(เทศน์วันที่ ๓๐ ม.ค. ๕๓)
วันนี้ก็เป็นวันธัมมัสสวนะ ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตั้งใจฟังธรรม การฟังธรรมนั้นมีคุณูปการมาก สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ ฟังด้วยดีย่อมเกิดปัญญา ถ้าเราฟังธรรมด้วยใจจดจ่อจริง ๆ แล้ว ย่อมได้อานิสงส์มากมายหลายประการ ถ้าเราฟังให้เป็น ก็ย่อมจะเข้าใจหลักธรรมคำสั่งสอนได้
เราพิจารณาดู ตั้งแต่สมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ มีผู้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นจำนวนมากเพราะอาศัยการฟังธรรม เพราะฉะนั้น ขอให้ครูบาอาจารย์ตั้งใจฟังธรรม
ในสมัยก่อนโน้น ตั้งแต่กระผมไปอยู่วัดพิชโสภารามใหม่ ๆ พระเดชพระคุณหลวงพ่อเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า ทำอย่างไรหนอ ในสมัยพุทธกาล เวลาฟังธรรมคนจึงได้สมาธิสมาบัติ ได้มรรคผลนิพพาน
ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ก็ได้บรรลุด้วยการฟังธรรม ยสกุลบุตรพร้อมด้วยสหายก็ได้บรรลุด้วยการฟังธรรม พระเจ้าพิมพิสารก็บรรลุด้วยการฟังธรรม ชฎิล ๓ พี่น้องก็บรรลุด้วยการฟังธรรม และยังมีสาวกอีกจำนวนมากที่บรรลุด้วยการฟังธรรม พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านสงสัย
เมื่อสงสัยก็คิดว่า ทำอย่างไรหนอเราจึงจะเข้าใจ ไปถามครูบาอาจารย์หลาย ๆ รูป ก็ไม่ได้รับคำตอบที่ถูกต้องชัดเจน ในที่สุดท่านก็เข้าสมาธิแล้วก็อธิษฐานว่า ในสมัยพุทธกาลโน้น ฟังธรรมอย่างไรหนอจึงได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ท่านก็นั่งสมาธิไป เมื่อออกจากสมาธิก็เกิดเสียงขึ้นมาว่า การฟังธรรมนั้นต้องฟังอย่างมีสติ เรียกว่าฟังไปด้วย มีสติพิจารณาธรรมไปด้วย เหมือนกับที่พวกเราได้ตั้งใจฟังธรรมนี่แหละ
เราตั้งสติไว้ที่หู หูข้างใดที่มันได้ยินเสียงชัดเจน เราก็ตั้งสติไว้ที่หูข้างนั้น จะเป็นข้างซ้ายหรือข้างขวาก็ตามที่ได้ยินเสียงชัดเจน เรียกว่า รูปนามมันปรากฏชัดตรงไหนเราก็ตั้งสติไว้ตรงนั้น อันนี้เป็นหลักใหญ่ใจความในการฟังธรรม แต่พยายามจำให้ได้ว่า ขณะที่เราฟังธรรมนั้น เราเข้าสมาธิไปตอนที่ท่านแสดงธรรมถึงตรงไหน ท่านแสดงธรรมไปถึงเรื่องอะไรเราจึงเข้าสมาธิไป อันนี้เป็นหลักใหญ่ใจความ
วันนี้ก็ถือว่าเป็นวันสำคัญ เป็นวันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนา คณะครูบาอาจารย์ ตลอดถึงญาติโยมผู้นับถือพระพุทธศาสนา ต่างก็เข้าใจว่าวันนี้เป็นวันสำคัญ ซึ่งวันมาฆบูชานั้น เป็นวันจาตุรงคสันนิบาต คือเป็นวันที่พระภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป ประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย และพระภิกษุทั้งหมดนั้นก็เป็นพระอรหันต์ทั้งนั้น อีกทั้งเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือผู้ที่ได้รับการอุปสมบทจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
วันนั้นถือว่าเป็นวันสำคัญของศาสนาพราหมณ์ ในสมัยก่อนโน้นศาสนาพราหมณ์มีชื่อเสียงมาก เมื่อถึงวันมาฆบูชา ศาสนาพราหมณ์ถือว่าเป็นวันสำคัญ เรียกว่า วันศิวราตรี วันของพระอิศวร ผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์ก็ต้องพากันไปลอยบาป คือตกเวลากลางคืนเดือนหงาย ๆ ก็พากันไปลอยบาป อาบน้ำชำระร่างกายในแม่น้ำคงคา ทำบาปมาทั้งปีแล้วก็ไปลอยบาป เพื่อที่จะลอยบาปนั้นไปในแม่น้ำคงคา อันนี้เป็นความเชื่อของศาสนาพราหมณ์
ภิกษุทั้งหลายที่เคยนับถือศาสนาพราหมณ์ก่อนที่จะมาบวช เมื่อถึงวันมาฆบูชาก็คิดว่า วันนี้เป็นวันสำคัญ พระพุทธเจ้าจะตรัสอะไรหนอ ต่างรูปต่างคิด ก็เลยมาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย
ในวันมาฆบูชานี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งมีใจความหลัก ๆ คือ
สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง
กุสลสฺสูปสมฺปทา การยังกุศลให้ถึงพร้อม
