เตรียมตัว ๕ ประการ
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
ปฏิรูปการี ธุรวา อุฏฺฐาตา วินฺทเต ธนํ[1]
ณ โอกาสบัดนี้ อาตมภาพจักได้แสดงธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระชินวรศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าในเรื่อง การเตรียมตัว ๕ ประการ พอเป็นเครื่องประดับสติปัญญา เพิ่มพูนกุศลจริยาสัมมาปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป
คำว่า เตรียมตัว ๕ ประการ นั้น คือ
๑. เตรียมตัวก่อนตาย
๒. เตรียมกายก่อนแต่ง
๓. เตรียมน้ำก่อนแล้ง
๔. เตรียมแบงก์ก่อนไป
๕. เตรียมใจก่อนสู้
๑. เตรียมตัวก่อนตาย เพราะเหตุไรจึงเตรียมตัวก่อนตาย เพราะว่าชีวิตของคนเราไม่ใช่ว่าจะจบลงแค่ตายเท่านั้น ตายแล้ว หากว่ากิเลสตัณหาบาปกรรมยังมีอยู่ ก็ต้องเคลื่อนไปสู่ภพภพใดภพหนึ่ง ตามอำนาจของบาปกรรมและบุญกรรม ดังบทวิเคราะห์ว่า ติภวํ อยตีติ ตาโย ชื่อว่า ตาย เพราะอรรถว่า ย่อมเคลื่อนไปสู่ภพ ๓ ภพใดภพหนึ่ง คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ
หมายความว่า ถ้าผู้ใดจุติด้วยอำนาจของความโกรธ คือขณะนั้นตายด้วยอำนาจของความโกรธ หรือความโกรธเกิดขึ้นในจิตในใจก่อนแล้วจึงตาย ก็ต้องไปบังเกิดในนรก
ถ้าจุติด้วยอำนาจของโลภะเป็นเหตุ เมื่อจุติแล้วก็ต้องไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย ถ้าจุติด้วยอำนาจของความหลง จุติแล้วก็ต้องไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน
ถ้าจุติเพราะระลึกนึกถึงศีล ๕ ประการ หรือมนุสสธรรมที่ตนสั่งสมอบรมมา ที่เคยประพฤติปฏิบัติมา เมื่อจุติแล้ว ก็ไปบังเกิดเป็นมนุษย์ในมนุษย์ภูมิ
ถ้าจุติด้วยอำนาจกามาวจรกุศล คือระลึกถึงบุญกุศลที่ตนได้สร้างสมอบรมมา เป็นต้นว่า ให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา แต่ยังไม่ได้ฌาน ยังไม่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ถ้าจุติเพราะจิตเป็นกามาวจรกุศลอย่างนี้ จุติแล้วก็ไปบังเกิดในเทวโลก ไปบังเกิดในฉกามาวจรสวรรค์
ถ้าจุติด้วยอำนาจอริยมรรคอริยผลอันสูงสุด ก็เข้าสู่พระนิพพาน
เป็นอันสรุปได้ว่า คนเรานั้น ไม่ใช่ว่าจะจบลงแค่ตาย เมื่อเรายังมีชีวิต ยังมีบุญมีบาปอยู่ บุญบาปนั่นแหละที่จะพาเราไปสู่ภพใดภพหนึ่ง ตามบุญกรรมที่เราได้สร้างสมอบรมไว้ เราได้เกิดมานี้ ได้สร้างสมอบรมกุศลไว้อย่างไรหนอ ได้ให้ทานมากน้อยแค่ไหนเพียงไร ได้รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาได้มากน้อยแค่ไหนเพียงไร เป็นต้น เมื่อนึกถึงบุญกุศลของตนเสร็จ จึงค่อยนอนอย่างนี้ ท่านเรียกว่า เตรียมตัวก่อนตาย เมื่อถึงคราวตาย บุญกุศลที่เราได้สร้างสมอบรมไว้จะมาปรากฏเป็นกรรมบ้าง มาปรากฏเป็นกรรมนิมิตบ้าง มาปรากฏเป็นคตินิมิตบ้าง
เพราะเหตุไร ท่านจึงให้เตรียมตัวก่อนตาย
เพราะเหตุ ๒ ประการคือ
๑) เพราะชีวิตเป็นของน้อย
ท่านอุปมาไว้ว่าชีวิตนี้เหมือนกันกับแสงหิ่งห้อยที่คอยวับๆ แวบๆ ในเวลากลางคืนแล้วก็ดับไป ฉันใด ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลาย เกิดขึ้นมาแล้วในโลกนี้ ก็พลันแต่จะดับไปเหมือนกัน ฉันนั้น
อุปมาเหมือนกับน้ำค้างที่ติดอยู่บนปลายหญ้า พอถูกแสงพระอาทิตย์ พลันแต่จะเหือดแห้งไป ฉันใด ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาแล้ว ก็พลันแต่จะดับไปไม่ยากเหมือนกัน ฉันนั้น
อุปมาเหมือนกันกับบุรุษผู้มีกำลัง สามารถที่จะบ้วนเขฬะน้ำลายให้พ้นไปจากปากโดยไม่ยาก ฉันใด ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายก็พลันแต่จะดับไปไม่ยาก ฉันนั้น
อุปมาเหมือนกันกับชิ้นเนื้ออันย่างด้วยไฟอันร้อนโชน ก็จะถูกไฟไหม้ให้เป็นเถ้าเป็นถ่านไปโดยไม่ยาก ฉันใด ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลาย เกิดขึ้นมาแล้วก็ถูกไฟทุกข์ไฟกิเลสเผาผลาญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน พลันแต่จะดับไปเหมือนกัน ฉันนั้น
อุปมาเหมือนสตรีทอหูก ข้างหน้าน้อยเข้าไปๆ ทุกวันๆ ฉันใด ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายก็ใกล้เข้าสู่ความตายทุกวันๆ เหมือนกัน ฉันนั้น
วันคืนล่วงไปๆ นั้น มิใช่ล่วงไปเปล่า มันกินอายุของสรรพสัตว์ทั้งหลายไปด้วย วันคืนล่วงไปๆ ชีวิตของพวกเราทั้งหลายก็น้อยเข้าไปๆ ใกล้ต่อความตายเหมือนกันฉันนั้น เหตุนั้นจึงให้เตรียมตัวก่อนตาย
อนึ่ง ความตายนั้น ไม่ยกเว้นว่าเป็นไพร่ฟ้าพระมหากษัตริย์ สมณะ ชี พราหมณ์ เกิดขึ้นมาแล้ว ล้วนมีความตายด้วยกันทั้งนั้น ดังที่พระพุทธองค์ผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณเอ็นดูปรานีสัตว์ทั้งหลาย ได้ตรัสเตือนพุทธบริษัททั้งหลาย ก่อนที่จะดับขันธปรินิพพานว่า
ทหราปิ จ เย วุฑฺฒา เย พาลา เย จ ปณฺฑิตา
อฑฺฒา เจว ทฬิทฺทา จ สพฺเพ มจฺจุปรายนา ฯ
ยถาปิ กุมฺภการสฺส กตํ มตฺติกภาชนํ
ขุทฺทกญฺจ มหนฺตญฺจ ยญฺจ ปกฺกํ ยญฺจ อามกํ
สพฺพํ เภทปริยนฺตํ เอวํ มจฺจานชีวิตํ ฯ
แปลความว่า
“ดูก่อนพุทธบริษัททั้งหลาย สรรพสัตว์ทั้งหลาย เกิดขึ้นมาแล้วไม่เลือกว่าเป็นเด็กเป็นหนุ่มเป็นคนแก่ คนโง่คนฉลาด คนร่ำรวยคนจน ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้าด้วยกันทั้งนั้น เหมือนกันกับหม้อดิน แม้จะเป็นใบเล็กใบใหญ่ เผาสุกแล้วหรือดิบอยู่ก็ดี ก็มีการแตกสลายไปในที่สุด ฉันใด ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายก็ล้วนมีความตายกันทั้งนั้นไม่ช้าเราตถาคตก็จะจากพวกท่านไป”
(มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค (บาลี) ๑๐/๑๐๘/๑๔๑.)
