อารยธรรม
ขอนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปนานแล้วพระองค์นั้น พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ ด้วยเศียรเกล้า ขอโอกาสคณะสงฆ์และขอเจริญพรญาติโยมทั้งหลายผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทุกรูปทุกท่าน
วันนี้กระผมมีโอกาสได้มาบรรยายธรรมประกอบการประพฤติปฏิบัติธรรมของคณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายอีกวาระหนึ่ง ซึ่งวันนี้เกล้ากระผมก็จะน้อมนำเอาธรรมะในเรื่องอารยธรรมมาบรรยายประกอบการประพฤติปฏิบัติธรรมของท่านทั้งหลายสืบไป
คำว่า “อารยธรรม” นั้น หมายความได้หลายประการ ประการที่ ๑ หมายความว่า ธรรมที่ห่างไกลจากกิเลส ถ้าบุคคลใดมีอารยธรรมอยู่ในหัวใจ มีอารยธรรมอยู่ในสันดานแล้ว บุคคลนั้นก็จะห่างไกลจากความโลภ ห่างไกลจากความโกรธ ห่างไกลจากความหลง ห่างไกลจากมานะ ทิฏฐิ ความถือตัว ห่างไกลจากความผูกโกรธ ห่างไกลจากความหดหู่ท้อถอย ห่างไกลจากความฟุ้งซ่าน ห่างไกลจากความสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สรุปความแล้วก็คือห่างไกลจากกิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด แล้วอารยธรรมนั้นท่านยังหมายความว่า เป็นธรรมที่ปราศจากโรค
โรคในที่นี้มีอยู่ ๒ ประการ คือ
ประการที่ ๑ โรคภายนอก เรียกว่ากายิกโรโค โรคกาย โรคกายก็คือโรคทีเราได้รับความทุกข์ทรมานอย่างที่เราเห็นมาแล้วนี่แหละ มีตาก็เป็นโรคตา มีหูก็เป็นโรคหู มีจมูกก็เป็นโรคจมูก มีตับก็เป็นโรคตับ มีปอดก็เป็นโรคปอด มีหัวใจก็เป็นโรคหัวใจ เป็นต้น อันนี้เรียกว่า โรคภายนอก เราก็ได้รับความทุกข์ทรมานมาตามบุญตามกรรมที่เราได้สั่งสมอบรมมา
ประการที่ ๒ คือ เจตสิกโรโค โรคใจ โรคใจของเรานี้ก็หมายถึงกิเลส กิเลสที่มีอยู่ในหัวใจของเรานี้ถือว่าเป็นโรค บางคนร่างกายอาจจะแข็งแรงดี มีพละกำลังดี เป็นนักกีฬาโอลิมปิก อย่างนี้ก็มี
แต่ว่าถ้าใจของบุคคลนั้นขาดธรรม คือจิตใจของบุคคลนั้นมีโรคคือกิเลสนั้นแทรกแซง บุคคลนั้นก็หาความสุขได้ยาก อย่างเช่นเราเห็นบุคคลผู้ที่ฆ่าตัวตายก็ดี บุคคลที่ไปปล้นธนาคารก็ดี บุคคลผู้ที่ข่มขืนรำเราบุคคลอื่น หรือว่าบุคคลผู้ที่ไปก่อความวุ่นวายเดือดร้อนฆ่าบุคคลอื่นอย่างที่เราเห็นอยู่ในภาคใต้ อันนี้ก็เป็นเพราะโรคคือกิเลส เป็นเหตุให้บุคคลทำไปต่าง ๆ นา ๆ ตามอำนาจของกิเลส โรคภายในนี้จึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่าโรคภายนอก
แต่ถ้าบุคคลใดมีใจประกอบไปด้วยอารยธรรมแล้ว บุคคลนั้นก็จะมีใจห่างไกลจากกิเลสทั้งหลายเหล่านี้ เมื่อจิตใจห่างไกลจากกิเลสทั้งหลายเหล่านี้ ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่าอารยชน เรียกว่าชนผู้ห่างไกลจากโรคคือกิเลส แล้วก็อารยธรรมนั้นท่านยังแปลไว้อีกว่าเป็นธรรมที่ปราศจากฝน ฝนในที่นี้หมายถึงฝนภายในคือกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด ไม่ใช่หมายถึงฝนภายนอกคือน้ำฝน แต่หมายถึงฝนคือกิเลส เปรียบเหมือนบุคคลผู้ที่มีบ้านมีเรือน
เมื่อมีบ้านมีเรือนแล้วมุงเรือนไม่ดี มุงบ้านไม่ดี มุงห่าง ๆ หรือว่ากระเบื้องแตก สังกะสีเป็นรู เมื่อฝนตกลงมาแล้วน้ำฝนมันก็ต้องรั่วใส่เรือนของเรา เมื่อรั่วใส่เรือนของเราแล้วเจ้าของบ้านก็ต้องตื่น เพราะสิ่งของมันเปียกน้ำฝน เมื่อสิ่งของเปียกน้ำฝน เจ้าของนอนหลับอยู่ก็ต้องตื่นดึกดื่นเที่ยงคืนก็ต้องลุกขึ้นมาเก็บสิ่งเก็บของ ก็ได้รับความทุกข์ อันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ในธรรมบท ขุททกนิกาย เป็นอุทาหรณ์ว่า “ยถา อคารํ ทุจฺฉนฺนํ” เป็นต้น
ซึ่งแปลเป็นใจความได้ว่า “ฝนย่อมรั่วรดเรือนของบุคคลผู้ที่มุงไม่ดี ฉันใด กิเลสมีราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ย่อมรั่วรดใจของบุคคลผู้ไม่เจริญสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน ฉันนั้น ฝนย่อมไม่รั่วรดเรือนที่มุงดีแล้วฉันใด กิเลสมีราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ก็ไม่รั่วรดใจของบุคคลผู้ได้อบรมดีคือได้เจริญสมถกรรมฐานเจริญวิปัสสนากรรมฐานมาดีฉันนั้นเหมือนกัน”
อันนี้ก็แสดงให้เราเห็นได้ว่า ถ้าจิตใจของเรามุงดี คือมุงด้วยการเจริญสมถกรรมฐานอย่างที่ญาติโยมกำลังทำอยู่นี้ กิเลสมันก็ไม่รบกวนจิตใจของเรา เราก็พอที่จะบรรเทา หรือว่าเลิก หรือว่าลด หรือว่าละมันได้ตามบุญวาสนาบารมีของเรา แล้วก็อารยธรรมนั้น ท่านยังแปลไว้ว่าเป็นธรรมที่ประเสริฐ คือถ้าใจของบุคคลใดประกอบไปด้วยอารยธรรมแล้ว ใจของบุคคลนั้นก็จะเป็นใจที่ประเสริฐ วาจาก็เป็นวาจาที่ปรเสริฐ กายก็เป็นกายที่ประเสริฐ จะเป็นที่สักการะ เคารพ นับถือของญาติโยม เป็นที่นับถือของเพื่อนบ้าน เป็นที่นับถือของประชาชนคนทั่วไป เรียกว่าถ้าอยู่ในบ้านใดตำบลใดก็จะเป็นศักดิ์เป็นศรีเป็นเกียรติแก่หมู่บ้านตำบลนั้น พาหมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด ประเทศนั้นเจริญรุ่งเรือง เพราะประกอบไปด้วยอารยธรรม
