วันอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชา


            เจริญพรญาติโยมสาธุชนผู้ที่ใคร่สนใจสดับรับฟังธรรมะยามเย็น สถานีวิทยุวัดพิชโสภารามแห่งนี้ ซึ่งวันนี้ก็ถือว่าเป็นวันที่สำคัญในทางพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง ซึ่งเป็นวันอาสาฬหบูชา

          คำว่าอาสาฬหบูชานั้นเป็นคำที่เราจะคุ้นเคย ถือว่าเป็นวันสำคัญที่มีขึ้นในพุทธศาสนามานานแล้ว ซึ่งคำว่าอาสาฬหะนั้นแปลว่าเดือน ๘ อาสาฬหบูชาก็แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๘ ซึ่งวันอาสาฬหบูชานั้นมีความสำคัญในทางพุทธศาสนามากมายหลายประการ ดังที่มีปรากฏในพระไตรปิฎก ซึ่งความสำคัญในครั้งนี้ก็เกิดขึ้นในสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงมีชีวิตอยู่

          ในสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นพระองค์ทรงตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระองค์ทรงประทับอยู่ที่โคนไม้ศรีมหาโพธิ์ พระองค์ทรงบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์ก็ทรงประทับเสวยวิมุติสุข อยู่ที่โคนไม้โพธิ์นั้นตลอด ๗ วัน

          ครั้นเมื่อพระองค์ประทับนั่งอยู่โคนศรีมหาโพธิ์เสวยวิมุติสุขตลอด ๗ วันแล้ว พระองค์ก็ทรงเสด็จไปทางทิศอิสานของต้นไม้ศรีมหาโพธิ์ ประทับยืนทอดพระเนตรกลางแจ้ง คือพระองค์ทรงทอดพระเนตรเป็นต้นศรีมหาโพธิ์ที่ตรัสรู้นั้นโดยไม่กระพริบพระเนตรตลอด ๗ วันแล้ว พระองค์ก็ทรงเสด็จประทับยืนกึ่งกลางระหว่างต้นศรีมหาโพธิ์ กับตรงที่พระองค์ทรงยืนทอดพระเนตรต้นศรีมหาโพธิ์นั้น แล้วพระองค์ก็ทรงเนรมิตสถานที่จงกรม เรียกว่า รัตนจงกรม แล้วพระองค์ทรงจงกรมเสวยวิมุติสุขตลอดอีก ๗ วัน

          แล้วพระองค์ก็ทรงเสด็จไปทางทิศพายัพ พระองค์ทรงนั่งประทับอยู่ในรัตนฆรเจดีย์ ซึ่งรัตนฆรเจดีย์นั้นเป็นสถานที่ ที่ทวยเทพได้เนรมิตให้พระองค์ บูชาพระองค์แล้วพระองค์ก็ทรงนั่งเสวยวิมุติสุขในรัตนฆรเจดีย์นั้นตลอด ๗ วัน

          ขณะที่พระองค์ทรงประทับนั่งอยู่ในรัตนฆรเจดีย์นั้นพระองค์ก็ทรงพิจารณาอภิธรรม คือทรงพิจารณารูป พิจารณาเจตสิก พิจารณาพระนิพพาน และขณะที่พระองค์ทรงพิจารณาอภิธรรมตลอด ๗ วันนั้น พระองค์ก็ทรงเสด็จไปทางทิศบูรพาของต้นศรีมหาโพธิ์ แล้วทรงประทับนั่งอยู่ที่ต้นอชปาลนิโครธทรงแก้ปัญหาของพราหมณ์ผู้หนึ่งซึ่งทูลถามว่า บุคคลเช่นใดจึงชื่อว่าพราหมณ์

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสโดยย่อว่า บุคคลผู้ละบาปทางกาย ทางวาจา ทางใจ บุคคลนั้นชื่อว่าพราหมณ์ แล้วเมื่อพระองค์ทรงประทับอยู่ที่ต้นอชปาลนิโครธเสวยวิมุติสุขตลอด ๗ วันแล้ว พระองค์ทรงเสด็จไปที่ต้นมุจลินท์ หรือต้นจิกแล้วทรงประทับนั่งเสวยวิมุติสุขอีก ๗ วัน ขณะที่พระองค์ทรงนั่งประทับที่ต้นจิกตลอด ๗ วันนั้น ฝนได้ตกตลอดเวลา พญานาคชื่อว่ามุจลินท์ได้ขึ้นมาขดวงล้อมพระวรกายของพระองค์ แล้วก็แผ่พังพานไม่ให้ฝนตกรดพระวรกายของพระองค์ตลอด ๗ วัน

          เมื่อพระองค์ทรงเสด็จมาประทับที่ต้นจิกตลอด ๗ วันแล้ว พระองค์ก็ทรงเสด็จไปที่ต้นไม้ชื่อว่าราชายตนะ หลังจากที่พระองค์ทรงเสวยวิมุติสุขที่ต้นราชายตนะตลอด ๗ วันแล้ว พระองค์ก็ได้รับบิณฑบาตของพาณิชย์ทั้ง ๒ คือพ่อค้าทั้ง ๒ คนชื่อว่า ตปุสสะ และภัลลิกะ ซึ่งถวายข้าวสัตตุก้อน และสัตตุผงให้แก่พระองค์ เมื่อพระองค์ทรงรับบิณฑบาต คือฉันบิณฑบาตของพาณิชย์ทั้ง ๒ คนแล้วพระองค์ก็ทรงดำริว่า พระธรรมเทศนาของเรานั้นละเอียดลออ สุขุมนุ่มลึกเหลือเกิน ยากที่สรรพสัตว์ทั้งหลายผู้เต็มไปด้วยความโกรธ ความโลภ ความหลง ผู้เต็มไปด้วยราคะ ตัณหา อวิชชา อุปาทานนั้นจะทำให้แจ้งจะทำให้เข้าใจ หรือว่าจะหยั่งรู้ซึ่งธรรมที่เราตรัสรู้ได้

