์ประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วได้บรรลุธรรมอย่างนั้นๆๆ แล้วก็กราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสสาธุการว่า
ธมฺมปีติ สุขํ เสติ วิปฺปสนฺเนน เจตสา
อริยปฺปเวทิเต ธมฺเม สทา รมติ ปณฺฑิโต.
ซึ่งแปลเป็นใจความว่า “บุคคลผู้มีใจผ่องใส มีความอิ่มใจในธรรม ย่อมอยู่เป็นสุข บัณฑิตย่อมยินดีในธรรมที่พระอริยเจ้าประกาศไว้แล้ว” พระองค์ก็ทรงอนุโมทนาสาธุการ อันนี้เป็นความอิ่มใจเรียกว่า เวทพหุโล เป็นธรรมข้อที่ ๓
ธรรมข้อที่ ๔ คือ อสนฺตุฏฺฐิพหุโล คือ เป็นผู้มากด้วยความไม่หยุดไม่พอ คือไม่พอใจในสิ่งที่ตนกำลังทำอยู่ คือเราให้ทานเราก็ไม่พอใจเฉพาะการให้ทานอย่างเดียว เราก็พยายามที่จะรักษาศีล เพราะว่าอานิสงส์ของศีลนั้นมันมีมากกว่าทาน เมื่อเรารักษาศีลแล้ว เราก็ไม่พอใจเพียงแค่จะรักษาศีล เพราะว่าบุญกุศลอื่นที่ยิ่งไปกว่าการรักษาศีลมันมีอยู่ ก็คือการเจริญสมถกรรมฐาน การเจริญสมถกรรมฐานแล้วยังไม่พอ เพราะว่าการเจริญสมถกรรมฐานนั้นยังไม่ใช่การบรรลุมรรคผลนิพพาน ก็ยังมีการเจริญวิปัสสนากรรมฐานอยู่เราก็ไม่พอใจในการเจริญสมถกรรมฐาน เราก็พยายามที่จะเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เรียกว่าเราไม่รู้จักหยุด ไม่รู้จักพอ ต้องขยันในการให้ทาน ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนาทั้งสมถะและวิปัสสนากรรมฐานจนกว่าเราจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เรียกว่าพยายามที่จะทำสิ่งที่มันดียิ่งไปๆๆ ให้มากขึ้นไปตามลำดับๆ
เรื่องนี้มีอุทาหรณ์ในครั้งพุทธกาล ก็มีชายคนหนึ่ง ชายคนนั้นเป็นผู้ไม่หยุดไม่พอในการที่จะทำคุณงามความดี คือในขณะนั้นเขาเห็นภิกษุรูปหนึ่งเดินออกมาจากป่า เมื่อเดินออกมาจากป่าแล้วก็ยืนห่มจีวร ขณะที่ยืนห่มจีวรนั้นแหละ ชายจีวรของภิกษุนั้นก็ไปเปียกน้ำค้างตอนเช้าในฤดูหนาว เมื่อจีวรเปียกน้ำค้างเขาก็คิดว่า เราควรที่จะทำที่นี้ให้สัปปายะแก่การยืนของพระคุณเจ้า
รุ่งเช้ามาเขาก็ไปหาจอบไปดายหญ้า ดายให้เกรียนให้สะอาด ภิกษุนั้นก็ยืนสบาย เขาไม่พอเพียงเท่านั้นวันต่อมาเขาก็เอาทรายโรยให้มันละเอียดไม่ให้ฝุ่นมันเกาะเท้าของภิกษุ ไม่ให้ฝุ่นนั้นฟุ้งไปถูกจีวรของภิกษุ ถูกเท้าของภิกษุ เขาก็เอาทรายมาเกลี่ย
ครั้งที่ ๓ เขาก็สร้างมณฑปมุงด้วยใบไม้ป้องกันแดด ให้ภิกษุนั่งรอบิณฑบาตสบาย
ครั้งที่ ๔ เขาก็สร้างมณฑปมุงด้วยกระเบื้องกันฝนอย่างดี ฝนตกก็สามารถที่จะห่มจีวรได้อย่างสะดวกสบาย เขาไม่หยุดเพียงเท่านั้น
ครั้งที่ ๕ เขาก็ทำการถวายศาลา ถวายมณฑป นิมนต์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นประธาน
