องค์คุณของนักปฏิบัติธรรม ๗ ประการ
โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
———————
ลำดับต่อไปนี้ จะได้น้อมนำเอาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาบรรยายถวายความรู้แด่ท่านครูบาอาจารย์ และเพื่อประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลาย ในเรื่อง องค์คุณของนักปฏิบัติ สืบต่อไป
องค์คุณของนักปฏิบัตินั้น มีอยู่ ๗ ประการ ดังพระบาลีว่า สตฺตหิ ภิกฺขเว ธมฺเมหิ สมนฺนาคโต ภิกฺขุ อาหุเนยฺโย โหติ เป็นต้น
แปลใจความว่า ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย ผู้ที่เห็นภัยในวัฏสงสารประกอบด้วยคุณธรรมอันเป็นองค์คุณของนักปฏิบัติ ๗ ประการ ย่อมเป็นผู้ควรแก่การเคารพบูชา เป็นแขกผู้มีเกียรติสูง ควรแก่การต้อนรับ ควรแก่สักการะวรามิส ควรแก่การกราบไหว้นับถือ เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของชาวโลก
องค์คุณทั้ง ๗ ประการนั้นคือ
๑. ธัมมัญญู รู้ธรรม
๒. อัตถัญญู รู้อรรถ
๓. อัตตัญญู รู้ตน
๔. มัตตัญญู รู้ประมาณ
๕. กาลัญญู รู้กาล
๖. ปริสัญญู รู้บริษัท
๗. ปุคคลปโรปรัญญู รู้จักเลือกบุคคล
๑. ธัมมัญญู คำว่า ธัมมัญญู รู้ธรรมนั้น ในแนวปฏิบัติ หมายเอาวิปัสสนาภูมิ ๖ ได้แก่ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ อินทรีย์ อริยสัจ และปฏิจจสมุปบาท
เมื่อจะกล่าวโดยย่อในเวลาปฏิบัติ ได้แก่ การกำหนดรูปนาม คืออาการพอง อาการยุบ ใช้สติกำหนดไว้ที่ท้อง ภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ ย่อมถูกขันธ์ ถูกธาตุ ถูกอายตนะ ถูกอินทรีย์ ถูกอริยสัจ ถูกปฏิจจสมุปบาท และถูกทั้งพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม
ผู้ปฏิบัติวิปัสสนา ชื่อว่าเป็นผู้ทรงธรรม ชื่อว่าเป็นผู้รู้ธรรม ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท ได้ในอรรถว่า ธัมมัญญู ผู้รู้ธรรม คือรู้ทั้งภาคปริยัติ ภาคปฏิบัติ รู้ทั้งภาคปฏิเวธ
๒. อัตถัญญู รู้อรรถนั้น คือรู้ความหมายของธรรมะ รู้ใจความของภาษิตเป็นต้น ตัวอย่างที่พระอัสสชิแสดงธรรมโดยย่อแก่พระสารีบุตรว่า เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุํ ตถาคโต เป็นต้น แปลความว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระศาสดาตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น ก็เข้าใจความหมายของธรรมทันทีว่า
ในพระศาสนานี้สอนว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวง เมื่อเกิด ก็เพราะเหตุเกิดก่อน เมื่อจะดับ ก็เพราะเหตุดับก่อน ได้ดวงตาเห็นธรรมว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา และรู้ชัดขึ้นว่า ในศาสนานี้ สอนให้ละตัณหาอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ได้ดวงตาเห็นธรรม สำเร็จเป็นพระโสดาบัน
