การข้ามโอฆะ
(เทศน์ที่วัดนาน้ำคำ วันที่ ๔ ก.พ. ๕๗)
วันนี้ก็จะขอน้อมนำเอาธรรมะเรื่อง “การข้ามโอฆะ” มากล่าวให้คณะผู้ปฏิบัติธรรมตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายได้เข้าใจ
การข้ามโอฆะ ญาติโยมผู้ที่ไม่เคยเรียนบาลี ไม่เคยเรียนนักธรรม ก็อาจจะสงสัยว่า โอฆะนั้นมันหมายถึงอะไร
โอฆะนั้นหมายเอาห้วงน้ำใหญ่ที่ท่วมทับสรรพสัตว์ทั้งหลาย มี ๔ ประการ คือ
๑. กาโมฆะ ห้วงน้ำคือกาม
กามคืออะไร ?
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสว่า สิ่งใดที่น่าใคร่ สิ่งใดที่น่าพอใจ นั่นเรียกว่า กาม
อะไรเป็นสิ่งที่น่าใคร่น่าพอใจ ?
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า รูป เสียง กลิ่น รส การสัมผัสอารมณ์ต่าง ๆ เป็นสิ่งที่น่าใคร่น่าพอใจ
เวลาเรามาปฏิบัติธรรม เราต้องพยายามอย่าให้รูปมันท่วมทับจิตใจของเรา เวลาตาเห็นรูป เราต้องกำหนด เห็นหนอ ๆ
เวลาหูของเราได้ยินเสียง เราต้องกำหนด ได้ยินหนอ ๆ
เวลาจมูกของเราได้กลิ่น เราต้องกำหนด กลิ่นหนอ ๆ
เวลากายของเราสัมผัสอารมณ์เย็นร้อนอ่อนแข็ง เราก็ต้องกำหนด รู้หนอ ๆ
เวลาลิ้นของเราได้ลิ้มรส เราก็ต้องกำหนด รสหนอ ๆ
อันนี้เรากำหนดเพื่อที่จะไม่ให้ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั้นท่วมทับจิตใจของเรา เรียกว่าเรามีสติ กั้นห้วงน้ำใหญ่ไม่ให้ท่วมทับจิตใจของเรา
เมื่อตาเห็นรูป เกิดราคะขึ้นมา ก็เป็นห้วงน้ำใหญ่ท่วมทับจิตใจของเรา ทำให้จิตใจของเรากำหนัด ร้อนรุ่ม ฟุ้งซ่าน แปรปรวน
ถ้าเราเห็นรูปแล้วเกิดความโกรธขึ้นมา ห้วงน้ำคือความโกรธก็ท่วมทับจิตใจของเรา ทำให้เราขัดเคือง ทำให้เราไม่พอใจ อันนี้มันเกิดขึ้นมาจากห้วงน้ำคือโทสะ
แต่ถ้าโมหะมันครอบคลุมจิตใจ มันก็พาเราพูดหรือทำไปอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้น ท่านให้ควบคุมสติในการกำหนด
สติ เตสํ นิวารณํ สติเป็นทำนบป้องกันบาป ป้องกันบาปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้
บาปมันเกิดขึ้นตรงไหน ?