นี้ก็แสดงให้เห็นว่าชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นเป็นของน้อย เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็พลันจะดับไป
๒) เพราะชีวิตไม่จบลงเพียงแต่ตายเท่านั้น
เมื่อเราตายไปแล้ว บาปบุญยังมีอยู่ ยังจะต้องได้เที่ยวไปในห้วงมหรรณพภพสงสารอีก ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ผู้ที่มีโทสะมาก มีโทสจริต มีโทสะเป็นเจ้าเรือน เมื่อจุติจากอัตภาพนี้แล้วไป ก็จะไปบังเกิดในนรก ผู้ที่มีโลภะมาก มีจิตใจเต็มเปี่ยมไปด้วยโลภะ เมื่อจุติจากอัตภาพนี้แล้วไป ก็จะไปบังเกิดเป็นเปรต อสุรกาย ผู้ที่มีโมหะมาก มีดวงตาคือปัญญาอันมืดบอด ไม่รู้จักผิดชอบ ชั่วดี บาปบุญ คุณโทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ เป็นต้น เมื่อจุติจากอัตภาพนี้แล้วไป ก็จะไปบังเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน
ผู้ที่ทรงคุณธรรม มีศีล ๕ ประการ และมนุษยธรรม ได้บำเพ็ญธรรมเหล่านี้ให้สมบูรณ์ในขันธสันดานแล้ว ก็จะกลับมาเกิดในโลกมนุษย์อีกต่อไป ผู้ที่บำเพ็ญกามาวจรกุศล คือเป็นผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยศรัทธาปสาทะ สละออกซึ่งจตุปัจจัยไทยธรรม มาทำทานมีการสร้างกุฏิ วิหาร ศาลาการเปรียญ ถนนหนทาง บ่อน้ำ โรงพยาบาล เป็นต้น เมื่อจุติจากอัตภาพนี้แล้วไป ก็จะไปบังเกิดในฉกามาวจรสวรรค์
สำหรับท่านผู้บำเพ็ญรูปาวจรกุศล เจริญสมถภาวนาจนได้รูปฌานสมาบัติ เมื่อจุติจากอัตภาพนี้ไปแล้วก็จะไปบังเกิดในรูปพรหม ๑๖ ชั้นตามกำลังของฌาน ผู้บำเพ็ญอรูปาวจรกุศลจนได้สำเร็จอรูปฌานสมาบัติ เมื่อจุติจากอัตภาพนี้แล้วไปก็จะไปบังเกิดในอรูปพรหม
สำหรับท่านที่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เมื่อจุติจากอัตภาพนี้แล้ว ก็เข้าสู่พระนิพพาน นี้พระองค์ได้ตรัสทางแห่งชีวิตหรือการดำเนินชีวิตไว้ดังนี้ พระองค์ยังตรัสต่อไปว่า เหตุนั้น พวกเธอทั้งหลายจงปฏิบัติดังนี้
อัปปมัตตา อย่าพากันประมาท
สติมันโต จงมีสติ
สุสีลวันโต จงรักษาศีลให้ดี
สุสมาหิตสังกัปปา จงตั้งใจไว้ให้ถูกทาง
สจิตตมนุรักขถะ จงตามรักษาจิตของตนให้ดี
ผู้ใด อยู่ด้วยอุบายอันไม่ประมาทดังกล่าวมาแล้วนี้ ผู้นั้น มีหวังที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดานของตน ไม่เวียนว่ายตายเกิดในมหรรณพภพสงสารอีกต่อไป
ท่านสาธุชนทั้งหลาย วันหนึ่ง ๒๔ ชั่วโมงนี้ เราแบ่งเป็น ๓ ส่วน คือเราใช้เป็นเวลาทำการทำงานเพื่อแสวงหาทรัพย์สมบัติเลี้ยงตัวและครอบครัวของตัวเสีย ๑๐ ชั่วโมง ให้เป็นเวลาพักผ่อนหลับนอนอีก ๘ ชั่วโมงเหลือเวลาอีก ๖ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมงนี้เราใช้เป็นเวลาอาบน้ำชำระร่างกาย รับประทานอาหาร คุยกับลูกกับหลาน กับญาติมิตรที่ไปมาหาสู่ อ่านหนังสือเสีย ๕ ชั่วโมง
ยังเหลืออีก ๑ ชั่วโมง เวลา ๑ ชั่วโมงนี้เราเอาเป็นเวลาของเราให้ได้ ก่อนนอน ๓๐ นาที โดยที่เรามานึกถึงบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญมาแล้ว ว่าเราเกิดมาถึงป่านนี้ เราได้ให้ทานมากน้อยแค่ไหนเพียงไร ศีล ๕ ประการนี้ เรารักษาได้กี่ข้อ มากน้อยแค่ไหนเพียงไร เราได้ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาประมาณกี่ครั้งกี่หน เรานึกถึงบุญกุศลของเราเสียก่อน จึงค่อยไหว้พระสวดมนต์ เจริญภาวนาโดยจะบริกรรมว่า พุทโธๆ หรือสัมมาอะระหังๆ หรือว่า นะมะพะทะๆ หรือว่า พองหนอยุบหนอ อย่างใดอย่างหนึ่ง ประมาณ ๓๐ นาทีแล้วจึงนอน
เมื่อเราทั้งหลาย พากันประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ ถึงคราวตาย บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงนั้น สามารถที่จะเป็นที่พึ่งของตนได้ คือเวลาเราจุติจากอัตภาพนี้ ขณะเรากำลังใกล้จะดับจิตนั้นแหละ บุญกุศลทั้งหลายที่เราทำไว้แล้วก็จะมาปรากฏเป็นกรรมนิมิต เป็นคตินิมิต เช่น
เห็นขันข้าวที่เคยใส่บาตร เห็นผ้าผ่อนแพรพรรณที่เราเคยเอาไปทำบุญทำทาน เห็นกองมหากฐิน กองผ้าป่าสามัคคี เห็นกองบวชนาค เห็นพระภิกษุสามเณร เห็นโบสถ์วิหาร เห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์ เห็นเทวดา เห็นวิมานของเทวดา เครื่องทรงของเทวดา เป็นต้น จิตของเราก็ไปยึดแล้วดับลงไป คือตายไป เมื่อตายแล้วเราก็ไปเกิดในสุคติโลกมนุษย์สวรรค์ ตามบุญญาธิการที่เราสั่งสมอบรมไว้แล้ว
อุปมาเหมือนกันกับเราหัดว่ายน้ำไว้ชำนาญแล้ว เมื่อเรือล่ม เราก็สามารถว่ายน้ำเข้าฝั่งได้ ไม่จมน้ำตาย ข้อนี้ฉันใด บุญกุศลที่ตนได้บำเพ็ญมาแล้ว เมื่อเราหัดระลึกไว้ให้ชำนาญแล้ว เมื่อถึงคราวตาย ก็สามารถที่จะเป็นที่พึ่งพาอาศัยของตนได้ นี้ก็ฉันนั้น เหมือนกัน
ถ้าหากว่าเราทำบุญทำกุศลแล้ว ไม่ระลึกไว้ให้ชำนาญ คือไม่ระลึกไว้เลยว่าเราเกิดมานี้ได้ทำบุญทำทาน ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ฟังเทศน์ เจริญสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนาได้มากน้อยแค่ไหนเพียงไร เราไม่เคยระลึกไว้เลย เมื่อถึงคราวจะตายแล้วจึงจะมาระลึก ก็ระลึกไม่ได้
เพราะเหตุไร
๑) เพราะทุกขเวทนาเข้าครอบงำ
๒) เพราะไม่อยากตาย
๓) เพราะห่วงผู้อยู่ข้างหลัง ห่วงทรัพย์สมบัติ
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็ระลึกไม่ได้ บาปอกุศลทั้งหลายทั้งปวงที่เราเคยทำไว้ ก็มาปรากฏเป็นกรรมนิมิต เป็นคตินิมิต เช่น เห็นสัตว์ที่เราเคยฆ่า จะเป็นกุ้ง หอย ปู ปลา เป็ด ไก่ก็ตาม ตลอดถึงเห็นคนทั้งหลาย กำลังฆ่ากัน เบียดเบียนกัน เห็นสัตว์กำลังฆ่ากัน เบียดเบียนกัน เห็นเปลวเพลิง เห็นนรก เห็นนายนิรยบาล เห็นโคลน เห็นแม่น้ำ เป็นต้น จิตของเราก็ไปยึด แล้วก็ดับลง เมื่อตายแล้วเราก็ไปเกิดในอบายภูมิ คือนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ตามบาปกรรมที่เราเคยทำไว้
เหมือนกับเราไม่เคยหัดว่ายน้ำไว้ให้ชำนิชำนาญ เมื่อเรือล่มเราจึงมาหัดว่ายน้ำ ก็ว่ายน้ำไม่เป็น จมน้ำตายเท่านั้นข้อนี้ ฉันใด บุญกุศลที่เราสั่งสมไว้มากพอสมควรแล้ว แต่เราไม่เคยหัดนึกไว้ให้ชำนิชำนาญ เมื่อถึงคราวตาย จึงจะมาระลึก ก็ระลึกไม่ได้ เราจะเตือนให้ว่า สัมมาอะระหังๆ ก็ว่าไม่ได้ จะเตือนให้ว่า พุทโธๆ ก็ว่าไม่ได้ เพราะไม่เคยหัดระลึกไว้ให้ชำนิชำนาญ
เหตุนั้นแหละญาติโยมสาธุชนทั้งหลาย วันหนึ่งมี ๒๔ ชั่วโมงนี้ ถึงอย่างไรก็ตาม เอาเป็นเวลาของเราให้ได้ ๓๐ นาทีก่อนนอน โดยมาระลึกถึงบุญกุศลของตนที่ได้เคยบำเพ็ญมาแล้ว ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนา ๓๐ นาที แล้วจึงนอน อันนี้เรียกว่า เตรียมตัวก่อนตาย
ถ้าเราไม่เตรียมตัวไว้อย่างนี้ โดยเกิดความประมาท ขาดสติ มาคิดว่าเมื่อแก่เสียก่อนแล้วจึงจะทำบุญทำทาน หรือว่าร่ำรวยเสียก่อนแล้วจึงจะทำบุญทำทาน หรือให้ลูกโตมีเหย้ามีเรือนเสียก่อนจึงจะทำบุญทำทาน หรือว่าเกษียณอายุราชการเสียก่อนจึงจะทำบุญทำทาน ถ้าเราคิดอย่างนี้ อาจจะเสียทีพระยามัจจุราชได้ คือพระยามัจจุราชอาจจะมาปลิดชีวิตของเราไปเสียก่อน ก่อนที่เราจะได้ทำบุญทำทานก็ได้
เหมือนกับพ่อใหญ่เดิมนี้แหละ เวลาเข้ามาวัดมาวา ก็พูดว่าผมเกษียณอายุเสียก่อน จะมาบวช จึงจะมาปฏิบัติกัมมัฏฐานกับท่านพระครู พูดกับพระกับเณรที่หน้าโบสถ์ที่บริเวณโบสถ์ หรือสนทนาปราศรัยกับญาติโยมเวลามาทำงานที่วัด ก็บอกว่าผมเกษียณอายุแล้วผมจะมาบวชผมจะมาปฏิบัติกับท่านทั้งหลาย แต่ที่ไหนได้ ยังไม่ทันเกษียณอายุเลย พระยามัจจุราชก็มาปลิดชิวิตไปเสียก่อน
เหตุนั้นแหละ หากว่าผู้ใดประมาท อาจเสียทีพระยามัจจุราช ไม่มีโอกาสบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศลก็ได้ เหตุนั้น โบราณท่านจึงกล่าวเตือนไว้ว่า
เตรียม สร้างทางชอบไว้ หวังกุศล
ตัว สุขส่งเสริมผล เพิ่มให้
ก่อน แต่มฤตยูดล ปลิดชีพเชียวนา
ตาย พรากจากโลกได้ สถิตด้าวแดนเกษม.