แล้วอารยธรรมนั้นท่านยังแปลว่าเป็นธรรมที่สะอาด คือถ้าจิตใจของท่านใด จะเป็นหญิงเป็นชาย จะเป็นพระเป็นโยม เป็นคนต่างชาติหรือว่าคนในชาติของเราก็ตาม ถ้าประกอบไปด้วยอารยธรรมแล้วจะทำให้กาย วาจา ใจ ของบุคคลนั้นสะอาด ปราศจากกิเลส ปราศจากความเศร้าหมอง ปราศจากมลทินทั้งหลายทั้งปวง เพราะฉะนั้น อารยธรรมนั้น เมื่อมีอยู่ในขันธสันดานของบุคคลใดแล้ว บุคคลนั้นจึงชื่อว่าอารยชน คือชนผู้ห่างไกลจากความไม่ดีทั้งหลายทั้งปวง อารยธรรมนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ ๖ ประการ คือ ๑ อักโกธโน เป็นผู้ไม่โกรธ ๒ อนุปปนาหี เป็นผู้ไม่ผูกโกรธ ๓ อมักขี เป็นผู้ไม่ลบหลู่บุญคุณท่าน ๔ สุคตํ คโต เป็นผู้ถึงความบริสุทธิ์ ๕ สัมปันนทิฏฐิ เป็นผู้มีทิฏฐิอันบริบูรณ์ดี ๖ เมธาวี เป็นผู้มีปัญญา
อารยธรรมข้อที่ ๑ อักโกธโน เป็นผู้ไม่โกรธ ความไม่โกรธก็คือ อโทสเจตสิก ๆ ก็คือเมตตานั่นเอง คือความไม่โหดร้าย ความไม่พิโรธ ความไม่แค้นเคือง ความไม่พยาบาท อันนี้เรียกว่า อโทสเจตสิก ก็คือเมตตานั่นเอง ถ้าบุคคลใดมีเมตตาประจำขันธสันดานแล้ว บุคคลนั้นไม่โกรธตอบบุคคลอื่น ก็ถือว่าเป็นบุคคลผู้ที่ทำให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง ทำให้คนที่อาศัยอยู่ด้วยกันนั้นเกิดเมตตาเกิดสงสารกัน เกื้อกูลกันอนุกูลต่อกันเหมือนกับบุคคลผู้เกิดจากท้องมารดาเดียวกัน มองกันด้วยความรักใคร่ เพราะอะไร เพราะว่ามีเมตตาก็ทำให้เกิดความสุข
เหมือนกับภารทวาชพราหมณ์เกิดความโกรธต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยากจะไปถามปัญหาต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะสามารถตอบปัญหาของเขาได้ไหม เมื่อไปถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่ ภารทวาชพราหมณ์ก็ไปยืนถามว่า ข้าแต่พระสมณะโคดม ฆ่าอะไรได้ถึงจะอยู่เป็นสุข องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่า โกธํ ฆตฺวา สุขํ เสติ ฆ่าความโกรธได้จึงจะอยู่เป็นสุข แล้วภารทวาชพราหมณ์ก็ถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไปอีกว่า ข้าแต่พระสมณะโคดม ฆ่าอะไรได้จึงจะไม่เศร้าโศก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสว่า โกธํ ฆตฺวา น โสจติ ฆ่าความโกรธได้จึงจะไม่เศร้าโศก เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภารทวาชพราหมณ์นั้นได้เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธ เลื่อมใสในพระธรรม เลื่อมใสในพระสงฆ์ แล้วก็ออกบวช ในที่สุดก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาน ก็เพราะความไม่โกรธ คือความเป็นคนที่ประกอบไปด้วยเมตตา แต่ว่าหลักการที่จะทำให้เราประกอบไปด้วยเมตตานั้น ท่านกล่าวไว้หลายอย่าง คือ
ประการที่ ๑ คือเรานั้นต้องเป็นผู้ประกอบไปด้วยโยนิโสมนสิการ คือเป็นผู้ใคร่ครวญให้ดี ใคร่ครวญรูปให้ดี ใคร่ครวญเสียงให้ดี ใคร่ครวญกลิ่นให้ดี ใคร่ครวญรสให้ดี ใคร่ครวญการสัมผัส ใคร่ครวญธรรมารมณ์ให้ดี ไม่เป็นผู้ที่ด่วนใจง่าย คือไม่เป็นผู้ที่คิดไว ต้องพิจารณาให้แยบยลเสียก่อน เมื่อเราพิจารณาให้แยบยลเสียก่อน ความโกรธมันก็ไม่เกิดขึ้นมา
ประการที่ ๒ ท่านให้เราเรียนวิธีแผ่เมตตา เหมือนกับเราเรียนอยู่นี่แหละ แผ่เมตตาให้ตนเอง อหํ สุขิโต โหมิ แล้วก็แผ่เมตตาเป็นเมตตาโดยไม่มีประมาณ ว่า สพฺเพ สตฺตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง หรือว่าสัตว์ทุกจำพวกทุกชาติชั้นวรรณะ นี่เราแผ่ไปโดยไม่มีประมาณ แล้วเราก็แผ่โดยเจาะจงบิดามารดาปู่ย่าตายายแล้วเรามาอธิษฐานจิตว่าให้เรานั้นได้บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นต้น อันนี้เรียกว่าเราเรียนวิธีแผ่เมตตา
ประการที่ ๓ ท่านให้เรานั้นได้เจริญเมตตาภาวนาทุกวัน คือให้เราเจริญเมตตาภาวนาทุกวัน ทำจิตทำใจของเราให้รักใคร่ในสรรพสัตว์ทั้งหลายทุกวัน ทำจิตทำใจของเราให้รักใคร่ในเพื่อนพรหมจารีในผู้ที่มาถวายทานทุกวัน ไม่ให้จิตใจของเราประกอบไปด้วยความโกรธหรือว่าความเคียดแค้น เจริญเมตตาภาวนาทุกวัน
ประการที่ ๔ ท่านให้เราพิจารณากรรมเป็นของ ๆ ตน ว่าเรามีกรรมเป็นของ ๆ ตน
ประการที่ ๕ ท่านให้เราพิจารณากรรมของตนเองและกรรมของสัตว์อื่นว่าเราก็มาเพราะกรรมของเรา สัตว์อื่นก็มาเพราะกรรมของสัตว์อื่น เราจะไปเราก็ไปเพราะกรรมของเรา เขาก็ไปเพราะกรรมของเขา ตามเวรตามกรรมของแต่ละคน ในเมื่อเราพิจารณากรรมของตนเองและบุคคลอี่นอย่างนี้ จิตใจของเราก็จะตั้งอยู่ในอารมณ์ที่เป็นกลางแล้วก็เกิดเมตตาขึ้นมา
ประการที่ ๖ ท่านให้เราคบกับกัลยาณมิตร คือคบกับคนที่ไม่ชอบโกรธ บุคคลไหนที่ชอบโกรธชอบหงุดหงิดชอบรำคาญบ่อย ๆ เราก็ไม่เข้าใกล้ เราก็ถอยออก ถ้าเราเข้าใกล้คนหงุดหงิดเราก็พลอยหงุดหงิดไปด้วย
ประการที่ ๗ ท่านให้เรานั้นสนทนาธรรมกันแต่ในสิ่งที่จะไม่เกิดความทะเลาะเบาะแว้ง สิ่งที่สนทนากันแล้วมันเกิดการขัดเคืองกันขึ้นมา เกิดการทะเลาะกันขึ้นมาเราก็หยุด เราก็ไม่สนทนากัน มันก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดเมตตาอารีย์ซึ่งกันและกันขึ้นมา