สจิตฺตปริโยทปนํ การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว
อันนี้เป็นหลักใหญ่ใจความในโอวาทปาติโมกข์ วันนี้จึงเป็นวันที่สำคัญ ขอให้พวกเราทั้งหลายได้ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เมื่อถึงวันสำคัญแล้ว นอกจากพุทธบริษัททั้งหลายจะน้อมระลึกถึงบุญคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้ว ยังต้องทำจิตทำใจของเรานั้นให้เกิดความสลดสังเวช คือบุคคลผู้ที่มาปฏิบัติธรรม สิ่งที่ทำให้นักปฏิบัติธรรมนั้นปฏิบัติไม่ได้ผล ก็คือจิตใจยังไม่เกิดความสลดสังเวช เรามาปฏิบัติธรรมก็ปฏิบัติไปตามที่คณะครูบาอาจารย์แนะนำมา แต่จิตใจของเราไม่เกิดความสลดสังเวช เวลาเรามาปฏิบัติธรรม เราก็สักแต่ว่าทำ ทำไปด้วยความไม่มุ่งมั่น ทำไปด้วยความไม่ตั้งใจ เวลาปฏิบัติธรรมก็ไม่ได้ผล
ก่อนที่จะปฏิบัติธรรมจริง ๆ แล้ว ท่านให้เรานั้นปลงธรรมสังเวช คิดว่าร่างกายของเรานั้นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เสียก่อน ถ้าเรารู้ว่าสังขารเหล่านี้เป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน นั่นแหละเป็นพื้นฐานแห่งการปฏิบัติธรรม อันนี้เป็นหลักสำคัญของการปฏิบัติธรรม จะเป็นพระเป็นเณร เป็นแม่ชี เป็นญาติโยม ก็ตาม ถ้ามาปฏิบัติธรรมด้วยจิตใจที่ยังไม่เกิดความสลดสังเวช การปฏิบัติธรรมนั้นจะไม่ได้ผล
เราต้องทำจิตของเราให้สังเวชเสียก่อน ให้เราพิจารณาดูว่าสังขารของเรานั้นเป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วตั้งอยู่และดับไป ให้เราพิจารณาดูสังขารของบุคคลอื่น ว่าสังขารของบุคคลอื่นก็ไม่เที่ยง แล้วให้เราพิจารณาดูบุคคลผู้ที่เกิดขึ้นมา นับตั้งแต่คนยากจน ไปถึงเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ ตลอดถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเรา พระองค์ผู้มีบารมีมากถึงขนาดนั้น พระองค์ก็ต้องถึงซึ่งปรินิพพาน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เพราะว่าสังขารเป็นของไม่เที่ยง การเกิดกับการตายเป็นของคู่กัน แดนมนุษย์นั้นถือว่าเป็นแดนประหาร ใครเกิดขึ้นมาก็ตายด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้าค้ำดินได้
เพราะฉะนั้น การที่เรามาปฏิบัติธรรมนั้น เราต้องพิจารณาว่าสังขารทั้งหลายนั้นเป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่และดับไป นี่ถ้าเราพิจารณาอย่างนี้ จิตใจของเราก็จะเริ่มเข้าใจในบทพระกรรมฐาน เพราะว่า แม้แต่ชีวิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังไม่เที่ยงแท้แน่นอน ดังนั้น พวกเราที่เกิดมาแล้วก็บ่ายหน้าไปสู่ความตายด้วยกันทั้งนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ชีวิตของเรานั้นเป็นของไม่แน่นอน เกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เปรียบเสมือนกับหม้อดิน จะเป็นหม้อใบเล็กก็ดี ใบขนาดกลางก็ดี ใบใหญ่ก็ดี หรือว่าเป็นหม้อที่เผาสุกหรือเผาไม่สุกก็ดี หรือว่าเป็นหม้อที่ประณีตหรือไม่ประณีก็ตาม หม้อเหล่านั้นก็ต้องแตกสลายไปในที่สุด ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
ชีวิตของเราก็เหมือนกัน จะประณีตสดสวยงดงามด้วยผลบุญที่สร้างไว้แต่ภพก่อน เหมือนกับนางวิสาขา เหมือนกับนางงามจักรวาล ก็ตาม ก็ล้วนแตกดับไปด้วยกันทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้จึงถือว่าเป็นสิ่งที่เราจะต้องพิจารณาให้เกิดความสังเวช แล้วก็น้อมเข้ามาสู่ตนเอง ให้เรารู้ ให้เราเข้าใจ เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมในเบื้องต้นเราต้องทำจิตของเราให้เกิดความสังเวช
เรานึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงมีบารมีถึงขนาดนั้น แต่พระองค์ก็ต้องดับขันธ์ปรินิพพาน ดังที่พระองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ ร่างกายของเราตถาคตนั้น แก่หง่อมเข้าไปทุกทีแล้ว ร่างกายของตถาคตนั้นถูกชราครอบงำ ชีวิตของตถาคตนั้นเหลืออีกไม่นาน ตถาคตก็ต้องดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพาน ดูก่อนอานนท์ เธอทั้งหลายจงตั้งอยู่ในความไม่ประมาทเถิด ดูก่อนอานนท์ เธอทั้งหลายจงทำที่พึ่งให้แก่ตน ดูก่อนอานนท์ เธอทั้งหลายจงรักษาปาริสุทธิศีล จงเจริญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ผู้ใดได้ประพฤติตามธรรมวินัยที่เรากล่าวแล้ว ผู้นั้นจะละสังสารวัฏถึงซึ่งพระนิพพานได้
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสให้เราทั้งหลายนั้นตั้งอยู่ในความไม่ประมาท พระองค์ตรัสว่าชีวิตของพระองค์นั้นถูกชราครอบงำ ชีวิตของพระองค์เหลือน้อยเต็มที พระองค์จึงตรัสให้พวกเรานั้นไม่ประมาท คือไม่ประมาทในวัย ไม่ประมาทในความไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ประมาทในชีวิต เพราะว่าชีวิตของเรานั้นประมาทไม่ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสสิ่งที่เราบังคับบัญชาไม่ได้ ๕ ประการ คือ
๑. ชีวิต ชีวิตเราบังคับไม่ให้มันแก่ ไม่ให้มันเจ็บ ไม่ให้มันตายนั้นไม่ได้ บางคนเกิดมามีอายุไม่มากก็ต้องตายไป บางคนก็เกิดมามีอายุ ๔๐ ปี ๕๐ ปี ๖๐ ปี แล้วก็ตายไปก็มี แล้วแต่เหตุแล้วแต่ปัจจัย บางคนก็ตายอยู่ในท้อง บางคนเกิดขึ้นมาแล้วค่อยตาย บางคน ลูกกำลังน่ารักก็ตายไปก็มี ชีวิตนั้นเป็นของไม่แน่นอน
๒. โรค เราไม่สามารถที่จะบังคับบัญชาได้ว่าเราเกิดมาแล้วเราจะตายด้วยโรคอะไร บางคนอาจจะตายด้วยโรคตับ โรคไต โรคมะเม็ง ฯลฯ อันนี้ก็ไม่สามารถที่จะบังคับบัญชาได้
๓. เวลาตาย เวลาตายนี้เราก็ไม่สามารถที่จะบังคับบัญชาได้ว่าเราจะตายในเวลาเช้า เวลาบ่าย เวลาเย็น อะไรทำนองนี้ เราก็ไม่สามารถที่จะบังคับบัญชาได้ บางคน ตอนเช้าอาจจะเห็นหน้ากัน หยอกเย้ากับลูกกับหลานกับภรรยา แต่ว่าตอนบ่ายอาจจะตายจากกันก็ได้ หรือว่าตอนเย็นอาจจะกินข้าวกินปลาสนทนาปราศัยกัน แต่เช้ามาตายจากกันไปแล้วอย่างนี้ก็มี เวลาตายจึงเป็นของที่ไม่แน่นอน
๔. สถานที่ตาย สถานที่ตายนี้ก็เป็นของไม่แน่นอน บางคนไปตายอยู่ไร่อยู่นา บางคนเกิดภาคกลางไปตายภาคอีสาน เกิดอยู่ภาคอีสานไปตายอยู่ภาคเหนือก็มี อันนี้เรียกว่าสถานที่ตายเป็นของไม่แน่นอน เราบังคับไม่ได้ว่าจะตายตรงไหน เพราะว่ากรรมมันตามทันเมื่อไหร่มันก็ให้ผลเมื่อนั้น
๕. คติที่จะไป คือเมื่อเราตายไปแล้ว คติที่เราจะไปนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ถ้าบุคคลใดไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ไม่ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน คติของบุคคลนั้นไม่แน่นอน อาจจะไปเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย หรือสัตว์เดียรัจฉานก็ได้ ถ้าเราไม่ได้สั่งสมอบรมคุณงามความดีเอาไว้มาก ๆ ในบั้นปลายชีวิต ในเวลาเราจะตายนั้น เราจะหาที่พึ่งไม่ได้ พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ทรัพย์สินเงินทอง ไม่สามารถที่จะเป็นที่พึ่งของเราได้ ความดีเท่านั้นที่เป็นที่พึ่งของเราได้
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าบุคคลใดไม่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน บุคคลนั้นก็ไม่สามารถที่จะปิดประตูอบายภูมิได้ แม้แต่นางมัลลิกาที่ถวายอสทิสทานแก่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทานที่ไม่มีใครเหมือน ทานที่ไม่มีใครเสมอ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์จะได้รับอสทิสทานเพียงครั้งเดียว แต่ว่านางมัลลิกาถวายอสทิสทานแล้ว ด้วยผลของบาปกรรมบางอย่างเมื่อนางตายไปแล้ว ทำให้นางต้องเอาขาหย่อนลงไปในนรกถึง ๗ วัน
คิดดูเถิดว่า นางมัลลิกานั้นทำบุญอยู่เป็นประจำ แต่พลาดทำบาปเพียงครั้งเดียว เมื่อตายไปแล้วต้องเอาขาหย่อนลงไปในนรกตั้ง ๗ วัน เมื่อล่วง ๗ วันแล้วจึงได้ไปเกิดบนสวรรค์ อันนี้เป็นผลของบาปกรรม จะทำบุญไว้มากขนาดไหนก็ตาม ก็ไม่สามารถปิดประตูอบายภูมิได้ เพราะว่ายังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