บาปมันเกิดขึ้นจากการที่ตาได้เห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง แล้วเกิดกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด นี่มันเกิดขึ้นมาจากทวารทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่เอง
เพราะฉะนั้น ท่านจึงให้เรามีสติกำหนด ถ้าเรามีสติกำหนดทางประตูทั้ง ๖ ช่อง คือประตูตา ประตูหู ประตูจมูก ประตูลิ้น ประตูกาย ประตูใจ ได้ บาปทั้งหลายทั้งปวงก็ไม่สามารถเกิดขึ้นในขันธสันดานของเราได้ ขันธสันดานของเราก็สะอาดขึ้น บริสุทธิ์ขึ้น ในที่สุดจิตใจของเราก็สะอาดหมดจด
เมื่อจิตใจสะอาดหมดจดแล้ว ความกังวลทั้งหลายทั้งปวงก็ไม่มี ความวิปปฏิสาร ความฟุ้งซ้าน ก็ไม่มี ความสงบก็เกิดขึ้นมา เมื่อความสงบเกิดขึ้นมา ความสุขมันก็เกิดขึ้นมา ความปล่อยความวาง ความว่าง ความสว่าง มันก็เกิดขึ้นมาเอง ทำให้คนเกิดสติเกิดปัญญา เกิดรู้เกิดเห็นหนทางแห่งการปฏิบัติธรรม
๒. ภโวฆะ ห้วงน้ำคือภพ
ห้วงน้ำคือภพนั้น ท่านหมายถึงภพที่เป็นรูปภพและอรูปภพ เพราะว่า การที่ไปเกิดในรูปภพ (รูปพรหม) และอรูปภพ (อรูปพรหม) นั้น ต้องใช้เวลานานเหลือเกิน ผู้ใดไปเกิดในพรหมโลก ก็ต้องอยู่ในนั้นสิ้นกาลนาน กว่าจะได้มาเกิดเป็นมนุษย์มาบรรลุธรรมก็ยาก
ผู้ที่ได้ไปเกิดในรูปพรหมนั้น ก็เพราะการเจริญฌาน ผู้ที่ได้ฌานที่ ๑ ถึง ฌานที่ ๔ จะไปเกิดในรูปพรหม
ผู้ที่ปฏิบัติธรรมแล้วได้ปฐมฌาน ผู้ที่ได้ฌานอย่างหยาบก็จะไปเกิดในชั้น พรหมปาริสัชชา คือพรหมที่เป็นบริวารของท้าวมหาพรหม มีอายุหนึ่งส่วนสามของกัป
แต่ถ้าผู้ใดได้ปฐมฌานอย่างกลาง ก็จะมีอายุสองส่วนของกัป แต่ถ้าผู้ใดได้ปฐมฌานอย่างละเอียด ก็จะไปเกิดเป็นมหาพรหม มีอายุ ๑ กัป
กัปหนึ่งนั้นท่านกล่าวว่า โลกของเราแตกไปครั้งหนึ่งนี่เรียกว่ากัปหนึ่ง คิดดูสิ ถ้าไปเกิดในชั้นมหาพรหม ต้องรอให้โลกสลายไปครั้งหนึ่งจึงจะได้ไปเกิดในภพต่อ ๆ ไป
แต่ถ้าผู้ใดได้ทุติยฌานแล้วก็ตายในทุติยฌาน ผู้นั้นจะไปเกิดในชั้นปริตตาภาพรหม มีอายุ ๒ กัป
ถ้าผู้ใดได้ทุติยฌานอย่างกลาง ก็จะไปเกิดในชั้นอัปปมาณาภาพรหม มีอายุ ๓ กัป อายุมันยืนขึ้นไปตามลำดับ ๆ
ถ้าผู้ใดได้ทุติยฌานอย่างละเอียด ก็จะไปเกิดในชั้นอาภัสราพรหม มีอายุ ๔ กัป
ท่านจึงกล่าวว่า ภพ เป็นโอฆะอย่างหนึ่ง ถ้าผู้ใดไปเกิดเป็นพรหมก็ต้องรอนานเหลือเกิน กว่าจะได้จุติแล้วมาเกิดเป็นมนุษย์ จะได้ปฏิบัติธรรม จะได้บรรลุธรรมนั้นเป็นของยาก
๓. ทิฏโฐฆะ ห้วงน้ำคือทิฏฐิ
ห้วงน้ำคือทิฏฐินั้นหมายถึงมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด นี้เป็นห้วงน้ำใหญ่ ท่วมทับจิตใจของสัตว์ทั้งหลายให้เกิดความเดือดร้อน ให้เวียนว่ายตายเกิดในห้วงมหรรณพภพสงสาร อันนี้ก็เพราะความเห็นผิด
บางคนก็เห็นว่าการให้ทานนั้นไม่มีผล บางคนก็คิดว่าบาปไม่มี บุญไม่มี บางคนเห็นว่านรกไม่มี สวรรค์ไม่มี บางคนก็ถือผี ถือไท้ถือแถน อันนี้ถือเป็นมิจฉาทิฏฐิ
ครั้งหนึ่ง กระผมได้นั่งอยู่กับหลวงพ่อใหญ่วัดพิชโสภาราม มีโยมบ้านตาแหลวเดินมาหาหลวงพ่อ เขาเข้ามาทางประตูโขง กระผมนั่งอยู่กับหลวงพ่อที่กุฏิร่วมใจ หลวงพ่อก็บอกว่าให้ดู โยมคนนั้นมีคนมาส่งสูงท่วมประตูโขง กระผมมองดูก็ไม่เห็น
