หนทางสู่นิพพาน
(เทศน์ที่วัดโพนสูง วันที่ ๒๔ ก.พ. ๕๓)
วันนี้อาตมภาพก็มีโอกาสได้มากล่าวธรรมะให้คณะครูบาอาจารย์ได้รับฟัง ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายผู้สละเวลาอันมีค่าได้มาปฏิบัติธรรม ก็ข้อให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายได้นั่งสมาธิฟัง เพราะว่าเวลาที่เราได้มาอยู่ร่วมกันนี้ ถือว่าเป็นเวลาอันน้อยที่เราจะสามารถทำจิตทำใจของเราให้สงบเป็นสมาธิ ที่จะทำจิตทำใจของเราให้เกิดวิปัสสนาญาณ ให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
เวลา ๙ คืน ๑๐ วัน บางรูปบางท่านยังไม่สงบเลย บางท่านอาจจะเกิดปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ เกิดวิปัสสนาญาณ อันนี้ก็แล้วแต่บุญวาสนาบารมีของแต่ละท่าน
ก่อนอื่นก็ขออนุโมทนากับหลวงพ่อพระครูสุวัฒน์ธรรมากร ซึ่งท่านได้เอาใจใส่ในการปฏิบัติธรรม ธุระในพระพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้เป็น ๒ ประเภท คือ
๑. คันถธุระ
๒. วิปัสสนาธุระ
คันถธุระ ก็หมายถึงการศึกษาเล่าเรียน พากเพียรเรียนรู้พระไตรปิฎกให้แตกฉานช่ำชอง ซึ่งทางคณะสงฆ์ได้จัดออกมาเป็นหลักสูตร นักธรรมชั้นตรี โท เอก บาลี ประโยค ๑-๒ ถึง ป.ธ.๙ แล้วก็หลักสูตรอภิธรรม อันนี้เป็นการแยกเอาพระไตรปิฎกออกมาจัดเป็นหลักสูตรให้พุทธบริษัทได้เรียนรู้
อันนี้เป็นคันถธุระ เป็นการศึกษาพระปริยัติธรรม เรียกว่าเป็นการทรงไว้ซึ่งพระพุทธพจน์ คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่มีคนรักษาพระพุทธพจน์ คำสั่งสอนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้วนั้นก็จะสูญสิ้นเสื่อมไป
แต่ถ้าบุคคลใดมาศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎก ท่านอุปมาเหมือนกับบุคคลผู้ขุดสระ เมื่อขุดสระแล้ว ฝนตกลงมาน้ำฝนก็ขังอยู่ที่สระ เมื่อน้ำขังอยู่ที่สระ ก็จะต้องมีปลาอาศัยอยู่ มีดอกบัวเกิดขึ้นมา เมื่อดอกบัวเกิดขึ้นมาแล้ว ดอกบัวนั้นก็ต้องบานในวันใดวันหนึ่ง
เมื่อคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอยู่ในโลก บุคคลผู้มีบารมีเกิดมา เมื่อได้รับรู้ว่าเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็น้อมเอาไปปฏิบัติ แล้วก็จะบังเกิดศีล สมาธิ วิปัสสนาญาณ บังเกิดการบรรลุมรรคผลนิพพานเป็นแน่แท้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ปริยัตินี้จึงถือว่าเป็นสิ่งที่เราต้องสืบสาน รักษา คุ้มครอง ปกป้อง ให้พระพุทธพจน์นั้นอยู่รอดปลอดภัยด้วยการศึกษาเล่าเรียน อันนี้เป็นคันถธุระ
วิปัสสนาธุระ คือสิ่งที่ทำให้เราเห็นแจ้งในทุกข์ สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ นิโรธ ความดับทุกข์ มรรค หนทางคือปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ อันนี้เป็นลักษณะของวิปัสสนาธุระ
คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายที่มารวมกันปฏิบัติธรรม ก็คือมาเจริญวิปัสสนากรรมฐาน มาเจริญสมถกรรมฐาน ฉะนั้น จึงน่าอนุโมทนาสาธุการ ถึงแม้ว่าญาติโยมและพระภิกษุสามเณรจะให้ความสนใจในการปฏิบัติธรรมน้อย แต่ว่าการปฏิบัติธรรมนั้นก็ไม่ด้อยค่า เพราะว่าการปฏิบัติธรรมที่จะให้เกิดผลนั้น ไม่เกี่ยวกับคนมากหรือน้อย ถ้าคนมามาก แต่ไม่มีการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง ไม่รู้กฎในการปฏิบัติ ไม่รู้ปฏิปทาว่าเราจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะมีศีลบริสุทธิ์ ได้สมาธิ ได้วิปัสสนาญาณ เราไม่รู้ ถึงจะอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมากก็ไม่สามารถที่จะปฏิบัติธรรมให้ได้ผลได้
แต่ถ้าบุคคลใดอยู่ด้วยกันจำนวนน้อย แต่อยู่ด้วยความสุข ต่างรูปต่างคนต่างตั้งใจปฏิบัติ โยมก็ตั้งใจปฏิบัติ พระก็ตั้งใจปฏิบัติ เณรก็ตั้งใจปฏิบัติ ก็สามารถที่จะเกิดสมาธิขึ้นมาได้ เกิดวิปัสสนาญาณ เกิดการบรรลุมรรคผลนิพพานขึ้นมาได้ จึงขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมได้ตั้งใจ โดยเฉพาะการรักษาพระวินัย อย่างเช่นคณะครูบาอาจารย์ที่มาปฏิบัติ เข้าปริวาสกรรมนี้ถือว่าเป็นการรักษาพระวินัย เพราะว่า ถ้าพระวินัยมี พระสูตรหมดไป พระอภิธรรมหมดไป พระศาสนาชื่อว่ายังอยู่ แต่ว่าถ้าพระวินัยหมดไป พระสูตรเหลือ พระอภิธรรมเหลือ พระศาสนาของเรานั้นก็ชื่อว่าหมดไปแล้ว เพราะหัวใจของพระพุทธศาสนานั้นคือพระวินัย
เหมือนกับพระเรานี่แหละ หัวใจของพระคืออะไร หัวใจของพระก็คือพระวินัย ถ้าพระภิกษุรูปใดมีพระวินัย คือมีศีลสมบูรณ์ พระภิกษุรูปนั้นก็เป็นพระที่มีศีลบริสุทธิ์ สามารถยังสมาธิสมาบัติให้เกิดขึ้น สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ แต่ถ้าพระภิกษุรูปใดประมาท ไปทำความผิด ไปต้องอาบัติ ทุกกฎ ทุพภาษิต เป็นต้น ศีลของพระภิกษุรูปนั้นก็ต้องด่างพร้อย ขาด หรือว่าทะลุ อันนี้เป็นลักษณะของศีล ถ้าศีลของเราด่างพร้อย เช่น ต้องอาบัติทุกกฎ ทุพภาษิต ถุลลัจจัย อันนี้เราก็ปลงอาบัติหาย หรือว่าต้องอาบัติปาจิตตีย์ เราก็ปลงอาบัติหาย แต่ถ้าเราต้องครุกาบัติ คือ สังฆาทิเสส เราไม่สามารถที่จะปลงอาบัติให้หายได้ เราต้องประพฤติวุฏฐานวิธีคือการอยู่ปริวาสกรรม เราจึงจะสามารถบริสุทธิ์บริบูรณ์ได้
แต่ถ้าภิกษุรูปใดต้องอาบัติปาราชิก ภิกษุรูปนั้นก็เหมือนเป็นคนหัวขาด เหมือนกับตาลยอดด้วน เหมือนกับแก้วที่ถูกทุบทำลายแล้ว ยากที่จะประสานเป็นเนื้อเดียวกันได้ เหมือนกับก้อนศิลาใหญ่ที่สายฟ้าฟาดลงมาทำให้ก้อนหินใหญ่นั้นแตกพังทะลายไป ยากที่จะประสานเป็นเนื้อเดียวกันได้ ภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิก ก็เหมือนกับบุคคลผู้แพ้ในพระพุทธศาสนา คือไม่สามารถที่จะปฏิบัติธรรมให้ได้สมาธิ วิปัสสนาญาณ หรือบรรลุมรรคผลนิพพานได้ บุคคลนั้นตายไปแล้วก็เป็นผู้ อวํสิโร เป็นผู้มีหัวอันหย่อนลงแล้วในอเวจีมหานรก
แต่ถ้าภิกษุรูปใดไม่ได้ต้องอาบัติปาราชิก เพียงแต่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ก็มาประพฤติวุฏฐานวิธี มาเข้าปริวาสกรรม เดินจงกรรม นั่งภาวนา ก็สามารถที่จะได้สมาธิตั้งแต่วันแรก บางรูปบางท่านกล่าวว่า กระผมต้องอาบัติมาแล้ว ๑ เดือน ๒ เดือน เมื่อคิดอย่างนั้นก็อยากจะมาเข้าปริวาสกรรม เมื่อเข้าปริวาสกรรมแล้วก็คิดว่า กระผมจะบริสุทธิ์หรือเปล่าหนอ ขณะที่กระผมปฏิบัติอยู่นี้ กระผมสามารถที่จะได้สมาธิไหม สามารถที่จะได้วิปัสสนาญาณไหม เกิดความสงสัยขึ้นมา ก็บอกว่าถ้าท่านสงสัย ให้กำหนดว่า สงสัยหนอ สงสัยหนอ จี้ลงไปที่หัวใจของท่าน เขาก็ทำตาม เมื่อทำตามไม่นาน ความฟุ้งซ่านมันไม่เกิด จิตใจสงบ เมื่อจิตใจสงบก็เกิดสมาธิขึ้นมา
