สาระของชีวิต
(เทศน์ที่สถานปฏิบัติธรรมจอมทอง วันที่ ๗ ก.ย. ๕๖)
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า สาระของชีวิตหรือแก่นของชีวิตที่แท้จริงนั้น ก็คือบุญกุศล คือการให้ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา พระองค์ทรงตรัสสาระของชีวิตไว้อย่างนั้น ถ้าผู้ใดเกิดมาแล้วไม่รู้จักการให้ทาน ถือว่าสาระของชีวิตคือการให้ทานของบุคคลนั้นก็เป็นโมฆะไป เกิดขึ้นมาแล้วก็มีความตระหนี่ในตอนเช้า มีความริษยาในตอนบ่าย มีกามราคะครอบงำในตอนเย็น อะไรทำนองนี้ ก็ถือว่าชีวิตของบุคคลนั้นเป็นโมฆะไป
พวกเราทั้งหลายที่ได้มาร่วมกันบำเพ็ญภาวนา ก็ถือว่าได้มาสร้างสาระของชีวิตให้เกิดขึ้นในจิตในใจของเราเอง บุญทั้งหลายทั้งปวงที่เราทำนั้น เมื่อเราทำแล้วมันก็จะปวัตติไปเก็บไว้ในจิตในใจของเรา บาปที่เราทำแล้วมันก็ปวัตติไปเก็บไว้ในใจของเรา บุญและบาปที่เราเคยทำมาแต่ก่อนโน้น มันไม่ได้ไปไหน มันก็อยู่ในจิตในใจของเรานี่แหละ เรียกว่า ปวัตติลงไปในห้วงภวังคจิตของเรา แล้วก็เก็บรักษาบุญบาปนั้นไว้ในห้วงภวังคจิตของเรา เพราะฉะนั้น เราจะหลบหนีจากบาปจากบุญนั้น หลบหนีไม่ได้
เวลาบาปมันให้ผล เราไม่อยากจะได้รับความทุกข์ทรมาน เราไม่อยากจะเกิดเป็นเปรต สัตว์นรก อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน เราก็หลบหลีกไม่พ้น เราจะเหาะไปในอากาศ ดำลงไปในน้ำ มุดไปอยู่ในถ้ำในเหว อะไรต่าง ๆ ก็ไม่สามารถที่จะหลบการให้ผลของบาปได้
เวลาบุญมันให้ผลก็เหมือนกัน เราก็ไม่สามารถที่จะผัดวันประกันพรุ่งว่าเราไม่อยากจะได้ทรัพย์สมบัติอย่างนี้ เราไม่อยากจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างนี้ เราไม่อยากจะไปเกิดเป็นเทวดา เราไม่อยากจะมีวิมานอย่างโน้น มีเครื่องทรงอันเป็นทิพย์อย่างนี้ เราไม่อยากจะมีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรสอย่างนี้ เราก็ห้ามไม่ได้ เพราะมันเป็นผลของบุญที่ให้ผลกับสัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา เฉพาะตัวเฉพาะตนไป
เราทั้งหลายที่ได้มาร่วมกันบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศล ก็ถือเสียว่าเรานั้นมาสร้างสาระให้แก่ชีวิตของเรา เรียกว่า เราทำดีไว้ให้ลูก ทำถูกไว้ให้หลาน สิ่งที่เราทำนี้ก็จะติดตามเราไปในสัมปรายภพข้างหน้า
เราทำบุญไว้แล้ว
เราก็จะไม่เดือดร้อนใจในภายหลัง เวลาเราแก่เฒ่า ร้างกาย
ทุพลภาพ เราก็จะไม่เดือดร้อน เวลาเรานึกถึงบุญ เราก็เกิดความปีติ เกิดความรื่นเริง