๓. อัตตัญญู รู้ตน คือรู้ว่า ขณะนี้คุณธรรมทั้ง ๕ ประการ คือ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา (ปัญญา ๔ คือ หีนปัญญา มัชฌิมปัญญา มหาปัญญา อุตตมปัญญา) ปฏิภาณ ได้แก่ มีเชาวน์ไวไหวพริบ มีปัญญารู้เท่าทันเหตุการณ์ เฉียบแหลม คมคาย สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี มีอยู่ในตนเอง การรู้ธรรมทั้ง ๖ ประการนี้เรียกว่า รู้ตน
๔. มัตตัญญู รู้ประมาณ คือ
๑) รู้ประมาณในการบริโภคโภชนะ
๒) รู้ประมาณในการใช้จ่าย
๓) รู้ประมาณในปัจจัย ๔ มีเครื่องนุ่งห่มเป็นต้น
๔) รู้ประมาณในอายุสังขารของตน
๕) รู้ประมาณในการปฏิบัติธรรม
๖) รู้ประมาณในการคบหาสมาคมกับบุคคลภายนอก
นอกจากนี้ ยังต้องรู้ประมาณกับคุณธรรมภายใน ได้แก่ รู้ปัจจุบันธรรม รู้รูปนาม รู้พระไตรลักษณ์ รู้มรรค ผล พระนิพพาน อย่างนี้เรียกว่า มัตตัญญู คือเป็นผู้รู้ประมาณ
๕. กาลัญญู รู้กาล หมายความดังนี้
๑) อยํ กาโล อุทฺเทสสฺส รู้ว่ากาลนี้ควรเรียน ควรฟังธรรม ก็ต้องเรียน ต้องฟังธรรม
๒) อยํ กาโล ปริปุจฺฉาย รู้ว่ากาลนี้ควรสอบอารมณ์ ควรสอบถามปริยัติ ก็ต้องไปสอบอารมณ์สอบถามปริยัติกับครูบาอาจารย์ตามสมควร
๓) อยํ กาโล โยคสฺส รู้ว่ากาลนี้ควรทำความเพียร ก็ต้องรีบทำความเพียรไม่ชักช้า มิได้ผลัดวันประกันพรุ่ง
๔) อยํ กาโล ปฏิสลฺลานาย รู้ว่ากาลนี้ควรหลีกออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว เพื่อให้ได้ความสงบ ๓ประการคือ
(๑) กายวิเวก สงัดกาย คือ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่
(๒) จิตตวิเวก สงัดจิต คือ สงบจากสิ่งรบกวนภายนอกและภายใน
(๓) อุปธิวิเวก สงัดกิเลส คือ มีใจสงัดจากกิเลส ทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด
สรุปความย่อๆ ได้แก่ ผู้ที่ไม่ประมาทในวัยและไม่ประมาทในชีวิต รีบทำกิจคือปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานนั่นเอง
๖. ปริสัญญู รู้จักบริษัท หมายความว่า รู้จักขัตติยบริษัท พราหมณ์บริษัท คฤหบดีบริษัท สมณบริษัท และรู้จักบริษัท ๓ คือ
๑) อคฺควตี ปริสา บริษัทที่เลิศที่ประเสริฐ ไม่มักมาก ไม่ขี้เกียจ ไม่ท้อถอย ไม่ทอดธุระการงาน ไม่ทอดธุระในการบำเพ็ญ น้อมใจไปในวิเวกทั้ง ๓ ประการ ปรารภความเพียร เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน
๒) วคฺคา ปริสา ได้แก่ บริษัทที่แตกกัน ทะเลาะกัน วิวาทกัน ทิ่มแทงกันด้วยหอกคือปาก เสียดสีกัน กีดกันซึ่งกันและกัน อิจฉาริษยากัน เอารัดเอาเปรียบกัน โกงกัน ฆ่ากัน ข่มเหงเบียดเบียนกันและกันโดยประการต่างๆ ไม่ปรองดองกัน ไม่มีความสามัคคีกัน ถือพวก ถือหมู่ ถือก๊ก ถือเหล่า รังเกียจเหยียดหยามซึ่งกันและกัน
๓) สมคฺคา ปริสา ได้แก่ บริษัทที่พร้อมเพรียงกันดี เพลิดเพลินต่อกันและกัน ไม่ทะเลาะกัน รักใคร่กัน ดุจดื่มน้ำนมจากแม่คนเดียวกัน และดูแลกันด้วยจิตเอ็นดู สงสารกัน เต็มเปี่ยมไปด้วยพรหมวิหารธรรม