เมื่อเกิดสมาธิขึ้นมาแล้วก็เกิดความอัศจรรย์ใจ คิดว่าตั้งแต่เกิดมา เรายังไม่เคยได้รับความสบายใจอย่างนี้เลย เราเคยได้รับประทานอาหารที่เอร็ดอร่อย ได้ดูสิ่งที่เราชอบใจ ได้ฟังสิ่งที่เราชอบใจ ได้สัมผัสอารมณ์ต่าง ๆ ที่เราปรารถนา แต่ว่าความสุขความสบายไม่เป็นอย่างนี้เลย ก็เกิดความอุตสาหะ เกิดความตั้งใจ เกิดความบากบั่นในการปฏิบัติธรรม ไม่ช้าไม่นานก็เกิดวิปัสสนาญาณ เกิดการบรรลุมรรคผลนิพพานขึ้นมา อยู่ในพระพุทธศาสนาจนเท่าทุกวันนี้ก็มี อันนี้เป็นลักษณะของการปฏิบัติธรรมในขณะเข้าปริวาสกรรม
คณะครูบาอาจารย์ที่มาปฏิบัติธรรมก็อย่าไปสงสัย รูปใดที่ประมาทพลาดพลั้งไปก็อย่าไปสงสัย คิดว่าเราส่วนมากก็คงจะไม่ประมาท แต่เราทั้งหลายมาสู่สถานที่แห่งนี้ ก็คิดว่าอยากจะมาบำเพ็ญบารมี อยากจะมาสร้างสมอบรมคุณงามความดีใส่ตัวเอง ก็ถือว่ามีโอกาสได้บรรลุสมาธิสมาบัติด้วยกันทั้งนั้น
ท่านกล่าวไว้ว่า ถ้าบุคคลใดปฏิบัติปริวาสกรรมให้สมบูรณ์นั้น บุคคลนั้นก็สามารถที่จะบริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ ถ้าเรารักษาวัตรของปริวาส ๓ ข้อ คือ
๑. สหวาโส อย่าอยู่ร่วมชายคากับภิกษุที่เป็นปกติ ถ้าเราบอกวัตรแล้วก็อย่าไปอยู่ร่วมชายคากับท่าน ถ้าเราอยู่ร่วมชายคากับท่านก็เป็นรัตติเฉท ขาดราตรี นับราตรีไม่ได้ เราจะอยู่ปริวาสเป็นร้อยปีก็นับราตรีไม่ได้ คือไม่บริสุทธิ์
๒. วิปฺปวาโส คือเราอย่าอยู่ปราศจากเขต เขตของปริวาสท่านกำหนดไว้เท่าไร เราต้องพอใจเท่านั้น อย่าออกไปแม้แค่คืบ ๑ ก้าว ๒ ก้าว ๓ ก้าว เราก็อย่าออกไป ถือว่าเป็นเขตเลฑฑุบาต เราก็ไม่ควรออกไป เพราะท่านอนุญาตให้เราอยู่ในเขตนี้เพียงเท่านั้น ถ้าเราออกนอกเขต ถึงจะเป็นเขตเลฑฑุบาต บางครั้งไม่เป็นรัตติเฉท อาจจะเป็นทุกกฎ ขอให้เราเข้าใจ อย่าออกนอกเขต นอกจากจะมีอาจารย์กรรมเป็นผู้ดูแลพาไป
๓. อนาโรจนา ต้องบอกแก่ภิกษุผู้ที่ยังไม่บอก ภิกษุใดที่จรมาในเขตปริวาสของเรา เราต้องบอก ท่านกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกว่า ในขณะที่ภิกษุกลุ่มหนึ่งสมาทานปริวาสกรรม
มีภิกษุรูปหนึ่งเหาะมา ท่านรู้ว่าตัวเองเหาะผ่านสถานที่ประพฤติวุฏฐานวิธี ท่านก็ยังมารับบอกวัตร ท่านเคร่งครัดถึงขนาดนั้น
เวลาเรามาประพฤติวุฏฐานวิธี เราต้องเคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นลำดับแรก ส่วนสมาธิหรือวิปัสสนาญาณนั้นเป็นผลพลอยได้ที่เกิดจากการเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ถ้าเราไม่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย เราจะไปเคร่งครัดเรื่องสมาธิ มันเป็นสิ่งที่ลำบากมาก เหมือนกับเราไม่เคร่งครัดในการทำนา ในการหว่านกล้า ในการปักดำ แต่เราจะมาเคร่งครัดในการให้ข้าวนั้นออกรวงโต ๆ นั้นก็เป็นไปไม่ได้ เพราะว่ากล้าของเราไม่สมบูรณ์ เราปักดำไม่ดี แล้วผลของข้าวมันจะออกมาดีได้อย่างไร อันนี้มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
