วัดพิชโสภาราม

ขอเชิญร่วมปฏิบัติธรรมบำเพ็ญบารมีเนื่องในวันชาตกาลครบ ๘๐ ปี พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

สติกับโมหะ

สติกับโมหะ

โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)

———————

          วันนี้ จะได้นำธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาเรื่อง สติกับโมหะ มาบรรยายประกอบการประพฤติปฏิบัติสืบไป

          คำว่า สติ คือความระลึกได้ หมายความว่า เราระลึกได้เสียก่อน จึงทำ จึงพูด จึงคิด คือเราจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม เราระลึกเสียก่อนจึงทำกิจนั้นๆ จึงเรียกว่ามีสติ

          สตินี้มีอุปการะแก่ธรรมทั้งหลายในฝ่ายกุศล นับตั้งแต่การให้ทานก็ดี รักษาศีลก็ดี ไหว้พระก็ดี ทำวัตรสวดมนต์ก็ดี ฟังเทศน์ฟังธรรมก็ดี ตลอดถึงเจริญสมถภาวนาวิปัสสนาภาวนาก็ดี ก็มีสติเป็นอุปการะ หรือว่าการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานของเราจะได้มาซึ่งฌานสมาบัติ ผลสมาบัติ นิโรธสมาบัติก็ดี หรือว่าจะสำเร็จซึ่งวิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา อริยมรรค อริยผลก็ดี ต้องอาศัยสติเป็นอุปการะทั้งนั้น ถ้าขาดสติ เราก็ไม่สามารถจะบรรลุคุณธรรมเหล่านั้นได้ สตินั้นเป็นราชาแห่งธรรมทั้งหลายในฝ่ายที่เป็นกุศล

          สำหรับตัว โมหะ แปลว่า ความหลง มีความหมายถึง ๗ ประการ

          ๑.  หมายความว่า รู้สิ่งที่ไม่ควรรู้ ได้แก่ รู้ทุจริตทั้ง ๓ คือรู้การประพฤติชั่วทางกาย วาจา ใจ ได้ดีที่สุด เช่น รู้วิธีฆ่าสัตว์ รู้วิธีลักทรัพย์ รู้วิธีประพฤติผิดในกาม รู้วิธีทำชู้สู่สม ล่วงเกินลูกเขาเมียเขาผัวเขาได้ดีที่สุด รู้วิธีโกหกต้มตุ๋น ยักยอกหลอกลวง ฉุดคร่าอนาจาร เนรคุณ อกตัญญู และรู้วิธีพูดคำหยาบ คำที่ไร้สาระประโยชน์ได้ดีที่สุด

          ๒.  หมายความว่า ไม่รู้สิ่งที่ควรรู้ ได้แก่ ไม่รู้สุจริตทั้ง ๓ ประการ คือไม่รู้จักเจริญเมตตา ไม่รู้จักสันโดษยินดีด้วยของๆ ตนตามมีตามได้ ไม่รู้จักสทารสันโดษยินดีเฉพาะภรรยาสามีของตน ไม่รู้จักค่าของการพูดคำสัตย์คำจริง ไม่รู้จักพูดวาจาอ่อนหวาน ไม่รู้จักคำพูดที่ทำให้ผู้อื่นสมานสามัคคี เคารพนับถือรักใคร่กัน ไม่รู้จักพูดคำอันเป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น ไม่รู้จักวิธีทำบุญให้ทาน และอานิสงส์ของการทำบุญให้ทาน ทั้งไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี บาปบุญคุณโทษ ประโยชน์โลกนี้ ประโยชน์โลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่ง คือพระนิพพาน เป็นต้น

          ๓.  หมายความว่า ไม่รู้จักขันธ์ ๕ และความหมายของขันธ์ ๕

          ๔.  หมายความว่า ไม่รู้จักอริยสัจ ๔ คือไม่รู้จักทุกข์ไม่รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้จักความดับทุกข์ ไม่รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

          ๕.  หมายความว่า ยังสรรพสัตว์ให้แล่นไปผิดทางให้หลงทาง คือให้แล่นไปในวัฏสงสารหาที่สุดมิได้

          ๖.  หมายความว่า หลงติดอยู่ในสมมติบัญญัติ ไม่รู้ปรมัตถ์

          ๗.  หมายความว่า ไม่รู้จักวิปัสสนาภูมิ คือไม่รู้จักทางที่จะให้เกิดปัญญา ได้แก่ ไม่รู้จักอายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ เป็นต้น