          เมื่อพระองค์ทรงดำริอยู่อย่างนี้พระองค์ก็ทรงท้อพระทัย แล้วพระองค์ก็ทรงใคร่ครวญเห็นดอกบัวว่าดอกบัวดอกหนึ่งมันบานพ้นน้ำแล้ว อีกดอกหนึ่งกำลังจะพ้นน้ำในวันพรุ่งนี้ อีกดอกหนึ่งกำลังจะผุดขึ้นมาบานในวันเวลาต่อไป อีกดอกหนึ่งนั้นจมอยู่ในน้ำเป็นอาหารของเต่าและปลา

          เมื่อพระองค์ทรงเห็นดอกบัวทั้ง ๔ เหล่าแล้วพระองค์ก็ทรงเกิดพระปรีชาญาณ รู้ว่าสรรพสัตว์ในโลกนี้ก็มี ๔ เหล่าเหมือนกัน

          บุคคลผู้จะรู้ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยเร็วก็มี

          บุคคลที่จะฟังธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ใคร่ครวญตริตรองแล้วได้บรรลุธรรมก็มี

          บุคคลผู้ที่ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วนำไปฝึกไปฝนไปอบไปรมตนเอง เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานก็มี

          บุคคลฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ไม่เกิดศรัทธา ไม่เกิดความเพียร ไม่เกิดความอยากออก อยากหนี อยากหลุดอยากพ้น จมอยู่ในความทุกข์ จมอยู่ในความโลภ ความโกรธ ความหลงก็มี

          เมื่อพระองค์ทรงทราบอย่างนี้แล้วพระองค์ทรงดำริต่อไปว่า เราจักแสดงธรรมแก่ใครหนอ ใครหนอจะเป็นผู้ที่รู้ทั่วถึงธรรมเราโดยเร็ว เมื่อพระองค์ทรงดำริอยู่อย่างนี้ พระองค์ก็ทรงระลึกถึงอาจารย์ผู้มีคุณทั้ง ๒ ในสมัยที่พระองค์ยังไม่ตรัสรู้ คือ อุทกาบส และอาฬารดาบส เมื่อพระองค์ทรงดำริถึงฤาษีทั้ง ๒ แล้วพระองค์ก็ทรงพิจารณาใคร่ครวญต่อไปแล้วพระองค์ทราบว่าฤาษีทั้ง ๒ นั้น ได้สิ้นชีวิตแล้ว พระองค์ก็ทรงนึกถึงบุคคลผู้สมควรที่จะรับธรรมะของพระองค์เป็นคนแรกนั้น พระองค์ก็ทรงใคร่ครวญไปถึงปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ คือโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ เมื่อพระองค์ทรงระลึกถึงพราหมณ์ทั้ง ๕ พระองค์ก็ทรงเสด็จไปที่กรุงพาราณสี ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันนั้น ในระหว่างทางพระองค์ก็ทรงพบกับอุปกาชีวกคนหนึ่ง อุปกาชีวกนั้นเมื่อเห็นพระองค์แล้วก็เกิดความตะลึง ความสนใจเพราะว่าพระวรกายของพระองค์นั้นผ่องใสยิ่งนัก มีพระฉวีวรรณดั่งทองคำก็เลยถามพระองค์ว่า ผิวพรรณของท่านผ่องใสนักท่านบวชเพราะใคร ใครเป็นอาจารย์ของท่าน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า เราเป็นอนันตชิน เป็นผู้ชนะไม่มีที่สิ้นสุด อุปกาชีวกนั้นก็ได้แต่สั่นศีรษะแล้วก็เดินไป

          แล้วพระองค์ก็ทรงเสด็จไปที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ขณะที่พระองค์ทรงเสด็จไปที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันแล้วพระองค์ก็ได้ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตร ซึ่งถือว่าเป็นพระธรรมเทศนากัณฑ์แรก เรียกว่า ธมฺโม อุปฺปนฺโน พระธรรมอุบัติขึ้นที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใจความในพระธรรมจักกัปปวัตนสูตรนั้นก็แบ่งออกเป็น ๔ ภาคด้วยกัน

          ภาคแรกพระองค์ทรงแสดงกามสุขัลลิกานุโยค คือทาง ๒ แพร่งสายที่ ๑ คือ กามสุขัลลิกานุโยค การประกอบตนให้มัวเมา หมกมุ่น ลุ่มหลง อยู่ในกามคุณนี้ ถือว่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลนั้นเกาะเกี่ยว ไม่สามารถที่จะบำเพ็ญคุณงามความดีได้ อันนี้เป็นหนทางที่ทำให้ไม่เจริญในพระพุทธศาสนา เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นต้องเสื่อมไป ต้องสิ้นไป

          หนทางที่ ๒ คือ อัตตกิลมถานุโยค คือการประกอบตนด้วยการทรมานเปล่า คือประกอบตนให้ลำบาก จะยืนขาเดียวก็ดี จะอดอาหารก็ดี จะทรมานตนด้วยการอดนอนเป็นต้น ก็ถือว่าประกอบตนให้ทุกข์ทรมานเปล่า

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อพระองค์ทรงตรัส ทางสุดโต่ง ๒ แพร่งนี้แล้วพระองค์ทรงตรัสทางที่ชอบคือ มัชฌิมาปฏิปทา อันประกอบด้วยทางมีองค์ ๘