เมื่อศีลของเราไม่บริสุทธิ์ เราก็ไม่เป็นเนื้อนาบุญของโลก เราต้องรักษาพระวินัยให้บริสุทธิ์ รักษาศีลให้บริสุทธิ์ เมื่อศีลของเราบริสุทธิ์แล้วเรามาปฏิบัติธรรม สมาธิมันก็จะเกิดขึ้นมาเอง เราไม่อยากได้ความสงบ ความสงบมันก็จะเกิดขึ้นมาเอง เราไม่อยากได้ญาณทัศนะ มันก็เกิดขึ้นมาเอง เราไม่อยากบรรลุมรรคผลนิพพาน มันก็เกิดขึ้นมาเอง ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า เมื่อมีศีลบริสุทธิ์ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความอวิปปฏิสาร คือความไม่เดือดร้อนใจ เมื่อศีลบริสุทธิ์แล้ว ความเดือดร้อนใจอย่างโน้นอย่างนี้ไม่มี ความกระวนกระวายไม่มี ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความปราโมทย์ขึ้นมา ความปราโมทย์ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปีติขึ้นมา
ปีติคือความอิ่มใจก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปัสสัทธิขึ้นมา ปัสสัทธิคือความสงบกายสงบจิตก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิขึ้นมา สมาธิก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดญาณทัสสนะขึ้นมา ญาณทัสสนะก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้เห็นตามเป็นจริง เรียกว่า มัคคามัคคญาณทัสสนะ รู้เห็นตามความเป็นจริง รู้เห็นว่าเราเกิดขึ้นมาแล้วมีความแก่ มีความเจ็บ เป็นธรรมดา เราเกิดขึ้นมาแล้วต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ เรียกว่าเกิดความรู้ความเห็นขึ้นมา อันนี้เป็นลักษณะของบุคคลผู้มีศีลบริสุทธิ์ เมื่อศีลบริสุทธิ์แล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เจริญไปตามลำดับ จึงขอให้คณะครูบาอาจารย์ได้ตั้งใจปฏิบัติธรรม
แต่ก่อนที่คณะครูบาอาจารย์มาปฏิบัติธรรม มีความสงสัยว่าเข้าปริวาสกรรมแล้วมีความบริสุทธิ์จริงหรือไม่ มีความสงสัยขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่ง สิ่งที่ทำให้เราหมดความสงสัยนอกจากเราจะกำหนดว่า สงสัยหนอ สงสัยหนอ จี้ลงไปที่หัวใจแล้ว ยังมีอีกประการหนึ่งที่จะให้เราหมดความสงสัย ก็คือยังผลของการปฏิบัติธรรมให้เกิดขึ้นมา เราต้องทำปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ วิปัสสนาญาณ การบรรลุมรรคผลนิพพาน ให้เกิดขึ้นมาให้ได้ เราจึงจะหมดความสงสัย แล้วเราจะทำผลของการปฏิบัติธรรมให้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
เราต้องปฏิบัติธรรมตามหลักของสติปัฏฐาน ๔ ให้เคร่งครัด เพราะว่า สติปัฏฐาน ๔ นั้นเป็นหนทางเส้นเดียวที่ใช้ดำเนินไปสู่การบรรลุมรรคผลนิพพาน ทางสายอื่นไม่มี เป็นเอกายมรรค เป็นหนทางเส้นเดียวที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ได้ดำเนินตามแล้วก็ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า อสีติมหาสาวก ก็ดำเนินตามหลักของสติปัฏฐาน ๔ ทั้งนั้น สติปัฏฐาน ๔ ก็คือ
๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ให้เราพิจารณากายของเรา ตั้งแต่พื้นเท้าถึงปลายผม จากปลายผมถึงพื้นเท้า ให้เราพิจารณาดู ก่อนอื่นให้เราพิจารณาดูกายที่เป็นส่วนละเอียด ก็คือ ลมหายใจเข้า-ออก ลมหายใจของเรานี้ถือว่าเป็นกาย จัดเข้าในกาย แต่ว่าเป็นกายละเอียด เป็นวาโยโผฏฐัพพรูป รูปที่เกิดขึ้นมาเพราะอาศัยลมกระทบ ลมจึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกาย
ขณะที่เราหายใจเข้า เราภาวนาว่า พองหนอ เราหายใจออก เราภาวนาว่า ยุบหนอ ขณะที่เราหายใจนั้นเราต้องสังเกตว่าลมหายใจของเรายาวหรือสั้น ถ้าลมหายใจเข้ายาว เราก็ต้องรู้ว่าลมหายใจเข้ายาว ถ้าลมหายใจออกยาว เราก็ต้องรู้ว่าลมหายใจออกยาว หรือลมหายใจของเราละเอียด บางรูปบางท่านนั่งภาวนาไป พองหนอ ยุบหนอ จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน เมื่อจิตใจไม่ฟุ้งซ่าน กายของเราเป็นกายที่ระงับ จิตของเราก็ระงับ ลมหายใจของเราก็จะเริ่มละเอียดขึ้น ลมหายใจของเราจะเบาลง ๆ ความรู้สึกของเราก็จะน้อยลงไป ๆ อันนี้เป็นลักษณะของลมหายใจละเอียด
เมื่อบุคคลใดมีลมหายใจละเอียดขึ้น เรียกว่าสมาธิเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้นมากพอสมควรแล้ว เราก็รู้ว่าลมละเอียดมันเกิดขึ้นแก่เรา เราก็พิจารณาดูต้นลม กลางลม สุดลม ว่าต้นพอง กลางพอง สุดพอง เป็นอย่างไร ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ เป็นอย่างไร อันนี้เรียกว่าเราพิจารณาลมหายใจเข้า-ออก ถ้าเราพิจารณาในลักษณะอย่างนี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปัสสนาญาณได้ รู้ว่าลมมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมลงอย่างไร อันนี้เป็นลักษณะของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าใครอยากจะได้วิปัสสนาญาณ หรืออยากบรรลุมรรคผลนิพพานก็ต้องพิจารณาในลักษณะอย่างนี้
อีกอย่างหนึ่ง ท่านให้เราพิจารณาดูอิริยาบถ เวลาเราจะเดินจะนั่ง จะทำกิจอะไรก็ตาม ให้เราพิจารณา จะเป็นอิริยาบถใหญ่ เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน เวลาเราจะเดินเราต้องมีสติ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เวลาเราจะนั่ง เราก็ต้องกำหนด นั่งหนอ นั่งหนอ ลงไป เวลาเราจะนอนเราก็ต้องกำหนดนอน พองหนอ ยุบหนอ นอนหนอ เป็นต้น หรือว่า นอนหนอ นอนหนอ ตั้งสติไว้ที่อาการนอน อันนี้ก็ถือว่าเป็นการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน รูปยืนเกิดขึ้น รูปยืนดับไป รูปเดินเกิดขึ้น รูปเดินดับไป นี่เราจะเห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของรูปของนาม จึงขอทำความเข้าใจในวันที่ ๑ กลัวคณะครูบาอาจารย์จะปฏิบัติธรรมตลอด ๙ คืน ๑๐ วัน ไม่สมบูรณ์ ไม่เข้าใจหลักการปฏิบัติธรรม วันแรกจึงขอเน้นในเรื่องการกำหนด ในเรื่องหลักการปฏิบัติธรรมให้ครูบาอาจารย์ได้เข้าใจ ขอให้ครูบาอาจารย์ได้ตั้งใจปฏิบัติ เพราะนี่เป็นหลักการปฏิบัติธรรมเพื่อให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานอย่างแท้จริง
ขอให้ครูบาอาจารย์ได้ตั้งใจกำหนดอิริยาบถน้อย ๆ อย่างเช่น เรายืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำกิจอะไรก็ตาม เราคู้ เราเหยียด เราก้ม เราเงย นุ่งสบง ห่มจีวร อาบน้ำชำระร่างกาย เข้าห้องน้ำ ฉันอาหาร เป็นต้น เราต้องพยายามกำหนดให้ทันทุกอิริยาบถ ถ้าบุคคลใดกำหนดได้ทันทุกอิริยาบถ บุคคลนั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้มีสติแล้ว บุคคลนั้นขึ้นสู่ทางบรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว ไม่ช้าไม่นานก็ต้องเกิดวิปัสสนาญาณ ได้บรรลุมรรคผลนิพพานแน่นอน แต่ว่าเราต้องพยายามกำหนดให้มันทัน กำหนดให้ได้