          โมหะนี้ มีความไม่รู้สภาวะตามความเป็นจริง คือไม่รู้รูปนาม ไม่รู้ปัจจุบัน ไม่รู้พระไตรลักษณ์ ไม่รู้มรรค ไม่รู้ผล ไม่รู้นิพพาน มีใจอันมืดบอด

          โมหะนี้แบ่งออกเป็น ๓ ขั้น คือ โมหะอย่างหยาบ ๑ โมหะอย่างกลาง ๑ โมหะอย่างละเอียด ๑

          โมหะอย่างหยาบ ได้แก่ ความหลงที่เกิดขึ้นทางกาย ทางวาจา พาให้เกิดการฆ่ากัน ลักของกัน ประพฤติผิดประเวณี โกหกต้มตุ๋นเอาทรัพย์สมบัติของผู้อื่น พูดคำหยาบเป็นต้น

          โมหะนี้ เวลาโลภะเกิดก็เกิดด้วย เวลาโทสะเกิดก็เกิดด้วย ถ้าโลภะโทสะไม่เกิด ก็เกิดได้เองตามลำพัง โมหะนี้เป็นตัวสำคัญกว่าโลภะและโทสะ โลภะและโทสะนั้นถึงจะมีโทษมากอยู่ก็จริง แต่ถ้าจะพูดถึงอำนาจและการละได้ยากนั้น ก็ได้แก่ตัว โมหะ

          โมหะนี้ มีคติคล้ายกับปัญญา คล้ายกับญาณ ดังนั้นในหลักธรรมท่านจึงกล่าวไว้ว่า ญาณคติธรรม แปลว่า ธรรมที่มีคติคล้ายกับปัญญา คือความรู้ในสิ่งที่ไม่ควรรู้ มีอยู่๕ อย่างคือ วิตก วิจาร ทิฏฐิ โลภะ โมหะ

          ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมควรระวัง ญาณคติธรรม นี้ให้มาก คือญาณคติธรรมนี้เมื่อเกิดขึ้น จะเหมือนกับเราได้บรรลุอริยมรรคอริยผล หรือเหมือนกับเราได้ฌานหรือเข้าฌาน เพราะว่าเข้าฌานก็ต้องผ่านวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

          แต่ญาณคติธรรมนี้ แปลกแยกกัน ๓ องค์เบื้องปลาย คือเบื้องต้น วิตก วิจาร มีเหมือนกัน แต่เมื่อมาถึงองค์ที่ ๓ ถ้าทิฏฐิเกิดเป็นญาณคติธรรม เราจะทำการสังเกตญาณคติธรรมได้ง่ายๆ คือเมื่อผ่านวิตกวิจารไปแล้ว ทิฏฐิความเห็นผิดจะเกิดขึ้นมา โลภะ คือความปลื้มใจ ดีใจ พอใจจะเกิดขึ้นมาผิดปกติ หลังจากนั้นโมหะก็จะเกิดขึ้น

          โมหะเกิดขึ้นแล้ว จะทำให้ลืม ทำให้จำอารมณ์ไม่ได้ จำบทพระกัมมัฏฐานไม่ได้ กำหนดบทพระกัมมัฏฐานไม่กระฉับกระเฉง กำหนดไม่ได้ดี ไม่ได้ปัจจุบันธรรม กำหนดอยู่ว่า พุทโธๆ หรือพองหนอ ยุบหนอ อยู่ก็ตาม ทำให้เผลอให้ลืมไป ทำให้ขาดความรู้สึกไปนิดหนึ่ง แล้วก็รู้สึกขึ้นมา เรียกว่า ญาณคติธรรม

          เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายเพียรพยายามตั้งสติสัมปชัญญะให้มั่น เวลาจะสัปหงกไปข้างหน้า หรือผงะไปข้างหลัง ข้างซ้ายหรือข้างขวา ก็พยายามจำให้ได้ว่ามันไปตอนไหน ตอนท้องพองหรือตอนท้องยุบ ก็จำให้ได้ อย่าให้ญาณคติธรรมนี้เกิดครอบงำจิตใจของเราได้

          เพราะว่าญาณคติธรรมนี้เป็นเหตุให้เราเข้าใจผิด หลงผิด ได้ของปลอม คือได้สมาธิปลอม ได้สมาบัติปลอม ได้มรรคปลอม ได้ผลปลอม ได้นิพพานปลอม