๒. เตรียมกายก่อนแต่ง เตรียมกายก่อนแต่งนี้ เราจะแต่งอะไร คือเราจะแต่งกายของเรานั่นแหละ ให้เป็นกายวิเวก แต่งจิตของเราให้เป็นจิตวิเวก การเตรียมกายก่อนแต่งนี้เราแยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ
๑) การตกแต่งภายนอก ได้แก่ การตกแต่งด้วยผ้าผ่อนแพรพรรณ รัตนะ
๗ ประการ เป็นต้น ซึ่งเป็นประเพณีที่เขานิยมกัน อันนี้หลวงพ่อจะไม่บรรยาย
จะบรรยายแต่ในแนวของธรรมะล้วนๆ เท่านั้น
๒) แต่งภายใน ได้แก่ แต่งด้วยธรรมะ คือเราเอาธรรมะมาเป็นเครื่องแต่งกาย เรียกว่าธรรมาภรณ์ อาภรณ์คือธรรมะเป็นเครื่องแต่งกายของเรา
คนเรานั้นเกิดขึ้นมา แม้จะมีกายงดงามสักเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าว่ากิริยามรรยาทยังไม่ดี ก็จะจัดว่าสวยแท้ งามจริงยังไม่ได้ เมื่อใด ร่างกายก็สวยด้วย กิริยามารยาทก็สวยด้วย จึงจะเป็นคนสวยแท้งามจริง
ผู้ใดมีธรรมะดังกล่าวมาแล้วนี้เป็นเครื่องประพฤติปฏิบัติผู้นั้นชื่อว่ามีธรรมะเป็นธรรมาภรณ์ มีอาภรณ์คือธรรมะเป็นเครื่องประดับกาย เมื่อผู้ใดมีธรรมะเป็นเครื่องประดับกายอย่างนี้ ผู้นั้นย่อมเป็นผู้มีกายงาม มีกิริยามารยาทงาม
แต่ถ้าคนใดขาดธรรมะดังกล่าวมาแล้วนั้น คือไม่มีธรรมะดังกล่าวเป็นเครื่องปฏิบัติ เป็นเครื่องประดับร่างกายแล้ว ถึงเราจะแต่งตัวด้วยผ้าผ่อนแพรพรรณ แก้วแหวน เงินทอง รัตนะ ๗ ประการ หรือจะมีเครื่องประดับที่เรียกว่ามหาลดาปสาธน์ มีทองคำถึง ๙ โกฏิก็ตาม ก็หาได้ชื่อว่าเป็นผู้มีรูปสวยไม่ ดังคำกลอนที่ท่านกล่าวไว้ว่า
คนจะงาม งามน้ำใจ ใช่ใบหน้า
คนจะสวย สวยจรรยา ใช่ตาหวาน
คนจะแก่ แก่ความรู้ ใช่อยู่นาน
คนจะรวย รวยศีลทาน ใช่บ้านโต
เมื่อเราทั้งหลายแต่งกายได้แล้ว กายของเราก็จะเป็นกายวิเวก คือมีความสงัดกาย มีกายอันสงบ เมื่อกายเป็นกายวิเวกแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้เกิดสมาธิ เกิดปัญญาสัมมาทิฏฐิ จิตใจของเราก็จะสะอาด สว่าง สงบ
การที่จะแต่งกายให้สงบนั้น เราต้องเอาธรรมะมาเป็นเครื่องแต่ง ธรรมะอะไรจะมาเป็นเครื่องแต่งกายกายของเราจึงจะงาม ธรรมะที่จะเป็นเครื่องแต่งกายนั้น ได้แก่ สุจริตธรรม คือ
๑) เราต้องเป็นผู้มีจิตประกอบไปด้วยเมตตาอารีย์ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย เว้นจากปาณาติบาต ไม่ฆ่ากัน ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ประหัตประหารกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน
๒) สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตโดยชอบ ตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ในทางสุจริต ไม่เลี้ยงชีวิตในทางผิดศีลธรรม ผิดกฎหมายบ้านเมือง ไม่ทำอทินนาทาน คือไม่ลักขโมยทรัพย์สมบัติของผู้อื่น เป็นต้น
๓) สทารสันโดษ ถ้าเป็นฆราวาสก็ยินดีในสามีภรรยาของตน ไม่ล่วงเกินภรรยาสามีผู้อื่น ไม่ทำชู้สู่สมกับสามีภรรยาของผู้อื่น และบุตรหญิงบุตรชายของผู้อื่นโดยทางที่ผิดจารีตประเพณี ถ้าเป็นพระเป็นเณร ก็ตั้งอกตั้งใจรักษาพรหมจรรย์ของตนให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ให้ตกอยู่ในอำนาจของกิเลสกาม วัตถุกาม
๔) สัจจะ คือความจริงใจ พูดแต่คำสัตย์คำจริง ไม่พูดโกหกให้ผู้อื่นเข้าใจผิด ทำด้วยความจริงใจ คิดด้วยความจริงใจ เป็นสุจริตธรรม
๕) อัปปมาทธรรม เว้นจากสิ่งที่ให้โทษแก่ร่างกาย เช่น เว้นจากการสูบบุหรี่ กัญชา เฮโรอีน ดมกาว เหล่านี้เป็นต้น ตลอดถึงการเว้นจากการประพฤติชั่วโดยประการต่างๆ คือเราระวังใจของเรา ไม่ให้กำหนัด ไม่ให้ขัดเคือง ไม่ให้หลง ไม่ให้มัวเมาในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ขัดเคือง ลุ่มหลง มัวเมา
เป็นผู้ไม่ประมาทในการละอกุศล บำเพ็ญกุศล เป็นผู้ไม่ประมาทในการละกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ประมาทในการสร้างสมอบรมคุณงามความดี พยามสร้างสติของตนให้สมบูรณ์ ไม่ให้ตกไปอยู่ภายใต้ของความประมาท พยายามรักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตรสวดมนต์ เจริญภาวนา เป็นต้น อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน นี้เรียกว่า เรามีธรรมะเป็นเครื่องแต่งกาย
สำหรับการพูดก็เหมือนกัน เราพูดแต่คำสัตย์คำจริง ชักนำให้คนทั้งหลายมีความสามัคคี ปรองดอง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม่พูดส่อเสียดยุยงให้ผู้อื่นทะเลาะวิวาทบาดหมางกัน แตกร้าวสามัคคีกัน พูดแต่วาจาที่ไพเราะเสนาะหู ทำให้ผู้ฟังดูดดื่มไว้ในจิตในใจของตน ไม่พูดคำหยาบ อันเป็นคำที่ฟังแล้วไม่รื่นหู ทำให้ผู้ฟังนั้นเจ็บอกเจ็บใจ เราพูดแต่วาจาที่ประกอบไปด้วยประโยชน์ ไม่พูดวาจาที่ไร้สาระไร้ประโยชน์
เมื่อใดเราประพฤติตามธรรมดังกล่าวมาแล้วนี้เรียกว่าเป็นผู้มีธรรมะเป็นเครื่องแต่งกาย มีธรรมะเป็นธรรมาภรณ์ เป็นเครื่องประดับตกแต่งร่างกายของเราให้งามแล้ว เมื่อเรามีธรรมะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวหรือเป็นเครื่องประพฤติปฏิบัติดังกล่าวมาแล้วนี้ ย่อมได้อานิสงส์ถึง ๕ ประการ ได้แก่
๑) นวัชชพหุโล จะเป็นผู้ไม่มากไปด้วยโทษ
๒) นเวรพหุโล จะเป็นผู้ไม่มากไปด้วยเวร
๓) กิตติสัทโท ชื่อเสียงอันดีงาม ย่อมฟุ้งขจรไปทั่วทิศานุทิศ
๔) อสัมมุฬโห จะไม่เป็นผู้หลงตาย คือเวลาตายจะมีสติสัมปชัญญะ สามารถระลึกถึงบุญกุศลของตนได้
๕) สุคติ เมื่อตายแล้ว ก็จะไปสู่สุคติตามบุญญาธิการที่ตนได้สั่งสมอบรมไว้
ผู้ใดที่เกิดมาแล้ว เป็นผู้ไม่มากไปด้วยโทษ เป็นผู้ไม่มากไปด้วยเวร ไปที่ไหนชื่อเสียงอันดีงาม ย่อมฟุ้งขจรไปในทิศานุทิศ เป็นต้น ดังกล่าวมาแล้วนี้ กายของผู้นั้นย่อมเป็นกายสงบ ซึ่งเรียกว่ากายวิเวก ผู้มีกายวิเวกชื่อว่าเป็นผู้มีธรรมาภรณ์ประดับกาย ทำให้กายสวยสดงดงามไปด้วยธรรมะ เมื่อกายของเรางามแล้วอย่างนี้ ก็สามารถที่จะแต่งใจของเราได้ คือในลำดับต่อไปเราต้องแต่งใจของเรา
เราจะเอาอะไรมาแต่งใจของเรา
ธรรมะที่เอามาแต่งใจ หรือประดับใจให้ใจของเรางามนั้น ได้แก่ สมาธิ คือสมาธินี้เป็นธรรมาภรณ์เครื่องแต่งใจ เมื่อใดใจของเราเป็นสมาธิ แน่วแน่อยู่ในองค์ธรรมอันเป็นอารมณ์ของสมถะและวิปัสสนาภาวนาแล้ว เมื่อนั้นก็สามารถข่มนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการลงได้
คำว่า นิวรณ์ธรรม แปลว่า ธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณงามความดี คือกั้นจิตไว้ไม่ให้ถึงคุณงามความดี มีทาน ศีล ภาวนา มรรค ผล นิพพาน เป็นต้น หรือกั้นศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ผล พระนิพพานไว้ ไม่ให้เข้ามาถึงตัวเรา
เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรม นิวรณ์นี้ก็จะกั้นจิตของเราไว้ ไม่ให้บรรลุฌานสมาบัติ ผลสมาบัติ ไม่ให้บรรลุวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ ไม่ให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น ไม่ให้บรรลุอริยมรรคอริยผล เพราะฉะนั้น ท่านจึงจัดว่า นิวรณ์ คือธรรมอันเป็นเครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณงามความดี
นิวรณ์ นั้นมีอยู่ ๕ ประการ คือ
๑) กามฉันทะ พอใจรักใคร่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันเป็นอิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่น่าใคร่น่าปรารถนา
๒) พยาบาท ความไม่พอใจในอารมณ์คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นอนิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ไม่น่าใคร่ ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าพอใจ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ทำจิตใจของเรานี้ ให้เกิดโทมนัส ขัดใจ น้อยใจ แห้งผากใจ เกิดความคิดพยาบาท อาฆาต จองล้างจองผลาญผู้อื่น
๓) ถีนมิทธะ ความที่จิตท้อแท้ ง่วงเหงาหาวนอนเซื่องซึม ไม่สามารถบำเพ็ญบุญกุศลได้ เวลาเจริญสมถะก็ดี วิปัสสนาก็ดี ก็ไม่สามารถกำหนดบทพระกัมมัฏฐานให้กระฉับกระเฉงได้ จิตไม่สามารถที่จะจับอารมณ์ได้แม่นยำ
๔) อุทธัจจกุกกุจจะ ความที่จิตคิดฟุ้งซ่าน ซัดส่ายไปตามอารมณ์ และหงุดหงิดรำคาญใจ จิตจับอารมณ์ไม่มั่นคง จับอารมณ์โน้นบ้าง จับอารมณ์นี้บ้าง คิดไปร้อยแปดพันประการ
๕) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจในปฏิปทาคือข้อปฏิบัติของตน เช่น มีความสงสัยในเรื่องบุญ เรื่องบาป หรือสงสัยในเรื่องโลกนี้โลกหน้า สงสัยในเรื่องนรก สวรรค์ พระนิพพาน ว่ามีจริงหรือไม่ เป็นต้น
เมื่อใด เรามีนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการนี้เป็นเครื่องกั้นจิตอยู่ เราก็ไม่สามารถที่จะบรรลุคุณงามความดี แต่เมื่อใดข่มนิวรณ์ธรรมนี้ลงได้ ด้วยการเจริญสมถภาวนา จนทำให้จิตของเราเป็นอัปปนาสมาธิ แน่วแน่อยู่ในองค์ฌาน เมื่อนั้น จิตของเราก็เป็นจิตวิเวก คือสงัดจิต จิตสงบจากนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการ เมื่อใดจิตสงบจากนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการแล้ว ก็เป็นจิตที่สว่าง สะอาด สงบเย็น
เหตุนั้น การที่เรามีสุจริตธรรมและสมาธิเป็นเครื่องแต่งกายแต่งใจอย่างนี้ท่าน จึงเรียกว่าเตรียมกายก่อนแต่ง
๓. เตรียมน้ำก่อนแล้ง แยกเป็น ๒ ประการ คือ
๑) น้ำภายนอก ได้แก่ การที่เราเตรียมน้ำที่ใช้ในการงาน สมมุติว่าเราจะทำนา ทำสวน ทำไร่ เราต้องเป็นผู้ที่ฉลาดว่า ขณะนี้มีน้ำมากเกินไป สมควรที่จะไขน้ำออก เราก็ไขน้ำออก หรือในขณะนี้น้ำน้อยเกินไป ควรที่จะทดน้ำไว้ เราก็ทดน้ำไว้ เมื่อไรที่ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ เป็นผู้ที่ฉลาด ก็ย่อมได้พืชพันธุ์ธัญญาหาร ตามความประสงค์
๒) น้ำภายใน แยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ
ประเภทที่ ๑ น้ำใจ คือต้องเป็นผู้มีใจงาม เช่นว่าน้ำใจระหว่างเรากับมิตรอย่างนี้ เราทำอย่างไรจึงมีมิตรมีสหายมาก ไปที่ไหนจึงจะมีความสะดวกสบาย มีพรรคมีพวก ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องว้าเหว่ เราก็ต้องเป็นผู้หนักในปฏิสันถาร หมายความว่า เราต้องเอาใจใส่ในการต้อนรับญาติพี่น้อง แขกไปใครมา ด้วยอามิส หมาก พลู ข้าวน้ำ เป็นต้น ให้ได้รับความอบอุ่นในการไปมาหาสู่
การปฏิสันถารกันด้วยธรรมะ คือพูดแนะนำตักเตือนกัน ให้รู้จักผิดชอบ ชั่วดี บาปบุญ คุณโทษ ประโยชน์และไม่ใช่ประโยชน์ อย่างนี้เรียกว่าเราหนักในปฏิสันถาร เมื่อใดเราหนักในปฏิสันถารแล้ว ก็เรียกว่าเราเป็นผู้มีใจงาม
ประเภทที่ ๒ น้ำคือบุญกุศล ก็แยกออกเป็น ๔ คือ
๑) กามาวจรบุญ คือบุญที่ทำแล้วพาให้ท่องเที่ยวอยู่ในกามภพ
๒ รูปาวจรบุญ บุญที่ทำแล้วพาให้ท่องเที่ยวอยู่ในรูปภพ
๓) อรูปาวจรบุญ บุญที่ทำแล้วพาให้ท่องเที่ยวอยู่ในอรูปภพ
๔) โลกุตตระบุญ คือบุญที่ทำแล้วให้ถึงซึ่งมรรค ผล และพระนิพพาน
เพราะคนเรานั้น อาจจะได้รับความทุกข์ เป็นคนยากจนข้นแค้นอนาถา ถือกระเบื้องขอทานถือกะลาขอข้าว เกิดขึ้นมาแล้วแทนที่จะได้รับความสุขความเจริญ ก็ไม่ได้รับความสุขความเจริญ ดังเราทั้งหลายเห็นอยู่ทุกวันนี้
บางคนเกิดขึ้นมาแล้วก็เป็นคนมั่งมีศรีสุข เป็นพระราชา มหาราชา เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช เป็นเศรษฐีกุฎุมพีมีทรัพย์สมบัติมาก แต่บางคนเกิดขึ้นมาแล้วยากจนข้นแค้นอนาถา ถือกระเบื้องขอทานถือกะลาขอข้าว หากินฝืดเคือง บางคนเกิดขึ้นมาแล้ว มีทรวดทรงงาม มีผิวพรรณงาม มีโรคภัยไข้เจ็บน้อย มีอายุยืนไม่ตายง่าย บางคนเกิดขึ้นมาแล้วก็เป็นคนง่อยเปลี้ยพิกลพิการต่างๆ เป็นต้น อันนี้ก็แสดงว่า เมื่อก่อนโน้นเขาเป็นคนประมาทไม่ได้บำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศลไว้
เหตุนั้นแหละ การที่เราทั้งหลายพากันเวียนว่ายอยู่ในมหรรณพภพสงสารนี้ จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีน้ำคือบุญกุศลนี้ไว้ให้เพียบพูนสมบูรณ์ เมื่อจุติแล้วจะได้ไม่ไปสู่ภพที่เป็นทุกข์ แต่น้ำภายในคือบุญกุศลดังกล่าวมาแล้วนี้ ก็แล้งได้เหมือนกัน หมดได้เหมือนกัน เหตุนั้น ท่านจึงให้เตรียมน้ำก่อนแล้งนี้ หมายความว่า เมื่อใดเราบำเพ็ญบุญกุศลทั้ง ๔ ประเภทนั้น ให้สมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา อย่าให้เสื่อมสิ้นไป เช่น
๑) กามาวจรบุญ อย่างนี้เราจะทำอย่างไร กามาวจรบุญจึงจะสมบูรณ์ เราก็พยายามบำเพ็ญกามาวจรบุญเหล่านั้นให้เต็มเปี่ยมขึ้นมาในขันธสันดาน แล้วก็พยายามรักษากามาวจรบุญนั้นให้คงอยู่ ให้เต็มอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับเรารักษาน้ำโดยที่เราต้องตักไว้ใส่ตุ่มให้เต็มอยู่ตลอดเวลา
๒) รูปาวจรบุญ บุญที่ทำแล้วพาไปเกิดในรูปภพ
๓) อรูปาวจรบุญ บุญที่ทำแล้วพาไปเกิดในอรูปภพ
บุญทั้ง ๒ ประเภทนี้ยิ่งเสื่อมเร็ว ยิ่งแห้งเร็วยิ่งหมดเร็ว ที่ว่าเสื่อมเร็ว แห้งเร็ว หมดเร็ว ในที่นี้ สมมติว่าพวกเราทั้งหลายบำเพ็ญพระกัมมัฏฐานอยู่นี้ จนสามารถได้สมาธิ ได้ฌาน เมื่อเราได้สมาธิได้ฌานแล้วเราไม่รักษาไว้ไม่พยายามเข้าสมาธิ ไม่พยายามเข้าฌาน ไม่สังวร ไม่สำรวม ไม่ระวัง ปล่อยจิตปล่อยใจไปกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ปล่อยจิตปล่อยใจให้เป็นไปตามอำนาจของอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์
เมื่อใดเราขาดความสำรวมระวัง ฌานของเราก็เสื่อม เมื่อก่อนโน้น เราสามารถเข้าสมาธิได้ ทั้งรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ อย่างใดอย่างหนึ่ง เราสามารถเข้าได้ แต่เมื่อเราประมาทดังกล่าวมาแล้วนี้ ก็ไม่สามารถที่จะเข้าฌานได้ เหตุนั้น เมื่อเราได้สมาธิ ได้ฌานแล้ว ก็พยายามรักษาฌานนั้นไว้ อย่าให้เสื่อม ก็เรียกว่าเตรียมน้ำก่อนแล้งเหมือนกัน