ญาติโยมบางคนเข้าวัดเข้าวาเป็นประจำ ไหว้พระสวดมนต์ ภาวนา รักษาศีลอยู่เป็นประจำ แต่วันหนึ่งเกิดความโลภขึ้นมาก็ไปเอาของสงฆ์ เมื่อไปเอาของสงฆ์แล้วเมื่อตายไปก็ไปเกิดเป็นเปรต อันนี้เป็นเพราะว่าความดีที่เราทำไว้นั้นยังไม่สามารถที่จะคุ้มครองป้องกันเราได้ ความดีของเรายังไม่ดีถึงที่สุด ยังเป็นโลกิยะอยู่ ยังไม่เป็นโลกุตระ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า บุญกุศลที่เราได้สร้างสมอบรมมา มันก็สะสมไว้ในห้วงภวังคจิตของเรา แต่ว่าจิตของเราในขณะที่จะตายไปท่านเรียกว่า ปุริมจิต ท่านอุปมาเหมือนกับการปล่อยโค โคที่ถูกขังไว้ในคอก เวลาเปิดประตูคอก โคที่อยู่ใกล้ประตูที่สุดจะออกก่อน โคที่อยู่ข้างในจะไม่สามารถที่จะออกไปทันได้ ข้อนี้ฉันใด
ในขณะที่จิตของเราจะดับไป จิตดวงที่ดับไปนั้นแหละจะเป็นจิตที่นำไปปฏิสนธิในภพภูมิต่าง ๆ ตามบุญวาสนาบารมี ตามวิถีจิตของเราที่ดับไปในขณะนั้น ตัวอย่างเช่น ธัมมิกอุบาสก ก่อนที่จิตจะดับไปนั้นก็มีเทวดาจากสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น นำราชรถมาเชื้อเชิญให้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นของตน อันนี้เป็นเพราะบุญ เพราะฉะนั้น เราไม่ควรประมาทในการทำบุญ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ เธอทั้งหลายจงทำที่พึ่งแก่ตนเถิด ตน ในที่นี้ท่านแบ่งออกเป็น ๒ ประการ คือ ตนภายนอก และตนภายใน ตนภายนอกก็หมายถึงร่างกายของเรา ตนภายในนั้นหมายถึงจิต ตนนั้นท่านกล่าวว่าเป็นสภาพที่ท่องเที่ยวไปในวัฏสงสาร คือตนภายนอกและตนภายในนี่แหละทำที่พึ่งให้แก่ตน
ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน โก หิ นาโถ ปโร สิยา คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ อตฺตนา หิ สุทนฺเตน บุคคลมีตนอันฝึกดีแล้ว นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ ย่อมได้ที่พึ่งที่ได้โดยยาก หมายความว่า ตนภายในเป็นที่พึ่งของตนภายนอก ตนภายนอกเป็นที่พึ่งของตนภายใน ตนภายนอกก็คือร่างกาย ตนภายในก็คือจิตใจ ต่างอาศัยซึ่งกันและกัน ใจอยากให้ทานก็ไม่สามารถให้ทานเองได้ ต้องอาศัยกายนั้นไปให้ทาน ใจอยากรักษาศีลเจริญภาวนา ก็ต้องอาศัยกายทำให้ ตนภายในเป็นนาย ตนภายนอกเป็นผู้รับใช้ ถ้าใจดี กายก็ดีด้วย ถ้าใจไม่ดี กายก็ทำไม่ดีด้วย
พวกเรามาปฏิบัติธรรมนั้น เรียกว่ามาทำที่พึ่งให้กับตนเอง คือมาฝึกฝนอบรมใจของเรา ตามธรรมดาใจของเราท่านอุปมาเหมือนกับลิง ลิงนั้นไม่อยู่ปกติ เดี๋ยวก็แลซ้ายแลขวา เดี๋ยวขึ้นข้างบน เดี๋ยวลงข้างล่าง สภาพจิตใจของเราก็เหมือนกัน เดี๋ยวก็คิดถึงอดีต คิดถึงอนาคต คิดถึงบุญ คิดถึงบาป คิดไปเรื่อย อันนี้เป็นธรรมชาติของจิต
บุคคลใดไม่เคยฝึกอบรมจิต บุคคลนั้นก็ไม่สามารถที่จะฝึกจิตได้ การฝึกฝนอบรมจิตนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถือว่าเป็นครู
การปฏิบัติธรรมนั้นต้องอาศัยบุคคลผู้รู้ ผู้ที่เข้าใจและเคยผ่านการปฏิบัติธรรมมาก่อน อย่างเช่นพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดพิชโสภาราม ท่านเคยปฏิบัติธรรมมาก่อน แล้วก็สอนลูกศิษย์ลูกหาจนได้เข้าใจในธรรม
การปฏิบัติธรรมนั้นเราจะเดาเอาไม่ได้ เราคิดว่าเราสอนอย่างนี้มันจะถูก บางครั้งมันก็ไม่ถูก เราคิดว่าอย่างนี้มันดี บางครั้งอาจจะไม่ดี การปฏิบัติธรรมนั้นต้องอาศัยบุคคลผู้รู้คอยแนะนำ ถ้าบุคคลใดไม่รู้เรื่องมรรคเรื่องผล ผู้นั้นจะสอนบุคคลอื่นให้ถึงมรรคถึงผลได้อย่างไร บุคคลผู้ที่ไม่เคยเข้าสมาธิ จะสอนผู้อื่นให้เข้าสมาธิได้อย่างไร ผู้ที่ไม่เคยบรรลุมรรคผลนิพพาน จะสอนผู้อื่นให้เข้าถึงมรรคผลนิพพานได้อย่างไร ก็เหมือนคนตาบอดจูงคนตาบอด มันก็ไม่ต่างอะไรกัน การสอนกรรมฐานเป็นสิ่งที่ยาก เป็นสิ่งที่ละเอียด ถ้าเราสอนผิดก็เป็นบาป การสอนธรรมะนั้นถือว่ามีอานิสงส์มาก แต่ถ้าเราสอนผิดก็เหมือนเราสอนสิ่งที่เป็นมิจฉาทิฏฐิให้แก่บุคคลอื่น ก็เป็นบาปเป็นกรรม คุณอนันต์ก็โทษมหันต์เหมือนกัน