เกิดความบันเทิงใจ เกิดความซาบซ่าน ในจิตในใจของเรา
เพราะเรานึกถึงบุญที่เราทำไว้อยู่ตลอดเวลา เรียกว่า ทำบ่อย ๆ ทำอยู่เนื่องนิตย์
ทำไม่ขาดสาย ทำไม่ขาดระยะ
เหมือนกับญาติโยมทั้งหลายที่มาทำบุญทุกวัน ๆ อันนี้เรียกว่า นิจจบุญ บุญที่เราทำอยู่บ่อย ๆ ทำอยู่เนือง ๆ ทำอยู่เรื่อย ๆ ทำติดต่อ ทำไม่ขาดระยะ อันนี้เรียกว่า เป็นนิจจบุญ บุญนั้นหลั่งไหลออกมาอยู่เป็นนิตย์ ถ้าผู้ใดทำบุญในลักษณะอย่างนี้แล้ว ท่านกล่าวว่า เวลาบุญมันให้ผล ก็เหมือนกับน้ำไหลซึมบ่อทราย มันจะซึมออกมาเรื่อย ๆ ถึงเราจะตักน้ำไปแล้วน้ำมันก็ซึมออกมาเรื่อย ๆ
บุญกุศลของบุคคลใด เมื่อให้ผลแล้ว ก็เหมือนกับน้ำซึม เรียกว่าเราจะกินบุญนั้นให้หมดสิ้นไปนั้นเป็นไปไม่ได้ บุญกุศลนั้นก็ไหลออกมาเรื่อย ๆ อันนี้เรียกว่า นิจจบุญ ที่บุคคลได้ทำไว้เนืองนิตย์ ก็ขอให้ญาติโยมได้คิดเสียว่า เราเกิดขึ้นมาแล้ว เราลำบากในการเลี้ยงลูก ลำบากในการเลี้ยงครอบครัว ลำบากในการหากิน เราก็ลำบากมามากแล้ว แต่ความลำบากทั้งหลายเหล่านั้น เป็นความลำบากแค่ในโลกนี้ ตายจากโลกนี้ไปแล้ว เราไม่สามารถเอาความลำบากเหล่านั้นเป็นบุญกุศลติดตามไปในโลกหน้าได้ ความลำบากเหล่านั้น เป็นการลำบากเพื่อหาอยู่หากิน เป็นการลำบากเพื่อเลี้ยงชีวิตในโลกนี้
ท่านกล่าวว่า เมื่อเราตายไปแล้ว ร่างกายของเราก็แตกดับ แต่ว่าจิตวิญญาณของเรานั้นยังไม่แตกดับ ท่านอุปมาอุปไมยเหมือนกันกับหม้อดินที่บรรจุน้ำมันเต็ม มีบุรุษคนหนึ่งถือหม้อดินที่บรรจุน้ำมันเต็ม แล้วก็เอาหม้อนั้นเทินศีรษะเดินข้ามแม่น้ำไป ขณะที่เดินไปถึงกลางแม่น้ำ หม้อดินก็แตกไป เศษหม้อดินที่แตกนั้นก็จมลงไปในน้ำ แต่น้ำมันนั้นลอยเหนือน้ำ ไม่จมลงไปด้วย
จิตของคนก็เหมือนกัน จิตของคนเมื่อแตกดับจากร่างกายแล้ว ร่างกายของเรา สิ่งที่เป็นธาตุดินก็ต้องเป็นธาตุดินไป สิ่งที่เป็นธาตุน้ำ เช่น เลือด หนอง เสลด มูตร เป็นต้น ก็เป็นน้ำไป ส่วนที่เป็นลมหายใจเข้าออกก็เป็นอากาสธาตุไป ส่วนไฟที่เผาผลาญอาหารให้ย่อย ไฟที่ทำร่างกายให้อบอุ่นก็เป็นธาตุไฟ ก็สลายไป ธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ก็สลายไป สิ่งทั้งหลายที่เป็นสมมติ คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ที่มาประสานกันนั้นก็สลายไป ส่วนจิตของเรานั้นก็ไปอุบัติตามอานุภาพของบุญและบาป ตายจากโลกนี้แล้วก็ถือปฏิสนธิในโลกหน้าภูมิหน้าต่อไป