เมื่อโยมคนนั้นกลับไป กระผมก็กราบเรียนถามหลวงพ่อ หลวงพ่อก็บอกว่า คนที่มาส่งนั้นเป็นปู่ตา คนที่มาหานั้นเป็นกวน ใครจะไปหาเจ้าปู่ก็ต้องมาหาเจ้ากวนเสียก่อน ก็เลยถามหลวงพ่อว่า แล้วเจ้าปู่ไม่ไปผุดไปเกิดหรือ ต้องมาส่งเจ้ากวนอย่างนี้ตลอดไปไหม
หลวงพ่อก็บอกว่า คนที่เป็นมิจฉาทิฏฐินับถือผีนี้ เมื่อตายไปแล้วก็จะไปอยู่กับเจ้าปู่ เมื่อหมดมิจฉาทิฏฐิเมื่อไหร่ ถึงจะได้ไปเกิด ถ้ายังไม่หมดมิจฉาทิฏฐิ ก็อยู่กับเจ้าปู่นั่นแหละ
มิจฉาทิฏฐินั้นมีโทษมากกว่าอนันตริยกรรม พระเทวทัตทำสงฆ์ให้แตกกัน ปล่อยช้างนาฬาคีรีไปทำร้ายพระพุทธเจ้า พระเทวทัตก็ถูกแผ่นดินสูบ เมื่อถูกแผ่นดินสูบจนเหลือแต่กระดูกคาง ก็น้อมเอากระดูกคางนั้นบูชาพระพุทธเจ้า หลังจากนั้นก็หมกไหม้อยู่ในนรกสิ้นกาลนาน แต่เมื่อพ้นจากนรกแล้วก็ยังจะสามารถตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าได้อยู่ เพราะอานิสงส์ของการถวายกระดูกคางบูชาพระพุทธเจ้า
นี่ อนันตริยกรรมยังมีเวลาพ้น แต่มิจฉาทิฏฐินั้นไม่มีเวลาพ้น นอกจากจะพ้นจากมิจฉาทิฏฐิเสียก่อน มิจฉาทิฏฐิจึงมีโทษมากกว่าอนันตริยกรรม
บุคคลที่เห็นว่านรกไม่มีสวรรค์ไม่มี การให้ทานไม่มีผล การรักษาศีลไม่มีผล การเจริญภาวนาไม่มีผล อันนี้เรียกว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีโทษมากกว่าอนันตริยกรรม
มิจฉาทิฏฐินี่แหละ ท่วมทับจิตใจของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายสับสน เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในห้วงมหรรณพภพสงสาร เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด ก็เพราะมิจฉาทิฏฐินี่เอง
๔. อวิชโชฆะ ห้วงน้ำคืออวิชชา
อวิชชา คือ ความไม่รู้ มี ๔ ประการ คือ
๑) ไม่รู้ในทุกข์
๒) ไม่รู้ในสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์
๓) ไม่รู้ในนิโรธ ความดับทุกข์
๔) ไม่รู้ในมรรค หนทางแห่งความดับทุกข์
อันนี้คือความไม่รู้ในทางพระพุทธศาสนา ถึงแม้บุคคลใดจะเรียนสูงแค่ไหนก็ตาม ถ้าบุคคลนั้นไม่รู้ ๔ อย่างดังกล่าวนี้ บุคคลนั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้ไม่รู้ คือถูกอวิชชาครอบงำ
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมนั้นเราจึงต้องกำหนดให้มันทัน เพื่อที่จะละอวิชชา ให้เห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของอาการพองอาการยุบ รู้ต้นพอง กลางพอง สุดพอง ให้มีสติทันปัจจุบันธรรมอยู่ตลอดเวลา เราจึงจะทำลายอวิชชาได้
เวลาเราภาวนา พองหนอ นี่แหละ ทุกข์ สมุทัย มันเกิดขึ้นมาแล้ว ขณะที่ท้องของเรามันเริ่มพองขึ้นมานั้นเป็นสมุทัยแล้ว ขณะที่ท้องมันพองขึ้นเต็มที่ มันทนอยู่ไม่ได้ อันนี้เป็นทุกข์แล้ว
ขณะที่เราเห็นอาการพองอาการยุบมันดับลงไป คำบริกรรมมันก็ดับลงไป จิตมันก็ดับลงไป ความรู้สึกก็ดับลงไปพร้อมกัน ในลักษณะอย่างนี้ เรียกว่า นิโรธ มันเกิดขึ้นมาแล้ว
มรรค คือหนทางแห่งการดับทุกข์ มันเกิดขึ้นตอนไหน ทางแห่งความดับทุกข์นั้นคือปัญญาที่ทราบชัด ตั้งแต่เริ่มพองจนถึงสุดพอง จนมันดับไป รู้หมด จำได้หมด จำสภาวะได้ทั้งหมด นี่หมายถึงอย่างนั้น อันนี้เรียกว่าหนทางแห่งความดับทุกข์
ท่านจึงให้เราตั้งใจเดินจงกรมนั่งภาวนา
แล้วเราจะข้ามโอฆะได้อย่างไร ?