บุคคลผู้มาปฏิบัติธรรมนั้นต้องตั้งใจจริง เรามาปฏิบัติธรรมก็เหมือนเรามาพิสูจน์ตนเอง บุคคลจะรู้ว่าตนเองมีบารมีหรือไม่มีบารมีนั้นต้องมาปฏิบัติธรรมลองดู คนอื่นบอกว่าการปฏิบัติธรรมมันลำบากมันยาก แต่เรามาปฏิบัติธรรมเดินจงกรมนั่งภาวนาไม่นาน บางคนได้สมาธิก็มี
มีโยมผู้เฒ่าคนหนึ่งมาบวชผ้าขาว ขาของเขาเป็นบาดแผล หมอจะตัดแล้ว แต่เขาอยากปฏิบัติธรรม มาเดินจงกรม เวลาเดินจงกรมน้ำหนองน้ำเหลืองไหลอาบ เวลาเดินจงกรมก็ต้องเอาไม้เท้าค้ำเดิน แต่ด้วยความที่ผู้เฒ่าคนนั้นไม่มีที่พึ่ง คิดว่าไม่นานเขาอาจจะตัดขาของเรา เราอาจจะเดินไม่ได้ เรามาปฏิบัติธรรมก่อนดีกว่า ตั้งใจปฏิบัติธรรม ทั้ง ๆ ที่ขามีบาดแผล ใช้ไม้เท้าค้ำเดินจงกรม ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เข้าสมาธิในท่ายืนค้ำไม้เท้า เข้าสมาธิอยู่อย่างนั้นประมาณ ๔๕ นาที หลังจากนั้นก็เข้าสมาธิอยู่เป็นประจำ จิตใจก็สบาย เอิบอิ่ม ในที่สุดแผลของเขาก็หาย โดยไม่ต้องตัดขา ก็ได้บวชในพระพุทธศาสนาจนตลอดชีวิต อันนี้เป็นบารมีของบุคคลผู้ได้สั่งสมอบรมมา
บางคนบางท่านเดินจงกรมนั่งภาวนาไม่นานก็ได้สมาธิ ภิกษุบางรูปไม่เคยปฏิบัติธรรม มาปฏิบัติที่วัดพิชโสภาราม ผ่านไป ๑ วัน ๒ วัน ๓ วัน วันที่ ๔ จิตใจเป็นสมาธิ เมื่อจิตใจเป็นสมาธิ อาการของพระไตรลักษณ์มันปรากฏชัดเจนขึ้นมา ก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน บวชอยู่ในพระพุทธศาสนาตลอดชีวิต เป็นครูบาอาจารย์ เป็นที่พึ่งของสังคม อันนี้มันเป็นบุญกุศลของแต่ละรูปแต่ละท่าน ไม่เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น เวลามาปฏิบัติธรรม ขอให้เราตั้งใจทำที่พึ่งของตนให้ได้ ถ้าเราทำที่พึ่งของตนได้ ก็ถือว่าเรานั้นได้ถึงความเบาใจ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน บุคคลอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ ดังที่มีคำกลอนที่ท่านกล่าวไว้ว่า
จงเตือนตนของตนให้พ้นผิด
ตนเตือนจิตตนได้ใครจะเหมือน
ตนเตือนตนไม่ได้ใครจะเตือน
อย่าแชเชือนเตือนตนให้พ้นภัย
ถ้าเราไม่เตือนตน ปล่อยใจไปตามธรรมชาติ ใจของเราก็จะยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส ยินดีในอารมณ์ต่าง ๆ ในที่สุด จิตใจของเราก็เอาดีไม่ได้
อีกประการหนึ่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสให้เราสำรวมในปาติโมกข์ศีล คือให้เรารักษาพระปาติโมกข์ ให้เราเว้นข้อที่พระองค์ทรงห้าม กระทำตามข้อที่พระองค์ทรงอนุญาต ให้เรารักษาปาริสุทธิศีล
ปาริสุทธิศีลนั้นมีอยู่ ๔ ข้อ
๑. ปาติโมกขสังวร
๒. อินทรียสังวร
๓. สติสังวร
๔. ญาณสังวร
ปาติโมกขสังวร พวกเราทั้งหลายก็รักษากันอยู่แล้ว เหมือนกับที่พวกเราทั้งหลายรักษาศีล ๒๒๗ ข้อ ถ้ามันผิดพลาดพลั้งไปเราก็ปลงอาบัติ อาบัติบางอย่างเราปลงอาบัติแล้วก็หายไป อย่างเช่น ทุกกฎ ทุพภาษิต ปาจิตตีย์ ปลงอาบัติมันก็หายไป แต่นิสสัคคียปาจิตตีย์ ปลงอาบัติไม่หาย เราต้องสละเสียก่อน ต้องไปต่อย ต้องไปทำลายเสียก่อน แล้วมาปลงอาบัติมันจึงหาย แต่สังฆาทิเสส เราปลงอาบัติมันไม่หาย แต่เราต้องมาประพฤติวุฏฐานวิธี เข้าปริวาสกรรมเสียก่อนมันจึงหาย
คณะครูบาอาจารย์บางรูปบางท่านอาจจะคิดว่า เข้าปริวาสนี้มันบริสุทธิ์หรือเปล่าหนอ การเข้าปริวาสกรรมนี้สามารถได้บรรลุมรรคผลนิพพานได้หรือเปล่าหนอ อาจจะเกิดความสงสัย
การประพฤติวุฏฐานวิธีนั้นสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ มีภิกษุหลายรูปที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วเข้าไปปรึกษาผมว่า อาจารย์ กระผมต้องอาบัติสังฆาทิเสส กระผมอยากจะอยู่ปริวาสกรรม ปฏิบัติธรรม แล้วผมก็จะลาสิกขาไปทำการทำงาน กระผมไม่รู้จริง ๆ ผมบวชตามประเพณี แต่เมื่อมาปฏิบัติธรรม เขาก็ถามว่า กระผมจะรู้ได้อย่างไรว่ากระผมมีความบริสุทธิ์