          มัชฌิมาปฏิปทาเป็นทางสายกลางที่ตรงต่อพระนิพพาน เป็นทางสายเดียวที่จะทำให้บุคคลนั้นเข้าถึงฝั่งคือพระนิพพานได้ ทางสายเดียวที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนั้นคือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ สัมมาวาจา การเจรจาชอบ สัมมากัมมันโต การงานชอบ สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ 

          สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบนั้นเราจะเห็นอย่างไรชื่อว่าเห็นชอบ เราจะเห็นชอบได้นั้นเราก็ต้องมีญาณหยั่งรู้ มีญาณเป็นเครื่องรู้ เป็นเครื่องเห็น เป็นเครื่องแจ้งชัด เราจึงจะชื่อว่าเห็นชอบ คือมีญาณหยั่งรู้ในทุกขสัจนี้ว่า เป็นทุกข์ มีญาณหยั่งรู้ในสมุทัย ว่าเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ มีญาณหยั่งรู้ในนิโรธอันเป็นเครื่องดับของทุกข์ทั้งปวง มีญาณหยั่งรู้ในมรรคอันเป็นปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ได้จึงชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ

          สัมมาสังกัปปะ คือความดำริชอบนั้นหมายความว่าอย่างไร เราจะดำริอย่างไรจึงจะชื่อว่าดำริชอบ ดำริชอบนั้นคือ ดำริเห็นโทษของกาม ว่าเป็นเครื่องผูกพัน เป็นครื่องเกาะเกี่ยว เป็นเครื่องให้เรานั้นต้องได้รับความลำบากมากมายหลายประการ เราไม่สามารถที่จะบำเพ็ญคุณงามความดี ไม่สามารถที่จะบำเพ็ญทานก็ดี ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี ก็เพราะมีกามนั้นเป็นเครื่องกั้น เครื่องเกาะ เครื่องเกี่ยว จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กุศลของเรานั้นไม่บริบูรณ์

          การดำริโอกาสที่จะออกจากกามนี้ก็ถือว่า เป็นการดำริชอบ การดำริเห็นโทษของการพยาบาท คือการผูกเวร แก่งแย่ง ชิงดี ชิงเด่น อิจฉา ริษยา ซึ่งกันและกันก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่เราพยายามดำริที่จะออก เราดำริเพื่อที่จะเห็นโทษของพยาบาทนี้ก็ถือว่าเป็นสัมมาสังกัปปะ ดำริชอบเหมือนกัน

          เราดำริจะหาทางออกจากพยาบาท คือจะไม่ให้จิตของเรานั้นตกอยู่ในพยาบาท จะทำจิตของเราให้ประกอบไปด้วยเมตตา ด้วยกรุณา ด้วยมุทิตา ด้วยอุเบกขา ก็ถือว่าเป็นสัมมาสังกัปปะ

          สัมมาวาจา คือเจรจาชอบ คือเรานั้นไม่พูดปด พูดเท็จ พูดเพ้อเจ้อ พูดเหลวไหล พูดคำหยาบ อันไม่มีประโยชน์แก่ตนเอง อันไม่มีประโยชน์แก่บุคคลอื่น ไร้สาระ ไม่เป็นประโยชน์ในโลกนี้  ไม่เป็นประโยชน์เพื่อโลกหน้า ไม่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน คือเราพูดวาจาที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น เราพูดวาจาที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองและบุคคลอื่น เป็นประโยชน์ในโลกนี้โลกหน้า และพระนิพพานนั้นชื่อว่า สัมมาวาจา

          สัมมากัมมันโตคือ การงานชอบนั้นคือ เราตั้งเจตนาว่าเราจะไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ทำชู้สู่สม ไม่พูดปด พูดเพ้อเจ้อ พูดเหลวไหล ไม่ดื่มสุราเมรัยเป็นต้น ชื่อว่า สัมมากัมมันโต

          สัมมาอาชีโว คือเลี้ยงชีพชอบนั้น คือเราเจตนาตั้งใจเว้นจากอุบายการหาเลี้ยงชีพที่ผิด ทุจริตทั้งหลายทั้งปวงเราไม่เอา เรียกว่า สัมมาอาชีโว

          สัมมาวายาโม คือการเพียรชอบ คือเราเพียรละบาปเก่าที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป เพียรละบาปใหม่ที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น เพียรยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดมีขึ้น เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้มีความสมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไป อันนี้เรียกว่าสัมมาวายาโม คือเพียรชอบ

          สัมมาสติ คือระลึกชอบนั้น เราระลึกอย่างไรจึงจะชื่อว่าเราระลึกชอบ เราระลึกชอบนั้น คือระลึกรู้กาย เราระลึกรู้เวทนา เราระลึกรู้จิต เราระลึกรู้ธรรม คือเราเอาสติของเรานั้นตามระลึกรู้ทั่วกาย ทั่วเวทนา รู้ทั่วจิต รู้ทั่วธรรม อันจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดศีล เกิดสมาธิ เกิดวิปัสสนาญาณ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดการบรรลุมรรคผลนิพพานขึ้น ก็อาศัยสติเป็นเครื่องระลึกตามรู้ทั่วพร้อมซึ่งกาย ระลึกรู้ทั่วพร้อมซึ่งเวทนา ระลึกรู้ทั่วพร้อมซึ่งจิต ซึ่งธรรม อันนี้เรียกว่า สัมมาสติ คือระลึกชอบ

