ธรรมชาติ ๒ ประการ

ธรรมชาติ ๒ ประการ

(เทศน์วันที่ ๑๗ ก.ค. ๕๘)

          อารมณ์ของกรรมฐาน ก็คือ รูปกับนาม ตั้งแต่พื้นเท้าถึงปลายผม จากปลายผมถึงพื้นเท้า ท่านถือว่าเป็นรูป สิ่งใดที่สัมผัสได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย สิ่งนั้นถือว่าเป็นรูป สิ่งใดที่สัมผัสได้ด้วยใจ สิ่งนั้นถือว่าเป็นนาม

         การที่คณะครูบาอาจารย์ได้ยกจิตขึ้นสู่อาการพองอาการยุบ ท้องพองท้องยุบ ถือว่าเป็นรูป ใจที่รู้ท้องพองท้องยุบ ถือว่าเป็นนาม ขณะที่เรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ รูปนามมันเกิดดับอยู่ตลอดเวลา การกำหนดรู้ พองหนอ ยุบหนอ ก็เป็นการกำหนดรู้กายทั้งหมด คล้าย ๆ เราเห็นกายมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ทั้งหมด

         เรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ ก็เหมือนกับเรากำหนดรู้นามทั้งหมด เห็นนามเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป

         การยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของพระกรรมฐาน คือ อาการพอง อาการยุบ ก็ชื่อว่าเป็นการกำหนดรู้รูปนาม เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป โดยพร้อมกันทั้งหมด ถ้าเรามองในแง่ธรรมะ มันเป็นลักษณะอย่างนั้น

         ธรรมชาติที่เราสัมผัสอยู่ กำลังเป็นไปอยู่ ธรรมชาตินั้นมันมีอยู่ ๒ ประการ

         ธรรมชาติชนิดหนึ่งมีคุณร้อน ธรรมชาติอีกชนิดหนึ่งมีคุณเย็น มันเป็นของคู่กัน

         ธรรมชาติทุกอย่างมันเป็นของคู่กัน มีกลางวันก็มีกลางคืน กลางวันพระอาทิตย์ส่องแสง ทำให้เกิดความอบอุ่น ทำให้เกิดความร้อน แต่พอพระอาทิตย์อัสดง พระจันทร์ปรากฏขึ้น พระจันทร์นั้นแผ่ความเย็นมาสู่ชาวโลก

         อาตมภาพมานึกถึงธรรมที่ทำให้เกิดความร้อน และธรรมที่ทำให้เกิดความเย็น ธรรมที่ทำให้เกิดความร้อนก็คือปาปธรรม ได้แก่ บาป จะเป็นบาปทางตา บาปทางหู บาปทางจมูก บาปทางลิ้น บาปทางกาย ก็ทำให้เกิดความร้อนทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือว่าบาปทางใจ ก็ทำให้เกิดความร้อนทางใจ

         สิ่งใดที่เป็นบาป เราทำไปแล้วมีผลเผ็ดร้อน ทำให้เกิดความเดือดร้อน ทำให้เกิดความลำบาก แต่สิ่งใดที่เราทำไปแล้วเป็นบุญ สิ่งนั้นมีความเย็น มีความสบาย มีความสุข มีความเพลิดเพลินเป็นอานิสงส์

         การที่คณะครูบาอาจารย์มารวมกันปฏิบัติธรรม เป็นการกระทำให้มั่นในพระธรรมวินัย เป็นการรักษาพระธรรมวินัยอย่างแท้จริง

         การรักษาพระธรรมวินัย ไม่ใช่ว่าเราจะเรียนนักธรรมชั้นตรี โท เอก เปรียญธรรม ประโยค ๑-๒ ถึง ป.ธ.๙ หรืออภิธรรมบัณฑิต จะกล่าวว่าเป็นการรักษาพระธรรมวินัยอย่างแท้จริงนั้น ยังกล่าวไม่ได้

         เพราะการรักษาพระธรรมวินัยที่แท้จริงนั้น ต้องเกิดขึ้นมาจากการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ถ้าเรามีความรู้แล้ว เราไม่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ก็ไม่ชื่อว่ารักษาพระธรรมวินัยอย่างแท้จริง