ประการที่ ๘ ท่านให้พวกเรานั้นเจริญวิปัสสนากรรมฐานเป็นประจำ เจริญวิปัสสนากรรมฐานอยู่เนืองนิตย์ ถ้าเราเจริญวิปัสสนากรรมฐานอยู่เนืองนิตย์แล้ว ใจของเราก็จะประกอบไปด้วยเมตตา เพราะว่าขณะที่เราเจริญกรรมฐานนั้นเรามีรูปมีนามเป็นอารมณ์ ขณะที่เราขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เราก็มีรูปเป็นอารมณ์ ใจของเราก็ไม่ไปโกรธไปเคืองไปคิดหาอารมณ์ภายนอก ขณะที่เรากำหนดอาการพองอาการยุบ พองหนอ ยุบหนอ ใจของเราไม่ประกอบไปด้วยความโกรธ ไม่ประกอบไปด้วยความโลภ ไม่ประกอบไปด้วยความหลง ไม่ประกอบไปด้วยความรักความชัง จิตใจของเราก็ประกอบไปด้วยเมตตา เพราะฉะนั้นก็ขอให้เราเจริญเมตตาเป็นประจำ อันนี้เป็นคุณธรรมข้อที่ ๑ คืออักโกธโน คือความไม่โกรธ ในเรื่องนี้มีอุทาหรณ์คือเรื่องของพระสารีบุตร
คือในสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ที่พระเชตวันใกล้เมืองสาวัตถี ในสมัยนั้นพระสารีบุตรก็อยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอถึงตอนเช้าพระสารีบุตรก็ได้ออกมาบิณฑบาต พระสารีบุตรนั้นเป็นผู้ที่ญาติโยมทั้งหลายเคารพนับถือยกย่องสรรเสริญว่าพระสารีบุตรนี้เป็นผู้ที่มีคุณธรรมล้ำลึก เป็นผู้ไม่มีราคะ เป็นผู้ไม่มีโทสะ เป็นผู้ไม่มีโมหะ เป็นผู้ไม่โกรธ บุคคลอื่นเขาจะพูดอย่างไรจะทำอย่างไรพระสารีบุตรก็ไม่โกรธ วันหนึ่งพราหมณ์มิจฉาทิฏฐิคนหนึ่งได้ยินคำเขาสรรเสริญพระสารีบุตรอย่างนั้นก็เลยอยากจะลองดี อยากจะลองดูว่าพระสารีบุตรนั้นไม่โกรธจริงอย่างที่ญาติโยมเขาเล่าขานกันหรือเปล่า
วันนั้นพระสารีบุตรก็มาบิณฑบาตตามหนทางที่ท่านเคยมา พราหมณ์นั้นก็แอบซุ่มอยู่ข้างทาง พอพระสารีบุตรเดินผ่านไปแล้ว พราหมณ์ก็ย่อง ๆ ไปข้างหลัง เอากำปั้นใหญ่ซัดลงไปกลางหลังของท่าน พระสารีบุตรก็เฉยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นมา ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นมา ไม่เหลียวมองหลังเลย เดินไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น พราหมณ์คนนั้นก็เกิดความอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่งว่า พระสารีบุตรนี้มีพระคุณอันล้ำลึกเหมือนกับที่ชาวบ้านเล่าขานกันจริง ๆ ท่านไม่โกรธ ไม่มองเลยว่าใครมาตีท่าน ไม่อยากจะมองดูเลย แล้วก็เกิดความร้อนจิตร้อนใจ ก็เลยเข้าไปกราบแทบเท้าของท่าน ขออโหสิกรรม ขอขมาลาโทษ ท่านก็อโหสิกรรมให้ พราหมณ์คนนั้นก็ได้นิมนต์ท่านไปฉันที่บ้าน แล้วก็ปวารณาตนเป็นอุปัฏฐาก เมื่อปวารณาตนเป็นอุปัฏฐากแล้ว พระสารีบุตรก็แสดงธรรมให้ฟัง ในไม่ช้าไม่นานอุบาสกคนนั้นก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน อันนี้เป็นคุณของความไม่โกรธ ถ้าบุคคลใดไม่โกรธแล้วก็ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลอื่นนั้นเกิดศรัทธาเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา อย่างพราหมณ์มิจฉาทิฏฐิมาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเพราะพระสารีบุตรไม่โกรธนั่นแหละ อันนี้เป็นอารยธรรมข้อที่ ๑
อารยธรรมข้อที่ ๒ ก็คือ อนุปปนาหี คือการไม่ผูกโกรธ คือการผูกโกรธนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี การผูกโกรธกัน การพยาบาทกัน เป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะว่าบุคคลผู้ที่โกรธตอบนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่าเลวกว่าบุคคลผู้ที่โกรธก่อน ดังที่พระองค์ตรัสเป็นพระบาลีว่า “ตสฺเสว เตน ปาปิโย โย กุทฺธํ ปฏิกุชฺฌติ” ซึ่งแปลเป็นใจความว่า “บุคคลใดโกรธตอบบุคคลผู้ที่โกรธก่อนแล้ว บุคคลนั้นเลวยิ่งกว่าบุคคลผู้ที่โกรธก่อน”
ทำไมพระองค์จึงตรัสเช่นนั้น เพราะว่าบุคคลผู้ที่โกรธก่อนนั้น เรารู้ว่าเขามาโกรธเรา แล้วเราโกรธตอบ ถ้าเราโกรธตอบ เราก็เป็นผู้ที่มุ่งจะประหารเขา มุ่งจะตี มุ่งจะฆ่ามุ่งจะด่า มุ่งจะทำร้ายทางกาย วาจา ใจ ต่อเขา เรียกว่าเรามุ่งไม่ดี จิตใจของเราก็ประกอบไปด้วยบาปด้วยอกุศลจิต เพราะฉะนั้นท่านจึงอุปมาอุปไมยเหมือนกับเราไปจับเอาก้อนเหล็กแดงที่ร้อนโชนก็ทำให้ก้อนเหล็กแดงนั้นมันไหม้มือเรา หรือท่านอุปมาอุปมัยเหมือนกับว่าเราไปจับก้อนคูถ มีแต่จะเหม็นมือของเราเปล่า ๆ
ถ้าเราโกรธตอบแล้วท่านจะอุปมาอุปไมยเหมือนเราไปเอาซากศพหมาเน่า ซากศพสัตว์เน่า กาเน่า งูเน่า มาผูกไว้ที่คอของเรา รังแต่จะทำให้เราเกิดความทุกทรมาน เกิดความเหม็นเปล่า ๆ เพราะว่าการผูกโกรธนั้นไม่มีประโยชน์แม้แต่นิดหนึ่ง เพราะว่าการผูกโกรธกันก็เหมือนกับการใส่ฟืนไปในกองไฟ ยิ่งใส่เข้าไปมันก็ยิ่งลุกไม่มีวันมอด เหมือนกับพระเทวทัตจองอาฆาตจองเวรแก่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นแหละ โกรธพระพุทธเจ้าแล้วก็กำทรายขึ้นมา แล้วก็ผูกอาฆาตพระพุทธเจ้าว่า ขอให้ข้าพเจ้าจงจองเวรจองกรรมกับพระพุทธเจ้าเท่ากับเมล็ดทรายในกำมือนี้แหละทุกภพทุกชาติ คิดดูซิว่าเมล็ดทรายในกำมือหนึ่งนั้นจะมากมายขนาดไหน ก็เลยเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดเป็นคู่อริขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในที่สุดก็ต้องไปเกิดในอเวจีมหานรก ทั้ง ๆ ที่ตนเองได้บวชในพระพุทธศาสนา ทันเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ต้องไปเกิดในอเวจีมหานรก เพราะอะไร เพราะว่า เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
น หิ เวเรน เวรานิ สมฺมนฺตีธ กุทาจนํ
อเวเรน จ สมฺมนฺติ เอส ธมฺโม สนนฺตโนติ.