กระผมก็บอกว่า ให้กำหนดจิตให้มันอยู่กับปัจจุบันธรรม อย่าไปคิด อย่าไปฟุ้งซ่าน ถ้าจิตของเราอยู่กับปัจจุบันธรรมแล้ว ถ้าจิตใจของเราเป็นสมาธิ ก็แสดงว่าเราบริสุทธิ์แล้ว ถ้าจิตของเราไม่บริสุทธิ์มันจะเป็นสมาธิได้อย่างไร ถ้าได้สมาธิแล้วยังไม่เชื่อ ก็ต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อเจริญวิปัสสนากรรมฐาน วิปัสสนาญาณที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ เกิดขึ้นมา จนถึงสังขารุเปกขาญาณ ญาณที่ ๑๑ เมื่อถึงญาณที่ ๑๑ แล้ว จิตใจของเราจะเฉย ๆ จะเกิดปีติ เกิดความสุข เกิดการวางเฉย ไม่วิตก ไม่วิจาร ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วิปปฏิสาร ปัญญามันก็เกิดขึ้นมา รู้ว่าตนเองนั้นบริสุทธิ์
เมื่อเรารู้ว่าเราบริสุทธิ์ จิตใจก็จะหน่วงเอาพระไตรลักษณ์ ยังอนุโลมญาณให้ปรากฏขึ้นมา โคตรภูญาณก็จะปรากฏ มรรคญาณก็จะปรากฏ ผลญาณก็จะปรากฏ ปัจจเวกขณญาณก็จะปรากฏขึ้นมาตามลำดับ ในที่สุด ภิกษุบางรูปที่มาปฏิบัติธรรมนั้นก็สามารถปฏิบัติผ่านไปได้ อันนี้คือผลของการปฏิบัติธรรมนั้นปรากฏขึ้นมีขึ้น
พระเดชพระคุณหลวงพ่อใหญ่ท่านก็กล่าวอยู่เป็นประจำว่า ถ้าบุคคลใดต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว ถ้าไม่ปกปิดซ่อนเร้นมากเกินไป บอก (แสดงอาบัติ) อยู่เป็นประจำ แล้วก็มาเข้าปริวาสกรรม บุคคลนั้นสามารถที่จะได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี ได้ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ขึ้นมานัตต์ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่อัพภาน
เมื่อสวดปริวาสกรรมเสร็จ เราเดินจงกรม นั่งภาวนา สามารถที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ แต่เมื่อออกอัพภานไปแล้ว จึงจะสามารถที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ เพราะพระอรหันต์นั้นเป็นขันธบริสุทธิ์ แต่ถ้ากลับเข้ามาปฏิบัติครั้งที่ ๒ ปฏิบัติด้วยความบริสุทธิ์ ตนเองไม่ได้ต้องอาบัติ อันนี้ก็สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้
การปฏิบัติธรรม เราสำรวมในปาติโมกข์ คณะครูบาอาจารย์ที่มาปฏิบัติธรรมนี้ก็ถือว่ามาสำรวมในพระปาติโมกข์ ก็ถือว่าเป็นการสืบสานรักษาพระธรรมวินัย
อินทรียสังวร การปฏิบัติธรรมนั้น จะเป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ เป็นพระ เป็นสามเณร เป็นแม่ชีก็ตาม เป็นคนมีปัญญามากหรือปัญญาน้อยก็ตาม เวลาปฏิบัติธรรมนั้นต้องสำรวม สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้นเป็นบ่อเกิดของบุญของบาป เป็นช่องทางเดินของบุญของบาป เป็นช่องทางเดินของศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ผล เป็นที่เกิดพระนิพพานได้
นิพพานนั้นเกิดขึ้นที่อัตภาพร่างกายอันยาววา หนาคืบ กว้างศอก ของเรานี้เอง ไม่ได้เกิดนอกอัตภาพร่างกายของเรา เพราะฉะนั้น ท่านจึงให้เราสำรวม ไม่จำเป็นต้องไปพิจารณาอารมณ์ภายนอก ให้สติของเราอยู่ภายใน ถือว่าใกล้ต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน เหมือนกับพระโปฐิละ
พระโปฐิละ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรียกว่า เป็นผู้มีใบลานเปล่า คือเป็นผู้แตกฉานในพระไตรปิฎก สามารถสอนลูกศิษย์มากมาย แต่ตนเองไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน อาศัยสามเณรน้อยเป็นอาจารย์ สามเณรน้อยก็บอกว่า เหี้ยมันวิ่งเข้าไปอยู่ในรู แต่ว่ารูนั้นมีทางออกอยู่ ๖ รู ก็ให้ไปปิดรูนั้นเสีย ๕ รู นั่งคอยจับเหี้ยอยู่ที่อีกรูหนึ่ง ความหมายก็คือ เราปิด ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใช้ใจพิจารณาดูรูปนาม นี่ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผลของการปฏิบัติธรรมเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ขอให้สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้ดี