         แต่ครูบาอาจารย์บางรูป อาจจะไม่ได้นักธรรมชั้นเอก อาจจะไม่ได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค อาจจะไม่ใช่อภิธรรมบัณฑิต แต่ท่านรักษาศีลบริสุทธิ์ แล้วก็เจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนได้มรรค ผล นิพพาน อันนี้ถือว่ารักษาพระธรรมวินัยอย่างแท้จริง

         ผู้มาปฏิบัติธรรม ถ้าศีลไม่บริสุทธิ์ ย่อมเข้าสู่สมาธิสมาบัติไม่ได้ แม้ปฐมฌานก็ไม่บังเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์ ไม่ต้องกล่าวไปถึงการบรรลุเป็นพระอริยบุคคล

         คณะครูบาอาจารย์ที่มาปฏิบัติธรรมในครั้งนี้ ถือว่ารักษาพระธรรมวินัยอย่างแท้จริง เป็นคุณชาติที่เป็นสุข เป็นคุณชาติที่เย็น คุณชาติที่ทำให้เกิดความเย็นก็คือศีล คุณชาติที่ทำให้เกิดความร้อนก็คือการทำผิดศีลผิดธรรม จะทำให้เกิดความเร่าร้อนทั้งกายทั้งใจ

         คณะครูบาอาจารย์ที่มาปฏิบัติธรรม ถือว่ามาเพิ่มความเย็นเข้าสู่ชีวิตความเป็นสมณะ เพราะว่าชีวิตของสมณะนั้น เป็นความลำบากเหลือเกิน เพราะว่าชีวิตของสมณะไม่เหมือนกับชีวิตของชาวบ้านทั่วไป

         เวลาจะไปไหนมาไหน ชาวบ้านเขาอาจจะมองดูโน่นดูนี่ไป แต่เราเป็นสมณะ จะมองเหมือนชาวบ้านก็ไม่ได้ เพราะเราอยู่ในอินทรียสังวร คือเรายังอยู่ในการคุ้มครองของศีลอยู่ เราจะมองอย่างโน้นอย่างนี้ เปิดตากว้างเกินไป เปิดหูกว้างเกินไป บางครั้งมันก็ทำให้จิตใจของเรามืดมน

         โดยเฉพาะ เราเข้าไปสู่สังคม บางครั้งญาติโยมเขาแต่งกายไม่สุภาพ เราก็ไปมอง ในลักษณะอย่างนี้ก็เป็นการไม่ยังความเย็นให้เกิดขึ้น เขาสนุกสนาน ไปชมโน้นชมนี้ ดูหนังดูละคร เราจะไปดูเหมือนเขาก็ไม่ได้ เพราะจะทำให้ตาของเราร้อน ใจของเราก็จะร้อนตาม         แต่ในยุคปัจจุบันนี้ สิ่งเหล่านี้มันมีทั่วไป มีแพร่หลาย เพราะฉะนั้นต้องระวัง ถ้าผู้ใดอยากจะอยู่ในพระธรรมวินัยด้วยความสงบ ประการแรกก็ต้องรักษาศีลให้บริสุทธิ์เสียก่อน สิ่งอื่นจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น อย่างเช่น สมาบัติ วิปัสสนา หรือว่ามรรคผลพระนิพพานจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น เป็นประการที่สองที่สามที่สี่ แต่ประการแรกต้องรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ถ้าเรารักษาศีลไม่บริสุทธิ์จะอยู่ยากลำบากมาก เพราะจิตจะไหลไปสู่อารมณ์ฝ่ายต่ำ จะไม่ฝักใฝ่ในการไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ไม่ฝักใฝ่ในการเจริญวิปัสสนา

         บุคคลใดเป็นผู้ประมาท เมื่อศีลเศร้าหมองแล้ว จิตใจก็เศร้าหมอง เมื่อจิตใจเศร้าหมอง กายก็เศร้าหมองไปด้วย การกระทำ การพูด ก็เศร้าหมองไปด้วย อาจาระ จริยาวัตรต่าง ๆ ก็เศร้าหมองไปด้วย