          สัมมาสมาธิ คือความตั้งใจมั่นชอบ ความตั้งใจมั่นชอบนั้นเราจะตั้งใจอย่างไรจึงชื่อว่าเราตั้งใจมั่นชอบ ตั้งใจมั่นชอบนั้น คือเราตั้งจิตของเราให้เป็นหนึ่ง เอกัคคตา ไม่สัมปยุตไปด้วยบาป อกุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวง เมื่อจิตใจของเรานั้นมุ่งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว จะเป็นขณิกสมาธิ ที่สัมปยุตด้วยวิปัสสนา อุปจารสมาธิที่สัมปยุตที่ประกอบไปด้วยวิปัสสนาก็ถือว่าตั้งใจมั่นชอบได้เหมือนกัน หรือว่าเราทำจิตทำใจของเราให้เป็นเอกัคคตา เป็นอารมณ์เดียวจนเข้าถึงอัปปนาสมาธิเป็น ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน หรือว่าเข้าถึงอรูปฌานที่ ๑ เรียกว่า อากาสานัญจายตนฌาน เข้าถึงอรูปฌานที่ ๒ เรียกว่า วิญญานัญจายตนฌาน เข้าถึงอรูปฌานที่ ๓ เรียกว่า อากิญจัญญายตนฌาน เข้าถึงอรูปฌานที่ ๔ เรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌานก็ตาม

          เมื่อเราเข้าถึงฌานเหล่านี้แล้ว เราเอาความตั้งใจมั่นชอบที่เข้าถึงฌานเหล่านี้แหละมาเป็นบาทแห่งการเจริญวิปัสสนาเรียกว่า ตั้งใจมั่นชอบ อันนี้เป็นมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นทางสายเดียวที่บุคคลผู้ที่มุ่งความสันติ คือความสงบนั้นจะนำไปถึงพระนิพพานได้ ก็ต้องอาศัยมรรคมีองค์ ๘ นี้ พระองค์ทรงตรัสเป็นส่วนที่ ๒ ของธรรมจักกัปปวัตนสูตร

          ส่วนที่ ๓ พระองค์ทรงแสดงอริยสัจ ๔ คือพระองค์ทรงแสดง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พระองค์ทรงแสดงทุกข์ อะไรเป็นทุกข์ พระองค์ทรงตรัสว่า ชาติเป็นทุกข์ ชราเป็นทุกข์ มรณะ คือความตายเป็นทุกข์ โศกะ คือความโศก ปริเทวะ คือความคร่ำครวญ ทุกขะ คือความทุกข์กาย โทมนัส คือความทุกข์ใจ อุปายาส คือความคับแค้นแน่นใจเป็นทุกข์ เมื่อกล่าวโดยย่อแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา แปลว่า ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์ อันนี้เป็นทุกขสัจที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงแสดง

          แล้วพระองค์ทรงแสดงสมุทัยสัจอันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์ อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์ ตัณหา ๓ ประการ คือ

          กามตัณหา ความทะเยอทะยานอยาก ความดิ้นรนของใจที่ประกอบไปด้วยความกำหนัด ความเพลิดเพลินในอารมณ์ต่างๆ มีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส เป็นต้น ชื่อว่า กามตัณหา

          ภวตัณหา ก็คือความดิ้นรนของใจ ความทะเยอทะยานอยากของใจที่ประกอบไปด้วยความกำหนัด ไม่รู้จักอิ่มในความมี ในความเป็น มีเงินแสนก็อยากมีเงินล้าน มีเงินล้านก็อยากมีมากขึ้น มียศน้อยก็อยากมียศมาก ไม่พอใจในภาวะความเป็นความมีที่ตนเองได้ ไม่มีความสันโดษ อันนี้ชื่อว่าบุคคลประกอบไปด้วยตัณหา ทะเยอทะยานอยากในสิ่งที่มันเป็นอกุศลธรรมให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

          วิภวตัณหา คือความทะเยอทะยานอยาก ในความไม่อยากมีไม่อยากเป็น ไม่อยากอยู่ในภาวะนั้น ไม่อยากอยู่ในภาวะนี้ ไม่อยากมีอย่างโน้นไม่อยากมีอย่างนี้ อันนี้เรียกว่าวิภวตัณหา

          ตัณหา ๓ ประการนี้ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คนทั้งหลายนั้นได้ประสบความทุกข์ บุคคลทั้งหลายเวียนว่ายตายเกิดในมหรรณพภพสงสาร เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด ประสบทุกข์เป็นอนันตกาลอย่างนี้ก็เพราะตัณหาทั้ง ๓ ประการนี้ อันนี้เรียกว่าสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์

          ต่อไปพระองค์ก็ทรงตรัส นิโรธ ความจริงคือการดับทุกข์ นิโรธก็คือความดับทุกข์โดยไม่เหลือ ความปราศจากทุกข์ ความปล่อยวาง ความหลุดพ้น ความตัดขาดจากตัณหา ความไม่มีอาลัยในตัณหา สามารถที่จะตัดภพตัดชาตินั้นให้ดับสิ้นไป สูญไปจากขันธสันดาน เรียกว่านิโรธ

          แล้วพระองค์ก็ทรงตรัสต่อไปอีก เป็นสัจจะที่ ๔ เรียกว่า มรรคมีองค์ ๘ คือ มรรคสัจ ซึ่งกล่าวมาแล้วนั้นคือ สัมมาทิฏฐิเป็นต้น เมื่อพระองค์ทรงตรัสอริยสัจเป็นลำดับที่ ๓ แล้ว พระองค์ก็ทรงตรัสสัจจะที่ ๔ แล้วพระองค์ก็ทรงตรัสสัจจะทั้ง ๓ ในอริยสัจทั้ง ๔ คือพระองค์ทรงตรัส สัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ คือพระองค์ทรงทำทุกขสัจก็ดี สมุทัยสัจก็ดี นิโรธสัจก็ดี มรรคสัจก็ดี ให้เป็นไปในสัจจะทั้ง ๓ คือ สัจจญาณ กิจจญาณ และ กตญาณ