สติสังวร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า สติ เตสํ นิวารณํ สตินั้นเป็นทำนบป้องกันบาป เราจะเอาอะไรเป็นเครื่องป้องกันบาป เราจะเอากำแพงหินกำแพงปูนเป็นเครื่องป้องกันบาป ป้องกันไม่ได้ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เป็นวัตถุภายนอก แต่บาปนั้นเป็นนามธรรม ไม่สามารถเอาวัตถุมาขวางกั้นบาปได้ เราต้องเอาสติเป็นตัวขวางกั้นบาปนั้นไม่ให้เข้าสู่จิตสู่ใจของเรา ก็จะเป็นเหตุให้การปฏิบัติธรรมของเรานั้นได้ผล ถ้าเรามีสติกำหนด จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะทำกิจใด ๆ ก็ตาม ขอให้เรามีสติกำหนดให้ทันปัจจุบันธรรม
พระเดชพระคุณหลวงพ่อบอกว่า การปฏิบัติธรรมนั้น ย่อ ๆ จริง ๆ มีอยู่ ๒ ประการ คือ
๑. ปฏิบัติ
๒. กำหนด
จะกิน ดื่ม ทำ พูด คิด จะทำอะไรก็ตาม มีสติกำหนดอยู่ตลอดเวลา บาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่เกิดขึ้นมา จิตใจของเราก็ขาวสะอาด เป็นสมาธิขึ้นมา วิปัสสนาญาณมันก็เกิดขึ้นมา
ญาณสังวร เราปฏิบัติธรรมไป เมื่อเกิดญาณขึ้นมา เราก็จะทราบชัดตามความเป็นจริง อย่างเช่น เราปฏิบัติธรรม นามรูปปริจเฉทญาณเกิดขึ้นมา เราจะรู้ว่าอันนี้เป็นรูปอันนี้เป็นนาม อัตภาพของเราตั้งแต่พื้นเท้าถึงปลายผม จากปลายผมถึงพื้นเท้า อันนี้เป็นรูป สิ่งใดที่สัมผัสได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย สิ่งนั้นเป็นรูป สิ่งใดสัมผัสได้ด้วยใจ สิ่งนั้นถือว่าเป็นนาม ปัญญามันเกิดขึ้นมา
ถ้าเราปฏิบัติธรรมไป ปัจจยปริคคหญาณเกิดขึ้นมา เราก็รู้ว่า รูปมันเกิดขึ้นมาจากอวิชชา ตัณหา กรรม อาหาร และความเกิดของรูปอย่างเดียว เวทนามันเกิดขึ้นมาจากอวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของเวทนาอย่างเดียว แต่ถ้าเราปฏิบัติไปถึงวิปัสสนาญาณที่ ๓ มันเกิดพระไตรลักษณ์ขึ้นมา อาการพองอาการยุบมันเร็วขึ้น ๆ แล้วก็แผ่วเบาไป อาการพองอาการยุบมันแน่นเข้า ๆ แล้วก็จางหายไป หรือแผ่วเบาลง ๆ แล้วก็จางหายไป อันนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๓ เราก็ทราบชัด เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
แต่ถ้าบุคคลใดปฏิบัติธรรมถึงวิปัสสนาญาณที่ ๔ อาการพองอาการยุบมันเร็วขึ้น ๆ แล้วก็ดับไป อาการพองอาการยุบมันแผ่วลง ๆ แล้วก็จางหายไป อาการพองอาการยุบมันแน่นเข้า ๆ แล้วก็ดับไป ในลักษณะอย่างนี้ก็ถือว่าบุคคลนั้นเข้าใจการเกิดดับของรูปของนาม ถ้าบุคคลใดปฏิบัติถึงนี้ มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียวก็นับว่าประเสริฐกว่าบุคคลที่ไม่เห็นความเกิดดับของรูปนามแม้มีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี ผู้ที่ปฏิบัติถึงนี้จะมีจิตใจอ่อนโยน มีมานะทิฏฐิลดลง มีความถือตัวน้อยลง เพราะเห็นความเกิดดับของรูปของนาม
บุคคลใดที่พิจารณาธรรมะไม่ออก เมื่อปฏิบัติถึงนี้ เห็นอะไรก็เป็นธรรมะไปหมด เห็นความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความเสื่อม ความเจริญ เป็นธรรมะได้ อันนี้เป็นลักษณะของญาณสังวร เมื่อมีปัญญาเห็นในลักษณะอย่างนี้แล้ว มันก็สังวรไปเองโดยธรรมชาติ ระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้นในกาย วาจา ใจ ของเรา จิตใจของเราก็จะขาวสะอาด บริสุทธิ์ขึ้นไปเรื่อย ๆ
อีกประการหนึ่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ เธอทั้งหลายจงเจริญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานเถิด เพราะว่าการเจริญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ พระพุทธศาสนาของเรานั้นต้องอาศัยสมถกรรมฐาน ถ้าไม่อาศัยสมถกรรมฐานแล้ว ความอัศจรรย์ในพระพุทธศาสนาก็ไม่เกิดขึ้น เพราะว่าสมถกรรมฐานนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความอัศจรรย์ใจในพระธรรมวินัย