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าผู้ใดถึงพร้อมด้วยศีล มีปัญญา มีใจตั้งมั่นดีแล้ว มีความเพียร มีตนอันส่งไปแล้ว บุคคลนั้นย่อมข้ามโอฆะได้
เหมือนกับคณะครูบาอาจารย์และญาติโยมทั้งหลายมารักษาศีลเป็นเบื้องต้น ศีลเมื่อเรารักษาแล้ว กายวาจาของเราก็บริสุทธิ์ขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อกาย วาจา ของเราบริสุทธิ์ ใจของเราก็บริสุทธิ์
เมื่อกายบริสุทธิ์ วาจาบริสุทธิ์ ใจบริสุทธิ์ ก็จะเกิดความปีติปราโมทย์ แล้วก็เกิดสมาธิขึ้นมา เกิดจิตใจตั้งมั่นขึ้นมา แล้วก็เกิดปัญญาขึ้นมา ศีลจึงถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ
ถ้าเราไม่มีศีล เราจะเดินจงกรมนั่งภาวนาอย่างไร ก็ไม่สามารถที่จะได้สมาธิสมาบัติ ไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพาน แต่ว่าถ้าเรามาเข้าปริวาสในลักษณะอย่างนี้ เพียงแต่เราตั้งใจเดินจงกรม สมาธิก็เกิดขึ้นมาได้
ถ้าบารมีเราแก่กล้า วิปัสสนาญาณก็เกิดขึ้นมาได้ เมื่อบารมีแก่กล้าขึ้นไปอีก เราก็สามารถได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ศีลจึงถือว่าเป็นเบื้องต้นของการปฏิบัติธรรม
ถ้าไม่มีศีลแล้ว เดินจงกรมนั่งภาวนาอย่างไรจิตใจก็ไม่สงบ ก็ไม่ได้สมาธิ ไม่ได้วิปัสสนาญาณ ไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
ประการต่อมา ปัญญา
ปัญญา ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงสุตมยปัญญา ไม่ได้หมายถึงจินตามยปัญญา แต่หมายถึง ภาวนามยปัญญา คือปัญญาที่เกิดขึ้นจากการเจริญจิตภาวนา
ปัญญาจะเกิดขึ้นจากการเจริญจิตภาวนาอย่างไร
คือปัญญาในวิปัสสนาญาณนั้นจะเกิดขึ้นกับเราได้นั้น เกิดขึ้นได้ด้วยการกำหนด ถ้าผู้ใดเดินจงกรมให้มีสติมีสัมปชัญญะทันอารมณ์นั้น วิปัสสนาปัญญามันจะเกิดขึ้นมาเอง ด้วยอำนาจของสติสัมปชัญญะที่กำหนดรู้อาการของรูปนามทั้งหมดทั้งปวง เราก็จะสามารถยังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นมาได้
ดังนั้น คณะครูบาอาจารย์จึงเคี่ยวเข็ญว่าญาติโยมมาปฏิบัติธรรมนั้น จะทำอะไรก็ขอให้กำหนดให้ทันปัจจุบันธรรม ให้เห็นต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ เป็นต้น อย่างละเอียด เมื่อเราเห็นละเอียดแล้ว วิปัสสนาปัญญาก็จะเกิดขึ้นมา
อันนี้คือปัญญาในทางพระพุทธศาสนา ญาติโยมบางคนสงสัยว่า คิดก็ไม่ให้คิด ปรุงแต่งก็ไม่ให้ปรุงแต่ง ให้เดินจงกรมนั่งภาวนาอย่างเดียว มันจะไม่โง่หรือ มันจะเกิดปัญญาได้อย่างไร จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้อย่างไร
ปัญญาทางโลกก็อีกแบบหนึ่ง ปัญญาทางธรรมก็อีกแบบหนึ่ง ปัญญาที่จะทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานก็อีกแบบหนึ่ง
ผู้ใดมีสติมีสัมปชัญญะ กำหนดทันปัจจุบันธรรมแล้ว ก็สามารถที่จะเกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมาได้ และสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ โลกุตรปัญญามันเกิดขึ้นมาอย่างนี้ ถ้าผู้ใดมีปัญญาก็สามารถที่จะข้ามโอฆะ คือสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้