          เมื่อญาณคติธรรมเกิดอย่างรุนแรง ก็เป็นเหตุให้เกิดวิปลาสขึ้นมา เช่น จิตวิปลาส คิดผิด ทิฏฐิวิปลาส เห็นผิด สัญญาวิปลาส สำคัญผิด ว่ารูปนามขันธ์ ๕ นี้เป็นนิจจังคือเที่ยง เป็นสุขังคือเป็นสุข เป็นอัตตาคือเป็นตัวเป็นตน เป็นสุภะคือเป็นของสวยของงาม บางทีก็เข้าใจผิดว่า เราได้บรรลุอริยมรรคอริยผล เป็นพระอรหันต์แล้ว

          โมหะอย่างกลาง นี้เกิดขึ้นในใจของแต่ละบุคคล เช่น นึกถึงกามคุณ ๕ แล้วพอใจ ลุ่มหลง ติดอยู่ในกามคุณทั้ง ๕ ไม่ได้ปรากฏออกมาภายนอกให้ผู้อื่นรู้ รู้เฉพาะตนคนเดียวเท่านั้น

          โมหะอย่างละเอียด นั้นได้แก่ อนุสัยกิเลสที่นอนดองอยู่ในใจของแต่ละบุคคล ดุจขี้ตะกอนนอนอยู่ก้นตุ่ม หรือดุจยางที่ต้นโพธิ์ต้นไทร หรือดุจเหง้าอุตพิดฉะนั้น

          ธรรมดาต้นโพธิ์ต้นไทร เรามองไม่เห็นยางของมัน แต่ถ้าเอามีดไปกรีดจะเห็นยางได้ ฉันใด อนุสัยกิเลสที่นอนดองอยู่ในใจก็เหมือนกันฉันนั้น เรามองดูเผินๆ เหมือนกับว่า คนนี้ไม่มีกิเลสตัณหา แต่พอมีอารมณ์มากระทบเท่านั้น ก็แสดงปฏิกิริยาขึ้นมาทันที

          อุปมาเหมือนกับงูที่นอนอยู่ในโพรงไม้ ถ้ามองดูเผินๆ เหมือนกับมันไม่มีความหิว ความอยากอะไร แต่ถ้าบังเอิญมีกบหรือเขียดผ่านมาเท่านั้น งูตัวนั้นก็จะจับเอากบหรือเขียดนั้นกินเป็นอาหารทันที ข้อนี้ ฉันใด อนุสัยกิเลสก็เหมือนกันฉันนั้น

          โมหะกิเลสนั้น เมื่อเกิดขึ้นจะให้โทษแก่ผู้นั้น คือทำให้ลืมคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ลืมคุณพ่อแม่ ลืมบาปลืมบุญ ลืมคุณลืมโทษ ลืมประโยชน์มิใช่ประโยชน์ ลืมคุกลืมตะราง ประพฤติออกนอกลู่นอกทาง คือประพฤติชั่วช้าหยาบคาย ทางกาย ทางวาจา ทำให้ละเมิดศีลธรรม ทำตนเองและบุคคลเหล่าอื่นให้ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ตัดประโยชน์โลกนี้โลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน โดยมาก เวลาตาย โมหะนี้จะนำไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ดังมีหลักฐานรับรองไว้ว่า

                    โมเหน หิ นิจฺจํ สมฺมุฬฺหํ ติรจฺฉานโยนึ อุปปชฺชนฺติ

          จริงอยู่บุคคลทั้งหลายตายไปเกิดในกำเนิดสัตว์เดรัจฉานซึ่งมีความลุ่มหลงมัวเมาอยู่เป็นนิจ ก็เพราะอำนาจแห่งโมหะ ดังนี้

          โมหะนี้เป็นราชาแห่งธรรมทั้งหลาย ในฝ่ายอกุศลฝ่ายบาป

          สติที่เป็นพระราชาฝ่ายบุญกุศลนั้น ยึดเอารูปนามขันธ์ ๕ อันยาววาหนาคืบของเรานี้ เป็นนครหรือเป็นราชสมบัติ

          ส่วนโมหะที่เป็นพระราชาฝ่ายบาปอกุศล ก็ยึดเอารูปนามขันธ์ ๕ อันยาววาหนาคืบนี้ เป็นพระนครหรือเป็นราชสมบัติเหมือนกัน