ครั้งที่ ๖ เขาให้ทาน ได้สมาทานศีล ได้ฟังธรรม ได้ปฏิบัติธรรม ในที่สุดเขาก็ได้บรรลุดวงตาเห็นธรรม ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน อันนี้เรียกว่าบุคคลผู้ไม่พอใจในการทำบุญทำกุศลของตนเอง เรียกว่าพอใจ เรียกว่าทำให้ยิ่งๆ ขึ้นไปจนกว่าบุคคลนั้นจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน อันนี้อุบาสกคนนี้ก็ถือว่าเป็นอุทาหรณ์ในการบำเพ็ญคุณงามความดี คือเราพยายามทำให้ยิ่งๆ ขึ้นไป อันนี้เป็น อสนฺตุฏฺฐิพหุโล คือมากด้วยความไม่หยุดไม่พอ
คุณธรรมข้อที่ ๕ คือ อนิกฺขิตฺตธุโร คือไม่ทอดธุระในการบำเพ็ญบุญ บำเพ็ญกุศล การบำเพ็ญกุศลนี้ถือว่าเป็นกำไรของชีวิต ถ้าบุคคลใดบำเพ็ญบุญกุศลไว้มาก ก็ถือว่าบุคคลนั้นมีกำไรในการเกิดมามาก ถ้าบุคคลใดมัวแต่ประมาททำบาปทำกรรมต่างๆ นาๆ ก็เรียกว่าขาดทั้งทุนสูญทั้งกำไร เกิดมาเสียชาติเกิด เกิดมาพบพระพุทธศาสนาแทนที่จะกอบโกยเอาบุญเอากุศล กลับไปกอบโกยเอาบาป เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ตนเองนั้นตกต่ำไปสู่อบายภูมิ
เพราะฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์จึงตรัสว่า “ไม่ทอดธุระในการบำเพ็ญบุญกุศล” กุศลในพระพุทธศาสนาของเรานั้นแบ่งออกเป็น ๔ ประการ คือ
กามาวจรกุศล กุศลที่บุคคลทำแล้วเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ท่องเที่ยวไปในกามภพ กามภพ คือ ๑. มนุษย์ ๒. เทวโลกทั้ง ๖ ชั้น นับตั้งแต่ชั้นจาตุม ยามา ดาวดึงส์ ชั้นดุสิต นิมานรดี ปรนิมมิตวสวัตตี ๖ ชั้นนี้ถือว่าเป็นกามาวจรกุศล คือยังเสพกามอยู่ ยังบริโภคกามอยู่ ถ้าเป็นมนุษย์ก็บริโภคกามคุณ ๕ คือบริโภครูป กลิ่น เสียง รส สัมผัสของมนุษย์ แต่ถ้าเป็นเทวดาก็บริโภคกามคุณของเทวดาที่เป็นทิพย์ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า กามวจรกุศล สิ่งที่เราทำแล้วไปเกิดในสวรรค์ก็คือ การให้ทาน การรักษาศีล ๕ รักษาศีลอุโบสถ การไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญสมถกรรมฐาน แต่ยังไม่ได้ฌาน เจริญวิปัสสนากรรมฐาน แต่ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอนาคามีก็สามารถที่จะไปเกิดบนมนุษย์ บนสวรรค์ได้ อันนี้เรียกว่ากามวจรกุศล เราก็พยายามทำเรื่อยไป
ประการที่ ๒ คือ รูปาวจรกุศล คือให้เราเพียรในการไม่ทอดธุระในการที่เจริญรูปาวจรกุศล คือ เจริญรูปฌาน ให้เราพิจารณาว่าขณะนี้เราสามารถเข้าปฐมฌานได้ไหม ในขณะนี้เราสามารถเข้าทุติยฌานได้ไหม ในขณะนี้เราสามารถเข้าตติยฌานได้ไหม ในขณะนี้เราสามารถเข้าจตุตถฌานได้ไหม ถ้าเรายังไม่ได้เราก็เพียร
เหมือนกับญาติโยม ครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้มาเพียร เพียรเดิน เพียรนั่ง เพื่ออะไร เพื่อที่จะยังรูปฌาน อรูปฌาน เพื่อที่จะยังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นมา ถ้าฌานมันเกิดขึ้นมาก็เอา วิปัสสนาญาณมันเกิดขึ้นมาก็เอา หรือว่าเงินก็เอา ทองก็เอา เอาหมด แล้วแต่บุญวาสนาบารมี