          สัจจญาณ เช่นพระองค์ทรงตรัสในทุกขสัจ คือ พระองค์ทรงเกิดปัญญาจักขุรู้แจ้ง รู้ชัด รู้ทั่ว รู้สว่างแล้วว่านี้คือทุกขสัจ นี้คือสมุทัยสัจ นี้คือนิโรธสัจ นี้คือมรรคสัจ อันนี้ชื่อว่า สัจจญาณ

          พระองค์เกิดปัญญาขึ้นมารู้แจ้ง รู้ชัด รู้ทั่ว รู้สว่างว่า นี้เป็นทุกขสัจอันบุคคลพึงกำหนดรู้ อันนี้เป็นสมุทัยสัจ อันบุคคลพึงกำหนดละ อันนี้เป็นนิโรธสัจอันบุคคลพึงทำให้แจ้ง อันนี้เป็นมรรคสัจอันบุคคลพึงทำให้เกิด ให้เจริญ ให้ดีขึ้น อันนี้เรียกว่า กิจจญาณ

          ความรู้เกิดขึ้นกับพระองค์ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระองค์รู้แจ้ง รู้ชัด รู้ทั่ว รู้สว่าง ว่านี้ทุกขสัจอันเราได้กำหนดรู้แล้ว อันนี้เป็นสมุทัยสัจเราก็ได้ละแล้ว อันนี้เป็นนิโรธสัจเราก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว อันนี้เป็นมรรคสัจเราก็ทำให้เกิดให้มีในขันธสันดานของเราแล้ว

          พระองค์ทรงแสดงสัจจะทั้ง ๔ ให้เป็นไปในสัจจะทั้ง ๓ แล้ว พระองค์ก็ทรงปฏิญาณตนว่าพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นสยัมภู เป็นผู้รู้เอง เป็นผู้เห็นเอง ตรัสรู้โดยชอบด้วยพระองค์เองแล้ว

          เมื่อพระองค์ทรงปฏิญาณตนว่าพระองค์เป็นสยัมภู ตรัสรู้เอง พราหมณ์ทั้ง ๕ คือปัญจวัคคีย์มีโกณฑัญญะ พระวัปปะ มหานามะ ภัททิยะ อัสสชิ ก็มีความตั้งใจสดับรับฟังธรรมของพระองค์ เมื่อตั้งใจฟังเงี่ยหูฟังก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้โกณฑัญญะได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ได้ดวงตาเห็นธรรมสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลในพุทธศาสนา เป็นปฐมสาวก เป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา เรียกว่า สงฺโฆ อุปฺปนฺโน พระสงฆ์เกิดขึ้นแล้วในบวรพุทธศาสนาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

          เมื่อพระสงฆ์เกิดขึ้นมาเป็นองค์แรกก็ถือว่าเป็นเครื่องนิมิตหมายที่ดีว่า พระศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นจะแพร่หลายไปด้วยการแสดงธรรม จะแพร่หลายไปด้วยการที่พระสงฆ์สาวกที่บรรลุธรรมแล้ว ที่รู้แจ้งเห็นจริงแล้วจะช่วยกันไปประกาศพระพุทธศาสนาอันจะเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่พระศาสนาของเราจะตั้งมั่นยั่งยืนถาวร เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้แก่ชาวโลกทั้งหลาย ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขด้วยร่มของศีล ด้วยร่มของสมาธิ ด้วยร่มของปัญญา

          เหตุนั้นวันอาสาฬหบูชานั้นจึงถือว่าเป็นวันสำคัญ ถือว่าเป็นวันที่ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตรซึ่งเป็นปฐมเทศนา ซึ่งเรียกว่าเป็นวันที่พระธรรมอุบัติขึ้น เรียกว่า ธมฺโม อุปฺปนฺโน พระธรรมก็อุบัติขึ้นในวันอาสาฬหบูชา แล้วก็ถือว่าเป็นวันสังฆรัตนะอุบัติขึ้น คือพระโกณฑัญญะได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลองค์แรกในพุทธศาสนา เป็นสังโฆอุปันโนขึ้น คือพระสงฆ์อุบัติขึ้นในวันอาสาฬหบูชาเหมือนกัน แล้วก็ถือว่าเป็นวันที่รัตนไตรครบทั้ง ๓ ประการ คือพุทธรัตนะ คือพระพุทธเจ้า ธรรมรัตนะ คือพระธรรม สังฆรัตนะ คือพระสงฆ์ เกิดขึ้นสมบูรณ์ในวันอาสาฬหบูชา

          แล้วก็ถือว่าเป็นวันแรกที่เป็นสัญลักษณ์ว่า คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นจะแพร่หลายไปในที่ต่างๆ โดยการแสดงธรรม โดยพระสงฆ์สาวก

          เหตุนั้นวันอาสาฬหบูชานั้นจึงถือว่าเป็นวันที่เราทั้งหลายที่เป็นชาวพุทธจะได้ตระหนัก ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า คุณของพระธรรม คุณของพระสงฆ์ ว่าเป็นสิ่งที่เรานั้นต้องตามระลึกถึง เพราะการระลึกถึงพระพุทธเจ้าก็ดี ระลึกถึงพระธรรมก็ดี ระลึกถึงพระสงฆ์ก็ดี เป็นการระลึกอย่างยอดเยี่ยม เป็นการระลึกอย่างสูงสุด ทำไมถึงชื่อว่าเป็นการระลึกอย่างยอดเยี่ยม ระลึกอย่างสูงสุด