          หมายความว่า กายนครคือร่างกายอันยาววาหนาคืบ ตั้งแต่ศีรษะถึงปลายเท้า ตั้งแต่ปลายเท้าถึงศีรษะนี้ มีสภาวธรรมที่เป็นใหญ่หรือปกครองอยู่ ๒ อย่างคือสติกับโมหะ

          อุปมาเหมือนกับพระราชาซึ่งครองนครเดียวกัน ต่างองค์ต่างก็แย่งชิงกันปกครอง เมื่อใดพระยาสติมีกำลังเข้มแข็งพอ ก็กรีฑาทัพยึดกายนครนี้มาปกครอง ตกแต่งกายนครนี้ให้สวยสดงดงาม น่าอยู่น่าอาศัย พาทำบุญทำทาน พาเจริญสติ สมาธิ ปัญญา

          ขณะใดพระยาสติอ่อนกำลังลง แต่พระยาโมหะมีกำลังเข้มแข็ง พระยาโมหะก็จะกรีฑาทัพยึดกายนครไว้ในอำนาจ แล้วก็บัญชาการให้ลูกสมุนเที่ยวฆ่า เที่ยวเบียดเบียน เที่ยวลักขโมยปล้นจี้ เที่ยวฉุดคร่าข่มขืนกระทำชำเราอนาจาร โกหกหลอกลวงต้มตุ๋น ยุยงให้ประชาชนแตกกัน เกลียดกัน แตกร้าวสามัคคีกัน เป็นนักเลงเจ้าชู้ นักเลงสุรา เข้าคลับเข้าบาร์ เป็นนักเลงเล่นการพนัน กำหมัดกัดฟัน พูดจาหยาบคาย วางเพลิงจุดบ้านเผาเมือง เป็นต้น

          เหตุนั้น การที่เราท่านทั้งหลายมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ทุกวันนี้ ก็คือการเข้าสู่สมรภูมิสนามรบ รบกันที่ปัจจุบันธรรม ปัจจุบันธรรมเป็นสนามรบของสติกับโมหะ เหมือนกันกับการทำศึกสงคราม ศัตรูข้าศึกรบกัน ณ ที่ใด ที่นั้นชื่อว่าสนามรบ

          วิปัสสนาจะเอาสัมมาสติอันเป็นแม่ทัพฝ่ายกุศลมารู้ทันปัจจุบันธรรมก่อน มีสัมมาวายามะเพียรชอบเป็นเครื่องสนับสนุน มีโสภณเจตสิกเหล่าอื่นเป็นเครื่องเสริมให้สติสมบูรณ์ ให้เอาชนะโมหะได้

          สติกับโมหะรบกันที่ปัจจุบันธรรม ดังจะแสดงดังต่อไปนี้

          ๑. เมื่อขณะเห็น สติระลึกรู้ทัน โมหะตัวเผลอเข้าไปไม่ได้ บุญกุศล คือศีล สมาธิ ปัญญา เป็นต้น ก็เกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา แต่ถ้าในขณะเห็นไม่มีสติรู้ทัน บุญกุศลทั้งหลายก็เกิดขึ้นไม่ได้ โมหะตัวเผลอก็เกิดขึ้น บาปอกุศลก็เข้าไปในขันธสันดานของเรา

          ๒.  เมื่อขณะได้ยินเสียง สติรู้ทันคือเราได้กำหนด โมหะตัวเผลอเข้าไปไม่ได้ บุญกุศลคือศีล สมาธิ ปัญญาเป็นต้น ก็เกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา เมื่อขณะได้ยิน สติรู้ไม่ทัน คือไม่ได้กำหนด ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ บุญกุศลทั้งหลายก็เกิดขึ้นไม่ได้ โมหะตัวเผลอและบาปอกุศลทั้งหลายทั้งปวงก็เกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา

          ๓.  เมื่อขณะรู้กลิ่น สติระลึกทัน โมหะตัวเผลอก็เข้าไปไม่ได้ บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงก็เกิดขึ้น เมื่อขณะรู้กลิ่น สติรู้ไม่ทัน คือไม่ได้กำหนดหรือว่ากำหนดไม่ทัน บุญกุศลก็เกิดขึ้นไม่ได้ มีแต่โมหะตัวเผลอและบาปอกุศลทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้น