บางคนก็อาจจะไปเกิดในนรกเลยก็มี บางคนก็อาจจะไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานเลยก็มี ยกตัวอย่างเช่น นายโกตุหลิกะ
นายโกตุหลิกะ เป็นผู้มีที่มีชีวิตที่ตื่นเต้น มีภพชาติที่ตื่นเต้น ในคราวที่เกิดทุพภิกขภัย เขาพาลูกพาเมียเดินทางหนีความทุกข์ยากลำบาก ลูกก็ตายไปในระหว่างทาง เหลือแต่ตนเองกับภรรยา ไปพบกับนายโคบาล คือคนเลี้ยงโค คนเลี้ยงโคจำนวนมากในนครนั้น คอยรีดนมโคไปขายให้คนทั้งหลายทั้งปวง
วันนั้น นายโคบาลทำพิธีสู่ขวัญแม่โค ก็นิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้ามา แล้วก็รีดเอานมโคมาทำข้าวมธุปายาสถวายพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วก็เลี้ยงคน และนายโคบาลก็ได้เอาข้าวมธุปายาสก้อนใหญ่ ๆ ให้แม่สุนัขตัวหนึ่งกิน ฝ่ายนายโกตุหลิกะซึ่งอดอาหารมาเป็นเวลาหลายวัน พอได้เห็นข้าวมธุปายาสก้อนใหญ่ที่นายโคบาลเอาให้แม่สุนัขกินนั้นก็คิดว่า แม่สุนัขนี้มีบุญเหลือเกิน ได้กินข้าวมธุปายาส แม้เราเป็นคนแท้ ๆ ก็ยังไม่ได้กิน
นายโคบาลมองดูหน้านายโกตุหลิกะแล้วก็เกิดความสงสาร ก็เลยแบ่งข้าวมธุปายาสให้กิน ด้วยความที่อดอาหารมาหลายวัน นายโกตุหลิกะก็กินข้าวมธุปายาสนั้นไปเป็นจำนวนมาก ตกกลางคืนมาข้าวไม่ย่อย นายโกตุหลิกะก็สิ้นใจตาย ในขณะที่สิ้นใจตายนั้นมีจิตผูกพันธ์กับแม่สุนัข คิดว่าแม่สุนัขนั้นเป็นผู้มีบุญ ก็เลยไปปฏิสนธิในท้องของแม่สุนัขนั้นเอง
เมื่อแม่สุนัขคลอดลูกออกมาแล้วนายโคบาลก็เลี้ยงไว้ พระปัจเจกพุทธเจ้าก็มารับอาหารบิณฑบาตทุกวัน ลูกสุนัขตัวนั้นก็วิ่งตามไปส่งพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นประจำ บางครั้งนายโคบาลไม่สามารถไปนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าได้ ก็ส่งลูกสุนักนี่แหละไปนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้า พอไปถึงกุฏิของพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ลูกสุนัขนั้นก็เห่าสามครั้ง แล้วก็นอนหันหน้าไปทางกุฏิของพระปัจเจกพุทธเจ้า ถ้าพระปัจเจกพุทธเจ้ายังไม่รู้อีก ก็เห่าอีกสามครั้ง ถ้าพระปัจเจกพุทธเจ้ายังไม่สนใจ ก็เข้าไปใกล้อีกแล้วก็เห่าอีก ถ้าท่านยังไม่สนใจอีก ก็เดินเข้าไปคาบชายจีวรท่านแล้วก็ดึงมาเลย