          เพราะเมื่อเราระลึกถึงพระพุทธเจ้าแล้ว จิตใจของเราย่อมผ่องใส จิตใจของเราย่อมห่างจากนิวรณ์ธรรม จิตใจของเราย่อมห่างจากอกุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวง เมื่อเราระลึกถึงพระธรรมแล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นรู้จักหักห้ามจิตใจของเรา เช่นเราระลึกถึงความอดทนก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราข่มความโกรธได้ ระลึกถึงความเพียรก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราละความเกียจคร้านได้ ระลึกถึงกตัญญูกตเวทิตาธรรมก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นรู้คุณของบิดรมารดา ครูอุปัชฌาย์อาจารย์อันนี้เรียกว่าเราระลึกถึงพระธรรม อันเป็นเหตุเป็นปัจจัยมีอานิสงส์มาก

          เมื่อเราระลึกถึงพระสงฆ์ว่าพระสงฆ์นั้นเป็นผู้ที่ นำแสงสว่างจากพระพุทธเจ้า นำแสงสว่างจากพระธรรมนั้นมาขัดเกลาตัวเอง มาเดินจงกรม มานั่งภาวนา มาบำเพ็ญศีล บำเพ็ญสมาธิ บำเพ็ญปัญญา จึงเกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในตัวเองแล้ว ก็เอาแสงสว่างที่ได้รับจากพระพุทธเจ้า ได้รับจากพระธรรมนั้นมาส่งต่อให้ญาติโยมทั้งหลาย ให้พุทธบริษัททั้งหลาย เอาแสงสว่างคือธรรมะ ไปเป็นเครื่องดำเนินชีวิตของตัวเอง เพราะว่าบุคคลผู้ที่เกิดขึ้นมาแล้วไม่มีแสงสว่างเป็นเครื่องดำเนินชีวิต บุคคลนั้นก็ถือว่าเป็นบุคคลผู้มีตาบอด เพราะว่าตาบอดนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ไม่ทรงตรัสว่าบุคคลผู้ที่มีตาดีเดินไปไหนมาไหน ไม่เหยียบหนาม ไม่เหยียบโคลน ไม่เหยียบตมนั้นเป็นคนตาดีไม่ใช่

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงเป็นผู้หนักในธรรม เมื่อพระองค์ทรงเป็นผู้หนักในธรรมพระองค์ไม่ทรงว่าบุคคลผู้มีตาดี ภายนอกนั้นถือว่าเป็นคนตาดี แต่พระองค์ทรงมองถึงตาในคือธรรมะ บุคคลใดไม่มีตาคือธรรมะ คือไม่รู้จักห้ามจิตห้ามใจจากบาปอกุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่รู้จักการให้ทาน ไม่รู้จักการรักษาศีล ไม่รู้จักการเจริญภาวนาบำเพ็ญคุณงามความดี บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นผู้ตาบอด คือบอดในการที่จะบำเพ็ญบุญ บำเพ็ญกุศล เหตุนั้นจึงชื่อว่าบุคคลผู้มีตาบอด

          เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ไม่มีธรรมะนั้น จึงเดินทางชีวิตด้วยความทุลักทุเล เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ตนเองนั้นทำบาปทำกรรม บางครั้งก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ตนเองต้องเสียชีวิตไปก็มี เหตุนั้นการระลึกถึงพระพุทธก็ดี พระธรรมก็ดี พระสงฆ์ก็ดี จึงถือว่าเป็นสิ่งที่เรานั้นต้องระลึก เพื่อที่จะเป็นแบบเป็นแผนเป็นประเพณีที่ดีงามสืบทอดให้แก่ลูก แก่หลาน ซึ่งวันนี้ทุกวัดทั่วประเทศไทย ก็คงจะจัดการเวียนเทียนอาสาฬหบูชา

          การเวียนเทียนนั้นไม่ถือว่าเป็นการที่ไร้ประโยชน์ ไม่ใช่เป็นการไร้สาระ การที่เราเอาดอกไม้ก็ดี ธูปเทียนก็ดี สักการะ ไหว้ ระลึกถึงไปบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ไร้สาระ เพราะว่าบุคคลผู้ที่มีจิตประกอบไปด้วยศรัทธาแล้ว มีจิตใจมุ่งตรงต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มุ่งตรงต่อพระธรรม มุ่งตรงต่อพระสงฆ์นำสักการะมีดอกไม้ธูปเทียน นำกาย นำวาจา นำใจของตนไปกราบไหว้ ไปเคารพทำความนอบน้อมแล้วย่อมได้บุญมาก อานิสงส์มากประมาณไม่ได้

          เวลาที่เราไปเวียนเทียนก็ดีเราก็เดินจงกรม ขณะที่เราเดินเวียนเทียนในรอบที่ ๑ เราก็กำหนด สวด อิติปิ โส ภะคะวา หรือว่าเราจะกำหนดพุทโธๆ ไปก็ได้ ขณะที่เรากำหนดพุทโธๆ ไปเราก็มีสติกำหนดให้สติของเรานั้นอยู่ที่กายของเรา จะเป็นก้าวขวาว่าพุทธ ก้าวซ้ายว่าโธก็ดี หรือว่าเรากำหนดมีสติรู้ความเคลื่อนไหวระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าเนืองๆ อยู่ในจิตในใจ เมื่อเราเวียนเทียนรอบแรก อันนี้ก็ถือว่าเป็นบุญมาก

          รอบที่ ๒ เราก็ระลึกถึงพระธรรม รอบที่ ๓ เราก็ระลึกถึงพระสงฆ์ อันนี้ก็ถือว่าเป็นบุญ อันนี้เรียกว่าเรามาเวียนเทียนเพื่อระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เพราะการระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์นั้นถือว่าเป็นสิ่งที่มีอานิสงส์มากมีค่ามาก

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่าบุคคลใดถ้าระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในขณะที่จะสิ้นชีวิต หรือว่าในขณะที่จะตายไปนั้นแล้วถ้ามีจิตใจเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าแล้วก็ไม่สามารถที่จะไปสู่อบายภูมิได้