          ๔.  เมื่อขณะรู้รส สติรู้ทัน โมหะตัวเผลอก็เข้าไปไม่ได้ บุญกุศลทั้งหลายก็เกิดขึ้น เมื่อขณะรู้รส สติรู้ไม่ทัน โมหะตัวเผลอพร้อมทั้งบาปอกุศลทั้งปวงก็เกิดขึ้น เป็นเหตุให้จิตใจของเราเศร้าหมอง

          ๕.  เมื่อขณะรู้สึกทางกาย สัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เป็นต้น มีสติรู้ทัน จิตสะอาดบริสุทธิ์ โมหะตัวเผลอก็เข้าไปไม่ได้ บุญกุศลทั้งหลายก็เกิดขึ้น ถ้าสติรู้ทัน โมหะตัวเผลอก็เข้าไปไม่ได้ บุญกุศลทั้งหลายก็เกิดขึ้น ถ้าสติรู้ไม่ทัน โมหะตัวเผลอ พร้อมทั้งบาปอกุศลทั้งปวงก็เข้าไปได้ ทำให้จิตใจของเราเศร้าหมอง

          ๖.  เมื่อขณะนึกคิด คู้ เหยียด เคลื่อนไหว เป็นต้น สติรู้ทัน โมหะตัวเผลอก็เข้าไปไม่ได้ บุญกุศลทั้งหลายคือศีล สมาธิ ปัญญา ก็เกิดขึ้น ขณะใดรู้ไม่ทัน คือไม่ได้ตั้งสติเอาไว้ ความเผลอได้โอกาสเข้ามาพร้อมทั้งอกุศลทั้งหลายทั้งทำจิตใจของเราให้เศร้าหมอง

          เหตุนั้น ท่านผู้เจริญวิปัสสนาทั้งหลายพึงประคองสติ บำรุงสติให้สมบูรณ์ ขยันหมั่นเพียรตั้งสติบ่อยๆ โมหะตัวเผลอซึ่งเป็นศัตรูของสติก็จะลดน้อยลงๆ เบาบางลงตามลำดับ จนกระทั่งดับสิ้นเชื้อสิ้นยางแล้ว จะได้ชื่อว่ามีอาสวะสิ้นแล้ว

          อุปมาเหมือนกันกับปลูกต้นไม้ ต้องหมั่นพรวนดินรดน้ำใส่ปุ๋ย กำจัดศัตรูพืชอยู่เสมอ ต้นไม้จึงจะเจริญงอกงามได้ แล้วผลิดอกออกผลให้แก่เรา ถ้าไม่เอาใจใส่พรวนดินรดน้ำใส่ปุ๋ยกำจัดศัตรูพืชเป็นต้น ต้นไม้ของเราก็จะอับเฉาลงไปตามลำดับๆ และเจริญเติบโตขึ้นไปไม่ได้ ผลและดอกที่จะออกมาให้เห็นก็ไม่มี ฉันใด แม้สติของเราถ้าไม่หมั่นบำเพ็ญเสมอแล้ว อาจจะเสื่อมลงได้ ฉันนั้น

          แต่สุดท้ายก็จะมีรูปนามขันธ์ ๕ ที่เศร้าหมองเพราะบาปอกุศลทั้งปวงไม่อาจที่จะพ้นทุกข์ได้ แต่ถ้านักปฏิบัติธรรมท่านใดเป็นผู้ไม่ประมาท บำเพ็ญสติให้ระลึกรู้ทันอยู่เสมอ ผู้นั้นชื่อว่าเดินทางพร้อมด้วยวาสนาบารมีที่จะถึงที่สุดคือพระมหานฤพานได้

          ดังนั้น  ขอท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายจงได้เร่งขวนขวายพยายามตั้งสติให้ทันปัจจุบัน ถึงแม้การกำหนดอิริยาบถน้อยใหญ่ทั้งหลายทั้งปวงนั้นลำบากยากเย็นสักเพียงใดก็ตาม ก็ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้มุมานะกัดฟัน อดทนพยายามที่จะกำหนดร่ำไป หรือหากว่าการปฏิบัติพระวิปัสสนาของเราทั้งหลายจะได้รับความลำบากยากเย็นสักเพียงใดก็ตาม ก็ขอให้ท่านทั้งหลายหมั่นเตือนสติตนเองอยู่เสมอว่า ความทุกข์ทั้งหลายที่เราได้รับอยู่ในขณะนี้ สู้ความทุกข์ที่เราจะได้รับในอบายไม่ได้