เพราะฉะนั้นคณะครูบาอาจารย์มาเดินจงกรม นั่งภาวนานี้ก็ถือว่า มาเพียรเพื่อที่จะยังกุศล คือ รูปาวจรกุศลให้เกิดขึ้นมา เมื่อรูปาวจรกุศลคือ ฌานเกิดขึ้นมาแล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นไปเกิดในพรหมโลก ไปเกิดเป็นรูปพรหม อันนี้เรียกว่ารูปาวจรกุศล
ต่อไปกุศลประเภทที่ ๓ ก็คือ อรูปาวจรกุศล คือบุญกุศลที่เราทำด้วยการเจริญอรูปฌาน นับตั้งแต่ อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน นี้ถือว่าเป็นอรูปฌาน เมื่อเราเจริญอรูปฌานให้เกิดขึ้นมาในขันธสันดานของเราได้เมื่อไหร่นั้นแหละ เราจึงสามารถไปเกิดในอรูปพรหมได้ มีอายุเป็นหลายๆ หมื่นกัป เรียกว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ปรินิพพานอีก เราก็ยังไม่จุติจากพรหมโลก เรียกว่าอายุยืนเหลือเกิน บุคคลผู้ที่จะเกิดในที่นั้นได้ก็ต้องเจริญจนได้อรูปฌาน เรียกว่าอรูปาวจรบุญ
ต่อไปบุญประเภทที่ ๔ ก็คือ โลกุตรบุญ คือบุญที่เหนือโลก โลกุตระ เรียกว่าเหนือโลก บุญที่เหนือโลกก็คือ บุญที่เจริญวิปัสสนากรรมฐานเหมือนกับที่คณะครูบาอาจารย์กำลังเจริญอยู่นี้แหละ เดินจงกรม นั่งภาวนา บริกรรม “พองหนอ” “ยุบหนอ” นี้ถือว่าเราบริกรรมเพื่อยังวิปัสสนาญาณให้เกิด
เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นมาแล้ว เราได้ผ่านวิปัสสนาญาณ ๑๖ ได้ ๑ ครั้งก็ถือว่าเราได้เพียรพยายามที่จะทำบุญเหนือโลก ให้เกิดขึ้นมาประดับจิต ประดับกาย ประดับวาจา ประดับใจของเราแล้ว ถือว่าบุคคลนั้นเป็นเนื้อนาบุญของโลก เป็นที่พึ่งของโลก เป็นดวงตาของโลก เป็นที่ชาวโลกน่าสักการะ นับถือ บูชา อันนี้เรียกว่าผู้ไม่ทอดธุระในการบำเพ็ญคุณงามความดี คือไม่ทอดธุระที่จะบำเพ็ญกามาวจรบุญ บุญที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ท่องเที่ยวในกามภพ ไม่ทอดธุระในการบำเพ็ญรูปาวจรบุญ บุญที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปเกิดในรูปพรหม ไม่ทอดธุระในการบำเพ็ญอรูปาวจรบุญ บุญที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ท่องเที่ยวไปในอรูปพรหม โลกุตรบุญ คือบุญที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นไปสู่พระนิพพาน
ประการที่ ๖ ก็คือ อุตฺตริญฺจ ปตาเรติ คือการก้าวหน้าต่อไปไม่ถอยหลัง คือ ให้เราพิจารณาว่าเราบำเพ็ญบารมี เดินจงกรม นั่งภาวนามาถึงขนาดนี้ เราได้ความเพียรมากน้อยขนาดไหน กิเลสในหัวใจคือราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อวิชชา อุปาทาน เราสามารถข่มมันได้ขนาดไหน เราสามารถละมันได้ขนาดไหน ทานเราบำเพ็ญมามากขนาดไหน ศีลเราบำเพ็ญมามากขนาดไหน ภาวนาเราบำเพ็ญมามากขนาดไหน สมาธิอยู่ในจิตในใจของเรามีมากขนาดไหน วิปัสสนาญาณมีมากขนาดไหน การบรรลุมรรคผลนิพพานมีแล้วหรือยัง ที่จะทำให้เราไม่เป็นผู้เก้อเขินในเพื่อนพรหมจรรย์ถามในภายหลัง