          ดังเช่นมานพคนหนึ่งชื่อว่ามัฏฐกุณฑลี เป็นบุตรของเศรษฐีมีทรัพย์มาก แต่บิดามารดานั้นเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียวลูกชายของตัวเองป่วยก็ไม่พาไปหาหมอ ไม่พาไปรักษา เพราะอะไร? เพราะว่ากลัวทรัพย์ของตนเองนั้นมันจะสูญไปจะสิ้นไป ก็เลยไปถามหมอว่าโรคที่ลูกชายตนเองนั้นเป็นอยู่นี้มีลักษณะอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนี้ จะรักษาด้วยยาอะไร ก็ไปถามหมอ

          หมอเขาก็บอกว่าถ้าป่วยเป็นโรคในลักษณะอย่างนี้ ต้องเอายาชนิดโน้นชนิดนี้มาผสมกัน แต่ด้วยความไม่ฉลาดในการใช้ยา เอายามาประกอบลูกชายก็ไม่สามารถที่จะหายจากโรคนั้นได้ อาการของลูกชายนั้นก็มีแต่ทรุดลงๆๆ ในที่สุดลูกชายก็ทรุดลงเต็มที่ ร่างกายอ่อนปวกเปียกเต็มที่

          แล้วคนผู้เป็นญาติพี่น้องก็รู้ข่าวว่าลูกชายป่วยหนัก เมื่อรู้ว่าลูกชายของเศรษฐีป่วยหนักก็มาเยี่ยมเยียน เมื่อคนมาเยี่ยมเยียนมากก็กลัวคนจะเห็นทรัพย์สมบัติของตนเอง เพราะว่าสมัยก่อนนั้นไม่มีธนาคาร ไม่มีการเก็บการฝากไว้ที่ธนาคารก็เก็บไว้ในบ้านเรือนของตัวเอง ก็กลัวคนอื่นจะเห็นทรัพย์สมบัติของตนเอง ก็เลยเอาบุตรของตนเองนั้นมานอนที่ระเบียงข้างนอก

          ขณะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงพิจารณาตรวจตราใคร่ครวญสัตว์โลกว่า ขณะที่พระองค์ทรงเสด็จไปบิณฑบาตนั้น ใครหนอจะได้อานิสงส์มาก พระองค์ทรงพิจารณาเห็นมัฏฐกุณฑลี ซึ่งเป็นมานพ บุตรชายของเศรษฐีนอนป่วยอยู่นั้น ขณะที่มัฏฐกุณฑลีนอนป่วยใกล้จะถึงซึ่งความตาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงเสด็จผ่านไปทางที่มัฏฐกุณฑลีนอนอยู่

          ขณะที่พระองค์ทรงเสด็จไปนั้น มัฏฐกุณฑลีหันหลังให้หนทางหันหน้าเข้าฝา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงดำริว่าถ้ามัฏฐกุณฑลีนั้นหันหลังให้หนทางหันหน้าเข้าฝาแล้ว ประโยชน์ที่พระองค์เสด็จมาที่นี้ก็จะไม่มี พระองค์ก็ทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสี แสงสว่างมันก็พุ่งออกไปจากพระวรกายของพระองค์ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้แสงสว่างนั้นมันไปกระทบบ้านเรือนที่อยู่ในละแวกนั้น กระทบฝา ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มัฏฐกุณฑลีนั้นตื่นตัวขึ้นมาว่าแสงอะไร แล้วก็หันหลังกลับขึ้นมาดูเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีฉวีวรรณดั่งทองคำก็เกิดความเลื่อมใส เกิดศรัทธา แล้วก็มีจิตอนุโมทนาว่า เราเป็นบุตรของเศรษฐีมีทรัพย์มากแต่ด้วยความตระหนี่ของบิดามารดา เราไม่สามารถที่จะให้ทาน เราไม่สามารถที่จะไปรักษาศีล เราไม่สามารถที่จะไปเจริญภาวนาได้ แล้วขณะนี้ร่างกายของเราทุพพลภาพเหลือเกิน สิ่งที่เราพึงจะทำได้คือยังจิตให้เลื่อมใสเท่านั้นเอง แล้วก็ยังจิตของตนเองให้เลื่อมใส

          เมื่อยังจิตของตนเองให้เลื่อมใสแล้วก็ขาดใจตายในขณะนั้น เมื่อขาดใจตายในขณะนั้นด้วยบุญกุศลที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มัฏฐกุณฑลีได้เกิดในเทวโลก ชื่อว่ามัฏฐกุณฑลีเทพบุตร เมื่อมัฏฐกุณฑลีบังเกิดในเทวโลกแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงเสด็จไปประทับอยู่ที่วิหาร พ่อของมัฏฐกุณฑลีก็เอาบุตรของตนเองนั้นไปเผาที่ป่าช้าร้องห่มร้องไห้อยู่ที่โน้น

          บุคคลผู้ที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า แม้ชั่วเวลาจวนที่จะตายก็มีอานิสงส์มากถึงขนาดนี้ แม้แต่พระเทวทัตในขณะที่ทำบาปทำกรรมมากมายหลายประการ ทำอนันตริยกรรม ทำโลหิตุปบาท ยังช้างนาราคีรีให้ทำร้ายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จ้างนายขมังธนูไปปลงพระชนม์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกว่าทำอนันตริยกรรมเป็นบาปอันสูงสุดในพุทธศาสนา