เวลาเราปฏิบัติธรรมจริง ๆ แม้แต่เราหยุด เราก็ต้องกำหนดรู้ว่าเราหยุด หยุดหนอ หยุดหนอ เราต้องรู้ เวลาเรานั่ง เราไม่เคลื่อนมือเคลื่อนไม้ เรานิ่ง เราก็ต้องกำหนดรู้ว่า นิ่งหนอ นิ่งหนอ เวลาเรากลืนน้ำลาย เราก็ต้องกำหนดว่า กลืนหนอ กลืนหนอ นี่เป็นลักษณะของการปฏิบัติธรรม ไม่มีขณะใดที่เราเผลอเลย ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ขณะอย่าได้ล่วงพวกเธอทั้งหลายเลย” คือ อย่าได้ขาดสติ ขอให้มีสติทุกเมื่อ แล้วจะพ้นไปจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง เวลาเราจะคู้ จะเหยียด จะก้ม จะเงย เราจะทำอะไรก็ขอให้มีสติ กำหนดให้ดี
อีกประการหนึ่ง ให้เราพิจารณาดูว่า ขณะที่เรากำหนดทางกาย ก็ให้เราพิจารณาว่า กายของเรานี้เป็นของไม่เที่ยงแท้ ประกอบด้วยธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ประกอบไปด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม บุคคลผู้มาปฏิบัติธรรมจึงต้องสำเหนียกว่าร่างกายของเรานั้นเป็นของยืมเขามา เป็นการรวมตัวของธาตุทั้ง ๔ ถ้าเราขาดธาตุใดธาตุหนึ่ง ร่างกายของเราก็ต้องแตกไป
ถ้าร่างกายของเราร้อนเกินไป ก็ต้องแตกดับไป ถ้าร่างกายของเราหนาวเกินไป ก็ต้องแตกดับไป ร่างกายของเราขาดธาตุดิน ขาดอาหาร หิวมากเกินไปก็ต้องแตกดับไป ร่างกายของเราขาดน้ำมากเกินไปก็ต้องตายไป ธาตุใดธาตุหนึ่งอ่อน ร่างกายของเราก็ต้องแตกดับไป ถ้าเราพิจารณาในลักษณะอย่างนี้ เราก็จะเป็นผู้ไม่ประมาท คิดว่าอีกไม่นานเราก็ต้องจากโลกนี้ไปแล้ว เมื่อเราตายไปแล้วเราจะเอาอะไรเป็นเสบียงหนอ เอาอะไรเป็นเครื่องเดินทางหนอ
โดยเฉพาะคนแก่ เป็นผู้ที่เตรียมเสบียงแล้ว เริ่มหาห่อข้าวแล้ว หาห่อข้าวเพื่อที่จะเอาไปกินในสัมปรายภพข้างหน้า เรียกว่าเริ่มสั่งสมอบรมบุญกุศลที่จะติดตามเราไปในสัมปรายภพข้างหน้าแล้ว แต่ถ้าผู้ใดเป็นผู้ประมาท ผู้นั้นตายไปแล้วก็จะเป็นผู้ขาดเสบียง คนขาดเสบียงเวลาเดินทาง อดอยาก ลำบาก อย่างไร คนที่ตายไปสู่ปรโลกก็เหมือนกัน ถ้าบุคคลใดไม่มีบุญติดตัวไป เมื่อบาปกรรมมันให้ผลก็ได้รับความทุกข์ทรมานมาก เหมือนกับเปรตผู้เป็นญาติของพระเจ้าพิมพิสาร อดอาหาร ต้องทนทุกข์ทรมานสิ้นกาลนานเพราะบาปกรรมของตนเอง
แต่เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้ทำบุญ ถวายวัดเวฬุวัน ถวายผ้าไตรจีวรแก่พระภิกษุทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข แล้วก็กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญให้ น้ำอันเป็นทิพย์ เครื่องทรงอันเป็นทิพย์ อาหารอันเป็นทิพย์ จึงปรากฏแก่เปรตเหล่านั้น อันนี้เป็นลักษณะของบุญที่เราจะต้องทำเพื่อเป็นเสบียงไปสัมปรายภพ ก็ขอให้ญาติโยมทั้งหลายอย่าได้ประมาท ร่างกายของเราเป็นของยืมเขามา เราควรทำบุญทำทาน