คือในสมัยพุทธกาล ถ้ามีภิกษุป่วย แล้วก็มีภิกษุที่เป็นคิลานุปฐาก อุปถัมภ์อุปฐากคนป่วยก็คือ อุปถัมภ์อุปฐากหาข้าว หาน้ำ โจม (ประคอง) ลุก โจมนั่ง แต่เมื่อภิกษุที่เป็นคนป่วยนั้นจะมรณภาพ คือ ใกล้จะตายนั้น ภิกษุที่เป็นคิลานุปฐากนั้นถามว่า ท่าน ท่านบวชมากี่พรรษาแล้ว กระผมบวชมาแล้ว ๓๐ พรรษา ๔๐ พรรษา เมื่อท่านบวชมา ๓๐ พรรษาแล้ว ท่านบวชมาในพุทธศาสนานั้นคุณธรรมในจิตในใจของท่านมีอะไรบ้าง ท่านได้บรรลุคุณธรรมอะไรในพุทธศาสนา นี้แหละครั้งพุทธกาลเขาจะถามกันอย่างนั้น
ถ้าภิกษุรูปใดที่ไม่ได้บรรลุคุณธรรมก็จะเป็นผู้เก้อเขิน ตอบไม่ได้ ตอบข้างๆ คูๆ ก็จะเป็นผู้ที่อาย เป็นผู้เก้อเขิน เพราะฉะนั้นท่านให้เราพิจารณาว่าเรานี้มีคุณธรรมไหม ท่านจึงให้เป็นผู้ก้าวไปไม่ถอยหลัง ก้าวไปข้างหน้าไปเรื่อย เดินไปข้างหน้าไปเรื่อย พยายามที่จะทำให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เราเคยทำทาน เราเคยรักษาศีลไม่พอ ต้องภาวนา ภาวนาแล้วมันยังไม่ได้ผลก็ต้องปฏิบัติให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
เรื่องนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงนำบุคคล ๗ จำพวกมาเปรียบเทียบเป็นอุทาหรณ์ บุคคล ๗ จำพวกนั้นก็คือ บุคคลดำน้ำ ๗ จำพวก
บุคคลที่ดำน้ำประเภทที่ ๑ คือ ดำน้ำดิ่งลงไปโดยฝ่ายเดียว คือดำลงๆ ดิ่งลงไปแล้วก็ไม่โผล่ขึ้นมาอีก ประเภทนี้ก็คือ บุคคลที่เป็นมิจฉาทิฏฐิไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ตนเองเป็นมิจฉาทิฏฐิ ครูบาอาจารย์เทศน์ให้ฟังก็ไม่อยากฟัง ครูบาอาจารย์แนะนำให้มาปฏิบัติธรรมก็ไม่ปฏิบัติธรรม เรียกว่าไม่ยอมฟังคนอื่น เคยเชื่ออย่างไรก็เชื่ออย่างนั้น เหมือนกับ อชิตะ เกสกัมพล มักขลิโคสาล เหมือนกับปูรณะ กัสสปะ เหมือนกับนิครณถ์ นาฏบุตร ที่มีจิตใจไม่เชื่อบุคคลอื่น เรียกว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิเต็มหัวจิตหัวใจ ยอมหักไม่ยอมงอ รู้ว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้แต่ยังถือความเห็นผิดของตัวเอง ในลักษณะอย่างนี้ก็คือ จมลงไปในอบายภูมิถ่ายเดียว
เพราะว่าบุคคลผู้เป็นมิจฉาทิฏฐินั้น เป็นบาปมากกว่าการทำอนันตริยกรรม อนันตริยกรรมนั้นยังมีวันผุดวันเกิดขึ้นมา แม้แต่พระเทวทัตทำอนันตริยกรรมก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดมาตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อว่า อัฏฐิสระ แต่ว่าบุคคลผู้เป็นมิจฉาทิฏฐินี้ ไม่มีโอกาสที่จะมาตรัสรู้ได้ นอกจากบุคคลนั้นจะเลิกล้มจากความเป็นมิจฉาทิฏฐิ หันมาเป็นสัมมาทิฏฐิจึงจะพ้นจากกรรมได้ อันนี้เป็นประเภทที่ ๑