ซึ่งแปลว่า “ในกาลไหน ๆ เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่เวรนั้นย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร นี่เป็นธรรมเก่า” เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ควรจองเวรกัน แต่ถ้าจองเวรกัน เวรนั้นมันก็จะสืบเนื่องกันไปเหมือนกับหมีกับไม้สะคร้อ กากับงูเห่า เห็นกันไม่ได้ ต้องโกรธเคืองกัน ต้องประหัตประหารกัน เพราะฉะนั้น การจองเวรกันนั้นจึงไม่ดี การผูกโกรธนั้นจึงไม่ดี ในเรื่องนี้มีเรื่องที่ท่านเล่าไว้ในธรรมบทขุททกนิกาย คือเรื่องนางสามาวดี
นางสามาวดีนั้นเป็นพระมเหสีของพระเจ้าอุเทน แต่พระเจ้าอุเทนนั้นมีภรรยาหลายคนคือมีนางมาคันทิยาด้วย นางมาคันทิยานี้มาทีหลังนางสามาวดี มาแล้วก็อิจฉานางสามาวดี นางสามาวดีนี้เป็นผู้ที่มีกิริยามารยาทงาม รูปก็งามด้วย กิริยามารยาทก็งามด้วย พระเจ้าอุเทนก็เลยชอบ เวลาไปนอนก็ไปนอนที่ปราสาทของพระนางสามาวดี นางมาคันทิยาก็เลยโกรธ หาเรื่องกลั่นแกล้ง แม้แต่จะฆ่าพระนางสามาวดีก็เคย บางครั้งก็เอาน้ำร้อน ๆ นี่แหละเทราดศีรษะของนางสามาวดี แต่นางสามาวดีนั้นแผ่เมตตา แผ่เมตตาไปให้นางมาคันทิยา น้ำร้อน ๆ ก็กลายเป็นน้ำเย็นดุจน้ำแข็ง หรือพระเจ้าอุเทนนั้นโก่งธนูเพื่อที่จะยิงไปตรงพระอุระหรืออกของนางสามาวดี ขณะที่ปล่อยลูกศรไป ลูกศรที่ไม่มีชีวิตจิตใจนี่แหละ เมื่อพระเจ้าอุเทนปล่อยไปใส่พระนางสามาวดี ลูกศรที่ไม่มีจิตใจนั้นก็ยังย้อนกลับมาหาพระเจ้าอุเทน เกือบที่จะถูกพระเจ้าอุเทน เพราะอะไร ? เพราะว่าเมตตาของพระนางสามาวดี
หรือเรื่องของนางอุตตรา ที่นางสิริมาเทน้ำมันร้อน ๆ ราดใส่ น้ำมันร้อน ๆ นั้นก็กลายเป็นน้ำเย็น เพราะฉะนั้น เมตตานั้น ความไม่ผูกโกรธนั้นจึงถือว่าเป็นอารยธรรมที่สำคัญที่จะทำให้คนรักกันคนสมานกัน ผลสุดท้ายนางมาคันทิยาก็ต้องได้รับทุกทรมาน ต้องไปเกิดในอเวจีมหานรก ส่วนนางสิริมาที่เทน้ำร้อนราดนางอุตตรานั้นก็ได้เกิดสำนึกได้ขอขมาลาโทษ เมื่อขอขมาลาโทษแล้วนางอุตตราก็บอกว่า ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะอดโทษให้ท่านได้หรอก แต่ถ้าท่านอยากจะให้ข้าพเจ้าอดโทษให้นั้น ท่านจงไปขอโทษกับบิดาของข้าพเจ้า บิดาของท่านคือใคร ? บิดาของข้าพเจ้าก็คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วนางสิริมานั้นก็ไปขอขมาโทษต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแสดงธรรม นางสิริมานั้นก็ได้บรรลุดวงตาเห็นธรรม ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน อันนี้ก็เพราะความไม่โกรธกัน อันนี้เป็นอารยธรรมข้อที่ ๒
อารยธรรมข้อที่ ๓ ก็คือ อมักขี อมักขีก็คือการไม่ลบหลู่บุญคุณท่าน การไม่ลบหลู่บุญคุณนั้นก็มีอยู่ ๔ ประการ คือ
ประการที่ ๑ เราไม่ลบหลู่บุญคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ลบหลู่บุญคุณของพระธรรมพระสงฆ์ เราเข้ามาสู่อาราม เราก็ไม่ควรที่จะใส่หมวก เราไม่ควรที่จะกั้นร่ม เราไม่ถ่มน้ำลายในคลองจักษุของพระพุทธปฏิมากร เราไม่ถ่ายหนักถ่ายเบาใส่ในสิ่งที่มันไม่ควร เราเคารพในลานเจดีย์ ในพุทธสถาน เรามีพุทธคารวตา เคารพในพระพุทธ ธัมมคารวตา เคารพในพระธรรม สังฆคารวตา เคารพในพระสงฆ์ เราเคารพในพระธรรม ไม่กล่าวตู่พระธรรม ไม่เหยียบย่ำพระธรรม ก็เหมือนกับว่าเราเคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ลบหลู่บุญคุณของท่าน
ประการที่ ๒ เราเคารพต่อบิดามารตา กตัญญูกตเวทิตาต่อท่าน ไม่ดูหมิ่นบุญคุณของท่าน คือเราเกิดมาเป็นลูก มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย ก็เพราะอาศัยพ่อแม่เราจึงเกิดมาได้ บางคนเกิดขึ้นมาแล้วว่าพ่อแม่ไม่ให้อะไรเราเลย ทรัพย์สมบัติบาทเดียวก็ไม่ได้ให้ ไม่ได้เลี้ยงเราเลย คลอดเรามาแล้วก็ทิ้งไว้กับตากับยาย พ่อแม่ก็ไปกรุงเทพฯ พ่อแม่นี้ไม่เลี้ยงเราเลย เราจะตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ทำไม บางคนอาจจะคิดอย่างนั้น ที่แม่ให้เรานั้น ให้เราหมดทุกอย่าง อัตภาพร่างกายตั้งแต่พื้นเท้าถึงปลายผม จากปลายผมถึงพื้นเท้านี้ แม่ให้เรามาทั้งหมด ตาลูกหนึ่งนี่เราตีราคาซิว่ามันราคาเท่าไหร่ หูข้างหนึ่งนี่เราจะตัดขายเราตัดได้ไหม ตีราคาเท่าไหร่ แขนก็ดี ขาก็ดีนี่มันราคาเท่าไหร่ มันตีราคาไม่ได้ เพราะฉะนั้น สมบัติที่แม่ให้มานี่ตีราคาไม่ได้ เรามีทรัพย์สินเงินทองอยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่เพราะว่าเรามีตามีมือมีขาหรือ ถ้าเราไม่มีมือมีขาแล้วเราจะหาสมบัติได้อย่างไร เพราะฉะนั้น พ่อแม่นั้นจึงมีบุญคุณมาก ท่านเลี้ยงเรามาแล้วเราควรเลี้ยงท่านตอบ ช่วยทำกิจการงานของท่าน ช่วยดำรงวงศ์ตระกูลของท่าน เราควรประพฤติตนให้เป็นผู้รับมรดกของท่าน เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วเราก็ควรทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ท่าน