๔) โลกุตตระบุญ นี้ก็น้อยลงไปหมดลงไปได้เหมือนกัน สมมุติว่าเราได้สั่งสมอบรมบารมีมาแต่ภพก่อนชาติก่อน จนสามารถ(เพียงพอ)ที่จะทำให้บรรลุหรือสำเร็จเป็นพระอรหันต์(ในปัจจุบัน)ได้ แต่เราก็ไม่รีบบำเพ็ญเสียในขณะที่ยังหนุ่มยังแน่น ยังอยู่ในปฐมวัย ต่อเมื่อเราแก่แล้วจึงมาบำเพ็ญ แทนที่จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ อย่างมากก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันเท่านั้น หรือมิฉะนั้นก็ไม่สามารถที่จะสำเร็จเลย
เพราะเหตุไร
เพราะเหตุว่า คนเฒ่าคนแก่สติไม่สมบูรณ์ สติฟั่นเฟือน กำหนดบทพระกัมมัฏฐานก็ไม่ได้โดยสมบูรณ์ เหตุนั้น บุญกุศลที่เราสั่งสมอบรมไว้ แม้สมควรจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่ถึงคราวแก่มีอายุ ๗๐-๘๐ ปีแล้วจึงมาเจริญพระกัมมัฏฐาน จึงไม่สามารถที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ อย่างมากที่สุดก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันเท่านั้น
หรือว่า ถ้าเราได้บำเพ็ญในขณะที่ยังเป็นหนุ่ม ยังเป็นวัยกลางคนอย่างนี้ ก็สามารถที่จะได้บรรลุเป็นอนาคามี ถ้าแก่ขึ้นไปหน่อยก็ให้สำเร็จเพียงสกทาคามี เมื่อแก่ถึงที่แล้วจึงจะมาบำเพ็ญ ก็ให้สำเร็จเพียงพระโสดาบันเท่านั้น หรือหากว่า แก่จนสติฟั่นเฟือนแล้วจึงจะมาบำเพ็ญ ก็ไม่สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลใดๆ ได้เลย
เหตุนั้น จึงสรุปได้ว่า บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวง ทั้งที่เป็นกามาวจรบุญก็ดี ที่เป็นรูปาวจรบุญก็ดี ที่เป็นอรูปาวจรบุญก็ดี ที่เป็นโลกุตตรบุญก็ดี มีโอกาสเสื่อมคุณภาพไปได้ หมดไปได้เหมือนกัน เหตุนั้น ก็ขอให้พยายามรักษาสมาธิหรือฌานที่ได้แล้ว หมั่นเจริญบ่อยๆ
เมื่อเราจุติจากอัตภาพนี้ไปแล้ว บุญกุศลเหล่านี้ก็จะเป็นยานแก้วนำเราไปสู่สุคติภพ ตามบุญญาธิการที่เราสั่งสมอบรมไว้ ก็การที่เราตั้งอกตั้งใจบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศลไว้ให้เต็มเปี่ยมสมบูรณ์อย่างนี้แหละ เรียกว่าเตรียมน้ำก่อนแล้ง ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
อันบุญกรรมทำไว้ทีละน้อย
แต่ทำบ่อยค่อยเพิ่มเติมกุศล
เหมือนตุ่มน้ำเปิดหงายรับสายชล
ย่อมเต็มล้นเหมือนอุทกที่ตกลง
๔. เตรียมแบงก์ก่อนไป แยกออกเป็น ๒ ประเภท
๑) แบงก์คือทรัพย์ภายนอก
๒) แบงก์คือทรัพย์ภายใน
ทรัพย์ภายนอกนั้น สำหรับผู้ที่เป็นฆราวาส เราก็ต้องเป็นผู้มีทรัพย์สมบัติสมบูรณ์พอที่จะใช้จ่ายบำรุงตัวเองและครอบครัวได้ เราต้องเป็นผู้ไม่ประมาทในการแสวงหาทรัพย์สมบัติ เมื่อเรามีทรัพย์สมบัติแล้ว จะอยู่ที่บ้านหรือจะไปที่ไหนก็สบาย เมื่อเราทั้งหลายจะไปธุระต่างๆ ในตำบล อำเภอ จังหวัด หรือต่างประเทศอย่างนี้ เราต้องเตรียมเสบียงที่จำเป็น และขาดไม่ได้คือสตุ้งสตังค์ เราต้องเตรียมไป ถ้าไม่เตรียมไปแล้ว ก็ไม่มีใช้ ไม่มีของใช้ เราก็ได้รับความเดือดร้อนเท่านั้น ฉันใด
เราทั้งหลาย ที่ยังต้องเวียนว่ายไปในมหรรณพภพสงสารทั้งหลายทั้งปวงนั้น เราก็จำเป็นที่จะต้องเตรียมแบงก์คือทรัพย์ภายในเหมือนกัน ฉันนั้น ทรัพย์ภายในนั้น ได้แก่ อริยทรัพย์ ๗ ประการ
พวกเราทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาแล้ว หากว่าเราทั้งหลายยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็ยังไม่สิ้นภพสิ้นชาติ ไม่ใช่ว่าจุติแล้วก็จะแล้วไปเพียงแค่นี้ เรายังจะไปสู่ภพต่างๆ ไม่รู้ว่ากี่กัปกี่กัลป์ เช่นว่า เราอาจจะไปสู่กามภพบ้าง รูปภพบ้าง อรูปภพบ้าง เมื่อเรายังมีทางที่จะไปสู่ภพต่างๆ อย่างนี้เราต้องเตรียมแบงก์คือบุญกุศลไว้ให้เพียบพูนสมบูรณ์เสียก่อน เราจึงไปสู่ภูมิต่างๆ ตามที่ต้องการได้
สำหรับแบงก์ที่เราจะต้องเตรียม ในการที่จะไปสู่ภพภูมิต่างๆ นั้น ก็ได้แก่ อริยทรัพย์ คือทรัพย์อันประเสริฐ หรือว่า ทรัพย์ของท่านผู้ประเสริฐ เป็นทรัพย์ที่ไกลจากข้าศึก พระราชาหรือโจรจะมายึดมาเอาไปก็ไม่ได้ น้ำก็ไม่ท่วม ไฟก็ไม่ไหม้ เป็นอมตะทรัพย์ คือเป็นทรัพย์ที่ไม่ตาย เป็นทรัพย์ที่ติดตามตัวไปทุกฝีก้าว ฉายา อิว ดุจเงาติดตามตัว เราจากโลกนี้ไปสู่โลกหน้า ก็ยังสามารถติดตามไปในภพที่ตนเกิด
เหตุนั้น องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ ผู้มีพระมหากรุณาธิคุณเต็มเปี่ยมในสรรพสัตว์ทั้งหลายซึ่งเร่าร้อนอยู่ด้วยเพลิงกิเลสและกองทุกข์ พระองค์ได้ตรัสสอนให้พวกเราได้สร้างสมอบรมอริยทรัพย์ภายในนี้ไว้ให้มาก เพื่อจะได้มีไว้ใช้จ่ายในการเดินทางไปในวัฏสงสาร คือให้สร้างสมอบรมอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ไว้ให้มาก คือ
๑. ศรัทธา ได้แก่ ความเชื่อ คือเชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว บาปมีจริง นรกมีจริง สวรรค์มีจริง มรรคผลพระนิพพานมีจริง แล้วก็ละชั่ว กระทำแต่คุณงามความดี
๒. ศีล ได้แก่ การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย โดยเราแบ่งศีลออกเป็นประเภทใหญ่ๆ คือ
๑) ปกติศีล ได้แก่ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีลอุโบสถ ศีล ๑๐ศีล ๒๒๗ ที่พวกเราพากันสมาทานรักษาอยู่ทุกวันนี้
๒) ปรมัตถศีล ได้แก่ ศีลที่มีรูปมีนามเป็นอารมณ์ เป็นศีลที่เกิดขึ้นจากการเจริญสมถะและวิปัสสนาภาวนา
๓. หิริ คือความละอายบาป มีความขยะแขยง ไม่กล้าทำบาป เหมือนกับชายหนุ่มหญิงสาวที่แต่งตัวดีแล้ว ประดับประดาร่างกายดีแล้ว ย่อมมีความขยะแขยง ไม่กล้าที่จะไปลุยโคลนลุยตม ฉันใด ผู้มีหิริก็มีความละอาย มีความขยะแขยงในการก่อกรรมทำบาปเหมือนกัน ฉันนั้น
๔. โอตตัปปะ ความสะดุ้งกลัวต่อบาป กลัวต่อผลของบาป ไม่กล้าทำบาปทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ทั้งต่อหน้าและลับหลัง อุปมาเหมือนกันกับคนทั้งหลาย ที่กลัวต่ออสรพิษหรือสัตว์ร้ายต่างๆ มีหมี เสือ ช้างเป็นต้น ไม่กล้าเข้าไปในสถานที่ที่มีสัตว์ร้ายนั้น ฉันใด ผู้มีโอตตัปปะก็มีความสะดุ้งกลัวต่อบาป ไม่กล้าทำบาป ทั้งในที่ลับ ทั้งในที่แจ้งเหมือนกัน ฉันนั้น
๕. สุตะ ได้แก่ เป็นผู้ที่สดับตรับฟังมาก ได้ศึกษาเล่าเรียนมามาก ทั้งในทางโลก ทั้งในทางธรรม
๖. จาคะ ได้แก่ การบริจาค แบ่งเป็น ๒ ประการ
ประการที่ ๑ บริจาคภายนอก ได้แก่ บริจาคปัจจัย ๔ คือเครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรคเป็นต้น
ประการที่ ๒ บริจาคภายใน ได้แก่ การที่เราทั้งหลายเสียสละความโลภ ความตระหนี่ เสียสละราคะ โทสะ โมหะ ตัณหา อุปาทาน ให้หมดไปจากขันธสันดาน ตลอดถึงเสียสละอุปสรรค คือความขัดข้อง โกสัชชะคือความเกียจคร้านเป็นต้น ให้หมดไปจากขันธสันดานของเรา
๗. ปัญญา คือความรอบรู้ ทั้งทางโลก ทั้งทางธรรม รอบรู้สิ่งที่ควรรู้ คือรอบรู้ว่าสิ่งใดที่เราประพฤติปฏิบัติแล้วจะนำมาซึ่งความสุขความเจริญ รอบรู้เหตุแห่งความทุกข์ ความเสื่อม และเหตุแห่งความสุข อย่างนี้เรียกว่า ปัญญา
อริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ เป็นทรัพย์ที่สามารถใช้ได้ทั่วไป ไม่จำกัด ไม่เหมือนกับทรัพย์ภายนอก ทรัพย์ภายนอกเป็นของที่ใช้ในวงจำกัด เช่นว่าทรัพย์ที่ใช้จ่ายในประเทศของเราทุกวันนี้ เช่น ธนบัตรใบละ ๑๐ บาท ๒๐ บาท ๑๐๐ บาท ๕๐๐ บาทก็ดี ก็ใช้จ่ายได้เฉพาะในประเทศของเราเท่านั้น หากว่าเราจะนำไปใช้ในประเทศอื่น ก็ต้องแลกต้องเปลี่ยนจึงจะนำไปใช้ได้ แต่สำหรับอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ เราใช้ได้ตลอดไป เราจะนำไปใช้ในที่ไหนก็ได้ไม่ต้องแลกต้องเปลี่ยน เหตุนั้น อริยทรัพย์นี้ จึงเป็นของใช้ได้ทั่วไป ไม่จำกัด อนึ่ง อริยทรัพย์เป็นของที่ใช้ไม่หมด คือยิ่งใช้เท่าไหร่ก็ยิ่งได้กำไรมาก
ดังที่มีท่านครูบาอาจารย์ พระสงฆ์ สามเณร ปะขาวแม่ชี และญาติโยม มาทั่วประเทศ ตลอดถึงต่างประเทศก็มี ซึ่งมารับเอาจากหลวงพ่อไป ยิ่งหลวงพ่อให้ไปมากเท่าไหร่ หลวงพ่อก็ยิ่งได้มาก ได้กำไรมาก เหตุนั้น อริยทรัพย์นี้จึงใช้ไม่หมด ไม่เหมือนกันกับทรัพย์ภายนอก ทรัพย์ภายนอก สมมติว่าเรามีเงินสัก ๒๐ ล้าน เราก็สามารถใช้ให้หมดไปได้ แต่ว่าอริยทรัพย์ภายในนี้ ใช้เท่าไหร่ก็ไม่หมด
อริยทรัพย์นี้เป็นอสาธารณะ คือเป็นสมบัติส่วนตัว ใครสร้างสมอบรมไว้ ก็เป็นสมบัติของผู้นั้น โจรจะมาลักเอาก็ไม่ได้ ไฟก็ไม่ไหม้ น้ำก็ไม่ท่วม เป็นของติดตามตัวไปได้ทุกฝีก้าวดุจเงาติดตามตัว ตายไปแล้ว ไปเกิดในภพใหม่ชาติใหม่ ยังสามารถติดตามตัวไปในภพที่เราเกิด แล้วก็เป็นทรัพย์ที่สามารถให้สำเร็จสมประสงค์ทุกอย่าง เทวดาและมนุษย์ปรารถนาสิ่งใดๆ สามารถได้สิ่งนั้นๆ สมความมุ่งมาดปรารถนาทุกอย่าง ก็เพราะอาศัยอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้
ผู้ใดประพฤติอยู่ในอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ หรืออริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้มีแก่บุคคลใด มีในขันธสันดานของผู้ใดพอสมควร คือแม้มีไม่มาก บุคคลผู้นั้นก็สามารถที่จะได้รับความสุขความเจริญในขณะที่เรายังเป็นมนุษย์อยู่ เมื่อจุติจากอัตภาพนี้ไปแล้ว ก็จะไปบังเกิดเป็นมนุษย์ และอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ ก็สามารถที่จะนำไปใช้ในภพที่เราเป็นมนุษย์อีกต่อไป
ถ้าเราประพฤติปฏิบัติในอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ให้สูงขึ้นไป เมื่อจุติจากอัตภาพนี้ไปแล้ว ก็สามารถไปเกิดในฉกามาวจรสวรรค์ ๖ ชั้น ตามกำลังของอริยทรัพย์นั้น
ถ้าเราประพฤติปฏิบัติในอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการให้สูงขึ้นไปอีก เช่นเราเจริญสมถกัมมัฏฐานในส่วนที่เป็นรูปกัมมัฏฐาน บริกรรมจนได้สำเร็จฌาน ก็สามารถไปเกิดในรูปพรหม ๑๖ ชั้น ตามกำลังของฌาน ถ้าเราเจริญให้สูงขึ้นไปกว่านั้น โดยเอาอรูปกัมมัฏฐานมาบริกรรมจนได้สำเร็จอรูปฌาน เมื่อจุติจากอัตภาพนี้ไปแล้ว ก็สามารถไปบังเกิดในอรูปภพ อรูปพรหม ตามกำลังของฌาน
ถ้าหากว่าเราบำเพ็ญให้สูงๆ ขึ้นไป โดยการที่มาเจริญวิปัสสนาภาวนา เหมือนดังพระสงฆ์ สามเณร ปะขาว แม่ชี และเราทั้งหลายเจริญกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ จนได้บรรลุถึงอริยมรรคอริยผล ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดานของตนแล้ว ก็ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารอีกต่อไป อริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ สามารถที่จะนำไปใช้ให้ถึงพระนิพพานได้ หมายความว่า ทำให้กลายเป็นโลกุตตระสมบัติได้
ดังตัวอย่างเรื่องของ นายสุปปพุทธกุฏฐิ ถึงจะเป็นคนยากจนข้นแค้นอนาถา หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องด้วยการขอทาน มิหนำซ้ำ เป็นโรคเรื้อนในกาย วันหนึ่ง ได้ไปฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่งอยู่ที่ไกลๆ โน้น ไม่กล้าเข้ามาใกล้ กลัวคนอื่นเขาจะรังเกียจ เมื่อฟังไปๆ ก็ส่งจิตส่งใจไปตามพระธรรมเทศนา ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน
เมื่อได้เป็นพระโสดาบันแล้ว ก็อยากจะเข้าไปกราบทูลคุณสมบัติที่ตนได้นั้นในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่กล้าจะเข้าไป กลัวคนอื่นเขาจะรังเกียจ ในขณะนั้น พระอินทร์ทราบก่อนแล้ว ก็แปลงร่างมาทดลองว่าผู้นี้เขามีจิตใจถึงธรรมจริงหรือ
เมื่อมาแล้วก็บอกว่า ดูก่อนสุปปพุทธกุฏฐิ จนๆ อย่างท่าน ไหนลองพูดซิว่า พระพุทธไม่ใช่พระพุทธ พระธรรมไม่ใช่พระธรรม พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์ อย่าเลยพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ใช่ของเรา ว่าซิ ถ้าท่านว่าได้ ฉันจะให้ทรัพย์สมบัติท่าน อยากได้เท่าไหร่ ฉันก็จะให้ถ้าท่านว่าได้
สุปปพุทธกุฏฐิก็ตอบว่า เอ๊ นี่ท่านเป็นใครมาจากไหน
ฉันเป็นพระอินทร์มาจากเทวโลก
ไปๆ เทวดาขี้ชั่ว เทวดาอันธพาล อย่ามาพูดกับข้าพเจ้า ว่าข้าพเจ้าเป็นคนจน ข้าพเจ้าไม่จน ส่วนท่านเสียอีกที่เป็นคนจน
พระอินทร์หายวับไป เข้าไปกราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า นิสัยของคนถึงธรรมนี้ ถึงจะจนแสนจน เราจะให้เงินสักเท่าไหร่ก็ไม่เอา เพียงแต่ให้กล่าวว่าพระพุทธไม่ใช่พระพุทธ พระธรรมไม่ใช่พระธรรม พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์ อย่าเลยพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ใช่ของเรา เพียงแต่ให้ว่าเท่านี้ ก็ไม่เอา พระพุทธเจ้าข้า
พระองค์จึงตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร ลูกของอาตมภาพไม่จน จนก็แต่ทรัพย์ภายนอกเท่านั้น ส่วนทรัพย์ภายในนั้นไม่จน[2]
ยสฺส เอตา ธนา อตฺถิ อิตฺถิยา ปุริสสฺส วา
อริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ มีในผู้ใด จะเป็นผู้หญิงก็ตามผู้ชายก็ตาม
อทลิทฺโทติ ตํ อาหุ อโมฆํ ตสฺส ชีวิตํ
ชีวิตของบุคคลนั้นไม่เปล่าจากประโยชน์เลย เป็นคนที่ร่ำรวยที่สุด คือร่ำรวยทรัพย์ภายใน เหตุนั้น อริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการ จึงเป็นข้อปฏิบัติมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
เหตุนั้น ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เราทั้งหลายพากันมาประพฤติปฏิบัติอยู่กันทุกเมื่อเชื่อวันนี้ หากผู้ใดเพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการดังกล่าวมานี้เรียกว่า เตรียมแบงก์ก่อนไป คือเราเตรียมสร้างสมอบรมอริยทรัพย์ให้สมบูรณ์ในขันธสันดานของเรา เพื่อจะได้นำไปใช้ในวัฏสงสารต่อไป จนกว่าเราจะถึงฝั่ง คือพระอมตมหานฤพาน
แต่ถ้าท่านผู้ใดไม่ประมาท สามารถสั่งสมอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ให้สมบูรณ์ในขันธสันดาน ท่านทั้งหลายก็สามารถที่จะบรรลุเป็นพระโสดาบัน สกทาคามี อนาคามีและพระอรหันต์ ถึงฝั่งคือพระอมตมหานฤพาน ในภพชาตินี้ จุติแล้วก็ไม่เวียนว่ายตายเกิดในมหรรณพภพสงสารอีกต่อไป ก็เข้าสู่พระนิพพาน พ้นจากชาติกันดาร ชรากันดาร พยาธิกันดาร มรณกันดาร