ประเภทที่ ๒ คือ ดำน้ำขึ้นมาแล้วกลับดำลงไปอีก ในลักษณะอย่างนี้หมายถึงบุคคลผู้ที่เคยมีศรัทธาดี เคยเลื่อมใส เคยให้ทาน เคยไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ แต่พอดีมีข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ว่า พระประพฤติไม่ดี พระไปนอนกับสีกา หรือว่าพระไปโกงเอาเงินสงฆ์ หรือว่าพระชอบกินเหล้าเมายา พระเล่นการพนันอะไรทำนองนี้เกิดความเสื่อมศรัทธา ไม่ทำบุญทำทาน ไม่เข้าวัดเข้าวาเลย
ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่า ดำน้ำโผล่ขึ้นมาแล้วกลับดำดิ่งลงไปอีก มีความเห็นผิดดำดิ่งลงไปอีก คิดว่าพระศาสนานั้นอยู่กับบุคคลคนเดียว บุคคลคนเดียวภิกษุรูปเดียวทำความผิดนั้น ไม่ใช่ว่าพระศาสนาผิด พระศาสนาก็คือพระธรรมวินัย ใครปฏิบัติดีก็ดี ใครปฏิบัติชั่วก็ชั่ว พระศาสนาไม่ได้ชั่วด้วย
เหมือนกับว่าเขาบัญญัติกฎหมายนั้นแหละให้คนหมดประเทศนี้รักษา แต่ว่ามีคนคนหนึ่งที่ไปแหกกฎหมาย ไปลักของเขา เขาก็จับติดคุก คนที่ติดคุกก็เฉพาะคนที่ทำความชั่วไปลักของเขาเท่านั้นแหละ คนที่ไม่ติดคุก คนที่ไม่ไปลักของเขาก็อยู่ในโลกสบาย สามารถเดินไปไหนก็สบายเห็นตำรวจก็ไม่กลัว
ภิกษุที่ทำความชั่วในพระศาสนาก็เป็นบาปของท่านเอง ท่านเป็นของท่านเอง คนอื่นที่บริสุทธิ์ก็มีอยู่มากมาย เหมือนกับไม่ได้ทำผิกฎหมายนั้นแหละ เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ถือผิดในลักษณะอย่างนี้ก็ถือว่ามีศรัทธาดีแล้วแต่ถือผิดในภายหลัง เรียกว่าดำน้ำโผล่ขึ้นมาแล้วกลับดำดิ่งลงไปอีก
ประเภทที่ ๓ ก็คือ ดำน้ำโผล่ขึ้นมาแล้วยืนอยู่เฉยๆ ในลักษณะอย่างนี้ก็คือ บุคคลเคยทำทานก็ทำทานไม่คิดจะรักษาศีลให้ก้าวหน้าต่อไปอีก บุคคลที่รักษาศีลแล้วก็ไม่คิดจะเจริญภาวนา บุคคลเจริญภาวนาสมถกรรมฐานก็เจริญแต่สมถกรรมฐาน ไม่คิดเจริญวิปัสสนากรรมฐาน คนเจริญวิปัสสนากรรมฐานแล้วยังไม่ได้บรรลุคุณธรรมก็ไม่พยายามที่จะเจริญบรรลุคุณธรรม ก็ยืนอยู่อย่างนั้นแหละ อันนี้เรียกว่าดำน้ำโผล่ขึ้นมาแล้วก็ยืนอยู่เฉยๆ
ประเภทที่ ๔ คือประเภทที่ดำน้ำโผล่ขึ้นมาแล้วมองไปข้างซ้ายบ้าง มองไปข้างขวาบ้าง ในลักษณะอย่างนี้ก็ถือว่าบุคคลผู้ที่เจริญวิปัสสนากรรมฐานจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เรียกว่าเจริญวิปัสสนาจนผ่านญาณ ๑๖ ไปแล้วครั้งหนึ่ง
ประเภทที่ ๕ ก็คือ ดำน้ำโผล่ขึ้นมาแล้วก็พยายามเดินไปข้างหน้าต่อไปอีก หมายถึงว่าบุคคลผู้ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วไม่พอใจเพียงเท่านั้น ไม่หยุดเพียงเท่านั้น พยายามประพฤติปฏิบัติธรรม เดินจงกรม นั่งภาวนาจนวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นมา จนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี อันนี้เป็นประเภทที่ ๕