ประการที่ ๓ ก็คือ เราไม่ลบหลู่บุญคุณของครูบาอาจารย์ เรามีความรู้ อ่าน ก. ไก่ ข. ไข่ ได้ ก็เพราะครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์นี้ถือว่าเป็นบุรพเทพ คือเทพองค์แรกที่เราต้องเคารพบูชานับถือ เรามีความรู้อยู่ทุกวันนี้ก็เพราะครูบาอาจารย์ เมื่อเรามีความรู้แล้วเราก็เอาความรู้นั้นแหละไปค้าขายไปทำมาหากิน เพราะฉะนั้น ครูบาอาจารย์นั้นจึงถือว่าเป็นผู้จุดแสงสว่างให้แก่บรรดาลูกศิษย์ลูกหา เป็นผู้ทำคุณให้แก่ลูกศิษย์ลูกหา เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ควรลบหลู่บุญคุณของท่าน
ประการที่ ๔ เราไม่ควรลบหลู่บุญคุณของเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ เราควรที่จะซื่อสัตย์จงรักภักดีมีความกตัญญู สุจริตกาย สุจริตวาจา สุจริตใจ ซื่อสัตย์ต่อพระองค์ เพราะว่าพระมหากษัตริย์นั้นเป็นผู้ที่มีคุณอันใหญ่หลวง เป็นผู้ที่เป็นพ่อของประเทศ เป็นผู้ดูแลคนทั้งประเทศ เพราะฉะนั้น ประเทศใดที่มีกษัตริย์ที่ทรงธรรม รักประชาชนเหมือนกับรักลูกของตนเองนั้น ประเทศนั้นถือว่าเป็นประเทศที่มีบุญวาสนาบารมีมาก เพราะฉะนั้น เราเป็นพสกนิกร ควรที่จะต้องเคารพสักการะนับถือภักดีต่อพระองค์ มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อพระองค์ อันนี้เป็นอมักขี เป็นอารยธรรมข้อที่ ๓
อารยธรรมข้อที่ ๔ ก็คือ สุคตํ คโต คือถึงซึ่งความบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์นั้นท่านแบ่งออกเป็น ๓ ขั้น คือขั้นที่ ๑ ขั้นต่ำ ขั้นที่ ๒ ขั้นกลาง ขั้นที่ ๓ ขั้นสูง ขั้นต่ำก็คือบริสุทธิ์ด้วยการรักษาศีล คือเราจะรักษาศีล ๕ ก็ดี รักษาศีล ๘ ก็ดี รักษาศีล ๑๐ ก็ดี หรือว่ารักษาศีล ๒๒๗ ข้อก็ดี เมื่อเรารักษาศีลเหล่านี้แล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กิเลสอย่างหยาบที่จะล่วงออกมาทางกายและวาจานั้น ไม่สามารถที่จะล่วงออกมาได้ กายของเราก็บริสุทธิ์ วาจาของเราก็บริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์กายหรือว่าความบริสุทธิ์วาจานี่แหละเรียกว่าความบริสุทธิ์ขั้นต่ำ ส่วนความบริสุทธิ์ขั้นกลางนั้นก็คือบุคคลผู้ที่เจริญสมถกรรมฐาน จนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปฐมฌาน ทุติยฌาน จตุตถฌาน หรือว่ารูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ขึ้นมา ปลอดจากปริยุฏฐานกิเลส ปลอดจากนิวรณ์ทั้ง ๕ คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา
ถ้าเราสามารถที่จะปลอดจากนิวรณ์ทั้ง ๕ เหล่านี้ด้วยการเจริญสมถกรรมฐานจนเกิดฌานขึ้นมา เรียกว่าเราถึงความบริสุทธิ์อย่างกลางแล้ว ความบริสุทธิ์อย่างสูงก็คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน บริสุทธิ์จากสังโยชน์ ๑๐ ประการ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ราคะ ปฏิฆะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา เราสามารถที่จะละสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ประการนี้ให้หมดไปจากจิตจากใจ เรียกว่า เป็นผู้บริสุทธิ์อย่างสูงสุด เข้าสู่ความบริสุทธิ์อย่างถาวร ความบริสุทธิ์อย่างนี้จะเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
เหมือนอย่างญาติโยมที่กำลังมาเจริญสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน การที่พระเดชพระคุณหลวงพระเจ้าคุณพระบวรปริยัติวิธานสอนการเดินจงกรมก็ดี นั่งภาวนาก็ดีให้แก่คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมนี้ไม่ใช่สอนวิปัสสนาอย่างเดียว ถ้าบุคคลใดมีบุญวาสนาบารมีที่จะยังฌานให้เกิดขึ้นมาก็สามารถที่จะยังฌานให้เกิดขึ้นมาได้ แต่ถ้าบุคคลใดบำเพ็ญบารมีทางวิปัสสนามามาก ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลนั้นมาทางวิปัสสนากรรมฐาน เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐาน ๔ แบบที่พวกเรากำลังทำอยู่นี้ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ นี่เป็นได้ทั้งสมถะเป็นได้ทั้งวิปัสสนากรรมฐาน เพราะฉะนั้น ก็ถือว่าพวกเรานั้นมาทำความบริสุทธิ์ทั้งอย่างต่ำ อย่างกลาง อย่างสูง พร้อมกันไปทีเดียว ถ้าเราทำความบริสุทธิ์ทั้ง ๓ ประการนี้ให้เกิดขึ้นมาได้ก็ถือว่าเรานั้นได้ดำรงอยู่ในอารยธรรมข้อที่ ๔ แล้ว
อารยธรรมข้อที่ ๕ ก็คือ สัมปันนทิฏฐิ คือมีทิฏฐิสมบูรณ์บริบูรณ์ดี ทิฏฐินั้นก็คือความเห็น ยังไม่เป็นความเห็นดีหรือว่าความเห็นชั่ว แต่ถ้าเราเอามิจฉาทิฏฐิมาต่อจึงจะเป็นความเห็นที่ไม่ดี เรียกว่าความเห็นผิด แต่ถ้าเราเอาสัมมาทิฏฐิมาต่อ ก็จะเป็นความเห็นที่ถูกต้อง เรียกว่าความเห็นชอบ เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ แต่ในที่นี้ท่านกล่าวถึงสัมปันนทิฏฐิคือทิฏฐิที่ถึงพร้อมอันบริบูรณ์ดี เรียกว่าทิฏฐิที่สมบูรณ์ ทิฏฐิที่สมบูรณ์นั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้หลายประการ เช่น บุคคลผู้ที่จะถึงทิฏฐิสมบูรณ์นั้น
ประการที่ ๑ ต้องเป็นผู้ที่พิจารณากัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐิ คือต้องเป็นผู้ที่มีความเห็นว่าเรานั้นมีกรรมเป็นของ ๆ ตน เราทำกรรมดีเราก็ได้รับผลดี เราทำกรรมชั่วเราก็ได้รับผลชั่ว ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ
กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ.