อีกประการหนึ่ง ท่านให้พิจารณาว่าร่างกายของเราเป็นของปฏิกูลโสโครก เต็มไปด้วยอาการ ๓๒ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ร่างกายของทุกคนเหมือนกันหมด จะเป็นคนสวยขนาดไหนก็ตาม ข้างในก็เต็มไปด้วยขี้ เต็มไปด้วยของปฏิกูลโสโครกด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่ว่ามีหนังห่อหุ้มไว้เฉย ๆ ถ้าไม่มีหนังห่อหุ้มไว้แล้วก็ดูไม่ได้เลย
ดังที่หลวงปู่แหวนท่านเคยไปธุดงค์ที่แม่น้ำงึม ประเทศลาว ตอนเย็น ๆ กำลังลงสรงน้ำ ก็มียายคนหนึ่งกับลูกสาวพายเรือผ่านมา ขณะนั้นหลวงปู่ท่านเป็นพระหนุ่ม บวชยังไม่นาน ลูกสาวของยายที่นั่งเรือมามองไปเห็นหลวงปู่ซึ่งขณะนั้นเป็นพระหนุ่ม ก็เกิดเป็นความรู้สึกผูกพันขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่ยังไม่เคยได้คุยกัน ภาพนั้นก็ติดตาหลวงปู่อยู่ตลอดเวลา ขณะที่เดินจงกรมนั่งภาวนา ภาพนั้นก็ปรากฏขึ้นมาตลอด ท่านพิจารณาโดยประการต่าง ๆ ก็ไม่สามารถที่จะเปลื้องภาพดนั้นออกไปได้
ท่านก็พิจารณาว่า เราปฏิบัติธรรมมาถึงขนาดนี้ เราจะมาหลงอะไร ทำไมเราจึงมาหลงในรูปแม่สาวน้อยคนนี้เหลือเกิน เราหลงที่ไหนหนอ หลงที่ตา หรือหลงที่คิ้ว หลงที่จมูก หรือหลงที่ปาก หรือหลงที่ผิวพรรณ พิจารณาไปพิจารณามา ก็เกิดปัญญาขึ้นมาว่า เรานั้นหลงที่หนัง ถ้าเราลอกหนังของนางออกแล้ว ความสวยงามคงจะหมดเป็นแน่แท้ นั่งไปก็เกิดเป็นนิมิตขึ้นมา สร้างนิมิตเป็นรูปเป็นร่างแล้วลอกหนังออก เอาหนังไปกองไว้ส่วนหนึ่ง เอากระดูกไปกองไว้ส่วนหนึ่ง เอาเนื้อไปกองไว้ส่วนหนึ่ง แยกอาการ ๓๒ ออกจากกัน ก็เป็นเหตุให้ความกำหนัดนั้นยุติลง แล้วท่านก็อยู่มาได้จนเราได้กราบได้ไหว้เท่าทุกวันนี้ อันนี้เป็นเพราะท่านทำความเพียร
แต่ว่าก่อนที่ท่านจะสำเร็จ ก่อนที่จะได้เป็นเนื้อนาบุญของโลก ท่านก็สู้เหมือนที่กระผมได้กล่าวมานั่นแหละ คณะครูบาอาจารย์ที่มาปฏิบัติธรรม เราต้องพิจารณา ต้องปลงเสียก่อน ถ้าเราไม่ปลง จิตใจของเราก็จะไม่สามารถหยั่งลงสู่ธรรมะที่แท้จริงได้ เพราะธรรมะที่แท้จริงนั้นต้องปรากฏขึ้นมาในสภาพที่บุคคลนั้นปลง เรียกว่าปลงธรรมสังเวช เหมือนกับพระพุทธเจ้าไปเห็นเทวทูต ๔ เห็นคนแก่ เห็นคนเจ็บ เห็นคนตาย เห็นสมณะ ก็เกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมา อยากจะออกบวช อยากจะอุทิศตนเป็นนักบวช อันนี้เป็นเพราะจิตใจเกิดความสลดสังเวชขึ้นมา ผู้ที่มาปฏิบัติธรรม ต้องทำจิตใจของตนให้เกิดความสลดสังเวชด้วย
อีกประการหนึ่ง ท่านให้เราพิจารณาว่าร่างกายของเรานั้นเปรียบเสมือนกับซากศพ คือทุกคนเกิดขึ้นมาแล้ว ก็จะต้องกลายเป็นซากศพด้วยกันทั้งนั้น จะช้าหรือเร็วก็แล้วแต่ ท่านจึงให้พิจารณาดูศพที่ตายแล้ว ๑ วันบ้าง ๒ วันบ้าง มันก็เริ่มขึ้นอืด เริ่มพอง เท้าหงิกงอ มีเนื้อสีเขียว แล้วก็แตก เป็นน้ำหนอง ส่งกลิ่นเหม็น อันนี้เป็นลักษณะที่ท่านให้เราพิจารณา ให้เราพิจารณาว่า สิ่งเหล่านี้ฉันใด ร่างกายของเราก็ฉันนั้นเหมือนกัน กายทั้งหมดในโลกนี้ไม่มีของเที่ยง ไม่มีของยั่งยืน ไม่มีอะไรคงทนถาวร เราก็พิจารณากายของเรา เราต้องหาประโยชน์จากกายให้ได้ โดยน้อมเอากายนั้นมารักษาศีล มาเจริญสมถกรรมฐาน มาเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนเป็นเหตุให้เกิดศีล สมาธิ ปัญญา เกิดการบรรลุมรรคผลนิพพาน อันนี้เรียกว่า เราทำที่พึ่งให้แก่ตนเอง