         ดังนั้น การมาประพฤติวุฏฐานวิธีเข้าปริวาสกรรมนี้ จึงถือว่าเป็นการสืบต่อจริยาวัตร เป็นการสืบต่อข้อปฏิบัติ เป็นการเพิ่มความเย็น

         บางรูปบางท่าน ญาติโยมบางคน อาจจะเคยทำบาปมา เมื่อมาปฏิบัติธรรม เข้าปริวาสกรรม กายของเราก็บริสุทธิ์ วาจา ใจ ของเราก็บริสุทธิ์ จิตใจของเราก็ไม่ปรุงแต่ง ไม่ฟุ้งซ่าน เรามาปฏิบัติธรรม ก็สามารถที่จะยังสมาธิสมาบัติ ยังมรรค ผล นิพพาน ให้เกิดขึ้นมาได้

         ครูบาอาจารย์บางรูปอาจจะประมาท บวชเข้ามาแล้ว บางวัดอาจจะไม่ค่อยได้แนะนำพร่ำสอน บางทีอาจจะต้องอาบัติ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย เมื่อมาประพฤติวุฏฐานวิธี ก็ถือว่าเรานั้นมาประพฤติวัตรปฏิบัติธรรม สิ่งที่เราทำเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผิดศีลผิดธรรม ก็ถือว่าเป็นอันหลุดไป

         แต่ถ้าผู้ใดต้องอาบัติสังฆาทิเสส การจะยังฌานสมาบัติให้เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ การจะยังมรรคยังผลให้เกิดขึ้นก็เป็นไปไม่ได้ แต่เมื่อได้มาประพฤติวุฏฐานวิธี เมื่อเดินจงกรมนั่งภาวนา มีอุปนิสัยในฌานก็จะได้ฌาน มีอุปนิสัยในวิปัสสนา วิปัสสนาญาณก็จะเกิดขึ้นมา มีอุปนิสัยแห่งมรรคผลนิพพาน มรรคผลนิพพานก็จะเกิดขึ้นกับบุคคลนั้น

         การประพฤติวุฏฐานวิธีที่ครูบาอาจารย์กำลังปฏิบัติอยู่นี้ ถือว่าเป็นที่พึ่งของพวกเราทั้งหลาย เพราะว่าเราได้ปฏิบัติธรรมร่วมกัน สิ่งใดที่มีคุณ สิ่งนั้นถือว่าเป็นที่พึ่ง สิ่งใดที่มีโทษ สิ่งนั้นไม่ถือว่าเป็นที่พึ่ง

         บาป ไม่ถือว่าเป็นที่พึ่งของคนทั้งหลาย แต่บุญแม้เล็กน้อย เช่น ให้ทาน ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ก็ถือว่าเป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ศีล ภาวนา ก็ถือว่าเป็นที่พึ่ง มรรค ผล พระนิพพาน ก็ถือว่าเป็นที่พึ่ง

         ถ้าผู้ใดปฏิบัติธรรม พิจารณาให้ลึกซึ้งจริง ๆ แล้ว ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย การเวียนว่ายในวัฏสงสารนั้นเป็นทุกข์มาก ที่พึ่งที่ดีที่สุดก็คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เพราะทำให้เราได้บรรลุมรรคผลนิพพาน อย่างน้อย ๆ การบรรลุปฐมมรรค ก็ไม่ไปสู่อบายภูมิแล้ว บุคคลประเภทนี้ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่เศร้าหมอง เพราะที่พึ่งอันประเสริฐได้เกิดขึ้นแก่ตนแล้ว

         ถึงคราวต้องตายก็เป็นบุคคลผู้ไม่หลงตาย ไม่ทุรนทุรายในเวทนาที่ครอบงำ มีสติ ตายในความเป็นอริยะ ตายในความเป็นผู้ทรงสติ เพราะมรรคผลนิพพานได้เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้นแล้ว.