ซึ่งแปลว่า “บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น บุคคลทำกรรมดีก็ย่อมได้รับผลดี บุคคลทำกรรมชั่วก็ย่อมได้รับผลชั่ว” อันนี้มันเป็นของที่เป็นสัจจธรรม เราปลูกอ้อยเราก็ได้อ้อย เราปลูกมันเราก็ได้มัน เราปลูกมะละกอเราก็ได้มะละกอ เราทำบาปอย่างไรเราก็ต้องได้รับบาปอย่างนั้น เราทำบุญไว้เราก็ต้องได้รับอานิสงส์ของบุญแน่นอน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ประการที่ ๒ ก็คือฌานสัมมาทิฏฐิ คือบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีความเชื่อว่าการเจริญสมถกรรมฐานนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้เกิดฌานจริง ๆ เมื่อมีความเชื่อว่าการเจริญสมถกรรมฐานทำให้เกิดฌานแล้วก็ลงมือเจริญสมถกรรมฐานจนได้ฌาน อันนี้เรียกว่าสัมปันนทิฏฐิข้อที่ ๒
ประการที่ ๓ คือ วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ คือบุคคลผู้ที่มีความเชื่อว่าการเจริญวิปัสสนากรรมฐานเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปัสสนาญาณจริง เมื่อเกิดวิปัสสนาญาณจริงแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ยังโคตรภูญาณให้เกิดขึ้นมาได้ ยังมรรคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณให้เกิดขึ้นมาได้ เรียกว่าวิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ แล้วก็ลงมือเจริญวิปัสสนากรรมฐาน อันนี้เรียกว่าสัมปันนสัมมาทิฏฐิข้อที่ ๓
ประการที่ ๔ ก็คือ มัคคสัมมาทิฏฐิ คือเป็นผู้ที่สามารถเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ยังวิปัสสนาญาณข้อ ๑๔ คือมรรคญาณนั้นให้เกิดขึ้นมาได้ เมื่อบุคคลใดยังมรรคญาณให้เกิดขึ้นมาในจิตในใจแล้ว บุคคลนั้นก็จะเป็นผู้มีความเห็นชอบ มีความเห็นตรง มีความเห็นที่มั่นคงต่อพระพุทธศาสนา เรียกว่าเป็นสัมปันนทิฏฐิข้อที่ ๔
ประการที่ ๕ ก็คือ ผลสัมมาทิฏฐิ หมายถึงบุคคลผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมจนไปถึงวิปัสสนาญาณที่ ๑๕ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้เข้าสู่ผลสมาบัติ เมื่อเข้าสู่ผลสมาบัติ ได้เสพ ได้เสวยอารมณ์ของพระนิพพาน อารมณ์ของพระนิพพานนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่าไม่เหมือนท้องฟ้า ไม่เหมือนทะเล ไม่เหมือนภูเขา ไม่เหมือนสิ่งใดในโลก เพราะว่าสิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้ไม่มีในพระนิพพาน เหมือนกับว่าเต่าซึ่งเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เต่านั้นลงไปในน้ำ
เมื่อเต่าลงไปในน้ำปลาก็ถามเต่าว่า เต่า อยู่บนบกนั้นมีอะไรบ้าง มีสาหร่ายไหม ? เต่าก็บอกว่าไม่มี มีปะการังไหม ? ไม่มี มีอย่างโน้นมีอย่างนี้ไหม ? ก็ไม่มี เพราะว่าปลาก็เอาแต่สิ่งที่มีอยู่ในน้ำมาถามเต่า เต่าก็บอกว่า ไม่มี ๆ ๆ สิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้ไม่มีในพระนิพพาน เพราะพระนิพพานนั้นเป็นที่ดับรูป ดับเวทนา ดับสัญญา ดับสังขาร ดับวิญญาณ ถ้าบุคคลใดสามารถที่จะเจริญวิปัสสนากรรมฐานผ่านวิปัสสนาญาณไปถึงวิปัสสนาญาณที่ ๑๕ คือผลญาณ บุคคลนั้นก็จะเข้าใจว่าอารมณ์ของพระนิพพานที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร บุคคลนั้นก็จะมีความเห็นอย่างถูกต้อง มีความเห็นอย่างบริบูรณ์ อันนี้เรียกว่าสัมปันนทิฏฐิข้อที่ ๕
ประการที่ ๖ ปัจจเวกขณสัมมาทิฏฐิ คือเป็นผู้ที่เจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนมาถึงวิปัสสนาญาณที่ ๑๖ เมื่อบุคคลใดเจริญวิปัสสนามาถึงวิปัสสนาญาณที่ ๑๖ บุคคลนั้นก็ย่อมพิจารณากิเลสที่ตนเองละได้แล้วและกิเลสที่ยังเหลืออยู่ว่ามันเหลือกี่ตัว เราละได้แล้วกี่ตัว แล้วก็พิจารณามรรค พิจารณาผล แล้วก็พิจารณานิพพานที่ตนเองได้เข้าถึง ถ้าบุคคลใดประกอบไปด้วยความเห็นอย่างที่กล่าวมาแล้วนี้แหละ เรียกว่าเป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยสัมปันนทิฏฐิ คือมีความเห็นบริบูรณ์
อย่างคณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมกำลังมาประพฤติปฏิบัตินี่แหละ ถือว่าเรามาประพฤติปฏิบัติเพื่อที่จะมาทำความเห็นของเราให้ตรง ทำความเห็นของเราให้บริบูรณ์ แต่ถ้าบุคคลใด ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เป็นต้น ความเห็นของบุคคลนั้นยังไม่ถือว่าเป็นความเห็นที่ตรง อาจจะไปนับถือศาสนาอื่นก็ได้ ศรัทธาในขณะนี้ยังไม่เป็นอลจศรัทธา ยังเป็นปกติศรัทธา ยังเป็นศรัทธาธรรมดา อาจจะไปศรัทธาศาสนาของคริสต์ก็ได้อิสลามก็ได้ หรือว่าอาจจะไม่เข้าวัดฟังธรรมก็ได้ เพราะว่ายังเป็นปกติศรัทธา เรียกว่ายังมีความเห็นไม่บริบูรณ์ แต่ถ้าบุคคลใดได้ผ่านการประพฤติปฏิบัติธรรมไปแล้วครั้งหนึ่ง บุคคลนั้นชื่อว่ามีความเห็นอันสมบูรณ์ อันนี้เป็นอารยธรรมข้อที่ ๕