ประการที่ ๒ เวทนานุปัสสนา ให้เราพิจารณาเวทนา ขณะที่เรานั่งไปมันเกิดความเจ็บความปวด ความหงุดหงิดรำคาญ เมื่อเวทนาที่เป็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์เกิดขึ้นมา เราก็ต้องกำหนดรู้ เจ็บหลัง ปวดเอว ต่าง ๆ เวทนาเหล่านี้เกิดขึ้นมาเราต้องกำหนดรู้ ปวดหนอ ปวดหนอ จี้ลงไปที่หัวใจของเรา ถ้ามันปวดที่ขาก็ ปวดหนอ ปวดหนอ จี้ลงไปที่ขาของเรา ปวดตรงไหนเราก็กำหนดตรงนั้น เรากำหนดไป ๆ ถ้าสมาธิตั้งมั่น ความปวดนั้นจะรวมกัน แล้วก็ปรากฏชัดขึ้นมา เราก็กำหนด ปวดหนอ ปวดหนอ จี้ลงไป ดูอาการของความปวดที่ปรากฏขึ้นมา ความปวดนั้นก็จะปรากฏชัดขึ้น ปวดมาก ๆ แล้วก็ผ่อนลง แล้วก็ดับไป ปวดมาก ๆ แล้วก็ผ่อนลง แล้วก็ดับไป มันจะเป็นลักษณะอย่างนี้
เราจะเห็นว่า เวทนานี้มันก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เราไม่อยากให้มันเกิดมันก็เกิด เราไม่อยากให้มันตั้งอยู่มันก็ตั้งอยู่ เราไม่อยากให้มันดับไปมันก็ดับไป มันเป็นสิ่งที่บังคับบัญชาไม่ได้ มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าเราพิจารณาอย่างนี้ มันก็จะค่อย ๆ เกิดปัญญาขึ้นมา เป็นเหตุให้เราได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
ประการที่ ๓ จิตตานุปัสสนา ท่านให้เราพิจารณาดูจิต จิตนั้นถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว ถ้าบุคคลใดเป็นผู้มีจิตดี บุคคลนั้นก็จะเป็นผู้พูดดี ทำดี แต่ถ้าบุคคลใดเป็นผู้มีจิตชั่ว ก็เป็นเหตุให้พูดชั่ว ทำชั่ว อันนี้เป็นลักษณะของจิตไม่ดี เวลามาปฏิบัติธรรมท่านให้เรากำหนด เวลามันเกิดความคิดขึ้นมา อย่างเช่น ความโกรธมันเกิดขึ้นมา เราต้องกำหนด โกรธหนอ โกรธหนอ ที่จิตของเรา ถ้ามันโลภก็ โลภหนอ ๆ เราต้องกำหนดไปตามสภาวะของจิต เราต้องเข้าใจ พิจารณาดูจิตของเราเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามอาการของมัน
ประการที่ ๔ ธัมมานุปัสสนา ให้เราพิจารณาดูธรรม ธรรมในที่นี้หมายถึงหมวดธรรม อย่างเช่น อริยสัจ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ เป็นต้น ท่านให้เราพิจารณาธรรมตามหมวดต่าง ๆ เวลาเราปฏิบัติธรรม เราก็พิจารณาดูธรรมที่เกิดขึ้นในใจของเรา เช่น กามฉันทะ กามฉันทะมันเกิดขึ้นมาจากใจของเรา เราไปยินดีในรูปของคนโน้น ไปยินดีในเสียงของคนนี้ ก็เกิดความชอบใจขึ้นมา เราก็จะพิจารณาได้ว่า ที่เราไปชอบคนโน้น ไปพอใจสิ่งนี้ เพราะว่าตาของเราเป็นตัวเห็น เมื่อเห็นแล้วเราลืมกำหนด ก็เป็นเหตุให้เราพอใจในรูป อันนี้ก็ถือว่าเป็นกามฉันทะ กามฉันทะนั้นเป็นนิวรณ์ เป็นเครื่องกั้นกางคุณงามความดี ไม่ให้เกิดขึ้นในจิตในใจของผู้ปฏิบัติธรรม ขอให้เราได้พิจารณา
การปฏิบัติธรรมของเราจะได้ผลหรือไม่นั้น อยู่ที่ตัวของเราเอง ขณะที่เรามาปฏิบัติ ขอให้เรามีความตั้งใจมั่น ตั้งใจจริง มีศรัทธาจริง เชื่อมั่นในครูบาอาจารย์ว่าครูบาอาจารย์ที่มาแนะนำเรานี้สามารถที่จะทำให้เราได้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ แล้วก็ขอให้เรามีสติอยู่กับกาย เวทนา จิต ธรรม เราก็จะสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้.