สมัยนั้น ได้บุญมาก เป็นอยู่อย่างประเสริฐ เกิดปีติปราโมทย์ เกิดปัสสัทธิ สงบกายสงบใจ เกิดความสุข เกิดสมาธิ เกิดปัญญา อุปมาเหมือนฝนตกลงมายังพื้นแผ่นดิน ย่อมยังพื้นพสุธาให้ชุ่มชื่น ยังห้วยหนองคลองบึงให้เต็มเปี่ยม ตลอดจนยังทะเลหลวงชลาลัยให้เต็มฉะนั้น
เมื่อรู้ว่าบริษัทไหนดีแล้ว ให้เข้าไปหาบริษัทนั้น นำเอาจริยาวัตรและข้อปฏิบัติของท่านมาปฏิบัติ เพื่อเป็นการอบรมตนให้ตั้งอยู่ในศีลธรรมวัฒนธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป อย่างนี้เรียกว่าปริสัญญู รู้บริษัท
๗. ปุคคลปโรปรัญญู รู้จักเลือกบุคคล ท่านจำแนกวิธีเลือกบุคคลไว้ในพระไตรปิฎก ๗ ประการ คือ
๑) เทฺว ปุคฺคลา ในระหว่างบุคคล ๒ จำพวก คือ จำพวกหนึ่ง อยากเห็นพระภิกษุ อีกจำพวกหนึ่ง ไม่อยากเห็นภิกษุ ควรเลือกคบพวกต้น เพราะเป็นผู้ควรสรรเสริญ
๒) เทฺว ทสฺสนกามา ในบุคคลจำพวกที่อยากเห็นภิกษุนั้น ยังแบ่งออกไปอีก ๒ จำพวก คือ จำพวกหนึ่ง อยากฟังพระสัทธรรม อีกจำพวกหนึ่ง ไม่อยากฟังพระสัทธรรม ควรเลือกคบหาสมาคมกับจำพวกที่อยากฟังพระสัทธรรม เพราะเป็นผู้ควรแก่การสรรเสริญ
๓) เทฺว โสตุกามา ในบุคคลจำพวกที่อยากฟังพระสัทธรรมนั้น ยังแบ่งออกเป็น ๒ จำพวก คือ จำพวกหนึ่ง ตั้งใจฟังพระสัทธรรม อีกพวกหนึ่ง ไม่ตั้งใจฟังพระสัทธรรม ควรเลือกจำพวกที่ตั้งใจฟังพระสัทธรรม เพราะเป็นบุคคลควรแก่การสรรเสริญ
๔) เทฺว โอหิตโสตา ในบุคคลจำพวกที่ตั้งใจฟังพระสัทธรรม ยังแบ่งออกไปอีก ๒ จำพวก คือ จำพวกหนึ่ง ฟังแล้วจำได้ จำพวกหนึ่ง ฟังแล้วจำไม่ได้ ควรเลือกคบบุคคลที่ฟังแล้วจำได้ เพราะควรแก่การสรรเสริญ
๕) เทฺว ปุคฺคลา สุตฺวา ธมฺมํ ธาเรนฺติ ในบุคคลที่ฟังธรรมแล้วจำได้นั้น ยังแบ่งออกอีกเป็น ๒ จำพวก คือ จำพวกหนึ่ง ย่อมพิจารณาธรรมที่จำได้ อีกจำพวกหนึ่ง ย่อมไม่พิจารณา ควรเลือกคบบุคคลจำพวกต้น เพราะเป็นผู้ควรแก่การสรรเสริญ
๖) เทฺว ปุคฺคลา ธตานํ ธมฺมานํ อตฺถํ อุปปริกฺขนฺติ ในบุคคลจำพวกที่พิจารณาไตร่ตรองเนื้อความแห่งธรรมนั้น ยังแบ่งออกเป็น ๒ จำพวก คือ จำพวกหนึ่ง รู้อรรถ รู้ธรรม รู้เหตุ รู้ผลแล้ว ปฏิบัติธรรมตามควรแก่ธรรม คือได้เจริญวิปัสสนาสมควรแก่โลกุตตรธรรม ๙ จำพวกหนึ่ง รู้อรรถ รู้ธรรม รู้เหตุ รู้ผลแล้ว ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ควรเลือกคบบุคคลจำพวกที่ ๑ เพราะเป็นผู้ควรแก่การสรรเสริญ
๗) เทฺว ปุคฺคลา อตฺถมญฺญาย ธมฺมมญฺญาย ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺนา ในบุคคลจำพวกรู้อรรถ รู้ธรรม รู้เหตุ รู้ผล แล้วปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ธรรมนั้น ยังแบ่งออกเป็น ๒ จำพวก คือ จำพวกหนึ่ง ปฏิบัติธรรมเพื่อประโยชน์ตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น อีกจำพวกหนึ่ง ปฏิบัติธรรมเพื่อประโยชน์ตนด้วย เพื่อประโยชน์ผู้อื่นด้วย ควรเลือกคบคนจำพวกสุดท้ายนี้ เพราะเป็นผู้ควรแก่การสรรเสริญ