อารยธรรมข้อที่ ๖ ท่านกล่าวไว้ว่า เมธาวี คือเป็นผู้มีปัญญาดี ปัญญาดีในที่นี้นี่ ปัญญานั้นมีมาก สุตมยปัญญาก็มี จินตามยปัญญาก็มี ภาวนามยปัญญาก็มี แต่ในที่นี้จะนำมากล่าว ๓ ประการ คือ
ประการที่ ๑ ปริตตปัญญา ปริตตปัญญาคือปัญญาเล็กน้อย ปัญญาเล็กน้อยนี่หมายถึงปัญญาอะไร ปัญญาเล็กน้อยนี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงหมายถึงปัญญาที่เกิดจากการศึกษาเล่าเรียนพากเพียรปฏิบัติ เกิดขึ้นมาจากการเล่าเรียนเขียนอ่าน จะเป็นปัญญาของนักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก ปัญญาของประโยค ๑-๒ ประโยค ป.ธ.๓ ถึงประโยค ป.ธ.๙ หรือว่าเป็นปัญญาของผู้ที่จบการศึกษา ปวช. ปวส. อุดมศึกษา ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก จบด๊อกเตอร์ ก็ถือว่าเป็นปริตตปัญญา เป็นปัญญานิดหน่อย ปัญญาเหล่านี้นี่บางครั้งไม่สามารถที่จะพาบุคคลนั้นมาเกิดเป็นมนุษย์อีกได้ ไม่สามารถที่จะพาบุคคลนั้นไปสู่เทวดา หรือว่าไปสู่พรหมโลก หรือว่าไปสู่พระนิพพานได้ เพราะฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ปริตตปัญญา แปลว่าปัญญานิดหน่อย ปัญญาแว็บหนึ่ง หรือว่าปัญญาไม่มาก
ประการที่ ๒ ก็คือ มหัคคตปัญญา คือปัญญาใหญ่ ปัญญามาก ปัญญาใหญ่ในที่นี้หมายถึงปัญญาของบุคคลผู้เจริญสมถกรรมฐานจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้รูปฌาน จนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้อรูปฌาน ทำไมการเจริญสมถกรรมฐานจนได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน จึงถือว่าเป็นมหัคคตปัญญา เพราะว่าบุคคลผู้ที่ได้ปัญญาประเภทนี้แหละ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลนั้นเกิดอภิญญา เกิดปฏิสัมภิทา เกิดวิชชา ๓ ขึ้นมา เรียกว่าเป็นผู้มีหูทิพย์ ตาทิพย์ รู้วารจิตของบุคคลอื่น ระลึกชาติหนหลังได้ รู้การเกิดการตายของบุคคลอื่น เรียกว่าแตกฉานในอรรถ ในธรรม ในปฏิภาณ ในภาษา ก็เพราะอาศัยมหัคคตปัญญานี่แหละ เพราะฉะนั้น การเจริญสมถกรรมฐานอย่างที่คณะครูบาอาจารย์ญาติโยมกำลังทำอยู่นี้นี่จึงถือว่าเป็นการเจริญมหัคคตปัญญา เป็นการเจริญเพื่อที่จะทำให้เรานั้นได้เกิดปฏิสัมภิทาญาณ เกิดอภิญญา เกิดวิชชา ถ้าเราไม่ได้ในภพนี้ก็จะเป็นปัจจัยสั่งสมให้เรานั้นได้ในภพหน้าหรือว่าภพต่อ ๆ ไป จนกว่าเราจะถึงพระนิพพาน
ประการที่ ๓ อัปปมาณปัญญา อัปปมาณปัญญานั้นหมายถึงปัญญาของบุคคลผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน บุคคลผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นทำไมจึงชื่อว่าอัปปมาณปัญญา เพราะว่าบุคคลผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น เป็นผู้ยังวิปัสสนาญาณทั้ง ๑๖ ขั้นให้เกิดขึ้นมา ตามธรรมดานั้น ปัญญาของบุคคลที่เป็นปุถุชนนั้นย่อมหมกมุ่นอยู่กับความโลภ ความโกรธ ความหลง ย่อมหมกมุ่นอยู่กับความมีมานะถือตัว ย่อมหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่ตนเองชอบใจหรือว่าสิ่งที่ตนเองปรารถนา จึงไม่มีความคิดที่จะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่มองเห็นธรรม ไม่มองทะลุธรรม
แต่ถ้าบุคคลใดเจริญวิปัสสนากรรมฐานแล้ว บุคคลนั้นก็ถือว่าเป็นผู้มีปัญญามาก ถ้าได้บรรลุคุณธรรมชั้นใดชั้นหนึ่งมีพระโสดาบันเป็นต้น ก็ถือว่าเป็นผู้มีปัญญามาก คล้าย ๆ กับว่า ถ้าเราได้บรรลุคุณธรรมนับตั้งแต่ขั้นโสดาบันเป็นต้น ก็คล้าย ๆ กับว่าเราปลูกต้นโพธิ์ต้นหนึ่ง แล้วต้นโพธิ์ต้นนั้นมันเจริญเติบโตขึ้นมา เมื่อเจริญเติบโตขึ้นมาแล้ว กิ่งก้านของต้นโพธิ์นั้นมันแผ่ไปไม่รู้จักจบสิ้น เรียกว่ามันแผ่ไปในทิศทั้ง ๔ กิ่งก้านของมันแผ่ไปมองไปไม่สุด ไม่รู้ว่าที่สุดของกิ่งของต้นโพธิ์นั้นมันไปสุดอยู่ที่ไหน ปัญญาของผู้ที่ได้บรรลุธรรมก็เหมือนกัน ย่อมไม่สามารถที่จะจบสิ้นหรือว่าประมาณได้ เพราะว่าปัญญาของบุคคลผู้ที่บรรลุคุณธรรมนั้น ย่อมสามารถที่จะมองรู้ธรรมต่าง ๆ ความแก่ก็เป็นธรรม ความเจ็บก็เป็นธรรม ต้นไม้มันเหี่ยวมันแห้งก็เป็นธรรม ฝนตกก็เป็นธรรม แดดออกก็เป็นธรรม ถูกบุคคลอื่นด่าก็เป็นธรรม คนอื่นมาประจบประแจงมาเอาใจก็เป็นธรรม ฉันอาหารมากก็เป็นธรรม ฉันอาหารน้อยก็เป็นธรรม มองทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม การที่มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมนี้นี่มันเกิดขึ้นมาได้เพราะอะไร ก็เพราะว่า เกิดการเจริญวิปัสสนากรรมฐานจนผ่านญาณ ๑๖ ไป มันจึงจะเป็นอย่างนั้นขึ้นมาได้