ท่านกล่าวว่าบุคคลที่จะได้บรรลุปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ นั้น ต้องได้สมาบัติทั้ง ๘ จึงจะสามารถที่จะยังปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ ให้เกิดขึ้นมาได้ คือได้สมาบัติทั้ง ๘ แล้วต้องได้บรรลุเป็นพระอนาคามีแล้วก็บรรลุเป็นพระอรหันต์เสียก่อน จึงจะสามารถยังปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ ให้เกิดขึ้นมา ทุกวันนี้บุคคลผู้ที่ได้สมาบัติ ๘ มีน้อย ความอัศจรรย์ใจในพระพุทธศาสนาจึงไม่ปรากฏมาก
แล้วก็ บุคคลที่จะได้อภิญญา ๖ นั้น จะต้องได้ฌาน ๔ เสียก่อน ถ้าบุคคลใดไม่ได้ฌาน ๔ อภิญญา ๖ ก็ไม่เกิดขึ้นมา ความอัศจรรย์ใจในพระพุทธศาสนา เช่น มีหูทิพย์ ตาทิพย์ รู้วาระจิตของบุคคลอื่น ระลึกชาติได้ รู้จักการเกิดการตายของสัตว์อื่น รู้จักทำอาสวะให้สิ้น นั้นมันทำไม่ได้ เพราะไม่ได้ฌาน ๔
อีกอย่างหนึ่งคือ วิชชา ๓ ถ้าบุคคลใดได้จตุตถฌานแล้ว เอาจตุตถฌานนั้นเป็นบาทแห่งการเจริญวิปัสสนา ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ ก็จะได้วิชชา ๓ ขึ้นมา คือ ระลึกชาติหนหลังได้ รู้จักการเกิดการตายของสัตว์อื่น แล้วก็รู้จักทำอาสวะให้สิ้น ในปัจจุบันคนที่มาปฏิบัติธรรม สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาน้อย ความอัศจรรย์ใจในพระพุทธศาสนาจึงมีน้อย ดังนั้น สมถกรรมฐานจึงถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญควบคู่กับวิปัสสนา สมถกรรมฐานนั้นเป็นฐานของวิปัสสนา
การเจริญสมถกรรมฐาน พองหนอ ยุบหนอ จิตใจเป็นสมาธิ เข้าสมาธิไป ๑ ชั่วโมง ๒, ๓ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง อย่าคิดว่ามันเป็นของไม่ประเสริฐ ถือว่าเป็นของประเสริฐระดับหนึ่ง คือระดับของฌาน แต่จะช่วยให้การปฏิบัติธรรมของเรานั้นเกิดผล เกิดความอัศจรรย์ใจเป็นอย่างมาก
บุคคลผู้ที่เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าไม่มีสมาธิเป็นพื้นฐาน ไม่มีสมถะเป็นพื้นฐาน การปฏิบัติธรรมก็ไม่ชัดเจน อารมณ์ก็ไม่ชัดเจน สภาวธรรมก็ไม่ชัดเจน แต่ถ้าบุคคลใดมีสมาธิเป็นพื้นฐาน เวลาปฏิบัติธรรมไป อาการพองอาการยุบก็ชัดเจน พระไตรลักษณ์ก็ชัดเจน สภาวธรรมต่าง ๆ ก็ชัดเจน เวลาบรรลุมรรคผลนิพพาน อะไรมันก็ชัดเจน
เวลาปฏิบัติธรรม ผู้ที่ได้สมาธินั้นจะไม่มีวิตก วิจาร จะไม่มีบริกรรม จิตใจจะดิ่งลงสู่อารมณ์ของพระไตรลักษณ์ทันที คล้าย ๆ กับว่า เวลาเราบริกรรม พองหนอ ยุบหนอ ไป จิตใจของผู้ที่มีสมาธิก็จะดิ่งเข้าสู่อารมณ์ของสมาธิแล้วก็ดับไป เมื่อรู้สึกตัวขึ้นมาจะบริกรรมอีก มันไม่บริกรรม คือไม่มีวิตก วิจาร มันก็ดิ่งลงไปดับลงไปอีก เรียกว่ามันเลยบริกรรมไป ถ้ามันดับลงไปเราจำไม่ได้มันก็เป็นฌานไป ก็ไม่เป็นไร รู้สึกตัวขึ้นมาอีกมันดับอีกเราก็ดูอีก จนกว่ามันจะจำได้
ถ้าวิถีของมรรคญาณไม่เกิด จำอย่างไรมันก็จำไม่ได้ แต่ถ้าจำได้เมื่อไหร่ก็เรียกว่า วิถีของมรรคญาณมันเกิดขึ้นมา เวลาปฏิบัติธรรมนั้นต้องอาศัยสมาธิเป็นพื้นฐาน ถ้าบุคคลใดไม่ได้สมาธิต้องทำสมาธิให้เกิด ถ้าสมาธิเกิดแล้วก็ต้องรักษาไว้ให้ดี อย่าให้เสื่อมไป เพราะว่าเป็นฐานของการปฏิบัติธรรม และประการสำคัญที่สุดก็คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน คนที่ได้สมาธิ ถ้าสมาธิเสื่อมก็สามารถไปเกิดในนรกได้ เป็นมิจฉาทิฏฐิได้ ถ้าไม่เจริญวิปัสสนากรรมฐาน
เหมือนกับญาติโยม แม่ชี หลายคนที่นั่งสมาธิได้ บางคนนั่งได้ ๒๔ ชั่วโมง บางคนนั่งได้ ๔๘ ชั่วโมงก็มี ที่วัดพิชโสภาราม นั่งถึงห้าสิบกว่าชั่วโมงก็มี แต่คนที่นั่งได้ห้าสิบกว่าชั่วโมงนั้น เวลานี้ก็ลาสิกขาไปแล้ว เพราะไม่เอาสมาธิเป็นฐานของวิปัสสนา เมื่อฌานเสื่อมก็สึกขาลาเพศไป เพราะฉะนั้น เมื่อได้สมาธิแล้วก็ต้องเอาสมาธินั้นมาเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จึงจะสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ วันนี้กระผมได้กล่าวธรรมะมาก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.