ประเภทที่ ๖ ก็คือ ดำน้ำโผล่ขึ้นมาแล้วก็พยายามเดินต่อไปๆ จนจวนจะถึงฝั่ง คือบุคคลผู้ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วก็ไม่พอใจในการเป็นพระโสดาบัน บรรลุเป็นพระสกทาคามีแล้วก็ไม่พอใจในการบรรลุเป็นพระสกทาคามี แล้วก็พยายามที่จะบรรลุเป็นพระอนาคามีไม่อยากจะมาเกิดในกามภพอีก ตายไปแล้วก็ไปเกิดในสุทธาวาสพรหม ชั้นอวิหา ชั้นอตัปปา ชั้นสุทัสสา ชั้นสุทัสสี แล้วก็อกนิฏฐพรหม แล้วก็ปรินิพพานอยู่ในสุทธาวาสพรหม อันนี้เรียกประเภทที่ ๖
ประเภทที่ ๗ ก็คือ ดำน้ำโผล่ขึ้นมาแล้วก็พยายามต่อไปไม่ถอยหลังด้วยความเข้มแข็งอดทน ในที่สุดก็ถึงฝั่ง หมายถึงบุคคลผู้ยังความเพียรของตนเองบรรลุพระอนาคามีแล้วก็ไม่ยอม ประพฤติปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์เรียกว่าถึงฝั่งคือ อมตมหาปรินิพพาน
เพราะฉะนั้นผู้ที่ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายพิจารณาดูว่า เรานั้นอยู่ในประเภทไหน อยู่ในประเภทที่ดำดิ่งลงไปฝ่ายเดียว หรือว่าดำโผล่ขึ้นมาแล้วกลับดำดิ่งลงไป หรือว่าดำโผล่ขึ้นมาแล้วยืนอยู่เฉยๆ หรือว่าดำขึ้นมาแล้วโผล่ขึ้นมาแล้วพยายามก้าวหน้าต่อไป พยายามก้าวหน้าต่อไปจวนจะถึงฝั่งแล้วก็ถึงฝั่ง เราอยู่ในประเภทไหนก็ขอให้เราใคร่ครวญพิจารณาดู เพราะฉะนั้นคุณธรรมทั้ง ๖ ประการนี้มี อาโลกพหุโล คือมากด้วยแสงสว่าง โยคพหุโล มากด้วยความเพียร เวทพหุโล มากด้วยปีติ อสนฺตุฏฺฐิพหุโล คือมากด้วยความไม่หยุดไม่พอ อนิกฺขิตฺตธุโร เป็นผู้ไม่ทอดธุระในการทำบุญกุศลทั้ง ๔ ประการ แล้วก็ อุตฺตริญฺจ ปตาเรติ คือ ก้าวหน้าต่อไปไม่ถอยหลังนี้ถือว่าเป็นคุณธรรมของผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าผู้ใดประกอบด้วยคุณธรรมทั้ง ๖ ประการนี้อยู่ในขันธสันดานของบุคคลใดแล้ว บุคคลนั้นจะเป็นผู้เข้าถึงความไพบูลย์อันยิ่งใหญ่ในธรรมต่อกาลไม่นาน เรียกว่าทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ พ้นจากชาติกันดาร พยาธิกันดาร มรณะกันดาร ถึงฝั่งคือ อมตมหาปรินิพพานได้โดยไม่ต้องสงสัย อันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ หน้าที่ ๔๘๑ ขอให้ครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้โปรดอ่านดู
ฉะนั้นกระผมได้กล่าวธรรมะมาประกอบการประพฤติปฏิบัติธรรม ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ในท้ายที่สุดนี้ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่มาประพฤติปฏิบัติธรรม ตลอดถึงญาติโยมที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมขอจงเป็นผู้ที่มีกุศลจิตสถิตย์มั่นในพระสัทธรรม สามารถที่จะนำตนให้พ้นจากทุกข์ ถึงสุขอันไพบูลย์ กล่าวคือ มรรคผลนิพพานด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.