ปัญญาของผู้ที่เจริญวิปัสสนากรรมฐานนี้ท่านจึงถือว่าเป็นอัปปมาณปัญญา ประมาณไม่ได้ เพราะว่าปัญญา ถ้าปัญญาน้อยนั้นย่อมไม่สามารถที่จะประหารกิเลสให้หมดไปจากจิตจากใจได้ บุคคลต้องมีปัญญาคมกริบ ต้องมีปัญญาดุจขวานฟ้าของเทพเจ้า จึงสามารถที่จะฟันฝ่าหรือว่าตัดกิเลสขาดจากขันธสันดานได้ เพราะฉะนั้น บุคคลผู้ที่เจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นจึงเป็นผู้มีปัญญาประมาณไม่ได้ เรียกว่าประมาณในปัญญาของท่านเหล่านั้นไม่ได้ อันนี้เป็นอารยธรรมข้อที่ ๖
อารยธรรมทั้ง ๖ ข้อตามที่กล่าวมาแล้วนั้น ก็ถือว่าเป็นอารยธรรมที่ทำให้โลกของเรานั้นอยู่เย็นเป็นสุข ถ้าบุคคลใดประกอบด้วยคุณธรรมคืออารยธรรมทั้ง ๖ ข้อนั้นแล้ว บุคคลนั้นก็ต้องเป็นผู้ที่เจริญ เป็นบุคคลผู้ที่ดีกว่าคน เป็นบุคคลที่สูงกว่าคน เป็นบุคคลผู้ที่เด่นกว่าคน เป็นบุคคลผู้ที่เลิศกว่าคน เป็นบุคคลผู้ที่วิเศษกว่าคน เป็นบุคคลที่ประเสริฐกว่าคน เรียกว่าอารยธรรมเหล่านี้ก็ทำคนให้เป็นคน ทำคนให้เป็นพระ ทำคนให้ได้รับความสุขทั้ง ๓ ประการ คือสุขในมนุษย์ สุขในสวรรค์ สุขในพระนิพพาน ทำคนให้ได้รับประโยชน์ ๓ ประการ คือ ประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า ประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน ทำคนให้ได้เข้าถึงแก่นของพระศาสนา นำคนให้พ้นจากทุกข์ ถึงสุขอันไพบูลย์กล่าวคือมรรคผลนิพพานก็เพราะอารยธรรม เพราะฉะนั้น อารยธรรมนั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่พวกเราทั้งหลายที่ต้องการประพฤติปฏิบัติ ต้องการที่จะได้ผลนั้นต้องเอาอารยธรรมนั้นประกอบกับการประพฤติปฏิบัติธรรมไปด้วย
ถ้าเราเอาอารยธรรมนั้นมาประกอบกับการประพฤติปฏิบัติธรรมไปด้วย เดินจงกรมไปเราก็ไม่โกรธเคืองเพื่อนสพรหมจรรย์ เรามีเมตตาไม่ผูกโกรธ ไม่ลบหลู่บุญคุณของครูบาอาจารย์ที่มาแนะนำพร่ำสอน ไม่ลบหลู่บุญคุณของญาติของโยมที่เอาข้าวเอาน้ำมาถวาย เป็นผู้มีความบริสุทธิ์ทั้งขั้นต่ำขั้นกลาง คือบริสุทธิ์ด้วยศีล บริสุทธิ์ด้วยสมาธิ บริสุทธิ์ด้วยปัญญา เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสัมมาทิฏฐิ คือได้บรรลุซึ่งวิปัสสนาญาณที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ จนไปถึงวิปัสสนาญาณที่ ๑๖ เป็นผู้ที่มีปัญญา ทั้งปริยัติ ทั้งปฏิบัติ ทั้งปฏิเวธ ถ้าเราถึงพร้อมด้วยสิ่งเหล่านี้แล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระศาสนาของเราเจริญ บ้านใดตำบลใดที่มีบุคคลที่ประกอบไปด้วยอารยธรรม บ้านนั้นตำบลนั้นก็เจริญ ถ้าจิตใจของบุคคลใดประกอบไปด้วยอารยธรรม จิตใจของบุคคลนั้นมันก็เจริญ เรื่องนี้มีอุทาหรณ์เรื่องนางกุมารีกาคนหนึ่ง
คือกุมาริกาคนนี้อาศัยอยู่ในเมืองสาวัตถี ในสมัยนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดพระเชตวันเมืองสาวัตถี ในขณะนั้นก็มีนางกุมาริกาคนหนึ่ง นางกุมาริกาคนนี้เป็นคนเฉลียวฉลาด เป็นนักปราชญ์พอสมควร เมื่อนางเจริญเติบโตขึ้นมาแล้ว พ่อแม่ก็ยกนางให้ตระกูลสามี เมื่อนางไปสู่ตระกูลของสามีแล้วนางก็บำรุงสามีเป็นอย่างดี บำรุงพ่อผัวแม่ผัวเป็นอย่างดี เมื่อนางบำรุงพ่อผัวแม่ผัวเป็นอย่างดีพ่อผัวแม่ผัวก็รัก
นางเป็นผู้ฉลาดที่จะสงเคราะห์อันโตชนคือชนภายใน เป็นผู้ฉลาดในการที่จะสงเคราะห์ปริวารชนคนที่มาอาศัย นางเป็นผู้ที่หาความโกรธไม่ได้ และนางเป็นผู้ที่มีศีลาจารวัตรอันดีงาม ยินดีในการจำแนกแจกทาน เรียกว่าทำบุญทำทานมิได้ขาด มีศีล ๕ มั่นอยู่เป็นนิตย์มิได้ขาด ไม่ประมาทมัวเมาในชีวิต ตั้งจิตรักษาศีลอุโบสถเป็นประจำเป็นอาจิณณ์ นางทำคุณงามความดีอยู่อย่างนี้ในเมืองสาวัตถีจนเป็นที่เลื่องลือในหมู่ของภิกษุทั้งหลาย แต่ขณะที่นางทำบุญทำทานอยู่ดี ๆ ตั้งอยู่ในคุณงามความดีนั้น นางก็ได้ทำกาลกิริยาตายไป
เมื่อนางทำกาลกิริยาตายไปภิกษุทั้งหลายก็สนทนากันในโรงธรรมสภาศาลา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เสด็จมาถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายสนทนาธรรมกันเรื่องอะไร ภิกษุทั้งหลายตอบว่า พวกข้าพระองค์สนทนากันด้วยเรื่องที่ว่านางกุมาริกาชื่อว่าลดานี้ตายไปแล้วไปเกิดที่ไหนหนอ เพราะว่านางทำบุญทำทานทั้งวัน เป็นคนดี มีศีล ๕ เป็นนิตย์ รักษาศีลอุโบสถเป็นประจำ หมั่นทำบุญทำทานตายแล้วไปเกิดที่ไหน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าไปเกิดแล้วในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่กล่าวมาแล้วนี้ปรากฏมาในวิมานวัตถุ เพราะฉะนั้น บุคคลใดที่ประกอบไปด้วยอารยธรรม เป็นผู้ไม่ผูกโกรธเป็นต้น ก็ย่อมมีสุคติเป็นที่ไป เพราะฉะนั้น ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ควรที่จะตั้งอยู่ในอารยธรรมดังที่กระผมได้กล่าวมา
วันนี้กระผมได้น้อมนำเอาธรรมะมาบรรยายประกอบการประพฤติปฏิบัติธรรม ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.