เหตุนั้น ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ที่เราทั้งหลายได้โอกาสมาประพฤติปฏิบัติธรรมในขณะนี้ ก็ถือว่าเรามีบุญล้นฟ้าล้นดิน ที่มีโอกาสสั่งสมอบรมอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท พยายามสั่งสมอบรมอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ ให้สมบูรณ์ในขันธสันดาน เมื่อใดเราสั่งสมให้สมบูรณ์แล้ว ก็อาจจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในภพนี้ชาตินี้
เมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็เป็นอันว่าเราพ้นแล้วจากสังสารวัฏ เราสามารถหักกงกรรมของสังสารวัฏได้สิ้นแล้ว สามารถตัดตัณหาอันเป็นตัวก่อภพก่อชาติได้แล้ว เราจะไม่เวียนว่ายตายเกิดในมหรรณพภพสงสารอีกต่อไป
๕. เตรียมใจก่อนสู้ ชีวิตนี้เต็มไปด้วยการต่อสู้ คือ
๑) ต่อสู้กับความลำบาก ในเวลาประกอบการงาน เช่น เราทำนา ทำสวน ทำไร่อย่างนี้ ชีวิตคือความเป็นอยู่เต็มไปด้วยความลำบาก ต้องตรากตรำแดด ตรากตรำฝนหนาวร้อนก็ต้องสู้ทน การงานของเราจึงจะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
๒) ต่อสู้กับทุกขเวทนา เช่น เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยอาการเจ็บไข้ได้ป่วยของเรานี้ ไม่ใช่ว่าเป็นของธรรมดา บางทีเหมือนกับว่าทุกขเวทนานี้จะปลิดชีวิตของเราไป บางทีต้องร้องครวญครางเพราะอำนาจของทุกขเวทนาเข้าครอบงำ จนขาดสติขาดสัมปชัญญะไปก็มี
บางที เป็นพระเจ้าพระสงฆ์ เป็นสามเณร เป็นแม่ชี เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยมายังพากันร้องครวญครางเป็นที่อับอายขายหน้า อย่าลืมนะท่านทั้งหลาย เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยมานี้ถ้าว่าชาวบ้านเขาพากันร้องครวญครางเพราะอำนาจทุกขเวทนานั้น ก็ค่อยยังชั่ว ยังพอมองดูได้
แต่ถ้าเป็นพวกนักบวชเป็นพระ เป็นเณร เป็นปะขาว แม่ชี เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยมา ร้องครวญครางนั้น เป็นที่อับอายขายหน้ายิ่งนัก อับอายขายหน้าญาติโยมชาวบ้าน อับอายขายหน้าทวยเทพนิกรเจ้าทั้งหลาย ไม่เป็นที่น่าเลื่อมใส เพราะว่าผู้ที่เป็นนักบวช ผู้บำเพ็ญเพียรนี้ ต้องเป็นผู้มีอธิวาสนขันติ ความอดกลั้นอย่างแรงกล้า อะไรๆ เกิดขึ้นมาแล้ว ต้องเป็นคนที่มีจิตใจหนักแน่น ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน ยอมสู้ตาย เอาชีวิตเป็นเดิมพัน ไม่ทำอะไรให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อน เรื่องนี้ในอดีตกาลมีมาแล้ว
มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ตั้งตัวเป็นคณาจารย์ เป็นอาจารย์ใหญ่ สอนวิปัสสนากัมมัฏฐานแก่ลูกศิษย์ทั้งหลาย แต่วันหนึ่ง ขณะที่เกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมา พระอาจารย์องค์นั้นก็ร้องครวญครางด้วยอำนาจของทุกขเวทนา ในขณะนั้นมีพระราชาองค์หนึ่ง ซึ่งทรงมีปสาทะศรัธาอย่างแรงกล้า เพราะทราบถึงกิตติศัพท์ของพระอาจารย์องค์นี้ ว่าท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านได้บรรลุธรรมเบื้องสูงแล้ว ก็มีพระราชหฤทัยเลื่อมใส จึงพร้อมด้วยข้าราชบริวารทั้งหลาย มากราบนมัสการพระเถระรูปนั้น
แต่เมื่อมา ยังไม่ถึงเลย เพียงแต่เข้ามาภายในวัดได้ยินเสียงร้องครวญครางของพระภิกษุผู้เป็นพระอาจารย์ใหญ่ จึงตรัสถามพระภิกษุทั้งหลายว่า นี้เป็นเสียงของใคร ใครร้องครวญคราง เพราะเหตุไร พระสงฆ์ทั้งหลายจึงถวายพระพรให้ทรงทราบ พระราชาจึงตรัสว่า ที่ไหนว่าตนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดานแล้ว มีทุกขเวทนาเพียงแค่นี้ ยังจะมาร้องครวญครางอยู่อีกหรือ ข้าพเจ้าตั้งใจจะมานมัสการท่าน บัดนี้ ข้าพเจ้าขอลาก่อนละ
นี่แหละท่านทั้งหลาย การที่นักบวชของเรานี้ เมื่อความเจ็บไข้ได้ป่วยเกิดขึ้นมาแล้ว ยังมาร้องครวญครางเพราะทุกขเวทนาอยู่นั้น ทำให้ต้องอับอายขายหน้า ให้ผู้อื่นหมดศรัทธาปสาทะความเชื่อความเลื่อมใส ยิ่งมีผู้ใดผู้หนึ่งล้มหายตายไป เช่น พ่อแม่ตายจากไป หรือว่าลูกๆ หลานๆ พี่น้องตายจากไป อย่างนี้เรามาร้องห่มร้องไห้ ยิ่งเป็นสิ่งที่น่าอับอายขายหน้ายิ่งนัก เหตุนั้น ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมต้องเตรียมใจก่อนสู้ คือต้องสู้กับทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นครอบงำขันธสันดานของตนให้ได้
๓) ต่อสู้กับการล่วงเกินของผู้อื่น เราทั้งหลายที่อยู่ร่วมกัน ไม่ใช่ว่าเราทั้งหลายจะประพฤติปฏิบัติอะไรๆ ถูกจิตถูกใจกันไปทั้งหมดนั้นหามิได้ เราต้องมีการล่วงเกินกันบ้าง บางครั้งบางคราวล่วงเกินทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราต้องมีอธิวาสนขันติความอดกลั้นอย่างแรงกล้า ไม่ทำการโต้ตอบผู้ที่ล่วงเกินตน เขาจะทำอย่างไร เราก็ต้องอดกลั้นได้ ไม่ทำการล่วงเกินซึ่งเป็นการตอบโต้ ทำเหมือนกับว่าไม่มีอะไรๆ เกิดขึ้นแก่ตัวเราเลยดังตัวอย่างพระสารีบุตร
ท่านพระสารีบุตรนี้ มีกิตติศัพท์ว่าเป็นผู้มีความอดกลั้นอย่างแรงกล้า จนเป็นที่สรรเสริญเยินยอของบรรดาพระสงฆ์ สามเณร ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลายว่าพระคุณเจ้าของเรานี้เป็นที่น่าเลื่อมใสยิ่งนัก ไม่มีความโกรธเลย อะไรๆ ก็ไม่โกรธ
วันนั้น มีพราหมณ์คนหนึ่ง คิดขึ้นมาว่าพระสารีบุตรนี้เป็นผู้ไม่โกรธจริงหรือ อดทนต่อความโกรธได้จริงหรือ เป็นผู้ดับความโกรธได้จริงหรือ คิดอยากจะทดลองดู เมื่อเห็นพระสารีบุตรเดินไปบิณฑบาต พราหมณ์คนนั้นก็เดินไปข้างหลัง พอไปถึงก็เอากำปั้นทุบหลังท่าน แต่ท่านพระสารีบุตรไม่สะทกสะท้าน ไม่หันกลับมามองดูเลย เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเดินบิณฑบาตไปเรื่อยๆ ตามธรรมดาของตน ผลสุดท้ายพราหมณ์คนนั้นก็เกิดความเดือดร้อนอย่างแรงต้องขอขมาโทษ
นี้แลท่านทั้งหลาย การที่อดทนได้ ไม่ทำการโต้ตอบผู้ที่ล่วงเกินตน เรียกว่า เตรียมใจก่อนสู้ ประการหนึ่ง
๔) ต่อสู้กับอำนาจของกิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้น
เราทั้งหลายที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ส่วนมากตกอยู่ภายใต้อำนาจกิเลส ตกอยู่ในอำนาจของความโลภ ต้องลักต้องขโมย หาเอาทรัพย์สมบัติของคนอื่นมาเป็นของตนในทางที่ไม่ชอบธรรม บางครั้งก็ตกอยู่ในอำนาจของความโกรธ ต้องด่า ต้องฆ่า ต้องเฆี่ยนต้องตี ต้องประหัตประหาร ต้องผูกพยาบาท ต้องอาฆาตจองล้างจองผลาญกัน
บางครั้ง ก็ต้องอยู่ใต้อำนาจของโมหะ ทำอะไรๆ ก็ทำไปตามอำนาจของโมหะ ไม่รู้จักผิดชอบ ชั่วดี บาปบุญ คุณโทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ จะทำมาค้าขายก็ค้าขายด้วยการโกง มีการโกงตาชั่งเป็นต้น บางครั้งเราก็ต้องตกอยู่ในอำนาจของราคะ ประพฤติปฏิบัติไปตามอำนาจของราคะ มีการข่มขืนชำเรา เป็นต้น บางครั้งก็ตกอยู่ใต้อำนาจของตัณหา คือความทะยานอยากอย่างแรงกล้า บางครั้งก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของอุปาทาน เหตุนั้น เมื่อกิเลสมีโลภะ โทสะ โมหะ ราคะ ตัณหา อุปาทานเกิดขึ้น เราต้องไม่ทำอะไรไปตามอำนาจกิเลสตัณหานั้น เราอดได้ทนได้ จึงเรียกว่า เราเตรียมใจก่อนสู้