          แต่ในเมื่อคราวจะตายพระเทวทัตนั้นเป็นผู้มีสติระลึกถึงบาปที่ตนเองทำนั้นแล้วมีจิตใจสำนึก เมื่อมีจิตใจสำนึกแล้วในขณะที่ดินจะดูดเอาพระเทวทัต ขณะที่ดินดูดลงไปถึงคอพระเทวทัต พระเทวทัตก็มอบกระดูกคางที่มันยังเหลืออยู่ มอบอัตภาพร่างกายที่มันเหลืออยู่นี้ถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

          ด้วยอานิสงส์ที่พระเทวทัตถวายกระดูกคางนั้นแก่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในคราวจะสิ้นชีวิต องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสอานิสงส์ว่าพระเทวทัตนั้นจะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าพระนามว่าอัฏฐิสระ ด้วยอานิสงส์ของการถวายกระดูกคางในโอกาสที่จะสิ้นชีวิต

          เหตุนั้นการระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การทำความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้านั้นจึงมีอานิสงส์มาก มีอานิสงส์ประมาณไม่ได้

          การทำจิตทำใจให้เลื่อมใสในพระธรรมก็เหมือนกัน ขณะที่เราจะสิ้นชีวิตนั้น จิตใจของเราประกอบไปด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ประกอบด้วยความห่วงหาอาลัย ไหนจะห่วงลูก ไหนจะห่วงหลาน ไหนจะห่วงทรัพย์สินเงินทอง ไหนจะไม่อยากตาย เกิดความทุลักทุเล เกิดความสับสน เกิดความวุ่นวาย

          แต่เมื่อเราระลึกถึงธรรม คือระลึกถึงทานที่เราเคยให้มาจิตใจมันก็ผ่องใสขึ้นมา ความกระวนกระวายมันก็น้อยลง ระลึกถึงศีลที่ตนเองได้รักษาบริบูรณ์มาก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ตนเองนั้นเกิดความผ่องใส เกิดความปีติขึ้นมา นึกถึงสมาธิที่ตนเองได้ ระลึกถึงวิปัสสนาญาณ ระลึกถึงมรรคถึงผลที่ตนเองได้แล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของบุคคลนั้นสบายขึ้น ตายก็ถือว่าตาย ถ้าเราตายไปด้วยบุญกุศลนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า “จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา” สุคติคือมนุษย์ สวรรค์ก็สามารถที่จะไปสู่ได้ อันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้

          เพราะฉะนั้นการระลึกถึงพระธรรมในวันสำคัญในคืนวันอาสาฬห นี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่พวกเราทั้งหลายจะต้องทำให้เกิดให้มีขึ้นในจิตในใจของเรา

          การระลึกถึงพระสงฆ์นั้นถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่าพระสงฆ์นั้นถือว่าเป็นรัตนะอีกประการหนึ่งในพุทธศาสนา ขณะที่เราจวนจะสิ้นชีวิตนั้นถ้าเราระลึกถึงพระสงฆ์ก็ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า ก่อนที่บุคคลจะตายนั้นมีนิมิตปรากฏขึ้นมา เป็นกรรมบ้าง เป็นกรรมนิมิตบ้าง เป็นคตินิมิตบ้าง กรรมก็คือเราคิดถึงบุญคิดถึงบาปที่เราเคยทำมา กรรมนิมิตคือเราจะนิมิตเห็นบาปกรรมที่เราทำมา เราจะนิมิตเห็นบุญที่เราเคยทำมา อย่างเช่นระลึกถึงบาปกรรมเราก็จะเห็นศาสตราอาวุธ เห็นเลือดเห็นสิ่งที่เราเคยประหัตประหารสิ่งที่เราเคยทำบาปมา กรรมนิมิตในทางบุญก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเห็น พระสงฆ์องค์เณร  เห็นแม่ชีเป็นต้น เรียกว่ากรรมนิมิตมันปรากฏขึ้นมา

          ขณะที่นิมิตที่ดีปรากฏขึ้นมานั้นจิตของเรามันดับลงไป เมื่อจิตของเรามันดับลงไป จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติก็จะต้องเป็นอันที่เราจะต้องไปต้องถึงได้ เหตุนั้นการระลึกถึงพระพุทธเจ้าก็ดี พระธรรมก็ดี พระสงฆ์ก็ดีในวันอาสาฬหบูชานี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่เราทั้งหลายชาวพุทธนั้น จะช่วยกันรักษาไว้เป็นประเพณี เป็นแบบอย่างให้อนุชนรุ่นหลังได้ประพฤติปฏิบัติตามเพื่อที่จะทำพระพุทธศาสนาของเรานั้นให้เจริญรุ่งเรือง เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ลูกหลานสืบทอด ให้ลูกให้หลานนั้นได้อาศัยเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรในพุทธศาสนานี้ต่อไปชั่วกาลนาน

          เท่าที่อาตมาได้บรรยายธรรมะในวันอาสาฬหบูชาธรรมะยามเย็น ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลาในท้ายที่สุดนี้ก็ขอให้ญาติโยมผู้ที่สนใจสดับรับฟังพระธรรมเทศนานี้ จงเป็นผู้ที่เพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยจตุรพิธพรชัยทั้ง ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ ธรรมสารสมบัติ ขอให้ญาติโยมทั้งหลายนั้นจงเป็นผู้ที่โชคลาภร่ำรวย มั่งมีศรีสุข เจริญในหน้าที่การงานตลอดไป ความคิดใดปรารถนาใดที่เป็นไปด้วยชอบประกอบไปด้วยกุศลธรรม ก็ขอความคิดนั้นปรารถนานั้นจงพลันสำเร็จ พลันสำเร็จ ในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ขอให้ญาติโยมทั้งหลายนั้นจงเป็นผู้สมบูรณ์ไปด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา สามารถที่จะนำตนออกจากทุกข์ ถึงสุขอันไพบูลย์ กล่าวคือมรรคผลนิพพานด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.