เอวํ โข ภิกฺขเว ภิกฺขุ ปุคฺคลปโรปรญฺญู ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย บุคคลผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร ชื่อว่าเป็นผู้รู้จักเลือกบุคคล โดยอาการอันบรรยายมานี้
แม้ในการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็เพื่อให้เกิดโพชฌงค์ ๗ เพื่อให้ได้บรรลุมรรค ผล พระนิพพาน ท่านก็ให้คบกับบุคคลที่มีความขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้าน มีศรัทธาจริง ปฏิบัติจริง เช่นเดียวกัน
ถ้าผู้ใดมีคุณธรรมทั้ง ๗ ประการมีธัมมัญญูรู้ธรรมเป็นต้นดังกล่าวมาแล้วนี้อยู่ในตน ผู้นั้นชื่อว่า เป็นนักปฏิบัติธรรมแท้จริง เป็นสัตบุรุษ เป็นผู้ควรแก่การเคารพ เป็นแขกผู้มีเกียรติสูง ควรแก่การต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่การกราบไหว้บูชา เป็นเนื้อนาบุญยอดเยี่ยมของโลก ถูกต้องตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ดังมีแจ่มแจ้งอยู่ในบทสังฆคุณแล้ว
เมื่อใด เราประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมดังกล่าวมาแล้วนี้ ผู้นั้น แม้ว่าจะไม่ได้บรรลุคุณวิเศษเบื้องสูง คือเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี หรือไม่ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ก็ตาม ก็จะได้สมาธิสมาบัติ ตามบุญญาธิการที่ตนได้สั่งสมอบรมมา
ข้อนี้ ขอยกอุทาหรณ์ที่ได้ประสบการณ์มา ไม่ใช่เรื่องอดีตในครั้งพุทธกาล แต่เป็นเรื่องในปัจจุบัน คือ
มีโยมคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้มีศรัทธากล้า ได้มาบวชเป็นปะขาวอยู่ในสถานที่แห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เพื่อบำเพ็ญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อบวชแล้ว แกก็ไม่อยากอยู่ที่นี้ บวชแล้วอยากไปอยู่หนองคาย ไปประพฤติปฏิบัติธรรมที่วัดเนินพระเนาว์ (อำเภอเมืองหนองคาย)
ในสมัยนั้น ก็มีท่านพระอาจารย์ปาน เป็นอาจารย์สอนอยู่ มีชื่อเสียงมากในภาคอีสานของเรา เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เลยบอกว่า เอาอย่างนี้จะไม่ดีกว่าหรือ ขณะนี้เราเพิ่งบวชเข้ามาใหม่ ข้อวัตรปฏิบัติอะไรเราก็ยังไม่ชำนิชำนาญ ยังไม่ช่ำชอง เราจะประพฤติปฏิบัติอย่างไรตามกฎหรือกติกาในสำนักของท่าน เอาเป็นว่าพรรษานี้ประพฤติปฏิบัติในที่นี้เสียก่อน หากว่าปฏิบัติในที่นี้แล้วไม่เป็นผลพอใจ ออกพรรษาแล้วจึงค่อยขยับขยายไปอยู่ที่หนองคายก็ได้ ก็เลยตกลงปลงใจประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ที่นี้