          หากว่าเราปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ไม่สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว เมื่อเราจุติจากอัตภาพนี้ไปแล้ว เกิดประมาทหรือพลาดพลั้งเมื่อใด อาจจะไปตกอบายได้ หากว่าเราไปตกอบายแล้ว ก็จะได้รับความทุกข์อย่างแสนสาหัสอย่างนับไม่ถ้วน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จิตของเราก็จะเกิดความพยายามในการประพฤติปฏิบัติต่อไป

          อนึ่ง ความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงที่เราได้รับอยู่ในขณะนี้ หลวงพ่อคิดว่า หากเปรียบเทียบกับความทุกข์ที่เราเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารแล้ว เป็นความทุกข์เพียงนิดเดียวเท่านั้น ส่วนความทุกข์ที่เราจะเวียนว่ายอยู่ในมหรรณพภพสงสารนั้น เป็นความทุกข์เหลือที่จะพรรณนาให้จบลงได้

          เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายจงเป็นเหมือนกับภิกษุใจเพชร ที่ท่านกล่าวไว้ในธรรมบท ขุททกนิกายว่า

          มีพระภิกษุจำนวน ๓๐ รูป ได้เรียนพระกัมมัฏฐานเฉพาะพระโอษฐ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจบแล้ว ได้พากันออกป่าทั้ง ๓๐ รูป เมื่อถึงป่าแล้ว ก็ได้ตั้งสัจจะปฏิญญาต่อกันว่า

          เราท่านทั้งหลายได้เรียนพระกัมมัฏฐานจากพระโอษฐ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาพร้อมกันแล้ว เรามาสู่สถานที่นี้เพื่อบำเพ็ญความเพียร  เพราะฉะนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอให้เราอย่าพูดอย่าคุยกัน ให้อยู่ที่ละรูปๆ อย่าอยู่รวมกันถึง ๒ รูป ให้อยู่แห่งละรูปๆ ตั้งอกตั้งใจเจริญสมณธรรม เพื่อจะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลตามเจตนารมณ์ที่เราท่านทั้งหลายตั้งไว้ เมื่อถึง ๑๕ วันเราจึงมาพบกันที่นี้ครั้งหนึ่งเพื่อลงอุโบสถ

          นัดหมายกันแล้ว ต่างก็แยกย้ายกันออกไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่ที่ละองค์ๆ ที่ละรูปๆ นั่นแหละ ไม่อยู่ที่เดียวกันถึงสองรูป

          แต่อนิจจา พระภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นหาทราบไม่ว่า ในป่านั้นมีเจ้าป่ารักษาอยู่หรืออาศัยอยู่ พระภิกษุจำนวน ๓๐ รูปนั้นหารู้ไม่เลย เมื่อประพฤติปฏิบัติไป ประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไปตลอดคืนยันรุ่ง จวนจะสว่างก็จะพากันพักผ่อนหลับนอน เสือใหญ่ซึ่งเป็นเจ้าป่า เสือใหญ่ตัวนั้นก็ย่องมาคาบพระภิกษุไปกินวันละรูปๆ ในขณะที่เสือคาบพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไปกินนั้น พระภิกษุรูปนั้นก็หาได้ปริปากไม่ ไม่ได้ร้องขอความช่วยเหลือแม้แต่คำเดียว

          เพราะเหตุไร

          เพราะได้ตั้งสัจจะไว้แล้วว่าเราจะไม่พูดกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้เสือมันจะคาบไปกินก็ไม่พูด เพราะจะเป็นการผิดสัจจะที่ให้ไว้ต่อกัน เพราะว่าต่างรูปก็ต่างอยู่เฉพาะที่ของตน

          ในขณะนั้น พระเถระผู้เป็นประธานในสงฆ์จึงเอ่ยเผยวาจาขึ้นว่า ท่านขอรับ เรื่องนี้เป็นเหตุให้ผมเกิดความฉงนสนเท่ห์ใจยิ่งนัก ชะรอยในป่านี้จะมีอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งแก่พวกเราเป็นแน่นอน เพราะฉะนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หากว่ามีอะไรเกิดขึ้น ขอให้ร้องบอกกันเพื่อจะได้ช่วยเหลือกัน เสร็จแล้วก็ลงอุโบสถจบแล้วก็แยกย้ายกันไปประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน

          วันนั้นเป็นวันพระอุโบสถ ต่างก็ประพฤติปฏิบัติธรรมยันรุ่งจนจะสว่าง และในขณะจวนๆ จะสว่างนั้น ภิกษุรูปหนึ่งก็เอนกายลงไป เผื่อว่าจะพักผ่อนหลับนอน แต่หาทราบไม่ว่า ในขณะนั้นมีเสือใหญ่ตัวหนึ่งอยู่ใกล้ๆ ท่าน จ้องที่จะตะครุบท่านไปกินอยู่แล้ว

          ท่านก็ไม่ได้สนใจ คือไม่ได้สำรวจ ปฏิบัติธรรมมาแล้วก็เอนกายลงไป กำลังจะม่อยหลับไปนั้นแหละ เสือใหญ่ตัวนั้นก็ตะครุบท่านทันทีจะคาบไปกิน พอพระภิกษุรูปนั้นรู้สึกตัวขึ้นมาก็อยู่ในปากเสือแล้ว รู้ว่าตนอยู่ในปากเสือแล้ว ก็จึงร้องบอกว่า ท่านทั้งหลายช่วยผมด้วยๆ เสือจะคาบผมไปกินเสียแล้ว

          พระภิกษุทั้งหลายที่ประพฤติปฏิบัติธรรมร่วมกัน ได้ยินสำเนียงเสียงร้องขอความช่วยเหลือ พระภิกษุทั้งหลายจำนวน ๑๔ รูป ก็วิ่งไล่ตามไป ไล่ตามไปๆ เสือก็คาบพระรูปนั้นวิ่งไปเรื่อย พระภิกษุทั้งหลายก็วิ่งไล่ไปเรื่อยๆ จนไปถึงตีนเขา เมื่อถึงตีนเขา เสือตัวนั้นก็คาบพระภิกษุรูปนั้นวิ่งขึ้นไปยอดเขา คือเป็นทาง ก็วิ่งขึ้นไปๆ จนถึงยอดเขา พระภิกษุที่ประพฤติปฏิบัติธรรมร่วมกันก็ไม่สามารถที่จะตามไปช่วย

          ก็ได้แต่ร้องบอกอยู่ที่เชิงเขาว่า ท่านขอรับ ขอท่านอย่าได้น้อยใจว่า พวกผมทั้งหลายไม่ได้ตามมาช่วย พวกผมทั้งหลาย ตามมาช่วยท่านจนหมดความสามารถที่จะช่วย บัดนี้ผมทั้งหลายไม่สามารถที่จะตามไปช่วยท่านได้แล้ว เราท่านได้เรียนพระกัมมัฏฐานเฉพาะพระพักตร์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอท่านจงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด

          พระภิกษุรูปนั้น ซึ่งถูกเสือคาบอยู่ในขณะนั้น เสือมันก็วางพระภิกษุรูปนั้นไว้แล้ว พระภิกษุรูปนั้นก็ได้ฟังเสียงพระภิกษุเพื่อนๆ ที่ปฏิบัติธรรมร่วมกัน แว่วเสียงมาแต่ตีนเขา ก็มีสติสัมปชัญญะทันที ยึดเอา เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นอารมณ์ เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน และในขณะนั้น เสือก็เริ่มกัดกินที่นิ้วเท้าของท่านแล้วกัดกินนิ้วเท้า กัดเข้าไปๆ กินเข้าไป

          ท่านก็เจริญพระกัมมัฏฐานว่า ทุกข์หนอๆ ไปเรื่อย ทุกข์หนอๆ เจ็บหนอๆ ไปเรื่อย วิปัสสนาญาณก็เริ่มเกิดขึ้นจากญาณที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ พอเสือกัดกินเนื้อของท่านไปถึงข้อเท้าเท่านั้น ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน

          แต่เมื่อท่านสำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็ยังไม่ลดละความพยายาม ยังมีขันติความอดทนเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานร่ำไปว่า ทุกข์หนอๆ เจ็บหนอๆ ไปเรื่อยๆ วิปัสสนาญาณก็เริ่มเกิดขึ้นมาใหม่ ตั้งแต่ญาณที่ ๔ ตั้งแต่ญาณที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ เกิดไปเรื่อยๆ แก่กล้าขึ้นไปเรื่อยๆ ในขณะนั้นเสือก็กัดกินเนื้อของท่านไปเรื่อยๆ กัดกินเข้าไป กัดเข้าไป กินเข้าไป พอเสือกัดกินเนื้อของท่านไปถึงหัวเข่า ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี

          แต่ถึงกระนั้น ท่านยังมีขันติความอดทนอย่างแรงกล้า ไม่ยอมลดละการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ยังกัดฟันอดทน ต่อสู้ เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไปใหม่ และในขณะนั้น เสือก็เริ่มกัดกินเนื้อของท่านไปเรื่อยๆ ท่านก็เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานไปเรื่อยๆ ว่า ทุกข์หนอๆ เจ็บหนอๆ ทุกข์หนอ เจ็บหนอไปเรื่อยๆ สลับกันไปเรื่อยๆ พอเสือกัดกินเนื้อของท่านไปถึงสะดือ ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี

          แต่พระภิกษุใจเพชรเหมือนดังท่านจะด่วนปรินิพพานนั้นก็ยังหาไม่ ท่านยังมีสติสัมปชัญญะ ยังมีชีวิตอยู่ ท่านเป็นผู้ประกอบไปด้วยอธิวาสนขันติ คืออดทนอย่างแรงกล้า ตายก็ยอมตาย แต่ไม่ยอมลดละการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นเด็ดขาด ตายก็ให้มันตายอยู่ที่ปากเสือนี่ คาปากเสือนี่

          ท่านก็ตั้งจิตตั้งใจ  รวบรวมกำลังทั้งหมดที่มีอยู่ ทั้งกำลังกาย ทั้งกำลังใจ กำลังสติปัญญา เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อ ทุกข์หนอๆ เจ็บหนอๆ ไปเรื่อยๆ เจริญไปๆ วิปัสสนาญาณก็สูงขึ้นตามลำดับๆ ตั้งแต่ญาณที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ ไปเรื่อยๆ เสือก็กัดกินเนื้อของท่านไปเรื่อยๆ ในขณะเสือกำลังจะกัดกินเนื้อหัวใจของท่านนั้นแหละ ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ คือได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

          เมื่อได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านพิจารณาดูว่า เราบวชมานี้ ศีลของเราบริสุทธิ์ดีไหม ท่านพิจารณาไปๆ ว่า ศีลของเราบริสุทธิ์ดี ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย แต่เราประมาทไปหน่อยหนึ่งเท่านั้นแหละ จึงถูกเสือคาบมากินในที่นี้ แต่ช่างเถอะ เรื่องนี้แล้วๆ ไป แต่บัดนี้เราบังเอิญได้พระกัมมัฏฐานในส่วนเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จนสามารถยึดเอา พระอรหันตคุณ ไว้ได้ในขันธสันดาน ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

          ท่านสรรเสริญคุณของพระอรหันต์อยู่ไม่ช้าไม่นานก็ปรินิพพาน พ้นจากชาติกันดาร ชรากันดาร พยาธิกันดาร มรณกันดาร ไม่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารอีกต่อไป ถึงโลกุตตรสุข

          นี้แลท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ความทุกข์ที่เราได้รับอยู่ในขณะนี้ หลวงพ่อคิดว่า ถ้าเปรียบเทียบกับความทุกข์ของภิกษุใจเพชรแล้ว ไม่เท่าเสี้ยวหนึ่งของท่าน เพราะเหตุนั้น  ขอให้ท่านทั้งหลายอย่าได้ประมาท จงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท

          เพราะว่า การที่ท่านทั้งหลาย ได้เสียสละเวลามาประพฤติปฏิบัติ บ้างก็ลาญาติโยมมา บ้างก็ลาราชการมาบวช ก็ขอให้ท่านทั้งหลายถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ถึงจะทุกข์ยากลำบากสักเพียงใดก็ตาม ก็ขอให้เราใช้อธิวาสนขันติ เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไป จนกว่าจะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลขั้นสูงสุด หรือจนสามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลขั้นปฐมมรรคเป็นอย่างต่ำ

          ในเมื่อเราได้บรรลุอริยมรรคอริยผลในขั้นปฐมมรรคแล้วก็เป็นอันว่าเราไว้ใจได้ เราได้ใบประกันชีวิต จุติจากอัตภาพนี้แล้วก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิทั้ง ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เราเป็นผู้มีธรรมไม่กำเริบ เป็นผู้มีคติเที่ยง สัมโพธิปรายโน เราสามารถจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพานในวันข้างหน้า

            เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง สติกับโมหะ มาบรรยาย ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.