เมื่อชีวิตคือความหวัง ชีวิตคือการต่อสู้อย่างนี้ ทำอย่างไรเราจึงจะมีกำลังใจในการต่อสู้ เราต้องมีคุณธรรมเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ต้องมีคุณธรรมประจำใจ เพราะว่าเราขาดคุณธรรมประจำใจแล้ว เราก็ไม่สามารถที่จะต่อสู้ได้
สำหรับคุณธรรมประจำใจ ที่ทำให้จิตใจของเรากล้าหาญนั้น เรียกว่า เวสารัชชกรณธรรม คือธรรมอันทำใจให้กล้าหาญ มีอยู่ ๕ ประการ คือ
๑. สัทธา (ศรัทธา) ความเชื่อมี ๔ อย่าง คือ
๑) กัมมสัทธา เชื่อกรรม เชื่อว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว
๒) วิปากสัทธา เชื่อผลของกรรม คือเชื่อว่าผลที่ได้รับ มีความสุขความเจริญ ความทุกข์ความเดือดร้อนอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะว่าผลของความดีความชั่วที่เราทำไว้
๓) กัมมัสสกตาสัทธา ความเชื่อที่ว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตัว คือสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นมาแล้ว ไม่เหมือนกัน บางคนก็ยากจนข้นแค้นอนาถา บางคนก็มั่งมีศรีสุข บางคนมีรูปงาม มีทรวดทรงงาม มีผิวพรรณงามมีจิตใจสมบูรณ์ มีปัญญาดี มีไหวพริบดี มีความฉลาดดี บางคนก็เป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา คนทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดมา ไม่เหมือนกันเช่นนี้ เพราะกรรมจำแนกให้เป็นไปต่างกัน ดังวจนะประพันธ์พุทธภาษิตว่า
กมฺมํ สตฺเต วิภชติ ยทิทํ หีนปฺปณีตตาย
กรรมแล ย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลาย ให้เป็นไปต่างๆ กัน คือให้เลวและประณีต (ม. อุ. ๑๔/๕๙๖/๓๘๕)
๔) ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้า คือเราเชื่อว่าพระองค์นั้น เป็นพระสยัมภูผู้ที่ตรัสรู้เองโดยชอบ ไม่มีใครเป็นครูเป็นอาจารย์ พระองค์ทรงสอนธรรมะที่ทำผู้ปฏิบัติตามธรรมนั้น ให้ได้ผลตามสมควรแก่การประพฤติปฏิบัติ
๒. ศีล คือความรักษากายวาจาให้เรียบร้อย
๓. พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ที่ศึกษามามากได้สดับตรับฟังมามาก เมื่อศึกษามาก ความรู้มาก ก็ทำให้จิตใจกล้าหาญ
๔. วิริยารัมภะ ปรารภความเพียร หมายความว่า เราจะทำการงานอะไรก็ตาม เราก็แข็งใจทำจนสามารถทำงานนั้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
เช่น เราจะทำไร่ทำนา เราจะท่องหนังสือ อ่านหนังสือ ดูหนังสือ เราจะเจริญสมถกัมมัฏฐานก็ตาม วิปัสสนากัมมัฏฐานก็ตาม เราต้องแข็งใจทำ ถ้าไม่แข็งใจทำแล้ว ใจของเราก็จะเป็นจิตใจที่อ่อนแอ ไม่มีสมรรถภาพ ไม่มีความเข้มแข็ง แต่เมื่อใดเราประกอบด้วยวิริยารัมภะคือปรารภความเพียร ในการประพฤติปฏิบัติธรรม โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ตายเป็นตาย แข็งใจทำ ก็ทำให้จิตใจของเรามีกำลัง มีอำนาจ มีความกล้าหาญขึ้นมา
๕. ปัญญา คือรอบรู้ในสิ่งที่ควรรู้ รอบรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ และรอบรู้สิ่งที่จะนำมาซึ่งความทุกข์ความเสื่อม
เมื่อใด บุคคลทั้งหลายเป็นผู้ประกอบไปด้วยศรัทธา ศีล พาหุสัจจะ วิริยารัมภะ และปัญญา ตั้งมั่นอยู่ในอิทธิบาท ๔ คือมีฉันทะพอใจในการปฏิบัติ มีวิริยะแข็งใจในการปฏิบัติ มีจิตตะตั้งใจในการประพฤติปฏิบัติ มีวิมังสาฉลาดในการปฏิบัติแล้ว
เมื่อนั้น จิตใจของเราย่อมเป็นจิตใจที่เข้มแข็ง เป็นจิตที่กล้าหาญ เป็นจิตที่มีกำลัง สามารถที่จะต่อสู้กับสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้นได้โดยสะดวกสบาย คือสามารถที่จะต่อสู้กับการงาน ซึ่งล้วนแล้วแต่เต็มไปด้วยความลำบากตรากตรำ มีตรากตรำแดดฝนเป็นต้น และสามารถที่จะอดทนต่อทุกขเวทนา อดทนต่อการล่วงเกินของผู้อื่น อดทนต่อกิเลสตัณหาได้ มีจิตใจเข้มแข็ง เรียกว่า เราเตรียมใจก่อนสู้ เป็นประการที่ ๕
สรุปว่า เมื่อเราทั้งหลายประพฤติปฏิบัติตามธรรมะดังกล่าวมาแล้ว ทั้ง ๕ ประการ คือ ๑) เตรียมตัวก่อนตาย ๒) เตรียมกายก่อนแต่ง ๓) เตรียมน้ำก่อนแล้ง ๔) เตรียมแบงก์ก่อนไป ๕) เตรียมใจก่อนสู้ ทั้ง ๕ ประการนี้แล้วเรียกว่าเราทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์
ต่อไป ก็ขอเตือนสติท่านนักปฏิบัติทั้งหลายว่า พระนิพพานนั้นไม่เหมือนกันกับที่เราคิดไว้ เราคิดไว้ว่าพระนิพพานจะเป็นอย่างโน้น พระนิพพานจะเป็นอย่างนี้ เปล่าเลย ไม่เหมือนกันกับที่เราคิดไว้ ฟ้ากับดินถึงแม้จะไกลแสนไกลกัน เราก็ยังมองเห็นได้ แต่สำหรับพระนิพพานนั้น แม้ว่าจะมีอยู่ภายในกายอันยาววาหนาคืบของเรานี้ ก็ไม่สามารถที่จะมองเห็นได้
เหตุนั้น พระนิพพานนี้ จึงไม่เหมือนกันกับที่เราคิดไว้ เราจะเอาความรู้ขั้นปริยัติมาพิสูจน์ธรรมะขั้นปฏิบัตินั้นไม่ได้ คือเราจะมาพิสูจน์ว่าพระนิพพานนั้นเป็นอย่างไร การบรรลุอริยมรรคอริยผลเป็นอย่างไร การบรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ เป็นอย่างไร เราพิสูจน์ไม่ได้ เราจะพิสูจน์อย่างไรๆ ก็ไม่ได้
เรามีความรู้ขั้นปริญญาตรี-โท-เอก จะเอาความรู้ขั้นปริญญานี้มาพิสูจน์ก็ไม่ได้ หรือว่าเราเรียนจบนักธรรมชั้นตรี-โท-เอก เรียนจบพระอภิธรรม จบเปรียญ ๙ จบพระไตรปิฎกก็ตาม เราจะเอาความรู้ด้านปริยัติมาพิสูจน์ขั้นปฏิบัตินั้นไม่ได้ หากว่าท่านทั้งหลายอยากรู้จริงๆ แล้ว ก็ให้ท่านทั้งหลายปฏิบัติตามหลักวิชาการที่ครูบาอาจารย์แนะนำพร่ำสอนหรือชี้แจงให้ฟังทุกเมื่อเชื่อวัน ให้ท่านทั้งหลายปฏิบัติตามหลักวิชาการนั้น เมื่อใดท่านทั้งหลายตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามหลักวิชาการดังกล่าวมาแล้ว เราก็สามารถที่จะรู้ได้
ดังมีอาจารย์รูปหนึ่งซึ่งมาประพฤติปฏิบัติ ท่านเรียนจบขั้นปริญญา ก็เอาความรู้ขั้นปริญญามาพิสูจน์อย่างโน้นอย่างนี้ พิสูจน์อย่างไรๆ ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ จนหลวงพ่อได้เตือนว่า คุณๆ จะเอาความรู้ขั้นปริยัติมาพิสูจน์ขั้นปฏิบัตินั้นไม่สามารถที่จะพิสูจน์ได้ หากว่าคุณอยากรู้จริงๆ แล้วก็ขอให้ปฏิบัติตามหลักวิชาการที่ครูบาอาจารย์แนะนำพร่ำสอนทุกวันๆ นี้เถอะ ไม่ช้าไม่นานหรอก เราก็จะสามารถรู้ได้เห็นได้ แกก็ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตาม ผลสุดท้ายก็หายจากความข้องใจสงสัย
เอาละท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้บรรยายธรรมะ เรื่อง เตรียมตัว ๕ ประการ มา ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้
เมื่อชำระร่างกาย อย่าลืมชำระล้างใจ
เมื่อให้อาหารทางกาย อย่าลืมให้อาหารทางใจ
เมื่อศึกษาทางร่างกาย อย่าลืมศึกษาทางจิตใจ
เมื่อทำสิ่งต่างๆ
ภายนอก อย่าลืมทำความรู้สึกตัวภายใน.
[1] สํ.ส. ๑๕/๘๔๕/๓๑๖
[2] (๒๓/๖/๔-๗ ธมฺมปทฏฺฐกถา ตติโย ภาโค หน้า ๑๒๙)