พอประพฤติปฏิบัติ แกก็ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติจริงๆ ปฏิบัติแบบหนักเอาเบาสู้ ยอมสู้ตาย เอาชีวิตเป็นเดิมพัน และปีนั้นก็เป็นปีเริ่มให้ญาติโยม พระสงฆ์ สามเณร ทำวัตรทั้งตอนเช้าตอนเย็น พอดีโยมคนนั้นแกได้ฟังคำทำวัตรแปล โดยเฉพาะบทสังฆคุณ คือพรรณนาคุณของพระสงฆ์ เมื่อได้ยินก็เกิดความสังเวชสลดใจว่า
เรามาบวชนี้ ยังไม่ถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติดี ไม่ถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติตรง ไม่ถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์ ยังไม่ถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติสมควร เรานี้ยังไม่สมควรที่จะรับไทยธรรมที่ญาติโยมเขาถวาย คุณธรรมของเรายังไม่มี
เมื่อคิดได้อย่างนี้ก็เกิดความอุตสาหะพยายามขึ้นมาว่า ถึงอย่างไรๆก็ตาม เราจะประพฤติปฏิบัติจริงๆ ถึงจะตายก็ให้มันตายรู้แล้วรู้รอดไป ตายในเวลาประพฤติปฏิบัตินี้คงจะไม่เป็นบาป คงจะได้อานิสงส์ แกก็ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติจริงๆ
ผลสุดท้าย การปฏิบัติในปีนั้น แกปฏิบัติได้ดีกว่าเพื่อนๆทั้งหลายที่ปฏิบัติธรรมร่วมกัน ทั้งพระสงฆ์ สามเณร ปะขาวแม่ชี แกประพฤติปฏิบัติผ่านไปได้ถึง ๓ ขั้น คือผ่านวิปัสสนาญาณ ๑๖ นี้ไปถึง ๓ ครั้ง
พอออกพรรษาปวารณาแล้ว ก็ให้ลาศีลกลับไปเสียก่อน เพราะจัดการมรดกทางบ้านยังไม่เรียบร้อย ก็เลยให้กลับไปก่อน เมื่อจัดการมรดกทุกสิ่งทุกประการเสร็จแล้ว ก็มาบวชใหม่เป็นพระ เมื่อบวชเป็นพระแล้ว ท่านก็ประพฤติปฏิบัติต่อไปอีก แล้วท่านก็ปฏิบัติได้ถึงที่สุด แต่ก็น่าเสียดาย แทนที่จะได้อยู่เผยแผ่พระพุทธศาสนาร่วมกัน ท่านก็มาด่วนมรณภาพไปเสียก่อน
นี่แหละท่านทั้งหลาย การประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ หากว่าเรามีศรัทธาจริง ตั้งใจจริงปฏิบัติจริง ยอมสู้ตาย รักและอยากได้มรรคผลจริงๆ ก็สามารถที่จะทำได้ อันนี้อยู่ที่จิตที่ใจของเราเอง ถ้าว่าเรามีความรักจริงๆ ต้องการที่จะบรรลุจริงๆ ต้องการที่จะสลัดตัวออกจากอำนาจของโลภะ โทสะ โมหะ จริงๆ เราก็สามารถที่จะทำได้
เพราะเหตุไร
เพราะว่าพวกเราที่รวมกันอยู่นี้ หรือมาประพฤติปฏิบัติธรรมในที่นี้ ก็ล้วนแต่เป็นผู้มีศรัทธาความเชื่อมั่นว่าการปฏิบัตินั้นมีผล จึงได้ยอมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างมาประพฤติปฏิบัติ
แต่มีอยู่อย่างเดียวว่า เมื่อมาประพฤติปฏิบัติแล้วชะล่าใจ จิตใจของเราตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสตัณหา ผลสุดท้ายจิตใจของเราก็พลอยเป็นไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา เลยทำให้การเจริญวิปัสสนาของเราไม่ได้ผลเท่าที่ควร
เหตุนั้น ขอให้ท่านครูบาอาจารย์ตลอดถึงท่านนักปฏิบัติธรรมทุกท่าน ในเวลาน้อยนิดเดียวที่ยังมีเหลืออยู่นี้ หลวงพ่อคิดว่า หากว่าเราคิดสู้ขึ้นมา ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมจริงๆแล้ว ก็สามารถที่จะสมหวังในสิ่งที่ตนปรารถนาได้.