ถ้าผู้ใดเป็นผู้มีจิตตั้งมั่น คือตั้งมั่นด้วยขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ คือการเข้าสมาธินั่นเอง ถ้าผู้ใดเข้าสมาธิได้ บางครั้งมันก็หมดความสงสัย
อย่างเช่น ผู้ชายส่วนมากจะมีมานะทิฏฐิ ไม่ค่อยเชื่อเรื่องบุญเรื่องบาป แต่เมื่อมาปฏิบัติธรรม เดินจงกรมนั่งภาวนา บางครั้งบางคราวนั่งภาวนาไปก็เห็นนิมิต เห็นเปรตมาขอข้าวกินก็มี เห็นผีก็มี เมื่อเห็นอย่างนี้แล้วก็เกิดความเชื่อว่า บาปบุญมันมีจริง บางคนก็เป็นอย่างนั้น
การปฏิบัติธรรม เมื่อเกิดสมาธิขึ้นมา จะทำให้เราเข้าใจหลาย ๆ อย่าง เพราะฉะนั้น ต้องพยายามทำสมาธิให้เกิด
เราจะทำสมาธิให้เกิดได้อย่างไร เรามาปฏิบัติธรรมแล้วไม่ได้สมาธิเพราะอะไร
เพราะใจของเราไม่สงบ มันฟุ้งซ่านปรุงแต่ง เดินจงกรมหนึ่งชั่วโมงคิดไปแล้วร้อยเรื่องพันเรื่อง
หลักการฝึกสมาธิ ทำให้ใจของเราเป็นสมาธินั้น เราต้องไม่คิดถึงอดีต ไม่คิดถึงอนาคต มีจิตใจจดจ่ออยู่กับอาการพองอาการยุบ ไม่ปรุงแต่ง เมื่อใจของเราจดจ่ออยู่กับอารมณ์เดียว ใจของเราก็จะดิ่งลงไป ๆ ในที่สุดก็จะไปถึงก้นบึ้ง คือจะลึกลงไปจนถึงจตุตถฌาน ปัญจมฌาน มันเป็นอย่างนั้น นี่คือลักษณะของการฝึกสมาธิ
ประการต่อมา ต้องปรารภความเพียร
ความเพียรในที่นี้ไม่ใช่ว่าต้องเดินจงกรมทั้งวันนั่งภาวนาทั้งวัน ไม่ใช่อย่างนั้น อันนั้นเป็นความเพียรทางกาย
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญการทำความเพียรทางจิต คือการกำหนดจิต เวลาความโกรธความโลภความหลงมันเกิดขึ้นมาเราต้องกำหนด พยายามมีสติสัมปชัญญะ ไม่ให้เผลอไปตามอารมณ์ต่าง ๆ
ผู้ใดมีสติสัมปชัญญะ ผู้นั้นชื่อว่ามีความเพียร ไม่ว่าเราจะยืน เดิน นั่ง นอน เราก็มีสติกำหนดรู้ จะทำอะไรก็มีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม เรียกว่ามีความเพียร ถ้าผู้ใดขาดสติ เรียกว่าขาดความเพียร
ประการสุดท้าย มีตนอันส่งไปแล้ว
มีตนอันส่งไปแล้ว คือ ส่งไปด้วยอำนาจของวิปัสสนาญาณ อย่างญาติโยมทั้งหลายมาฟังเทศน์ฟังธรรม มาปฏิบัติธรรม อย่างนี้เรียกว่ามีตนอันส่งไปแล้ว
เมื่อเราปฏิบัติธรรมจนนามรูปปริจเฉทญาณเกิดขึ้นมาแล้ว ก็จะส่งไปญาณที่ ๒ คือ ปัจจยปริคคหญาณ แล้วก็ส่งต่อไปญาณที่ ๓ ที่ ๔ ต่อไปเรื่อย ๆ การข้ามโอฆะเราข้ามอย่างนี้
ขอให้เรามีสติสัมปชัญญะ กำหนดให้ดี มีศีล มีปัญญา มีจิตใจตั้งมั่น มีความเพียร มีตนอันส่งไปแล้วด้วยอำนาจของวิปัสสนาญาณ เราก็จะสามารถได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ตายแล้วก็ไม่ไปสู่อบายภูมิ การข้ามโอฆะเราข้ามอย่างนี้
เพราะฉะนั้น ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายได้ตั้งใจปฏิบัติธรรม ให้เอาจริงเอาจัง เราก็จะสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานตามบารมีของแต่ละท่านแต่ละคน.