พอมาถึงพุ่มไม้ ลูกสุนัขก็เห่ารอบ ๆ พุ่มไม้ เพื่อให้งูหรือสัตว์ร้ายในพุ่มไม้หนีไป พระปัจเจกพุทธเจ้าอยู่ในที่แห่งนั้น ๑ พรรษา พอออกพรรษาแล้วพระปัจเจกพุทธเจ้าได้ด้ายจากนายโคบาลก็เลยจะไปทำจีวรที่ภูเขาคันธมาศ เมื่อร่ำลานายโคบาลเรียบร้อยแล้วก็เหาะไปสู่ภูเขาคันธมาศ ลูกสุนัขมองเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าจากไปก็เกิดความอาลัยอาวรณ์ ก็เลยอกแตกตายในขณะนั้น เมื่อตายไปแล้วก็ไปเกิดเป็นเทพบุตรที่มีเสียงกึกก้องมาก พูดแค่เบา ๆ เท่านั้น ได้ยินไปถึงร้อยโยชน์พันโยชน์ ด้วยอานุภาพที่ใช้เสียงเห่านิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยความเคารพนั่นเอง
จะเห็นได้ว่า นายโกตุหลิกะนั้น เป็นคนอยู่ดี ๆ ก็ไปเกิดเป็นหมา จากอัตภาพของหมาก็ไปเกิดเป็นเทพบุตร ในลักษณะอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า ภพชาติของคนเรานั้นไม่แน่นอน บางครั้งเราเป็นคนอยู่ดี ๆ มีความยินดีในอัตภาพของสัตว์ดิรัจฉาน เมื่อตายไปก็ไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานได้
เหมือนกับไก่ที่กำลังฟังธรรมอยู่ที่บรรณศาลา ขณะที่ฟังธรรมอยู่นั้นมีแม่เหยี่ยวมาเฉี่ยวเอาไป แล้วก็หัวใจวายตาย เป็นไก่อยู่แท้ ๆ เมื่อตายไปก็ไปเกิดเป็นธิดาของกษัตริย์ คือในขณะที่ไก่ตัวนั้นโดนเหยี่ยวโฉบเอาไปนั้น ธิดากษัตริย์กำลังเสด็จเลียบพระนคร ไก่ก็เห็นพอดี เมื่อเห็นแล้วก็เกิดความพอใจในอัตภาพของราชธิดานั้น ตายไปในขณะนั้นก็ไปถือปฏิสนธิในท้องของราชธิดา นี่เป็นไก่แท้ ๆ ก็ยังได้ไปเกิดเป็นธิดาของกษัตริย์ เมื่อเกิดเป็นธิดาของกษัตริย์แล้ว วันหนึ่งเข้าไปถ่ายในเวจกุฎี คือห้องส้วมในสมัยนั้น ก็มองเห็นหมู่หนอน ก็เอาหมู่หนอนนั้นเป็นอารมณ์กรรมฐาน เจริญสมถกรรมฐาน ยังปฐมฌานให้เกิดขึ้นมา เมื่อตายจากภพนั้นแล้วก็ไปเกิดในพรหมโลก หลังจากนั้นมาเกิดเป็นธิดาของพ่อค้า ตายจากนั้นแล้วก็มาเกิดเป็นธิดาของพ่อค้าม้า สุดท้ายก็มาเกิดในเมืองอนุราธบุรี เป็นราชธิดาพระนามว่าสุมนา นี่เรียกว่า ภพชาติของคนเรานั้นไม่แน่นอน หมุนเวียนเปลี่ยนไปอยู่ในลักษณะอย่างนี้
บุญบาปที่เราทั้งหลายได้ทำไว้นั้น ท่านกล่าวว่า มันจะปวัตติลงไปในห้วงภวังคจิตของเรา แล้วก็จะรักษาไว้ เราก็จะไปเกิดตามบุญตามบาปที่อยู่ในห้วงภวังคจิตของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ให้เรานั้นหมั่นสร้างสมอบรมคุณงามความดี สร้างบารมีใส่ตนเองให้มากที่สุด
อาตมาภาพได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยียน ก็ขออนุโมทนาที่ญาติโยมทั้งหลายได้ช่วยกันรักษาวัด ช่วยกันรักษาพระพุทธศาสนา มาร่วมกันสร้างสมอบรมคุณงามความดี ก็ขออนุโมทนาสาธุการ.